by sometimes.DinDeng | Mar 20, 2023 | Articles บทความ, ความคิดเห็น Opinion, ไทย
ต้นฉบับ Comrade S!ink
ผู้อ่านอาจเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า เราควรจะทำอย่างไรต่อหลังจากโซตัสตายแล้ว นอกจากการเฉลิมฉลองต่อความตายของสิ่งที่เป็นเหมือนฐานอำนาจการกดขี่ และ พรากชีวิตผู้คนไปบนความไร้เหตุผลอย่างระบบอาวุโสนิยม ความจำเป็นในการทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวก็ คือ “เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า” เราต้องไม่ลืมว่าระบบอาวุโสนิยมนั้นฝังรากลึกในสังคมไทยมาแสนนาน แม้กระทั่งในระบบภาษา เช่น เราเรียกใครสักคนนึงด้วยคำว่า “พี่” หรือ “น้อง” นำหน้าตามด้วยชื่อบ่อยกว่าการเรียก “นาย” (Mister) “นางสาว” (Miss) แบบที่ชาวตะวันตกเรียกกันซึ่งทางฝั่งเขาดูจะให้ความสำคัญกับการแบ่งแยกเพศมากกว่าอายุ แม้กระทั่งสิ่งของ (Object) เองก็ยังต้องมีการแบ่งเพศในภาษาของชาวยุโรปตะวันตก
สลาวอย ชิเช็ค ชี้ให้เห็นถึงคำถามสำคัญในงานเขียนของเขาอยู่บ่อยครั้งว่า “นอกจากคำถามเรื่องจากปฏิวัติอย่างไรแล้ว คำถามที่สำคัญกว่า คือ หลังปฏิวัติได้แล้วเราจะทำอะไร” เหมือนที่ เลนิน เองก็เคยกล่าวไว้ว่าวันที่ยากที่สุด คือ “วันแรกหลังจากปฏิวัติได้สำเร็จแล้ว” เหมือนที่ นีทเช่ เองก็ตั้งคำถามในทำนองว่า “อะไรจะเกิดขึ้นต่อหลังความตายของพระเจ้า”
ในปัจจุบันกระแสการ Anti-Sotus นั้นค่อนข้างจะเป็นฉันทามติในหมู่เยาวชนหัวก้าวหน้าพอสมควร จะเห็นได้จากการล่มสลายของ “ระบบโต๊ะ” ในธรรมศาสตร์ การล่มสลายของหลายชุมนุมชมรมในรั้วมหาลัย การประกาศกฎหมายปราบปรามการรับน้องโหดอย่างจริงจังในหลายๆ สถาบัน แม้ว่าในปัจจุบันจะยังมีสถาบันศึกษาที่ยังยึดมั่นในระบบโซตัสอยู่ แต่กระแสสังคมจะไม่มีทางหวนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก ในหมู่นักกิจกรรมและผู้คนในฝ่ายประชาธิปไตยก็มักจะใช้สรรพนาม “ผม-เรา กับ คุณ” แทนที่ “พี่-น้อง”
หากเราจะมองเรื่องนี้อย่างมาร์กซิสต์แล้ว เราย่อมต้องมองในกรอบของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์-วิภาษวิธี” หรือก็ คือ ค่านิยม ความเชื่อ จารีต นั้นไม่ได้เกิดจากสุญญากาศ มันล้วนมีสภาพทางวัตถุของสิ่งที่ดูเป็นนามธรรม มันมีเงื่อนไขในการดำรงอยู่ของมัน และ ในทุกๆการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งย่อมมีความขัดแย้งในตัวเอง นอกจากนี้จารีตที่สิงสถิตย์กับผู้คนมาแสนนานจนราวกับเป็น “จิตวิญญาณประชาชาติ” (Volkgeist) ย่อมหยั่งรากลงในระดับจิตใต้สำนึก (อุดมการณ์) จึงเป็นการยากที่จะบอกว่า “แค่ทำเหมือนมันไม่มีจริงเดี๋ยวมันก็หายไปเอง” ได้
เราจึงต้องมาทบทวนกันว่า “อะไรหายไปบ้างพร้อมกับความตายของอาวุโสนิยม ?” ซึ่งเป็นคำถามในตรรกะเดียวกันกับ “ปฏิวัติสำเร็จแล้วจะทำยังไงต่อ ?” เพื่อนำไปสู่ Synthesis ของกระบวนการวิภาษวิธี
ในกรณีนี้
Thesis = Sotus
Anti-Thesis = Anti-Sotus
Synthesis = ?
ในส่วนของ “ข้อเสีย” ของระบบอาวุโสนิยมพวกเราในที่นี้ล้วนแต่ทราบกันเป็นอย่างดี คงไม่จำเป็นต้องแจกแจงมาก โดยคร่าวก็ คือ เป็นอิทธิพลของแนวคิดศักดินา ลำดับชั้น การเล่นเส้นสาย แน่นอนว่านำไปสู่การคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเผด็จการ (ของรุ่นพี่) การลิดรอนสิทธิ (ของรุ่นน้อง) การขวางกั้นเสรีภาพ ฯลฯ
ซึ่งการมองแต่ในด้านที่เป็นข้อเสียนั้นไม่ใช่การมองแบบวิภาษวิธี และ เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่บางสิ่งที่มีเพียงโทษแต่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงจะดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน เราควรมองว่ามันเป็นเครื่องมือทางสังคมแบบนึงที่ “ล้าสมัยแล้ว” แต่สมัยนึงมันย่อมมีประโยชน์เช่นเดียวกับเครื่องมือ (เทคโนโลยี) ทางวัตถุ
ประโยชน์ของระบบอาวุโสนิยม เท่าที่ผู้เขียนจะสังเกตได้ คือ
1. การชี้แนะแนวทางระหว่างผู้มีประสบการณ์มากกว่า แก่ผู้ที่มีน้อยกว่า (ประสบการณ์ในที่นี้ย่อมรวมถึง “ความรู้” ด้วย)
2. ความเมตตา เป็นมิตร เป็นห่วงเป็นใย ความช่วยเหลือเกื้อกูลที่รุ่นพี่มีต่อรุ่นน้อง
3. ความใจเย็น อดทน เข้าใจ ต่อสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรของรุ่นน้อง
ระบบอาวุโสนิยมจึงเป็นการผสมผสานของด้านดีและด้านเสียเหล่านี้ไว้ด้วยกัน ส่วนในมิติทางประวัติศาสตร์ของอาวุโสนิยม ก็มาจากครั้งดึกดำบรรพ์เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่คนไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ “ความรู้” ไม่ว่าจะในทางการใช้ชีวิต ประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ ทำอาหาร ทำยารักษาโรค หรือ การพัฒนาสุขภาพร่างกายจิตใจ ล้วนแต่ผูกขาดอยู่กับ “ผู้อาวุโส” ดังนั้นการเชื่อฟังผู้อาวุโสย่อมหมายถึงความรอดชีวิตทั้งในเชิงรูปธรรม และ นามธรรม
แต่เทคโนโลยีที่เรียกว่า “อาวุโสนิยม” ถูก disrupted ด้วยสื่อสิงพิมพ์รวมไปถึงสื่อออนไลน์ทำให้ทรัพยากรความรู้ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ที่ผู้อาวุโสอีกต่อไป ทำให้ความเสื่อมสลายของอาวุโสนิยมได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของแนวคิดปัจเจกนิยม (Individualism) ก็เปรียบเสมือนการสาดน้ำเย็นใส่สังคมศักดินามุขปาฐะให้ตื่นขึ้นแต่ในขณะนี้ยังอยู่ในสภาวะช็อคจนรวมตัวไม่ติดกันอยู่
ทั้งนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับ เรอเน่ เดสการ์ต ที่บอกว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” หรือแนวคิดต่างๆ ที่มองว่าแก่นสารของความเป็นมนุษย์นั้นอยู่ที่ความรู้ ความคิด ความเข้าใจเท่านั้น หากแต่มนุษย์มีเลือดเนื้อและจิตใจ มีอีกหลายอย่างที่ “หนังสือ” ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์ต่อมนุษย์อีกคนได้
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้และอนาคตอาจเป็นสังคมในอุดมคติของพวกเสรีนิยมปัจเจกนิยม ที่ผู้คนหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเอง รักษาระยะห่างต่อกันในความสัมพันธ์ วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไร้เยื่อใย ความยากลำบากในการก่อรูปองค์กร, ขบวนการ หรือแม้แต่ชุมนุมชมรมในมหาลัย
แต่สิ่งที่ไม่ได้นำไปสู่ความก้าวหน้าแก่สังคมแต่อย่างใด เพราะ “ปัจเจกอันมีเสรีภาพส่วนบุคคล” เหล่านี้ไม่สามารถจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองต่อรัฐได้ เป็นได้เพียง “ปลาในบ่อ” ของพรรคการเมืองที่มีหน้าที่รอไปกาบัตรเลือกตั้ง ระหว่างรอก็คอยจับผิด ทะเลาะเบาะแว้งกันเองในเรื่องที่ไม่สำคัญ จนเป็นที่ขบขันของฝ่ายขวา
สิ่งนึงที่เห็นได้ชัดของการ “ขาดความเมตตา” ต่อคนที่มีความรู้น้อยกว่าก็ คือ ปฏิกิริยาของ “คนหัวก้าวหน้า” ที่มีต่อคนที่มีความรู้ทางการเมืองต่ำกว่าตนในโลกออนไลน์มักจะเป็นไปในท่าทีของการเหยียดหยามกึ่งสั่งสอนว่าคนพวกหลังเป็นพวก “ไร้การศึกษา” ดังนั้นจึงต้องโดน “เอ็ดดูเขต” โดยท่าทีเหล่านี้แม้จะดูเหมือนหมายถึง “การศึกษาภาคบังคับ” แต่ในความเป็นจริงสถาบันการศึกษาภาคบังคับหากไม่ใช่สายมนุษย์ศาสตร์-สังคมศาสตร์ก็ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องก้าวหน้าๆ ทางการเมืองไว้ในหลักสูตร
นัยของการเหยียดหยามดูแคลนเหล่านี้แท้จริงจึงหมายถึงการ “ไม่อ่านหนังสือ”
ในเมื่อ “หนังสือ” หรือ “อินเทอร์เน็ต” เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นจากภาครัฐจึงมีความคาดหวังลึกๆ ว่าปัจเจกพึงอ่านหนังสือกันเอาเองได้ ในเมื่อฉันทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้เหมือนกัน! ซึ่งหากเรามองกลับไปในประวัติศาสตร์แล้วทางซีกโลกตะวันตกที่เรารับเอาวัฒนธรรมลิเบอรัลมา ก็ได้มีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ของ “โยฮันเนิส กูเทินแบร์ค” ทำให้การผลิตหนังสือแบบ Mass production เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 และต่อมาเมื่อมีการเกิดขึ้นของศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักร (ซึ่งก็รวมถึงอำนาจในการ “ตีความ” พระคัมภีร์) ก็ได้เสนอหลักการอันเป็นมรดกตกทอดมายังแนวคิดเสรีนิยมทุกวันนี้ นั่นคือหลักการ “sola scriptura” ที่หมายถึง “เพียงพระคัมภีร์ก็เพียงพอ” ปัจเจกไม่จำเป็นต้องเข้าถึงพระเจ้าผ่านตัวกลางที่เป็นมนุษย์อันมีลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็น บิช็อป คาร์ดินัล โป๊ป ฯลฯ แต่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยตรงผ่านการอ่านพระคัมภีร์
เมื่อเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนก็เปลี่ยนตาม พระคัมภีร์ไบเบิลจึงกลายเป็น “หนังสือที่ต้องมีทุกบ้าน” แนวคิดของการ “แยกห้องนอน” หรือ “พื้นที่ส่วนตัว” ก็เกิดตามมาเพื่อให้ปัจเจกมีที่เงียบๆ ไว้อ่านหนังสือ (ไบเบิล) จึงไม่แปลกใจที่คำด่าคนโง่ของชาวตะวันตกและชาวไทยหัวใจตะวันตก จะเป็นแนว “ไอ้พวกไร้การศึกษา” มากกว่า “ไอ้พวกพ่อแม่ไม่สั่งสอน”
ในขณะที่ราชอาณาจักรไทยเราที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในทางพฤตินัย ไม่ใช่ทุกบ้านจะมี “พระไตรปิฎก” และชาวพุทธน้อยคนนักที่จะเคยอ่านพระไตรปิฎก และน้อยลงไปอีกที่จะหาคนอ่านพระไตรปิฎกจบเล่ม ก็เป็นได้ว่าสาเหตุที่ผู้คนอ่านพระไตรปิฎกน้อยอาจเพราะมันยาว และ หนากว่าไบเบิลมาก แถมสำนวนภาษายังวกวน แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบ “อาจาริยวาท” หรือการถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาฐะ (ปากต่อปาก) โดยชาวพุทธไทยนั้น “สนิท” กับพระเกจิอาจารย์ต่างๆ มากกว่าธรรมะจากพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฏก ช่วงก่อนมีอินเทอร์เน็ตยังมีคำกล่าวกันว่า “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกินปีละ 8 บรรทัด” ซึ่งต่อให้มีอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้การอ่านง่ายขึ้นแล้ว แต่เพราะพวกเรา (อันหมายถึงผู้คนในซีกโลกใต้ด้วย) ไม่เคยชินกับวัฒนธรรมการอ่าน ก็ทำให้สกิลการจับประเด็น การอ่านแนววิพากษ์ การเรียบเรียง และ จัดระเบียบองค์ความรู้ไม่แข็งแรงพอจะรองรับข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาอย่างกะทันหันจากโลกอินเทอร์เน็ต
ที่กล่าวมาผมไม่ได้จะดูถูกคนไทยว่าเป็นพวก “ไร้การศึกษา-ล้าหลัง” หรือ เสนอแบบพวกสลิ่มว่าต้อง “ต่อต้านอะไรก็ตามที่ไม่ไทย” หากแต่จะชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางวัฒนธรรมที่อาจถูกลืมเลือน ในการไปสู่ Synthesis ก็อาจเป็นได้ทั้ง
- ทำอย่างไรให้คนไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงแบบชาวตะวันตก
- ทำอย่างไรให้การถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาฐะ หรือ ถ่ายทอดด้วยภาพ, เสียง มีประสิทธิภาพขึ้น
- ทำอย่างไรให้เกิดจิตสำนึกของผู้ใหญ่ (ไม่ใช่เพียงเรื่องอายุแต่หมายถึงการถือไว้ซึ่งอำนาจเหนือกว่าในทุกรูปแบบ) มีน้ำใจ, มีความเมตตา และ รู้สึกมี “ความรับผิดชอบ” ต่อผู้น้อย โดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการไปกดทับ-ขูดรีดผู้อื่น
ผมตั้งใจว่าบทความนี้จะไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการนำทฤษฎีชาวตะวันตกมาปรับใช้กับสภาพทางวัตถุ – ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการใช้สร้างเสริมขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้มีความเข้มแข็งสืบไป
เพิ่มเติมจากผู้เขียน :
ปล.1 ในบทความนี้ผู้เขียนใช้คำว่า “โซตัส” ในความหมายของ “ค่านิยมอาวุโสนิยม” อาจไม่กินความหมายครอบคลุมถึง “โซตัส” ในการรับน้องมหาลัยซึ่งไม่ใช่ระบบอาวุโสนิยมเดี่ยวๆแต่เป็นระบบอาวุโสนิยม + ความเป็นฟาสซิสต์ซึ่งจะเพิ่มเติมข้อเสียเรื่องการเกลียดชังความแตกต่าง การบังคับให้เชื่อง ความทารุณทางร่างกายและจิตใจ รุ่นพี่ถูกเสมอไม่ว่ากรณีใดๆ เข้ามาด้วย จึงเป็นคำถามสำคัญอีกอย่างที่ควรพิจารณาว่าระบบอาวุโสนิยมแบบไทยๆ กับ “ระบบโซตัส” ที่เป็นของนำเข้าจากนักเรียนโรงเรียนกินนอนประเทศอังกฤษนั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอย่างไร
ปล. 2 หากจะโฟกัสที่โซตัสในความหมายของการรับน้อง ก็จะเห็นฟังก์ชันอย่างนึงที่พ้นไปจากความเป็นอาวุโสนิยมเดี่ยวๆ คือ เป็นเครื่องมือที่สลายความคิดแบบปัจเจกนิยมทำให้เกิดความเป็นคอมมูนขึ้นได้จากเด็กปี 1 ที่ต้องเริ่มหาเพื่อนใหม่ในมหาลัยฯ การรับน้องโหดมีปฏิบัติการณ์ คือ “สร้างสถานการณ์ที่รู้สึกกดดัน,อันตรายขึ้นมาเพื่อให้ผ่านเหตุการณ์นั้นไปร่วมกัน” ซึ่งเรื่องนี้จะมีคำอธิบายแนวประสาทวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อสถานการร์แนว “ลำบากไปด้วยกัน” ได้หายไปแน่นอนว่ามีข้อดีในเรื่องการละเมิดสิทธิและใช้อำนาจกดขี่น้อยลง และ ผู้เขียนเองก็ไม่ประสงค์ให้รื้อฟื้นระบบล้าหลังนี้กลับมาใช้ แต่ก็ทำให้กระบวนการสร้างคอมมูนยากขึ้น คำถามสำคัญของเรื่องนี้ไม่ใช่การเลือกระหว่าง “คอมมูนแบบล้าหลัง” หรือ “ปัจเจกนิยมต่างคนต่างไป” แต่คือการสร้าง “คอมมูนที่ก้าวหน้า ที่ทุกคนล้วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนสร้างสรรค์โดยไม่กีดกันความแตกต่าง หรือ การใช้อำนาจเผด็จการ”
เสรีภาพนั้นมาพร้อมกับความวิตกกังวล เพราะเราต้อง “เป็นผู้เลือกเอง” ซึ่งการละเลยมิติด้านลบของเสรีภาพปัจเจกบุคคลเคยมีให้เห็นในประวัติศาสตร์ของไวมาร์เยอรมัน ที่เมื่อสังคมถูกครอบงำด้วยปัจเจกนิยมและไม่สามารถสร้างคอมมูนที่ก้าวหน้าขึ้นมาได้ ผู้คน “ลิเบอรัลหัวก้าวหน้า” ที่กำลังหลงทางในขณะนั้นเลือกยอม “ทิ้งเสรีภาพของตัวเอง” เพื่อเข้าร่วมกับพรรคนาซี
การละเลยความจำเป็นในการสร้างคอมมูนที่ก้าวหน้าจึงไม่ต่างอะไรกับการแผ้วถางทางสำหรับการกลับมาใหม่ของฟาสซิสต์ หรือ ระบบโซตัส ที่อันตรายยิ่งกว่าเดิม
by sometimes.DinDeng | Mar 17, 2023 | Articles บทความ, ทฤษฎี Theory, แนะนำ Introducing, ไทย
ปัญหาเรื่องทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นปัญหาที่สำคัญมากในหมู่ฝ่ายซ้าย เพราะตรงข้ามกับฝ่ายขวา นักสังคมนิยมจะพยายามทำความเข้าใจสังคมก่อนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง กล่าวสั้น ๆ ก็คือ ทฤษฎีคือการต่อยอดความเข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรามีพลวัตอย่างไร โดยเฉพาะในระดับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน การปฏิบัติคือการกระทำไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตามที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งรอบข้าง ซึ่งจะอิงมาจากทฤษฎีหรือไม่ก็ได้
นักสังคมนิยมทุกเฉดล้วนล้มเหลว ปรับตัว ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในความพยายามที่จะยกระดับการต่อสู้ทางชนชั้นและการปลดปล่อย ความสำเร็จและความล้มเหลวเหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวพ้นไปจากระบบทุนนิยม แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องวิเคราะห์สภาวการณ์ปัจจุบันของเราเองรวมไปถึงความพยายามเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต (ทฤษฎี) และปฏิบัติตามทฤษฎีนั้น (การปฏิบัติ) องค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวร้อยกันเป็นแกนหลักของการก้าวไปสู่สังคมนิยม โดยทั้งสองจะพัฒนากันและกันอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐศาสตร์การเมืองและการวิเคราะห์ชนชั้น
ทฤษฎีสังคมนิยมพิจารณาเงื่อนไขทางวัตถุอย่างละเอียดก่อนที่จะระบุ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ (historical agent of change) (คนที่จะนำการปฏิวัติ) ในบรรดาสังคมอุตสาหกรรมของซีกโลกเหนือ (Global North) ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงมักถือกันว่าเป็นกรรมาชีพในเมืองที่ทำงานในโรงงาน นักเขียนอย่างมาร์กซ์มองว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถโค่นล้มระบบทุนนิยมและพวกกระฎุมพีลงได้ คำกล่าวนี้ค่อนข้างแม่นยำ เช่นในการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ดี ในขณะที่การปฏิวัติเกิดขึ้นในซีกโลกใต้ (Global South) ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม คอมมิวนิสต์ก็มักจะถือกันว่า ชาวนาเป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ ในการปลดปล่อย เช่นในการปฏิวัติจีนเมื่อปี ค.ศ. 1949
ในทั้งสองกรณี มีการวิเคราะห์และชี้ให้เห็นถึงทฤษฎีการปฏิวัติ จากนั้นจึงมีการลงมือจัดการบริหารและเดินหน้าปฏิวัติ ซึ่งก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป เช่นในกรณีของการปฏิวัติรัสเซียที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1905 อย่างไรก็ตาม นักปฏิวัติได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นและพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ของพวกเขา ทฤษฏีนำไปสู่การปฏิบัติ ตามมาด้วยทฤษฏีใหม่ นำไปสู่การปฏิบัติใหม่อีกที เป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
ในขณะที่นักสังคมนิยมทุกเฉดล้วนแล้วแต่มีจุดหมายเดียวกัน นั่นก็คือสังคมไร้ชนชั้น ทว่าหนทางไปสู่สังคมที่ว่านี้ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งและทางตัน จะต้องมีการวิเคราะห์บทบาทของรัฐ ชนชั้นกลาง ลัทธิชาตินิยม รวมไปถึงศาสนา เพื่อพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุปสรรคที่เข้ามาขัดขวางจิตสำนึกการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของสิ่งเหล่านี้ในการผลิตซ้ำระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยม และสำคัญที่สุดก็คือ ยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติที่จะนำพาชนชั้นแรงงานและชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว
ความเข้าใจทางทฤษฎีเกี่ยวกับระบบทุนนิยมและระบบอาณานิคม ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นผ่านการสังเกต การค้นคว้า และการประยุกต์ใช้ร่วมกัน ถูกนำมาใช้จัดตั้งคนงานหรือชาวนาให้กลายมาเป็นกองกำลังทางการเมือง นักจัดตั้งและพรรคการเมืองสังคมนิยมชี้ให้เห็นถึงความแปลกแยกทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่คนงานและชาวนาต่างประสบอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างสหภาพแรงงานและสภาที่ต้านทานการขูดรีดผู้คนและยกระดับผลประโยชน์ของพวกเขา ในประเทศลูกอาณานิคม ขบวนการชาตินิยมกลายมาเป็นจุดสนใจ โดยการขบถของชาวนาไม่สามารถโค่นล้มระบบศักดินาได้ และระบอบกษัตริย์กับชนชั้นแรงงานยังเพิ่งเริ่มก่อรูปก่อร่างเท่านั้น
กลยุทธ์และพันธมิตร
กลยุทธ์ในการจัดการบริหารแบบสังคมนิยมจะต้องคำนึงถึงการตัดสินใจอันยากเย็นเมื่ออยู่ในภารกิจ เมื่ออยู่ในการประจันหน้าทางสังคมใด ๆ ก็ตาม ต้องสามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าใครคือพันธมิตรและใครคือศัตรู รวมไปถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของพวกเขา ทฤษฎีช่วยให้สามารถประเมินได้ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจและไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของพันธมิตร และชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ของศัตรูด้วย ในความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มก้อนพลังของฝ่ายเรามีจำนวนน้อยกว่าหรือมีอำนาจทางสังคมน้อยกว่า การทำงานร่วมกับองค์กรแนวเสรีนิยม แนวสายกลาง หรือแม้แต่แนวอนุรักษ์นิยมก็จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน การรวมพันธมิตรที่ไม่ได้ผ่านการคิดหน้าคิดหลังอาจทำลายการเคลื่อนไหวหรือแม้กระทั่งทำให้พวกเขาติดคุกและถูกสังหารได้ เห็นได้จากการลุกฮือของกรรมกรและชาวนาในอดีตที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในสมัยศักดินา การลุกฮือของชาวนาจะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าที่ดินที่เป็นคู่แข่งซึ่งอยู่ในพื้นที่อื่น ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ของเจ้าที่ดินเหล่านั้นมากกว่าตัวชาวนาเอง
ทุกวันนี้ นักจัดตั้งแรงงานจะต้องชั่งน้ำหนักพลังและความสามารถของคนงานในการเริ่มและรักษากระแสการหยุดงานประท้วงหรือการดำเนินการทางอุตสาหกรรมเพื่อต่อต้านการลวงให้ตกลงปลงใจกับอะไรพื้น ๆ ตัวอย่างเช่น ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน บางครั้งคนงานจำนวนมากเต็มใจที่จะประนีประนอมกับนายจ้างของตน ในขณะที่นักจัดตั้งที่ใช้ทฤษฎีนำเป็นหลักจะมุ่งมั่นผลักดันการดำเนินการทางอุตสาหกรรมต่อไป ตรงนี้เองที่เราจะเจอหนึ่งในความขัดแย้งมากมายของทฤษฎีและการปฏิบัติ ทฤษฎีสังคมนิยมบอกเราว่าจะไม่มีการประนีประนอมกับชนชั้นกระฎุมพี ทว่านี่อาจขัดแย้งกับความเร่งด่วนในการบรรเทาความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ ในกรณีนี้ คนงานในโรงงานจะเต็มใจประนีประนอมกับนายจ้างกระฎุมพีเพื่อให้ได้กลับไปทำงานและมีรายได้ให้เร็วที่สุด แม้เราจะตีความตามทฤษฎีว่า คนงานมีศักยภาพที่ไม่ใช่แค่การเรียกร้องในสิ่งที่ดีกว่า แต่รวมไปถึงการยึดปัจจัยการผลิตทั้งหมดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นเรื่องของการรอมชอมทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ศักยภาพทางทฤษฎีในการปลดปล่อยและความเป็นจริงในทางปฏิบัติของการจัดการการปลดปล่อยดังกล่าว
ลัทธิยึดคัมภีร์และการปรับใช้กับสภาพท้องถิ่น
แม้อุดมการณ์วัตถุนิยมจะมีพื้นฐานที่หยั่งรากมาอย่างดี ทว่าบางครั้งเราเองก็อาจจะยึดติดกับคำพูดของมาร์กซ์ เลนิน ทรอตสกี้ หรือนักเขียนคนอื่น ๆ มากไปเหมือนกับว่าพวกเขาเป็นศาสนา เหมือนกับสาวกของศาสนาที่มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ คำกล่าวจากเมื่อ 100 ปีที่แล้วอาจถูกนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของปัจจุบัน ในกรณีของมาร์กซ์ สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า เขาวิเคราะห์สภาพสังคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเป็นหลัก การตีความของมาร์กซ์ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดของการต่อสู้และความแตกแยกมากมายในขบวนการสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ นักมาร์กซิสต์จำนวนมากในปัจจุบันยังคงต่อสู้ทางความคิดด้วยความที่ว่ามาร์กซ์ได้ทำพลาดเนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่เพียงจำกัดหรือไม่ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด นอกจากนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบทุนนิยมของพวกเราก็ได้พัฒนาต่อยอดมาจากยุคสมัยของเขาด้วย และเราจะต้องพัฒนาทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของเรา
ชัยชนะของการปฏิวัติรัสเซียและการก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้เปิดประตูไปสู่การแช่แข็งทฤษฎีและการปฏิบัติในรูปแบบใหม่ ๆ สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของสตาลินได้เริ่มปรับเปลี่ยนทฤษฎีให้เข้ากับประสบการณ์การปฏิวัติและเข้ากับสังคมใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมา พรรคคอมมิวนิสต์หลายพรรคก็ดำเนินตามแนวทางโซเวียต ซึ่งส่งผลให้พวกเขาสูญเสียความนิยมในหมู่ผู้ถูกกดขี่เนื่องจากพวกเขาพยายามนำทฤษฎีและการปฏิบัติในบริบทของรัสเซียมาใช้กับพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีกโลกใต้ (Global South) มีการถอดแบบไปใช้แบบเหมือนกันเป๊ะ ๆ บางครั้งก็แทบไม่ได้คำนึงถึงสภาพท้องถิ่นของตัวเอง เหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนำลัทธิเหมาของจีนมาใช้ แม้กระทั่งหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายและคอมมิวนิสม์ในยุโรปล้มเหลว นักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์จากซีกโลกเหนือทุกวันนี้ก็ยังคงวิเคราะห์และวางยุทธศาสตร์โดยไม่ได้ยึดโยงกับสภาพความเป็นจริงของซีกโลกใต้เลย
การนำทฤษฎีไปปฏิบัติ
ทุกวันนี้ หลาย ๆ สังคมดำรงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใต้บริบทระบบทุนนิยมโลกอันใหญ่ โดยในแต่ละพื้นที่ก็มีการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันและมีความขัดแย้งในท้องถิ่น บางแห่งมีทุนนิยมและระบอบกษัตริย์ไปพร้อม ๆ กัน บางแห่งมีความสัมพันธ์แบบกึ่งศักดินาในชนบทและมีทุนนิยมในเมือง ทั้งหมดนี้จะสื่อว่า ระบบทุนนิยมในแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคม ทฤษฎีที่พัฒนาขึ้นเพื่อต่อกรกับระบบก็ควรต้องมีลักษณะเฉพาะสำหรับแต่ละสังคมเช่นกัน แน่นอนว่าจะต้องพิจารณาลักษณะกว้าง ๆ บางอย่างอย่างเมื่อวิเคราะห์ระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบโลกอันใหญ่ แต่ลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นก็สำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์สังคมนิยมในแต่ละสังคมเช่นกัน
การพัฒนาทั้งทฤษฎีและการปฏิบัตินั้นจำเป็นอย่างมากสำหรับนักสังคมนิยมทุกเฉด แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องตระหนักไว้ว่า ทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติต่างก็เป็นพื้นฐานของกันและกันเสมอ ทฤษฎีหรือการปฏิบัติ สิ่งใดจะมาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของช่วงเวลาและความรู้สึกของมวลชนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลง
by sometimes.DinDeng | Mar 8, 2023 | Articles บทความ, สตรีนิยม Feminism, ไทย
ต้นฉบับ: Feminism as Anarchism – Lynne Farrow
ผู้แปล: สหายเห็ดนางฟ้า สหายผู้ได้มา สหายคอมบ์เบรกเกอร์ สหายเข็มหมุด
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1974 (พ.ศ. 2517) น่าแปลกที่ผ่านมาเกือบ 50 ปีแล้ว หลายประเด็นในบทความนี้ยังคงทันสมัยอยู่ ทุกวันนี้เราได้เห็นโฉมหน้าค่าตาและได้ยินเสียงของกลุ่มผู้ถูกกดขี่หลากหลายมากขึ้นมาก คนดำในบริบทในบทความ อาจหมายถึงคนชาติพันธุ์ คนพม่า แรงงาน เพศหลากหลาย คนในสลัม คนไร้บ้าน ผู้พิการ เควียร์ หรือเด็กในบ้านเรา *ในวันนี้* “ผู้หญิง” ในบทความก็คือกลุ่มคนที่กำหนดว่าตนเองเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะมีเพศกำเนิดอะไร เราได้เห็นการต่อสู้ในระดับประเทศ หลายประเภท ระดับโลกมากขึ้น ซึ่งต่างจากในบทความ งานชิ้นนี้อาจต้องอ่านโดยคำนึงถึงระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปี ครุ่นคิดถึงความเหมือนและความต่างของมัน นอกจากเข้าใจการกดขี่ขนานใหญ่แล้ว เราได้ตรวจสอบการกดขี่ทางเพศในขบวนการบ้างไหม? เราได้ฟังกันอย่างหลากหลายและใส่ใจอย่างเพียงพอรึเปล่า? หรือไม่ว่าในขบวนการไหน บางเพศ บางรูปแบบการเคลื่อนไหว ก็ยังเป็นใหญ่และเบียดขับการเคลื่อนไหวอื่นด้วยเหตุผลของการต่อสู้อยู่ดี …
I.
แนวทางขบวนการเฟมินิสต์ปฏิบัติในสิ่งที่อนาคิสต์ป่าวประกาศ บางคนถึงขั้นกล่าวว่า เฟมินิสต์คือขบวนการที่มีลมหายใจสุดท้ายที่สามารถขานเรียกตนเองว่ากำลังปฏิบัติการแบบอนาคิสต์ได้ หนึ่งเพราะผู้หญิงทุ่มเททำงานให้กับโครงการบางอย่างเป็นการเฉพาะ เช่น คลินิกทำแท้ง หรือศูนย์เด็กเล็ก และสอง แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนใหญ่แล้วพวกเธอไม่ยอมวุ่นอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองที่แบ่งขั้วซ้าย-ขวา และปฏิรูป-ปฏิวัติ
อย่างไรก็ตาม ความใส่ใจของพวกเธอต่อโครงการเหล่านี้และกิจกรรมที่ดูไม่การเมืองของผู้หญิงกลับกลายเป็นภัยคุกคามต่อฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และประวัติศาสตร์ของเฟมินิสต์ก็กล่าวถึงการที่ข้อเรียกร้องของพวกเธอถูกมองข้าม ถูกใช้ทั้งในกระบวนการกฎหมายจากกลุ่มการเมือง และในทางทฤษฎีจากฝ่ายซ้าย การถูกใช้และถูกกลืนนี้ทำให้เราละเลยที่จะตั้งคำถามสถานการณ์ของเฟมินิสต์ และตั้งคำถามว่าอะไรคือยุทธศาสตร์สำคัญในการเปลี่ยนแปลง
ไฟแห่งการปลดแอกสตรีปะทุขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1840s ท่ามกลางการรณรงค์เลิกทาสของฝ่ายเสรีนิยมที่ร้อนระอุ กลุ่มผู้หญิงฝีปากกล้าในขบวนการควาเกอร์ (Quaker) ออกปราศัยต่อต้านระบบถือครองทาสทางตอนใต้ และตระหนักว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเธอเรียกร้องเพื่อคนผิวดำ ก็คือสิทธิที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับเช่นกัน เมื่อนั้น ลูซี สโตน (Lucy Stone) และ ลูเครเทีย มอตต์ (Lucretia Mott) สองนักรณรงค์เลิกทาสผู้กล้าหาญได้สอดแทรกหยิบยกแนวคิดเฟมินิสต์บางประการมาประกาศกร้าวท้ายบทปราศัย สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ชาวเสรีนิยมผู้ร่วมขบวนการไม่น้อย อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้หญิงเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นภัยต่อขบวนการ ตราบใดที่พวกเธอเจียมตน และตระหนักถึงข้อเรียกร้องที่สำคัญและ “จริงจัง” กว่าข้อเรียกร้องอื่นในขบวนการ
ต่อมา ในปี 1842 การประชุมต่อต้านระบบทาสสากล (World Anti-Slavery Convention) ถูกจัดขึ้นในลอนดอน ผู้หญิงอเมริกันพร้อมกับนักรณรงค์เลิกทาสคนอื่นๆ อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเข้าร่วม เพียงเพื่อจะพบว่าไม่เพียงแต่ผู้หญิงจะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมในขั้นตอนการพิจารณาต่างๆ แต่เลวร้ายกว่านั้น พวกเธอยังถูกกีดกันออกจากงานพบปะมวลชน ลูเครเทีย มอตต์ และ อลิซาเบธ เคดี้ แสตนตัน (Elizabeth Cady Stanton) จึงแสดงความไม่พอใจต่อความหน้าไหว้หลังหลอกของการประชุมต่อต้านระบบทาสที่ชาวเสรีนิยมจัดขึ้น ที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของผู้หญิง จนพวกเธอถอนตัวกลับไปยังอเมริกา และจัดตั้งขบวนการเพื่อการปลดแอกผู้หญิงในเวลาต่อมา
การประชุมสิทธิของผู้หญิงครั้งแรกจึงถูกจัดขึ้นในปี 1848 ณ เซเนคา ฟอลส์ นครรัฐนิวยอร์ค (Seneca Falls, New York) ที่การประชาสัมพันธ์เพียงสามวันในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็ดึงดูดผู้หญิงจำนวนมากมาเข้าร่วมจนท่วมโบสถ์ที่จัดประชุม ในช่วงท้ายของการประชุมสัญจร พวกเขาได้ร่าง คำประกาศว่าด้วยหลักคิดและสิทธิสตรี (Declaration of Rights and Sentiment) ที่ดัดแปลงมาจาก คำประกาศอิสรภาพ ที่มุ่งเรียกร้องต่อผู้ชายมากกว่าพระเจ้าจอร์จแห่งเกาะอังกฤษเสียอีก หลังจากการประชุมครั้งนั้นที่ถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการสิทธิของผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ขบวนการเฟมินิสต์เรียกร้องต่อสู้เรื่องกฎหมายกรรมสิทธิ์ผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมอื่นๆ ขึ้นมาในเวลาไม่นาน
เฟมินิสต์อเมริกันเริ่มได้รับการสนับสนุนทีละเล็กละน้อย จนทำให้ฝ่ายเสรีนิยมหวั่นวิตกว่าผู้หญิงเหล่านี้จะทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับประเด็นของผู้หญิงมากกว่าประเด็นหลักของตนในเวลานี้อย่างการเลิกทาส พวกเขาเน้นย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือ “ช่วงเวลาสำคัญของนิโกร (the negroes’ hour)” และผู้หญิงไม่ควรนึกถึงแต่ความต้องการของตัวเองในช่วงเวลาสำคัญแบบนี้ เมื่อสงครามกลางเมืองใกล้เข้ามา วิวาทะดังกล่าวเปลี่ยนจากการต่อรองอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย สู่การสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองบนความเดือดดาล เช่น “ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ถึงไม่สละตนเพื่อการต่อสู้ของคนในประเทศ แต่กลับอุทิศตนให้แก่แนวคิดเฟมินิสต์ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้” ดังนั้น ตามหลักความถูกต้องของขบวนแล้ว เฟมินิสต์ทุกคนในอเมริกาจึงควรวางจิตสำนึกเฟมินิสต์ของตนลงก่อน และสนับสนุนความต้องการของขบวนการเสรีนิยมในขณะนั้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อสงครามกลางเมืองจบลงและคนผิวดำได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงจะได้รับสิทธิเหล่านั้นด้วย
ณ ตอนนั้น ซูซาน บี แอนโทนี (Susan B. Anthony) นักรณรงค์เลิกทาสผู้เด็ดเดี่ยว คือเฟมินิสต์เพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการให้ความร่วมมือกับหลักการของกลุ่มเสรีนิยม เธอยังคงขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของผู้หญิงอย่างเปิดเผย แม้ว่าผู้สนับสนุนของเธอจะลดลง และย้ายค่ายไปสนับสนุนกับนักรณรงค์ต่อต้านการเลิกทาสคนอื่นก็ตาม เธอเชื่อมั่นว่า การต่อสู้ทั้งสองสามารถดำเนินไปพร้อมกันได้ และหากละทิ้งการต่อสู้ของผู้หญิงไป หลังสงครามข้อเรียกร้องของผู้หญิงก็จะถูกลืม ซึ่งสิ่งที่เธอทำนายไว้ก็เป็นจริง เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ว่าด้วยสิทธิพลเมือง (14th Amendment) ถูกเสนอเรื่องขึ้นสภาครองเกรซ สิทธิของผู้หญิงไม่เพียงแต่ไม่ถูกกล่าวถึงแล้ว แต่ยังถูกกีดกันด้วย จึงเป็นครั้งแรกที่คำว่า “ชาย” ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างกระจ่างแจ้งว่า คำดังกล่าวสื่อถึง “เพศชาย” เท่านั้น
การทำลายล้างการวางรากฐานความเท่าเทียมทางเพศครั้งใหญ่นี้ยังขัดขวางการเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่ตามมา จนกระทั่งเกือบร้อยปีต่อมา ในปี 1913 เมื่อกลุ่มผู้หญิงบริติชจัดตั้งกองกำลังที่วางระเบิด และเผาอาคารสถานที่ อลิซ พอล (Alice Paul) หญิงชาวอเมริกันจากกลุ่มควาเกอร์ผู้กระตือรือร้น เดินทางมาศึกษา ณ เกาะอังกฤษ แต่มาร่วมหัวจมท้ายกับกลุ่มแพนเคิร์สตส์ (Pankhursts) ชื่อกระฉ่อน เธอกลับไปยังสหรัฐอเมริกาพร้อมกับความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะคืนชีพขบวนการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงอีกครั้ง ไม่นานหลังจากนั้น เธอจึงชักชวนสมาพันธ์สิทธิการเลือกตั้งสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Suffrage Association) ที่หยุดเคลื่อนไหวไป ให้กลับมารณรงค์เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในวอชิงตันอีกครั้ง
ในเวลาอันสั้น ความฉลาดปราดเปรื่องในการจัดตั้งและการวางกลยุทธของ อลิซ พอล ทำให้เธอสามารถสร้างขบวนการที่รวมการต่อสู้หลากหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน การต่อสู้ที่เห็นผลที่สุดคือการนำป้ายประท้วงประณามจุดยืนอำนาจนิยมของประธานาธิบดีวิลสันที่ต่อต้านสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในขณะที่เขากำลังอภิปรายเรื่องประชาธิปไตยออกอากาศ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งใกล้เข้ามา แล้วขบวนการเฟมินิสต์ก็กำลังจะถูกละเลยอีกครั้ง
กลุ่มผู้รักสันติภาพ (pacifist) หรือขบวนการต่อต้านสงครามประกาศกับผู้หญิงให้วางข้อเรียกร้องของตนลงก่อนชั่วคราวและเข้าร่วมการเรียกร้องสันติภาพ ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนสงครามซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ถากถางผู้หญิงว่าละทิ้งประเทศในยามวิกฤต นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้หญิงนับพันถูกบังคับให้ละทิ้งขบวนการเฟมินิสต์และไปช่วยเหลือกลุ่มการเมืองของตน ทว่า ยังมีผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งอย่าง พรรคสตรีแห่งชาติ (National Woman’s Party) ที่ยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งตลอดมา
II.
ไม่ง่ายเลยที่จะบอกว่าฝ่ายไหน ซ้ายหรือขวา ที่เป็นผู้บดบังความพยายามต่างๆ ของเฟมินิสต์ เมื่อมองดูประวัติศาสตร์แล้วเราจะพบว่า วิธีการของทั้งสองฝ่ายนั้นไม่ต่างกัน ทั้งความมั่นใจอย่างออกหน้าออกตาที่จะให้ความสำคัญกับ “การต่อสู้ที่ใหญ่กว่า” จนนำไปสู่การบอกปัดประเด็นเฟมินิสต์ว่าเป็นประเด็นอื่นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากวิเคราะห์ว่าขบวนการฝ่ายซ้ายที่มีคนดำและมาร์กซิสต์เป็นใหญ่ได้บีบผู้หญิงเข้าไปในแผนการก็เมื่อเป็นผลพลอยได้ของอะไรสักอย่าง เช่น เมื่อชนะการต่อสู้ที่สำคัญแล้ว ผู้หญิงถึงค่อยแยกตัวออกไปสู้ ผู้หญิงต้องรอก่อน ผู้หญิงต้องช่วยเหลือการต่อสู้ขบวนการใหญ่เสียก่อน!
เรามักเห็นในบทกวีของหญิงคนดำอย่างชัดเจน ว่าการก่อสร้างอีโก้หรือความทะนงตนของชายคนดำเป็นไปตามรูปแบบในขนบ — ด้วยการดูถูกตัวเองเสียก่อน — ประเด็นนี้ได้ยินกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า บอกกล่าวความทุกข์ทรมานอันแสนน่าภูมิใจของหญิงคนดำในกำมือของชายคนดำ ผู้ที่อ่อนแอเมื่ออยู่กับเจ้านายคนขาว เขาจึงต้องการผู้หญิงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า และเธอเองก็ทำตัวตามเช่นนั้น — ความทุกข์ทรมานของเธอมีส่วนกับการต่อสู้ของ (ชาย) คนดำโดยตรงและเธอมองว่าเป็นการเสียสละที่มีเกียรติ (เหมือนที่ เจอร์เมน เกรียร์ (Germaine Greer) เสนอไว้ว่า ในเมื่อผู้หญิงไม่มีอำนาจที่จะข่มขู่ พวกเธอไม่สามารถถูกลดทอนอำนาจได้ ฉะนั้นแล้วจึงไม่มีใครมองว่าการไม่มีอำนาจของผู้หญิงเป็นเรื่องแปลกอะไร ถือเป็นเรื่องธรรมชาติด้วยซ้ำ ไม่มีใครหรอกที่จะนอนเฉยๆ แล้วให้ผู้หญิงเตะขึ้นมา) ในขณะที่ภาวะไร้อำนาจของชายคนดำนั้นก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ชายและยังสามารถที่จะเข้าถึงอำนาจของชายคนขาวได้ สิ่งที่เขาต้องการก็แค่ผู้หญิงสักคนให้ครอบงำในแบบเดียวกันกับที่คนขาวได้ครอบงำเขา เมื่อนั้นเขาก็จะได้ความสูงส่งของเขาคืนมา คนดำได้ต่อต้านความเป็นใหญ่ของคนขาวด้วยการตระหนักถึงความงามของคนดำ แต่พวกเขาไม่เคยท้าทายรูปแบบครอบครัวคนขาว ไม่เคยท้าทายความน่าปรารถนาของรูปแบบครอบครัวชายเป็นใหญ่ ฉะนั้นแล้วพวกเขาก็ยังคงเชิดชูความเป็นใหญ่ของผู้ชายอยู่ดี
มาร์กซิสต์เฟมินิสต์ชื่อว่าจูเลียต มิตเชล (Juliet Mitchell) ได้ยกตัวอย่างใน Woman’s Estate ว่ารูปแบบความคิดของการเข้าใจความความเดือดร้อนจริงๆ ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กลุ่มเฟมินิสต์ ว่าไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นแค่อาการอย่างหนึ่งของการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า ที่ทุกกลุ่มก็เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนามธรรมหรืออุดมการณ์นั้น คงเดากันได้อยู่แล้วว่า หากมีความขัดแย้งในทางทฤษฎีเกิดขึ้น มิตเชลจะร้องหา “ภาพกว้าง” แนวคิดเชิงนามธรรมที่จะขยายตัวเองให้ตอบโจทย์ข้อขัดแย้ง เมื่อกลุ่มที่มีกังวลร่วมกัน เช่น นักเรียน ผู้หญิง คนดำ โฮโมเซ็กชวล ได้ร่างสิ่งที่ตัวเองต้องการจากฐานสถานการณ์ของพวกเขา มิตเชลก็กล่าวหาว่าพวกนั้นมองการณ์ “สั้น” เกินไปจนไม่เห็นว่าความต้องการนั้นเป็นผลพลอยได้ สิ่งที่พวกเขาต้องเข้าใจคือ “แนวคิดนิยมทุกสิ่ง” (โททอลลิสม์ – totalism) หรือการทำความเข้าใจเพื่อหยุดทุกการทำความเข้าใจ (ผู้แปล: โททอลลิสม์ในที่นี่คือแนวคิดทางปรัชญาที่ครอบคลุมประเด็นทุกประเด็น “A philosophy, ideology or belief system that is total in its scope, one that covers everything.”)
สำนึกทางการเมืองขั้นสุดของชนชั้นที่ถูกขูดรีดหรือกลุ่มที่ถูกกดขี่ไม่สามารถกำเนิดมาจากตัวเองได้ แต่มาจากการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน (interrelationship) (และการครอบงำของโครงสร้าง) ของทุกชนชั้นในสังคม … ไม่ได้หมายความว่าให้ทำความเข้าใจทันทีว่ากลุ่มอื่นและชนชั้นอื่นถูกกดขี่และขูดรีดอย่างไร แต่หมายความว่า การเรียกการโจมตีทุนนิยมแบบ “พวกนิยมทุกสิ่ง” สามารถทำให้ความสมานฉันท์ระหว่างแต่ละกลุ่มที่โดนกดขี่ที่ขำเป็นอย่างยิ่งสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้
มิตเชลอาจถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดจักวรรดินิยมทางความคิดได้แบบง่ายๆ เมื่อมองว่าคำว่า “นิยมทุกสิ่ง” ที่เธอใช้ควบรวมคำย่อยต่างๆ และทำให้คำเหล่านั้นตกเป็นประเด็นรองไป ภายใต้อำนาจของแนวคิดมาร์กซิสต์ตั้งต้นของเธอ ในมุมของมิตเชลแล้ว แต่ละกลุ่มที่ตอบสนองในแบบของตัวเองต้องเรียนรู้ที่จะเห็นหนทางและเสียสละ แนวคิดของเธอที่ว่าพวกเขาต้องล้มเลิกความกังวลของตัวเองเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นนามธรรมที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มประโยชน์ใดๆ เลย เนื่องจากว่ามันใหญ่ไปเสียจนไม่สามารถตอบโจทย์ประโยชน์หรือความกังวลอันหลากหลายได้เลย
กว่าจะเข้าใจอย่างนี้ได้ก็ต้องเข้าใจที่ทางของกลุ่มนิยมทุกสิ่งเสียก่อน แต่มันยังต้องคำนึงถึงหลากหลายสิ่งกว่านี้ หรือไม่เช่นนั้นก็ติดหล่มอยู่ในแนวคิดลัทธิคลั่งไคล้แบบคนดำ (Black chauvinism) ซึ่งเหมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจนิยมแบบชนชั้นแรงงาน (working class economism) และไม่ได้มองเห็นอะไร นอกจากจมูกหักๆ ของตัวเอง
แนวคิดของมิตเชลด้อยค่าปัจเจกนิยมในทุกรูปแบบไป ไม่ต่างกันกับในประวัติศาสตร์ ที่กลุ่มจัดตั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาได้ช่วงชิงผู้หญิงจากการทำงานเพื่อประโยชน์หรือความกังวลของพวกเธอ ผู้หญิงได้ถูกขอให้เป็น “ทำเพื่อทุกสิ่ง” ในแบบเดียวกันที่ประชาชนถูกขอให้ต้อง “รักชาติรักแผ่นดิน” เราถูกขอให้เปลี่ยนจากรูปแบบการใช้อำนาจอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น เราถูกขอให้ทำตัวตาม เมต้า-อนาไลซิส (การศึกษาแบบรวมผล meta-analysis) ที่เต็มไปด้วยชนชั้น แม้จะพยายามกี่ครั้งก็ตามแต่ เราก็ไม่สามารถเห็นได้แม้แต่นิดเดียวว่าการทำเช่นนั้นจะเกี่ยวอะไรกับความทุกข์ทรมานของเราในตอนนี้ สิ่งที่ดีงามสำหรับทุกคนก็ควรจะดีงามสำหรับหนึ่งคนด้วย
เพราะผีของความนิยมทุกสิ่งยังคงหลอกหลอนเราอยู่ เราจึงต้องออกมาทำให้เห็นว่าประโยชน์หรือความกังวลของเรามันจริงแท้อย่างไร ด้วยเหตุผลกลใดบ้าง ทั้งการที่เราต้องหยุดทำเพื่อประเด็นการต่อสู้ และถูกลากเข้าไปในสายใยที่พยายามแย่งชิงความสนใจของเราไป เพราะมัวแต่ต้องอธิบายและปกป้องแนวคิดของเรา เราคุ้นชินไปเสียว่าประโยชน์ของกลุ่มนั้นสำคัญกว่า และเป็นเรื่องง่ายกว่าเรื่องของอีกคนหนึ่ง จนเราติดกับการทำให้ตัวเองเป็นเหตุเป็นผล (self-rationalization) จนไม่ยอมสงสัยว่าการขัดขากันไปมาระหว่างกลุ่มมันมีคุณค่าอะไรตั้งแต่แรกหรือไม่
ไม่ใช่แค่วิธีการแบบ “นิยมทุกสิ่ง” พยายามรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันหรือจัดว่าประเด็นการต่อสู้ไหนควรมาก่อน มันยังเสนอว่าเมื่อธรรมชาติของปัญหาคือการครอบคลุมทุกประเด็น แล้วทางแก้ปัญหาก็คงเป็นเช่นนั้นด้วย จนนำมาสู่สถานการณ์ที่ผู้หญิงถูกหลอกมาเสมอ — แม้กลุ่มอาจยังทำงานต่อไปได้ ภายใต้ภาพลวงว่า “เจอสิ่งนี้ด้วยกัน” เป็นเวลานาน ซึ่งปกติแล้วก็ยาวนานเท่าที่ยังคงคุยกันเรื่องทฤษฎี เหมือนกับสัญญาที่ให้กับเฟมินิสต์ก่อนสงครามกลางเมือง แต่เมื่อถึงเวลาต้องทำอะไรสักอย่างในสถานการณ์ที่คิดไว้อย่างหลวมๆ แล้ว ก็ไม่สามารถค้นหาและทำลายศัตรูที่นิยมทุกประเด็นไปได้ง่ายๆ ทางออกก็คือต้องเลือกว่าจะทำอะไรและทำเพื่อใคร ฉะนั้นแล้ว ประเด็นการต่อสู้ที่ดูจะบังคับคนอื่นได้มากที่สุดก็ถูกให้ความสำคัญที่สุด และเรื่องอื่นก็ได้รับความสำคัญรองลงไป หากไม่เป็นเช่นนี้ก็คงเป็นทางแก้แบบนิยมทุกประเด็นจนกระจัดกระจาย ขับเคลื่อนพลังไปแต่ไม่ได้ช่วยเหลือใครเลย ผู้หญิงเองเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เมื่อต้องต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศและถูกมองในบริบทการต่อสู้ที่ใหญ่กว่า
ถ้าการต่อสู้ของเฟมินิสต์ไม่เป็นอื่นและเป็นรองจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบอื่นแล้ว เราจะสามารถเน้นย้ำการต่อสู้ของเฟมินิสต์ได้อย่างไร?
III.
ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังคงต้องอาศัยหรือทำงานกับผู้ชายในชีวิตอย่างน้อยเป็นบางเวลา พวกเธอจึงต้องมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่ปกติเราเรียกว่า “ผู้กดขี่” อย่างเฉพาะตัวและแตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงยังคงมีผลประโยชน์จากการรักษาความสัมพันธ์กับผู้ชายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัวหรือเหตุผลด้านอาชีพ ปัญหาจึงไม่สามารถถูกลดทอนว่าเป็นที่ผู้ชายหรือแก้ไขที่ผู้ชายเท่านั้น ประการแรก การนำเอาพวกเธอออกมาจากสถานการณ์เช่นนั้นย่อมเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ขัดต่อผลประโยชน์ของเธออย่างแน่นอน ประการที่สอง การมุ่งเน้นไปที่แหล่งที่มาของปัญหาไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาเองเสมอไป คงผิดพลาดหากจะมองความขัดแย้งว่าเป็นความผิดของคนบางกลุ่ม แทนที่จะมองถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขา
สิ่งที่ตามมาก็คือ เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้หญิงเลยจำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองอย่างแตกต่างโดยสิ้นเชิง ในรูปแบบที่มีพื้นฐานความคิดแบบตามสถานการณ์ นั่นจึงทำให้พลังของเฟมินิสต์มักจะมุ่งเน้นที่ตัวปัญหามากกว่าที่คน (หรือการต่อสู้) เป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญจะไม่ใช่การแบ่งเขาแบ่งเราแบบที่มีผู้กดขี่ตามความเชื่อปรัมปราที่ต่างคนต่างปะทะกันเพียงเพื่อช่วงชิงสิทธิพิเศษบางอย่าง แต่เป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ตัวอย่างเช่น ถ้ามีสถานการณ์ที่ต้องคอยแข่งขันกันระหว่างเพศอยู่แล้ว การเรียนคาราเต้จะยิ่งส่งเสริมการสะสมอาวุธของทั้งสองฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเงื่อนไขในการต่อสู้เช่นนี้จึงไม่ได้เปลี่ยนดุลอำนาจของทั้งสองฝ่าย
ขบวนการเฟมินิสต์แบบสถานการณ์นิยม (situationism) คือการมองว่าการวิเคราะห์ทางสังคมอย่างละเอียดและกลุ่มแบบลามาร์กซ์ (la Marx) นั้นเกินเหตุ เพราะหลายการเปลี่ยนแปลงมีรากฐานมาจากสถานการณ์ที่เกิดปัญหาขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงก็จะแปลกแยกจากผู้คน เวลา และสถานที่ วิธีการนี้มักถูกมองว่าไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเราไม่เคารพการแก้ปัญหาแบบตัวต่อตัว หรือเรารู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง
เรามักมองว่าข้อกังวลเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างกับว่าข้อกังวลเหล่านี้ไม่สามารถถูกเชื่อมโยงเข้ากับความสนใจในวงกว้างได้ในทันที หรือหากข้อกังวลเหล่านั้นไม่สามารถถูกทำให้เป็นเรื่องสากล เช่น การเป็น “อาการป่วยของสภาวการณ์บางอย่างที่ใหญ่กว่า” การพูดถึง “ชายเป็นใหญ่” นั้นไร้ผลพอ ๆ กับการพูดคุยเรื่อง “ทุนนิยม” โดยที่เราลดค่าให้มันเป็นแค่คำนิยาม เรากำลังใช้ความมีประสิทธิภาพ แยกตัวเองออกมาจากปัญหาและสิ่งที่จำเป็น เพื่อจะโต้ตอบกับผู้อื่นในทันที การพูดเกินจริงทางทฤษฎีเช่นนี้ทำให้เกิดภาพลวงตาการตอบสนองต่อสถานการณ์คับขัน โดยที่ตัวคนนั้นไม่เคยทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมของตนเองในนั้น
เดิมทีเฟมินิสต์ถูกกล่าวหาว่าไม่มีทฤษฎีที่ครอบคลุม มีแต่ความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ สิ่งนี้สร้างความขบขันในหน้าสื่อได้เป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่มีการเชื่อมโยงทางทฤษฎีในวงกว้างระหว่างสิ่งต่างๆ เช่น ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วโดยใช้ชื่อสามี สถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่เพียงพอ การใช้คำว่า ‘เด็กหญิง’ อยู่ตลอดเวลากับผู้หญิง หรือการที่ผู้หญิงต้องการทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับผู้ชาย แทนที่จะมองว่าความหลากหลายนี้เป็นจุดแข็งมันกลับถูกมองว่าเป็นจุดอ่อน แล้วก็เป็นไปตามคาด มาร์กซิสต์เฟมินิสต์สองสามคนก็ลุกมาแก้ต่างในเหตุการณ์นี้ และทำให้เฟมินิสต์ได้รับความเคารพในทางทฤษฎีขึ้นมา โดยเน้นไปที่ปัญหาของผู้หญิงเกี่ยวกับ “อุดมการณ์ของการสืบพันธุ์” และแนวคิดที่คลุมเครืออื่นๆ
ตามที่เคยเป็นมา เฟมินิสต์มักจะพยายามหาทางออกเฉพาะกิจที่เหมาะสมกับความต้องการในขณะนั้น กล่าวคือ เน้นไปที่การแก้ไขในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความพยายามอย่างหน้าด้านๆ ถูกกฎหมายและได้รับการเผยแพร่อย่างดี (รวมทั้งในทางทฤษฎีด้วย) เพื่อที่จะนำการปลดปล่อยผู้หญิงมาสู่สเกลใหญ่
ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ฉันและเพื่อนคนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในการจัดการประชุมเฟมินิสต์ว่าด้วยการหย่าร้าง เราได้รู้จักเหล่าวิทยากรที่จะมาอธิบายวิธีการดำเนินการหย่าร้างและทนายความที่จะให้คำแนะนำทางกฎหมายฟรีแก่ผู้หญิงที่ต้องการ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้ออื่นๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเกี่ยวกับการหย่าร้าง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้หญิงจำนวนมากในชุมชนที่อาจไม่ได้คิดว่าตนเองเชื่อในความคิดเฟมินิสต์ที่น่างงงวยนี้ด้วยซ้ำเพราะว่าตัวหัวข้อมีปัญหาเป็นศูนย์กลาง ทุกคนร่วมแลกเปลี่ยนคำแนะนำ เบอร์โทร ชื่อทนายความกันอย่างกระตือรือร้น ผู้หญิงบางคนร้องไห้ในเวิร์กช็อปเพราะรู้สึกท่วมท้นที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคนอื่นๆ
การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่นขณะวิทยากรจากองค์การสตรีแห่งชาติได้นำเสนอจุดยืนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการหย่าร้างและแผนการขององค์การในอนาคต ในนั้นมีข้อเสนอว่าคู่รักควรจะผ่านการทดสอบก่อนที่จะแต่งงานกันได้ คนที่มีคุณสมบัติผ่านเท่านั้นที่จะสามารถเข้าร่วมในข้อตกลงทางกฎหมายนี้ได้ เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบที่สร้างขึ้นโดยผู้ออกกฎก็จะถอดใจไปเอง จึงอาจป้องกันการหย่าร้างในอนาคตได้
นอกเหนือจากความเชื่อที่ผิดอย่างโต้งๆ ว่ากฎที่เพิ่มขึ้นมานี้จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กฎหมายเดิมสร้างขึ้นไว้ และดังนั้นจึงจะช่วยผู้คนให้รอดพ้นจากตัวของตัวเอง ข้อเสนอขององค์การสตรีแห่งชาติ (National Organization for Women) เป็นตัวอย่างของความพยายามในการปลดปล่อยผู้หญิงด้วยวิธีการแบบเสาหินจากเบื้องบน ซึ่งคล้ายกับความทะเยอทะยานของมาร์กซิสต์บรันคา มากัส (Branka Magas) ในการ “ฉกฉวยวัฒนธรรม” เพราะว่าแรงกระตุ้นในการบีบบังคับผู้คนด้วยกฎหมายของประเทศมีความคล้ายกับแรงกระตุ้นในการสร้างการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนดุลอำนาจ การเปลี่ยนแปลงขนาดมโหฬารแต่ละประเภทย่อมมีเหตุผลมารองรับอำนาจนิยมอันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของมันอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น แต่ละฝ่ายต่างโต้เถียงว่าสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนจริงๆ ดีสำหรับแค่คนหนึ่งคนด้วย ดังนั้นวิธีการใด ๆ ก็สามารถนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนความทะเยอทะยานในการปฏิวัติ ในรูปแบบขององค์กรได้ทั้งนั้น
ข้อเสนอระดับมหภาพที่มีเป็นครั้งคราวเหล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อไปว่าขบวนการปลดปล่อยผู้หญิงที่ไม่ใช่พวกเน้นสถานการณ์มีอยู่จริง คนเชื่อว่ามีกองทัพของจริงกำลังโห่เรียกร้องการปฏิรูปประเทศอยู่พร้อมเพรียงกัน สื่อต่างประโคมให้มันดูชุลมุน แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์ตามหลักการเช่นนั้นอยู่หรอก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงยังคงง่วนอยู่กับการทำงานในโครงการฐานชุมชนภายในครอบครัว หมู่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือตัวตนให้แก่ตนเอง ยิ่งไปกว่านี้ การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์หรือหลักการของการเคลื่อนไหวเพียงแบบเดียวอาจก่อให้เกิดผลเสีย และทำให้ผู้หญิงเปรียบเทียบชีวิตของพวกเธอกับภาพลักษณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา เช่นการเฝ้าจับผิดวิธีใช้ชีวิตและการทำงานของตัวเองเพื่อดูว่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวหรือไม่
ในขณะเดียวกัน “การเคลื่อนไหว” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเหนียวแน่นและไม่มีแผนการ ถูกเผงเลย นั่นแหละคือจุดประสงค์ จุดแข็งของการเคลื่อนไหวนี้คือความหลากหลายที่ถูกฟูมฟักปฏิบัติกันมา เฟมินิสต์จึงไม่มีผู้นำด้วยเหตุผลนั้น มันไม่มีสิ่งใดให้เรานำ เราไม่ได้วางแผนเพื่อจะปฏิวัติ เหล่าผู้หญิงกำลังทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ในสถานที่ที่ทำได้ พวกเราไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะพวกผู้หญิงไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชนชั้นหนึ่งที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับอีกชนชั้นหนึ่ง เราไม่ได้จินตนาการถึงกองทัพปลดปล่อยผู้หญิงที่ระดมกำลังต่อต้านการกดขี่ของผู้ชาย การมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่ก่อสร้างรัฐบาลขึ้นมาและการใช้วิธีการพวกนี้ก็เป็นเพียงการหนุนมุมมองแบ่งเขาแบ่งเราที่เป็นปรปักษ์กันในชนชั้นทางเพศเท่านั้น การนิยามตัวเองว่าเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่กำลังต่อสู้คนอื่นๆ ด้วยท่าทีที่หวาดระแวงได้แต่เพียงกระตุ้นให้เกิดการปะทะกันอันโหดร้ายและทำให้ต้องแข่งขันต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น การเน้นย้ำความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอาจนำไปสู่การตระหนักรู้ตนเองและสิ่งที่เรากำลังทำจนมันเป็นอุปนิสัย ดังนั้นจึงเป็นการตอกย้ำความแตกต่างของแต่ละคนและทำให้เกิดความขัดแย้ง ก่อนที่เราจะเริ่มทุ่มเทตัวเองกับการแก้ปัญหาเรื่องการกีดกันทางเพศในทางปฏิบัติเสียอีก
IV.
อย่างไรก็ตาม องค์การสตรีแห่งชาติระบุว่า การเรียกร้องสิทธิผู้หญิงนั้นเริ่มขึ้นจากในบ้าน และมักไม่ไปไกลเกินกว่าระดับชุมชน
เหล่าหมอตำแยและแม่มดต่างก็ฝึกวิธีการใช้สมุนไพรและศิลปะในด้านการรักษาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและโดดเด่นในธรรมเนียมประเพณีแบบปัจเจกนิยมของเรา เหล่าสตรีในครอบครัวได้ส่งผ่านข้อมูลต่างๆ อาทิ วิธีตรวจการตั้งครรภ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ วิธีรักษาการติดเชื้อ วิธีห้ามเลือด วิธีป้องกันตะคริว และวิธีบรรเทาอาการปวดต่างๆ นอกจากนั้น เหล่าผู้หญิงยังได้ช่วยเหลือดูแลเด็กๆ และมิตรสหาย โดยไม่ได้เน้นย้ำหลักการเชิงนโยบายของมัน อย่างเงียบเชียบจนบางครั้งก็น่าพิศวง ซึ่งประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ ของพวกเธอทำให้เกิดความหวาดหวั่น ความหวาดกลัว และอาจถูกหัวเราะเยาะเย้ย แต่พวกเธอก็ไม่ได้หยุดเพื่อชี้แจงหรือทำให้สิ่งที่กำลังทำอยู่ลึกลับเข้าไปอีก พวกเธอเพียงแค่ทำมันไปเท่านั้น คำอธิบายอะไรเกี่ยวกับวิธีการผดุงครรภ์ที่ยังคงน่าพิศวงอยู่ ผู้หญิงได้ส่งต่อวิธีเหล่านั้นมาเรื่อยๆ จากแม่สู่ลูกสาว และถูกด้อยค่าไว้เป็นเพียงแค่ ‘เรื่องเล่าของหญิงชรา’
คลื่นการต่อสู้ของขบวนการเฟมินิสต์ในปัจจุบันยังคงรักษาธรรมเนียมแบบปัจเจกนิยมนี้ไว้ โดยมีปัญหาด้านสุขภาพของเหล่าผู้หญิงปรากฏเป็นข้อกังวลหลักที่สำคัญ โดยมีโครงการเล็กๆ ผุดขึ้นทั่วประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ในท้องถิ่น อาทิ ในด้านการทำแท้งที่เหมาะสม การคุมกำเนิด ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ และการรักษาทางการแพทย์ทั่วไป ก่อนหน้านี้เหล่าผู้หญิงมีสิ่งอำนวยความสะดวกจำกัดไม่เพียงพอ หรือต้องพึ่งพาแพทย์แบบ Paternalism (ผู้แปล: แพทย์มีบทบาทเป็นเหมือนผู้ปกครองของผู้ป่วย ผู้ป่วยมีหน้าที่เพียงให้ความร่วมมือ และทำตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าแพทย์จะสั่งอะไรก็ตาม) ซึ่งผู้หญิงกลุ่มใหม่ได้ค้นพบว่า ตนเองสามารถตรวจสุขภาพโดยทั่วไป และให้บริการหลายอย่างที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยซึ่งเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยหรือไม่เสียเงินเลยด้วยตัวของผู้หญิงเอง
นี่เป็นแค่ตัวอย่างของกลุ่มผู้หญิงเพียงหนึ่งกลุ่มที่ทำงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในศูนย์ผู้หญิงในท้องถิ่นของเรา โดยให้บริการต่างๆ เช่น การให้บริการทำแท้งและให้ข้อมูลแก่ชุมชนในทุกๆ วัน ตามความต้องการที่เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองว่าหน้าที่ของพวกเธอคื การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน ประเมินความต้องการของเหล่าสตรี และใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ แน่นอนว่ามีหลายสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า เราสามารถทำได้เองและก็มีสิ่งที่เราต้องขอความช่วยเหลือ ชุดทดสอบการตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้ง่ายและแจกจ่ายฟรีโดยอาสาสมัครที่ศูนย์ ส่วนการทำแท้งจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์ที่เชี่ยวชาญโดยคิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ รายชื่อคลินิกรักษาโรคที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกที่สุดและดีที่สุดถูกบันทึกและแจกจ่ายด้วยใบปลิว ขอบเขตและจุดมุ่งหมายของโครงการต่างๆ พวกเธอทั้งหมดนั้นถูกกำหนดโดยความต้องการของประชาชนในบริเวณนั้น พวกเธอยังได้ร่วมมือกับกลุ่มอื่น ๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างกระตือรือร้น แต่ยังไม่มีความตั้งใจจะขยายกลุ่มออกไป เพราะมีหลายสิ่งที่ต้องทำมากมาย ในการวิเคราะห์หรือสร้างนโยบาย ไม่มีแม้แต่เวลาที่จะหยุด และสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นเลย
แล้วจากตรงนี้ เราควรจะไปทางไหนกันต่อดี?
แล้วจากตรงนี้ เราควรจะไปทางไหนกันต่อดี? เหล่าเฟมินิสต์มักเพิกเฉยคำถามว่า ‘เพราะเหตุใดและทำไม?’ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในทางทฤษฎีของเหล่าผู้ชาย การเมืองเรื่องเพศของเคท มิลเลต์ (Kate Millet) ถูกนักวิจารณ์ต่างๆ โจมตีอย่างรุนแรง เนื่องจากเรื่องราวในหนังสือทั้งหมดไม่ได้อธิบายในทางทฤษฎีว่า เพราะเหตุใดการกีดกันทางเพศจึงเกิดขึ้น การไม่สนใจอธิบายในทางทฤษฎีของผู้หญิงถูกตีความว่าเป็นข้อบกพร่องอย่างยิ่ง แน่นอนว่าในทำนองเดียวกันนี้ ความคลางแคลงในตรรกะการให้เหตุผล และถูกหลอกให้เชื่ออย่างผิดๆว่า เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้เอง (the Known in the situation) พวกเราเหล่าผู้หญิงไม่สามารถ ‘ถกเถียงได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล’ เราถูกบอกกล่าวมาเช่นนั้น และมันอาจจะจริง เพราะเราหลีกเลี่ยงการโต้เถียงทางวาจาแบบนี้ แต่ความจริงคือ ผู้หญิงไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเกมอย่างแท้จริง ความรู้และการถกเถียง นั้นสัมพันธ์กับเหล่าผู้หญิงราวกับเป็นสิ่งที่แตกต่างจากความสนใจของพวกเธออย่างชัดเจน จนแทบไม่มีการปิดบังความไม่เคารพของผู้หญิงต่อ ต่องานศิลปะประเทืองปัญญานี้เลย ในความเป็นจริง เหล่าผู้หญิงดูเหมือนจะถือว่าความเชื่อของผู้ชายในแนวทางเหล่านี้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในความเชื่อเรื่องโชคลาง เพราะไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์เหล่านี้กับการค้ำจุนรักษาชีวิตอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้หญิงกังวล
โดยพื้นฐานแล้ว อาชีพของเหล่าผู้หญิงนั้นมุ่งเน้นแนวทางเพื่อการอยู่รอด การเก็บรวบรวมทรัพยากร การให้อาหาร จัดการเครื่องนุ่มห่ม และดูแลที่พักอาศัยของเด็กๆ และการตอบสนองต่อความจำเป็นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การใช้ชีวิตของผู้หญิงมีความจำเป็นต้องนำพลังงานไปใช้กับว่า ‘จะทำเช่นไร’ ที่มีรากฐานมาจากความรับผิดชอบในทางปฏิบัติต่างๆ ส่วนการสังเกตและประเมินกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวันนั้นเปรียบได้กับงานของคนที่ไม่ค่อยได้ทำอะไร และมีความรับผิดชอบน้อยกว่าดังเช่น ผู้ชาย ในทำนองเดียวกันกับมุกตลกเก่าๆ เรื่องหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงการหลงผิดในการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้ชายลงทุนกับงานของเขา : หัวหน้าครอบครัว (ผู้ชาย) ประกาศต่อเพื่อน ๆ ของเขาว่า “ฉันได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ภายในครอบครัวแล้วไม่ว่า จีน (คอมมิวนิสต์) ควรได้รับการยอมรับต่อสหประชาชาติ ส่วนภรรยาของฉันก็จะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ เช่น ถ้าเราต้องการรถคันใหม่ แล้วลูกๆ ควรไปโรงเรียนไหน”
เนื่องจากผู้หญิงไม่มีความต้องการคิดข้อสมมติฐานทางทฤษฎีและความหมายโดยนัย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ศิลปะการครอบงำทางวาจา พวกเธอจึงไม่ถูกล่อลวงเข้าสู่กลไกอันซับซ้อนของมันได้อย่างง่ายดาย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งเด็กสาวที่กำลังประเมินโชคชะตาของตนเอง ก็เลือกที่จะไม่ไว้วางใจทฤษฎี ในสถานการณ์ใดๆ โดยอัตโนมัติ (เช่น Lucy ในเรื่อง Peanuts fame) และอาศัยไหวพริบและสัญชาตญาณขณะนั้นในการแก้ปัญหาทางปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ผู้หญิงจะเคลือบแคลงในตรรกะการใช้เหตุผลและพิธีกรรมต่างๆ ของมัน เช่นเดียวกับที่คนจนต่างเคลือบแคลงใจในกฎหมายอันซับซ้อนของพวกเรา ซ่อนเงื่อนในปริศนา สถาบันตรรกะและสถาบันกฎหมายก็ทำงานขัดผลประโยชน์ของพวกเขา
ส่วนสิ่งที่ต้องการก็คือ การดูแลความจำเป็นเชิงปฏิบัติต่างๆ ในฐานะผู้หญิง ซึ่งถูกลดทอนคุณค่าอย่างมากและอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่มีสิ่งใดที่เราทำถือว่ามีความสำคัญเลย เมื่อการสนทนาของเราเข้าเรื่องผู้คนและปัญหาต่างๆ มันจะถูกด้อยค่าว่าเป็นการนินทาซุบซิบ ในด้านการทำงานของเรา เนื่องจากเป็นงานที่จำเป็นต้องทำซ้ำๆ และมักจะทำที่บ้านเป็นหลัก จึงไม่ถือว่ามันเป็นงาน เมื่อเราขอความช่วยเหลือ มันเรียกว่าการเซ้าซี้จู้จี้ เมื่อเราไม่โต้เถียงอย่างมีเหตุผล ก็เป็นที่มาของเรื่องบันเทิงครั้งใหญ่ และไม่เคยมีใครถามเราว่า เราต้องการไล่ตามภาพจินตนาการของการแข่งขันดังกล่าวตั้งแต่แรกหรือไม่
พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะมองข้อบกพร่องของเราให้เป็นข้อได้เปรียบ ปัญหาพุ่งชนปัญหา ตัวต่อตัวให้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตซึ่งมีรากฐานมาจากสถานการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคล เราต้องเรียนรู้ที่จะให้คุณค่า มากกว่าใช้วิธีแบบเดิมในการรับ “รู้” และเรียนรู้ใช้ประสาทสัมผัสอย่างชาญฉลาดแทน เราต้องตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เราจึงจะพบตัวเองเราเอง
เฟมินิสต์หมายถึง การค้นหาข้อตกลงใหม่ๆ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ดั้งเดิม ไม่ใช่การใช้ข้อตกลงดั้งเดิม เพื่อจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ มันเป็นความผิดพลาดของเราที่โต้เถียงว่าการต่อสู้ของเรามันสมควรหรือไม่ จนมันหมายความว่าเราต้องการเข้าร่วม มันชี้ให้เห็นว่า มีการแข่งขันเกิดขึ้นแล้วเรายินยอมเข้าร่วม และต่อมาจะมีผู้ชนะที่เป็นผู้ครอบงำและผู้แพ้ที่ถูกครอบงำ
การถกเถียงเพื่อการเรียกร้องของเฟมินิสต์ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการร้องทุกข์ ดังชนชั้นที่ไร้ซึ่งอำนาจเรียกร้องขออำนาจ หรือองค์กรประชาสัมพันธ์ (PR) ที่พยายามขายอะไรบางอย่างให้กับผู้ที่มีแนวโน้มจะซื้อ เฟมินิสต์หมายถึง การปฏิเสธข้อกำหนดต่างๆ ทั้งหมดที่เราถูกเสนอให้ได้รับความชอบธรรมในฐานะขบวนการทางสังคมอันน่านับถือ และกำหนดความต้องการที่แท้จริงของเราใหม่เมื่อเราค้นพบมัน ดังนั้นเมื่อการที่เราไม่สนใจในความก้าวร้าว ถูกเรียกว่า ‘ความเฉยเมย’ และการที่เราหลีกเลี่ยงการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ถูกเรียกว่า ‘ความไร้เดียงสา’ พวกเราต้องเห็นดีเห็นงามไปกับคำพูดเหล่านั้นอย่างเต็มที่ มิฉะนั้นแล้ว จะทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จสิ้นไปได้อย่างไรล่ะ?
by sometimes.DinDeng | Mar 5, 2023 | Articles บทความ, Interview, ไทย
เรื่องและภาพ: สหายเข็มหมุด
ท่ามกลางการจับจ่ายใช้สอย มนุษย์ในปัจจุบันสามารถหาของกิน ของใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวดเร็ว ผ่านการแลกเปลี่ยนด้วยระบบเงินตรา ทำให้เราอาจไม่ทันตระหนักเลยว่าสายพานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดนั้นมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง เหล่าคนที่ผลิตสินค้าให้เรานั้นได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อหรือไม่ แล้วในตอนนี้ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง เขากำลังลำบากหรือว่าอยู่ดีกินดี?
เหล่าผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย หรือแม้แต่ตัวของเราเอง ต่างก็ต้องทำงานแลกเงิน เพื่อนำไปซื้อของใช้และเพื่อให้เราสามารถขับเคลื่อนชีวิตต่อไป แต่ในการทำงานมากมายบนโลกนี้ มีคนงานหลายล้านคนกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อรีดเอาผลกำไร ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเรา — ผู้ใช้แรงงานส่วนมากไม่รู้จักสิทธิของแรงงานหรือของตัวเราเอง เมื่อ 20 ปีก่อนในประเทศไทย คนงานกลุ่มหนึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบในโรงงานแห่งหนึ่ง แต่พวกเขาได้เลือกที่จะไม่ปล่อยมันผ่านไป หันมาลุกขึ้นสู้ เนื่องจากกรรมกรก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นคนเท่าเทียมกัน
ในบริเวณเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ภายในตึกแถวสองคูหา ซึ่งเป็นทั้งบ้านและสถานที่ทำงานของคนงานกว่า 40 ชีวิต เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ มานพ แก้วผกา ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งโรงงานกลุ่มสมานฉันท์ หรือ Solidarity group ในชื่อแบรนด์ว่า Dignity Returns ซึ่งเกิดจากคนงานหลายคนที่ถูกเลิกจ้างมารวมตัวกัน เพื่อสร้างโรงงานของคนงานเอง ที่ปราศจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เรามาลองฟังเรื่องราวของคนในกลุ่มนี้กัน


