ผู้เขียน Sarid Siriteerathomrong
บรรณาธิการโดย Editorial Team


หากท่านได้ติดตามข่าวในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คงจะต้องเห็นข่าวการทุบโรงหนังสกาลาโดยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ผ่านตาเป็นแน่ การตัดสินใจทุบโรงหนังเก่าแก่แห่งนี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าสัวห้างนั้น ชนะการประมูลเช่าที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปี จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่ซึ่งโรงหนังสกาลาเปิดให้บริการมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 แม้นว่าโรงหนังสกาลาอันเก่าแก่แห่งนี้จะมีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ ความทรงจำ คุณค่าทางสถาปัตยกรรม คุณค่าในฐานะแหล่งการเรียนรู้และอื่นๆ อีกมากมายพอที่จะเข้าเกณฑ์เป็นโบราณสถานแต่กรมศิลปากรกลับเมินเฉยต่อคุณค่าเหล่านี้และปล่อยให้เจ้าสัวห้างทุบทำลายอาคารประวัติศาสตร์นี้ทิ้งเสียฉิบ แต่ท่านทั้งหลายครับในข้อเขียนนี้ผมไม่ได้จะพาท่านไปพิจารณากรณีการทุบสกาลาทิ้งอย่างเลือดเย็นแต่อย่างใด ผมเพียงแต่ยกกรณีนี้มาเพื่อชี้ให้เห็นความโหดร้ายเลวทรามของทุนนิยมที่กระทำต่อทรัพยากรอันทรงคุณค่าของเราต่างหาก

เรื่องที่ผมต้องการจะพูดแก่ท่านทั้งหลายคือ ในขณะที่ความเจริญงอกงามของกิจการหนังสือยอดขายสิ่งพิมพ์ที่เพิ่มสูงขึ้น หนังสือวิชาการหรือจะเป็นนิยาย วรรณกรรม ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศถูกแปลออกมามากขึ้น เหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสังคมกำลังเติบโตทางความคิดอย่างมาก แต่ท่านทั้งหลายครับ ณ ห้วงยามที่น่าปีตินี้กลับเกิดเหตุอาเพศขึ้นที่คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยหัวเมืองภาคเหนืออันขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ เหตุอาเพศที่ว่าคือ “การยุบห้องสมุดประจำคณะ” เปลี่ยนให้เป็น “พื้นที่ทำงานร่วม (co-working space)” แผนปรับปรุงห้องสมุดยังล้ำเส้นไปกว่านั้นด้วยคณะผู้บริหารจะติดต่อร้านรวงต่างๆ เช่น ร้านอาหารเฟรนไชส์ ร้านกาแฟ ฯลฯ ให้มาเช่าพื้นที่

แรกเริ่มผู้คนยังไม่รับรู้ถึงข่าวอาเพศนี้ในวงกว้างนัก ต่อมาข่าวนี้ได้กระจายเป็นวงกว้างในประชาคม หลังข่าวกระจายออกไปผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไอเดียอันสุดแสนจะบรรเจิดนี้ท่านหนึ่งก็ได้ออกมาแก้ต่างให้กับการยุบห้องสมุดทิ้งด้วยข้ออ้างทำนองว่า

“นี่มันยุคทุนแอนด์ดิจิทัลแล้วสมัยนี้เอกสารที่อ่านกันจริงๆ จังๆ ก็มาจาก “online data based journal” (ฐานข้อมูลวารสารออนไลน์) บรรดาหนังสือต่างๆ ในช่วงสิบปีมานี้ก็ถูกทำให้เป็น “electronic files” ทั้งสิ้น เพื่อให้ห้องสมุดมีชีวิตต่อไปในยุคดิจิทัล จึงจำเป็นที่จะต้อง “ปรับปรุง” ห้องสมุดซะ เพราะมันไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เก็บหนังสือ การมีอยู่และการเข้าถึงต่างหากที่คือความหมายอันงดงามของมัน ห้องสมุดที่คนไม่อยากเข้าหรือเข้าถึงไม่ได้ จนไม่มีโอกาสได้เข้าถึง (เพราะชอบสิ่งอื่นๆ อีกมากกว่า) ต่างหากที่จะกลายเป็นห้องสมุดที่ตายแล้วจริงๆ”

ท่านทั้งหลายครับ ผมอยากจะให้ท่านลองพิจารณาข้ออ้างเหล่านี้ให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง แล้วท่านจะพบว่ามันฟังไม่ขึ้นเสียเลย! คณะผู้บริหารอันสูงส่งเกรียงไกรได้อ้างว่ายุคสมัยนี้ใครๆ เขาก็อ่านหนังสือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะในคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก กระดานชนวนราคาแสนแพง ฯลฯ เพราะฉะนั้นคนเขาก็ไม่ค่อยจะเข้าห้องสมุดนักหรอก ข้อกล่าวอ้างข้างต้นนี้ถูกเพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ละเลย ความสำคัญของห้องสมุดในฐานะที่เป็นส่วนรวมทางความรู้ (knowledge commons) ของประชาคม ท่านผู้บริหารบอกว่าห้องสมุดที่คนไม่อยากเข้าหรือเข้าไม่ถึงต่างหากถึงจะเป็นห้องสมุดที่ตายแล้ว ความย้อนแย้งของท่านผู้บริหารคือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถถือครองทรัพยากรในการเข้าถึงหนังสือดิจิทัลเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้ลูกตาจ้องมองจอแสดงภาพได้เป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมง อีกทั้งมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งนี้ก็ไม่ได้ลงทุนกับแหล่งความรู้ดิจิทัลมากดังที่ชอบกล่าวอ้าง นอกจากนี้หากท่านต้องการจะยืมหนังสือท่านจำเป็นต้องรู้ชื่อหนังสือเล่มที่จะยืมเสียก่อนแล้วค่อยไปบอกบรรณารักษ์ที่นั่งประจำอยู่ที่พื้นที่ทำงานร่วมให้นำมาให้ท่าน อ่าห์… ช่างเป็นระบบที่ใช้งานง่ายและเข้าถึงง่ายเสียจริง! ซึ่งพื้นที่ทำงานร่วมนี้จะไม่มีหนังสือเก็บไว้ เราไม่อาจเรียกพื้นที่โล่งที่มีแต่โต๊ะ เก้าอี้ วางเรียงรายราวกับป้ายสุสานแต่ไม่มีหนังสือสักเล่มเดียวว่าห้องสมุดได้ดอกครับ ผู้บริหารควรหยุดสะกดจิตตัวเองได้แล้วว่าป้ายสุสานน่าอดสูเหล่านี้สามารถนำพาดวงวิญญาณที่หลงทางไปสู่แสงสว่างแห่งปัญญาได้ ตราบใดที่ห้องสมุดซึ่งเปรียบเสมือนตะเกียงสอดส่องไปยังหนทางแห่งปัญญาเบื้องหน้ายังไม่ได้ความสำคัญ ซ้ำร้ายกว่านั้น ในโปรเจกต์ปรับปรุงห้องสมุดนี้ คณะผู้บริหารจะทำสัญญากับบรรดาทุนทั้งหลายโดยให้ใช้พื้นที่ส่วนรวมบริเวณรอบๆ อดีตห้องสมุดเป็นพื้นที่ขายของแลกกับความมั่งคั่งในรูปแบบของค่าเช่าอีกด้วย

ท่านทั้งหลายที่อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่าข้าพเจ้าต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านความเจริญงอกงาม ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อต้านความก้าวหน้า ข้าพเจ้าเพียงแต่ต่อต้านความบ้าอำนาจของเหล่าผู้บริหารอันสูงส่งแลโครงสร้างการบริหารภายใต้ระบบทุนนิยมที่จะต้องคำนึงถึงกำไรขาดทุนอยู่ตลอดเวลา ราชวงศ์ผู้บริหารแห่งคณะสังคมศาสตร์ดูจะมีอำนาจเหลือล้นจนสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาคมได้โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้แทนของประชาคม เมื่อสมาชิกของประชาคมเริ่มส่งเสียงของตัวเองออกมา บรรดาราชวงศ์ก็บอกว่า “พวกเธอจะไปรู้อะไรเรื่องการบริหาร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเราเถอะ” โครงสร้างอำนาจการบริหารงานนี้ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในราชวงศ์ผู้บริหารคณะสังคมฯ เท่านั้น แต่มันกลับสะท้อนออกมาให้เห็นในทุกราชวงศ์ของผู้บริหารคณะต่างๆ ภายใต้การปกครองของอธิการบดี

ด้วยโครงสร้างศักดินาและอำนาจทุนในมหาวิทยาลัยนี้เองที่ทำลายศักยภาพในการเติบโต ศักยภาพในการสร้างสรรค์ ศักยภาพในการใช้ชีวิตของประชาคม พวกมันเป็นดั่งเนื้อร้ายที่ค่อยๆ ทำลายสุขภาพของประชาคมไปทีละน้อย ทีละน้อย นับวันเนื้อร้ายนี้มันยิ่งขยายตัวกัดกร่อนแก่นแกนสำคัญของการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชนเข้าไปทุกที สิ่งที่เราและท่านทั้งหลายพึงกระทำคือต้องต่อต้านโครงสร้างห่าเหวนี้อย่างแข็งขันไม่ย่อท้อ หากเป็นไปได้เราทั้งหลายจำเป็นจะต้องร่วมมือกันโค่นล้มราชวงศ์ผู้บริหารและโค่นล้มอธิการบดีเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาคม ผู้บริหารของประชาคมควรจะต้องมาจากฉันทามติของประชาคม หาใช่มาจากอำนาจมืดนอกประชาคม หากเราไม่ต่อต้านแล้วไซร้ประชาคมของเราคงจะฉิบหายเป็นแน่