English Version

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ภาคเหนือของประเทศไทยถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานไร่ข้าวโพด จนทำให้เผชิญกับควันพิษที่ถูกปล่อยออกมาท่วมท้องฟ้า ในทางกลับกัน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกลับเสนอทางออกเพียงน้อยนิด หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาหมอกควันนี้ได้ คือการทวงคืนอำนาจของชาวนาชาวไร่ เพื่อเพิ่มอำนาจการปกครองตนเอง และอำนาจต่อรองที่มีต่อทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น

15-20 ปีให้หลัง ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือแต่ละปีทวีความรุนแรงจนคนในพื้นที่เกินทนไหว จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมากที่สุดในโลกระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายนในทุกๆ ปี อีลีตผู้มีอำนาจจากกรุงเทพมหานครที่บริหารประเทศก็มักไม่ใส่ใจ ปล่อยปละละเลย หรือกระทั่งโกรธเกรี้ยวด่าทอปัญหาดังกล่าว เพราะหลังจากที่พวกเขามาสูดอากาศบริสุทธิ์ในช่วงหน้าหนาวและกลับบ้านแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวกลับยังคงทุกข์ทรมานกับเมฆหมอกแห่งมลภาวะที่ก่อตัวจนหนาทึบ

แม้ว่าบทความและงานวิจัยจำนวนมากให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าว แต่ในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาหมอกควัน เราจำเป็นต้องฝ่ากระแสข่าวที่รายงานอย่างมีปัญหา นำเสนอผิดพลาด หน่วยงานรัฐที่ไร้การสอดประสาน และระบบงานวิชาการที่ดำรงอยู่ใต้อำนาจของบริษัทอุตสากรรมเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปได้เสียก่อน แม้ไม่เอ่ยนามบริษัทใหญ่และบริษัทลูกที่อยู่ในข้อพิพาทแล้ว ผลกระทบของบริษัทเหล่านี้ต่อประเด็นข้างต้นจึงไม่สามารถมองข้ามได้ เช่นเดียวกับอำนาจของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ต่อการนำเสนอข่าวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมหกรรมสินค้าเกษตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยและเครือข่ายบริษัทผูกขาดสินค้าเกษตรขนาดยักษ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ในการค้นหาข้อมูลสำหรับบทความนี้ เราจำเป็นต้องกลับหาประสบการณ์ชีวิต และเรื่องราวของผู้มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่เผชิญปัญหาโดยตรง ผลงานชิ้นนี้ พวกเราสัมภาษณ์และพูดคุยกับชาวนาชาวไร่ในชนบท ผู้อยู่อาศัยของหมู่บ้านในท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ พวกเราและทุกคนที่เราพูดคุยต่างเห็นตรงกันว่า สาเหตุของหมอกควันในพื้นที่นี้มีที่มาจากการเผาข้าวโพดเป็นหลัก มากกว่าการปมปัญหาอย่างการทำไร่อ้อย ควันเสียจากยานพาหนะ ไฟป่า หรือแม้แต่การทำอาหารหรือการสูบบุหรี่ ที่ผู้คนรับรู้ แน่นอนว่า ยังมีมลพิษในอากาศบางประเภทที่มาจากสาเหตุข้างต้น แต่หมอกควันบนภาคเหนือที่เกิดขึ้นในช่วงน่าร้อนของทุกปีคือปรากฎการณ์ที่ต่างออกไป เพราะในกรณีไร่อ้อย ควันจากการเผาไม่เพียงแค่ฤดูร้อนที่อากาศแห้งเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ในขณะที่ไร่ข้าวโพดมีการเผาเฉพาะในฤดูแล้ง


ที่มา  รายงาน Right to Clean Air จาก Green Peace (2017) เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2566

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยอยู่ใต้เมฆหมอกของควันพิษที่ตามรังความพวกเรานั้นมาจากอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ ชนชั้นแรงงานในชนบทต้องอดทนกับการขูดรีดแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างแสนสาหัส รวมทั้งการถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อฝุ่นควันเสียเอง ในขณะที่คนในกรุงเทพ ผู้เป็นต้นตอของปัญหากลับยังคงตักตวงความมั่งคั่งจนคนในภาคเหนือต้องทนทุกข์ทรมานไปเรื่อยๆ

 

ชาวนาชาวไร่

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้พักอาศัยในชนบททางตอนใต้ของน่านในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด เราเดินเท้าขึ้นบนดอยไปยังไร่ข้าวโพดของป้าแดง ซึ่งเป็นชาวไร่ในพื้นที่ ป้าแดงเกิดในหมู่บ้านแห่งนี้ หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นเธอก็ย้ายไปทำงานโรงงานทอผ้าในกรุงเทพ แต่ไม่นานเมื่อลูกชายของเธอเกิด สามีของเธอก็เสียชีวิต จนทำให้เธอต้องย้ายกลับบ้านเพื่อดูแลไร่ของเธอต่อ ป้าแดงคุยกับเราในขณะที่เดินขึ้นเขา วิวของภูเขาสวยงามราวกับสวรรค์ เรามาในวันที่ท้องฟ้าโปร่ง ก่อนวันที่ฝุ่นควันจะปกคลุม เรามองเห็นยอดเขาทอดยาวไปจนถึงชายแดนประเทศลาว ใต้ยอดเขาคือหุบเขาแคบที่คั่นกลางด้วยแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ หุบเขาเหล่านั้นเขียวขจี และแซมด้วยบ้านไม้ในหมู่บ้าน ช่วงหน้าแล้งจะมีน้ำบาดาลผุดขึ้นมาเป้นชลประทานธรรมชาติและเป็นน้ำสะอาดให้ชาวบ้านดื่มกิน ผู้คนในละแวกนั้นปลูกข้าว ปลูกผัก และเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ไกลออกไปคือไร่ข้าวโพด ตั้งอยู่บนเขาหัวโล้นที่แห้งแล้ง มันสูงเกินกว่าที่จะใช้บ่อน้ำผุด

