มาร์กซิสม์ไม่ได้เป็นแค่การเรียกร้องให้มีการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ แต่มันเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ด้วย มันถูกเขียนไว้ใน Das Kapital เมื่อปี 1867 บทความชิ้นนี้จะอธิบายให้เห็นถึงการวิเคราะห์ดังกล่าวแบบคร่าว ๆ ซึ่งมีที่มาจากไตรภาค Das Kapital ทั้ง 3 เล่ม การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ของมาร์กซ์มองลงไปไกลกว่าความเข้าใจผิด ๆ ในสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ “ทั่วไป” (“common sense”) อันเป็นสิ่งที่เราพึ่งพาอาศัยมันอยู่ทุกวัน หรือก็คือสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น “เศรษฐกิจตามปกติ” (a natural state of economic affairs) ที่ซึ่งเราทุกคนต่างซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดอย่างยุติธรรม เมื่อเราวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ผ่านมุมมองมาร์กซิสต์เราก็จะเห็นได้ว่า กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจอันเป็นพื้นฐานของระบบที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแบบขูดรีด นี่คือจุดเริ่มต้นของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสองชนชั้น นั่นก็คือ ชนชั้นกรรมาชีพ (the proletariat) และชนชั้นกระฎุมพี (the bourgeoisie)
ชนชั้นกระฎุมพี – เจ้าของปัจจัยการผลิต (ธุรกิจ, โรงงาน, ฯลฯ)
ชนชั้นกรรมาชีพ – คนงาน ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
ในบริบทของไทย เราต้องพูดถึง กระฎุมพีน้อย (Petite Bourgeoisie) – หรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กด้วย ซึ่งอาจเป็นผู้ขายในตลาด เจ้าของร้านค้าขนาดเล็ก คนหาปลา เกษตรกรรายย่อย ฯลฯ ความแตกต่างระหว่างชนชั้นกระฎุมพีน้อยกับกระฎุมพีปกติ ในหลาย ๆ ครั้งก็จำแนกได้ยากและถูกตีความไปได้หลายอย่าง แต่ในประเทศไทย พ่อค้าแม่ค้าริมถนนซึ่งในทางเทคนิคเป็นชนชั้นกระฎุมพีน้อย มีผลประโยชน์ทางชนชั้นอยู่ในระนาบเดียวกับชนชั้นกรรมาชีพอย่างเห็นได้ชัด
ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน (Labour Theory of Value)
มูลค่าคือราคาของสิ่งที่ขายกันในตลาด ทฤษฎีมูลค่าแรงงานเป็นแนวคิดที่มักจะถือกันว่ามาจากมาร์กซ์ แม้ว่าเขาจะไม่ได้คิดขึ้นมาเองก็ตาม ที่จริงแล้วนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกส่วนมาก อย่างเช่นอดัม สมิธ เองก็พูดถึงเรื่องนี้
ทฤษฎีมูลค่าแรงงานระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจ ราคาของบางสิ่งบางอย่าง เช่น สินค้าหรือบริการ นั้นถูกกำหนดโดยปริมาณของแรงงานทั้งหมดที่จำเป็นในการผลิตสิ่งนั้น มูลค่าของสิ่ง ๆ หนึ่งไม่ได้ถูกกำหนดโดยความสำคัญหรือประโยชน์ใช้สอยของสิ่ง ๆ นั้นต่อมนุษย์ ซึ่งถ้าหากมันถูกกำหนดมาเช่นนั้น น้ำกับข้าวก็ย่อมมีมูลค่ามากกว่าทองคำ
เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมสิ่งต่าง ๆ ถึงมีราคาแบบที่มันมี มาร์กซ์แบ่งมูลค่าออกเป็นสองอย่างคือ
- มูลค่าใช้สอย (use value) – มูลค่าใช้สอยของสินค้าคือการที่คุณใช้สิ่งนั้นทำอะไรบางอย่าง
- มูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange value) – สัดส่วนมูลค่าที่สินค้าชิ้นหนึ่งสามารถแลกเป็นสินค้าชิ้นอื่น ๆ ได้
ยกตัวอย่างเช่น เก้าอี้ :
มูลค่าใช้สอยของเก้าอี้คือ มันเอาไว้นั่งได้
มูลค่าแลกเปลี่ยนของเก้าอี้คือ: ระยะเวลาที่แรงงานใช้ในการผลิตเก้าอี้ รวมไปถึงปัจจัยการผลิตทั้งหมด เช่น ไม้และสลักเกลียว กระบวนการใช้แรงงานมนุษย์ในการประกอบเก้าอี้ การออกแบบเก้าอี้ การขนส่งชิ้นส่วนทั้งหมดของเก้าอี้ ค่าแรงพนักงานร้านขายเก้าอี้ และอื่น ๆ
เพื่อชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างมูลค่าของวัตถุดิบกับมูลค่าของแรงงานที่จำเป็นในการผลิตเก้าอี้ มาร์กซ์ใช้คำว่า ทุนคงที่ (Constant Capital) และ ทุนแปรผัน (Variable Capital)
ทุนคงที่ – สินทรัพย์ถาวร ตัวอย่างเช่น โรงงานที่เป็นตัวอาคารจริง ๆ เครื่องจักร ที่ดินและอาคาร วัตถุดิบ ฯลฯ
ทุนแปรผัน – ต้นทุนแรงงาน เช่น เงินเดือนของคนงานในโรงงาน
ถ้าบอกว่า การผลิตรถยนต์ใช้เวลานานกว่าการผลิตเก้าอี้พันเท่า รถจึงมีค่ามากกว่าเก้าอี้ประมาณพันเท่าก็คงไม่ใช่ เพราะราคาจริงต้องซับซ้อนกว่านั้นแน่นอน แต่จุดสำคัญก็คือ มูลค่าไม่ใช่สิ่งที่ฝังอยู่ในตัวสินค้าอยู่แล้วแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น เพชรไม่เพียงแต่ส่องประกายแสงแวววาวและสวยงาม และมันไม่ได้มีมูลค่าโดยธรรมชาติ แต่ มูลค่าของมัน ถูกกำหนดโดยสังคม ผ่านตลาด
มาร์กซ์สรุปรวบยอดระบบทุนนิยมเป็นหลักการพื้นฐานดังนี้ นายทุนเริ่มจาก M ก็คือเงินที่จะเอามาลงทุนในการผลิต C ก็คือสินค้า จากนั้นก็ขายสินค้าเหล่านั้นเป็น M’ อีกทีโดยมี ‘ เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นเงินที่มากขึ้น (ส่วนเกิน) และทุนนิยมก็คือ ‘ ซึ่งหมายถึงการหามูลค่าเพิ่มเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ
เงิน (Money) – สินค้า (Commodities) – เงิน’ (Money’)
แล้วเงิน M’ ที่ว่านี้มาจากไหน? มาร์กซ์บอกว่าสิ่งดังกล่าวเป็นห่านมหัศจรรย์ของระบบทุนนิยม เป็นห่านมหัศจรรย์ที่ออกไข่ทองคำ เป็นโชคดีของเจ้านายและเป็นโชคร้ายของเรา ห่านทองคำที่ว่านี้ก็คือพวกเราที่เป็นคนงานนี่เอง แรงงานคือสินค้าพิเศษ เป็นความสามารถของเราในการทำงาน
ถ้าคุณทำงาน คุณก็จะได้เงิน ดังนั้นแรงงานของคุณจึงเป็นสินค้าเหมือนกันกับเก้าอี้
ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจว่าแรงงานของเรากลายมาเป็นสินค้าได้อย่างไร เราต้องแยกระหว่าง มูลค่าแลกเปลี่ยน และ มูลค่าใช้สอย ดังนี้:
มูลค่าแลกเปลี่ยน ของแรงงานเราก็คือค่าแรงที่เราได้รับ
มูลค่าใช้สอย ของแรงงานเราก็คือความสามารถในการผลิตส่วนเกิน ซึ่งมีการขูดรีดอยู่ในกระบวนการดังกล่าว คนงานผลิตมากกว่าค่าแรงที่เขาได้รับ นั่นคือ พวกเขาสร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมา กล่าวคือ มูลค่าใช้สอย ของแรงงานเราสามารถสร้างเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเงินที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะถูกนำเอาไปลงทุนผลิตสินค้าจำนวนที่มากยิ่งขึ้นโดยนายทุน
ดังนั้นเมื่อนายทุนจ่ายเงินให้เรา พวกเขาจ่ายให้กับมูลค่าใช้สอยของเรา แต่พวกเขาจะรักษามูลค่าแลกเปลี่ยนของเราเอาไว้ ซึ่งมากกว่ามูลค่าใช้สอยของเรา หมายความว่า เราทำเงินให้กับเจ้านายของเราโดยที่เราไม่ได้รับเงินนั้นด้วย
