คำติฉินวิจารณ์ของเขาต่อความหมกมุ่นที่ยุโรปมีต่อเงินทองและทรัพย์สิน ถูกกล่าวถึงอย่างมีชีวิตชีวาโดยเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) และเดวิด เวนโกรว์ (David Wengrow) ในปณิธานอันหาญมุ่งแห่งอนาธิปไตย
เมื่อสิบปีที่แล้ว เดวิด เกรเบอร์ เป็นผู้นำขบวนการยึดวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) เขาและสหายนักประท้วงได้กางเต๊นท์พักอยู่ในสวนสาธารณะซูคอทที (Zucotti) โดยเก็บเงินบริจาคจำนวน 800,000 ดอลลาร์สหรัฐไว้ในถุงขยะเพราะพวกเขาไม่ยอมรับธนาคาร
นักมานุษยวิทยาและนักเคลื่อนไหวอนาธิปไตยชาวอเมริกันเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการทดลอง ‘วิถีชีวิตแบบหลังราชการ’ (post-bureaucratic living) ทว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวทำให้เกรเบอร์กลายเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เขาจึงย้ายไปอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 2013 ที่ซึ่งเขาได้กลายมาเป็นศาสตราจารย์เต็มตัวที่ LSE (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน) จวบจนการเสียชีวิตของเขาเมื่อปีที่แล้วในวัย 59 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาใฝ่ฝันถึงสังคมยูโทเปียอนาธิปไตย และกล่าวโทษในสิ่งที่เขาถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามของสังคมดังกล่าว นั่นก็คือ อารยธรรมตะวันตก
ในหนังสือ หนี้: 5,000 ปีแรก (Debt: The First 5,000 Years) เขาเรียกร้องให้มี ‘การเฉลิมฉลอง’ ตามแบบคัมภีร์ไบเบิล นั่นก็คือ การล้างหนี้รัฐบาลและหนี้ผู้บริโภค ซึ่งเป็นไอเดียที่ทำให้เขากลายมาเป็นที่รู้จักในบรรดานักศึกษาที่ร่ำเรียนกับเขา ในหนังสือ อาชีพเฮงซวย (Bullshit Jobs) เขากล่าวด้วยความคับข้องใจว่า งานคอปกขาวส่วนใหญ่เป็นงานที่ไร้ความหมาย และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระงาน แต่กลับทำให้คนทำงานมากขึ้น ในหนังสือ ยูโธเปียแห่งกฎ (The Utopia of Rules) เขาตั้งข้อสังเกตว่า แทนที่จะเป็นการหาวิธีรักษาโรคมะเร็ง ความก้าวหน้าทางการแพทย์ครั้งใหญ่ล่าสุดกลับเป็นยา เช่น ริทาลิน (Ritalin), โซลอฟท์ (Zoloft) และโปรแซค (Prozac) ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยการันตีว่า ‘ความต้องการระดับมืออาชีพอันใหม่เหล่านี้ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นบ้า สติแตก ไปซะทั้งหมด’ เขาบอกฉันว่า ในสังคมที่ดีกว่านี้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะมุ่งเน้นการทำให้เราบินได้ด้วยยานบินบุคคล (jet packs) มากกว่าที่จะเลี้ยงไข้เราด้วยยาเหล่านี้
งานล่าสุดตอนนี้ก็คือ รุ่งอรุณของทุกสิ่งอย่าง: ประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติฉบับใหม่ (The Dawn of Everything: A New History of Humanity) เป็นงานเขียนอ่านเพลินกว่า 700 หน้า ซึ่งเกรเบอร์และศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน เดวิด เวนโกรว์ ใช้เวลาเขียนถึงสิบปี งานเขียนชิ้นนี้โต้กลับสิ่งที่อาจเรียกว่า ทฤษฎีประวัติศาสตร์มนุษย์แบบ Private Frazer ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เสนอว่า เราถูกสาปให้อยู่ในสังคมที่มีแต่ความเหลื่อมล้ำ ทำงานที่ไม่มีคุณค่า ในขณะเดียวกันก็ขูดรีดธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเองอย่างโหดเหี้ยม เกรเบอร์และเวนโกรว์คาดการณ์กันว่า ปรัชญาดังกล่าวปรากฏชัดเจนที่สุดในงานเขียนของ ยูวัล โนอาห์ ฮารารี (Yuval Noah Harari) ในหนังสือขายดีประจำปี 2014 เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) ฮารารีกล่าวว่า “มันไม่มีทางที่จะหนีออกจากระเบียบโครงสร้างที่ถูกจินตนาการเอาไว้แล้ว” ‘เมื่อเราทำลายกำแพงที่กักขังเราและวิ่งไปสู่อิสรภาพ แท้จริงแล้ว เรากำลังวิ่งเข้าสู่ลานวิ่งของแดนกักขังที่ใหญ่ยิ่งกว่าเดิม’
เกรเบอร์และเวนโกรว์เสนอว่า ทฤษฎี Private Frazer เกิดขึ้นมาเมื่อฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) เสนอว่า มนุษย์ไม่ได้แค่เกิดมาอย่างอิสระเท่านั้น แต่ยังถูกล่ามโซ่ไว้ทุกหนทุกแห่ง การทำไร่นาล่ามเราไว้กับที่ดินและทำให้กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลกลายเป็นเรื่องปกติ และแรงงานโรงงานก็ขันตะปูควงให้แน่นยิ่งกว่าเดิม ตอนนี้เราติดอยู่ในระบบที่เราเชื่อว่า การสะสมอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคจะนำมาซึ่งอารยธรรม
นักเขียนทั้งสองคิดว่า คำอธิบายของโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) ก็เพ้อเจ้อพอกัน ทฤษฎีของฮอบส์มีอยู่ว่า หากปราศจากสัญญาประชาคมที่มาจำกัดเสรีภาพของมนุษย์ ชีวิตก็จะน่ารังเกียจเดียดฉัน โหดร้าย และสั้นเหมือนกับวลาดิมีร์ ปูติน สำหรับเกรเบอร์และเวนโกรว์แล้ว รุสโซและฮอบส์ไม่ได้พูดถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่กำลังเล่านิทานต่างหาก และกระนั้นเอง มายาคติของพวกเขาก็เป็นรากฐานของสังคมแห่งการรู้แจ้งอันมีเหตุมีผลหลังยุคเรื่องเล่า (post-mythological) อิงตามนิทานดังกล่าว หากปราศจากทำสัญชาตญาณพื้นฐานของเราให้เชื่องและการสละเสรีภาพตั้งต้นไป เราก็ยังคงเป็นนักเก็บของป่าล่าสัตว์ที่ยังนุ่งผ้าขาวม้าตัวเดียวและอาศัยอยู่ในกลุ่มที่ผู้เขียนเรียกว่าเป็น ‘กลุ่มคนที่โดยทั่วไปแล้วมีลักษณะเหมือนลิง’ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 นามว่า แอนน์ โรเบิร์ต ฌาค ตูร์ก็อต บารอน เดอ โลลเนอ (Anne Robert Jacques Turgot, Baron de l’Aulne) ได้คิดค้นบันไดสี่ขั้นแห่งวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจ นั่นคือ การเก็บของป่าล่าสัตว์ ตามมาด้วยปศุสัตว์ จากนั้นเป็นการเพาะปลูก และสุดท้ายก็เป็นสังคมพาณิชย์ในเมืองสมัยใหม่ บรรดาผู้ที่ยังคงติดอยู่ที่บันไดขั้นล่าง ๆ อันแสนป่าเถื่อนก็คือผู้พ่ายแพ้ในประวัติศาสตร์
เกรเบอร์และเวนโกรว์กล่าวว่า การเสนอเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผลทั้งเพล คนที่กำลังติดแหง็กอยู่ก็คือมนุษย์สมัยใหม่อย่างเรานี่แหละ พวกเขาพาเราย้อนกลับไปเมื่อ 30,000 ปีที่แล้วในยุคน้ำแข็งและทบทวนประวัติศาสตร์มนุษยชาติอีกครั้งเพื่อทำลายมายาคติเหล่านี้ ลองดูในกรณีของชาวชาทัลเฮอยึคยุคหินใหม่ (Neolithic Çatalhöyük) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอนาโตเลีย (southern Anatolia) พวกเขาทำไร่ธัญพืช เลี้ยงแกะและแพะ แต่ปฏิเสธที่จะเลี้ยงโคหรือหมู เพื่อที่จะได้ไม่ละทิ้งคุณค่าทางสังคมที่มาพร้อมกับการล่าสัตว์ กล่าวคือ พวกเขาเลือกที่จะไม่ลดเกียรติตนเองด้วยการทำไร่นาทั้งหมดแต่ผสมผสานและปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของพวกเขาเอง
ผู้เขียนทั้งสองเสนอว่า ในทำนองเดียวกัน ชาวบ้านที่สร้างสโตนเฮนจ์ (Stonehenge) ละทิ้งการทำไร่นาแบบยุโรปเมื่อ 3,300 ปีก่อน เพื่อหันมารวบรวมเฮเซลนัทเป็นอาหารหลักอันเป็นอุดมคติแบบเบร็กซิตดั้งเดิม (a proto-Brexit idyll) พวกเขาสามารถทำนาได้ แต่เอาเข้าจริง มันดูเป็นงานที่หนักและน่าเบื่อ จากนั้นก็มีชาวแคลิฟอร์เนียที่ต้องทำการเพาะปลูกเล็กหรือการล่าสัตว์เล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมตามสิ่งที่ตนเองทำ
ประเด็นอยู่ที่ว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์บรรพกาลเหล่านี้สามารถสร้างสังคมที่น่าปรารถนาได้แทนที่จะติดแหง็กอยู่ในสายพานทางสังคมแบบวิวัฒนาการ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อชาวยุโรปมาถึงอเมริกา คนเหล่านี้ที่เข้ามาล้วนถูกมองว่าเป็นทาสและคนป่าเถื่อนในสายตาของชนพื้นเมือง ดูจากคอนเดียรองค์ ผู้เปี่ยมด้วยวาทศิลป์และเป็นผู้นำของฮูรอน-เว็นดาท (Huron-Wendat) เขาเป็นผู้มีอิทธิพลสูงในศตวรรษที่ 17 ในพื้นที่ที่ตอนนี้คือออนแทรีโอ (Ontario) และเป็นผู้ที่ผู้เขียนทั้งสองอ้างอิงถึงด้วยความสนอกสนใจ ฉันไม่ได้บอกว่า เขาทำให้การอ่านฮอบส์ รุสโซ และ โอเว่น โจนส์ (Owen Jones) เป็นเหมือนคนแคระทางปัญญา (intellectual pygmies) เพราะนั่นอาจทำให้คนแคระไม่พอใจ แต่แน่นอนว่า คำติฉินวิจารณ์ของเขาต่อวัฒนธรรมยุโรปยังคงให้ภาพที่ละเอียดแจ่มแจ้งและมีความร่วมสมัยอยู่ทุกวันนี้ เขากล่าวกับคู่สนทนาชาวฝรั่งเศสว่า
“ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาไปหกปีในการพินิจถึงสภาพของสังคมยุโรป และข้าพเจ้าก็ยังคิดไม่ออกเลยว่าพวกเขาทำสิ่งใดที่ไม่ไร้มนุษยธรรมบ้าง และข้าพเจ้าคิดจริง ๆ ว่า มันจะเป็นเช่นนี้ต่อไปตราบใดที่ท่านยึดมั่นในการแยกระหว่าง ‘ของข้า’ กับ ‘ของท่าน’ การคิดว่า ท่านสามารถอาศัยอยู่ในประเทศแห่งเงินตราและรักษาจิตวิญญาณของท่านไว้ได้ ก็เสมือนการคิดว่า ท่านสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ณ ก้นบึ้งของทะเลสาบ”
เกรเบอร์เป็นผู้มองโลกในแง่ดีถึงความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมหลังราชการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาและเวนโกรว์ยกย่องไว้ในบทสรุปของหนังสือ พวกเขาคิดว่า ไม่แน่ถ้าเผ่าพันธุ์ของเราอดทนพอ ลูกหลานของเราจะได้อาศัยอยู่ในเมืองที่ปกครองด้วยสภาท้องถิ่น (neighbourhood councils) ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจะได้รับตำแหน่งทางการต่าง ๆ (ผู้เขียนบันทึกว่า คอนเดียรองค์อาศัยอยู่ภายใต้การปกครองแบบมาตาธิปไตยอย่างมีความสุข) และการจัดการที่ดินในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่มากกว่าการเป็นเจ้าของและการขูดรีด เราสามารถสร้างสังคมที่เราต้องการได้เช่นเดียวกับชาวสโตนเฮนจ์ผู้เกียจคร้านหรือนักล่าชาวชาทัลเฮอยึค นี่คือปณิธานอันหาญมุ่งแห่งอนาธิปไตย เจือด้วยน้ำเสียงมาร์กซิสต์เล็ก ๆ : คนนอกคอกยุคศตวรรษที่ 21 อย่างเราไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวน