<อาลิอูน ไดแอน หรือ Alioune Diagne จิตรกร (Senegal), Rescapé (Survivor), 2023. >
ถึงเหล่าเพื่อนที่รัก,
ทักทายสวัสดีจากโต๊ะทำงานของไตรทวีป: สถาบันวิจัยทางสังคม Tricontinental: Institute for Social Research
ใช่ พาดหัวจดหมายข่าวฉบับนี้ถูกแล้ว
สำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แล้ว คนจากซีกโลกเหนือหนึ่งคนมีอำนาจโหวตมากกว่าคนจากซีกโลกใต้เก้าคน เราคำนวณตัวเลขนี้จากข้อมูลของ IMF ที่เปรียบเทียบอำนาจการโหวตกับจำนวนประชากรในแต่ละภูมิภาค (ประเทศในซีกโลกเหนือและใต้) โดยแต่ละประเทศได้รับสิทธิ์ลงคะแนนเสียงตาม “สถานะทางเศรษฐกิจแบบสัมพัทธ์ (relative economic position)” ตามที่ IMF กำหนด และใช้ในการเลือกตัวแทนเข้าสู่คณะกรรมการบริหารขององค์กร ซึ่งคณะกรรมการนี้เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญทั้งหมดของ IMF หากดูโครงสร้างคณะกรรมการจะเห็นได้ชัดว่า ซีกโลกเหนือมีตัวแทน (อิทธิพล) มากเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นหนี้สิน
ตัวอย่าง สหรัฐอเมริกาถือสิทธิออกเสียง 16.49% ของคะแนนเสียงทั้งหมดใน IMF ทั้งที่มีประชากรในประเทศเพียง 4.22% ของทั้งโลก และเนื่องจากกฎของ IMF กำหนดให้ต้องใช้คะแนนเสียงถึง 85% ในการเปลี่ยนแปลงใดๆ สหรัฐฯ จึงสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งขัดขวาง (veto) การตัดสินใจของ IMF ได้ ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ IMF จึงมักทำตามแนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ และเนื่องจากสำนักงานของ IMF ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. องค์กรนี้มักทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในการกำหนดกรอบนโยบายและตัดสินใจเรื่องสำคัญต่าง ๆ
<อาร์มันโด เรเวรอน หรือ Armando Reverón จิตรกรและประติมากร (Venezuela), Ranchos (Ranches), 1933.>
ในปี 2019 เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่รับรองรัฐบาลเวเนซุเอลาอีกต่อไปโดยไม่ผ่านการเจรจากับนานาชาติ สหรัฐฯ ได้กดดันให้ IMF ดำเนินการในทิศทางเดียวกัน เวเนซุเอลา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้ง IMF เคยขอความช่วยเหลือจากองค์กรนี้หลายครั้ง และได้ชำระหนี้เงินกู้ของ IMF จนหมดในปี 2007 จากนั้นเวเนซุเอลาตัดสินใจไม่พึ่งพา IMF สำหรับเงินช่วยเหลือระยะสั้นอีกต่อไป โดยรัฐบาลเวเนซุเอลาหันไปมุ่งเน้นการสร้าง ธนาคารแห่งซีกโลกใต้ (Bank of the South) ขึ้นมาเอง เพื่อช่วยให้เงินกู้แก่ประเทศที่มีปัญหาขาดดุลการชำระเงิน อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดโควิด เวเนซุเอลา ก็เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ พยายามเข้าถึงทุนสำรองโดยใช้สิทธิถอนเงิน (Special Drawing Rights – SDRs) มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ IMF ที่ประเทศสมาชิกมีสิทธิ์เข้าถึงภายใต้โครงการเพิ่มสภาพคล่อง แต่ IMF ซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ ตัดสินใจปฎิเสธโอนเงินดังกล่าว ก่อนหน้านี้ IMF ก็เคยปฏิเสธคำขอของเวเนซุเอลาในการถอนเงิน 400 ล้านดอลลาร์
แม้ว่าสหรัฐฯ จะระบุว่า นายฮวน ไกวโด หรือ Juan Guaidó เป็นประธานาธิบดีที่แท้จริงของเวเนซุเอลา แต่ในเว็บไซต์ของ IMF ตัวแทนของเวเนซุเอลา คือ ซิโมน อาเลฆันโดร แซร์ปา เดลกาโด หรือ Simón Alejandro Zerpa Delgado ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร หรือ Nicolás Maduro โดยโฆษกของ IMF นายราฟาเอล แอนสแพช หรือ Raphael Anspach ไม่ตอบอีเมลที่พวกเราส่งไปในเดือนมีนาคม 2020 เกี่ยวกับการปฏิเสธเงินทุนของเวเนซุเอลา แต่เขาออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า “การมีส่วนร่วมของ IMF กับประเทศสมาชิกขึ้นอยู่กับการรับรองรัฐบาลอย่างเป็นทางการจากประชาคมระหว่างประเทศ” และเนื่องจาก “ไม่มีความชัดเจน” ในเรื่องนี้ IMF จึงไม่อนุญาตให้เวเนซุเอลาเข้าถึงโควตาพิเศษของตนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนั้นไม่นาน IMF ก็ลบชื่อของ แซร์ปา (Zerpa) ออกจากเว็บไซต์ ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันของสหรัฐฯ โดยตรง
