by Pathompong Kwangtong | Apr 11, 2021 | Articles บทความ , Interview , การประท้วง Protest , ไทย
เรื่อง Gabriel Ernst & Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
หลายคนคงประทับใจโรจาวา จากที่ได้อ่านในบทความของเรา หรือได้ดูจากคลิปวีดีโอของพูด ไปแล้ว ครั้งนี้ทาง #Dindeng จึงพาเราเข้าใกล้แดนดินถิ่นนั้นมากขึ้นไปอีก ด้วยการสัมภาษณ์สายตรงไปถึงอาสาสมัครที่ตั้งใจจะอยู่ที่นั่นตลอดชีวิต (เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลากว่าปีนึงแล้ว) เราได้จัดตั้งการประชุมสายจากมหาอาณาจักรล้านนาและเมืองเล็กๆ ในยุโรป ไปถึงใจกลางสหพันธ์ประชาธิปไตยโรจาวา ภายใต้สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ฝากฝั่งหนึ่งต้องเสียเงิน กับอีกที่หนึ่งใช้การได้ฟรี การถอดความครั้งนี้เราจะเล่าเรื่องโดยใช้เสียงเล่าของเราเป็นหลัก และประเด็นการพูดคุยก็ได้มาจากที่ผู้อ่านแนะนำเรามา หากอ่านจบแล้วยังไม่จุใจ ทุกท่านสามารถฝากคำถามเพิ่มเติมได้ ผ่านทางคอมเมนต์หรือช่องทางเพจ Facebook หรือ Twitter ของเรา ถ้าเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์อีก เราจะช่วยไขความกระจ่างให้ท่านแน่นอน
ปัญหาสำคัญในปัจจุบันของโรจาวา คืออะไร และพวกเขามีวิธีการจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ?
ปัญหาใหญ่ภายนอกคือ รัฐบาลตุรกีและซีเรียขัดขวางและสกัดกั้นพวกเขาอย่างเหี้ยมโหด พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้ยากมาก
ส่วนปัญหาภายในก็คือ โดยหลักการแล้ว ทุกปัญหาจะต้องถูกแก้ไขในระดับท้องถิ่น ดังนั้น ปัญหาในโรจาวาจึงไม่ใช่แค่หนึ่งหรือสองปัญหา แต่ในท้องถิ่นต่างๆ ย่อมมี มอง ตีความ และแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน ตามแต่ความประสงค์ของแต่ละท้องที่ อย่างไรก็ตาม ในโรจาวายังคงมีคนรวยกับคนจน เพียงแค่การเป็นคนจนไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่หลวงนัก เพราะผู้คนที่นั่นดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันอยู่ตลอด
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่ควรค่าแก่การพูดถึงก็คือ การเติบโตของชนชั้นนายทุน จากกลุ่มคนที่จัดการเรื่องกระบวนการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ตาม “รัฐ” – ในความหมายของขบวนการความร่วมมือระดับใหญ่ในโรจาวา – จัดการปัญหานี้โดยการสนับสนุนให้เกิดการจัดการนำเข้าสินค้าต่างๆ ด้วยวิธีการแบบสหกรณ์ความร่วมมือ ซึ่งเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และจำกัดการเติบโตรวมทั้งช่องทางทำเงินของชนชั้นดังกล่าว ไม่ให้เติบโตขึ้น
ชาวต่างชาติสามารถเดินทางไปโรจาวาได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องทำอย่างไร?
