ผู้เขียน T. Derbent
ผู้แปล Dion de Mandaroon
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute

ยุทธศาสตร์ 11 ข้อดังต่อไปนี้ เป็นการสรุปสั้นๆ ยุทธศาสตร์การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในประวัติศาสตร์โลกตามการจำแนกในคู่มือ หมวดหมู่นโยบายทางทหารการปฏิวัติ (Categories of Revolutionary Military Policy) เขียนโดย T. Derbent สหายคอมมิวนิสต์สายยุทธศาสตร์การทหารจากประเทศเบลเยี่ยม

11 ข้อนี้ ไม่ใช่สูตรหลักที่เราต้องหยิบไปใช้อย่างตายตัว (ต้องคำนึงถึงและปรับใช้ตามวัตถุสภาพในประเทศไทย) หากแต่เป็นการสรุปความเป็นไปได้ต่างๆ ทางการปลดแอกทางการเมืองที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลกเพื่อการเรียนรู้และจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ทางทหารใหม่ๆ ให้กับท่านผู้อ่าน ซึ่งไม่แน่ว่าสักวันหนึ่งการปฏิวัติประชาชนในประเทศไทยที่มีแผนยุทธศาสตร์แบบฉบับของเราเอง จะกลายเป็นข้อ 12 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้สหายและผู้ถูกกดขี่ในสมรภูมิอื่นได้ศึกษากันต่อไป

1. ยุทธศาสตร์การกบฏสำนัก Blanquist

เป็นยุทธศาสตร์ของนักปฏิวัติสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส Louis Auguste Blanqui วิธีการของเขาคือใช้กองกำลังติดอาวุธขนาดเล็ก (ประมาณ 500 – 800 คน ในการกบฐวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1839) โดยคาดไว้ว่ามวลชนในส่วนมากพร้อมที่จะก่อการกบฏแล้ว แต่ไม่ได้มีการ organize กับมวลชนจริงๆ เป็นการปฏิบัติแทนชนชั้นกรรมาชีพที่ยังไม่พร้อม ยุทธวิธีของ Blanqui คือเข้าโจมตียึดคลังอาวุธเพื่อแจกจ่ายให้มวลชนที่ต้องการเข้าร่วมขยายขนาดกองกำลังเดิม, เข้ายึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, และตั้งด่านเครื่องกีดขวางเพื่อปิดถนนขัดขวางการเคลื่อนตัวของกองกำลังฝ่ายรัฐ ยุทธศาสตร์สำนักนี้พึ่งพาการใช้ด่านเครื่องกีดขวางตามถนนในเมืองใหญ่มากจนเกินไป ไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองได้สะดวกตามที่ Freidich Engels วิเคราะห์ไว้ ขบวนการปฏิวัติกรรมาชีพจึงเลิกใช้ยุทธวิธีนี้ไปในปี ค.ศ.1848 ทางเดียวที่ Blanqui จะชนะได้ในตอนนั้นคือมีทหารจำนวนมากแปรพักตร์มาอยู่ฝั่งผู้ก่อกบฏ

2. ยุทธศาสตร์การกบฏโดยการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ

เป็นมรดกยุทธศาสตร์จาก Mikhail Bakunin นักสังคมนิยมอนาธิปไตยชาวรัสเซีย โดยมีเป้าหมายคือการทำลายรัฐผ่านการเคลื่อนไหวโดยประชาชนจำนวนมากเพียงครั้งเดียว เช่น การประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะเริ่มขึ้นได้เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยธรรมชาติของมวลชน จะผิดกับยุทธศาสตร์ของ Blanqui ข้างต้น ที่ไม่รอให้มวลชนพร้อม เมื่ออัตวิสัยของมวลชนพร้อมที่จะก่อการกบฏแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการวางแผนเชิงวัตถุประสงค์รูปธรรม เช่น การจัดรูปแบบองค์กรและการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งจะเป็นไปได้โดยง่ายเพราะยิ่งมวลชนผู้มีส่วนร่วมมีจำนวนมาก ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นไปได้ทางยุทธวิธีก็จะมีมากตามกันเป็นสัดส่วน ยุทธศาสตร์นี้พึ่งพา (แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก) การแตกแยกภายในอำนาจรัฐของชนชั้นปกครอง เช่น ทหารจำนวนมากหนีทัพมาอยู่ฝ่ายมวลชน เป็นต้น ในประวัติศาสตร์โลกมีกลุ่มที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้ เช่น กลุ่มสหการอนาธิปไตย (Anarcho Syndicalism) ต่างๆ ในทวีปยุโรปตะวันตกในช่วงระหว่างสงครามโลก (ฝรั่ง) ครั้งที่ 1 และ 2, และกลุ่มซ้ายสุดโต่งของสำนัก Amadeo Bordiga ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี เป็นต้น

