ผู้เขียน – วริษา สุขกำเนิด

บทความนี้จำเป็นต้องใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเพื่อป้องกันการคาดเคลื่อนและคลุมเคลือของความหมาย

ตั้งแต่เริ่มท่องโลกในโลกโซเชียลมีเดีย Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นคำที่ผู้เขียนเห็นจนชินตา ไม่ว่าจะมีความรุนแรงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และอื่นๆ Empathy ก็เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาในข้อถกเถียงเสมอ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเล่าว่า Empathy มีบทบาทอย่างไรในโลกโซเชียลมีเดีย ผ่านการทบทวนความคิดของ Byung Chul Han ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเสรีนิยมใหม่  และทุนนิยมการสื่อสาร (Cognitive capitalism)

 ก่อนที่จะกล่าวถึง Empathy ผู้เขียนขอเล่าถึงบทบาทของความรู้สึกทั่วไปในโลกการผลิตสัญญะในโลกทุนนิยมการสื่อสารเสียก่อน ในหนังสือเรื่อง Psychopolitics (2017) Han ได้เสนอในบท Emotional Capitalism ไว้ว่า อารมณ์ (Emotion) กลายเป็นตรรกะใหม่ของทุนนิยมการสื่อสารไปเสียแล้ว การที่อารมณ์กลายมาเป็นปัจจัยในการผลิต (Mode of Production) เป็นเพราะคุณสมบัติอันโดดเด่นของมันที่เข้ากับทุนนิยมการสื่อสารได้ดี และแยกขาดมันออกจากสภาวะทางจิตใจประเภทอื่นๆ กล่าวคือ

(1) อารมณ์ (Emotion) แตกต่างจากความรู้สึก (Feeling) และ บรรยากาศ (Mood) ความรู้สึกและบรรยากาศมาพร้อมกับการยึดโยงกับสถานที่ เช่นสิ่งรอบตัว ผู้คน เหตุการณ์ ยึดโยงกับเวลา เช่นเรื่องราวที่รับรู้ การตกผลึก ทั้งสองสภาวะยังเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมา และสภาวะที่มีความมั่นคงอยู่พอตัว ในขณะที่อารมณ์กลับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องซึมซับกับพื้นที่และเวลา มันมาพร้อมกับเรียกร้องให้แสดงออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการในภายในจิตใจบางประการ 

(2) อารมณ์มีลักษณะที่แตกต่างกับความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) ในขณะที่ความเป็นเหตุเป็นผลมาพร้อมกับความมั่นคงในหลักการ (และจิตใจ) และการใช้เวลาในการครุ่นคิดและฝึกฝน อารมณ์กลับเป็นสิ่งที่หุนหันพลันแล่น ทันทีทันใด และเป็นอิสระจากแบบแผนหรือหลักการมากกว่า 

ดังนั้น คุณสมบัติของอารมณ์ที่กล่าวมาจึงเข้ากันได้ดีกับทุนนิยมความรับรู้ที่ทำให้พื้นที่และเวลาสั้นลง (Time) อารมณ์จึงกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการสะสมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภค ในการโฆษณาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรืออวัตถุ อารมณ์ คือ สิ่งที่ทำให้การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กับการโฆษณาดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์หลักจากการที่ผู้บริโภค “มีอารมณ์” ต่อคอนเท้นท์มากมายคือนายทุนเจ้าของแพล็ตฟอร์มการสื่อสาร เพราะการที่ผู้บริโภคมีอารมณ์และโต้ตอบกับคอนเทนท์จะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาล ทั้งนี้ ผู้คนที่ใช้งานแพล็ตฟอร์มกลับต้องถูกกระตุ้นอารมณ์ด้วยข้อมูลที่ไหลบ่ามาอย่างไม่รู้จบ จนพวกเขามีแน้วโน้มที่จะเหนื่อยล้า วิตกกังวล หรือสมาธิสั้นมากขึ้นเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ในหนังสือเรื่อง The Disappearance Of Rituals (2020) Han ยังเสนอว่าโลกทุนนิยมการสื่อสารกำลังค่อย ๆ กัดกร่อนความเป็นชุมชนให้เหลือแต่เพียงปัจเจก เปลี่ยนจากชุมชนที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกันโดยไม่ต้องสื่อสารกันมาก (Community without Communication) ไปเป็นระบบที่เต็มไปด้วยการสื่อสารแต่ไร้ซึ่งความเป็นสังคม (Communication without Community) เขาขยายความว่า ในชุมชนแบบแรก (Community without Communication) ผู้คนในชุมชนจะเชื่อมโยงกันผ่านสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง สิ่งของ สภาพแวดล้อม หรือความเชื่อบางอย่างผ่านพิธีกรรม พิธีกรรมจึงมาพร้อมกับความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คนในชุมชนรับรู้ร่วมกัน และรับรู้ถึงกันและกัน เช่นในงานสังสรรค์ ผู้คนก็จะสนุกไปด้วยกัน หรืองานโศกเศร้า ผู้คนก็จะโศกเศร้าไปด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ระบบเสรีนิยมใหม่และทุนนิยมการสื่อสารกลับพรากความเป็นชุมชนไปจากเราและแลกมาด้วยความโดดเดี่ยว ดังนั้นมันจึงพรากพิธีกรรม และการรับรู้ความรู้สึกร่วมกับคนอื่น และแทนที่การรับรู้ถึงตัวเอง และรับรู้อารมณ์ที่เกิดจากการกระตุ้นของข้อมูลแทน

