แนวคิด ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ (Universal Basic Income “UBI”) ออกแบบโดยนักเศรษฐศาสตร์ซีกโลกเหนือเพื่อประเทศในซีกโลกเหนือ เป็นแนวคิดที่ไม่สามารถนำไปใช้กับซีกโลกใต้ได้ หลักการของ UBI มีอยู่ว่า ผู้คนในซีกโลกเหนือจะได้รับเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายบริโภค ในขณะที่คนงานในซีกโลกใต้ยังคงต้องประสบความยากลำบากในการผลิตสินค้าให้แก่ซีกโลกเหนืออยู่
ข้าพเจ้าเห็นว่า การอภิปรายเรื่อง UBI ทำให้เกิดความลำบากใจบางประการ ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวมองว่า มันเป็นวิธีการหนึ่งในการกำจัดงานเฮงซวย (bullshit jobs) บรรเทาความยากจน และส่งเสริมคนงานด้วยการให้ทางเลือกในการสร้างเนื้อสร้างตัวนอกเหนือไปจากการต้องขายแรงงานของตัวเอง ในหลาย ๆ ด้าน UBI ก็คือการขยับขยายรัฐสวัสดิการทุนนิยม (capitalist walfare state) ขนานแท้ กล่าวคือ รัฐจ่ายเงินให้คนงานและยังคงมีตลาดอยู่ น่าแปลกที่แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ที่เราได้ยินชื่อเสียงเรียงนามก็มีทั้งมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ (Elon Musk) กับนักการเมืองสังคมนิยมชาวอังกฤษ เจเรมี่ คอร์บิน (Jeremy Corbyn) รวมไปถึงเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักเขียนชาวอนาธิปไตย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพูดคุยเกี่ยวกับ UBI ได้แพร่กระจายไปยังประเทศไทยด้วย และในบริบทของไทยนี่เองที่เราเห็นได้ถึงความล้มเหลวของ UBI
เป็นเรื่องเข้าใจได้หากเราพูดถึง UBI ในประเทศฝั่งตะวันตกหรือทางซีกโลกเหนือ ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ผลิตอาหาร เครื่องจักร ฯลฯ เลย กล่าวคือ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เต็มไปด้วยสิ่งที่เดวิด เกรเบอร์ เรียกว่างานเฮงซวย นั่นคือ เป็นงานที่ทำไปวัน ๆ เกรเบอร์ให้เหตุผลว่า ทุนต้องสร้างงานเหล่านี้และบางครั้งก็ต้องสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นทางออกในการจ่ายค่าจ้างให้กับคนงานแทนที่จะปล่อยให้พวกเขาอดตายข้างถนน สิ่งที่เกรเบอร์เสนอแนะคือการอ้าแขนรับ UBI เพื่อให้การผลิตมีความตรงไปตรงมามากขึ้น เกรเบอร์ยอมรับว่า งานเหล่านี้เป็นงานเฮงซวยจริงและทำให้คนงานมีเวลามากขึ้น แทนที่จะเสียเวลาทิ้งที่สำนักงานเฮงซวย
ความจริงแล้ว มันอาจจะเวิร์คในประเทศแบบสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ หรืออื่น ๆ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ได้ผลิตวัตถุใด ๆ เลย อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เหลือของโลก คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานเฮงซวยแต่ผลิตสินค้าจริง ๆ (ส่วนมากเป็นสินค้าที่ถูกส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจเฮงซวย) ลองเปรียบเทียบประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรดู ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน “ประเทศที่มีรายได้ปานกลางตอนบน” ในขณะที่สหราชอาณาจักรเป็น “ประเทศพัฒนา/ก้าวหน้า”
ประเทศไทยส่งออกผลผลิตอย่างกระตือรือต้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ยาง พลาสติก ผลไม้ และข้าว ในขณะที่สินค้าส่งออกของสหราชอาณาจักรส่วนมากเป็นบริการด้านการเงิน (financial services) (อุตสาหกรรมเฮงซวย) อันที่จริง การส่งออกบริการด้านการเงินของสหราชอาณาจักรอย่างเดียวนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสินค้าส่งออกของไทยรวมกันทั้งหมด กล่าวคือ สหราชอาณาจักรไม่ได้สร้างเงินจากการขายของที่จับต้องได้หรือของกิน ในขณะที่ประเทศไทยทำแบบนั้น เราเรียกสินค้าเหล่านี้ว่าสินค้าวัตถุ ซึ่งผลิตโดยแรงงานวัตถุไม่ว่าจะเป็น ข้าว รถ ถ้วยชาม สัปปะรด ฯลฯ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยผลิตออกมา ในสหราชอาณาจักรส่วนมากผู้คนจะผลิตสินค้าอวัตถุ (immaterial goods) ผ่านแรงงานอวัตถุ (immaterial labour) ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านการเงิน ประกันภัย สินเชื่อ ฯลฯ อุตสาหกรรมเหล่านี้สร้างงานแนว ๆ สำนักงานเฮงซวยในแบบที่เกรเบอร์ได้กล่าวเอาไว้ ไม่ว่านักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมจะว่าอย่างไรก็ตาม เหล่านี้คืออาชีพที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้!
หลายคนก็ยังยืดอกพร้อมบอกว่า ระบบการทำงานอัตโนมัติ (automation) จะช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังงาน (post-work) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบที่ใช้ UBI ในการประคับประคองตัว อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจแบบประเทศไทยนั้นมีการใช้ระบบการทำงานอัตโนมัติน้อยมาก นอกจากนี้ การสูญเสียงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากในซีกโลกเหนือเป็นผลมากจากการย้ายงานเหล่านั้นข้ามไปยังทวีปอื่นมากกว่าการนำระบบทำงานอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งหมายความว่า หากมองโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานกายภาพในระดับเข้มข้นอย่างประเทศไทยแล้ว การนำ UBI มาใช้ผ่านระบบการทำงานอัตโนมัตินั้นไม่สามารถทำได้จริงเพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงพึ่งพาแรงงานวัตถุจำนวนมาก คุณไม่สามารถกรีดยางโดยใช้ระบบทำงานอัตโนมัติได้ ภาคส่วนเหล่านี้ผลิตสินค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยตรง
ผู้ที่สนับสนุน UBI อย่างเกรเบอร์ มัสก์ หรือคอร์บิน มองข้ามความแตกต่างสำคัญระหว่างเศรษฐกิจของประเทศที่ผลิตสินค้าวัตถุกับเศรษฐกิจของประเทศที่ผลิตสินค้าอวัตถุ ระหว่างซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ โครงการ UBI ของพวกเขาจะเวิร์คแค่กับเศรษฐกิจของประเทศในซีกโลกเหนือเท่านั้นเพราะงานของพวกเขาก็เฮงซวยจริง ๆ UBI จะเอาเงินให้คนอังกฤษเหล่านั้นไปบริโภค ซื้อเก้าอี้เล่นเกม หนังสือ โทรทัศน์เครื่องใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทว่ามีบางคนที่ยังต้องผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านั้นและนั่นก็คือคนงานในซีกโลกใต้นี่เอง
ประเทศอย่างประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานวัตถุเหล่านั้นเพื่อผลิตสินค้าส่งออกและนำเข้าสู่ประเทศตัวเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีงานสบาย ๆ ทำในออฟฟิศ ซึ่งเป็นงานเฮงซวยด้วย อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย คนส่วนมากยังคงต้องทำงานหนักมาก ทั้งในฟาร์ม ในโรงงาน หรือจับปลาบนเรือประมง นี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง การนำแนวคิด UBI เข้ามาใช้ในประเทศไทยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากไม่มีแรงงานวัตถุข้างต้น พลังที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยคงจะหยุดชะงักลงอย่างแน่นอน
ในปี ค.ศ. 1917 เลนินเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า จักรวรรดินิยม – ขั้นสูงสุดของทุนนิยม ซึ่งอธิบายกลไกการทำงานของทุนการเงินในการสร้างผลกำไรจากการล่าอาณานิคม อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ยุคสมัยของเลนิน ระบบทุนนิยมได้ปรับตัว เติบโต และพัฒนาตลอดมา ทุกวันนี้โครงสร้างอาณานิคมได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ระบบก็ยังคงเหมือนเดิมอย่างชัดเจน ลองเปรียบเทียบชีวิตโดยรวมของแรงงานพม่ากับชีวิตของคนงานในเยอรมนีก็จะเห็นภาพได้ชัด UBI เป็นแนวคิดที่มาจากซีกโลกเหนือและถูกออกแบบมาเพื่อซีกโลกเหนือ และเมื่อเราพูดถึงแนวคิดนี้ เราจะพูดถึงมันในบริบทความเป็นจริงของซีกโลกเหนือเท่านั้น มันหมายถึงการจ่ายเงินให้ซีกโลกเหนือบริโภคในขณะที่ซีกโลกใต้ทำงานให้พวกเขา แน่นอนว่า ถ้าจักรวรรดินิยมคือขั้นสูงสุดของทุนนิยม ขั้นสูงสุดของจักรวรรดินิยมก็คือ UBI นี่เอง