ผู้เขียน Dilar Dirik นักกิจกรรมในขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงชาวเคิร์ด
ผู้แปล/เรียบเรียง sirisiri
บรรณาธิการ Editorial Team

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Roar Magazine
บทแปลได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School

บทนำ [ผู้แปล]

 ช่วงแรกนั้นแนวทางสตรีนิยมเคลื่อนไหวโดยมี “เพศหญิง” เป็นตัวแทนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ความเสมอภาคภายใต้พื้นที่ความเป็น หญิง/ชาย ทว่าในกระแสความคิดดังกล่าวได้ถูกพัฒนาและเผยให้เห็นเรือนร่างอื่นๆ ที่ถูกกดข่มไว้เพราะความผิดแผกจากกัน ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้น บ้างพยายามปลดปล่อยตัวตนออกจากกรงในรูปแบบความเพิกเฉยที่มีต่อการดำรงอยู่ของพวกเขาเอง ทั้งก้าวพ้นไปไกลจากชื่อเรียกอันเป็นเส้นแบ่งทางเพศกำเนิดของผู้ร่วมขบวนการแต่แรกเริ่ม

Feminism ไม่สามารถหมายความถึง “ผู้หญิง” หรือการต่อสู้ของเพศหญิงเท่านั้นอีกต่อไป ขบวนการดังกล่าวเปิดพื้นที่ความเข้าใจที่อยู่เบื้องหลังกลไกอำนาจแบบปิตาธิปไตยซึ่งซ่อนอยู่ เช่น เงาคล้ายร่างมนุษย์เป็นตัวแทนของความจริงที่ขาดพลวัตลักลั่นแต่กลับมีเส้นแบ่งชัดเจนเหมือนกับสภาวะคู่ตรงข้ามอย่าง หญิง-ชาย ขาว-ดำ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด เป็นตัวแทนของความเสร่อ ความอยุติธรรม ความน่าสมเพช และที่สำคัญที่สุดคือการเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อย่างสากล

‘บุตรของกษัตริย์บรรดาลลาภยศแก่มารดาของตน’ ‘ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ใช้แม่บ้านหรือพ่อบ้านที่ดีเป็นสวัสดิการชั้นเลิศแก่ลูกจ้าง โดยไม่ต้องออกตัวสนับสนุนแต่อย่างไร’ ‘ผู้หญิงไม่เก่งเลข’ ‘เมื่อมีความคิดที่ถูกต้องบริบูรณ์แล้วเท่านั้นจึงควรแก่การปฎิวัติ’ ‘ฉันจะไม่ทำอย่างนั้นเพราะฉันดีกว่าเขา’ ‘ว่ากันตามกฎหมาย’ ‘เราไม่ยุ่งเรื่องการเมือง’

หลักการหรือคำอธิบายต่างๆ จากโลกที่ชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนามของทุนนิยมในปัจจุบันดำเนินไปทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความรับรู้ของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ในร่างกายของผู้ชาย แต่มันยังแทรกตัวอย่างเงียบเชียบทว่าทรงพลังคล้ายกับรากของต้นไม้ที่ชอนไชเข้าหาแหล่งแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์อยู่ในผืนโลก ในที่นี้เป็นโลกทัศน์เปรียบแหล่งอาหารสำคัญของต้นไม้ รากนั้นรับรู้ได้เองว่าจะต้องไปที่ไหนเหมือนธรรมชาติอันลี้ลับล้วนมีวิธีของมัน เป็นกฎธรรมชาติที่อนุญาตให้อะไรมีค่าได้ และอะไรไม่มีค่า

เราต่างสลับไปมาระหว่างความเป็นนักเรียน เป็นข้าราชการ เป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นฟรีแลนซ์ ชาวต่างชาติ ชาวไทย ชาวพุทธ ชาวคริสต์ อิสลาม หรือชาวโลก หรือเป็นหลายอย่างพร้อมๆ กัน แท้จริงแล้วเรา “ควร” ดำรงอยู่ในสภาวะใด มนุษย์รับรู้จริงๆ หรือ ว่าคนที่อยู่ต่างอำเภอเป็น “พวกเดียวกัน” ผ่านภาพร่างโครงข่ายที่ทอดไกลออกไปในความทรงจำที่อ้างอิงกับรูปถ่ายทางภูมิศาสตร์บอกเล่าอาณาเขตของรัฐที่ไกลออกไปเกินเอื้อมถึงได้นำพาความคิดของมนุษย์เข้าไปสำรวจอะไรได้มากกว่าศีลธรรมของคนดีหรือไม่ ความเป็นเราของเรานั้นมีความหมายต่อเราทุกคนที่ล้วนแตกต่างกันอย่างไรและมากน้อยเพียงใด คำถามอาจไม่ใช่ว่าเราควรมองไกลแค่ไหน แต่เรามองเห็นอะไรแล้วบ้าง

