เขียน CrimethInc.
แปล Wannabe Idlers
บรรณาธิการ กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีใครทำงาน โรงงาน(นรก)ก็คงว่างเปล่า และสายพานการผลิตก็คงหยุดชะงัก อย่างน้อยก็ในกลุ่มที่ไม่มีใครเต็มใจอยากผลิต การขายของทางไกลก็คงสิ้นสุดลง พวกคนน่ารังเกียจที่เอาแต่ครอบงำควบคุมผู้อื่นเพราะมีเงินและตำแหน่งใหญ่โตก็คงต้องฝึกทักษะการเข้าสังคมให้มากขึ้น ไม่มีรถติดและเหตุการณ์น้ำมันรั่วอีกต่อไป ธนบัตรและใบสมัครงานจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในกองไฟเมื่อผู้คนหันไปแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือแบ่งปันกันแทน ใบหญ้าและดอกไม้จะเติบโตขึ้นจากรอยแยกบนทางเท้า และกลายเป็นต้นไม้ที่ออกดอกผลในที่สุด
แล้วเราจะอดตายกันหมด แต่เราก็คงจะไม่ต้องหากินจากงานเอกสารต่างๆ และการประเมินประสิทธิภาพการทำงานอีกต่อไปแล้วใช่ไหม สิ่งที่เราผลิตหรือทำเพื่อเงินแทบทุกอย่างนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเอาชีวิตรอดของพวกเราเลย มิหนำซ้ำ มันไม่ได้ให้ความหมายใดๆ แก่ชีวิตอีกด้วย
บทความนี้คัดออกมาจาก Work หนังสือ 376 หน้าซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ระบบทุนนิยมร่วมสมัย ยังมีในรูปแบบแผ่นพับอีกด้วย
นั่นขึ้นอยู่กับคุณให้ความหมายของ “งาน” ว่าอะไร นึกดูว่ามีคนจำนวนเท่าไหร่ที่สนุกกับการทำสวน ตกปลา งานไม้ ทำอาหาร และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพียงเพราะว่าพวกเขาชอบทำสิ่งเหล่านั้น จะเกิดอะไรขึ้นหากกิจกรรมเหล่านั้นสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ทั้งหมด
เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่ผู้คนอ้างว่าในอีกไม่ช้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะปลดปล่อยมนุษยชาติออกจากความจำเป็นที่จะต้องทำงาน ทุกวันนี้เรามีสมรรถภาพล้นเหลือจนบรรพบุรุษของเราไม่อาจจินตนาการถึงได้ แต่คำกล่าวนั้นยังไม่เป็นจริง ในสหรัฐฯ เราทำงานต่อวันยาวนานกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ คนจนทำงานเพื่อเอาชีวิตรอด คนรวยทำงานเพื่อแข่งขัน คนที่ตกงานก็ต้องหางานทำอย่างเข้าตาจน ยากเหลือเกินที่พวกเราจะมีสิทธิ์ได้ใช้เวลาว่างที่ความก้าวหน้าเหล่านี้ควรมอบให้กับเรา แม้จะพูดกันปาวๆ ว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย และมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินนั้นคือสิ่งจำเป็น แต่บรรษัททั้งหลายยังคงมีรายงานออกมาว่าพวกเขามีกำไรเพิ่มขึ้น คนที่มั่งคั่งที่สุดก็มั่งคั่งยิ่งขึ้นไปกว่าที่เคยเป็น และสินค้าจำนวนมหาศาลถูกผลิตขึ้นมาเพียงเพื่อจะถูกทิ้งในท้ายที่สุด ความมั่งคั่งมีเหลือเฟือ แต่มันไม่ได้ถูกใช้เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติ
ระบบแบบไหนกันที่ผลิตความอุดมสมบูรณ์ออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็กีดกันไม่ให้เราใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น พวกที่ปกป้องตลาดเสรีแย้งว่ามันไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว ก็ถ้าเราจัดระเบียบสังคมกันอย่างนี้ ทางเลือกอื่นก็คงไม่มีจริงๆ นั่นแหละ
ถึงอย่างนั้น มันก็มีกาลหนึ่ง ก่อนที่จะมีการตอกบัตรเข้างานหรือมื้อกลางวันของพวกมีอำนาจ ทุกๆ อย่างล้วนสำเร็จลุล่วงได้โดยปราศจากงาน โลกธรรมชาติที่ตอบสนองความต้องการของเรานั้นยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนหรือถูกทำให้เป็นของส่วนตัว ความรู้และทักษะยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกจำกัดอยู่แค่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาต เป็นตัวประกันของพวกสถาบันหน้าเงิน เวลายังไม่ถูกแบ่งออกเป็นเวลางานเพื่อผลิตและเวลาว่างเพื่อบริโภค ที่เรารู้สิ่งเหล่านี้ก็เพราะว่าแท้จริงแล้วงานเพิ่งถูกสร้างขึ้นมาไม่กี่พันปีนี่เอง แต่มนุษย์เราดำรงอยู่มาหลายแสนปีแล้ว เราถูกบอกว่าชีวิตในตอนนั้น “โดดเดี่ยว ยากไร้ น่ารังเกียจ โหดเหี้ยม และแสนสั้น” แต่เรื่องเล่านี้มาจากคนที่อยากทำลายวิถีชีวิตดังกล่าว ไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ
นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เราเคยเป็น หรือเราจะทำแบบนั้นได้ เพียงแต่ว่าสิ่งต่างๆ ในตอนนี้ไม่ควรเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่ หากบรรพบุรุษในอดีตอันไกลโพ้นสามารถมองเห็นเราในปัจจุบันได้ พวกเขาอาจจะตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์บางอย่างของเรา และก็คงหวาดกลัวบางอย่างด้วยเช่นกัน แต่ที่แน่ๆ พวกเขาคงช็อกกับวิธีที่พวกเราใช้งานมัน เราสร้างโลกนี้ด้วยแรงงานของพวกเรา และหากไม่มีบางอุปสรรคบาง เราจะสร้างมันได้ดีกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งทุกสิ่งที่เคยเรียนรู้มา มันแค่หมายความว่า ให้ละทิ้งสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า มันไม่ได้ผล
ใครสักคนคงปฏิเสธได้ยากว่างานนั้นผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมา มันเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของดาวโลกไปอย่างสิ้นเชิงในเวลาเพียงไม่กี่พันปี
แต่จริงๆ แล้วมันผลิตอะไรกันแน่ ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งพันล้านคู่ แล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือที่เดี๋ยวก็ล้าสมัยในเวลาไม่กี่ปี กองขยะที่ทอดยาวหลายไมล์ และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (chlorofluorocarbons) ตันแล้วตันเล่า โรงงานที่จะขึ้นสนิมอย่างรวดเร็วหากมีแรงงานราคาถูกกว่าอยู่ที่ไหนสักที่ ถังขยะที่เต็มไปด้วยอาหารล้นสต็อก ในขณะที่คนนับพันล้านกำลังขาดสารอาหาร การรักษาทางการแพทย์ซึ่งคนรวยเท่านั้นที่ซื้อได้ นวนิยายและปรัชญาและขบวนการศิลปะที่เราไม่มีเวลาพอสำหรับเสพมัน ในสังคมที่ความปรารถนาอยู่ต่ำกว่าการสร้างกำไรและความจำเป็นต้องมีสิทธิในทรัพย์สิน
แล้วทรัพยากรสำหรับผลิตผลเหล่านี้มาจากไหนกันล่ะ เกิดอะไรขึ้นกับระบบนิเวศและชุมชนที่ถูกปล้นชิงและขูดรีด หากงานคือผลิตภาพที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา มันก็เป็นสิ่งที่ชอบทำลาย (destructive) มากกว่าเสียอีก
งานไม่ได้ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากอากาศที่ว่างเปล่า มันไม่ใช่การร่ายมนต์คาถา ตรงกันข้าม มันนำเอาวัตถุดิบมาจากพื้นผิวและบรรยากาศของโลกซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวมที่ถูกแบ่งปันกันระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบเหล่านั้นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตรรกะของตลาดกระตุ้น สำหรับผู้ที่มองเห็นว่าโลกนี้เป็นเพียงบัญชีงบดุล สิ่งเหล่านั้นก็คงเป็นการพัฒนา แต่สำหรับเราที่เหลือไม่ควรเชื่อคำพูดของพวกเขา
นายทุนและนักสังคมนิยมมักไม่ค่อยตระหนักว่างานสร้างมูลค่า แรงงานจึงต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่แตกต่างออกไป นั่นคือการทำงานใช้มูลค่า (working uses up value) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมป่าไม้และน้ำแข็งขั้วโลกจึงถูกใช้ไปพร้อมๆ กับที่เรากำลังใช้ชีวิต ความรวดร้าวของร่างกายเราเมื่อกลับจากการทำงานนั้นตีขนานไปกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในสเกลระดับโลก
แล้วเราควรผลิตอะไรหากไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ อืม ถ้าเป็นความสุขล่ะ เราสามารถจินตนาการถึงสังคมที่เป้าหมายหลักของกิจกรรมเราคือการใช้ชีวิต คือการสำรวจความลึกลับของมัน แทนที่จะเป็นการสะสมความมั่งคั่งหรือเอาชนะกันได้ไหม แน่นอนว่าเรายังคงสร้างสิ่งที่เป็นวัตถุได้ในสังคมแบบนั้น แต่ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันทำกำไร เราสามารถวาดภาพงานเทศกาล งานเฉลิมฉลอง ปรัชญา นิยายรัก การแสวงหาความคิดสร้างสรรค์ การเลี้ยงเด็ก มิตรภาพ การผจญภัย ให้เป็นศูนย์กลางของชีวิต แทนที่จะเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำแค่ในเวลาว่างจากงานได้ไหม
ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความคิดเกี่ยวกับความสุขของเราถูกสร้างเพื่อกระตุ้นการผลิต ผลิตภัณฑ์ขนาดยิบย่อยจำนวนมากกำลังเบียดขับเราออกจากโลก
งานไม่ได้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาบนโลกก่อนหน้านี้ที่มีแต่ความยากจน ในทางตรงข้าม งานเป็นสิ่งที่สร้างความยากจนขึ้นมาด้วยเช่นกัน ตราบใดที่มันทำให้ใครสักคนร่ำรวยบนหลังของคนอื่น
ความยากจนไม่ใช่สภาวะที่เป็นกลาง (objective) แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกผลิตขึ้นจากการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม มันไม่มีหรอกความยากจนในสังคมที่ผู้คนแบ่งปันทุกๆ อย่างให้แก่กัน มันอาจมีความขาดแคลน แต่ไม่มีใครต้องเสื่อมเสียเกียรติจากการไม่มีอะไรเลย ในขณะที่คนอื่นมีมากมายเสียจนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เมื่อสะสมกำไรและระดับความมั่งคั่งขั้นต่ำซึ่งจำเป็นต่อการใช้อิทธิพลในสังคมสูงขึ้น ความยากจนก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการเนรเทศ รูปแบบที่โหดร้ายที่สุด คุณดำรงอยู่ในสังคมแต่ก็โดนกีดกันออกมา ไม่สามารถมีส่วนร่วมหรือหนีไปที่ไหนได้
งานไม่ได้แค่เพียงสร้างความยากจนควบคู่ไปกับความมั่งคั่ง มันยังรวมศูนย์ความมั่งคั่งเอาไว้ในมือของคนไม่กี่คน ขณะที่กระจายความยากจนออกไปให้ไกลและกว้างขวาง ถ้ามีบิลล์ เกตส์ เกิดขึ้นมาหนึ่งคน จะมีคนหนึ่งล้านคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ถ้ามีเชลล์เกิดขึ้นสักแห่ง ก็ต้องมีไนจีเรียด้วย ยิ่งเราทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ กำไรที่ถูกสะสมจากแรงงานของเราจะมากขึ้นเท่านั้น และเราจะยากจนยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับพวกที่ขูดรีดเรา
ดังนั้นนอกเหนือจากการสร้างความมั่งคั่ง งานยังทำให้ผู้คนยากจนอีกด้วย สิ่งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากเราพิจารณาว่ามีปัจจัยอื่นใดบ้างที่งานทำให้เรายากจน (poor) เรายากจนการกำหนดชีวิตตัวเอง เรายากจนเวลาว่าง เรายากจนสุขภาพที่ดี เรายากจนแง่มุมของชีวิตที่อยู่นอกเหนืออาชีพการงานและบัญชีธนาคาร เรายากจนทางจิตวิญญาณ
คำว่า “ค่าครองชีพ” ทำให้เราเข้าใจผิด จริงๆ ค่าครองชีพแทบไม่เกิดขึ้นเลย! “ค่าทำงาน” น่าจะตรงกว่า และไม่ใช่ถูกๆ ด้วย
ทุกคนรู้ว่าคนทำความสะอาดบ้านและคนล้างจานจ่ายอะไรไปบ้างในการเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจของเรา ความเลวร้ายทั้งปวงของความยากจน ทั้งยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก สุขภาพย่ำแย่ นั่นคือสิ่งปกติ ผู้คนที่รอดชีวิตจากสิ่งเหล่านี้และยังสามารถไปทำงานได้ตรงเวลาคือปาฏิหาริย์ ลองคิดดูสิว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง หากพวกเขาเป็นอิสระที่จะนำพลังนั้นไปใช้กับอย่างอื่นที่ไม่ได้เป็นการสร้างกำไรให้กับนายจ้าง!
แล้วนายจ้างของพวกเขาที่โชคดีพอจนได้อยู่ในชั้นสูงกว่าของพีระมิดล่ะ? คุณคงคิดว่าการได้รับเงินเดือนที่สูงกว่านั้นหมายความว่าคุณจะมีเงินมากขึ้น ซึ่งทำให้มีอิสระมากขึ้นตามไปด้วย แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น งานทุกงานมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่นคนล้างจานต้องจ่ายเงินเพื่อขึ้นรถเมล์มาทำงานทุกวัน ทนายต้องพร้อมบินไปทุกที่เมื่อมีงานเข้ามา ไหนจะคนที่ต้องรักษาสภาพการเป็นสมาชิกของคันทรีคลับเพื่อให้เป็นที่ประชุมงาน หรือคนที่เป็นเจ้าของแมนชั่นเล็กๆ ที่เอาไว้เลี้ยงมื้อเย็นคนที่จะมาเป็นลูกค้าของพวกเขา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงยากเย็นนักที่แรงงานชนชั้นกลางจะเก็บเงินได้มากพอที่จะหลุดออกไปจากแข่งขันเหมือนกับหนูติดจั่นนี้ การนำหน้าคนอื่นทางเศรษฐกิจนั้นก็คือการวิ่งอยู่กับที่ ในกรณีที่ดีที่สุดคุณอาจจะได้จั่นที่สวยงามขึ้นมาหน่อย แต่คุณจะต้องวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อให้อยู่กับจั่นอันนั้นได้
และค่าใช้จ่ายทางการเงินเพียงอย่างเดียวเหล่านี้มีราคาถูกที่สุดแล้ว ในแบบสำรวจอันหนึ่ง คนทุกสาขาอาชีพถูกถามว่าจำนวนเงินเท่าไหร่ที่พวกเขาต้องการเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากเป็น ทั้งคนยากไร้ไปจนถึงคนที่ร่ำรวยล้วนตอบจำนวนเงินที่มากกว่ารายได้ที่พวกเขาได้รับในตอนนี้ประมาณสองเท่า ดังนั้นไม่ใช่แค่ว่าเงินคือสิ่งหายาก แต่มันเหมือนยาเสพติด ที่เติมเต็มเราได้น้อยลงเรื่อยๆ และยิ่งขึ้นไปยังลำดับชั้นที่สูงขึ้นเท่าไหร่ คุณก็ต้องต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ผู้บริหารผู้มั่งคั่งต้องละทิ้งกิเลสตัณหาและมโนธรรมของตน ต้องโน้มน้าวตัวเองว่าเขาสมควรได้รับมากกว่าเหล่าคนโชคร้ายที่ใช้แรงงานหาเลี้ยงชีพ เขาต้องระงับทุกแรงกระตุ้นในการตั้งคำถาม การแบ่งปัน และการจินตนาการว่าหากเขามีประสบการณ์เหล่านั้นบ้างมันจะเป็นอย่างไร เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็วผู้ท้าชิงที่แสนโหดเหี้ยมจะเข้ามาแทนที่เขา ทั้งคนงานคอปกน้ำเงินและคอปกขาว1ตามความหมายโดยทั่วไป คนงานคอปกขาวหมายถึงมนุษย์เงินเดือน และคอปกน้ำเงินหมายถึงกลุ่มลูกจ้างหรือกรรมกร (บก.)ต้องยอมสละชีวิตเพื่อรักษางานที่ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ มันเป็นปัญหาการทำลายล้างทั้งทางกายและใจ
เหล่านั้นคือราคาที่เราแต่ละคนจ่าย แต่ยังมีราคาระดับโลกที่ต้องจ่ายในการทำงานอีกด้วย นอกเหนือจากความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อม เรายังพบเจอความป่วยไข้ การบาดเจ็บ และความตายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทุกปีเราฆ่าคนเป็นพันเพื่อขายแฮมเบอร์เกอร์และสมาชิกคลับสุขภาพให้กับผู้ที่ยังรอดชีวิต กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่าจำนวนผู้ที่บาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการทำงานในปี 2001 นั้นมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 9/11 ถึงสองเท่า และนี่ยังไม่ได้นับรวมถึงคนที่ป่วยไข้จากการทำงาน นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่มีราคาแพงที่สุดมากกว่าอย่างอื่นก็คือเราไม่มีทางเรียนรู้ว่าจะกำหนดชีวิตตัวเองได้อย่างไร ไม่มีโอกาสที่จะตอบคำถามหรือถามคำถามว่าเราอยากทำอะไรกับเวลาของเราบนโลกใบนี้ ไม่สามารถรู้ได้ว่าเราต้องสละไปมากเท่าไหร่ จากการใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่ผู้คนต่างยุ่งกับธุระปะปังมากเกินไป ยากจนเกินไป และบอบช้ำเกินไปที่จะได้ทำในสิ่งเหล่านั้นนั้น
ทำไมงานมีราคาที่ต้องจ่ายมากมายขนาดนั้นกันล่ะ ทุกคนรู้คำตอบอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีวิธีอื่นที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของพวกเรา หรือที่จะได้มีส่วนร่วมกับสังคมของเรา รูปแบบทางสังคมในช่วงแรกๆ ที่วิถีชีวิตแบบอื่นยังคงเป็นไปได้ก็ถูกทำลายลงไปแล้วโดยพวกคอนควิซทาดอร์ (ผู้รุกรานทวีปอเมริกา) พวกค้าทาส และบรรษัททั้งหลายที่ล้วนแต่เข้าไปรุกรานทุกธรรมเนียม ทุกชนเผ่าและทุกระบบนิเวศ ตรงกันข้ามกับโฆษณาชวนเชื่อของระบบทุนนิยม เพราะหากพวกเขามีตัวเลือกอื่น เสรีชนย่อมไม่เบียดเสียดเดินเข้าโรงงานเพื่อให้ได้เงินครองชีพเพียงเล็กน้อย ไม่แม้แต่เพื่อให้ได้รองเท้าแบรนด์เนมและซอฟต์แวร์มา ในการทำงาน การช็อปปิ้ง และการจ่ายบิล เราทุกคนล้วนแต่ช่วยเสริมให้สภาวะที่กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุนนิยมดำรงอยู่เพราะว่าเราลงทุนทุกสิ่งทุกอย่างไปกับมัน พลังงานและความเฉลียวฉลาดทั้งหมดของเราถูกใช้ในตลาด ทรัพยากรทั้งหมดของเราถูกเติมเข้าไปในห้างสรรพสินค้าและตลาดหุ้น และความสนใจทั้งหมดของเราล้วนมุ่งไปที่สื่อ พูดให้ตรงกว่านั้นก็คือทุนนิยมดำรงอยู่ได้เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราคือมัน แต่เราจะทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ หรือไม่ ถ้าเรารู้สึกว่ามีทางเลือกอื่น
แทนที่งานจะช่วยให้มนุษย์ได้รับความสุข ในทางตรงข้าม มันกลับส่งเสริมการปฏิเสธตนเองที่เลวร้ายที่สุด
การเชื่อฟังครู เจ้านาย และอุปสงค์ของตลาด โดยที่ยังไม่ต้องไปเอ่ยถึงกฎหมาย ความคาดหวังของพ่อแม่ คำสอนทางศาสนา และบรรทัดฐานทางสังคม เราถูกตั้งเงื่อนไขตั้งแต่วัยเด็กให้ระงับความปรารถนาของเรา การทำตามคำสั่งกลายเป็นปฏิกิริยาที่ไร้สำนึก ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราสนใจหรือไม่ก็ตาม การคล้อยตามผู้เชี่ยวชาญกลายมาเป็นธรรมชาติของเรา
การขายเวลาของเราแทนที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อแค่จะได้ทำ ทำให้เราต้องประเมินชีวิตของตนจากเกณฑ์ที่ว่า เราจะได้อะไรกลับมาจากการแลกเปลี่ยนเวลาที่เสียไป ไม่ใช่การคิดว่าเราจะใช้เวลานั้นทำอะไรได้บ้าง การเป็นแรงงานทาสอิสระที่เร่ขายชีวิตของเราไปวันๆ ทำให้เราคิดว่าตัวเองมีราคา จำนวนราคานั้นกลายมาเป็นมาตรวัดมูลค่าของเรา ในแง่นี้ เรากลายเป็นสินค้า เหมือนๆ กับยาสีฟันและกระดาษชำระ สิ่งที่เคยเป็นมนุษย์ก็กลายมาเป็นลูกจ้าง เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหมูก็กลายมาเป็นพอร์กช็อป (once was a pig is now a pork chop) ชีวิตของเราอันตรธานหายไป ถูกใช้จ่ายเหมือนเงินที่เราใช้แลกเปลี่ยนกันอยู่ทุกวัน
พวกเราส่วนใหญ่เคยชินกับการยอมสละสิ่งที่มีค่าสำหรับเรา จนการเสียสละกลายเป็นวิธีเดียวที่จะแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจกับบางสิ่งบางอย่าง เราเสียสละตัวเองเพื่อความคิด เป้าหมาย ความรักซึ่งกันและกัน แม้ว่าในโมงยามที่สิ่งเหล่านี้ควรจะช่วยให้เราพบความสุข
ตัวอย่างเช่น ครอบครัว ที่ผู้คนมักจะแสดงความรักด้วยการแข่งขันว่าใครเสียสละเพื่อคนอื่นมากที่สุด ความพึงพอใจไม่เพียงแต่มาถึงอย่างล่าช้า แต่มันถูกส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่น ความเพลิดเพลินกับความสุขทั้งหมดที่ควรได้รับ ซึ่งถูกสะสมไว้ในช่วงหลายปีของการทำงานที่ไร้คุณค่านั้นถูกถ่ายโอนไปให้เด็กๆ แต่เมื่อเด็กเหล่านี้โตเต็มวัย ถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ พวกเขาก็ต้องเริ่มทำงานหนักเจียนตายอยู่ดี
แต่สิ่งเหล่านี้ควรมีคนที่ต้องรับผิดชอบ
แน่นอนว่าทุกวันนี้มนุษย์ทำงานหนัก การเข้าถึงทรัพยากรและประสิทธิภาพของตลาดทำให้เกิดการผลิตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน อันที่จริง ตลาดได้ผูกขาดการเข้าถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของเราเอง จนทำให้คนจำนวนมากไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น แต่ยังทำเพราะพวกเขา ต้องหาอะไรทำ อีกด้วย แต่สิ่งเหล่านั้นมันปลูกฝังความคิดริเริ่มแบบไหนกัน?
ลองกลับไปที่เรื่องโลกร้อนที่เป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงนี้ หลังจากปฏิเสธมาหลายทศวรรษ นักการเมืองและนักธุรกิจก็ยอมรับในที่สุดว่าต้องทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียบ้าง แล้วพวกเขากำลังทำอะไรล่ะ ก็ใช้เงินแก้ปัญหาน่ะสิ! ทั้งเครดิตคาร์บอน; พลังงานถ่านหิน “สะอาด”; บริษัทลงทุน “รักษาสิ่งแวดล้อม” มีใครเชื่อบ้างว่าวิธีเหล่านี้ได้ผลที่สุดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก? มันช่างตลกร้ายที่หายนะจากลัทธิบริโภคนิยมภายใต้ทุนนิยมสามารถถูกใช้เพื่อเร่งให้บริโภคมากขึ้นไปอีก แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ประเภทไหนที่งานปลูกฝังขึ้นมา คนแบบไหนที่เมื่อเผชิญหน้ากับภารกิจป้องกันจุดจบของสิ่งมีชีวิตบนโลก กลับตอบกลับมาว่า “ได้เลย แล้วฉันได้ประโยชน์อะไรล่ะ”
หากทุกอย่างในสังคมเราถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่จะทำกำไรเพื่อประสบความสำเร็จ มันก็คงไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นอย่างอื่น เราลองมาพิจารณาถึงความสร้างสรรค์หรือความคิดริเริ่ม มันคือการริเริ่มค่านิยมใหม่ๆ หรือพฤติกรรมใหม่ๆ นี่เป็นสิ่งที่พวกนักธุรกิจไม่สามารถคิดได้ เช่นเดียวกับพนักงานที่เฉื่อยชาของพวกเขา จะเกิดอะไรขึ้นหากการทำงาน ที่เป็นการเอาพลังสร้างสรรค์ของคุณไปปล่อยเช่าแก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการหรือลูกค้า คือสิ่งที่กัดกร่อนความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดริเริ่มเสียเอง
หลักฐานสำหรับเรื่องนี้นั้นพบเห็นได้แม้อยู่นอกสถานที่ทำงาน มีคนจำนวนเท่าไหร่ที่ไม่เคยขาดงานแม้แต่วันเดียว แต่ไม่สามารถไปซ้อมวงดนตรีได้ตรงเวลา? เราไม่สามารถอ่านหนังสือให้ทันอีเวนท์บุ๊กคลับ แต่เราเขียนรายงานในชั้นเรียนส่งตรงเวลาตลอด สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ในชีวิตกลายเป็นสิ่งที่อยู่ลำดับท้ายสุดที่เราจะได้ทำ ความสามารถที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญากลายเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และเกี่ยวพันกับการได้รับรางวัลหรือบทลงโทษจากภายนอก
ลองจินตนาการถึงโลกถึงโลกที่ทุกกิจกรรมของมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่พวกเขาอยากทำจริงๆ เพราะพวกเขาใส่ใจลงทุนลงแรงเพื่อมัน สำหรับเจ้านายที่มีปัญหาในการจูงใจพนักงานที่ไม่แยแสต่อสิ่งใด แนวคิดในการทำงานกับแต่ละคนที่ใส่ใจพอๆ กันในโครงการเดียวกันนั้นฟังดูเป็นเรื่องอุดมคติ แต่นี่ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราจะทำอะไรไม่ได้หากไม่มีหัวหน้างานหรือเงินเดือน มันแค่แสดงให้เห็นว่างานกำลังทำให้ความสร้างสรรค์ของเราเหือดแห้งไปได้อย่างไร
สมมติว่างานของคุณไม่เคยทำให้คุณบาดเจ็บหรือป่วยไข้เลย สมมติต่อไปอีกว่าเศรษฐกิจจะไม่ล่มและทำให้คุณตกงานพร้อมกับพรากเงินออมไปจากคุณ และจะไม่มีเหล่าคนที่ได้รับผลกระทบจากความเลวร้ายทั้งปวงเข้ามาทำร้ายหรือปล้นชิงคุณ คุณก็ยังไม่สามารถแน่ใจอยู่ดีว่าตัวเองจะไม่ตกต่ำในสักวันหนึ่ง ทุกวันนี้ไม่มีใครทำงานให้กับนายจ้างคนเดิมไปทั้งชีวิต คุณทำงานที่นี่สักสองสามปีจนกว่าจะโดนไล่ออกเพื่อจ้างคนที่มีอายุน้อยและค่าแรงถูกกว่าคุณ หรือไม่ก็เอาท์ซอร์สงานไปยังประเทศอื่นๆ คุณทำงานหนักแทบตายเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นพนักงานที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยให้แห้งเหี่ยวตายไปในที่สุด
คุณต้องพึ่งพานายจ้างของคุณให้มีการตัดสินใจที่ดี เพื่อให้เขาจ่ายเงินเดือนให้ เขาคงไม่สามารถผลาญเงินไปเฉยๆ ไม่งั้นก็คงไม่มีมาจ่ายคุณ แต่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าสักวันหนึ่ง การตัดสินใจที่ดีนั้นมันจะกลับมาทำร้ายคุณหรือเปล่า คนที่คุณพึ่งพาอยู่ไม่ได้มีอย่างทุกวันนี้เพียงเพราะว่าพวกเขาเห็นอกเห็นใจ ถ้าคุณเป็นนายจ้างตัวเองก็น่าจะรู้ดีว่าตลาดนั้นเป็นสิ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นกัน
แล้วอะไรล่ะที่มอบความมั่นคงที่แท้จริง บางทีอาจจะเป็นการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ทุกคนคอยดูแลซึ่งกันและกัน ชุมชนที่มีรากฐานอยู่ที่การช่วยเหลือกันและกันมากกว่าแรงจูงใจเรื่องเงิน แล้วอะไรล่ะที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อการสร้างชุมชนแบบนั้นขึ้นมา ก็งานยังไงล่ะ
ใครกันที่สร้างความอยุติธรรมในประวัติศาสตร์ไว้มากที่สุด? คำตอบคือลูกจ้าง นี่ไม่ได้จะบอกนะว่าพวกเขาควรรับผิดชอบมัน—อย่างที่พวกเขาคงจะเป็นคนบอกคุณเป็นคนแรกนั่นแหละ!
การได้รับค่าแรงนั้นช่วยปลดเปลื้องความรับผิดชอบต่อการกระทำของคุณหรือไม่ การทำงานดูเหมือนจะส่งเสริมให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเช่นนั้น คำแก้ต่างในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ค (Nuremburg) “ผมแค่ทำตามคำสั่ง” กลายเป็นเหมือนเพลงประจำชาติและคำแก้ตัวของลูกจ้างนับล้าน ความเต็มใจที่จะทิ้งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเมื่อก้าวเท้ามาทำงานเพื่อเป็นทหารรับจ้าง ยังคงเป็นรากฐานของปัญหาที่คอยกวนใจเผ่าพันธุ์ของเรา
มนุษย์ทำสิ่งเลวร้ายโดยไม่ต้องมีคำสั่ง แต่ก็ไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น คุณสามารถพูดคุยกับใครสักคนหากเขาทำมันไปเพื่อตัวเอง พวกเขารับรู้ว่าต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง แต่ลูกจ้างกลับต่างออกไป พวกเขาสามารถทำในสิ่งที่โง่เขลาและทำลายล้างโดยปฏิเสธที่จะพูดถึงผลกระทบที่ตามมา
ปัญหาที่แท้จริงคือ ไม่ได้เป็นที่ลูกจ้างปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา แต่เป็นที่ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้การแสดงความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่มีราคาที่ต้องจ่ายแพงเกินไป
ลูกจ้างทิ้งขยะปนเปื้นสารพิษลงในแม่น้ำและมหาสมุทร
ลูกจ้างเชือดวัวและจับลิงมาทำการทดลอง
ลูกจ้างเอาอาหารจำนวนมากไปทิ้ง
ลูกจ้างกำลังทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ
พวกเขาจับตาดูคุณทุกย่างก้าวจากกล้องวงจรปิด
พวกเขาขับไล่คุณออกไปหากค้างค่าเช่า
พวกเขาจับคุณขังคุกหากไม่จ่ายภาษี
พวกเขาทำให้คุณขายหน้าเพียงเพราะว่าคุณไม่ทำการบ้านหรือมาทำงานสาย
พวกเขาป้อนข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของคุณลงในรายงานเครดิตและเอกสารของ FBI
พวกเขาให้ใบสั่งขับรถเร็วเกินกำหนดแก่คุณ และลากรถของคุณไป
พวกเขาคอยสอดส่องข้อสอบเข้า สถานกักกันเยาวชน และฉีดยาประหารชีวิต
ทหารที่ต้อนผู้คนเข้าไปในห้องรมแก๊ซล้วนแต่เป็นลูกจ้าง
เช่นเดียวกับทหารที่เข้าไปยึดครองอิรักและอัฟกานิสถาน
เช่นเดียวกับมือระเบิดพลีชีพ พวกเขาเป็นลูกจ้างของพระเจ้า ที่หวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนในสวรรค์
ขอพูดแถลงให้ชัดเจนขึ้นอีกหน่อย ว่าการวิพากษ์งานไม่ได้หมายความว่ามันเป็นการปฏิเสธการลงแรง ความพยายาม ความมุ่งมั่น หรือการทำตามคำมั่นสัญญา ไม่ได้หมายความว่าเรียกร้องให้ทุกอย่างต้องสนุกหรือง่าย การต่อสู้กับพลังที่บังคับให้เราทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ความขี้เกียจไม่ใช่อีกทางเลือกหนึ่งของงาน แม้ว่ามันจะเป็นผลพลอยได้ของงานก็ตาม
ข้อสรุปนั้นเรียบง่าย เราทุกคนสมควรที่จะได้ทำตามความสามารถของเราที่เราเห็นว่ามันเหมาะสมกับเรามากที่สุด ได้กำหนดโชคชะตาของตัวเราเอง การถูกบังคับให้ต้องขายสิ่งเหล่านี้ออกไปเพื่อมีชีวิตรอดนั้นไม่ต่างจากโศกนาฏกรรมและการถูกเหยียดหยาม เราไม่ควรมีชีวิตอยู่แบบนี้