สรุปความและเรียบเรียง Meet & Greet สหาย Jodi Dean

 

เกริ่น

การสรุปความและเรียบเรียงครั้งนี้ พยายามปรับเนื้อหาและการนำเสนอให้เข้าใจง่ายที่สุด เนื่องจากในการเข้าร่วมกิจกรรมจริงๆ มีพลวัตรในการถามตอบและแปลความไปมาระหว่างภาษาค่อนข้างมาก (รวมเวลาถึงสองชั่วโมงกว่า) การยกสิ่งที่พูดคุยกันมาตรงๆ จึงเป็นไปได้ยาก และไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ

ผมจึงใช้การสรุปความและเรียบเรียงในลักษณะแบ่งเป็นประเด็นโดยที่นำเสนอเป็นคำถามบ้างและไม่ใช่คำถามบ้าง แล้วแต่ว่ากรณีไหนจะเหมาะสมและสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่านได้มากกว่าครับ

การก่อรูปความคิดถึงรากของสหาย Jodi Dean

ปัจจัยที่สำคัญซึ่งทับซ้อนกันอยู่สองประการคือ

แง่มุมทางช่วงเวลา: เธอเกิดในช่วงเวลาสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1960-1980 และคอมมิวนิสต์เป็นขบวนการหลักที่ต่อต้านความเป็นทุนนิยมและสหรัฐอเมริกา มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอคิดว่ามันไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน เช่น สงครามเวียดนาม แถมเธอยังสนใจถึงขนาดได้ศึกษาเรื่องราวของโซเวียตและภาษารัสเซีย แถมไปโซเวียตอยู่หลายครับ

แง่มุมทางชุมชนและสถานที่: เธอเกิดในครอบครัวคริสต์ศาสนา คำสอนหนึ่งที่สำคัญซี่งมาจากพระคัมภีร์เล่มกิจการของอัครทูต 4:35 ที่ว่า ‘และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของบรรดาอัครทูต พวกอัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามความจำเป็น’ แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับมีโบสถ์เหยียดสีผิวมากมาย เธอจึงเห็นถึงความไม่ตรงไปตรงมาระหว่างคำสอนและภาคปฏิบัติ และยกขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นในอเมริกาเป็นตัวอย่างถึงการซื่อตรงต่อหลักคำสอนและพยายามต่อสู้เพื่อสิ่งนั้น

อย่างไรก็ดี ความคิดของเธอเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามช่วงชีวิตเหมือนผู้คนทั่วไป แต่สิ่งที่เป็นแก่นหลักคือการต่อต้านสิ่งที่ไม่เป็นธรรมสี่ประการหลักๆ คือ ความเหลื่อมล้ำ, ทุนนิยม, จักรวรรดินิยม, การเหยียดสีผิว

เรื่องการงาน เธอเล่าว่าชีวิตเธอสนใจเรื่องโซเวียตมากจนกระทั่งเข้าเรียนโซเวียตศึกษาและประวัติศาสตร์โซเวียตในสมัยปริญญาตรี แต่สุดท้ายเปลี่ยนสายมาเป็นทฤษฎีการเมืองในช่วงหลังปริญาตรี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความบังเอิญที่ดี เพราะโซเวียตล่มสลายในช่วงที่เธอกำลังเรียนพอดี และวงการวิชาการโซเวียตศึกษาในอเมริกาก็ล้มครืนลงเช่นกัน และด้วยเหตุที่เธอเปลี่ยนไปเรียนสายทฤษฎีการเมือง เธอจึงได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าลัทธิมาร์กซ์ของโลกตะวันตก เพราะการศึกษาของสหรัฐอเมริกา สอนแค่ว่าคอมมิวนิสต์คือโซเวียต และตรงกันข้ามกับทุนนิยม มันมีแค่เรื่องอาวุธและสงคราม นักคิดที่เธอเจอมีหลายคนแต่คนที่สำคัญคือ Žižek เพราะเขาทำให้เธอได้รู้จักกับจิตวิเคราะห์ อันเป็นทฤษฎีที่ทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการศึกษาทำความเข้าใจลัทธิมาร์ซ-เลนินแบบใหม่ๆ และน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบองค์กร เช่น ความคิดเรื่อง ‘พรรค’