สมมติว่าคุณทำงานที่ Starbucks และบริษัทจ่ายเงินให้คุณ 400 บาทต่อการทำงานแปดชั่วโมง แต่คุณสามารถทำกาแฟสุดปังมูลค่า 400 บาทได้ภายในหนึ่งชั่วโมง หลังคุณทำงานไปหนึ่งชั่วโมง คุณไม่สามารถพูดได้ว่า “ฉันคืนเงินที่คุณจ่ายให้ฉันไปแล้ว ทีนี้ฉันจะกลับบ้านแล้วนะ” คุณต้องอยู่ทำงานต่ออีกเจ็ดชั่วโมง และในระหว่างนั้น ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่ถูกขโมยไป คุณผลิตแบบฟรี ๆ และคุณกำลังผลิตมูลค่าส่วนเกิน นั่นคือแก่นแกนหลักที่ซึ่งนายทุนได้ผลกำไรไป เมื่อมันเป็นเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายค่าแรงให้กับคนงานอย่างยุติธรรมภายใต้ระบบทุนนิยม เนื่องจากแรงงานส่วนเกินนี่เองที่ทำให้ระบบทุนนิยมเดินหน้าต่อไปได้
สภาวะขาดแคลนและสภาวะหลังความขาดแคลน
มูลค่าที่อิงตามตลาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมถูกควบคุมด้วยความขาดแคลนเช่นกัน หรือก็คือ เมื่อบางอย่างไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้คน นี่คือสิ่งที่ทำให้เพชรมีมูลค่าสูงและทรายมูลค่าต่ำ ในขณะที่ความขาดแคลนมีอยู่จริง ผลกระทบของความขาดแคลนต่อมูลค่าสินค้าในตลาดกลับเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยความสัมพันธ์ทางสังคม
หมายความว่า ยิ่งขาดแคลนมากไม่ได้แปลว่ามูลค่าจะมากตามเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือตุ๊กตา Beanie Babies เมื่อ 30 ปีที่แล้ว Beanie Babies เป็นของเล่นที่ได้
รับความนิยมอย่างล้นหลาม และบริษัทได้วางขายตุ๊กตา Beanie Babies รุ่นหายาก หลายแบบ ซึ่งมูลค่าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในท้องตลาด หลายคน “ลงทุน” โดยการซื้อ
ตุ๊กตา Beanie Babies รุ่นหายากเหล่านี้โดยคาดเดากันว่า มูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีถัดมา ความนิยมในตุ๊กตา Beanie Babies ลดฮวบลงอย่างมาก และมูลค่าของตุ๊กตา Beanie Babies รุ่นหายากนั้นก็ลดลงกว่าแต่ก่อน ตรงนี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มูลค่าที่เกิดจากความขาดแคลนนี้ถูกสร้างขึ้นบนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้คนกับสินค้า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นด้วย ซึ่งควบคุมห่วงโซ่อุปทานทุน (supply chain of capital) ของเราทั้งหมด
แรงงานผลิตซ้ำ (Reproductive labour)
เพื่อขยับขยายแนวคิดนี้ให้ครอบคลุมไปถึงรูปแบบแรงงานที่ไม่ได้ผลิตสินค้าโดยตรง เราใช้คำว่าแรงงานผลิตซ้ำ (Reproductive Labour) นี่คือประเภทของงานที่เอื้อให้เกิดการผลิตซ้ำเงื่อนไขของระบบทุนนิยม เป็นงานที่บางครั้งก็ได้ค่าตอบแทน แต่บ่อยครั้งไม่ได้ค่าตอบแทน นี่หมายถึงกรณีอย่างผู้ดูแลในโรงพยาบาล เช่น แพทย์หรือพยาบาล ที่ดูแลทั้งกรรมาชีพและกระฎุมพี ซึ่งมีส่วนในการผลิตซ้ำเงื่อนไขที่ทำให้ระบบทุนนิยมดำเนินต่อไปได้ ถ้านับคนงานที่ได้รับค่าจ้างด้วยก็จะรวมไปถึงพนักงานทำความสะอาดโรงพยาบาลหรือพนักงานต้อนรับ ฯลฯ ในขณะเดียวกัน แรงงานผลิตซ้ำจำนวนมากก็ไม่ได้รับค่าจ้าง เช่น การดูแลเด็กที่บ้าน การทำอาหาร การทำความสะอาด และการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นงานที่ผู้หญิงทำ พวกเธอ ไม่ได้ผลิตสินค้า แต่ พวกเขามีส่วนสร้างเงื่อนไขในการผลิตสินค้า