อนาคตที่ถูกหลงลืมของสากลนิยมต้านอาณานิคม
ต้นฉบับ: Roar Magazine
เรื่องราวสุดพิศวงของนักเคลื่อนไหวชาวพุทธเชื้อสายไอริช ผู้ต่อต้านอาณานิคมในยุคที่จักรวรรดิรุ่งเรืองในเอเชีย เผยให้เห็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างขุดรากถอนโคน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นเส้นตรง
วันเพ็ญที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1901 เป็นวันสำคัญของเทศกาลเจดีย์ประจำปีในประเทศพม่า ฉากหลังเป็นเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon pagoda) สีทองอร่ามซึ่งเป็นพุทธศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของประเทศ สถานที่แห่งนี้ล้นทะลักไปด้วยฝูงชน ไม่ว่าจะเป็น พระสงฆ์ คนแจกหนังสือแผ่นพับ ผู้ให้ความบันเทิง เจ้าของแผงหนังสือพิมพ์ และผู้ศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา รวมไปถึงนักท่องเที่ยวเจ้าอาณานิคมที่เดินทอดน่องไปรอบ ๆ ราวกับว่าพวกเขาเป็นเจ้าของสถานที่
ตำรวจผู้ไม่ได้อยู่ในเวลางานเดินย่างกรายเข้าไป พลางเพลิดเพลินไปกับฉากของสถานที่แห่งนี้ยังต้องหยุดชะงักระหว่างเดิน เพราะพระสงฆ์ผู้เดินเท้าเปล่าสั่งให้เขาถอดรองเท้าออกเสีย
เช่นเดียวกับเวลาที่หยุดชะงักลงเหมือนกัน
เจดีย์แห่งนี้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีเส้นผมแปดเส้นจากพระเศียรของพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระบรมสารีริกธาตุอื่น ๆ พม่าก็เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย คุณไม่สามารถสวมรองเท้าเดินบนพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์หรือในบ้านของผู้คนได้ แต่ในปี ค.ศ. 1901 เจ้าอาณานิคมกลับทำเช่นนั้น รวมไปถึงทหารและตำรวจ
รองเท้ากลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งที่แบ่งแยก “นายท่าน” (“sahibs”) ออกจาก “ชาวพื้นเมือง” (“natives”) ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่เหนือกว่า แยกเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง นับตั้งแต่การก่อกบฏของอินเดียในปี ค.ศ. 1857 การแบ่งแยกเช่นนี้ดูเป็นเรื่องที่สำคัญมาก กล่าวคือ ในเอเชียผู้ที่อยู่ใต้ปกครองของเจ้าอาณานิคมยุโรปมีจำนวนมากกว่าเจ้าอาณานิคมมาก ลำดับชั้นทางวัฒนธรรมดังกล่าวช่วยให้โครงสร้างอันง่อนแง่นนี้ดำรงอยู่ได้
แต่พระที่กำลังท้าทายตำรวจอยู่นั้น…เป็นชาวไอริช เขาเลิกสวมรองเท้า โกนศรีษะ นุ่งผ้าเหลืองของพระภิกษุสงฆ์และขออาหารกิน ร่างกายของเขาเป็นการท้าทายการแบ่งแยกเชื้อชาติและอำนาจโดยตรง และเขายังท้าทายเส้นแบ่งอื่นอีกด้วย ในขณะที่จักรวรรดิควรจะนำคำสอนของพระเยซูมาสู่คนนอกรีต (heathen) พระรูปนี้ได้เปลี่ยนมาเป็น “รูปเคารพ” ของชาวพื้นเมือง เขาผู้นี้เข้าร่วมองค์กรในเอเชียและใช้ชีวิตเหมือนกันกับคนที่นั่น กล่าวคือ เขาได้กลายมาเป็นคนพื้นเมืองคนหนึ่ง
สัญลักษณ์ดังกล่าวทรงพลังมากในค่ำคืนนี้ ณ สถานที่แห่งนี้ ดังที่พระภิกษุท่านนี้คงจะได้กล่าวเอาไว้ว่า อังกฤษได้ “พรากพม่าไปจากคนพม่า ซ้ำตอนนี้ก็อยากจะเหยียบย่ำศาสนาของพวกเขา” ณ ที่แห่งนี้ ศาสนาและอำนาจมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น เช่นเดียวกับจักรวรรดิและเชื้อชาติ วิธีการหนึ่งที่กองทัพอังกฤษใช้ในการบีบให้พม่าอยู่ในขอบเขตคือการใช้ปืนใหญ่ชี้ไปยังเจดีย์ชเวดากอง
