ผู้แปล สหายคำผาน
ต้นฉบับโดย แม็กซ์ ลอว์สัน (Max Lawson) ใน “The Rich Are the Ones Burning the Planet”
งานศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นเกี่ยวพันกับการล้างผลาญโลกอย่างใกล้ชิด เราไม่อาจกอบกู้โลกไว้ได้หากเราไม่ยอมเผชิญหน้ากับกลุ่มคนรวย
เมื่อปี 2018 ฝรั่งเศสเป็นอัมพาตหลังการประท้วงอย่างต่อเนื่องของขบวนการต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (President Emmanuel Macron) ที่ต้องการขึ้นภาษีน้ำมันพร้อม ๆ กับยกเลิกภาษีความมั่งคั่งของกลุ่มมหาเศรษฐี เหล่าผู้ประท้วงกลายมาเป็นที่รู้จักในนาม gilets jaunes หรือ “เสื้อกั๊กเหลือง” พายุความโกรธถาโถมเข้าใส่ประธานาธิบดีจนเขาต้องยอมยกเลิกการขึ้นภาษีน้ำมัน และยกเลิกการกำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่คิดถึงคนชนชั้นอื่น มาครงโดนนโยบายที่ไม่คำนึงถึงคนอื่นโต้กลับอย่างรุนแรง
ด้วยความที่ว่ายุโรปเพิ่งประสบปัญหาราคาก๊าซและพลังงานแพงหูฉี่ในช่วงหน้าหนาวนี้ บางคนก็กล่าวว่า นี่คือโอกาสเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบทันท่วงที (shock treatment) เพื่อให้เราทุกคน “เคยชิน” กับพลังงานที่แพงขึ้นและการถูกบีบให้ใช้พลังงานน้อยลง
ความทุกข์ทรมานที่โหมเข้ามาอย่างหนัก ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากได้ส่งผลกระทบต่อคนยากคนจนไปทั่วทวีป บีบให้คนส่วนมากต้องเลือกว่าจะอยู่อย่างอบอุ่นหรือมีกิน การต้องสละตัวเองเช่นนี้ดูโหดร้ายสำหรับข้าพเจ้า และข้าพเจ้ามองว่า ความทุกข์ยากเหล่านี้แทบไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือของกลุ่มคนที่ต้องดิ้นรนเพื่อจ่ายค่าฮีทเตอร์เลยด้วยซ้ำ
นี่คือความอัปยศทางการเมือง เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่จำเป็นต่อการหยุดสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ได้ก็ต่อเมื่อคนทั้งสังคมเห็นพ้องต้องกันและเชื่อมั่นว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าเราจะบังคับให้คนทำอะไรได้เหมือนบังคับให้กินน้ำมันตับปลา ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (climate action) มีความเสี่ยงมากที่จะกลายมาเป็นสิ่งที่ไปกะเกณฑ์คนอื่น กลายเป็นเรื่องของชนชั้นนำเสรีนิยม และจะถูกนักประชานิยมฝ่ายขวาทุกแห่งหนประณามอย่างหนัก และทำให้โลกเราเจอหายนะเร็วยิ่งขึ้น
รากของปัญหาเหล่านี้มาจากการมองไม่ออกว่า สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาระหว่างชนชั้น มันถูกมองว่าเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ระหว่างประเทศรวยกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ถ้านับเป็นการปล่อยก๊าซรายบุคคล การปล่อยก็จะถูกนับเป็นปริมาณเฉลี่ยต่อหัวในแต่ละประเทศอยู่ดี
จริงที่ว่า ทุกคนในประเทศร่ำรวยต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน แต่ค่าเฉลี่ยของแต่ละประเทศก็ไม่ได้บอกอะไรเรามากนัก โชคดีที่งานวิจัยชิ้นใหม่จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังได้รับความสนใจ พวกเขาสำรวจการปล่อยก๊าซคาร์บอนของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคน 10 % และ 1% บนยอดพีระมิด
ความเหลื่อมล้ำจากการปล่อยมลพิษ: ข้อมูลบอกอะไรเราบ้าง?
