ในแต่ละสัปดาห์ เราจะเผยแพร่จดหมายข่าวจากพันธมิตรของเรา “ไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม (The Tricontinental: Institute for Social Research)” ซึ่งนำเสนอการวิเคราะห์ที่เฉียบคมเกี่ยวกับพัฒนาการร่วมสมัย รวมถึงการต่อสู้ในที่ต่างๆ และความขัดแย้งในยุคสมัยปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเผยแพร่ไฮไลท์สื่อสิ่งพิมพ์ที่เพิ่งเปิดตัว และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับงานของนักคิดฝ่ายซ้ายและสถาบันวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก


อูมาร์ ราชิด (สหรัฐอเมริกา), ฉันกำลังฝันขณะเขียนสิ่งนี้ โปรดยกโทษให้หากฉันเขียนออกนอกลู่นอกทาง บทเพลงของสหายทั้ง 4 เริ่มต้นขึ้นในซาเฮล (Sahel) เบื้องหน้าของเหล่านักพรตชาวมุสลิมแห่งแอฟริกาเหนือ ดินแดนแพนโดร่ามาจากทางเหนือ ลมฮามัททาน (Harmattan)เคลื่อนเข้ามาใกล้ พร้อมนำพายุและสงครามที่กำลังจะมาถึง, 1799, 2023.

 

**อูมาร์ ราชิด (Umar Rashid) เป็นศิลปินชาวอเมริกันที่ใช้งานศิลปะ สำรวจประวัติศาสตร์ การล่าอาณานิคม อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม โดยใช้การเล่าเรื่องแบบสมมุติผสมกับประวัติศาสตร์จริง 

 

ถึงเหล่าเพื่อนที่รัก,

 

ทักทายสวัสดีจากโต๊ะทำงานของไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม  Tricontinental: Institute for Social Research

 

โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวด้วยเสียงดังกระหึ่ม เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งฝ่ายบริหารจากการลงนามด้วยความภาคภูมิใจของเขา จากนั้นเขาก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาตะโกนสั่งการไปยังชาวเดนมาร์ก ชาวปานามา และชาวโคลอมเบีย เรียกร้องสิ่งนั้น สิ่งนี้ และสิ่งอื่น ๆ ที่เขาคิดว่าสหรัฐอเมริกาสมควรได้รับ

 

ในความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของทรัมป์ สหรัฐอเมริกาเคยมียุคทอง แต่ตอนนี้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ความวิตกกังวลของมัน คำขวัญของเขาที่ว่า ‘Make America Great Again’ (ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง) ไม่ได้ปกปิดความกังวลเกี่ยวกับการล่มสลายของประเทศ: “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง” เขากล่าว เพราะตอนนี้มันไม่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว มันควรจะยิ่งใหญ่ และเขาจะทำให้มันยิ่งใหญ่ ผู้สนับสนุนของเขารู้ดีว่า อย่างน้อยเขาก็พูดความจริงเกี่ยวกับความตกต่ำ หลายคนรู้สึกได้จากสภาพเงินในบัญชีธนาคารของพวกเขาที่ร่อยหรอจนเลี้ยงดูครอบครัวแทบไม่ไหว และพวกเขาเห็นได้จากโครงสร้างพื้นฐานที่พังทลายรอบตัว พิษของคริสตัลเมทแอมเฟตามีนและเฟนทานิล ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่โหดร้ายให้ลดลง ในขณะที่บทเพลงใหม่ของสหรัฐอเมริกาคร่ำครวญถึงความไม่แน่นอน ว่าแม้แต่ ‘ความฝันของพวกเขาก็เริ่มเลือนรางลง’ เครื่องบินโดยสารลำหนึ่งชนกับเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ ทรัมป์ขึ้นไปยืนบนแท่นโพเดียมในห้องแถลงข่าวของทำเนียบขาว และโยนความผิดของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นให้ นโยบายการจ้างงานที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย เขากล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีอัจฉริยะคอยควบคุมจอการจราจรทางอากาศ แต่ชายที่นั่งอยู่บนโต๊ะในคืนนั้น ต้องทำงานถึงสองตำแหน่ง เพราะการความตัดงบประมาณอย่างโหดร้ายที่เริ่มขึ้นตั้งแต่หลายสิบปีก่อน กับการที่โรนัลด์ เรแกน ในปี 1981 เพิกถอนการรับรองสหภาพแรงงานผู้ควบคุมจราจรทางอากาศมืออาชีพ (PATCO) เป็นครั้งแรก ซึ่งแท้จริงแล้ว เรแกน นั่นเองที่นำเสนอโลกให้รู้จักกับคำขวัญของทรัมป์ ที่ว่า ‘ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง‘ เป็นครั้งแรก 