สิ่งเหล่านี้ทำให้การกระทำโดยตรงของพระภิกษุสงษ์บังเกิดผลตามต้องการ ตำรวจออกหมายจับการกระทำดังกล่าว และเจ้าหน้าที่อาณานิคมพยายามกดดันโดยอ้อมให้ผู้ดูแลเจดีย์ปฏิเสธพระภิกษุสงฆ์องค์นี้ แต่พวกเขาปฏิเสธและเปิดเผยเอกสารที่พวกเขาควรจะเซ็นให้คำสั่งของเจ้าหน้าที่มีผล ทำให้ผู้มีอำนาจอับอายขายขี้หน้าอย่างแรง
ประเด็นเรื่องรองเท้า รวมไปถึงปัญหาที่ใหญ่กว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น จักรวรรดิ เชื้อชาติ และการเคารพให้เกียรติวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็ยังคงเป็นประเด็นต่อไป อันที่จริงมันกลายมาเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ชาวพม่ารวมตัวกันต่อต้านอาณานิคมในอีกสิบแปดปีข้างหน้า ความหัวดื้อหัวรั้นของจักรวรรดิคือของขวัญที่ส่งมาถึงนักเคลื่อนไหว (ให้ทำการลุกฮือ-ผู้แปล)
การเผชิญหน้านี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แบบหนึ่ง และต้องได้รับการอธิบายหากคุณไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่การแบ่งแยกสีผิวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าใครเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในพม่า ห้วงเวลาดังกล่าวทำให้ความหยิ่งผยองของอาณานิคมทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น การต่อต้านของประชาชนก็เช่นกัน
ปัญหาจากชาวไอริช
อู ธัมมะโลกะ (U Dhammaloka)
พวกเราหลายคน ในฐานะนักเคลื่อนไหว ต่างก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับการพยายามสร้างและขยับขยายห้วงเวลาดังกล่าวให้เกิดคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ขึ้นมา และชาวไอริชคนนี้ก็น่าจะมีประสบการณ์โชกโชนมาแล้วก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องที่พูดได้ยาก เพราะผู้อพยพชนชั้นแรงงานแห่งศตวรรษที่สิบเก้าอย่างเขาคนนี้พยายามอย่างมากที่จะปกปิดร่องรอยของตัวเอง ดังที่เราจะเห็นได้จากนามแฝงทั้งห้าของเขาอันเป็นที่รู้จักกันดี
ชายผู้นี้เกิดที่เมือง ลอเรนซ์ แคร์โรลล์ (Laurence Carroll) ในดับลิน (Dublin) เมื่อปี ค.ศ. 1856 เขาอพยพมาที่ลิเวอร์พูลก่อนแล้วจึงเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1872 โดยตระเวนข้ามป่าข้ามเขาไปยังซานฟรานซิสโก และแล่นเรือไปตามเส้นทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกก่อนจะปรากฏตัวเป็นคนงานท่าเรือในย่างกุ้ง และกลายมาเป็นพระอู ธัมมะโลกะภิกษุเมื่อปี ค.ศ. 1900 เขาเปลี่ยนศาสนาด้วยความเลื่อมใสควบคู่ไปกับการปฏิเสธศาสนาคริสต์ในแบบของชนชั้นแรงงาน การตกหลุมรักวัฒนธรรมเอเชียซึ่งถูกคุกคามโดยลัทธิล่าอาณานิคม และการอุทิศตนในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นจิตวิญญาณอันมีเหตุมีผลและเท่าเทียมกันของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ดี ถึงแม้เขาจะชื่นชอบการเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง แต่ก็ยังมีเรื่องราวของชีวิต 25 ปีให้หลังที่เขาปิดบังใบหน้าอันเงียบงันเอาไว้ เป็นช่วงปีที่เจ้าหน้าที่นักสืบพิงเกอร์ตัน (Pinkerton) ต่อสู้กับสมาคมลับไอริช (The Molly Maguires) เป็นช่วงปีแห่งการต่อสู้ดิ้นรนของแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการเติบโตขึ้นของอนาธิปไตยและสังคมนิยม