การเมืองเรื่องเพศที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันยิ่งทำให้นึกถึงคำอธิบายของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเผยให้เห็นความเป็นเพศที่เกี่ยวข้องกับปูมประวัติศาสตร์ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของรัฐชาติ หรือก่อนความเป็นไทยในปัจจุบันทีขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นผ่านคติผีและพุทธ (ซึ่งเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับโลกตะวันตกในคริสต์ศาสนา) และแน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อทางศาสนา แต่ยังสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งท่านได้รวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก และสามารถใช้เริ่มต้นเพื่อเข้าไปสำรวจสมรภูมิทางเพศว่าแท้จริงแล้วความเป็นหญิง/ชาย ตามขนบประเพณีที่ขาดๆ เกินๆ ในปัจจุบันนั้นกดทับความเสมอภาคของเราไว้อย่างแยบยลเพียงใด

 ปล. บทความแปล/เรียบเรียง ชิ้นนี้ มีการใช้สำนวนและคำของผู้แปลผสมปนเปเข้าไปเพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยสามารถอ่านได้เข้าใจยิ่งขึ้น ผู้แปลไม่ได้แปลตรงตามต้นฉบับทั้งหมด หากมีข้อผิดพลาดอันใดก็ขออภัยมาในที่นี้ และยินดีรับคำติชมทุกประการ


สากลนิยมของเหล่าสตรีเพื่อการต่อต้านปิตาธิปไตยระดับโลก

การต่อสู้กับระบอบปิตาธิปไตยไม่ว่าจะโดยมืออาชีพ หรือมือสมัครเล่น ประสบการณ์เหล่านั้นล้วนทับถมนำไปสู่เครือข่ายที่แยบยลราวสายใยของโชคชะตาซึ่งเชื่อมต่อความรับรู้ของผู้คนจากเบื้องหลัง ภาพฝันที่เป็นเพียงฉากหน้าของสังคมที่แสนสมบูรณ์พูนสุขได้เผยให้เห็นว่าระหว่าง “อำนาจที่กดขี่” และ “วิถีปฎิวัติ” นั้นมีเพียงเส้นแบ่งแสนพร่าเลือนขวางกั้น ความสัมพันธ์อันอุดมไปด้วยความซับซ้อนที่มากกว่าแนวทางของคู่ตรงข้ามทั้งยังซ่อนตัวอยู่ภายใต้สามัญสำนึกของเรา

รัฐที่มองไม่เห็นสตรีเพศ

ราวกับธรรมชาติได้สรรสร้างขึ้น สังคมถูกจัดแบ่งเป็นลำดับชั้นทางอำนาจที่แน่นอนและเข้มงวด ธรรมชาติได้เชิดชูเป้าหมายของของเพศชายเป็นอุดมการณ์เพียงหนึ่งเดียว ทั้งทางเศรษฐกิจ และอำนาจนำทางการเมือง พร้อมกับที่ผลักไส “ผู้หญิง” ออกไปจากพื้นที่ต่อรองนั้นอย่างกระตือรือร้น ธรรมชาติดังกล่าวได้บิดเบือนสิ่งที่ควรจะเป็นความเสมอภาคของสตรีให้กลับกลายเป็น ข้อห้าม ศีลธรรม คอยกล่อมเกลาว่าผู้หญิงนั้นเป็นสมบัติของเพศชาย และพวกเขาไม่เคยเล่าถึงการต่อต้านของเหล่าสตรีที่ถูกกดขี่ ทั้งจลาจลที่ไม่มีอะไรจะเสียของพวกเธอ