Dignity Returns มีความเป็นมายังไง?
มานพ: Dignity Returns เดิมทีเป็นกลุ่มคนงานโรงงาน Bed & Bath ที่โดนเลิกจ้างเมื่อปี 2545 เพราะตอนนั้นเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งในภาคธุรกิจเสื้อผ้า ได้มีการย้ายโควต้าฐานการผลิตไปที่ต่างประเทศ บริษัทเลยปิดกิจการโดยไม่บอกล่วงหน้าลอยแพคนงานลูกจ้างประมาณพันกว่าคน โดยที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างค่าชดเชยเลย ตอนนั้นเราจะเข้าไปทำงานตามปกติ แต่โรงงานปิดประตูไม่ให้คนงานเข้าไปทำงาน มีแค่รปภอยู่หน้าโรงงานบอกว่าโรงงานปิดแล้ว ทุกคนงงกันหมดเพราะว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย เราก็เลยรวมตัวกัน เรี่ยไรเงินกัน ไปเรียกร้องสิทธิของเราที่กระทรวงแรงงานเป็นเวลา 3 เดือน ตอนนั้นมีคนงานเรียกร้องประมาณ 400 กว่าคน แต่ทำงานที่ตกงานจริงๆ มีพันกว่าคน ทางรัฐบาลก็พยายามตามตัวนายจ้างเพื่อให้มารับผิดชอบ แต่ก็ตามไม่ได้เพราะนายจ้างหนีไปต่างประเทศแล้ว ซึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็มีเพียงน้อยนิด เราก็เลยมองเห็นว่า จริงๆ แล้ว ตอนที่เราทำงานในโรงงาน เราเคยโดนเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานาจากนายจ้าง โดนกดขี่ ขูดรีดมากมาย เช่น ให้เราทำงานล่วงเวลาติดต่อกันหลายวันโดยไม่ได้พักผ่อน พวกเราเลยคิดว่า ทำไมพวกเราถึงไม่มาทำโรงงานกันเองล่ะ มาทำโรงงานของคนงานเอง ในเมื่อสายพานที่หนึ่งถึงสายพานสุดท้ายที่ผลิตสินค้า มันเกิดจากกระบวนการของแรงงานทั้งสิ้น เราก็มีแนวคิดนี้ตอนที่ชุมนุมกันที่กระทรวงแรงงาน ว่าทำไมเราถึงไม่ช่วยกันทำโรงงานให้เป็นของคนงานเองขึ้นมา ซึ่งเราคุยเรื่องนี้กันค่อนข้างนาน ก็ตกผลึก พอสิ้นสุดการชุมนุมเป็นเวลา 3 เดือน เราก็รวมคนงานแต่ละแผนกมาตั้งโรงงานเล็กๆ ของคนงานขึ้น

