ผู้เขียน: สหายS!nk



บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจว่าจะเขียนขึ้นมาเพื่อชวนคิดชวนคุยกับผู้อ่าน หรือ จะเรียกว่าเป็นแบบระดมไอเดียเท่าที่คิดได้และไม่มีการเรียบเรียงเป็นเส้นตรง บทความนี้จึงเป็นไปเพื่อการเอาเครื่องมือทางความคิดมาวางให้เลือกนำไปใช้ โดยไม่ได้มีประเด็นไหนสำคัญกว่าประเด็นอื่นๆ 

ข้อมูลจาก The Pew Research Center ระบุว่าสถิติของ ‘คนไม่มีศาสนา’ เพิ่มสูงขึ้นจาก 35 ล้านคน เมื่อปี 2008 มาเป็น 1,100 ล้านคน ในปี 2019 (1)  เป็นที่แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ (ปี 2023) จำนวนประชากรโลกที่ไม่นับถือศาสนาก็จะยังเพิ่มขึ้นต่อไปอีก เรื่องนี้เคยถูกทำนายไว้เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยนักนักปรัชญาชาวเยอรมัน ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich nietzsche) ซึ่งนีทเชอเองไม่ได้มอง “การตายของพระเจ้า” (God is dead) ในมุมมองแง่บวกแบบชาวเอทีสต์หน้าใหม่ว่า “เย้ ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็ชนะ ผู้คนจะเลิกงมงายแล้ว!” แต่หากมองว่าศาสนามีฟังก์ชันมากกว่าเป็นแค่การ “ทำให้คนงมงาย” ซึ่งการหายไปของศาสนาโดยไม่มีอะไรมาแทนที่ จะนำไปสู่สภาวะสุญนิยม (Nihilism) หรือก็คือสภาวะที่เรารู้สึกว่าชีวิตกลวงเปล่าไร้ความหมาย, นำไปสู่ความโดดเดี่ยว, สิ้นหวัง และ ซึมเศร้า 

แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนเองในปัจจุบันก็ไม่ได้นับถือศาสนา แต่มองว่าการเลิกนับถือศาสนาเก่านั้นเป็น “จุดเริ่มต้น” ในการเดินทางของจิตวิญญาณและแนวคิด มากกว่าจะเป็นจุดสิ้นสุด (ไม่โดนศาสนาหลอกแล้ว ไม่งมงายแล้ว เย้) 

ซึ่งในประเด็นข้อเสนอของนีทเชอนั้น จะมีการขยายความเพิ่มเติมในรายการ Analysand podcast ชื่อตอน “พระเจ้าตายแล้ว!” (God is dead) ที่กำลังจะออกในเร็วๆ นี้ สามารถติดตามได้ที่แชแนล Analysand ทั้งในยูทูปและสปอติฟาย

เราอาจมองได้ว่าความเสื่อมถอยของศาสนาก็เป็นส่วนนึงในการก่อให้เกิดความก้าวหน้าในโลกตะวันตก นั่นเพราะ เมื่อศาสนาที่เป็นเรื่องของความเชื่อได้ตายลงแล้ว ปรัชญาก็มีที่ทางในสังคมมากขึ้นเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งเหตุผล (Age of reason) หรือ ยุคสมัยแห่งการตื่นรู้ (Age of Enlightenment) ในขณะที่ยุคก่อนหน้านั้นที่ศาสนาเรืองอำนาจถูกเรียกว่า ยุคมืด (Dark age) 

ซึ่งภาคปฏิบัติการของความเชื่อมั่นในเหตุผลก็ คือ “วิทยาศาสตร์” ซึ่งในเวลาต่อมาวิทยาศาสตร์ก็นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี จนเกิดเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม นำมาสู่การปฏิวัติวิถีการผลิตครั้งใหญ่ มีการผลิตแบบ Mass production มีการสะสมทุนอย่างไม่เคยมีมาก่อน และ แน่นอนว่าเทคโนโลยีของอาวุธก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนในเวลาต่อมานำมาสู่มหาสงคราม อย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2

