<บอริส ทาสลิตสกี (Boris Taslitzky) จิตรกรชาวฝรั่งเศส (France), Insurrection à Buchenwald 11 avril 1945 (เหตุการณ์ลุกฮือในค่ายบูเคนวัลด์ วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1945), 1964.>
ค่ายกักกันบูเคนวัลด์ (Buchenwald) เป็นหนึ่งในค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดในนาซีเยอรมนี ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1937 ใกล้เมืองไวมาร์ นักโทษในค่ายต้องทนรับสภาพอันโหดร้าย ทั้งการบังคับใช้แรงงาน การขาดอาหาร และการทารุณกรรม
ถึง สหายที่รัก
ทักทายสวัสดีจากโต๊ะทำงานของไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม Tricontinental: Institute for Social Research
เมื่อ 80 ปีก่อน ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1945 หน่วยรบของกองพลยานเกราะที่ 4 แห่งกองทัพสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายพลจอร์จ เอส. แพตตัน (George S. Patton) ได้เคลื่อนพลมุ่งหน้าไปยังเมืองไวมาร์ในเยอรมนี ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายกักกันบูเคนวัลด์ กองกำลังของแพตตันในที่สุดก็เข้ายึดค่ายได้ แต่จากบันทึกคำให้การของทหาร ซึ่งถูกเก็บรวมโดยนักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา ชี้ให้เห็นว่ารถถังของสหรัฐไม่ใช่ผู้ปลดปล่อยค่ายบูเคนวัลด์โดยแท้จริง หากแต่ค่ายได้ถูกครอบครองไว้แล้วด้วยองค์กรและความกล้าหาญของบรรดานักโทษ ซึ่งฉวยจังหวะที่ทหารเยอรมันหลบหนีทิ้งค่าย เพราะหวาดเกรงต่อการรุกคืบของฝ่ายสัมพันธมิตร นักโทษการเมืองในค่ายกักกันบูเคนวัลด์ได้รวมกลุ่มจัดตั้งตนเองขึ้นเป็นหน่วยต่อสู้ (Kampfgruppen) โดยใช้คลังอาวุธลับที่ซ่อนอยู่ก่อการลุกฮือภายในค่าย ปลดอาวุธยามนาซี และยึดหอคอยตรงทางเข้าค่าย นักโทษเหล่านี้ได้ชักธงขาวบนหอคอย และตั้งแนวล้อมรอบค่ายไว้เพื่อส่งสัญญาณให้ทหารสหรัฐทราบว่าพวกเขาได้ปลดปล่อยค่ายบูเคนวัลด์สำเร็จแล้ว “Das Lager hatte sich selbst befreit” — “ค่ายนี้ได้ปลดแอกตัวเองแล้ว” พวกเขากล่าว
ไม่ใช่เพียงแค่ที่บูเคนวัลด์เท่านั้นที่นักโทษลุกขึ้นต่อต้าน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1943 นักโทษในค่ายเทรบลิงกา (Treblinka) ได้ลุกขึ้นสู้พร้อมอาวุธ แม้จะถูกยิงสังหารในที่สุด แต่พวกเขาก็บีบบังคับให้นาซีต้องปิดค่ายสังหารอันโหดร้ายแห่งนี้ลง (ในค่ายเทรบลิงกาเพียงค่ายเดียว นาซีได้สังหารชาวยิวเกือบหนึ่งล้านคน)
กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรวมถึงกองทัพสหรัฐฯ ต่างก็มีบทบาทในการปลดปล่อยค่ายกักกันหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายสังหารที่โหดร้ายในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์ (Holocaust) กองทัพสหรัฐฯ ได้ปลดปล่อยค่ายดาคเฮา (Dachau) ในเดือนเมษายน 1945 แต่องทัพแดงเป็นผู้เปิดประตูค่ายมรณะที่เลวร้ายที่สุดหลายแห่ง เช่น ค่ายไมดาเน็ค – Majdanek (กรกฎาคม 1944) และเอาชวิตซ์ – Auschwitz (มกราคม 1945) ในโปแลนด์ รวมถึงค่ายซัคเซนเฮาเซน – Sachsenhausen (เมษายน 1945) และราเวนส์บรุค – Ravensbrück (เมษายน 1945) ในเยอรมนี
