จักรวรรดินิยมคือนโยบาย ปฏิบัติการ หรือการสนับสนุนให้มีการขยายอำนาจและการควบคุมไปสู่ภายนอก ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่รัฐ (ประเทศ) กระทำด้วยการยืดดินแดนโดยตรง หรือด้วยการได้มาซึ่งอำนาจควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจของพื้นที่อื่น ๆ เพื่อขูดรีดทรัพยากรกลับไปยังศูนย์กลางของจักรวรรดิ ยกตัวอย่างเช่น การที่อังกฤษมีอำนาจควบคุมอาณานิคมอินเดียทำให้อังกฤษสามารถรีดเค้นความมั่งคั่งของอินเดียและส่งกลับไปยังอังกฤษได้ ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้พลังอำนาจของระบบทุนนิยมแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มาร์กซ์ได้เขียน Das Kapital ขึ้น

จักรวรรดินิยมของทุกวันนี้ได้พัฒนาขึ้นจากปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ที่มีรากฐานมาจากลัทธิล่าอาณานิคม ทุกวันนี้เราจะเห็นตัวอย่างได้จากบริษัทเหมืองแร่ของอังกฤษที่ดำเนินกิจการในอินเดียและส่งผลกำไรกลับไปยังอังกฤษ ซึ่งไม่เหมือนเมื่อ 100 ปีก่อน การจะทำความเข้าใจจักรวรรดินิยม เราจำเป็นต้องใช้กรอบคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มองลึกลงไปอย่างถึงรากถึงโคน เช่น กรอบคิดแบบมาร์กซิสต์ (Marxism) ในทำนองเดียวกัน หากเราจะทำความเข้าใจระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 เราจำเป็นต้องเข้าใจลัทธิจักรวรรดินิยมด้วย จากมุมมองแบบมาร์กซิสต์ การต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมและการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมได้ก่อตัวขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่กว้างขวางยิ่งกว่า นั่นก็คือการต่อสู้ต่อต้านระบบทุนนิยมโลก

ลัทธิล่าอาณานิคม

ยุคที่ลัทธิอาณานิคมเฟื่องฟูอยู่ในประมาณช่วงปี ค.ศ. 1700 – 1950 ลัทธิล่าอาณานิคมขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อราว ๆ ปี ค.ศ. 1900 ในช่วงเวลาดังกล่าว คาดการณ์กันว่า ประชากรโลกประมาณ 70 % อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของจักรวรรดิอังกฤษ ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส 10 % ภายใต้การควบคุมของดัตช์ 9% และภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น 4%

จักรวรรดิถูกบริหารจัดการ (ปกครอง) โดยสั่งการจากสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นแผ่นดินแม่ การปกครองดังกล่าวเป็นไปได้ก็ด้วยพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างรัฐกับทุนนิยม ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลอังกฤษปกครองอาณาเขตทางกายภาพ เช่น อินเดียและกานา พร้อม ๆ กับที่บริษัทอังกฤษประสานงานขูดรีดทรัพยากร (สินค้า) โดยการขูดรีดแรงงานจากอาณาเขตเหล่านั้น รัฐบาลอังกฤษจะหักภาษีจากสินค้าเหล่านั้นเพื่อใช้เป็นทุนในการบริหารจัดการและการขยายจักรวรรดิต่อไป ในระบบอาณานิคมนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทุนนิยมและจักรวรรดินิยมเกี่ยวพันกันอย่างไร และทั้งคู่ต่างก็สนับสนุนและให้ความชอบธรรมซึ่งกันและกันอย่างไรบ้าง

เราดูตัวอย่างได้จากพัฒนาการของการล่าอาณานิคมอินเดีย:

ขั้นตอนที่ 1

คนงานชาวนาในอินเดียผลิตผ้าไหมให้เจ้าที่ดินศักดินาของพวกเขา →

พ่อค้าชาวอังกฤษเดินทางไปอินเดียเพื่อซื้อผ้าไหมจากเจ้าที่ดินศักดินาชาวอินเดีย→

พ่อค้าเดินทางกลับไปยังอังกฤษเพื่อขายผ้าไหม

*ใน ขั้นตอนที่ 1 เจ้าที่ดินศักดินาอินเดียก็รีดเค้นผลกำไรจากกระบวนการดังกล่าวเช่นกัน*

