เราต้องทวงคืนอำนาจชาวนา ถ้าอยากแก้ปัญหาฝุ่นควัน

เราต้องทวงคืนอำนาจชาวนา ถ้าอยากแก้ปัญหาฝุ่นควัน

English Version

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ภาคเหนือของประเทศไทยถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานไร่ข้าวโพด จนทำให้เผชิญกับควันพิษที่ถูกปล่อยออกมาท่วมท้องฟ้า ในทางกลับกัน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกลับเสนอทางออกเพียงน้อยนิด หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาหมอกควันนี้ได้ คือการทวงคืนอำนาจของชาวนาชาวไร่ เพื่อเพิ่มอำนาจการปกครองตนเอง และอำนาจต่อรองที่มีต่อทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น

15-20 ปีให้หลัง ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือแต่ละปีทวีความรุนแรงจนคนในพื้นที่เกินทนไหว จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ คือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมากที่สุดในโลกระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายนในทุกๆ ปี อีลีตผู้มีอำนาจจากกรุงเทพมหานครที่บริหารประเทศก็มักไม่ใส่ใจ ปล่อยปละละเลย หรือกระทั่งโกรธเกรี้ยวด่าทอปัญหาดังกล่าว เพราะหลังจากที่พวกเขามาสูดอากาศบริสุทธิ์ในช่วงหน้าหนาวและกลับบ้านแล้ว ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวกลับยังคงทุกข์ทรมานกับเมฆหมอกแห่งมลภาวะที่ก่อตัวจนหนาทึบ

แม้ว่าบทความและงานวิจัยจำนวนมากให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าว แต่ในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาหมอกควัน เราจำเป็นต้องฝ่ากระแสข่าวที่รายงานอย่างมีปัญหา นำเสนอผิดพลาด หน่วยงานรัฐที่ไร้การสอดประสาน และระบบงานวิชาการที่ดำรงอยู่ใต้อำนาจของบริษัทอุตสากรรมเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปได้เสียก่อน แม้ไม่เอ่ยนามบริษัทใหญ่และบริษัทลูกที่อยู่ในข้อพิพาทแล้ว ผลกระทบของบริษัทเหล่านี้ต่อประเด็นข้างต้นจึงไม่สามารถมองข้ามได้ เช่นเดียวกับอำนาจของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ต่อการนำเสนอข่าวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมหกรรมสินค้าเกษตรของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยและเครือข่ายบริษัทผูกขาดสินค้าเกษตรขนาดยักษ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ในการค้นหาข้อมูลสำหรับบทความนี้ เราจำเป็นต้องกลับหาประสบการณ์ชีวิต และเรื่องราวของผู้มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ที่เผชิญปัญหาโดยตรง ผลงานชิ้นนี้ พวกเราสัมภาษณ์และพูดคุยกับชาวนาชาวไร่ในชนบท ผู้อยู่อาศัยของหมู่บ้านในท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ พวกเราและทุกคนที่เราพูดคุยต่างเห็นตรงกันว่า สาเหตุของหมอกควันในพื้นที่นี้มีที่มาจากการเผาข้าวโพดเป็นหลัก มากกว่าการปมปัญหาอย่างการทำไร่อ้อย ควันเสียจากยานพาหนะ ไฟป่า หรือแม้แต่การทำอาหารหรือการสูบบุหรี่ ที่ผู้คนรับรู้ แน่นอนว่า ยังมีมลพิษในอากาศบางประเภทที่มาจากสาเหตุข้างต้น แต่หมอกควันบนภาคเหนือที่เกิดขึ้นในช่วงน่าร้อนของทุกปีคือปรากฎการณ์ที่ต่างออกไป เพราะในกรณีไร่อ้อย ควันจากการเผาไม่เพียงแค่ฤดูร้อนที่อากาศแห้งเท่านั้น แต่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ในขณะที่ไร่ข้าวโพดมีการเผาเฉพาะในฤดูแล้ง


ที่มา  รายงาน Right to Clean Air จาก Green Peace (2017) เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2566

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยอยู่ใต้เมฆหมอกของควันพิษที่ตามรังความพวกเรานั้นมาจากอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ ชนชั้นแรงงานในชนบทต้องอดทนกับการขูดรีดแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมอย่างแสนสาหัส รวมทั้งการถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ก่อฝุ่นควันเสียเอง ในขณะที่คนในกรุงเทพ ผู้เป็นต้นตอของปัญหากลับยังคงตักตวงความมั่งคั่งจนคนในภาคเหนือต้องทนทุกข์ทรมานไปเรื่อยๆ

 

ชาวนาชาวไร่

เมื่อไม่นานมานี้ เราได้พักอาศัยในชนบททางตอนใต้ของน่านในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพด เราเดินเท้าขึ้นบนดอยไปยังไร่ข้าวโพดของป้าแดง ซึ่งเป็นชาวไร่ในพื้นที่ ป้าแดงเกิดในหมู่บ้านแห่งนี้ หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้นเธอก็ย้ายไปทำงานโรงงานทอผ้าในกรุงเทพ แต่ไม่นานเมื่อลูกชายของเธอเกิด สามีของเธอก็เสียชีวิต จนทำให้เธอต้องย้ายกลับบ้านเพื่อดูแลไร่ของเธอต่อ ป้าแดงคุยกับเราในขณะที่เดินขึ้นเขา วิวของภูเขาสวยงามราวกับสวรรค์ เรามาในวันที่ท้องฟ้าโปร่ง ก่อนวันที่ฝุ่นควันจะปกคลุม เรามองเห็นยอดเขาทอดยาวไปจนถึงชายแดนประเทศลาว ใต้ยอดเขาคือหุบเขาแคบที่คั่นกลางด้วยแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ หุบเขาเหล่านั้นเขียวขจี และแซมด้วยบ้านไม้ในหมู่บ้าน ช่วงหน้าแล้งจะมีน้ำบาดาลผุดขึ้นมาเป้นชลประทานธรรมชาติและเป็นน้ำสะอาดให้ชาวบ้านดื่มกิน ผู้คนในละแวกนั้นปลูกข้าว ปลูกผัก และเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ไกลออกไปคือไร่ข้าวโพด ตั้งอยู่บนเขาหัวโล้นที่แห้งแล้ง มันสูงเกินกว่าที่จะใช้บ่อน้ำผุด

ไฟฟ้ามาถึงหมู่บ้านนี้เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาเดียวกับที่โรงเรียนในอำเภอเปิดขึ้น เซเว่นอีเลเว่นที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างถึงกว่า 1 ชั่วโมงเมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ คนพื้นที่พูดคำเมืองในอีกสำเนียงที่เราไม่คุ้นหู ในขณะที่คนเชียงใหม่พูดช้ากว่า พวกเขากลับพูดเร็วจนพวกเราแทบตามไม่ทัน คนพื้นที่ล้วนมากทั้งอายุและมากประสบการณ์ มือและหน้าของพวกเขาบ่งบอกการผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งจากวัยและงานไร่นาที่พวกเขาทำ ในหมู่บ้านมีคนหนุ่มสาวอยู่น้อยมาก วัยรุ่นส่วนใหญ่ย้ายไปหางานเมืองอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือแพร่ น้อยมากที่จะกลับบ้าน ประชากรในหมู่บ้านจึงลดน้อยถอยลง

เพราะเขาที่ราบชัน การเดินเท้าไปยังไร่ของป้าแดงจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก หลังจากที่เราผ่านทิวไม้ เราก็เจอกับไร่ข้าวโพด ราวกับการเดินทางที่เหลือของวันนั้นเราคงจะเจอแต่ข้าวโพด ลำต้นของมันเก้งก้างทั่วยอดเขา ข้าวโพด ข้าวโพด และข้าวโพด ช่างดูแห้งแล้ง แห้งเหี่ยว และไร้ชีวิตเสียเหลือเกิน ป้าแดงเล่าว่า พวกเขาปล่อยให้มันยืนต้นตายและปล่อยแห้งก่อนเก็บเกี่ยว ระหว่างทางเราเห็นคุณลุงจำนวนหนึ่งใช้มีดยาวตัดฝักข้าวโพดอยู่ในไร่ ต้นของมันสูงราว 2 เมตร มีใบที่ยาวใหญ่ห่อหุ้มลำต้นอย่างแน่นหนา เม็ดติดอยู่กับฝัก แต่เพราะเมล็ดข้าวโพดสีเหลืองด้านในคือส่วนประกอบเดียวที่ใช้ประโยชน์ได้ การเก็บเกี่ยวข้าวโพดจึงต่อให้เกิดขยะชีวภาพจำนวนมากเพื่อจะได้ผลผลิตที่ใช้ได้เพียงน้อยนิด

 

การเก็บเกี่ยว

เราเดินไปถึงไร่ของป้าแดง คุณลุงสองคนกำลังทำงานอยู่ที่นั่น เราทักทายและแลกบุหรี่กัน ต้นข้าวโพดที่ล้มลงกรอบแกรบอยู่ใต้ฝ่าเท้า และพันเกี่ยวข้อเท้าของเรา บนที่แห่งนี้ ข้าวโพดที่ถูกเก็บเกี่ยวจะถูกใส่ในกระสอบ และส่วนอื่นๆ จะถูกทิ้งไว้ที่พื้น เราเดินขึ้นไปยังศาลาเพื่อพักผ่อน เราปีนขึ้นไปและล้มตัวลงบนกระสอบผ้าป่านที่เต็มไปด้วยข้าวโพด…มันช่างสบายเหลือเกิน…

หลังการเก็บเกี่ยว ข้าวโพดในฝักถูกส่งลงจากภูเขาเพื่อเข้ากระบวนการผลิต ที่เปลือกของมันถูกลอก ชั่งน้ำหนัก และส่งลงไปภาคกลางเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ป้าแดงไม่ได้เป็นเจ้าของไร่ตามกฎหมาย สหกรณ์ชาวไร่ในหมู่บ้านผู้แผ้วถางพื้นที่เป็นคนปันไร่ให้เธอ ที่นี่ พวกเขาใช้พื้นที่และแรงงานร่วมกัน เธอบอกกับเราว่าเธอได้รายได้น้อยมากจากการทำไร่ เธอได้ค่าข้าวโพดเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น แต่ก็ยังพอเลี้ยงปากท้องเธอและลูกชายได้

ไร่ข้าวโพดขนาดใหญ่เรียกได้ว่าเป็นพัฒนาครั้งใหม่ของหมู่บ้านแห่งนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดในภาคเหนือเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าใน 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าการปลูกข้าวโพด ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตด้วยเศรษฐกิจยังชีพ รายได้จากภายนอกมาจากการเลี้ยงหมูและขายในตลาด ไร่ของเขาที่แต่ก่อนเป็นป่า ถูกถางขึ้นมาเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว จนวันนี้ ผู้คนในพื้นที่ก็ยังคงผลิตวัตถุดิบพื้นฐานที่พวกเขาใช้กันเองในละแวกหุบเขา ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ อย่างไรก็ตาม รายได้จากภายนอกก็ยังจำเป็นสำหรับที่นี่ ด้วยค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับสิ่งจำเป็นสมัยใหม่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ในบ้าน ทำให้ป้าแดงที่หวังจะส่งลูกชายเรียนมหาวิทยาลัยต้องหารายได้จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย

หลังจากข้าวโพดถูกเก็บเกี่ยว การเผาจึงเริ่มต้นขึ้น การเผาคือหนทางเดียวที่จะกำจัดของเสียทางการเกษตรทั้งหมดในพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกในปีถัดไป ในประเทศปลูกข้าวโพดอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเช่นประเทศแถบยุโรปพื้นที่เพาะปลูกจะไม่ถูกเผา แต่ตอข้าวโพดจะถูกไถและฝังกลบในดิน เพื่อให้มันย่อยสลาย และพร้อมสำหรับการเพาะปลูกครั้งใหม่ อย่างไรก็ดี เมื่อไร่ข้าวโพดตั้งอยู่บนเขาที่สูงชันและประชากรส่วนใหญ่คือวัยชรา กำลังแรงงานในการฝังกลบจึงไม่เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ยากที่จะรถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่ขึ้นไปยังทางลุกรังที่ลาดชัน นอกจากนี้ ในช่วงหน้าแล้งหลังการเก็บเกี่ยว ยังไม่มีฝนที่คอยสร้างความชุ่มชื้นที่ช่วยให้ลำต้นที่เหลือย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

 

ไฟ

แสงสว่างจากไฟที่กำลังลุกไหม้ ไฟนี้ทำให้เกิดควันหนาหนักที่ค่อยๆ ลอยขึ้นไปบนฟ้า ลุงๆ ป้าๆ คอยยืนดูแล สอดส่ายสายตาและจัดการไฟ พวกเขาอยู่เพื่อดูให้แน่ใจว่า ไฟจะไม่ไหม้รุกออกไปเกินพื้นที่ที่เขาต้องการ งานนี้ทั้งร้อนและสกปรก ควรทำในช่วงเย็นหรือเช้าตรู่จะดีที่สุด ไฟนี้ถูกจุดทั่วตลอดภาคเหนือ ตั้งแต่เพชรบูรณ์จนถึงแม่ฮ่องสอน เชียงรายจนถึงกำแพงเพชร ไฟจุดเล็กๆ เป็นพันๆ แห่งนี้มีคนคอยดูอยู่ตลอด มันคอยส่งซังข้าวโพดที่ไม่มีใครต้องการแล้วขึ้นไปบนฟ้า บางครั้ง ไฟที่เผานี้ก็หนักหนาเกินกว่าจะควบคุมได้และลามไปสู่ไฟป่า ฝุ่นควันโขมงลอยขึ้นปกคลุมฟากฟ้า เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และหลายต่อหลายครั้งก็ยาวนานจนถึงเดือนพฤษภาคม ยามที่ฝนฟ้าไม่ค่อยตกมารับมืออากาศหนาหนัก แล้วก็ยังไม่มีระบบสภาพอากาศอะไรมากระจายควันเหล่านี้ ควันที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านของป้าแดง ที่ที่ชีวิตไม่ได้ถูกใช้ภายใต้กำแพงของแอร์คอนดิชันเนอร์ จนเกิดปัญหาทางเดินหายใจที่จะคงอยู่และส่งต่อไปจนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ทัศนคติของคนภายนอกที่มีต่อชาวนาภาคเหนือนั้นไม่ค่อยชื่นชมพวกเขาเท่าไร บ้างก็ว่าโง่ บ้างก็ว่าบ้านนอก ว่าพวกเขาเผาเองแล้วก็บ่นเรื่องฝุ่นเอง คนเมืองชนชั้นกลางในภาคเหนือก็ไม่มีความเห็นอกเห็นใจให้ชาวนาชาวไร่บนภูเขาที่สร้าง “อากาศปนเปื้อน” ในเมืองของพวกเขา ในขณะคนที่ได้รับมอบหมายจากกรุงเทพฯ ให้มาปกครองส่วนภูมิภาคก็ไม่ไยดีอะไรประเด็นนี้ บางครั้งก็จับเอาข้อบังคับห้ามเผามาใช้ในเชิงกฎหมาย ที่ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แค่ทำโทษชาวไร่บางคนที่โชคร้ายเท่านั้น หลายจังหวัดอย่างเชียงใหม่เองก็ออกข้อห้ามเผาโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ลงทุนไปกับงบประมาณจัดการไฟอย่างมาก แต่กลับไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ พลเมืองที่โกรธเกรี้ยวบางคนก็ถึงขนาดเรียกร้องให้ยึดที่ดินของคนที่เผาไร่อย่างไม่ระมัดระวัง แต่มันก็น่าขัน เพราะชาวไร่หลายคนก็ไม่ได้ครอบครองที่ดินเลยด้วยซ้ำ

 

ฝุ่นควันข้ามพรมแดน

เมื่อเราข้ามพรมแดนรัฐไทยไป ในลาว พม่า และจีนใต้ การทำการเกษตรรูปแบบนี้ก็กำลังเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีที่ไหนเป็นระบบระเบียบและแพร่ไปทั่วเหมือนของไทย ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้ามพรมแดนในภูมิภาคที่ชัดเจนนั้นหายาก แต่เราก็ยังประเมินได้คร่าวๆ จากจำนวนประชากรในพื้นที่ชนบทเหล่านี้

ประชากรในภาคเหนือของไทยปลูกข้าวโพดอยู่ทั่วไป (ซึ่งจำนวนนี้จะนับรวมถึงจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย และตากด้วย) ประมาณ 9.3 ล้านคน ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกข้าวโพดเหมือนกันมีประชากรอยู่ 3 ล้านคน (แม้จำนวนพื้นที่เพาะปลูกจะต่างกับของไทยอยู่มาก)  ในภูมิภาคนี้ก็มีลาวอีกประมาณ 1 ล้านคน และในจีนอีก 1.5 ล้านคน เพราะพื้นที่ยิ่งสูงก็ยิ่งเพาะปลูกได้ยาก เช่นในสิบสองปันนา

ในภูมิภาคที่รายล้อมนี้มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยกว่าภาคเหนือของไทยอย่างมาก หมายความว่าพวกเขาไม่ได้มีกำลังคนมากพอที่จะเพาะปลูกขนานใหญ่แบบในไทยได้ นอกจากนั้น พื้นที่เหล่านี้ก็ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพทางการเกษตรน้อยกว่า ดังที่เราได้พูดไปก่อนหน้านี้ ปริมาณฝุ่นในภูมิภาคแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ช่วง 20 ปีก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งวิธีที่จะวัดความหนาแน่นของการเพาะปลูกในภูมิภาคก็สามารถดูได้จากภาพถ่ายทางดาวเทียม เราสามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าระหว่างพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่นและมีการเพาะปลูกหนาแน่นในภาคเหนือของไทย กับพื้นที่รอบข้าง ทั้งหมดนี้หมายความว่าภาคเหนือของไทยนั้นเป็นที่แรกๆ ที่ริเริ่มการถางป่าเพื่อการเกษตร ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นที่สำคัญ มากกว่าจะเป็นพื้นที่รอบข้าง แต่มันกลับย้อนแย้ง เพราะข้าวโพดที่ปลูกที่ต่างประเทศก็ถูกซื้อเข้ามาในไทยผ่านบริษัทผูกขาดการเกษตรยักษ์ใหญ่ (แม้ไม่รู้จำนวนที่แน่ชัด) ชี้ให้เห็นว่าแม้ผู้คนและรัฐบาลจะถูกกักกันอยู่ในเขตแดนรัฐชาติ ฝุ่นและทุนกลับเคลื่อนผ่านมาได้

​​

ปีที่แล้ว (2566) มูลค่าการนำเข้าข้าวโพดเพิ่มสูงถึง 13,200,999,565 บาท เพิ่มขึ้น 560.53% จากสี่ปีก่อนหน้านั้น (ซึ่งมีมูลค่า 1,998,537,516 บาท) โดยข้าวโพดเป็นพืชที่อยู่ในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศไทยและอาเซียน ฉะนั้นแล้วจึงไม่มีการเก็บภาษีนำเข้า เพราะอัตราภาษีอยู่ที่ 0% เท่านั้น