ไฟฟ้ามาถึงหมู่บ้านนี้เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาเดียวกับที่โรงเรียนในอำเภอเปิดขึ้น เซเว่นอีเลเว่นที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างถึงกว่า 1 ชั่วโมงเมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ คนพื้นที่พูดคำเมืองในอีกสำเนียงที่เราไม่คุ้นหู ในขณะที่คนเชียงใหม่พูดช้ากว่า พวกเขากลับพูดเร็วจนพวกเราแทบตามไม่ทัน คนพื้นที่ล้วนมากทั้งอายุและมากประสบการณ์ มือและหน้าของพวกเขาบ่งบอกการผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งจากวัยและงานไร่นาที่พวกเขาทำ ในหมู่บ้านมีคนหนุ่มสาวอยู่น้อยมาก วัยรุ่นส่วนใหญ่ย้ายไปหางานเมืองอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือแพร่ น้อยมากที่จะกลับบ้าน ประชากรในหมู่บ้านจึงลดน้อยถอยลง

เพราะเขาที่ราบชัน การเดินเท้าไปยังไร่ของป้าแดงจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก หลังจากที่เราผ่านทิวไม้ เราก็เจอกับไร่ข้าวโพด ราวกับการเดินทางที่เหลือของวันนั้นเราคงจะเจอแต่ข้าวโพด ลำต้นของมันเก้งก้างทั่วยอดเขา ข้าวโพด ข้าวโพด และข้าวโพด ช่างดูแห้งแล้ง แห้งเหี่ยว และไร้ชีวิตเสียเหลือเกิน ป้าแดงเล่าว่า พวกเขาปล่อยให้มันยืนต้นตายและปล่อยแห้งก่อนเก็บเกี่ยว ระหว่างทางเราเห็นคุณลุงจำนวนหนึ่งใช้มีดยาวตัดฝักข้าวโพดอยู่ในไร่ ต้นของมันสูงราว 2 เมตร มีใบที่ยาวใหญ่ห่อหุ้มลำต้นอย่างแน่นหนา เม็ดติดอยู่กับฝัก แต่เพราะเมล็ดข้าวโพดสีเหลืองด้านในคือส่วนประกอบเดียวที่ใช้ประโยชน์ได้ การเก็บเกี่ยวข้าวโพดจึงต่อให้เกิดขยะชีวภาพจำนวนมากเพื่อจะได้ผลผลิตที่ใช้ได้เพียงน้อยนิด

 

การเก็บเกี่ยว

เราเดินไปถึงไร่ของป้าแดง คุณลุงสองคนกำลังทำงานอยู่ที่นั่น เราทักทายและแลกบุหรี่กัน ต้นข้าวโพดที่ล้มลงกรอบแกรบอยู่ใต้ฝ่าเท้า และพันเกี่ยวข้อเท้าของเรา บนที่แห่งนี้ ข้าวโพดที่ถูกเก็บเกี่ยวจะถูกใส่ในกระสอบ และส่วนอื่นๆ จะถูกทิ้งไว้ที่พื้น เราเดินขึ้นไปยังศาลาเพื่อพักผ่อน เราปีนขึ้นไปและล้มตัวลงบนกระสอบผ้าป่านที่เต็มไปด้วยข้าวโพด…มันช่างสบายเหลือเกิน…

หลังการเก็บเกี่ยว ข้าวโพดในฝักถูกส่งลงจากภูเขาเพื่อเข้ากระบวนการผลิต ที่เปลือกของมันถูกลอก ชั่งน้ำหนัก และส่งลงไปภาคกลางเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ป้าแดงไม่ได้เป็นเจ้าของไร่ตามกฎหมาย สหกรณ์ชาวไร่ในหมู่บ้านผู้แผ้วถางพื้นที่เป็นคนปันไร่ให้เธอ ที่นี่ พวกเขาใช้พื้นที่และแรงงานร่วมกัน เธอบอกกับเราว่าเธอได้รายได้น้อยมากจากการทำไร่ เธอได้ค่าข้าวโพดเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น แต่ก็ยังพอเลี้ยงปากท้องเธอและลูกชายได้

ไร่ข้าวโพดขนาดใหญ่เรียกได้ว่าเป็นพัฒนาครั้งใหม่ของหมู่บ้านแห่งนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในภาคเหนือเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าใน 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าการปลูกข้าวโพด ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยเศรษฐกิจยังชีพ รายได้จากภายนอกมาจากการเลี้ยงหมูและขายในตลาด ไร่ของเขาที่แต่ก่อนเป็นป่า ถูกถางขึ้นมาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว จนวันนี้ ผู้คนในพื้นที่ก็ยังคงผลิตวัตถุดิบพื้นฐานที่พวกเขาใช้กันเองในละแวกหุบเขา ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ อย่างไรก็ตาม รายได้จากภายนอกก็ยังจำเป็นสำหรับที่นี่ ด้วยค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับสิ่งจำเป็นสมัยใหม่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ในบ้าน ทำให้ป้าแดงที่หวังจะส่งลูกชายเรียนมหาวิทยาลัยต้องหารายได้จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย

หลังจากข้าวโพดถูกเก็บเกี่ยว การเผาจึงเริ่มต้นขึ้น การเผาคือหนทางเดียวที่จะกำจัดของเสียทางการเกษตรทั้งหมดในพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกในปีถัดไป ในประเทศปลูกข้าวโพดอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเช่นประเทศแถบยุโรปพื้นที่เพาะปลูกจะไม่ถูกเผา แต่ตอข้าวโพดจะถูกไถและฝังกลบในดิน เพื่อให้มันย่อยสลาย และพร้อมสำหรับการเพาะปลูกครั้งใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อไร่ข้าวโพดตั้งอยู่บนเขาที่สูงชันและประชากรส่วนใหญ่คือวัยชรา กำลังแรงงานในการฝังกลบจึงไม่เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ยากที่จะรถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นไปยังทางลุกรังที่ลาดชัน นอกจากนี้ ในช่วงหน้าแล้งหลังการเก็บเกี่ยว ยังไม่มีฝนที่คอยสร้างความชุ่มชื้นที่ช่วยให้ลำต้นที่เหลือย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

