ต้นฉบับ : สหายS!nk
“บาปกำเนิด” (Original sin) หรือ ในบางแขนงของความเชื่อคริสตชน เรียกว่า “ปฐมบาป” เป็นความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีบาปติดตัวมาตั้งแต่เกิด (อันเป็นผลจากการที่มนุษย์คู่แรกของโลก อดัม-อีฟส์ ได้ “ก่อกบฏ” ต่อพระเจ้าด้วยการกินผลไม้ต้องห้าม) ความไม่สมบูรณ์แบบเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นแล้วมนุษย์เรามีหน้าที่ต้องใช้ชีวิตในการอยู่ในศีลธรรม มีหน้าที่ต้องตักเตือน, อยู่ห่าง หรือ แม้แต่กำจัดผู้คนที่ “ไม่มีศีลธรรม” ให้ออกไปจากเส้นทางอันบริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งตัวผมเองไม่ใช่คริสตชน แล้วก็ไม่ได้หมายว่าจะสอนพระคัมภีร์ในบทความนี้ แต่จะขอยกวลีนี้มาใช้ในการเปรียบเทียบให้เห็นถึงทัศนคติของชนชั้นกลางฝ่ายก้าวหน้าที่มีต่อตัวเอง กล่าวคือ เมื่อเราได้เกิด “ความตาสว่างทางการเมือง” ขึ้นมา โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการมีอุดมการณ์แบบ “รัฐไทย” (หรือ เรียกกว้าง ๆ ว่า อนุรักษ์นิยม/สลิ่ม) ไปสู่การมีอุดมการณ์แบบรัฐอเมริกัน (เรียกกว้าง ๆ ว่า เสรีนิยม) แล้วเริ่มมองเห็นว่าระบบทางเศรษฐกิจสังคมของไทยเรานั้น วางอยู่บนการกดขี่ขูดรีดคนจน เพื่อเอาทรัพยากรไปปรนเปรอให้กับคนรวย ซึ่งในสำหรับผู้ที่เป็นชนชั้นกลางแล้ว ก็จะเริ่มตระหนักขึ้นมาว่า ตัวเองก็เป็นส่วนนึงของระบบที่กดขี่ดังกล่าว และ ทั้งได้รับประโยชน์รวมไปถึงผลเสียไปในขณะเดียวกัน
เมื่อตระหนักได้ดังนี้แล้ว เราจะเห็นได้จะในโลกออนไลน์ว่าประเด็นของความ “พรีวิลเลจ” (privilege) เป็นหัวข้อที่มักมีการพูดถึงโดยชนชั้นกลางอยู่บ่อยๆ เช่น รู้มั้ยว่าการที่บ้านมีแอร์เป็นพรีวิลลเจ สงสารคนจนบ้างมั้ย,การมีไอโฟนเป็นพรีวิลเลจ, การมีห้องครัวที่บ้านและทำอาหารกินเองได้เป็นพรีวิลเลจ, การมีเงินไปฟิตเนสเป็นพรีวิลเลจ ฯลฯ
ปฏิกริยาโต้ตอบต่อบาปกำเนิด หรือ ในที่นี้คือพรีวิลเลจก็มีได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเมินเฉย การพยายามปฏิเสธ การพยายามตีความว่าสังคมที่มีการขูดรีดกันอย่างหนักหน่วงในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก หรืออย่างสุดท้าย คือ การพยายาม ”ไถ่บาป” ความเป็นชนชั้นกลางของตัวเอง ด้วยการออกตัวปกป้องพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เป็นทั้งอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมใหม่บางพรรค โดยเป็นการปกป้องอย่างเลยเถิด ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็รู้ว่าself censor คือ ปัญหารากฐานของสังคมไทย และ ก็ออกตัววิพากษ์สถาบันฯมาโดยตลอด แต่พอเมื่อ “พรรค” มีทีท่าจะไม่ผลักดันเรื่องนี้ก็กลายเป็นว่า กลุ่มคนดังกล่าวก็ไปอาละวาดโจมตีซ้ำเติมนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นself censor (ในประเด็นของการกระทำแบบเสรีนิยมใหม่ของพรรคก็เช่นกัน) นอกจากนี้ยังมักมีแนวโน้มยกให้พรรคและบุคคลสำคัญของพรรคเป็น “บุคคลอันล่วงละเมิดมิได้” กลายเป็นว่าการตั้งคำถามเและการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ความสำคัญเชิงหลักการ แต่เป็นแค่ข้ออ้างที่ว่าไว้ใช้กับ พรรค/บุคคล ที่ตัวเองไม่ชอบเท่านั้น
ซึ่งการออกตัวสนับสนุนพรรคการเมืองในเชิงยุทธิวิธี, ยุทธศาสตร์ เฉพาะกาลผมว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่การทำตัวเป็น
“นางแบก” และละทิ้งหลักการ,ความถูกต้อง,เหตุผล ของตัวเองลงและเปลี่ยนทิศทางทางการเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือนี้ ผมคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสนใจ และ น่าทำความเข้าใจอย่างมาก
ข้อเสนอของผม คือ สิ่งนี้น่าจะเป็นปฏิกริยาอันมีแรงผลักดันจาก “บาปกำเนิดชนชั้นกลาง” ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการจะ “แสดงตน” ว่าเป็นฝ่ายเดียวกับชนชั้นล่าง, ชนชั้นกรรมาชีพ แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็คือ
1.พรรคการเมือง ไม่เท่ากับ มวลชนที่เลือกพรรคการเมืองนั้น
การที่เรามี Emphatyต่อ ประชาชนกลุ่มไหนไม่ได้จำเป็นว่าเราต้องเห็นด้วยกับทัศนคติทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น ตัวอย่าง เช่น ผมมี Emphaty ต่อพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้หมายความว่าผมต้องเห็นด้วยกับหลักการของศาสนาอิสลาม หรือ วิธีที่พวกเขาใช้
- หลายครั้งพรรคการเมืองก็เป็นอิสระจากการควบคุมของมวลชน
หมายความว่าหลายครั้งการตัดสินใจ, ทัศนคติ และ นโยบายของพรรคการเมืองก็ไม่ได้มาจากการตัดสินใจหรือเสนอแบบ “ล่างขึ้นบน” หากแต่เป็นแบบ “Top-down” ซึ่งฝั่งมวลชนผู้สนับสนุนเองถ้าไม่ได้มีตำแหน่งในพรรคก็ไม่ได้มีอำนาจในการเสนอ แก้ไข ต่อรอง อาจจะมีคนแย้งขึ้นมาว่า “ถ้าคนไม่ชอบก็จะไม่เลือกไปเอง” แต่นั่นเป็นคนละประเด็นกัน ประเด็นที่ผมจะสื่อก็ คือ การปฏิบัติต่อพรรคการเมืองราวกับว่ามีความ “เท่าเทียม” กับ มวลชนแห่งพรรค หรือ การเหมารวมว่าทั้งพรรคและผู้เลือกเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นการสำคัญผิดว่า “สัญญะ” นั้นเท่าเทียมกับ “ความจริง/ของจริง” สำคัญว่า “ตัวแทน” นั้นเป็นสิ่งทัดเทียมกับ “ตัวจริง”
- ต่อให้เป็นพรรคที่มีประชาชนสนับสนุนเยอะ ก็ไม่ได้แปลว่าจะตัดสินใจผิดพลาดไม่ได้
- การวิจารณ์การตัดสินใจของมวลชนเป็นสิ่งที่กระทำได้ และ จำเป็นต้องทำ ไม่ต่างจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันที่ทรงอำนาจอื่น ๆ
เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ของชาวยิวที่นับถือศาสนาคริสต์ ต้องทำตัวให้เป็น “คริสเตียนยิ่งกว่าคริสเตียน”
เช่นเดียวกับที่ ม้า อรนภา, ครูลิลลี่, เสรี วงษ์มณฑา จะต้องทำตัวให้เป็น “อนุรักษ์นิยมยิ่งกว่าอนุรักษ์นิยม”
หลายครั้งแรงผลักดันของการแสวงหาการยอมรับนั้นมากจนบดบังหลักการ และ เหตุผลที่ควรจะเป็น เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกันกับการมีบาปกำเนิดเกิดในชนชั้นกลาง .. สิ่งสำคัญที่อยากจะชี้ คือ เราต้องแสวงหาการยอมรับอย่างเลยเถิดก็เพราะเรามองไม่เห็นความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ตัวเอง เมื่อเราปฏิเสธตัวเองอย่างหมดจด เราจึงต้องถูกผลักให้แสวงหาการยอมรับจนลืมหลักการ