ในฐานะพระภิกษุสงฆ์ ธัมมะโลกะสุขสำราญใจไปกับการล่องเรือชิดลม เขาถูกตัดสินโทษข้อหาพยายามยุยงปลุกปั่นไม่ต่ำกว่าหนึ่งครั้ง ถูกตำรวจควบคุมตัวและถูกจับตามองโดยหน่วยสืบราชการลับ เขาขัดขวางการใช้ชีวิตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ แกล้งตาย และหายตัวไปในที่สุด
การเป็นชาวไอริชและความวิตกกังวลที่เขาสร้างแก่ผู้มีอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ กองทัพอังกฤษในอินเดียส่วนใหญ่เป็นชาวไอริช และด้วยกระแสชาตินิยมของอินเดียและไอริชที่ทวีคูณมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งเกิดความกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาเข้าร่วมกับกองทัพ นวนิยายขายดิบขายดีแห่งปี ค.ศ. 1901 เรื่อง Kim ของคิปลิง (Rudyard Kipling) บรรยายถึงลูกชายกำพร้าของทหารไอริชและ “แม่นางตลาดสด” ชาวอินเดีย เขาเริ่มใช้ชีวิตและมีพฤติกรรมแบบชาวพื้นเมือง จึงอยู่ในความขัดแย้งระหว่างความภักดีต่อหัวหน้าสายลับของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ (English Raj) ผู้ให้ความสำคัญกับทักษะภาษาและการปลอมตัว กับอาจารย์ชาวพุทธในทิเบต เป็นเวลาหลายทศวรรษในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ความเป็นหนึ่งในการต่อต้านอาณานิคมระหว่างไอร์แลนด์กับเอเชียซึ่งอยู่ใต้อาณานิคมทั้งคู่เป็นบ่อเกิดแรงบันดาลใจและในบางครั้งคราก็เป็นแหล่งที่มาของนักเคลื่อนไหว โดยมักจะมีศาสนาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงถึงกัน
เครือข่ายและการต่อสู้ที่แผ่ไพศาลออกไป
ธัมมะโลกะทำมากกว่าการเป็นสัญลักษณ์แห่งศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของศาสนาผู้ไร้เสียง (subaltern religion) และความขัดแย้งของระบบลำดับขั้นทางเชื้อชาติและอำนาจจักรวรรดิ เขามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการฟื้นฟูขบวนการต่อต้านอาณานิคมของชาวพุทธทั่วเอเชีย เขาเป็นนักปราศรัยและผู้จัดพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั่วพม่า เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรในประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียยุคปัจจุบัน เขามีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามที่จะเชื่อมเครือข่ายพุทธสากลของญี่ปุ่น และเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนในศรีลังกาทุกวันนี้ และยังมีการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ในอินเดีย บังคลาเทศ จีน ออสเตรเลีย รวมไปถึงเนปาลและกัมพูชาในปัจจุบัน
เนื่องมาจากบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของธัมโลกะที่เต็มไปด้วยอคติมากมาย ซึ่งเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะเห็นแค่คนเป็น ๆ มากกว่าการเคลื่อนไหวอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังเขา ทว่าตลอดระยะเวลาสิบปีของโครงการวิจัย “ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง” อลิเซีย เทิร์นเนอร์ (Alicia Turner), ไบรอัน บ็อกกิ้ง (Brian Bocking) และข้าพเจ้าได้มองลึกลงไปให้ไกลกว่าปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียวเพื่อที่จะได้เห็นถึงปฏิบัติการอันสร้างสรรค์ของเครือข่ายต่อต้านอาณานิคมระดับรากหญ้า ซึ่งประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ที่หลากหลายภายในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้กว่าร้อยปีที่แล้ว เป็นเครือข่ายที่มีบทบาทในการต่อสู้ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเอาชนะจักรวรรดิได้ในท้ายที่สุด
เครือข่ายเหล่านี้ส่วนมากมีรากฐานอยู่บนความเป็นสากลแบบสามัญชน (plebeian cosmopolitanism) ของบรรดาเมืองท่า ทั้งย่างกุ้ง ปีนัง สิงคโปร์ กรุงเทพฯ และในเมืองที่คล้าย ๆ กันต่างก็ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ปมเงื่อนอันเก่าแก่และสลับซับซ้อนของภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมในพื้นที่ ๆ ห่างไกลจากตัวเมือง ประกอบกับกลุ่มต่าง ๆ เช่น ชาวจีนพลัดถิ่นและชนกลุ่มน้อยทาโวยัน (Tavoyan) แรงงานอพยพชาวอินเดียและทมิฬ (Tamil) ตลอดจน “เหล่าคนขาวที่ยากจน” จากยุโรป ผู้คนเหล่านี้ถูกบีบอัดเข้าไปในสถานที่ทำงาน ในชุมชน และในวัตรปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่แทบไม่ได้คล้ายคลึงกับภาพจำอันเป็นที่นิยมซึ่งถูกวาดขึ้นมาใหม่โดยทฤษฎีที่พูดถึงตะวันออกผ่านมุมมองตะวันตก (Orientalist theories)
เมื่อธัมมะโลกะถูกนำตัวขึ้นมาพิจารณาคดีในกรุงย่างกุ้งช่วงสิบปีหลังจากเหตุการณ์รองเท้าข้างต้น เขาไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธเชื้อสายพม่าเท่านั้น แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพ่อค้าชาวจีนและอินเดีย ผู้จัดงานในอนาคตของคนงานท่าเรือชาวมุสลิม และจากโรงภาพยนตร์ท้องถิ่นด้วย แม้ว่าในนามเขาจะเป็นชาวพม่าและชาวพุทธ แต่เราก็จะเห็นได้ว่า เขาทำงานร่วมกับผู้นำเผ่าชาวฉาน (Shan) และพ่อค้าพลัดถิ่นชาวสิงหล (Sinhalese) และเขายังพูดคุยสนทนาทั้งกับกลุ่มชาวทมิฬและชาวฮินดู รวมไปถึงผู้สนับสนุนชาวยุโรปและมุสลิมด้วย
เราจะเห็นความเชื่อมโยงกันในชีวิตประจำวันได้จากการเมืองของผู้ไร้เสียงซึ่งเชื่อมโยงถึงกันหมดและจากสิ่งที่ลีลา คานธี (Leela Gandhi) เรียกว่า “การเมืองแห่งมิตรภาพ” ข้ามพรมแดนในช่วงหลายทศวรรษก่อนที่อำนาจบาตรใหญ่ของกลุ่มศาสนาชาติพันธุ์สุดโต่งและแรงกระหายที่จะสร้างรัฐชาติจะเข้ามาครอบงำกลุ่มเคลื่อนไหว
ออกเดินทางไปในซีลอน
ในปี ค.ศ. 1909 ธัมมะโลกะได้นำทัวร์ปราศรัยที่ประเทศซีลอน (Ceylon) (ปัจจุบันคือศรีลังกา) เพื่อมหาโพธิสมาคมของอนาคาริกธรรมปาละ (Anagarika Dharmapala’s Maha-Bodhi Society) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะรวบรวมชาวพุทธในเอเชียจากญี่ปุ่นไปยังซีลอนบนพื้นฐานอัตลักษณ์แบบเอเชียผนึกเป็นปึกแผ่นตามจินตกรรม (an imagined pan-Asian identity) เราจะเห็นได้ชัดว่า ในการรณรงค์ครั้งนี้บรรดาเครือข่ายท้องถิ่นต่างใช้ธัมมะโลกะเป็นตัวยันในการท้าทายมิชชันนารีคริสเตียน เรามีข้อมูลการประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการจำนวนมากในการเดินทางครั้งนี้ เป็นการสนทนาปราศรัยมากถึง 48 ครั้งในสองเดือน การเดินทางไป ๆ มา ๆ ทั่วซีลอน การจัดการชุมนุมทั้งในเมืองและหมู่บ้าน บ่อยครั้งมีผู้เข้าร่วมเป็นพัน ๆ คน และยังมีบทสนทนาบางส่วนที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของผู้จัดงาน นอกจากนี้เรายังมีบันทึกของการตอบโต้จากสำนักพิมพ์ของอาณานิคมและมิชชันนารี นั่นคือ การถูกนักเคลื่อนไหวที่มีความอนุรักษ์นิยมมากกว่าตีตัวออกห่าง และยังมีสมุดโน้ตของเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับสั่งให้มาจับตาดูเขาอีกด้วย
เรายังมีไดอารี่ของธรรมปาละ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกับไดอารี่ของคนที่พยายามจะจัดทัวร์คอนเสิร์ตร็อคในทศวรรษ 1970 มีบันทึกเรื่องค่าใช้จ่ายและความกังวลของผู้จัดงานเมื่อนักปราศรัยตัวเต็งของเขาล้มป่วย มีบันทึกแสดงความยินดีเกี่ยวกับการตอบรับงานที่ดี ยอดขายหนังสือและยอดบริจาค ความอิจฉาริษยาในหมู่คณะทัวร์ ธัมมะโลกะตบะแตกและต้องใจเย็นลง และการแยกตัวออกไปอย่างกะทันหันของเขา เท่าที่ทราบเป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้ทัวร์จัดต่อไปได้
เรามีข้อมูลการโต้เถียงในสื่อเรื่องฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องให้มีการส่งธัมมะโลกะกลับประเทศ ในขณะที่ผู้สนับสนุนของธัมมะโลกะข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหารายงานเท็จ/กล่าวเกินจริง (misreporting) เรามีข้อมูลการอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์การเดินทางของธัมมะโลกะ รวมถึงหน่วยกลองแต๊กที่ส่งไปรบกวนงานประชุมกันไปมา เรามีข้อมูลตำรวจสายลับที่ถูกส่งไปบันทึกสิ่งที่ได้ยินและถูกท้าทายกลางโพเดียมต่อหน้าผู้คน ทั้งหมดนี้ดูคุ้น ๆ ชอบกลเมื่อมองจากมุมของการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน
คัมภีร์ไบเบิล ขวดเหล้า และปืนแกตลิ่ง
ในการสนทนาปราศรัยของเขา ธัมมะโลกะมักจะย้ำการวิเคราะห์ลัทธิล่าอาณานิคมของเขาเสมอว่าเป็นดั่ง “คัมภีร์ไบเบิล ขวดวิสกี้ และปืนแก๊ตลิ่ง” นั่นก็คือ คริสเตียนมิชชันนารี การล้างผลาญวัฒนธรรม และการยึดครองทางทหาร หากการงดดื่มของเมา (ตรงกันข้ามกับขวดเหล้า) ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง การต่อต้านของสาธารณชนต่อจักรวรรดิก็ย่อมเป็นการขบถอย่างแน่นอน การท้าทายมิชชันนารีคือการไต่ไปตามขอบเขตของสิ่งที่สามารถพูดและทำได้ เป็นตัวแทนของความขัดแย้งในวงกว้าง
นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้าง “ไอริช” เลยทีเดียว ศาสนาในไอร์แลนด์เป็นพื้นที่ ๆ ท้าทายจักรวรรดิมานานแล้ว ตั้งแต่แดเนียล โอคอนเนลล์ (Daniel O’Connell) จัดการในสิ่งที่เทอร์รี อีเกิลตัน (Terry Eagleton) เรียกว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมในแบบสมัยใหม่อย่างแท้จริงครั้งแรกเมื่อทศวรรษที่ 1820 ซึ่งเป็นการท้าทายระบบการเลือกปฏิบัติต่อชาวคาทอลิก เป็นระบบที่สนับสนุนนิกายแองกลิกัน (Anglican church) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองของอังกฤษ ทว่าก็เหมือนกับเจดีย์ชเวดากองเมื่อปี ค.ศ. 1901 จักรวรรดิไม่สามารถเหยียบย่ำศาสนาท้องถิ่นได้มากนักโดยไม่ถูกโต้กลับก่อน การปกป้องพุทธศาสนาจากคริสเตียนมิชชันนารีในพม่านั้นได้ผลพอ ๆ กับการปกป้องคาทอลิกจากโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์ ศาสนาท้องถิ่นเป็นภาษาแห่งการต่อต้านที่มีพลัง
งานของธัมมะโลกะส่วนหนึ่งคือการเผยแผ่แนวคิดอิสรภาพทางความคิด (แนวคิดอเทวนิยม) ของวัฒนธรรมชนชั้นแรงงานสุดขั้ว ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เดียวกันกับแรงงานอพยพในอเมริกาและกะลาสีเรือชาวอังกฤษ ผนวกรวมเข้ากับประวัติศาสตร์อันยาวนานของการท้าทายพระคัมภีร์บนพื้นฐานของความคงเส้นคงวา จริยธรรม และความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อเปิดโปงมิชชันนารีที่อ้างว่าจะนำทุกคนไปสู่ความหลุดพ้น ธัมมะโลกะได้เล่าเรื่องราวของชาวเมารี (Maori) ที่ได้รับคำแนะนำให้แหงนหน้ามองท้องฟ้าและอธิษฐาน และชาวเมารีตอบกลับมาว่า “เมื่อเรามองขึ้นไปและอธิษฐาน คุณก็ขโมยผืนดินใต้เท้าเราไป”
ดังที่จะเห็นได้ในงานเขียน Many-Headed Hydra ของไลน์บาก (Linebaugh) และเรดิเกอร์ (Rediker) นี่คือโลกของการต่อสู้และการโต้แย้งที่เชื่อมโยงถึงกันแบบข้ามชาติ เมื่อธัมมะโลกะถูกตัดสินโทษในข้อหายุยงปลุกปั่น เขาเขียนจดหมายไปถึงสำนักพิมพ์ Truth-Seeker ในนิวยอร์ค โดยแนบกระดาษข่าวที่ตัดมาจากหนังสือพิมพ์สภาแห่งชาติอินเดียซึ่งตีพิมพ์ในพม่า เราพบกระดาษเหล่านั้นในหนังสือพิมพ์อเทวนิยมมินนิอาโปลิส ซึ่งแปลเป็นภาษาสวีเดน เขาเขียนเอาไว้ว่า:
“ถ้ามิชชันนารีมีอำนาจขึ้นมา พวกเขาก็คงจะทำกับข้าพเจ้าเหมือนที่รัฐบาลสเปนทำกับฟรานเชส เฟอร์เรอร์ ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่ถูกปลิดชีพเพราะอุดมการณ์ของตนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1909”
เฟอร์เรอร์ (Francesc Ferrer) นักการศึกษาอนาธิปัตย์ถูกประหารชีวิตหลังเหตุการณ์ลุกฮือในบาร์เซโลนา นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันจะรำลึกถึงเขาโดยการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวอนาธิปไตยและสำนักคิดแห่งเสรีภาพทางความคิด ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันข้ามรัฐข้ามชาติ ในเครือข่ายอเทวนิยมอนาธิปไตยที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ตลอดจนเครือข่ายพุทธต่อต้านอาณานิคมหลากภาษาของธัมมะโลกะ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของโลกใบนี้
บทเรียนสำหรับวันนี้
เครือข่ายของผู้ไร้เสียงและการต่อสู้อันหลากหลายที่เชื่อมเข้าหากันเหล่านี้ช่วยพลิกโฉมโลกจักรวรรดิจากหน้ามือเป็นหลังมือ ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เอเชียและแอฟริกาอยู่ภายใต้จักรวรรดิยุโรปเกือบทั้งหมด ไม่กี่ทศวรรษถัดมาก็ปลดแอกเป็นรัฐชาติได้เกือบทั้งหมด เนื่องจากประชากรโลกร้อยละ 60 อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมจากล่างขึ้นบนครั้งใหญ่ที่สุดรอบร้อยปีที่ผ่านมา และควรค่าแก่การเรียนรู้ถ้าเราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับนี้อย่างจริงจัง หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่า เช่น การก้าวข้ามระบบทุนนิยม
ทว่าในสมัยของธัมมะโลกะ ก่อนที่ไอร์แลนด์จะได้รับเอกราชและก่อนที่จักรวรรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย และออตโตมัน จะล่มสลายลง ตอนนั้นมันก็ยังไม่ชัดเจนเหมือนกันว่า อนาคตหลังยุคจักรวรรดิจะมาในรูปของรัฐชาติที่เติบใหญ่ขึ้นมา นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พุทธศาสนา ซึ่งขยายไปสุดขอบสองด้านของเอเชียจากญี่ปุ่นไปยังซีลอน ในช่วงหนึ่งดูเหมือนเป็นเส้นทางสายหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ในแบบของตะวันตก (a non-western path to modernity)
ในตอนนั้นก็เช่นเดียวกันกับตอนนี้ การจินตนาการถึงอนาคตใหม่ ๆ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องยาก เราเห็นไม่ตรงกันว่าจะเดินไปในทิศทางไหน และมันก็มากเกินกว่าที่เราจะรู้ได้หมด ดังนั้น “อนาคตที่ถูกหลงลืม” ของการระดมมวลชนเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยในการรับมือกับความท้าทายที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ นั่นก็คือ การหาทางออกจากวิกฤตโคโรนาไวรัส การโค่นล้มลัทธิเสรีนิยมใหม่ การต่อสู้กับเผด็จการอำนาจนิยมที่กำลังผงาดขึ้นมา และการสร้างอนาคตเพื่อความอยู่รอด
ในยุคสมัยของพวกเขา นักเคลื่อนไหวอย่างธัมมะโลกะมีอิทธิพลในฐานะผู้จัดงานและสัญลักษณ์ของการต่อต้าน แต่จักรวรรดิเป็นเส้นขอบฟ้าที่ยากจะก้าวผ่านได้ ยุคสมัยถัดมา ขบวนการชาตินิยมทั่วโลกได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด และตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหามากมายที่พวกเขาทิ้งเอาไว้ ตั้งแต่พม่าและศรีลังกา ไปจนถึงไอร์แลนด์และแอฟริกาใต้
หากพิจารณาย้อนหลังแล้วเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แนวคิดรัฐเผด็จการอำนาจนิยมและลัทธิศาสนาชาติพันธุ์สุดโต่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เราเองก็สามารถเรียนรู้บางอย่างได้จากทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่า ซึ่งเป็นทางเลือกที่กลุ่มเหล่านี้ผลักไสไปอยู่ชายขอบ เราไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วความพยายามของเราจะสร้างความแตกต่าง แบบไหน ขึ้นมาภายในการเคลื่อนไหวของเราหรือต่อฝ่ายตรงข้ามของเราในวงกว้าง แต่เราก็มั่นใจขึ้นได้ ว่า มันจะสร้างความแตกต่างอย่างแน่นอน
สุดท้ายแล้ว จักรวรรดิก็พ่ายแพ้อย่างราบคาบจนไม่อาจเล่าเรื่องราวของความพ่ายแพ้นั้นได้โดยไม่กล่าวถึงรายละเอียดอันสลับซับซ้อนของโลกที่ราบเป็นหน้ากลองเสียก่อน และปฏิบัติการอันสร้างสรรค์ของการต่อสู้ต่อต้านอาณานิคมในระดับรากหญ้า ซึ่งประกอบไปด้วยชาติพันธุ์อันหลากหลาย ในตลอดศตวรรษที่ผ่านมานี่เองที่สามารถเอาชนะจักรวรรดิได้ในท้ายที่สุด
หากความสิ้นหวังในโลกปัจจุบันบอกกับเราว่า การจินตนาการถึงจุดจบของโลกยังง่ายกว่าการจินตนาการถึงจุดจบของระบบทุนนิยม ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1900 ตอนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่จะจินตนาการถึงโลกหลังการล่มสลายของจักรวรรดิ และกระนั้นเองมันก็เกิดขึ้นจนได้