ต้นฉบับ : ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์
คำว่า “เจ้านาย” ในสมัยโบราณ หมายถึง กษัตริย์ ราชวงศ์ หรือขุนนางข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะกษัตริย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของแผ่นดิน ดังที่มีการเรียกกษัตริย์ว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” แต่ในปัจจุบัน “เจ้านาย” นอกจากจะมีความหมายดังที่กล่าวมา ยังมีอีกความหมายหนึ่งที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึง นายจ้าง นายทุน เจ้าของบริษัท หรือคำเรียกที่เป็นนามธรรมขึ้นมาหน่อยก็คือ “ผู้ถือครองปัจจัยการผลิต”
ดังนั้น “เจ้านาย” จึงเป็นคำที่ผมประสงค์เลือกใช้โดยจงใจ เพราะต้องการจะเล่นกับคำในภาษาไทย อันเนื่องมาจากบทความนี้ต้องการที่จะเปรียบเทียบ “ตรรกะ” ของการปกป้อง “นายจ้าง” ในฐานะที่หมายถึง “เจ้านาย” ในความหมายปัจจุบัน กับตรรกะของการปกป้อง “เจ้านาย” ในความหมายโบราณของ “สลิ่ม” (อนุรักษ์นิยม/ กษัตริย์นิยม/ ขวาจัด)
*
“อย่าวิจารณ์นายจ้าง ถ้าทำงานกับเขาแล้วไม่มีความสุขก็ลาออกไปซะ”
ผมยกประโยคข้างต้นขึ้นมาด้วยความรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างแรงกล้า และผมก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อประโยคดังกล่าวเพื่อเป็นข้อโต้แย้งในความไม่เห็นด้วยของตัวผมเองและเพื่อเปิดประเด็นชักชวนมิตรสหายพูดคุยถกเถียงแสดงความคิดเห็นอันเป็นกิจวัตรปกติของพวกเราอยู่แล้ว
โดยผมได้เริ่มต้นแสดงความคิดเห็นเพื่อเปิดประเด็นว่าประโยคดังกล่าวมันเป็นตรรกะเดียวกันกับประโยคที่ว่า “การวิจารณ์ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ คือการไม่รักชาติ และถ้าไม่รักชาติก็ควรออกไปจากผืนแผ่นดินไทยซะ” ซึ่งเป็นตรรกะที่ “สลิ่ม” มักใช้ขับไล่คนที่ “ทะลึ่ง” ไปวิจารณ์ “เจ้านาย”
กระนั้นก็ดี บรรดามิตรสหายที่เห็นต่างก็ได้แย้งผมว่า มันคนละ “บริบท” กัน โดยเขาได้ให้เหตุผลประกอบอย่างน่าฟังทำนองว่า “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” นั้น เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ “สาธารณะ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในสังคมประชาธิปไตยนั้น “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” อยู่ในขอบข่ายที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะตัวตน “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” ดำรงอยู่ได้โดยอาศัยปริมณฑลสาธารณะ แต่ “นายจ้าง” อยู่คนละบริบทกัน เพราะนายจ้างอยู่ในพื้นที่ “ส่วนบุคคล” หรือพื้นที่ “เอกชน” ที่มีอำนาจเต็มในการกำกับควบคุมสั่งการ “ลูกจ้าง” ของตนเอง และเมื่อลูกจ้างไม่พอใจนายจ้างก็สามารถลาออกจากที่ทำงานได้อย่างอิสระเสรี ซึ่งลักษณะเช่นนี้เราไม่สามารถทำได้ง่ายนักเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่พอใจ “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” แล้วจะลาออกจากการอยู่ภายใต้อำนาจสาธารณะที่ “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” ใช้อยู่
ด้วยเหตุผลดังกล่าว มิตรสหายที่ไม่เห็นด้วยกับผมจึงสรุปว่ามันคนละ “บริบท” กัน
แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมกำลังสื่อสารมาตั้งแต่ต้น เพราะอันที่จริงผมใช้คำว่า “ตรรกะเดียวกัน” ที่หมายถึง การใช้วิธีคิด ระบบความคิด กระบวนการคิด แบบเดียวหรือคล้ายคลึงกัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “บริบท” เลย