ตั้งแต่นั้นมาชาวตะวันตกเลยให้ความสำคัญกับ วิทยาศาสตร์และเหตุผลเป็นอย่างมาก ได้มีการจัดวางว่าศาสนาเป็นขั้วตรงข้ามกับปรัชญา ตัวผู้เขียนเองก็เคยตั้งข้อสันนิษฐานว่าลำดับการพัฒนาของชาติแต่ละชาติก็ควรดูตัวอย่างพัฒนาการของโลกตะวันตก หรือ ถ้าพูดอย่างเจาะจง คือ โซนยุโรป และ ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยเราพัฒนาบ้าง ขั้นต้นก็ต้องล้มล้างศาสนาให้ได้ก่อน เพื่อให้ประเทศเราเข้าสู่ “ยุคสมัยแห่งเหตุผลและการตื่นรู้” ตามขั้นตอนของชาติยุโรปที่พัฒนาสำเร็จก่อนเรา 

แต่ข้อสันนิษฐานี้วางอยู่บนคติแนวยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentrism) โดยไม่ได้พิจารณาบริบทความแตกต่างทางวัตถุ และ ประวัติศาสตร์ ระหว่างประเทศเรากับเขาซึ่งการตั้งโจทย์ผิด ก็นำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ และ ข้อปฏิบัติผิดๆ เช่นกัน

ศาสนากับวิทยาศาสตร์เป็นขั้วตรงข้ามกันจริงหรือ ? อันที่จริงแล้วมันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หากแต่ก็ไม่ได้แตกต่างอย่างแยกขาด ไอแซค นิวตัน ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “The last alchemist” (นักเล่นแร่แปรธาตุคนสุดท้าย) และ นักวิทยาศาสตร์คนแรก ก็เคยกล่าวไว้ว่าทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเขาเป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของพระเจ้า, เกรเกอร์ เมลเดล นักพฤษศาสตร์ที่พวกเราเคยเรียนกันตอนมัธยมก็เป็นบาทหลวง แม้กระทั่งนักบวชที่เสนอทฤษฎีบิ๊กแบงคนแรกๆ ก็บอกว่าทฤษฎีดังกล่าวเป็นการยืนยันถึงพลานุภาพของพระเจ้าในการสร้างจักรวาล (แต่เหล่าเอทีสต์ยุคปัจจุบันกลับนำทฤษฎีนี้มาหักล้างการมีอยู่ของพระเจ้าซะอย่างนั้น)  นอกจากนี้ในช่วงที่เป็น “ยุคมืด” ของชาวยุโรป ศิลปวิทยาการ, เทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์ ในโซนประเทศอาหรับที่ก็เป็นรัฐศาสนา กลับมีความเฟื่องฟูเหนือโซนยุโรป ประเทศจีนและอินเดียในสมัยนั้นก็เช่นกัน 

ดังนั้นการมอง “ยุคสมัยแห่งเหตุผล” ว่าแยกขาดจากยุคมืดจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กลับกันเราจะเห็นร่องรอยของปรัชญาแนว Platonic ในข้อเขียนของนักบุญออกัสตีน, นักบุญโทมัน อไควนัส และ นักบุญคาทอลิกท่านอื่นๆ และในเวลาต่อมาก็สืบเนื่องไปยังศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ แต่เราจะไม่ค่อยเห็นร่องรอยทางปรัชญาแบบนี้ในคริสเตียนออร์ทออดอกซ์ ที่ไม่ได้มีจุดศูนย์กลางที่ยุโรปตะวันตก 