พูดง่ายๆ ก็คือ วิกฤตสภาพภูมิอากาศเกิดจากชนชั้นที่ร่ำรวยที่สุดในทุกประเทศ พวกเขาคือกลุ่มคนที่กำลังพาเราร่วงหล่นหน้าผาแห่งการล่มสลายของโลก
งานวิจัยของ Oxfam ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์มพบว่า :
- การปล่อยมลพิษรายหัวของคน 1% บนยอดพีระมิดนั้นสูงกว่าคน 50 % ด้านล่างถึง 100 เท่า และสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2030 ถึง 35 เท่า
- ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา คนที่รวยที่สุด 5 % บนยอดพีระมิดเป็นคนปล่อยก๊าซทั้งหมดเป็นจำนวนมากกว่าหนึ่งในสามของปริมาณที่เพิ่มขึ้นมา กล่าวคือ คน 1% ข้างบนสุดมีส่วนรับผิดต่อการปล่อยก๊าซมากกว่าคน 50% ข้างล่างรวมกัน
- ประชากรมนุษย์ราวๆ 20% มีการปล่อยมลพิษรายหัวของคนกลุ่มนี้ลดลงตั้งแต่ปี 1990 มาจนถึงปี 2015 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศร่ำรวย
ลูคัส ชานเซล (Lucas Chancel) และโทมัส พิเกตตี้ (Thomas Piketty) ได้ทำการวิเคราะห์ในหัวข้อคล้ายๆ กันตามข้อมูลแผนภูมิดังต่อไปนี้ คุณจะเห็นว่าชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางระดับล่างในประเทศร่ำรวยปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกลดลง ทว่าปริมาณการปล่อยของพวกเขายังคงสูงเกินเป้าที่ตั้งไว้มาก แต่ก็น่าสนใจว่า พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวที่ปล่อยมลพิษน้อยลง
คนที่รวยที่สุด 10 % ของโลกส่วนมากมักพบเจอในประเทศร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้เจอในประเทศเหล่านั้นอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำของการปล่อยมลพิษยังเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศร่ำรวยเองด้วย เมื่อมองในระดับประเทศแล้ว การปล่อยมลพิษของคนที่รวยที่สุด 10 % นั้นมีปริมาณมากยิ่งกว่าของคนที่เหลือที่มีรายได้น้อยกว่านั้น ไม่ว่าจะอยู่ในฝรั่งเศสหรืออินเดียก็ตาม
งานศึกษาชิ้นอื่น ๆ ได้เริ่มพิจารณาถึงข้อมูลระดับจุลภาค (microdata) เกี่ยวกับ “ชีวิตคาร์บอน” (carbon lives) ของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด งานศึกษาชิ้นหนึ่งที่วิเคราะห์การปล่อยคาร์บอนของมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 20 คนพบว่า มหาเศรษฐีแต่ละคนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ยถึง 8,000 ตัน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ โดยเฉลี่ยแล้วพลเมืองในประเทศร่ำรวยปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 6 ตัน และปริมาณที่จะไปถึง 1.5 c ซึ่งเป็นขีดความปลอดภัยของโลกอยู่ที่ 2 ตันต่อคนเท่านั้น งานวิเคราะห์การใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของกลุ่มมหาเศรษฐีเผยให้เห็นว่า เหล่าเซเล็บและมหาเศรษฐีปล่อยคาร์บอนในไม่กี่นาทีมากกว่าที่คนทั่วไปปล่อยในหนึ่งปีด้วยซ้ำ
ปัญหาของการลงทุน
การปล่อยก๊าซฯ ของคนรวยไม่ใช่แค่มีปริมาณสูงมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเท่านั้น แต่รูปแบบการปล่อยของพวกเขายังต่าง (จากคนทั่วไป) อย่างสิ้นเชิงด้วย การปล่อยก๊าซฯ ส่วนใหญ่ของคนที่รวยที่สุดมากกว่า 70% มาจากการลงทุนของพวกเขาเอง นี่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำโดยรวม คนหมู่มากในสังคมมีรายได้มาจากการทำงาน แต่คนที่รวยที่สุดมีรายได้มาจากผลตอบแทนของการลงทุน (return on capital)
ไลฟ์สไตล์ผลาญโลกของมหาเศรษฐีคนหนึ่งอาจก่อให้เกิดคาร์บอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงพันเท่า แต่การปล่อยคาร์บอนที่มาจากการลงทุนของพวกเขาอาจสูงกว่านั้นเป็นล้านเท่า งานวิเคราะห์ชิ้นใหม่ของเราเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการลงทุนของมหาเศรษฐี โดยเผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงประจำปี (COP27) ซึ่งจัดขึ้นโดยสหประชาชาติ (UN)
คนที่อยู่ในกลุ่มที่รายได้ต่ำที่สุดไม่ได้มีตัวเลือกการปล่อยคาร์บอนมากนัก พวกเขาอาจอาศัยอยู่ในบ้านเช่าที่มีฉนวนกันไฟฟ้าและความร้อนไม่ดีหรือต้องขับรถยนต์ไปทำงานเพราะขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ ในชีวิต ยิ่งคุณรวยเท่าไร คุณก็ยิ่งมีทางเลือกมากเท่านั้น และยิ่งสามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ นี่เป็นหลักการเดียวกันกับเรื่องการปล่อยก๊าซ ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์การบริโภค ยิ่งการปล่อยก๊าซจากการลงทุนก็ยิ่งแล้วใหญ่ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนที่ไหน ดังนั้นข้าพเจ้ามองว่า การสนับสนุนเงินให้เชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษของเหล่ามหาเศรษฐี นั้นไม่อาจมีข้อแก้ตัวใดๆ ได้
พันล้านคนต้องยากจนต่อไปเพื่อช่วยโลกไว้หรือ?
สิ่งที่ Oxfam กังวลมากก็คือกลุ่มคนอีกครึ่งหนึ่งของสังคมซึ่งยากจนที่สุด ในทุกๆ พื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศซีกโลกใต้1 ประเทศซีกโลกใต้ (Global South) เป็นคำที่ไม่ได้อิงตามสถานที่ทางภูมิศาสตร์ และเป็นคำที่ประเทศชนชั้นนำคิดขึ้นมาเพื่อฟอกขาวให้กลุ่มประเทศตัวเองดูดี (เปลี่ยนมาจากคำว่าประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา) โดยมีมาตรวัตรทางเศรษฐกิจสังคม หรืออำนาจตกทอดจากยุคล่าอาณานิคมเป็นสำคัญ (บรรณาธิการ) หลายประเทศ เราอยากให้ทุกคนบนโลกนี้มีมากกว่าสิ่งของประทังชีวิตไปวันๆ อยากให้มีสิ่งของที่จำเป็นที่จะได้เติบโตด้วย ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่อย่างปลอดภัย มีรายได้ดีๆ บ้านดี ๆ สาธารณสุขฟรี เข้าถึงโรงเรียน ระบบขนส่งสาธารณะ สวนสาธารณะ ทุกครอบครัวควรได้มีตู้เย็นไว้ใช้ มีทีวีไว้ดู ทุกคนควรเข้าถึงสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตได้
บางคนกลัวว่า ถ้าเราทำเช่นนั้นและทำให้คนทั้ง 8 พันล้านคนมีชีวิตที่ดีได้ เราก็จะทำลายขีดจำกัดตามธรรมชาติของโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องก๊าซคาร์บอน แต่ยังรวมไปถึงขีดจำกัดของโลก (planetary boundaries) ในด้านอื่นๆ อีกด้วย ความกลัวว่าประชากรในซีกโลกใต้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมักถูกนำมาใช้เพื่อโยนความผิดให้กับประเทศกำลังพัฒนา บางคนโต้แย้งว่า แม้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะเป็นความผิดของประเทศที่ร่ำรวย แต่สิ่งที่เราโดนบอกให้กังวลตอนนี้ก็คือคนจีนและคนอินเดียหลายพันล้านคน
การวิเคราะห์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้คนกว่าร้อยล้านคนทั่วโลกที่รอดพ้นจากสภาวะความยากจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีส่วนเพียงเล็กน้อยในปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก ความจริงแล้ว การปล่อยก๊าซที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงความเสี่ยงและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตามมานั้น ไม่ได้เกิดจากการตอบสนองประโยชน์ของประชากรครึ่งโลกที่ยากจนกว่า ในทางกลับกัน มันทำให้กลุ่มคน 10 % ที่ร่ำรวยอยู่แล้วสามารถเพิ่มการบริโภคและเพิ่มการปล่อยคาร์บอนได้
ความจริงก็คือ ถ้าเรายังคงรักษาระดับความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันต่อไปเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีได้ GDP ทั่วโลกจะต้องเพิ่มสูงขึ้นเกินขีดความสามารถของโลก ในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา GDP โลกที่กำลังโตขึ้นทุกๆ 1 ดอลลาร์นั้นจะมี 46 เซนต์ขึ้นไปอยู่ที่คน 10% ข้างบน และมีเพียง 9 เซ็นต์ที่ตกลงไปถึงครึ่งล่างของประชากรทั้งหมด ประชากร 10% ด้านล่างมีรายได้น้อยกว่า 1% ของทุกหนึ่งดอลลาร์จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั่วโลก การกระจายรายได้เช่นนี้ไม่แฟร์และไร้ประสิทธิภาพมาก จนการทำให้มนุษยชาติทั้งหมดให้อยู่เหนือเส้นความยากจนที่ 5 ดอลลาร์ต่อวันนั้นจะต้องทำให้เศรษฐกิจโลกโตกว่าที่เป็นอยู่ถึง 173 เท่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อพิจารณาถึงขีดจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม
นี่หมายความว่า เป้าหมายที่จะช่วยโลกเอาไว้และทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีได้นั้นไปด้วยกันไม่ได้หรือเปล่า? การที่จะช่วยโลกของเราเอาไว้ มนุษยชาติส่วนใหญ่ต้องอยู่อย่างยากจนและหิวโหยไปตลอดกาลหรือเปล่า? คำตอบคือ ‘ไม่จำเป็น’ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับระดับของความเหลื่อมล้ำ
อย่างที่รู้กันดีว่า เมื่อผู้คนทั่วโลกเมื่อถูกถามว่าประเทศของพวกเขามีความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน พวกเขามักจะประเมินมันต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก และเมื่อพวกเขาถูกถามถึงระดับ “ความเหลื่อมล้ำที่แฟร์” ในระดับที่พวกเขาอยากจะให้เป็นนั้น แต่ละสังคมก็ให้คำตอบแตกต่างกันไป ทว่า คนส่วนมากก็อยากให้สังคมของพวกเขามีความเท่าเทียมกันมากกว่าที่เป็นอยู่เสมอ
งานศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ใน Nature ได้พิจารณาความเหลื่อมล้ำ (ที่แฟร์) ร่วมกับการปล่อยคาร์บอนที่จะทำให้ทุกคนบนโลกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีคุณค่า พวกเขาพบว่า หากสังคมทั่วโลกมีระดับของความเท่าเทียมในระดับที่พลเมืองรู้สึกว่า “แฟร์” ก็เป็นไปได้ที่มนุษยชาติทั้งหมดจะมีชีวิตที่ดีและอยู่ภายในขีดจำกัดพลังงานที่ไม่แตะถึงเพดานความร้อน 1.5 องศาได้
ข้อมูลชี้ชัดว่า คนที่ร่ำรวยที่สุดในสังคมของเราเป็นปัญหาใหญ่ ไลฟ์สไตล์หรูหราฟู่ฟ่าอันฉาบฉวยและการลงทุนของพวกเขาที่กำลังหนุนธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล การทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลงอย่างมหาศาลนั้นเป็นหนทางเดียวที่ทุกคนบนโลกจะสามารถมีชีวิตที่ดีและเป็นหลักประกันอนาคตของโลกของเราได้
หนทางใหม่ที่จะต่อกรกับสภาพภูมิอากาศล่มสลาย
การพิจารณารูปแบบการปล่อยมลพิษของกลุ่มรายได้ต่างกัน สามารถเปลี่ยนแปลงการกำหนดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศได้ หากจะรักษาระดับความแฟร์เอาไว้ คนรวยที่สุดจะต้องลดการปล่อยมลพิษให้ได้มากที่สุด ซึ่งจริงสำหรับทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา
นี่หมายความว่า เราไม่ควรเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราคงที่ แต่ควรเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้คาร์บอนมากก็ยิ่งต้องจ่ายภาษีมาก การลงทุนที่ก่อให้เกิดมลพิษควรมีการเก็บภาษีเชิงลงโทษเพิ่มเติม หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็แบนไปเลย สินค้าฟุ่มเฟือยและเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวควรถูกเก็บภาษีอย่างสูงหรือถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศในระดับชาติแต่ละครั้งนั้นควรดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อมลพิษที่ร่ำรวยที่สุดและสูงสุดแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไว้ และพร้อมๆ กันนั้นก็นำไปสู่ความเท่าเทียมกันที่มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่น้อยลง
การเพิ่มภาษีทั่วไปสำหรับผู้ที่ร่ำรวยที่สุด เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวอื่นที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำอย่างรวดเร็ว ย่อมต้องการการออกคำสั่งเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศแบบใหม่ยกเครื่องเช่นกัน โลกของเราทั้งใบจะเอาอกเอาใจคนรวยไม่ได้