ผู้เขียน Rushdia Mehreen และ David Gray-Donald 
ผู้แปล Taweesak Tabwong
บรรณาธิการ Editorial Team
Artwork ดัดแปลงจากต้นฉบับ

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Briarpatch
บทแปลได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School


โปรดอยู่ร่วมกันอย่างห่วงใย
กลุ่มนักกิจกรรมจะสร้างความเชื่อใจ ความเอาใจใส่ และความยั่งยืนได้อย่างไรในโลกแห่งทุนนิยมและการกดขี่นี้

“ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าและโดดเดี่ยว ฉันไม่รู้สึกว่าเหล่าสหายของฉันมีความสัมพันธ์ทางจิตใจที่ดีกับฉัน หรือในหมู่สหายด้วยกัน การต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มกลายเป็นการทำงานประจำ พวกเราแทบจะไม่สนใจปัญหาในชีวิตที่แต่ละคนเจอ เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ฉันไม่เห็นคุณค่าและความหมายในการขับเคลื่อนสังคมของฉัน ฉันรู้สึกว่างเปล่าทั้งทางอารมณ์และทางกายภาพ ฉันไม่มีความต้องการที่จะพาตัวเองไปเข้าร่วมกิจกรรมอีกต่อไป เพราะแทนที่ฉันจะรู้สึกมีพลังในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ฉันกลับอ่อนล้าและหมดแรง”

นี่คือสิ่งที่ เลย์คุ (Laykü) อดีตผู้จัดตั้งการเคลื่อนไหวเพื่อความสามัคคีทางสังคมและกลุ่มความเป็นธรรมเพื่อผู้อพยพในมอนทรีอัล แคนาดา เล่าถึงความรู้สึกช่วงแรกของการหมดไฟในการเป็นนักเคลื่อนไหว

ทำไมนักเคลื่อนไหวถึงหมดไฟ และเราทำอะไรได้บ้างเพื่อจะแก้ปัญหานี้ ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ควิเบก ในปี 2012 ได้มีการก่อตั้งกลุ่ม Politics & Care โดย รุชเดีย (Rushdia) ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักเคลื่อนไหวและผู้จัดการชุมชนร่วมกันก่อตั้งเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการหมดไฟ โดยกิจกรรมของกลุ่มนั้นประกอบไปด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน และการส่งเสริมให้มีเวิร์กช็อปเพื่อทำให้การดูแลเอาใจใส่กันและกันหลอมเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับงานด้านการเมือง

บทความชิ้นนี้เป็นการเผยให้เห็นถึงพลวัตที่พบได้บ่อยในการจัดการองค์กรของนักเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่อาการหมดไฟที่จะสานต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงสำรวจวิธีที่คอลเลกทีฟแคร์ (collective care) หรือการดูแลเอาใจใส่ร่วมกัน สามารถถูกนำไปผสานเข้ากับนโยบายการจัดการและการปฏิบัติ โดยเน้นไปที่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจนิยม ซึ่งเป็นกลุ่มสามัญชนที่ปราศจากลำดับชั้นทางอำนาจในองค์กร

การดูแลเอาใจใส่ร่วมกันนั้น หมายถึงความรับรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสมาชิกคนอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ในลักษณะที่มีการรับผิดชอบร่วมกันของกลุ่ม มากกว่าที่จะเป็นการแยกกันทำงานคนเดียวของปัจเจก ซึ่งหมายความว่ากลุ่มทำการตกลงร่วมกันเพื่อระบุให้เห็นถึงการเอาเปรียบที่โยงใยต่อกัน และหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อความเป็นอยู่ที่ดีภายในกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ต่อสู้กับการกดขี่ในสังคมวงกว้าง คอลเลกทีฟแคร์ยังเน้นย้ำถึงสำนึกในการรับผิดชอบที่มีร่วมกันในกลุ่มต่างๆ ของนักกิจกรรม พร้อมกับเป้าหมายที่นำไปสู่การเสริมพลังร่วมกัน (collective empowerment) โดยความคิดดังกล่าวนี้มีต้นแบบมาจากองค์กรเควียร์และสตรีนิยมผิวสี อย่างเช่น กลุ่มสตรีนิยม Combahee River Collective และกลุ่มเคลื่อนไหวของผู้พิการ ซึ่งสำนึกในการดูแลกันจะถูกห่อหุ้มไว้ในถ้อยคำที่ว่า “พวกเราอาจเป็นอันตรายต่อกันได้ ฉะนั้น โปรดอยู่ร่วมกันอย่างห่วงใย”

จากข้อถกเถียงก่อนหน้าเกี่ยวกับพลวัตที่มีปัญหา และข้อวิจารณ์ต่อความคิดเรื่องการดูแลตัวเอง (self-care) ของเสรีนิยมใหม่ จากบทความอันโด่งดังของ Upping The Anti ที่ชื่อ “ใครแคร์? การเมืองของการแคร์ในการจัดการองค์กรราดิคัล” ในบทความนี้จะเป็นการต่อยอดข้อถกเถียงซึ่งเกี่ยวกับการหาทางออกด้วยคอลเลกทีฟแคร์หรือการดูแลกันแบบส่วนรวม

อำนาจและการควบคุม

พวกเราต่างรู้จักหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับกลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า “ปราศจากลำดับชั้น” แต่กระนั้นแล้ว กลับมีปัญหาเรื่องลำดับชั้นที่ถูกซุกไว้ใต้พรมโดยไม่แม้แต่จะพูดถึงมัน เมื่อนักกิจกรรมบางคนทำงานโดยไม่ได้หลับได้นอนอยู่หลายวัน หรืออุทิศเวลาของพวกเขาในการจัดการองค์กร มันได้สร้างความกดดันให้สมาชิกคนอื่นในเรื่องการเปรียบเทียบมาตรฐานของพวกเขาในการสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ ให้ได้เหมือนกับคนที่ทำงานหนัก กลุ่มคนที่รับผิดชอบในระดับที่สุดโต่งมักจะได้รับรู้ความเป็นไปของกลุ่มมากกว่าคนอื่น ได้สร้างทุนทางสังคมมากกว่า และมีอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดข้อตกลงได้มากกว่า ลำดับชั้นล่องหนที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นยากที่จะนิยาม และยากที่จะแยกส่วนออกมาให้เข้าใจได้

บางรูปแบบของอภิสิทธิ์นั้นเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ชนชั้น ความสามารถ เพศสภาพ และเพศวิถี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่รองรับลำดับชั้นอำนาจ ที่อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการกำหนดข้อตกลงภายในองค์กร

“ผู้คนที่มักได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้อพยพที่ไม่สามารถเข้ามาร่วมประชุมได้ทุกครั้ง เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลครอบครัวของพวกเขา และมีความลำบากในการเข้ามาประชุม” เอนิ (Ani) นักจัดการองค์กรรากหญ้าเพื่อความยุติธรรมของผู้อพยพ กล่าวไว้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงภายในกลุ่ม

พื้นที่ในการจัดการองค์กรมักขาดข้อผูกมัดที่แท้จริงต่อกระบวนการกำหนดข้อตกลงร่วมกันแบบประชาธิปไตย การแลกเปลี่ยนความเห็นและการอภิปรายถูกทำให้หมดความสำคัญไปภายใต้การทำงานที่เร่งรีบ สมาชิกที่มีอำนาจจะเป็นผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจต่างๆ และสมาชิกที่เหลือก็ถูกทิ้งให้จมอยู่กับความท้อแท้และถูกลดทอนอำนาจ

