แพน-แอฟริกัน (Pan-Africanism) คือแนวคิดและขบวนการฝ่ายซ้ายที่มุ่งรวมพลังของชาวแอฟริกันทั่วโลกเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยม ทุนนิยมโลก และการเหยียดผิว โดยเชื่อว่าการปลดปล่อยแอฟริกาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความสามัคคีระดับทวีป มีเอกราชทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ถึง สหายที่รัก

 

ทักทายสวัสดีจากโต๊ะทำงานของไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม  Tricontinental: Institute for Social Research

 

ในปี 1962 ฟลอเรนซ์ นวันซูรูอาฮู เอ็นคีรู นวาปา (Florence Nwanzuruahu Nkiru Nwapa) นักเขียนหญิงคนแรกของแอฟริกาที่ตีพิมพ์นวนิยายเป็นภาษาอังกฤษในระดับสากล (มีชีวิตในช่วง ค.ศ. 1931–1993) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ฟลอรา นวาปา (Flora Nwapa) ได้ส่งต้นฉบับหนังสือเล่มหนึ่งไปให้นักเขียนชาวไนจีเรีย ชินัว อะเชเบ (Chinua Achebe) นักเขียนผู้ใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือต่อต้านอาณานิคม (มีชีวิตในช่วง ค.ศ. 1930–2013) ซึ่งสี่ปีก่อนหน้านั้น (ปี 1958) อะเชเบ นักเขียนชาวไนจีเรียในวัยเพียง 28 ปี ได้ตีพิมพ์นวนิยายชิ้นเอกชื่อ เมื่อสรรพสิ่งพังทลาย – Things Fall Apart กับสำนักพิมพ์ไฮเนอมันน์ (Heinemann) นวนิยายเล่มนี้ถูกส่งไปยังสำนักงานไฮเนอมันน์ในลอนดอน ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการปลดปล่อยอาณานิคมเริ่มเปลี่ยนแปลงการเมืองของทวีปแอฟริกา (กานาได้รับเอกราชในปี 1957 เร็วกว่าไน­จีเรียสามปี — ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีประชากรที่พูดภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แม้จะไม่มาก แต่ในระบบการศึกษา ก็มีการใช้หนังสือวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษของสำนักพิมพ์ไฮเนอมันน์)

 

สำนักพิมพ์ไฮเนอมันน์ (Heinemann) ถือว่ามีบทบาทก้าวหน้าอย่างมากในแวดวงการพิมพ์ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในแอฟริกาและหมู่ประเทศอาณานิคม โดยเฉพาะตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 ถึง 1970 

 

นวนิยายของอะเชเบเป็นแรงบันดาลใจให้อลัน ฮิลล์ (Alan Hill) เขาเป็นบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ชาวอังกฤษมีบทบาทส่งเสริมวรรณกรรมแอฟริกันสู่เวทีโลก เขาได้ชักชวนอีแวนเดอร์ ‘แวน’ มิลน์ (Evander ‘Van’ Milne) จากสำนักพิมพ์เนลสัน (Nelson) ซึ่งปี 1957 เขาเคยตีพิมพ์อัตชีวประวัติของกวาเม เอ็นกรูมาห์ (Kwame Nkrumah) นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีคนแรกของประเทศกานา และเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแอฟริกาจากลัทธิล่าอาณานิคม ทั้งฮิลล์ (บรรณาธิการแนวซ้ายจาก Heinemann) และมิลน์ (ผู้มีบทบาทในแวดวงสิ่งพิมพ์และต่อต้านจักรวรรดินิยม) ต่างก็มีแนวคิดการเมืองฝั่งซ้าย ทั้งสองจึงร่วมงานกันก่อตั้งชุดหนังสือวรรณกรรมแอฟริกัน – African Writers Series (AWS) โดยสำนักพิมพ์ไฮเนอมันน์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเขียนแอฟริกัน เขียนเรื่องของแอฟริกา มีการตีพิมพ์ผลงานของเอ็นกรูมาห์ – ผู้นำการปลดปล่อยประเทศกานา เคนเน็ธ คาอุนดา (Kenneth Kaunda) – ผู้นำการปลดปล่อยประเทศแซมเบียจากอังกฤษ และผู้นำการปลดปล่อยในประเทศคนอื่น ๆ 

