*บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ผู้ให้สัมภาษณ์จะลาสิกขาออกจากการเป็นสามเณร
อยากให้ช่วยเล่าแบ็กกราวด์ และเริ่มต้นสนใจมาร์กซิสต์ได้อย่างไร
การที่เราสนใจอะไรสักอย่างนั้น เรามักจะมีอดีตที่ทำให้เราเห็นและสัมผัสความจริงกับสิ่งที่เราประสบ คำถามนี้ทำให้หวนคำนึงถึงความหลังวันที่ยังเป็นเด็ก ในช่วงปี 2542 ที่ข้าพเจ้าเกิดนั้น เป็นช่วงก่อนยุคทองของเศรษกิจแบบทุนนิยมของทักษิณ ทำให้พ่อแม่ของข้าพเจ้าเริ่มทำงานได้อย่างสบายและมีแผนร่วมกันว่าจะทำรถรับส่งนักเรียน เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคงและสัมพันธ์กับนโยบายของทักษิณคือการเรียนฟรี 15 ปี ทำให้เด็กนักเรียนมีอัตราเพิ่มขึ้นเพราะมีโอกาสในการศึกษา แต่พอพ่อของข้าพเจ้าป่วยด้วยโรคประจำตัวและเสียชีวิตไป ทำให้แม่ต้องเป็นเสาหลักในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว สิ่งเหล่านี้ทำให้ฝันที่จะมีครอบครัวแสนสุขของพวกเรานั้นต้องสลายไป ประกอบกับมีเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 ที่โลกกำลังสดใสมันจะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว ปัญหาต่าง ๆ เริ่มประเดประดังเข้ามา กองทุนเงินล้านที่ต้องจ่ายค่างวดรถที่ดาวน์จากร้านก็ติดขัดเพราะรัฐประหาร ทำให้แม่ต้องไปขายแรงงานที่กรุงเทพฯ ธุรกิจที่รถรับส่งนักเรียนก็มีคนชิงทำไปแล้ว
จนมาถึงตอนที่ข้าพเจ้าจบมัธยมก็ต้องเลือกว่าจะเรียนต่อหรือจะให้น้องผู้หญิงได้เรียน หากข้าพเจ้าเรียนโรงเรียนรัฐน้องของข้าพเจ้าก็จะไม่ได้เรียน จากที่ข้าพเจ้าได้รับทุนจากโรงเรียนกีฬาจังหวัดเชียงรายทำให้ข้าพเจ้ายังไม่ท้อใจ เพราะข้าพเจ้าคิดว่าตนเองจะต้องส่งตัวเองเรียนได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินพ่อแม่ ข้าพเจ้าจะรับจ้างขายแรงงาน เอาผลไม้ในสวนไปขาย รับยกของร้านขายของประจำหมู่บ้าน ซึ่งก็ทำให้ข้าพเจ้ามีเงินเก็บประมาณหนึ่ง แต่มาถึงตอนที่จบชั้นประถมข้าพเจ้าจำเป็นต้องทิ้งความฝันเพื่อให้น้องได้เรียนต่อ ความฝันที่อยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพสลายไปเป็นฝุ่นผง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกับสภาวะจิตของข้าพเจ้าอย่างมาก แต่โลกก็ยังปราณีอยู่บ้าง เพราะวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากใครเป็นลูกคนจน เราจะมีค่านิยมส่งให้ลูกบวชเรียน แต่ก็บวชได้เฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นไม่มีสิทธิ์ได้บวชเรียนอย่างผู้ชาย ทำให้ข้าพเจ้าต้องเสียสละให้น้องข้าพเจ้าได้เรียนในโรงเรียนเพื่อโอกาสที่ดีกว่า อย่างน้อยๆ สองพี่น้องเราก็ได้เรียนกันทั้งคู่ ความฝันของข้าพเจ้ายังเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น
หลังจากการบวชเรียนในโรงเรียนวัดจนข้าพเจ้ามาสอบเข้ามหาวิทยาลัยมหิดล ข้าพเจ้าได้ซื้อหนังสือ Introduction Marxism ของ Peter Singer แน่นอนว่าร้านหนังสือในชนบทจะไม่มีหนังสือเหล่านี้ขาย จะมีก็แต่หนังสือประเภท 100 เคล็ดลับในการประสบความสำเร็จ หนังสือติวเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หรือหนังสือการ์ตูน ซึ่งIntroduction Marxism ของ Peter Singer นั้นเป็นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการหักมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) ของแรงงาน ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังอ่าน มือและตัวของข้าพเจ้าสั่นเทาไปทั้งตัว หนังสือเล่มนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงตอนเด็กที่ไปใช้แรงทั้งวันและได้ค่าแรงเพียงวันละ 150 บาท นั่นก็คิดว่าเยอะแล้ว ทว่านายทุนแทบไม่ต้องทำอะไรเลยแต่ได้กำไรจากเราไปและอยู่ได้เป็นสามสี่ปี มันได้เท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่ตายายของข้าพเจ้าปลูกข้าวดำนาแล้วขายข้าวได้ราคาเพียงน้อยนิด ของแพงแต่ค่าแรงคงที่ จะขอขึ้นค่าแรงก็แสดงท่าทีรำคาญ พวกนายทุนนี่มันอหังการอย่างมาก มันไม่แม้แต่จะรู้จักพลังของกรรมกร หลายครั้งที่เหล่าผู้คนพูดถึงการประหยัดอดออม ซื่อสัตย์และอดทน สิ่งเหล่านี้คือถ้อยคำหลอกลวง ภายในใจของข้าพเจ้าเหมือนถูกหลอกด้วยถ้อยคำเหล่านี้มาตลอด ที่ผ่านมาสภาวะจิตหรือประสบการณ์ทั้งชีวิตของข้าพเจ้าเหมือนเป็นดั่งเบ้าหลอมแต่แค่ขาดแม่พิมพ์ที่จะกำกับว่าข้าพเจ้าจะเป็นรูปพิมพ์อะไร จนได้มาอ่านงาน Marxist และพบเจอสหายร่วมอุดมการณ์ ข้าพเจ้าเจอสหายคนแรกคือสหายใบไหม เธอเป็นนักแปลที่สำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน ข้าพเจ้าไปงานกิจกรรม 13 ปี รัฐประหาร’49 ก้าวพ้นหรือย่ำวนในวงจรของทรราชย์ ? สหายเธอยืนขายหนังสือ “คอมมิวนิสต์สำหรับสหายน้อย” ทำให้เราอยากอ่านและทำความเข้าใจอุดมการณ์มากกว่าจะคิดว่ามันคือปีศาจร้ายที่สังคมไทยกลัวกัน รวมไปถึงหนังสือของ Peter Singer ซึ่งอ่านยากมากในช่วงแรกเพราะพูดถึงอภิปรัชญาและประวัติศาสตร์ค่อนข้างเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ข้าพเจ้าพบจุดเชื่อมระหว่างหนังสือของ Peter Singer และคอมมิวนิสม์สำหรับสหายน้อย นั่นก็คือ การกดขี่ผู้ใช้แรงงานอย่างเรา เพื่อนของเรา พ่อแม่เรา หรือเพื่อนข้างบ้านของเราทั้งนั้น หลังจากนั้นด้วยความด้อยภาษาอังกฤษของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าอ่านหนังสือต่างชาติไม่ออก แต่ข้าพเจ้าก็มีพื้นฐานทางด้านปรัชญาและภววิทยามาแล้ว ข้าพเจ้าเลยอ่านแต่หนังสือแปล อย่าง Autonomia, Conatus และติดตามอ่านคอนเทนต์ในเพจ TUMS Thammasat University Marxism Studies. ทำให้ความคิดของข้าพเจ้าเจนจัดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ข้าพเจ้าสนใจ Marxists มากขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับสหายแล้ว มาร์กซิสม์กับพุทธศาสนามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร
จากการตีความพุทธศาสนาตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ ศาสนาพุทธกับมาร์กซิสม์นั้นมีความสัมพันธ์กันในแง่ของอภิปรัชญา ก็คือในการอธิบายแก่นสารของความเป็นมนุษย์ ว่าองค์ประกอบของมนุษย์มีอะไรบ้าง เช่น อย่างมาร์กซิสต์บอกว่าคนเราทุกคนคือแรงงาน แต่ศาสนาพุทธอธิบายในอภิธรรมว่าแก่นสารของมนุษย์นั้นมีเพียงอุปาทายะรูป คือ ประสาทสัมผัสทั้งห้า 1. จักขุ (ตา) 2. โสต (หู) 3. ฆาน (จมูก) 4. ชิวหา (ลิ้น) 5. กาย (ร่างกาย) และคนมักจะตั้งคำถามว่า แล้วคนที่พิการทางร่างกายล่ะ จะเป็นอย่างไรหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ จะสามารถบรรลุธรรมได้ไหม จริงๆ แล้วในทางอภิปรัชญา พุทธศาสนาก็วิเคราะห์ไปลึกกว่าเรื่องของประสาทสัมผัสทั้งห้า