แปล กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม บรรณาธิการ สหายเวลา การอ่านเรื่องแรงงานแบบมาร์กซิสต์นั้นทำให้เราเห็นว่า แรงงานทุกคนต่างถูกกดขี่จากชนชั้นกลาง-กระฎุมพี อย่างไรก็ตาม แรงงานและงานมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ได้ค่าตอบแทนและแบบที่ไม่ได้ค่าตอบแทน อย่างคนทำความสะอาดในออฟฟิศได้รับเงินเดือนปกติ แต่ผู้หญิงที่ทำความสะอาดบ้านกลับไม่ได้ แม้จะทำงานเหมือนกัน ฉะนั้นแล้ว หากจะดูว่าแรงงานในบ้านถูกเอาเปรียบอย่างไร เราต้องลองใช้แนวคิดวิพากษ์แบบมาร์กซ และนี่คือ เฟมินิสต์ที่มีสำนึกทางชนชั้น งานที่ถูกทำให้เป็นของผู้หญิงและแรงงานผลิตซ้ำ งานพวกนี้เป็นงานที่ส่งเสริมการผลิตซ้ำสภาพตามทุนนิยม บางครั้งได้ค่าแรง แต่บ่อยครั้งมักไม่ได้ เวลาเราพูดถึงงานผลิตซ้ำ เราหมายถึงกิจกรรมที่สานต่อชีวิต อย่างงานเลี้ยงเด็ก งานทำความสะอาด งานหาเลี้ยงครอบครัว และอื่นๆ งานแบบนี้ถูกทำให้เป็นงานของผู้หญิง เรียกกันง่ายๆ ว่า การแบ่งแยกงานตามเพศ งานผลิตซ้ำนั้นมักจะตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิงก่อน และมักจะไม่ได้รับค่าตอบแทน ในขณะที่ “งานผู้ชาย” มักจะได้ค่าจ้าง — ปกติแล้วเมื่อเทียบกัน “งานผู้ชาย” ถูกมองว่าเป็นงานหนักกว่า งานผู้หญิง เป็นงาน “นุ่มนวล” เมื่อเทียบกัน เพราะฉะนั้นก็เลยสมเหตุสมผลที่งานผู้ชายจะได้ค่าแรง (ซึ่งปกติก็สูงกว่า) แรงงานผลิตซ้ำแบบที่ได้และไม่ได้ค่าแรงนั้นเราเรียกว่า งานผลิตซ้ำแบบทางการและไม่เป็นทางการ งานผลิตซ้ำแบบทางการและไม่เป็นทางการ งานทางการ – ได้ค่าตอบแทน เช่น พยาบาล พนักงานทำความสะอาด งานบริการทางเพศ งานเลี้ยงเด็ก “แม่บ้าน” (แค่ชื่อก็กำหนดให้เป็นหญิงแล้ว) งานไม่ทางการ – ไม่ได้ค่าตอบแทน งานเหมือนด้านบนแต่ไม่มีค่าจ้าง เช่น “แม่บ้าน” (ผู้แปล: ต้นทางใช้คำว่า housewife ในบริบทนี้แปลว่าภรรยาที่ดูแลบ้าน ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่าแม่บ้านไม่ต่างจากพนักงานทำความสะอาดหญิง) หลายต่อหลายครั้ง ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำตามบทบาททางการและไม่ทางการในเวลาเดียวกัน เวลาแม่บ้านได้รับค่าจ้างให้ทำความสะอาดและดูแลลูกของคนอื่น พวกเธอก็ต้องกลับมาบ้านเพื่อทำความสะอาดบ้านของตัวเองและดูแลลูกของตัวเองอีก โดยไม่ได้ค่าตอบแทน สิ่งนี้เรียกกันว่า ภาระซ้ำซ้อน หรือ การทำงานสองกะ การที่มวลชนหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นเป็นพัฒนาการของทุนนิยมเมื่อไม่นานมานี้เอง พอผู้หญิงเริ่มเข้าสู่ตลาด พวกเธอไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเป็นคนแรก เลยกลายเป็นว่าการจ่ายค่าแรงพวกเธอน้อยกว่าผู้ชายเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ในปัจจุบันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเพศเรื่องรายได้เช่นนี้อยู่ เรื่องนี้ลามไปถึงการแบ่งงานตามเพศในระดับโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทุนนิยมพึ่งพิงปิตาธิปไตยเชิงโครงสร้างอย่างไร เมื่อลองดูห่วงโซอุปทานสินค้าระดับโลกจะเห็นว่า อุตสาหกรรมที่มีการกดขี่สูงมากนั้นเจาะจงไปที่แรงงานผู้หญิง เห็นได้ชัดๆ จากโรงงานในซีกโลกใต้ (ผู้แปล: Global South เป็นคำที่ไม่ได้อ้างอิงตามหลักภูมิศาสตร์ เป็นคำที่ไว้เหมารวมๆ ประเทศใดก็ตามที่ไม่ใช่ตะวันตกตามขนบ) มักจ้างผู้หญิงเป็นคนในสายพานการประกอบสินค้า โดยเฉพาะในโรงงานเสื้อผ้า นั่นเป็นเพราะนายทุนตามหาค่าแรงที่ต่ำสุดที่เป็นไปได้ในโลกใบนี้ พวกเขาเลยเจาะจงผู้หญิง หรือแม้กระทั่งเด็ก ในซีกโลกใต้ ผู้หญิงและชนชั้น เฟมินิสต์หลายคน รวมถึงลิเบอรัลเฟมินิสต์ มองเห็นพลวัตแรงงานผลิตซ้ำทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ การวิพากษ์แบบชนชั้นนี้ยังขยายความไปถึงบทบาทของกระฎุมพีหญิง ตอนที่พวกเธอจ้างผู้หญิงอีกคนให้ทำงานผลิตซ้ำให้พวกเธอโดยจ่ายค่าแรง มันทำให้ผู้หญิงบางคนโอนอ่อนไปกับเศรษฐกิจทุนนิยม หลายครั้งพวกเธอโดนเอาเปรียบและเป็นผู้ขายแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นชนชั้นกระฎุมพีในมุมเล็กๆ อีกหนึ่งคน เพราะตอนนี้พวกเธอคือผู้คุมแรงงานหญิงอีกคนเช่นกัน ตัวอย่างชัดเจนของการเอาเปรียบรูปแบบนี้คือการอุ้มบุญ ร่างกายผู้หญิงถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าในรูปแบบ โรงงาน ผลิตเด็กให้ เจ้าของโรงงาน ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะมีประสบการณ์โดนกดขี่เหมือนกันในหลายๆ ชนชั้น แต่อย่าลืมด้วยว่าการเน้นย้ำเรื่องชนชั้นกับเฟมินิสต์ก็เป็นเรื่องสำคัญเวลาพูดถึงเรื่องงานผลิตซ้ำ ปิตาธิปไตยและทุนนิยม เมื่อวิเคราะห์ผ่านมุมมองชนชั้น เราจะเห็นว่าวิธีที่ทุนนิยมสร้างความร่ำรวยนั้นตั้งอยู่บนแรงงานผลิตซ้ำแบบไม่เป็นทางการที่ถูกทำให้เป็นเรื่องของผู้หญิง — ให้สร้าง ให้หุงหาอาหาร ให้ดูแล ให้ผลิตแรงงานเพิ่ม ทุนนิยมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เลยพึ่งพิงปิตาธิปไตยดังหนึ่งเสาหลักอันมีแรงงานหญิงคอยค้ำรักษามันเอาไว้ องค์กรด้านสังคมหลายองค์กรได้ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างปิตาธิปไตยและทุนนิยมให้เป็นประโยชน์ เช่น ศาสนา ศาล ระบบการศึกษา และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดก็ช่วยเสริมวัฒนธรรมปิตาธิปไตยระดับโลกที่ซึมลึกไปทุกอณู บทวิพากษ์ลิเบอรัลเฟมินิสต์ ลิเบอรัลเฟมินิสต์ต่างจากเฟมินิสต์ที่มีสำนึกชนชั้นตรงที่ให้ความสำคัญกับการกดขี่ผู้หญิงแบบปัจเจกมากกว่าจะมองสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้ผู้หญิงต้องอยู่กับการถูกเอาเปรียบ ถ้าให้ลิเบอรัลเฟมินิสต์ทำเรื่องแรงงานก็คงเล่นเรื่องผู้หญิงในที่ทำงานในระดับปัจเจก เช่น สนับสนุนให้ผู้หญิงเป็น CEO ของบริษัท และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบเป็นทางการ ในขณะที่เฟมินิสต์ที่มีสำนึกชนชั้นจะส่งเสริมให้กำจัด CEO และการควบคุมแรงงานของบริษัท กำจัดสภาพการทำงานที่ถูกทำให้เป็นของผู้หญิงและโครงสร้างปิตาธิปไตยภายใน และเมื่อมองแรงงานผลิตซ้ำแบบไม่เป็นทางการ ลิเบอรัลเฟมินิสต์ก็จะแกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และเถียงว่าผู้หญิงที่สามารถจ้างคนอื่นให้ทำงานผลิตซ้ำของตัวเองได้ เช่น เลี้ยงเด็ก ก็ตอบแทนเพียงพอแล้วด้วยค่าแรง การมองแบบนี้ละเลย ภาระซ้ำซ้อน ของงานที่ถูกทำให้เป็นของผู้หญิงไปซะโต้งๆ เฟมินิสต์แบบคำนึงถึงชนชั้นเห็นว่าการปลดปล่อยผู้หญิงและแรงงานนั้นแยกกันไม่ออก เห็นว่าถึงแม้ผู้หญิงจะถูกกดทับด้วยโครงสร้างปิตาธิปไตย ผู้หญิงบางคนก็ยังสามารถได้ประโยชน์จากงานที่ถูกทำให้เป็นของผู้หญิง เพราะฉะนั้น เฟมินิสต์รูปแบบนี้เรียกร้องให้กำจัดโครงสร้างทุนนิยมปิตาธิปไตย เพื่อที่จะได้ปลดปล่อยผู้หญิงอย่างแท้จริงจากงานที่ถูกทำให้เป็นของผู้หญิง งานทุกงานที่กดขี่ และโครงสร้างสังคมปิตาธิปไตย


อ่านเพิ่มเติม แคมเปญค่าแรงงานบ้านเป็นแคมเปญที่ตั้งคำถามอย่างถึงรากถึงโคนเกี่ยวกับความเข้าใจที่เรามีเรื่องการงาน นิยามใหม่ว่าแรงงานคืออะไร และสิ่งไหนที่ไม่ใช่ เน้นให้เห็นงานที่ถูกทำให้เป็นของผู้หญิงซึ่งมักโดนเอาเปรียบโดยไม่ให้ค่าแรง แคมเปญนี้ไม่ได้เรียกร้องให้จ่ายค่าตอบแทนแรงงานเหล่านั้น แต่เรียกร้องให้เห็นงานรูปแบบต่างๆ ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องทำ–ที่บ้าน