ที่ผมบอกว่าเป็น “ตรรกะเดียวกัน” จะสังเกตเห็นได้จากสองคำใหญ่ ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน นั่นคือ “การวิจารณ์” และ “ควร/ต้องเคลื่อนย้ายสังขารของตนเองออกไปจากพื้นที่นั้น”
ในที่นี่…
“การวิจารณ์” เป็นอาการที่เกิดจากความไม่พอใจ “เจ้านาย” ด้วยเหตุผล “ทำงานแล้วไม่มีความสุข”
“ควร/ต้องเคลื่อนย้ายสังขารออกไปจากพื้นที่นั้น” คือ ผลจากการไม่พอใจ “เจ้านาย”
ฉะนั้น จึงอธิบายความหมายของประโยคทั้งสองซึ่งมี “ตรรกะ” ที่เหมือนกันได้ว่า ไม่ว่าคุณจะไม่พอใจ “เจ้านาย” ที่อยู่ในความหมายแบบใดก็ตาม ผลของมันคือคุณ “ควร/ต้องอันตรธานออก” ไปจาก “พื้นที่” ของ “เจ้านาย” ไม่ใช่มานั่ง “วิจารณ์” เพราะการวิจารณ์เป็นการ “เสือก/ทะลึ่ง” ใน “พื้นที่” ของ “เจ้านาย”
อธิบายให้เป็นรูปธรรมได้ว่า ไม่ว่าคุณจะไม่พอใจ “ชาติ” (ในฐานะที่เป็นองค์รวมของ ‘ชาติ ศาสนา กษัตริย์’) หรือ “นายจ้าง” ผลของมันคือคุณ “ควร/ต้องอันตรธานออก” ไปจาก “พื้นที่” ของ “ชาติ” หรือ “นายจ้าง” ไม่ใช่มานั่ง “วิจารณ์” เพราะการวิจารณ์เป็นการ “เสือก/ทะลึ่ง” ใน “พื้นที่” ของ “ชาติ” หรือ “นายจ้าง”
จากที่กล่าวมา แน่นอนว่าเราลาออกจากการอยู่ภายใต้อำนาจ “รัฐ-ชาติ” ได้ยากกว่าการลาออกจากบริษัทสักแห่งหนึ่ง แต่จะปฏิเสธประโยคที่ว่า “อย่าวิจารณ์นายจ้าง ถ้าทำงานกับเขาแล้วไม่มีความสุขก็ลาออกไปซะ” กับ “ถ้าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ออกไปจากผืนแผ่นดินไทยซะ” ว่าเป็นคนละ “ตรรกะ” กันนั้นก็กระไรอยู่
**
เพื่อให้บทความนี้ไม่ใช่การเล่าเรื่องส่วนตัว หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือเพื่อให้ได้สาระสักหน่อย
นอกจากมิตรสหายของผมแล้ว เท่าที่ผมสังเกตมาระยะหนึ่ง บรรดาผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็น “ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ” หรือ “ฝ่ายประชาธิปไตย” นั้น “บางคน” ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันกับมิตรสหายของผม (ซึ่งเอาเข้าจริงเขาก็อยู่ในบรรดากลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” นั่นแหละ) คือ เห็นว่าเป็นคนละ “บริบท” กัน
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขาเห็นว่าสองประโยคดังกล่าวไม่ควรหรือไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ พวกเขาไม่เห็นด้วยและต่อต้านอย่างเต็มที่เมื่อมีคนถูกไล่ออกจากประเทศ เพราะไปวิจารณ์หรือมีความไม่พอใจ “ชาติ” แต่ถ้าเกิดความไม่พอใจ “นายทุน” หรือไม่มีความสุขในการทำงาน พวกเขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้ลาออกจากที่ทำงานไปซะ
ประเด็นก็คือการที่พวกเขาต่อต้านประโยคหนึ่ง แต่กลับสนับสนุนอีกประโยคหนึ่งทั้ง ๆ ที่มี “ตรรกะ” เดียวกันนั้นน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่างของยุคสมัยปัจจุบัน
เพื่อจะค้นหาว่ามันสะท้อนอะไร ผมขอเริ่มต้นจากการวกกลับไปพิจารณาสองประโยคเจ้าปัญหา ซึ่งสารตั้งต้นที่ควบคุมกรอบความคิดของทั้งสองประโยคคือ “ความเป็นเจ้าของพื้นที่” โดยในแง่ของบริษัทเอกชน “เจ้านาย” เป็นเจ้าของที่ทำงาน ส่วน “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” เป็นเจ้าของแผ่นดิน