คือการพิจารณาให้ลึกไปถึงธาตุ 4 คือ มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (The four principle elements) คือมีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ยกตัวอย่างเช่น ธาตุดินคือกระดูกหรือเนื้อหนังมังสาของเราที่ห่อหุ่มร่างกาย ธาตุน้ำเปรียบเหมือนเลือดของที่หล่อเลี้ยงวนเวียนในร่างกายของเราเอาไว้หากขาดมันเราก็ตาย ธาตุลมคืออากาศหรือช่องไหลเวียนผ่านไปได้ ธาตุไฟหมายถึงอุณหภูมิข้างในตัวมนุษย์ที่มีอุณหภูมิปกติ หากเย็นก็ทำให้เราเป็นหวัดได้ หากร้อนไปก็ทำให้เราเป็นไข้เกินไป ซึ่งสภาวะนี้เป็นสภาวะที่สร้างสมดุลให้กับชีวิตของเรา
หากเราดูปัญหาข้างต้นที่ว่าคนพิการนี้นับว่าเป็นคนแล้วหรือยัง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมหาภูตรูปแล้ว คนพิการนั้นก็ยังมีความเป็นคน ที่อาจมีธาตุบางอย่างน้อยกว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการบรรลุนิพพานที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา มีกรณีของพระจักขุบาลท่านเป็นพระที่ตาบอด ท่านบวชตอนแก่ แต่อยากปฏิบัติวิปัสนาให้บรรลุอรหันต์ ท่านได้มีปณิธานว่าจะไม่นอนเป็นเวลา 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษาในฤดูฝน โดยการปฏิบัติของท่านจะทำแค่ยืน เดิน นั่ง แต่จะไม่นอน สิ่งนี้ทำให้ดวงตาค่อยๆ แหลกสลาย ช่วงแรกน้ำตาจะออก และตาของท่านก็ค่อยๆ พร่ามัว จนเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเองต้องไปหาหมอมารักษาตาให้ เมื่อหมอมารักษาโดยบอกพระจักขุบาลว่า ท่านต้องรักษาดวงตาของท่านด้วยการนอนและหยอดยาลงนัยน์ตาของท่าน แต่ท่านไม่ยอมนอน ท่านต้องการที่จะนั่งหยอดตา ทำให้โรคไม่หายเสียที และนั่นทำให้ท่านตาบอดในที่สุด ถึงแม้ว่าดวงตาของท่านจะแหลกสลาย แต่ด้วยปณิธานอันแนวแน่ทำให้ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุดเช่นเดียวกัน[1] สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความเสมอภาคของพุทธศาสนานั้น ‘ไม่ใช่ปลายทางที่ต้องเดินทางไปให้ถึงเท่ากัน แต่ความเสมอภาคคือจุดเริ่มต้นของการเดินทาง’ ความเป็นคนเท่ากันของพุทธศาสนาจะวัดกันที่ ‘มหาภูตรูป’ ที่เป็นม่านวัดความเท่ากันของแต่ละคน เพราะหากขาดธาตุใดธาตุหนึ่งเราก็คงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ แต่หากเราไม่มีตา ไม่มีแขน หรือพิการในแง่ของอุปายะรูป มันไม่ได้หมายความจะเป็นสิ่งที่ปิดกั้นเราเข้าถึงความจริงของสัจธรรมของพุทธศาสนาได้ เปรียบดั่งดอกบัวสี่เหล่า ที่อยู่ในสระบัวเดียวกัน อยู่ในสภาพน้ำที่เหมือนกัน อยู่ในระบบแสงที่เหมือนกัน หรือในดินที่เหมือนกัน นั้นคือเสรีภาพที่จะปล่อยให้บัวแต่ละดอกสามารถพัฒนาได้ในสิ่งแวดล้อมเหมือนๆ กัน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบัวแต่ละเหล่าเขาจะพัฒนาตัวเองไปได้ไกลขนาดไหน แต่สิ่งที่สำคัญคือเราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดอกบัวเหล่านั้นมีโอกาสโตได้เท่ากัน
