ความช่วยเหลือแบบถอยหลังเข้าคลอง : ประเทศยากจนพัฒนาประเทศร่ำรวยอย่างไรบ้าง
บทความโดย Jason Hickel
แปลโดย คำผาน
เราได้รับการบอกกล่าวมาโดยตลอดถึงเรื่องราวอันน่าสนใจนี้ นั่นคือ เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เรื่องราวดังกล่าวมีอยู่ว่า ประเทศร่ำรวยของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ใจกว้างมอบความมั่งคั่งให้กับประเทศที่ยากจนกว่าในซีกโลกใต้ เพื่อช่วยประเทศที่ยากจนกว่าขจัดความยากจนและผลักดันให้พวกเขาก้าวขึ้นไปสู่ขั้นบันไดแห่งการพัฒนา แน่นอนว่า ในช่วงที่มีการล่าอาณานิคม มหาอำนาจตะวันตกอาจเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ตนเองด้วยการขูดรีดทรัพยากรและแรงงานทาสจากประเทศใต้อาณานิคม แต่นั่นก็เป็นอดีตไปแล้ว ทุกวันนี้ พวกเขาให้เงินช่วยเหลือ (แก่ประเทศอื่น ๆ) มากกว่า 125,000 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ (102 พันล้านปอนด์) ต่อปี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาปรารถนาดีขนาดไหน
เรื่องราวนี้ได้รับการโฆษณาอย่างแพร่สนั่นโดยอุตสาหกรรมความช่วยเหลือและรัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยจนเราไม่ทันสังเกตว่า มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น
Global Financial Integrity (GFI) ในสหรัฐอเมริกาและ Centre for Applied Research (ศูนย์วิจัยประยุกต์) ของ Norwegian School of Economics (สำนักเศรษฐศาสตร์แห่งนอร์เวย์) ได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่น่าสนใจออกมาบางส่วน พวกเขานับรวมทรัพยากรทางการเงินทั้งหมดที่ถูกโอนระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนในแต่ละปี ซึ่งไม่ได้มีแค่ความช่วยเหลือ การลงทุนจากต่างประเทศ และการไหลเวียนทางการค้าเท่านั้น (อย่างที่งานศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็น) แต่รวมไปถึงการโอนที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน เช่น การยกเลิกหนี้ การโอนแบบให้เปล่า เช่น เงินที่คนงานโอนกลับไปยังประเทศบ้านเกิดตัวเอง และเงินทุนไหลออกที่ไม่ได้บันทึกไว้ (จะลงรายละเอียดในภายหลัง) เท่าที่ฉันทราบ นี่เป็นการประเมินผลการถ่ายโอนทรัพยากรที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยมีมา
“กระแสเงินที่ไหลจากประเทศร่ำรวยไปสู่ประเทศยากจนเทียบไม่ได้กับกระแสเงินที่ไหลจากประเทศยากจนไปหาประเทศร่ำรวย”
สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือ กระแสเงินจากประเทศร่ำรวยไปยังประเทศยากจนนั้นเทียบไม่ได้กับกระแสที่ไหลไปอีกทิศทางหนึ่ง (จากประเทศยากจนไปสู่ประเทศร่ำรวย-ผู้แปล)
ในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่บันทึกเป็นข้อมูล ประเทศกำลังพัฒนาได้รับเงินทั้งหมด 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมไปถึงความช่วยเหลือ การลงทุน และรายได้จากต่างประเทศ แต่ในปีเดียวกันนั้น เงินจำนวน 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ก็ไหลออกจากประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศกำลังพัฒนาส่งเงินไปประเทศอื่น ๆ มากกว่าที่พวกเขาได้รับถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเราสังเกตทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมานั้น เงินไหลออกสุทธิรวมกันทั้งหมดมูลค่าสูงมากจนน่าตกใจ นั่นคือ 16.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่คือจำนวนเงินที่ไหลออกจากซีกโลกใต้ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่าจำนวนเงินดังกล่าวเยอะขนาดไหน 16.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐนั้นคิดเป็น GDP ทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาโดยประมาณ
นี่หมายความว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับการพัฒนากระแสหลักเป็นไปในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ความช่วยเหลือเป็นไปในทางกลับกันอย่างชะงัด ประเทศร่ำรวยไม่ได้พัฒนาประเทศยากจน แต่เป็นประเทศยากจนที่กำลังพัฒนาประเทศร่ำรวยต่างหาก
