ไตรทวีป : สถาบันเพื่อการวิจัยทางสังคม สมุดโน้ต เล่มที่ 2
(Tricontinental: Institute for Social Research Notebook No2)
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) (ค.ศ. 1818-1883) เช่นเดียวกับหลาย ๆ คนที่มีชีวิตอยู่ในยุคเดียวกัน พวกเขาต่างอ่อนไหวและเป็นห่วงสภาพอันย่ำแย่ของคนงานในโรงงานและกิจกรรมด้านสหภาพแรงงานของเหล่าคนงาน เห็นได้ชัดว่า คนงาน ซึ่งผลิตสินค้าในโรงงาน อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถเก็บหอมรอมริบและยกระดับคุณภาพชีวิตของตนได้ ในขณะที่เจ้าของโรงงานรวยขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของโรงงานและคนงานกลับเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ทุกวันนี้ยังคงมีสถานการณ์แบบที่มาร์กซ์บรรยายถึงในอดีตเกิดขึ้นอยู่ บริษัทต่าง ๆ เช่น แอปเปิ้ล (Apple) ได้เติบโตขึ้น ในขณะที่คนงานที่ผลิตสินค้าของแอปเปิ้ลในโรงงานประเทศจีนกลับได้รับค่าแรงต่ำและมีสภาพการทำงานที่ยากลำบาก หากมองตัวเลขเหล่านี้ผ่านมุมมองเสรีนิยม คงจะมองว่า คนงานต้องได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น พวกเขาต้องได้รับค่าแรงที่เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่ มาร์กซ์เรียกสิ่งนี้ว่า ‘คติอนุรักษ์นิยม’ เพราะเสรีนิยมชอบอ้างแบบนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงภายใต้ขอบเขตของระบบทุนนิยม
การเพิ่มค่าแรงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ค่าแรงไม่สามารถเพิ่มขึ้นไปจนถึงระดับที่ ‘ยุติธรรม’ ได้โดยปราศจากการบ่อนทำลายความจำเป็นของทุนที่จะรีดเค้นผลกำไรจากคนงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในกระบวนการผลิต
การเรียกค่าแรงหรือค่าครองชีพเพิ่มเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สามารถปลดปล่อยคนงานออกจากการดึงเอาศักยภาพของมนุษย์ไปอยู่ใต้แรงบังคับให้ทำงานหาค่าแรงได้ การเรียกร้องค่าครองชีพจะทำให้การต่อสู้ระหว่างชนชั้นรุนแรงขึ้นเท่านั้น ผลลัพธ์ของการต่อสู้ต้องไม่ใช่แค่ค่าแรงที่สูงขึ้น แต่ต้องเป็นการทำลายระบบค่าจ้าง
ดังที่มาร์กซ์เขียนไว้ใน มูลค่า, ราคา, และกำไร (Value, Price and Profit) คนงาน ‘ควรจารึกคำขวัญปฏิวัติไว้บนพาดหัวเลยว่า ยกเลิกระบบค่าจ้าง!’
ใน สมุดโน้ตเล่มที่ 2 จาก Tricontinental: Institute for Social Research เราชี้ให้เห็นอย่างคร่าว ๆ ถึงกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้เกิดไอโฟน (iPhone) ของบริษัทแอปเปิ้ลขึ้นมา
เราเปลี่ยนจากดูการผลิตตัวไอโฟน ไปดูกลไกการทำงานของผลกำไรและการขูดรีด เราไม่ได้สนใจแค่แอปเปิ้ลและไอโฟน แต่เรามุ่งความสนใจไปที่การวิเคราะห์อัตราการขูดรีดที่เกิดขึ้นในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อันซับซ้อนดังกล่าวผ่านมุมมองแบบมาร์กซิสต์ เราเชื่อว่า ต้องเรียนรู้วิธีวัดอัตราการขูดรีดเพื่อให้ทราบอย่างแน่ชัดว่า ในแต่ละปีนั้น คนงานส่งมอบความมั่งคั่งให้แก่สังคมทั้งหมดเท่าไร
ส่วนที่ 1: ยินดีต้อนรับสู่ iPhone
จะเกิดอะไรขึ้นถ้า ไอโฟน X (iPhone X) ถูกผลิตในสหรัฐอเมริกา?
ถ้าไอโฟน X ถูกผลิตในสหรัฐอเมริกา ราคาของมันจะแพงจนคนทั่วโลกส่วนใหญ่ไม่อาจซื้อได้ มีการประมาณการว่า หากไอโฟนถูกผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา ราคาจะอยู่ที่อย่างน้อย 30,000 ดอลลาร์ต่อเครื่อง [เงินดอลลาร์ในสมุดโน้ตเล่มนี้หมายถึงดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งหมด]
ราคาปัจจุบัน (2019) ของไอโฟน X แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ในสหรัฐอเมริกาเครื่องละประมาณ 900 ดอลลาร์ ในบราซิลและตุรกีเครื่องละประมาณ 1900 ดอลลาร์
ราคา 30,000 ดอลลาร์สำหรับไอโฟนหนึ่งเครื่องนั้น เป็นราคาที่สูงเกินเอื้อม คนงานในอินเดียที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำจะต้องทำงานเป็นเวลาสิบหกปีครึ่งโดยไม่หยุดพักเพื่อซื้อโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง คนงานในแอฟริกาใต้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำจะต้องทำงานเป็นเวลาสิบสี่ปีครึ่งถึงจะซื้อโทรศัพท์เครื่องหนึ่งได้
ทุกวันนี้ไอโฟน เกือบ 70 ล้านเครื่องที่วางขายอยู่ในตลาด รวมไปถึงไอแพด (iPad) 30 ล้านเครื่อง และผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลอื่น ๆ อีก 59 ล้านเครื่อง ต่างถูกผลิตนอกสหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบาม่า (Barack Obama) รับประทานอาหารร่วมกันกับผู้บริหารระดับสูงของซิลิคอน วัลลีย์ (Silicon Valley) รวมไปถึงสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011
“จะต้องใช้อะไรบ้างถ้าจะผลิตไอโฟนในสหรัฐอเมริกา?”
“งานเหล่านั้นมันจะไม่กลับมาหรอกนะ”
สิ่งที่จ็อบส์ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ แอปเปิ้ลได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีที่ต่ำตลอดห่วงโซ่สินค้าโลก (Global Commodity Chain) หากไอโฟนถูกผลิตขึ้นในสหรัฐอเมริกา แอปเปิ้ลจะต้องจ่ายภาษีถึง 35% ทว่า ในปัจจุบัน Apple จ่ายเพียง 2% ตลอดห่วงโซ่ดังกล่าว
ไอโฟนถูกผลิตนอกสหรัฐอเมริกาด้วยเหตุผลที่สัมพันธ์กันหลายประการ เหตุผลที่หนึ่ง (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่สุด) คือเรื่องต้นทุนแรงงาน ต้นทุนแรงงานในสหรัฐอเมริกาสูงกว่าบางพื้นที่อื่น ๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ซึ่งมีการผลิตสินค้าเหล่านี้จำนวนมาก เหตุผลที่สองก็คือ สภาพการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อแรงงาน (ไม่มีสหภาพแรงงาน มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน) ในหลายพื้นที่ ๆ ของโลกโดยเฉพาะในเขตส่งออก-แปรรูปที่แบนสหภาพแรงงานอย่างชัดเจนและแทบไม่มีการจำกัดควบคุมโดยรัฐ การที่รัฐล่าถอยจากการควบคุมสถานทำงานและการขูดรีดทรัพยากรได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลกระทบภายนอกของการผลิตที่เป็นผลเสีย นั่นก็คือ การทิ้งของเสียที่เป็นพิษโดยไม่มีการดูแล สิ่งนี้เป็นการปฏิบัติของบริษัทเหมืองแร่ที่ปล่อยสารเคมีอันตรายออกมา โดยสิ่งดังกล่าวก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และเป็นการทำลายการเกษตรไปในตัว
นี่ผลักให้เกษตรกรรายย่อยและชาวนาหลายพันล้านคนต้องออกจากที่ดินและไปเป็นแรงงานรายจ้างในกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม
แกนกลางของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือการผลิตแบบแยกส่วน (disarticulated production) ตามห่วงโซ่สินค้าโลก สมุดโน้ตเล่มนี้จะมุ่งเน้นความสนใจไปที่การผลิตแบบแยกส่วนและห่วงโซ่สินค้าโลก
ห่วงโซ่สินค้าโลก? (The Global Commodity Chain?)