<โดมินิก เชอร์นี (Dominik Černý) เป็นจิตรกรและครูชาวเช็ก (Czechoslovakia), K.L. Dora: Bydlení ve štole (K. L. Dora: การอยู่อาศัยในอุโมงค์), 1953.>
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1937 รัฐบาลนาซีนำตัวนักโทษจากค่ายซัคเซนเฮาเซน (Sachsenhausen) มายังพื้นที่ใกล้เมืองไวมาร์ (เมืองที่เป็นบ้านเกิดของโยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธอ (Johann Wolfgang von Goethe) กวีและนักประพันธ์เอกของเยอรมนี และฟรีดริช ชิลเลอร์ (Friedrich Schiller) นักเขียนบทละครชื่อดัง รวมทั้งเป็นสถานที่ลงนามรัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปี 1919) นักโทษเหล่านี้ถูกบังคับให้โค่นป่าเกือบ 400 เอเคอร์เพื่อสร้างค่ายกักกันที่สามารถรองรับนักโทษได้ 8,000 คน โดยผู้บัญชาการค่ายนาซี เฮอร์มันน์ พิสเตอร์ (Hermann Pister – ช่วงปี 1942–1945) ได้ใช้นักโทษเหล่านี้ในการทดลองทางการแพทย์และใช้แรงงานบังคับ เมื่อค่ายถูกปิดลงในอีกแปดปีให้หลัง มีนักโทษเกือบ 280,000 คนถูกคุมขังอยู่ที่นี่ (ส่วนใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์ นักสังคมประชาธิปไตย ชาวโรมาและชาวซินติ ชาวยิว และผู้เห็นต่างทางศาสนาคริสต์)
ในช่วงปลายปี 1943 นาซีได้ยิงเชลยสงครามชาวโซเวียตเสียชีวิตในค่ายเกือบ 8,500 คน และยังสังหารคอมมิวนิสต์กับนักสังคมประชาธิปไตยอีกมากมาย โดยรวมแล้ว คาดว่ามีผู้ถูกสังหารในค่ายแห่งนี้ราว 56,000 คน รวมถึงแอร์นสต์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี (KPD) ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 1944 หลังจากถูกขังเดี่ยวมายาวนานถึง 11 ปี อย่างไรก็ตาม ค่ายบูเคนวัลด์ไม่ใช่ค่ายสังหารแบบเดียวกับมายดาเน็คหรือเอาชวิตซ์ และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งโดยตรงของแผน ‘ทางออกสุดท้ายต่อปัญหายิว’ (Endlösung der Judenfrage) อันโหดเหี้ยมของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ภายในค่ายบูเคนวัลด์ คอมมิวนิสต์และนักสังคมประชาธิปไตยได้ร่วมกันจัดตั้ง คณะกรรมการค่ายนานาชาติ (International Camp Committee) ขึ้น เพื่อจัดระเบียบชีวิตของผู้ถูกคุมขังภายในค่าย และดำเนินการก่อวินาศกรรมรวมถึงการลุกฮือต่อต้าน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านโรงงานอาวุธที่ตั้งอยู่ไม่ไกล) ในเวลาต่อมา องค์กรนี้พัฒนาขึ้นเป็น คณะกรรมการแนวร่วมประชาชน (Popular Front Committee) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1944 โดยมีผู้นำหลัก 4 คน ได้แก่ แฮร์มันน์ บริลล์ – Hermann Brill (แนวร่วมประชาชนเยอรมัน) แวร์เนอร์ ฮิลเพิร์ต – Werner Hilpert (พรรคประชาธิปไตยคริสเตียน) แอร์นสต์ ทาเปอ – Ernst Thape (พรรคสังคมประชาธิปไตย) และวอลเทอร์ วูล์ฟ – Walter Wolf (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี)
สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวนี้ก็คือ แม้พวกเขาจะถูกคุมขังในฐานะนักโทษ แต่คณะกรรมการก็เริ่มหารือถกเถียงกันแล้วถึงอนาคตใหม่ๆ ที่เป็นไปได้ของเยอรมนี — ซึ่งมีการใช้กระบวนการกำจัดหรือสลายอิทธิพลและองค์ประกอบของลัทธินาซีออกจากทุกภาคส่วนของสังคม (de-Nazified) กำจัดนาซีอย่างสิ้นเชิงจากบนสุดลงฐานล่าง และวางอยู่บนรากฐานระบบเศรษฐกิจแบบความร่วมมือหรือสหกรณ์ ขณะที่ยังอยู่ในค่ายบูเคนวัลด์นั้น วอลเทอร์ วูล์ฟ (Walter Wolf) ได้เขียนงานชื่อ A Critique of Unreason: On the Analysis of National Socialist Pseudo-Philosophy (แปลว่า “วิจารณ์ความไร้เหตุผล: การวิเคราะห์ปรัชญาจอมปลอมของลัทธินาซี”) วิจารณ์การใช้วาทกรรมชาตินิยม เชื้อชาติ และอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเพื่อทำลายมนุษยธรรม
<นาฮุม บันเดล (Nachum Bandel) จิตรกรและผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Ukraine), Block 51. Buchenwald. Small Camp – บล็อก 51 ค่ายบูเคนวัลด์ , 1947.>
หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่นักโทษปลดปล่อยค่ายบูเคนวัลด์ด้วยตนเอง พวกเขาได้วางประติมากรรมไม้ไว้ใกล้ค่าย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ ทั้งนี้ พวกเขาต้องการให้ค่ายแห่งนี้ถูกจดจำระลึกถึง ไม่ใช่ในฐานะสถานที่สังหารเข่นฆ่า แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเข้มแข็งอดทนของพวกเขาระหว่างถูกจองจำ และในการลุกขึ้นปลดปล่อยตนเอง ในปี 1945 นักโทษเหล่านี้ได้ร่าง “คำสัตย์ปฏิญาณแห่งบูเคนวัลด์” ขึ้น ซึ่งกลายเป็นหลักยึดของพวกเขา:
“เราจะละทิ้งการต่อสู้ ก็ต่อเมื่อผู้มีความผิดคนสุดท้ายถูกพิพากษาโดยศาลยุติธรรมของประชาชาติทุกชาติ การทำลายนาซีอย่างสิ้นซากถึงรากเหง้าคือภารกิจของเรา การสร้างโลกใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยสันติภาพและเสรีภาพคืออุดมคติของเรา”
ในช่วงที่ค่ายแห่งนี้ ตั้งอยู่ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (DDR หรือเยอรมนีตะวันออก) ค่ายดังกล่าวถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเรือนจำสำหรับนาซีที่รอรับการพิจารณาคดี นาซีบางคนถูกประหารชีวิตในข้อหาอาชญากรรม รวมถึงคาร์ล อ็อตโต ค็อค (Karl Otto Koch) นายกเทศมนตรีเมืองไวมาร์ ซึ่งเป็นผู้สั่งการจับกุมชาวยิวในเมืองเมื่อปี 1941 ขณะเดียวกัน อีกฟากหนึ่งของม่านเหล็ก คือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) ได้บรรจุอดีตสมาชิกพรรคนาซีเข้าสู่ระบบราชการของรัฐอย่างรวดเร็ว โดยสองในสามของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานตำรวจอาชญากรรมแห่งชาติ (Bundeskriminalamt) เป็นอดีตนาซีทั้งสิ้น เมื่อกระบวนการไต่สวนและลงโทษพวกนาซีสิ้นสุดลง ซากส่วนที่เหลือของค่ายบูเคนวัลด์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกในสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (DDR)
สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (DDR) หรือเยอรมนีตะวันออก เป็นรัฐสังคมนิยมที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1949 ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ปกครองโดยพรรคเอกภาพสังคมนิยมแห่งเยอรมนี (SED) และเน้นนโยบายรัฐสวัสดิการ อุตสาหกรรมของรัฐ และแนวทางต่อต้านฟาสซิสต์ ดำรงอยู่จนถึงปี 1990