ทีนี้เรากลับมาดูที่ประเทศไทยเราบ้าง น่าแปลกที่ข้อถกเถียงสุดคลาสิคในการโจมตีศาสนาพุทธ (แบบไทยๆ) ก็ คือ เรื่องเจ้าชายสิทธัตถะเดินได้ 7 ก้าวทันทีหลังคลอดออกจากท้องแม่ได้ยังไง ? เป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์! ซึ่งผมก็เห็นด้วยอยู่ครึ่งนึง แต่ถ้าด้วยตรรกะนี้แล้วผมว่าศาสนาอื่นๆก็ไม่ได้ต่างมากในแง่ของความเหนือจริง ความแฟนตาซี แต่ก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่คนพูดประโยคดังกล่าวกลับไปเข้ารีตศาสนาแนวอับราฮามิค (ยิว, คริสต์, อิสลาม) ผมก็ไม่แน่ใจว่าตกลงในปัจจุบันเขาโอเคกับเรื่องเจ้าชายสิทธัตถะเดินได้ 7 ก้าวทันทีหลังคลอดหรือยัง หรือ พระเยซูเดินบนน้ำ, คืนชีพคนตาย (อันนี้พระพุทธเจ้าก็ทำไม่ได้), เสกน้ำเป็นไวน์, นบี มุฮัมหมัดผ่าดวงจันทร์ ฯลฯ อาจดูเมคเซ้นส์กว่าก็เป็นได้ 

นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจ คือ “ไม่มีศาสนา = เลิกงมงาย” จริงหรือไม่ ? หากเราจะบอกว่าความงมงาย คือ “การเชื่อในสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้” นั้นก็มีปัญหาดังนี้ 

  1. เรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็แปลได้ว่าอาจจะจริง หรือ ไม่จริง ก็ได้คนอย่างกับการ “พิสูจน์ว่าผิด” เช่น การมีอยู่ของพระเจ้าวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีอยู่ หรือ ไม่มีก็ไม่ได้ เพราะพลานุภาพของพระองค์เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์จะเข้าใจ การที่พระองค์ไม่ปรากฏตัว ไม่ยอมมาให้นักวิทยาศาสตร์ทดลองจนพบ ก็อาจเป็นแบบทดสอบอย่างนึงที่พระองค์มีต่อมนุษย์
  2. วิทยาศาสตร์เองก็มีการพัฒนาตลอดเวลาและสามารถผิดได้ เหมือนที่ครั้งนึงนักวิทยาศาสตร์รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็เชื่อว่าการมีรสนิยมรักร่วมเพศเป็น “ความผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษา” หรือ การรักษาอาการทางจิตโดยเอาเหล็กแหลมแทงเข้าจมูกไปยังสมองส่วนหน้าเพื่อรักษาอาการทางจิต (Lobotomy) ซึ่งผู้ริเริ่มไอเดียดังกล่าวก็ได้รับรางวัลโนเบลด้วย
  3. สิ่งที่ถูกพิสูจน์ได้ล้วนแต่เป็นเรื่องในอดีต ส่วนเรื่องในอนาคตนับว่าเป็นเรื่องที่ “ยังพิสูจน์ไม่ได้” ไม่มีใครกล้ายืนยันว่าตัวเองจะตายตอนอายุเท่าไร หรือ แม้แต่จะไม่ “หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน” ระหว่างการนอนในคืนนี้ คอมมิวนิสต์เองก็ไม่สามารถระบุได้ว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นตอนไหน ส่วนคนที่มีความงมงายในระบบทุนนิยม แม้จะเชื่ออย่างหมดใจว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะ 1 ใน 1,000 คน (หากมีความพยายามมากพอ) ภายใต้ระบบตลาดที่ออกแบบให้คนส่วนใหญ่แพ้ แต่นั่นก็เป็นความงมงายรูปแบบนึงเพราะก็ มันยังไม่มาถึง/ยังไม่เกิดขึ้น และ ไม่มีอะไรการีนตีว่าตัวเองจะไม่ตกเป็นเหล่าผู้แพ้ 999 คน

จะเห็นได้ว่าแม้ประชากรคนรุ่นใหม่จะนับถือศาสนาน้อยลง แต่ทว่าก็มีกลุ่มคนที่เรียกว่า “สายมู” ซึ่งสะสมเครื่องรางของขลัง (ทั้งในรูปลักษณ์คลาสิค และ รูปลักษณ์ร่วมสมัย) ไปเข้าร่วมพิธีตามเทวาลัย หรือ สักการะศาลเจ้า เพื่อให้ได้โชคลาภ, ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน,โชคในเรื่องความรัก มีการดูดวงทำนายทายทัก พร้อมกับ “ไม่มีศาสนา” ไปด้วย 