อำนาจและความรับผิดชอบที่สะสมเป็นทุนทางสังคม สามารถกลายเป็นวงจรอุบาทว์ได้ คนที่สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากเกินไปมักจะส่งผลให้พวกเขามีความอดทนต่ำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตอันเกิดจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมาหลายครั้งจากการทำงาน พวกเขามักจะไม่ค่อยแสดงความอดทนต่อผู้คนที่กำลังเรียนรู้งาน หรือไม่ให้อภัยต่อความผิดพลาด นี่เป็นเหตุให้สมาชิกที่เข้ามาใหม่รู้สึกแปลกแยก และปล่อยให้คนที่อยู่มาก่อนรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกนอกจากรับผิดชอบงานหนักขึ้น และทำการควบคุมการตัดสินใจของกลุ่มมากขึ้น รูปแบบที่กล่าวมานี้ยังนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้เช่นเดียวกับการถูกลดทอนอำนาจ แม้ว่าจะเป็นการหมดไฟที่มาจากการโหมงานหนักก็ตาม

นักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะผู้อาวุโสหรือคนที่ทำงานมานานควรจะเป็นผู้ไตร่ตรองว่า พวกเขามีส่วนร่วมในกลุ่มใดบ้าง และพวกเขามีอำนาจภายในแต่ละกลุ่มมากแค่ไหน ดังคติพจน์ของนักเคลื่อนไหวที่ว่า “คนอื่นจะก้าวไปข้างหน้าได้ เมื่อคุณถอยหลังกลับมาคิดทบทวน” ในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้เรียกร้องให้นักเคลื่อนไหวที่มีประสบการณ์มากได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับองค์กร เพื่อที่จะให้สมาชิกหน้าใหม่ปรับตัวและทำงานกับองค์กรต่อไปได้ ซึ่งสามารถทำผ่านการให้คำปรึกษาและให้ความสำคัญกับกลุ่มคนชายขอบ

เหนือสิ่งอื่นใด การปรับแนวทางของเราให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยการใส่ใจผู้คนและความต้องการของพวกเขาอย่างมีสติ ก็อาจทำให้การจัดระบบเป็นประสบการณ์ที่มีความเอาใจใส่และยั่งยืน

ความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบ

เลย์คุ ชี้ให้เห็นถึงพลวัตทางอำนาจที่ไม่เพียงแต่จะกัดกร่อนสวัสดิภาพส่วนตัวของเขาและส่วนรวม ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องจองสถานที่สำหรับการอภิปราย หรือต้องออกแบบโปสเตอร์สำหรับการชุมนุม และสมาชิกในกลุ่มอาสาที่จะทำ ภายในกลุ่มจะมีความรู้สึกของการกระตุ้นให้ก้าวไปข้างหน้า องค์กรจะสามารถดำเนินการต่อได้จากความรู้สึกนี้

แต่ถ้าหากผู้ที่อาสาทำงานนั้นขาดการติดต่อไปหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็อาจทำให้สมาชิกในกลุ่มหมดพลังใจและท้อแท้ เพราะการหยุดชะงักดังกล่าวได้ขัดขวางแผนการและเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพวกเขา

สมาชิกที่มีอำนาจจะเป็นผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจต่างๆ และสมาชิกที่เหลือถูกทิ้งให้ผิดหวังและถูกลดทอนอำนาจ

ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อใจจะถูกทำลายลง เลย์คุ อธิบายว่า “ต่อให้กิจกรรมจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ในท้ายที่สุดมันจะไม่สร้างอิมแพ็กหรือความสำเร็จใดๆ และสมาชิกในกลุ่มจะไม่รู้สึกถึงการลุล่วงในเป้าหมายได้เลย” เลย์คุ ยังกล่าวจากประสบการณ์อีกว่า “[หลังจากนั้น] ผู้คนจะไม่อยากมีความรับผิดชอบ และพวกเราจะไม่มีพื้นที่อย่างแท้จริงสำหรับการเรียนรู้ที่มาจากการทบทวนความผิดพลาดอย่างเป็นส่วนรวม”