3.ยุทธศาสตร์การก่อการร้ายที่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง (Exemplary Terrorism)

เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้กันโดยอนาธิปไตยชนบางสำนักและโดยกลุ่มประชานิยมรัสเซีย เช่น Narodniks และกลุ่ม Narodnaya Volya (แปลเป็นไทยว่า เจตจำนงแห่งปวงประชา) ที่ต่อสู้กับระบอบกษัตริย์ในรัสเซียและทำการสังหารซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สองได้สำเร็จ ยุทธศาสตร์นี้ใช้รูปแบบเป็นองค์กรลับที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนหรือมีความสัมพันธ์ใดๆ กับมวลชนส่วนใหญ่เลย โดยวิธีเดียวที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับมวลชนคือก่อการให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่างหรือการวางตัวของผู้ก่อการเมื่อโดนรัฐปราบปราม

ยุทธศาสตร์นี้สามารถทำได้เพียงสร้างความหวาดกลัวในหมู่ศัตรู, เรียกให้ศัตรูมีปฏิกิริยาทำการโต้ตอบด้วยกำลัง, และชนะใจมวลชนในเชิงนามธรรมเท่านั้น ในประวัติศาสตร์แล้วยุทธวิธีนี้ยังไม่สามารถแปรผลที่เกิดขึ้นสามประการที่ว่าให้เป็นกำลังทางรูปธรรมที่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ มีแต่นำไปสู่ความล้มเหลว เพราะการปลุกให้ส่วนของมวลชนที่พร้อมจะก่อการปฏิวัติตื่นขึ้น ไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีการ organize โดยตรงจากภายในมวลชน

4. ยุทธศาสตร์การกบฏของ Lenin และองค์กรคอมมิวนิสต์นานาชาติ (Comintern)

นำไปใช้สำเร็จครั้งแรกในการปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1917 และเป็นหัวข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีอย่างแพร่หลายหลังจากนั้นเป็นต้นมา ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้โดยของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1920s และ 1930s โดยตกผลึกสังเคราะห์การวิเคราะห์ของ Marx และ Engels รวมไปถึงประสบการณ์จากการปฏิวัติรัสเซียครั้งก่อนในปี 1905 การจัดการทางองค์กรจะให้ความสำคัญกับพรรคแนวหน้า (Vanguard Party) ที่เป็นผู้ลงแรงพยายามรวบรวมปัจจัยต่างๆ ทั้งในทางวัตถุ, ในเชิงอุดมการณ์, และเชิงสังคม ที่จะนำมาซึ่งการปฏิวัติที่สำเร็จ เช่น การสร้างจิตสำนึกการปฏิวัติให้มวลชนผ่านการศึกษา, การจัดองค์กรทางการเมืองและทางทหารของมวลชนอย่าง Red Guard, เน้นการฝึกและจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองกำลังจู่โจมเคลื่อนที่ (Shock Troops) และใช้ยุทธวิธีของกองกำลังนี้แทนการใช้เครื่องกีดขวางแบบยุทธศาสตร์ของสำนัก Blanqui, ตั้งกองบัญชาการให้เป็นรูปร่าง, ร่างแผนการรบ, พิจารณาโอกาสการปฏิบัติการที่เหมาะสม เป็นต้น ยุทธศาสตร์นี้สำเร็จในประเทศรัสเซียแต่ล้มเหลวเมื่อนำไปปรับใช้กับสภาพรัฐอื่นในเวลาต่อมา เช่น การลุกฮือที่เมืองฮัมเบิร์กประเทศเยอรมนีในปี 1923, การลุกฮือนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในนครเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1927 ที่ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลเจียงไคเช็ค, สงครามกลางเมืองออสเตรียปี 1934 นำโดยพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย, การลุกฮือในบราซิลปี 1935 นำโดยขบวนการปลดแอกแห่งชาติ (National Liberation Alliance) สนับสนุนโดยพรรคคอมมิวนิสต์บราซิล และอื่นๆ