 

ความเป็นจริงนั้นอัปลักษณ์ การจมปลักกับความเพ้อฝันนั้นง่ายกว่ามาก ทรัมป์คือนักมายากลที่ใช้ความเพ้อฝันนั้นเป็นอาวุธ ทุกสิ่งทุกอย่างถดถอยลง – ไม่ใช่เพราะการเล่นงานสหภาพแรงงาน นโยบายรัดเข็มขัดที่ตามมา หรือการผงาดขึ้นของกลุ่ม Tech Bros (กลุ่มมหาเศรษฐีทางเทคโนโลยี) ที่กอบโกยความมั่งคั่งทางสังคมไปมากมาย การเลี่ยงจ่ายภาษีมานานหลายทศวรรษ ความเพ้อฝันของทรัมป์นั้นไร้เหตุผล ไม่อย่างนั้นเขาจะยกย่องอีลอน มัสก์ ผู้เป็นสัญลักษณ์ของการถดถอยนี้ ให้เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทองครั้งใหม่ได้อย่างไร?

<Chéri Chérin ศิลปินชาวคองโก (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก), Le chemin de l’exil (เส้นทางของการลี้ภัย), 2004>

 

มีความบ้าคลั่งอยู่จริง ใช่ แต่นโยบายของพวกจักรวรรดินิยมมักจะมีความบ้าคลั่งเจือปนอยู่เสมอ ผู้คนนับร้อยล้าน ตั้งแต่ทวีปอเมริกาจนถึงจีน ถูกสังหารหรือถูกปราบปรามกดขี่เพื่อให้เพียงส่วนเล็ก ๆ ของโลก – แถบมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ – สามารถร่ำรวยมั่งคั่งขึ้นได้ นั่นคือความบ้าคลั่ง มันเป็นวิธีที่ได้ผล และมันยังคงได้ผลอยู่ ในระดับหนึ่ง โครงสร้างของลัทธิล่าอาณานิคมใหม่ (neocolonialism) ในยุคทุนนิยม ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อประเทศใดในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา หรือหมู่เกาะแปซิฟิกพยายามประกาศอธิปไตยของตนเอง พวกเขาก็จะถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อรัฐประหาร การลอบสังหาร มาตรการคว่ำบาตร หรือการปล้นชิงทรัพยากร – สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือบางส่วนที่ถูกใช้เพื่อทำลายความพยายามใด ๆ ในการสร้างอธิปไตยของตนเอง และโครงสร้างของลัทธิอาณานิคมยุคใหม่นี้ยังคงอยู่ได้ก็เพราะการแบ่งแยกมนุษยชาติในระดับสากล: โดยที่บางกลุ่มยังคงคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ในการศึกษาของสถาบันไตรทวีป (Tricontinental) เรื่อง Hyper-Imperialism แสดงให้เห็นว่า ประเทศในกลุ่ม NATO Plus ใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารมากกว่า 74% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก ในขณะที่จีนใช้เพียง 10% และรัสเซียเพียง 3% แต่ถึงกระนั้น เรากลับถูกทำให้เชื่อว่า จีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคาม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาต่างหาก ที่เป็นสถาบันที่อันตรายที่สุดในโลก NATO ได้ทำลายทั้งประเทศมาแล้ว (เช่น ยูโกสลาเวีย อัฟกานิสถาน และลิเบีย) และในตอนนี้ก็ยังข่มขู่ว่าจะทำสงครามกับประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (จีนและรัสเซีย) ยังไม่แยแสต่อผลลัพธ์ ขณะที่ทรัมป์ตะโกนใส่สายลม:

 

พวกเราต้องการยึดคลองปานามา

พวกเราต้องการครอบครองกรีนแลนด์

พวกเราต้องการให้เรียกมันว่า อ่าวอเมริกา

 

ทำไมคำเรียกร้องเหล่านี้จึงควรเป็นเรื่องน่าตกตะลึง? ปานามาเคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐกรันโกลอมเบีย (Gran Colombia) ตั้งแต่ปี 1821 เมื่อภูมิภาคนี้ – ภายใต้การนำของซิมอน โบลิวาร์ (Simón Bolívar,  1783–1830) – ประกาศอิสรภาพจากจักรวรรดิสเปน ความสนใจในการสร้างคลองผ่านคอคอดปานามาเพื่อย่นระยะทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก โดยไม่ต้องอ้อมทวีปอเมริกาใต้ หลีกเลี่ยงการเดินทางที่ยาวนาน โดยเริ่มพัฒนาขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลายทศวรรษหลังจากที่สาธารณรัฐกรันโกลอมเบียล่มสลายและแตกออกเป็นประเทศที่เรารู้จักในปัจจุบัน ได้แก่ ปานามา เวเนซุเอลา โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ ในปี 1903 ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาวางแผนแทรกแซงการเมืองภายในปานามา โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงเพื่อสนับสนุนการแยกตัวของปานามาจากโคลอมเบีย รัฐบาลปานามาใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นจากเหตุการณ์นี้ ได้มอบ ได้มอบ เขตคลองปานามา (Panama Canal Zone) ให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจควบคุมคอคอดปานามาอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปี 1903 ถึง 1999 ก่อนจะ ‘คืน’ คลองให้กับปานามา อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงด้วยว่า ในปี 1989 เมื่อนายมานูเอล โนริเอกา (Manuel Noriega) ซึ่งเคยเป็นสายลับ CIA ไม่เป็นที่พึงพอใจของสหรัฐฯ อีกต่อไป สหรัฐฯ บุกเข้าปานามา จับตัวนายโนริเอกาส่งไปคุมขังที่ไมอามี รัฐฟลอริดา ก่อนจะปล่อยตัวเขาให้เสียชีวิตในกรุงปานามา ซิตี้ปี 2017 โดยประธานาธิบดีคนปัจจุบันของปานามาคือ โจเซ่ ราอูล มูลิโน (José Raúl Mulino) เคยเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลของกิเยร์โม เอนดารา (Guillermo Endara) ซึ่งเป็นผู้นำที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งบนฐานทัพสหรัฐฯ ในปี 1989 ในขณะที่โนริเอกา ถูกส่งตัวไปยังฟลอริดา กลุ่มคนเหล่านี้รู้ดีถึงการใช้สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของ ที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นวิธีอ้างเหนือดินแดนของพวกเขา และนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของทรัมป์ที่ ‘ต้องการ’ คลองปานามา แต่เป็นภาพสะท้อนของประวัติศาสตร์ทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อละตินอเมริกา – ตั้งแต่หลักลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) จนถึงปัจจุบัน – ซึ่งสรุปได้ในวลีเดียวว่า: เราต้องการคลองปานามา

 

ความทรงจำเป็นสิ่งเปราะบาง ความทรงจำถูกหล่อหลอมซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านความจริงเพียงครึ่งเดียวและการบิดเบือนข้อมูล ใต้พื้นผิวของความจริงจากเหตุการณ์ที่ปรากฏ วางอยู่บนโครงสร้างที่ล้ำลึก ส่งผลและเป็นตัวกำหนดวิธีที่เรามองโลก สิ่งต่างๆ แนวคิดอาณานิคมเก่าเกี่ยวกับ “ความเมตตาของตะวันตก” และ “ความป่าเถื่อนของชนพื้นเมือง” มักจะผุดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์ถูกตีความ

<ฮาฟิด อัล-ดรูบี หรือ Hafidh Al-Droubi จิตรกรชาวอิรัก (อิรัก), ภาพวาด Cubist Coffeehouse, 1975>

 

ในปี 2004 หนึ่งปีหลังจากที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเปิดฉากสงครามรุกรานอิรัก โคฟี อันนัน (Kofi Annan) ซึ่งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับ โอเวน เบนเนตต์-โจนส์ (Owen Bennett-Jones) จากสื่อ BBC ซึ่งมีบางช่วงของการสนทนาที่เกี่ยวกับสงครามอิรัก:

 

โอเวน เบนเนตต์-โจนส์ (OBJ): ดังนั้น คุณคิดว่า สงครามครั้งนี้ไม่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับใช่หรือไม่?

โคฟี อันนัน (KA): ผมได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า มันไม่สอดคล้องกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงและกฎบัตรสหประชาชาติ

OBJ: หมายความว่า มันผิดกฎหมายใช่ไหม?

KA: ใช่ ถ้าคุณต้องการเรียกเช่นนั้น 

OBJ: สงครามนี้มันผิดกฎหมายใช่ไหม?

KA: ใช่ ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่า มันไม่สอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติ จากมุมมองของเราและจากมุมมองของกฎบัตร มันผิดกฎหมาย

 

หากสงครามนั้นผิดกฎหมาย เป็นสงครามการรุกราน ก็ควรจะต้องมีผลที่ตามมา นี่คือสิ่งที่ควรจะถือเป็นวัตถุประสงค์ของศาลอาญานานาชาติที่นูเรมเบิร์กในปี 1945–46 ผู้เสียชีวิตจากสงครามนั้นตอนนี้มีจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคน และผู้คนอีกหลายล้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำลายโครงสร้างพื้นฐาน หากมันถูกมองว่าเป็นสงครามการรุกราน สถาปนิกของมัน (จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และโทนี่ แบลร์ หรือ George W. Bush และ Tony Blair) จะยังสามารถท่องเที่ยวทั่วโลกด้วยรอยยิ้มราคาพันดอลลาร์และชุดที่ตัดเย็บพิเศษได้หรือไม่? พวกเขาไม่เคยเผชิญกับหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือแม้แต่ประเทศของพวกเขาก็ไม่ได้ถูกนำไปสู่การพิจารณาคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ บุชเคยเจอการเขวี้ยงรองเท้าใส่จากมุนตาดาร์ อัล-ซาอีดี้ (Muntadhar al-Zaidi) ในปี 2008 เมื่อเขาเดินทางไปกรุงแบกแดด ในขณะที่แบลร์ ระหว่างการไต่สวนสงครามอิรักในปี 2012 เขารู้สึกตกตะลึงจากการกระทำของเดวิด ลอว์ลีย์-เวคคิน (David Lawley-Wakelin) ที่ก้าวออกมาหลังม่านและกล่าวว่า ‘ชายคนนี้ควรถูกจับกุมในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม’ แต่กระนั้น ยังไม่มีรองเท้าคู่ไหนที่พุ่งเข้าหาบุช และแบลร์ก็ยังไม่เคยถูกจับกุมดำเนินคดีใดๆ ปัจจุบัน แบลร์ได้เปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้สร้างสันติภาพ และบุชได้กลายมาเป็นรัฐบุรุษอาวุโส

<Tetsuya Fukushima นักวาดการ์ตูน (ญี่ปุ่น), Untitled (วงกลมสีแดง), 2015>

 

ในการแถลงเปิดคดีของผู้พิพากษาโรเบิร์ต แจ็คสัน (Robert Jackson) ที่ศาลนูเรมเบิร์กในปี 1945 ซึ่งใช้เวลานานสามชั่วโมง เขากล่าวว่า:

 