ครั้งหนึ่ง โรงงานเคยตั้งอยู่ในสถานที่แห่งเดียว จะมีการเช่าที่ดินหรือไม่ก็ซื้อ และจะมีการสร้างอาคารบนที่ดินแห่งนี้ นั่นก็คือโรงงาน จากนั้นเจ้าของโรงงาน ซึ่งก็คือนายทุน จะเช่าหรือซื้อเครื่องจักรมาติดตั้งภายในตัวโรงงาน ไฟฟ้าจะถูกติดตั้งในโรงงานเพื่อใช้เดินเครื่องจักรและจ่ายไฟ นี่ทำให้เวลาในการทำงานยาวนานขึ้น โดยกะที่สามจะทำงานจนล่วงเวลาดึก วัตถุดิบจะถูกจัดซื้อและนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่าย จากนั้น นายทุนก็จะจ้างให้คนงานนำทักษะและพลังงานของพวกเขามาทำงานในโรงงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อผลิตสินค้า ยิ่งเครื่องจักร ความร่วมมือร่วมใจ และการแบ่งงานระหว่างคนงานดีเท่าไร ผลิตภาพของโรงงานก็ยิ่งดีมากเท่านั้น
แต่คำจำกัดความของโรงงานแบบเก่าเหล่านี้ก็คือ มันอยู่ในสถานที่แห่งเดียว แม้ว่าโรงงานจะตั้งอยู่ในสถานที่แห่งเดียว แต่วัตถุดิบก็มีที่มาจากสถานที่หลายแห่ง ดังนั้นโรงงานจึงเชื่อมโยงกับหลาย ๆ แห่งทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่ ๆ วัตถุดิบถูกส่งมาหรือที่ ๆ สินค้าถูกขาย
ในช่วงทศวรรษ 1960 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 3 อย่าง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่สำคัญอีก 3 อย่าง ทำให้โรงงานต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกันสามประการเหล่านี้ก็คือ:
- โครงข่ายโทรคมนาคม (telecommunication networks)
ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 มีการเปิดตัวดาวเทียมจำนวนมากเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า ดาวเทียมเหล่านี้ทำให้การสื่อสารระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกง่ายดายขึ้น
- คอมพิวเตอร์ (computerisation)
การใช้ฐานข้อมูลแบบคอมพิวเตอร์ทำให้บริษัทสามารถรักษาสินค้าคงคลังของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและสต็อกสินค้าสำเร็จรูป โดยเป็นการเก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์มากกว่าในบัญชีแยกประเภทขนาดใหญ่ หากคอมพิวเตอร์สองเครื่อง (เครื่องหนึ่งอยู่ในฮ่องกงและอีกเครื่องหนึ่งอยู่ในแคลิฟอร์เนีย) สามารถเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายดาวเทียม สำนักงานใหญ่ของธุรกิจในแคลิฟอร์เนียจะได้รับแจ้งทันทีเกี่ยวกับจำนวนที่ลดลงของสินค้าคงคลัง ทำให้สามารถสั่งวัตถุดิบและสินค้าใหม่ได้ทันท่วงที
- การขนส่งที่มีประสิทธิภาพและการสร้างมาตรฐาน (efficient logistics and standardisation)
เมื่อก่อน คนงานท่าเรือต้องใช้เวลาหลายวันในการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือ ซึ่งสินค้าอาจถูกนำไปไว้ผิดที่ได้ง่ายในโกดังติดกับท่าเรือ แต่คนงานท่าเรือมักจะนัดหยุดงานผ่านสหภาพแรงงานสุดขั้ว (radical unions) โดยเป็นการประท้วงไม่ใช่แค่เพื่อเพิ่มค่าแรงและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเรียกร้องประเด็นทางการเมืองด้วย ความเป็นเอกภาพทางการเมืองของพวกเขาจำเป็นต้องถูกทำลายลง ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 เรือบรรทุกสินค้าเริ่มจัดเก็บสินค้าไว้ในตู้คอนเทนเนอร์โลหะขนาดใหญ่มาตรฐาน ซึ่งสามารถถอดออกจากเรือได้โดยใช้ปั้นจั่นภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดวางไว้บนหลังรถบรรทุกหรือบนรถรางได้ทันที นี่หมายความว่า การเคลื่อนย้ายสินค้าไปทั่วโลกนั้นใช้เวลาน้อยลง และหมายความว่า สหภาพแรงงานคนงานท่าเรืออ่อนกำลังลงอย่างมาก กระบวนการดังกล่าวลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมและลดความเสี่ยงจากการนัดหยุดงานของคนงาน
แต่การใช้ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการปฏิวัติด้านการจัดเก็บขนส่งสินค้า (logistics) ระบบลอจิสติกส์ที่มีความซับซ้อนสูงช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถติดตามวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเพื่อให้แน่ใจว่า ของจะไม่สูญหายและไปถึงที่หมายตรงเวลา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีการสร้างมาตรฐาน (ขับเคลื่อนโดยองค์การมาตรฐานสากล) ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยการผลิตสามารถมาจากที่ใดก็ได้ในโลก คุณภาพของสายไฟฟ้าหรือประเภทของแก้วจะไม่ถูกวัดแบบสุ่มสี่สุ่มห้าอีกต่อไป ตอนนี้มันถูกผลิตขึ้นด้วยมาตรฐานที่แน่นอน นี่ทำให้บริษัทที่จัดหาสินค้าสามารถหาประโยชน์จากการแข่งขันของผู้ผลิตรายอื่นและกดราคาสินค้าลงได้ หากคนงานในพื้นที่หนึ่งประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้น การสร้างมาตรฐานและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ทุนสามารถเปลี่ยนเส้นทางกระบวนการผลิตไปให้พ้นจาก “ปัญหา” ดังกล่าวและมุ่งตรงไปยังกำลังแรงงานที่อ่อนแอกว่า
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทั้งสามอย่างนี้ทำให้บริษัทต่าง ๆ คิดค้นการแยกโรงงานออกเป็นหลาย ๆ ส่วนได้ โดยแต่ละส่วนตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบหรือใกล้แรงงานทักษะสูงราคาถูก
แม้กระบวนการผลิตจะถูกแยกออกไปยังหลาย ๆ ทวีป บริษัทก็ควบคุมกระบวนการทั้งหมดผ่านการประสานจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต การขนส่ง และสินค้าคงคลัง ระบบการจัดเก็บขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพและเทคนิคการขนส่งที่ดีขึ้นช่วยทำให้แน่ใจว่า ชิ้นส่วนและสินค้าต่าง ๆ สามารถเคลื่อนย้ายไปทั่วทั้งโลกได้อย่างรวดเร็ว ตัวเก็บประจุ (capacitor) อาจถูกผลิตขึ้นในสถานที่หนึ่ง หน้าจอโทรศัพท์อีกที่หนึ่ง และส่วนประกอบต่าง ๆ ก็ถูกนำอีกไปยังอีกที่หนึ่งเพื่อประกอบเป็นไอโฟนได้
การแยกส่วนการผลิตเช่นนี้ทำให้รูปแบบเดิมของการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อการผลิตขั้นสุดท้ายมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น สิ่งดังกล่าวก่อให้เกิดระบบแบบใหม่ที่บ่อนทำลายสิทธิแรงงานและโครงการพัฒนาชาติ นอกจากนั้นยังทำให้ทุนโลกเพิ่มพูนการขูดรีดได้
เราเรียกระบบใหม่นี้ว่าห่วงโซ่สินค้าโลก (Global Commodity Chain) (เรียกอีกอย่างว่า ห่วงโซ่มูลค่าโลก ‘Global Value Chain’) คำจำกัดความของห่วงโซ่สินค้าโลกนี้คือ การผลิต (รวมไปถึงการตลาดและการจัดจำหน่าย) สินค้าถูกแยกออกเป็นหลายบริษัทซึ่งอยู่ในพื้นที่ ๆ แตกต่างกัน ห่วงโซ่สินค้าโลกช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถจัดการสินค้าคงคลังผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การผลิตแบบ ‘ทันท่วงที’ (just-in-time) นั่นก็คือ บริษัทไม่ได้กักเก็บสินค้าคงคลังไว้เยอะ แต่สั่งสินค้าตามความต้องการของตลาด สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ บริษัทข้ามชาติเช่นแอปเปิ้ล ไม่ค่อยผลิตอะไรนอกจากแบรนด์โทรศัพท์ แต่พวกเขาก็ควบคุมกระบวนการและรับส่วนแบ่งก้อนโตจากสิ่งดังกล่าว (สำหรับการอภิปรายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลิตแบบแยกส่วนและห่วงโซ่สินค้าโลก โปรดดู Working Document #1: In the Ruins of the Present)
การผลักดันให้เกิดห่วงโซ่สินค้าโลกและการผลิตแบบ “ทันท่วงที” เป็นการตอบสนองต่อวิกฤตเชิงโครงสร้างที่ถาโถมเข้าใส่ระบบทุนนิยมในทศวรรษ 1970 ทำไมระบบทุนนิยมโลกจึงเผชิญกับวิกฤตเชิงโครงสร้างระยะยาว ซึ่งทั้งยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกต่างหาก?