5. ยุทธศาสตร์สงครามประชาชน (อีกชื่อหนึ่งคือ สงครามประชาชนยืดเยื้อ; Protracted People’s War)

มีสามระยะ คือ 1. ช่วงสงครามกองโจร เป็นช่วงยุทธศาตร์เชิงรับที่ค่อนข้างมีการเคลื่อนไหวทางยุทธวิธีอยู่ตลอดเวลา ฝ่ายประชาชนเป็นผู้เริ่มชิงปฏิบัติก่อนมากกว่าที่จะเป็นผู้รอตอบโต้ฝ่ายรัฐ 2. ช่วงยุทธศาสตร์สมดุล 3. ช่วงยุทธศาสตร์เชิงรุก เป็นช่วงที่กองกำลังปฏิวัติสามารถทำสงครามได้ทั้ง สงครามกลยุทธ์ (War of Movement คือการสู้รบทางกำลัง มีจุดมุ่งหมายคือเข้ายึดหรือทำลายส่วนบัญชาการรบของฝ่ายศัตรู) เป็นหลักและสงครามที่ตั้ง (War of Position; ผู้แปลเข้าใจว่าหมายถึงสงครามนอกสนามรบเพื่อสั่งสมอิทธิพลในสังคม ไม่ว่าจะผ่านการสร้างพันธมิตรและการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อต่อกรกับอำนาจนำของรัฐตามความคิดของสำนัก Antonio Gramsci) เป็นรอง

เหมาเจ๋อตง สรุปหลักการของยุทธศาสตร์สงครามประชาชนเป็นข้อๆ ดังนี้

  • เริ่มแรกให้โจมตีกำลังของศัตรูที่อยู่กันกระจัดกระจายโดดเดี่ยวก่อน แล้วจึงโจมตีกำลังอื่นที่สำคัญกว่าในภายหลัง
  • ให้ปลดปล่อยอาณาเขตต่างๆในชนบทก่อน (liberated zones; หมายถึงหน่วยพื้นที่การปกครองไม่ว่าจะเป็น อำเภอ,ตำบล, หมู่บ้าน ที่กองกำลังปฏิวัติได้เข้าโจมตีและปลดปล่อยมวลชนออกจากโครงสร้างการปกครองของรัฐแล้ว และประชาชนกลายเป็นรัฐบาลท้องถิ่นบริหารตัวเองไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง) ล้อมตัวเมืองต่างๆ ด้วยอาณาเขตอิสระเหล่านี้ แล้วจึงค่อยๆ เริ่มเข้ายึดจากตัวเมืองเล็กสู่เมืองใหญ่
  • ในการปะทะทุกครั้ง ควรมีกองกำลังมากกว่าฝ่ายศัตรูเป็นจำนวนมาก (กล่าวคือ ในภาพรวมยุทธศาสตร์นี้คือหนึ่งสู้สิบ แต่ในทางยุทธวิธีคือสิบสู่หนึ่ง; มีตัวอย่างให้เห็นที่การปฏิวัติในประเทศอื่นนอกจากจีนนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้และคำว่า “กองกำลัง” ไม่ได้หมายความถึงจำนวนคนเพียงอย่างเดียว เช่น Viet Minh ขบวนการปลดปล่อยเวียตนามจาก ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, และรัฐบาลเวียตนามใต้ นำโดย โว เหงียน เกียป ซึ่งกองกำลัง Viet Minh นั้นมีจำนวนน้อย บ่อยครั้งที่ไม่สามารถสู้ศัตรูในสภาพสิบต่อหนึ่งได้ ในทางยุทธวิธีส่วนมากจะสู้ด้วยกำลังที่มีจำนวนคนเท่าๆ กัน แต่ตัดสินกันด้วย การโจมตีไม่ให้ข้าศึกตั้งตัว, ความรู้เรื่องภูมิประเทศ, คุณภาพการปฏิบัติการของกองกำลัง เช่น ความพร้อมรบ และความกล้าหาญเชิงปฏิวัติ)
  • ต้องมั่นใจว่ากองกำลังต่อสู้มีจิสำนึกทางการเมืองในระดับสูง เพื่อสร้างความอดทน, ความกล้าหาญ, และความตระหนักถึงการเสียสละตนเอง ที่เหนือกว่าฝ่ายศัตรู
  • ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เคารพผลประโยชน์และความต้องการของประชาชน (ในบริบทของประเทศที่ไม่เคยเป็นอาณานิคมของชาติจักรวรรดิ เช่น ประเทศไทยและในศูนย์กลางทุนนิยมใหญ่อื่นๆ มิได้หมายความว่าต้องได้รับเสียงสนุบสนุนจากประชาชน “ส่วนมาก” ภายใต้การจัดสรรทางนามธรรมของอุดมการณ์ชาตินิยม เพราะข้อขัดแย้งหลักคือข้อขัดแย้งระหว่างชนชั้นล่างกับระบอบกษัตริย์และนายทุนภายในประเทศ มิใช่ระหว่างชนชั้นล่างกับนายทุนนอกประเทศ)
  • ศัตรูที่จับได้ให้ส่งเข้าค่ายกักกันนักโทษทางสงคราม
  • ใช้เวลาระหว่างการสู้รบ ฝึกฝน, เรียนรู้, และพัฒนาตนเอง

ยุทธศาสตร์นี้ประสบความสำเร็จใน ยูโกสลาเวีย, อัลแบเนีย, จีน และในภูมิภาคอินโดจีนบางส่วน และล้มเหลวครั้งใหญ่ในประเทศกรีซ (ปี 1945-49) และมาเลเซีย (ปี 1948 – 60)

6. ยุทธศาสตร์การรัฐประหาร

เป็นยุทธศาสตร์ที่อาศัยว่าความสัมพันธ์ระหว่างคณะปฏิวัติกับกองกำลังอื่นๆ ในประเทศอยู่ในระดับดีมากซึ่งเป็นสภาพที่เห็นได้ไม่บ่อยนัก ยกตัวอย่างเช่นการรัฐประหารของพรรคคอมมิวนิสต์ที่นครปราก ในปี 1948 มีปัจจัยต่างๆ เช่น กองทัพโซเวียตประจำอยู่ใกล้, พรรคคอมมิวนิสต์ เช็คโกสโลวาเกียในตอนนั้นมีบารมีและพลังสูงส่ง, มีกองกำลังประชาชนคนงานติดอาวุธอยู่ 15000 – 18000 คน, หน่วยงานความมั่นคงของรัฐและหน่วยทหารถูกแทรกแซงเรียบร้อย เป็นต้น ยุทธศาสตร์นี้เมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์อื่นแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด แถมยังสามารถอ้างความชอบธรรมทางกฏหมายได้ ทำให้รัฐบาลชุดใหม่สามารถต่อต้านกลบเสียงครหาของสังคมชนชั้นกลางได้ง่าย ในทางประวัติศาสตร์แล้วการทำรัฐประหารส่วนมากเกิดจากการฉกฉวยโอกาสในสถาณการณ์ที่เอื้ออำนวยมากกว่าเป็นการวางแผนยุทธศาสตร์การปฏิวัติ อย่างไรก็ดีในหลายประเทศโลกที่สามช่วงยุค ค.ศ. 1960s และ 70s ยุทธศาสตร์นี้ถูกนำไปใช้โดยเหล่านายทหารหนุ่มๆ ความคิดก้าวหน้าที่มีความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต

7. ยุทธศาสตร์การเมืองเลือกตั้งแบบติดอาวุธ

ตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ว่าการยึดอำนาจส่วนหนึ่งเป็นไปได้ผ่านวิธีการทางกฏหมาย มีเงื่อนไขคือ มีการเคลื่อนไหวดิ้นรนของมวลชนขนาดใหญ่มากพอที่จะการันตีสิทธิเชิงประชาธิปไตยหลังจากการเลือกตั้ง โดยหลังจากยึดอำนาจผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยได้ส่วนหนึ่งเป็นก้าวแรกแล้ว อำนาจทางกฏหมายหนุนหลังโดยมวลชนที่ได้มาเมื่อเอาไปรวมกับทรัพยากรของกองกำลังปฏิวัติเองจะเป็นเครื่องมือในขั้นตอนการปฏิวัติขั้นต่อไปเพื่อยึดอำนาจรัฐเสร็จสมบูรณ์และมีพลังมากพอจะต่อกรกับปฏิกิริยารุกกลับของอำนาจรัฐเดิมที่จะทำรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจคืน หรือต่อกรกับการแทรกแซงจากภายนอกประเทศที่จะฉวยโอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

