โลกเสรีนิยมใหม่ได้ออกสิ่งประดิษฐ์อันเป็นกลไกต่างๆ มากมายเพื่อมาขูดรีดพลังแรงกายแรงใจและควบคุมชีวิตของผู้คน ทำกำไรมหาศาลให้แก่ระบบทุนนิยมด้วยการเปลี่ยนทุกคนให้เป็นแรงงาน หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนให้ทุกคนเป็นแรงงานคือทุนนิยมของการสื่อสาร หมายถึง เทคโนโลยีโครงข่ายที่ขั้นกลางระหว่างผู้คน ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันในต่างเวลาและสถานที่ ทั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และซอฟท์แวร์ เช่น แอปพลิเคชัน อินเทอร์เน็ต หลายคนอาจมองว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวทั้งสร้างเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสร้างชุมชนในสังคมที่ผู้คนแยกขาดกัน แต่พวกเราได้เห็นว่า
- ผู้คนต่างเสพติดการรับข้อมูลข่าวสารและส่วนมากก็จะรับข้อมูลข่าวสารเกินไป เช่น รับข้อมูลข่าวสารมากเกินกว่าปริมาณข้อมูลที่สมองและความจำของคนจะรับไหว นำไปสู่อาการ FOMO (fear of missing out) หรือสมาธิสั้น (ADHD)
- การเสพติดการใ้ช้โซเชียลมีเดียหรือสมาร์ทโฟน จากความรู้สึกเหงาหรือว่างเปล่าจากการใช้ชีวิตที่ไม่รู้สึกว่าตนมีความหมาย โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนสามารถหลบหนีออกจากชีวิตที่ว่างเปล่าไปสู่ความว่างเปล่ารูปแบบใหม่ อย่างการนั่งไถหน้าฟีดเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย
- แม้ว่าเราจะได้รู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยน คนมากมายจากการใช้โซเชียลมีเดีย แต่เรากลับมีโอกาสสนิทแล้วไว้ใจคนเหล่านั้นน้อยกว่า ในทางจิตวิทยาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การที่คนหนึ่งจะกลายมาเป็นคนที่สนิทกับเราได้ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องลงแรงในความสัมพันธ์เพื่อใช้เวลาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ จนรู้จักกันและกัน รับรู้ถึงคุณค่าทางความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันกับอีกฝ่าย แต่ในทุนนิยมของการสื่อสาร เวลาของแต่ละคนแยกออกจากกัน และไหลบ่าตามข้อมูลข่าวสาร จึงยากมากที่ผู้คนจะหยุดเวลาของตัวเองเพื่อใช้ร่วมกับคนอื่น ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจึงอ่อนแอลง ความปัจเจกชนนิยมจึงเข้ามาแทนที่
- บนโลกโซเชียล พวกเราดูเหมือนจะมีอิสระในการนำเสนอในสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนทำ หรือเป็นเพื่อนที่ทำให้เราได้แสดงความเป็นตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเรานำเสนอก็ยังถูกสอดส่อง ตีมูลค่า และควบคุมการมองเห็นโดยผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้ทิศทางการนำเสนอของเราเป็นไปตามแนวทางที่มีมูลค่ามากกว่าแนวทางที่ตนต้องการ มากไปกว่านี้ทุนนิยมการสื่อสารยังกระตุ้นให้คนนำเสนอหรือเปิดเผยตนเอง จนทำให้ขอบเขตระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะน้อยลง สิ่งที่เราเปิดเผยกลายเป็นวัตถุที่ถูกตัดสินจากคนอื่นๆ ซึ่งกระทบกับตัวตนของผู้เปิดเผยด้วย
หลายคนมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นมากับทุนนิยมเป็นวิวาทะที่มาจากผู้ปกครองหรือคนรุ่นก่อนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และพยายามปิดกั้นพวกเขาออกจากเครื่องมือที่พวกเขาจะมีตัวตน และสร้างสังคมที่เป็นอิสระจากการสอดส่องจ้องมองของผู้ใหญ่ ข้อเสนอนี้คงจะเก่าเกินไป เพราะในปัจจุบัน ผู้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไม่ได้อยู่แค่เด็กหรือวัยรุ่น แต่คือคนทุกยุคทุกสมัย เพราะขนาดผู้สูงอายุยังใช้สมาร์ทโฟนในการส่งข่าวสารให้แก่ญาติพี่น้อง หรือดูคลิปวีดิโอขนาดสั้นเพื่อความบันเทิงได้ พวกเราต้องการสื่อและเสนอว่าทุนนิยมของการสื่อสารได้ทำให้คนทุกเพศทุกวัยตัดขาดและเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นแรงงานให้กับเครื่องมือสื่อสารนี้