แล้วสุดท้ายหลังชุมนุมเสร็จ 3 เดือน คนงานชนะได้ค่าชดเชยไหม?
มานพ: ถามว่าเราชนะไหม ในเรื่องของศาล เหมือนออกหมายจับแล้วก็ค้างไว้เฉยๆ แล้วนายจ้างก็หนีไป คดีฉ้อโกงแรงงานนั้นมีอายุแค่ 10 ปี ซึ่งมันก็หมดอายุความไปแล้ว เราก็ไม่ได้อะไรเลย แต่คือเราก็ได้เงินชดเชยจากกระทรวงแรงงานส่วนหนึ่ง แต่กว่าจะช่วยเหลือก็ปล่อยเวลาไว้ค่อนข้างนานเหมือนกัน เป็นเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีที่โดนเลิกจ้าง ตกแล้วได้คนละ 15,000 บาท เราก็ใช้เงินก้อนนั้นมารวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มขึ้น ซึ่งเราก็ต้องกู้เงินจากทั้งในระบบและนอกระบบมาสร้างโรงงานด้วยเหมือนกัน
คือรัฐบาลก็มองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับคนงานมันเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะพอเราโดนเลิกจ้าง มันไม่ได้กระทบแค่เราคนเดียว เรายังมีครอบครัวที่อยู่ข้างหลังเรา มีครอบครัวที่รอรับเงินจากเรา ที่เราต้องเจียดเงินไปจุนเจือที่บ้านด้วย สุดท้าย เราก็เลยมองว่า หนึ่งสมองสองมือของเรา ด้วยมันสมองเล็กๆของเรา ที่เคยทำให้นายจ้างรวย แล้วทำไมเราไม่ทำให้ตัวเอง เพื่อที่เราจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็เลยตั้งแบรนด์ตัวเองชื่อ Dignity Returns ซึ่งหมายถึง การกลับมาอีกครั้งของศักดิ์ศรีกรรมกร
แต่มีสิ่งที่เราภูมิใจมากจากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงานครั้งนั้นคือ เราได้ปรับเปลี่ยนกฎของกระทรวงแรงงาน กฎข้อบังคับเรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้คนงาน เดิม 30 เท่า เพิ่มขึ้นเป็น 60 เท่า นี่คือสิ่งที่เราได้ทำให้กับคนงานทั่วประเทศ


ช่วงเริ่มก่อตั้งมีคนทำงานที่นี่เยอะไหม?
มานพ: ช่วงแรก 2546 เราก็รวบรวมคนงานแต่ละแผนกประมาณ 40 คน ซึ่งจำนวนนี้เป็นผู้ก่อตั้งทั้งหมด แต่หลายคนได้หล่นหาย ทั้งจากภาวะทางเศรษฐกิจ และรายได้ที่ไม่แน่นอน เหลือเพียง 16 คนที่ยังสู้ต่อในปี 2553 ส่วนตอนนี้เหลือผู้ก่อตั้งซึ่งก็คือผมเพียงคนเดียว แต่เรามีพนักงานทั้งหมด 35-36 คน ซึ่งก็มีทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติ ช่วงระยะเวลา 20 ปีนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน มันเป็นเวลาที่ยาวนานของขบวนการต่างๆ ของการต่อสู้ เช่น ตอนแรกเรามาเพื่อติดตามเส้นทางการโกงของนายจ้าง จากอายุคดีเป็นเวลา 10 ปี พอมันเลยช่วงนั้นทุกคนก็ค่อยๆ ออกไปหางานอื่นๆ ทำกัน บางคนก็ไปอยู่กับครอบครัว บางคนก็ไปทำเกษตรอยู่ต่างจังหวัด ก็เหลือน้อยลงตามสภาพ และระยะเวลา