ความคิดที่สำคัญในแง่มุมที่เธอพยายามทำความเข้าใจโลกทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องอินเตอร์เน็ตและการคิดเรื่องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ทำให้เธอเสนอพัฒนาความคิดเรื่อง ‘ทุนนิยมการสื่อสาร’ ขึ้นมาเพื่อต่อต้าน/ตั้งคำถามกับสื่อแบบใหม่ที่ผุดขึ้นมาในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาประชาธิปไตยโดยไม่เปลี่ยนรูปแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ หนังสือสามเล่มที่เธอคิดว่าเป็นงานเขียนสำคัญคือ The Communist Horizon, Crowds and Party, และ Comrade

 

 

เป็นไปได้ไหมที่เราจะนำการต่อสู้ออนไลน์ลงมาให้เกิดขึ้นจริงบนท้องถนน?

เป็นไปได้แน่ ๆ เพราะตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเมืองขวาจัดของ Trump ที่เริ่มต้นจาก Twitter แล้วเข้าสู่สื่อกระแสหลัก จนกลายเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ได้ ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วเราฝ่ายซ้ายปฏิวัติล่ะ จะทำได้ไหม อย่างไร ในบริบทไหนเสียมากกว่า

ปัญหาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียหรืออะไรก็ตาม เป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายขวามีทุนหนุนหลัง ทำให้บงการสื่อเหล่านี้ได้ คำถามของฝ่ายซ้ายคือจะท้าทายโครงสร้างเหล่านี้ผ่านขบวนการทางการเมืองอย่างไร?

ประเด็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย                                และการต่อสู้กับรัฐให้ประสบผลสำเร็จ

เราไม่สามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ไม่ว่าอย่างไรเสียมันก็ต้องมีประเด็นที่เห็นแย้งกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้แน่ ๆ คือเรื่องของ ‘สัญลักษณ์’ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ สี หรืออื่นๆ ที่ก้าวข้ามความเฉพาะ สิ่งนี้ไม่ใช่อะไรที่เล็กน้อยเลย เพราะสัญลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะสร้างขบวนการในการเคลื่อนไหวรอบๆ สิ่งนี้ได้

สิ่งที่ในขบวนการต่อมีเพื่อสู้กับรัฐที่โหดเหี้ยม อันตราย อยู่บนความเป็นความตาย เราจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้นักฉวยโอกาสเข้ามาในองค์กร เราจำเป็นต้องสร้างขบวนการที่เราจะ ‘เชื่อใจ’ กันได้จริงๆ อย่างเพียงพอ เราต้องขีดเส้นให้ชัดว่าเราต่อต้านอะไร เรากำลังสู้อยู่กับอะไร?

ตัวอย่างของขบวนการ Occupy Wall Street ในอเมริกา มีการรวมกันอย่างหลวมๆ ของฝ่าย ‘ก้าวหน้า’ สามกลุ่มคร่าวๆ คือ กลุ่มเสรีนิยม ที่ต้องการเอาเรื่องเงินออกจากการเมือง กลุ่มสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ที่ต้องการยกเครื่องเปลี่ยนแปลงระบบใหม่หมด และกลุ่มอนาคิสต์ที่สนใจรูปแบบแนวราบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และรูปแบบของการเข้ายึดสิ่งต่างๆ

ประเด็นที่สำคัญมากแต่อาจลืมกันไปก็คือ ขบวนการจะไม่สามารถนำชัยชนะมาได้เลย หากฝ่ายซ้ายทำเพียงแค่พูดคุยกันในวงของนักกิจกรรมด้วยกันเองเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการพูดคุยสื่อสารและขยายวงกว้างเข้าถึงผู้คน หรือพูดง่ายๆ คือสร้างขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกฟาสซิสต์ (ฝ่ายขวาจัด) ทำได้ดีกว่าเรามาก

ประเด็นความแตกแยกเป็นกลุ่มย่อยที่แยกหรือกระทั่งขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของขบวนการ

ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ทั่วโลก และมีสองประเด็นที่ต้องคำนึง ประเด็นแรกคือเราต้องเข้าใจความหลากหลายในตัวชนชั้นแรงงาน และคุณูปการต่างๆ ที่หลายๆ ขบวนการสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนผิวสี ฯลฯ ตัวอย่างที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา คือกลุ่มลัทธิทร็อตส์กี้หลายกลุ่ม ต่อต้านการเมืองอัตลักษณ์อย่างสุดขั้วจนผลิกกลับมาเป็นการมองว่าผู้ใช้แรงงานคือชายผิวขาวในโรงงานเท่านั้นไปเสียอย่างนั้น เป็นต้น

ประเด็นถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประสบการณ์ส่วนตัวของเราไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดหนึ่งเดียวในขบวนการปฏิวัติ สิ่งที่จำเป็นสำหรับเราในฐานะคนที่ร่วมสู้ในขบวนการคือ ต้องคิดว่าเราจะทำอะไรให้กับขบวนการได้บ้าง และสิ่งสำคัญที่พึงตระหนักคือ ไม่มีการเมืองที่เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติผ่านอัตลักษณ์ การเมืองเป็นสิ่งที่ต้อง ‘สร้างขึ้นมา’ เสมอ เหมือนใน ‘แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์’ ที่เรียกร้องให้ ‘ชนชั้นแรงงานทั้งหลายจงรวมกันเข้า’ กล่าวคือ การก่อรูปจิตสำนึกทางชนชั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านการต่อสู้ คำว่าการเมืองอัตลักษณ์จึงไม่มีความเป็นการเมืองในตัวเอง และการจะปลดปล่อยจากการกดขี่ทุกรูปแบบได้นั้น เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้ในฐานะชนชั้นอันเป็นหนึ่งเดียว

ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยกับลัทธิมาร์กซ์

ความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์เสนอว่า ประชาธิปไตยเป็นไปได้ก็แต่ในสภาวะที่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจริงๆ เท่านั้น แต่ประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ก้าวหน้าเสียเลย มันก้าวหน้าในฐานะที่สร้างการเรียนรู้และตระหนักรู้ให้กับผู้คนและสร้างสถาบันต่างๆ ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ อย่างน้อยมันก็ก้าวหน้ากว่ายุคสมัยศักดินา เพียงแค่ว่าประชาธิปไตยในความคิดของลัทธิมาร์กซ์นั้นหมายความว่าคนเราจะสามารถควบคุมเงื่อนไขและสภาวะของชีวิต รูปแบบการอยู่ร่วมกัน และรูปแบบการผลิตได้จริงๆ

สหรัฐอเมริกาจะเกิดการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ขึ้นได้ไหม

เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตอบว่า ‘ได้’ ด้วยเหตุผล 2 ประการที่สำคัญ

ประการแรก ฝ่ายขวาในปัจจุบันผลักทุกอย่างที่พวกเขาไม่ชอบให้กลายเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ไปเสียหมด แล้วพวกเขาเองก็คิดว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดขึ้นจริงๆ พวกเขามองว่าขบวนการคอมมิวนิสต์เข้มแข็งมาก ในแง่นี้ก็กล่าวได้ว่า พวกเขาเชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นไปได้ แถมมันยังมีผลต่อเยาวรุ่นทั้งหลาย ที่กลายเป็นว่าสิ่งดีๆ ต่างๆ ถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ปัญหาค่าแรงต่างๆ กลายเป็นเรื่องคอมมิวนิสต์ไปเสียหมด เยาวรุ่นทั้งหลายจึงมีแนวโน้มมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องของสิ่งดีๆ ต่างๆ และชอบคอมมิวนิสต์มากขึ้น

หลายอย่างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น เช่น ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ประเด็นสิ่งแวดล้อม และปัญหาจักรวรรดินิยม จำเป็นต้องถูกแก้ไข และคอมมิวนิสต์ก็เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เนื่องจากมันมีรากมาจากทุนนิยม

ตัวอย่างที่ขับเน้นสองประเด็นข้างต้นได้ชัดเจนคือ มีคนอเมริกันอายุราว 30 ในอเมริกาคนนึง มีหนี้ท่วมหัว บอกว่าถ้าเขาเกษียณโดยที่ไม่มีสวัสดิการ เขาคงจมกองหนี้ตาย และไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น คอมมิวนิสต์จึงแทบเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ หากเขาต้องการจะมีชีวิตอยู่ เพราะมันคือคำที่บอกว่าเราจะต่อต้านล้มล้างทุนนิยมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่มันก่อขึ้น