วิธีการเช่นเดียวกับที่ใช้กดข่มความเป็นหญิงมีความคล้ายคลึงกับความรุนแรงที่ชาวอาณานิคมต้องประสบเมื่อเจ้าอาณานิคมเข้าแทรกแซง ไม่เพียงแค่ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนผ่านการทำให้ผู้ชายกลายเป็นผู้ถือสิทธิ์เด็ดขาดในเรือนของตน แต่ยังสร้างความเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความรุนแรงเทียมระหว่างพวกเขา โดยการปิดกั้นอำนาจต่อรองโดยเสมอภาคที่มีแต่เดิม ทำให้เพื่อนบ้านไม่สามารถสื่อสารหรือแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ในพื้นที่ซึ่งเคยต้องพึ่งพิงกันผ่านกลไกที่ถูกจัดแจงไว้แล้วแต่เดิม และนี่คือการแบ่งแยกเพื่อปกครอง (divide and rule) คือภาพย่อส่วนของโครงสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่

ห้วงเวลานับศตวรรษท่ามกลางลัทธิชายเป็นใหญ่หล่อเลี้ยงและพัฒนาอุดมการณ์ของตัวเองไปด้วยความหมกมุ่นในครอบครัวเดี่ยวที่ตัดขาดออกจากชุมชน ประกอบเข้ากับการสนับสนุนให้ความรุนแรงนั้นกลายเป็นวิถีต่อรองโดยธรรมชาติของมนุษย์ ดังที่ ซิลเวีย เฟดริซี (Silvia Fedrici) และ มาเรีย มีส์ (Maria  Mies) วิพากษ์ไว้เกี่ยวกับลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยมว่า สิ่งนี้คือแกนกลางของระบอบปิตาธิปไตย ยิ่งมันแผ่ขยายอำนาจไปได้กว้างไกลเพียงใด ความเสมอภาคอันเป็นบ่อเกิดแห่งความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ก็ยิ่งถูกทำลายในทุกๆ มิติ ปรากฏเป็นระบบสามัญสำนึกที่ลักลั่นประดักประเดิดเหมือนกับการสนทนาของคู่หญิงชายที่ผู้ชายถูกบังคับให้มี์สิทธิ์ในการพูดอยู่ฝ่ายเดียว

ในปัจจุบันนักเคลื่อนไหวและนักวิจัยในแนวเฟมินิสต์ได้ถกเถียงกันถึงความเชื่อมโยงระหว่างการกดขี่ทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิดที่ละเอียดอ่อนโดยที่ตัวเราเองแทบไม่รู้ตัว การเฟื่องขึ้นของลัทธิชาตินิยมนั้นมีรากฐานจากการผลิตแบบปิตาธิปไตย เช่น การมีสิทธิธรรม การตกทอดแบบมรดกผ่านเครือญาติ แนวทางชาตินิยมทำให้ผู้หญิงสยบยอมเพื่อใช้พวกเธอเป็นดั่งตัวประกันของรัฐกระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในขณะที่โลกหมุนไปตามแนวทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นด้วยค่านิยม ฟักชิส1Fascist/Facism บทความนี้ผู้แปลจงใจใช้คำว่าฟักชิส โปรดจำไว้ว่ามันหมายความถึงฟาสซิสต์ และขวาจัดดัดจริตมักให้ความสนใจบนเรือนร่างทางอำนาจของผู้หญิง “จงปกป้องพวกเธอจากความงี่เง่าของพวกเธอเอง” ยังคงเป็นข้ออ้างของฝ่ายขวาที่ใช้เป็นอาวุธทางจิตวิทยา ทางวัฒนธรรม และทางร่างกาย ที่พวกเขาใช้กับสตรีเพศเสมอมา ซึ่งผลลัพธ์คือความสำเร็จที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นนักประนีประนอมนิยมทุน (นักถอยคนละก้าวนิยมทุน)

กระแสแห่งจักรวรรดินิยม ตามมาด้วยทุนนิยมสงครามในปัจจุบันยังคงจ้องทำลายล้างสายใยที่ร่องแร่งซึ่งแฝงตัวอยู่ในความเป็นหญิงจากมุมมองของปิตาธิปไตย มันยังคงอธิบายได้ยากว่าใครเป็นเจ้าของ หญิง หรือชาย แต่การเผยตัวของมันมักมีความสัมพันธ์ของผู้คนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ หรือมันอาจเป็นเสรีภาพที่มาพร้อมความเสมอภาคแม้จะขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง พวกเขาไม่ได้รังเกียจผู้หญิงหรือการที่ผู้คนเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าตัวตนบางอย่างที่สะท้อนอยู่ในความเป็นหญิงนั้นยังคงตามหลอกหลอนความเป็นจักรววรดินิยม ความเป็นทุนนิยมที่ถูกครอบงำโดยอะไรบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังความเป็นชายที่อธิบายไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของ

source: voiceofmargin.com, artist: latuff

สตรีนิยม อาณานิคม และสังคมนิยม ปิตาธิปไตย

ปัญหาติดหล่มสองประการของสตรีนิยมฝ่ายซ้าย

อาจจะเป็นปัญหาสำคัญทั้งของพวกหัวก้าวหน้า ขบวนการสตรีนิยม สังคมนิยมทั้งหลายที่แตกแขนงภายใต้แนวคิดปีกซ้าย เมื่อผู้หญิงเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทั้งเล็กและใหญ่ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของพวกเธอมักถูกลดทอนความสำคัญอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งเด่นชัดเมื่อผู้นำการเคลื่อนไหว (ที่เป็นผู้ชาย) เป็นผู้จัดลำดับความสำคัญเหล่านั้นเสียเอง อย่างไรก็ตามมันไม่ได้เกิดกับทุกๆ การเคลื่อนไหวจากแนวทางสังคมนิยมหรือทุนนิยม ทางเลือกนี้เป็นตัวอย่างของความยากในการขัดขืนต่อการกดขี่ข่มเหงทางความคิด ที่ทำให้ปัจเจกกลายเป็นศัตรูของตนเองและไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

พวกอำนาจนิยมมักจะหลงใหลในแนวทางมนุษย์นิยมอย่างสุดโต่ง และหมกมุ่นกับมายาคติที่เชื่อมโยงแนวคิดแบบปิตาธิปไตยในระดับสามัญสำนึก ดังที่นักประวัติศาสตร์สตรีนิยมได้ชี้ให้เห็นว่ามายาคติระหว่าง “ชนชั้น” เป็นอะไรที่ต่างออกไปจาก “เพศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อแม้ทางกายภาพของเพศหญิง แรงงานของเธอถูกตีค่าให้ต่ำเข้าไว้ไม่ว่าจะโดยเหตุผลที่ว่า ร่างกายที่ไม่แข็งแรง ความเป็นแรงงานขาดคุณภาพ เพศแห่งความฟุ่มเฟือย หรืออะไรก็ตามเพื่อลดอำนาจต่อรอง ทำให้พวกเธอดูไร้ค่าภายใต้การรับรู้ผ่านโครงสร้างระดับชั้นอำนาจแบบทุนนิยม

ระบบความรุนแรงที่มีทั้งการเหยียดและความรุนแรงอื่นๆ ต่อเพศหญิงนั้นไม่แม้แต่จะปรากฏอยู่ในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบันมันได้ขยายตัวไปสู่มิติของความรักแบบหญิง-ชาย ครอบคลุมไปจนถึงความรักแบบครอบครัวและแผ่ไปสู่มิติของการดูแล ทำให้ผู้มีอำนาจนำในบ้านต้องสมาทานความเกลียดกลัวบาปกำเนิดที่ยึดโยงกับเรือนร่างของผู้หญิง เพราะการผลิตซ้ำอย่างยาวนานในระบอบปิตาธิปไตยควบคุมอำนาจทางวัฒนธรรมให้เบียดเบียนความเป็นหญิงโดยตรง เกิดเป็นความพิการเทียมที่ถูกฝังลึกลงไป เราจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกระบวนการทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงตกไปสู่พื้นที่ชายขอบผ่านกระบวนการแบบสถาบันเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอย่างเสมอภาค ผ่านวิธีการที่มีลักษณะเป็นส่วนรวม (collectives)