 

ตอนที่ฟลอรา นวาปา – นักเขียนนวนิยายหญิงชาวแอฟริกันคนแรกที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในสหราชอาณาจักร – ส่งหนังสือของเธอไปให้อะเชเบ เขากำลังทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการชุดหนังสือวรรณกรรมแอฟริกัน (AWS) และได้ส่งเงินให้เธอเพื่อใช้ส่งต้นฉบับไปยังลอนดอนอีกด้วย

 

สำนักพิมพ์ไฮเนอมันน์ตีพิมพ์นวนิยายเรื่อง เอฟูรู – Efuru ของนวาปาในปี 1966 (งานเขียนที่ท้าทายทั้งจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมและระบบชายเป็นใหญ่ในแอฟริกา) ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนึ่งในนวนิยายภาษาอังกฤษเล่มแรก ๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยผู้หญิงแอฟริกัน และเป็นเล่มที่ 26 ในชุดหนังสือวรรณกรรมแอฟริกัน (AWS) นวนิยายเล่มต่อไปที่เขียนโดยผู้หญิง — ซึ่งก็คือนวาปา — คือเรื่อง อิดู – Idu (1970) เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงแอฟริกัน ในบริบทของวัฒนธรรมอีโบ (Igbo) ซึ่งเป็นเล่มที่ 56 ในชุดหนังสือวรรณกรรมแอฟริกัน (AWS) บรรดานักเขียนหญิงในวรรณกรรมแอฟริกันชุดสำคัญนี้ ล้วนโดดเด่นอย่างน่าทึ่ง ทั้งในด้านความเฉียบคมของผลงาน และในความหายาก ตัวอย่างผลงาน มีดังนี้

 

เล่มที่ 100: เบสซี เฮด – Bessie Head (แอฟริกาใต้), Maru (1972) เรื่องสั้นทรงพลัง เรื่องหญิงสาวชนกลุ่มน้อยที่ถูกเหยียดเชื้อชาติในสังคมแอฟริกัน สะท้อนอคติภายในระหว่างคนแอฟริกาด้วยกันเอง

 

เล่มที่ 131: ดอริส เลสซิง – Doris Lessing (ซิมบับเว), The Grass is Singing (1973) เล่าเรื่องหญิงผิวขาวในแอฟริกาตอนใต้ที่ชีวิตแตกร้าวกลางสังคมอาณานิคม

เล่มที่ 149: เบสซี เฮด – Bessie Head (แอฟริกาใต้), A Question of Power (1974) ว่าด้วย สภาวะของอำนาจ ความวิกลจริต และอัตลักษณ์ของผู้หญิงผิวดำในโลกที่กดขี่ทุกชั้น

เล่มที่ 159: มาร์ธา มวุงงี – Martha Mvungi (แทนซาเนีย), Three Solid Stones (1975) เล่าเรื่องผู้หญิงแอฟริกันธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อรักษาครอบครัว ศักดิ์ศรี และความหวัง

 

เล่มที่ 177: นาดีน กอร์ดิเมอร์- Nadine Gordimer (แอฟริกาใต้), Some Monday for Sure (1976) รวมเรื่องสั้นที่สำรวจชีวิตในแอฟริกาใต้ภายใต้ระบบการแบ่งแยกสีผิว (apartheid)

 

เล่มที่ 182: เบสซี เฮด – Bessie Head (แอฟริกาใต้), The Collector of Treasures (1977) รวมเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องชีวิตผู้หญิงในหมู่บ้านบอตสวานา

เล่มที่ 203: เรเบกา เอ็นเจา – Rebeka Njau (เคนยา), Ripples in the Pool (1978) เล่าเรื่องหญิงสาวชาวเคนยาผู้ต้องเผชิญกับการกดขี่ทางเพศและบาดแผลทางใจในโลกหลังอาณานิคม

เล่มที่ 227: บุชี เอเมเชตา – Buchi Emecheta (ไนจีเรีย), The Joys of Motherhood (1979) เล่าเรื่องหญิงชาวไนจีเรียผู้ต่อสู้เพื่อครอบครัวในโลกที่เปลี่ยนไปหลังอาณานิคม

