<Katsukawa Shunshō หรือ ชุนโช คัตสึกาวะ จิตรกรและช่างพิมพ์ยุคเอโดะ (Japana), Japanese Women Reading and Writing, c. 1776.>
เราต้องการสร้างชุมชนนักอ่าน ไม่ใช่เปลี่ยนนักอ่านให้เป็นสินค้า: จดหมายข่าวฉบับที่แปด (2025)
ถึงเหล่าเพื่อนรัก,
สวัสดี ทักทายจากโต๊ะทำงานของไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม
มีบางวันที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ถาโถมเข้ามาจนทำให้ผมรู้สึกหนักอึ้ง ผมพยายามหาวิธีหลบไปสู่มุมสงบเงียบ และดำดิ่งสู่โลกของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายหรือหนังสือประวัติศาสตร์ก็ตาม ตราบใดที่ผู้เขียนสามารถสร้างโลกที่พาผมหนีจากความโหดร้ายที่ท่วมท้นไปยังเกาะแห่งจินตนาการได้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผมอ่านนวนิยายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนวนิยายสืบสวนของญี่ปุ่นซึ่งชื่นชอบเป็นพิเศษ และพบว่า ตัวละครเหล่านั้นบางครั้งทำให้ผมหัวเราะ บางครั้งก็ทำให้ขมวดคิ้วด้วยความฉงน ความวิปลาสบ้าคลั่งไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลกของเรา มันมีอยู่เสมอมาตั้งแต่ในอดีต
ตรงหน้าผมมีนวนิยายสืบสวนหลายเล่ม อาทิของคุณเซอิโช มัตสึโมโตะ (Seichō Matsumoto) ชื่อหนังสือ Ten to Sen หรือ Points and Lines ตีพิมพ์ในปี 1958 และ Suna no Utsuwa หรือ Inspector Imanishi Investigates ตีพิมพ์ในปี 1960–1961 หนังสือ Kuroi Hakucho หรือ The Black Swan Mystery ของคุณเท็ตสึยะ อายูกาวะ (Tetsuya Ayukawa) ตีพิมพ์ปี 1961 ซึ่งล้วนเป็นนวนิยายสืบสวนที่เขียนขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945 หนังสือเหล่านี้และภาพยนตร์ในยุคเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่อง Gojira หรือ ก็อดซิลล่า ซึ่งกำกับและร่วมเขียนบทโดยอิชิโระ ฮอนดะ (Ishirō Honda) ในปี 1954 ต่างสะท้อนความหวาดกลัว ความสูญเสีย และการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูชีวิตในสังคมญี่ปุ่นหลังการทิ้งระเบิดปรมาณู
ผมจินตนาการเห็นนักเขียนเหล่านี้ในเมืองที่ถูกทำลายจากสงคราม ถือปากกาและกระดาษที่มีอยู่เพียงน้อยนิด พยายามสะท้อนภาพสังคมของพวกเขาผ่านงานเขียน ตัวละครนักสืบในเรื่องมักเป็นชายชนชั้นแรงงานที่มีนิสัยเคร่งขึม ต้องเผชิญหน้ากับความทะนงตัวหยิ่งยโสของตระกูลเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยฝังรากลึกอยู่ในระบอบฟาสซิสต์ แต่บัดนี้ได้พลิกโฉมตนเองเป็นนายทุนที่มีอิทธิพลและปรับตัวเก่ง อย่างไรก็ตาม นักเขียนเหล่านี้ก้าวเข้ามาหลังจากที่เสียงระเบิดได้เปล่งออกมาจากใจกลางฮิโรชิมา โดยกวีผู้กล้าหาญอย่างซังคิจิ โทเกะ หรือ Sankichi Tōge (1917–1953) และซาดาโกะ คูริฮาระ หรือ Sadako Kurihara (1913–2005) ซึ่งทั้งคู่เป็นเหยื่อของระเบิดปรมาณู โดยเขียนบทกวีขณะที่รังสีจากระเบิดปรมาณูยังคงแผ่คลุมอยู่เหนือบ้านของพวกเขา โดยในเดือนธันวาคมปี 1945 คูริฮาระ (Kurihara) ได้เขียนบทกวีที่เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยนและความสงบเรียบง่าย ชื่อว่า ‘เสียงกังวานของเด็กน้อย’ (The Children’s Voices)
ในยามบ่ายอันอบอุ่นของฤดูหนาว
ฉันกำลังง่วนอยู่กับการดูแลแปลงผักในสวน
มัวแต่หลงอยู่ในความคิดฟุ้งซ่าน จนเผลอละเลยมันไปนาน
ปีนี้แสงแดดช่างแรงกล้าเหลือเกิน