กล่าวง่ายๆ คือองค์กรที่เลือกใช้ยุทธศาสตร์นี้ต้องมีศักยภาพทางทหารมากพอที่จะถือครองอำนาจที่ยึดมาได้ด้วยวิธีการทางกฎหมาย (ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยทางรัฐสภาหรืออะไรก็แล้วแต่) ในประเทศชิลี นายพลปิโนเช่ผู้นำรัฐบาลเผด็จการเสรีนิยมใหม่ทุ่มเทดิสเครดิตสมมติฐานยุทธศาสตร์นี้เพื่อไม่ให้ประชาชนสู้กลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เห็นได้จากที่ปิโนเช่ทำรัฐประหารรัฐบาลสังคมนิยมที่มาจากการเลือกตั้งของ ซัลวาดอร์ อะเย็นเด้ ผู้ซึ่งไม่สามารถต่อกรกับกำลังทหารของรัฐได้) แม้ว่ายุทธศาสตร์นี้จะประสบความล้มเหลวขั้นนองเลือดไปแล้วก็ตามเมื่อช่วงสงครามกลางเมืองออสเตรีย ปี 1934 ที่พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย (ซึ่งมีความชอบธรรมทางกฏหมายในรัฐสภาออสเตรียอยู่แล้ว) พยายามใช้กำลังรบกึ่งทหารต่อกรกับกำลังทหารของสาธารณรัฐออสเตรียที่หนึ่ง

8. ยุทธศาสตร์โฟกัส หรือโฟโคอิสซึม (The Focoist Strategy; คำว่า foco ในภาษาสเปนแปลว่า focus)

เป็นทฤษฎีที่เกิดจากการอ่านและรวบรวมประสบการณ์จำเพาะของการสู้รบแบบกองโจรช่วงปลายทศวรรษที่ 1950s และต้น 1960s ในทวีปละตินอเมริกาและประเทศคิวบา นักทฤษฎียุทธศาสตร์โฟกัส Regis Debray จัดให้สหาย เช เกวาร์ร่า เป็นผู้ปฏิบัติใช้ยุทธศาสตร์สำนักนี้คนสำคัญ โดยลักษณะหลักของยุทธศาสตร์นี้คือการปฏิวัติจะเน้นหนักการใช้ฐานปฏิบัติการชนบทเคลื่อนที่สำหรับการรบแบบกองโจร ซึ่งโฟโกอิสซึมไม่ได้ถูกกำหนดมาให้นำไปใช้เป็นสากลได้ และจำกัดอยู่ในบริบทของสังคมละตินอเมริกาที่ในตัวเมืองเป็นสังคมทุนนิยมแต่ในชนบทเป็นสังคมศักดินาแบ่งกันเห็นได้ชัด ทำให้กองกำลังปฏิวัติไม่สามารถก่อตั้งอาณาเขตอิสระ (liberated zones) ตามยุทธศาสตร์สงครามประชาชนในข้อ 5 ข้างต้นได้ ในทางทฤษฎีแล้วฐานปฏิบัติการกองโจรเคลื่อนที่ต่างๆ จะขยายขนาดและพัฒนารวมกันกลายเป็นกองทัพประชาชน (ซึ่งไม่มีที่ตั้งถาวร) จนสามารถปิดล้อมตัวเมืองต่างๆ ได้ จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันถูกโค่นล้มจากภายในโดยคนงานในเมืองที่ไม่พอใจจนประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ บทบาทของชนชั้นกรรมาชีพในยุทธศาสตร์นี้ก่อนจะถึงจุดประท้วงหยุดงานจำกัดอยู่เพียงให้การสนับสนุนกองโจรในชนบท ไม่มีส่วนร่วมหลักในกระบวนการ