 

ไฟ

แสงสว่างจากไฟที่กำลังลุกไหม้ ไฟนี้ทำให้เกิดควันหนาหนักที่ค่อยๆ ลอยขึ้นไปบนฟ้า ลุงๆ ป้าๆ คอยยืนดูแล สอดส่ายสายตาและจัดการไฟ พวกเขาอยู่เพื่อดูให้แน่ใจว่า ไฟจะไม่ไหม้รุกออกไปเกินพื้นที่ที่เขาต้องการ งานนี้ทั้งร้อนและสกปรก ควรทำในช่วงเย็นหรือเช้าตรู่จะดีที่สุด ไฟนี้ถูกจุดทั่วตลอดภาคเหนือ ตั้งแต่เพชรบูรณ์จนถึงแม่ฮ่องสอน เชียงรายจนถึงกำแพงเพชร ไฟจุดเล็กๆ เป็นพันๆ แห่งนี้มีคนคอยดูอยู่ตลอด มันคอยส่งซังข้าวโพดที่ไม่มีใครต้องการแล้วขึ้นไปบนฟ้า บางครั้ง ไฟที่เผานี้ก็หนักหนาเกินกว่าจะควบคุมได้และลามไปสู่ไฟป่า ฝุ่นควันโขมงลอยขึ้นปกคลุมฟากฟ้า เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และหลายต่อหลายครั้งก็ยาวนานจนถึงเดือนพฤษภาคม ยามที่ฝนฟ้าไม่ค่อยตกมารับมืออากาศหนาหนัก แล้วก็ยังไม่มีระบบสภาพอากาศอะไรมากระจายควันเหล่านี้ ควันที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านของป้าแดง ที่ที่ชีวิตไม่ได้ถูกใช้ภายใต้กำแพงของแอร์คอนดิชันเนอร์ จนเกิดปัญหาทางเดินหายใจที่จะคงอยู่และส่งต่อไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ทัศนคติของคนภายนอกที่มีต่อชาวนาภาคเหนือนั้นไม่ค่อยชื่นชมพวกเขาเท่าไร บ้างก็ว่าโง่ บ้างก็ว่าบ้านนอก ว่าพวกเขาเผาเองแล้วก็บ่นเรื่องฝุ่นเอง คนเมืองชนชั้นกลางในภาคเหนือก็ไม่มีความเห็นอกเห็นใจให้ชาวนาชาวไร่บนภูเขาที่สร้าง “อากาศปนเปื้อน” ในเมืองของพวกเขา ในขณะคนที่ได้รับมอบหมายจากกรุงเทพฯ ให้มาปกครองส่วนภูมิภาคก็ไม่ไยดีอะไรประเด็นนี้ บางครั้งก็จับเอาข้อบังคับห้ามเผามาใช้ในเชิงกฎหมาย ที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แค่ทำโทษชาวไร่บางคนที่โชคร้ายเท่านั้น หลายจังหวัดอย่างเชียงใหม่เองก็ออกข้อห้ามเผาโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ลงทุนไปกับงบประมาณจัดการไฟอย่างมาก แต่กลับไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พลเมืองที่โกรธเกรี้ยวบางคนก็ถึงขนาดเรียกร้องให้ยึดที่ดินของคนที่เผาไร่อย่างไม่ระมัดระวัง แต่มันก็น่าขัน เพราะชาวไร่หลายคนก็ไม่ได้ครอบครองที่ดินเลยด้วยซ้ำ

 

ฝุ่นควันข้ามพรมแดน

เมื่อเราข้ามพรมแดนรัฐไทยไป ในลาว พม่า และจีนใต้ การทำการเกษตรรูปแบบนี้ก็กำลังเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีที่ไหนเป็นระบบระเบียบและแพร่ไปทั่วเหมือนของไทย ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้ามพรมแดนในภูมิภาคที่ชัดเจนนั้นหายาก แต่เราก็ยังประเมินได้คร่าวๆ จากจำนวนประชากรในพื้นที่ชนบทเหล่านี้

ประชากรในภาคเหนือของไทยปลูกข้าวโพดอยู่ทั่วไป (ซึ่งจำนวนนี้จะนับรวมถึงจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย และตากด้วย) ประมาณ 9.3 ล้านคน ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกข้าวโพดเหมือนกันมีประชากรอยู่ 3 ล้านคน (แม้จำนวนพื้นที่เพาะปลูกจะต่างกับของไทยอยู่มาก)  ในภูมิภาคนี้ก็มีลาวอีกประมาณ 1 ล้านคน และในจีนอีก 1.5 ล้านคน เพราะพื้นที่ยิ่งสูงก็ยิ่งเพาะปลูกได้ยาก เช่นในสิบสองปันนา