เลย์คุ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด ผู้คนจะแจ้งให้ผู้ร่วมงานทราบว่า หากพวกเขาไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ พวกเขาต้องมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือซึ่งกระทบต่อการทำงาน เช่น ปัญหาสุขภาพ เหตุฉุกเฉินในครอบครัว หรือเรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญ นอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว ความรับผิดชอบก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าความรับผิดชอบจะเป็นคำที่รุ่มรวยและซับซ้อน แต่ในที่นี้มันหมายถึงการยอมรับและรับผิดชอบต่อผลสะท้อนกลับ ซึ่งมาจากการกระทำของคนคนหนึ่งที่อาจมีผลต่อสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม “คำขอโทษอย่างจริงใจมักจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี”

ในปี 2001 สิ่งพิมพ์จาก ChangeWork ที่ชื่อ White Supremacy Culture เขียนโดย เคนเนธ แจ็กสัน โจนส์ (Kenneth Jackson Jones) และ เทม่า โอคุน (Tema Okun) เสนอให้ทำข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรก่อนเริ่มงาน ซึ่งอาจรวมถึงการวางแผนขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดเดดไลน์ และการกำหนดความคาดหวังในการติดตามผล การสร้างนิสัยในการซักถามหลังจากสิ้นสุดกิจกรรมต่างๆ เช่น การประเมินว่าอะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล และวิธีปรับปรุงแก้ไข สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดซ้ำๆ หรืออย่างน้อยก็ฟื้นฟูความไว้วางใจที่สูญเสียไปได้

ทุนนิยมแบบประเมินคุณค่าตนเอง

“ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้ง วิกฤตทางการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ ความรู้สึกของการเร่งรีบกำลังเพิ่มสูงขึ้น” ปาสคาล บรูเนต (Pascale Brunet) ผู้จัดงานองค์กรนักจัดตั้งชุมชน และผู้ร่วมก่อตั้ง Politics & Care กล่าว “ผสมผสานกับแรงกดดันของระบบทุนนิยมให้ทำการผลิตมากขึ้น ให้มีผลิตภาพ (productivity) และประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรามักจะถูกบอกว่าเรายังดีไม่พออยู่บ่อยครั้ง”

เลย์คุ ให้ภาพคร่าวๆ จากภายในกลุ่มว่า “กลุ่มของฉันไม่กล้าสารภาพด้วยซ้ำว่าพวกเราถูกแทรกซึมโดยค่านิยมและแนวปฏิบัติของวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่และทุนนิยม งานในกลุ่มนั้น ทั้งเน้นประสิทธิภาพ ความสำเร็จส่วนบุคคล การแบ่งงานตามเพศ และอื่นๆ”

แรงกดดันที่จะเป็นคนโปรดักทีฟ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมมากเกินไปในการเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การกักตุนอำนาจที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้

พลวัตนี้เรียกร้องให้มีจริยธรรมของการแคร์ (ethics of care) โดยกลุ่มสตรีนิยมและกลุ่มต่อต้านทุนนิยม ซึ่งมุ่งเน้นและยอมรับความพยายามและผลกระทบมากกว่าประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ ส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันผ่านการแบ่งปันและหมุนเวียนภาระหน้าที่ รวมไปถึงการรับรองและสนับสนุนสมาชิกโดยไม่คำนึงถึงระดับความสำคัญของผลงาน

ภาษาและการเข้าถึง

“ไม่ใช่ทุกคนที่มีศัพท์แสงและภาษาที่ถูกต้องเหมาะสมทางการเมือง ซึ่งภาษาที่ว่านี้มักจะกีดกันผู้คนออกไป” Ani โอดครวญ “ตอนนี้ โครงสร้างไม่เอื้อต่อคนที่ถูกมองข้ามจากปัญหานี้ พวกเขาไม่สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างมีความหมาย”