ความย้อนแย้งประการหนึ่งของเสรีนิยมใหม่คือ ในขณะที่มันเรียกร้องให้พวกเรากลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวและหลงตัวเอง จากการถีบหัวไล่ส่งคนที่อยู่ข้างๆ มันกลับเรียกร้องร้องให้เรามี Empathy เมื่อตอบสนองกับข้อมูลที่สะเทือนอารมณ์ในโลกออนไลน์ เราสามารถแสดง Empathy ผ่านการ “ทำอะไรซักอย่างอย่างรวดเร็ว” เช่นการกดถูกใจ แสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่เพื่อแสดงจุดยืน ในมุมมองของ Han แล้ว Empathy คืออารมณ์ที่เข้ากันได้ดีกับสังคมที่โดดเดี่ยว เนื่องด้วยเราไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกร่วมกับคนรอบข้างได้ ทำให้เราพยายาม (อย่างยิ่ง) ในการทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นในข้อมูล ในขณะเดียวกัน Empathy ก็กลายเป็นเครื่องมือในการสะสมทุนของทุนนิยมการสื่อสาร ในแง่ที่ว่ามันสามารถเหนี่ยวนำอารมณ์และชี้นำคนได้ และทำได้ดีกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผลเสียอีก มุมมองดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า นอกจากเราจะถูกขูดรีดแรงงานจนเกิดความรู้สึกด้านลบแล้ว มันยังขูดรีดเราผ่านความรู้สึกเชิงบวกอีกด้วย

ในมุมมองของผู้เขียน เราจำเป็นที่จะต้องก้าวผ่าน Empathy แบบปัจเจก ไปสู่ Empathy ที่ถอนรากถอนโคน โดยผู้เขียนจะขอยกมาสองข้อเสนอที่ต้องเกิดขึ้นร่วมกัน (1) การสร้างขบวนการหรือกลุ่มที่แยกขาดจากตรรกะแบบทุนนิยมการสื่อสาร หรือการสื่อสารที่มากเกิดไปจนไม่เห็นและรับรู้ถึงสังคมรอบข้าง เพื่อให้ปัญหาที่ต้องเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจภายในกลุ่มกลุ่มนั้น (2) การมองเหตุการณ์สะเทือนใจไม่ใช่ในฐานะเหตุการณ์ที่รุนแรงโดยตัวมันเอง แต่เกิดจากความรุนแรงเชิงเศรษฐกิจหรือสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ข้างใน รวมไปถึงการครุ่นคิดถึงที่มาของปัญหาและยุทธฺศาสตร์การต่อสู้ที่มากกว่าการแสดงออกซึ่งการแก้ปัญหาแบบทันทีทันใด แต่กลับไม่แก้ปัญหาจากต้นตอ (ตกผลึกแนวคิดจาก คู่มืออ่าน Violence สรวิศ ชัยนาม 2558) สองวิธีนี้จะทำให้ความเห็นใจผู้อื่นสามารถนำไปสู่การต่อสู้ได้

สหายตกีฟ เขียน

อ้างอิง

Han, Byung Chul., 2020. The Disappearance of Rituals. Cambridge: Polity Press.

Han, Byung Chul., 2017. Psycho-Politics Neoliberalism and Technologies of Power. New York: Verso.

สรวิศ ชัยนาม, 2558. Slavoj Zizek ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรุงเทพฯ: ศยามปัญญา.