ก่อนที่จะรู้ตัว วัชพืชก็ขึ้นเต็มสวนไปหมด
ปกติแล้ว ฉันดูแลสวนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเช้าตรู่และยามเย็น
แต่ช่วงนี้ใจฉันไม่สงบกระสับกระส่าย จึงหยุดดูแลไป
ทำไมกันนะ? ฉันถอนวัชพืชไปพลางครุ่นคิด
“แม่จ๋า!” เสียงใส ๆ ของเด็ก ๆ ดังขึ้นอย่างตื่นเต้น
พวกเขากลับมาจากโรงเรียนแล้ว
โอ้… เสียงของพวกเขาช่างบริสุทธิ์และใสซื่อเหลือเกิน!
จากนี้ไป แม่จะไม่ปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่าน
ทำให้วัชพืชขึ้นรกในสวนของเราอีกแล้ว
สวนของเราจะไม่มีวัชพืชแม้แต่ต้นเดียว
บทกวีชื่อ เสียงกังวานของเด็กน้อย (The Children’s Voices) เป็นบทกวีที่สะท้อนความเจ็บปวดจากสงคราม แต่ยังคงมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพและการฟื้นฟู โดยใช้เสียงของเด็กเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังและการเปลี่ยนแปลง คูริฮาระใช้บทกวีเพื่อบันทึกความทรงจำของเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูและส่งเสริมการตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของสงคราม
ในปี 1949 นักมาร์กซิสต์ชาวเยอรมันชื่อ ธีโอดอร์ อดอร์โน (Theodor Adorno) ได้เขียนบทความวิจารณ์วัฒนธรรมว่า “การเขียนบทกวีหลังเหตุการณ์เอาช์วิทซ์เป็นเรื่องโหดร้ายป่าเถื่อน” แน่นอนว่า อดอร์โนไม่ได้ต้องการสื่อว่า บทกวีใด ๆ ที่เขียนขึ้นหลังจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) เป็นเรื่องโหดร้ายทั้งหมด เพราะเพื่อนสนิทของเขาอย่าง แบร์ทอลท์ เบรชท์ (Bertolt Brecht) ก็ได้เขียนบทกวีที่งดงามหลายชิ้นหลังสงคราม โดยอดอร์โนพยายามชี้ให้เห็นว่า *อุตสาหกรรมวัฒนธรรม (culture industry) ได้กลืนกินทุกสิ่งที่ดีงามในโลกและแปรเปลี่ยนให้มันกลายเป็นสินค้าขายได้ ศิลปะที่ควรมีพลังในการจุดประกายความคิดและเปิดโลกทัศน์ กลับถูกทำให้กลายเป็นเพียงวัตถุเชิงพาณิชย์ แม้ความมองโลกในแง่ร้ายของอาดอร์โนอาจจะเกินจริงไป แต่ความจริงก็ยังแสดงให้เห็นว่า งานศิลปะยังคงรักษาคุณค่าที่ลึกซึ้งได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แม้บทกวีของคุริฮาระจะถูกเซ็นเซอร์ในช่วงที่สหรัฐฯ ยึดครองญี่ปุ่น แต่ยังคงถูกอ่านและเป็นเสียงสะท้อนในพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ และในที่สุดก็ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษาของเด็ก ๆ ทั้งในญี่ปุ่นและหลายประเทศทั่วโลก จิตสำนึกทางศิลปะที่ต้องการเห็นโลกนี้ดีขึ้น ยังคงมุ่งมั่นสร้างชุมชนแห่งความคิดและความรู้สึกเชื่อมโยงกัน แทนที่จะมุ่งผลิตเพียงสินค้าขายได้เท่านั้น
**อุตสาหกรรมวัฒนธรรม เป็นกระบวนการที่วัฒนธรรมถูกแปลงเป็นสินค้าและถูกใช้เพื่อรักษาสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม เช่น โฆษณา ภาพยนตร์ โทรทัศน์ แนวคิดนี้ปรากฏในหนังสือ “Dialectic of Enlightenment” (1947)
ในบทความล่าสุดของเราชื่อ “ความสุขในการอ่าน” (The Joy of Reading) เราอยากส่งเสริมความรู้สึกนี้: เพราะเราเชื่อว่าการอ่านสามารถสร้างชุมชนที่มีความสุขได้ บทความนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรู้หนังสือที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่แค่การสอนให้คนเขียนชื่อตัวเองได้เท่านั้น แต่คือการให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงห้องสมุดสาธารณะและขยายจินตนาการของตัวเองไปตลอดชีวิต