ภาษาทางวิชาการไม่อาจเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนชนชั้นแรงงานจำนวนมากได้ โดยปกติแล้วภาษาจะใช้เพื่อแสดงสิทธิพิเศษของผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงและส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น การเรียกร้องให้ทุกคนใช้ภาษา แนวคิด และศัพท์แสงที่ถูกต้องทางการเมืองอันใหม่ล่าสุดที่กล่าวซ้ำไปมานั้น อาจทำให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งเป็นผู้ที่มีพื้นฐานปัญหามาจากประสบการณ์ส่วนตัวนั้นยิ่งแปลกแยกและหนีห่างออกไป

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การบอกว่าเราควรแก้ต่างให้ผู้ที่ใช้ภาษาโบราณซ้ำซาก อย่างจงใจ แล้วก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือเป็นเท็จต่อผู้อื่น ตัวอย่างเช่น สมาชิกในกลุ่มต้องเคารพคำสรรพนามของสมาชิกคนอื่นๆ หรือวิธีการอธิบายเพศสภาพและเพศวีถีของพวกเขา

ในบทความสตรีนิยมในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับวิธีการทำให้ความยุติธรรมทางสังคมเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชนน้อยลงและทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น ไค เชิง โธม (Kai Cheng Thom) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการเข้าถึงทั้งในทางกายภาพและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มเติมจากการเข้าถึงด้านภาษา “เราต้องแน่ใจว่าคนที่มีบุตรหลาน ผู้คนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการและมีรายได้จำกัด รวมถึงใครก็ตามที่อาจเข้าถึงเงินและเวลาได้ไม่มาก ก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนได้”

แรงงานทางอารมณ์

เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไปว่า พื้นที่ทางองค์กรของพวกเราอยู่ภายในและเคียงคู่ไปกับระบบการกดขี่ที่มีการทับซ้อนของเชื้อชาติ เพศสภาพ ชนชั้น เพศวิถี และความทุพพลภาพ เราเห็นความเหนื่อยหน่ายในหมู่นักจัดตั้งที่เป็นสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงผิวสี เพราะการเหยียดเพศและการเหยียดเชื้อชาติมีอยู่ในพื้นที่ขององค์กรการเคลื่อนไหวนี้ ในลักษณะที่สะท้อนถึงระบบที่กว้างขึ้นของการกดขี่ทางเพศและทางเชื้อชาติ แรงงานทางอารมณ์เป็นภาระอย่างท่วมท้น โดยกลุ่มคนที่นิยามตนเองเป็นผู้หญิงและเป็นผู้หญิงผิวสี ขณะเดียวกันนั้นมันก็ถูกลดคุณค่าและจัดให้เป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ

“ในแวดวงนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ มีความเข้าใจเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การกดขี่ และอภิสิทธิ์” บรูเนต อธิบาย “[แม้ว่าเราอาจ] ประณามระบบต่างๆ ของการกดขี่ที่จัดระเบียบโครงสร้างชีวิตของเรา แต่บางครั้งมันก็ซับซ้อนกว่าอย่างมากที่เราจะตระหนักว่าเมื่อระบบเดียวกันเหล่านี้ ได้หลุดรอดเข้าไปในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดของพวกเรา”

เพื่อแยกส่วนการกดขี่เหล่านี้ในวงกว้างมากขึ้น เราต้องระวังว่าความรับผิดชอบต่อการดูแล และการสื่อสารในการทำงานภายในกลุ่มไม่ได้ตกอยู่กับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะกับผู้หญิงผิวสี ซึ่งรับหน้าที่เพิ่มเติมจากที่ต่อสู้ในการเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญอยู่แล้วในหลายกลุ่ม ผู้หญิงมักจะสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่ม จนบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อความผาสุกส่วนตัว ในขณะที่ผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายผิวขาวเลือกออกจากกลุ่มเมื่อเจอสถานการณ์ยากลำบาก

