<เดเมตรีโอ อูร์รูชัว หรือ Demetrio Urruchúa ศิลปินจิตรกรและช่างพิมพ์ชาวอาร์เจนตินา (Argentina), Nuevo orden (ระเบียบโลกใหม่), 1939.>

 

ถึงเหล่าเพื่อนที่รัก,

 

ทักทายสวัสดีจากโต๊ะทำงานของไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม  Tricontinental: Institute for Social Research

 

เย็นวันหนึ่งในเดือนกันยายน 2024 ฮาเวียร์ มิเลย์ (Javier Milei) ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา ยืนอยู่ต่อหน้าฝูงชนขนาดใหญ่ที่สวนปารเก เลซามา (Parque Lezama) ในกรุงบัวโนสไอเรส เขาสวมแจ็คเก็ตหนังสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมตะโกนด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว ฝูงชนซึมซับทุกถ้อยคำอย่างกระหาย “นี่ไง พวกโทรลล์ทั้งนั้น” เขากล่าว “นักข่าวทุจริตฉ้อฉล ตัวละครลึกลับ (คอยบ่อนทำลายเขาหรือรัฐบาล) นี่แหละโทรลล์ตัวจริง” แล้วเขาก็ชี้กลับไปที่ฝูงชน พร้อมกล่าวว่า คนเหล่านี้ (ประชาชน) ถูกทำให้ไร้ตัวตน เพราะนักข่าวผูกขาดไมโครโฟนไว้ทั้งหมด 

Trolls ในที่นี้ ไม่ใช่โทรลล์ในโลกอินเทอร์เน็ต แต่ถูกใช้ในเชิงเหยียดหรือประณามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งฮาเวียร์ มิเลย์ ใช้คำนี้เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามและสร้างภาพตัวเองว่าอยู่ข้างประชาชนธรรมดา

วาทะรุนแรงเช่นนี้ เป็นการพูดซ้ำรอยกับคำกล่าวของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยประกาศว่า นักข่าวคือ “ศัตรูของประชาชน” (ซึ่งถ้อยคำนี้เองก็สะท้อนเสียงของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันแห่งสหรัฐฯ จากยุคสงครามเย็น ที่เคยพูดกับที่ปรึกษา เฮนรี คิสซิงเจอร์ เมื่อปี 1972 ว่า “สื่อคือศัตรู สถาบันกระแสหลักก็เป็นศัตรู อาจารย์มหาวิทยาลัยคือศัตรู เขียนบนกระดานดำไว้เลยร้อยครั้ง จงอย่าลืมเด็ดขาด”) ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพียงวาทกรรม แต่นำมาซึ่งราคาที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่มิเลย์ขึ้นดำรงตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2023 การโจมตีต่อสื่อมวลชนและนักข่าวในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

อาร์เจนตินามีประวัติศาสตร์อันเจ็บปวด ประเทศนี้ต้องเผชิญกับการปกครองโดยกองทัพทหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือเกือบหนึ่งในสี่ของศตวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงค.ศ. 1930–1932 ช่วงค.ศ. 1943–1946 ช่วงค.ศ. 1955–1958 ช่วงค.ศ. 1962–1963 ช่วงค.ศ. 1966–1973 และช่วงค.ศ. 1976–1983 ที่เลวร้ายและโหดเหี้ยมที่สุดคือช่วงค.ศ.สุดท้าย (1976–1983) — เมื่อคณะเผด็จการทหาร — ประกอบด้วยกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เข้ายึดอำนาจและปกครองประเทศยาวนานเกือบแปดปี พวกเขาทำให้ประชาชน “หายตัวไป” (จริงๆ แล้วเลือกใช้เป็นคำสุภาพแทนคำว่า ‘ฆาตกรรม’) อย่างน้อย 30,000 คน ไม่เพียงเท่านั้น ยังลักพาตัวเด็กทารกหลายร้อยคนจากครอบครัวฝ่ายซ้ายไปจากอกพ่อแม่ คนรุ่นเดียวกับผม — ซึ่งเป็นหนุ่มสาวฝ่ายซ้ายในยุคนั้น — ถูกฆ่าล้างโดยเผด็จการในยุคนั้นจนหมดสิ้น 