ในภูมิภาคที่รายล้อมนี้มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยกว่าภาคเหนือของไทยอย่างมาก หมายความว่าพวกเขาไม่ได้มีกำลังคนมากพอที่จะเพาะปลูกขนานใหญ่แบบในไทยได้ นอกจากนั้น พื้นที่เหล่านี้ก็ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพทางการเกษตรน้อยกว่า ดังที่เราได้พูดไปก่อนหน้านี้ ปริมาณฝุ่นในภูมิภาคแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วง 20 ปีก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งวิธีที่จะวัดความหนาแน่นของการเพาะปลูกในภูมิภาคก็สามารถดูได้จากภาพถ่ายทางดาวเทียม เราสามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าระหว่างพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่นและมีการเพาะปลูกหนาแน่นในภาคเหนือของไทย กับพื้นที่รอบข้าง ทั้งหมดนี้หมายความว่าภาคเหนือของไทยนั้นเป็นที่แรกๆ ที่ริเริ่มการถางป่าเพื่อการเกษตร ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นที่สำคัญ มากกว่าจะเป็นพื้นที่รอบข้าง แต่มันกลับย้อนแย้ง เพราะข้าวโพดที่ปลูกที่ต่างประเทศก็ถูกซื้อเข้ามาในไทยผ่านบริษัทผูกขาดการเกษตรยักษ์ใหญ่ (แม้ไม่รู้จำนวนที่แน่ชัด) ชี้ให้เห็นว่าแม้ผู้คนและรัฐบาลจะถูกกักกันอยู่ในเขตแดนรัฐชาติ ฝุ่นและทุนกลับเคลื่อนผ่านมาได้

​​

ปีที่แล้ว (2566) มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดเพิ่มสูงถึง 13,200,999,565 บาท เพิ่มขึ้น 560.53% จากสี่ปีก่อนหน้านั้น (ซึ่งมีมูลค่า 1,998,537,516 บาท) โดยข้าวโพดเป็นพืชที่อยู่ในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศไทยและอาเซียน ฉะนั้นแล้วจึงไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า เพราะอัตราภาษีอยู่ที่ 0% เท่านั้น

 

ในภาพนี้ เราจะเห็นได้ว่าภาคเหนือของไทยโดดเด่นกว่าที่อื่นมาก เพราะมีการถางป่าสูงกว่าภูมิภาคที่รายล้อม แสดงให้เห็นว่ามีผลผลิตทางการเกษตรที่สูงกว่า กรีนพีซได้วิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมโดยละเอียดที่นี่

เช่นเดียวกัน เมื่อเราเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศระหว่างปี 2545 กับ 2564 จะเห็นอัตราการถางป่าเพื่อการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

เศรษฐกิจกับปากท้อง

หากจะทำความเข้าใจที่มาของฝุ่นควัน เราต้องดูเรื่องอื่นนอกจากไฟและการเผาด้วย ความเป็นจริงคือชาวนาชาวไร่กลุ่มนี้ไม่มีทางเลือก เหมือนกับที่คนเดินทางในเมืองต้องเผาไหม้เชื้อเพลิงระหว่างเดินทางไปทำงาน ไร่พวกนี้ก็มีข้าวโพดปลูกอยู่ ข้าวโพดนี้ไม่ได้มีไว้ให้คนท้องถิ่น แต่มีไว้สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์อันใหญ่โตและเลวทรามของไทย ประเทศไทยส่งออกเนื้อสำหรับบริโภคมากกว่าประเทศข้างเคียงอย่างมาเลเซียถึงสองเท่า ทั้งยังมากกว่าอินโดนีเซียและเวียดนามรวมกัน ด้วยการส่งออกเนื้อไก่ใหญ่เป็นลำดับสามในโลก

ในปี 2564 พื้นที่ 7 ล้านไร่ ในไทยถูกใช้ไปปลูกข้าวโพดเพื่ออาหารสัตว์ ในภาคเหนือมีปริมาณมากกว่า 5 ล้านไร่ โดยข้าวโพด 90% ที่ปลูกในไทยใช้ไปเป็นอาหารสัตว์ ตั้งแต่ปี 2545 – 2565 การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์นั้นเพิ่มจำนวนขึ้น 4 เท่า จาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ ซึ่งในระยะเวลานั้นจะเห็นได้ว่าการส่งออกเนื้อสัตว์ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเท่าๆ กัน

นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ประเทศไทยก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และใหญ่เป็นลำดับที่ 12 ของโลก ถึงที่สุดแล้ว คนที่ได้เงินจำนวนมหาศาลจากข้าวโพดกลับไม่ใช่ชาวไร่ แต่เป็นผู้ผูกขาดภาคการเกษตรที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วคือ บริษัทที่กำลังตกอยู่ในข้อพิพาท ต่างหาก และเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทพวกนี้ต่างหากที่ถือครองหยาดเหงื่อแรงงานของชาวไร่ พวกมันใช้กำลังขู่เข็ญยืมมือชาวไร่ให้จุดไฟ แล้วปล่อยให้พวกเขาต้องเป็นแพะรับบาป

 

ทางแก้ปัญหา

การเผาป่าเป็นปัญหาทางชนชั้น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีแก้ปัญหาแบบชนชั้นเช่นกัน เมื่อเราประเมินสถานการณ์เราจะเห็นว่า ชาวไร่ถูกบังคับให้เผาขยะการเกษตร และเป็นที่ชัดเจนว่า ทางเดียวที่จะหยุดปัญหานี้ได้คือให้ชาวนาชาวไร่ปลดแอกออกจากความสัมพันธ์ที่กดขี่ขูดรีดนี้และปลดปล่อยตัวของพวกเขาเองจากการผูกขาดทางการเกษตร

แอกอันใหญ่ของทุนผูกขาดที่อยู่บนบ่าของชาวไร่คือความยากจน ชาวนาชาวไร่ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากรายได้เพียงน้อยนิดที่ได้จากการขายข้าวโพด หลายคนอย่างป้าแดง ก็ใช้ชีวิตอยู่ได้แบบเดือนต่อเดือนเท่านั้น

