ผู้เขียน Gabriel Ernst
ผู้แปล Warisa Sukkumnoed
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
ภาพยนตร์ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015) ที่กำกับโดย นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ เป็นตัวอย่างที่หาได้ยากของภาพยนตร์ไทยที่มีเนื้อหาแบบมาร์กซิสต์ โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แฝงไปด้วยมุมมองการวิพากษ์ต่อระบบทุนนิยมและจริยศาสตร์การทำงานแบบโปรแตสแตนท์แบบมาร์กซิสต์ที่เราทั้งแบบแนบเนียนและตรงไปตรงมา
ด้วยนักแสดงอย่าง ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, ดาวิกา โฮร์เน่ และ วิโอเลต วอเทียร์ ความคาดหวังต่อภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมักจะเป็นในรูปแบบของความโรแมนติกแบบน่ารักและแปลกตา แต่หนังเรื่องฟรีแลนซ์กลับพาเราสำรวจถึงเส้นทางที่โหดร้ายและตรงไปตรงมาของความทุกข์ทรมานในระบบทุนนิยม และความจริงที่เจ็บปวดของการแข่งขันในระบบตลาด
คำเตือน: มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน
ยุ่น ตัวเอกของเรื่องที่แสดงโดยซันนี่ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์รับจ้างฝีมือดีที่ต้องทำงานที่เจ๋ (แสดงโดย วิโอเลต วอร์เทียร์) ผู้จัดการของเขามอบหมายให้ให้ทันเวลา งานที่เพิ่มขึ้นจนล้นมือทำให้ สุขภาพของยุ่นค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ จนเกิดเป็นผื่นจากความเครียดที่กระจายไปทั่วร่างกาย ยุ่นได้ไปพบหมอที่โรงพยาบาลเอกชนเพื่อที่จะหาทางรักษา แต่ด้วยราคานั้นแพงเกินกว่าเงินในกระเป๋าที่เขามี เขาจึงเปลี่ยนไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ ที่ทำให้เขาได้พบกับหมออิม (แสดงโดยดาวิกา)
จากภาพความเป็นจริงที่สะท้อนออกมาในภาพยนตร์ โรงพยาบาลรัฐนั้นแออัดและมีความเป็นลำดับขั้นสูงที่แสดงออกผ่านการรอเข้ารักษาเป็นเวลานาน หลังจากการรักษาผ่านไปในอีกไม่กี่เดือนต่อมา หมออิมได้รักษาผื่นของเขา ซึ่งได้แสดงความเป็นห่วงอย่างจริงใจต่อสุขภาพของเขา และแนะนำเขาว่าภาระงานที่หนักเกินไปของเขาอาจทำให้เขาตายได้ แต่ยุ่นยังคงยืนกรานอยู่ตลอดว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากการรับงานที่หนักเหล่านั้น ซึ่งถ้าเขาปล่อยงานผ่านไปงานจะไม่กลับมาหาเขาอีกแล้ว ยุ่นเป็นตัวอย่างของแรงงานทาสในระบบตลาด ที่ค่าจ้างที่ค่อนข้างสูงไม่สามารถทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้เพราะเขาไม่สามารถใช้มันในการหาความสุขให้ตัวเองได้ เนื่องจากงานที่หนัก
เมื่อภาพยนตร์ได้เล่าถึงความรักที่กำลังเบ่งบานมากขึ้นระหว่างยุ่นและหมออิม (ซึ่งถูกโฆษณาในตอนแรกว่าเป็นพล็อตหลักของเรื่อง) ยุ่นก็เริ่มที่จะดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งการจัดเวลานอนด้วยตัวเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย
เจ๋ ผู้จัดการของเขา ก็เผชิญกับสภาวะเดียวกันกับเขาที่เครียดและอยู่ใต้ความกดดันอยู่ตลอดเวลา เจ๋มีวิธีคิดเช่นเดียวกับยุ่น คือ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” เธอจึงพยายามเร่งยุ่นเรื่อยๆ นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์พยายามพาเราสำรวจแนวคิดจริยศาสตร์การทำงานแบบโปรแตสแตนท์อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นแนวคิดของคาล์วินนิสต์ว่าด้วยการทำงานคือการช่วยให้มนุษย์ไถ่บาป เพราะเราจะพบเป้าหมายทางจิตวิญญาณของชีวิตผ่านการทำงาน วิธีคิดนี้ ซึ่งเกิดขึ้น ณ โลกโปรแตสแตนท์ฝั่งตะวันตกที่ถูกใช้ในการอธิบายและผสานกันอย่างลงตัวกับทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ของโลกฝั่งตะวันตกจนถึงจุดที่แทรกซึมเข้าไปทั่วสังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่อยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม หรือแม้แต่ไม่มีศาสนาเลย ยุ่นถูกมองว่าเป็นศาสนิกชนที่เคร่งครัดต่ออุดมการณ์ โดยไม่ได้มีการพินิจพิจารณาหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ
วงจรอุบาทของการทำงานที่นำไปสู่งานที่มากขึ้นเรื่อยๆได้ถึงจุดจบของยุ่นเมื่อเขาทำงานหนักเกินไป จนตัดต่อรูปผิดพลาด และทำให้ไม่ได้รับการจ้างงาน งานของเขาที่หายไปอย่างไม่ทันตั้งตัวกลับไปตกอยู่ในมือของรุ่นน้องที่มีความกระตือรือร้นมากกว่า ส่วนเขาก็ถือเอาเวลาที่เขาว่างงานไปดูแลสุขภาพตัวเอง ถึงกระนั้นช่วงเวลาพักผ่อนของเขาก็ไม่ได้อยู่ตลอดไป เพราะอยู่ดีๆเขาก็ได้รับงานใหญ่และเงินดี ซึ่งโอกาสในการทำงานที่ผู้จ้างบอกเขาว่าจะพัฒนาตัวเขาให้ก้าวข้ามจากข้อผิดพลาดเดิมๆ
เมื่อยุ่นรับงาน เขาก็เริ่มทำงานอย่างบ้าระห่ำ และไม่สนใจในสิ่งที่หมออิมเคยแนะนำ หลังจาก 6 วันของการทำงานโดยไม่หยุดพัก ยุ่นล้มลง และเผชิญกับอาการหัวใจวาย ณ เวลานั้น ภาพงานศพของเขาก็ผุดขึ้นมา ทำให้เขารู้ว่ามีเพื่อนไม่กี่คนและคนที่เขารักที่ห่วงใยเขา มันคือช่วงเวลาที่ยุ่นเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตตัวเอง และรู้ตัวว่างานของเขามันไม่ได้มีค่าเท่าชีวิตของเขา
เมื่อเขาตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาล สิ่งแรกที่ยุ่นเห็นคือผู้จ้างวางคอมพิวเตอร์ไว้บนโตะเสิร์ฟอาหารบนเตียงที่เขานอนอยู่ และบังคับให้เขาทำงานต่อแม้ว่าเขาจะอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม ยุ่นปฏิเสธการทำงาน ณ จุดนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเขาพยายามหาความหมายของการทำงาน เขากลับไม่พบเจอความหมายอะไรให้เลย แต่กลับเป็นความหมายของการค้นหาและพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมและความรัก การดูแลตัวเอง และการรักษาสุขภาพ นี่คือวินาทีอันทรงพลังของการต่อต้านทุนนิยมเมื่อยุ่นหันหลังให้กับการสะสมทุนที่ไม่หยุดนิ่งของความมั่งคั่งและการทำงานเพื่อ ‘หาความหมายของชีวิต’ แต่เขาได้เลือกวิธีการไถ่บาปวิธีอื่นแทน
แม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ได้พูดถึงมาร์กซิสต์แบบตรงๆ แต่มันก็พาเราไปสำรวจข้อวิพากษ์ของมาร์กซิสต์หลายประการที่มีต่อระบบทุนนิยม นี่เป็นความตั้งใจหรือไม่ผมไม่อาจทราบได้ แต่แน่นอนว่ามันคือภาพยนตร์ที่สามารถใช้ในการแสดงให้เห็นถึงความจริงอันโหดร้ายและทารุณของสังคมที่ถูกขับเคลื่อนโดยการโหยหากำไร ที่ความหมายของชีวิตถูกกำหนดแค่โดยการทำงานและผลประโยชน์ต่อระบบทุนนิยม
คะแนน: 8/10