บริษัททุนต่างพยายามที่จะรักษาและเพิ่มผลกำไรของตน นั่นคือเป้าหมายของพวกเขา การที่จะรักษาหรือเพิ่มผลกำไร บริษัทต้องทำหลายสิ่งดังต่อไปนี้:
- สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งทำให้พวกเขาผูกขาดตลาด อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้าบริษัทอื่น ๆ ก็จะเลียนแบบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และความได้เปรียบด้านนวัตกรรมจะลดน้อยถอยลง เพื่อที่จะปกป้องนวัตกรรมและความได้เปรียบจากการผูกขาด บริษัทจะพยายามรักษาสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ของตนให้ได้นานที่สุด
- แข่งขันกับบริษัทอื่นเพื่อขยายตลาดผ่านการโฆษณาและพัฒนาแบรนด์ หรือผ่านการติดสินบนและการจารกรรม หากแบรนด์สามารถพัฒนาความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภคได้ บริษัทก็จะสามารถครองตลาดได้แม้ว่าบริษัทอื่นจะทำสินค้าตัวเดียวกัน การขโมยดีไซน์ใหม่หรือการจ่ายเงินให้กับบริษัทค้าปลีกยังทำให้บริษัทได้เปรียบคู่แข่ง
- ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตและบริหารจัดการแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน แนวคิด ผลิตภาพแรงงาน หมายความว่า บริษัทจะทำให้คนงานเพิ่มความเข้มข้นของแรงงานเพื่อผลิตสินค้าให้เยอะขึ้นกว่าเดิมในระยะเวลาที่กำหนด หากเทคโนโลยีหรือการจัดการสามารถทำให้คนงานทำงานหนักขึ้นด้วยค่าจ้างเท่าเดิม บริษัทก็จะได้เปรียบด้านผลิตภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บริษัทได้รับผลกำไรมากขึ้นจากระยะเวลาเท่าเดิมที่คนงานใช้ผลิตสินค้า
อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการทำสงครามระหว่างบริษัทคือการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้เครื่องจักร แต่บริษัทต้องลงทุนในเครื่องจักรและเทคโนโลยี รวมไปถึงการโฆษณาและการจัดการแบรนด์หากพวกเขาต้องการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและขยายส่วนแบ่งในตลาด ในมุมมองแบบมาร์กซิสต์ นี่หมายความว่า บริษัทจะต้องเพิ่มอัตราส่วนทุนต่อแรงงานเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยและรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ หนึ่งในกรอบความคิดที่มาร์กซ์แนะนำให้ใช้ในการสังเกตเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคืออัตราส่วนทุนต่อแรงงาน (องค์ประกอบมูลค่าของทุน) ในการเพิ่มองค์ประกอบมูลค่าของทุน นายทุนจะต้องลงทุนในทุนคงที่ (constant capital) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงทุนถาวร (fixed capital) (เช่น เครื่องจักร) และทุนหมุนเวียน (เช่น วัตถุดิบ) มากกว่าในทุนแปรผัน (ต้นทุนที่เกิดจากการจ้างกำลังแรงงาน)
สำหรับมาร์กซ์ องค์ประกอบมูลค่าของทุนทำให้เขาสามารถกำหนดความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิตระหว่างการลงทุนในโรงงาน เครื่องมือ และวัตถุดิบ (ทุนคงที่) กับการลงทุนในกำลังแรงงาน (ทุนแปรผัน) ได้ ความสัมพันธ์นี้ทำให้มาร์กซ์สามารถระบุผลิตภาพของแรงงาน (โดยการใช้เครื่องจักร) และการสร้างมูลค่าส่วนเกินได้ การที่บริษัทลงทุนจำนวนมากในทุนคงที่ส่งผลให้องค์ประกอบมูลค่าของทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรในระบบเศรษฐกิจลดลงในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 1947-1985 องค์ประกอบมูลค่าของทุนเพิ่มขึ้น 103% ในขณะที่อัตรากำไรลดลง 53% วิกฤติของความสามารถในการทำกำไรดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระบบทุนนิยมอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ผลักดันให้นักลงทุนย้ายกิจกรรมการผลิตของตนไปยังพื้นที่ ๆ มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า นั่นก็คือ ซีกโลกใต้
การเคลื่อนย้ายการผลิตไปยังซีกโลกใต้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญสามประการซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 1980:
- การล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Soviet Union) และกลุ่มประเทศสังคมนิยม (Socialist Bloc) ในยุโรปตะวันออก
เมื่อสหภาพโซเวียต (USSR) และกลุ่มประเทศสังคมนิยมยุโรปตะวันออกล่มสลาย เกราะกำบังที่ป้องกันทุนนิยมข้ามชาติจากการย่ำเท้าไปทั่วโลกก็ถูกรื้อถอนออกไป สหภาพโซเวียตได้ให้อำนาจแก่กลุ่มประเทศโลกที่สามในการยืนหยัดตัวเองบนเวทีโลก กลุ่มประเทศโลกที่สามได้ใช้เกาะกำบังดังกล่าวผลักดันระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ (NIEO) ซึ่งรวมไปถึงนโยบายการค้าระดับประเทศและการพัฒนา การล่มสลายของเกราะกำบังสังคมนิยมหมายความว่า ความสามารถของกลุ่มประเทศโลกที่สามในการเรียกร้องอธิปไตยอ่อนกำลังลง
- วิกฤตหนี้ของโลกที่สามและการเปิดประเทศจีน
อธิปไตยของชาติและความจำเป็นในการสร้างเศรษฐกิจของชาติหลังการล่าอาณานิคมหลายศตวรรษมีความสำคัญต่อรัฐหลังอาณานิคม รวมไปถึงจีนด้วย อย่างไรก็ดี วิกฤตหนี้ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องยอมจำนนอิสรภาพของตนต่อระบบการค้าโลก ระบบการค้าโลกอันใหม่นี้ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาใหม่และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) (1994) เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับบริษัทข้ามชาติและแนวคิดโรงงานระดับโลกมากกว่าโรงงานระดับท้องถิ่น ยุคปฏิรูปตลาดจีนซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1978 เป็นตัวส่วนหลักของห่วงโซ่สินค้าโลก ในช่วงหลังจากปี ค.ศ. 1978 เป็นต้นมา คนงานชาวจีนหลายร้อยล้านอยู่ในสถานะพร้อมที่จะถูกจ้างเข้าไปในแวดวงการผลิตแบบแยกส่วน ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ตามแนวชายฝั่งของจีน
- การปลดเปลื้องนโยบายรัฐบาลในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น ออกจากความต้องการของพลเมืองของตน
รัฐบาลในกลุ่มองค์สาม (Triad) นั่นก็คือ อเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น ได้ออกนโยบายใหม่ที่อนุญาตให้บริษัทที่มีฐานอยู่บนฟากฝั่งตัวเองสามารถข้ามไปยังต่างประเทศได้ นี่ทำให้การเงินมีอิสระแทบจะเต็มรูปแบบในการเคลื่อนเข้าและเคลื่อนออกประเทศของตน นโยบายต่าง ๆ เช่น ภาษีศุลกากรและเงินอุดหนุนที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติและโครงการพัฒนาชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงการโลกที่สามและโครงการของรัฐหลังอาณานิคมใหม่ ถูกล้มเลิกลงในที่สุด พื้นที่นโยบายใหม่ เสรีนิยมใหม่ อนุญาตให้บริษัทลอยแพโรงงานเก่าในท้องถิ่นเดิมและสร้างโรงงานข้ามทวีปด้วยสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่สร้างขึ้นข้ามเขตเวลา