“ความสัมพันธ์ของเราส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานในองค์กรที่เราไม่รู้จักคนที่เราร่วมงานด้วย เราไม่มีเวลาและพื้นที่สำหรับความสัมพันธ์แบบองค์รวม เราไม่รู้ว่าคนอื่นต้องผ่านอะไรอีกบ้าง สถานการณ์แบบนี้ไม่อนุญาตให้เราสร้างความสามัคคีระหว่างกัน” เอนิ สะท้อนด้วยความกังวล

เธอแนะนำว่า “เราต้องคิดว่าผู้คนรอบตัวเราเป็นอย่างไร เราต้องหลุดออกจากความเป็นมืออาชีพ [ที่] สิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบงาน ซึ่งต้องการเพียงแค่ให้เรามาพบกัน เรามีงานที่ต้องทำแล้ว ต่อจากนั้น มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้รู้จักกันจริง ๆ”

สืบเนื่องจากการดูแลกันแบบส่วนรวม

เราพบว่าประเด็นทั่วไประหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ไม่ดี คือการขาดการสื่อสารแบบเปิดระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และบ่อยครั้งที่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการให้ผู้คนมานั่งพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้

การเริ่มต้นการประชุมตามปกติด้วยการเช็กอิน โดยที่สมาชิกแต่ละคนจะแบ่งปันว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ และมีความต้องการเฉพาะเจาะจงในระหว่างการประชุมหรือไม่ อาจเป็นวิธีที่ดีในการดูแลกันต่อหน้าและช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม นอกเหนือจากการประชุมแล้ว การสนทนาที่จริงใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริงสามารถเริ่มต้นด้วยความเรียบง่ายแต่จริงใจว่า “คุณสบายดีไหม” การหาพันธมิตรในกลุ่มยังสามารถช่วยสร้างวัฒนธรรมการดูแลกันได้เช่นกัน

แม้ว่าการเช็กอินนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้ แต่มันอาจเป็นประโยชน์ในการสร้างพื้นที่อย่างมีโครงสร้างจำเพาะขึ้นมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความต้องการการดูแลและเยียวยาจากผู้คน จากการทำงานในองค์กร Politics & Care มามากกว่าห้าปี เราพบว่าการเชิญผู้ดำเนินงานจากภายนอกมาเข้าร่วม (เช่น คนจาก Politics & Care) จะช่วยให้มีการอภิปรายเชิงลึกที่สามารถนำไปสู่การเยียวยาได้ ในบางครั้งเราได้พูดคุยกับสมาชิกเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับการสนทนาที่ยากลำบากกับกลุ่ม บางครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าที่กลุ่มจะจัดการประชุมการดูแลแบบส่วนรวมที่สมาชิกรู้สึกว่าถูกรับฟังขึ้นมาได้ ในกรณีอื่นๆ เราเคยเห็นกลุ่มต่างๆ ที่สมาชิกผลักดันให้มีการประชุมการดูแลสมาชิกแบบส่วนรวมเพื่อจัดการกับพลวัตของกลุ่มที่มีปัญหา แต่พลวัตเหล่านี้ เช่น การด้อยค่างานเกี่ยวกับการดูแลซึ่งกันและกัน หรือแนวคิดในการทำงานแบบทุนนิยมทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ละเลยข้อกังวลและปฏิเสธที่จะหาเวลาสำหรับจัดการประชุม

ปี 2017 Politics & Care ได้เผยแพร่ชุดคำแนะนำสำหรับกลุ่มที่ต้องการสะท้อนวัฒนธรรมการดูแล (หรือวัฒนธรรมที่ขาดสิ่งนี้) ใน “Caring about thriving” ซึ่งนำเสนอในแหล่งข้อมูลชุมชนนักศึกษาอย่าง Convergence Journal คำถามต่างๆ และกลยุทธ์ข้างต้นที่กล่าวมา สามารถสร้างความแตกต่างในความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหว และต่อความยั่งยืนระยะยาวของขบวนการของเรา ความท้าทายที่เราเผชิญในโลกนี้ยิ่งใหญ่มาก และการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้เรียกร้องให้เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน