[ขอบคุณภาพปกจากแฟนเพจ Saveวันเฉลิม]
ผู้เขียน Peam Pooyongyut
บทนำ
การก่อกําเนิดของรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า รัฐชาติ (nation-state) นั้นทําให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเส้นเขตแดนตามมา เพราะเส้นแขตแดนนั้นเป็นสิ่งที่จะกําหนดว่าอํานาจของรัฐแต่ละรัฐนั้นสิ้นสุดที่ใดบนพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญมากเพราะว่ารูปแบบอํานาจของรัฐสมัยใหม่จําต้องมีความชัดเจน และแตกต่างไปจากรูปแบบของรัฐโบราณที่ไร้เส้นเขตแดน ความชัดเจนของอํานาจดังกล่าวจึงทําให้เกิดกลไกใหม่ๆ ของรัฐที่ส่งผลต่อการควบคุมสิ่งต่างๆ ในเส้นเขตแดน เช่น ประชากรของรัฐ หรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งส่งผลต่อความคิดที่ว่าเราไม่สามารถเป็นคนของชาติมากกว่าหนึ่งชาติได้พร้อมๆ กัน เป็นต้น
ในรัฐสมัยโบราณนั้น อํานาจรัฐไม่ได้มีขอบเขตชัดเจน กล่าวคืออํานาจจะมีมากเมื่ออยู่ในบริเวณศูนย์กลาง (เมืองที่ผู้ปกครองอาศัยอยู่) และค่อยๆ แผ่วลงเมื่อห่างออกจากศูนย์กลาง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าอํานาจจะไปสิ้นสุดที่จุดใด นั่นทําให้ขอบเขตของอํานาจมีความคลุมเครืออยู่มาก เมื่อเป็นเช่นนี้ อํานาจรัฐที่มีอยู่เหนือประชากรของตนก็ลดหลั่นกันไปตามอาณาบริเวณที่ประชากรเหล่านั้นอาศัยอยู่ด้วย ผู้คนบริเวณชายขอบอํานาจจึงเป็นอิสระจากรัฐได้มากกว่า ประชากรจึงถูกยึดโยงกับตัวอาณาจักรและความสัมพันธ์กับอํานาจของอาณาจักรนั้นๆ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ก็มีความยืดหยุ่น มีความอิสระของการเคลื่อนย้ายมากกว่า (โดยเฉพาะเมื่ออยู่ห่างจากศูนย์กลางอาณาจักร)
เมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่และเส้นเขตแดนขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้ความสัมพันธ์ของประชากรกับรัฐเปลี่ยนแปลงไปด้วย ความเข้มข้นของอํานาจรัฐไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลางอาณาจักรอีกต่อไป แต่ทว่ามันได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งรัฐ ทั่วพื้นที่ทางกายภาพที่อยู่ภายใต้เส้นเขตแดนของรัฐนั้นๆ ดังนั้นรัฐจึงต้องสร้างกลไกใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมประชากรที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของรัฐ กลไกแบบหนึ่งที่เราน่าจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างก็คืองานของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) ชุมชนจินตกรรม ที่แสดงให้เห็นกลไลการสร้างสำนึกความเป็นชาติผ่านภาษา สัญลักษณ์ และจินตนาการร่วมของคนในชาติ แต่อีกหนึ่งในกลไกที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นพลเมือง” (citizenship) ที่กําหนดว่าใครเป็นประชากรของรัฐ นั่นหมายความว่าสถานะพลเมืองเป็นสิ่งที่รัฐมอบให้กับคนที่อยู่ในเขตแดนของตน เป็นหลักประกันความคุ้มครองสิทธิ์ มอบแผ่นดินสำหรับลงหลักปักฐานเพื่อแสดงถึงศีลธรรมของความเป็นพลเมือง (ประเด็นแผ่นดินเกิดกับมโนทัศน์เรื่องการติดกับพื้นที่ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ Liisa Malkki, “National Geographic: The Rooting of Peoples and the Territorialization of National Identity among Scholars and Refugees.” Cultural Anthropology, 7, No. 1 (Feb. 1992): 24-44)
ชีวิตที่เปลือยเปล่า