การที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่เห็นด้วยกับการไล่คนออกนอกประเทศ เป็นเพราะพวกเขาต่างก็เข้าใจและตระหนักดีว่า “รัฐ-ชาติ” หรือ “แผ่นดิน” ไม่ได้เป็นของ “เจ้านาย” ตามความหมายแบบโบราณหรือที่ “สลิ่ม” เชื่อมั่นยึดถือ กล่าวคือ ไม่ใช่ของ “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” หรือ “พระเจ้าแผ่นดิน” หากแต่เป็นของ “ประชาชน” ดังคำกล่าวที่ว่า “อำนาจเป็นของประชาชน – ประเทศชาติเป็นของราษฎรทั้งหลาย” อันเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย แต่การที่ “บางคนของฝ่ายประชาธิปไตย” เห็นด้วยกับการให้แรงงานลาออกจากที่ทำงานไปซะ ถ้าทำงานกับนายจ้างแล้วไม่มีความสุขนั้น เนื่องจากพวกเขาเชื่อและยึดมั่นถือมั่นในคำว่า “ความเป็นเจ้าของพื้นที่” ตามความหมายแบบเสรีนิยมหรือกลไกตลาดในระบบทุนนิยม
กล่าวโดยรวมก็คือ พวกเขาต่างก็เห็นว่าในทางการเมืองนั้น “ประชาชน” คือ “เจ้าของแผ่นดิน” (ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทางการเมือง) ส่วนในทางเศรษฐกิจผู้ที่เป็น “เจ้าของพื้นที่(ดิน)” หรือ ผู้ที่มีอำนาจในที่ดิน ที่ทำงาน โรงงาน บริษัท ฯลฯ คือ “ผู้ที่ถือครองกรรมสิทธิ์”
เข้าทำนองคล้าย ๆ กับกรณีของ “มือปราบสัมภเวสี” กล่าวคือ เมื่อมือปราบฯ ต้องไปปราบผี แต่ดันไปเจอกรณีผีเจ้าที่ที่มาทวงที่ดินโดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ของตน มือปราบฯ ก็จะแนะนำให้ถามผีเจ้าที่ตนนั้นกลับไปว่า “มีโฉนดที่ดินหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าไม่ใช่ ‘เจ้าที่ (ดิน)’ ตัวจริง” โดยมีนัยยะที่สามารถตีความได้ว่า ที่ดินเป็นของผู้ที่ถือโฉนด ซึ่งก็คือคนเป็น ๆ ที่ยังมีชีวิต มีลมหายใจอยู่ มีความเป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่ของผีสาง เทวดานางฟ้า หรือผู้ที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ (เช่น พวก “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม”) มาจากไหน ในแง่ดังกล่าวทำให้ผมนึกขำ ๆ ขึ้นมาว่า “มือปราบสัมภเวสี” กำลังใช้ทุนนิยมขับไล่ผีอยู่ (ฮา)
ฉะนั้น การที่พวกเขาเห็นด้วยว่า ถ้าทำงานกับนายจ้างแล้วไม่มีความสุข ก็ลาออกไปซะ จะมาวิจารณ์นายจ้างกันทำไม ก็หมายความว่าพวกเขาต่างก็เชื่อและยึดมั่นถือมั่นในกฎพื้นฐานของระบบทุนนิยมที่เรียกว่า “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” (Private Property) นั่นเอง
กระนั้นก็ตาม อาจจะมีคนโต้แย้งขึ้นว่า ก็ถูกแล้วไง พวกเราสนับสนุนทุนนิยมเสรี ดังนั้น เราก็เห็นด้วยว่าในเมื่อคุณไม่พอใจนายจ้าง ก็ควรลาออกไปจากบริษัทของเขา ซึ่งมันคนละประเด็นกันกับการไล่คนออกจากประเทศอันเนื่องมาจากการวิจารณ์ “ชาติ”
คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมเรามีความสามารถถึงขั้นหาญกล้าที่จะวิจารณ์ “ชาติ” ได้ขนาดนั้น
“ก็เพราะมันเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานไงล่ะ” แววตาพราวระยับบ่งบอกถึงความมั่นใจในคำตอบ
นี่จึงนำมาสู่ประเด็นคำถามของผมว่าพวกเขากำลังขัดแย้งในตนเองอยู่หรือไม่
เพราะเมื่อพวกคุณยืนยันในหลักการประชาธิปไตย ยืนยันในสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญคือ สิทธิในการที่จะพูด/วิจารณ์/เรียกร้อง สิทธิที่จะมีคนรับฟัง แต่ในขณะเดียวกันพวกคุณกลับกำลังสร้างวัฒนธรรม “ปิดปาก”!?
กล่าวคือ ในเมื่อพวกคุณยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพูด/วิจารณ์/เรียกร้อง แต่พวกคุณกลับเห็นชอบและยืนยันถึงการไม่มีสิทธิของ “ลูกจ้าง” ที่จะลุกขึ้นมาพูด (วิจารณ์) ดัง ๆ ว่าไม่พอใจอะไรนายทุน ลุกขึ้นมาสะท้อนว่าทำไมทำงานกับนายทุนแล้วไม่มีความสุข หรือต้องการเรียกร้องอะไรจากนายทุน ผ่านการที่พวกคุณบอกว่าถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน อย่าวิจารณ์นายจ้าง แต่ให้แรงงานลาออกไปอย่างเงียบ ๆ
อาจจะมีคนแย้งขึ้นมาอีกว่า ก็ถูกแล้วไง เมื่อไม่มีความสุขในที่ทำงานก็เป็นสิทธิของแรงงานที่จะลาออกไป
ผมไม่เถียง…
แต่คำถามของผมคือ อะไรที่ทำให้แรงงานทำงานแล้วไม่มีความสุข เราควรมุ่งค้นหาปัญหาตรงนี้ก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะไล่ใครต่อใครออกจากที่ทำงานอย่างเลือดเย็น
แน่นอนคงจะไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะตะโกนคำตอบดัง ๆ ว่า สิ่งที่ทำให้แรงงานทำงานแล้วไม่มีความสุขคือ “การกดขี่ขูดรีด” หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ การทำงานในระบบทุนนิยม ซึ่งคำตอบนี้สะท้อนผ่านคำกล่าวที่ว่า “you don’t hate Mondays, you hate Capitalism” (ซึ่งมีนัยยะว่า คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์นะ แต่คุณไม่ชอบวันทำงานในระบบทุนนิยมต่างหาก) ได้เป็นอย่างดี
บนฐานของคำตอบดังกล่าว หมายความว่า การที่แรงงานทำงานแล้วไม่มีความสุขไม่ได้อยู่ที่ตัวของแรงงาน แต่อยู่ที่ “ระบบ” กล่าวในแง่นี้ การบอกให้แรงงานลาออกไปถ้าทำงานแล้วไม่มีความสุข จึงเป็นการกล่าวโทษว่าที่ไม่มีความสุขในการทำงานเป็นเพราะตัวของแรงงานเอง ไม่เกี่ยวกับบริษัท นายทุน หรือระบบทุนนิยม กล่าวอีกนัยคือ ไม่ใช่ปัญหาในระดับโครงสร้างหรือระบบ แต่เป็นปัญหาในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งนี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่คอยสนับสนุนค้ำจุนระบบทุนนิยมให้สามารถผลิตซ้ำตัวเองต่อไปได้
ด้วยเหตุดังกล่าว แม้ว่าแรงงานจะได้ลาออกจากที่ทำงานไปจริง ๆ แต่เมื่อแรงงานได้ที่ทำงานใหม่ พวกเขาก็จะพบเจอสภาพเช่นเดิมอยู่ดี ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่มีความสุขในการทำงาน
ดังนั้น คนที่เห็นชอบกับประโยคดังกล่าวจึงกำลังสนับสนุนให้แรงงานอ่อนแอ สหภาพแรงงานไม่เข้มแข็ง กล่าวในแง่นี้ พวกคุณกำลังส่งเสริมให้เสียงของแรงงานแผ่วเบาลงเรื่อย ๆ อย่างไม่รู้ตัวนั่นเอง
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด จึงกลายเป็นว่า ในขณะที่เหล่า “สลิ่ม” กำลังลดทอนกระบวนการสำคัญในทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างการพูดคุย ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) บรรดาผู้คนที่เห็นชอบกับประโยคที่ให้แรงงานลาออกจากที่ทำงานไปซะถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน ก็กำลังลดทอนและทำลายเครื่องมือพื้นฐานของแรงงานในการเรียกร้องหรือต่อรองกับ “เจ้านาย” (นายทุนและรวมถึง “รัฐ” ด้วย)