อารยธรรมเอ่ยปากถาม กฎหมายล้าหลังถึงเพียงไร จนไร้ความสามารถโดยสิ้นเชิงในการจัดการกับอาชญากรรมที่ร้ายแรงถึงเพียงนี้ โดยฝีมือของอาชญากรที่มีอำนาจมากถึงเพียงนี้หรือไม่ อารยธรรมไม่ได้คาดหวังว่าท่านจะสามารถทำให้สงครามหมดสิ้นไปได้ แต่คาดหวังว่าการดำเนินการทางกฎหมายของท่านจะนำพากองกำลังของกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการของมัน ข้อห้ามของมัน และที่สำคัญที่สุด มาตรการคว่ำบาตรของมัน ให้อยู่ฝ่ายสันติภาพ เพื่อที่ว่าบุรุษและสตรีแห่งเจตนาดีในทุกประเทศ จะสามารถมี “เสรีภาพที่จะมีชีวิต โดยไม่ต้องรอคอยอนุญาตจากผู้ใด ภายใต้ร่มเงาของกฎหมาย”

 

ข้อความนี้ที่ผู้พิพากษาแจ็คสันอ้างถึงมาจากบทกวีชื่อ “The Old Issue” ประพันธ์ในปี 1899 ของรูดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในทศวรรษ 1940 สองปีก่อนที่ผู้พิพากษาแจ็คสันจะกล่าวเปิดการพิจารณาคดีไต่สวน นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษในขณะนั้น นาย วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) เขาก็ได้เคยอ้างบทกวีเดียวกันนี้ในสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยชี้ให้เห็นว่า ‘มโนทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกต้องและสมควร’ นั้นทำให้มนุษย์เกิด ‘ความรู้สึกอันหนักแน่นถึงยุติธรรมที่เที่ยงธรรมและเป็นกลาง… หรืออย่างที่คิปลิงกล่าวว่า: “มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากใคร แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย”แต่แนวคิดเรื่อง “สิ่งที่ถูกต้องและสมควร” ของเชอร์ชิลล์สะท้อนชัดผ่านมุมมองของเขาเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านี้ ระหว่างจัดการกับการกบฏของชาวเคิร์ดในอิรักทางตอนเหนือ โดยเขาเขียนแสดงความเห็นว่า เขา “สนับสนุนอย่างยิ่งในการใช้ก๊าซพิษต่อต้านชนเผ่าที่ไร้อารยธรรม”

<Zubeida Agha ศิลปิน (ปากีสถาน), Urban Landscape, 1982>

 

มันอาจจะคุ้มค่าที่จะเปลี่ยนการให้ความสำคัญจากกรณีของนูเรมเบิร์ก ซึ่งค่อนข้างเป็นที่รู้จัก ไปยังการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามที่โตเกียว ซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่า ณ ที่นั้น ศาลตัดสินให้ลงโทษผู้นำทางทหารที่กองทัพของพวกเขาก่ออาชญากรรมทารุณกรรม พลเอกโทโมยุคิ ยามาชิตะ (Tomoyuki Yamashita) เป็นผู้บัญชาการกลุ่มกองทัพที่ 14 ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งปฏิบัติการในฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่ หลังจากเขามอบตัว พลเอกยามาชิตะถูกกล่าวหาว่า ได้อนุญาตให้ทหารก่ออาชญากรรมทารุณกรรมต่อพลเรือนและเชลยศึก เขาถูกประหารชีวิตในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1946 ไม่มีใครกล่าวหาว่าพลเอกยามาชิตะได้ทำร้ายผู้ใดด้วยตนเอง: เขาถูกตั้งข้อหาภายใต้ ‘ความรับผิดชอบในการบังคับบัญชา’ ในปี 1970 อัยการทหารหลักที่นูเรมเบิร์ก นาย เทลฟอร์ด เทย์เลอร์ (Telford Taylor) ได้สะท้อนว่า ‘ไม่มีข้อกล่าวหาว่าพลเอกยามาชิตะได้อนุมัติ หรือแม้แต่สั่งการให้เกิดการกระทำโหดร้ายเหล่านี้ และไม่มีหลักฐานว่าเขารับทราบ นอกจากการอนุมานว่า เขาต้องรู้เพราะขอบเขตการกระทำนั้นมีขนาดใหญ่ ‘ เขาถูกแขวนคอเพราะ อย่างที่ศาลโตเกียวระบุ พลเอกยามาชิตะ ‘ล้มเหลวในการควบคุมทหารของเขาให้มีประสิทธิภาพตามที่สถานการณ์กำหนด’ เทย์เลอร์เขียนคำเหล่านี้ในหนังสือของเขา ชื่อ “Nuremberg and Vietnam: An American Tragedy” ซึ่งตอนนี้แทบจะถูกลืมไปแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ เขาไม่เพียงเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับนักการเมืองและนายพลสหรัฐฯ แต่ยังรวมถึงนักบินสหรัฐฯ ที่ทิ้งระเบิดซึ่งมีเป้าหมายเป็นพลเรือนในเวียดนามเหนือ เพราะพวกเขามีส่วนในอาชญากรรมที่เรียกว่า ‘สงครามรุกราน’ ในยุคสมัยนูเรมเบิร์ก