โชคดีที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมในต่างประเทศพอจะเป็นแนวทางให้ได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (the model of set-aside programs) ซึ่งแนวปฏิบัติที่ว่านี้ก็คือ จ่ายเงินให้ชาวไร่เพื่อให้เขาไม่ทำไร่นาของเขาบางส่วน ส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 20% ของที่ดิน เพื่อให้ที่ดินฟื้นฟูสภาพได้ ในกรณีของประเทศไทย แนวปฏิบัตินี้สามารถเอามาใช้เพื่อให้ของเสียทางชีวภาพย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติแทนที่จะเอาไปเผา นโยบายแบบนี้ไม่ได้ใช้ทุนเยอะด้วยซ้ำ ในขณะที่รายได้ของชาวนาชาวไร่ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างน่าใจหาย เจ้าของบริษัทที่ร่ำรวยมหาศาลเหล่านั้นมีความสามารถในการจ่ายอยู่แล้ว มันไม่ได้ยากสำหรับพวกเขาเลยที่จะลดรายได้ลงนิดหน่อยเพื่อช่วยให้คนหลายล้านชีวิตไม่สำลักหมอกตายไปก่อน

วิธีการแก้ปัญหาทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่งคือ การปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งพื้นที่ขนาดใหญ่ในภาคเหนือก็ทำกันอยู่แล้ว บ้างก็หมุนทั้งพืชและหมุนทั้งที่ วิธีการก็คือ ปลูกพืชชนิดใหม่หลังจากการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง เป็นวิธีการที่เกษตรกรชาวกะเหรี่ยงในชนบทมักจะใช้กัน โดยทั่วไปจะเริ่มจากการปลูก เช่น ข้าวโพด → ข้าว → ถั่ว → ข้าวโพด วนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และพวกเขาทิ้งที่ดินไว้เฉย ๆ โดยไม่ใช้เป็นเวลา 1 ปีเต็มเพื่อให้ขยะย่อยสลายตามธรรมชาติ การปลูกพืชหมุนเวียน นอกจากจะลดการเผาเศษข้าวโพดแล้ว ยังปรับปรุง/รักษาคุณภาพของดินและทำให้เกษตรกรสามารถได้ใช้แรงงานหลากหลายแบบอีกด้วย ในที่ราบสูงบางแห่ง เช่น ไร่ของป้าแดง การปลูกข้าวไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก การปลูกพืชหมุนเวียนควบคู่ไปกับพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องการเผาที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปีได้อย่างมหาศาล ทีนี้คำถามมีอยู่ว่า เราให้ค่าความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ระหว่างสุขภาพของคนหลายล้านคน กับ ผลประโยชน์ของมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน?

โครงการทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงานชนบทโดยอ้อม ก็ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยฟรีที่จัดสรรโดยรัฐบาลแห่งชาติ หรือแม้แต่ไวไฟ (wifi) ฟรีประจำหมู่บ้าน จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนจนในชนบทได้เยอะไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับกรณีป้าแดง มาตรการเหล่านี้จะทำให้คนในท้องถิ่นไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการผลิตข้าวโพดมากเกินไป ซึ่งเดิมทีก็น้อยอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นโยบายการตรวจสอบเศรษฐกิจ (economic verification schemes) เช่น นโยบายที่ประสบความเร็จอย่าง OVOP ของญี่ปุ่น ซึ่งไทยเอามาต่อยอดเป็นโครงการ OTOP (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างความหลากหลายในการผลิตทางเศรษฐกิจแบบหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันว่า ชุมชนจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยตัวเอง ทำให้หมู่บ้านไม่ต้องพึ่งพาพืชเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น ข้าวโพดในภาคเหนือ และอ้อยในภาคอีสาน ในความเป็นจริง โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในภาคเหนือก่อนที่จะมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 และหลังจากนั้นโครงการก็ถูกปล่อยทิ้ง

กระนั้นเอง การแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรเหล่านี้ก็ถูกขัดขวางโดยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ผูกขาดภาคการเกษตรอยู่ และโครงการทางสังคมของรัฐบาลที่มุ่งช่วยเหลือชนชั้นแรงงานในชนบทกลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจนำของกรุงเทพฯ ข้าวโพดเป็นที่พืชดีมาก เก็บไว้ได้เป็นสิบๆ ปี และเอาไปแปรรูปเป็นผลิตสำคัญๆ ได้หลายอย่าง ตั้งแต่อาหารสัตว์ ไปจนถึงแป้ง ไปจนถึงเชื้อเพลิง ข้าวโพดเป็นพืชที่มีประโยชน์มากแถมยังมีความคงที่ ทำให้มันเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเกษตรกรมากกว่ากระเทียมหรือหัวหอม ซึ่งต้องการสภาพอากาศที่มีความเฉพาะเป็นพิเศษและและต้องการระบบชลประทานที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า เพราะอย่างนี้ เกษตรกรจึงได้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารง่ายขึ้นถ้ามีรายได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเป็นหลักประกันที่แน่นอนล่วงหน้า ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนวิธีการทำไร่หรือเปลี่ยนประเภทของพืชจะทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรตกอยู่ในความเสี่ยงและจะทำให้รายได้ของนายทุนผูกขาดน้อยลง

 

ความเปลี่ยนแปลง

ตรงนี้เราต้องพิจารณาดูว่าความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ความเป็นอยู่ของชาวนาชนบทในศตวรรษที่ผ่านมาดีขึ้นได้ไม่ใช่เพราะรัฐใจดียื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่เพราะชนชั้นแรงงานชนบทจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ ตอบกลับข้อเรียกร้องเหล่านี้แบบขอไปที (a carrot and stick response) มาโดยตลอด ชาวนานักต่อสู้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกสังหารหมู่โดยรัฐ ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูสำหรับใครก็ตามที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ในขณะเดียวกันรัฐก็อะลุ่มอล่วยให้ชาวนาได้รับสิทธิมากขึ้น รวมไปถึงใช้โครงการทางสังคมและการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อหยุดกลุ่มต่อต้าน หนึ่งในการเคลื่อนไหวหลักของกลุ่มต่อต้านก็คือการลุกฮือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความตื่นตัวอย่างมากในจังหวัดน่านและพื้นที่ชนบทอื่นๆ ของประเทศ เมื่อ 30 ปีที่แล้วรัฐตอบกลับด้วยการมอบของตอบแทนให้นิดๆ หน่อยๆ เป็นโรงเรียนมัธยมต้นและระบบไฟฟ้าในอำเภอที่ป้าแดงอาศัยอยู่ ซึ่งก็บังเอิญเป็นช่วงที่กลุ่มต่อต้านถูกสลายลงพอดิบพอดี และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายปฏิรูปสังคมของพรรคไทยรักไทยที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทก็ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ซึ่งต่อมาถูกรัฐปราบปรามลงอย่างรุนแรง