 

ในภาพนี้ เราจะเห็นได้ว่าภาคเหนือของไทยโดดเด่นกว่าที่อื่นมาก เพราะมีการถางป่าสูงกว่าภูมิภาคที่รายล้อม แสดงให้เห็นว่ามีผลผลิตทางการเกษตรที่สูงกว่า กรีนพีซได้วิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียมโดยละเอียดที่นี่

เช่นเดียวกัน เมื่อเราเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศระหว่างปี 2545 กับ 2564 จะเห็นอัตราการถางป่าเพื่อการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

เศรษฐกิจกับปากท้อง

หากจะทำความเข้าใจที่มาของฝุ่นควัน เราต้องดูเรื่องอื่นนอกจากไฟและการเผาด้วย ความเป็นจริงคือชาวนาชาวไร่กลุ่มนี้ไม่มีทางเลือก เหมือนกับที่คนเดินทางในเมืองต้องเผาไหม้เชื้อเพลิงระหว่างเดินทางไปทำงาน ไร่พวกนี้ก็มีข้าวโพดปลูกอยู่ ข้าวโพดนี้ไม่ได้มีไว้ให้คนท้องถิ่น แต่มีไว้สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์อันใหญ่โตและเลวทรามของไทย ประเทศไทยส่งออกเนื้อสำหรับบริโภคมากกว่าประเทศข้างเคียงอย่างมาเลเซียถึงสองเท่า ทั้งยังมากกว่าอินโดนีเซียและเวียดนามรวมกัน ด้วยการส่งออกเนื้อไก่ใหญ่เป็นลำดับสามในโลก

ในปี 2564 พื้นที่ 7 ล้านไร่ ในไทยถูกใช้ไปปลูกข้าวโพดเพื่ออาหารสัตว์ ในภาคเหนือมีปริมาณมากกว่า 5 ล้านไร่ โดยข้าวโพด 90% ที่ปลูกในไทยใช้ไปเป็นอาหารสัตว์ ตั้งแต่ปี 2545 – 2565 การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์นั้นเพิ่มจำนวนขึ้น 4 เท่า จาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ ซึ่งในระยะเวลานั้นจะเห็นได้ว่าการส่งออกเนื้อสัตว์ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นเท่าๆ กัน

นอกจากเนื้อสัตว์แล้ว ประเทศไทยก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และใหญ่เป็นลำดับที่ 12 ของโลก ถึงที่สุดแล้ว คนที่ได้เงินจำนวนมหาศาลจากข้าวโพดกลับไม่ใช่ชาวไร่ แต่เป็นผู้ผูกขาดภาคการเกษตรที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วคือ บริษัทที่กำลังตกอยู่ในข้อพิพาท ต่างหาก และเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทพวกนี้ต่างหากที่ถือครองหยาดเหงื่อแรงงานของชาวไร่ พวกมันใช้กำลังขู่เข็ญยืมมือชาวไร่ให้จุดไฟ แล้วปล่อยให้พวกเขาต้องเป็นแพะรับบาป

 

ทางแก้ปัญหา

การเผาป่าเป็นปัญหาทางชนชั้น ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีแก้ปัญหาแบบชนชั้นเช่นกัน เมื่อเราประเมินสถานการณ์เราจะเห็นว่า ชาวไร่ถูกบังคับให้เผาขยะการเกษตร และเป็นที่ชัดเจนว่า ทางเดียวที่จะหยุดปัญหานี้ได้คือให้ชาวนาชาวไร่ปลดแอกออกจากความสัมพันธ์ที่กดขี่ขูดรีดนี้และปลดปล่อยตัวของพวกเขาเองจากการผูกขาดทางการเกษตร

แอกอันใหญ่ของทุนผูกขาดที่อยู่บนบ่าของชาวไร่คือความยากจน ชาวนาชาวไร่ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากรายได้เพียงน้อยนิดที่ได้จากการขายข้าวโพด หลายคนอย่างป้าแดง ก็ใช้ชีวิตอยู่ได้แบบเดือนต่อเดือนเท่านั้น

โชคดีที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมในต่างประเทศพอจะเป็นแนวทางให้ได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (the model of set-aside programs) ซึ่งแนวปฏิบัติที่ว่านี้ก็คือ จ่ายเงินให้ชาวไร่เพื่อให้เขาไม่ทำไร่นาของเขาบางส่วน ส่วนมากจะอยู่ที่ประมาณ 20% ของที่ดิน เพื่อให้ที่ดินฟื้นฟูสภาพได้ ในกรณีของประเทศไทย แนวปฏิบัตินี้สามารถเอามาใช้เพื่อให้ของเสียทางชีวภาพย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติแทนที่จะเอาไปเผา นโยบายแบบนี้ไม่ได้ใช้ทุนเยอะด้วยซ้ำ ในขณะที่รายได้ของชาวนาชาวไร่ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินอย่างน่าใจหาย เจ้าของบริษัทที่ร่ำรวยมหาศาลเหล่านั้นมีความสามารถในการจ่ายอยู่แล้ว มันไม่ได้ยากสำหรับพวกเขาเลยที่จะลดรายได้ลงนิดหน่อยเพื่อช่วยให้คนหลายล้านชีวิตไม่สำลักหมอกตายไปก่อน

วิธีการแก้ปัญหาทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่งคือ การปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งพื้นที่ขนาดใหญ่ในภาคเหนือก็ทำกันอยู่แล้ว บ้างก็หมุนทั้งพืชและหมุนทั้งที่ วิธีการก็คือ ปลูกพืชชนิดใหม่หลังจากการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง เป็นวิธีการที่เกษตรกรชาวกะเหรี่ยงในชนบทมักจะใช้กัน โดยทั่วไปจะเริ่มจากการปลูก เช่น ข้าวโพด → ข้าว → ถั่ว → ข้าวโพด วนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และพวกเขาทิ้งที่ดินไว้เฉย ๆ โดยไม่ใช้เป็นเวลา 1 ปีเต็มเพื่อให้ขยะย่อยสลายตามธรรมชาติ การปลูกพืชหมุนเวียน นอกจากจะลดการเผาเศษข้าวโพดแล้ว ยังปรับปรุง/รักษาคุณภาพของดินและทำให้เกษตรกรสามารถได้ใช้แรงงานหลากหลายแบบอีกด้วย ในที่ราบสูงบางแห่ง เช่น ไร่ของป้าแดง การปลูกข้าวไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก การปลูกพืชหมุนเวียนควบคู่ไปกับพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องการเผาที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปีได้อย่างมหาศาล ทีนี้คำถามมีอยู่ว่า เราให้ค่าความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน ระหว่างสุขภาพของคนหลายล้านคน กับ ผลประโยชน์ของมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน?

โครงการทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชนชั้นแรงงานชนบทโดยอ้อม ก็ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยฟรีที่จัดสรรโดยรัฐบาลแห่งชาติ หรือแม้แต่ไวไฟ (wifi) ฟรีประจำหมู่บ้าน จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนจนในชนบทได้เยอะไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับกรณีป้าแดง มาตรการเหล่านี้จะทำให้คนในท้องถิ่นไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการผลิตข้าวโพดมากเกินไป ซึ่งเดิมทีก็น้อยอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นโยบายการตรวจสอบเศรษฐกิจ (economic verification schemes) เช่น นโยบายที่ประสบความเร็จอย่าง OVOP ของญี่ปุ่น ซึ่งไทยเอามาต่อยอดเป็นโครงการ OTOP (หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์) เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างความหลากหลายในการผลิตทางเศรษฐกิจแบบหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันก็สร้างหลักประกันว่า ชุมชนจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตด้วยตัวเอง ทำให้หมู่บ้านไม่ต้องพึ่งพาพืชเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น ข้าวโพดในภาคเหนือ และอ้อยในภาคอีสาน ในความเป็นจริง โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในภาคเหนือก่อนที่จะมีการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 และหลังจากนั้นโครงการก็ถูกปล่อยทิ้ง

กระนั้นเอง การแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรเหล่านี้ก็ถูกขัดขวางโดยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ผูกขาดภาคการเกษตรอยู่ และโครงการทางสังคมของรัฐบาลที่มุ่งช่วยเหลือชนชั้นแรงงานในชนบทกลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจนำของกรุงเทพฯ ข้าวโพดเป็นที่พืชดีมาก เก็บไว้ได้เป็นสิบๆ ปี และเอาไปแปรรูปเป็นผลิตสำคัญๆ ได้หลายอย่าง ตั้งแต่อาหารสัตว์ ไปจนถึงแป้ง ไปจนถึงเชื้อเพลิง ข้าวโพดเป็นพืชที่มีประโยชน์มากแถมยังมีความคงที่ ทำให้มันเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับเกษตรกรมากกว่ากระเทียมหรือหัวหอม ซึ่งต้องการสภาพอากาศที่มีความเฉพาะเป็นพิเศษและและต้องการระบบชลประทานที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่า เพราะอย่างนี้ เกษตรกรจึงได้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารง่ายขึ้นถ้ามีรายได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเป็นหลักประกันที่แน่นอนล่วงหน้า ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนวิธีการทำไร่หรือเปลี่ยนประเภทของพืชจะทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรตกอยู่ในความเสี่ยงและจะทำให้รายได้ของนายทุนผูกขาดน้อยลง

 

ความเปลี่ยนแปลง

ตรงนี้เราต้องพิจารณาดูว่าความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ความเป็นอยู่ของชาวนาชนบทในศตวรรษที่ผ่านมาดีขึ้นได้ไม่ใช่เพราะรัฐใจดียื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่เพราะชนชั้นแรงงานชนบทจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ ตอบกลับข้อเรียกร้องเหล่านี้แบบขอไปที (a carrot and stick response) มาโดยตลอด ชาวนานักต่อสู้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกสังหารหมู่โดยรัฐ ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูสำหรับใครก็ตามที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ในขณะเดียวกันรัฐก็อะลุ่มอล่วยให้ชาวนาได้รับสิทธิมากขึ้น รวมไปถึงใช้โครงการทางสังคมและการให้กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อหยุดกลุ่มต่อต้าน หนึ่งในการเคลื่อนไหวหลักของกลุ่มต่อต้านก็คือการลุกฮือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความตื่นตัวอย่างมากในจังหวัดน่านและพื้นที่ชนบทอื่นๆ ของประเทศ เมื่อ 30 ปีที่แล้วรัฐตอบกลับด้วยการมอบของตอบแทนให้นิดๆ หน่อยๆ เป็นโรงเรียนมัธยมต้นและระบบไฟฟ้าในอำเภอที่ป้าแดงอาศัยอยู่ ซึ่งก็บังเอิญเป็นช่วงที่กลุ่มต่อต้านถูกสลายลงพอดิบพอดี และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นโยบายปฏิรูปสังคมของพรรคไทยรักไทยที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทก็ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ซึ่งต่อมาถูกรัฐปราบปรามลงอย่างรุนแรง

ทุกวันนี้ การต่อสู้อย่างหนักหน่วงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าค่อย ๆ หายไปเรื่อยๆ นโยบายของพรรคไทยรักไทยไม่กี่อย่าง เช่น นโยบายสินค้าโอทอป รอดพ้นจากการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมาได้ และในขณะที่ชาวนาจำนวนมากได้รับสิทธิในที่ดิน พวกเขาก็ยังเป็นหนี้ในที่ดินนั้น (ผู้แปล: ต้องเอาไปจำนอง เช่ามา หรือติดหนี้ในเกษตรพันธสัญญา ฯลฯ) ได้เงินมาก็ต้องเอาไปใช้หนี้กับต้องมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างอะไรจากยุคศักดินา ที่ซึ่งพวกเขาต้องทำงานบนที่ดินที่พวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าของ ในขณะเดียวกัน ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ได้ “พัฒนา” มากยิ่งขึ้น ที่ดินมี “ผลิตภาพ” มากขึ้นสำหรับทุน เห็นได้ชัดจากการผูกขาดของธุรกิจการเกษตรจำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่นข้าวโพดและรีดเค้นผลกำไรสูงสุดจากที่ดินและคนงานที่ทำงานในที่ดินนั้น

 

จากน่านไปจนถึงลำพูน

เราร่ำลาป้าแดงกับบรรดาลุงๆ แล้วก็ออกจากที่ราบสูงน่าน ผ่านหมู่บ้านต่างๆ มากมาย เราเห็นป้ายโฆษณามากมายอยู่ตามถนนหนทาง เป็นรูปข้าวโพดพร้อมรหัสตัวอักษรและตัวเลขข้างล่าง H23374, H46284 ฯลฯ… พวกนี้เป็นโฆษณาเมล็ดข้าวโพดหลากหลายสายพันธุ์ ฤดูเก็บเกี่ยวกำลังจะมาถึง และเกษตรกรก็กำลังเตรียมหว่านเมล็ดพืชผลของปีหน้า เราผ่านแพร่และลำปาง ผ่านที่ราบสูงเข้าไปในหุบเขา เราเห็นฉากประมาณนี้ นั่นก็คือ ป้ายโฆษณาข้าวโพดปรากฏขึ้นในที่ราบสูงแล้วจากนั้นก็หายไปในหุบเขา

เราไปถึงลำพูนเพื่อไปเยี่ยมเยียนมิตรสหายในหมู่บ้านกลางพื้นที่ราบลุ่มสวยงาม อยู่นี่ไม่มีป้ายโฆษณา แต่เราพอจะสังเกตเห็นไร่ข้าวโพดในหมู่บ้านอยู่บ้าง เราเลยถามเพื่อนว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพื่อนก็เลยตอบมาว่า “ตัวเลขที่คุณเห็นในโฆษณาเป็นข้าวโพดที่เอาไว้เลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดที่เราปลูกที่นี่เอาไว้ให้คนกิน ส่วนมากจะขายแค่ในพื้นที่ท้องถิ่น” เราถามว่าที่นี่เขาเผาข้าวโพดกันไหม เพื่อนตอบกลับมาว่า “เผาเป็นบางครั้ง แต่ถ้าเผาก็มักจะไม่เผากันในฤดูเผาหรอก ชาวนาปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปีในที่ราบ เพราะเรามีระบบชลประทานที่มั่นคงตลอดปี”

บทสนทนาและการสังเกตการณ์เหล่านี้ให้คำตอบที่หาได้ยากอย่างน่าประหลาดใจ การหาข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตรในประเทศไทยไม่ใช่แค่ท้าทายอย่างเดียว แต่ยังพาให้เข้าใจผิดได้อีกด้วย เราต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่ เราต้องไปดูสถานที่เหล่านี้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงสังเกตการณ์อุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่มากมายแต่ขณะเดียวก็ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควัน และในความเป็นจริงแล้ว คนในพื้นที่ คนงานในโรงงาน เป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่าความจริงเป็นอย่างไร

ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นโรงงานไร่สำหรับการปลูกข้าวโพด โรงงานนี้กำลังปล่อยควันขึ้นไปสู่อากาศและสร้างมลพิษให้กับทุกคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น โรงงานไม่ได้เป็นของคนในพื้นที่ แต่เป็นของชนชั้นนำในกรุงเทพและต่างประเทศ เช่นเดียวกับโรงงานอื่น ๆ ที่ปล่อยควัน การโยนความผิดไปให้คนงานและลงโทษคนงานในโรงงานแทนที่จะเป็นเจ้าของโรงงานเป็นเรื่องที่ตลกสิ้นดี การจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง ทุกคนที่สูดอากาศจากภูเขา คนงานในโรงงาน เกษตรกร และพวกเราสามัญชนคนทั่วไป เราจะต้องยึดโรงงาน ไม่ใช่แค่เพื่อตัวของพวกเขาเอง แต่รวมไปถึงทุกคนที่อยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย

 


 

เพิ่มเติมจากบรรณาธิการ: จากเวิร์กชอปเรื่องเกษตรนิเวศชาวนาที่ RCSD (7-9 เม.ย. 66) เราได้ฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับประเด็นฝุ่นควันและเกษตรเชิงเดี่ยว รวมทั้งเรื่องที่ดิน ไฟป่า

สำหรับที่ดินเอง ชาวนาชาวบ้านและประชาชนในไทยนั้นต้องเผชิญความไม่มั่นคงทางที่ดินอย่างรุนแรง เนื่องจากที่ดินทั้งประเทศตกอยู่ในมือคนประมาณ 15 ล้านคนทั่วไทยเท่านั้นที่มีเอกสารสิทธิ โดยมีนายทุนขายเหล้าเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ 630,000 ไร่ หรือเทียบเท่าหนึ่งจังหวัดเลยทีเดียว นอกจากนั้นข้อมูลการถือครองที่ดินยังถูกทำให้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ดีที่สุด ปัญหาเรื่องที่ดินแทนที่จะเป็นปัญหาใหญ่ของส่วนรวม ของเราทุกคน เรากลับถูกรัฐทำให้มันกลายเป็นปัญหาของปัจเจก ปัจจุบันรัฐมีนโยบายธนาคารที่ดิน โดยรัฐซื้อที่มาในราคาตลาด เพื่อขายต่อให้ชาวนาในราคาตลาดและมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง หลายคนจึงต้องตกเป็นหนี้อย่างไม่เห็นหนทางที่จะชดใช้ได้ในชีวิตหนึ่ง ไม่ใช่แค่นั้น ในบทความจะเห็นได้ว่าป้าแดงใช้พื้นที่สหกรณ์เพื่อทำไร่ ชาวนาชาวไร่ในไทยได้ต่อสู้เรียกร้องเรื่องที่ดิน เรียกร้องเรื่องโฉนดชุมชนที่ร่วมเป็นเจ้าของ ดูแลและจัดการกันในชุมชนมาโดยตลอด เพื่อปกป้องไม่ให้ที่ดินต้องกลายไปอยู่ในมือนายทุนแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง จึงต้องตั้งสหกรณ์ (ที่มีเงื่อนไขยาวเหยียด บังคับให้ลงทุนและจ้างผู้จัดการ) หรือวิสาหกิจชุมชนมาบริหารแทน ในรัฐบาล คสช. จนถึงประยุทธ์ได้เลี่ยงคำว่า โฉนดชุมชน ไปใช้คำว่า แปลงรวม โดยเลือกปฏิเสธอำนาจของชุมชน

