[ขอบคุณภาพปกจาก ไทยรัฐ]
ผู้เขียน ice_rockster
บรรณาธิการ Peam Pooyongyut
นักเรียนไทยนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นักเรียนหญิงต้องไว้ผมสั้น ส่วนนักเรียนชายต้องไว้ผมเกรียน เป็นมาตรฐานที่กำหนดบรรทัดฐานของการกระทำหรือพฤติกรรมหนึ่งๆ ของนักเรียน กล่าวคือ แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่บ่งบอกว่าการกระทำใดถูกหรือผิด แต่หากนักเรียนทำผิด ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ของความเป็นนักเรียนไทย พวกเขาก็ผิดทันที และครูจะสามารถลงโทษได้อย่างมีความชอบธรรม โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ใดมารองรับเช่นกัน
ล่าสุดการพร้อมใจกันชูสามนิ้ว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง เรียงชิดติดกันขึ้นบนฟ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์บางอย่างให้รู้ว่าเหล่านักเรียนนั้นไม่ยอมจำนนกับอำนาจกดขี่ใดๆ ไม่ว่าลักษณะการชูสามนิ้วจะมีความหมายที่เหมือนหรือต่างกับภาพยนตร์ The Hunger Game จตุรภาคหรือไม่ เพราะความหมายที่นักเรียนเหล่านั้นต้องการสื่อคือ ไม่ยอมรับอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับประเทศ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่ความเป็นเผด็จการในการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ที่ทำให้เกิดการชุมนุมหลายต่อหลายครั้งอย่างที่ผ่านมา หากแต่ยังมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมเผด็จการในโรงเรียนของนักเรียนในประเทศไทย คือการที่ครูของพวกเขาเกิดอาการต่อต้านการชูสามนิ้วของนักเรียน ทั้งที่การกระทำเหล่านั้นไม่ได้ผิดกฎเกณฑ์ใดๆ รวมไปถึงกฎหมายบ้านเมือง
ครูของพวกเขารู้สึกไม่พอใจอย่างมากเมื่อได้เห็นภาพนักเรียนเหล่านั้นเปล่งเสียงร้องเพลงชาติไทยด้วยความภาคภูมิใจและฮึกเหิม มันอาจเป็นการร้องเพลงชาติไทยที่แสดงถึงพลังของเนื้อร้องและทำนองของเพลงชาติไทยออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยมที่สุดในชีวิตของพวกเขาเลยก็ได้
“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” “เป็นประชารัฐ” “ไผท ของไทยทุกส่วน” เนื้อเพลงที่ทุกคนต่างร้องได้ ได้ยินเพลงนี้วันละสองครั้งไม่ว่าจะในทีวีหรือหน้าเสาธง หรือแม้แต่การสอบร้องเพลงชาติไทยในวิชาดนตรี-นาฏศิลป์ของโรงเรียนเอง ต่างคนก็ไม่ได้สนใจเนื้อร้องนัก เพราะการได้ยินสิ่งเดิมทุกวันย่อมทำให้ชินชา แต่การร้องเพลงนี้พร้อมกับการชูสามนิ้วเพื่อบ่งบอกเป็นสัญญะว่าเราจะไม่ก้มหัวยอมให้กับอำนาจอีกแล้ว ประกอบกับเนื้อเพลง “เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่” มันคือท่อนที่แสดงให้เห็นว่า เราจะไม่ยอมให้ใครมาข่มเหง เราจะไม่ยอมให้อำนาจของใครมากดขี่
“สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี” คือจะยอมสละทุกสิ่งเพื่อ ‘ชาติ’ ซึ่งหมายถึง ‘ประชาชน’ หมายถึง ‘เราทุกคน’ เรา ที่ยืนอยู่หน้าเสาธง เรา ที่ถูกกดขี่ด้วยอำนาจนิยม เรา ที่ถูกข่มเหงด้วยระบบเผด็จการและความอยุติธรรม
อารมณ์ของเหล่านักเรียนที่ชูสามนิ้ว จึงเป็นอารมณ์แห่งความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ที่รัฐพยายามจะสร้าง พยายามที่จะฝังหัวนักเรียนว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ต้องไว้ผมสั้น ต้องใส่ถุงเท้าดึงสูง ต้องใส่เสื้อเข้าในกางเกง ต้องนั่งฟังครูโดยไม่โต้เถียง ต้องยอมกับเรื่องไม่มีเหตุผลเพียงเพราะผู้ใหญ่สั่งให้ทำ ต้องนั่งคุกเข่ากับพื้นร้อนๆ กลางแดดเพราะคุยเสียงดัง ต้องโดนทำร้ายร่างกายด้วยไม้เรียวเพราะทำผิด หรือแม้แต่จะต้องโดนลงโทษทางวินัยอย่างการทำทัณฑ์บนหรือไล่ออก
เมื่อปรากฏการณ์การชูสามนิ้วเกิดขึ้นต่อหน้าครูผู้ควบคุมอำนาจนั้น จึงไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลหรือกฎระเบียบใดๆ เพื่อมารองรับว่านักเรียนทำผิดเลย สิ่งเดียวที่เป็นสาเหตุให้ครูกล้าเข้าไปโจมตีนักเรียนได้ก็คือ ‘นักเรียนไม่ปฏิบัติตัวตามลักษณะในอุดมคติ’ ดังนั้น ครูจึงมีความชอบธรรมทุกอย่างในการทำโทษ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ข้ออ้างต่างๆ ที่ครูใช้ไม่ว่าจะเป็น อยากให้นักเรียนได้ดี อยากให้นักเรียนมีระเบียบวินัย อยากให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ อยากให้เติบโตไปเป็นคนมีคุณธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และมักจะถูกสวนกลับด้วยคำตอบที่ว่า
“ผม/หนู/ดิฉัน ชูสามนิ้วแล้วจะเป็นคนไม่ดี/ไม่มีระเบียบวินัยได้อย่างไร?”