ที่นี่ก่อตั้งมา 20 ปีพอดี คิดว่ามีช่วงไหนที่รุ่งเรืองที่สุดและซบเซาที่สุดบ้าง?
มานพ: จริงๆ แล้วพวกธุรกิจผลิตเสื้อผ้า อย่างเรามีเงินทุนเล็ก และยังไม่ใช่ SME เลย เป็นเหมือนร้านซัพเล็กๆ คือถ้าถามว่า ธุรกิจนี้มันขึ้นลงมากไหมน่าจะตรงกว่า เพราะมันขึ้นลงอยู่ตลอดเลย เหมือนเรานับ 1 2 3 และเราก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ตลอด มันไม่ใช่ว่าเราจะสามารถนับ 4 5 ต่อไปได้เรื่อยๆ แต่กลับต้องอยู่ในวังวนที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่แบบนี้ เพราะเรื่องทุนและงานออเดอร์ต่างๆ เนื่องจากเราไม่สามารถมีงานเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง แล้วก็ไม่สามารถต่อรองราคางานใดๆ ได้ เพราะเราเองก็โดนปัญหาเรื่องการเลิกจ้างมา เราพูดถึงเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เราจะทำยังไงให้มันเกิด Fair Trade หรือความยุติธรรมในการจ้างงาน เราอยากทำเรื่องของเสื้อผ้าสะอาด ตั้งแต่กระบวนการผลิต ไปจนถึงผู้บริโภคว่าจะต้องได้รับเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วปราศจากเลือดและคราบน้ำตา การเอารัดเอาเปรียบของคนงาน เราก็เลยมองว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ

ตลอดระยะเวลา 20 ปีนี้ นอกจากผลิตเสื้อผ้า เรายังได้ช่วยเหลือคนงานอื่นๆ ด้วย เคสคนงานโดนโกง โดนเลิกจ้างต่างๆ เราก็ได้ให้ความรู้ข้อกฎหมาย เราทำงานร่วมกับทางสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เพื่อทำเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบด้วย ซึ่งที่เราทำอยู่ ณ ปัจจุบันก็คือ ประกันสังคมมาตรา 40 ที่ดูแลเหล่าแรงงานนอกระบบ และแรงงานอิสระต่างๆ พรบ. คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน ให้การช่วยเหลือข้อกฎหมายต่างๆ สำหรับผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน อย่างเช่น รับเสื้อผ้าไปเย็บตามห้องเช่าตามบ้าน หรือรับงานอื่นๆ ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้วนำไปผลิตเอง เราก็จะมีกฎหมายนี้ช่วยกำกับดูแล นอกจากนั้นเราก็ดูแลเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของ สปสช. การดูแลสุขภาพของแรงงานเอง ว่าจะให้เขาได้รับการดูแลสุขภาพยังไงบ้าง ถึงเหมาะสมกับสิทธิที่ตัวเองจะได้รับ ตลอดจนการดูแลแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วโดนกดขี่ขูดรีด โดนเอารัดเอาเปรียบ ทั้งจากตำรวจ นายหน้าขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม การขึ้นบัตรต่างๆ หรือการที่นายจ้างยึดบัตรพาสปอร์ตต่างๆ เราก็ทำงานช่วยเรื่องนี้กันอยู่
ที่นี่นอกจากเป็นสถานที่ผลิตเสื้อผ้าแล้ว ก็เป็นศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้วย โดยเรามีป้ายติดไว้ข้างหน้า ก็มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาให้เราช่วยอยู่เรื่อยๆ ทั้งให้คำปรึกษาและให้การช่วยเหลือ เช่น เข้ามาปรึกษาว่า นายจ้างยึดบัตรจะทำยังไงดี จะต่อบัตรแล้วนายจ้างไม่แจ้งออกจะทำยังไงดี โดยช่วงโควิด เราก็เจอเคสที่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลได้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ เราก็ได้ไปร่วมมือและทำงานกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเขาทำโครงการปันอาหารปันชีวิต เราก็จะไปรับอาหารที่ทางโครงการรับบริจาคมา แล้วโครงการก็จะนำเงินนั้นไปซื้อผักจากเกษตรกรที่ขายไม่ได้ในช่วงโควิด แล้วก็เอาพืชผักเหล่านั้นมาทำอาหารช่วยเหลือคนงานหรือกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในช่วงโควิด เราก็ไปร่วมมือกับมูลนิธินั้น โดยเราทำครัวกลางกันที่นี่ เพื่อดูแลคนในพื้นที่ ดูแลคนงานก่อสร้างที่ไม่ได้ก่อสร้างในช่วงโควิด ก็มีคนงานค่อนข้างจะหลากหลายที่เราได้ดูแลอยู่