ตั้งแต่มีรัฐบาลรัฐประหารในปี 2557 ก็มีการใช้ ม. 44 มาจัดการผู้บุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนอย่างเด็ดขาด ต่างจากรัฐบาลพลเรือนก่อนหน้า ที่ชุมชน ชาวนา หรือชาวไร่สามารถเจรจาเพื่อตรวจสอบสิทธิและได้รับอนุญาตผ่อนผันให้อยู่หรือทำกินในพื้นที่ได้ ซึ่งเหยื่อจากการรัฐประหารนี้ก็มีหลายครอบครัวที่ได้รับสัญญาในยุคที่รัฐไทยตื่นกลัวคอมมิวนิสต์จึงใช้ชาวนาในชนบทเป็นกันชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็ถูกเบี้ยวสัญญาจากรัฐเอาเสียดื้อๆ การเข้ามาของคณะรัฐประหารทำให้คนจนทั่วไทยถูกจับกุมและถูกฟ้องร้องไม่น้อยกว่า 40,000 คดี มีการจับคนเข้าคุกในทันที บางข้อหาก็น่าหัวเราะ เช่น “ข้อหาทำให้โลกร้อน” และให้ชดใช้โดยไปปลูกป่าสองปี นโยบายการเอาคนออกจากป่าทั้งในอดีตและปัจจุบันทำให้คนที่เคยพึ่งพิงฐานทรัพยากรของป่าเพื่อยังชีพนั้นจนลงและจนลง จนในที่สุดเมื่อมีนายทุนมายื่นมือเสนอเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด พร้อมปุ๋ยและยาฆ่าแมลง โดยสัญญาถึงค่าตอบแทนสูงแม้จะมีหนี้อย่างมาก พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องยอมรับ ดินที่ปลูกข้าวโพดทุกปีก็จะยิ่งเสื่อมสภาพและได้ผลผลิตน้อยลงๆ จนในที่สุดต้องรุกที่ถางป่าเข้าไปเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด

ทั้งนี้ในยุค คสช. และรัฐบาลทหารเลยมาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์มีมาตรการหลายอย่างที่เอื้อต่อนายทุนและการเกิดฝุ่นควัน ทั้งการที่ ธกส. ออกนโยบายลดพื้นที่นา เพิ่มพื้นที่ข้าวโพด ชาวนาชาวไร่จะสามารถลดดอกเบี้ยหนี้ได้ หากเปลี่ยนจากทำนามาทำข้าวโพด นอกจากนั้นยังพบว่า พื้นที่ปลูกอ้อยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านไร่ในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งส่งผลกับมลภาวะทางอากาศในพื้นที่เช่นกัน

ในประเด็นไฟป่า เราพบว่าต้นเหตุของมันคือนโยบายป่าปลอดคนซึ่งในไทยมาพร้อมกับยุคหลังสัมปทานป่าไม้ ที่สังคมไทยนั้นตื่นการอนุรักษ์และหันมาไล่คนออกจากป่า จากข้อมูลการเผาไหม้พบว่าป่าที่ไหม้ไฟนั้นมักเป็นป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและป่าสงวนถึงประมาณ 95% ของไฟทั้งหมด โดยมีแค่ 5% เท่านั้นที่เป็นพื้นนี้นอกเขต ทั้งนี้เป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ในกรณีหนึ่งเจ้าหน้าที่ 15 คนต้องดูแลป่ากว่า 300,000 ไร่ แต่ชาวบ้านที่เคยอยู่ในพื้นที่ บางครั้งก็ถูกกีดกันไม่ให้เคลื่อนที่หรือเข้าพื้นที่ แม้มีจำนวนเป็นหมื่นๆ คนก็ถูกกฎหมายสั่งห้ามไม่ให้ดูแลป่า ถึงจะมีความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาก็ตาม

ในหนังสือ The Maya Forest Garden พบว่า “ป่าบริสุทธิ์/ป่าอุดมสมบูรณ์” ตามความหมายของรัฐ แท้จริงแล้วนั้นคือป่าที่มีชนพื้นเมืองคอยดูแล คัดสรร เป็นเหมือนระบบภูมิคุ้มกันมาให้กว่า 8,000 ปี ที่พวกเขาคอยทำแนวกันไฟ ลดเชื้อเพลิงแห้งของป่าผลัดใบ (เช่น ใบไม่ที่ทับถม) หรือเผาเพื่อกำจัดเชื้อเพลิงเฉพาะจุด ฉะนั้นแล้ว เมื่อป่าไม่มีคนคอยดูแลจัดการ ไฟที่เกิดก็มีขนาดใหญ่กว่าและรุนแรงกว่า ฝุ่นควันในครั้งนี้ เราจึงไม่สามารถโทษแค่ “คน” ได้เพียงอย่างเดียว เพราะพวกเขามีการเผาอย่างมีวัฒนธรรมที่ชัดเจน ใช้เวลาไม่นานในยามบ่าย เผาจากบนลงล่าง มีแนวกันไฟ และนำญาติมาช่วยกัน แต่สิ่งที่ผิดคือระบบที่เปลี่ยนเอื้อให้นายทุนและรัฐที่กีดกันคนจากความรู้การจัดการป่า เพื่อที่จะวัดชั่งตวงจนสุดท้ายจะนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้าง “เกษตรพันธสัญญา” รูปแบบใหม่ขึ้นมาอีกได้

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราได้เรียนรู้อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือมิติด้านอำนาจ (power) ในแนวคิดของสปิโนซา เชื่อกันว่า อำนาจนั้นมี 2 แบบ คือ potentas และ potentia แม้ในภาษาอังกฤษจะแปลทั้งสองคำที่ว่า power แต่มันก็มีความแตกต่างกัน คำแรกนั้นหมายถึงอำนาจที่มาจากภายนอกที่มาครอบงำ และคำที่สองคืออำนาจที่เรามีอยู่แล้วภายในที่เป็นความสัมพันธ์ของเรากับโลกทั้งใบ ฉะนั้นแล้วในเรื่องที่ดิน ฝุ่นและชนชั้น นอกจากจะต่อสู้กับอำนาจภายนอก (รัฐ ทุน ชนชั้น 1%) เราต้องรับรู้อำนาจภายในตัวเอง เพื่อสร้างฐานที่มั่นให้กับการต่อสู้ การใช้คำว่า empower ที่แปลว่าให้อำนาจหรือมอบอำนาจ จึงอาจไม่ถูกต้องนัก ในเมื่อเราทุกคนต่างก็มีอำนาจอยู่แล้ว ที่เราเองต้องเห็นมันและใช้มันต่างหาก

ทั้งนี้ในบทความได้เลี่ยงใช้คำว่า “เกษตรกร” เนื่องจากเราได้เรียนรู้จากขบวนการชาวนาโลก (La Via Campesina) ว่าชาวนาชาวสวนชาวไร่ถูกทำให้กลายเป็นเกษตรกรไปใต้มิติเงื่อนไขของทุน ดังเช่นในภาษาอังกฤษ ที่คำว่า peasant ถูกทำให้เหลือแค่ farmer ผู้เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมเท่านั้น แต่มันก็ลักลั่นเนื่องจากระบบทุนไม่นับรวม “เกษตรกร” ว่าเป็นแรงงาน จึงไม่ได้ประกันสังคมเหมือนแรงงานคนอื่นทั่วไป แม้มีการชดเชยทางเกษตรเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ทั้งที่เป็นคนหาเลี้ยงทั้งประเทศด้วยซ้ำ


บทกวีเพื่อรำลึกวันการต่อสู้ของชาวนาโลก (International Day of Peasant Struggles)
วันที่ 17 เมษายน ของทุกปี เพื่อรำลึกการต่อสู้ของชาวนาไร้ที่ดินที่ถูกสังหารหมู่โดยรัฐ และวันนี้ในไทย ยังเป็นวันที่บิลลี่ พอละจีหายตัวไปอีกด้วย
แปลจากภาษาอังกฤษ (ต้นฉบับเป็นภาษาโปรตุเกส)

ความรุนแรงที่รัฐทำกับเรา เรารู้สึกถึงมันเข้าอย่างจัง ในเนื้อตัวของเรา มันเข้ามาถึงผืนดินที่เราอยู่
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่เป็นคนที่ถูกกีดกันออกจากประเทศชาติ
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่เป็นคนที่ถูกกีดกันออกจากชีวิต
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่กลับเป็นคนที่เงียบ ไม่ปริปากอะไร
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่กลับเป็นคนที่ไร้หน้า
เรามีประเทศชาติที่เต็มไปด้วยคน แต่กลับเป็นคนที่ไร้ชื่อ
ถูกฝังลงไปด้วยความเงียบงัน

ความฝันนี้คุ้มค่าพอให้มีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่
เราก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่เราได้เรียนรู้ในชีวิตสั้นๆ ของเรานี้ ว่าเมื่อตายแล้วนั้นไม่สามารถฝันได้
แล้วผืนดินนี้ล่ะ มีคุณค่ามากพอให้ฝันถึงได้หรือไม่?

เรารู้ดีว่าผืนดินนี้มีคุณค่ามากพอที่จะต้องเผชิญการข่มขู่คุกคาม เข่นคร่าชาวนาชาวไร่
ความเงียบงั้นในวันนี้ ความเงียบงันในสังคมได้ปกคลุมเรา หนักดั่งม่านตาของทารกที่ถูกฆ่า
ถ้าเรายอมรับความเงียบงันนี้ ถ้าเรายอมรับการถูกปิดปาก
ถ้าเป็นเช่นนั้น ผืนดิน แผ่นหิน ก็คงกรีดร้อง

ถ้าเรายอมรับการถูกปิดปาก
ผืนดิน แผ่นหิน ก็คงต้องกรีดร้อง

 

มาร์กซิสต์เป็นพวกสิ้นคิด!?

มาร์กซิสต์เป็นพวกสิ้นคิด!?

ผู้เขียน: ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์


เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เขียนบทความเรื่องหนึ่งชื่อ คำถามของป้าข้างบ้าน ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ ดินแดง ซึ่งเป็นบทความที่พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” ที่พวกเราเข้าใจกันในแบบทุกวันนี้ 

บทความดังกล่าวมีข้อเสนอว่า การที่ “ป้าข้างบ้าน” ถามเรา เช่น “เรียนจบแล้ว ได้งานทำหรือยัง… ลูกป้าได้งานทำแล้วนะ” “ทำงานได้เงินเดือนเท่าไร… พอใช้เหรอ” “จะมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว ตอนไหน…” และอีกมากมาย แท้จริงแล้วมันเป็นผลดีกับการผลิตซ้ำตัวเองของระบบทุนนิยม หรือเป็นหนึ่งในหลากหลายกระบวนการของทุนนิยมในการทำให้เป็นกรรมาชีพ (proletarianization) กล่าวคือ ในความเป็นจริงแล้ว “คำถามของป้าข้างบ้าน” มี “นัย” คือการคอย “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ผู้ที่ถูกถามให้เร่งรีบหางานทำ ในแง่นี้ พวกเราจึงต่างก็เป็น “ป้าข้างบ้าน” กันได้ทั้งนั้น เพราะแม้ว่าพวกเราจะไม่ได้พบเจอ “ป้าข้างบ้าน” ตัวเป็น ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเราก็ “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ตัวเองเพื่อเร่งเรียนให้จบและรีบหางานทำให้ได้เร็วที่สุดอยู่เสมอ เพื่อจะได้ประสบ “ความสำเร็จ” เป็นพวก “อายุน้อยร้อยล้าน” ฉะนั้น “คำถามของป้าข้างบ้าน” จึงเป็นปรากฏการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับระบบทุนนิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ (อย่างน้อย “คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็ทำงานกระตุ้น “อุดมการณ์/สามัญสำนึกแบบทุนนิยม” ได้เป็นอย่างดี) ด้วยเหตุดังกล่าวผมจึงสรุปไว้ในตอนท้ายของบทความว่า “ที่เราเห็นว่าเป็น “คำถามของป้าข้างบ้าน” นั้น แท้จริงแล้วเป็น “คำถามของระบบทุนนิยม” ต่างหาก” [1]

พอบทความเผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชน ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอที่ปรากฏในบทความ ผู้ที่เห็นด้วยก็ชมชอบ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์ เอาเข้าจริงผมชอบให้คนอื่นวิพากษ์วิจารณ์งานของผมมากกว่าจะกล่าวชมโดยไม่มีข้อติด้วยซ้ำไป เพราะว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นจะส่งผลย้อนกลับมาสู่การปรับปรุงแก้ไขในข้อผิดพลาดหรือทำให้ผมได้เห็นประเด็นใหม่ ๆ ที่สติปัญญาอันน้อยนิดของผมเดินทางไปไม่ถึง แต่นี้ก็เป็นเหตุผลที่ผมใช้กับนักวิพากษ์วิจารณ์งานที่มี “กึ๋น” ในความหมายถึง ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์งานกันด้วยเหตุด้วยผลเท่านั้น ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของงานชิ้นนั้นแล้วก็เอะอะกล่าวหาผู้เขียนว่า “ไปโดนกาวตัวไหนมา” หรือ “เมากัญชาหรือเปล่า” เพราะดูแล้วมันเป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่มี “กึ๋น” (ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ควรนับว่าเป็น “การแสดงความคิดเห็น” ด้วยซ้ำไป) แต่ก็เอาเถอะ แม้จะมีนักวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่มี “กึ๋น” อยู่มาก แต่ก็มีนักวิพากษ์วิจารณ์ที่มี “กึ๋น” อยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทว่าหากจะยกมาขยายความทั้งหมดก็คงจะเขียนหนังสือได้เป็นเล่มเลยทีเดียว ทั้งนี้ มีข้อวิจารณ์อยู่ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งควรจะนำมาพิจารณาทำความเข้าใจ เพื่อขยายประเด็นที่ผมอาจอธิบายหรือลงรายละเอียดไว้ไม่ชัดเจนมากพอจนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนในสิ่งที่ผมต้องการจะเสนอ

เนื้อหาของข้อวิพากษ์เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” หลังจากนั้นก็สาธยายต่อว่า คำถามของป้าข้างบ้านมันมีได้ทุกยุคทุกสมัยนั้นแหละ และในประเทศที่เป็นทุนนิยมหนักกว่าไทยอย่างสหรัฐอเมริกาป้าข้างบ้านเขาก็ไม่ขี้เสือกแบบนี้ เพราะวัฒนธรรมของเขาเคารพความเป็นปัจเจกชนของบุคคล หรือกล่าวกันอีกแบบหนึ่งก็คือ ผู้วิจารณ์กำลังบอกว่ามันเป็นเพราะวัฒนธรรม “ขี้เสือก” ของบางสังคมหรือบางประเทศเท่านั้น หลังจากนั้นก็สรุปว่า “อย่าเอาความระยำส่วนตัวของคนไปยัดใส่ระบบเลย ทุกวันนี้หลายคนขี้ไม่ออกตดไม่ออกก็ด่าทุนนิยมไว้ก่อน เหมือนพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วนยังไงก็ไม่รู้” 

สิ่งที่ผู้วิจารณ์ดังกล่าวกำลังบอกคือ พวกที่ “ด่า” (วิจารณ์) ระบบทุนนิยมคือ “พวกสิ้นคิด” หรือถ้าจะย่นย่อให้แคบลงก็คือ พวกมาร์กซิสต์เป็นพวกที่สิ้นคิดนั่นเอง ที่ต้องเชื่อมโยงเข้าหาพวกมาร์กซิสต์เนื่องจาก หนึ่ง บทความ คำถามของป้าข้างบ้าน เขียนขึ้นบนมรรควิธีแบบมาร์กซิสต์ สอง พวกมาร์กซิสต์คือพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมอย่างถึงรากมากที่สุดและจำเป็นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์มันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะที่เป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งของมรรควิธีของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ดังนั้น พวกมาร์กซิสต์จึงเป็นตัวอย่างรูปธรรมชัดเจนที่สุดที่สะท้อนถึง “คนขี้ไม่ออกตดไม่ออกก็ด่าทุนนิยมไว้ก่อน เหมือนพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วน” 

คำถามคือ ทำไมผู้วิเคราะห์ที่เชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางสังคมเข้าหาระบบทุนนิยมเพื่อวิจารณ์มันถึงถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกสิ้นคิด” หรือกล่าวให้ถึงที่สุด ทำไมพวกมาร์กซิสต์เป็นพวกสิ้นคิด?

ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ผู้วิจารณ์ควรเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นคือ ทฤษฎีหรือวิธีคิดแบบมาร์กซิสต์มีรากฐานทางปรัชญาสังคมศาสตร์หรือญาณวิทยา (Epistemology) มาจากสำนักสัจนิยม (Realism) ที่แบ่งโลกความเป็นจริงออกได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่สังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส ที่เรียกว่า “ระดับพื้นผิว” ไปจนถึงระดับที่ไม่สามารถสังเกตได้แบบตรงไปตรงมา ที่เรียกว่า “ระดับโครงสร้างส่วนลึก” ที่มีผลในการกำหนดปรากฏการณ์ที่อยู่ในระดับพื้นผิวด้วย หรือที่ เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) นักวิชาการมาร์กซิสต์ เรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างความจริง (reality) กับปรากฏการณ์ (appearance) ในโลกที่เราดำรงชีวิต” ซึ่งประเด็นนี้ มาร์กซ์ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าหากว่าปรากฏการณ์ที่เราเห็นคือแก่นแท้ของปัญหา เราก็คงไม่ต้องมีการวิเคราะห์อะไร” หรือถ้าจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างที่มันปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว เราจะวิเคราะห์หาพระแสงอะไร สิ่งที่ มาร์กซ์ ต้องการจะบอกก็คือ มันมีปรากฏการณ์ที่อำพรางและบิดเบือนเพื่อปกปิดสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ รอบตัวเรา เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ที่ไม่ได้หมุนรอบโลกจริง ๆ อย่างที่ตาของเรามองเห็น ฉะนั้น เราต้องปลดม่านบังตาออก เพื่อจะได้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ภายใต้ปรากฎการณ์ระดับพื้นผิวมากมายยุ่งเหยิงที่มักทำให้พิศวงงงงวย[2] โดย ฮาร์วี เสนอว่า “ทุนนิยมเปรียบเสมือน the gravity หรือแรงดึงดูดโลกที่ล่องหน แต่สัมผัสได้ตลอดเวลา คุณจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ต้องอาศัยทฤษฎี ต้องอาศัยหลักสมการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นนามธรรมมากถึงจะเห็นแรงโน้มถ่วงได้ หนทางเดียวที่คุณจะเห็นการทำงานของทุนได้ คือต้องอาศัยแนวคิดแบบ “ภาพวาด” ที่เป็นอุดมการณ์นามธรรม เพื่อร่างภาพของทุนในหัว ไม่ใช่การมองทุนนิยมผ่าน “ภาพถ่าย” จริงก่อน”[3]