9. ยุทธศาสตร์การกบฏสมัยใหม่ (The Neo-Insurrectionary Strategy)

ยุทธศาสตร์นี้เกิดขึ้นหลังจากความสำเร็จของการปฏิวัติประชาชนในประเทศนิการากัวนำโดยกลุ่มแนวหน้าประชาชาติปลดแอก Sandanista (Sandanista National Liberation Front) ชัยชนะในนิการากัวทำให้กองกำลังปฏิวัติจำนวนหนึ่งทั่วโลกเลิกใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนบางส่วนหรือทั้งหมด และปรับมาใช้ยุทธศาสตร์นี้เพื่อเร่งให้การปะทะกับรัฐบาลปลายขึ้นโดยปลุกระดมให้เกิดการลุกฮือจากภายในตัวเมืองต่างๆ แทน การปรับใช้อย่างไม่ถูกต้องนี้นำไปสู่ความล้มเหลวในช่วงปี 80s ของกองทัพประชาชนใหม่ (New People’s Army) ซึ่งเป็นกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะบนเกาะมินดาเนา ในเวลานั้น NPA ละทิ้งยุทธศาสตร์สงครามประชาชนและฝืนผลักดันช่วงระยะสงครามจากยุทธศาสตร์เชิงรับ เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกตอบโต้ หน่วยรบเล็กเคลื่อนที่ถูกจัดโครงสร้างใหม่เป็นกองพันแต่แกนนำจากพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่พร้อมที่จะบังคับบัญชาการทางทหารในรูปแบบใหม่นี้เพราะเป็นการบริหารแบบมีลำดับชั้นมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถสู้กับกองทัพรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ ในปี 1992 NPA จึงต้องหันกลับไปใช้ยุทธศาสตร์สงครามประชาชนอีกครั้ง

10. ยุทธศาสตร์การสงครามปฏิวัติแบบผสม (The PASS Strategy of Combined Revolutionary Warfare [CRW])

ถูกนิยามและนำไปใช้โดย Mahir Çayan และผู้ก่อตั้งอื่นๆ ของ แนวหน้า/พรรคประชาชนปลดแอกประเทศตุรกี (THKP-C) มีองค์กรอื่นในช่วงยุค 70s และ 80s ที่รับยุทธศาสตร์นี้ไปใช้ เช่น กลุ่มซ้ายปฏิวัติ (Dev Sol), กลุ่มเส้นทางปฏิวัติ (Dev Yol), หน่วยข่าวโฆษณาชักชวนมาร์กซิส-เลนินนิสท์ติดอาวุธ (MLSPB), แนวหน้าปฏิวัติของประชาชน (THKP-C/ People’s Revolutionary Vanguards) เป็นต้น ในทางทฤษฎียุทธศาสตร์นี้ยึดการสู้รบแบบกองโจร(เป็นหลัก) ผสมกับการต่อสู้(เป็นรอง) ทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ, ทางกระบวนการประชาธิปไตย, และทางอุดมการณ์ควบคู่กันไป จนกระทั่งถึงเวลาเหมาะสมเปลี่ยนยุทธวิธีทั้งหมดเป็นการสงครามตามจารีต ยุทธศาสตร์ PASS แบ่งได้เป็นสามระยะ ดังนี้

  • เริ่มจากการจัดตั้งกองโจรเมือง
  • กองโจรจากในเมืองกระจายไปทั่วประเทศและจัดตั้งกองโจรชนบทขึ้นมาคู่ขนาน การปฏิบัติการของกองโจรทั้งสองประเภทไม่เหมือนกันและมีความสำคัญต่างกัน กองโจรชนบทสามารถถอยทัพและเสริมกำลังได้โดยการเกณฑ์กำลังจากชาวบ้านเป็นระยะๆ ในขณะที่กองโจรในเมืองไม่สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่เกินจำนวนหนึ่งได้ หลังจากปฏิบัติการก็ต้องแยกย้ายกันกลับสู่ฐานที่ตั้งลับที่กระจายกันอยู่หลายที่ ทำให้ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์โดยตรงต่อเนื่องกับมวลชนได้
  • เปลี่ยนกำลังกองโจรให้กลายเป็นกองทัพประจำการ