ได้แน่นอน! พวกเขายินดีต้อนรับชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัย แม้ว่าในทางเทคนิคแล้ว การมาอยู่ที่นี่จะผิดกฎหมาย แต่มันก็ปลอดภัยมาก ไม่เคยมีชาวต่างชาติคนไหน “หายตัวไป” ในโรจาวา หากคุณต้องการจะช่วยเหลือสังคม คุณจำต้องเข้าคอร์สฝึกหัด แล้วคุณก็จะได้เรียนรู้คุณค่าที่พวกเขายึดถือ อันรวมไปถึงการวิพากษ์ตนเองอย่างหนักเข้าไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องปิตาธิปไตยชายเป็นใหญ่
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้พวกเขาไม่ได้ต้องการทหารอาสาอีกแล้ว โรจาวามีอาสาสมัครอยู่ในกองทัพเยอะมาก แต่พวกเขายังต้องการผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านต่างๆ อาทิ วิศวกร แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร
วิธีการเข้าไปที่นั่นก็ไม่ยาก อันที่จริงพวกเขาไม่มีช่องทางหลักอย่างเป็นทางการ แต่สามารถติดต่อค้นหาได้จากช่องทางเช่น Twitter อย่าง Rojava Information Center เป็นต้น ที่เหลือคุณอาจต้องพูดคุยกับพวกเขา แล้วหาทางไปที่อิรัก และขึ้นรถต่อเข้าไปที่โรจาวา
ตัวอย่างชีวิตธรรมดาทั่วไป ในหนึ่งวัน ณ โรจาวาเป็นอย่างไร?
โรจาวาเป็นที่ที่มีความหลากหลายสูงมาก มันจึงยากที่จะยกตัวอย่างชีวิตประจำวันให้เห็น อย่างไรก็ดี ชีวิตที่นั่นค่อนข้างผ่อนคลาย สบายๆ ทุกคนเป็นมิตรและพูดคุยสังสรรค์กันตลอด อย่างเช่น สมมติว่าคุณอยู่ในโรจาวา แล้ววันหนึ่ง คุณตั้งใจเดินเข้าคาเฟ่เพื่อดื่มกาแฟสักแก้ว คุณอาจได้เข้าไปนั่งจิบชากับผู้ดูแลร้าน หลังจากนั้นก็มีคนอื่นเข้ามาขอความช่วยเหลือในการย้ายเฟอร์นิเจอร์ แล้วคุณก็เลยตามเลยไปช่วยเขาย้ายมันที่บ้าน เสร็จแล้วพวกคุณก็ดื่มชาอีกรอบที่บ้านหลังนั้น หลังจากนั้น 4 ชั่วโมงถัดมา คุณก็กลับบ้านโดยไม่ได้ดื่มกาแฟสักแก้ว แต่มันก็เป็นวันที่ดีทีเดียว เพราะคุณได้พูดคุยพบปะสังสรรค์ และหลายต่อหลายครั้ง คุณแทบไม่ต้องใช้เงินเลย บางทีเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเดินผ่านคาเฟ่แล้วพวกเขาไม่ชวนคุณจิบกาแฟสักแก้ว อะไรทำนองนั้น
ชีวิตที่นั่นปลอดภัยมาก อาจกล่าวได้ว่าหลายที่ปลอดภัยกว่านิวยอร์คเสียอีก จนผู้หญิงสามารถเดินทางในเวลากลางคืนคนเดียวได้โดยไม่ต้องกลัวเกรงสิ่งใด แน่นอนว่าสิ่งนี้ได้มาจาการมีกองกำลังป้องกันตนเองของผู้หญิง บ้านสตรี และกลไกต่างๆ ในการเสริมสร้างดูแลผู้หญิงอย่างครบวงจร ผู้สนใจสามารถอ่านได้ในบทความของเรา ในส่วนคณะกรรมการสตรี
โดยสรุปแล้ว ผู้คนที่นั่นพบปะสังสรรค์กัน ถกประเด็นอภิปรายเรื่องปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่น พูดคุยเรื่องการเมือง ทฤษฎี ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสิ่งที่แต่ละคนทำได้ และอื่นๆ อีกมากมาย หลายๆ ครั้ง ผู้คนแทบไม่ได้สนใจว่าตัวเองจะทำอะไร แต่กลายเป็นว่าเราจะช่วยใครทำอะไรมากกว่า
ชาวโรจาวาทำอย่างไร ในการส่งเสริมให้ผู้คนร่วมมือกันทำงานเป็นลักษณะสหกรณ์ ความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?
การพบปะพูดคุยเชิงลึกและยาวนานเป็นสิ่งสำคัญ และกลุ่มคนที่มีบทบาทหลักก็คือผู้หญิง
แก่นแกนสำคัญของการปฏิวัติครั้งนี้ก็คือ มันเป็นการปฏิวัติของผู้หญิง ไม่ใช่แค่การปฏิวัติที่มีผู้หญิงเข้าร่วม แต่ผู้หญิงคือแกนหลักของการปฏิวัติครั้งนี้ ยุทธวิธีง่ายๆ ที่ทำให้การปฏิวัติครั้งนี้เข้มแข็งมากก็คือการที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ปัจจัยหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องทางสังคม ทุกคนที่เข้าร่วมการปฏิวัติครั้งนี้เป็นเพื่อนกัน (ในความหมายที่ดูจะไม่ต่างจากคำว่า ‘สหาย’) เพื่อนจะค่อยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของกันและกัน ไม่ว่ามันจะเป็นปัญหาส่วนบุคคลหรือเป็นปัญหาของชุมชนก็ตามที สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการพยายามสร้างการพบปะสังสรรค์ขนานใหญ่ขึ้น พวกเธอก่อร่างสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนในชุมชนต่างๆ
ชาวโรจาวาจัดการเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาอย่างไร?
ภูมิภาคที่โรจาวาสถาปนาสหพันประชาธิปไตยขึ้นนั้น มีประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายทารุณ ผู้คนต้องทุกข์ทรมาณกับการต่อสู้ระหว่างวัฒนธรรมและศาสนาเป็นอย่างมาก หลายต่อหลายคนสูญเสียชีวิต การปฏิวัติโรจาวาพยายามอย่างหนักหน่วงที่จะหาหนทางจัดการกับปัญหาเรื่องความแตกต่างเหล่านี้ แต่การปฏิวัตินี้ยังคงอยู่ในระยะแรกเริ่ม และความแตกแยกก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ หลายต่อหลายคนยังคงโกรธแค้นการกระทำของอดีตกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ที่กดขี่กันมา บางคนก็มีทัศนคติเหยียดเชื้อชาติเพราะว่าญาติสนิทมิตรสหายของเขาเคยถูกกระทำมาก่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ให้สัมภาษณ์ได้กล่าวกับเราว่า เมื่อเขาไปถึง ณ ที่แห่งนั้นวันแรก เขาพูดภาษาถิ่นไม่ได้ แต่เมื่อเขาไปนั่งที่โรงชาแห่งหนึ่งคนเดียว กลับกลายเป็นว่าทุกคน ณ โรงชากลับเดินเข้ามาหาเขา แล้วก็พูดคุยกัน ผ่านการแปลโดยอาศัยพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ และทุกคนก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันเมื่อคุยถึงเรื่องศาสนาว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
ผู้ให้สัมภาษณ์ยังกล่าวกับเราอีกว่า เมื่อคุณพบเจอการเหยียดเชื้อชาติหรือผู้คนที่มีอคติในเรื่องใดก็ตาม คุณจำต้องพูดถึงมันและจัดการกับเรื่องเหล่านั้น คุณไม่ควรโกรธ คุณควรระลึกเสมอว่าคนที่คุณกำลังพบเจอนั้นมีปัญหา และคุณก็ควรช่วยเขาจัดการกับมัน ด้วยวิธีการพูดคุยกัน อย่างไรก็ดี สิ่งนี้จำต้องใช้เวลา แน่นอนว่าพวกเขาที่นั่นอดทนกันมาก และส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขามีเวลาในการพูดคุยกันเยอะพอตัว
ชาวโรจาวาเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร?
พวกเขามีเพื่อนมากมายอยู่ที่อิรัก ซึ่งช่วยส่งสัญญาณเข้ามาผ่านทาง WiFi ที่เชื่อมต่อโรจาวาทั้งหมดเข้าสู่เครือข่ายของอีรักผ่านเสาสัญญาณต่อๆ กัน และเมื่อต่อสัญญาณไปถึงอิรักได้แล้ว ก็หมายความว่าพวกเขาเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์
(สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่พวกเขาใช้ในการสัมภาษณ์ ก็ดูลื่นไหลไม่ติดขัดอะไร หลายครั้งดีกว่าสัญญาณของผู้สัมภาษณ์เสียอีก)
โครงการทางการเมืองที่มีจิตวิญญาณการกระจายอำนาจและต่อต้านรัฐ-ทุนเช่นโรจาวานี้ เคยได้ยินเรื่องราวของผู้คนในพม่าบ้าง ณ ตอนนี้หรือไม่? และพวกเขามีคำแนะนำในเรื่องทางยุทธวิธีหรือยุทธศาสตร์ต่างๆ สำหรับเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้บ้างหรือไม่?
ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวกับเราว่าเขาไม่รู้สถานการณ์ในไทยและพม่า อย่างไรก็ดี เขาสนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้น และเราก็ได้พูดคุยกับเขาเรื่องนี้เล็กน้อย
สำหรับเรื่องการปฏิวัติโรจาวานั้น เขากล่าวว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้ อย่างแรกเลยก็คือ ผู้คนในระดับท้องถิ่นมีการจัดตั้งกันเองขึ้นมาอย่างลับๆ สิ่งเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งเป็นหัวหอกของการปฏิวัติครั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า พวกชนชั้นนำมองพวกเธอว่าอ้อนด้อย ไร้ค่ายิ่งกว่ามนุษย์ จนทำให้พวกเขาละเลยการสอดส่องตรวจตราการเมืองของเหล่าผู้หญิงทั้งหลาย ในขณะที่ผู้ชายโดยเฝ้าจับตามองอยู่ตลอดเวลา ถัดมาเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองซีเรียขึ้น รัฐบาลก็จำต้องถอยทัพออกไป แล้วผู้คนตามท้องที่ต่างๆ ก็มีอิสระในการสถาปนาสถาบันและการปกครองของพวกเธอเองขึ้นมา ดังนั้นแล้ว คำแนะนำหลักของเขาก็คือ ‘ให้ผู้หญิงพกปืนอัตโนมัติ’ ซึ่งดูเป็นเรื่องตลก แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ตลกสักเท่าใด เพราะมันเป็นเรื่องที่มีเหตุผลทางยุทธวิธีในการสร้างการปฏิวัติของผู้หญิง และในทางศีลธรรมแล้ว มันก็คือการจัดการกับระบบปิตาธิปไตยนั่นเอง
ท้ายที่สุดแล้ว การปฏิวัติครั้งนี้เป็นเรื่องของท้องถิ่น ณ ตอนนี้ก็จริง แต่พวกเขาต้องการก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ และพวกเขายินดีโอบรับและแผ่ซ่านความร่วมมือไปทุกที่อย่างแน่นอน
ประเด็นทิ้งท้ายที่สำคัญ
ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวเน้นว่า การศึกษาคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่การศึกษาของปัจเจก แต่เป็นเรื่องการศึกษาในระดับกลุ่ม หรือจะเรียกว่ากลุ่มศึกษาก็ย่อมได้ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่นั่น จุดเน้นหลักก็คือการทำลายการครอบงำแบบผู้ชายทิ้งเสีย ซึ่งจำต้องมีการวิพากษ์ตนเองอย่างมากมายมหาศาล แต่เป็นกระบวนการผ่านการศึกษาแบบรวมหมู่ และโดยทั่วไปแล้ว มันคือการผนวกรวมเพื่อนฝูงเขามาในกระบวนการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิการเข้าไปเคาะประตูบ้านเพื่อพบปะสังสรรค์พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่พวกเขาตระหนักและสนใจ เพื่อดึงพวกเขาเข้ามาร่วมในกระบวนการทางการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นต้น
by Pathompong Kwangtong | Feb 16, 2021 | Articles บทความ , Translation , weekly newsletter , การประท้วง Protest , สตรีนิยม Feminism , ไทย
ผู้เขียน Gohar Ali Memon
ผู้แปล Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
การกลับมาของขบวนการสตรีนิยมปากีสถานครั้งนี้ คุณ Memon ได้เขียนถึงองค์กรที่คนไม่ค่อยเห็นค่าซึ่งนำโดยผู้หญิงที่มีรากฐานมาจากชาวนา ไม่ใช่ชนชั้นกลางในเมือง
ปี 1979: นักกิจกรรมจาก Sindhiyani Tehreek ประท้วงการตัดสินประหารชีวิต Zulfikar Ali Bhutto ภาพ: Flickr
Sindhiyani Tehreek (ST) คือองค์กรทางการเมืองที่นำและก่อตั้งขึ้นจากหญิงสาวชาวชนบทในจังหวัด Sindh ทางตอนใต้ของปากีสถาน ขบวนการนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ในระหว่างการต่อสู้กับระบอบเผด็จการป่าเถื่อนของนายพล Zia-ul-Haq ภายใต้ร่มใบใหญ่ของขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย ภายหลังการลอบสังหารนายพล Zia ในปี 1988 องค์กร ST ได้ต่อสู้เพื่อการจัดสรรทรัพยากรน้ำในจังหวัด Sindh โดยต่อต้านขัดขืนการสร้างเขื่อนต่างๆ อันจะทำให้จังหวัดแห้งแล้ง ขบวนการต่อต้านเขื่อนดำเนินกิจกรรมยาวนานตลอดระบอบของ Benazir Bhutto, Nawaz Sharif และ นายพล Musharraf ผู้นำหญิงของ ST ยังคงต่อต้านขัดขืนอยู่เสมอ แม้ว่าเธอจะอายุอานามมากโขแล้วก็ตาม
แต่อะไรเล่าที่จุดประกายจิตวิญญาณการขบถครั้งนี้? ภายใต้สังคมศักดินาและปิตาธิปไตยที่ชายเป็นใหญ่ครองเมือง ที่ที่เกียรติยศยังคงได้มาจากการสังหารฆ่าฟัน ที่ที่อัตราการอ่านออกเขียนได้ในแถบชนบทนั้นแทบไม่ถึงหนึ่งในสี่ ความรุนแรงในครอบครัวไม่แม้แต่จะถูกจดจารลงบันทึกประจำวัน แล้วหญิงสาวชาวชนบทเหล่านี้สามารถนำการต่อต้านขัดขืนระบอบเผด็จการอันป่าเถื่อนที่สุดของปากีสถานได้อย่างไร? สิ่งไหนจะเป็นบทเรียนให้กับขบวนการสตรีนิยมปากีสถานที่ลุกขึ้นมาสู้ในสมัยนี้ได้บ้าง? ที่จริงแล้ว เราสามารถเรียก Sindhiyani Tehreek ว่า ‘สตรีนิยม’ ได้หรือไม่? นี่คือบางคำถามที่ผมหวังจะหาคำตอบให้ได้
รากฐานทางอุดมการณ์ของ Sindhiyani Tehreek
องค์กร ST ก่อตัวขึ้นจากผู้หญิงในพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของ Sindhi ชื่อว่า Awami Tehreek พรรค Awami Tehreek เกิดจากสติปัญาของ Rasool Bux Palijo ปัญญาชนและนักการเมืองฝ่ายซ้ายมากประสบการณ์ ผู้มีความคิดทางการเมืองโดดเด่น Palijo มีจุดยืนที่แตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์จารีตของปากีสถานในเรื่อง ‘ปมปัญหาของชาติ’ และต่างจากกลุ่มชาตินิยมทั่วๆ ไปใน Sindh เกี่ยวกับเรื่องปมปัญหาของการต่อสู้ทางชนชั้น
‘ภายใต้สังคมศักดินาและปิตาธิปไตยที่ชายเป็นใหญ่ครองเมืองนี้ ที่ที่เกียรติยศยังคงได้มาจากการสังหารฆ่าฟัน ที่ที่อัตราการอ่านออกเขียนได้ในแถบชนบทนั้นแทบไม่ถึงหนึ่งในสี่ และความรุนแรงในครอบครัวไม่แม้แต่จะถูกจดจารลงบันทึกประจำวัน แล้วหญิงสาวชาวชนบทเหล่านี้สามารถนำการต่อต้านขัดขืนระบอบเผด็จการอันป่าเถื่อนที่สุดของปากีสถานได้อย่างไร?’