นั่นก็คือการดูแลฟูมฟักคนงานรุ่นต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีแรงงานอีกหลายรูปแบบที่ไม่ได้ผลิตสินค้า แต่อำนวยความสะดวกให้ระบบทุนนิยมทำงานได้อย่างราบรื่น ลองมาดูกรณีตัวอย่าง เช่น บทบาทของพนักงานต้อนรับในหน่วยงานของรัฐที่ทำเรื่องใบขับขี่ พนักงานต้อนรับไม่ได้ ผลิต อะไรเลย และหน่วยงานนั้นก็ไม่ได้ผลิตอะไรด้วย (นอกจากบัตรพลาสติกใบเล็ก ๆ ) สิ่งที่สถาบันเช่นนี้และคนงานในสถาบันทำก็คือการตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนสามารถขับขี่รถยนต์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้า การขนส่งแรงงานไปขายแรง การทำให้คนงานสามารถไปเที่ยวพักผ่อนเอาแรงและกลับมาขายแรงงานใหม่ได้
กำไรบางส่วนที่คนงานเหล่านี้ผลิตขึ้นมาถูกรัฐบาลเก็บเอาไปในรูปของภาษี จากนั้นก็จะถูกจ่ายให้กับพนักงานต้อนรับเป็นค่าแรงของพวกเขา บทบาทของพนักงานต้อนรับในหน่วยงานคือการช่วยให้หน่วยงานทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวคือการช่วยให้ระบบทุนนิยมทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ความขัดแย้งทางชนชั้น/ผลประโยชน์ทางชนชั้น (class struggle/class interest)
เมื่อมองจากกรอบคิดนี้ เราจะเห็นได้ว่า มีชนชั้นอยู่สองชนชั้นและพวกเขาอยู่ในสภาวะขัดแย้งกันตลอดเวลา นั่นก็คือ ชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกระฎุมพี นี่คือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่าผลประโยชน์ทางชนชั้น นี่หมายความว่า มันเป็นผลประโยชน์ของชนชั้นกระฎุมพีที่จะถือครองปัจจัยการผลิตและขูดรีดส่วนเกินจากชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่มันเป็นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพที่จะ ยึดครองปัจจัยการผลิต และโค่นล้มชนชั้นกระฎุมพี ไม่มีเจ้านายที่ดี ไม่มีนายทุนที่ดี งานภายใต้ระบบทุนนิยมทั้งหมดล้วนแล้วแต่ขูดรีด ไม่ว่าจะในสวีเดนหรือกัมพูชา
เศรษฐศาสตร์การเมือง
เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นการศึกษาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของมันต่อกฎหมาย สถาบันต่าง ๆ รวมไปถึงรัฐบาล กล่าวคือ ศึกษาว่าโครงสร้างเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อทุก ๆ สิ่งอื่นที่ปกครองเราอย่างไรบ้าง เมื่อมองจากมุมมองมาร์กซิสต์ มีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องระหว่างชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งกำหนดรูปโครงสร้างสังคมของเราทั้งหมด ไม่ใช่แค่สถานที่ทำงาน แต่รวมไปถึงรัฐบาลของแต่ละประเทศและสถาบันทางสังคมของเรา เช่น ศาสนา และรวมไปถึงกระทั่งความสัมพันธ์ปัจเจกในระดับจุลภาค ดังนั้น การมองเศรษฐกิจเช่นนี้สามารถใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการขูดรีดในระดับโลกได้ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับโซมาเลีย หรือระดับภายในประเทศ เช่น ระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับทักษิณ หรือแม้แต่ในระดับพื้นที่เล็ก ๆ ระหว่างคู่สามีภรรยาในบ้าน เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม:
บทวิเคราะห์กระบวนการผลิตไอโฟน (iPhone) และอัตราการขูดรีดผ่านมุมมองแบบมาร์กซิสต์