ประเด็นที่สองที่มีส่วนคล้ายมาร์กซิสต์ คือการให้คุณค่ากับส่วนรวมและการลดความตระหนี่ถี่เหนียว ในพระวินัยหรือกฎของพระสงฆ์ คำว่า สังฆะ หากแปลมาจากภาษาบาลีแล้ว แปลว่า หมู่เหล่าต้องประกอบด้วยพระสงฆ์สองรูปเป็นอย่างต่ำ ซึ่งในระเบียบการกระจายผลประโยชน์ต้องตัดสินโดยพระสงฆ์สองรูปขึ้นไป พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ว่า ให้พระสงฆ์มีผ้าไตรจีวรเพียงหนึ่งชุด สบง (กางเกง) 1 ผืน จีวร (เสื้อคลุม) 1 ผืน สังฆาฎิ (เสื้อกันหนาว) 1 ผืน เนื่องจากว่าพระวินัย (กฏหมาย) กำหนดไว้เป็นกรอบให้พระภิกษุเป็นผู้มักน้อยในจีวร ส่วนที่เกินกว่านอกนั้นคือความจำเป็น แต่ว่าบางครั้งพระสงฆ์อยู่ในประเทศเขตร้อน มีเหงื่อไคลย้อยมากจำเป็นต้องมีไตรจีวร (ชุดเครื่องนุ่งห่ม) เพิ่มขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตให้มีผ้าอาสัย (ผ้าสำรองเปลี่ยน) แต่ให้ตระหนักไว้เสมอว่าหากมีมากเกินจำเป็นต้องละอายใจต่อการมักมากในการสะสมจีวร เพราะฉะนั้นกรอบให้มีผ้าอาสัยแต่ก็ไม่ให้มีมากจนเกินไป พระพุทธเจ้าจึงให้ทำสิ่งที่เรียกว่า ‘การวิกัปผ้า’ (แจ้งเตือนว่าพระภิกษุสงฆ์มีผ้าใหม่เพิ่มขึ้น) คือ ผ้าอาสัย (ผ้าสำรอง) ต้องทำให้เป็นของสองเจ้าของก่อนและต้องขออนุญาตกับเพื่อนภิกษุวิกัปผ้าร่วมกัน เพื่อให้เพื่อนภิกษุรับรู้รับทราบว่าเป็นส่วนกลาง เพื่อจะไม่ให้ยึดติดในทรัพย์สินที่เป็นผ้าจีวร ถ้าหากทำวิกัปผ้าบ่อย ๆ (แสดงให้เห็นว่าพระภิกษุรูปนี้มีผ้าเยอะเกินจำเป็น) ก็จะละอายต่อเพื่อน และเรียนรู้ที่จะมีความมักน้อย ไม่เก็บสะสมผ้าหรือสิ่งของอื่นๆ จนเกินไป[2]
การที่พระพุทธกำหนดมาตรฐานบรรทัดฐานว่าภิกษุมีผ้าอยู่ได้โดยไม่ลำบากนั้นก็มีเหตุผลของมัน ซึ่งครั้งหนึ่งในช่วงฤดูหนาวพระพุทธเจ้าเดินทางจากแคว้นมคธไปแคว้นวัชชีที่มีอากาศหนาว พระพุทธเจ้าก็ได้พิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ต้องใช้ผ้าถึงสี่ผืน ถึงจะบรรเทาความหนาวได้เป็นอย่างดี หากสังเกตจากพระวินัย แสดงให้เห็นว่าการมีของมากทำให้เกิดตัวตนว่าเป็นของเราตัวเรา แต่การมีผ้าครอบครองมันมีเหตุผลบริสุทธิ์ของมันอยู่คือ การนุ่งห่มเพื่อปิดบังกายยามอากาศหนาว ซึ่งต่างจากโลกแบบทุนนิยมที่มันจะอนุญาตให้คุณมีนาฬิกาได้แต่มันจะไม่ให้เวลาแก่คุณ คุณสามารถมีบ้านหลังใหญ่ได้แต่คุณจะไม่มีเวลาได้อยู่บ้าน ให้คุณซื้อเตียงได้แต่คุณไม่ได้นอน ให้คุณซื้อประกันชีวิตได้ แต่คุณไม่ได้มีความปลอดภัย ให้คุณจ้างหมอรักษาโรคแต่คุณไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ ให้คุณซื้อหนังสือได้แต่คุณไม่มีเวลาอ่านมันได้ทุกเล่ม ให้คุณซื้อเกมได้แต่คุณไม่มีเวลาเล่นมันได้ทุกเกม ในโลกทุนนิยมที่คุณสามารถมีศาสนาได้แต่คุณไม่มีเวลาที่ทำความเข้าใจแก่นแท้ของศาสนา คุณมีครอบครัวได้แต่คุณไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ในโลกทุนนิยมให้ปริญญาคุณได้ แต่คุณอาจจะไม่ได้ความรู้ ถึงแม้โลกทุนนิยมจะให้คุณมีเสรีภาพแต่คุณก็ไม่ได้มีสิทธิ์ได้ใช้ชีวิต
มาร์กซ์บอกว่าศาสนาเป็นยาฝิ่นของประชาชน สหายคิดอย่างไร
คำว่า “ศาสนาเป็นยาฝิ่นของประชาชน” คุณต้องยอมรับ คนธรรมดาหรือแม้กระทั่งตัวข้าพเจ้าเองมี ‘ความศรัทธาภักดีอันคลุมเครือ’ (หมายถึงคนที่นับถือศาสนาแต่ไม่ได้เข้าใจคำสอนของศาสนา) เวลาถามว่าคุณนับถือศาสนาไหม คำตอบที่ได้มันมักจะมีแค่นับถือหรือไม่ได้นับถือ แต่ทำไมไม่คิดว่าคำตอบคุณมันก็ขึ้นกับบริบททางประวัติศาสตร์ได้ ซึ่งหากคุณอยู่ในยุคมืด เขาถามคุณว่าคุณนับถือศาสนาหรืไม่ ถ้าคุณตอบว่าไม่ คุณก็ถูกตัดสินว่าคุณเป็นคนนอกรีตหรือคนเถื่อน (Barbarian) เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนเราชอบจะตัดสินคนอื่นมากกว่าที่จะเข้าใจคนอื่น