ไอโฟนในห่วงโซ่สินค้าโลก
ไอโฟนของแอปเปิ้ลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีห่วงโซ่สินค้าโลก วัตถุดิบและชิ้นส่วนของไอโฟนมีที่มาจาก 30 ประเทศด้วยกัน มีอินพุต (input) สองอย่างใน iPhone:
- วัตถุดิบ (Raw materials)
- ส่วนประกอบที่ถูกผลิตขึ้น (Manufactured components)
ปัจจัยเพิ่มเติมตรงนี้คือทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้ในการผลิต iPhone ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ใช่อินพุตแบบวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในการผลิต แต่เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐให้มา ซึ่งสามารถกลายมาเป็นกฎเกณฑ์ในการปล่อยเช่าได้ บริษัทที่อ้างสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ยาหรือเทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้าเก็บค่าเช่าจากการใช้สิทธิ์ที่รัฐมอบให้ และบริษัทก็ปิดกั้นไม่ให้ผู้อื่นใช้สิ่งเหล่านี้โดยอ้างสิทธิ์ผูกขาดดังกล่าว สมมติฐานหนึ่งคือ แอปเปิ้ลสร้างเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมาเอง จึงสมควรที่จะได้รับค่าเช่าทรัพย์สินทางปัญญาจากการขายโทรศัพท์เหล่านี้ แต่เทคโนโลยีเกือบทั้งหมดของไอโฟน ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต ระบบจีพีเอส (GPS) หน้าจอสัมผัส ผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียง (Siri) ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเงินสาธารณะที่มอบให้กับมหาวิทยาลัยและห้องปฏิบัติการวิจัย กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ แอปเปิ้ลผลิตไอโฟนโดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐบาล รัฐอนุญาตให้บริษัทเอกชน เช่นแอปเปิ้ล ถือครองทรัพย์สินทางปัญญาของเทคโนโลยีเหล่านี้ ผลกำไรจากนวัตกรรมที่ได้รับทุนจากภาครัฐเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของเอกชน บริษัทอย่างฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ที่ทั้งผลิตชิ้นส่วนของไอโฟนและประกอบตัวเครื่อง ไม่สามารถตัดแอปเปิ้ลออกไปได้ ทั้งไม่สามารถขายโทรศัพท์เหล่านี้ได้เนื่องจากมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเนื่องจากตัวบริษัทแอปเปิ้ลได้สร้างแบรนด์ที่ทรงพลังมาก
และในเมื่อแอปเปิ้ลไม่ได้สร้างเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเอง คำถามจึงมีอยู่ว่า ใครสมควรได้รับผลกำไรจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยทุนสาธารณะ?
วัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตไอโฟนมีดังนี้:
- อลูมิเนียม (Aluminium)
- สารหนู (Arsenic)
- ถ่าน, คาร์บอน (Carbon)
- โคบอลต์ (Cobalt)
- โคลัมไบต์-แทนทาไลต์ (Coltan)
- ทองแดง (Copper)
- แกลเลียม (Gallium)
- ทอง (Gold)
- เหล็ก (Iron)
- ทองคำขาว, แพลตตินั่ม (Platinum)
- ซิลิกอน (Silicon)
- ดีบุก (Tin)
วัตถุดิบเหล่านี้มีที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน ตั้งแต่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไปจนถึงโบลิเวีย รายงานจากหน่วยงานที่มีชื่อเสียงเช่น ยูนิเซฟ (UNICEF, หน่วยงานเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า ซัพพลายเออร์ (suppliers) ของไอโฟนใช้แรงงานเด็กในการสกัดแร่ธาตุเหล่านี้จากเหมือง และพวกเขาจ่ายค่าจ้างให้คนงานเหมืองในจำนวนที่ไม่พอกินพอใช้ รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นว่า เด็ก 40,000 คนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทำงานในเหมืองที่มีสภาพอันตรายมาก
การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ และปัญหาสุขภาพในระยะยาวเกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ เด็ก ๆ ทำงานถึงสิบสองชั่วโมงต่อวัน โดยต้องแบกของหนักออกจากเหมืองลึกโดยได้รับค่าจ้างแค่ 1 ถึง 2 เหรียญต่อวัน นอกจากนี้ แรงงานเด็กยังเป็นแรงงานบังคับ โดยบริษัทเหมืองตระหนักดีว่า การขุดแร่ธาตุที่หายากและวัตถุดิบที่สำคัญนั้นมีต้นทุนต่ำมากเพราะมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธใช้ปืนจ่อบังคับให้คนงานลงไปทำงานในเหมือง นี่เป็นสิ่งที่เห็นกันทั่วแอฟริกากลาง รูปแบบของระเบียบแรงงานเหล่านี้นำเอาองค์ประกอบและแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ผลิตไอโฟนออกจากพื้นผิวโลก และยังเป็นส่วนที่ถูกนำมาใช้แล้วทิ้งมากที่สุดในห่วงโซ่สินค้าโลกอีกด้วย
หลักจรรยาบรรณของซัพพลายเออร์ของ Apple (อัปเดตเป็นประจำ ล่าสุดในปี 2019) กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ‘แอปเปิ้ลเชื่อว่า พนักงานทุกคนในห่วงโซ่อุปทานของเราสมควรได้อยู่ในสถานทำงานที่เปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมและจริยธรรม พนักงานจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติและด้วยความเคารพสูงสุด และซัพพลายเออร์ของแอปเปิ้ลจะต้องรักษามาตรฐานสูงสุดของสิทธิมนุษยชนเอาไว้’
ถ้อยคำเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้มีความหมายอะไรมากมายต่อแอปเปิลนัก และแทบจะไร้ความหมายต่อผู้รับเหมาช่วงที่จัดหาวัตถุดิบจากสถานที่ ๆ ห่างไกลจากจินตนาการของผู้ซื้อโทรศัพท์เหล่านี้
จากนั้นวัตถุดิบก็จะเข้าสู่หน่วยการผลิตในอย่างน้อยสามสิบประเทศ ตั้งแต่ยุโรปไปจนถึงจีน ชิ้นส่วนของไอโฟนส่วนใหญ่ถูกผลิตในโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศจีน เพื่อให้เห็นความหลากหลายของซัพพลายเออร์ที่จัดหาชิ้นส่วนไอโฟน ให้ดูแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเหล่านี้ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นไอโฟน 5s และ ไอโฟน 6 :
- ตัววัดความเร่ง : Bosch ในประเทศเยอรมนี
Invensense ในสหรัฐอเมริกา
- ชิปเซ็ตเสียงและตัวแปลงสัญญาณวงจรรวมระบบเสียง (Cirrus Logic) ในสหรัฐอเมริกา (จัดจ้างคนภายนอกเพื่อการผลิต)
- โปรเซสเซอร์เบสแบนด์ (หรือหน่วยประมวลผลวิทยุ baseband) ผลิตโดย ควอลคอมม์ (Qualcomm) ในสหรัฐอเมริกา (จัดจ้างคนภายนอกเพื่อการผลิต)
- แบตเตอรี่ : Samsung ในเกาหลีใต้
Huizhou Desay Battery ในประเทศจีน
- กล้อง : Sony ในญี่ปุ่น.