เล่มที่ 220: เบสซี เฮด – Bessie Head (แอฟริกาใต้), Serowe: Village of the Rain Wind (1981) เป็นสารคดีเล่าเรื่องหมู่บ้านเซอโรวีในบอตสวานา ผ่านประวัติศาสตร์ คนธรรมดา และวัฒนธรรมท้องถิ่น

เล่มที่ 248: มารียามา บา – Mariama Bâ (เซเนกัล), So Long a Letter (1989) เป็นนวนิยายในรูปจดหมายจากหญิงม่ายในเซเนกัลถึงเพื่อนรัก หลังสามีแต่งงานกับภรรยาใหม่

 

อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสและโปรตุเกสก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้ อามินาตา โซว์ ฟอลล์ (Aminata Sow Fall) จากเซเนกัลเป็นผู้นำในวรรณกรรมฝั่งภาษาฝรั่งเศส ด้วยผลงานเรื่อง Le revenant (วิญญาณกลับคืน, ดาการ์: Nouvelles Editions Africaines, ประมาณปี 1976) เล่าเรื่องข้าราชการในดาการ์ที่ถูกหลอกหลอนโดยอดีตและความรู้สึกผิดจากระบบที่เขาเคยรับใช้ ขณะที่พอลีนา ชิเซียน (Paulina Chiziane) จากโมซัมบิกเป็นผู้นำวรรณกรรมในฝั่งภาษาโปรตุเกสด้วย Balada de Amor ao Vento (บทเพลงรักแด่สายลม, มาปูโต: Associação dos Escritores Moçambicanos, 1990) ซึ่งเป็นนวนิยายโมซัมบิกเล่มแรกที่เขียนโดยผู้หญิง เล่าเรื่องรัก ความหึงหวง และพหุภรรยาในโลกชนบท ร่วมกับฟิโลเมนา เอมบาลู (Filomena Embaló) จากกินี-บิสเซา (ประเทศเล็ก ๆ ทางแอฟริกาตะวันตก เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส) กับผลงาน Tiara (ติอารา, ลิสบอน: Instituto Camões, 1999) เป็นนวนิยายที่สำรวจบาดแผลของสงคราม ความทรงจำ และอัตลักษณ์ในโลกหลังอาณานิคม หนังสือเหล่านี้ล้วนมีรากฐานจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทั้งสิ้น

 

ในขณะเดียวกัน เมเบล โดฟ แดนควาห์ (Mabel Dove Danquah) – นักข่าว นักเขียน และนักเคลื่อนไหวสตรีชาวกานา ผู้บุกเบิกงานสื่อสารมวลชนในแอฟริกาตะวันตก และเอฟัว ซัทเธอร์แลนด์ (Efua Sutherland) – นักเขียนบทละคร กวี และนักการศึกษาแนวหน้าแห่งกานา ก็เป็นผู้บุกเบิกงานสื่อสารมวลชนในกานา โดยแดนควาห์ดูแลหนังสือพิมพ์ Accra Evening News ( หนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของกานา) ในปี 1951 ส่วนซัทเธอร์แลนด์ดูแลวารสารวรรณกรรมแนวก้าวหน้าของกานา Okyeame และก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งกานาในปี 1957 (ซัทเธอร์แลนด์ยังก่อตั้ง Ghana Experimental Players และ Ghana Drama Studio ในปี 1961 ด้วย) ส่วนที่แอฟริกาใต้ เมื่อปี 1960 โนนี จาบาวู (Noni Jabavu) นักเขียนและนักข่าวชาวแอฟริกาใต้ ได้ตีพิมพ์บันทึกความทรงจำของเธอ Drawn in Colour: African Contrasts สะท้อนประสบการณ์และมุมมองของเธอในฐานะผู้หญิงแอฟริกันที่ใช้ชีวิตระหว่างสองวัฒนธรรม กับสำนักพิมพ์ John Murray ในลอนดอน ส่วนมีเรียม ทลาลี (Miriam Tlali) ตีพิมพ์นวนิยายอันยอดเยี่ยมของเธอ Between Two Worlds อัตชีวประวัติที่เล่าประสบการณ์ของผู้หญิงแอฟริกันในโลกตะวันตก (ซึ่งในชื่อเดิมคือ Muriel at Metropolitan) กับสำนักพิมพ์ Ravan Press ในปี 1975

