Gabriel Ernst & Pathompong Kwangtong

การปะทุขึ้นของขบวนการประท้วง ที่มีคนหนุ่มสาวชาวสยามเป็นแกนนำเมื่อเร็วๆ นี้  ได้ผุดออกมาทั้งกลางถนนและในทวีตภพ พวกเขาเรียกร้องหาประชาธิปไตย  พวกเขาเปล่งเสียงตะโกนออกมา ซ้ำแล้วซ้ำอีก “เราต้องการประชาธิปไตย” ทว่าประชาธิปไตยในบริบทนี้หมายความว่าอะไรกันแน่?

หนึ่งในนักกิจกรรมประชาธิปไตยผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้บอกผมว่า ความหมายของประชาธิปไตยในหมู่ผู้ชุมนุมยังเป็นสิ่งที่ “เปิดให้ถกเถียงได้อยู่”  เขากล่าวว่า “แม้จะมีสองข้อเรียกร้องหลัก นั่นก็คือ ล้มอำนาจเผด็จการและจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ ขบวนการนักเรียนนักศึกษาที่ปรากฏทั่วขึ้นทั่วประเทศ ประกอบขึ้นจากผู้คนหลากหลายอุดมการณ์ ตั้งแต่เฟมมินิสม์ไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นแล้ว ‘รูปแบบ’ ของประชาธิปไตยนั้น ยังเป็นสิ่งที่เปิดกว้างอยู่”  อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญสำหรับขบวนการประชาธิปไตยก็คือ “เสรีภาพ” ของเรานั้นอยู่ตรงไหน?

หากจะกล่าวถึงรูปแบบของประชาธิปไตยที่มีอยู่ ชาวตะวันตกมากมายอาจจะบอกว่า ประชาธิปไตยร่วมสมัยในรูปแบบการเลือกตั้งของตะวันตกนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนาแต่อย่างใด ช่องว่างระหว่างพลเมืองกับตัวแทนที่พวกเขาเลือกไปนั้นกว้างมาก นอกจากนั้น ยังมีช่องว่างที่กว้างมากระหว่างนโยบายอันน่าปรารถนากับผู้แทนจริงๆ ที่พวกเขาได้มาในแทบทุกประเทศ  สิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากในอเมริกา ที่ที่พลเมือง 69 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนให้มีระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า แต่ผู้แทนของพวกเขา กลับไม่แสดงให้เห็นถึงความสนใจจะทำสิ่งนี้เลยแม้แต่น้อย  เรื่องนี้อธิบายได้จากความพยายามล็อบบี้ของกลุ่มอุตสาหกรรมยา และโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ  ด้วยเหตุนี้ เราจะยังเรียกระบอบที่มีอยู่ในอเมริกาว่าประชาธิปไตยได้อีกหรือ? (หรือเราควรเรียกว่า คณาธิปไตย?)  ถ้ายังยืนยันจะเรียกเช่นนั้นอยู่ เราก็ต้องถามต่อว่า เป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน?  ซึ่งนำเรามาถึงคำถามที่ว่า  ถ้าประเทศไทย “เป็นประชาธิปไตย” แล้วประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน?  คุณอยากได้ระบอบประชาธิปไตย ที่มีความเป็นประชาธิปไตยขนาดไหนกัน?

จริงอยู่ว่าคนบางกลุ่มบางพวกในประเทศไทยอาจจะอ้างได้ว่าราชอาณาจักรนี้เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว การเลือกตั้งเมื่อปี 2018 นำประยุทธ์เข้าสู่อำนาจ  แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นยังคงมีเรื่องน่าเคลือบแคลงใจอยู่ อย่างไรเสียก็ยังนับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งอยู่ ปรากฏการณ์นี้ไม่ต่างจากในสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ผู้สมัครที่เป็นที่นิยมที่สุดชนะป็อปปูล่าร์โหวต แต่กลับไม่ชนะการเลือกตั้ง  จากความทรงจำของผม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งปี 2000 จอร์จ บุช ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี จากการนับคะแนนเสียงที่ผิดพลาด เท่ากับว่าเป็นการขโมยตำแหน่งประธานาธิบดีจาก อัล กอร์ อย่างแท้จริง