ในกรณีการเป็นชนชั้นกลาง จริงอยู่ที่มันแย่ที่เรามีพรีวิลเลจ เรามีข้อได้เปรียบทางสังคมอันมาจากการขูดรีดคนอื่น แต่แทนที่เราจะปฏิเสธตัวเองอย่างหมดจดว่าเราไม่มีอะไรที่ใช้การได้เลย เราควรมาดูว่าแล้ว “ความได้เปรียบ” ที่เราได้มานั้นทำให้เรามีภารกิจที่จำเพาะอย่างไรในสนามการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ได้บ้าง เช่น เราเป็นชนชั้นกลาง แน่นอนว่าเราย่อมมีโอกาสสูงกว่าชนชั้นกรรมาชีพอยู่แล้วที่จะเข้าถึงการศึกษา หรือ ได้รู้จักโลกกว้าง มีเวลาได้ครุ่นคิดทบทวนถึงหลักการ และ เหตุผล เราก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปให้กับชนชั้นกรรมาชีพ ในรูปแบบของการทำงานจัดตั้ง, ทำกลุ่มศึกษา, สร้างความตระหนักรู้, จัดการอบรม, ทำสื่อ ฯลฯ
เช่นเดียวกัน ทางฝั่งชนชั้นกรรมาชีพเองก็ทำหลายสิ่งที่พวกเราเองก็ไม่ได้มีความถนัด หรือ โอกาสที่จะทำขนาดนั้น เช่น กรณีม๊อบดินแดง, การนัดหยุดงานในโรงงานต่างๆ,การทำงานภาคสนามลงพื้นที่ในบางกรณี และ ที่สำคัญด้วยชนชั้นของเขา เขาย่อมมีใจต่อการทุ่มเทเพื่อการปฏิวัติมากกว่าเราด้วยประสบการณ์การถูกขูดรีดโดยตรงของเขาเอง ซึ่งจุดนี้ก็เป็นจุดอ่อนของชนชั้นกลาง ที่เราควรเรียนรู้จากพวกเขา
และที่สำคัญ คือ การปฏิบัติกับชนชั้นกรรมาชีพ ”อย่างเท่าเทียม” หมายความว่าเราก็ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่พวกเขาเข้าใจผิด แน่นอนว่าเราเองก็ต้องฟังคำวิจารณ์ของเขา และ มาพิจารณาเช่นกัน ด้วยวิธีนี้ Solidarity (ความสามัคคี) ของฝั่ง 99% ย่อมบังเกิด การปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับเป็น “เด็กไร้เดียงสา” ที่เราจะแตะต้องไม่ได้ เราต้องตามใจ เราต้องเห็นด้วยทุกการตัดสินใจของเขา เป็นการเหยียดชนชั้นในอีกรูปแบบนึง นอกจากนั้นยังเป็นการ “เสีย” ข้อได้เปรียบที่พวกเราพึงมีไว้ใช้ในการสนับสนุนการต่อสู้ การปฏิวัติไปอย่างน่าเสียดาย
อย่าลดทอนตัวเองให้เป็นเพียงแค่ “Active citizen ที่มีหน้าที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งตอนรัฐบาลสั่ง” เท่านั้น ในเมื่อพวกเราทำได้มากกว่านั้น ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels) เองก็หาใช่กรรมาชีพ แต่เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่ , เช กูวารา (Che Guevara) ก็มาจากตระกูลสูงและร่ำรวย “ปีเตอร์ โครพอร์ตกิน (Peter kropotkin)” นักอนาธิปไตยในตำนาน ก็เป็นถึงเจ้าชายจากราชวงศ์รัสเซีย แต่แทนที่พวกเขาจะลดทอนตัวเองเหลือเพียง “พลเมืองดีหย่อนบัตร” หรือ “เดินหลับตาตามหลังมวลชนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ” พวกเขากลับเลือกที่จะค้นคว้า,นำเสนอ รวมไปถึงลงมือปฏิบัติ ในการมุ่งไปสู่สังคมที่จะเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นกรรมาชีพ และ คนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
ไม่มีพระผู้ไถ่คนไหนจะมาไถ่บาปกำเนิดนี้ให้ท่านได้
แต่ถ้าท่านได้หลอมรวมตัวเองลงไปในสายธารแห่งการปฏิวัติแล้ว
บาปใดเล่า จะสามารถติดตัวท่าน
ขอให้ทุกท่านหาตำแหน่งแห่งที่ในการปฏิวัติ ของตัวท่านเองเจอ