ผู้เขียน Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Peam Pooyongyut

“ต่างเคยต่างมั่นใจ ว่าความรัก ต้องแสนงดงาม
ไม่ได้เผื่อใจ ให้กับความไม่เดียงสา”

ข่าวเด่นประเด็นร้อนวันนี้ คงหลีกไม่พ้นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้แสนอ่อนแอ ถูกสาดสีน้ำเงินเปรอะเปื้อนชุดสีกากีพระราชทานไปเสียมิได้ เราทุกคนต่างรู้ดีไม่ใช่หรือว่าคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีลูกมีหลาน มีครอบครัว ต้องรับใช้นายตามคำสั่ง ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด แล้วเหตุใดเล่า ความโกรธแค้นที่กระทำไปในนามของศิลปะ จึงต้องไปทำร้าย ทำลาย ชุดพระราชทานเหล่านั้นด้วย?

ผมอยากให้ชาวเรา หรือชาวเขาก็แล้วแต่ ขยับมุมมองออกมาสักเล็กน้อย ผมมองว่าเราสามารถแยกเรื่องนี้เป็นสองส่วน เพื่อลดการใช้เหตุผลแบบตาต่อตาฟันต่อฟันลง — แต่ถ้าใครจะใช้เหตุผลเช่นนั้น บทความนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อครับ ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ให้ค่าเหตุผลแบบนั้น เพียงแต่มันไม่ถูกจริตผมเท่าใด — การมองสองส่วนที่ว่าคือ ส่วนการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และส่วนการกระทำของผู้ประท้วง โดยบทความนี้จะพูดถึงเพียงส่วนแรกเท่านั้น เพราะผมต้องขอออกตัวว่าไม่ใช่นักสันติวิธีแต่อย่างใด การให้มาอภิปรายเรื่องส่วนที่สอง คงไม่สามารถวางตัวเป็นกลางแบบผู้ดีได้

Maximilien Robespierre เคยกล่าวไว้ว่า “หยุดสะบัดผ้าคลุมเปื้อนเลือดของทรราชย์ต่อหน้าข้าได้แล้ว” นั่นหมายถึงเขาสะอิดสะเอียนกับความเห็นใจต่อผู้กดขี่ แต่ในกรณีนี้ ตำรวจ เป็นเพียงผู้ปฏิบัติการ เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมิใช่ฤา? เขาไม่ได้ทำไปด้วยเจตจำนงค์อิสระของเขาเอง เขาไม่ได้ “สั่งฆ่า” หรือ “สั่งอุ้ม” ใครสักหน่อย คนที่เราควรพุ่งเป้าจัดการ ควรเป็น อีเหี้ย หรือ ไอ้ห่า ที่สั่งฆ่าหรือสั่งอุ้มมิใช่ฤา?

หากเราย้อนไปดูการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสหรือรัสเซีย ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเหล่า “ข้าราชการ” นี่แหละ ที่เข้าร่วมกับประชาชน ขัดขืนคำสั่งทรราชย์ ท้าทายอำนาจมืด แล้วก้าวเดินตามแสงสว่างของประชาชน

กลับกัน ในยุคสมัยแห่งความโหดร้ายป่าเถื่อน ภายใต้การครอบงำของพรรคนาซี ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนชาวอารยันหลายคน กระทำย่ำยีชาวยิวหลายล้าน ด้วยการฆ่าผ่านระบบอุตสาหกรรมอย่างหลากหลาย ผู้คนเหล่านี้ — เจ้าหน้าที่และชาวอารยัน — ไร้เดียงสาหรือไม่?

ในการพิจารณาคดีความของพลพรรคนาซีหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง มีคำให้การในชั้นศาลจากฝากฝั่งเจ้าหน้าที่ของพรรคนาซีว่า พวกเขาทำไปตามกฏหมายในขณะนั้น พวกเขาทำไปตาม “หน้าที่” ที่พลเมืองคนหนึ่งพึงกระทำภายใต้กฏหมาย แล้วเช่นนี้ จะว่าเขากระทำอาชญากรรมได้อย่างไร?

อีกกรณีหนึ่ง คือเรื่องการเลือกเกิดไม่ได้ ของบุตรีจากตระกูลที่มั่งคั่งเป็นอย่างสูง ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมาก

เช่นนี้แล้ว เราควรให้ความยุติธรรมต่อคนเหล่านี้ ในฐานะที่พวกเขา ปฏิบัติตามหน้าที่ กฏหมาย ชั้นวรรณะที่ผูกติดกับตัวเขามาหรือไม่อย่างไร?