ในปี 2023 ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (BRICS Bank) ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประธานาธิบดี ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือ Luiz Inácio Lula da Silva ของบราซิล กล่าวถึงผลกระทบของนโยบาย IMF ที่บีบคั้นประเทศยากจน โดยยกตัวอย่างกรณีของอาร์เจนตินา เขากล่าวว่า “ไม่มีรัฐบาลใดสามารถบริหารประเทศได้ ขณะเผชิญความกดดันจากหนี้สินราวกับมีดจ่อคอ ธนาคารควรให้โอกาสและมีความยืดหยุ่น หากจำเป็นก็ควรต่ออายุข้อตกลงใหม่ แต่ทุกครั้งที่ IMF หรือธนาคารใดก็ตามให้เงินกู้กับประเทศโลกที่สาม ประเทศเจ้าหนี้มักคิดว่าตัวเองมีสิทธิ์สั่งการและควบคุมเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ จนทำให้ประเทศเหล่านั้นเหมือนถูกจับเป็นตัวประกันของผู้ให้กู้”
<เบน เอนวอนวู หรือ Ben Enwonwu จิตรกร (Nigeria), The Dancer, 1962.>
เมื่อพูดถึงอำนาจที่แท้จริงในโลก ซึ่งอยู่ที่การควบคุมทุน คำพูดเรื่องระบบประชาธิปไตยก็ดูเหมือนจะเลือนหายไป รายงานของ Oxfam เมื่อปีที่แล้วระบุว่า “ประชากร 1% ที่ร่ำรวยที่สุดของโลกครอบครองทรัพย์สินมากกว่าประชากร 95% ที่เหลือรวมกัน” และ “กว่าหนึ่งในสามของ 50 บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งมีมูลค่ารวม 13.3 ล้านล้านดอลลาร์ อยู่ภายใต้การบริหารของมหาเศรษฐี หรือมีมหาเศรษฐีเป็นผู้ถือหุ้นหลัก” ปัจจุบัน มีมหาเศรษฐีมากกว่าสิบรายที่ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พวกเขาไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มคน 1% อีกต่อไป แต่เป็น 0.0001% ของประชากรโลก หรือ หนึ่งในหนึ่งแสนของประชากรโลก หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ ภายในสิ้นทศวรรษนี้ โลกอาจมีมหาเศรษฐีระดับล้านล้าน (trillionaire) ถึงห้าคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศอย่างมหาศาล
ในปี 1963 จาจา อนูชา เอ็นดูบูอิซี วาชูกู หรือ Jaja Anucha Ndubuisi Wachuku รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไนจีเรีย แสดงความไม่พอใจต่อบทบาทขององค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เขากล่าวว่า “ประเทศในแอฟริกาไม่มีสิทธิ์ที่แท้จริงในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญของสหประชาชาติ” ขณะนั้น ไม่มีประเทศใดจากแอฟริกาหรือละตินอเมริกาที่ได้รับที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และที่ IMF หรือธนาคารโลกก็เช่นกัน ไม่มีประเทศในแอฟริกาใดเลยที่สามารถกำหนดวาระสำคัญได้ วาชูกู (Wachuku) เคยตั้งคำถามอย่างเจ็บแสบว่า “เราจะเป็นได้แค่เด็กที่ยืนอยู่ตรงระเบียงเท่านั้นหรือ?” แม้ว่า IMF จะเพิ่มที่นั่งให้ตัวแทนจากแอฟริกาในปี 2024 แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับทวีปแอฟริกาที่มีประเทศสมาชิก IMF มากที่สุด (จำนวน 54 จาก 190 ประเทศ) และได้รับเงินกู้จาก IMF มากกว่าทวีปอื่น ๆ (46.8% ของเงินกู้ทั้งหมดระหว่างปี 2000-2023) แต่กลับมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเพียง 6.5% เท่านั้น ซึ่งเป็นอันดับสองจากท้ายสุด ในขณะที่อเมริกาเหนือมีเพียง 2 ประเทศ แต่มีคะแนนเสียง 943,085 ขณะที่แอฟริกามี 54 ประเทศ แต่มีคะแนนเสียงเพียง 326,033
หลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2007 และเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ครั้งที่สาม (the Third Great Depression) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ตัดสินใจปฏิรูปกระบวนการของตนเอง สาเหตุหลักมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อประเทศใดขอสินเชื่อระยะสั้นจาก IMF ซึ่งควรถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่กลับทำให้ประเทศนั้นถูกมองว่าเศรษฐกิจแย่ในตลาดทุน เนื่องจากการขอสินเชื่อ นักลงทุนมองว่าเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ส่งผลให้ประเทศนั้นต้องกู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และยิ่งทำให้เกิดวิกฤตรุนแรงขึ้น
นอกเหนือจากปัญหานี้แล้ว ยังมีประเด็นเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่า ผู้อำนวยการบริหารของ IMF ทุกคนล้วนมาจากประเทศยุโรป ซึ่งหมายความว่า ประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ไม่เคยมีบทบาทในระดับสูงสุดขององค์กร นอกจากนี้ ระบบการลงคะแนนเสียงของ IMF ก็มีปัญหา โดยคะแนนเสียงที่มาจาก “โควตา” (quota votes) ซึ่งพิจารณาจากขนาดเศรษฐกิจและเงินที่ประเทศนั้นให้ IMF ถูกเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่คะแนนเสียงพื้นฐาน “หนึ่งประเทศ หนึ่งเสียง” (basic votes) กลับถูกลดบทบาทลงคะแนนเสียงใน IMF ถูกแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ อย่างแรกคือ Calculated Quota Shares (CQS): คำนวณตามสูตรของ IMF อย่างที่สองคือ Actual Quota Shares (AQS): กำหนดผ่านกระบวนการเจรจาทางการเมือง
ตัวอย่างการคำนวนเช่น ในปี 2024 จีนมี AQS ที่ 6.39% ขณะที่ CQS ควรเป็น 13.72% การเพิ่ม AQS ของจีนให้เท่ากับ CQS จะต้องลด AQS ของประเทศอื่นลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งมี AQS อยู่ที่ 17.40% และต้องลดลงเหลือ 14.94% เพื่อให้เกิดความสมดุล แต่หากเป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ จะสูญเสียอำนาจในการยับยั้ง (veto power) ดังนั้น สหรัฐฯ จึงขัดขวางแผนการปฏิรูป IMF ในปี 2014 และในปี 2023 ความพยายามปฏิรูป IMF ก็ล้มเหลวอีกครั้ง
<อันโตนิโอ ซูซ่า หรือ Antonio Souza (Brazil), Cade minha praia? O mar levou (ชายหาดของฉันหายไปไหน? ทะเลพัดมันไปแล้ว – Where Is My Beach? The Sea Took It Away), 2019.
ในภาพมีข้อความเรียงจากซ้ายบนไปขวาล่างว่า “รัก”, “สันติภาพ”, “พวกเราและท้องทะเล”, “ช่วยกันรักษา”, และ “โลก”>
เปาโล โนเกรย์รา บาติสตา จูเนียร์ (Paulo Nogueira Batista Jr.) เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารของบราซิลและอีกหลายประเทศใน IMF ตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2015 จากนั้นได้ขึ้นเป็นรองประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) ระหว่างปี 2015 ถึง 2017 และปัจจุบันเป็นผู้เขียนบทความให้กับ Wenhua Zongheng ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของจีนฉบับนานาชาติ ในบทความสำคัญ A Way out for IMF Reform (มิถุนายน 2024) บาติสตา (Batista) เสนอแผนปฏิรูป IMF 7 ข้อ ดังนี้
- ลดความเข้มงวดของเงื่อนไขการปล่อยกู้
- ยกเลิกค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับเงินกู้ระยะยาว
- ส่งเสริมเงินกู้พิเศษเพื่อขจัดความยากจน
- เพิ่มงบประมาณรวมของ IMF
- เพิ่มอำนาจการลงคะแนนเสียงพื้นฐาน เพื่อให้ประเทศยากจนมีสิทธิ์มีเสียงและมีตัวแทนมากขึ้น
- เพิ่มที่นั่งของตัวแทนทวีปแอฟริกาในคณะกรรมการบริหารเป็นสามที่นั่ง
- แต่งตั้งตำแหน่งรองผู้อำนวยการบริหารคนที่ห้า โดยให้เป็นตัวแทนจากประเทศยากจน
หากประเทศร่ำรวยยังเมินเฉยต่อข้อเสนอพื้นฐานเหล่านี้ บาติสตา (Batista) เตือนว่า “ในที่สุด IMF ก็จะเป็นเพียงสถาบันอันกลวงเปล่าที่มีแต่ประเทศพัฒนาแล้วเป็นเจ้าของ” เขาคาดการณ์ว่า ประเทศในซีกโลกใต้จะออกจาก IMF และสร้างสถาบันการเงินใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่าง BRICS ซึ่งกระบวนการนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เช่น BRICS และ การจัดตั้งกองทุนเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน (CRA) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 หลังจากความล้มเหลวในการปฏิรูป IMF แต่อย่างไรก็ตาม บาติสตา (Batista) ระบุว่า การจัดตั้งกองทุนเงินสำรองกรณีฉุกเฉิน (CRA) แทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ
แม้จะมีทางเลือกอื่น แต่ในปัจจุบัน IMF ยังคงเป็นสถาบันเดียวที่ให้เงินทุนในระดับที่ประเทศยากจนต้องการ นั่นเป็นเหตุผลที่แม้แต่รัฐบาลฝ่ายก้าวหน้า เช่น ศรีลังกา ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้คิดเป็น 41% ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2025 ศรีลังกาก็ยังต้องเดินทางไปที่กรุงวอชิงตัน พร้อมรอยยิ้มที่ทำเนียบขาว ก่อนเข้าสำนักงานใหญ่ IMF เพื่อขอกู้เงิน
ด้วยความนับถือ,
วิเจย์ (Vijay)