11. ยุทธศาสตร์การสงครามปฏิวัติยืดเยื้อ

ถูกนิยามและนำไปใช้โดยองค์กรคอมมิวนิสต์ในทวีปยุโรป ตั้งอยู่บนพื้นฐานสงครามประชาชนของเหมาเจ๋อตงแต่แตกต่างกันตรงที่ไม่มีการใช้กองโจรชนบท หรือยุทธวิธีการปิดล้อมเมืองจากภายนอก โดยแทนที่จะใช้อาณาเขตอิสระเปลี่ยนเป็นการใช้เครือข่ายแฝงตัวอยู่ในองค์กรมวลชนต่างๆ เช่น ในสหภาพแรงงาน และอื่นๆ, ให้ความสำคัญกับวิธีการติดอาวุธเป็นโฆษณาชักชวน (Armed Propaganda คือ การติดอาวุธปฏิบัติการรุนแรงกับทรัพย์สินและบุคลากรของรัฐและชนชั้นปกครองและในขณะเดียวกันกระจายข่าวตามแพลตฟอร์มสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรค หรือการประกาศสาธารณะเพื่ออธิบายเหตุผลและวัตถุประสงค์ของแต่ละปฏิบัติการ เป็นการคงตัวอยู่ในสื่อ ทำให้สามารถชักชวนมวลชนในส่วนที่ตื่นตัวทางการเมืองแล้วส่วนหนึ่งมาสนับสนุน) , รวมไปถึงการจัดรูปแบบความสัมพันธ์องค์ใหม่ระหว่างส่วนรับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับพรรคและส่วนรับผิดชอบงานทางทหาร เช่น ปฏิเสธการแยกตัวกันอย่างชัดเจนระหว่างตัวพรรคคอมมิวนิสต์และกองทัพแดงซึ่งเป็นโครงสร้างองค์กรตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง ปรับเปลี่ยนเป็นพรรคที่พร้อมสู้ (Fighting Party) และอื่นๆ

11 ยุทธศาสตร์ที่กล่าวไปนี้สังเกตได้ว่าสามารถแบ่งเป็น 2 จำพวกใหญ่ๆ (หรือมี 2 จำพวกนี้ผสมผสานกันภายในหลายอัตราส่วน) คือ ยุทธศาสตร์การกบฏ (เป้าหมายคือการทำให้สถานการณ์บานปลายเพื่อเอาชนะรัฐบาลในการต่อสู้ครั้งสุดท้ายครั้งเดียว) และยุทธศาสตร์กองโจร (ใช้การต่อสู้ย่อยๆ หลายๆ ครั้ง) โดย 2 จำพวกใหญ่นี้ แต่ละอันก็มีข้อผิดพลาดการปฏิบัติภายในที่ออกนอกลู่นอกทางของมันอยู่ที่เราต้องระวังไว้ คือ 1. การปฏิบัติเบี่ยงขวา (right-wing deviation) ที่เกิดขึ้นในยุทธศาสตร์การกบฏ ซึ่งจะมีบุคคลหรือกลุ่มบางส่วนในการเคลื่อนไหวโดยรวมที่เป็นพวกฉวยโอกาส ชอบเลื่อนการปะทะไปเรื่อยๆ ไม่ยอมเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐสักที 2. การปฏิบัติเบี่ยงซ้าย (left-wing deviation) ที่เกิดขึ้นในยุทธศาสตร์กองโจร คือกองกำลังที่ปฏิบัติไม่ยอมเสียเวลา เสียแรงทำงานเชื่อมความสัมพันธ์กับมวลชน สักแต่จะปฏิบัติการอย่างเดียว (ถ้าแม้แต่รัฐไทยยังสามารถ “สร้าง” ความสัมพันธ์กับชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทได้ด้วยการลงพื้นที่ของกองทัพบกและโฆษณาชวนเชื่อ แล้วฝ่ายคณะปฏิวัติมีข้ออ้างอะไรที่จะไม่ทำสิ่งนี้?)

 


เนื้อหาแปลและเรียบเรียงจาก บทที่ 9 ของ Categories of Revolutionary Military Policy เขียนโดย T. Derbent (April 2006) ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Kersplebedeb