แต่เวลาเราจะตัดสินใครเราต้องดูทั้งความคิด คำพูดของเขา ทัศนะคติต่อการมองโลก ความสัมพันธ์ของเขากับศาสนาว่าเขา การที่เขาตอบว่า ‘เขานั้นนับถือศาสนานั้นเพียงเพราะว่าเขาไม่อยากแปลกแยกหรือขัดแย้งกับสังคมของเขาอยู่ ซึ่งโดยธรรมชาติเฮเกลเคยกล่าวไว้ว่าใน Philosophy of Right ว่า “ความสมเหตุสมผลเป็นถนนสายหลักที่ใครๆ ก็ใช้สัญจร และไม่มีใครแตกแถวออกมา ยิ่งศิลปินที่ฝีมือแย่เขาก็จะพยายามทำให้ตัวเองดูโดดเด่น” จากการตีความโลกของข้าพเจ้าที่มีความเข้าใจต่อเฮเกล ข้าพเจ้ามองว่าคนพวกนี้เป็นเช่นเดียวกันกับพวกนักบวช ซึ่งมักจะทำให้ตัวเองดูโดดเด่นมากกว่าคนธรรมดาและเหมือนว่าตัวเองพิเศษกว่าใครทั้งในแง่ การอดอาหาร การไม่มีเพศสัมพันธ์ การอยู่อย่างสันโดษ วิถีปฏิบัติแบบอื่นๆ หรือเพื่อสร้างศรัทธาอันภักดีต่อศาสนาที่มีลักษณะฝืนธรรมชาติที่คนธรรมดาทั่วไปทำไม่ได้แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา เพราะฉะนั้นแล้วเราและเขาต่างตีความโลก เรียนรู้ที่จะการใช้เหตุผลในตัวเองและค่อยๆ สร้างตัวตนของเราและเขาขึ้นมาใหม่ โดยการที่ท้องไปสู่โลกภายนอก และเรียนรู้ภายในที่ เพื่อให้ตัวเราและเขาได้รู้จักใช้เหตุผลวิธีในการอรรถาธิบายโลกและตัวเราและเขา
ดังนั้นคุณลองคิดดูว่าในชนบทยุคก่อนที่ไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาพวกเขาเหล่าคนชนบทก็โตมาจากเรื่องเล่า โตมาจากนิทานทุกวัน แม้แต่พระก็ไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตใช้ เพราะฉะนั้นฐานคิดเขาก็ติดอยู่แค่ความรู้ในสิ่งที่พวกเขารับรู้มาทั้งชีวิตและถูกสอนมาทั้งชีวิตจนกลายเป็นนิสัย คำพูด หรือรสนิยม ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็จะมีแค่เรื่องศาสนา แต่อย่าถามพวกเขาว่าเข้าใจศาสนาไหม เข้าใจศาสนามากแค่ไหน พวกเขาก็ต่างตีความเข้าใจโลกและใช้เหตุผลที่พวกเขามี และตัวศาสนาเองก็ห้ามสงสัยในตัวของพระเจ้าหรือต้องมีสัมมาทิฏฐิ หมายถึงความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ซึ่งตัวศาสนาเองก็เป็นคนกำหนดแล้วทุกสิ่งว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนชั่ว และโดยธรรมชาติแล้ว ศรัทธาอันคลุมเครือเนี่ยมันต้องได้รับการพิสูจน์ด้วยการทำดีห้ามผิดข้อปฏิบัติทางศาสนาเช่น ศีล 5 หรือ บัญญัติ 10 ประการของศาสนาคริสต์ (ten commandments) การที่เราจะรู้ใครทำผิดเราก็ต้องตรวจสอบกันเอง โดยใช้กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมที่ศาสนามาตัดสินกัน ฉะนั้นหากเราทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้แล้ว ก็จะรู้ว่าพวกเขาไม่ได้กลัวนรกหรอก พวกเขากลัวคนอื่นนินทา เพราะหากสังเกตดีๆ ในตัวเมืองหลวง ผู้คนแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลย เหมือนดั่งคุณเข้าห้างสรรพสินค้า คุณจะไม่มีทางรู้จักใคร คุณจะสนใจแต่เรื่องตัวเอง คุณจะแต่งตัวยังไงก็ไม่มีใครเขานินทาว่ากล่าว อีกทั้งคุณยังเลือกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับแค่พนักงานของห้าง ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าคุณมีความโดดเดี่ยวสูง แต่หากคุณอยู่ในชนบทแล้ว ร้านชำหรือร้านค้าในหมู่บ้านทุกคนก็จะรู้จักกันหมด และรู้จักกันโดยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็จะสามารถหยิบยืมของต่างๆ ของแต่ละครัวเรือนได้ หรือแม้แต่การแปะเจี้ยะของได้ เดี๋ยวค่อยเอาเงินไปใช้ ความสัมพันธ์ความสนิทสนมมักคุ้นกันดี ซึ่งชนบทลักษณะนี้มันต่างกันกับค่านิยมในเมืองหลวง เพราะฉะนั้นสังคมชนบทเมื่อคุณแต่งตัวโป๊วาบหวิวหรือมีแฟนในวัยเรียน คุณก็ถูกสังคมนินทาแล้วและถูกค่านิยมของศาสนาตีค่าว่าคุณทำผิด ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีศรัทธาภักดีอันคลุมเครือทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือผู้นับถือศาสนา แต่ทั้งนี้ศาสนาก็เป็นตัวสร้างค่านิยมเหมือนกับนักกวีคนอื่นๆ ที่ตีความโลกที่ตัวเองเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราลืมไม่ได้คือต้องเปลี่ยนแปลงโลก
‘สังฆะ’ ของสหาย และ พวกพระที่อายุมากกว่ามีปฏิกิริยาย่างไรเมื่อสหายพูดถึงมาร์กซิสต์
ในส่วนของข้าพเจ้า นั้น มีสองระดับ พระสงฆ์ที่มีอายุมากกว่าข้าพเจ้าเขาค่อนข้างที่จะต่อต้านต่อแนวคิด พร้อมทั้งเขายังตัดสินเราว่าเป็นพวกชุมชนนิยม แต่กระแสของข้าพเจ้าจะถูกตำหนิหนักเวลาเราใช้การวิพากษ์ทฤษฎีตามหลักมูลค่าของแรงงานมาใช้ในการวิพากษ์สังคมหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้พวกเขากังวลใจ เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐที่ได้รับตำแหน่งจากพระมหากษัตริย์โดยตรง แน่นอนว่าทำให้พวกเขากลัวว่าการพูดและการแสดงความคิดเห็นของเรานั้นจะกระทบต่อตำแหน่งของตัวเองไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเข้าพรรษาพวกเขาจะให้สามเณรอ่านหนังสือและมาสรุปให้ฟัง ข้าพเจ้าก็อ่าน From Class society to communism an introduction to Marxism ของ Ernest Mandel ให้พวกเขาฟังเรื่องมูลค่าส่วนเกิน กลไกของทุนนิยม รัฐในฐานะกลไกการครอบงำทางชนชั้น และการปลดปล่อยทางชนชั้น สิ่งเหล่านี้ข้าพเจ้ายกตัวอย่างประกอบ เช่นว่า การที่เราเป็นพระเราเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตซ้ำทางความเชื่อ เช่นเผด็จการโดยธรรมของพุทธทาสภิกขุ ที่พูดถึงในธัมมิกสังคมนิยม ที่เขาไม่ได้ปฏิเสธชนชั้น และพุทธทาสมองว่าหากประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยคนส่วนมากซึ่งหากคนคนส่วนมากไม่มีศีลธรรมก็จะเป็นการเลือกคนชั่วมาปกครอง สู้เอาเผด็จการที่มีคุณธรรมมาปกครองดีกว่า ซึ่งหมายความว่าพุทธทาสไม่ได้เชียร์เผด็จการที่ทุกคนตระหนักรู้ว่าตัวเองเป็นชนชั้นกรรมมาชีพ แต่เผด็จการของพุทธทาสเป็นเผด็จการที่มีชนชั้นและเป็นคนดีตามหลักธรรมพุทธศาสนา ซึ่งมันขัดหลักของสังฆะ ที่ทุกอย่างต้องตกลงหรือแจ้งกันก่อนและแบ่งผลประโยชน์ไว้เป็นของส่วนกลาง ซึ่งทำให้พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาสหรือมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมจะไม่พอใจเวลาข้าพเจ้าพูดถึงคนที่พวกเขาศรัทธา พวกเขายอมให้เราพัฒนาได้แต่ไม่อยากให้เด่นจะเป็นภัย
เล่าเรื่องกรณีที่สหายโดน 112 ให้ฟังได้ไหม