ผมจึงมีความเห็นว่า 

  1. “การไม่มีศาสนา” ไม่เท่ากับการ “ไร้ความเชื่อ – ไม่งมงาย” โดยเราต้องมองว่า “ความรู้” นั้นเป็นอำนาจ (Power) ในตัวเองด้วย นั่นก็ คือ การได้มี “ความรู้” แบบชาติมหาอำนาจ (ยุโรป) ทำให้ผู้ที่มีความรู้ดังกล่าวรู้สึกมีอำนาจมากขึ้น (ดูมีการศึกษา, ฉลาด, หัวสมัยใหม่ ฯลฯ) และในทางกลับกันตัวความรู้เองก็เป็นอำนาจซึ่งครอบงำตัวผู้รู้ไปด้วยกัน 
  2. ในเมื่อในตัวความรู้มันมีอำนาจครอบงำในตัวเองแล้ว การที่เราปฏิเสธแนวคิด ความเชื่อบางอย่าง จึงเป็นการต่อต้านต่ออำนาจและความเป็นสถาบันไปในตัว 
  3. ไม่มีใครมีอุดมการณ์บริสุทธิ์ 100% ในตัวมนุษย์ทุกคนอาจมีลูกผสมของอุดมการณ์แบบศักดินา, เสรีนิยม, สังคมนิยม ฯลฯ ปะปนกันอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าบริบทใดอุดมการณ์ตัวไหนจะขึ้นมามีอำนาจนำเด่นชัดที่สุด ดังนั้นสภาวะของความย้อนแย้งในตัวเองเป็นเรื่องปกติ 

หรือถ้าพูดให้ชัดไปกว่านั้น คือ จริงๆ แล้วคนไทยเราอาจไม่ได้มีปัญหากับตัวศาสนา (พุทธ) เท่ากับอำนาจครอบงำที่มาพร้อมกับศาสนา (พุทธ) เราชาวไทยที่เรียนโรงเรียนรัฐก็คงจะเคยประสบการการโดนยัดเยียดกิจกรรมทางศาสนาพุทธให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับนั่งสมาธิคาบพระพุทธ, การบังคับไปค่ายปฏิบัติธรรม, การบังคับสวดมนตร์หน้าเสาธง, การบังคับให้ท่องจำ ซึ่งให้ความรู้สึกถูกกดทับและมีอำนาจน้อยลง ในขณะที่การใช้ความรู้แบบยุโรปๆ วิทยาศาสตร์ ๆ ทำให้เรามีอำนาจไปใช้ในการต่อต้าน, ถกเถียง, กบฏ ต่อผู้ที่ใช้อำนาจบังคับเรา (ทั้งจากสถาบันครอบครัว และ สถาบันการศึกษา” เหมือนที่ มิเชล ฟูโกต์ เคยกล่าวไว้ว่า “ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” 

อยากขอแทรกประเด็นนอกเรื่องสักเล็กน้อย นั่นคือ การบังคับนักเรียนให้ทำพิธีกรรม และ เข้าร่วมการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ นั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อใครเลยนอกจากชนชั้นปกครอง กลายเป็นการว่านั่งสมาธิที่เอาเข้าจริงแล้วมีประโยชน์หลายอย่าง และ มีผลการวิจัยรองรับ กลับกลายเป็นแผลทางใจของการถูกบังคับ ผมเองเคยไปเข้าค่ายปฏิบัติธรรมที่โรงเรียนบังคับให้ไป ซึ่งต้องนั่งสมาธิและเดินจงกรมสลับกันไปมาตลอดทั้งวัน โดยจะมีคนเดินถือไม้เรียวคอยหวดเด็กๆ ที่เผลอหลับ ซึ่งค่ายดังกล่าวให้นักเรียนได้นอนแค่วันละ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น นัยของค่ายนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสอนให้นักเรียนมีเครื่องมือทางจิตวิญญาณหรือได้ข้อคิดอะไรกลับไป แต่เป็นไปเพื่อตอกย้ำสถานะที่เหนือว่าของ “พระ-ครู-พี่เลี้ยง-ระบบ” ที่จะคอยลงโทษถ้าหากไม่ประพฤติตนตามระบบที่วางไว้ หลังจากจบค่ายที่ว่ามา นักเรียนก็ยิ่งแปลกแยกออกจากศาสนา ศาสนาก็ยิ่งถอยห่างจากประชาชนไปแนบแน่นกับชนชั้นปกครองมากขึ้น 

ซึ่งการสอนศาสนาพุทธแบบอำนาจนิยมนี้เอง เลยเป็นหนึ่งในเหตุผลให้คนไทยรุ่นใหม่เลิกนับถือศาสนาพุทธ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเหตุมาจากความรู้ความเข้าใจ, ข้อถกเถียงในระดับปรัชญา หรือ การเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นความรู้สึกของการต่อต้านการถูกกดทับด้วยอำนาจ จึงไม่แปลกที่คนๆ นึงสามารถจะมูไปด้วย ไม่มีศานาไปด้วย เชื่อในวิทยาศาสตร์ไปด้วยได้ 

ศาสนาพุทธเองต่างจากศาสนาแนวอับราฮามิคอยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องที่น่าสนใจมาก คือ หลักกาลามสูตร ที่เน้นเรื่องของการ “ไม่เชื่อ” แต่ให้ทดลองเอง พิสูจน์เอง แต่นั่นก็ไม่ได้มีความหมายอะไรเพราะโดยพฤตินัยสถาบันการศึกษาไทยก็เน้นเรื่องการเชื่อโดยไม่ตั้งคำถามมากกว่าเยอะมาก และ ชัดเจนว่าตัวผู้สอนเองก็สอนเรื่อง “กาลามสูตร” ไปโดนที่ตัวเองก็ไม่ได้เชื่อ หรือ ปฏิบัติตามหลักคิดนี้ 

ปัญหาอีกประการของศาสนาพุทธไทย คือ มันเป็นส่วนผสมของพุทธ-พราหมณ์-ผี โดยศาสนาพราหมณ์เมื่อก่อนเราจะเรียกว่าเป็น “ไสยศาสตร์” ซึ่งเอาไว้ใช้ในฟังก์ชันทางโลก หรือก็คือ ทางสายมู นั่นเอง เรื่องปลุกเสกเลขยันต์ เสริมดวง สะเดาะเคราะห์ เมตตามหานิยมต่างๆ ส่วนพุทธเอาไว้สำหรับฟังก์ชันทางโลกตระ (ทางธรรม) คือ การดับทุกข์ โดยมีธีมหลัก คือ ชีวิตแบบพระสงฆ์สละแล้วซึ่งทุกสิ่ง ในเวลาต่อมาเมื่อมีแนวคิดที่ต้องการ “ชำระพุทธให้บริสุทธิ์จากพราหมณ์-ผี” อย่างแนวคิดพุทธทาสภิกขุ, ลัทธิพุทธวจน หรือ สายธรรมยุติ ที่ส่วนนึงต้องการทำให้ศาสนาพุทธ “มีความเป็นวิทยาศาสตร์” กลับกลายเป็นทำให้ศาสนาพุทธไทยๆ ขาดฟังก์ชันทางสายมู ก่อเกิดเป็นเหล่าคนรุ่นใหม่ไร้ศาสนาแต่ทว่าก็มูขึ้นมา นั่นเอง 

  • ไม่มีศาสนาไม่ได้แปลว่าคนไม่งมงายเช่นสายมู
  • ศาสนาไทยเป็นเรื่องอำนาจมากกว่าจิตวิญญาณ
  • พุทธไม่ได้สอนให้เชื่อแต่สอนให้ตั้งคำถาม 
  • ความรู้ คือ อำนาจ ดังนั้นคนไม่มีศาสนามักจะมีแพคเกจแถมมาเป็นลิเบอทาเรี่ยน psuedo-materialism ไปด้วย