เรื่องและภาพ: สหายเข็มหมุด
ท่ามกลางการจับจ่ายใช้สอย มนุษย์ในปัจจุบันสามารถหาของกิน ของใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวดเร็ว ผ่านการแลกเปลี่ยนด้วยระบบเงินตรา ทำให้เราอาจไม่ทันตระหนักเลยว่าสายพานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดนั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง เหล่าคนที่ผลิตสินค้าให้เรานั้นได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ แล้วในตอนนี้ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง เขากำลังลำบากหรือว่าอยู่ดีกินดี?
เหล่าผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย หรือแม้แต่ตัวของเราเอง ต่างก็ต้องทำงานแลกเงิน เพื่อนำไปซื้อของใช้และเพื่อให้เราสามารถขับเคลื่อนชีวิตต่อไป แต่ในการทำงานมากมายบนโลกนี้ มีคนงานหลายล้านคนกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อรีดเอาผลกำไร ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเรา — ผู้ใช้แรงงานส่วนมากไม่รู้จักสิทธิของแรงงานหรือของตัวเราเอง เมื่อ 20 ปีก่อนในประเทศไทย คนงานกลุ่มหนึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบในโรงงานแห่งหนึ่ง แต่พวกเขาได้เลือกที่จะไม่ปล่อยมันผ่านไป หันมาลุกขึ้นสู้ เนื่องจากกรรมกรก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่าเทียมกัน
ในบริเวณเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ภายในตึกแถวสองคูหา ซึ่งเป็นทั้งบ้านและสถานที่ทำงานของคนงานกว่า 40 ชีวิต เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ มานพ แก้วผกา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ หรือ Solidarity group ในชื่อแบรนด์ว่า Dignity Returns ซึ่งเกิดจากคนงานหลายคนที่ถูกเลิกจ้างมารวมตัวกัน เพื่อสร้างโรงงานของคนงานเอง ที่ปราศจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เรามาลองฟังเรื่องราวของคนในกลุ่มนี้กัน
Dignity Returns มีความเป็นมายังไง?
มานพ: Dignity Returns เดิมทีเป็นกลุ่มคนงานโรงงาน Bed & Bath ที่โดนเลิกจ้างเมื่อปี 2545 เพราะตอนนั้นเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในภาคธุรกิจเสื้อผ้า ได้มีการย้ายโควต้าฐานการผลิตไปที่ต่างประเทศ บริษัทเลยปิดกิจการโดยไม่บอกล่วงหน้าลอยแพคนงานลูกจ้างประมาณพันกว่าคน โดยที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างค่าชดเชยเลย ตอนนั้นเราจะเข้าไปทำงานตามปกติ แต่โรงงานปิดประตูไม่ให้คนงานเข้าไปทำงาน มีแค่รปภอยู่หน้าโรงงานบอกว่าโรงงานปิดแล้ว ทุกคนงงกันหมดเพราะว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราก็เลยรวมตัวกัน เรี่ยไรเงินกัน ไปเรียกร้องสิทธิของเราที่กระทรวงแรงงานเป็นเวลา 3 เดือน ตอนนั้นมีคนงานเรียกร้องประมาณ 400 กว่าคน แต่ทำงานที่ตกงานจริงๆ มีพันกว่าคน ทางรัฐบาลก็พยายามตามตัวนายจ้างเพื่อให้มารับผิดชอบ แต่ก็ตามไม่ได้เพราะนายจ้างหนีไปต่างประเทศแล้ว ซึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็มีเพียงน้อยนิด เราก็เลยมองเห็นว่า จริงๆ แล้ว ตอนที่เราทำงานในโรงงาน เราเคยโดนเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานาจากนายจ้าง โดนกดขี่ ขูดรีดมากมาย เช่น ให้เราทำงานล่วงเวลาติดต่อกันหลายวันโดยไม่ได้พักผ่อน พวกเราเลยคิดว่า ทำไมพวกเราถึงไม่มาทำโรงงานกันเองล่ะ มาทำโรงงานของคนงานเอง ในเมื่อสายพานที่หนึ่งถึงสายพานสุดท้ายที่ผลิตสินค้า มันเกิดจากกระบวนการของแรงงานทั้งสิ้น เราก็มีแนวคิดนี้ตอนที่ชุมนุมกันที่กระทรวงแรงงาน ว่าทำไมเราถึงไม่ช่วยกันทำโรงงานให้เป็นของคนงานเองขึ้นมา ซึ่งเราคุยเรื่องนี้กันค่อนข้างนาน ก็ตกผลึก พอสิ้นสุดการชุมนุมเป็นเวลา 3 เดือน เราก็รวมคนงานแต่ละแผนกมาตั้งโรงงานเล็กๆ ของคนงานขึ้น
แล้วสุดท้ายหลังชุมนุมเสร็จ 3 เดือน คนงานชนะได้ค่าชดเชยไหม?