ผมเห็นว่า กรณีแบบนี้ เราอาจต้องถอยออกมามองค่อนข้างไกลเลยทีเดียว และก่อนอื่น เราควรต้องมองแบบที่ให้เกียรติพวกเขาเหล่านั้นให้มากด้วย เราต้องยืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว และการไม่ใช่เด็กก็มีสิ่งที่เรียกว่า ความไม่เดียงสา และความรับผิดชอบ ติดเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Dostoevsky เคยกล่าวไว้ผ่านนวนิยายของเขาว่า “หากไม่มีพระเจ้าแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้” แต่ Zizek กล่าวว่า ในโลกความเป็นจริง ทุกอย่างกลับตรงข้ามต่างหาก “เมื่อมีพระเจ้า ทุกอย่างจึงเกิดขึ้นได้” เราจึงได้เห็นการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อน ผ่านผู้นิยมศาสนาบ้าคลั่ง พวกเขาไม่กลัวอะไร เพราะพวกเขาไม่ได้ทำในนามของตัวเอง แต่พวกเขาทำในนามของพระผู้เป็นเจ้า

ในเหตุการณ์สังหารหมู่ของอินโดนีเซีย สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และประชาชนผู้ให้การสนับสนุน ถูกกวาดล้างครั้งใหญ่ ภายใต้ธงเรื่องความมั่นคงในชาติ โดยผู้ฆ่าต่างกระทำลงไปในนามของ “ฮีโร่” ผู้ปกป้องชาติ บางคนถึงกับมองว่าตัวเองเหมือนฮีโร่ในภาพยนตร์อเมริกัน

หรือหากเราขยับมาใกล้อีกนิด เราก็จะเห็นฮีโร่ในเขตใช้กระสุนจริงกลางเมืองหลวงอันศิวิไลซ์ของเรา ภายใต้ความมั่นคงของชาติ หรือการสาดกระสุนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แม้กระทั่งเป็นช่วงเวลาสงบศึกทางการทหารก็ตาม

หากใครเรียนจิตวิทยาพื้นฐาน คงพอจำเรื่อง Stanford prison experiment ที่เปิดรับอาสาสมัครมาเข้าร่วมการทดลองสวมบทบาทที่แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นผู้คุมนักโทษ และกลุ่มหลังเป็นนักโทษ ผลปรากฏว่าเหล่าผู้คุมที่ตอนแรกเป็นเพียงคนปกติธรรมดา กลับใช้ความรุนแรงกับเหล่านักโทษสารพัดวิธี เพียงเพราะว่าพวกเขาได้รับสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” มาไว้กับตัว

สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นในนาม “พระเจ้า” “รัฐ” “หน้าที่สมมติ” หรือสิ่งใดก็ตามแต่ มันให้อำนาจกับผู้ปฏิบัติการมาก มันไม่เพียงแต่ชำระล้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในกมลสันดานคนเท่านั้น มันยังเคลือบแฝงไปด้วยภาพฝันของการทำสิ่งที่ถูกต้องภายใต้สิ่งที่ใหญ่กว่า (Big Other) และเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ก็จะอินกับมัน ไม่ว่าจะอินในระดับจิตสำนึก หรือจิตไร้สำนึกก็ตามที

พวกเขาไม่ได้กระทำในนามของตัวเอง เพียงแต่กระทำไปในนามของตัวแทน กระทำในนามของ “หน้าที่” เท่านั้น ความรับผิดของพวกเขา จึงสมควรถูกปัดตกไปกระนั้นฤา? เราต้องไปเอาผิดกับ “พระเจ้า” “รัฐ” เท่านั้นฤา? คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องใคร่ครวญคิดกันดีๆ

สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะเน้นย้ำอีกครั้งคือ พวกเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว และผู้ใหญ่ก็สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติกัน การให้เกียรติกันหมายถึงการเลิกมองว่าพวกเขา “ไร้เดียงสา” พวกเขาสมควรรับผิดได้ และพวกเขาก็รู้ตัวอยู่ทุกครั้ง เมื่อพวกเขาเหนี่ยวไกปืน เมื่อพวกเขาเข้าจับกุมกลางดึก เมื่อพวกเขาตัดสัญญาณมือถือ หรือเมื่อพวกเขาคุกคามประชาชนในรูปแบบอื่นใด

ใช่ครับพวกเขามีราคาที่ต้องจ่าย มนุษย์ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่าย ยิ่งอยู่ในสังคมทุนนิยม-ศักดินาแล้ว ทุกคนมีสิ่งที่ต้องจ่ายด้วยกันทั้งนั้น และนี่ยิ่งเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ต้องให้ความเคารพเจ้าหน้าที่ ผู้ซึ่งเลือกตีนของประชาชน มากกว่าคุกมืดของนายใหญ่

เราเห็นใจได้ แต่เราก็ควรเคารพการเลือกของเขาเช่นกัน เพราะการเลือกของเขา ก็เป็นเราที่ต้องจ่ายร่วมด้วยเสมอ ด้วยคุก ด้วยเลือด ด้วยชีวิต.