เช่นเดียวกัน เมื่อผู้วิจารณ์มองปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” จาก “ภาพถ่ายจริง” หรือปรากฏการณ์ในระดับพื้นผิว ก็เลยทำให้มองเห็นแค่ภาพหญิงวัยกลางคนกำลังยืนอยู่ริมรั้วรัวถามเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบมาหมาด ๆ ในเรื่องหน้าที่การงานในอนาคตหรือผลการเรียน จนละเลยไม่สนใจที่จะวิเคราะห์ปรากฏการณ์อย่างเป็นองค์รวม (totality) ต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือความเป็นจริงของมันคืออะไรกันแน่ ส่งผลให้สรุปอย่างมักง่ายว่า “คำถามของป้าข้างบ้านมันมีได้ทุกยุคทุกสมัยนั้นแหละ” เอาเข้าจริง ผมไม่แน่ใจว่าผู้วิจารณ์ได้เข้าไปอ่านบทความผมสักนิดหรือไม่ หรือได้เข้าไปอ่านอยู่แต่ผีมันมาบังตาเอาตรงประเด็นนี้ เลยมองไม่เห็นว่าผมกล่าวไว้ในบทความชัดเจนมากว่าคำถามแบบป้าข้างบ้านมันมีอยู่ทุกยุคสมัย ดังข้อความว่า “…“คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็เหมือนกับคำถามทั่วไปที่ “ผู้ใหญ่” ถาม “เด็ก” ด้วย “ความเอ็นดู” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “มนุษยสัมพันธ์” (human relationships) หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ในแง่นี้ “คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็คงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการที่ “มนุษย์” เข้ามาอยู่รวมกันเป็นสังคม”[4]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถปฏิเสธความจริงที่ว่าคำถามของป้าข้างบ้านมีปรากฎให้เห็นในทุกยุคทุกสมัยได้ก็จริง แต่สิ่งที่ต้องคิดคำนึงถึงด้วยก็คือ “นัย” “ประเด็น” และ “รูปประโยค” ของคำถามย่อมแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย (epoch) ของมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแง่นี้คำถามของป้าข้างบ้านในยุคทาสหรือยุคศักดินาจึงไม่มีทางที่จะมี “นัย” ของคำถามว่า “คุณจะประสบความสำเร็จในชีวิตตอนไหน” เผลอ ๆ อาจจะไม่ต่างแค่ “นัย” แม้แต่ “รูปประโยค” ของคำถามก็อาจจะต่างกันแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกับที่คนในยุคทุนนิยมพบเจอเลยก็ได้[5] นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงเลือกที่จะตั้งชื่อบทความว่า “คำถามของป้าข้างบ้าน” มากกว่าจะให้ชื่อว่า “ป้าข้างบ้าน” เฉย ๆ เพราะคำว่า “คำถาม” มันมีนัยทางประวัติศาสตร์หรือยุคสมัยตามหลักการวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) นั่นเอง ดังนั้น ปัญหาของผู้วิจารณ์จึงเป็นการละเลยและแยกความเป็นการเมือง (depoliticize) รวมถึงบริบททางประวัติศาสตร์หรือความเป็นประวัติศาสตร์ (de-historicize) ออกจากปรากฏการณ์ป้าข้างบ้านอย่างมีนัยสำคัญ

อนึ่ง แม้ผมจะอธิบายว่า “คำถามของป้าข้างบ้าน” มันมีอยู่ทุกยุคสมัย แต่ก็ต่างไปจากเหตุผลที่มักง่ายของผู้วิจารณ์ที่อาศัย “การมีอยู่ทุกยุคสมัย” ของคำถามของป้าข้างบ้านเพื่อมารองรับการกล่าวโทษไปที่ “ความระยำส่วนตัว” ภายใต้วัฒนธรรม “ขี้เสือก” ที่ไม่ได้มีกันทุกสังคม สิ่งที่ผู้วิจารณ์ไม่เข้าใจหรือละเลยไม่สนใจคือ ผมไม่ได้ลดทอน “ป้าข้างบ้าน” ให้มีความหมายเฉพาะป้าที่อยู่ข้างบ้านเพียงเท่านั้น แต่ผมยังหมายถึงตัวของเราเองด้วย เพราะพวกเราต่างก็เคยและกระทำแบบป้าข้างบ้านอยู่เรื่อย ๆ ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการ “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ตัวเองในเรื่อง “ความสำเร็จในชีวิต”[6] ซึ่งถ้าพิจารณาจากประเด็นนี้ ประเทศที่เป็นทุนนิยมหนักกว่าไทยอย่างสหรัฐฯ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะพบเจอกับ “ป้าข้างบ้าน” ตามความหมายที่ผมอธิบายมา ดังนั้น ผมจึงพูดไว้ในบทความชัดเจนว่ามันเป็น “…“วาระระดับโลก” คือนอกจากจะพบเจอกันทั่วโลกแล้ว (ดังที่พบว่าในต่างประเทศเรียก “ป้าข้างบ้าน” ว่า “Karen” และ “Ken”) มันยังดำรงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสขึ้น ๆ ลง ๆ ชั่วครั้งชั่วขณะ”[7] ในแง่นี้ มันจึงไม่ใช่เพียง “ความระยำส่วนตัว” ภายใต้วัฒนธรรม “ขี้เสือก” เฉพาะของสังคม (ไทย) ตามที่ผู้วิจารณ์ชี้

ทั้งนี้ หากปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” คือวัฒนธรรม “ขี้เสือก” ที่เกิดขึ้นในบางสังคมเท่านั้นจริง ๆ สิ่งที่ผู้วิจารณ์ต้องเข้าใจคือ “ทุนนิยมมันไม่มีวัฒนธรรม” หรืออีกนัยหนึ่ง ทุนนิยมมันสามารถค้างแรมและจูบปากกันได้กับทุกวัฒนธรรมและอารยธรรมบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ ขงจื้อ พราหมณ์-ฮินดู คริสต์ ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก[8] หรือ “วัฒนธรรมขี้เสือก” ที่ผู้วิจารณ์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ป้าข้างบ้านก็ด้วย 

ปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” จึงสะท้อนว่าทุนนิยมได้เข้ามาดำเนินกิจการในระดับอุดมการณ์/สามัญสำนึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง ทุนได้เข้ามากดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบถึงภายในโลกทัศน์ของผู้คนแล้วนั่นเอง ดังนั้น แม้ว่า “ป้าข้างบ้าน” จะถามไปด้วยนิสัยใจคอที่ขี้เสือกของตนจริง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ โดยที่ “ป้าข้างบ้าน” ไม่รู้ตัว ก็คือ การเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบทุนนิยมให้มันสามารถผลิตซ้ำตัวเองต่อไปได้

จะเห็นว่าทุนนิยมไม่ได้กดขี่ขูดรีดพวกเราเฉพาะในพื้นที่ทำงานเท่านั้น แต่มันยังเอารัดเอาเปรียบพวกเราในทุกปริมณฑลของชีวิตประจำวันทั้งภายในและภายนอกด้วย เอาเข้าจริง ปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งในการอธิบายการเกิดโรคซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะเมื่อเราครุ่นคิดกับ “ความสำเร็จในชีวิต” มาก ๆ เมื่อไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ก็มักจะกล่าวโทษตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือปัญหาเรื่องสุขภาพจิต[9] ดังนั้น คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปนักหากจะบอกว่า ปรากฎการณ์ “ป้าข้างบ้าน” ไปกันได้ดีกับทุนนิยมยุคปลายหรือเสรีนิยมใหม่ที่มี “สัจนิยมแบบทุน” ทำงานในปริมณฑลทางอุดมการณ์

“สัจนิยมแบบทุน” (capitalist realism) อุบัติขึ้นหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ตามมาด้วยวาทกรรมของ ฟรานซิส ฟุกุยามะ (Francis Fukuyama) ที่ว่ามันคือ “จุดจบของประวัติศาสตร์” (The End of History) ซึ่งหมายความว่า มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ภายใต้ชัยชนะของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบ “ทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย” มนุษย์จะไม่ถกเถียงหรือต่อสู้กันในเรื่องนี้อีกต่อไป และจะไม่มีระบบเศรษฐกิจการเมืองใดผงาดขึ้นมาแทนที่ได้อีกแล้ว[10] อีกนัยหนึ่ง มันคือ “วาทกรรม” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อบอกว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่นั่นคือ “ระบบทุนนิยม”

โลกสัจนิยมแบบทุนมาพร้อมกับความคิดที่ว่า “การเมืองเรื่องชนชั้น” ซึ่งเป็นกรอบคิดหรือหน่วยในการวิเคราะห์และเปลี่ยนแปลงสังคมไม่มีความสลักสำคัญ นั่นหมายความว่า “วิถีการผลิตแบบทุนนิยม” “ชนชั้นนายทุน” และ “ชนชั้นกรรมาชีพ” ไม่มีความสำคัญหรือความจำเป็นในหัวข้อถกเถียง ในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจสังคม ในมโนสำนึกของผู้คนเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงสังคมอีกต่อไป[11]

เมื่อการคิดหรือการอธิบายทุนนิยมในฐานะที่เป็นวิถีการผลิตแห่งยุคสมัยหรือเป็นระบบสังคมโดยรวมไม่มีความสำคัญ สิ่งที่สะท้อนออกมาอย่างหนึ่งก็คือคำถามที่ว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” เมื่อมองว่าปรากฏการณ์ทางสังคมไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (และชนชั้น) สิ่งที่ตามมาก็คือการกล่าวโทษว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของปัจเจกหรือเรื่องส่วนตัว ดังข้อสรุปมักง่ายของผู้วิจารณ์ที่ว่า “อย่าเอาความระยำส่วนตัวของคนไปยัดใส่ระบบเลย ทุกวันนี้หลายคนขี้ไม่ออกตดไม่ออกก็ด่าทุนนิยมไว้ก่อน เหมือนพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วนยังไงก็ไม่รู้”

ในแง่ดังกล่าว การกล่าวหามาร์กซิสต์ว่าเป็น “พวกสิ้นคิด” ก็คือผลอันเนื่องมาจากวาทกรรมอันโด่งดังของ ฟุกุยามะ ซึ่งวาทกรรมดังกล่าวเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการก่อตัวขึ้นมาของโลกสัจนิยมแบบทุนดังที่กล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น การกล่าวหาพวกมาร์กซิสต์ว่าเป็น “พวกสิ้นคิด” หรือหากจะใช้ภาษาที่นิยมกันในโลกทวิตเตอร์ของทุกวันนี้ก็คือ “พวกเบียว” จึงเป็นภาพสะท้อนทางความคิดอย่างหนึ่งของโลกสัจนิยมแบบทุนได้เป็นอย่างดี   

นอกจากโลกสัจนิยมแบบทุนจะทำลายประเด็นเรื่อง “ชนชั้น” และ “ยุคสมัย” แล้ว มันยังทำลายหรือตัดวงจรการนึกคิด ความคาดหวัง และการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับโครงการทางการเมืองแบบใหม่ที่เน้นการปลดปล่อยหรือปลดแอก เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกใหม่ที่เลยพ้นไปจากโลกทุนนิยมอีกด้วย อีกนัยหนึ่งคือ สัจนิยมแบบทุนไม่ใช่เวลาของ “ความหวัง” แต่มันเป็นความมืดมัวและซึมเศร้าหมองหม่น (“ฝ่ายซ้ายอกหัก” น่าจะเป็นคำที่ให้ภาพได้ชัดเจนต่อประเด็นนี้)

ดังนั้น เมื่อสัจนิยมแบบทุนทำลายกรอบแนวคิดเรื่อง “ชนชั้น” และ “ระบบทุนนิยม” ให้ไม่มีความสำคัญ และโครงการทางการเมืองแบบใหม่ก็เป็นเรื่องที่ใครต่อใครก็คิดจินตนาการไม่ออก พวกที่มักตั้งคำถามว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” และบอกว่า “อย่าเอาความระยำส่วนตัวของคนไปยัดใส่ระบบเลย” จึงเป็นพวกที่สะท้อนถึง “คนยุคสัจนิยมแบบทุน” ได้ดีที่สุด ฉะนั้น เมื่อคนพวกนี้อยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของยุคสัจนิยมแบบทุนที่ไม่เห็นถึงความสลักสำคัญในการคิดอธิบายทุนนิยมในฐานะที่เป็นวิถีการผลิตแห่งยุคสมัยหรือเป็นระบบสังคมโดยรวม ก็ส่งผลให้ไม่สามารถมองเห็นอย่างถึงรากเป็นองค์รวมได้ว่าทุนนิยมมันทำงานอย่างไรและมันชั่วร้ายขนาดไหน หรือถึงแม้จะมองเห็นภัยของระบบทุนนิยมและทำการวิจารณ์มันจนเสียหายขนาดไหนก็ตาม คนพวกนี้ก็ไม่สามารถคิดจินตนาการหรือไม่มีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจนที่เลยพ้นไปจากเส้นขอบฟ้าแบบทุนนิยมได้เลย เพราะโลกทัศน์ของพวกเขากลายเป็น “ความมืดมัวและซึมเศร้าหมองหม่น” ไปแล้ว หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาได้ยอมรับอย่างสุดจิตสุดใจไปแล้วว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นอยู่ นั่นคือ ระบบทุนนิยม… ประวัติศาสตร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว” สิ่งที่คนพวกนี้คิดและแสดงออกมาได้ก็จะเป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมแบบเสรีนิยมผ่านการเรียกร้องให้ “ป้าข้างบ้าน” เลิกนิสัยสันดานขี้เสือกกับเรื่องของ “คนอื่น” (ปัจเจกบุคคล) ได้แล้วเท่านั้น ในขณะที่พวกมาร์กซิสต์วิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านมรรควิธีหรือวิธีวิทยาของมาร์กซ์ที่เรียกว่า “การวิพากษ์เศรษฐกิจการเมือง” (Critiques of Political Economy) จนทำให้มองเห็นความเป็นจริงอย่างทะลุปรุโปร่งที่ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ในระดับพื้นผิว ซึ่งทำให้เห็นภัยของระบบทุนนิยมอย่างถึงราก อันนำมาสู่ข้อเสนอแบบถอนโคนอย่างการเสนอให้มนุษยชาติจินตนาการ (ปฏิวัติ) ถึงโลกใหม่ที่เลยพ้นไปจากโลกทุนนิยม 

จากประเด็นที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า “หากมนุษย์ปราศจากความฝันหรือจินตนาการเกี่ยวกับแดนนิรมิต [ในที่นี้หมายถึง “โลกที่พ้นไปจากทุนนิยม”] มนุษย์ย่อมจะปราศจากความหมายและกลายเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่เพียงแต่ใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตไปตามกฎที่ตายตัวของประวัติศาสตร์ที่ควบคุมโดยผู้มีอำนาจ หากมนุษย์จะมีเสรีภาพและหากมนุษย์จะปลดแอกออกจากการครอบงำของผู้มีอำนาจ พวกเขาก็ต้องทวงคืนชีวิตและความสามารถในการใฝ่ฝันคืนมา [การสร้างสรรค์/ ไม่สิ้นคิด] และนี่คือมโนทัศน์ว่าด้วยเวลาอนาคตและยูโทเปีย [แบบมาร์กซิสต์] ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการสร้างองค์ประธานและการเปลี่ยนแปลงสังคมที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น”[12]

ดังนั้น เมื่อ “คนยุคสัจนิยมแบบทุน” ซึ่งเป็นพวกที่มักตั้งคำถามว่า “เกี่ยวอะไรกับทุนนิยม?” ไม่สามารถคิดจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่าโลกทุนนิยมได้ และหากการจินตนาการถึงโลกใหม่ที่ดีกว่าหมายถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยโลกทัศน์สัจนิยมแบบทุนหรือวาทกรรม “จุดจบของประวัติศาสตร์” เพื่อไปให้พ้นทุนนิยมแล้วไซร้ ใครกันแน่ที่ควรจัดให้เป็นพวกสิ้นคิดสูตรสำเร็จแดกด่วน? 


เชิงอรรถ

[1] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “คำถามของป้าข้างบ้าน,” ดินแดง, https://bit.ly/3toqNtU, (เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2566).

[2] เดวิด ฮาร์วี, 2562, ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม, ภัควดี วีรภาสพงษ์ (ผู้แปล), กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 22-23.

[3] สรวิศ ชัยนาม กล่าวในงานเสวนา “อ่านมาร์กซ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เมื่อ 11 พฤษภาคม 2558 ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[4] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “คำถามของป้าข้างบ้าน.”

[5] ประเด็นนี้คล้ายกับประเด็นเรื่อง “ปณิธานวันปีใหม่” ซึ่งผมเคยเปรียบเทียบความต่างของประเด็นดังกล่าวระหว่างยุคทาส – ศักดินากับยุคทุนนิยมไว้แล้ว โปรดดู ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “ปณิธานวันปีใหม่ในสมัยทุนนิยม,” The Isaan Record, https://bit.ly/3E3zOhH, (เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2566).

[6] ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์, 2565, “คำถามของป้าข้างบ้าน.”

[7] เรื่องเดียวกัน.

[8] สรวิศ ชัยนาม, 2563, “In Their Views กับ สรวิศ ชัยนาม (I): ทุนนิยม วัฒนธรรมมหาชน และความเป็นซ้ายของประชาธิปไตย,” DemocracyXInnovation, https://bit.ly/3A9sm2C, (เข้าถึงเมื่อ 27 มกราคม 2566).

[9] ดูงานที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมกับโรคซึมเศร้าใน สรวิศ ชัยนาม, 2562, เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์, สุชานาฎ จารุไพบูลย์ (ผู้แปล), กรุงเทพฯ: Illuminations Edition.

[10] เรื่องเดียวกัน, 26.

[11] เรื่องเดียวกัน, 28-31.

[12] เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2565, FUTURE: ว่าด้วยเวลา ประวัติศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระบบทุนนิยมดิจิทัล, กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 174.

 

โซตัสตายแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อ?

โซตัสตายแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อ?

ต้นฉบับ Comrade S!ink


ผู้อ่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เราควรจะทำอย่างไรต่อหลังจากโซตัสตายแล้ว นอกจากการเฉลิมฉลองต่อความตายของสิ่งที่เป็นเหมือนฐานอำนาจการกดขี่ และ พรากชีวิตผู้คนไปบนความไร้เหตุผลอย่างระบบอาวุโสนิยม ความจำเป็นในการทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวก็ คือ “เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า” เราต้องไม่ลืมว่าระบบอาวุโสนิยมนั้นฝังรากลึกในสังคมไทยมาแสนนาน แม้กระทั่งในระบบภาษา เช่น เราเรียกใครสักคนนึงด้วยคำว่า “พี่” หรือ “น้อง” นำหน้าตามด้วยชื่อบ่อยกว่าการเรียก “นาย” (Mister) “นางสาว” (Miss) แบบที่ชาวตะวันตกเรียกกันซึ่งทางฝั่งเขาดูจะให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกเพศมากกว่าอายุ แม้กระทั่งสิ่งของ (Object) เองก็ยังต้องมีการแบ่งเพศในภาษาของชาวยุโรปตะวันตก

สลาวอย ชิเช็ค ชี้ให้เห็นถึงคำถามสำคัญในงานเขียนของเขาอยู่บ่อยครั้งว่า “นอกจากคำถามเรื่องจากปฏิวัติอย่างไรแล้ว คำถามที่สำคัญกว่า คือ หลังปฏิวัติได้แล้วเราจะทำอะไร” เหมือนที่ เลนิน เองก็เคยกล่าวไว้ว่าวันที่ยากที่สุด คือ “วันแรกหลังจากปฏิวัติได้สำเร็จแล้ว” เหมือนที่ นีทเช่ เองก็ตั้งคำถามในทำนองว่า “อะไรจะเกิดขึ้นต่อหลังความตายของพระเจ้า” 

ในปัจจุบันกระแสการ Anti-Sotus นั้นค่อนข้างจะเป็นฉันทามติในหมู่เยาวชนหัวก้าวหน้าพอสมควร จะเห็นได้จากการล่มสลายของ “ระบบโต๊ะ” ในธรรมศาสตร์ การล่มสลายของหลายชุมนุมชมรมในรั้วมหาลัย การประกาศกฎหมายปราบปรามการรับน้องโหดอย่างจริงจังในหลายๆ สถาบัน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีสถาบันศึกษาที่ยังยึดมั่นในระบบโซตัสอยู่ แต่กระแสสังคมจะไม่มีทางหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก ในหมู่นักกิจกรรมและผู้คนในฝ่ายประชาธิปไตยก็มักจะใช้สรรพนาม “ผม-เรา กับ คุณ” แทนที่ “พี่-น้อง”

หากเราจะมองเรื่องนี้อย่างมาร์กซิสต์แล้ว เราย่อมต้องมองในกรอบของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์-วิภาษวิธี” หรือก็ คือ ค่านิยม ความเชื่อ จารีต นั้นไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ มันล้วนมีสภาพทางวัตถุของสิ่งที่ดูเป็นนามธรรม มันมีเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของมัน และ ในทุกๆการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งย่อมมีความขัดแย้งในตัวเอง นอกจากนี้จารีตที่สิงสถิตย์กับผู้คนมาแสนนานจนราวกับเป็น “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volkgeist) ย่อมหยั่งรากลงในระดับจิตใต้สำนึก (อุดมการณ์) จึงเป็นการยากที่จะบอกว่า “แค่ทำเหมือนมันไม่มีจริงเดี๋ยวมันก็หายไปเอง” ได้ 

เราจึงต้องมาทบทวนกันว่า “อะไรหายไปบ้างพร้อมกับความตายของอาวุโสนิยม ?” ซึ่งเป็นคำถามในตรรกะเดียวกันกับ “ปฏิวัติสำเร็จแล้วจะทำยังไงต่อ ?” เพื่อนำไปสู่ Synthesis ของกระบวนการวิภาษวิธี 

ในกรณีนี้
Thesis = Sotus
Anti-Thesis = Anti-Sotus
Synthesis = ?

ในส่วนของ “ข้อเสีย” ของระบบอาวุโสนิยมพวกเราในที่นี้ล้วนแต่ทราบกันเป็นอย่างดี คงไม่จำเป็นต้องแจกแจงมาก โดยคร่าวก็ คือ เป็นอิทธิพลของแนวคิดศักดินา ลำดับชั้น การเล่นเส้นสาย แน่นอนว่านำไปสู่การคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเผด็จการ (ของรุ่นพี่) การลิดรอนสิทธิ (ของรุ่นน้อง) การขวางกั้นเสรีภาพ ฯลฯ 

ซึ่งการมองแต่ในด้านที่เป็นข้อเสียนั้นไม่ใช่การมองแบบวิภาษวิธี และ เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่บางสิ่งที่มีเพียงโทษแต่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงจะดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน เราควรมองว่ามันเป็นเครื่องมือทางสังคมแบบนึงที่ “ล้าสมัยแล้ว” แต่สมัยนึงมันย่อมมีประโยชน์เช่นเดียวกับเครื่องมือ (เทคโนโลยี) ทางวัตถุ

ประโยชน์ของระบบอาวุโสนิยม เท่าที่ผู้เขียนจะสังเกตได้ คือ
1. การชี้แนะแนวทางระหว่างผู้มีประสบการณ์มากกว่า แก่ผู้ที่มีน้อยกว่า (ประสบการณ์ในที่นี้ย่อมรวมถึง “ความรู้” ด้วย)
2. ความเมตตา เป็นมิตร เป็นห่วงเป็นใย ความช่วยเหลือเกื้อกูลที่รุ่นพี่มีต่อรุ่นน้อง
3. ความใจเย็น อดทน เข้าใจ ต่อสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรของรุ่นน้อง 

ระบบอาวุโสนิยมจึงเป็นการผสมผสานของด้านดีและด้านเสียเหล่านี้ไว้ด้วยกัน ส่วนในมิติทางประวัติศาสตร์ของอาวุโสนิยม ก็มาจากครั้งดึกดำบรรพ์เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่คนไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ “ความรู้” ไม่ว่าจะในทางการใช้ชีวิต ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ ทำอาหาร ทำยารักษาโรค หรือ การพัฒนาสุขภาพร่างกายจิตใจ ล้วนแต่ผูกขาดอยู่กับ “ผู้อาวุโส” ดังนั้นการเชื่อฟังผู้อาวุโสย่อมหมายถึงความรอดชีวิตทั้งในเชิงรูปธรรม และ นามธรรม 

แต่เทคโนโลยีที่เรียกว่า “อาวุโสนิยม” ถูก disrupted ด้วยสื่อสิงพิมพ์รวมไปถึงสื่อออนไลน์ทำให้ทรัพยากรความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่ผู้อาวุโสอีกต่อไป ทำให้ความเสื่อมสลายของอาวุโสนิยมได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของแนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) ก็เปรียบเสมือนการสาดน้ำเย็นใส่สังคมศักดินามุขปาฐะให้ตื่นขึ้นแต่ในขณะนี้ยังอยู่ในสภาวะช็อคจนรวมตัวไม่ติดกันอยู่ 

ทั้งนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ เรอเน่ เดสการ์ต ที่บอกว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” หรือแนวคิดต่างๆ ที่มองว่าแก่นสารของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ความรู้ ความคิด ความเข้าใจเท่านั้น หากแต่มนุษย์มีเลือดเนื้อและจิตใจ มีอีกหลายอย่างที่ “หนังสือ” ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ต่อมนุษย์อีกคนได้ 

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้และอนาคตอาจเป็นสังคมในอุดมคติของพวกเสรีนิยมปัจเจกนิยม ที่ผู้คนหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง รักษาระยะห่างต่อกันในความสัมพันธ์ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร้เยื่อใย ความยากลำบากในการก่อรูปองค์กร, ขบวนการ หรือแม้แต่ชุมนุมชมรมในมหาลัย 

แต่สิ่งที่ไม่ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าแก่สังคมแต่อย่างใด เพราะ “ปัจเจกอันมีเสรีภาพส่วนบุคคล” เหล่านี้ไม่สามารถจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองต่อรัฐได้ เป็นได้เพียง “ปลาในบ่อ” ของพรรคการเมืองที่มีหน้าที่รอไปกาบัตรเลือกตั้ง ระหว่างรอก็คอยจับผิด ทะเลาะเบาะแว้งกันเองในเรื่องที่ไม่สำคัญ จนเป็นที่ขบขันของฝ่ายขวา

สิ่งนึงที่เห็นได้ชัดของการ “ขาดความเมตตา” ต่อคนที่มีความรู้น้อยกว่าก็ คือ ปฏิกิริยาของ “คนหัวก้าวหน้า” ที่มีต่อคนที่มีความรู้ทางการเมืองต่ำกว่าตนในโลกออนไลน์มักจะเป็นไปในท่าทีของการเหยียดหยามกึ่งสั่งสอนว่าคนพวกหลังเป็นพวก “ไร้การศึกษา” ดังนั้นจึงต้องโดน “เอ็ดดูเขต”  โดยท่าทีเหล่านี้แม้จะดูเหมือนหมายถึง “การศึกษาภาคบังคับ” แต่ในความเป็นจริงสถาบันการศึกษาภาคบังคับหากไม่ใช่สายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์ก็ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องก้าวหน้าๆ ทางการเมืองไว้ในหลักสูตร

นัยของการเหยียดหยามดูแคลนเหล่านี้แท้จริงจึงหมายถึงการ “ไม่อ่านหนังสือ” 

ในเมื่อ “หนังสือ” หรือ “อินเทอร์เน็ต” เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นจากภาครัฐจึงมีความคาดหวังลึกๆ ว่าปัจเจกพึงอ่านหนังสือกันเอาเองได้ ในเมื่อฉันทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้เหมือนกัน! ซึ่งหากเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์แล้วทางซีกโลกตะวันตกที่เรารับเอาวัฒนธรรมลิเบอรัลมา ก็ได้มีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของ “โยฮันเนิส กูเทินแบร์ค” ทำให้การผลิตหนังสือแบบ Mass production เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 และต่อมาเมื่อมีการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักร (ซึ่งก็รวมถึงอำนาจในการ “ตีความ” พระคัมภีร์) ก็ได้เสนอหลักการอันเป็นมรดกตกทอดมายังแนวคิดเสรีนิยมทุกวันนี้ นั่นคือหลักการ “sola scriptura” ที่หมายถึง “เพียงพระคัมภีร์ก็เพียงพอ” ปัจเจกไม่จำเป็นต้องเข้าถึงพระเจ้าผ่านตัวกลางที่เป็นมนุษย์อันมีลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็น บิช็อป คาร์ดินัล โป๊ป ฯลฯ แต่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรงผ่านการอ่านพระคัมภีร์ 

เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนก็เปลี่ยนตาม พระคัมภีร์ไบเบิลจึงกลายเป็น “หนังสือที่ต้องมีทุกบ้าน” แนวคิดของการ “แยกห้องนอน” หรือ “พื้นที่ส่วนตัว” ก็เกิดตามมาเพื่อให้ปัจเจกมีที่เงียบๆ ไว้อ่านหนังสือ (ไบเบิล) จึงไม่แปลกใจที่คำด่าคนโง่ของชาวตะวันตกและชาวไทยหัวใจตะวันตก จะเป็นแนว “ไอ้พวกไร้การศึกษา” มากกว่า “ไอ้พวกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” 

ในขณะที่ราชอาณาจักรไทยเราที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในทางพฤตินัย ไม่ใช่ทุกบ้านจะมี “พระไตรปิฎก” และชาวพุทธน้อยคนนักที่จะเคยอ่านพระไตรปิฎก และน้อยลงไปอีกที่จะหาคนอ่านพระไตรปิฎกจบเล่ม ก็เป็นได้ว่าสาเหตุที่ผู้คนอ่านพระไตรปิฎกน้อยอาจเพราะมันยาว และ หนากว่าไบเบิลมาก แถมสำนวนภาษายังวกวน แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบ “อาจาริยวาท” หรือการถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) โดยชาวพุทธไทยนั้น “สนิท” กับพระเกจิอาจารย์ต่างๆ มากกว่าธรรมะจากพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏก ช่วงก่อนมีอินเทอร์เน็ตยังมีคำกล่าวกันว่า “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกินปีละ 8 บรรทัด” ซึ่งต่อให้มีอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้การอ่านง่ายขึ้นแล้ว แต่เพราะพวกเรา (อันหมายถึงผู้คนในซีกโลกใต้ด้วย) ไม่เคยชินกับวัฒนธรรมการอ่าน ก็ทำให้สกิลการจับประเด็น การอ่านแนววิพากษ์ การเรียบเรียง และ จัดระเบียบองค์ความรู้ไม่แข็งแรงพอจะรองรับข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาอย่างกะทันหันจากโลกอินเทอร์เน็ต

ที่กล่าวมาผมไม่ได้จะดูถูกคนไทยว่าเป็นพวก “ไร้การศึกษา-ล้าหลัง” หรือ เสนอแบบพวกสลิ่มว่าต้อง “ต่อต้านอะไรก็ตามที่ไม่ไทย” หากแต่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางวัฒนธรรมที่อาจถูกลืมเลือน ในการไปสู่ Synthesis ก็อาจเป็นได้ทั้ง

  1. ทำอย่างไรให้คนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงแบบชาวตะวันตก
  2. ทำอย่างไรให้การถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาฐะ หรือ ถ่ายทอดด้วยภาพ, เสียง มีประสิทธิภาพขึ้น
  3. ทำอย่างไรให้เกิดจิตสำนึกของผู้ใหญ่ (ไม่ใช่เพียงเรื่องอายุแต่หมายถึงการถือไว้ซึ่งอำนาจเหนือกว่าในทุกรูปแบบ) มีน้ำใจ, มีความเมตตา และ รู้สึกมี “ความรับผิดชอบ” ต่อผู้น้อย โดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการไปกดทับ-ขูดรีดผู้อื่น

ผมตั้งใจว่าบทความนี้จะไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำทฤษฎีชาวตะวันตกมาปรับใช้กับสภาพทางวัตถุ – ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการใช้สร้างเสริมขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้มีความเข้มแข็งสืบไป 

เพิ่มเติมจากผู้เขียน : 

ปล.1 ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “โซตัส” ในความหมายของ “ค่านิยมอาวุโสนิยม” อาจไม่กินความหมายครอบคลุมถึง “โซตัส” ในการรับน้องมหาลัยซึ่งไม่ใช่ระบบอาวุโสนิยมเดี่ยวๆแต่เป็นระบบอาวุโสนิยม + ความเป็นฟาสซิสต์ซึ่งจะเพิ่มเติมข้อเสียเรื่องการเกลียดชังความแตกต่าง การบังคับให้เชื่อง ความทารุณทางร่างกายและจิตใจ รุ่นพี่ถูกเสมอไม่ว่ากรณีใดๆ เข้ามาด้วย จึงเป็นคำถามสำคัญอีกอย่างที่ควรพิจารณาว่าระบบอาวุโสนิยมแบบไทยๆ กับ “ระบบโซตัส” ที่เป็นของนำเข้าจากนักเรียนโรงเรียนกินนอนประเทศอังกฤษนั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างไร

ปล. 2 หากจะโฟกัสที่โซตัสในความหมายของการรับน้อง ก็จะเห็นฟังก์ชันอย่างนึงที่พ้นไปจากความเป็นอาวุโสนิยมเดี่ยวๆ คือ เป็นเครื่องมือที่สลายความคิดแบบปัจเจกนิยมทำให้เกิดความเป็นคอมมูนขึ้นได้จากเด็กปี 1 ที่ต้องเริ่มหาเพื่อนใหม่ในมหาลัยฯ การรับน้องโหดมีปฏิบัติการณ์ คือ “สร้างสถานการณ์ที่รู้สึกกดดัน,อันตรายขึ้นมาเพื่อให้ผ่านเหตุการณ์นั้นไปร่วมกัน” ซึ่งเรื่องนี้จะมีคำอธิบายแนวประสาทวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อสถานการร์แนว “ลำบากไปด้วยกัน” ได้หายไปแน่นอนว่ามีข้อดีในเรื่องการละเมิดสิทธิและใช้อำนาจกดขี่น้อยลง และ ผู้เขียนเองก็ไม่ประสงค์ให้รื้อฟื้นระบบล้าหลังนี้กลับมาใช้ แต่ก็ทำให้กระบวนการสร้างคอมมูนยากขึ้น คำถามสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่การเลือกระหว่าง “คอมมูนแบบล้าหลัง” หรือ “ปัจเจกนิยมต่างคนต่างไป” แต่คือการสร้าง “คอมมูนที่ก้าวหน้า ที่ทุกคนล้วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนสร้างสรรค์โดยไม่กีดกันความแตกต่าง หรือ การใช้อำนาจเผด็จการ”  

เสรีภาพนั้นมาพร้อมกับความวิตกกังวล เพราะเราต้อง “เป็นผู้เลือกเอง” ซึ่งการละเลยมิติด้านลบของเสรีภาพปัจเจกบุคคลเคยมีให้เห็นในประวัติศาสตร์ของไวมาร์เยอรมัน ที่เมื่อสังคมถูกครอบงำด้วยปัจเจกนิยมและไม่สามารถสร้างคอมมูนที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้ ผู้คน “ลิเบอรัลหัวก้าวหน้า” ที่กำลังหลงทางในขณะนั้นเลือกยอม “ทิ้งเสรีภาพของตัวเอง” เพื่อเข้าร่วมกับพรรคนาซี 

การละเลยความจำเป็นในการสร้างคอมมูนที่ก้าวหน้าจึงไม่ต่างอะไรกับการแผ้วถางทางสำหรับการกลับมาใหม่ของฟาสซิสต์ หรือ ระบบโซตัส ที่อันตรายยิ่งกว่าเดิม

ทฤษฎีและการปฏิบัติ

ทฤษฎีและการปฏิบัติ

ปัญหาเรื่องทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นปัญหาที่สำคัญมากในหมู่ฝ่ายซ้าย เพราะตรงข้ามกับฝ่ายขวา นักสังคมนิยมจะพยายามทำความเข้าใจสังคมก่อนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง กล่าวสั้น ๆ ก็คือ ทฤษฎีคือการต่อยอดความเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรามีพลวัตอย่างไร โดยเฉพาะในระดับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน การปฏิบัติคือการกระทำไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งรอบข้าง ซึ่งจะอิงมาจากทฤษฎีหรือไม่ก็ได้

นักสังคมนิยมทุกเฉดล้วนล้มเหลว ปรับตัว ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในความพยายามที่จะยกระดับการต่อสู้ทางชนชั้นและการปลดปล่อย ความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวพ้นไปจากระบบทุนนิยม แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องวิเคราะห์สภาวการณ์ปัจจุบันของเราเองรวมไปถึงความพยายามเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต (ทฤษฎี) และปฏิบัติตามทฤษฎีนั้น (การปฏิบัติ) องค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวร้อยกันเป็นแกนหลักของการก้าวไปสู่สังคมนิยม โดยทั้งสองจะพัฒนากันและกันอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐศาสตร์การเมืองและการวิเคราะห์ชนชั้น

ทฤษฎีสังคมนิยมพิจารณาเงื่อนไขทางวัตถุอย่างละเอียดก่อนที่จะระบุ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ (historical agent of change) (คนที่จะนำการปฏิวัติ) ในบรรดาสังคมอุตสาหกรรมของซีกโลกเหนือ (Global North) ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงมักถือกันว่าเป็นกรรมาชีพในเมืองที่ทำงานในโรงงาน นักเขียนอย่างมาร์กซ์มองว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถโค่นล้มระบบทุนนิยมและพวกกระฎุมพีลงได้ คำกล่าวนี้ค่อนข้างแม่นยำ เช่นในการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ดี ในขณะที่การปฏิวัติเกิดขึ้นในซีกโลกใต้ (Global South) ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม คอมมิวนิสต์ก็มักจะถือกันว่า ชาวนาเป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ในการปลดปล่อย เช่นในการปฏิวัติจีนเมื่อปี ค.ศ. 1949