การโดนข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้นข้าพเจ้าได้วิจารณ์การใช้มาตรา 112 ทั้งที่ทีแรกบอกพลเอกประยุทธ์ประกาศไม่ให้ใช้มาตรา 112 แล้วพลเอกประยุทธ์เอามาใช้ทำให้มันส่งผลต่อคำว่า “กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำที่เราถูกสอนมันจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปนะ” สิ่งนี้ทำให้ข้าพเจ้าโดนคดีมาตรา 112 ในการวิพากษ์การใช้มาตรา 112 ของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมันตลกร้ายสำหรับชีวิตของข้าพเจ้ามาก สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับมันไม่ได้ตลกร้ายแบบไม่มีผลกระทบ มีทหารและสันติบาล พยายามจับข้าพเจ้าลาสิกขา ทำให้ข้าพเจ้าต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ โชคยังดีที่เพื่อนสหายช่วยหาที่อยู่ให้ข้าพเจ้า ซึ่งก็ทำให้ซึ้งใจอย่างมากแต่มันก็กระทบหลายอย่างเช่น การจ่ายค่าเทอมในมหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า และบางครั้งข้าพเจ้าก็เกรงใจเพื่อนข้าพเจ้ามากในการที่เขาให้ที่อยู่ แน่นอนว่าสันติบาลไม่ได้มาตามล่าหาข้าพเจ้าเพียงคนเดียว เขาไปเฝ้าบ้านข้าพเจ้าที่มีตาและยายอยู่ทำให้ข้าพเจ้ากังวลว่า พวกเขาจะทำอะไรกับครอบครัวข้าพเจ้าหรือเปล่า ซึ่งการคุกคามแบบนี้มันบั่นทอนจิตใจของข้าพเจ้ามาก และข้าพเจ้าคิดว่าท้ายที่สุดข้าพเจ้าต้องออกจากการเป็นพระสงฆ์เพราะว่าการหาเงินในการศึกษาและข้าพเจ้าเกรงใจมิตรสหาย และไม่อยากพึ่งมิตรสหายเยอะเกินไป
ปัจจุบันสหายทำอะไรอยู่ (งานกิจกรรมทางการเมือง, งานเทศน์ ฯลฯ) การที่ประชาชนได้ยินไอเดียฝ่ายซ้ายจากพระช่วยให้คนไทยเข้าใจฝ่ายซ้ายได้มากขึ้นไหม สหายคุยกับคนทั่วไปเรื่องซ้ายๆ อย่างไร พูดภายใต้บริบทของศาสนาพุทธหรือเปล่า
ตอนนี้ข้าพเจ้ากำลังจัดตั้งเหล่าสามเณรในวัดรอบกรุงเทพในการพูดเรี่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเรื่องรัฐสวัสดิการ การจัดตั้งของเราจะเน้นการเทศนาโวหาร สอนผู้มีความศรัทธาในตัวเราหรือศาสนาผ่านคำสอนที่เกี่ยวกับความเป็นเส่วนรวมหรือพูดเรื่องชนชั้น ซึ่งเป็นมิติหนึ่งในการกระจายอำนาจอ่อน (Soft power)
ซึ่งการพูดคุยจะใช้ภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจ เพราะตำแหน่งที่เราอยู่มันมีอำนาจทางศรัทธาและความเชื่ออยู่ การใช้ภาษาทางศาสนาและเชื่อมกับค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย ความเสมอภาค และภราดรภาพ เทศน์สอนให้กับคนที่นับถือศาสนาฟัง ภาษาของฝ่ายซ้ายเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคหรือศัพท์ แต่หลักใหญ่ใจความนั้นยังคงความหมาย อย่างเช่นเราจะไม่บอกว่าพวกเขาเป็นสหาย เพราะมันเป็นศัพท์ที่พวกเขาอาจงงงวยได้ แต่เราต้องแฮ็กระบบภาษาของพวกเผด็จการ เช่น ‘พลเมือง’ (ที่คณะรัฐประหารเอามาใช้ในค่านิยม 12 ประการ) แต่คำพลเมือง นี้มันคล้ายกับคำว่า ‘พลทหาร’ หลายครั้งที่บอกว่าบอกเราจ่ายภาษี มักจะถูกพลทหารหรือพลตำรวจบอกว่า พวกเขาก็จ่าย คำถามที่ต้องถามคือว่า ใครใช้เงินส่วนกลางซึ่งเป็นเงินส่วนรวม คือพวกเขาที่เป็นพนักงานของรัฐ ที่ต้องรับใช้ประชาชน ที่พวกเขามีอยู่มีกินเพราะภาษีของคนที่ทำงานซึ่งคนที่ทำงานทั่วไปพวกเขาไม่ได้รับเงินรัฐ แต่พวกเขาได้รับเงินจากหยาดเหงื่อและแรงงานของเขาเอง การใช้เงินส่วนรวมเพื่อมาปราบปรามคนที่จ่ายภาษีซึ่งเห็นต่าง หรือการพูดเรื่องการทำตามหน้าที่ โดยพิจารณาความรุนแรงเชิงโครงสร้างโดยการเปรียบว่าหากทำตามเผด็จการให้ฆ่าหรือปราบปรามคนจะเป็นลักษณะกรรมหมู่ (Collective