ทุกวันนี้ การต่อสู้อย่างหนักหน่วงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าค่อย ๆ หายไปเรื่อยๆ นโยบายของพรรคไทยรักไทยไม่กี่อย่าง เช่น นโยบายสินค้าโอทอป รอดพ้นจากการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมาได้ และในขณะที่ชาวนาจำนวนมากได้รับสิทธิในที่ดิน พวกเขาก็ยังเป็นหนี้ในที่ดินนั้น (ผู้แปล: ต้องเอาไปจำนอง เช่ามา หรือติดหนี้ในเกษตรพันธสัญญา ฯลฯ) ได้เงินมาก็ต้องเอาไปใช้หนี้กับต้องมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างอะไรจากยุคศักดินา ที่ซึ่งพวกเขาต้องทำงานบนที่ดินที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ ในขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ได้ “พัฒนา” มากยิ่งขึ้น ที่ดินมี “ผลิตภาพ” มากขึ้นสำหรับทุน เห็นได้ชัดจากการผูกขาดของธุรกิจการเกษตรจำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นข้าวโพดและรีดเค้นผลกำไรสูงสุดจากที่ดินและคนงานที่ทำงานในที่ดินนั้น

 

จากน่านไปจนถึงลำพูน

เราร่ำลาป้าแดงกับบรรดาลุงๆ แล้วก็ออกจากที่ราบสูงน่าน ผ่านหมู่บ้านต่างๆ มากมาย เราเห็นป้ายโฆษณามากมายอยู่ตามถนนหนทาง เป็นรูปข้าวโพดพร้อมรหัสตัวอักษรและตัวเลขข้างล่าง H23374, H46284 ฯลฯ… พวกนี้เป็นโฆษณาเมล็ดข้าวโพดหลากหลายสายพันธุ์ ฤดูเก็บเกี่ยวกำลังจะมาถึง และเกษตรกรก็กำลังเตรียมหว่านเมล็ดพืชผลของปีหน้า เราผ่านแพร่และลำปาง ผ่านที่ราบสูงเข้าไปในหุบเขา เราเห็นฉากประมาณนี้ นั่นก็คือ ป้ายโฆษณาข้าวโพดปรากฏขึ้นในที่ราบสูงแล้วจากนั้นก็หายไปในหุบเขา

เราไปถึงลำพูนเพื่อไปเยี่ยมเยียนมิตรสหายในหมู่บ้านกลางพื้นที่ราบลุ่มสวยงาม อยู่นี่ไม่มีป้ายโฆษณา แต่เราพอจะสังเกตเห็นไร่ข้าวโพดในหมู่บ้านอยู่บ้าง เราเลยถามเพื่อนว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพื่อนก็เลยตอบมาว่า “ตัวเลขที่คุณเห็นในโฆษณาเป็นข้าวโพดที่เอาไว้เลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดที่เราปลูกที่นี่เอาไว้ให้คนกิน ส่วนมากจะขายแค่ในพื้นที่ท้องถิ่น” เราถามว่าที่นี่เขาเผาข้าวโพดกันไหม เพื่อนตอบกลับมาว่า “เผาเป็นบางครั้ง แต่ถ้าเผาก็มักจะไม่เผากันในฤดูเผาหรอก ชาวนาปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปีในที่ราบ เพราะเรามีระบบชลประทานที่มั่นคงตลอดปี”

บทสนทนาและการสังเกตการณ์เหล่านี้ให้คำตอบที่หาได้ยากอย่างน่าประหลาดใจ การหาข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตรในประเทศไทยไม่ใช่แค่ท้าทายอย่างเดียว แต่ยังพาให้เข้าใจผิดได้อีกด้วย เราต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่ เราต้องไปดูสถานที่เหล่านี้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงสังเกตการณ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่มากมายแต่ขณะเดียวก็ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน และในความเป็นจริงแล้ว คนในพื้นที่ คนงานในโรงงาน เป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าความจริงเป็นอย่างไร

ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นโรงงานไร่สำหรับการปลูกข้าวโพด โรงงานนี้กำลังปล่อยควันขึ้นไปสู่อากาศและสร้างมลพิษให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น โรงงานไม่ได้เป็นของคนในพื้นที่ แต่เป็นของชนชั้นนำในกรุงเทพและต่างประเทศ เช่นเดียวกับโรงงานอื่น ๆ ที่ปล่อยควัน การโยนความผิดไปให้คนงานและลงโทษคนงานในโรงงานแทนที่จะเป็นเจ้าของโรงงานเป็นเรื่องที่ตลกสิ้นดี การจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง ทุกคนที่สูดอากาศจากภูเขา คนงานในโรงงาน เกษตรกร และพวกเราสามัญชนคนทั่วไป เราจะต้องยึดโรงงาน ไม่ใช่แค่เพื่อตัวของพวกเขาเอง แต่รวมไปถึงทุกคนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย

 


 

เพิ่มเติมจากบรรณาธิการ: จากเวิร์กชอปเรื่องเกษตรนิเวศชาวนาที่ RCSD (7-9 เม.ย. 66) เราได้ฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับประเด็นฝุ่นควันและเกษตรเชิงเดี่ยว รวมทั้งเรื่องที่ดิน ไฟป่า