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ หนึ่งในนักคิดทฤษฎีสัญญาประชาคม (socialcontract) ที่กลายมาเป็นคําอธิบายของการเกิดรัฐสมัยใหม่ ได้ให้สาเหตุของการเกิดรัฐเอาไว้ว่า ในสภาวะธรรมชาติ (สภาวะที่ไม่มีรัฐ) มนุษย์นั้นมีความโหดร้าย ป่าเถื่อน และจ้องจะทําร้ายผู้อื่นเสมอเพื่อความอยู่รอดของตนและพวกพ้อง ฮอบส์จึงมองว่าสภาวะไร้รัฐนั้นเหมือนกับ “สงครามของมนุษย์ต่อมนุษย์คนอื่น” อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อไม่ให้มนุษย์ใช้
ความรุนแรงหรือฆ่ากัน จําต้องให้มนุษย์ทุกคนมาทําสัญญาร่วมกันเพื่อมอบอํานาจของตนให้กับองค์อธิปัตย์ หรือถ้ากล่าวให้มากไปกว่านั้นคือ “มอบอํานาจในการฆ่า” ของตนให้กับองค์อธิปัตย์ และนั่นจะส่งผลให้มนุษย์ไม่ฆ่ากันเอง สังคมจึงจะดำรงอยู่ได้ถ้ามีรัฐที่ยึดสิทธิ์ในการฆ่าเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ในแง่นี้แล้วรัฐจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองชีวิตของมนุษย์ เป็นลักษณะสําคัญของรัฐสมัยใหม่
การมอบสิทธิพลเมืองก็เช่นเดียวกัน การที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีสิทธิ พลเมืองได้ ย่อมต้องได้รับการรับรองจากรัฐ เช่น การมีเอกสารยืนยันตน ที่คุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่น บัตรประชาชน (ID card) ซึ่งทําให้ไม่ว่าอยู่แห่งหนใดก็สามารถระบุได้ว่าเป็นพลเมืองของรัฐใด อํานาจของรัฐจึงติดตัวพลเมืองของพวกเขาไปทุกๆ ที่ และการได้สิทธิพลเมืองก็นับว่าเป็นสิ่งสําคัญ เพราะมันทําให้ได้รับสิทธิ์อื่นๆ ตามมามากมาย เช่น สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล สิทธิ์ในการใช้บริการของรัฐ สวัสดิการที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต อย่างไรก็ตาม สิทธิพลเมืองเมื่อได้รับมาจากรัฐก็ย่อมสามารถถูกถอดถอนออกโดยรัฐได้เช่นกัน (denationalization) กระบวนการถอดถอนความเป็นพลเมืองนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในช่วงที่นาซีเยอรมันออกกฏหมายที่ชื่อว่า กฏหมายเนินแบค (Nuremberg Law) ซึ่งเป็นกฏหมายที่ระบุว่ามีเพียงชนชาติเยอรมันเท่านั้นที่เป็นพลเมืองของรัฐเยอรมนี กล่าวอีกทางนึงนี่คือการถอดทอนความเป็นพลเมืองของชนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาวยิว ซึ่งนําไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
จิออจิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาลีได้เสนอแนวคิดเรื่อง “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” (naked life, bare life, homo sacer) เพื่ออธิบายถึงสภาวะของชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่ อกัมเบนสนใจเรื่องนี้เพราะเขามองว่าชีวิตของมนุษย์ในสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่สามารถแยกออกจากการเมืองและอํานาจขององค์อธิปัตย์ได้ เขาจึงศึกษาการทํางานของอํานาจอธิปัตย์ต่อชีวิตมนุษย์ ซึ่ง “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” ก็เป็นตัวแบบอันหนึ่งที่เขานํามาใช้อธิบาย โดยการมองหาตรรกะของตัวอย่างที่เขายกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าอํานาจอธิปัตย์ทํางานกับชีวิตมนุษย์อย่างไร และชาวยิวกับค่ายกักกันเอาท์ชวิตท์ก็เป็นตัวอย่างที่อากัมเบนมักจะนํามาใช้บ่อยๆ
อกัมเบนกล่าวว่าชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นเป็นชีวิตที่ถูกทะลุทะลวงจากอํานาจอธิปัตย์อย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการไม่สามารถตัดสินความเป็นความตายให้กับตัวของมันเองได้ โดยเขาได้ยกตัวอย่างกฎหมายโรมันที่กล่าวถึงชีวิตที่เปลือยเปล่า homo sacer (sacred man) เอาไว้ว่าเป็นบุคคลที่มีความผิด และไม่มีความจําเป็นต้องเคารพบุคคลนั้นในฐานะมนุษย์ การฆ่าบุคคลดังกล่าวก็ส่งผลให้ผู้ฆ่าไม่มีความผิดไปด้วย ในแง่นี้ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นอะไรที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่ามนุษย์ อยู่นอกปริมณฑลทางการเมือง สอดคล้องกับคําพูดของอริสโตเติลที่ว่า ‘ผู้ที่ไม่ได้อยูในสังคมการเมือง ถ้าไม่เป็นสัตว์ก็เป็นพระเจ้า’ ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงเป็นชีวิตที่ได้รับการยกเว้นออกจากสังคมการเมือง ถูกกีดกันออกไปแต่ก็ยังถูกดึงเข้ามาเพื่อโดนกระทำจากอำนาจ
ดังนั้นเมื่อการฆ่าชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นไม่ได้ส่งผลให้ผู้ฆ่าต้องรับโทษ ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงเป็นชีวิตที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ เป็นชีวิตที่ปราศจากสิทธิ์ของพลเมือง ส่งผลให้พวกเขาแทบไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ เว้นเสียแต่องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่หลายองค์กรก็ยังเป็นการใช้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมจัดการชีวิตที่เปลือยเปล่าเหล่านี้
ผู้ลี้ภัย มนุษย์ผู้ไม่มีสิทธิ์
ผู้ลี้ภัย (refugee) คือบุคคลที่จำเป็นต้องแสวงหาที่ลี้ภัย (refuge) เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการที่ทำให้ไม่สามารถอาศัยอยู่ในแผ่นดินเกิดของตนเองได้ เช่นสงครามกลางเมือง โรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ หรือจะเป็นสาเหตุทางการเมืองต่างๆ หรืออีกประการหนึ่ง ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) กล่าวว่าผู้ลี้ภัยคือกลุ่มคนโชคร้ายที่ต้องเดินทางไปยังประเทศใหม่โดยที่ไม่ได้ตั้งตัว หรือเตรียมใจเอาไว้ก่อน ซึ่งตัวอาเรนท์เองก็เป็นผู้ลี้ภัยชาวยิว ที่ลี้ภัยจากเยอรมันไปยังประเทศต่างๆ มากมาย ดังนั้นแล้วอาจจะสรุปได้ง่ายๆ ว่าผู้ลี้ภัยคือผู้ที่ต้องออกจากประเทศต้นทางไปยังประเทศใหม่ด้วยสาเหตุต่างๆ นั่นเอง
โรงฮิงญา (Rohingya) คือหนึ่งในกลุ่มชาติพันธ์ุที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ซึ่งพวกเขากลายมาเป็นผู้ลี้ภัยที่กำลังเป็นวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศอยู่ในปัจจุบัน ชาวโรฮิงญานั้นเป็นมุสลิม จึงไม่ได้รับการยอมรับทางการพม่าที่นับถือพุทธเป็นหลัก รวมทั้งมีข่าวมากมายที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาถูกชาวพม่ารังแก ใช้ความรุนแรง รวมไปถึงการสังหารอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทําให้ชาวโรงฮิงญาจํานวนมากต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ โดยหลักๆ แล้วบังคลาเทศซึ่งมีอาณาเขตอยู่ติดกับรัฐยะไข่เป็นที่ที่มีการรับชาวโรงฮิงญาเข้าไปมากที่สุด หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็เคยมีผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญาเข้ามาขอลี้ภัย โดยเดินทางมาทางเรือผ่านเข้าภาคใต้ของไทย ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญานั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วภูมิภาคต้องเผชิญ โดยพม่าก็ยังคงมีท่าทีไม่สนใจและพยายามดําเนินการใช้ความรุนแรงกับชาวโรงฮิงญาในพม่าต่อไปท่ามกลางการปิดกั้นสื่อเพื่อปกปิดความจริง
เมื่อลองวิเคราะห์ความเปลือยเปล่าของชีวิตชาวโรงฮิงญาแล้ว เราจะพบความน่าสนใจดังนี้
ชาวโรงฮิงญานั้นถือว่าเป็นบุคคลไร้รัฐ (stateless) เนื่องจากทางการพม่าไม่ยอมรับรองสถานะพลเมืองให้กับพวกเขา นั่นส่งผลให้พวกเขากลายเป็นเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ไม่มีใครสามารถเอาผิดกับผู้กระทําได้เลย เพราะความรุนแรงส่วนมากนั้นทางพม่าเองก็มีส่วนรู้เห็นรวมถึงเป็นผู้ดำเนินการเสียเอง แม้ว่านานาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศจะพยายามเรียกร้องให้ทางการพม่าจัดการเรื่องดังกล่าวด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็แทบไม่มีผลอะไร บริบทของรัฐชาตินั้นให้ความสําคัญกับอํานาจอธิปไตยของรัฐ ดังนั้นจึงไม่มีหนทางที่อํานาจภายนอกจะไปแทรกแซงอํานาจอธิปไตยของพม่าได้ ทำได้เพียงกดดันชาวโรงฮิงญาที่อยู่ในพม่าจึงต้องเผชิญกับอํานาจขององค์อธิปัตย์ที่คอยข่มเหงรังแก และเข่นฆ่าพวกเขาราวกับไม่ใช่มนุษย์
ชีวิตของโรฮิงญาจึงเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าโดยแท้ เพราะพวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เลย ในขณะเดียวกัน ชาวโรงฮิงญาที่ลี้ภัยออกมาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ก็เผชิญหน้ากับความโหดร้ายจากประเทศปลายทางเช่นกัน การตั้งค่ายผู้ลี้ภัยคือกระบวนการหนึ่งของอํานาจอธิปัตย์ที่ใช้ในการจัดการกับชีวิตที่เปลือยเปล่าเหล่านี้ พวกเขาต้องอยู่อาศัยอย่างแออัดภายในค่ายโดยไม่ได้ทําอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พวกเขาไม่สามารถคิดถึงอนาคตได้เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ไม่สามารถหางานทําได้เพราะต้องถูกกักบริเวณภายในค่าย พวกเขาสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้เพราะถูก ทําให้เงียบ และไม่สามารถพัฒนาชีวิตของพวกเขาเองได้เลย บางคนเกิดในค่ายและไม่เคยออกนอกค่ายเลยชั่วชีวิต ชีวิตแบบนี้จึงเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าเช่นกัน ดังนั้นต่อให้พวกเขาจะหนแห่งใด สถานภาพที่ไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นทําให้พวกเขาต้องยากลําบากกับชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
เรื่องใกล้ตัวเข้ามาอีก กรณีผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้าน เราอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเขาเหล่านั้นมีชื่อเสียงเรียงนามอะไรบ้าง แต่ที่อยากพูดถึงคือ เหตุการณ์เหล่านี้คือตัวอย่างของการที่องค์อธิปัตย์ได้ปลดเปลื้องสิทธิ์ความเป็นพลเมืองของพวกเขา ทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ไม่ว่าพวกเขาจะถูกกระทำเช่นไรก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้ สถานะของผู้ลี้ภัยทางการเมืองจึงไม่แตกต่างอะไรกับโรงฮิงญา หรืออาจจะร้ายแรงกว่าด้วยซ้ำในบางแง่มุม
เราทุกคนก็เปลือยเปล่า
เมื่อมีข่าวผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญาเข้ามาในเขตแดนของรัฐไทย เราจะเห็นถึงความคิดเห็นของผู้คนบนโลกออนไลน์ที่น่าสนใจไม่น้อย คือมองว่าชาวโรงฮิงญาเหล่านี้เป็นภาระ เพราะในสายตาของชาวไทยทั้งหลายนั้น ชาวโรงฮิงญาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ต่างจากสัตว์เลย เช่น คํากล่าวหาว่าชาวโรงฮิงญาโง่ คิดไม่เป็น เอาแต่กินกับนอน สืบพันธ์ออกลูกหลานมาเต็มไปหมด เข้ามาเบียดเบียบทรัพยากรของไทย หรือแม้แต่การบอกว่าคนเหล่านี้สมควรถูกทางการพม่าเข่นฆ่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องรัฐชาติและชาตินิยมได้ซึมแผ่ซ่านเข้าไปในตัวของพลเมืองไทยผู้มีสิทธิ์ทั้งหลาย และจะไม่ยอมให้คนจาก ภายนอกเข้ามาแย่งสิทธิ์และทรัพยากรในประเทศของตน แม้แต่ชาวต่างชาติที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทยก็ตกเป็นเป้าเช่นกัน
แล้วเรามีสิทธิ์จริงหรือ? ในฐานะพลเมืองผู้มีบัตรประชาชนก็ย่อมใช่ แต่คนจํานวนมากก็มองว่าสิทธิเป็นเรื่องของความเป็นพลเมืองอย่างเดียว และคําว่าสิทธิมนุษยชนก็แทบจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันกับสิทธิพลเมืองไปเสียแล้ว ในแง่นี้ความเป็นพลเมืองจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนไขว่คว้าในกรณีที่ตนเองไม่มี และรักษามันไว้อย่างดีในกรณีที่ได้รับสิทธิ์แล้ว เพราะการมีสิทธิพลเมืองทําให้ได้รับสิทธิ์อื่นๆ ตามมานับไม่ถ้วนดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิทธิ์นี้จะถาวรมั่นคงตลอดไป เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่จะไม่ถูกปลดเปลื้องออกจากชีวิตของเรา
เราอาจจะมั่นใจไม่ได้เต็มที่ เพราะประวัติศาสตร์ก็บอกเราแล้วว่า อํานาจอธิปัตย์มีศักยภาพเสมอที่จะถอดถอนความเป็นพลเมืองของเราออกไป สักวันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นวันเฉลิม กลายเป็นสุรชัย กลายเป็นสยาม และผู้ลี้ภัยอื่นๆ ที่ไม่อาจกล่าวในที่นี้ได้หมด ดังนั้นจึงจําเป็นอย่างยิ่งว่าทําไมเราถึงต้องทําความเข้าใจผู้อื่นที่มีชีวิตที่เปลือยเปล่า เมื่อเราเผชิญหน้ากับคนเหล่านั้นเราจะรู้สึกอย่างไร เราจะมองว่าเขาเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเราหรือเปล่า หรือจะมองพวกเขาในสายตาขององค์อธิปัตย์ที่พร้อมจะเข้ามาก้าวก่ายกับชีวิตของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะการทําความเข้าใจชีวิตที่เปลือยเปล่าจะต้องหันกลับมาเข้าใจตัวเอง ว่าตัวเองจะรู้สึกเช่นไรเมื่อต้องอยู่ในสภาวะแบบนั้น ไม่ใช่มองจากมุมมองของผู้มีสิทธิ์ทุกอย่างแล้วตัดสินว่าคนอื่นไม่สมควรได้รับแบบเดียวกับตน
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- Agamben, Giorgio. 1998. Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life. Stanford: Stanford University Press.
- Arendt, Hannah. 1943. “We Refugees,” Menorah Journal 31, no. 1, pp. 69-77.
- Hobbes, Thomas. 2008. Leviathan. London: Pearson Longman.
- Malkki, Liisa. 1992. “National Geographic: The Rooting of Peoples and the Territorialization of National Identity among Scholars and Refugees.” Cultural Anthropology 7, no. 1, pp. 24-44.
- เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2550. “ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วยชีวิตที่เปลือยเปล่าองค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด”, รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 28 ฉบับที่ 3, หน้า 91-124.