ในทั้งสองกรณี มีการวิเคราะห์และชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีการปฏิวัติ จากนั้นจึงมีการลงมือจัดการบริหารและเดินหน้าปฏิวัติ ซึ่งก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป เช่นในกรณีของการปฏิวัติรัสเซียที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1905 อย่างไรก็ตาม นักปฏิวัติได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นและพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ของพวกเขา ทฤษฏีนำไปสู่การปฏิบัติ ตามมาด้วยทฤษฏีใหม่ นำไปสู่การปฏิบัติใหม่อีกที เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

ในขณะที่นักสังคมนิยมทุกเฉดล้วนแล้วแต่มีจุดหมายเดียวกัน นั่นก็คือสังคมไร้ชนชั้น ทว่าหนทางไปสู่สังคมที่ว่านี้ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งและทางตัน จะต้องมีการวิเคราะห์บทบาทของรัฐ ชนชั้นกลาง ลัทธิชาตินิยม รวมไปถึงศาสนา เพื่อพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุปสรรคที่เข้ามาขัดขวางจิตสำนึกการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสิ่งเหล่านี้ในการผลิตซ้ำระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยม และสำคัญที่สุดก็คือ ยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติที่จะนำพาชนชั้นแรงงานและชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว

ความเข้าใจทางทฤษฎีเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและระบบอาณานิคม ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นผ่านการสังเกต การค้นคว้า และการประยุกต์ใช้ร่วมกัน ถูกนำมาใช้จัดตั้งคนงานหรือชาวนาให้กลายมาเป็นกองกำลังทางการเมือง นักจัดตั้งและพรรคการเมืองสังคมนิยมชี้ให้เห็นถึงความแปลกแยกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่คนงานและชาวนาต่างประสบอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสหภาพแรงงานและสภาที่ต้านทานการขูดรีดผู้คนและยกระดับผลประโยชน์ของพวกเขา ในประเทศลูกอาณานิคม ขบวนการชาตินิยมกลายมาเป็นจุดสนใจ โดยการขบถของชาวนาไม่สามารถโค่นล้มระบบศักดินาได้ และระบอบกษัตริย์กับชนชั้นแรงงานยังเพิ่งเริ่มก่อรูปก่อร่างเท่านั้น

กลยุทธ์และพันธมิตร

กลยุทธ์ในการจัดการบริหารแบบสังคมนิยมจะต้องคำนึงถึงการตัดสินใจอันยากเย็นเมื่ออยู่ในภารกิจ เมื่ออยู่ในการประจันหน้าทางสังคมใด ๆ ก็ตาม ต้องสามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าใครคือพันธมิตรและใครคือศัตรู รวมไปถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพวกเขา ทฤษฎีช่วยให้สามารถประเมินได้ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของพันธมิตร และชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ของศัตรูด้วย ในความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มก้อนพลังของฝ่ายเรามีจำนวนน้อยกว่าหรือมีอำนาจทางสังคมน้อยกว่า การทำงานร่วมกับองค์กรแนวเสรีนิยม แนวสายกลาง หรือแม้แต่แนวอนุรักษ์นิยมก็จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การรวมพันธมิตรที่ไม่ได้ผ่านการคิดหน้าคิดหลังอาจทำลายการเคลื่อนไหวหรือแม้กระทั่งทำให้พวกเขาติดคุกและถูกสังหารได้ เห็นได้จากการลุกฮือของกรรมกรและชาวนาในอดีตที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในสมัยศักดินา การลุกฮือของชาวนาจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าที่ดินที่เป็นคู่แข่งซึ่งอยู่ในพื้นที่อื่น ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าที่ดินเหล่านั้นมากกว่าตัวชาวนาเอง

ทุกวันนี้ นักจัดตั้งแรงงานจะต้องชั่งน้ำหนักพลังและความสามารถของคนงานในการเริ่มและรักษากระแสการหยุดงานประท้วงหรือการดำเนินการทางอุตสาหกรรมเพื่อต่อต้านการลวงให้ตกลงปลงใจกับอะไรพื้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน บางครั้งคนงานจำนวนมากเต็มใจที่จะประนีประนอมกับนายจ้างของตน ในขณะที่นักจัดตั้งที่ใช้ทฤษฎีนำเป็นหลักจะมุ่งมั่นผลักดันการดำเนินการทางอุตสาหกรรมต่อไป ตรงนี้เองที่เราจะเจอหนึ่งในความขัดแย้งมากมายของทฤษฎีและการปฏิบัติ ทฤษฎีสังคมนิยมบอกเราว่าจะไม่มีการประนีประนอมกับชนชั้นกระฎุมพี ทว่านี่อาจขัดแย้งกับความเร่งด่วนในการบรรเทาความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ ในกรณีนี้ คนงานในโรงงานจะเต็มใจประนีประนอมกับนายจ้างกระฎุมพีเพื่อให้ได้กลับไปทำงานและมีรายได้ให้เร็วที่สุด แม้เราจะตีความตามทฤษฎีว่า คนงานมีศักยภาพที่ไม่ใช่แค่การเรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่า แต่รวมไปถึงการยึดปัจจัยการผลิตทั้งหมดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นเรื่องของการรอมชอมทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ศักยภาพทางทฤษฎีในการปลดปล่อยและความเป็นจริงในทางปฏิบัติของการจัดการการปลดปล่อยดังกล่าว

ลัทธิยึดคัมภีร์และการปรับใช้กับสภาพท้องถิ่น

แม้อุดมการณ์วัตถุนิยมจะมีพื้นฐานที่หยั่งรากมาอย่างดี ทว่าบางครั้งเราเองก็อาจจะยึดติดกับคำพูดของมาร์กซ์ เลนิน ทรอตสกี้ หรือนักเขียนคนอื่น ๆ มากไปเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นศาสนา เหมือนกับสาวกของศาสนาที่มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ คำกล่าวจากเมื่อ 100 ปีที่แล้วอาจถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของปัจจุบัน ในกรณีของมาร์กซ์ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า เขาวิเคราะห์สภาพสังคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเป็นหลัก การตีความของมาร์กซ์ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดของการต่อสู้และความแตกแยกมากมายในขบวนการสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ นักมาร์กซิสต์จำนวนมากในปัจจุบันยังคงต่อสู้ทางความคิดด้วยความที่ว่ามาร์กซ์ได้ทำพลาดเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่เพียงจำกัดหรือไม่ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด นอกจากนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทุนนิยมของพวกเราก็ได้พัฒนาต่อยอดมาจากยุคสมัยของเขาด้วย และเราจะต้องพัฒนาทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของเรา

ชัยชนะของการปฏิวัติรัสเซียและการก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้เปิดประตูไปสู่การแช่แข็งทฤษฎีและการปฏิบัติในรูปแบบใหม่ ๆ สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของสตาลินได้เริ่มปรับเปลี่ยนทฤษฎีให้เข้ากับประสบการณ์การปฏิวัติและเข้ากับสังคมใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมา พรรคคอมมิวนิสต์หลายพรรคก็ดำเนินตามแนวทางโซเวียต ซึ่งส่งผลให้พวกเขาสูญเสียความนิยมในหมู่ผู้ถูกกดขี่เนื่องจากพวกเขาพยายามนำทฤษฎีและการปฏิบัติในบริบทของรัสเซียมาใช้กับพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกโลกใต้ (Global South) มีการถอดแบบไปใช้แบบเหมือนกันเป๊ะ ๆ บางครั้งก็แทบไม่ได้คำนึงถึงสภาพท้องถิ่นของตัวเอง เหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนำลัทธิเหมาของจีนมาใช้ แม้กระทั่งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและคอมมิวนิสม์ในยุโรปล้มเหลว นักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์จากซีกโลกเหนือทุกวันนี้ก็ยังคงวิเคราะห์และวางยุทธศาสตร์โดยไม่ได้ยึดโยงกับสภาพความเป็นจริงของซีกโลกใต้เลย

การนำทฤษฎีไปปฏิบัติ

ทุกวันนี้ หลาย ๆ สังคมดำรงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใต้บริบทระบบทุนนิยมโลกอันใหญ่ โดยในแต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันและมีความขัดแย้งในท้องถิ่น บางแห่งมีทุนนิยมและระบอบกษัตริย์ไปพร้อม ๆ กัน บางแห่งมีความสัมพันธ์แบบกึ่งศักดินาในชนบทและมีทุนนิยมในเมือง ทั้งหมดนี้จะสื่อว่า ระบบทุนนิยมในแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคม ทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นเพื่อต่อกรกับระบบก็ควรต้องมีลักษณะเฉพาะสำหรับแต่ละสังคมเช่นกัน แน่นอนว่าจะต้องพิจารณาลักษณะกว้าง ๆ บางอย่างอย่างเมื่อวิเคราะห์ระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบโลกอันใหญ่ แต่ลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นก็สำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์สังคมนิยมในแต่ละสังคมเช่นกัน

การพัฒนาทั้งทฤษฎีและการปฏิบัตินั้นจำเป็นอย่างมากสำหรับนักสังคมนิยมทุกเฉด แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องตระหนักไว้ว่า ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติต่างก็เป็นพื้นฐานของกันและกันเสมอ ทฤษฎีหรือการปฏิบัติ สิ่งใดจะมาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของช่วงเวลาและความรู้สึกของมวลชนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง

เฟมินิสต์เองก็เป็นอนาคิสต์

เฟมินิสต์เองก็เป็นอนาคิสต์

ต้นฉบับ: Feminism as Anarchism – Lynne Farrow
ผู้แปล: สหายเห็ดนางฟ้า สหายผู้ได้มา สหายคอมบ์เบรกเกอร์ สหายเข็มหมุด



บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1974 (พ.ศ. 2517) น่าแปลกที่ผ่านมาเกือบ 50 ปีแล้ว หลายประเด็นในบทความนี้ยังคงทันสมัยอยู่ ทุกวันนี้เราได้เห็นโฉมหน้าค่าตาและได้ยินเสียงของกลุ่มผู้ถูกกดขี่หลากหลายมากขึ้นมาก คนดำในบริบทในบทความ อาจหมายถึงคนชาติพันธุ์ คนพม่า แรงงาน เพศหลากหลาย คนในสลัม คนไร้บ้าน ผู้พิการ เควียร์ หรือเด็กในบ้านเรา *ในวันนี้* “ผู้หญิง” ในบทความก็คือกลุ่มคนที่กำหนดว่าตนเองเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดอะไร เราได้เห็นการต่อสู้ในระดับประเทศ หลายประเภท ระดับโลกมากขึ้น ซึ่งต่างจากในบทความ งานชิ้นนี้อาจต้องอ่านโดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปี ครุ่นคิดถึงความเหมือนและความต่างของมัน นอกจากเข้าใจการกดขี่ขนานใหญ่แล้ว เราได้ตรวจสอบการกดขี่ทางเพศในขบวนการบ้างไหม? เราได้ฟังกันอย่างหลากหลายและใส่ใจอย่างเพียงพอรึเปล่า? หรือไม่ว่าในขบวนการไหน บางเพศ บางรูปแบบการเคลื่อนไหว ก็ยังเป็นใหญ่และเบียดขับการเคลื่อนไหวอื่นด้วยเหตุผลของการต่อสู้อยู่ดี …

I.

แนวทางขบวนการเฟมินิสต์ปฏิบัติในสิ่งที่อนาคิสต์ป่าวประกาศ บางคนถึงขั้นกล่าวว่า เฟมินิสต์คือขบวนการที่มีลมหายใจสุดท้ายที่สามารถขานเรียกตนเองว่ากำลังปฏิบัติการแบบอนาคิสต์ได้ หนึ่งเพราะผู้หญิงทุ่มเททำงานให้กับโครงการบางอย่างเป็นการเฉพาะ เช่น คลินิกทำแท้ง หรือศูนย์เด็กเล็ก และสอง แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอไม่ยอมวุ่นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองที่แบ่งขั้วซ้าย-ขวา และปฏิรูป-ปฏิวัติ

อย่างไรก็ตาม ความใส่ใจของพวกเธอต่อโครงการเหล่านี้และกิจกรรมที่ดูไม่การเมืองของผู้หญิงกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และประวัติศาสตร์ของเฟมินิสต์ก็กล่าวถึงการที่ข้อเรียกร้องของพวกเธอถูกมองข้าม ถูกใช้ทั้งในกระบวนการกฎหมายจากกลุ่มการเมือง และในทางทฤษฎีจากฝ่ายซ้าย การถูกใช้และถูกกลืนนี้ทำให้เราละเลยที่จะตั้งคำถามสถานการณ์ของเฟมินิสต์ และตั้งคำถามว่าอะไรคือยุทธศาสตร์สำคัญในการเปลี่ยนแปลง

ไฟแห่งการปลดแอกสตรีปะทุขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1840s ท่ามกลางการรณรงค์เลิกทาสของฝ่ายเสรีนิยมที่ร้อนระอุ กลุ่มผู้หญิงฝีปากกล้าในขบวนการควาเกอร์ (Quaker) ออกปราศัยต่อต้านระบบถือครองทาสทางตอนใต้ และตระหนักว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเธอเรียกร้องเพื่อคนผิวดำ ก็คือสิทธิที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับเช่นกัน เมื่อนั้น ลูซี สโตน (Lucy Stone) และ ลูเครเทีย มอตต์ (Lucretia Mott) สองนักรณรงค์เลิกทาสผู้กล้าหาญได้สอดแทรกหยิบยกแนวคิดเฟมินิสต์บางประการมาประกาศกร้าวท้ายบทปราศัย สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ชาวเสรีนิยมผู้ร่วมขบวนการไม่น้อย อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นภัยต่อขบวนการ ตราบใดที่พวกเธอเจียมตน และตระหนักถึงข้อเรียกร้องที่สำคัญและ “จริงจัง” กว่าข้อเรียกร้องอื่นในขบวนการ

ต่อมา ในปี 1842 การประชุมต่อต้านระบบทาสสากล (World Anti-Slavery Convention) ถูกจัดขึ้นในลอนดอน ผู้หญิงอเมริกันพร้อมกับนักรณรงค์เลิกทาสคนอื่นๆ อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเข้าร่วม เพียงเพื่อจะพบว่าไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในขั้นตอนการพิจารณาต่างๆ  แต่เลวร้ายกว่านั้น พวกเธอยังถูกกีดกันออกจากงานพบปะมวลชน ลูเครเทีย มอตต์ และ อลิซาเบธ เคดี้ แสตนตัน (Elizabeth Cady Stanton) จึงแสดงความไม่พอใจต่อความหน้าไหว้หลังหลอกของการประชุมต่อต้านระบบทาสที่ชาวเสรีนิยมจัดขึ้น ที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของผู้หญิง จนพวกเธอถอนตัวกลับไปยังอเมริกา และจัดตั้งขบวนการเพื่อการปลดแอกผู้หญิงในเวลาต่อมา

การประชุมสิทธิของผู้หญิงครั้งแรกจึงถูกจัดขึ้นในปี 1848 ณ เซเนคา ฟอลส์ นครรัฐนิวยอร์ค (Seneca Falls, New York) ที่การประชาสัมพันธ์เพียงสามวันในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ดึงดูดผู้หญิงจำนวนมากมาเข้าร่วมจนท่วมโบสถ์ที่จัดประชุม ในช่วงท้ายของการประชุมสัญจร พวกเขาได้ร่าง คำประกาศว่าด้วยหลักคิดและสิทธิสตรี ​(Declaration of Rights and Sentiment) ที่ดัดแปลงมาจาก คำประกาศอิสรภาพ ที่มุ่งเรียกร้องต่อผู้ชายมากกว่าพระเจ้าจอร์จแห่งเกาะอังกฤษเสียอีก หลังจากการประชุมครั้งนั้นที่ถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการสิทธิของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ขบวนการเฟมินิสต์เรียกร้องต่อสู้เรื่องกฎหมายกรรมสิทธิ์ผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ขึ้นมาในเวลาไม่นาน

เฟมินิสต์อเมริกันเริ่มได้รับการสนับสนุนทีละเล็กละน้อย จนทำให้ฝ่ายเสรีนิยมหวั่นวิตกว่าผู้หญิงเหล่านี้จะทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับประเด็นของผู้หญิงมากกว่าประเด็นหลักของตนในเวลานี้อย่างการเลิกทาส พวกเขาเน้นย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือ “ช่วงเวลาสำคัญของนิโกร (the negroes’ hour)” และผู้หญิงไม่ควรนึกถึงแต่ความต้องการของตัวเองในช่วงเวลาสำคัญแบบนี้ เมื่อสงครามกลางเมืองใกล้เข้ามา วิวาทะดังกล่าวเปลี่ยนจากการต่อรองอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สู่การสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองบนความเดือดดาล เช่น “ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ถึงไม่สละตนเพื่อการต่อสู้ของคนในประเทศ แต่กลับอุทิศตนให้แก่แนวคิดเฟมินิสต์ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้” ดังนั้น ตามหลักความถูกต้องของขบวนแล้ว เฟมินิสต์ทุกคนในอเมริกาจึงควรวางจิตสำนึกเฟมินิสต์ของตนลงก่อน และสนับสนุนความต้องการของขบวนการเสรีนิยมในขณะนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อสงครามกลางเมืองจบลงและคนผิวดำได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงจะได้รับสิทธิเหล่านั้นด้วย

ณ ตอนนั้น ซูซาน บี แอนโทนี (Susan B. Anthony) นักรณรงค์เลิกทาสผู้เด็ดเดี่ยว คือเฟมินิสต์เพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับหลักการของกลุ่มเสรีนิยม เธอยังคงขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของผู้หญิงอย่างเปิดเผย แม้ว่าผู้สนับสนุนของเธอจะลดลง และย้ายค่ายไปสนับสนุนกับนักรณรงค์ต่อต้านการเลิกทาสคนอื่นก็ตาม เธอเชื่อมั่นว่า การต่อสู้ทั้งสองสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ และหากละทิ้งการต่อสู้ของผู้หญิงไป หลังสงครามข้อเรียกร้องของผู้หญิงก็จะถูกลืม ซึ่งสิ่งที่เธอทำนายไว้ก็เป็นจริง เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ว่าด้วยสิทธิพลเมือง (14th Amendment) ถูกเสนอเรื่องขึ้นสภาครองเกรซ สิทธิของผู้หญิงไม่เพียงแต่ไม่ถูกกล่าวถึงแล้ว แต่ยังถูกกีดกันด้วย จึงเป็นครั้งแรกที่คำว่า “ชาย” ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างกระจ่างแจ้งว่า คำดังกล่าวสื่อถึง “เพศชาย” เท่านั้น

การทำลายล้างการวางรากฐานความเท่าเทียมทางเพศครั้งใหญ่นี้ยังขัดขวางการเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่ตามมา จนกระทั่งเกือบร้อยปีต่อมา ในปี 1913 เมื่อกลุ่มผู้หญิงบริติชจัดตั้งกองกำลังที่วางระเบิด และเผาอาคารสถานที่ อลิซ พอล (Alice Paul) หญิงชาวอเมริกันจากกลุ่มควาเกอร์ผู้กระตือรือร้น เดินทางมาศึกษา ณ เกาะอังกฤษ แต่มาร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มแพนเคิร์สตส์ (Pankhursts) ชื่อกระฉ่อน เธอกลับไปยังสหรัฐอเมริกาพร้อมกับความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะคืนชีพขบวนการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงอีกครั้ง ไม่นานหลังจากนั้น เธอจึงชักชวนสมาพันธ์สิทธิการเลือกตั้งสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Suffrage Association) ที่หยุดเคลื่อนไหวไป ให้กลับมารณรงค์เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในวอชิงตันอีกครั้ง

ในเวลาอันสั้น ความฉลาดปราดเปรื่องในการจัดตั้งและการวางกลยุทธของ อลิซ พอล ทำให้เธอสามารถสร้างขบวนการที่รวมการต่อสู้หลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน การต่อสู้ที่เห็นผลที่สุดคือการนำป้ายประท้วงประณามจุดยืนอำนาจนิยมของประธานาธิบดีวิลสันที่ต่อต้านสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในขณะที่เขากำลังอภิปรายเรื่องประชาธิปไตยออกอากาศ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้เข้ามา แล้วขบวนการเฟมินิสต์ก็กำลังจะถูกละเลยอีกครั้ง

กลุ่มผู้รักสันติภาพ (pacifist) หรือขบวนการต่อต้านสงครามประกาศกับผู้หญิงให้วางข้อเรียกร้องของตนลงก่อนชั่วคราวและเข้าร่วมการเรียกร้องสันติภาพ ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนสงครามซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ถากถางผู้หญิงว่าละทิ้งประเทศในยามวิกฤต นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้หญิงนับพันถูกบังคับให้ละทิ้งขบวนการเฟมินิสต์และไปช่วยเหลือกลุ่มการเมืองของตน ทว่า ยังมีผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งอย่าง พรรคสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Party) ที่ยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งตลอดมา

II.

ไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าฝ่ายไหน ซ้ายหรือขวา ที่เป็นผู้บดบังความพยายามต่างๆ ของเฟมินิสต์ เมื่อมองดูประวัติศาสตร์แล้วเราจะพบว่า วิธีการของทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ต่างกัน ทั้งความมั่นใจอย่างออกหน้าออกตาที่จะให้ความสำคัญกับ “การต่อสู้ที่ใหญ่กว่า” จนนำไปสู่การบอกปัดประเด็นเฟมินิสต์ว่าเป็นประเด็นอื่นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากวิเคราะห์ว่าขบวนการฝ่ายซ้ายที่มีคนดำและมาร์กซิสต์เป็นใหญ่ได้บีบผู้หญิงเข้าไปในแผนการก็เมื่อเป็นผลพลอยได้ของอะไรสักอย่าง เช่น เมื่อชนะการต่อสู้ที่สำคัญแล้ว ผู้หญิงถึงค่อยแยกตัวออกไปสู้ ผู้หญิงต้องรอก่อน ผู้หญิงต้องช่วยเหลือการต่อสู้ขบวนการใหญ่เสียก่อน!

เรามักเห็นในบทกวีของหญิงคนดำอย่างชัดเจน ว่าการก่อสร้างอีโก้หรือความทะนงตนของชายคนดำเป็นไปตามรูปแบบในขนบ — ด้วยการดูถูกตัวเองเสียก่อน — ประเด็นนี้ได้ยินกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า บอกกล่าวความทุกข์ทรมานอันแสนน่าภูมิใจของหญิงคนดำในกำมือของชายคนดำ ผู้ที่อ่อนแอเมื่ออยู่กับเจ้านายคนขาว เขาจึงต้องการผู้หญิงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า และเธอเองก็ทำตัวตามเช่นนั้น — ความทุกข์ทรมานของเธอมีส่วนกับการต่อสู้ของ (ชาย) คนดำโดยตรงและเธอมองว่าเป็นการเสียสละที่มีเกียรติ (เหมือนที่ เจอร์เมน เกรียร์ (Germaine Greer) เสนอไว้ว่า ในเมื่อผู้หญิงไม่มีอำนาจที่จะข่มขู่ พวกเธอไม่สามารถถูกลดทอนอำนาจได้ ฉะนั้นแล้วจึงไม่มีใครมองว่าการไม่มีอำนาจของผู้หญิงเป็นเรื่องแปลกอะไร ถือเป็นเรื่องธรรมชาติด้วยซ้ำ ไม่มีใครหรอกที่จะนอนเฉยๆ แล้วให้ผู้หญิงเตะขึ้นมา) ในขณะที่ภาวะไร้อำนาจของชายคนดำนั้นก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ชายและยังสามารถที่จะเข้าถึงอำนาจของชายคนขาวได้ สิ่งที่เขาต้องการก็แค่ผู้หญิงสักคนให้ครอบงำในแบบเดียวกันกับที่คนขาวได้ครอบงำเขา เมื่อนั้นเขาก็จะได้ความสูงส่งของเขาคืนมา คนดำได้ต่อต้านความเป็นใหญ่ของคนขาวด้วยการตระหนักถึงความงามของคนดำ แต่พวกเขาไม่เคยท้าทายรูปแบบครอบครัวคนขาว ไม่เคยท้าทายความน่าปรารถนาของรูปแบบครอบครัวชายเป็นใหญ่ ฉะนั้นแล้วพวกเขาก็ยังคงเชิดชูความเป็นใหญ่ของผู้ชายอยู่ดี

มาร์กซิสต์เฟมินิสต์ชื่อว่าจูเลียต มิตเชล (Juliet Mitchell) ได้ยกตัวอย่างใน Woman’s Estate ว่ารูปแบบความคิดของการเข้าใจความความเดือดร้อนจริงๆ ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มเฟมินิสต์ ว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นแค่อาการอย่างหนึ่งของการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า ที่ทุกกลุ่มก็เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนามธรรมหรืออุดมการณ์นั้น คงเดากันได้อยู่แล้วว่า หากมีความขัดแย้งในทางทฤษฎีเกิดขึ้น มิตเชลจะร้องหา “ภาพกว้าง” แนวคิดเชิงนามธรรมที่จะขยายตัวเองให้ตอบโจทย์ข้อขัดแย้ง เมื่อกลุ่มที่มีกังวลร่วมกัน เช่น นักเรียน ผู้หญิง คนดำ โฮโมเซ็กชวล ได้ร่างสิ่งที่ตัวเองต้องการจากฐานสถานการณ์ของพวกเขา มิตเชลก็กล่าวหาว่าพวกนั้นมองการณ์ “สั้น” เกินไปจนไม่เห็นว่าความต้องการนั้นเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่พวกเขาต้องเข้าใจคือ “แนวคิดนิยมทุกสิ่ง” (โททอลลิสม์ – totalism) หรือการทำความเข้าใจเพื่อหยุดทุกการทำความเข้าใจ (ผู้แปล: โททอลลิสม์ในที่นี่คือแนวคิดทางปรัชญาที่ครอบคลุมประเด็นทุกประเด็น “A philosophy, ideology or belief system that is total in its scope, one that covers everything.”)

สำนึกทางการเมืองขั้นสุดของชนชั้นที่ถูกขูดรีดหรือกลุ่มที่ถูกกดขี่ไม่สามารถกำเนิดมาจากตัวเองได้ แต่มาจากการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน (interrelationship) (และการครอบงำของโครงสร้าง) ของทุกชนชั้นในสังคม … ไม่ได้หมายความว่าให้ทำความเข้าใจทันทีว่ากลุ่มอื่นและชนชั้นอื่นถูกกดขี่และขูดรีดอย่างไร แต่หมายความว่า การเรียกการโจมตีทุนนิยมแบบ “พวกนิยมทุกสิ่ง” สามารถทำให้ความสมานฉันท์ระหว่างแต่ละกลุ่มที่โดนกดขี่ที่ขำเป็นอย่างยิ่งสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้

มิตเชลอาจถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดจักวรรดินิยมทางความคิดได้แบบง่ายๆ เมื่อมองว่าคำว่า “นิยมทุกสิ่ง” ที่เธอใช้ควบรวมคำย่อยต่างๆ และทำให้คำเหล่านั้นตกเป็นประเด็นรองไป ภายใต้อำนาจของแนวคิดมาร์กซิสต์ตั้งต้นของเธอ ในมุมของมิตเชลแล้ว แต่ละกลุ่มที่ตอบสนองในแบบของตัวเองต้องเรียนรู้ที่จะเห็นหนทางและเสียสละ แนวคิดของเธอที่ว่าพวกเขาต้องล้มเลิกความกังวลของตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นนามธรรมที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มประโยชน์ใดๆ เลย เนื่องจากว่ามันใหญ่ไปเสียจนไม่สามารถตอบโจทย์ประโยชน์หรือความกังวลอันหลากหลายได้เลย

กว่าจะเข้าใจอย่างนี้ได้ก็ต้องเข้าใจที่ทางของกลุ่มนิยมทุกสิ่งเสียก่อน แต่มันยังต้องคำนึงถึงหลากหลายสิ่งกว่านี้ หรือไม่เช่นนั้นก็ติดหล่มอยู่ในแนวคิดลัทธิคลั่งไคล้แบบคนดำ (Black chauvinism) ซึ่งเหมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจนิยมแบบชนชั้นแรงงาน (working class economism) และไม่ได้มองเห็นอะไร นอกจากจมูกหักๆ ของตัวเอง

แนวคิดของมิตเชลด้อยค่าปัจเจกนิยมในทุกรูปแบบไป ไม่ต่างกันกับในประวัติศาสตร์ ที่กลุ่มจัดตั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาได้ช่วงชิงผู้หญิงจากการทำงานเพื่อประโยชน์หรือความกังวลของพวกเธอ ผู้หญิงได้ถูกขอให้เป็น “ทำเพื่อทุกสิ่ง” ในแบบเดียวกันที่ประชาชนถูกขอให้ต้อง “รักชาติรักแผ่นดิน” เราถูกขอให้เปลี่ยนจากรูปแบบการใช้อำนาจอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น เราถูกขอให้ทำตัวตาม เมต้า-อนาไลซิส (การศึกษาแบบรวมผล meta-analysis) ที่เต็มไปด้วยชนชั้น แม้จะพยายามกี่ครั้งก็ตามแต่ เราก็ไม่สามารถเห็นได้แม้แต่นิดเดียวว่าการทำเช่นนั้นจะเกี่ยวอะไรกับความทุกข์ทรมานของเราในตอนนี้ สิ่งที่ดีงามสำหรับทุกคนก็ควรจะดีงามสำหรับหนึ่งคนด้วย

เพราะผีของความนิยมทุกสิ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ เราจึงต้องออกมาทำให้เห็นว่าประโยชน์หรือความกังวลของเรามันจริงแท้อย่างไร ด้วยเหตุผลกลใดบ้าง ทั้งการที่เราต้องหยุดทำเพื่อประเด็นการต่อสู้ และถูกลากเข้าไปในสายใยที่พยายามแย่งชิงความสนใจของเราไป เพราะมัวแต่ต้องอธิบายและปกป้องแนวคิดของเรา เราคุ้นชินไปเสียว่าประโยชน์ของกลุ่มนั้นสำคัญกว่า และเป็นเรื่องง่ายกว่าเรื่องของอีกคนหนึ่ง จนเราติดกับการทำให้ตัวเองเป็นเหตุเป็นผล (self-rationalization) จนไม่ยอมสงสัยว่าการขัดขากันไปมาระหว่างกลุ่มมันมีคุณค่าอะไรตั้งแต่แรกหรือไม่ 

ไม่ใช่แค่วิธีการแบบ “นิยมทุกสิ่ง” พยายามรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันหรือจัดว่าประเด็นการต่อสู้ไหนควรมาก่อน มันยังเสนอว่าเมื่อธรรมชาติของปัญหาคือการครอบคลุมทุกประเด็น แล้วทางแก้ปัญหาก็คงเป็นเช่นนั้นด้วย จนนำมาสู่สถานการณ์ที่ผู้หญิงถูกหลอกมาเสมอ — แม้กลุ่มอาจยังทำงานต่อไปได้ ภายใต้ภาพลวงว่า “เจอสิ่งนี้ด้วยกัน” เป็นเวลานาน ซึ่งปกติแล้วก็ยาวนานเท่าที่ยังคงคุยกันเรื่องทฤษฎี เหมือนกับสัญญาที่ให้กับเฟมินิสต์ก่อนสงครามกลางเมือง แต่เมื่อถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างในสถานการณ์ที่คิดไว้อย่างหลวมๆ แล้ว ก็ไม่สามารถค้นหาและทำลายศัตรูที่นิยมทุกประเด็นไปได้ง่ายๆ ทางออกก็คือต้องเลือกว่าจะทำอะไรและทำเพื่อใคร ฉะนั้นแล้ว ประเด็นการต่อสู้ที่ดูจะบังคับคนอื่นได้มากที่สุดก็ถูกให้ความสำคัญที่สุด และเรื่องอื่นก็ได้รับความสำคัญรองลงไป หากไม่เป็นเช่นนี้ก็คงเป็นทางแก้แบบนิยมทุกประเด็นจนกระจัดกระจาย ขับเคลื่อนพลังไปแต่ไม่ได้ช่วยเหลือใครเลย ผู้หญิงเองเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อต้องต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศและถูกมองในบริบทการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า

ถ้าการต่อสู้ของเฟมินิสต์ไม่เป็นอื่นและเป็นรองจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบอื่นแล้ว เราจะสามารถเน้นย้ำการต่อสู้ของเฟมินิสต์ได้อย่างไร?

III.

ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงต้องอาศัยหรือทำงานกับผู้ชายในชีวิตอย่างน้อยเป็นบางเวลา พวกเธอจึงต้องมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่ปกติเราเรียกว่า “ผู้กดขี่” อย่างเฉพาะตัวและแตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงยังคงมีผลประโยชน์จากการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ชายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลด้านอาชีพ ปัญหาจึงไม่สามารถถูกลดทอนว่าเป็นที่ผู้ชายหรือแก้ไขที่ผู้ชายเท่านั้น ประการแรก การนำเอาพวกเธอออกมาจากสถานการณ์เช่นนั้นย่อมเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ขัดต่อผลประโยชน์ของเธออย่างแน่นอน ประการที่สอง การมุ่งเน้นไปที่แหล่งที่มาของปัญหาไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาเองเสมอไป คงผิดพลาดหากจะมองความขัดแย้งว่าเป็นความผิดของคนบางกลุ่ม แทนที่จะมองถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขา

สิ่งที่ตามมาก็คือ เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้หญิงเลยจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างแตกต่างโดยสิ้นเชิง ในรูปแบบที่มีพื้นฐานความคิดแบบตามสถานการณ์ นั่นจึงทำให้พลังของเฟมินิสต์มักจะมุ่งเน้นที่ตัวปัญหามากกว่าที่คน (หรือการต่อสู้) เป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญจะไม่ใช่การแบ่งเขาแบ่งเราแบบที่มีผู้กดขี่ตามความเชื่อปรัมปราที่ต่างคนต่างปะทะกันเพียงเพื่อช่วงชิงสิทธิพิเศษบางอย่าง แต่เป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ตัวอย่างเช่น ถ้ามีสถานการณ์ที่ต้องคอยแข่งขันกันระหว่างเพศอยู่แล้ว การเรียนคาราเต้จะยิ่งส่งเสริมการสะสมอาวุธของทั้งสองฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเงื่อนไขในการต่อสู้เช่นนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนดุลอำนาจของทั้งสองฝ่าย

ขบวนการเฟมินิสต์แบบสถานการณ์นิยม (situationism) คือการมองว่าการวิเคราะห์ทางสังคมอย่างละเอียดและกลุ่มแบบลามาร์กซ์ (la Marx) นั้นเกินเหตุ เพราะหลายการเปลี่ยนแปลงมีรากฐานมาจากสถานการณ์ที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงก็จะแปลกแยกจากผู้คน เวลา และสถานที่ วิธีการนี้มักถูกมองว่าไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเราไม่เคารพการแก้ปัญหาแบบตัวต่อตัว หรือเรารู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง

เรามักมองว่าข้อกังวลเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างกับว่าข้อกังวลเหล่านี้ไม่สามารถถูกเชื่อมโยงเข้ากับความสนใจในวงกว้างได้ในทันที หรือหากข้อกังวลเหล่านั้นไม่สามารถถูกทำให้เป็นเรื่องสากล เช่น การเป็น “อาการป่วยของสภาวการณ์บางอย่างที่ใหญ่กว่า” การพูดถึง “ชายเป็นใหญ่” นั้นไร้ผลพอ ๆ กับการพูดคุยเรื่อง “ทุนนิยม” โดยที่เราลดค่าให้มันเป็นแค่คำนิยาม เรากำลังใช้ความมีประสิทธิภาพ แยกตัวเองออกมาจากปัญหาและสิ่งที่จำเป็น เพื่อจะโต้ตอบกับผู้อื่นในทันที การพูดเกินจริงทางทฤษฎีเช่นนี้ทำให้เกิดภาพลวงตาการตอบสนองต่อสถานการณ์คับขัน โดยที่ตัวคนนั้นไม่เคยทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมของตนเองในนั้น

เดิมทีเฟมินิสต์ถูกกล่าวหาว่าไม่มีทฤษฎีที่ครอบคลุม มีแต่ความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ สิ่งนี้สร้างความขบขันในหน้าสื่อได้เป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีการเชื่อมโยงทางทฤษฎีในวงกว้างระหว่างสิ่งต่างๆ เช่น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วโดยใช้ชื่อสามี สถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่เพียงพอ การใช้คำว่า ‘เด็กหญิง’ อยู่ตลอดเวลากับผู้หญิง หรือการที่ผู้หญิงต้องการทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับผู้ชาย แทนที่จะมองว่าความหลากหลายนี้เป็นจุดแข็งมันกลับถูกมองว่าเป็นจุดอ่อน แล้วก็เป็นไปตามคาด มาร์กซิสต์เฟมินิสต์สองสามคนก็ลุกมาแก้ต่างในเหตุการณ์นี้ และทำให้เฟมินิสต์ได้รับความเคารพในทางทฤษฎีขึ้นมา โดยเน้นไปที่ปัญหาของผู้หญิงเกี่ยวกับ “อุดมการณ์ของการสืบพันธุ์” และแนวคิดที่คลุมเครืออื่นๆ

