ผู้แปล – วริษา สุขกำเนิด

ทุนนิยมและการวางผังเมืองของรัฐเป็นสองอำนาจที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อน อุดมการณ์แบบทุนนิยมมักยืนกรานว่าระบบตลาดนั้นเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการเลือกของผู้บริโภคก็เป็นผู้ที่ขับเคลื่อนความต้องการของสาธารณะที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน ดังนั้นแล้ว แนวทางการบริหารจัดการให้เป็นไปตามกลไกตลาด (Deregulation) จึงกลายเป็นคำโฆษณาที่สวยหรูของนักธุรกิจไปแล้วนับศตวรรษ และการจำกัดอำนาจการควบคุมของรัฐบาลก็กลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักการเมืองอนุรักษ์นิยมไปเสียในทุกระดับ Grover Norquist นักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจาก American for Tax Reform ยังเคยกล่าวไว้ว่า เขาอยากจะลดขนาดของอำนาจรัฐบาล “ให้เล็กจนผมสามารถหยิบเข้าน้ำแล้วกดมันให้จมในอ่างได้”
 
ทว่า ถึงแม้ว่านายทุนจะกล่าวเช่นนั้น พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขากล่าวไว้เสียแต่น้อย นายทุนและนักการเมืองกลับกลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เรียกร้องให้รัฐขยายอำนาจเมื่อกล่าวถึงการเพิ่มขนาดของเรือนจำ และการเพิ่มแสนยานุภาพของกองทัพ ซึ่งการขยายอำนาจของรัฐในรูปแบบดังกล่าวก็สร้างภาระทางงบประมาณที่ล้นฟ้าทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติเสียด้วย นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังชื่นชอบการบริหารจัดการที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่จะคอยขัดแข้งขัดขาไม่ให้ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันกับพวกเขาได้ ผ่านทั้งการจ้างกองทัพของทนายถางทางให้ดำเนินสะดวก ในขณะที่เส้นทางของคู่แข่งของเขากลับเต็มไปด้วยหลุมบ่อ การขยายอำนาจของรัฐบาลในขนาดมหึมานี้ยังสร้างเหลื่อมล้ำ และป้องปราบการก่อจราจลในนามของกฎหมาย
 
และในด้านของนโยบายการวางผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน วาทะว่าด้วยการลดอำนาจรัฐก็ย้อนแย้งจากสิ่งที่ชนชั้นนำดำเนินการจริงไม่ต่างกัน เหล่านายทุนมีความต้องการพึ่งพาอำนาจรัฐที่เข้มข้นและเฉพาะเจาะจงในการดำเนินโครงการใดๆ และหากปราศจากรัฐแล้ว พวกเขาก็อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิในระยะยาว หรือแม้ระยะสั้นเองก็ตาม พวกเขาต้องการให้รัฐวางเงินลงทุนขนาดใหญ่ให้กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้พวกเราสร้างกำไรได้ รวมทั้งยังต้องการให้รัฐสร้างหลักประกันในการอุดหนุนงานผลิตซ้ำทางสังคมของผู้คน เพื่อจะประกันว่าพวกเขาจะยังมีแรงงานที่ยังมีลมหายใจให้ได้ขูดรีดเป็นเป้าหมายสำคัญ หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่มาจากการวางแผน ลงทุน และประสานงานโดยรัฐแล้วไซร้ พวกเขาก็แทบจะไม่ฐานอะไรจะค้ำยันเลย
 
ความขัดแย้งบนผังเมืองแบบทุนนิยม –
 
อย่างไรก็ดี หากเรามองให้ลึกลงอีกสักนิด เราก็จะพบถึงจุดแตกหักที่สำคัญเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเติบโตของเขตเมือง ในหนังสือเรื่อง Planning the Capitalist City ที่เขียนในปี 1986 ผู้เขียน Richard Foglesong ได้เขียนวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมกับการวางผังเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ช่วงอาณานิคมไปจนถึงช่วง 1920s หนังสือเล่มดังกล่าววางข้อเสนออยู่บนสองข้อขัดแย้งหลัก ซึ่งผู้เขียนเสนว่ามันคือ “ความขัดแย้งของลักษณะกรรมสิทธิ์” และ “และความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมและระบบประชาธิปไตย”
 
ความขัดแย้งของลักษณะกรรมสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อนายทุนต้องการแทรกแซงการวางผังเมืองของภาครัฐในแบบใดแบบหนึ่งเพื่อที่จะให้สนับสนุนแนวทางการหากำไรของพวกเขา แต่กลับปฏิเสธประโยชน์ใช้สอยของการวางผังเมืองอีกรูปแบบในฐานะของความโง่เขลาแบบสังคมนิยมรูปแบบหนึ่ง และนอกเหนือจากแนวคิดดังกล่าว สิ่งที่นายทุนในเมืองต้องการกลับเป็นคนละสิ่งกลับสิ่งที่นักวางผังเมืองต้องการ ความต้องการของพวกเขาทำลายสายพานการผลิตของสังคมอุตสาหกรรม ในขณะที่นายทุนอุตสหากรรมอาจขุ่นเคืองกับกฎหมายการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการขูดรีดทรัพยากรบนผืนดิน แหล่งน้ำ และอากาศ โดยปราศจากผลพวงทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็สามารถออกหน้าสนับสนุนการแทรกแซงการวางผังเมืองที่จะนำไปสู่การขึ้นราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในระดับต่ำ เพราะเขาตีมูลค่าที่ดินในฐานะของต้นทุนในการผลิต และราคาที่อยู่อาศัยในฐานะว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แรงงานของพวกเขาลงถนนแและเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน นายทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มองหมอกและควันเป็นปัจจัยฉุดรั้งราคาตึกราบ้านช่องให้ต่ำลง ก็ต้อนรับขับสู้ให้มีมาตราการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี เขากลับไม่ยินดีหากรัฐจะออกมาตราการควบคุมค่าเช่าพักอาศัย หรือที่อยู่อาศัยสาธารณะคุณภาพสูง เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจกระทบกระเทือนแผนภูมิธุรกิจพันล้านของพวกเขาได้ ดังนั้น นักวางผังเมืองจึงจัดการกับปมปัญหาที่ทับซ้อน ด้วยการหาจุดกึ่งกลางระหว่างความต้องการในการแข่งขันของนักลงทุนหลากหลายประเภทธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงการวางผังเมืองที่ไม่ให้นายทุนอีกกลุ่มโวยวาย
 
บนความพยายามที่ยากปานจะสอดด้ายเข้าเข็มนี้ นักวางผังเมืองก้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างนายทุนและประชาธิปไตย (Capitalist Democracy Contradiction) เช่นกัน นายทุนตัวจริง หรือผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ไม่ใช่ผู้ที่คิดแบบนายทุนเพียงอย่างเดียว) หากนับจากจำนวนประชากรแล้ว พวกเขาจะถือเป็นคนส่วนน้อย ตามอุดมคติของการปกครองแบบสาธารณรัฐและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว นักวางผังเมืองควรนำชนชั้นแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางผังเมือง ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็อาจจะเจอกับวิกฤตการณ์ทางนิติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ได้รับความไว้ใจให้ออกแบบผังเมืองโดยเอื้อประโยชน์แก่นายทุนผู้เป็นเจ้าของระบบนี้เอง เพื่อที่จะการจัดการกับปมปัญหาดังกล่าว เมืองที่ออกมาจึงหาวิธีดำเนินการด้วยระบบประเมินการใช้ที่ดิน (Land Use Review System) ที่ประชาชนมีสิทธิในการลงความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองที่ส่วนกลางออกแบบ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบผังเมือง และคณะกรรมาธิการการวางผังเมืองสาธารณะ (Public City Planning Commissions) ที่ที่นั่งต่างๆก็เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และชนชั้นนำทางธุรกิจ
 
ตามรูปแบบการทำงานข้างต้นแล้ว หน้าที่หลักของนักวางผังเมืองคือการหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง 2 เอาไว้ ซึ่งแม้ว่าความขัดแย้งทั้งสองจะไม่สามารถแก้ไขได้ขาด แต่มันก็ยังสามารถจัดการได้ระดับหนึ่ง มันคือปมปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสียเหลือเกิน นักวางผังเมืองที่ต้องออกแบบการใช้ที่ดิน กลับถูกกีดกันจากหน้าที่ของเขาที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อประโยชน์ของนายทุน และแม้ว่ากระบวนการการวางผังเมืองควรจะเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้และมีส่วนร่วมแค่ไหน พวกเขากลับต้องประกันให้ได้ว่าอำนาจล้นฟ้ายังคงอยู่ในกำมือของนายทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่วันยังค่ำ ซึ่งนั่นเป็นงานที่น่าหดหู่สิ้นดี
 
การเรืองอำนาจของรัฐอสังหาฯ –
 
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผมกำลังสอนเกี่ยวกับหนังสือของ Foglesong ในห้องสัมมนาภูมิศาสตร์ ได้มีนักศึกษาคนหนึ่งยกมือถามว่า “ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญของหนังสือคือการแข่งขันระหว่างทุนอุตสาหกรรมและทุนอสังหาริมทรัพย์นะครับ แล้วที่นี้ข้อเสนอนี้จะเอาไปประยุกต์กับโลกปัจจุบันที่ทุนอุตสาหกรรมกับทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันแล้วหล่ะครับ” นั่นแหละ คือประเด็นสำคัญ
 
โลกของเรากลายเป็นโลกอุตสหากรรมมากกว่าเมื่อก่อนเสียอีก ดังเช่นในสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม และการผลิตก็เป็นสัดส่วนหลักของเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 การผลิตแบบอุตสหากรรมในสหรัฐก็มีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ครั้งแรก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานหลายโรงได้ย้ายฐานการผลิตจากโรงงานเก่าที่เมืองตอนเหนือไปยังโรงงานใหม่ในเมืองตอนใต้ ชานเมือง และเขตชนบท หลังจากนั้น ในช่วง 1970s จนถึง 1990s การผลิตเริ่มมีความรวดเร็วและดำเนินการทางไกลได้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือโรงงานต่างๆก็เริ่มย้ายออกนอกประเทศ
 
ในช่วง 1990s และ 2000s รูปแบบใหม่ของการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้น พร้อมกับกิจการโลจิสติกส์ที่เติบโตสอดคล้องกับการไหลเวียนอันสลับซับซ้อนของสินค้าเข้าและออกจากตัวเมือง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่นี้มักจะเกิดขึ้นนอกเขตมหานคร (เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินราคาถูก และความสะดวกสบายในการขนถ่ายสินค้า) และหากอุตสาหกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ในตัวเมือง มันก็มักจะมาพร้อมกับการที่หน่วยงานสาธารณะหรือราชการเป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่นั้นด้วย
 
ในขณะเดียวกัน “การไหลบ่าของทุน” ก็ไหลไปสู่พื้นที่เขตเมืองและตึกรามบ้านช่องมากขึ้น ในเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ ทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 217 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งทำให้อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของสินทรัพย์ในโลก ในขณะนี้ สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี แต่อัตราค่าเช่าแรกเข้ายังเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาแม้อัตราค่าจ้างยังคงเท่าเดิม ในบางเมือง ราคาค่าบ้านพุ่งขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 ในเวลาเพียง 5 ปี วิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยมากมายหลายแขนงนี้จะกระจายไปยังตัวเมืองทั่วสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้
 
ท่ามกลางความหนาแน่นของอสังหาริมทรัพย์และการการกระจายตัวของอุตสาหกกรมการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างทุนในเขตเมืองและการวางผังเมืองได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเมื่อผู้ผลิตไม่ได้สร้างฐานอำนาจในการลดค่าที่ดินและค่าบ้านในเขตเมืองให้ต่ำลงอีกต่อไปแล้ว การจัดการ “ความขัดแย้งของลักษณะกรรมสิทธิ์” ก็เป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้างของนายทุนอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการวางผังเมือง ผู้ที่เรียกร้องให้เกิดนโยบายที่จะผลักราคาที่ดินและสินทรัพย์ให้สูงขึ้นกว่าเดิม แม้เมื่อมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเดินทาง สวนสาธารณะ ฯลฯ ทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ยังต้องการแซกแทรกเพื่อการลงทุนด้วย
 
ในยุคเรืองอำนาจของรัฐอสังหาฯ นักวางผังเมืองเจรจาต่อรองบน “ความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมและประชาธิปไตย” กลับเป็นผู้หาที่ทางให้แก่ทุนอสังหาริมทรัพย์ในสถาบันของการวางผังเมืองเสียเอง ตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการการวางผังเมืองนั้นเกือบจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มีประสบการณ์ในด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การประชาสัมพันธ์ การขาย กฎหมาย หรือแม้แต่วิศวะกรรม หรือแม้แต่เสียงที่แตกออกจากกรรมาธิการคนอื่นๆ อย่าง Michaelle de la Uz นักพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งแน่นอนเป็นตัวอย่างที่แตกต่างจากคนอื่นๆ แต่เขาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการวางผังเมืองอยู่ดี
 
นี่คือรัฐอสังหาฯ รัฐบาลเข้าหาความต้องการและข้อเรียกร้องของสายธารของทุนกลุ่มนี้ และพยายามเข้ากับทุนกลุ่มนี้เพื่อประกันว่าการดำเนินการของรัฐบาลจะนำไปสู่กำไรที่สูงขึ้นของ นักพัฒนา นายทุนผู้ให้เช่า นายลงทุน และ นักฟลิบบ้าน เช่นเดียวกับรัฐประเภทอื่นๆ (รัฐสวัสดิการ รัฐทัณฑสถาน รัฐสงคราม) รัฐอสังหาฯ ไม่ได้เป็นรัฐที่เบ็ดเสร็จเลยเสียทีเดียว แต่ผลกระทบของมันนั้นเข้มข้นในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นระดับที่การตัดสินใจการใช้ที่ดินเกิดขึ้น
 
และไม่ว่านักวางผังเมืองจะเผชิญกับปัญหาอะไรก็ตาม ทางออกที่พวกเขาเสนอก็มักจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้หรูหรารวมอยู่ในหลักการสำคัญด้วย แม้ว่าปัญหาเหล่านั้นคือการขาดแคลนบ้านที่อยู่อาศัยราคาถูกก็ตาม นอกจากนี้ นักวางผังเมืองมักถูกมอบหมายให้รักษาราคาอสังหาริมทรัพย์เสมอ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะสินทรัพย์ในบางที่นั้นราคาถูก และนักลงทุนต้องการให้ราคาของมันสูงขึ้น และเพราะสินทรัพย์ในบางที่มีราคาสูงอยู่แล้ว แต่หากมันเกิดราคาต่ำลงมันอาจจะฉุดรั้งราคาของทั้งระบบได้ ความพยายามในการปิดกั้นการลงทุน และการพัฒนาที่อาศัยสาธารณะไม่ค้ากำไร ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ไม่มีใครเลือกในระบอบการวางผังเมืองที่วางอยู่บนความคิดว่าผลประโยชน์ของสาธารณะจะได้มาผ่านการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
 
ดังนั้น ในระบบดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงของที่ดินย่านเดิมไปสู่ย่านชนชั้นกลางราคาสูง (Gentrification) จึงไม่ใช่ข้อผิดพลาดของการวางผังเมือง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของย่านเมืองถูกขับดันด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคม แต่มันเป็นผลผลิตของรัฐ ผ่านกระบวนที่มีการสอดใส้เพื่อให้เกิดการลงทุนใหม่เรื่อย ๆ และยังทำให้คนอีกกลุ่มต้องย้ายออกไป อย่างไรก็ดี นักวางผังเมืองไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือของทุนหรือลูกมือของรัฐเพียงด้านเดียว เพราะก็ยังมีนักวางผังเมืองอีกจำนวนมากที่เข้ามารับตำแหน่งนี้เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงเมืองให้ดีขึ้นเช่นกัน นักวางผังเมืองหลายคนมีพื้นเพความคิดที่ถอนรากถอนโคน และยังมองการวางผังเมืองในฐานะวิธีการในการควบคุมการไหลเวียนของทุนที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆนานา แต่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐอสังหาฯ นี้ การสร้างพื้นที่เพื่อประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากการทำกำไรนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากทีเดียว
 
ทว่า การวางผังเมืองแบบอื่น ๆ ก็ยังเป็นไปได้ และมันไม่ใช่สิ่งที่นักวางผังเมืองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับปัญหาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว หากเราต้องการให้นักวางผังเมืองออกแบบเมืองที่ให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากกว่านายทุนอสังหาริมทรัพย์ เราต้องร่วมแรงกันสร้างความกดดันทางการเมืองต่อนายของพวกเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นแน่นอนว่าเป็นรัฐบาลที่จ้างพวกเขา และยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วย
 
อย่างไรก็ดี หากพวกเรามองเข้าไปในปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง จะพบว่าทุนอสังหาริมทรัพย์ก็เผยด้านที่เปราะบางไว้อยู่เช่นกัน ขบวนการการต่อสู้เพื่อป้องกันการแปรสภาพย่านเก่าให้เป็นย่านชนชั้นกลางราคาสูงสามารถจะต่อกรกับพลังของทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่จะทำให้รู้ว่ากำไรนั้นเป็นของใคร พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย จากเดิมผู้รับกรรมผู้เช่าที่ ไปสู่เจ้าของที่ผู้ให้เช่า นักพัฒนาที่ดิน และนักลงทุนแทน ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจที่ง่าย แต่มันคือสิ่งที่เราต้องเผชิญหากจะต่อสู้กับรัฐอสังหาฯ