***
ดังที่กล่าวมา การที่มิตรสหายของผมก็ดี กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” (บางคน) ก็ดี ที่ไม่ยอมรับประโยคหนึ่งแต่กลับยอมรับอีกประโยคหนึ่ง ทั้งที่ทั้งสองประโยคใช้ “ตรรกะ” เดียวกัน มันได้สะท้อนยุคสมัยว่า “อุดมการณ์ของกระฎุมพี” หรือ “อุดมการณ์แบบทุนนิยม” ได้เข้าไปครอบงำโลกทัศน์ของผู้คนเป็นวงกว้าง กล่าวคือ ในทางการเมืองนั้นต่างก็พากันยอมรับระบอบประชาธิปไตย ที่ให้อำนาจแก่ประชาชนมากกว่า “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” แต่ในทางเศรษฐกิจต่างก็พากันยอมรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี ที่ให้เสรีตามกลไกตลาด ส่งผลให้เกิดการยอมรับในสิ่งที่ปัจจุบันเราต่างก็เรียกมันว่า “ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม” “ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” หรือ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ในแบบที่ไม่ตั้งคำถามกับมันหรือในแบบที่เรียกได้ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว”
ซึ่งผมจะขอวิจารณ์ผ่านการตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยแบบดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุด มันเป็นระบอบที่ “เพียงพอ” ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะอุดมการณ์และแนวทางหรือยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้ภายใต้ “ประชาธิปไตยแบบเสรี” แน่นอนมันสามารถต่อสู้เพื่อกำจัดการครอบงำกดขี่ในทางการเมืองได้ แต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถนำพาไปสู่การกำจัดการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจได้เลย กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ มันสามารถกำจัดอำนาจ “เจ้านาย” ของ “สลิ่ม” ได้ แต่ไม่สามารถกำจัดอำนาจ “เจ้านาย” ในความหมายของปัจจุบันได้เลย
กล่าวในแง่นี้ การต่อสู้ตามอุดมการณ์และแนวทางดังกล่าวจึงหนีไม่พ้น “การเมืองภายใต้ระบบทุนนิยม” หรือหนีไม่พ้นการเมืองแบบเก่า ที่สุดท้ายชีวิตของเราก็จะหมุนเวียนอยู่ภายใต้ “วัฏสงสารแห่งทุนนิยม” ไม่สามารถตรัสรู้บรรลุถึงโลกใหม่ที่สวยงามกว่าได้ และในท้ายที่สุดแล้วอุดมการณ์ดังกล่าวก็จะคอยย้ำเตือนบอกกับเราเสมอว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว ประวัติศาสตร์ได้จบลงตรงที่พระเจ้าได้เลือกให้เราใช้ชีวิตอยู่กับทุนนิยมไปตลอดชั่วกัลปาวสาน!” (The end of history)
ข้อเสนอของผมคือ ในเบื้องต้นเราต้องมองอะไรต่อมิอะไรซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบันว่ามีสาเหตุมาจากระบบทุนนิยม ผมขอเรียกว่า “ยุคสมัยแห่งทุนนิยม” (Capitalocene) อันจะทำให้เราเห็นทางเลือกใหม่ที่ไปไกลกว่าทุนนิยม หรือกล่าวอีกนัยคือ เราควรมองว่าทุนนิยมที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมันในปัจจุบันนี้คือ “โลกเก่า” ที่มี “เจ้านาย” แบบเก่า ๆ (ซึ่งหมายความว่า “เจ้านาย” ในแบบปัจจุบันก็ไม่ต่างจาก “เจ้านาย” ของบรรดา “สลิ่ม” ทั้งหลายเท่าไหร่นัก) เพื่อที่เราจะได้มองหา “โลกใหม่” โลกที่ปราศจาก “เจ้านาย” (ในทุกความหมาย) ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่าง “ภราดรภาพ”
“กรรมาชีพทั่วสากลจักรวาลจงลุกขึ้นสู้”