สิ่งที่ได้รับการตอบกลับมาก็คือ “เธอมันก้าวร้าว” ซึ่งไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ กับคำถามของคนคนเดียวกันก่อนหน้าเลยทั้งสิ้น
เป็นเพราะเหตุใด? เพราะเรายังใช้เหตุผลกันไม่มากพอหรือ? หรือเรายังด้อยวุฒิภาวะเกินกว่าจะเข้าใจผู้ใหญ่? หรือผู้ใหญ่มีความรู้และคุณธรรมมากกว่าเรา? ทั้งหมดนี้ เราไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยเหตุผล เพราะคนที่คุยอยู่กับเราไม่ได้ใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง แต่เขาใช้การเปรียบเทียบกับ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ และใช้อำนาจผ่านความชอบธรรมของ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ นี้เพื่อลงโทษนักเรียนที่มี ‘คุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์’
หากจะกล่าวถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ก็คงจะเป็นส่วนหนึ่งในลักษณะในอุดมคติที่เป็นนามธรรม แต่มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครแตะต้องได้ และมีความอันตรายอย่างมาก สิ่งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานที่ชี้ถูกชี้ผิดให้กับการกระทำ บุคลิกภาพ การวางตัว ไปจนถึงอุปนิสัยของนักเรียน
คุณลักษณะอันพึงประสงค์นี้ ได้สถาปนาการควบคุมนักเรียนขึ้นมา ตั้งแต่การแสดงออกซึ่งเป็นการกระทำภายนอกร่างกาย ไปจนถึงอุปนิสัยภายในร่างกาย เช่น การทักทายเคารพผู้ใหญ่ จะต้องไหว้ ต้องก้มหัวเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ จะต้องหยุดให้ผู้ใหญ่เดินก่อน ตลอดจนการแต่งกาย ต้องรีดเสื้อ ชายเสื้อต้องอยู่ในกางเกง ถุงเท้าต้องดึงขึ้น รองเท้าต้องหุ้มส้น ส่วนด้านนิสัยใจคอก็ต้องเป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะเสนาะหู ไม่พูดคำหยาบ เป็นต้น โรงเรียนจึงเป็นที่บ่มเพาะและผลิตคนที่มี ‘ลักษณะในอุดมคติ’ และพยายามควบคุมให้เป็นเช่นนั้นต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่แย่กว่าคือมันกลายเป็นสังคมอุดมอำนาจ ที่ให้ความชอบธรรมแก่ครูในการลงทัณฑ์โดยวิธีใดก็ได้โดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ เช่น การตัดผมนักเรียนทั้งชายและหญิงเมื่อพบว่าทรงผมของพวกเขาผิดระเบียบ อันที่จริงกฎระเบียบว่าด้วยทรงผมก็เปลี่ยนมานานแล้ว แต่บังเอิญว่าตัวกฎระเบียบเองก็ไม่ถูกต้องตาม ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ครูจึงสามารถลงโทษนักเรียนได้ตามที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสม ไม่มีใครเอาผิดครูที่ตัดผมนักเรียนได้ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม
‘คุณลักษณะอันพึงประสงค์’ และ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ นี้ จึงสถาปนา ‘ความผิดที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์’ ขึ้น มันเป็นความผิดที่ไม่ต้องอิงอยู่กับกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรใด ไม่ต้องอิงกับเหตุผลใด ไม่ต้องอิงกับบริบททางประวัติศาสตร์ใด เพราะประวัติศาสตร์เองก็อาจจะย้อนกลับมาเป็นคำตอบที่เปิดโปงความไม่สมเหตุสมผลที่ไม่ต่อเนื่องของลักษณะในอุดมคติ
เรายังคงไม่ลืมเหตุการณ์ที่รองผู้อำนวยการคนหนึ่ง ออกมาตบหัวนักเรียนชายที่เป็นแกนนำประท้วงเรื่องค่าส่งข้อความโทรศัพท์หรือ SMS ของโรงเรียน เนื่องจากนักเรียนไม่สมัครใจแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว เราคงสงสัยว่าอะไรทำให้รองผู้อำนวยการท่านนั้นกล้าทำร้ายร่างกายนักเรียน เป็นเพราะนักเรียนคนนั้น ‘ก้าวร้าว’ หรือไม่?