มานพ: ถามว่าเราชนะไหม ในเรื่องของศาล เหมือนออกหมายจับแล้วก็ค้างไว้เฉยๆ แล้วนายจ้างก็หนีไป คดีฉ้อโกงแรงงานนั้นมีอายุแค่ 10 ปี ซึ่งมันก็หมดอายุความไปแล้ว เราก็ไม่ได้อะไรเลย แต่คือเราก็ได้เงินชดเชยจากกระทรวงแรงงานส่วนหนึ่ง แต่กว่าจะช่วยเหลือก็ปล่อยเวลาไว้ค่อนข้างนานเหมือนกัน เป็นเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีที่โดนเลิกจ้าง ตกแล้วได้คนละ 15,000 บาท เราก็ใช้เงินก้อนนั้นมารวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มขึ้น ซึ่งเราก็ต้องกู้เงินจากทั้งในระบบและนอกระบบมาสร้างโรงงานด้วยเหมือนกัน
คือรัฐบาลก็มองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับคนงานมันเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะพอเราโดนเลิกจ้าง มันไม่ได้กระทบแค่เราคนเดียว เรายังมีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเรา มีครอบครัวที่รอรับเงินจากเรา ที่เราต้องเจียดเงินไปจุนเจือที่บ้านด้วย สุดท้าย เราก็เลยมองว่า หนึ่งสมองสองมือของเรา ด้วยมันสมองเล็กๆของเรา ที่เคยทำให้นายจ้างรวย แล้วทำไมเราไม่ทำให้ตัวเอง เพื่อที่เราจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เลยตั้งแบรนด์ตัวเองชื่อ Dignity Returns ซึ่งหมายถึง การกลับมาอีกครั้งของศักดิ์ศรีกรรมกร
แต่มีสิ่งที่เราภูมิใจมากจากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงานครั้งนั้นคือ เราได้ปรับเปลี่ยนกฎของกระทรวงแรงงาน กฎข้อบังคับเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้คนงาน เดิม 30 เท่า เพิ่มขึ้นเป็น 60 เท่า นี่คือสิ่งที่เราได้ทำให้กับคนงานทั่วประเทศ
ช่วงเริ่มก่อตั้งมีคนทำงานที่นี่เยอะไหม?
มานพ: ช่วงแรก 2546 เราก็รวบรวมคนงานแต่ละแผนกประมาณ 40 คน ซึ่งจำนวนนี้เป็นผู้ก่อตั้งทั้งหมด แต่หลายคนได้หล่นหาย ทั้งจากภาวะทางเศรษฐกิจ และรายได้ที่ไม่แน่นอน เหลือเพียง 16 คนที่ยังสู้ต่อในปี 2553 ส่วนตอนนี้เหลือผู้ก่อตั้งซึ่งก็คือผมเพียงคนเดียว แต่เรามีพนักงานทั้งหมด 35-36 คน ซึ่งก็มีทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ ช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน มันเป็นเวลาที่ยาวนานของขบวนการต่างๆ ของการต่อสู้ เช่น ตอนแรกเรามาเพื่อติดตามเส้นทางการโกงของนายจ้าง จากอายุคดีเป็นเวลา 10 ปี พอมันเลยช่วงนั้นทุกคนก็ค่อยๆ ออกไปหางานอื่นๆ ทำกัน บางคนก็ไปอยู่กับครอบครัว บางคนก็ไปทำเกษตรอยู่ต่างจังหวัด ก็เหลือน้อยลงตามสภาพ และระยะเวลา
ที่นี่ก่อตั้งมา 20 ปีพอดี คิดว่ามีช่วงไหนที่รุ่งเรืองที่สุดและซบเซาที่สุดบ้าง?