OmniVision ในสหรัฐอเมริกาผลิตชิปกล้องหน้า FaceTime แต่จ้างช่วง TMSC (ในไต้หวัน) ให้ผลิตแทน
- ชิปเซ็ตและหน่วยประมวลผล : Samsung ในเกาหลีใต้และ TSMC ในไต้หวัน
เคียงข้างไปกับคู่ค้า GlobalFoundries ในสหรัฐอเมริกา
- ชิปควบคุม PMC Sierra และ Broadcom Corp ในสหรัฐอเมริกา (จ้างคนภายนอกเพื่อการผลิต)
- จอแสดงผล Japan Display และ Sharp ในญี่ปุ่น
LG Display ในเกาหลีใต้
- ดีแรม TSMC ในไต้หวัน SK Hynix ในเกาหลีใต้
- อีคอมพาส (eCompass) Alps Electric ในญี่ปุ่น
- เซ็นเซอร์ตรวจสอบลายนิ้วมือ
บริษัท Authentec เป็นคนผลิตในประเทศจีน แต่ว่าจ้างให้ไต้หวันผลิตแทน
- หน่วยความจำแฟลช
Toshiba ในญี่ปุ่นและ Samsung ในเกาหลีใต้
- ไจโรสโคป (Gyroscope) STMicroelectronics ในฝรั่งเศสและอิตาลี
- ขดลวดเหนี่ยวนำ (เสียง). TDK ในญี่ปุ่น
- เมนประกอบแชสซีหลัก (Main Chassis Assembly). Foxconn และ Pegatron ในประเทศจีน
- ชิปสัญญาณผสม (เช่น NFC) ผลิตโดย NXP ในเนเธอร์แลนด์
- โครงสร้างพลาสติก (สำหรับไอโฟน 5c)
Hi-P และ Green Point-Jabil ในสิงคโปร์
- โมดูลคลื่นความถี่วิทยุ Win Semiconductors (ผู้ผลิตโมดูล Avago และ RF Micro Devices) ในไต้หวัน
เทคโนโลยี Avago และ TriQuint เซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอเมริกา
LTE connectivity = Qualcomm ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิต
- หน้าจอและกระจก (สำหรับการแสดงผล) = คอร์นนิ่ง (Gorilla Glass) ในสหรัฐอเมริกา
GT Advanced Technologies เป็นผู้ผลิตแซฟไฟร์คริสตัล (sapphire crystals) ในหน้าจอ
- เซมิคอนดักเตอร์. Texas Instruments, Fairchild และ Maxim ควบรวมอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิต
- เซ็นเซอร์ตรวจสอบลายนิ้วมือ (Touch ID sensor) = TSMC และ Xintec ในไต้หวันเป็นผู้ผลิต
- ตัวควบคุมหน้าจอสัมผัส Broadcom ในสหรัฐอเมริกา (จ้างคนภายนอกเพื่อการผลิต)
- โมดูลส่งสัญญาณและขยายสัญญาณ
Skyworks และ Qorvo ในสหรัฐอเมริกา (จ้างภายนอกเพื่อการผลิต)
บริษัทที่น่าจับตามองมากที่สุดในบรรดาบริษัทเหล่านี้คือฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) (Hon Hai Precision Industry) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตจากไต้หวัน บริษัทดังกล่าวสร้างรายได้ถึง 160 พันล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2017 มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านคนทำงานรับจ้างอยู่ในจีน ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั่วทั้งโลกมีเพียงแค่วอลมาร์ต (Walmart) และแม็กโดนัลด์ (McDonald’s) เท่านั้นที่มีพนักงานเยอะกว่าฟ็อกซ์คอนน์
มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ ณ โรงงานเหล่านี้ ตอนนี้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘’Foxconn Suicides’ เนื่องจากคนงานจำนวนมากเสียชีวิตในการประท้วงค่าแรงที่ตกต่ำและสภาพการทำงานอันย่ำแย่ในเมืองฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn City) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ที่ประเทศจีน สื่อจีนเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การฆ่าตัวตายด่วน’ (suicide express)
นักวิชาการชาวจีนสองคน (Pun Ngai และ Jenny Chan, 2012) ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ณ ฟ็อกซ์คอนน์ ตามรายงานที่บันทึกไว้อย่างน่าสะเทือนใจ พวกเขาอ้างอิงคำพูดของคนงานหลายคนจากโรงงานประกอบโทรศัพท์มือถือ:
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึง 2012 สตีฟ จ็อบส์กล่าวอย่างหนักแน่นว่า แอปเปิ้ลตระหนักดีถึงอัตราการฆ่าตัวตายสูงริ่วที่เกิดขึ้นในฟ็อกซ์คอนน์ (“Foxconn suicides”) และปัญหานี้อยู่ภายใต้การควบคุม เขาย้ำอยู่เสมอว่า “เราเอาอยู่” กระนั้นเอง ปัญหาก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ และการฆ่าตัวตายก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียวของปัญหานี้ ค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ รวมไปถึงการขูดรีดความเป็นมนุษย์ในทุก ๆ วันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคนงาน บ่อยครั้งคนงานกว่า 150 คนเดินขึ้นไปบนดาดฟ้าอาคารและขู่ว่าจะกระโดดลงมา พวกเขาใช้ ‘Foxconn suicides’ เป็นกลยุทธ์ในการเจรจาต่อรอง นั่นคือขั้นระดับของกระบวนการผลิตไอโฟน
ส่วนที่ 2. วิเคราะห์ไอโฟนผ่านมุมมองมาร์กซิสต์
ถ้าคุณรู้สึกโกรธเคืองกับสิ่งที่คุณได้อ่านมา คุณก็วางใจได้ว่าคุณยังเป็นมนุษย์อยู่ ไม่ควรมีใครเมินเฉยต่อสภาพแวดล้อมของการผลิตไอโฟน ไม่ว่าจะเป็นเหมืองในอเมริกาใต้และแอฟริกา หรือโรงงานในเอเชียตะวันออก
แต่สมุดโน้ตเล่มนี้มองลึกลงไปมากกว่าความโกรธแค้น เรามุ่งเน้นไปที่การผลิตไอโฟน ซึ่งเป็นสินค้า ผ่านกรอบการวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ เราไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่ความโกรธแค้นต่อแอปเปิ้ลและฟ็อกซ์คอนน์เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งไปที่การวัดว่าแรงงานถูกขูดรีดไปมากน้อยแค่ไหนในการผลิตสินค้าชิ้นนี้ กล่าวอีกอย่างก็คือ เรามุ่งความสนใจไปที่การวัด อัตราการขูดรีด (rate of exploitation) อัตราการขูดรีดเป็นหนึ่งในกรอบคิดที่สำคัญที่สุดในทฤษฎีของมาร์กซ์ การวัดดังกล่าวทำให้เราเห็นว่าคนงานมีส่วนในการเพิ่มมูลค่าในกระบวนการผลิตมากน้อยเพียงใด และยังชี้ให้เห็นว่า แม้คนงานจะได้รับค่าจ้างมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยมนตราของการใช้เครื่องจักรและการบริหารกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อัตราการขูดรีดก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี
อัตราดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์อันขัดแย้งกันระหว่างนายทุนและแรงงาน โดยวัดออกมาในเชิงปริมาณ ในการวิเคราะห์อัตราการขูดรีดนั้นมีความเป็นการเมืองสุดขั้วอยู่ลึก ๆ มันทำให้เราเห็นว่า สัดส่วนของมูลค่าที่คนงานผลิตได้นั้นถูกนายทุนฉกชิงไปมากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้นยังช่วยให้เราคิดหาวิธีการจัดการการผลิตแบบอื่นและยุติการขูดรีดลงได้
การจะทำความเข้าใจอัตราของการขูดรีด เราต้องเข้าใจก่อนว่า สินค้า (commodity) และมูลค่า (value) ที่มาร์กซ์กล่าวถึงนั้นหมายถึงอะไร โดยทั้งสองเป็นคำศัพท์สำคัญในระบบความคิดทางเศรษฐกิจแบบมาร์กซิสต์