ในบทความนี้ เราได้ยกตัวอย่างโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในเม็กซิโก จีน และรัฐเกรละในอินเดีย ซึ่งการรณรงค์เหล่านี้ เกิดขึ้นจากขบวนการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคม ที่ไม่เพียงแค่มุ่งหวังอิสรภาพจากลัทธิอาณานิคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างสังคมที่ทุกคนมีการศึกษาทางการเมืองและวัฒนธรรมในระดับสูง เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมถกเถียงอภิปรายทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่ผู้ยืนชมที่ถูกชี้นำจากชนชั้นนำ
<เฟอร์นองด์ เลเฌร์ หรือ Fernand Léger จิตรกรสไตล์คิวบิสม์ (France), Woman with a Book, 1923.>
เมื่อเราถาม ปาโลมา ไซซ์ เตเฆโร (Paloma Saiz Tejero) นักเขียนชาวเม็กซิโกจากกลุ่ม Brigada para Leer en Libertad (กองกำลังอ่านเพื่ออิสรภาพ) เกี่ยวกับความสำคัญของการอ่าน เธอตอบว่า:
> “ประชาชนที่รักการอ่านหนังสือคือคนที่ฝึกการมีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และกล้าฝันถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นคนที่รู้ประวัติศาสตร์ของตนและยอมรับมัน รู้สึกภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน การอ่านช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม แบ่งปันประสบการณ์และข้อมูล หนังสือคือประตูสู่ความเข้าใจในตัวตนและประวัติศาสตร์ของเรา ช่วยให้จิตวิญญาณของเราเติบโตไปไกลเกินกว่าขอบเขตของเวลาและสถานที่ การอ่านสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ ให้เราเชื่อในความฝันที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ให้เรากล้าที่จะถามในสิ่งที่คนอื่นอาจมองข้าม และทำให้เราเป็นพลเมืองที่รู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ของตนเอง การอ่านคือพลังที่พัฒนาทั้งตัวบุคคลและสังคม โดยปราศจากการอ่าน สังคมจะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้”
สิ่งที่กลุ่มกองกำลังอ่านเพื่ออิสรภาพ หรือ Brigada para Leer en Libertad ทำในเม็กซิโกไม่แตกต่างจากการเคลื่อนไหวของห้องสมุดสาธารณะในจีนและอินเดียมากนัก โดยมีการจัด Indian Library Congress ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินเดีย จัดขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2023 และได้กลายเป็นกิจกรรมประจำปี หนึ่งในภารกิจของงานนี้คือการรับรองตามที่สภาฯ ได้มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนห้องสมุดให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชนและเป็นศูนย์กลางพัฒนาวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางสำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การฉายภาพยนตร์ กีฬา งานศิลปะ เทศกาล และการฝึกอบรมวิชาชีพ นอกจากนี้ควรมีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพและชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ใกล้กับห้องสมุดเหล่านี้’ ในทำนองเดียวกัน ในทั้งพื้นที่ชนบทและเมืองของจีน ห้องสมุดสาธารณะเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ประชาชน