เงินไหลออกเยอะขนาดนี้มีอะไรบ้าง? บางส่วนก็เป็นเงินจ่ายคืนหนี้ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ประเทศกำลังพัฒนาจ่ายแค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็เป็นเงินจำนวนกว่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว เป็นการโอนเข้าธนาคารใหญ่ในนิวยอร์กและลอนดอนโดยตรง และเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับในช่วงเวลาเดียวกัน อีกส่วนใหญ่ ๆ คือรายได้ที่ชาวต่างชาติได้รับจากการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาแล้วส่งกลับไปประเทศตัวเอง (ประเทศร่ำรวย-ผู้แปล) ตัวอย่างมีให้เห็น เช่น ลองนึกถึงผลกำไรทั้งหมดที่ BP (บริษัทน้ำมันและก๊าซข้ามชาติสัญชาติอังกฤษซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ-ผู้แปล) รีดเค้นออกมาจากแหล่งน้ำมันสำรองในไนจีเรีย หรือที่แองโกล-อเมริกันรีดผลกำไรออกมาจากเหมืองทองคำในแอฟริกาใต้
แต่จนถึงตอนนี้ เงินไหลออกก้อนที่ใหญ่ที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับการไหลออกของเงินทุนที่ไม่ได้บันทึกไว้ ซึ่งมักจะผิดกฎหมายเสียด้วย GFI คำนวณว่า ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียเงินไปทั้งสิ้น 13.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากการไหลออกของเงินทุนที่ไม่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980
เงินไหลออกที่ไม่ได้บันทึกไว้ส่วนใหญ่ไหลออกผ่านระบบการค้าระหว่างประเทศ โดยพื้นฐานแล้ว บริษัทต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศแจ้งราคาปลอมในใบแจ้งหนี้ทางการค้าเพื่อชิ่งเอาเงินจากประเทศกำลังพัฒนาไปไว้ยังดินแดนภาษีต่ำ (tax havens) และดินแดนที่มีขอบเขตอำนาจลับ (secrecy jurisdictions-หมายถึงดินแดนภาษีต่ำที่ชำนาญในการช่วยเหลือให้ผู้คนสามารถซ่อนความมั่งคั่งหรือกิจการทางการเงินจากกฎหมายได้ ไม่เฉพาะการเลี่ยงภาษี แต่รวมไปถึงการก่ออาชญากรรมทางการเงินด้วย เช่น การฟอกเงิน -ผู้แปล) ซึ่งเป็นวิธีการที่เรียกว่า “การแจ้งหนี้ทางการค้าที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง” (trade misinvoicing) เป้าหมายโดยปกติคือเพื่อหลบเลี่ยงภาษี แต่บางครั้ง วิธีการเช่นนี้ก็ถูกนำมาใช้เพื่อฟอกเงินหรือหลบหลีกการควบคุมเงินทุน ในปี ค.ศ. 2012 ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียเงินถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากการแจ้งหนี้ทางการค้าที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งมากกว่าเงินที่ได้รับช่วยเหลือในปีนั้นถึงห้าเท่า
นอกจากนั้น บริษัทข้ามชาติยังขโมยเงินจากประเทศกำลังพัฒนาผ่าน “การปลอมแปลงใบแจ้งหนี้เดียวกัน” (same-invoice faking) ซึ่งเป็นการย้ายกำไรไปมาระหว่างบริษัทในเครือของตนเองอย่างผิดกฎหมายโดยปลอมแปลงราคาใบแจ้งหนี้ทางการค้าของทั้งสองฝั่ง ตัวอย่างเช่น บริษัทเครือในไนจีเรียอาจเลี่ยงภาษีท้องถิ่นโดยโอนเงินไปยังบริษัทเครือในหมู่เกาะบริติชเวอร์จินที่ซึ่งอัตราภาษีเป็นศูนย์และไม่สามารถตรวจสอบเงินที่ถูกขโมยไปได้
GFI ไม่ได้นับรวมการปลอมแปลงใบแจ้งหนี้เดียวกันไว้ในตัวเลขพาดหัว (headline figures) เพราะมันยากมากที่จะตรวจพบ แต่พวกเขาประเมินว่ามีมูลค่ามากถึง 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และตัวเลขเหล่านี้ครอบคลุมเฉพาะการโจรกรรมผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น ถ้าเรานับรวมการโจรกรรมผ่านการแลกเปลี่ยนภาคบริการเข้าไปด้วย ตัวเลขทรัพยากรสุทธิที่ไหลออกทั้งหมดก็จะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่างบประมาณช่วยเหลือถึง 24 เท่า กล่าวอีกอย่างก็คือ ทุก ๆ 1 ดอลลาร์ของความช่วยเหลือที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับ พวกเขาจะสูญเสียเงิน 24 ดอลลาร์เป็นเงินไหลออกสุทธิ เงินที่ไหลออกเหล่านี้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียแหล่งรายได้สำคัญและเงินทุนที่จะเอามาพัฒนาประเทศ จากรายงานของ GFI พบว่า ปริมาณเงินไหลออกสุทธิที่นับวันยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาลดน้อยถอยลง และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนลดลงโดยตรง
ความวิบัตินี้เป็นความรับผิดชอบของใคร? ด้วยเหตุที่เงินทุนไหลออกอย่างผิดกฎหมายเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่ มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี บรรดาบริษัทที่ปลอมแปลงใบแจ้งหนี้ทางการค้ามีความผิดเต็ม ๆ แต่ทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงหลุดพ้นลอยนวลไปได้ง่าย ๆ ? ในอดีต เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถป้องกันการทำธุรกรรมทางการเงินที่ดูไม่น่าเชื่อถือและหยุดมันไว้ทัน ทำให้แทบไม่มีใครสามารถโกงได้ แต่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization) อ้างว่า การทำเช่นนี้ทำให้การค้าไม่มีประสิทธิภาพ และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องยอมรับราคาตามใบแจ้งหนี้ทางการค้าตามมูลค่าที่ระบุเอาไว้ (face value) ยกเว้นในสถานการณ์ที่น่าสงสัยมาก ๆ เท่านั้น ทำให้พวกเขาจับการไหลออกของเงินที่ผิดกฎหมายได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การไหลออกของเงินทุนจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีที่หลบภาษี (tax havens) และเมื่อพูดถึงที่หลบภาษี ผู้ร้ายก็ระบุตัวไม่ยาก ที่หลบภาษีมีมากกว่า 60 แห่งบนโลก และส่วนใหญ่ก็ถูกควบคุมโดยประเทศตะวันตกไม่กี่ประเทศ ในยุโรปเองก็มีที่หลบภาษี เช่น ลักเซมเบิร์กกับเบลเยียม ส่วนในสหรัฐอเมริกาก็มีที่หลบภาษี เช่น เดลาแวร์กับแมนฮัตตัน แต่จนถึงตอนนี้ เครือข่ายหลบภาษีที่ใหญ่ที่สุดมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลอนดอน ซึ่งควบคุมเขตอำนาจลับทั่วทั้งดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร (British Crown Dependencies) และดินแดนโพ้นทะเล
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บางประเทศที่ชอบโอ้อวดว่าตัวเองให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่น ๆ คือประเทศที่อำนวยความสะดวกให้กับการโจรกรรมครั้งใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาเสียอย่างนั้น
เรื่องเล่าเรื่องความช่วยเหลือเริ่มดูไร้เดียงสาขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อเราพิจารณาการไหลย้อนกลับของเงินเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่า ความช่วยเหลือนั้นแทบไม่ได้ช่วยอะไร แต่เป็นฉากบังหน้าการกระจายทรัพยากรอย่างไม่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ฉกฉวยดูคล้ายกับผู้ให้ และยังมอบตำแหน่งทางศีลธรรมอันสูงส่งให้แก่พวกเขา ในขณะเดียวกันก็ขัดขวางพวกเรา ผู้เป็นห่วงเรื่องความยากจนทั่วโลก จากการทำความเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วระบบทำงานอย่างไร
การกุศลไม่จำเป็นสำหรับประเทศยากจน แต่ความยุติธรรมต่างหากที่จำเป็น และการให้ความยุติธรรมต่อพวกเขาก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถตัดหนี้ส่วนเกินของประเทศยากจนออกได้ ปล่อยให้พวกเขาได้ใช้จ่ายเงินเพื่อการพัฒนาแทนที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เก่า เราสามารถปิดดินแดนที่มีขอบเขตอำนาจลับได้ และลงโทษนายธนาคารและนักบัญชีที่ปล่อยให้เงินไหลออกประเทศอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนั้น เราสามารถกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกเพื่อขจัดสิ่งที่จูงใจให้บริษัทเคลื่อนย้ายเงินของพวกเขาไปทั่วโลกได้
เรารู้วิธีแก้ไขปัญหา แต่การทำเช่นนั้นจะขัดกับผลประโยชน์ของธนาคารและองค์กรที่มีอำนาจซึ่งกำลังรีดเค้นผลประโยชน์จากระบบที่ดำรงอยู่ คำถามมีอยู่ว่า เรามีความกล้าหรือไม่?