Karma) เพราะการที่คุณเพิกเฉยหรือเห็นแล้วเลือกที่จะนิ่งแล้วปล่อยรัฐทำร้ายผู้ชุมนุมหรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เปรียบเหมือนกับคุณเห็นคนทิ้งขยะโดยไม่ตักเตือนเขาให้ทิ้งขยะให้เป็นที่ ซึ่งคุณก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน มิหนําซ้ำหากคุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โทษของคุณจะยิ่งหนักขึ้นไปอีกยกกรณีตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ฮอโลคอสต์ชาวยิว และเหตุการณ์หลังจากเยอร์ซึ่งไม่ใช่แค่คนระดับนายพลหรือคนระดับสูงที่จะติดคุก คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐตัวเล็กตัวน้อยก็ติดคุกเพราะทำตามหน้าที่ของเผด็จการฮิตเลอร์ ในด้านหนึ่งขณะที่คุณทำตามหน้าที่ คุณก็ต้องเป็นมนุษย์ด้วย คุณสามารถรู้ผิดชอบชั่วดีได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะตำแหน่งเล็กแค่ไหนคุณก็ถูกลงโทษได้
แนวคิดเรื่องกรรมยังช่วยให้มองเห็นเรื่องของทุนได้อีก ยกตัวอย่างเช่น การที่เราเกิดมาจนไม่ใช่เพราะว่าชาติที่แล้วคุณทำไม่ดีทำผิดบาป ผิดผัวผิดเมียคนอื่น มันเลยส่งผลให้คุณเกิดมาจน แต่มันเป็นกรรมที่พันผูกมาจากบรรพบุรุษซึ่งส่งทอดมาถึงลูกไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ นามสกุล รวมถึงสิ่งที่เรียกว่ามรดกส่งทอดกัน ต่อมาผู้มีอำนาจในยุคแรกๆ ก็กลายเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ออกกฎหมาย กลายเป็นกษัตริย์ และเขียนกฎหมายที่ดิน เรื่องแบบนี้มันต่อส่งต่อมาเป็นข้ามภพข้ามชาติจนมาถึงรุ่นของเรา ดั้งนั้นเราไม่ได้จนเพราะชาติก่อนเราทำไม่ดี แต่เพราะมีคนที่เอารัดเอาเปรียบและสืบทอดมาเป็นวงศ์ตระกูลหรือมีนามสกุลใหญ่ พวกเขาไม่ได้เป็นผู้มีบุญหรือทำบุญมามาก แต่พวกเขาเป็นคนเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์อย่างเราด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องทำกรรมหมู่ร่วมกันเพื่อที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้สืบทอดตกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลุ่มของข้าพเจ้าจะอธิบายแนวคิดฝ่ายซ้ายแบบนี้ให้คนธรรมดาฟังไปเรื่อยๆ ตอนนี้เรากำลังคิดว่าจะทำสถานีวิทยุกระจายเสียงในเชียงใหม่ และมีการบันทึกสังเกตการณ์ว่าอำนาจส่วนบนเขาจะให้วัดมีกิจกรรมอะไรที่สนับสนุนราชาชาตินิยมผ่าน soft power โดยการบันทึกและเก็บเป็นเอกสารไว้ และการจัดตั้งสามเณรด้วยกันเองเป็นเรื่องที่ลำบากมากเพราะว่าช่วงวิกฤตโควิดนั้นทำให้เราเคลื่อนไหวและเจอตัวในวงน้ำชากาแฟของพวกเราไม่ได้ แต่เราจะพยายามทำต่อไป อย่างที่ทราบกันว่าพระสงฆ์คงจะออกไปสู้แบบเดินชุมนุมไม่ได้เพราะมันมีผลกระทบต่อตัวพวกเขาเยอะไม่ว่าจะเป็นอนาคตและความมั่นคงในชีวิต แต่เรามีอาวุธเพียงอย่างเดียวคือ charismatic ที่สามารถทำให้คนเชื่อถือและหันมาสนใจคุณค่าใหม่ๆ นี้ได้ และกลุ่มของเราจะพยายามแฮ็กและแกะคำภีร์พร้อมปรับให้มันเป็นภาษาที่ง่ายและตีความเปรียบเทียบให้เข้ากันได้มากที่สุด
[1] พระจักขุบาล. ธัมมปทัฏฐกถา. อรรถกถา. ขุททกนิกาย. คาถาธรรมบท. ยมกวรรคที่ 1, (ออนไลน์ ) แหล่งที่มา: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=1 (26 ตุลาคม 2564).
[2] พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒ (ออนไลน์) แหล่งที่มา: https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=02&siri=95