ต้นฉบับ : สหายS!nk

แม้ว่าเหตุกราดยิงสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 แต่ทว่ากลับเหมือนถูกลืมเลือนไปจากหน้าสื่อโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว เหตุด้วยปริมาณข่าวสารจำนวนมาก ถึงอย่างนั้นผมก็ยังคิดว่าเหตุการณ์กราดยิงนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความแปลกประหลาด สะเทือนขวัญและยังคงมีประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงอยู่อีกมาก 

เหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียน หรือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศใดก็ล้วนแต่มีความแปลกประหลาด เพราะมันไม่ใช่การฆาตกรรมทั่วไปที่มีแรงขับมาจากความอาฆาตพยาบาทส่วนตัว หากแต่เป็นการระเบิดของความรุนแรงออกไปยังผู้บริสุทธิ์ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เคยมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ก่อเหตุเลยด้วยซ้ำและแน่นอนว่าสาเหตุของเหตุการณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้ก่อเหตุ “เมายา” ขาดสติ และประสาทหลอน เพราะเราก็เห็นชัดเจนว่า ไม่มีคนเมายาคนไหนจะมีเจตจำนง การวางแผน และความแม่นยำในการเล็งปืนได้ขนาดนั้น มันชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุกระทำการไปขณะที่กำลังมีสติครบถ้วน มิหนำซ้ำยังมีการไตร่ตรองเอาไว้ก่อนอีกด้วย นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถใช้เพียงกรอบแบบ “ประสาทวิทยา” หรือ “จิตวิทยาส่วนบุคคล” ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างเพียงพอ เราจำเป็นต้องใช้กรอบแบบ “สังคมวิทยา” หรือเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมมาประกอบด้วย

น่าแปลกใจว่าถ้าหากเรามาดูตามสถิติแล้ว ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเหตุกราดยิงในโรงเรียนเป็นอันดับ 1 ของโลก ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงคราม หากแต่เป็นประเทศอภิมหา “พัฒนาแล้ว” อย่างสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1966 ถึง 2012 เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น 31% จากทั่วโลก ล้วนเกิดขึ้นในสหรัฐฯ (1) และที่น่าสนใจก็คือ อัตราความถี่ของเหตุกราดยิงเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัวไปกับการเติบโตของแนวคิดแบบ “เสรีนิยมใหม่” เหตุกราดยิงเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งในทศวรรษ1970 และอีก 6 ครั้งในทศวรรษ 1980 ซึ่งพอมาทศวรรษ 1990 จำนวนเหตุกราดยิงเพิ่มเป็น 25 ครั้งและเพิ่มขึ้นไปอีกเกือบเท่าหนึ่งในทศวรรษ 2000 ทว่าหลังปี 2013 เป็นต้นมา เราได้เห็นเหตุกราดยิงมากกว่า 300 ครั้ง เฉลี่ยตกสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว (2)

แล้วค่านิยมเสรีนิยมใหม่เกี่ยวข้องกับการกราดยิงยังไง? เราจะเห็นได้ว่าหนึ่งในข้อถกเถียงยอดนิยมของผู้ฝักใฝ่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและเสรีนิยมใหม่ ที่มักใช้เป็นประจำในการโต้แย้งแนวคิดฝ่ายซ้ายก็คือ “ความไม่เท่าเทียมและการแข่งขัน เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด” หรือเราอาจเรียกแนวคิดนี้ว่า แนวคิดแบบดาร์วินทางสังคม ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยในวลี “อ่อนแอก็แพ้ไป” หลักฐานที่ยืนยันแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี คือ การตัดสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ออกไปการลดกำแพงภาษี หรือแม้กระทั่งการที่รัฐเข้าไป “อุ้ม” บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใกล้จะล่มในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของลัทธิไลฟ์โค้ช และหนังสือ How to 

แนวคิดดาร์วินทางสังคมเชื่อว่าคนที่แข็งแกร่งล่าคนที่อ่อนแอกว่าได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะว่ามันคือ “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ตามมุมมองนี้ สังคมก็เป็นแค่ “การทดลองแบบดาร์วินระดับใหญ่” เท่านั้น ตามที่ Corey Robin ตั้งข้อสังเกตไว้ มันคือโลกของ “ปัจเจกผู้แข็งแกร่งและผู้ชนะผู้โดดเดี่ยว ซึ่งได้แก่ตัวแทนทางการเงินและมือปืน” แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เป็นผู้ชนะได้ ผู้ชายจำนวนไม่น้อย (โดยมากเป็นคนขาว) ที่ก่อเหตุกราดยิงเกิดหรือเติบโตมาในยุคเสรีนิยมใหม่และคนพวกนี้ก็กระหายที่จะเป็นผู้ชนะด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนที่เชื่อมั่นในเสรีนิยมใหม่ทั่วไป คนเหล่านี้ชิงชังความเท่าเทียมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่เชื่อในความแข็งแกร่งและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โลกของคนพวกนี้มีแต่ปัจเจก แต่พวกนี้รู้ดีว่าตัวเองจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต พวกคนที่หดหู่ซึมเศร้าเหล่านี้จึงหาทางออกง่ายๆ ที่จะทำให้ตนสามารถลิ้มรสการอยู่เหนือคนอื่นสักครั้ง แม้จะแค่ช่วงสั้นๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นในรูปแบบของการกราดยิงนั่นเอง คนพวกนี้กลายเป็นผู้ชนะในช่วงขณะที่ได้ฆ่าคนอื่น หลังจากนั้นก็จะปลิดชีพตัวเอง Berardi เรียกมันว่าเป็น “ความมุ่งมั่นที่จะชนะแบบเสรีนิยมใหม่ด้วยรูปแบบของการฆ่าตัวตาย” (3)

ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ปริมาณเหตุกราดยิง “ในโรงเรียน” จึงเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นเงาตามตัวของแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกได้ว่าเป็น “ประเทศแม่แห่งเสรีนิยมใหม่” ผู้ที่ทำการผลิตและส่งออกอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ รวมถึงนำมาปฏิบัติใช้อย่างขยันขันแข็ง

มีอยู่หลายครั้งที่ผมได้นั่งคุยปรับทุกข์กับมิตรสหายฝั่งประชาธิปไตยด้วยกัน แล้วมิตรสหายเหล่านั้นก็ปรารภขึ้นมาว่า “กูล่ะสิ้นหวังในชีวิตจริงๆ.. (เล่าถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเรื่องส่วนตัว)..รู้สึกอยากตาย แต่ไหนๆ ถ้าจะตายทั้งทีก็อยากมัดระเบิดติดกับตัวแล้วไป ‘ระเบิดพลีชีพ’ ใส่รัฐสภาแม่งเลย อย่างน้อยการตายกูก็เป็นประโยชน์กับสังคม” แม้ว่าจะเป็นการพูดในเชิงตลกร้ายและผู้พูดก็ยังไม่มีใครไปกระทำการดังกล่าวจริงจัง แต่ผมมองว่าในโมเมนต์ของการพูดแบบทีเล่นทีจริงและการพูดแบบไม่ได้ตั้งใจนี่แหละ หลายครั้งได้เผยให้เห็นถึงข้อความในจิตใต้สำนึกได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือไปจากประเด็นว่า “ในปัจจุบันจะยังมีคนยอมตายเพื่ออุดมการณ์อยู่มั้ย?” เราก็สามารถมองคำถามนี้ในมุมกลับได้ว่า “แล้วคนที่คิดจะทิ้งชีวิตไปอยู่แล้ว จะมีสิ่งใดเหลืออยู่ในจิตใจ นอกจากอุดมการณ์ที่ทำงานอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก” มนุษย์เราดิ้นรนทำสิ่งต่างๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การสร้างครอบครัว การวางแผนชีวิต การต่อสู้ทางการเมือง ฯลฯ ไปก็เพื่อพิทักษ์รักษา “ชีวิต” ของตัวเองให้ยังอยู่รอดต่อไปได้เรื่อยๆ แต่เมื่อคนๆ หนึ่งตัดสินใจจะทิ้งชีวิตตัวเอง หรืออยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า “ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” โมเมนต์ดังกล่าวอาจเผยความจริง ความเชื่อ แรงขับ และความปรารถนาของคนๆ นั้นได้มากกว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อจะยังชีวิตให้รอดก็เป็นได้ 

ประเด็นนี้พาเราไปสู่คำถามต่อไปว่า “ในกรณีของประเทศไทยที่เหตุกราดยิงส่วนใหญ่กระทำโดยทหาร ตำรวจ (ที่ยศต่ำ) ก็เป็นได้สูงว่าเพราะคนๆ นั้นถูกกดทับด้วยระบบราชการ รวมไปถึงการถูกหลอกใช้ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจสีเทา (เช่น การค้ายา) ทำไมคนเหล่านี้ไม่เอาความแค้นไปลงกับผู้บังคับบัญชาตัวเองที่เป็นตัวการของความแค้นนี้ หากแต่เอามาลงกับเด็กๆ ในโรงเรียน หรือประชาชนทั่วไป (เช่น เหตุกราดยิงในโคราช) ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยกันล่ะ?” 

จะเห็นได้ว่า “ความแค้นบริสุทธิ์” ไม่ได้เป็นคำตอบของคำถามนี้ หากแต่เป็น “ความแค้นที่เจือด้วยอุดมการณ์” ต่างหาก เปรียบเทียบได้กับการที่ฝ่ายประชาธิปไตยถ้าหากคิดว่าจะต้องตายแล้ว ก็อาจเลือกไป “ระเบิดพลีชีพ” ใส่พวกผู้นำเผด็จการ หรือรัฐสภา แต่ที่แน่ๆ คงไม่ออกไปกราดยิงในโรงเรียนเป็นแน่ ในขณะที่บุคคลซึ่งถูกปลูกฝังมาโดยอุดมการณ์แบบฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็นขวาแบบเสรีนิยมใหม่ “อ่อนแอก็แพ้ไป มีแต่ผู้แข็งแกร่งที่สุดที่จะอยู่รอด” หรือ ขวาแบบศักดินาไทยๆ ที่มีค่านิยมว่าคนที่อยู่ในชนชั้น หรือตำแหน่งที่สูงกว่าย่อมมีความชอบธรรมในการรังแกคนที่อ่อนแอกว่า อยู่ในแรงค์ต่ำกว่า และมีชนชั้นต่ำกว่า 

แม้ว่าจะมี “แรงขับ” ทางอารมณ์อันมาจากความรู้สึกถูกกดทับ สิ้นหวัง และโกรธเกรี้ยวเหมือนกันหากแต่ถ้ามี “ตัวกรองทางอุดมการณ์” ต่างกัน การแสดงผลของแรงขับนั้นก็ย่อมต่างกันไปด้วย 

ซึ่งในระดับของความรู้สึก ฝ่ายประชาธิปไตยรู้สึกว่าต้นเหตุของความทุกข์ทรมานในชีวิต เกิดขึ้นมาจากผู้นำฝ่ายเผด็จการและระบบเศรษฐกิจสังคม ส่วนฝ่ายขวาจะมองว่าที่ตัวเองเผชิญกับความทุกข์ทรมานนี้ มาจากการที่ตัวเอง “มีแรงค์ทางสังคมที่ไม่สูงพอ” พวกเขาต้องการจะรู้สึกถึงการเป็น “ผู้ชนะ” อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งก่อนที่ตัวเองจะตาย 

แต่เขาจะเป็น “ผู้ชนะ” ได้หรือ? ถ้าหากส่วนสำคัญของที่มาแห่งอำนาจของพวกเขา มาจากสถาบันราชการที่หยิบยื่นยศ (แม้จะเล็กน้อย) และตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมให้พวกเขา นอกจากนี้การเข้าไป “กราดยิง” ในสถานีตำรวจ หรือค่ายทหาร ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่เขาจะถูกระงับยับยั้งเหตุด้วยความที่สถานที่นั้นๆ เต็มไปด้วยผู้คนที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรง การกราดยิงในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และที่ชุมชนของพลเรือนทั่วไป จึงเป็นสนามที่เหมาะสมให้คนเหล่านี้ได้สำแดงอำนาจและความเป็นผู้ชนะครั้งสุดท้าย 

ในการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ กรอบนึงที่เราจะละเลยไม่ได้ก็คือ กรอบความคิดเรื่องเพศ เพราะส่วนใหญ่ หรืออาจจะเกือบทั้งหมดของเหตุกราดยิงเหล่านี้ล้วนมีผู้ชายเป็นผู้กระทำการ หรือต่อให้ไม่ใช่เหตุกราดยิง แต่เป็นเหตุฆาตกรรมหมู่ครอบครัวตัวเอง ก็มักจะเป็นฝ่ายผู้ชายเป็นผู้ก่อการ ทั้งนี้ไม่ได้จะสื่อไปในแนวเหยียดเพศว่าเหล่าชายแท้เป็นตัวการของความรุนแรงทั้งปวงในสังคม หากแต่จะเป็นการมองเพศชายผู้กระทำการในฐานะที่เป็น Object (ผู้ถูกกระทำ) จากระเบียบวิถีแห่งทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเรื่องนี้ไปขยายความต่อในบทความ ชื่อ “Incel ชายแห่งชายชอบ” ที่จะเป็นบทความต่อไป 

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าเราอาจไม่ได้คำตอบที่สมบูรณ์แบบในการอธิบายเหตุกราดยิงในโรงเรียน แต่ผมเชื่อว่าถ้าหากปรากฏการณ์ทางสังคมบางอย่างเกิดขึ้นในลักษณะที่พ้นไปจากความเป็นปัจเจก หมายความว่า มีการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำๆ โดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้รู้จักกันหรือวางแผนร่วมกันมาก่อน เราไม่อาจจะใช้เพียงกรอบแบบประสาทวิทยา (การสรุปว่าผู้ก่อเหตุกระทำการไปเพราะเสพยา หรือมีความผิดปกติทางสารสื่อประสาท) หรือจิตวิทยาส่วนบุคคล (ผู้ก่อเหตุมีปมในวัยเด็ก) หากแต่ต้องใช้กรอบทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เข้ามาใช้วิเคราะห์ด้วย เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่หายไปของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยยกระดับการถกเถียงในประเด็น “เหตุกราดยิงในโรงเรียน” ไปสู่ขั้นที่เราเห็น “ปัญหาที่ซ่อนอยู่ในปัญหา” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อวางแผนระงับยับยั้ง หรือเริ่มแก้ปัญหาจากรากฐานในโอกาสต่อไป 

อ้างอิง:

(1) https://www.bbc.com/thai/articles/clm8lx797gyo

(2) หน้า162 หนังสือ “เมื่อโลกซึมเศร้า” ของ สรวิศ ชัยนาม

(3) หน้า 161 หนังสือ “เมื่อโลกซึมเศร้า” ของ สรวิศ ชัยนาม