ผู้เขียน Quixote Joe
ผู้แปล GoodDay
บรรณาธิการ Editorial Team

หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School


มารู้จักกับ EZLN: ขบวนการการต่อสู้ของชนพื้นเมืองเม็กซิโก

เป็นเวลา 28 ปีมาแล้วที่ซาปาติสตา (the Zapatistas “EZLN”) ขบวนการการต่อสู้ของชนพื้นเมืองที่ตั้งอยู่ในเม็กซิโกตอนใต้ได้ดำเนินการต่อสู้กับรัฐเม็กซิกันอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขา ด้วยการผนวกรวมทฤษฎีการเมืองที่มาจากขนบอนาธิปไตยและสังคมนิยมแบบตะวันตกเข้ากับจักรวาลวิทยาของชนพื้นเมืองท้องถิ่น นอกจากที่ขบวนการซาปาติสตาจะเสนอแนวทางสุดขั้วที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การยึดอำนาจแล้ว พวกเขายังได้นำแนวทางเหล่านี้มาใช้ในภาคปฏิบัติการอย่างจริงจังอีกด้วย นั่นคือ พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งสมัชชาการปกครองระดับท้องถิ่นอิสระต่างๆ ซึ่งวิพากษ์ต่อต้านระบบทุนนิยม รัฐชาติ และสถาบันสมัยใหม่อื่นๆ ทุกรูปแบบ (การศึกษา การแพทย์ กฎหมาย ฯลฯ) อย่างขุดรากถอนโคน อย่างไรก็ตาม EZLN ไม่ใช่ขบวนการชนพื้นเมืองชาตินิยมแบ่งแยกดินแดนหรือขบวนการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชแต่อย่างใด กล่าวคือพวกเขาไม่ได้จองจำตัวตนของเขาเองไว้ในอุดมการณ์แค่แบบเดียว ในทางกลับกัน พวกเขามุ่งหมายที่จะ ‘เรียนรู้ระหว่างทาง’ (listen while walking) เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากขบวนการต่อสู้ของประชาชนในที่อื่นๆ และแสวงหาหนทางในการเชื่อมร้อยตนเองและหมู่เหล่าเข้าไว้ด้วยกันเพื่อที่จะสามารถสรรค์สร้างสังคมขึ้นมาจากฐานรากได้  

แม้ EZLN จะเคยแถลงไว้ว่าพวกเขาปฏิเสธการจัดแบ่งประเภททางการเมืองทุกรูปแบบ แต่อาจกล่าวได้เช่นเดียวกันว่าอุดมการณ์ของพวกเขามีความใกล้เคียงกับประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว (radical democracy) สังคมนิยมแบบอิสรนิยม (libertarian socialism) นักต่อต้านเสรีนิยมใหม่ (anti-neoliberalism) และส่งเสริมความเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม รากฐานทางปรัชญาของพวกเขาอาจสืบย้อนกลับไปถึงมาร์กซ์และเองเกลส์ (Marx and Engels) อัลธูแซร์ (Althusser) ปูลองซาส (Poulantzas) ฟูโกต์ (Foucault) และคนอื่นๆ อีกมากมาย ในส่วนของความเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม EZLN มุ่งมาดปรารถนาที่จะเชื่อมประสานมุมมองต่อโลกระหว่างผู้คนที่เป็นชนพื้นเมืองและผู้คนที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองเข้าหากัน ส่งเสริมจินตภาพของ ‘พหุภพ’ (pluriverse) อันเป็นดั่ง “โลกที่ร้อยเรียงผู้คนจากทั่วทุกภพเข้าไว้ด้วยกัน”