อะไรคือสินค้า? มาร์กซ์เริ่มต้นงานมหากาพย์ของเขา Capital (1867) ด้วยการอภิปรายถึงสินค้า เขาตั้งข้อสังเกตว่า ‘สินค้า เป็นวัตถุที่อยู่ภายนอกตัวเรา เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ธรรมชาติของความต้องการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความต้องการอาหารหรือความปรารถนา ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด เราไม่ได้มุ่งหาว่าวัตถุตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการดำรงชีพโดยตรง หรือโดยอ้อมในฐานะปัจจัยการผลิต’
สินค้าเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ แต่การที่มันตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคหมายความว่ามันเป็นมากกว่านั้น มันคือสิ่งที่สามารถขายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่สร้างมันขึ้นมาสามารถหาผลกำไรจากมันได้ ในตัวสินค้านั้นจึงมีทั้ง มูลค่าใช้สอย (use value) และ มูลค่า (value)
มูลค่าใช้สอยของสินค้าก็คือประโยชน์ในการใช้สอยของสินค้าดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกสู่ผู้บริโภคเอง ไอโฟนคือตัวอย่างที่ดี เพราะสามารถนำไปใช้ได้หลายอย่าง เช่น โทรออก ดูคลิปวิดีโอ ใช้เป็นเข็มทิศ หรือหยิบขึ้นมาเล่นเวลาที่คุณรู้สึกอึดอัด (หรือแม้แต่เสริมภาพลักษณ์ของคุณ)
การปรากฏเผย (expression) ของมูลค่าสินค้า (เช่น มูลค่าการแลกเปลี่ยน) คือราคาของสินค้าชิ้นนั้น เราทราบดีว่า มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักมาร์กซิสต์ถึงความสัมพันธ์ของราคากับมูลค่าของตัวสินค้า ข้อถกเถียงดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ปัญหาของการเปลี่ยนแปลง’ (transformation problem) หรือก็คือ ปัญหาการแปลงมูลค่ามาสู่ราคาของการผลิต อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า ในกรณีของไอโฟนมันชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว และเราก็ยังจับจุดสำคัญได้อยู่ ในกรณีของไอโฟน X การปรากฏเผยมูลค่าของสินค้าดังกล่าวคือ $999 มูลค่าก็คือสิ่งที่สินค้าสามารถเรียกร้องในตลาดได้
ทว่า เบื้องหลังราคาดังกล่าวก็คือกลุ่มมูลค่าที่ตกผลึกมาแล้ว (a mass of crystallised values) ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสามส่วนของมูลค่าทั้งหมด: ทุนคงที่ (constant capital) ทุนแปรผัน (variable capital) และมูลค่าส่วนเกิน (surplus value) แนวคิดเหล่านี้เป็นคอนเซ็ปต์หลัก ๆ ของการวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์
ทุนคงที่ (constant capital)
วัตถุดิบต่าง ๆ ถูกนำเข้าสู่โรงงานโดยจะถูกแรงงานและเครื่องจักรแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าต่อไป วัตถุดิบเหล่านี้ รวมไปถึงวัสดุเสริมอื่น ๆ และเครื่องมือของแรงงาน (เครื่องจักร เครื่องมือ ฯลฯ) ล้วนถูกดัดแปลงมาจากธรรมชาติในที่อื่นแล้ว
มีความเป็นแรงงานอยู่ในตัววัตถุดิบเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่วัตถุ ‘ดิบ’ อีกต่อไป มูลค่าของวัตถุดิบและเครื่องมือแรงงานมีความตายตัวในเชิงปริมาณอยู่แล้วในแง่ของปริมาณแรงงาน (labour content) มูลค่าที่ตายตัวนี้ถูกโอนไปยังสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ภายในกระบวนการผลิต
มูลค่าของมันเคลื่อนเข้าสู่สินค้าอันใหม่ คาร์ล มาร์กซ์ เรียกมูลค่าของวัตถุดิบและเครื่องมือแรงงานเหล่านี้ว่า ทุนคงที่ (constant capital)
ทุนคงที่ สำหรับไอโฟนนั้นรวมไปถึงแร่ธาตุและโลหะทั้งหมดที่ปรากฏอยู่บนสายพานการผลิต ตลอดจนชิ้นส่วนของเครื่องจักรที่ใช้แปรรูปวัตถุดิบที่นับวันก็ยิ่งเสื่อมสภาพลงไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะถูกแปรรูปและประกอบกันขึ้นเป็นไอโฟน ในกระบวนการแปรรูปดังกล่าว แร่ธาตุ โลหะ และเครื่องจักร ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าของแร่ธาตุเหล่านั้น มูลค่าของวัตถุดิบเหล่านั้นจะยังคงอยู่ในตัวไอโฟน กล่าวคือ มูลค่าจะยังคงที่ต่อไป
เมื่อสิ้นสุดกระบวนการผลิต มูลค่าของปัจจัยการผลิตทั้งหมดที่ถูกโอน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เครื่องจักร สิ่งปลูกสร้าง ไม่สามารถเป็นได้มากกว่าสิ่งที่มันมีอยู่แต่เดิม คุณค่าของมันซึ่งยังคงที่อยู่เหมือนเดิม จะถูกกักเก็บไว้ในตัวไอโฟน
ทุนแปรผัน (variable capital)
บริษัทนายทุนทำการลงทุนขั้นต้นในกระบวนการผลิต ดังนี้:
- ค่าจ้างและเงินเดือนคนงาน
- ค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human inputs) โดยเฉพาะเครื่องมือ เครื่องจักร อาคาร พลังงาน และอื่น ๆ
ค่าใช้จ่ายถัดมาคือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งเรียกกันว่า ทุนคงที่ (constant capital) ตามที่อธิบายไว้ข้างต้น
ค่าใช้จ่ายอันแรก นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้างและเงินเดือน เรียกว่า ทุนแปรผัน (variable capital) เพื่อให้คำนวณได้ง่ายขึ้น เราจะถือว่า คนงานทุกคนสร้างผลิตผล (productive) ในความหมายของมาร์กซิสต์ (กล่าวคือ พวกเขาผลิตมูลค่าส่วนเกินและไม่ได้กระจายมูลค่าส่วนเกินเหมือนคนงานที่ “ไม่ได้สร้างผลิตผล” เช่น ผู้ที่มีส่วนร่วมในการค้าแลกเปลี่ยน)
ในระบบทุนนิยม ผู้คนมี ‘อิสรภาพ’ สองอย่าง หนึ่งคือ พวกเขามีอิสรภาพจากการเป็นทาสและมีอิสรภาพที่จะอดตาย อิสรภาพจากการเป็นทาสและจากปัจจัยในการหาเลี้ยงชีพบังคับให้ผู้คนต้องขายความสามารถในการใช้แรงของตนแก่ผู้ที่มีทุน (ที่ดินหรือเงิน)
สิ่งที่คนขายไม่ใช่ตัวของเขาเอง (เพราะพวกเขาเป็นอิสระจากการเป็นทาสอยู่แล้ว) แต่พวกเขาขายกำลังแรงงานของตัวเองเพื่อแลกกับค่าแรง ค่าแรงสอดคล้องกับเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงมูลค่าจำนวนหนึ่ง เป็นจำนวนที่จำเป็นในการตอบสนองต่อความต้องการบริโภคของคนงาน
มาร์กซ์เรียกกำลังแรงงานว่าเป็นสินค้าพิเศษ (peculiar commodity) เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ สินค้าพิเศษดังกล่าวต้องมีอยู่สองด้านด้วยกัน นั่นคือ มูลค่าใช้สอยและมูลค่า ค่าแรงคือ มูลค่าแลกเปลี่ยน ของกำลังแรงงาน ในขณะที่แรงงานคือมูลค่าใช้สอยของกำลังแรงงาน ความแตกต่างระหว่างมูลค่าใช้สอยของกำลังแรงงานกับมูลค่าแลกเปลี่ยนของกำลังแรงงานนี้เป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจมูลค่าส่วนเกินและการผลิตมูลค่าส่วนเกินในมุมมองแบบมาร์กซิสต์
ในวันทำงาน คนงานเปลี่ยนความสามารถในการใช้แรงไปเป็นการออกแรง (an act of labour) ทักษะต่าง ๆ ของพวกเขาถูกนำมาใช้เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบและเครื่องจักรให้กลายเป็นสินค้า (commodities)
ในระหว่างวันทำงานและตามสภาพเงื่อนไขของการทำงาน มูลค่าที่คนงานผลิตออกมาโดยรวมนั้นมากเกินความจำเป็นต่อการบริโภคและการผลิตซ้ำกำลังแรงงานของพวกเขาเอง มูลค่าที่พวกเขาต้องใช้ไปกับการบริโภคและการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน ซึ่งแสดงออกมาผ่านค่าจ้างนั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของมูลค่าที่พวกเขาสร้างได้ในระหว่างวันทำงาน
คนงานผลิตมูลค่ามากกว่าค่าแรงที่พวกเขาได้รับ มูลค่าที่มากกว่าปกตินี้เรียกว่า มูลค่าส่วนเกิน (surplus value) หากการจัดการด้านแรงงานเปลี่ยนไปหรือหากเครื่องจักรทำงานด้วยความเร็วที่ต่างกัน มูลค่าก็อาจจะถูกผลิตมากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งหมายความว่ามูลค่าส่วนเกินจะเพิ่มขึ้น (หรือลดลง) ด้วย ความจริงที่ว่า กำลังแรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าพิเศษนี้ มีศักยภาพในการผลิตมูลค่าที่มากเกินจำเป็นต่อการผลิตซ้ำ เป็นสิ่งที่ทำให้ทุนดังกล่าวเป็น ทุนแปรผัน (variable capital)
มูลค่าส่วนเกิน (surplus value)
วัตถุดิบต่าง ๆ ที่อยู่ในสายพานการผลิต ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักร และไฟฟ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยในการแปรรูปวัตถุดิบต่าง ๆ ทั้งหมดจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าคนงานไม่ใส่กำลังแรงงานที่จำเป็น (necessary work of the labour power) เข้าไปในระบบ คนงานนำเครื่องมือต่าง ๆ มาแปรรูปวัตถุดิบให้กลายเป็นสินค้า สิ่งสำคัญคือการใส่กำลังแรงงานเข้าไป กำลังแรงงานที่ซื้อมาจากคนงานต่างจากสินค้าตัวอื่น ๆ ตรงที่มันต้องผลิตมูลค่าใหม่เหล่านี้ขึ้นมา คนงานเหนื่อยตอนไหนก็กลับบ้านไปผลิตซ้ำกำลังแรงงานเพื่อนำมาขายอีกครั้ง
คนงานขายกำลังแรงงานของตนแลกกับเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อพวกเขาเริ่มทำงานผลิตสินค้า พวกเขาใช้เวลาเพียงเศษเสี้ยวของวันทำงานในการผลิตสินค้าให้เทียบเท่ากับค่าแรงของตน มาร์กซ์เรียกสิ่งนี้ว่า เวลาแรงงานที่จำเป็น (necessary labour time) มัน ‘จำเป็น’ เพราะในแต่ละยุคแต่ละประเทศ จะต้องใช้สินค้าและการบริการในปริมาณที่ต่างกันเพื่อผลิตซ้ำกำลังแรงงานที่คนงานได้ใช้ไป บางประเทศมาตรฐานการครองชีพต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า เวลาแรงงานที่จำเป็นก็สั้นกว่าเช่นกัน เวลาที่เหลือของวันทำงาน ภายหลังจากเวลาแรงงานที่จำเป็น ก็คือ เวลาแรงงานส่วนเกิน (surplus labour time) มันคือเวลาที่คนงานใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่ต้องนำมาจ่ายค่าแรงให้แก่คนงาน
อัตรามูลค่าส่วนเกิน (Rate of Surplus Value)
แนวคิดของมาร์กซ์ นั่นก็คือ อัตราการขูดรีด สามารถวัดได้โดยใช้กรอบคิดทุนแปรผันและมูลค่าส่วนเกิน ทุนแปรผันคือสัดส่วนของมูลค่าที่ถูกผลิตขึ้นในกระบวนการผลิตซึ่งตกเป็นของคนงาน ในทางกลับกัน มูลค่าส่วนเกินคือสัดส่วนของมูลค่าซึ่งตกเป็นของนายทุน จะเห็นได้ว่า อัตราส่วนของมูลค่าส่วนเกินต่อทุนแปรผัน หรือ s/v แสดงให้เห็นถึงการขูดรีดคนงานในเชิงปริมาณ หรือเรียกอีกอย่างว่า อัตรามูลค่าส่วนเกิน (rate of surplus value)
ลองตั้งสมมติฐานว่ามีสินค้าชิ้นหนึ่งมูลค่า $1,000 ทุนคงที่มูลค่า $500 ทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เครื่องมือ และพลังงาน ต่างเข้าสู่กระบวนการผลิตและปรากฏออกมาอีกครั้งในรูปอื่นโดยที่ยังรักษามูลค่าเดิมเอาไว้ มูลค่าของมันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุนแปรผันซึ่งเป็นสิ่งที่คนงานได้รับก็คือ $250 มูลค่าส่วนเกินซึ่งเป็นสิ่งที่นายทุนฉกชิงไป คือปริมาณมูลค่าที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาแรงงานส่วนเกิน ซึ่งในตัวอย่างที่เรายกมาก็คือ $250
อัตราการการขูดรีดวัดโดย s/v หรือมูลค่าส่วนเกินหารด้วยทุนแปรผัน ตัวเลขของสินค้าตามสมมติฐานดังกล่าวมีสมการดังต่อไปนี้:
s/v = $250/$250 = 100%
S = $250
V = $250
C = $500
มูลค่ารวม = $1000
อัตราการขูดรีดแรงงานในกรณีนี้เท่ากับ 100% กล่าวคือ ทุก 1 ดอลลาร์ที่คนงานหามาได้ นายทุนจะฉกชิงมูลค่าส่วนเกินไป 1 ดอลลาร์
ตอนนี้เราจึงมีเครื่องมือทางทฤษฎีในการวัดอัตราการขูดรีดของคนงานที่ผลิตไอโฟน อย่างไรก็ดี จำต้องชี้ให้เห็นว่า หากจะคำนวณทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์กซ์ออกมาในเชิงประจักษ์ จะต้องสร้างสมมติฐานที่ลดทอนความซับซ้อนของความเป็นจริงขึ้นมาด้วย ถึงจะอย่างนั้น ในมุมมองของเรา สมมติฐานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ราคาสะท้อนมูลค่า ต่างก็มีความสมเหตุสมผล และการลดทอนความซับซ้อนดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เกินจริงแต่อย่างใด (Shaikh and Tonak, 1994)
ขั้นตอนที่ใช้ในสมุดโน้ตเล่มนี้ในการคำนวณอัตรามูลค่าส่วนเกินในไอโฟน X คล้ายคลึงกับที่คาร์ล มาร์กซ์ เคยคำนวณอัตรามูลค่าส่วนเกินในการผลิตเส้นด้าย ใน Capital I มาร์กซ์บันทึกไว้ว่า ‘สัดส่วนคงที่ของมูลค่าของสินค้าในแต่ละสัปดาห์คือ 378 ปอนด์ แต่ค่าจ้างต่อสัปดาห์คือ 52 ปอนด์ ราคาเส้นด้ายคือผลรวม 510 ปอนด์ มูลค่าส่วนเกินในกรณีนี้ก็คือ 510 – 430 ปอนด์ = 80 ปอนด์ …อัตรามูลค่าส่วนเกินจึงเป็น 80/52 = 153 11/13%’
เราเริ่มจากราคาของไอโฟน X ในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ $999 เราเชื่อว่า ตัวเลขนี้แสดงถึงมูลค่าโดยรวมที่อยู่ในตัวสินค้า (commodity) ในสินค้าทุก ๆ ชิ้นที่ถูกผลิตขึ้นในกระบวนการผลิตแบบทุนนิยม มวลของมูลค่าที่อยู่ในสินค้าชิ้นนั้นประกอบไปด้วยส่วนมูลค่าสามส่วน นั่นก็คือ ทุนคงที่ ทุนแปรผัน และมูลค่าส่วนเกิน ดังนั้น เราต้องประมาณค่าแต่ละส่วนของมูลค่าทั้งหมดของ iPhone X
ทุนคงที่ ข้อมูลจาก TechInsights ช่วยให้เราเห็นราคาของชิ้นส่วนต่าง ๆ ของไอโฟน XS Max และไอโฟน X อย่างละเอียดโดยเฉพาะ
ราคารวมทั้งหมดของมือถือทั้งสองรุ่นนี้อยู่ที่ 453 ดอลลาร์และ 395.44 ดอลลาร์ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายอันดับแรก ๆ นั้นรวมไปถึงค่า “การทดสอบ/การประกอบ/ข้อมูลสนับสนุน” สิ่งดังกล่าวทำให้ข้อมูลที่มาร์กซ์จะนำมาใช้ในการชี้ลักษณะเฉพาะของการวิเคราะห์มีความสับสนปนเป ‘การทดสอบ/การประกอบ’ นั้นเป็นทุนแปรผัน เนื่องจากต้องมีการซื้อกำลังแรงงานมาก่อนเพื่อที่จะทำงานเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ‘ข้อมูลสนับสนุน’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัตถุดิบและเป็นทุนคงที่ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราจะตัดส่วนนี้ของรายการด้านบนออกจากการประเมินทุนคงที่ ดังนั้นจำนวนเงินที่แสดงถึงทุนคงที่โดยคร่าวก็คือ 428.50 ดอลลาร์ (453 – 24.50 ดอลลาร์) และ 370.89 ดอลลาร์ (395.44 – 24.55 ดอลลาร์)