นักเรียนคนนั้น ‘พูดเสียงดังใส่ครู’ หรือไม่?
นักเรียนคนนั้น ‘ทำผิดกฎระเบียบ’ หรือไม่?
หรือนักเรียนคนนั้นไม่ทำตัวให้อยู่ภายใต้ ‘ลักษณะในอุดมคติ?’
อนึ่ง ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนสุภาพและนอบน้อบกับครูมาโดยตลอด มีความคิดและทัศนคติที่ดีต่อครูมาโดยตลอด และรักครูทุกคนที่เคยทำหน้าที่สอนผู้เขียนมา ผู้เขียนยังชอบแต่งตัวเรียบร้อย ใส่ชายเสื้อในกางเกง และดึงถุงเท้าขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่จะมีการใช้อำนาจบังคับให้คนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎเกณฑ์เหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม และต้องถูกบังคับให้ คิด ว่ามันเป็นสิ่งถูกต้อง ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้ใครต้องมาทำตาม ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ของใคร โดยเฉพาะของโรงเรียนหรือครู สถานที่และอาชีพที่ผู้เขียนรักและชื่นชมมากที่สุด แม้จะไม่เท่ากับบ้าน เพราะโรงเรียนเป็นที่ที่ควรจะเปิดกว้างให้นักเรียนได้แสดงออก ค้นหาตัวเอง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีของชีวิต ไม่ใช่สถานที่ที่พร้อมจะมาเพื่อถูกตำหนิ หรือถูกสอดส่องมองหาข้อบกพร่องในตัวนักเรียนอยู่ตลอดเวลา
โรงเรียนไม่ใช่ทัณฑสถาน นักเรียนไม่ใช่นักโทษ นักเรียนเป็นประชาชน และประชาชนมีเสรีภาพ
ผู้เขียนได้เห็นตัวแทนของกลุ่ม นักเรียนเลว ไปออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เขาได้กล่าวถึงการที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบของโรงเรียน และต้องทำตาม ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ตั้งแต่การแต่งกายไปจนถึงทรงผม เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับลักษณะในอุดมคติ ถามหาถึงเหตุผลที่ครูขัดขวางและคุกคามนักเรียนที่ชูสามนิ้วในวันก่อนหน้าที่จะออกรายการ แต่ไฉนในวันถัดมา โรงเรียนจึงไม่อนุญาตให้เคารพธงชาติ ไม่ต้องร้องเพลงชาติ เพียงเพราะว่าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ชูสามนิ้วขึ้น แล้วเขาก็ถามว่า สรุปแล้วเหตุผลคืออะไร หรือระบบอำนาจมันยอมสละการเคารพธงชาติเพียงเพราะไม่ต้องการให้เกิดการแสดงพลังในการชูสามนิ้วหรือ?
ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่มันเป็นเรื่องของคุณค่า และการให้คุณค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ การชูสามนิ้ว หรือจะชูนิ้วเดียว หรือจะเป็นเพียงแค่การยกกำปั้น หรือพรุ่งนี้นักเรียนอาจจะเปลี่ยนเป็นการไหว้ หรือการก้มกราบพร้อมกันในระหว่างการร้องเพลงชาติ การสวดมนต์ หรือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อลักษณะในอุดมคติ และกลายเป็นคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์ไปโดยปริยาย
ไม่มีเหตุผล
ไม่มีความคิด
ไม่มีความรู้
มีแต่ความรุนแรงในคราบของอำนาจนิยมเผด็จการ
การสถาปนาความผิดที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์นี้ จึงสร้างความชอบธรรมให้กับความเป็นเผด็จการ เพราะเมื่ออยู่เหนือกฎเกณฑ์แล้ว กฎระเบียบและกฎหมาย ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
“เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย”
III.