 

ที่เคนยา เกรซ โอกอต (Grace Ogot) กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่มีผลงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ East African Publishing House ด้วยนวนิยายเรื่อง The Promised Land (1966) เนื้อเรื่องสำรวจประเด็นความขัดแย้งทางชนเผ่า วัตถุนิยม และบทบาทของผู้หญิงในสังคมแอฟริกันดั้งเดิม ขณะที่ที่ไนจีเรีย ซูลู โซโฟลา (Zulu Sofola) เขียนบทละครเรื่อง The Deer and The Hunters Pearl (1969) สะท้อนการต่อสู้ระหว่างอำนาจเผด็จการกับความยุติธรรมในจิตวิญญาณของชุมชน ในฝั่งประเทศที่ใช้ภาษาอาหรับ นาวาล เอล ซาดาวี (Nawal El Saadawi) จากอียิปต์ คานาตา บานูนา (Khanata Banuna) จากโมร็อกโก และอัสเซีย เจบาร์ (Assia Djebar) จากแอลจีเรีย ต่างก็ได้เปิดทางให้ผู้หญิงจำนวนมากลุกขึ้นเขียนงานวรรณกรรมเป็นภาษาอาหรับ ทวีปแอฟริกามีประเพณีการเขียนของผู้หญิงที่รุ่มรวยและทรงพลังอยู่แล้วในหลายภูมิภาค

<อองตัวแน็ต ลูบากิ (Antoinette Lubaki) ศิลปินหญิงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC), Sans titre (Untitled), ค.ศ. 1929.>

 

นั่นแหละคือเหตุผลที่สำนักพิมพ์ Inkani Books (เป็นโครงการหนึ่งของ Tricontinental Pan-Africa ที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์การปลดปล่อยชาติและสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ Tricontinental: Institute for Social Research ตัดสินใจมอบรางวัลประจำปีสำหรับต้นฉบับหนังสือสารคดีที่เขียนโดยผู้หญิง (ไม่ว่าจะเป็นซิสเจนเดอร์หรือทรานส์เจนเดอร์ก็ตาม) ดังที่เอเฟเมีย เชลา (Efemia Chela) บรรณาธิการของ Inkani Books เขียนไว้ในจดหมายข่าว Tricontinental Pan-Africa เมื่อต้นปีนี้ว่า “รางวัลนี้ไม่ใช่แค่เกียรติยศ แต่คือการทวงคืนพื้นที่ และการประกาศว่า บทบันทึกและเสียงของผู้หญิงนักปฏิวัติในแอฟริกาจะไม่ถูกผลักให้เป็นชายขอบอีกต่อไป

รางวัลนี้ตั้งชื่อตามนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งแอฟริกา อ็องเดร บลูแลง – Andrée Blouin  (1921–1986) ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดของปาทริซ ลูมุมบา – Patrice Lumumba ผู้นำเรียกร้องเอกราชของคองโกและนายกรัฐมนตรีคนแรกของคองโก (ถึงขั้นร่วมเขียนสุนทรพจน์ประกาศเอกราชที่เขาได้กล่าวในเดือนมิถุนายน 1960) เธอหันมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้น เมื่อบุตรชายชื่อ เรอเน่ (René) เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียในวัยเพียงสองขวบ หลังจากถูกปฏิเสธการรักษาไม่ให้ควินินซึ่งอาจช่วยชีวิตเขาได้ ในโรงพยาบาลอาณานิคมฝรั่งเศส เพราะยาชนิดนี้ถูกจัดสรรไว้เฉพาะชาวยุโรปเท่านั้น ในอัตชีวประวัติ My Country, Africa (1983) เธอเขียนถึงลัทธิล่าอาณานิคมและความน่าสะพรึงของ “ความปกติ” ในยุคอาณานิคมว่า

“ฉันเข้าใจในที่สุดแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงโชคชะตาอันเลวร้ายของฉันคนเดียว แต่คือระบบชั่วร้ายที่แผ่กิ่งก้านสาขาครอบคลุมทุกแง่มุมในชีวิตของชาวแอฟริกัน”