การที่จังหวัด Sindh ถอยห่างจากโปรเจคใหญ่ว่าด้วยสหพันธ์ปากีสถาน ซึ่งเป็นสหพันธ์ที่ฝ่ายซ้ายของปากีสถานรุ่นก่อนๆ ได้ช่วยกันสร้างขึ้น คือรากฐานที่ทำให้ Palijo ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้ายจารีตของปากีสถาน พรรคคอมมิวนิสต์อินเดียสนับสนุนความคิดเรื่องความเป็นชาติมุสลิม และช่วยให้สหายชาวมุสลิมได้ร่วมมือกับพรรคสันนิบาตมุสลิม ภายใต้ข้อเสนอของ Adhikari โดยทั่วไปคนมองว่าพรรคนี้มีแนวทางต่อต้านอาณานิคม และสิทธิในการแบ่งแยกดินแดนก็ได้รับการยอมรับภายใต้ฉากหน้าของสิทธิในการปกครองตนเอง ดังนั้นแล้ว เหล่าคอมมิวนิสต์จึงยอมรับทั้งไอเดียของปากีสถานและสันนิบาตมุสลิม พรรคที่นำโดยชนชั้นปกครองศักดินาแห่งสหรัฐอินเดีย (United India) ว่ากันแล้ว การยอมรับสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ในฝ่ายซ้ายปากีสถานหลังแบ่งแยกดินแดน ประเด็นปัญหาเรื่องภาษาและการจัดสรรน้ำในรูปแบบการกระจายอำนาจกลับไม่ได้รับการพูดถึงในวงอภิปรายฝ่ายซ้ายเลย
ในปี 1954 รัฐบาลปากีสถานแบนพรรคคอมมิวนิสต์ และบังคับใช้รูปแบบรัฐรวมศูนย์ (One Unit Scheme) ยกเลิกอำนาจปกครองตัวเองบางส่วนของจังหวัดต่างๆ ที่พวกเขาเคยสัญญาไว้ในข้อตกลง Lahore หลังจากนั้น ในปี 1955 ก็มีการสร้างเขื่อ Kotri ในบริเวณใกล้เคียง Hyderabed ตามด้วยเขื่อน Guddu ณ ตอนเหนือของจังหวัด Sindh เมื่อปี 1962 เขื่อนทั้งสองทำให้บางส่วนของจังหวัด Sindh อุดมสมบูรณ์ขึ้น แทนที่ชาวนาจะได้รับผืนดินบริเวณดังกล่าว มันกลับถูกแจกจายให้แก่พวกศักดินาและทหารชนชั้นนำชาวปากีสถาน ที่ไม่ใช่คนในจังหวัด Sindhi ปัญหาต่างๆ ของชาวนา Sindhi นั้นหนักหนาสาหัสมากขึ้น เมื่อมีการเซ็นสนธิสัญญา World Bank-brokered Indus Water ระหว่างปากีสถานกับอินเดียเมื่อปี 1960 สนธิสัญญานี้ก่อให้เกิดหายนะแก่จังหวัด Sindh และแถบชายฝั่งที่ราบลุ่มต่างๆ ผู้อยู่อาศัยแถบนั้นเผชิญหน้ากับความเป็นความตาย อันเนื่องมาจากความขาดแคลนน้ำในแถบชายฝั่ง หากนับรวมปัญหาทางภาษา ซึ่งมีต้นตอมาจากการประกาศของ Jinnah ให้ Urdu เป็นภาษาประจำชาติภาษาเดียว ทำให้ผู้คนสูญเสียอิสรภาพในตนเองแล้วไซร้ การแจกจ่ายที่ดินทำกินบริเวณเขื่อนให้แก่ชนชั้นนำที่ไม่ใช่ชาว Sindhi ก็ได้ฝังรากแก้วแห่งความคับแค้นให้กับชาวนาในพื้นที่ และโหมกระพือความคิดชาตินิยมใน Sindhi
ตลกร้ายก็คือ หากว่ากันด้วยประวัติศาสตร์แล้ว จังหวัด Sindh นี่แหละเป็นที่แรกที่รับรองข้อตกลงปากีสถาน ผู้นำสันนิบาตมุสลิมของ Sindh ที่ชื่อว่า G. M. Syed ได้ช่วยให้ข้อตกลงนี้ผ่านไปได้ เขาเชื่อว่าสันนิบาตมุสลิมจะเป็นยาถอนพิษแก่นโยบายรัฐรวมศูนย์ของคองเกรสได้ อย่างไรก็ตาม เพียงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษตั้งแต่การเกิดขึ้นของปากีสถาน จังหวัด Sindh ก็ถูกริบอำนาจการปกครองตนเองไป G. M. Syed ถูกจับ จอมพล Ayub Khan ผู้นำเผด็จการทหารในเวลานั้น ใช้หลักการแข็งกร้าวในการปกครอง เขาลงนามในสนธิสัญญา