แล้วคนในกลุ่มได้แนวคิดเสื้อผ้าที่คนงานผลิตต้องปราศจากเลือด คราบน้ำตาของคนงาน มาจากไหน?
มานพ: เดิมทีตอนที่เราอยู่บริษัทเก่า โรงงาน Bed & Bath ซึ่งเป็นบริษัทส่งออกให้กับแบรนด์ดังอย่าง Nike Addidas แต่นายจ้างก็ขูดรีดเอากำไร พยายามเอาเปรียบคนงาน เช่น ให้ทำงานเกินเวลาปกติ ให้ทำงาน 2 วัน 3 วันติดต่อกันโดยไม่มีหยุดพัก นายจ้างเอายาเสพติด หรือยาบ้าในสมัยก่อน ผสมกับน้ำแล้วก็เอามาให้คนงานกิน มีการทำร้ายร่างกายคนงานด้วย มีการจ้างสห. หรือ สารวัตรทหารมาคุมคนงาน คือเป็น ทหารรับจ้างนี่ล่ะ มายืนถือปืน ยืนคุมคนงานอยู่รอบๆ เพราะว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วยังไม่มีโซเชียล มันมีกฎหมายนะ แต่พวกสื่อโซเชียลยังไม่ได้แพร่หลายเท่าในปัจจุบัน โทรศัพท์ก็ยังไม่ได้ใช้กันเป็นวงกว้างแบบปัจจุบัน ทำให้ข่าวสารต่างๆ เก็บเป็นความลับภายในบริษัทได้ง่าย เช่น เรื่องที่บริษัทเอาเปรียบคนงานต่างๆ หักเงินโดยไม่มีเหตุผล อย่างนายจ้างให้ยกมือซ้าย แต่เรายกมือขวา เราก็จะโดนหัก 500 บาท ถ้าคนงานหาวนอน เราจะโดนหัก 500 บาท ถ้าทำงานจนดึกแล้วแอบเอามะนาวไปกิน ก็จะโดนหักลูกละ 2,000 บาท คือในโรงงานมีกล้องวงจรปิดติดรอบเลย ซึ่งมันก็เป็นสภาพการจ้างงานที่ค่อนข้างย่ำแย่มาก
เพราะโดยปกติหลักจรรยาบรรณของแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ จะมี Code of Conduct ซึ่งเป็นหลักจรรยาบรรณของการผลิตเสื้อผ้าว่าการดูแลคนงานจะต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง เช่น หญิงมีครรภ์ห้ามทำโอที ห้ามทำงานล่วงเวลา ซึ่งมันก็มีกฎหมายออกมาแล้วว่า หากทำงานเกินเวลา 8 ชั่วโมง จะต้องได้รับค่า OT จำนวน 1.5 เท่าของค่าแรง หรือโรงงานจะต้องมีการซ้อมหนีไฟ การตรวจสุขภาพประจำปี แต่นายจ้างก็ไม่ทำ ไม่ปฏิบัติตาม กลับพยายามจะเอาเปรียบคนงาน ถ้าถามว่าทำไมตอนนั้นทุกคนถึงยอมอดทน คือตอนนั้นเขาจ่ายเงินเราดี ถึงจะให้ทำงานล่วงเวลา แต่เราก็ได้เงินดี ในช่วงนั้น บริษัทอื่นๆ คนงานทำงาน 15 วัน นายจ้างจะจ่ายเงินให้ 3,500 บาท แต่บริษัทเรา Bed & Bath จ่ายเงินให้ 7,000 บาท ซึ่งตอนนั้นค่าแรงอยู่ที่ 181 บาทต่อวัน เราก็เลยยอมทนทำงานเพราะได้เงินมากกว่าบริษัทอื่น

ในขณะนั้น เราไม่เคยรู้เรื่องกฎหมายแรงงานเลย เราไม่เคยรู้ว่ากฎหมายแรงงานคืออะไร เราต้องปฏิบัติยังไง จนกระทั่งเราโดนเลิกจ้าง แล้วไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิ ก็เลยได้เรียนรู้เรื่องของสิทธิแรงงานต่างๆ ว่าจริงๆ แล้ว แรงงานต้องได้รับการคุ้มครองยังไง เราคิดว่า กฎหมายแรงงานควรนำไปสอนเด็กๆ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปลาย เพราะบางคนเขาไม่ได้ต้องการเรียนต่อปริญญาตรี คนที่เรียนปวส หรือปวช ต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กฎหมายเหล่านี้เพื่อมาใช้ในการทำงานว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีอะไรบ้างที่จะต้องมาดูแลคุ้มครองเรา เช่น ประกันสังคม แล้วประกันสังคมมีกี่ประเภท กฎหมายแรงงานมีอะไรที่จะทำให้เราได้รับสิทธิเต็มที่
ซึ่งรัฐบาลก็ไม่เคยมองมาตรงจุดนี้ เพราะปัญหาก็คือเรื่องทุนอย่างเดียว ถ้าคนงานรู้เรื่องสิทธิแรงงานกับการจัดตั้งสหภาพแรงงาน แล้วนายทุนที่ไหนจะมาลงทุนในเมืองไทย ทางนายจ้างก็จะมองในมุมนี้ ส่วนทางรัฐบาลก็จะมองในมุมที่เอื้อประโยชน์ให้นายจ้าง เพราะนายจ้างอยากได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด แล้วก็ไม่อยากให้คนงานกระด้างกระเดื่อง คือไม่อยากให้คนงานต่อสู้ในเรื่องของสิทธิแรงงาน อยากจะควบคุมแรงงานไว้ เขาเรียกว่ายังไงนะ คืออยากเหยียบคนงานไว้ ไม่ให้รู้อะไรเยอะนั่นแหล่ะ แล้วก็ทำงานต่อไป ส่วนเรื่องวันหยุดประจำปีมีกี่วัน ถ้ามาทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์จะได้กี่แรง ก็ไม่ต้องการให้เรารู้เยอะในขณะนั้น ปัญหาก็คือว่า ตอนนั้นมันไม่มีตัวเชื่อม ทุกคนไม่ได้มี Google หรืออินเตอร์เน็ตที่สามารถค้นหาข้อมูลอะไรต่างๆ ได้เหมือนในปัจจุบัน แต่ก่อนโทรศัพท์ที่พวกเราใช้ก็แค่โทรออก กับส่งข้อความเท่านั้น

แล้วแต่ก่อนใครเป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนแรงงานกลุ่มนี้?
มานพ: พวกองค์กร NGO ช่วยเราหมดเลย ตอนที่เราไปชุมนุมกันในขณะนั้น ช่วงนั้นมีโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย คุณเล็ก จรรยา ยิ้มประเสริฐ ช่วยเราในเรื่องของข้อกฎหมาย เขามีคนมาดูแลข้อกฎหมายให้ แล้วก็มีสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องข้อมูลข้อกฎหมายต่างๆด้วย พวกเขาก็มาผลักดันช่วยเรากัน
ในขณะนั้น มีคนงานโดนเลิกจ้างเยอะไหม?
มานพ: เยอะมาก แต่เขาก็ไม่ค่อยสู้กันไง แล้วหลังจากโรงงานเรามาก็เยอะ พวกโรงงานใหญ่ๆ ปิดตัวลงไปเยอะมาก โรงงานเราเจอปี 45-46 แต่โรงงานหลังจากนี้ ช่วงปี 47-49 เจอเรื่องระบบโควต้า เนื่องจากมีการยกเลิกระบบโควต้าทั้งประเทศ ทาง EU หรือสหภาพยุโรป อเมริกา ประเทศตะวันตกต่างๆ ปกติ เขาจะมีโควต้าลงในประเทศกำลังพัฒนาว่า สินค้ายี่ห้อแบรนด์นี้หรือสินค้าที่มาจาก EU จะต้องลงในไทยทั้งหมดกี่ตัว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เขาไม่ได้มาตั้งโรงงานนะ เรื่องจะมาที่กระทรวงพาณิชย์ลงมาเลย เพราะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแลว่า มีงานก้อนนี้ลงมา แล้วทั้งหมดลงมาเท่าไร จากนั้นกระทรวงก็แจกจ่ายให้กับบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปประมูลออกมา จัดสรรแบ่งโควต้ากันออกมาทำงาน ทีนี้พอโควต้าหมดทำให้มีงานน้อยลง
ในตอนนี้บริษัทภาคผลิตเสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่ยังทำเสื้อผ้าอยู่ก็อาจมีไม่กี่โรงงาน เช่น ฮงเส็ง ไฮเทค เครือธนูลักษณ์ ซึ่งทำเสื้อผ้าให้พวกแบรนด์ดังต่างๆ เช่น Arrow ชุดชั้นใน WACOAL ส่วนบริษัทเก่าๆ ที่ไม่ได้รับ แต่ทำเลยก็จะมี ไฮเทค ฮงเส็ง ยงสง่า คือรับออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาทำ อย่างเช่น NIKE Adidas แต่โรงงานผลิตเสื้อผ้าใหญ่ๆ ที่มีคนงานเกิน 500 คนเหลือไม่กี่โรง

แล้วการทำงานผลิตตัดเย็บเสื้อผ้า เผชิญปัญหาสุขภาพบ้างไหม?
มานพ: มีเยอะ ฝุ่นเยอะ เพราะเสื้อผ้าทำมาจากฝ้ายและใยโพลีเอสเตอร์ ใยสังเคราะห์ ซึ่งมันมีฝุ่นละเอียดอยู่แล้ว พอเราโค้งหรือตัดเย็บในห้องเย็บ มันจะมีฝุ่นเล็กๆ ปลิวออกมา ถ้าเราไม่ใส่ผ้าปิดจมูก ฝุ่นพวกนี้ก็จะเข้าไปในปอด ทำให้เกิดโรคฝุ่นฝ้ายในปอด ซึ่งเราก็ต้องไปตรวจสุขภาพบ่อยๆ เวลาเราทำโรงงานเย็บผ้า เราต้องรู้เรื่องนี้ และทำความสะอาดร่างกาย เพราะผ้าแต่ละอย่างมีเคมีไม่เหมือนกัน มันเป็นอันตราย แต่ถ้าถามว่าเรื่องฝุ่นพวกนี้ เรากลัวไหม เราก็ไม่ค่อยกังวลอะไรเยอะ แต่สิ่งที่สำคัญและกังวลมากกว่า สำหรับคนเย็บผ้าคือ เรื่องสายตา เพราะเราต้องจ้องทำงานตลอด 8 ชั่วโมง แล้วต้องจ้องขณะเย็บผ้าตลอด อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องสุขภาพหลัง การนั่งนานๆ เพราะเรานั่งกับจักรเย็บผ้าวันหนึ่ง 8 ชั่วโมง หรือมากกว่า 8 ชั่วโมงในการทำโอที มันก็ทำให้หลังเราโก่งได้ การที่เราไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ มันก็มีปัญหากับร่างกายเหมือนกัน
แล้วที่นี่มีสวัสดิการอะไรให้ลูกจ้างบ้าง?
มานพ: สวัสดิการเรา เราทำงานกันเหมือนครอบครัว มีครัวทำกับข้าวด้วยกัน ทานกับข้าวด้วยกัน มีวันหยุดประจำปกติ แล้วก็วันหยุดนักขัตฤกษ์เราก็จะจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย แล้วก็มีเรื่องของน้ำสะอาด หรือบางคนไม่มีที่อยู่อาศัย ก็มาพักที่นี่ได้ ชั้นข้างบนจะมีห้องอยู่ แต่ส่วนมากเขาจะพักกันอยู่ข้างนอก อันนี้เป็นในกรณีที่เขาถูกเลิกจ้าง ยังไม่มีที่อยู่อาศัย โดนทำร้ายร่างกายมา ก็จะเอามาพักที่นี่ก่อนเพื่อที่จะดำเนินคดีอะไรต่างๆ นาๆ เสร็จก็เขาก็หาที่อยู่ใหม่ หานายจ้างใหม่ เรียบร้อยเขาก็ออกไป ก็จะเป็นในลักษณะนั้น




แล้วอย่างในโรงงานใหญ่ๆ ถ้าคนงานมีอายุเยอะจะถูกเอาออกไหม?
มานพ: ส่วนมากจะไม่ค่อยเอาเราออก แต่จะบีบออกเอง ส่วนมากโรงงานเย็บผ้า จะไม่มีการขยับค่าจ้างขึ้น คือค่าจ้างขั้นต่ำยังไงก็เป็นอย่างนั้น เหมือนตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาท มันก็จะอยู่แค่นี้ แม้ว่าเราจะทำงานมา 10 ปี 20 ปีก็ตาม ค่าแรงก็ไม่ได้ขยับตามอายุงาน ซึ่งถ้าโรงงานอยากให้เขาออก โรงงานก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งสุดท้ายเขาก็จะใช้วิธีการบีบให้ออกเอง เช่น การตั้งเป้าในการทำงาน คือตั้งเป้าว่าวันหนึ่งคุณจะต้องทำงานได้ 300 ชิ้น สมมุติว่าแต่ละขั้นตอนทำงาน ต้องทำได้ขั้นตอนล่ะเท่านี้ๆ คนงานก็ต้องเร่งให้ได้ยอดตามนั้น แต่พอไม่ได้ตามยอด เขาก็จะโดนติ๊กไว้ คนงานก็จะรู้สึกกดดัน เราไม่ไหวแล้วในสถานการณ์แบบนี้ คนงานก็ต้องยอมออกเองโดยไม่ได้รับค่าชดเชย มันก็จะมีการบีบออกแบบนี้ด้วย บางที หลายๆโรงงาน เช่น ฮงเส่ง ไฮเทค พอย้ายไปกัมพูชา เขาเปลี่ยนจักรนั่งทำงานเป็นจักรยืน คือเราจะมานั่งเย็บไม่ได้แล้ว ต้องยืนเย็บผ้า ซึ่งคนงานที่อายุเยอะๆ แล้ว เขาก็จะยืนนานๆ ไม่ไหว เขาก็เลยต้องออกเอง ฉะนั้นการลาออกกับการให้ออกมันต่างกัน และได้รับค่าชดเชยต่างกันด้วย
การผลิตเสื้อผ้าที่นี่เจาะตลาดคนกลุ่มไหน?
มานพ: คือในตลาดเสื้อผ้านั้นมันมีการแข่งขันสูงมาก ส่วนเราทำเรื่อง Fair Trade แต่ตลาดลูกค้าของเราไม่ได้เจาะตลาด Fair Trade โดยเฉพาะ เพราะว่าในตลาด Fair Trade คนที่เขามองเห็นความสำคัญของแรงงานจริงๆ มันมีอยู่น้อย ถ้าเราจะไปขายเฉพาะกลุ่มนั้น เราอยู่ไม่ได้ เราจะไม่มีงานเย็บ เราก็ต้องขายตลาดราคากลางด้วย โดยที่เน้นในเรื่องคุณภาพ ถ้าเราไปพูดถึงสิทธิแรงงาน การไม่เอาเปรียบแรงงานกับลูกค้าเอกชน เขาไม่ฟังนะ แต่ถ้าเราพูดถึงเรื่องคุณภาพ ลูกค้าเอกชนเขาจะฟัง เช่นว่าบริษัทหรือกลุ่มนี้เขาทำงานดีนะ มีคุณภาพ ตัดเย็บสวยงาม ตามรูปแบบที่ต้องการ คุณภาพผ้าโอเค เขาก็จะสั่งผลิตเสื้อผ้าเรามาในราคาที่ไม่ได้ต่ำอย่างราคาตลาดล่าง แต่เป็นตลาดกลางๆ แต่กลุ่ม NGO สหภาพแรงงานต่างๆ หรือคนที่เขาทำเรื่อง Fair Trade เขาก็เข้ามาสั่งออเดอร์เราเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าเราจะไปกระโดดเรียกราคาสูงเลยไหม เราก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น จะเรียกราคากลางที่เราทำอยู่ปกติ