ขั้นตอนที่ 2

รัฐอังกฤษทำการขับไล่เจ้าที่ดินศักดินาชาวอินเดีย →

ที่ดินถูกแจกจ่าย ปล่อยเช่า หรือขายให้กับพ่อค้าชาวอังกฤษ →

ตอนนี้ คนงานชาวนาในอินเดียผลิตผ้าไหมให้พ่อค้าชาวอังกฤษ →

พ่อค้าส่งออกผ้าไหมกลับไปขายที่อังกฤษ →

ผลกำไรจากกระบวนการดังกล่าวจะถูกหักภาษีโดยรัฐอังกฤษ →

รัฐเอื้ออำนวยเปิดพรมแดนใหม่ ๆ ให้กับทุนต่อไป

ลัทธิล่าอาณานิคมผู้ตั้งถิ่นฐาน

จักรวรรดิอาณานิคมหลายรายไม่ได้แค่ใช้อำนาจบังคับอาณาบริเวณอื่น ๆ ผ่านการปกครองแบบอาณานิคมทางไกลเท่านั้น แต่ยังส่งคนของพวกเขาไป “ตั้งถิ่นฐาน” (settle the land) และขับไล่ชนพื้นเมืองเดิมออกโดยยึดที่ดินมาเป็นของตัวเองอีกด้วย สิ่งนี้เห็นได้ชัดในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา บ่อยครั้งก็มีการใช้แรงงานทาสในพื้นที่อาณานิคมแบบตั้งถิ่นฐานดังกล่าวด้วย ประเทศเหล่านี้ในปัจจุบัน ถูกครอบงำโดยกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชนพื้นเมือง (ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรป) ในขณะที่ชนพื้นเมือง เช่น ชนพื้นเมืองอเมริกัน ถูกขับไล่ และถูกพรากสิทธิ์พรากเสียงไปจนหมด หรือแม้แต่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเหล่าผู้ตั้งถิ่นฐาน 

เศรษฐกิจหลังยุคอาณานิคม

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ประเทศใต้อาณานิคมหลายแห่งเริ่มจัดตั้งขบวนการปลดแอกเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากการกดขี่ของเหล่าจักรวรรดิยุโรป หลังจากแรงกดดันท่วมท้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การปฏิวัติก็ปะทุขึ้นไปทั่วทั้งเอเชีย แอฟริกา แคริบเบียน และลาตินอเมริกา ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 อดีตประเทศใต้อาณานิคมส่วนใหญ่ได้ปลดแอกตัวเองสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ขบวนการปลดแอกได้ล้มล้างโครงสร้างการปกครองของอาณานิคมลง ระบบการขูดรีดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในระดับโลกส่วนมากก็ยังคงดำรงอยู่ นั่นก็ด้วยการผงาดขึ้นมาของสหรัฐฯ ในฐานะ “ผู้นำของโลกตะวันตก” (leader of the western world)

การครอบงำทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนี้เป็นไปได้ก็ด้วยการชักนำขบวนการเรียกร้องเอกราชโดยอดีตมหาอำนาจอาณานิคม โดยปกติแล้ว ขบวนการปลดปล่อยชนพื้นเมืองสุดขั้วจะจัดตั้งและปลุกปั่นเพื่อเรียกร้องอิสรภาพอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะเดียวกัน เจ้าอาณานิคมจะต่อรองอิสรภาพดังกล่าวกับกลุ่มที่แข็งข้อน้อยกว่าภายในประเทศนั้น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า สินทรัพย์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ภายหลังจากการปลดปล่อย สิ่งนี้เห็นได้ชัดตั้งแต่มาเลเซียไปจนถึงแซมเบีย

เหล่าอดีตประเทศใต้อาณานิคมที่ต้องการปลดแอกตัวเอง ต่างพากันจัดตั้งรัฐบาลสังคมนิยมและเข้ากุมบังเหียนเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง และไล่บริษัทตะวันตกออกไป ในภายหลังประเทศเหล่านี้ถูกเอาคืนอย่างรุนแรง คาดการณ์กันว่า สหรัฐฯ มีส่วนพัวพันในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างน้อย 81 ครั้งในต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 ถึง ค.ศ. 2000 อดีตจักรวรรดิอาณานิคมอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการกดขี่ทั่วโลกไม่แพ้กัน 