สำหรับที่ดินเอง ชาวนาชาวบ้านและประชาชนในไทยนั้นต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางที่ดินอย่างรุนแรง เนื่องจากที่ดินทั้งประเทศตกอยู่ในมือคนประมาณ 15 ล้านคนทั่วไทยเท่านั้นที่มีเอกสารสิทธิ โดยมีนายทุนขายเหล้าเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ 630,000 ไร่ หรือเทียบเท่าหนึ่งจังหวัดเลยทีเดียว นอกจากนั้นข้อมูลการถือครองที่ดินยังถูกทำให้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ดีที่สุด ปัญหาเรื่องที่ดินแทนที่จะเป็นปัญหาใหญ่ของส่วนรวม ของเราทุกคน เรากลับถูกรัฐทำให้มันกลายเป็นปัญหาของปัจเจก ปัจจุบันรัฐมีนโยบายธนาคารที่ดิน โดยรัฐซื้อที่มาในราคาตลาด เพื่อขายต่อให้ชาวนาในราคาตลาดและมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง หลายคนจึงต้องตกเป็นหนี้อย่างไม่เห็นหนทางที่จะชดใช้ได้ในชีวิตหนึ่ง ไม่ใช่แค่นั้น ในบทความจะเห็นได้ว่าป้าแดงใช้พื้นที่สหกรณ์เพื่อทำไร่ ชาวนาชาวไร่ในไทยได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องที่ดิน เรียกร้องเรื่องโฉนดชุมชนที่ร่วมเป็นเจ้าของ ดูแลและจัดการกันในชุมชนมาโดยตลอด เพื่อปกป้องไม่ให้ที่ดินต้องกลายไปอยู่ในมือนายทุนแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง จึงต้องตั้งสหกรณ์ (ที่มีเงื่อนไขยาวเหยียด บังคับให้ลงทุนและจ้างผู้จัดการ) หรือวิสาหกิจชุมชนมาบริหารแทน ในรัฐบาล คสช. จนถึงประยุทธ์ได้เลี่ยงคำว่า โฉนดชุมชน ไปใช้คำว่า แปลงรวม โดยเลือกปฏิเสธอำนาจของชุมชน

ตั้งแต่มีรัฐบาลรัฐประหารในปี 2557 ก็มีการใช้ ม. 44 มาจัดการผู้บุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนอย่างเด็ดขาด ต่างจากรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้า ที่ชุมชน ชาวนา หรือชาวไร่สามารถเจรจาเพื่อตรวจสอบสิทธิและได้รับอนุญาตผ่อนผันให้อยู่หรือทำกินในพื้นที่ได้ ซึ่งเหยื่อจากการรัฐประหารนี้ก็มีหลายครอบครัวที่ได้รับสัญญาในยุคที่รัฐไทยตื่นกลัวคอมมิวนิสต์จึงใช้ชาวนาในชนบทเป็นกันชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็ถูกเบี้ยวสัญญาจากรัฐเอาเสียดื้อๆ การเข้ามาของคณะรัฐประหารทำให้คนจนทั่วไทยถูกจับกุมและถูกฟ้องร้องไม่น้อยกว่า 40,000 คดี มีการจับคนเข้าคุกในทันที บางข้อหาก็น่าหัวเราะ เช่น “ข้อหาทำให้โลกร้อน” และให้ชดใช้โดยไปปลูกป่าสองปี นโยบายการเอาคนออกจากป่าทั้งในอดีตและปัจจุบันทำให้คนที่เคยพึ่งพิงฐานทรัพยากรของป่าเพื่อยังชีพนั้นจนลงและจนลง จนในที่สุดเมื่อมีนายทุนมายื่นมือเสนอเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด พร้อมปุ๋ยและยาฆ่าแมลง โดยสัญญาถึงค่าตอบแทนสูงแม้จะมีหนี้อย่างมาก พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องยอมรับ ดินที่ปลูกข้าวโพดทุกปีก็จะยิ่งเสื่อมสภาพและได้ผลผลิตน้อยลงๆ จนในที่สุดต้องรุกที่ถางป่าเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด

ทั้งนี้ในยุค คสช. และรัฐบาลทหารเลยมาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์มีมาตรการหลายอย่างที่เอื้อต่อนายทุนและการเกิดฝุ่นควัน ทั้งการที่ ธกส. ออกนโยบายลดพื้นที่นา เพิ่มพื้นที่ข้าวโพด ชาวนาชาวไร่จะสามารถลดดอกเบี้ยหนี้ได้ หากเปลี่ยนจากทำนามาทำข้าวโพด นอกจากนั้นยังพบว่า พื้นที่ปลูกอ้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านไร่ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งส่งผลกับมลภาวะทางอากาศในพื้นที่เช่นกัน

ในประเด็นไฟป่า เราพบว่าต้นเหตุของมันคือนโยบายป่าปลอดคนซึ่งในไทยมาพร้อมกับยุคหลังสัมปทานป่าไม้ ที่สังคมไทยนั้นตื่นการอนุรักษ์และหันมาไล่คนออกจากป่า จากข้อมูลการเผาไหม้พบว่าป่าที่ไหม้ไฟนั้นมักเป็นป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวนถึงประมาณ 95% ของไฟทั้งหมด โดยมีแค่ 5% เท่านั้นที่เป็นพื้นนี้นอกเขต ทั้งนี้เป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ในกรณีหนึ่งเจ้าหน้าที่ 15 คนต้องดูแลป่ากว่า 300,000 ไร่ แต่ชาวบ้านที่เคยอยู่ในพื้นที่ บางครั้งก็ถูกกีดกันไม่ให้เคลื่อนที่หรือเข้าพื้นที่ แม้มีจำนวนเป็นหมื่นๆ คนก็ถูกกฎหมายสั่งห้ามไม่ให้ดูแลป่า ถึงจะมีความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาก็ตาม