มานพ: จริงๆ แล้วพวกธุรกิจผลิตเสื้อผ้า อย่างเรามีเงินทุนเล็ก และยังไม่ใช่ SME เลย เป็นเหมือนร้านซัพเล็กๆ คือถ้าถามว่า ธุรกิจนี้มันขึ้นลงมากไหมน่าจะตรงกว่า เพราะมันขึ้นลงอยู่ตลอดเลย เหมือนเรานับ 1 2 3 และเราก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ตลอด มันไม่ใช่ว่าเราจะสามารถนับ 4 5 ต่อไปได้เรื่อยๆ แต่กลับต้องอยู่ในวังวนที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่แบบนี้ เพราะเรื่องทุนและงานออเดอร์ต่างๆ เนื่องจากเราไม่สามารถมีงานเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง แล้วก็ไม่สามารถต่อรองราคางานใดๆ ได้ เพราะเราเองก็โดนปัญหาเรื่องการเลิกจ้างมา เราพูดถึงเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เราจะทำยังไงให้มันเกิด Fair Trade หรือความยุติธรรมในการจ้างงาน เราอยากทำเรื่องของเสื้อผ้าสะอาด ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงผู้บริโภคว่าจะต้องได้รับเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วปราศจากเลือดและคราบน้ำตา การเอารัดเอาเปรียบของคนงาน เราก็เลยมองว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ
ตลอดระยะเวลา 20 ปีนี้ นอกจากผลิตเสื้อผ้า เรายังได้ช่วยเหลือคนงานอื่นๆ ด้วย เคสคนงานโดนโกง โดนเลิกจ้างต่างๆ เราก็ได้ให้ความรู้ข้อกฎหมาย เราทำงานร่วมกับทางสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เพื่อทำเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบด้วย ซึ่งที่เราทำอยู่ ณ ปัจจุบันก็คือ ประกันสังคมมาตรา 40 ที่ดูแลเหล่าแรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระต่างๆ พรบ. คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน ให้การช่วยเหลือข้อกฎหมายต่างๆ สำหรับผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน อย่างเช่น รับเสื้อผ้าไปเย็บตามห้องเช่าตามบ้าน หรือรับงานอื่นๆ ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้วนำไปผลิตเอง เราก็จะมีกฎหมายนี้ช่วยกำกับดูแล นอกจากนั้นเราก็ดูแลเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของ สปสช. การดูแลสุขภาพของแรงงานเอง ว่าจะให้เขาได้รับการดูแลสุขภาพยังไงบ้าง ถึงเหมาะสมกับสิทธิที่ตัวเองจะได้รับ ตลอดจนการดูแลแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วโดนกดขี่ขูดรีด โดนเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากตำรวจ นายหน้าขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม การขึ้นบัตรต่างๆ หรือการที่นายจ้างยึดบัตรพาสปอร์ตต่างๆ เราก็ทำงานช่วยเรื่องนี้กันอยู่
ที่นี่นอกจากเป็นสถานที่ผลิตเสื้อผ้าแล้ว ก็เป็นศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้วย โดยเรามีป้ายติดไว้ข้างหน้า ก็มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาให้เราช่วยอยู่เรื่อยๆ ทั้งให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือ เช่น เข้ามาปรึกษาว่า นายจ้างยึดบัตรจะทำยังไงดี จะต่อบัตรแล้วนายจ้างไม่แจ้งออกจะทำยังไงดี โดยช่วงโควิด เราก็เจอเคสที่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลได้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ เราก็ได้ไปร่วมมือและทำงานกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเขาทำโครงการปันอาหารปันชีวิต เราก็จะไปรับอาหารที่ทางโครงการรับบริจาคมา แล้วโครงการก็จะนำเงินนั้นไปซื้อผักจากเกษตรกรที่ขายไม่ได้ในช่วงโควิด แล้วก็เอาพืชผักเหล่านั้นมาทำอาหารช่วยเหลือคนงานหรือกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในช่วงโควิด เราก็ไปร่วมมือกับมูลนิธินั้น โดยเราทำครัวกลางกันที่นี่ เพื่อดูแลคนในพื้นที่ ดูแลคนงานก่อสร้างที่ไม่ได้ก่อสร้างในช่วงโควิด ก็มีคนงานค่อนข้างจะหลากหลายที่เราได้ดูแลอยู่
แล้วคนในกลุ่มได้แนวคิดเสื้อผ้าที่คนงานผลิตต้องปราศจากเลือด คราบน้ำตาของคนงาน มาจากไหน?
มานพ: เดิมทีตอนที่เราอยู่บริษัทเก่า โรงงาน Bed & Bath ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกให้กับแบรนด์ดังอย่าง Nike Addidas แต่นายจ้างก็ขูดรีดเอากำไร พยายามเอาเปรียบคนงาน เช่น ให้ทำงานเกินเวลาปกติ ให้ทำงาน 2 วัน 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีหยุดพัก นายจ้างเอายาเสพติด หรือยาบ้าในสมัยก่อน ผสมกับน้ำแล้วก็เอามาให้คนงานกิน มีการทำร้ายร่างกายคนงานด้วย มีการจ้างสห. หรือ สารวัตรทหารมาคุมคนงาน คือเป็น ทหารรับจ้างนี่ล่ะ มายืนถือปืน ยืนคุมคนงานอยู่รอบๆ เพราะว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วยังไม่มีโซเชียล มันมีกฎหมายนะ แต่พวกสื่อโซเชียลยังไม่ได้แพร่หลายเท่าในปัจจุบัน โทรศัพท์ก็ยังไม่ได้ใช้กันเป็นวงกว้างแบบปัจจุบัน ทำให้ข่าวสารต่างๆ เก็บเป็นความลับภายในบริษัทได้ง่าย เช่น เรื่องที่บริษัทเอาเปรียบคนงานต่างๆ หักเงินโดยไม่มีเหตุผล อย่างนายจ้างให้ยกมือซ้าย แต่เรายกมือขวา เราก็จะโดนหัก 500 บาท ถ้าคนงานหาวนอน เราจะโดนหัก 500 บาท ถ้าทำงานจนดึกแล้วแอบเอามะนาวไปกิน ก็จะโดนหักลูกละ 2,000 บาท คือในโรงงานมีกล้องวงจรปิดติดรอบเลย ซึ่งมันก็เป็นสภาพการจ้างงานที่ค่อนข้างย่ำแย่มาก
เพราะโดยปกติหลักจรรยาบรรณของแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ จะมี Code of Conduct ซึ่งเป็นหลักจรรยาบรรณของการผลิตเสื้อผ้าว่าการดูแลคนงานจะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง เช่น หญิงมีครรภ์ห้ามทำโอที ห้ามทำงานล่วงเวลา ซึ่งมันก็มีกฎหมายออกมาแล้วว่า หากทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง จะต้องได้รับค่า OT จำนวน 1.5 เท่าของค่าแรง หรือโรงงานจะต้องมีการซ้อมหนีไฟ การตรวจสุขภาพประจำปี แต่นายจ้างก็ไม่ทำ ไม่ปฏิบัติตาม กลับพยายามจะเอาเปรียบคนงาน ถ้าถามว่าทำไมตอนนั้นทุกคนถึงยอมอดทน คือตอนนั้นเขาจ่ายเงินเราดี ถึงจะให้ทำงานล่วงเวลา แต่เราก็ได้เงินดี ในช่วงนั้น บริษัทอื่นๆ คนงานทำงาน 15 วัน นายจ้างจะจ่ายเงินให้ 3,500 บาท แต่บริษัทเรา Bed & Bath จ่ายเงินให้ 7,000 บาท ซึ่งตอนนั้นค่าแรงอยู่ที่ 181 บาทต่อวัน เราก็เลยยอมทนทำงานเพราะได้เงินมากกว่าบริษัทอื่น
ในขณะนั้น เราไม่เคยรู้เรื่องกฎหมายแรงงานเลย เราไม่เคยรู้ว่ากฎหมายแรงงานคืออะไร เราต้องปฏิบัติยังไง จนกระทั่งเราโดนเลิกจ้าง แล้วไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิ ก็เลยได้เรียนรู้เรื่องของสิทธิแรงงานต่างๆ ว่าจริงๆ แล้ว แรงงานต้องได้รับการคุ้มครองยังไง เราคิดว่า กฎหมายแรงงานควรนำไปสอนเด็กๆ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปลาย เพราะบางคนเขาไม่ได้ต้องการเรียนต่อปริญญาตรี คนที่เรียนปวส หรือปวช ต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กฎหมายเหล่านี้เพื่อมาใช้ในการทำงานว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีอะไรบ้างที่จะต้องมาดูแลคุ้มครองเรา เช่น ประกันสังคม แล้วประกันสังคมมีกี่ประเภท กฎหมายแรงงานมีอะไรที่จะทำให้เราได้รับสิทธิเต็มที่
ซึ่งรัฐบาลก็ไม่เคยมองมาตรงจุดนี้ เพราะปัญหาก็คือเรื่องทุนอย่างเดียว ถ้าคนงานรู้เรื่องสิทธิแรงงานกับการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แล้วนายทุนที่ไหนจะมาลงทุนในเมืองไทย ทางนายจ้างก็จะมองในมุมนี้ ส่วนทางรัฐบาลก็จะมองในมุมที่เอื้อประโยชน์ให้นายจ้าง เพราะนายจ้างอยากได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด แล้วก็ไม่อยากให้คนงานกระด้างกระเดื่อง คือไม่อยากให้คนงานต่อสู้ในเรื่องของสิทธิแรงงาน อยากจะควบคุมแรงงานไว้ เขาเรียกว่ายังไงนะ คืออยากเหยียบคนงานไว้ ไม่ให้รู้อะไรเยอะนั่นแหล่ะ แล้วก็ทำงานต่อไป ส่วนเรื่องวันหยุดประจำปีมีกี่วัน ถ้ามาทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์จะได้กี่แรง ก็ไม่ต้องการให้เรารู้เยอะในขณะนั้น ปัญหาก็คือว่า ตอนนั้นมันไม่มีตัวเชื่อม ทุกคนไม่ได้มี Google หรืออินเตอร์เน็ตที่สามารถค้นหาข้อมูลอะไรต่างๆ ได้เหมือนในปัจจุบัน แต่ก่อนโทรศัพท์ที่พวกเราใช้ก็แค่โทรออก กับส่งข้อความเท่านั้น
แล้วแต่ก่อนใครเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานกลุ่มนี้?
มานพ: พวกองค์กร NGO ช่วยเราหมดเลย ตอนที่เราไปชุมนุมกันในขณะนั้น ช่วงนั้นมีโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย คุณเล็ก จรรยา ยิ้มประเสริฐ ช่วยเราในเรื่องของข้อกฎหมาย เขามีคนมาดูแลข้อกฎหมายให้ แล้วก็มีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลข้อกฎหมายต่างๆด้วย พวกเขาก็มาผลักดันช่วยเรากัน
ในขณะนั้น มีคนงานโดนเลิกจ้างเยอะไหม?
มานพ: เยอะมาก แต่เขาก็ไม่ค่อยสู้กันไง แล้วหลังจากโรงงานเรามาก็เยอะ พวกโรงงานใหญ่ๆ ปิดตัวลงไปเยอะมาก โรงงานเราเจอปี 45-46 แต่โรงงานหลังจากนี้ ช่วงปี 47-49 เจอเรื่องระบบโควต้า เนื่องจากมีการยกเลิกระบบโควต้าทั้งประเทศ ทาง EU หรือสหภาพยุโรป อเมริกา ประเทศตะวันตกต่างๆ ปกติ เขาจะมีโควต้าลงในประเทศกำลังพัฒนาว่า สินค้ายี่ห้อแบรนด์นี้หรือสินค้าที่มาจาก EU จะต้องลงในไทยทั้งหมดกี่ตัว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เขาไม่ได้มาตั้งโรงงานนะ เรื่องจะมาที่กระทรวงพาณิชย์ลงมาเลย เพราะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลว่า มีงานก้อนนี้ลงมา แล้วทั้งหมดลงมาเท่าไร จากนั้นกระทรวงก็แจกจ่ายให้กับบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปประมูลออกมา จัดสรรแบ่งโควต้ากันออกมาทำงาน ทีนี้พอโควต้าหมดทำให้มีงานน้อยลง
ในตอนนี้บริษัทภาคผลิตเสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่ยังทำเสื้อผ้าอยู่ก็อาจมีไม่กี่โรงงาน เช่น ฮงเส็ง ไฮเทค เครือธนูลักษณ์ ซึ่งทำเสื้อผ้าให้พวกแบรนด์ดังต่างๆ เช่น Arrow ชุดชั้นใน WACOAL ส่วนบริษัทเก่าๆ ที่ไม่ได้รับ แต่ทำเลยก็จะมี ไฮเทค ฮงเส็ง ยงสง่า คือรับออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาทำ อย่างเช่น NIKE Adidas แต่โรงงานผลิตเสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่มีคนงานเกิน 500 คนเหลือไม่กี่โรง
แล้วการทำงานผลิตตัดเย็บเสื้อผ้า เผชิญปัญหาสุขภาพบ้างไหม?
มานพ: มีเยอะ ฝุ่นเยอะ เพราะเสื้อผ้าทำมาจากฝ้ายและใยโพลีเอสเตอร์ ใยสังเคราะห์ ซึ่งมันมีฝุ่นละเอียดอยู่แล้ว พอเราโค้งหรือตัดเย็บในห้องเย็บ มันจะมีฝุ่นเล็กๆ ปลิวออกมา ถ้าเราไม่ใส่ผ้าปิดจมูก ฝุ่นพวกนี้ก็จะเข้าไปในปอด ทำให้เกิดโรคฝุ่นฝ้ายในปอด ซึ่งเราก็ต้องไปตรวจสุขภาพบ่อยๆ เวลาเราทำโรงงานเย็บผ้า เราต้องรู้เรื่องนี้ และทำความสะอาดร่างกาย เพราะผ้าแต่ละอย่างมีเคมีไม่เหมือนกัน มันเป็นอันตราย แต่ถ้าถามว่าเรื่องฝุ่นพวกนี้ เรากลัวไหม เราก็ไม่ค่อยกังวลอะไรเยอะ แต่สิ่งที่สำคัญและกังวลมากกว่า สำหรับคนเย็บผ้าคือ เรื่องสายตา เพราะเราต้องจ้องทำงานตลอด 8 ชั่วโมง แล้วต้องจ้องขณะเย็บผ้าตลอด อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องสุขภาพหลัง การนั่งนานๆ เพราะเรานั่งกับจักรเย็บผ้าวันหนึ่ง 8 ชั่วโมง หรือมากกว่า 8 ชั่วโมงในการทำโอที มันก็ทำให้หลังเราโก่งได้ การที่เราไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ มันก็มีปัญหากับร่างกายเหมือนกัน
แล้วที่นี่มีสวัสดิการอะไรให้ลูกจ้างบ้าง?
มานพ: สวัสดิการเรา เราทำงานกันเหมือนครอบครัว มีครัวทำกับข้าวด้วยกัน ทานกับข้าวด้วยกัน มีวันหยุดประจำปกติ แล้วก็วันหยุดนักขัตฤกษ์เราก็จะจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย แล้วก็มีเรื่องของน้ำสะอาด หรือบางคนไม่มีที่อยู่อาศัย ก็มาพักที่นี่ได้ ชั้นข้างบนจะมีห้องอยู่ แต่ส่วนมากเขาจะพักกันอยู่ข้างนอก อันนี้เป็นในกรณีที่เขาถูกเลิกจ้าง ยังไม่มีที่อยู่อาศัย โดนทำร้ายร่างกายมา ก็จะเอามาพักที่นี่ก่อนเพื่อที่จะดำเนินคดีอะไรต่างๆ นาๆ เสร็จก็เขาก็หาที่อยู่ใหม่ หานายจ้างใหม่ เรียบร้อยเขาก็ออกไป ก็จะเป็นในลักษณะนั้น
แล้วอย่างในโรงงานใหญ่ๆ ถ้าคนงานมีอายุเยอะจะถูกเอาออกไหม?