ในประเทศเหล่านี้ ห้องสมุดสาธารณะไม่ได้ถือกำเนิดจากนโยบายของรัฐ แต่เติบโตจากความตั้งใจของประชาชน เรื่องราวจากในรัฐเกรละ (Kerala) เป็นตัวอย่างที่งดงาม ราธา วี. พี. หญิงวัย 60 ปีที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายในฐานะคนงานมวนบุหรี่ (บุหรี่มวนมือ หรือ Beedi) เธอเริ่มรักการอ่านจากการอ่านนิตยสารรายสัปดาห์ของพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย (มาร์กซิสต์) ในเวลาว่างอันน้อยนิดของเธอ แล้วเข้าร่วมกับหน่วยห้องสมุดเคลื่อนที่ เธอจะนำหนังสือใส่ย่ามไปให้คนในชุมชนยืมและคืนหนังสือกลับมา โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้สูงอายุ “ฉันไม่เคยรู้สึกว่าย่ามนั้นหนักเลย” เธอกล่าว “เพราะกลิ่นของหนังสือทำให้ฉันมีความสุขอย่างเหลือเชื่อ”
บทความฉบับนี้ปิดท้ายด้วยส่วนที่กล่าวถึง “วันหนังสือสีแดง” (Red Books Day) ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบการตีพิมพ์เผยแพร่ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto) และ “วันภาษามาตุภูมิสากล” (International Mother Language Day) วันหนังสือแดงเป็นกิจกรรมที่ริเริ่มโดยสังคมผู้จัดพิมพ์ฝ่ายซ้ายของอินเดียในปี 2020 และต่อมาโดย สหภาพผู้จัดพิมพ์ฝ่ายซ้ายสากล (IULP) เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนจัดงานเทศกาลและกิจกรรมอ่านหนังสือสีแดงที่พวกเขาชื่นชอบ งานนี้ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างมาก โดยเมื่อปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งล้านคนจากทั่วโลก ตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซียไปจนถึงคิวบา ศิลปะในบทความนี้มาจาก ปฏิทินวันหนังสือแดงปี 2025 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดในรูปแบบภาษาอังกฤษและสั่งซื้อได้ทั่วโลกจากสมาชิกของ IULP ตั้งแต่ Marjin Kiri (อินโดนีเซีย) ไปจนถึง Inkani Books (แอฟริกาใต้) และ La Trocha (ชิลี)
วันหนังสือสีแดงเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเพิ่มความสุขในการอ่านหนังสือ และทำให้ผู้คนกลับมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอีกครั้ง เราหวังว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกจะมารวมตัวกันในที่สาธารณะเพื่อฉลองวันหนังสือสีแดง ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรดในเทศกาลคาร์นิวัลที่บราซิลที่มีหนังสือสีแดงเล่มยักษ์อยู่บนรถบรรทุก หรือคนที่ห้องสมุดในรัฐเกรละที่เอาเก้าอี้มาตั้งกลางถนนแล้วนั่งอ่านหนังสือให้กันฟัง พร้อมกับเสียงกลองไม้พื้นเมือง “อิดักกา (idakka)” ที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศ
(India), 100% Literacy (Folklore Kerala Series), 2010.>
เพื่อช่วยส่งเสริมความสุขในการอ่านและทำให้ผู้คนกลับมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน สถาบันของเราขอเชิญชวนให้ผู้อ่านลองตั้งกลุ่มอ่านหนังสือ “วงอ่านหนังสือไตรทวีป (Tricontinental Reading Circle)” โดยรวมตัวกับเพื่อน ๆ หรือเพื่อนร่วมงานในพื้นที่ของคุณ และนัดพบกันเดือนละครั้งเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเอกสารหรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ของเรา การอ่านและพูดคุยร่วมกันเป็นวิธีที่ดีในการเสริมสร้างความรู้และมุมมองใหม่ ๆ หากคุณตั้งกลุ่มวงอ่านหนังสือไตรทวีปแล้ว อย่าลืมแจ้งให้เราทราบที่ circle@thetricontinental.org
ด้วยความนับถือ,
วิเจย์ (Vijay)