กรณีของไอโฟน X เราประเมินจำนวนทุนคงที่ได้ 370.89 ดอลลาร์
ทุนแปรผัน (variable capital)
การประมาณค่าทุนแปรผันจากมูลค่ารวมของ iPhone นั้นยิ่งจะมีปัญหา เพราะเรากำลังเผชิญหน้ากับการปกปิดของแอปเปิ้ล ซึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลค่าจ้าง เราต้องตระหนักถึงปัญหาเพิ่มเติมเกี่ยวข้อมูลอีกสองประการ ประการแรก เราไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของแอปเปิ้ลในเรื่องการวิจัยและการออกแบบไอโฟนขั้นต้น เราเชื่อว่า สามารถมองข้ามค่าใช้จ่ายในการวิจัยและการออกแบบเบื้องต้นไปได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกกระจายไปยังไอโฟนรุ่นต่าง ๆ นอกจากนี้ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาก็ยิ่งถูกมองข้ามมากขึ้นในไอโฟนรุ่นใหม่ ๆ ประการที่สอง เราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความแตกต่างของค่าแรงที่คนงานผลิตชิ้นส่วนไอโฟนในแต่ละประเทศได้รับ ส่วนต่างของค่าจ้างดังกล่าวอาจถูกมองข้ามไปได้ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนไอโฟนตั้งอยู่ในโซนที่ค่าจ้างเหล่านี้ไม่ได้ต่างกันมาก ตามจริงแล้ว เนื่องจากเราประเมินค่าแรงโดยพิจารณาในด้านการผลิตและไม่ได้นับรวมการขูดรีดวัตถุดิบ เราจึงประเมินค่าแรงสูงเกินจริงแทนที่จะต่ำกว่านี้
เราคิดว่า สมมติฐานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้เนื่องจากตัวเลขของทุนแปรผัน (24.55 ดอลลาร์) ตั้งอยู่บน “การทดสอบ/การประกอบ/ข้อมูลสนับสนุน” ซึ่งอาจประเมินขอบเขตแรงงานการผลิต (productive labour) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตไอโฟน X สูงเกินไป
มูลค่ารวมของไอโฟน = $999
เงินทุนคงที่ = $370.89
ทุนแปรผัน = $24.55
มูลค่าส่วนเกินเท่ากับเท่าไร?
มูลค่าส่วนเกิน = (มูลค่ารวม) – (ทุนคงที่ + ทุนแปรผัน)
$999 – ($370.89 + $24.55 )
= $603.56
ทุกครั้งที่ไอโฟน X ถูกขายในราคา $999 แอปเปิ้ลจะได้รับมูลค่าส่วนเกิน $603.56 เป็นเงิน
อัตราการขูดรีดเท่ากับเท่าไร?
s/v = 603.56/24.55 = 2458%
อัตราการขูดรีดเท่ากับ 2458% ตัวเลขดังกล่าวเท่ากับอัตราการขูดรีดที่รวบรวมจากตัวอย่างของมาร์กซ์ใน Capital ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1867 ถึง 25 เท่า กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนงานที่ผลิตไอโฟนในศตวรรษที่ 21 ถูกขูดรีดมากกว่าคนงานทอผ้าในอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 19 ถึง 25 เท่า
S = $603.56
V = $24.55
C = $370.89
มูลค่ารวม
= $999
ตัวเลขดังกล่าว 2458% บอกอะไรกับเรา? มันชี้ให้เห็นว่า คนงานได้รับค่าแรงที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเพียงน้อยนิดเท่านั้นเมื่อเทียบกับงานที่เขาทำอยู่ คนงานใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการผลิตสินค้าที่ช่วยเพิ่มความมั่งคั่งให้กับนายทุน ยิ่งอัตราการขูดรีดสูงเท่าใด แรงงานของคนงานก็จะยิ่งเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ทุนมากเท่านั้น
ภาคผนวก
Kenneth L. Kraemer, Greg Linden และ Jason Dedrick (2011) วิเคราะห์การกระจายกำไรขั้นต้นในเชิงภูมิศาสตร์ที่ซัพพลายเออร์ชั้นหนึ่งของไอโฟน 4 ได้รับ ในบทวิเคราะห์ของพวกเขา พวกเขาแบ่งต้นทุนของปัจจัยการผลิตออกเป็นวัตถุดิบและแรงงาน มองจากจุดยืนที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์ พวกเขาพยายามระบุสัดส่วนโดยประมาณของมูลค่าส่วนเกิน (กำไรขั้นต้น) ทุนคงที่ (วัตถุดิบ) และทุนแปรผัน (แรงงาน) จากมูลค่ารวมของไอโฟน 4
จากข้อมูลในแผนภูมินี้ เราสามารถทำการคำนวณคร่าว ๆ เพื่อหาอัตราการขูดรีดของไอโฟน 4 ได้
- สัดส่วนโดยประมาณของมูลค่าส่วนเกินในมูลค่ารวมของไอโฟน 4 คือ 73% (กำไรของแอปเปิ้ล + กำไรที่ไม่ใช่ของแอปเปิ้ลในสหรัฐอเมริกา + กำไรยุโรป + กำไรไต้หวัน + กำไรญี่ปุ่น + กำไรเกาหลีใต้ + กำไรที่ไม่ปรากฏชื่อ)
- สัดส่วนของต้นทุนวัสดุโดยรวมคือ 21.9%
- สัดส่วนของต้นทุนแรงงานทั้งหมดคือ 5.3% ซึ่งแรงงานนอกประเทศจีนคือ 3.5%
สมมติว่า สัดส่วนใหญ่ ๆ ของต้นทุนแรงงานนอกประเทศจีนเป็นเงินเดือนของลูกจ้างระดับผู้บริหารและหัวหน้างาน (คนงานที่ไม่ได้สร้างผลิตผล ซึ่งเงินเดือนมาจากส่วนแบ่งของมูลค่าส่วนเกิน) เราจะสามารถสรุปได้อย่างสมเหตุสมผลว่า 1.5% ของต้นทุนนั้นเป็นทุนแปรผัน
ทุนแปรผันทั้งหมดคือสัดส่วนแรงงานจีน (1.8%) และแรงงานผลิตที่ไม่ใช่จีน (1.5%) สัดส่วนของทุนแปรผันทั้งหมดจากมูลค่ารวมของ iPhone 4 จึงเป็น 3.3%
- จากตัวเลขเหล่านี้ อัตราการขูดรีดของไอโฟน 4 คือ 75/3.3 = 2273%
สมุดโน้ตนี้อิงข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของ E. Ahmet Tonak นักเศรษฐศาสตร์ของเรา บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ปรากฏในชื่อ “iPhone 6’daki sömürü orani?’ (Sendika.org, 30 พฤศจิกายน 2014)
References.
- Anwar M. Shaikh and E. Ahmet Tonak, Measuring the Wealth of Nations. The Political Economy of National Accounts, Cambridge: Cambridge University Press, 1994.
- Baruch Gottlieb, A Political Economy of the Smallest Things, New York: ATROPOS Press, 2016.
- Brian Merchant, The One Device: The Secret History of the iPhone, New York: Little, Brown and Company, 2017.
- Kenneth L. Kraemer, Greg Linden and Jason Dedrick, ‘Capturing Value in Global Networks: Apple’s iPad and iPhone’, July 2011.
- Karl Marx, Capital, volume 1, New Delhi: LeftWord Books, 2014.
- Pun Ngai and Jenny Chan, ‘Global Capital, the State, and Chinese Workers: The Foxconn Experience’, Modern China, vol. 38, no. 4, 2012.
- Tricontinental: Institute for Social Research, In the Ruins of the Present, Working Document no. 1, 2018.
ไตรทวีป: สถาบันเพื่อการวิจัยทางสังคม
เป็นสถาบันนานาชาติ ขับเคลื่อนด้วยการเคลื่อนไหว มุ่งส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงทางปัญญาซึ่งตอบสนองต่อปณิธานของผู้คน
www.thetricontinental.org