ความคิดคอมมิวนิสต์ยังจะฮิตได้อีกไหม

ได้แน่นอน เพราะมันเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเดียวที่ต่อต้านและตรงข้ามกับทุนนิยม เป็นตัวเลือกเดียวที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างที่พัวพันกับทุนนิยมได้ โดยเฉพาะสงคราม ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือก็คือ มันเป็นตัวเลือกที่หมายความถึงการปลดปล่อยอย่างเท่าเทียม เป็นตัวเลือกที่หมายถึงการที่คนส่วนใหญ่จะได้รับการปลดปล่อย เข้าแทนที่การกดขี่โดยคนส่วนน้อย ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยาก สงครามงี่เง่า และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ฯลฯ

ปัญหาความขาดแคลนแรงงานในสหรัฐอเมริกา จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนการแรงงานได้ไหม

อันที่จริงมันเริ่มขึ้นแล้วด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ #striketober มันแหลมคมและเจาะจงเป็นประเด็นๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ มันเกิดขึ้นทั้งในระดับโรงงานและขยายตัวออกเป็นระดับประเทศพร้อมๆ กัน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า มันจะคงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน และทุนนิยมจะหยุดมันอย่างไรเสียมากกว่า และเพราะเช่นนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปร่วมในขบวนการนี้ แสดงออกมาว่าทุนนิยมควรสำนึกได้แล้วว่า การกดค่าจ้างให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนไม่สามารถกินอยู่ใช้ชีวิตได้มานานเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับได้อีกต่อไป หลายคนปฏิเสธงานโดยตรง พวกเขาบอกว่าพอแล้ว ไม่เอาอีกแล้วกับค่าจ้างห่วยๆ เช่นนี้

ประเด็นการสนับสนุน Bernie Sanders

Jodi Dean สนับสนุนขบวนการ Bernie Sanders ตั้งแต่ยุคแรกๆ ในฐานะที่ขบวนการนี้เป็นการผลักดันความคิดสังคมนิยมให้เข้าสู่การเมืองกระแสหลัก ทำให้สังคมนิยมไม่ใช่แค่เรื่องแฟนซีอีกต่อไป ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดมานานราว ๆ 30 – 40 ปี เข้าแล้ว แต่ในขบวนการระรอกสอง เธอเริ่มมีความกระตือรือร้นในการสนับสนุนน้อยลง เพราะดูยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมมากกว่าครั้งแรก แต่กระนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือ ประเด็น Bernie Sanders เป็นเรื่องของ ‘ขบวนการ’ ไม่ใช่ในฐานะ ‘ตัวบุคคล’ เราต้องไม่ลืมว่ามันคือขบวนการฝ่ายซ้ายขนาดใหญ่ในการเมืองกระแสหลักของอเมริกา และเขาเป็นคนที่จุดขบวนการรอบๆ ตัวเขาติดขึ้น และสิ่งนี้เป็นอะไรนี่น่าตื่นตาตื่นใจ

ประเด็นเรื่องการหวนคืนสู่ความคิดและปฏิบัติการเรื่อง ‘พรรค’

ความสำคัญสามประการใหญ่ๆ ของพรรค

– ประการแรกพรรค หรือองค์กรทางการเมือง ทำให้ขบวนการมีความ ‘คงทนยาวนาน’ และ ‘ยกระดับขยายขอบเขต’ ได้ กล่าวคือ หากเราไม่มีพรรค หรือองค์กรการเมือง ขบวนการต่อสู้ก็อาจเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ชั่วครั้งชั่วคราว คนมา คนไป กลายเป็นเทศกาล ไม่สามารถต่อยอดยืดยาวได้ แถมการขยายขอบเขตของการต่อสู้ก็เป็นไปได้ยาก ทำให้การต่อสู้มีแนวโน้มจำกัดอยู่ในขอบเขตขนาดเล็ก ต่างจากการมีพรรคซึ่งจะทำให้การต่อสู้เป็นไปในลักษณะที่ยาวนานต่อเนื่องได้ แถมยังยกระดับขยายขอบเขตจากชุมชน ระดับประเทศ และไปถึงระดับโลกได้อีกด้วย

– ประการที่สองซึ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การต่อสู้ที่ยาวนานและมีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมี ‘ยุทธศาสตร์’ ซึ่งสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีองค์กรที่จะสร้างกลุ่มปฏิบัติการเพื่อคิดค้นยุทธศาสตร์และนำไปปรับใช้ ปรับปรุง อีกทั้งความคิดว่าด้วยโลกใบใหม่ หรือไอเดียใหม่ๆ ในระดับใหญ่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นผ่านการพูดคุยด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ได้

– ประการที่สาม เราจำต้องรู้ว่าใครเป็นใครในขบวนการ ด้วยเหตุนี้ ‘ผู้นำ’ จึงเกิดขึ้นผ่านการต่อสู้ในขบวนการ ผู้นำคือคนที่ทำให้เรารู้ว่าเราสู้อยู่กับใครบ้าง เราไม่ได้โดดเดี่ยวท่ามกลางคนแปลกหน้าทั้งหลาย และสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่มีพรรค

เพราะการต่อสู้กับรัฐทุนนิยมและสร้างสรรค์การผลิตรูปแบบใหม่ จำเป็นต้องสั่งสมต่อยอดประสบการณ์ยาวนาน ต้องยึดพื้นที่และยืดขยายการต่อสู้ ต้องมีองค์กรที่ ‘อยู่ตรงนั้นเสมอ’ ไม่ว่าผู้คนจะลงถนนไปหรือไม่ ต้องมีการฝึกนักกิจกรรม เขียนข่าว เขียนบทความ เชื่อมต่อผู้คน เพิ่มความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ และขยายขอบเขตทักษะของขบวนการ เป็นต้น สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นแค่การที่มีคน 20 คนมานั่งคุยกัน และตัวอย่างปัญหาของขบวนการ Occupy Wall Street โดยเฉพาะการใช้พื้นที่การตัดสินใจออนไลน์ก็คือ เราไม่รู้ว่าใครกำลังตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจนั้นไม่อาจส่งผลยาวนานได้ หลายคนอ้างว่าเขาไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นๆ ฉะนั้นแล้ว ‘สมาชิกกลุ่มเป็นใครบ้าง’ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ประเด็นก็คือรูปแบบการต่อสู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจครั้งนั้น อาจเป็นข้อเสียเข้าเสียเองในท้ายที่สุด

สุดท้าย ประเด็นเรื่องกองกำลังของรัฐที่เข้ามาบดขยี้การต่อสู้อย่าง ‘ตำรวจ’ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่อาจปล่อยให้ขบวนการถูกบดขยี้ได้ สิ่งนี้เป็นโจทย์ของการเมืองเบื้องต้น ดังนั้นยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อสร้างความแข่งแกร่งให้กับขบวนการไม่ให้รัฐมาบดขยี้ได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่หวังว่าตำรวจจะไม่มาบดขยี้เรา (เพราะมันทำแน่นอน)

การสร้างความเป็นสหายในสภาพการณ์ที่ต้องถูก Lock Down

เป็นประเด็นที่ยากมาก แต่การเมืองของความเป็นสหายจะไปด้วยกันกับสามสิ่งที่สำคัญ กล่าวคือ การสร้างกลุ่มศึกษาร่วมกัน การมองโลกในแง่ดีแบบซ้าย และการเข้าหาผู้คน กลุ่มศึกษาเป็นสิ่งที่ทำได้ในรูปแบบออนไลน์ แล้วมันยังเสริมสร้างการมองโลกในแง่ดีแบบซ้ายได้ด้วย แต่สิ่งที่ยากมากๆ คือการเข้าหาผู้คนในช่วงเวลาเช่นนี้ เธอเล่าว่ากลุ่มการเมืองของเธอมีความพยายามสร้างความสนิทชิดเชื้อให้เกิดขึ้นในสภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการพบปะสังสรรค์ออนไลน์ การนำแมวมาโชว์กันอย่างจริงๆ จังๆ หรือการตั้งวงพูดคุยเรื่อยเปื่อย และแน่นอนว่าต้องจัดกลุ่มศึกษาขึ้นมาด้วย แต่กระนั้นการเชื่อมต่อบนชีวิตจริงก็จำเป็น และเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด หนทางหนึ่งที่เธอคิดว่าน่าสนใจคือขบวนการแบบที่ชาวอนาคิสต์ทำอยู่ เช่นกลุ่มช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันซึ่งเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีมาก เพราะมันคือการสร้างหนทางการเชื่อมต่อกับผู้คนในแบบใหม่ๆ

ประเด็นเรื่องอินเตอร์เน็ต

คำถามที่เราต้องเลิกถามคือการถามว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เพราะมันคือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจริงในปัจจุบันของเรา ลองคิดถึงถนน ดินสอ หรืออื่นๆ เราอาจบอกว่าถนนมันทำให้เรารวมตัวง่ายขึ้น แต่กองทัพก็เข้ามาบดขยี้เราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่มันดีหรือไม่ดีในตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่อง แต่สิ่งจำเป็นคือการวิเคราะห์และดูว่ามันทำงานอย่างไร และเราจะฉวยใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อขบวนการ โดยไม่หลงติดหล่มไปกับกลวิธีที่มันใช้บงการเราได้อย่างไรเสียมากกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เราคงไม่ได้ถือว่าการวัดยอดไลก์ในเฟสบุ๊คจะเป็นประเด็นสำคัญที่วัดชัยชนะของเรา แต่เราจะใช้มันเพื่อกระจายข่าวและการเพิ่มยอดไลก์ก็เป็นเพียงหนทาง ไม่ใช่เป้าหมาย อินเตอร์เน็ตเป็นที่สำหรับแมว สำหรับการแสดงความโกรธเกรี้ยวออกมา

ประเด็นเรื่องวัคซีนกับการเชื่อใจรัฐ

เราอาจต้องคิดถึงสี่งที่เรียกว่า ‘การวิพากษ์เหลื่อมซ้อน’ ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการที่ในขณะเดียวกัน เราคงไม่เชื่อใจรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลมักตัดสินใจผิดพลาดและตุกติกกับเราตลอดเวลา แต่เราก็ต้องพึงระลึกว่า ประโยชน์ของวัคซีนเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แล้วเราควรพิจารณาให้การศึกษาข้อเท็จจริงตรงนั้นว่า วัคซีนมีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ และเราสามารถฉีดวัคซีนพร้อมๆ กับไม่เชื่อใจรัฐบาลได้ในเวลาเดียวกัน

.

เราจะสร้างความเป็นสหายระหว่างกันในงานเปราะบาง หรืองานที่ถูกมองว่าเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ได้อย่างไร

ประเด็นนี้มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะงานเปราะบางสร้างภาพลวงของการเป็นนายทุนน้อยหรือผู้ประกอบการขึ้นมา เช่น ไรเดอร์ส่งของทั้งหลายอาจมีรถใช้เอง ทำให้รู้สึกว่าเป็นผู้ประกอบการ เป็นนายทุนน้อยในทางเทคนิค ฯลฯ แต่กระนั้นเราก็ต้องพึงระลึกว่าพวกเขาไม่มีทางเลื่อนขั้นกลายเป็นชนชั้นนายทุนใหญ่ได้ นายทุนน้อยไม่ใช่ศัตรูสำหรับเรา แถมอันที่จริง มันคือรูปแบบการขูดรีดใหม่เสียด้วยซ้ำ เราจำเป็นต้องคิดว่าศัตรูที่สำคัญของเราคือชนชั้นนายทุนใหญ่ นายทุนการเงิน และเราต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพ สร้างการเมืองเพื่อต่อต้านพวกนั้น มากกว่าที่จะมาแบ่งแยกกันเอง อีกทั้งการสร้างสหภาพแรงงานที่เปราะบาง ก็ยังช่วยดันไม่ให้ค่าแรงของแรงงานมั่นคงไม่ตกต่ำไปกว่านี้อีกด้วย

ปมปัญหาความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกากับจีนมีผลกับขบวนการแรงงานหรือไม่

มีแน่นอน เพราะฝ่ายซ้ายในอเมริกาบางส่วนยอมรับความเป็นจักรวรรดินิยมอเมริกาได้ และนี่ทำให้เกิดปัญหา เพราะการที่สหรัฐอเมริกาแผ่ขยายอิทธิพลเข้าปะทะจีนทำให้เกิดกลุ่มปฏิกิริยาในฝ่ายซ้าย อันทำให้ขบวนการถดถอยได้

ว่าด้วยปมปัญหาและทางออกของการเมืองไทย

ประเด็นนี้เธอไม่สามารถตอบได้ เพราะคนในท้องถิ่นย่อมเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด แต่เธอเสนอไอเดียของเลนินว่า การที่ระบบจะเปลี่ยนแปลงได้นั้น ย่อมมาจากปัจจัยหลักสองประการ คือ ชนชั้นล่างไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนี้อีกต่อไป และในขณะเดียวกัน ชนชั้นปกครองก็ไม่อาจปกครองในสภาพนี้ต่อไปได้อีกแล้ว.