ตัวอย่างล่าสุดเกิดขึ้นในโบลิเวีย ที่ซึ่งพรรคสังคมนิยมได้รับเลือกตั้งและตั้งใจจะทำเหมืองลิเทียมให้กลายมาเป็นกิจการของรัฐ (nationalise) ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่ถูกขูดรีดอยู่เรื่อยมา สิ่งนี้จะป้องกันไม่ให้บริษัทต่างชาติเข้ามารีดเค้นผลกำไรจากการขุดเหมืองข้ามทวีปได้ กลับกัน ผลกำไรจะไปตกอยู่ที่รัฐบาลโบลิเวียแทน ซึ่งจะนำมาใช้จ่ายเป็นสวัสดิการและโครงการทางสังคมของพวกเขาเอง ลิเทียมเป็นสินค้าสำคัญในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ ดังนั้นหากชาวโบลิเวียสามารถควบคุมแหล่งอุปทานลิเทียมได้ พวกเขาก็จะสามารถขึ้นราคาและป้องกันเศรษฐกิจตัวเองจากสหรัฐอเมริกาได้ ในปี ค.ศ. 2019 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการทำรัฐประหารในโบลิเวีย ขับไล่รัฐบาลสังคมนิยมที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย และแทนที่ด้วยรัฐบาลอนุรักษ์นิยมขวาจัด ซึ่งไม่เป็นที่ชอบพอของประชาชนอย่างมาก

โครงสร้างอาณานิคมในยุคหลังอาณานิคม

แม้ว่าบางครั้งประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาจะใช้ทหารเข้าแทรกแซงโดยบุกรุกประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อขัดขวางการปลดปล่อยทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น เช่นการรุกรานเวียดนาม ทว่าบ่อยครั้งก็มีการจัดวางกลไกทางเศรษฐกิจและทางการทูตที่ซับซ้อนขึ้นมาเพื่อการันตีว่า การถ่ายโอนความมั่งคั่งจากอดีตประเทศใต้อาณานิคมในซีกโลกใต้ไปสู่อดีตจักรวรรดิและรัฐอาณานิคมผู้ตั้งถิ่นฐานในซีกโลกเหนือจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

สถาบันอย่างธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กระทำการต่าง ๆ เพื่อการันตีว่า กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งจะถูกทุกประเทศนำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งเป็นไปในทางบีบบังคับอย่างไม่มีทางเลือก โดยทั่วไปแล้วนี่หมายถึงการเปิดตลาดในประเทศให้บริษัทต่างชาติเข้ามาและปล่อยให้มีการขูดรีด เช่น การตั้งโรงงานนรกและการรีดเค้นทรัพยากรออกไปจำนวนมาก หากแข็งข้อไม่ทำตามสถาบันเหล่านี้ก็อาจโดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เหมือนในคิวบาและเวเนซุเอลาที่ถูกห้ามนำเข้าและส่งออกสินค้าบางประเภท กีดกันพวกเขาออกจากส่วนอื่น ๆ ของโลก และทำให้ประชาชนของสองประเทศนี้ขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก

ปฏิบัติการฉกฉวยอีกอย่างหนึ่งก็คือหนี้ระหว่างประเทศ โดยในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ตลาดล่ม สถาบันอย่าง IMF จะเข้ามาปล่อยกู้แก่ประเทศที่กำลังประสบวิกฤต ทว่าเงินกู้เหล่านี้ก็มาพร้อมเงื่อนไขที่เข้มงวด เช่น ต้องแปรรูปกิจการของรัฐให้กลายมาเป็นของเอกชน (privatisation) หรือต้องทำลายรัฐสวัสดิการภายในประเทศ และต้องเปิดเศรษฐกิจในประเทศให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปขูดรีดได้ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ถูกบีบให้ต้องยอมรับเงินกู้เหล่านี้เนื่องจากพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจโลกรูปแบบดังกล่าว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงบังคับใช้โดยอดีตมหาอำนาจอาณานิคม