<อิลเซอ แฮฟเนอร์-โมเดอ (Ilse Häfner-Mode) จิตรกรชาวเยอรมันเชื้อสายยิว (Germany), Portrait of a Woman in Front of a Wooden Door, n.d.>
ต้องใช้เวลาถึงสิบปีหลังจากค่ายบูเคนวัลด์ได้รับการปลดปล่อย กว่าที่จะมีการสร้างอนุสรณ์สถานอย่างเป็นทางการขึ้นได้ที่บูเคนวัลด์ องค์กรดูแลเหยื่อสงครามภายใต้ลัทธินาซี (The Care of National Socialist War Victims) ได้กดดันเจ้าหน้าที่เมืองไวมาร์สร้างสุสานเชิดชูเกียรติขึ้นในปี 1949 และจัดพิธีศพให้ผู้เสียชีวิตในปี 1951 จนในปี 1958 อ็อตโต โกรเทอโวล (Otto Grotewohl) นักสังคมประชาธิปไตยและเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (DDR) ได้เปิดค่ายเปิดโอกาสให้แรงงานและนักเรียนหลายแสนคนเข้าเยี่ยมชมอาคารต่าง ๆ ฟังเรื่องราวของทั้งความโหดร้ายและการต่อต้าน พร้อมร่วมกันยึดมั่นในแนวทางต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์
ในปีเดียวกันนั้นเอง อดีตนักโทษอย่างบรูโน อาพิทซ์ (Bruno Apitz) ได้ตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง Nackt unter Wölfen (เปลือยกายท่ามกลางหมาป่า) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของขบวนการต่อต้านภายในค่าย ที่เสี่ยงชีวิตซ่อนตัวเด็กชายคนหนึ่งไว้ และต่อมาขบวนการนั้นก็สามารถยึดค่ายได้ในปี 1945 นวนิยายเล่มนี้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ใน DDR โดยแฟรงก์ ไบเออร์ (Frank Beyer) ในปี 1963 เรื่องราวอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงของสเตฟาน เยอร์ซี ซไวก์ (Stefan Jerzy Zweig) เด็กชายที่นักโทษช่วยกันซ่อนตัวไว้เพื่อไม่ให้ถูกส่งตัวไปยังเอาชวิตซ์ ซไวก์รอดชีวิตมาได้และเสียชีวิตในกรุงเวียนนาเมื่อปี 2024 ด้วยอายุ 81 ปี
รัฐบาล DDR (เยอรมนีตะวันออก) ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมประจำชาติด้วยหัวข้อ “แนวคิดต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์” ในปี 1949 กระทรวงศึกษาของประชาชน ได้ผลักดันสนับสนุนให้โรงเรียนต่าง ๆ จัดทำปฏิทินกิจกรรมที่เน้นย้ำการต่อสู้ต่อต้านฟาสซิสม์ แทนที่จะเป็นวันหยุดทางศาสนา เช่น เปลี่ยนการเฉลิมฉลองก่อนเข้าสู่เทศกาลมหาพรต งาน Fasching (มาร์ดิกราส) เป็น “วันสันติภาพโลก” พิธี Jugendweihe (พิธีเข้าสู่วัยหนุ่มสาว) ซึ่งเป็นพิธีผ่านพ้นวัยของเยาวชนแบบดั้งเดิม ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นงานที่เน้นการยืนยันเจตนารมณ์ของเยาวชนในการยึดมั่นอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ นอกจากนี้้ โรงเรียนยังจัดทัศนศึกษาเดินทางไปเยือนค่ายกักกัน เช่น บูเคนวัลด์ ราเวนส์บรุค และซัคเซนเฮาเซน เพื่อเรียนรู้ถึงความโหดร้ายของลัทธิฟาสซิสม์ และเพื่อปลูกฝังคุณค่าความเป็นมนุษยนิยมและสังคมนิยม นี่เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังสำหรับสังคมที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกลืนไปกับลัทธินาซีให้กลับคืนมาเป็นสังคมที่ยึดมั่นในคุณธรรมแห่งมนุษย์
<เฮอร์เบิร์ต แซนด์เบิร์ก (Herbert Sandberg) ศิลปินและนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนชาวเยอรมัน (Germany), We Didn’t Know – พวกเราไม่รู้, 1964.>
เมื่อเยอรมนีตะวันตกผนวกเยอรมนีตะวันออกในปี ค.ศ. 1990 กระบวนการบ่อนทำลายความก้าวหน้าของแนวคิดต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ที่พัฒนาใน DDR ก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยค่ายบูเคนวัลด์ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการนี้ ประเด็นแรกคือ ความขัดแย้งเรื่องผู้นำค่ายบูเคนวัลด์ ซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียง ดร.อีร์มการ์ด ไซเดิล (Irmgard Seidel) ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากเคลาส์ โทรสทรอฟฟ์ (Klaus Trostorff) อดีตนักโทษพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (KPD) ในปี 1988 ได้ทราบว่าตนเองถูกปลดออกจากตำแหน่งผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ (โดยก่อนหน้านั้น ดร.ไซเดิลได้ทำการสืบค้น ตรวจสอบเอกสารของหน่วย SS (เป็นกองกำลังพิเศษของพรรคนาซีในเยอรมนี) และค้นพบว่า มีนักโทษหญิงกว่า 28,000 คน ถูกใช้แรงงานทาสในค่ายบูเคนวัลด์ ส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานผลิตอาวุธของนาซี)
ดร.ไซเดิลถูกแทนที่โดยอูลริช ชไนเดอร์ (Ulrich Schneider) ซึ่งต่อมาก็ถูกปลดจากตำแหน่งเช่นกัน หลังจากมีการเปิดเผยว่าเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันตก จากนั้นตำแหน่งก็ตกเป็นของโธมัส ฮอฟมันน์ (Thomas Hofmann) ผู้ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนจนเป็นที่พึงพอใจของผู้นำทางการเมืองชุดใหม่ ประเด็นที่สองคือ ทิศทางการรำลึกความทรงจำสาธารณะซึ่งเดิมเป็นพื้นที่เน้นการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ ถูกปรับเปลี่ยนให้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์แทน เช่น การลดความสำคัญของอนุสรณ์สถานที่อุทิศให้แอร์นสต์ เทลมันน์ และหันไปให้ความสำคัญกับบทบาทของสหภาพโซเวียตในการใช้บูเคนวัลด์เป็นสถานที่กักกันคุมขังนาซีภายหลังสงคราม
ขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์จากฝั่งเยอรมนีตะวันตกก็เริ่มเขียนงานที่นำเสนอว่า ผู้ที่ปลดปล่อยค่ายบูเคนวัลด์คือทหารของแพตตัน – กองทัพของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่นักโทษเอง เช่นเดียวกับการตีความในหนังสือเล่มสำคัญของมันเฟรด โอเวอเรช ผลงานอันทรงอิทธิพล Buchenwald und die DDR. Oder die Suche nach Selbstlegitimation — บูเคนวัลด์และ DDR หรือ การแสวงหาความชอบธรรมด้วยตนเอง — ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1995) วิเคราะห์การใช้ค่ายบูเคนวัลด์เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของ DDR โดยมุ่งลดทอนบทบาทฝ่ายคอมมิวนิสต์และยกระดับแนวต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีใหม่
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เฮล์มุท โคห์ล (Helmut Kohl) เป็นประธานในพิธีติดตั้งไม้กางเขนขนาดใหญ่ 6 แห่ง เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของ “เผด็จการคอมมิวนิสต์ผู้ก่อการร้าย” และกล่าวถึงอาชญากรรมนาซี เสมือนว่าเป็นสิ่งเดียวกันกับการกระทำของสหภาพโซเวียต ระหว่างปี 1991 ถึง 1992 นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน เอแบร์ฮาร์ด แย็คเคิล (Eberhard Jäckel) เป็นผู้นำคณะกรรมาธิการที่มีหน้าที่เขียนประวัติศาสตร์ของค่ายบูเคนวัลด์ขึ้นใหม่ โดยหนึ่งในสิ่งที่เขาทำคือกล่าวหานักโทษคอมมิวนิสต์ว่า เคยให้ความร่วมมือกับนาซี และจัดพิธีรำลึกถึง “เหยื่อ” ของการคุมขังโดยแนวร่วมต่อต้านฟาสซิสต์ กระบวนการทั้งหมดนี้คือความพยายามอย่างเป็นทางการในการจัดระเบียบข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการ เพื่อยกย่องฟาสซิสต์และบ่อนทำลายฝ่ายต่อต้านฟาสซิสม์อย่างโจ่งแจ้ง
<ฮิลเดอ โคลเบอ พานักเรียนเวียดนามของเธอจากโรงเรียนแพทย์โดโรเธีย คริสเตียนา แอร์กซ์เลเบน เมืองเควดลินบวร์ก (DDR) ไปยังค่ายบูเคนวัลด์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1976
ในช่วงทศวรรษ 1950 ศิลปินฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รวมตัวกันสร้างชุดอนุสรณ์สถานที่ค่ายบูเคนวัลด์ เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์ ประติมากรอย่าง เรเน กราทซ์ (René Graetz) วัลเดมาร์ กริมเม็ค (Waldemar Grimek) และฮันส์ คีส (Hans Kies) ได้สร้างแท่งหินเสาสลักปั้นนูน (relief steles) ซึ่งด้านหลังของแต่ละแท่งมีบทกวีสลักไว้ ผลงานของรัฐมนตรีวัฒนธรรมคนแรกของ DDR โยฮันเนส อาร์. เบเชอร์ (Johannes R. Becher) บทกวีดังกล่าว มีดังนี้:
เทลมันน์แลเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น
พวกเขาขุดอาวุธขึ้นจากใต้ดิน ที่เคยซ่อนไว้
จากหลุมศพ ผู้ถูกพิพากษาให้ดับสิ้นก็ลุกขึ้นยืน
ดูเถิด แขนพวกเขายื่นออกไปกว้างไกล
ดูเถิด อนุสรณ์มากรูปแบบที่ยังคงยืนหยัด
ปลุกเสียงการต่อสู้ของเรา ทั้งอดีตและปัจจุบัน
ผู้ล่วงลับเตือนเราไว้: จงอย่าลืมบูเคนวัลด์!
ในจดหมายข่าวฉบับนี้ ภาพวาดทั้งหมดเป็นผลงานของอดีตนักโทษค่ายบูเคนวัลด์ ส่วนภาพถ่ายแสดงให้เห็นผลงานประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ชื่อ “การลุกฮือของนักโทษ” ซึ่งแสดงภาพนักโทษที่ปลดปล่อยตนเอง ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างโดยฟริตซ์ เครเมอร์ (Fritz Cremer) ผู้ซึ่งเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (KPD) ตั้งแต่ปี 1929
ด้วยไมตรีจิต
วิเจย์ (Vijay)
ป.ล. ในเดือนมิถุนายนนี้ Zetkin Forum for Social Research จะจัดการประชุมว่าด้วยการต่อต้านลัทธิฟาสซิสม์ ณ กรุงเบอร์ลิน จึงขอเรียนเชิญทุกท่านเข้าร่วมงานด้วยกัน
เป็นเวทีวิจัยในยุโรปที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในประเด็นความก้าวหน้าทางสังคม การต่อต้านฟาสซิสต์ และสากลนิยม ในเดือนมิถุนายน ค.aaศ. 2025 ทางฟอรั่มจะจัดการประชุมมาร์กซิสต์นานาชาติหัวข้อ “ฟาสซิสต์กลับมาในยุโรปหรือไม่?” เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิเสรีนิยมกับฟาสซิสต์ในปัจจุบัน