การเคลื่อนไหวของดิลาร์ (Dilar) ในขบวนการปลดปล่อยเคอร์ดิสถาน (Kurdish freedom movement) เป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ามันจำเป็นที่จะต้องรื้อทิ้งคติแบบปิตาธิปไตยซึ่งเป็นดั่งคุกชีวที่ตีกรอบความคิดให้ผู้คนไม่อาจสร้างสายใยเพื่อร่วมกันไปสู่การสร้างคติชนใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องและหลากหลายได้ ที่แตกต่างออกไปจากแผนที่แบบรัฐชาติ แทนที่จะตัดขาดทุกคนออกจากกันและผลักไสให้แต่ละคนต่างหมกมุ่นอยู่กับปัญหาหรือเรื่องส่วนตัว ไม่ก็ให้ทุกคนทำตามๆ กันไปทั้งหมดแบบเครื่องจักรที่ทวีคูณแต่ไร้การประยุกต์วางแผน ดังนั้นแล้วเสรีภาพที่มาควบคู่กับความเสมอภาคนั้นจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดเปลื้องพันธนาการจากอำนาจกดขี่ซึ่งมักง่ายทั้งหลายเหล่านี้

Alina (source: original article)

ในทางกลับกันปัญหาใหญ่ที่กำลังขยายตัวของลัทธิแม่ประนอม (นักนิยมสันติวิธีแบบทุน หรือลัทธิคลั่งการประนีประนอม) จากฝั่งเสรีนิยมทุนปัจเจกสุดโต่ง ที่ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) เรียกว่า การเมืองของมืออาชีพ (NGO-ization) ส่งเสริมแนวคิด “คนดี” เพื่อผลักดันปัญหาโครงสร้างไปเป็นปัญหาศีลธรรมส่วนตัวของปัจเจก

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่นานาประเทศได้ถูกลัทธิเสรีประชาธิปไตยจากตะวันตกเข้ามาเคลมความสำเร็จและปรากฏเป็นองค์กรอิสระเพื่อสิทธิของผู้หญิงผุดขึ้นมากมาย (NGOs) ในถิ่นที่ตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่าผู้สนับสนุนองค์กรดังกล่าวนั้นเอง มันมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลใช่หรือไม่ องค์กรเหล่านี้ได้กระตือรือร้นที่จะบรรเทาปัญหาโดยการใช้ใจสงบสยบความเคลื่อนไหว คล้ายกับการชักว่าวทางศีลธรรมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในปมปัญหาที่ควรจะถึงจุดแตกหัก

สังคมปัจจุบันคาดหวังที่จะเห็นผู้หญิงสร้างความภูมิใจในตนเองในแนวทางเดียวกับจักรววรดินิยม เสรีนิยมใหม่ “สู่” ความเท่าเทียมในตัวเอง หรือสาวๆ นิสัยเฟรนด์ลี่มีความเป็นมิตรช่างเจรจา ช่างประนีประนอม จุดประสงค์พิสดารของการเคลื่อนไหวเหล่านี้แสดงให้เห็นความสับสนงุนงงกับประเด็นที่ถูกฉกฉวยเบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่นเพื่อส่งเสริมกำแพงของอัตลักษณ์ไปสู่ความเป็นวงกตเพื่อกีดกันผู้คนออกจากความเข้าใจเรื่องเสรีภาพที่ควบคู่ไปกับความเสมอภาค หรือประเด็นแองเจลิน่า โจลี่ ที่กลายไปเป็นแค่การฝันถึงชีวิตที่แยกขาดโดยสมบูรณ์ทางอัตลักษณ์

การฉกฉวยที่แสนพิศดารต่อประเด็นการต่อสู้ของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศนั้นแสดงออกมาผ่านบทความของการ์เดี้ยนเมื่อไม่นานมานี้ มันถูกเขียนโดยดาราฮอลลีวู้ดและทูตของสหประชาชาติอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ กับเลขาธิการนาโต้ (NATO) เยนส์ สโตลเธนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) บทความชิ้นนี้พยายามจะแสดงให้สาธารณชนเห็นว่านาโต้จะทำตามพันธกิจ “ตอบรับและคว้าโอกาสที่จะเป็นนักปกป้องสิทธิสตรีแนวหน้า”

เหล่าผู้นิยมปีกขวา อนุรักษ์นิยม และกลุ่มสตรีนิยมปิตาธิปไตย หรือพวกซ้ายอำนาจนิยมในโลกตะวันตกมักชูประเด็นการเมืองอัตลักษณ์ พวกเขาชอบความเปราะบางของความบริสุทธิ์ผุดผ่องในความเป็นสิ่งซึ่งไม่ลื่นไหล และไม่มีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ

 คำว่า “การเมืองอัตลักษณ์” ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 1970 โดยกลุ่ม Combahee River Collective ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวสตรีเลสเบี้ยนผิวสีราดิคัล เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพที่ควบคู่ไปกับความเสมอภาคเพื่อการปลดแอกตนเองและสังคมจากการกดขี่ พวกเขาใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงการที่ตนเองโดนกดขี่ ไม่ใช่เพื่อการยกตัวเองเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวโดยแยกอัตลักษณ์ออกจากปัญหาที่กว้างกว่านั้น เช่น ชนชั้นและสังคม คำๆ นี้ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวที่มีฐานมาจากประสบการณ์การถูกกดขี่ เพื่อต่อสู้กับความเลวร้ายที่พวกเขาเคยเผชิญมาในหลายๆ ระดับ ทั้งชนชั้น ผิวสี เชื้อชาติ ความเป็นเลสเบี้ยน ผู้หญิง และอื่นๆ

ทว่าปัญหาที่ปรากฏในทุกวันนี้ไม่ควรเป็นปัญหาเรื่องการเมืองของอัตลักษณ์ แต่พวกเสรีนิยมมักจะบ่ายเบี่ยงและเกลียดกลัวแนวทางราดิคัล (Radical) ที่มักจะสวนทางกับทิศทางที่รากของทุนนิยมชอนไชไป เหล่าผู้นำสตรีผิวขาวที่พบได้ทั่วไปภายใต้รัฐทุนนิยมเสรีนิยม ไม่น่าแปลกใจที่พวกเธอมักเป็นผู้หญิงที่เกี่ยวดองกับชนชั้นสูง อีกทั้งยังนิยมการเหยียดเพศและเชื้อชาติ ด้วยเหตุนี้พวกเธอจึงได้เป็นตัวแทนของสตรีนิยมในสื่อของพวกลิเบอรัล แทนที่จะเป็นอาสาสมัครหญิงที่เสี่ยงตายต่อสู้กับความรุนแรงจากการเอารัดเอาเปรียบ ตำรวจ ทหาร หรือการกดขี่ครอบงำของรัฐดังกล่าว ที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต

การเมืองอัตลักษณ์ของนักเสรีนิยมปัจเจกชน เปรียบเสมือนคุกวงกตที่ตัดขาดผู้คนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ปิดหูปิดตาและทำเหมือนว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี การเมืองไม่เกี่ยวกับเพศ การเมืองไม่เกี่ยวกับปัญหาปากท้อง การเมืองไม่เกี่ยวกับปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ปัญหาของใครก็เป็นปัญหาของมันไม่มีโครงสร้าง ไม่มีอะไรเลยให้แก้ไข

ความเป็นสากล คือ ประชาธิปไตยทางตรง

ความล้มเหลวของขบวนการต่อสู้ในปัจจุบันคือการที่ไม่สามารถก้าวพ้นจินตกรรมที่ยึดโยงตัวเองเข้ากับคติชนรวมกลุ่มที่นอกเหนือไปจากความเป็นสายอาชีพ รัฐ ชาติ และอื่นๆ ไปได้จริงๆ เสียที ปัญหาที่ลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตย (แบบตัวแทน/มืออาชีพ) ได้โยนมาใส่พวกเราก็คือพวกเขาไม่ได้มองเห็นผู้คนหรือทุกคนอย่างที่เขากล่าวอ้าง และก็ไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจอะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ภายใต้ร่มเงาของปิตาธิปไตยเช่นนี้ กลไกของมันก็ยังคงดำเนินไปเช่นเดิมแล้วมันก็จะผลักใครสักคนให้ตกลงเหว ในขณะที่ยืนนั้นกลับแคบลงเรื่อยๆ ในโลกแห่งอุตสาหกรรมที่บดย่อยทรัพยากรเพื่อไปเป็นกำไรระยะสั้นอย่างบ้าคลั่งนี้

กว่าร้อยปีที่ผ่านมา The Month of March (1908) ได้ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มแรงงานสังคมนิยมสตรีให้เป็นวันแห่ง “สตรีสากล” เพื่อเชิดชูการต่อสู้อย่างเข้มแข็งของพวกเธอ ต่อมาเดือนมีนาคมก็กลายเป็นสัญลักษณ์วันสตรีสากลของขบวนการปฎิวัติในโรจาวา เพื่อรำลึกถึงสองสหายหญิงแอนนา แคมป์เบล  (Anna Campbell/Hêlîn Qerecox) นักปฎิวัติต่อต้านฟักชิสจากอังกฤษ และ อาลินา ซานเชส (Alina Sanchez/Lêgêrîn Ciya) นักเสรีนิยมสากลนิยมผู้ซึ่งเป็นบุคคลากรทางการแพทย์จากอาร์เจนตินา ได้สละชีวิตของพวกเธอในการปะทะกับทหารรับจ้างกับพวกปิตาธิปไตยฟักชิสและพวกทหารเช่าที่มาจากค่าจ้างในระบบทุนนิยมของพวกมัน