เช่นเดียวกัน จุดยืนของพวกเราไม่ใช่การตีตราหรือโยนความผิดให้แก่เทคโนโลยีการสื่อสาร และผู้ใช้งาน พวกเรามองว่าการแยกขาดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารออกจากบริบททางสังคมอื่นๆ จะทำให้พวกเราพิจารณาปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนได้คับแคบ พวกเราขอยกข้อค้นพบของดานาห์ บอลด์ นักมนุษยาวิทยาดิจิตัล เธอเสนอว่าสาเหตุที่กลุ่มวัยรุ่นหันมาใช้โซเชียลมีเดียกันมากขึ้นเป็นเพราะพวกเขามีโอกาสที่จะได้เจอกันหรือใช้เวลาร่วมกันในโลกกายภาพน้อยลง เพราะพวกเขามีการบ้านและภาระที่เยอะขึ้น มีผู้ปกครองที่เข้มงวดขึ้น และการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะของวัยรุ่นถูกมองว่าเป็นการซ่องสุม ดังนั้นแล้ว การที่ผู้คนถูกดึงมาสู่ทุนนิยมของการสื่อสารก็เพราะพวกเขาถูกตัดขาดออกจากกันในระบบทุนนิยมโดยรวมด้วย
ชีวิตแรงงานในระบบทุนนิยมของการสื่อสารก็เป็นตัวกำหนดทิศทางของการต่อสู้ในโลกแพลตฟอร์ม การที่ผู้คนถูกทำให้โดดเดี่ยว (Atomize) ก็เปลี่ยนให้การสื่อสารมีความเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น วิวาทะอย่างการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้ที่ตนเอง เช่น การแสดงออกในโลกออนไลน์ การติดตามข่าวสารทุกเรื่องเพื่อให้เป็นคนตื่นรู้ การถกเถียงกับผู้อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดหรือการเข้าร่วมกองทัพดราม่าเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม พวกเราเชื่อว่า ในทุกการต่อสู้สิ่งจำเป็นไม่แพ้สิ่งอื่นคือความเป็นสหาย แต่หลายครั้งในการต่อสู้ออนไลน์ที่ทุกคนแยกขาดจากกัน — การต่อสู้ผ่านการโพสต์แสดงความคิดเห็น หลายครั้งก็ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ แต่เป็นการต่อสู้ที่ต่างคนต่างเอาชนะ หรือดราม่าในโซเชียลมีเดีย ที่แม้จะดูเหมือนเป็นการแสดงพลังร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ แต่กลับเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม ทั้งนี้เพราะในการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมหรือการต่อสู้ทางการเมือง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบปัจเจก แต่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างความเป็นเพื่อนหรือความเป็นขบวนการ เพราะหากในการต่อสู้เราเห็นเพียงแต่ตัวเราเอง การต่อสู้จะเป็นเพียงแค่การแสดงออก แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อใคร แต่ถ้าเราเห็นคนอื่นและผู้ร่วมสู้ด้วย เราจะรู้ว่าเรากำลังสู้เพื่อใครและใครกำลังสู้เพื่อเรา
ดังนั้น พอดแคสต์ของเรา Spiritual Leftism จึงมีหน้าที่ในการดึงผัสสะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเติมเต็มชีวิตของเรา เช่น การสัมผัสการอยู่ร่วมกันของผู้อื่น สัมผัสของมิตรภาพ สัมผัสของอารมณ์ที่อ่อนไหวหรือความเปราะบางในตัวเองและผู้อื่น หรือสัมผัสถึงธรรมชาติ แต่เสรีนิยมใหม่ได้พรากผัสสะนี้ของเราไป ด้วยการทำงานที่หนักและเหนื่อยล้า การแทนที่รับรู้ผัสสะต่างๆ ด้วยโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนเห็นสิ่งเหล่านี้ได้แค่ครึ่งทาง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการกลับมาเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์อีกครั้ง แต่ยังเป็นสิ่งที่เราต้องใช้มันในการต่อสู้กับระบบเสรีนิยมใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนและสิ่งต่างๆ หลังทุนนิยมให้ดียิ่งขึ้น <3