มานพ: ส่วนมากจะไม่ค่อยเอาเราออก แต่จะบีบออกเอง ส่วนมากโรงงานเย็บผ้า จะไม่มีการขยับค่าจ้างขึ้น คือค่าจ้างขั้นต่ำยังไงก็เป็นอย่างนั้น เหมือนตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาท มันก็จะอยู่แค่นี้ แม้ว่าเราจะทำงานมา 10 ปี 20 ปีก็ตาม ค่าแรงก็ไม่ได้ขยับตามอายุงาน ซึ่งถ้าโรงงานอยากให้เขาออก โรงงานก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งสุดท้ายเขาก็จะใช้วิธีการบีบให้ออกเอง เช่น การตั้งเป้าในการทำงาน คือตั้งเป้าว่าวันหนึ่งคุณจะต้องทำงานได้ 300 ชิ้น สมมุติว่าแต่ละขั้นตอนทำงาน ต้องทำได้ขั้นตอนล่ะเท่านี้ๆ คนงานก็ต้องเร่งให้ได้ยอดตามนั้น แต่พอไม่ได้ตามยอด เขาก็จะโดนติ๊กไว้ คนงานก็จะรู้สึกกดดัน เราไม่ไหวแล้วในสถานการณ์แบบนี้ คนงานก็ต้องยอมออกเองโดยไม่ได้รับค่าชดเชย มันก็จะมีการบีบออกแบบนี้ด้วย บางที หลายๆโรงงาน เช่น ฮงเส่ง ไฮเทค พอย้ายไปกัมพูชา เขาเปลี่ยนจักรนั่งทำงานเป็นจักรยืน คือเราจะมานั่งเย็บไม่ได้แล้ว ต้องยืนเย็บผ้า ซึ่งคนงานที่อายุเยอะๆ แล้ว เขาก็จะยืนนานๆ ไม่ไหว เขาก็เลยต้องออกเอง ฉะนั้นการลาออกกับการให้ออกมันต่างกัน และได้รับค่าชดเชยต่างกันด้วย
การผลิตเสื้อผ้าที่นี่เจาะตลาดคนกลุ่มไหน?
มานพ: คือในตลาดเสื้อผ้านั้นมันมีการแข่งขันสูงมาก ส่วนเราทำเรื่อง Fair Trade แต่ตลาดลูกค้าของเราไม่ได้เจาะตลาด Fair Trade โดยเฉพาะ เพราะว่าในตลาด Fair Trade คนที่เขามองเห็นความสำคัญของแรงงานจริงๆ มันมีอยู่น้อย ถ้าเราจะไปขายเฉพาะกลุ่มนั้น เราอยู่ไม่ได้ เราจะไม่มีงานเย็บ เราก็ต้องขายตลาดราคากลางด้วย โดยที่เน้นในเรื่องคุณภาพ ถ้าเราไปพูดถึงสิทธิแรงงาน การไม่เอาเปรียบแรงงานกับลูกค้าเอกชน เขาไม่ฟังนะ แต่ถ้าเราพูดถึงเรื่องคุณภาพ ลูกค้าเอกชนเขาจะฟัง เช่นว่าบริษัทหรือกลุ่มนี้เขาทำงานดีนะ มีคุณภาพ ตัดเย็บสวยงาม ตามรูปแบบที่ต้องการ คุณภาพผ้าโอเค เขาก็จะสั่งผลิตเสื้อผ้าเรามาในราคาที่ไม่ได้ต่ำอย่างราคาตลาดล่าง แต่เป็นตลาดกลางๆ แต่กลุ่ม NGO สหภาพแรงงานต่างๆ หรือคนที่เขาทำเรื่อง Fair Trade เขาก็เข้ามาสั่งออเดอร์เราเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าเราจะไปกระโดดเรียกราคาสูงเลยไหม เราก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น จะเรียกราคากลางที่เราทำอยู่ปกติ
แล้วทำไมแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ถึงขายแพง?