ในระหว่างที่เธอกำลังสร้างชื่อเสียงในฐานะนักข่าวที่ตรงไปตรงมา บลูแลงได้รับเชิญจากอองตวน กิเซงกา – Antoine Gizenga (ซึ่งต่อมากลายเป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ให้มาก่อตั้ง Mouvement Féminin pour la Solidarité Africaine (ขบวนการสตรีเพื่อสมานฉันท์แอฟริกา) บลูแลงค้นพบว่าคองโก ซึ่งเป็น “ขุมทรัพย์แร่ธาตุอันมหาศาล” นั้น ถูกปฏิบัติราวกับเป็นตู้นิรภัยส่วนตัวของเบลเยียม การได้ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของลูมุมบา เปิดโอกาสให้เธอได้พบกับผู้คนที่มีหัวใจและอุดมการณ์เดียวกัน พร้อมทั้งจุดประกายความยินดีอย่างลึกซึ้งในการต่อสู้ ความเป็นจริงอันหม่นหมองของลัทธิล่าอาณานิคมกลับดูเลือนรางลง เมื่อเทียบกับความสว่างไสวแห่งการปลดปล่อยชาติ

<เชรี ซัมบา (Chéri Samba) ศิลปินจิตรกรร่วมสมัยชาวคองโก (DRC), L’Arbre (The Tree), 1987.>

 

เมื่อบลูแลงตีพิมพ์อัตชีวประวัติของเธอในปี ค.ศ. 1983 ผลงานชิ้นนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น ในเวลานั้นเป็นช่วงอันยากลำบากสำหรับแนวคิดแพนอาฟริกันนิสม์และโลกที่สาม: ความฝันในการปลดแอกชาติโดยส่วนใหญ่ถูกบดขยี้ด้วยรัฐประหาร (ต่อลูมุมบาในปี 1961 และต่อเอ็นกรูมาห์ในปี 1966) วิกฤตหนี้สิน (แทบทุกประเทศในแอฟริกาประสบปัญหาในการชำระหนี้ที่เพิ่มพูน) รวมถึงการเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง-กระฎุมพีในระดับชาติ ที่ดูจะพึงพอใจในการร่วมมือกับบรรษัทเหมืองแร่ข้ามชาติมากกว่าการสร้างเศรษฐกิจของตนเอง

แสงสว่างเดียวในช่วงเวลานั้นมาจากอัพเปอร์โวลตา เมื่อโธมัส ซังการาเข้ามามีอำนาจในปี 1983 ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นบูร์กินา ฟาโซ (แปลว่า “ดินแดนแห่งผู้เที่ยงธรรม”) และขับเคลื่อนวาระการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูที่น่าจะทำให้ลูมุมบาภาคภูมิใจ (เราไม่อาจทราบได้ว่า บลูแลงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในแถบซาเฮล)

Upper Volta ชื่อเดิมของประเทศหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ด้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1960 

หากอัตชีวประวัติของบลูแลง — ซึ่งตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่ซังการาขึ้นสู่อำนาจ — ได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับพลังขับเคลื่อนของบูร์กินาฟาโซ ก็อาจก่อให้เกิดความสนใจใหม่ในสายธารประวัติศาสตร์ที่เริ่มจากบลูแลงมาจนถึงซังการา ผู้วางการปลดแอกสตรีเป็นหัวใจของโครงการปฏิวัติในประเทศตน ทว่าโชคร้ายที่แนวทางนั้นไม่ได้รับการสานต่ออย่างเข้มแข็งเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการฟื้นคืนมรดกทางความคิดของบลูแลงขึ้น นี่คือลำดับบางส่วนของกระแสการฟื้นคืนนั้น:

1.ในปี 2019 ณ กรุงกินชาซา (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) กลุ่มเยาวชนได้ก่อตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมอ็องเดร บลูแลง เพื่อจัดกิจกรรมและฝึกอบรมเยาวชนคองโก เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความเป็นไปได้ของแนวคิดแพน-แอฟริกัน

2.ในปี ค.ศ. 2023 ไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม (Tricontinental: Institute for Social Research) ได้ร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมอ็องเดร บลูแลง ศูนย์วิจัยว่าด้วยคองโก-กินชาซา (CERECK) และขบวนการเรียกร้องอธิปไตยเหนือที่ดินของตน (Likambo Ya Mabele)  เพื่อวิจัยและจัดทำเอกสารฉบับที่ 77 เรื่อง The Congolese Fight for Their Own Wealth (ซึ่งเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2024)