ตามที่เคยเป็นมา เฟมินิสต์มักจะพยายามหาทางออกเฉพาะกิจที่เหมาะสมกับความต้องการในขณะนั้น กล่าวคือ เน้นไปที่การแก้ไขในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความพยายามอย่างหน้าด้านๆ  ถูกกฎหมายและได้รับการเผยแพร่อย่างดี (รวมทั้งในทางทฤษฎีด้วย) เพื่อที่จะนำการปลดปล่อยผู้หญิงมาสู่สเกลใหญ่

ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ฉันและเพื่อนคนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมเฟมินิสต์ว่าด้วยการหย่าร้าง เราได้รู้จักเหล่าวิทยากรที่จะมาอธิบายวิธีการดำเนินการหย่าร้างและทนายความที่จะให้คำแนะนำทางกฎหมายฟรีแก่ผู้หญิงที่ต้องการ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้ออื่นๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการหย่าร้าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้หญิงจำนวนมากในชุมชนที่อาจไม่ได้คิดว่าตนเองเชื่อในความคิดเฟมินิสต์ที่น่างงงวยนี้ด้วยซ้ำเพราะว่าตัวหัวข้อมีปัญหาเป็นศูนย์กลาง ทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนคำแนะนำ เบอร์โทร ชื่อทนายความกันอย่างกระตือรือร้น ผู้หญิงบางคนร้องไห้ในเวิร์กช็อปเพราะรู้สึกท่วมท้นที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคนอื่นๆ 

การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่นขณะวิทยากรจากองค์การสตรีแห่งชาติได้นำเสนอจุดยืนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการหย่าร้างและแผนการขององค์การในอนาคต ในนั้นมีข้อเสนอว่าคู่รักควรจะผ่านการทดสอบก่อนที่จะแต่งงานกันได้ คนที่มีคุณสมบัติผ่านเท่านั้นที่จะสามารถเข้าร่วมในข้อตกลงทางกฎหมายนี้ได้ เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบที่สร้างขึ้นโดยผู้ออกกฎก็จะถอดใจไปเอง จึงอาจป้องกันการหย่าร้างในอนาคตได้

นอกเหนือจากความเชื่อที่ผิดอย่างโต้งๆ ว่ากฎที่เพิ่มขึ้นมานี้จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กฎหมายเดิมสร้างขึ้นไว้ และดังนั้นจึงจะช่วยผู้คนให้รอดพ้นจากตัวของตัวเอง ข้อเสนอขององค์การสตรีแห่งชาติ (National Organization for Women) เป็นตัวอย่างของความพยายามในการปลดปล่อยผู้หญิงด้วยวิธีการแบบเสาหินจากเบื้องบน ซึ่งคล้ายกับความทะเยอทะยานของมาร์กซิสต์บรันคา มากัส (Branka Magas) ในการ “ฉกฉวยวัฒนธรรม” เพราะว่าแรงกระตุ้นในการบีบบังคับผู้คนด้วยกฎหมายของประเทศมีความคล้ายกับแรงกระตุ้นในการสร้างการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนดุลอำนาจ การเปลี่ยนแปลงขนาดมโหฬารแต่ละประเภทย่อมมีเหตุผลมารองรับอำนาจนิยมอันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมันอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละฝ่ายต่างโต้เถียงว่าสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนจริงๆ ดีสำหรับแค่คนหนึ่งคนด้วย ดังนั้นวิธีการใด ๆ ก็สามารถนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนความทะเยอทะยานในการปฏิวัติ ในรูปแบบขององค์กรได้ทั้งนั้น

ข้อเสนอระดับมหภาพที่มีเป็นครั้งคราวเหล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อไปว่าขบวนการปลดปล่อยผู้หญิงที่ไม่ใช่พวกเน้นสถานการณ์มีอยู่จริง คนเชื่อว่ามีกองทัพของจริงกำลังโห่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศอยู่พร้อมเพรียงกัน สื่อต่างประโคมให้มันดูชุลมุน แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ตามหลักการเช่นนั้นอยู่หรอก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงยังคงง่วนอยู่กับการทำงานในโครงการฐานชุมชนภายในครอบครัว หมู่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือตัวตนให้แก่ตนเอง ยิ่งไปกว่านี้ การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์หรือหลักการของการเคลื่อนไหวเพียงแบบเดียวอาจก่อให้เกิดผลเสีย และทำให้ผู้หญิงเปรียบเทียบชีวิตของพวกเธอกับภาพลักษณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา เช่นการเฝ้าจับผิดวิธีใช้ชีวิตและการทำงานของตัวเองเพื่อดูว่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวหรือไม่

ในขณะเดียวกัน “การเคลื่อนไหว” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเหนียวแน่นและไม่มีแผนการ ถูกเผงเลย นั่นแหละคือจุดประสงค์ จุดแข็งของการเคลื่อนไหวนี้คือความหลากหลายที่ถูกฟูมฟักปฏิบัติกันมา เฟมินิสต์จึงไม่มีผู้นำด้วยเหตุผลนั้น มันไม่มีสิ่งใดให้เรานำ เราไม่ได้วางแผนเพื่อจะปฏิวัติ เหล่าผู้หญิงกำลังทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ในสถานที่ที่ทำได้ พวกเราไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะพวกผู้หญิงไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชนชั้นหนึ่งที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอีกชนชั้นหนึ่ง เราไม่ได้จินตนาการถึงกองทัพปลดปล่อยผู้หญิงที่ระดมกำลังต่อต้านการกดขี่ของผู้ชาย การมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่ก่อสร้างรัฐบาลขึ้นมาและการใช้วิธีการพวกนี้ก็เป็นเพียงการหนุนมุมมองแบ่งเขาแบ่งเราที่เป็นปรปักษ์กันในชนชั้นทางเพศเท่านั้น การนิยามตัวเองว่าเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่กำลังต่อสู้คนอื่นๆ ด้วยท่าทีที่หวาดระแวงได้แต่เพียงกระตุ้นให้เกิดการปะทะกันอันโหดร้ายและทำให้ต้องแข่งขันต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น การเน้นย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอาจนำไปสู่การตระหนักรู้ตนเองและสิ่งที่เรากำลังทำจนมันเป็นอุปนิสัย ดังนั้นจึงเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของแต่ละคนและทำให้เกิดความขัดแย้ง ก่อนที่เราจะเริ่มทุ่มเทตัวเองกับการแก้ปัญหาเรื่องการกีดกันทางเพศในทางปฏิบัติเสียอีก

IV.

อย่างไรก็ตาม องค์การสตรีแห่งชาติระบุว่า การเรียกร้องสิทธิผู้หญิงนั้นเริ่มขึ้นจากในบ้าน และมักไม่ไปไกลเกินกว่าระดับชุมชน

เหล่าหมอตำแยและแม่มดต่างก็ฝึกวิธีการใช้สมุนไพรและศิลปะในด้านการรักษาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและโดดเด่นในธรรมเนียมประเพณีแบบปัจเจกนิยมของเรา เหล่าสตรีในครอบครัวได้ส่งผ่านข้อมูลต่างๆ อาทิ วิธีตรวจการตั้งครรภ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ วิธีรักษาการติดเชื้อ วิธีห้ามเลือด วิธีป้องกันตะคริว และวิธีบรรเทาอาการปวดต่างๆ นอกจากนั้น เหล่าผู้หญิงยังได้ช่วยเหลือดูแลเด็กๆ และมิตรสหาย โดยไม่ได้เน้นย้ำหลักการเชิงนโยบายของมัน อย่างเงียบเชียบจนบางครั้งก็น่าพิศวง ซึ่งประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ของพวกเธอทำให้เกิดความหวาดหวั่น ความหวาดกลัว และอาจถูกหัวเราะเยาะเย้ย แต่พวกเธอก็ไม่ได้หยุดเพื่อชี้แจงหรือทำให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ลึกลับเข้าไปอีก พวกเธอเพียงแค่ทำมันไปเท่านั้น คำอธิบายอะไรเกี่ยวกับวิธีการผดุงครรภ์ที่ยังคงน่าพิศวงอยู่ ผู้หญิงได้ส่งต่อวิธีเหล่านั้นมาเรื่อยๆ จากแม่สู่ลูกสาว และถูกด้อยค่าไว้เป็นเพียงแค่ ‘เรื่องเล่าของหญิงชรา’

คลื่นการต่อสู้ของขบวนการเฟมินิสต์ในปัจจุบันยังคงรักษาธรรมเนียมแบบปัจเจกนิยมนี้ไว้ โดยมีปัญหาด้านสุขภาพของเหล่าผู้หญิงปรากฏเป็นข้อกังวลหลักที่สำคัญ โดยมีโครงการเล็กๆ ผุดขึ้นทั่วประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ในท้องถิ่น อาทิ ในด้านการทำแท้งที่เหมาะสม การคุมกำเนิด ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ และการรักษาทางการแพทย์ทั่วไป ก่อนหน้านี้เหล่าผู้หญิงมีสิ่งอำนวยความสะดวกจำกัดไม่เพียงพอ หรือต้องพึ่งพาแพทย์แบบ Paternalism (ผู้แปล: แพทย์มีบทบาทเป็นเหมือนผู้ปกครองของผู้ป่วย ผู้ป่วยมีหน้าที่เพียงให้ความร่วมมือ และทำตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าแพทย์จะสั่งอะไรก็ตาม) ซึ่งผู้หญิงกลุ่มใหม่ได้ค้นพบว่า ตนเองสามารถตรวจสุขภาพโดยทั่วไป และให้บริการหลายอย่างที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยหรือไม่เสียเงินเลยด้วยตัวของผู้หญิงเอง 

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของกลุ่มผู้หญิงเพียงหนึ่งกลุ่มที่ทำงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในศูนย์ผู้หญิงในท้องถิ่นของเรา โดยให้บริการต่างๆ เช่น การให้บริการทำแท้งและให้ข้อมูลแก่ชุมชนในทุกๆ วัน ตามความต้องการที่เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองว่าหน้าที่ของพวกเธอคื การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน ประเมินความต้องการของเหล่าสตรี และใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ แน่นอนว่ามีหลายสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า เราสามารถทำได้เองและก็มีสิ่งที่เราต้องขอความช่วยเหลือ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้ง่ายและแจกจ่ายฟรีโดยอาสาสมัครที่ศูนย์ ส่วนการทำแท้งจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ รายชื่อคลินิกรักษาโรคที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกที่สุดและดีที่สุดถูกบันทึกและแจกจ่ายด้วยใบปลิว ขอบเขตและจุดมุ่งหมายของโครงการต่างๆ พวกเธอทั้งหมดนั้นถูกกำหนดโดยความต้องการของประชาชนในบริเวณนั้น พวกเธอยังได้ร่วมมือกับกลุ่มอื่น ๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างกระตือรือร้น แต่ยังไม่มีความตั้งใจจะขยายกลุ่มออกไป เพราะมีหลายสิ่งที่ต้องทำมากมาย ในการวิเคราะห์หรือสร้างนโยบาย ไม่มีแม้แต่เวลาที่จะหยุด และสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเลย

แล้วจากตรงนี้ เราควรจะไปทางไหนกันต่อดี?

แล้วจากตรงนี้ เราควรจะไปทางไหนกันต่อดี? เหล่าเฟมินิสต์มักเพิกเฉยคำถามว่า ‘เพราะเหตุใดและทำไม?’ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในทางทฤษฎีของเหล่าผู้ชาย การเมืองเรื่องเพศของเคท มิลเลต์ (Kate Millet) ถูกนักวิจารณ์ต่างๆ โจมตีอย่างรุนแรง เนื่องจากเรื่องราวในหนังสือทั้งหมดไม่ได้อธิบายในทางทฤษฎีว่า เพราะเหตุใดการกีดกันทางเพศจึงเกิดขึ้น การไม่สนใจอธิบายในทางทฤษฎีของผู้หญิงถูกตีความว่าเป็นข้อบกพร่องอย่างยิ่ง แน่นอนว่าในทำนองเดียวกันนี้ ความคลางแคลงในตรรกะการให้เหตุผล และถูกหลอกให้เชื่ออย่างผิดๆว่า เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้เอง (the Known in the situation) พวกเราเหล่าผู้หญิงไม่สามารถ ‘ถกเถียงได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล’ เราถูกบอกกล่าวมาเช่นนั้น และมันอาจจะจริง เพราะเราหลีกเลี่ยงการโต้เถียงทางวาจาแบบนี้ แต่ความจริงคือ ผู้หญิงไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเกมอย่างแท้จริง ความรู้และการถกเถียง นั้นสัมพันธ์กับเหล่าผู้หญิงราวกับเป็นสิ่งที่แตกต่างจากความสนใจของพวกเธออย่างชัดเจน จนแทบไม่มีการปิดบังความไม่เคารพของผู้หญิงต่อ ต่องานศิลปะประเทืองปัญญานี้เลย ในความเป็นจริง เหล่าผู้หญิงดูเหมือนจะถือว่าความเชื่อของผู้ชายในแนวทางเหล่านี้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในความเชื่อเรื่องโชคลาง เพราะไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์เหล่านี้กับการค้ำจุนรักษาชีวิตอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้หญิงกังวล

โดยพื้นฐานแล้ว อาชีพของเหล่าผู้หญิงนั้นมุ่งเน้นแนวทางเพื่อการอยู่รอด การเก็บรวบรวมทรัพยากร การให้อาหาร จัดการเครื่องนุ่มห่ม และดูแลที่พักอาศัยของเด็กๆ และการตอบสนองต่อความจำเป็นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตของผู้หญิงมีความจำเป็นต้องนำพลังงานไปใช้กับว่า ‘จะทำเช่นไร’ ที่มีรากฐานมาจากความรับผิดชอบในทางปฏิบัติต่างๆ ส่วนการสังเกตและประเมินกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นเปรียบได้กับงานของคนที่ไม่ค่อยได้ทำอะไร และมีความรับผิดชอบน้อยกว่าดังเช่น ผู้ชาย ในทำนองเดียวกันกับมุกตลกเก่าๆ เรื่องหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงการหลงผิดในการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้ชายลงทุนกับงานของเขา : หัวหน้าครอบครัว (ผู้ชาย) ประกาศต่อเพื่อน ๆ ของเขาว่า “ฉันได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ภายในครอบครัวแล้วไม่ว่า จีน (คอมมิวนิสต์) ควรได้รับการยอมรับต่อสหประชาชาติ ส่วนภรรยาของฉันก็จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ เช่น ถ้าเราต้องการรถคันใหม่ แล้วลูกๆ ควรไปโรงเรียนไหน”

เนื่องจากผู้หญิงไม่มีความต้องการคิดข้อสมมติฐานทางทฤษฎีและความหมายโดยนัย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ศิลปะการครอบงำทางวาจา พวกเธอจึงไม่ถูกล่อลวงเข้าสู่กลไกอันซับซ้อนของมันได้อย่างง่ายดาย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งเด็กสาวที่กำลังประเมินโชคชะตาของตนเอง ก็เลือกที่จะไม่ไว้วางใจทฤษฎี ในสถานการณ์ใดๆ โดยอัตโนมัติ (เช่น Lucy ในเรื่อง Peanuts fame)  และอาศัยไหวพริบและสัญชาตญาณขณะนั้นในการแก้ปัญหาทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ผู้หญิงจะเคลือบแคลงในตรรกะการใช้เหตุผลและพิธีกรรมต่างๆ ของมัน เช่นเดียวกับที่คนจนต่างเคลือบแคลงใจในกฎหมายอันซับซ้อนของพวกเรา ซ่อนเงื่อนในปริศนา สถาบันตรรกะและสถาบันกฎหมายก็ทำงานขัดผลประโยชน์ของพวกเขา

ส่วนสิ่งที่ต้องการก็คือ การดูแลความจำเป็นเชิงปฏิบัติต่างๆ ในฐานะผู้หญิง ซึ่งถูกลดทอนคุณค่าอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่มีสิ่งใดที่เราทำถือว่ามีความสำคัญเลย เมื่อการสนทนาของเราเข้าเรื่องผู้คนและปัญหาต่างๆ มันจะถูกด้อยค่าว่าเป็นการนินทาซุบซิบ ในด้านการทำงานของเรา เนื่องจากเป็นงานที่จำเป็นต้องทำซ้ำๆ และมักจะทำที่บ้านเป็นหลัก จึงไม่ถือว่ามันเป็นงาน เมื่อเราขอความช่วยเหลือ มันเรียกว่าการเซ้าซี้จู้จี้ เมื่อเราไม่โต้เถียงอย่างมีเหตุผล ก็เป็นที่มาของเรื่องบันเทิงครั้งใหญ่ และไม่เคยมีใครถามเราว่า เราต้องการไล่ตามภาพจินตนาการของการแข่งขันดังกล่าวตั้งแต่แรกหรือไม่

พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะมองข้อบกพร่องของเราให้เป็นข้อได้เปรียบ ปัญหาพุ่งชนปัญหา ตัวต่อตัวให้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตซึ่งมีรากฐานมาจากสถานการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคล เราต้องเรียนรู้ที่จะให้คุณค่า มากกว่าใช้วิธีแบบเดิมในการรับ “รู้” และเรียนรู้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างชาญฉลาดแทน เราต้องตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เราจึงจะพบตัวเองเราเอง

เฟมินิสต์หมายถึง การค้นหาข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ดั้งเดิม ไม่ใช่การใช้ข้อตกลงดั้งเดิม เพื่อจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ มันเป็นความผิดพลาดของเราที่โต้เถียงว่าการต่อสู้ของเรามันสมควรหรือไม่ จนมันหมายความว่าเราต้องการเข้าร่วม มันชี้ให้เห็นว่า มีการแข่งขันเกิดขึ้นแล้วเรายินยอมเข้าร่วม และต่อมาจะมีผู้ชนะที่เป็นผู้ครอบงำและผู้แพ้ที่ถูกครอบงำ 

การถกเถียงเพื่อการเรียกร้องของเฟมินิสต์ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการร้องทุกข์ ดังชนชั้นที่ไร้ซึ่งอำนาจเรียกร้องขออำนาจ หรือองค์กรประชาสัมพันธ์ (PR) ที่พยายามขายอะไรบางอย่างให้กับผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อ เฟมินิสต์หมายถึง การปฏิเสธข้อกำหนดต่างๆ ทั้งหมดที่เราถูกเสนอให้ได้รับความชอบธรรมในฐานะขบวนการทางสังคมอันน่านับถือ และกำหนดความต้องการที่แท้จริงของเราใหม่เมื่อเราค้นพบมัน ดังนั้นเมื่อการที่เราไม่สนใจในความก้าวร้าว ถูกเรียกว่า ‘ความเฉยเมย’ และการที่เราหลีกเลี่ยงการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ถูกเรียกว่า ‘ความไร้เดียงสา’ พวกเราต้องเห็นดีเห็นงามไปกับคำพูดเหล่านั้นอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นแล้ว จะทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จสิ้นไปได้อย่างไรล่ะ?