<Mohammed al-Hawajri ศิลปิน (กาซา, ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง), Untitled, จากซีรีส์ Été au Gaza (ฤดูร้อนในกาซา), 2017>

 

ในกลางเดือนมกราคม อเล็กซ์ มอร์ริส (Alex Morris) จากองค์กรข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อ Declassified UK ได้เผชิญหน้ากับพลเอกโอดิด บาซยูค (Oded Basyuk) ของอิสราเอล ขณะที่เขากำลังเดินทางไปพบกับกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรและสถาบันบริการราชการกองทัพ (Royal United Services Institute) พลเอกบาซยูคเป็นผู้ควบคุมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ และกำลังถูกสอบสวนในข้อหาอาชญากรรมสงครามโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แต่เขากลับเดินอยู่บนท้องถนนในลอนดอน ขณะกำลังจะไปพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทหารอังกฤษ หมายจับจาก ICC ต่อประธานาธิบดีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลถูกยกเลิกโดยโปแลนด์และสหรัฐอเมริกา ทำให้คำสั่งศาลนูเรมเบิร์กและโตเกียวกลายเป็นเพียงแค่ฝุ่นเสียแล้ว น่าเศร้าที่หลักการสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการลอยนวลพ้นผิด (2005) ไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

 

โลหิตจะหลั่งรินไปตามถนนหลายสาย ในพื้นที่บางส่วนของโลก แชมเปญจะไหลรินลงแก้วของผู้อื่น

 

ในปี 1965 สงครามระหว่างอินเดียและปากีสถาน ไฟซ อาเหม็ด ไฟซ (Faiz Ahmed Faiz) ได้เขียนบทกวีชื่อ ‘Blackout’:

 

นับตั้งแต่แสงสว่างของข้าพเจ้าถูกดับลง

ข้าพเจ้าเฝ้าแสวงหาหนทางแห่งการมองเห็น;

ทว่า ดวงตาของข้าพเจ้าได้หายไป ณ ที่ใด พระเจ้าเท่านั้นที่ล่วงรู้

 

ท่านผู้รู้จักข้าพเจ้า โปรดบอกเถิดว่า ข้าพเจ้าเป็นใคร

ใครคือมิตรแท้ และใครเป็นศัตรู

สายน้ำแห่งการเข่นฆ่าได้ถาโถมเข้าสู่

โลหิตของข้าพเจ้า; และในสายธารนั้น หัวใจเต้นเร่าไปด้วยความเกลียดชัง

 

จงอดทนเถิด; สายฟ้าจะพาดผ่านฟากฟ้าอีกแห่ง

ประหนึ่งหัตถ์ขาวของโมเสสผู้ศักดิ์สิทธิ์ 

นำดวงเนตรของข้าพเจ้าคืนมา ดั่งอัญมณีที่สูญหาย

 

ขอให้พวกเราค้นพบอัญมณีที่เลือนลับของเรา  

 

ด้วยความนับถือ, 

 

วิเจย์ (Vijay)