Indus Water กับอินดียที่มีเนื้อหาเป็นปรปักษ์กับชาว Sindh และแจกจ่ายที่ดินทำกินของจังหวัด Sindh ให้แก่ชนชั้นนำที่ไม่ใช่ชาวบ้าน Sindh เขายังสนับสนุนกลุ่มฝ่ายซ้ายนิยมจีนในปากีสถานเพราะเขามีความสัมพันธ์อันหวานชื่นกับจีนอีกด้วย Palijo ซึ่งใช้มุมมองแบบมารฺกซิสต์เลนินนิสต์ ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้ายเหล่านี้ที่มองว่าเรื่องการปกครองตนเองระดับจังหวัด การจัดสรรทรัพยากรน้ำ และอธิปไตยทางภาษาเป็นเรื่องชาตินิยมล้าหลัง เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากนโยบายต่างประเทศของมอสโกว์และปักกิ่ง มากกว่าที่จะเป็นความคิดมารฺกซิสต์โดยแท้ พวกเขาควรทำให้บ้านเมืองเป็นระบบ จัดการกับปัญหากระฎุมพีในปากีสถานเองให้เรียบร้อย เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองของชนชาติต่างๆ ในประเทศของพวกเขา ก่อนที่จะเริ่มโครงการสร้างโลกที่เท่าเทียม
‘Palijo ซึ่งใช้มุมมองแบบมารฺกซิสต์เลนินนิสต์ ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายซ้ายเหล่านี้ที่มองว่าเรื่องการปกครองตนเองระดับจังหวัด การจัดสรรทรัพยากรน้ำ และอธิปไตยทางภาษาเป็นเรื่องชาตินิยมล้าหลัง’
แต่ Palijo ก็ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มชาตินิยมชาว Sindh G. M. Syed ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เมื่อปี 1966 เขาคิดว่าตัวเองคงไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยในประเทศนี้ได้อีกแล้ว ดังนั้นเขาจึงก่อร่างสร้างแนวร่วมทางวัฒนธรรม เพื่อฟูมฟักจิตสำนึกทางการเมืองในชาว Sindh ขึ้นแทน ตัวอย่างองค์กรทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ Bazm-e-Sufia-e-Sindh และสหพันธ์นักศึกษา Jeay Sindh Palijo ในวัยหนุ่มได้เป็นส่วนหนึ่งของ Bazm
ไม่นานนัก ฝ่ายรัฐก็มองแนวทางของ Syed ออก เขาจึงถูกจับอีกครั้ง ตลอดระยะเวลาของระบอบ Zulfikar Ali Bhutto ที่ยอมทำตามความต้องการของ Muhajir โดยการทำให้ Urdu เป็นภาษาทางการของ Sindh เคียงคู่ไปกับภาษา Sindhi และประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1973 ที่ไม่ยอมรับรองว่าจังหวัดเป็นส่วนประกอบหลักของรัฐทั้งหลาย แต่เป็นเพียงแค่ส่วนย่อยแห่งสหพันธ์ Syed จึงสูญสิ้นความหวังว่าชาว Sindh จะเป็นอิสระและรุ่งโรจน์ภายใต้ปากีสถาน เขาจึงก่อตั้ง Jeay Sindh Muttahida Mahaz ซึ่งดำเนินนโยบาย ‘Sindhudesh’ ซึ่งหมายถึงการแยกตัวจากปากีสถานอย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม Palijo ไม่เห็นด้วยกับ Syed เขาเชื่อว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากกรรมาชีพและมวลชนชาวนารากหญ้า หากไม่มียุทธศาสตร์ปฏิวัติผ่านพรรคที่ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าแล้วไซร้ นโยบายนี้คงจบลงด้วยหายนะเป็นแน่ Palijo เชื่อว่าขบวนการทางวัฒนธรรมที่พึ่งพานักศึกษาเป็นหลักอย่างขบวนการของ Syed นั้นมีข้อจำกัด เพระหากไม่มีรากฐานมาจากมวลชนแล้วนั้น ขบวนการชาตินิยมอาจถูกพวกชนชั้นนำศักดินาทั้งหลายแทรกแซงแล้วยึดเอาไปใช้ และอาจถูกบดขยี้จากรัฐตั้งแต่ระยะตั้งไข่ก็เป็นได้