วิถีปฏิบัติบางอย่างที่มีต้นกำเนิดมาจากขนบแบบชนพื้นเมืองนั้นได้แก่ ความเป็นชุมชนนิยม (communalism) การตัดสินใจตามมติมหาชน (consensus decision-making) หลักการปกครองตนเอง (self-governance) และประชาธิปไตยชุมชนทางตรง (direct community democracy)  อาจกล่าวได้ว่าหลักการของ EZLN อันเป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น “preguntando caminamos” (ถามไถ่และมุ่งหน้า) หรือ “mandar obedeciendo” (การนำโดยการตาม) มีต้นกำเนิดมาจากชุมชนพื้นเมืองมายันบางชุมชนที่พวกเขาได้ทำงานด้วยกัน พวกเขาปฏิเสธระบบการศึกษาสมัยใหม่ของรัฐเม็กซิกัน และเลือกที่จะสอนภาษาและวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองแบบดั้งเดิมแทน ประวัติศาสตร์ถูกสอนจากมุมมองของชุมชนพื้นเมืองท้องถิ่น ในขณะที่ค่านิยมแบบตะวันตกไม่ว่าจะเป็นแนวคิดปัจเจกนิยม การแข่งขัน บริโภคนิยมและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งถูกแทนที่โดยคุณค่าอย่างเช่นความเคารพนอบน้อมต่อชุมชนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

Ejército Zapatista de Liberación Nacional (source: wikimedia)

EZLN เป็นขบวนการต่อต้านทุนนิยมโดยแท้ ภายในอาณาเขตของพวกเขามีการปฏิบัติตามหลักความเป็นสังคมรวมกลุ่ม (collectivism) ซึ่งปัจจัยการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม นอกจากนั้นยังปฏิเสธการมีผู้ควบคุมดูแลและเจ้าของกรรมสิทธิ์อีกด้วย ในทางการเมือง พวกเขายึดถือในระบอบประชาธิปไตยทางตรงแบบกระจายศูนย์ (decentralized direct democracy) ที่ซึ่งคณะกรรมการ (councils) สามารถโหวตได้ในทุกเรื่องที่หยิบยกขึ้นมา โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของบุคคลที่โหวตหรือบุคคลที่ปกครอง ผู้แทนถูกเลือก (ซึ่งในนี้ไม่มีใครที่มาจาก EZLN) ให้เป็นตัวแทนของชุมชนแต่ละชุมชนเป็นการเฉพาะในสมัชชาทั่วไป (general assemblies) ซึ่งทำหน้าที่แบบสับเปลี่ยนหมุนเวียนและสามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งเมื่อใดก็ได้ที่ผู้คนเห็นว่าไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง สุดท้ายก็คือ ในขณะที่หนึ่งในเป้าประสงค์ที่สำคัญที่สุดของ EZLN คือการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชนพื้นเมือง แต่พวกเขาก็ไม่หวั่นเกรงแต่อย่างใดที่จะวิพากษ์และรื้อสร้างขนบแบบชนพื้นเมืองบางประการที่พวกเขาเห็นว่ามีลักษณะกดขี่กดทับ ประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ตามประเพณีแล้ว ผู้หญิงในเชียปัส (Chiapas) จะถูกบังคับให้แต่งงานและอยู่แต่ภายในบ้าน EZLN จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมนี้ทีละเล็กทีละน้อยโดยการนำเอาแนวคิดสตรีนิยมแบบสุดขั้วมาใช้และบังคับใช้ ‘กฎหมายปฏิวัติของผู้หญิง’ (Women’s Revolutionary Law) อันประกอบไปด้วยสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้หญิงสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองหรือทางการทหารได้ สิทธิในเงินเดือนที่เท่าเทียม สิทธิที่จะเลือกบุคคลที่ตัวเองต้องการจะอาศัยอยู่ด้วยและจำนวนบุตรที่ตนต้องการจะมี สิทธิในการศึกษา สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในกิจการของชุมชน ฯลฯ

“ที่ผ่านมาผู้หญิงเป็นผู้ที่ถูกกดขี่มากที่สุด พวกเราตื่นนอนตอนตีสามเพื่อที่จะเตรียมข้าวโพดมาทำอาหารเช้าให้สามี และพวกเราจะไม่ได้พักเลยจนกว่าจะถึงเวลาดึกๆ ถ้ามีอาหารไม่พอ เราก็จะจัดหาอาหารให้ลูกๆ หรือสามีของเราก่อน “เพราะฉะนั้นแล้ว ณ ตอนนี้ ผู้หญิงจึงตัดสินใจที่จะโต้กลับพร้อมทั้งผันตัวมาเป็นซาปาติสตา”

— ผู้บังคับการราโมนา (Comandante Ramona)

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วซาปาติสตาไม่ได้เสนอรูปแบบหรือนโยบายทางการเมืองที่สามารถรับมือได้ทุกสถานการณ์ กลับกันแล้ว พวกเขาใฝ่หากระบวนการที่ทุกคนจะสามารถสร้างสรรค์ออกแบบโลกแห่งการต่อสู้ของพวกเขาเองได้ เป็นการต่อสู้ต่อต้านการกดขี่ขูดรีดทุกรูปแบบจากทุกแห่งหน พวกเขาดำเนินการขยับขยายอาณาเขตอิสระของพวกเขาไปทั่วภูมิภาคผ่านสันติวิธี โดยปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเพียงเพื่อแถลงการณ์ต่อต้านเสรีนิยมใหม่และบรรดาเมกะโปรเจกต์ (โครงการทางก่อสร้างทางวิศวกรรมขนาดใหญ่-ผู้แปล) และจากนั้นก็หายลับกลับเข้าไปในป่าทึบอีกครั้ง พวกเขาดำเนินการทำงานในระดับนานาชาติ โดยในปัจจุบันก็ได้ส่งกลุ่มคณะข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเป็นแนวหน้าของ ‘การบุกรุกสเปนอันสันติ’ (peaceful invasion of Spain) และทำงานเคียงข้างกับสหายชาวยุโรปของพวกเขาในการต้านทานการกดขี่ของระบบทุนนิยม ดังที่พวกเขาได้กล่าวถ้อยแถลงเอาไว้ เป้าหมายหลักในระดับนานาชาติของพวกเขาคือ

“….สร้างเครือข่ายร่วมของการต่อสู้และการต่อต้านรูปแบบเฉพาะต่างๆ เครือข่ายขบวนการต่อต้านเสรีนิยมใหม่ในระดับนานาทวีป เครือข่ายการต่อต้านระดับนานาทวีปเพื่อมวลมนุษยชาติ” เครือข่ายของการต่อต้านข้ามทวีปนี้ตระหนักถึงจุดร่วมและจุดต่าง เสาะหาวิถีทางที่จะผนึกผสานเข้ากับการต่อต้านอื่นๆ ทั่วโลก เครือข่ายของการต่อต้านในระดับนานาทวีปนี้จะเป็นสื่อกลางที่ทำให้การต่อสู้รูปแบบต่างๆ สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้”

ชื่อของขบวนการนี้มีที่มาจาก “เอมิลิอาโน ซาปาตา” (Emiliano Zapata) ชาวนาผู้นำการปฏิวัติในช่วงการปฏิวัติเม็กซิกัน (1910-1920) ผู้ซึ่งเชื่อว่าที่ดินเป็นของผู้ที่ทำงานบนผืนดินแผ่นนั้น ด้วยความที่เป็นชาวนา เขาได้นำชุมชนชาวนาขึ้นมาต่อต้านการปรากฏตัวของพวกเมสติโซ “Mestizo” (เหล่าคนที่มีสายเลือดผสมระหว่างชนพื้นเมืองและชาวยุโรป) อันเป็นชนชั้นเจ้าที่ดินขนาดเล็กซึ่งมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และได้ผูกขาดทรัพยากรที่ดินและแหล่งน้ำ รวมไปถึงชนชั้นที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่าฮาซิเอนดา “hacienda” (เจ้าของไร่ขนาดใหญ่) ในกาลถัดมาเขาได้ถูกลอบสังหาร แต่ทว่าชื่อของเขาก็จะยังคงอยู่ต่อไป

Emiliano Zapata [with mustache, sitting in the middle] and his men (sorce: snl.no)

ในปี 1970 นักศึกษามหาวิทยาลัยมากหน้าหลายตาที่สมาทานแนวคิดมาร์กซิสต์ (Marxist) และแนวคิดเหมาอิสต์ (Maoist) ได้ก่อตั้งกองกำลังเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติ (the National Liberation Forces-FLN) โดยมุ่งหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมในขณะนั้น (PRI) โชคไม่ดีนัก ในตอนนั้นพวกเขาถูกโจมตี ถูกสังหาร และถูกทรมานภายในระยะเวลาอันสั้นโดยกองทัพ ซึ่งนำไปสู่การสลายตัวของเหล่านักศึกษาในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในปี 1983 สมาชิกที่ยังคงอยู่ในขณะนั้น (หนึ่งในนั้น กาลถัดมาได้กลายเป็นที่รู้จักในนามว่า รองผู้บัญชาการมาร์กอส “Subcomandante Marcos” ซึ่งต่อมาเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกาลีอาโน “Galeano”) ได้รวมกลุ่มขึ้นมาใหม่และให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งกองกำลังซาปาติสตาแห่งการปลดปล่อยชาติ (EZLN) ในป่าฝนเขตร้อนชื้นของเชียปัสซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘ป่าลาคานโดน่า’ (the Selva Lacandona)

ภายหลังจากช่วงสิบปีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดสุดขั้วเหล่านี้ได้เรียนรู้ (ไม่ได้สอน) จากชุมชนชนพื้นเมืองของเชียปัส รากฐานของโครงสร้างองค์กรและอุดมการณ์ก็เริ่มที่จะแตกหน่อออกใบ กลายเป็นการผสมผสานกันระหว่างอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายสุดขั้วของโลกตะวันตก (อนาธิปไตย มาร์กซิสม์ สังคมนิยมแบบอิสรนิยม ประชาธิปไตยแบบสุดขั้ว แนวคิดการปกครองตนเอง (autonomism) และอื่นๆ) กับความรู้พื้นเมืองของชุมชนในพื้นถิ่น โลกได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเขาเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 เมื่อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เริ่มบังคับใช้ คล้ายกันกับผลกระทบอันแสนสาหัสที่ CPTPP มีต่อผู้ถือกรรมสิทธิ์รายย่อยในประเทศไทย ผู้ถือกรรมสิทธิ์รายย่อยที่เป็นชนพื้นเมืองและที่เป็นเม็กซิกันจะได้รับผลเสียจากคลื่นซัดทลายของสินค้าการเกษตรราคาถูกที่มาจากสหรัฐอเมริกา นำมาสู่การเป็นหนี้สินของคนจำนวนมาก และนำมาสู่การแตกสลายของชุมชนและวัฒนธรรม รวมไปถึงการที่หลายคนไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องขายที่ดินของพวกเขาทิ้ง

Source: Schools for Chiapas

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เช่นนี้ กองกำลังติดอาวุธซาปาติสตาราว 3000 คนจึงเคลื่อนกำลังพลลงมาจากป่าลาคานโดน่า เข้าสู่จุดศูนย์กลางของเมืองต่างๆ และทำการปลดปล่อยนักโทษ เผาอาคารสถานีตำรวจกับค่ายทหาร และสุดท้ายได้ถอยร่นกลับเข้าไปในป่าอีกครั้งหลังจากที่มีผู้บาดเจ็บหลายราย ในวันที่ 12 มกราคม ปีเดียวกันนั้นเอง มีการหยุดยิงโดยการเจรจาด้วยความช่วยเหลือของบาทหลวงคาทอลิก ซามูเอล รูอิส การ์เซีย “Samuel Ruiz Garcia” ผู้เดินตามรอยขนบเทวนิยมสุดขั้วเพื่อปลดปล่อยตามแนวมาร์กซิสต์คาทอลิก (the radical Marxist-Catholic tradition of liberation theology) เป็นเวลา 1 ปีมาแล้วที่สันติสุขได้บังเกิดในพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ EZLN ได้ถือครองและดูแลอาณาเขตของพวกเขา นอกจากนั้นเองยังเริ่มได้รับความเป็นอิสระบางส่วนจากรัฐเม็กซิกันอีกด้วย อย่างไรก็ตามในปี 1995 กองทัพเม็กซิกันได้เปิดฉากโจมตีเขตแดนของ EZLN อย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้ซาปาติสตาจำนวนมากต้องละทิ้งชุมชนของพวกเขาและหลบหนีอย่างต่อเนื่องเข้าไปในภูเขา นับจากนั้นเป็นต้นมาก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความขัดแย้งที่ถูกแช่แข็ง’ (frozen conflict) เป็นการต่อสู้ที่ EZLN สามารถปกป้องเขตแดนของพวกเขาไว้ได้จากการโจมตีอย่างต่อเนื่องของกองกำลังกึ่งทหารที่มีรัฐเม็กซิกันให้การสนับสนุน

ในปี 2018 คาดการณ์กันว่ามีประชากรราว 360,000 คนอาศัยอยู่ในเขตแดนของ EZLN ผู้เยี่ยมเยือนที่มุ่งหน้าไปยังเขตแดนดังกล่าวจะพบกับป่าฝนสีเขียวชะอุ่มและทุ่งมิลปา (milpa) [ที่ดินที่ไว้ใช้ปลูกข้าวโพดถั่วเหลืองและสควอช] อยู่ทั้งสองข้างทาง ซึ่งผู้คนได้เพาะปลูกเอาไว้เพื่อยังชีพ ผู้เยี่ยมชมอาจเชื่อว่ากำลังอยู่ในชุมชนชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในเม็กซิโกตอนใต้ที่ไหนสักแห่ง จนกระทั่งพวกเขาสังเกตเห็นว่าป้ายบอกทางของรัฐบาลถูกแทนที่ด้วยป้ายที่ทำขึ้นเอง อีกทั้งที่ชายแดนพวกเขายังสังเกตเห็นป้ายต่างๆ ที่บอกกับผู้มาเยือนว่ากฎหมายท้องถิ่นซึ่งเป็นกฎหมายของชุมชนถูกบังคับใช้ในบริเวณนี้ (ยาเสพติดเป็นสิ่งต้องห้ามและคนนอกไม่ได้รับการอนุญาตให้ถ่ายรูปใดๆ ) มากไปกว่านั้นเอง ผู้มาเยือนจะพบจิตรกรรมฝาผนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะทางการเมืองที่ยกย่องเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วีรบุรุษและจุดมุ่งหมายของการต่อสู้ของพวกเขา จิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ถูกวาดขึ้นในโรงเรียนที่ดำเนินการอย่างเป็นอิสระ รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการรวมตัวของผู้คนอันเป็นสถานที่ที่สามารถได้ยินเสียงของเด็กน้อยที่บ้างก็กำลังเล่นสนุก บ้างก็กำลังร่ำเรียนอยู่ ในช่วงระหว่างวันผู้ใหญ่ส่วนมากก็จะทำงานอยู่ในที่ดินของตัวเองด้านนอก

ในปี 2005 EZLN ได้ออกปฏิญญาที่ 6 แห่งป่าลาคานดอน (Lacandon) คำประกาศดังกล่าวระบุว่าพวกเขาจะยังคงเป็นองค์กรทางการเมืองและทางการทหารซึ่งมีภาระหน้าที่ในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ขึ้นต่อฝ่ายซ้ายเม็กซิกันดั้งเดิม และมุ่งผนึกกำลังของกลุ่มผู้ไร้เสียง ผู้ถูกกดทับ (subaltern) ทุกกลุ่มในการต่อสู้กับทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ พวกเขาเชิญองค์กร นักกิจกรรมทางการเมือง และพลเมืองทั่วไปจำนวนนับร้อยให้มาเยือนดินแดนของพวกเขา พร้อมทั้งคิดค้นยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในการบรรลุโครงการดังกล่าว ลงเอยเป็นโครงการทางการเมืองที่รู้จักกันในชื่อ La otra Campaña (the Other Campaign) โดย The Other Campaign ประกอบไปด้วยทัวร์คาราวานที่เดินทางไปทั่วเม็กซิโกโดยใช้เวลานานหลายเดือนเพื่อพบปะกับองค์กรเล็กองค์กรน้อยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นนักจัดตั้งสหภาพแรงงาน ชุมชนคนพื้นเมือง นักสตรีนิยม กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บรรดานักศึกษา ชาวนา รวมไปถึงผู้ที่ทำงานค้าบริการทางเพศ และครูอาจารย์ จุดหมายสูงสุดของโครงการนี้คือการกดดันให้รัฐบาลร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสิทธิของชนพื้นเมืองและความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง รวมไปถึงการขจัดองค์ประกอบของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ออกไปให้หมดสิ้น

“Zapatismo ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมืองใหม่หรือการนำอุดมการณ์เก่ากลับมาใช้ใหม่…มันไม่มีตำรา ระเบียบ ยุทธวิธี กลวิธี กฎเกณฑ์ หรือสโลแกนที่เป็นสากลแต่อย่างใด มันมีเพียงความปรารถนาหนึ่งเดียวเท่านั้น คือความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์โลกให้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นโลกใบใหม่”

— รองผู้บัญชาการกาลีอาโน (Subcomandante Galeano)

เหล่าผู้ถูกกดขี่แห่งประเทศไทยจงร่วมกันผนึกแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวดังกล่าว จงนำสิ่งนี้มาปรับใช้ในวิถีทางและในจังหวะก้าวเดินแบบของพวกเราเอง พร้อมเป้าหมายเพื่อผนวกรวมกลุ่มผู้ถูกกดทับทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชาวกะเหรี่ยง ชาวลาหู่ ชาวอาข่า ชาวม้ง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ที่ทำงานค้าบริการทางเพศ เหล่านักศึกษา แรงงานอพยพ คนตกงาน ผู้หญิง มุสลิม คนไร้บ้าน คนชรา และเหล่าคนที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มใด บรรดาคนที่ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งไม่ว่าจะที่ไหน คนที่ต้องทุกข์ทรมานกับความไร้ซึ่งความหมายในโลกทุกวันนี้ จงรวมตัวกันและสลัดคราบเส้นแบ่งที่แยกพวกเราออกจากกันเสีย จงรวมกันต่อต้านลัทธิปัจเจกนิยม บริโภคนิยม และความละโมบของระบบทุนนิยม จงสุมไฟแห่งความโกรธที่มีต่อ CPTPP รวมเราเข้าไว้ด้วยกันเพื่อมุ่งสร้างขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเสรีนิยมใหม่ให้ได้อย่างแน่แท้ จงสร้างขบวนการที่ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต โดยทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีการร่วมมือร่วมใจกันกับเหล่านายทุนภายในประเทศหรือเหล่าอนุรักษ์นิยมศักดินา จงร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งการต่อต้านอันใหม่ของพวกเราเอง เป็นวัฒนธรรมที่อ้าแขนยอมรับวัฒนธรรมทั้งปวง และส่งเสริมการดำรงอยู่ที่ยั่งยืนของวัฒนธรรมเหล่านี้ รวมไปถึงส่งเสริมพัฒนาการต่อต้านแรงขับอันเบ็ดเสร็จของระบบทุนนิยม

Subcomandante Marcos (sorce: wikimedia)

 

“สำหรับข้อกังขาที่ว่ามาร์กอสเป็นเกย์หรือไม่: มาร์กอสเป็นเกย์ในซานฟรานซิสโก เป็นคนดำในแอฟริกาใต้ เป็นเอเชียนในยุโรป เป็นชิคาโน่ในซานอิสิโดร (San Ysidro) เป็นอนาธิปัตย์ในสเปน เป็นปาเลสไตน์ในอิสราเอล เป็นมายันอินเดียนบนท้องถนนซานคริสโตบัล (San Cristobal) … เป็นยิวในเยอรมัน เป็นยิปซีในโปแลนด์ เป็นโมฮอกในควิเบก เป็นผู้ต่อต้านสงครามในบอสเนีย เป็นหญิงโสดในเมโทรตอน 4 ทุ่ม เป็นชาวนาไร้ที่ดิน เป็นสมาชิกแก๊งในสลัม เป็นคนตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษาที่เศร้าโศก และแน่นอน เป็นซาปาติสตาในเทือกเขา” 

— รองผู้บัญชาการมาร์กอส