แล้วทำไมแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ถึงขายแพง?
มานพ: เหมือนเขาเรียกมันว่า ค่าการตลาด ถามว่าเรารู้สึกว่ามันแพงไหม เราก็รู้สึกนะ เพราะว่าเปอร์เซ็นต์ที่เราได้อาจจะแค่ 3-5% ของราคาสินค้า นอกนั้นคือเป็นเรื่องของทุนที่เขาได้ไป ทั้งพ่อค้าคนกลาง เจ้าของแบรนด์ อื่นๆ จะได้เยอะ ซึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านี้ถือว่าได้เยอะนะ เพราะสำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างพวก Nike คนผลิตอาจได้ไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ อาจได้ประมาณ 1% กว่าๆ
อย่างเช่นเสื้อของนักฟุตบอลระดับโลกที่เขาใส่ๆกัน คนผลิตก็ได้ค่าจ้างไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ ถึงนักกีฬาระดับโลก หรือนักฟุตบอลระดับโลกจะใส่ก็ตาม เราก็จะได้ค่าตัดเย็บอยู่ตัวล่ะประมาณ 10 บาท อย่างเช่นเสื้อคอกลมตัวนึง ตอนนี้ราคากลางค่าตัดเย็บไม่เกิน 15 บาท เต็มที่ค่าตัดเย็บอย่างเดียว ไม่รวมแพคของ เบ็ดเสร็จแล้วก็ประมาณ 20 บาทต่อตัว นี่คือราคาล่างๆ นะที่เขาทำกัน
ถ้าบริษัทใหญ่ปล่อยงานมาให้เย็บข้างนอก ก็จะได้ตัวละ 5-7 บาทเท่านั้น คือให้คอกลมตัวหนึ่งมา แล้วเย็บให้กลายเป็นเสื้อตัวหนึ่ง บริษัทเขาจะตัดมาให้ แล้วเราก็เอามาเย็บอย่างเดียว เรียกว่า sub-contract คือโรงงานใหญ่ตัดเย็บเสร็จ เขาก็จะจ้างพวก sub-contract มาเย็บให้ ถ้าเราไปรับงานเขามาเย็บ เราก็ได้แค่ตัวละ 7 บาท ถึงแม้ว่าบริษัทหรือแบรนด์จะไปขายตัวละ 2,000 บาท 3,000 บาท หรือ 10,000 บาท เราก็ได้แค่ 7 บาทเท่านั้น คิดดูสิมันจะถึง 1% ไหม
เรารู้สึกจริงๆ นะเวลาไปห้างว่า เสื้อตัวนี้มันผลิตที่เรา แล้วเขามาขายในราคาที่สูงมาก แต่เราก็แทบจะไม่เหลืออะไรเลย ทั้งๆ ที่เรารู้ต้นทุนการผลิตทั้งหมด แม้กระทั่งผ้า แต่เขาก็อาจราคาสูง เพราะเขาขายแบรนด์ของเขา นวัตกรรมเสื้อต่างๆ ที่เขาทำวิจัยมา


แล้วคุณภาพเสื้อเขา มันเหมือนของเราไหม?
มานพ: คือคุณภาพการตัดเย็บเราเหมือนกัน แต่คุณภาพผ้าอาจจะไม่เหมือนกัน เช่นเวลาเราทำเสื้อผ้าให้แบรนด์ต่างๆ เสื้อผ้าแบบนี้คอกลมเหมือนกัน แต่คุณภาพผ้าอาจจะต่างกัน ก็ต่างกันในเรื่องของผ้าอย่างเดียว บางบริษัทก็สั่งทำผ้าด้วยนวัตกรรมต่างหาก ที่แบรนด์เขาทำเองมาจำเพาะเลย
แต่ว่าปกติอย่างเช่นพวก Nike ตอนนี้สั่งทำที่บริษัทจงสถิตย์ แล้วก็สั่งทอที่นันยาง สั่งทอที่ทอไทยบ้าง คือจริงๆ มันก็ไม่ได้ไปไหนไกล มันก็อยู่ในแถวๆ นี้ เราก็ไปซื้อผ้า Nike ที่จงสถิตย์ได้ ไปซื้อผ้าพวกนี้มาผลิตเองได้ มันแค่ต่างกันตรงที่แบรนด์ ที่เอาไปแปะไว้ตรงคอเสื้อแค่นั้นเอง ว่ามันเป็นแบรนด์ตลาดสูง หรือตลาดล่าง ถ้าเป็นแบรนด์ตลาดล่างมันก็เหมือนไม่มีราคา ถ้าเป็นแบรนด์ที่มีตลาดดีอย่าง Nike ทำอะไรออกมาคนก็ใส่ ขายแพงสองหมื่นสามหมื่นบาท คนก็ซื้อก็ใส่


มีความคิดเห็นอย่างไรกับการทำผ้าโหล?
มานพ: เราคิดว่า การทำผ้าโหลคือไม่มีทางเลือกแล้ว คนงานที่ทำมีฝีมือนะ หลายๆ คนมีฝีมือดี แต่ว่าพอทำผ้าโหลแล้ว ราคามันต่ำมาก แล้วจะให้ไปปราณีตเย็บฝีเข็มตั้งแต่ 11 ฝีเข็มขึ้นไป มันไม่มีใครเขาทำหรอก เพราะว่าราคาที่ได้รับมันถูก พอราคามันถูก ก็ต้องเย็บตามสภาพราคานั่นแหละ แล้วก็ต้องอาศัยปริมาณ เราลองสังเกตตลาดในโบ๊เบ๊หรือประตูน้ำดูนะ โบ๊เบ๊นี่คือตลาดต่ำที่สุดแล้วในประเทศไทย ก็คือว่า สินค้าที่ขายเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีคุณภาพมาก มีการตัดเย็บที่ไม่ได้สวยงาม แต่เน้นราคาถูก
ซึ่งการที่แรงงานจะทำแบบนี้ได้ และเขาจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ด้วยการทำผ้าโหล เขาจะต้องอาศัยความเร็ว อาศัยเรื่องของระยะเวลาในการผลิตมากกว่า 8 ชั่วโมง อาจตื่นทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า เลิกงานเวลาสามทุ่ม หรืออาจเลิกดึกกว่านั้น เพื่อที่จะได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการอยู่รอด


คนงานผลิตเสื้อผ้าชาวไทยยังทำงานในโรงงานอยู่ไหม?
มานพ: ตอนนี้แรงงานไทยไม่ค่อยทำเสื้อผ้ากันแล้ว ส่วนมากเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในโรงงานแทน คือเมื่อ 20 ปีที่แล้วภาคการผลิตเสื้อผ้าในประเทศไทยมันเฟื่องฟู ซึ่งคนกลุ่มนั้นจากอายุประมาณ 30-40 ปี ในปัจจุบัน พวกเขาก็แก่ลงแล้ว ซึ่งพออายุมากขึ้น โรงงานก็ไม่ค่อยอยากรับแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ คนงานพวกนี้จะไปเปิดจักรเย็บจักรตามบ้านแทน คือเขาจะซื้อจักรไว้ตัวนึงแล้วก็รับงานมาเย็บ รับงานเป็นขั้นตอน อย่างเจาะโปโล ทำปก ทำแขน เย็บกระเป๋า ซึ่งคนงานเหล่านี้จากที่เคยทำงานในโรงงานก็จะเปลี่ยนไปเป็นแรงงานนอกระบบซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย นายจ้างก็จะไม่ได้มาดูแลตรงจุดนั้น เขาก็จะมองแค่เอางานไปปล่อย พอทำเสร็จก็รับคืนมาเท่านั้น คนงานกลุ่มนี้จึงถูกเอาเปรียบได้ง่าย อยากจ่ายเงินก็จ่าย อยากไม่จ่ายก็บอกว่า คุณเย็บไม่สวย หรือหายไปเลยก็มี เช่นเอางานมาลงๆ พอทำเสร็จก็ขนของหนีหายไปเลยก็มี

แล้วรัฐบาลมีอิทธิพลในตลาดเสื้อผ้าสูงไหม?
มานพ: จริงๆ รัฐบาลมีอิทธิพลในตลาดเสื้อผ้าสูงมาก อย่างที่เราพูดถึงพวกกระทรวงพาณิชย์อุตสาหกรรม หรือพวก SME ก็คือมันแยกออกมาจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมาดูแล SME โดยเฉพาะ เนื่องจากตลาดเสื้อผ้ามันมีการแข่งขันกันสูงมาก รัฐบาลก็สามารถออกมาตรการอย่างเรื่องการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นของ SME ที่มอบส่วนลดในเรื่องของเปอร์เซ็นต่างๆ รัฐบาลควรจะมาดูแลภาคอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าอย่างจริงจังมากขึ้น แล้วก็กำหนดการนำเข้าที่ชัดเจนในเรื่องของเสื้อผ้าต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ ที่ทำให้ตลาดพัง หรือรัฐบาลอาจจะต้องมาดูในเรื่องของกฎหมายแรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าตอนนี้ ในภาคการผลิตเสื้อผ้าซึ่งอยู่ในช่วงขาลง จะทำอะไรเพื่อกระตุ้นได้บ้าง แต่รัฐบาลก็แทบจะไม่ได้มาสนใจหรือมากระตุ้นอะไรเลย แล้วในตอนนี้มันมีการย้ายฐานผลิตเยอะมาก ย้ายไปกัมพูชา เนปาล ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่จ่ายค่าแรงได้ถูกกว่า แต่ในปัจจุบัน ไทยเองตอนนี้โลกโซเชียลสามารถกระจายเป็นวงกว้างได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ของแรงงาน เราก็สามารถร้องเรียนเรื่อต่างๆ หรือแคมเปญต่างๆ ได้เยอะขึ้น นายจ้างก็จะไม่ค่อยกล้าทำอะไรขัดกับหลักกฎหมายต่างๆ ต้องพยายามทำตามกฎหมายให้ได้มากที่สุด
———–
ตอนนี้ดินแดงได้อุดหนุนและสั่งทำเสื้อผ้าจาก Dignity Returns จำนวน 100 ตัว
โดยขายในราคาตัวละ 300 บาท เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการผลิต และเผยแพร่บทความต่างๆ ในดินแดง
หากคุณสนใจ “โรงงานของคนงาน” ชื่นชอบ “เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วปราศจากเลือดและคราบน้ำตา”
หรืออยากสนับสนุนแนวคิดของพวกเราสามารถสั่งซื้อกันได้เลย
ที่เพจ Facebook: Dindeng ดินแดง หรือที่ Instagram: Dindeng_th
ด้วยคำขอบคุณและ Solidarity

by sometimes.DinDeng | Feb 9, 2023 | Articles บทความ, Translation, ความคิดเห็น Opinion, ไทย
บทความต้นฉบับ The Problem Isn’t Classism, It’s Class.
(โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้เข้ากับบริบทไทย)
ผู้แปล สหายคำผาน
คำว่าการเหยียดชนชั้น (classism) มีข้อเสียหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเน้นไปที่การดูถูกเหยียดหยามมากกว่าความเสียหายจริง (injury) อย่างดีที่สุดมันก็เป็นเหมือนคำย่อของการกดขี่ทางสังคมนั่นเอง อย่างแย่ที่สุด “การเหยียดชนชั้น” (classism) ปกปิดความเป็นจริงของระบบทุนนิยมที่คอยข่มเหงและทำให้เกิดการลบภาพชนชั้นนำทางเศรษฐกิจออกไปโดยไม่เข้าไปกีดขวางกระบวนการขูดรีดซึ่งเป็นแหล่งอำนาจของพวกชนชั้นนำ เช่นในกรณี #ClubhouseToxic ที่คนกรุงเทพฯ เยาะเย้ยคนอีสาน
การเหยียดชนชั้นส่วนมากมักจะถูกพูดถึงจากพวกเสรีนิยมผู้มีมโนธรรมสูงส่งและรับคำหยาบไม่ได้ (เช่น คำว่าไอ้คนบ้านนอก ควายแดง ดั้งแหมบ อะไรก็แล้วแต่) และอยากให้ทัศนคติแบ่งแยก เหมารวม ทุกรูปแบบหมดไป พวกเขามักจะเพิ่ม “ชนชั้นแรงงาน” ลงไปในรายการอัตลักษณ์ ดังเช่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สมควรได้รับ “ความเคารพยกย่อง”
แต่หลักๆ แล้ว ชนชั้นไม่ใช่อัตลักษณ์ แม้สังคมทุนนิยมจะโอ้อวดวัฒนธรรมทางชนชั้นที่แตกต่างหลากหลาย ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ตั้งอยู่บนรากฐานทางวัตถุ ไม่ใช่ทางอุดมการณ์ เราพับเรื่องความหยิ่งจองหอง ความละอาย และการดูหมิ่นเอาไว้ก่อน ความจริงก็คือ คนเพียงหยิบมือเดียวเป็นเจ้าของสินทรัพย์ทางการผลิตเกือบทั้งหมดของสังคม สถานการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันอย่างมากระหว่างคนส่วนน้อยกับทุกๆ คนที่ต้องขายแรงงานให้กับนายทุนเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมักจะไม่ได้ค่าตอบแทนเท่าที่ควร และส่วนต่างจะถูกนายทุนเก็บไว้เป็นกำไร
นอกเหนือไปจากการเอารัดเอาเปรียบโดยตรงดังกล่าวนี้แล้ว นายทุนหลายคนแสวงหาผลกำไรโดยการทำร้ายคนงาน โดยใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดจากพลวัตพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเจ้าที่ดินบรรษัท ผู้ให้บริการประกันสุขภาพ และผู้จัดจำหน่ายยา เช่น AmerisourceBergen ที่จงใจวางขายผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคที่มีปัญหาอยู่แล้วจากการจ้างบุคลากรหรือองค์กรภายนอก (outsourcing) และมาตรการรัดเข็มขัด (austerity) ที่ซึ่งชนชั้นแรงงานมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาในทางที่ผิดเป็นพิเศษ
อคติทางชนชั้นเกิดจากการขูดรีดซึ่งเป็นหัวใจของทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำทางวัตถุที่เป็นผลพวงจากระบบ ไม่ใช่ในอีกทางหนึ่ง เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมืองและจิตวิทยาที่หลากหลาย คนร่ำรวยจำนวนเพียงหยิบมือแสวงหาการยืนยันระดับบุคคลและการได้รับความชอบธรรมจากสาธารณะเพื่อการครอบงำคนส่วนมากที่เป็นชนชั้นแรงงาน ซึ่งก่อเกิดเป็นความคิดอันน่าสะอิดสะเอียนที่ว่าพวกเขาเหนือกว่าโดยธรรมชาติ แต่นี่เป็นเพียงการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง การครอบงำทางชนชั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาภายใต้ระบบทุนนิยมไม่ว่าคนจะคิดเห็นต่อกันอย่างไร
ในทางทฤษฎี เราสามารถแสดงออกในสิ่งต้องห้ามที่เป็นอคติทางชนชั้นได้ทั้งหมด แต่คนร่ำรวยจำนวนมากยังคงเก็บอคติส่วนตัวนี้เอาไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความชอบธรรมแก่ผลประโยชน์ของพวกเขา แม้เราจะสามารถปลูกฝังชนชั้นนำทุกคนให้เคารพผู้อื่นอย่างแท้จริงได้ แต่คุณค่าอันสูงส่งเช่นนี้ก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ตราบใดที่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลยังคงเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของเรา
ต่อให้คนมองชนชั้นแรงงานไปในทางที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจยังคงเหมือนเดิม (แม้จะมีการด่าทอกันน้อยลง) ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับคนงานก็จะไม่ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอยู่ดี นั่นก็เพราะโครงสร้างสังคมของเราไม่เอื้อต่อการฟูมฟักคุณค่าทางวัฒนธรรม มันเป็นโครงสร้างที่มุ่งจะแสวงหาผลกำไรอย่างเดียว
ความเคารพให้เกียรติเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาเสมอ แต่ก็ยังไม่น่าปรารถนาเท่ากับความเท่าเทียม เราไม่ควรหยุดความมุ่งมั่นของเราไว้แค่การเป็นคนดีมีมารยาทท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ในทางกลับกัน เราต้องมองว่า ชนชั้นคือรูปแบบหนึ่งของความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ด้วยซ้ำไป