ในหนังสือ The Maya Forest Garden พบว่า “ป่าบริสุทธิ์/ป่าอุดมสมบูรณ์” ตามความหมายของรัฐ แท้จริงแล้วนั้นคือป่าที่มีชนพื้นเมืองคอยดูแล คัดสรร เป็นเหมือนระบบภูมิคุ้มกันมาให้กว่า 8,000 ปี ที่พวกเขาคอยทำแนวกันไฟ ลดเชื้อเพลิงแห้งของป่าผลัดใบ (เช่น ใบไม่ที่ทับถม) หรือเผาเพื่อกำจัดเชื้อเพลิงเฉพาะจุด ฉะนั้นแล้ว เมื่อป่าไม่มีคนคอยดูแลจัดการ ไฟที่เกิดก็มีขนาดใหญ่กว่าและรุนแรงกว่า ฝุ่นควันในครั้งนี้ เราจึงไม่สามารถโทษแค่ “คน” ได้เพียงอย่างเดียว เพราะพวกเขามีการเผาอย่างมีวัฒนธรรมที่ชัดเจน ใช้เวลาไม่นานในยามบ่าย เผาจากบนลงล่าง มีแนวกันไฟ และนำญาติมาช่วยกัน แต่สิ่งที่ผิดคือระบบที่เปลี่ยนเอื้อให้นายทุนและรัฐที่กีดกันคนจากความรู้การจัดการป่า เพื่อที่จะวัดชั่งตวงจนสุดท้ายจะนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้าง “เกษตรพันธสัญญา” รูปแบบใหม่ขึ้นมาอีกได้

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราได้เรียนรู้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือมิติด้านอำนาจ (power) ในแนวคิดของสปิโนซา เชื่อกันว่า อำนาจนั้นมี 2 แบบ คือ potentas และ potentia แม้ในภาษาอังกฤษจะแปลทั้งสองคำที่ว่า power แต่มันก็มีความแตกต่างกัน คำแรกนั้นหมายถึงอำนาจที่มาจากภายนอกที่มาครอบงำ และคำที่สองคืออำนาจที่เรามีอยู่แล้วภายในที่เป็นความสัมพันธ์ของเรากับโลกทั้งใบ ฉะนั้นแล้วในเรื่องที่ดิน ฝุ่นและชนชั้น นอกจากจะต่อสู้กับอำนาจภายนอก (รัฐ ทุน ชนชั้น 1%) เราต้องรับรู้อำนาจภายในตัวเอง เพื่อสร้างฐานที่มั่นให้กับการต่อสู้ การใช้คำว่า empower ที่แปลว่าให้อำนาจหรือมอบอำนาจ จึงอาจไม่ถูกต้องนัก ในเมื่อเราทุกคนต่างก็มีอำนาจอยู่แล้ว ที่เราเองต้องเห็นมันและใช้มันต่างหาก

ทั้งนี้ในบทความได้เลี่ยงใช้คำว่า “เกษตรกร” เนื่องจากเราได้เรียนรู้จากขบวนการชาวนาโลก (La Via Campesina) ว่าชาวนาชาวสวนชาวไร่ถูกทำให้กลายเป็นเกษตรกรไปใต้มิติเงื่อนไขของทุน ดังเช่นในภาษาอังกฤษ ที่คำว่า peasant ถูกทำให้เหลือแค่ farmer ผู้เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมเท่านั้น แต่มันก็ลักลั่นเนื่องจากระบบทุนไม่นับรวม “เกษตรกร” ว่าเป็นแรงงาน จึงไม่ได้ประกันสังคมเหมือนแรงงานคนอื่นทั่วไป แม้มีการชดเชยทางเกษตรเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ทั้งที่เป็นคนหาเลี้ยงทั้งประเทศด้วยซ้ำ


บทกวีเพื่อรำลึกวันการต่อสู้ของชาวนาโลก (International Day of Peasant Struggles)
วันที่ 17 เมษายน ของทุกปี เพื่อรำลึกการต่อสู้ของชาวนาไร้ที่ดินที่ถูกสังหารหมู่โดยรัฐ และวันนี้ในไทย ยังเป็นวันที่บิลลี่ พอละจีหายตัวไปอีกด้วย
แปลจากภาษาอังกฤษ (ต้นฉบับเป็นภาษาโปรตุเกส)

ความรุนแรงที่รัฐทำกับเรา เรารู้สึกถึงมันเข้าอย่างจัง ในเนื้อตัวของเรา มันเข้ามาถึงผืนดินที่เราอยู่
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่เป็นคนที่ถูกกีดกันออกจากประเทศชาติ
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่เป็นคนที่ถูกกีดกันออกจากชีวิต
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่กลับเป็นคนที่เงียบ ไม่ปริปากอะไร
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่กลับเป็นคนที่ไร้หน้า
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่กลับเป็นคนที่ไร้ชื่อ
ถูกฝังลงไปด้วยความเงียบงัน

ความฝันนี้คุ้มค่าพอให้มีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่
เราก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่เราได้เรียนรู้ในชีวิตสั้นๆ ของเรานี้ ว่าเมื่อตายแล้วนั้นไม่สามารถฝันได้
แล้วผืนดินนี้ล่ะ มีคุณค่ามากพอให้ฝันถึงได้หรือไม่?

เรารู้ดีว่าผืนดินนี้มีคุณค่ามากพอที่จะต้องเผชิญการข่มขู่คุกคาม เข่นคร่าชาวนาชาวไร่
ความเงียบงั้นในวันนี้ ความเงียบงันในสังคมได้ปกคลุมเรา หนักดั่งม่านตาของทารกที่ถูกฆ่า
ถ้าเรายอมรับความเงียบงันนี้ ถ้าเรายอมรับการถูกปิดปาก
ถ้าเป็นเช่นนั้น ผืนดิน แผ่นหิน ก็คงกรีดร้อง

ถ้าเรายอมรับการถูกปิดปาก
ผืนดิน แผ่นหิน ก็คงต้องกรีดร้อง