มานพ: เหมือนเขาเรียกมันว่า ค่าการตลาด ถามว่าเรารู้สึกว่ามันแพงไหม เราก็รู้สึกนะ เพราะว่าเปอร์เซ็นต์ที่เราได้อาจจะแค่ 3-5% ของราคาสินค้า นอกนั้นคือเป็นเรื่องของทุนที่เขาได้ไป ทั้งพ่อค้าคนกลาง เจ้าของแบรนด์ อื่นๆ จะได้เยอะ ซึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านี้ถือว่าได้เยอะนะ เพราะสำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างพวก Nike คนผลิตอาจได้ไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ อาจได้ประมาณ 1% กว่าๆ
อย่างเช่นเสื้อของนักฟุตบอลระดับโลกที่เขาใส่ๆกัน คนผลิตก็ได้ค่าจ้างไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ ถึงนักกีฬาระดับโลก หรือนักฟุตบอลระดับโลกจะใส่ก็ตาม เราก็จะได้ค่าตัดเย็บอยู่ตัวล่ะประมาณ 10 บาท อย่างเช่นเสื้อคอกลมตัวนึง ตอนนี้ราคากลางค่าตัดเย็บไม่เกิน 15 บาท เต็มที่ค่าตัดเย็บอย่างเดียว ไม่รวมแพคของ เบ็ดเสร็จแล้วก็ประมาณ 20 บาทต่อตัว นี่คือราคาล่างๆ นะที่เขาทำกัน
ถ้าบริษัทใหญ่ปล่อยงานมาให้เย็บข้างนอก ก็จะได้ตัวละ 5-7 บาทเท่านั้น คือให้คอกลมตัวหนึ่งมา แล้วเย็บให้กลายเป็นเสื้อตัวหนึ่ง บริษัทเขาจะตัดมาให้ แล้วเราก็เอามาเย็บอย่างเดียว เรียกว่า sub-contract คือโรงงานใหญ่ตัดเย็บเสร็จ เขาก็จะจ้างพวก sub-contract มาเย็บให้ ถ้าเราไปรับงานเขามาเย็บ เราก็ได้แค่ตัวละ 7 บาท ถึงแม้ว่าบริษัทหรือแบรนด์จะไปขายตัวละ 2,000 บาท 3,000 บาท หรือ 10,000 บาท เราก็ได้แค่ 7 บาทเท่านั้น คิดดูสิมันจะถึง 1% ไหม
เรารู้สึกจริงๆ นะเวลาไปห้างว่า เสื้อตัวนี้มันผลิตที่เรา แล้วเขามาขายในราคาที่สูงมาก แต่เราก็แทบจะไม่เหลืออะไรเลย ทั้งๆ ที่เรารู้ต้นทุนการผลิตทั้งหมด แม้กระทั่งผ้า แต่เขาก็อาจราคาสูง เพราะเขาขายแบรนด์ของเขา นวัตกรรมเสื้อต่างๆ ที่เขาทำวิจัยมา
แล้วคุณภาพเสื้อเขา มันเหมือนของเราไหม?
มานพ: คือคุณภาพการตัดเย็บเราเหมือนกัน แต่คุณภาพผ้าอาจจะไม่เหมือนกัน เช่นเวลาเราทำเสื้อผ้าให้แบรนด์ต่างๆ เสื้อผ้าแบบนี้คอกลมเหมือนกัน แต่คุณภาพผ้าอาจจะต่างกัน ก็ต่างกันในเรื่องของผ้าอย่างเดียว บางบริษัทก็สั่งทำผ้าด้วยนวัตกรรมต่างหาก ที่แบรนด์เขาทำเองมาจำเพาะเลย
แต่ว่าปกติอย่างเช่นพวก Nike ตอนนี้สั่งทำที่บริษัทจงสถิตย์ แล้วก็สั่งทอที่นันยาง สั่งทอที่ทอไทยบ้าง คือจริงๆ มันก็ไม่ได้ไปไหนไกล มันก็อยู่ในแถวๆ นี้ เราก็ไปซื้อผ้า Nike ที่จงสถิตย์ได้ ไปซื้อผ้าพวกนี้มาผลิตเองได้ มันแค่ต่างกันตรงที่แบรนด์ ที่เอาไปแปะไว้ตรงคอเสื้อแค่นั้นเอง ว่ามันเป็นแบรนด์ตลาดสูง หรือตลาดล่าง ถ้าเป็นแบรนด์ตลาดล่างมันก็เหมือนไม่มีราคา ถ้าเป็นแบรนด์ที่มีตลาดดีอย่าง Nike ทำอะไรออกมาคนก็ใส่ ขายแพงสองหมื่นสามหมื่นบาท คนก็ซื้อก็ใส่
มีความคิดเห็นอย่างไรกับการทำผ้าโหล?
มานพ: เราคิดว่า การทำผ้าโหลคือไม่มีทางเลือกแล้ว คนงานที่ทำมีฝีมือนะ หลายๆ คนมีฝีมือดี แต่ว่าพอทำผ้าโหลแล้ว ราคามันต่ำมาก แล้วจะให้ไปปราณีตเย็บฝีเข็มตั้งแต่ 11 ฝีเข็มขึ้นไป มันไม่มีใครเขาทำหรอก เพราะว่าราคาที่ได้รับมันถูก พอราคามันถูก ก็ต้องเย็บตามสภาพราคานั่นแหละ แล้วก็ต้องอาศัยปริมาณ เราลองสังเกตตลาดในโบ๊เบ๊หรือประตูน้ำดูนะ โบ๊เบ๊นี่คือตลาดต่ำที่สุดแล้วในประเทศไทย ก็คือว่า สินค้าที่ขายเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีคุณภาพมาก มีการตัดเย็บที่ไม่ได้สวยงาม แต่เน้นราคาถูก
ซึ่งการที่แรงงานจะทำแบบนี้ได้ และเขาจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยการทำผ้าโหล เขาจะต้องอาศัยความเร็ว อาศัยเรื่องของระยะเวลาในการผลิตมากกว่า 8 ชั่วโมง อาจตื่นทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า เลิกงานเวลาสามทุ่ม หรืออาจเลิกดึกกว่านั้น เพื่อที่จะได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการอยู่รอด
คนงานผลิตเสื้อผ้าชาวไทยยังทำงานในโรงงานอยู่ไหม?
มานพ: ตอนนี้แรงงานไทยไม่ค่อยทำเสื้อผ้ากันแล้ว ส่วนมากเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในโรงงานแทน คือเมื่อ 20 ปีที่แล้วภาคการผลิตเสื้อผ้าในประเทศไทยมันเฟื่องฟู ซึ่งคนกลุ่มนั้นจากอายุประมาณ 30-40 ปี ในปัจจุบัน พวกเขาก็แก่ลงแล้ว ซึ่งพออายุมากขึ้น โรงงานก็ไม่ค่อยอยากรับแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ คนงานพวกนี้จะไปเปิดจักรเย็บจักรตามบ้านแทน คือเขาจะซื้อจักรไว้ตัวนึงแล้วก็รับงานมาเย็บ รับงานเป็นขั้นตอน อย่างเจาะโปโล ทำปก ทำแขน เย็บกระเป๋า ซึ่งคนงานเหล่านี้จากที่เคยทำงานในโรงงานก็จะเปลี่ยนไปเป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย นายจ้างก็จะไม่ได้มาดูแลตรงจุดนั้น เขาก็จะมองแค่เอางานไปปล่อย พอทำเสร็จก็รับคืนมาเท่านั้น คนงานกลุ่มนี้จึงถูกเอาเปรียบได้ง่าย อยากจ่ายเงินก็จ่าย อยากไม่จ่ายก็บอกว่า คุณเย็บไม่สวย หรือหายไปเลยก็มี เช่นเอางานมาลงๆ พอทำเสร็จก็ขนของหนีหายไปเลยก็มี
แล้วรัฐบาลมีอิทธิพลในตลาดเสื้อผ้าสูงไหม?
มานพ: จริงๆ รัฐบาลมีอิทธิพลในตลาดเสื้อผ้าสูงมาก อย่างที่เราพูดถึงพวกกระทรวงพาณิชย์อุตสาหกรรม หรือพวก SME ก็คือมันแยกออกมาจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมาดูแล SME โดยเฉพาะ เนื่องจากตลาดเสื้อผ้ามันมีการแข่งขันกันสูงมาก รัฐบาลก็สามารถออกมาตรการอย่างเรื่องการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นของ SME ที่มอบส่วนลดในเรื่องของเปอร์เซ็นต่างๆ รัฐบาลควรจะมาดูแลภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าอย่างจริงจังมากขึ้น แล้วก็กำหนดการนำเข้าที่ชัดเจนในเรื่องของเสื้อผ้าต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ ที่ทำให้ตลาดพัง หรือรัฐบาลอาจจะต้องมาดูในเรื่องของกฎหมายแรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าตอนนี้ ในภาคการผลิตเสื้อผ้าซึ่งอยู่ในช่วงขาลง จะทำอะไรเพื่อกระตุ้นได้บ้าง แต่รัฐบาลก็แทบจะไม่ได้มาสนใจหรือมากระตุ้นอะไรเลย แล้วในตอนนี้มันมีการย้ายฐานผลิตเยอะมาก ย้ายไปกัมพูชา เนปาล ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่จ่ายค่าแรงได้ถูกกว่า แต่ในปัจจุบัน ไทยเองตอนนี้โลกโซเชียลสามารถกระจายเป็นวงกว้างได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ของแรงงาน เราก็สามารถร้องเรียนเรื่อต่างๆ หรือแคมเปญต่างๆ ได้เยอะขึ้น นายจ้างก็จะไม่ค่อยกล้าทำอะไรขัดกับหลักกฎหมายต่างๆ ต้องพยายามทำตามกฎหมายให้ได้มากที่สุด
———–
ตอนนี้ดินแดงได้อุดหนุนและสั่งทำเสื้อผ้าจาก Dignity Returns จำนวน 100 ตัว
โดยขายในราคาตัวละ 300 บาท เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการผลิต และเผยแพร่บทความต่างๆ ในดินแดง
หากคุณสนใจ “โรงงานของคนงาน” ชื่นชอบ “เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วปราศจากเลือดและคราบน้ำตา”
หรืออยากสนับสนุนแนวคิดของพวกเราสามารถสั่งซื้อกันได้เลย
ที่เพจ Facebook: Dindeng ดินแดง หรือที่ Instagram: Dindeng_th
ด้วยคำขอบคุณและ Solidarity