อำนาจอ่อน

จักรวรรดินิยมยังบริหารจัดการตามโมเดลอำนาจอ่อนอีกด้วย นั่นก็คือ เมื่อนโยบายที่ไม่ใช่เชิงรุก (non-aggressive) หรือกระแสสังคมเป็นไปในทางที่สนับสนุนโครงการจักรวรรดินิยมไม่ว่าพวกเขาจะตระหนักรู้หรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรยืนกรานให้ผู้บริหารจัดการพื้นถิ่นในเขตใต้อาณานิคมของตนพูดภาษาอังกฤษและประพฤติปฏิบัติเหมือนคนอังกฤษ สิ่งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม “การทำให้ชนพื้นเมืองมีความเป็นอารยะ” (civilising the natives) นโยบายแนวนี้มีเชื้อไขแยกย่อยออกมาอีกมากมายในปัจจุบัน เช่น การที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง (lingua franca) ของโลกอย่างชัดเจน ซึ่งเอื้ออำนวยให้แก่อำนาจนำของสื่อตะวันตก วงการวิชาการ วิถีชีวิต และปรัชญา ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ สิ่งนี้ได้ส่งเสริมแนวความคิดที่ว่า ตะวันตกคือ ผู้นำแห่งอารยธรรม กระทั่งเป็นธรรมเนียมของคนไทยที่จะใช้ชื่อฝรั่งเมื่อไปต่างประเทศเพื่อให้ดูมีอารยะมากขึ้น

เมื่อสังเกตจากวัฒนธรรม ในภาพยนตร์อย่าง Top Gun หรือหนังของค่าย Marvel เราจะเห็นค่านิยมแบบทุนนิยมสุดขั้ว แสดงออกมาผ่านมุมมองตะวันตกซึ่งนับวันยิ่งเข้นข้นขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แนวคิดปัจเจกนิยม (individualism) ความเป็นลำดับขั้น (hierarchies) ลัทธิทหาร (militarism) ความเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ฯลฯ บ่อยครั้ง ตัวละครจักรวรรดินิยมร่วมสมัยเหล่านี้ เช่น ซูเปอร์ฮีโร่ ฮีโร่บู๊ล้างผลาญ หรือแม้แต่ทหารสหรัฐฯ ที่ปรากฏตัวออกมาโต้ง ๆ ถูกวาดภาพดั่งผู้พิทักษ์โลกที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา แต่เป็นสิ่งที่รับใช้ผลประโยชน์ของระบบทุนนิยมโลกในท้ายที่สุด การใช้อำนาจอ่อนในวิถีทางเช่นนี้แผ่ขยายไปทั่วทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และภาคประชาสังคม มันคือเหตุผลว่าทำไมค่านิยมของทุนนิยมตะวันตก เช่น เสรีภาพในการพูด จึงถูกทำให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ค่านิยมอย่างอิสรภาพจากการเป็นหนี้กลับถูกเพิกเฉย ในที่นี้เราไม่ได้บอกว่า ผู้กำกับฮอลลีวูดเป็นตัวแทนของลัทธิจักรวรรดินิยมที่ตระหนักรู้ในตัวเอง แต่เรากำลังบอกว่า ความสำเร็จของพวกเขาในตลาดวัฒนธรรมโลกเป็นผลโดยตรงจากลัทธิจักรวรรดินิยม ซึ่งก็ทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งให้แก่จักรวรรดินิยมไปพร้อม ๆ กัน

ลัทธิจักรวรรดินิยมท้องถิ่น

สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับว่า จักรวรรดินิยมไม่จำเป็นต้องเป็นโครงสร้างระดับโลกอย่างเดียว ย้อนกลับไปที่คำจำกัดความที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ จักรวรรดินิยมคือนโยบาย ปฏิบัติการ หรือการสนับสนุนให้มีการขยายอำนาจและการควบคุมไปสู่ภายนอก สิ่งนี้เกิดขึ้นภายในประเทศเดียวหรืออาณาเขตเดียวก็ได้ เป็นการนำโครงสร้างแบบเดียวกันที่กล่าวถึงข้างต้นมาใช้ เช่น อำนาจควบคุมของกรุงเทพฯ เหนืออีสานหรือปาตานี

กระแสทุนไหลไปยังซีกโลกเหนือ

ในขณะที่มีเศรษฐี มหาเศรษฐี และนายทุนที่ฉ้อฉลมากมายในอดีตประเทศใต้อาณานิคมและซีกโลกใต้ ท้ายที่สุดแล้วหากเราดูที่โครงสร้างทุนโลก จะเห็นได้ชัดเจนว่า สุดท้ายความมั่งคั่งก็ยังคงมุ่งหน้าไปยังอดีตเจ้าอาณานิคมและผู้รับช่วงต่อของประเทศเหล่านั้นในซีกโลกเหนือ ตัวอย่างเช่น ภาคบริการทางการเงินขนาดใหญ่และธนาคารของสหราชอาณาจักรซึ่งคุ้มกันทุนโลกเอาไว้มหาศาล เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นซากเดนของจักรวรรดิที่ยังคงไม่ได้ตายจากไปไหน เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่ทั่วโลกทุกวันนี้