สำหรับผมแล้ว ผมไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด อังกฤษกับอเมริกาก็ไม่ใช่เช่นกัน สิ่งที่ผมจะบอกคือ มันมีระดับของ “ประชาธิปไตย” อยู่  อันที่จริง มีเพียงไม่กี่ที่ในโลกนี้ ที่เอาจริงเอาจังกับความเป็นประชาธิปไตย  สองกรณีที่ผมคิดได้ตอนนี้ ทั้งคู่เป็นประชาธิปไตยในระดับชุมชน หาใช่ระดับชาติไม่ กรณีแรกคือไชยาปาส ที่ เม็กซิโก และอีกกรณีคือ โรจาวา ที่ เคอร์ดิสถาน  ประชาธิปไตยในสองที่นี้ มีวิธีการจัดตั้งอย่างเป็นองค์รวม โดยสนับสนุนให้นำหลักการ “ล่างขึ้นบน” และ “ประชาธิปไตยทางตรง” มาใช้ให้มากที่สุด  ณ ที่แห่งนั้น ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจเรื่องกฎกติกาการใช้ชีวิตของพวกเขาเอง  ชุมชนท้องถิ่นมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลระดับสูงขึ้นไป และผู้คนธรรมดาก็มีส่วนร่วมในการอภิปราย ตัดสินใจระดับนโยบาย และลงคะแนนเสียงในเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของพวกเขา  ไม่ใช่แค่ลงคะแนนเสียงเพียงครั้งเดียวในรอบหลายปี เพื่อเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นรัฐบาล

ในสังคมตะวันตก รูปแบบประชาธิปไตยรัฐสภาหรือประธานาธิบดีนั้น เอื้อให้เกิดความห่างเหิน ลดอำนาจการจัดการตนเอง เพิ่มเติมความฉ้อฉลในอำนาจและกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง  อันที่จริงในสหราชอาณาจักร กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดผันนำอำนาจไปให้กลุ่มเดิม  ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เคยถึงขั้นมีประชามติให้เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากขึ้น  แต่แน่นอนว่าถูกล้มไปด้วยขบวนการล็อบบี้ครั้งใหญ่  เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเช่นกัน ที่ที่ผู้นำซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมมักถูกเลือกเนื่องจากระบบพิสดารที่ฝรั่งเศสใช้ในการเลือกตั้ง  สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่ระบบการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ทำงานสอดคล้องไปกับวิถีประชาธิปไตย และผมอยากให้ผู้อ่านได้ศึกษาระบอบประชาธิปไตยทางเลือกอื่นที่มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะรูปแบบของไชยาปาสและโรจาวา ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ไม่เพียงแต่ประชาธิปไตยเรื่องการเลือกตั้ง เรายังต้องพิจารณาประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมด้วย  เรื่องหลังนั้นเข้าใจง่าย ใครเล่าจะโหวตเพื่อให้เกิดวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม?  ไม่มีแม้แต่คนเดียว  กระนั้น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้แทนของเราแทบทุกประเทศบนโลกนี้ กลับแทบไม่ทำอะไรเพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย  หรือหากมองในระดับท้องถิ่น มีชาวบ้านคนไหนจะโหวตเพื่อเปิดเหมืองถ่านหินกลางชุมชนตนเอง?  แน่นอนว่าไม่มีใครทำแบบนั้น แต่สิ่งเหล่านี้กลับเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลกที่อ้างกันว่าเป็นประชาธิปไตยที่ทำงานได้จริง

สำหรับประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สามารถสรุปเป็นปมปัญหาได้ง่ายๆ คือ ถ้าลูกจ้างในที่ทำงานร่วมมือกันตัดสินใจหรือลงคะแนนเสียงว่าจะกระจายผลกำไรในหมู่ตัวเองอย่างไรแล้วนั้น เป็นไปได้หรือที่พนักงานเซเว่นจะยังได้ค่าแรงราว 300 บาทต่อวัน ในขณะที่ ผู้บริหารซีพีมีรายได้กว่าพันล้าน?  ผมคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้

ขณะที่มโนทัศน์ต่อประชาธิปไตยแบบขยายกว้างดังได้กล่าวไปข้างต้นนั้น อาจดูห่างไกลจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในปัจจุบัน  ผมอยากให้เหล่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตย หันมาพิจารณาหาความหมายของคำคำนี้ และขยายขอบเขตความเข้าใจต่อมัน เพราะว่าด้วยความสัตย์จริงแล้ว คณาธิปไตยอันมีมลทินตามแบบฉบับของตะวันตกที่ปลอมตัวเป็นประชาธิปไตยนั้น แทบไม่มีคุณค่าในการต่อสู้เพื่อให้ได้มันมาเลย