3.ในปี 2024 โยฮัน กริมองเปรซ (Johan Grimonprez) ผู้กำกับรางวัล ได้นำเรื่องราวของบลูแลงขึ้นมาเป็นจุดศูนย์กลางในภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ของเขาเรื่อง Soundtrack to a Coup d’État

4.ในปี 2025 สำนักพิมพ์ Verso Books ได้นำ My Country, Africa มาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง พร้อมด้วยบทส่งท้ายจากอีฟ ลูกสาวของบลูแลง

5.ในปีถัดมา สำนักพิมพ์ Inkani Books จะตีพิมพ์เรื่องราวอันน่าติดตามของลูโด มาร์แตงส์ (Ludo Martens) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเข้มข้นของการต่อต้านที่นำโดยเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของบลูแลง นามว่า ปีแยร์ มูเลเล่ (Pierre Mulele)

 

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รางวัลประจำปีนี้จะช่วยส่งเสริมงานเขียนสารคดีของผู้หญิงแอฟริกันในสายธารเดียวกับบลูแลงให้โดดเด่นยิ่งขึ้น และการดำรงอยู่ของรางวัลจะกระตุ้นความสนใจต่อสตรีอย่างบลูแลง โจซี่ เอ็มพามา รูธ เฟิร์สท์ และคนอื่น ๆ ที่อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยของโลกแอฟริกันในอุดมการณ์แพน-แอฟริกัน

<โมเก (Moké) ศิลปินจิตรกรชาวคองโก ก่อตั้งสไตล์ “ภาพวาดสมัยนิยม” (Democratic Republic of the Congo), Kinshasa at Noon, 1980.>

 

ผู้หญิงจำนวนมากเหล่านี้ เช่นเดียวกับบลูแลง ล้วนเป็นผู้สร้างสถาบันขึ้นเอง ยกตัวอย่างเช่น นวาปา (Nwapa) ซึ่งไม่เพียงเป็นนักประพันธ์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้จัดพิมพ์ โดยเธอได้ก่อตั้ง Tana Press ในปี 1977 เพื่อให้มั่นใจว่างานเขียนที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินแอฟริกาจะมีผู้อ่านในแอฟริกาเช่นกัน ขบวนการปลดปล่อยของชาติหลายแห่งก็ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เป็นของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือในประเทศของพวกเขา ดังที่เราได้นำเสนอไว้ในงานศึกษาว่าด้วยการศึกษาทางการเมืองในกินี-บิสเซา (Guinea-Bissau)

 

มีประวัติศาสตร์อันรุ่มรวยของวงการสำนักพิมพ์ในแอฟริกาที่ควรค่าแก่การศึกษาต่อ ได้แก่สำนักพิมพ์ซึ่งริเริ่มโดยผู้คนอย่าง อาลิอูน ดิยอป – Alioune Diop (Présence Africaine, 1947) ดี. บี. โอนี – D. B. Oni (Onibonoje Press, 1958) แองเกลแบร์ มเวง (Editions CLE, 1963) เฮนรี ชากาวา (Henry Chakava) ตาบัน โล ลิยอง (Taban Lo Liyong) และ งูงิ วา ธิยองโก – Ngũgĩ wa Thiong’o (East African Publishing House, 1965) มาร์กาเร็ต บัสบี – Margaret Busby (Allison and Busby, 1967) โมโธบิส มุตโลอัตเซ (Mothobis Mutloatse) และ มีเรียม ทลาลี – Miriam Tlali (Skotaville Publishers, 1982) ไอรีน สตอนตัน (Irene Staunton) และ ฮิวจ์ ลูวิน – Hugh Lewin (Baobab Books, 1987) และ วอลเตอร์ บโกยา – Walter Bgoya (ผู้ก่อตั้ง Mkuki na Nyota, 1981) งานของพวกเขาคือแรงบันดาลใจให้กับ Inkani Books

โปรดช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับรางวัล “Andrée Blouin Prize” ซึ่งมีกำหนดปิดรับสมัครในวันที่ 30 เมษายนนี้

ด้วยไมตรีจิต

 

วิเจย์ (Vijay)