เผด็จการในอาร์เจนตินาตั้งชื่อตัวเองอย่างไร้ความละอายว่า “กระบวนการฟื้นฟูและจัดระเบียบประเทศ” (National Reorganisation Process) — คำว่า “กระบวนการ” คือฉากหน้าอย่างเป็นทางการของการกวาดล้างฝ่ายซ้ายทั่วประเทศทุกกลุ่ม พวกเขาไล่ล่าและลบล้างทุกแรงต้านของขบวนการฝ่ายซ้าย — ตั้งแต่แรงงานที่ลุกขึ้นสู้ นักข่าวที่กล้าพูดความจริง ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียม หรือ คอมมิวนิสต์ (ทุกภาพงานศิลปะทั้งหมดในจดหมายข่าวฉบับนี้ เป็นผลงานศิลปินและช่างภาพคอมมิวนิสต์ชาวอาร์เจนตินา — ผู้ใช้ศิลปะเป็นอาวุธ และใช้สีแสงบันทึกประวัติศาสตร์ของการต่อสู้)

 

ในจดหมายสุดสะเทือนใจที่ โรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) นักข่าวผู้กล้าหาญส่งถึงเหล่าผู้นำกองทัพของประเทศ เขาเขียนถึงการสังหารหมู่ว่า “พวกคุณวางแผนมันจากระดับบนสุด ถกเถียงกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สั่งการในฐานะผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ และให้ความเห็นชอบในฐานะสมาชิกคณะรัฐบาลเผด็จการ” (จดหมายฉบับนี้คือการประณามรัฐฆาตกรในยุคเผด็จการอาร์เจนตินาครั้งสุดท้ายของวอลช์ ก่อนที่เขาจะถูกกองกำลังทหารอุ้มฆ่า)

<การย้อนรำลึกถึงความกล้าหาญของโรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) หรือ TBT of Walsh>

 

48 ปีก่อน — ในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1977 — โรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) นักข่าวและนักสู้ฝ่ายซ้ายในวัยห้าสิบปี ถูกอุ้มฆ่าในโรงเรียนช่างกลทหารเรือ (ESMA) ซึ่งในขณะนั้นเป็นศูนย์ทรมานลับของรัฐ ก่อนหน้านี้ เขาถูกซุ่มยิงจากหน่วยปฎิบัติการกองกำลังทหารของรัฐบาล บริเวณแยกถนนซานฮวนและเอนเตรรีออส ใจกลางกรุงบัวโนสไอเรสขณะกำลังส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะรัฐประหารไปหลายฉบับ ก่อนที่พวกเขาจะตามรอยเขาเจอและลงมือยิง เมื่อเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ หนึ่งในมือปืนที่ร่วมปฏิบัติการในวันนั้น — เออร์เนสโต เวเบอร์ — ถูกนำตัวขึ้นศาล และให้การว่า “พวกเราจัดการวอลช์แล้ว ไอ้หมอนั่นหลบหลังต้นไม้แล้วต่อสู้กลับด้วยปืน .22 เรายิงใส่มันเป็นชุด แต่มันไม่ยอมล้ม ไอ้เวรนี่มันดื้อจริงๆ”

<โฆเซ อันโตนิโอ แบร์นี José Antonio Berni ศิลปินชาวอาร์เจนตินา (Argentina), Juanito ciruja (ฮวนิโต เด็กเก็บขยะ), 1978.>

 

เมื่อหลายปีก่อน มีนักข่าวรุ่นใหม่คนหนึ่งเขียนจดหมายมาถามผม ขอให้ช่วยส่งรายชื่อนักข่าวที่ผมชื่นชมในการเขียนงานของพวกเขา ผมลองเปิดสมุดบันทึกเก่าๆ แล้วก็เจอรายชื่อที่เคยจดไว้ มันไม่ได้ยาวนัก — มีเพียงสิบชื่อเท่านั้น ดังนี้

วิลเฟรด เบอร์เช็ต (Wilfred Burchett) เอดูอาร์โด กาเลอาโน (Eduardo Galeano) ริชาร์ด คาปูชินสกี (Ryszard Kapuściński) กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) จอห์น รีด (John Reed) แอกเนส สมัดลีย์ (Agnes Smedley) เอ็ดการ์ สโนว์ (Edgar Snow) เฮเลน ฟอสเตอร์ สโนว์ (Helen Foster Snow) โรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) และ ไอดา บี. เวลส์ (Ida B. Wells)

มีคุณลักษณะบางอย่างที่เชื่อมโยงนักข่าวเหล่านี้ไว้ด้วยกัน: อย่างแรก พวกเขาปฏิเสธการทำหน้าที่เป็นเพียงกระบอกเสียงของสื่อกระแสหลักภายใต้ระบบทุนนิยม และมุ่งเล่าเรื่องราวของโลกจากจุดยืนและชีวิตของชนชั้นแรงงานและชาวนา; อย่างที่สอง พวกเขาไม่ได้แค่รายงานเหตุการณ์ แต่ยังเชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านั้นเข้ากับขบวนประวัติศาสตร์ที่กำลังก่อตัวในยุคของพวกเขา; อย่างที่สาม พวกเขาไม่ได้แค่เขียนข่าว แต่ร้อยเรียงเรื่องราวอย่างตั้งใจ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกจากความเข้าใจว่า ผู้อ่านจำเป็นต้องรู้ความจริงอะไร; และท้ายที่สุด พวกเขาไม่ได้เขียนข่าวจากจุดยืนของผู้ถูกกดขี่เพียงเพื่อได้ความรู้สึกเห็นใจ แต่เชื่อมั่นในเสียงของพวกเขา และบอกเล่าการต่อสู้ของโลกใบนี้ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เสียดสีเย้ยหยัน

เบอร์เช็ตต์ (Burchett) นักข่าวชาวออสเตรเลีย คือคนต่างชาติคนแรกที่เข้าไปถึงเมืองฮิโรชิมาหลังถูกระเบิดนิวเคลียร์ และเป็นคนที่ประกาศให้โลกรู้ถึง ผลกระทบที่แท้จริงของระเบิดปรมาณู

มาร์เกซ (Márquez) นักเขียนชาวโคลอมเบีย ฉีกหน้าคำโกหกของรัฐบาลตนเอง ด้วยการเล่าเรื่องจริงของลูกเรือบนเรือรบคัลดาส (Caldas) ที่เสียชีวิตกลางทะเลแคริบเบียนเมื่อปี 1955 

ส่วนเวลส์ (Wells) จากสหรัฐฯ ได้เขียนบันทึกความสยดสยองของการลงประชาทัณฑ์ —เครื่องมือของการเหยียดผิวที่สืบทอดมาจากระบบทาส แม้จะถูกยกเลิกไปแล้วในทางกฎหมายก็ตาม(กฎหมายเลิกทาส) นักเขียนเหล่านี้ล้วนยิ่งใหญ่ และเรื่องราวที่พวกเขาเล่าก็ทรงพลังอย่างยิ่ง ยากที่จะไม่รู้สึกเคารพและชื่นชมพวกเขา

ในนักเขียนเหล่านี้ มี โรดอลโฟ วอลช์ (Rodolfo Walsh) รวมอยู่ด้วย แม้ผมจะรู้จักเขาจากหนังสือเพียงแค่เล่มเดียว — นั่นคือ Operación Masacre (ปฏิบัติการสังหารหมู่) ที่เขาเขียนในปี 1957 — และ จดหมายฉบับสุดท้าย ที่เขาเขียนก่อนจะถูกลอบสังหาร แต่แค่หนังสือเพียงเล่มเดียวนั้นที่บอกเล่าเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ชื่อของเขาฝังลงในประวัติศาสตร์

 

แม้วอลช์ (Walsh) ไม่ได้เป็นนักต่อสู้ฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่ต้น — เขาแค่ชอบหมากรุกกับเกมลับสมอง บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่เขานั่งเล่นหมากรุกอยู่ในคาเฟ่แห่งหนึ่ง เขาได้ยินข่าวว่า มีผู้รอดชีวิตจากเหตุสังหารหมู่บริเวณชานเมืองบัวโนสไอเรส — ชายกลุ่มหนึ่งถูกกล่าวหาว่าพยายามก่อกบฏด้วยอาวุธต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่กี่วันต่อมา วอลช์ออกตามหาผู้รอดชีวิตคนนั้นจนเจอ — ฮวน การ์ลอส ลีฟรากา (Juan Carlos Livraga) — และได้ฟังเรื่องราวของเขาทั้งหมด ซึ่งเปลี่ยนเขาไปตลอดกาล จากนักเล่นหมากรุก กลายเป็น นักข่าวที่ยึดมั่นในความจริง 

 

เขาไม่ใช่แค่รายงานข่าว — แต่เริ่มขุดลึก เปิดโปง และเขียนด้วยความโกรธเกรี้ยวจากหัวใจ เพื่อให้โลกได้รู้ว่า รัฐกำลังฆ่าคนและโกหกประชาชน

 

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1956 เมื่อชายกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในย่านฟลอริดา เพื่อฟังการถ่ายทอดสดการแข่งขันชกมวยทางวิทยุ แต่มันไม่ใช่แค่การชกมวยธรรมดา — คืนนั้นเป็นไฟต์สำคัญเอ็ดวาร์โด ฮอร์เค ลาอุสเซ (Eduardo Jorge Lausse) นักชกชาวอาร์เจนตินาผู้ซึ่งจะเอาชนะตำนานนักชกชาวคิวบา คิด กาวิลัน (Kid Gavilan) ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน กำลังขึ้นชกกับฮุมเบร์โต โลอายซา (Humberto Loayza) แชมป์มิดเดิลเวตชาวชิลี ณ สนามเอสตาดิโอ ลูน่า ปาร์ก ใจกลางกรุงบัวโนสไอเรส ชายเหล่านี้เพียงแค่ตั้งใจฟังมวยผ่านวิทยุ—พวกเขาไม่ได้รู้เลยด้วยซ้ำว่าในคืนนั้นจะเกิดการลุกฮือของทหารบางกลุ่มที่ภักดีต่อประธานาธิบดีฮวน เปรอง (Juan Perón) ซึ่งถูกโค่นอำนาจไปก่อนหน้านั้น พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏแม้แต่น้อย — แต่ทหารกลับบุกมาถึงถนนที่พวกเขาอยู่ จับกุมพวกเขา พาไปยังลานขยะ แล้วสั่งให้วิ่ง ก่อนจะเปิดฉากยิงใส่พวกเขาอย่างเหี้ยมโหด มีเจ็ดคนรอดชีวิตมาได้ บางคนวิ่งหนีสุดชีวิต บางคนแกล้งตายท่ามกลางกองขยะเพื่อเอาชีวิตรอด 

 

เมื่อวอลช์ได้รับเบาะแสเรื่องนี้ เขาก็จ้างนักข่าวหญิง เอ็นรีเกตา มูนญิซ (Enriqueta Muñiz, 1934–2013) มาร่วมขุดคุ้ยความจริงครั้งนี้ด้วยกัน บันทึกภาคสนามของเธอ — ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 2019 ในนาม Historia de una investigación. Operación masacre de Rodolfo Walsh: una revolución de periodismo (y amor) หรือ บันทึกการสืบสวน: ปฏิบัติการเปิดโปงสังหารหมู่ของโรดอลโฟ วอลช์ — การปฏิวัติสื่อของประชาชน (และความรักในอุดมการณ์) เป็นบันทึกรายละเอียดของการตามหาผู้รอดชีวิต และเรื่องเล่าของพวกเขาอย่างเป็นระบบและเด็ดเดี่ยว

 

พวกเขาค้นพบว่า การจับกุมชายเหล่านั้นเกิดขึ้น ก่อนที่รัฐจะประกาศภาวะฉุกเฉิน — การสังหารหมู่กลับเกิดขึ้นหลังจากนั้น (การใช้อำนาจโดยไร้ความรับผิดชอบของรัฐ) นั่นหมายความว่า กองทัพได้ก่ออาชญากรรมอย่างเลือดเย็น สังหารกลุ่มแรงงานและประชาชนธรรมดาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลุกฮือในคืนนั้นแม้แต่น้อย พวกเขาไม่ได้ถือปืน ไม่ได้วางแผนก่อกบฏ พวกเขาแค่นั่งล้อมวงฟังมวย เชียร์นักชกของตัวเอง — ลาอุสเซ (Lausse) ผู้เป็นความหวังของชนชั้นแรงงาน — ที่จะล้มโลอายซา (Loayza) ลงไปกองกับพื้น

<ฮวน การ์ลอส กัสตาญีโน หรือ Juan Carlos Castagnino ศิลปินชาวอาร์เจนตินา (Argentina), Maizal (แรงงานเก็บเกี่ยวข้าวโพด), 1948.>

 

ไม่มีสื่อกระแสหลักสำนักไหนต้องการตีพิมพ์เรื่องราวของวอลช์เลย — เรื่องที่เขาเสี่ยงชีวิตเปิดโปงการสังหารหมู่โดยรัฐ เขาจึงต้องเขียนบทความหลายชิ้นลงนิตยสารเล็กๆ อย่าง Mayoría และ Revolución Nacional จนในที่สุด สำนักพิมพ์ Ediciones Sigla ก็ตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือ Operación Masacre อย่างเป็นทางการ (ซึ่งเขาอุทิศให้กับมูนีซ — Muñiz) วอลช์และมูนีซต้องการให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารถูกจับและรับโทษตามกฎหมาย แต่สิ่งนั้นไม่เคยเกิดขึ้น (ไม่ได้ต้องการแค่เปิดโปง — พวกเขาต้องการความยุติธรรม) หนึ่งในฆาตกรอย่างพันเอกเดซิเดริโอ เฟร์นานเดซ ซัวเรซ (Desiderio Fernández Suárez) หัวหน้าตำรวจ กลับใช้ชีวิตอย่างสบาย จนเสียชีวิตไปในปี 2001 โดยไม่เคยต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น

 

ในปี 1959 โรดอลโฟ วอลช์เดินทางไปคิวบา เขาพบว่าการปฏิวัติที่นั่นคือประกายแห่งความหวังของประชาชนที่ลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดินิยม เขาได้พบเช กูวารา นักสู้ร่วมอุดมการณ์ชาวอาร์เจนตินา และด้วยความหลงใหลและความสามารถในการถอดรหัส วอลช์สามารถถอดรหัสสัญญาณลับของสหรัฐฯ ที่ใช้เตือนรัฐบาลคิวบาเกี่ยวกับการรุกรานอ่าวหมู (Bay of Pigs) ในปี 1961 ได้สำเร็จ ที่คิวบา วอลช์ทำงานกับ Prensa Latina สำนักข่าวของรัฐคิวบา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของฝ่ายปฏิวัติ ต่อมาเขาเข้าร่วมคณะบรรณาธิการของนิตยสาร Problemas del Tercer Mundo (ปัญหาของโลกที่สาม) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มแยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์อาร์เจนตินา และในที่สุดก็ขึ้นเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของสมาพันธ์แรงงานทั่วไปแห่งอาร์เจนตินา (CGT) ซึ่งตีพิมพ์ระหว่างเดือนพฤษภาคม 1968 ถึงกุมภาพันธ์ 1970 — เป็นกระบอกเสียงของชนชั้นแรงงานในการต่อสู้กับทุนนิยมและรัฐเผด็จการ

 

ขณะทำงานอยู่กับสมาพันธ์แรงงานทั่วไปแห่งอาร์เจนตินา (CGT) วอลช์ได้สืบสวนคดีสังหารโรเซนโด การ์เซีย (Rosendo García) ผู้นำสหภาพแรงงานโลหะ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 13 พฤษภาคม 1966 ระหว่างการปะทะกับกลุ่มกรรมกรฝ่ายตรงข้าม ที่นำโดยออกุสโต ทิโมเตโอ วานดอร์ (Augusto Timoteo Vandor) ซึ่งต่อมาก็ถูกยิงเสียชีวิตในปี 1969 เช่นกัน วอลช์เขียนหนังสือสองเล่มที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมืองในอาร์เจนตินา เล่มแรก ¿Quién mató a Rosendo? (ใครฆ่าโรเซนโด?, 1969) ว่าด้วยเบื้องหลังการฆาตกรรมในหมู่ผู้นำแรงงาน และเล่มที่สอง Caso Satanowsky (คดีซาตาโนว์สกี, 1973) ว่าด้วยการลอบสังหารทนายความ มาร์กอส ซาตาโนว์สกี (Marcos Satanowsky) โดยหน่วยข่าวกรองของรัฐในปี 1957 ซึ่งต่อมาก็ถูกลอบสังหารในปี 1969 เช่นกัน วอลช์เขียนหนังสือสองเล่มที่เปิดโปงการฆาตกรรมทางการเมือง ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์อาร์เจนตินา: ¿Quién mató a Rosendo? (ใครฆ่าโรเซนโด?, 1969) — เจาะลึกเบื้องหลังการสังหารผู้นำแรงงาน Caso Satanowsky (คดีซาตาโนฟสกี, 1973) — ว่าด้วยการลอบสังหารทนายความ มาร์กอส ซาตาโนฟสกี โดยหน่วยข่าวกรองของรัฐ เมื่อปี 1957

<ลิโน เอเนีย สปิลิมแบร์โก หรือ Lino Enea Spilimbergo ศิลปินจิตรกรชาวอาร์เจนตินา (Argentina), La terraza (ระเบียง), 1930.>

 

ในปี 1969 ผู้สัมภาษณ์คนหนึ่งถามวอลช์เกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองของเขา วอลช์ตอบว่า “แน่นอน ผมต้องบอกว่าผมเป็นมาร์กซิสต์ แต่เป็นมาร์กซิสต์ที่ไม่ดีนัก เพราะผมอ่านน้อยมาก — ผมไม่มีเวลาจะขัดเกลาตัวเองทางอุดมการณ์ วัฒนธรรมทางการเมืองของผมจึงเป็นแบบประสบการณ์ตรง มากกว่านามธรรม” — นี่คือคำตอบอย่างจริงใจจากนักปฏิวัติผู้ไม่เสแสร้ง สัญชาตญาณของวอลช์โน้มไปทางการปฏิวัติคิวบา เขาเข้าร่วมองค์กรการเมืองหลายแห่ง แต่หัวใจของเขายังคงอยู่กับงานข่าวและสื่อสารมวลชน 

 

เมื่อกองทัพเริ่มเคลื่อนไหวในอาร์เจนตินา ในฐานะส่วนหนึ่งของ ปฏิบัติการคอนดอร์ (Operation Condor) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ วอลช์จึงร่วมกับ คาร์ลอส อัซนาเรซ หรือ Carlos Aznarez (ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการ Resumen Latinoamericano) และ ลิลา วิคตอเรีย ปาสตอริซา หรือ Lila Victoria Pastoriza (ผู้ถูกคณะรัฐประหารทรมานนานสองปี และปัจจุบันเขียนบทความให้ Revista Haroldo) ในการก่อตั้ง สำนักข่าวลับ ANCLA (Agencia de Noticias Clandestina) ซึ่งเป็นสำนักข่าวใต้ดิน ท้าทายการปิดปากปิดเสียงของเผด็จการ

 

เมื่อบุตรสาวของวอลช์ มาเรีย วิคตอเรีย (María Victoria) ผู้ร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธต่อต้านเผด็จการ และอัลแบร์โต โมลินา (Alberto Molina) ถูกกองทัพปิดล้อมในกรุงบัวโนสไอเรส ทั้งสองยกมือขึ้นและกล่าวว่า “พวกคุณไม่ได้ฆ่าเรา — พวกเราเลือกที่จะตายเอง” (ustedes no nos matan; nosotros elegimos morir) เขากล่าวประโยคนี้ก่อนลั่นไกปลิดชีพตนเอง จากนั้น วอลช์หยิบเครื่องพิมพ์ดีดขึ้นมา และเริ่มเขียนจดหมายแบบยาวถึงคณะเผด็จการ — จดหมายซึ่งเขาส่งออกไปในวันครบรอบการรัฐประหาร มันควรเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องอ่าน น้ำเสียงในจดหมายฉบับนั้น เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่หนักแน่น และน่าตกตะลึง “ในเดือนสิงหาคม 1976 ชาวบ้านคนหนึ่งที่ดำน้ำในทะเลสาบซาน โรเก (San Roque Lake) จังหวัดกอร์โดบา (Córdoba) พบสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นสุสานใต้น้ำ เขาไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ตำรวจไม่รับเรื่อง เขาจึงเขียนจดหมายส่งไปยังหนังสือพิมพ์ แต่ก็ไม่มีฉบับไหนยอมตีพิมพ์”

<อะเดรียนา เลสติโด หรือ Adriana Lestido ศิลปินช่างภาพชาวอาร์เจนตินา (Argentina), Madre e hija de Plaza de Mayo (แม่และลูกสาวที่จัตุรัสปลาซา เด มาโย), 1982.>

 

หนังสือพิมพ์ในทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกัน — พวกเขาไม่ตีพิมพ์เรื่องการสังหาร และการจับกุมปราบปราม ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา พวกเขาหลงใหลอยู่กับเวทีออสการ์และแฟชั่นวีคที่ปารีส ไม่มีเวลาจะพูดถึงความบ้าคลั่งของลัทธิเสรีนิยมสุดโต่งแบบฮาเวียร์ มิเลย์ ที่ทำลายสถาบันสาธารณะทั้งระบบเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับมหาเศรษฐี และหากสื่อใดกล้าจะเขียนความจริงขึ้นมาบ้าง พวกมิเลย์กับทรัมป์ต่างก็ชี้หน้าสื่อที่กล้าเขียนความจริง แล้วเรียกพวกเขาว่า “ศัตรูของประชาชน” — ใส่ร้ายว่าเป็น “สายลับของรัฐบาลนั้น” หรือ “เครื่องมือของฝ่ายโน้น”

 

ขณะเดียวกัน อสุรกายที่สวมหน้ากากมนุษย์เหล่านี้กลับหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนของตัวเองในนามของ “ชาตินิยม” แล้วยกสมบัติของชาติให้ชนชั้นที่ไม่แม้แต่จะอยากอยู่ร่วมโลกเดียวกับพวกเรา — ชนชั้นที่มีทุกอย่างแต่ยังต้องการมากกว่านั้น บนซากของคนทั้งประเทศ

 

นี่คือสิ่งที่วอลช์จะเขียน ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่

และนี่คือสิ่งที่วอลช์เรียกร้องให้เราเขียนแทนเขา — ด้วยความกล้า ด้วยความจริง และด้วยหัวใจของผู้ไม่ยอมจำนน

 

ด้วยความนับถือ, 

 

วิเจย์ (Vijay)