Anna (source: original article)

สามปีก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคมปี 2015 เดียวกันนี้ ผู้เสียสละหญิงคนแรกในขบวนการโรจาวา คือ อิวานา ฮอฟฟ์มันน์ (Ivana Hoffmann) สหายเยอรมันผิวสี เสียชีวิตในการปะทะกับกลุ่มฟักชิสผู้นิยมการฆ่าและการข่มขืน ISIS ร่วมกับสหายอีกนับพันทั้งชาวเคิร์ด อาหรับ เติร์ก คริสเตียนซิริแอก อาเมเนียน และอื่นๆ สตรีทั้ง 3 เปรียบเสมือนผู้อุทิศการต่อสู้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสากลที่ได้เผชิญกับความรุนแรงที่แท้จริงของแนวทางระบอบปิตาธิปไตย ขณะที่เขียนบทความนี้ร่างของแอนนายังคงซ่อนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังในเมือง Afrin ของโรจาวา ซึ่งเป็นพื้นที่ในจักรวรรดิปิตาธิปไตยของรัฐเติร์ก

สตรีเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ท่ามกลางการต่อสู้ในทุกทิศทุกทางที่กลืนกินเข้ามาจากรากฐานในระดับโลกทัศน์หรือกระบวนการคิดของพวกฟักชิส การต่อต้านสิ่งเหล่านี้ต้องตระหนักถึงรากของความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นจนชินตานี้ มันจึงไม่ใช่การประนีประนอมที่จะเป็นทางออกและพวกเธอได้แสดงส่วนหนึ่งให้เราเห็นแล้วผ่านการต่อสู้ของพวกเขาและเธอในโรจาวา

เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา สหายชาวเคิร์ด อาหรับ คริสเตียนซีรีแอก และสตรีเติร์ก ได้ร่วมกันประกาศชัยเหนือเมืองรัขขะ (Raqqa) และบันทึกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ร่วมด้วยกลุ่มสตรีจากเผ่ายาซิดี้ (Ezidi) ที่เข้าร่วมอย่างเสมอภาคในการบุกถล่มเอาคืนพวก ISIS ทำการล้างบาง และปลดปล่อยผู้หญิงที่ถูกจับไปกว่าพันคน

ขบวนการปฏิวัติของสตรี ในการต่อต้านพวกเสรีนิยมที่ช่วงชิงเอาความหมายของพวกเธอไป ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมหมายรวมถึงระบบการรับรู้ของผู้คนในระดับปัจเจก โลกทัศน์ของฟักชิสและพวกคลั่งชาติเป็นสิ่งที่การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมต่อสู้มาอย่างยาวนานและอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแนวทางที่นำไปสู่ความเป็นสากล ความเป็นเสรีภาพที่มีการจัดการและมีความเท่าเทียมกันในทุกมิติคืออาวุธหลักที่จะใช้ต่อต้านกับอำนาจดังกล่าวได้โดยตรง เพราะไม่ใช่แค่มิติทางความคิดที่มันจะจู่โจมเข้ามา แต่ยังมีความรุนแรงไปจนถึงการผลาญชีวิตของศัตรู หรือเลวร้ายกว่านั้นคือการจับเป็นทาสเพื่อจะคงอำนาจของตัวเองไว้ให้นานที่สุดอย่างเดือดดาล

ดังนั้นแนวทางความเป็นสากล (Internationalism) จึงเป็นหนทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ต้องมาจากการร่วมกันจัดตั้งจัดการโดยผู้คนในชุมชนเอง ไม่ใช่พึ่งการช่วยเหลือปลอมๆ จากรัฐ กลุ่ม หรือผู้อยู่เหนือที่ไม่ได้ร่วมเข้ากับผู้คนอย่างเสมอภาคเพื่อต่อต้านฟักชิสและรากที่หยั่งลึกของแนวคิดปิตาธิปไตย