Rasool Bux Palijo ปราศัย ณ การเดินขบวนในจังหวัด Sindh Palijo เป็นที่นิยมในจังหวัดเนื่องด้วยความก้าวหน้าและนโยบายชาตินิยมของเขา ภาพ: Facebook
Palijo และพรรค Awami Tehreek ของเขานำเสนอแนวทาง ‘การปฏิวัติประชาธิปไตยของประชาชนแห่งชาติ’ ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อบรรยากาศที่ปกคลุมไปด้วยแนวคิดแบบซ้ายและชาตินิยมในขณะนั้น แนวทางนี้เป็นชาตินิยม เพราะพวกเขาเชื่อเรื่องสิทธิในความเป็นชาติของประชาชนชาว Sindh เป็นสังคมนิยมและประชาธิปไตย เพราะรากฐานของพวกเขามาจากมวลชนกรรมาชีพ/ชาวนาและเข้าร่วมการต่อสู้ในสงครามชนชั้น อีกทั้งเป็นแนวทางปฏิวัติ เพราะพวกเขาไม่เชื่อในแนวทางรัฐสภานิยมหรือการปฏิรูปของกระฎุมพี แนวทางนี้เกิดขึ้นเพราะ Palijo ได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าคอมมิวนิสต์ในขบวนการต่อต้านอาณานิคมของจีน อัลจีเรีย และเวียตนาม หลังจากก่อตั้งพรรค Awami Tehreek ในเดือนมีนาคมปี 1970 Palijo ก็นำเสนอความคิดมารฺกซิสต์เลนินนิสต์ใน Sindh เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับโฮจิมินห์และเหมา กระทั่งแปลงานเขียนคอมมิวนิสต์ที่สำคัญๆ ในการสร้างองค์กรปฏิวัติชาตินิยมขึ้นด้วย เขาคิดว่า Sindh อยู่ในตำแหน่งอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์ ที่ที่ประชาชนต้องต่อสู้กับทั้งอำนาจรัฐในแนวทางอาณานิคมใหม่ของปากีสถาน และพวกชนชั้นนำศักดินาคอรัปชั่นทั้งหลาย Palijo จึงเชื่อว่าการสร้างขบวนการที่มีทั้งแนวคิดชาตินิยมและสังคมนิยมปฏิวัตินั้นเป็นเรื่องจำเป็น
อีกทั้งยืนกรานว่าเราจำเป็นต้องมีผู้หญิงในขบวนการนี้ด้วย
ภายใต้แนวทางนี้ เขาเริ่มจัดตั้งสหายหญิงในบ้านของเขาและรอบๆ บริเวณ ณ Jungshahi ซึ่งเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ในเขตของ Sindh ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมือง การประท้วง และแนวนโยบายผ่านการจัดตั้งของพรรค Awami Tehreek โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากชุมชนของเขา เมื่อนโยบาย One-Unit [นโยบายควบรวมจังหวัดของปากีสถาน ณ ขณะนั้น – ผู้แปล] จบสิ้นลง และการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น Palijo ได้กดดันให้มีการตีพิมพ์รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาษา Sindhi ด้วย เพราะรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกตีพิมพ์เพียงแค่ในภาษา Urdu เท่านั้น นี่เป็นอีกหนึ่งในวิธีการสร้างความลำเอียงทางภาษาแบบเก่าๆ ที่หลอกหลอนจังหวัดเล็กๆ ตลอดเวลาตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาปากีสถาน ลูกเลี้ยงติดภรรยาของ Palijo อย่าง Akhtar Baloch เป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญในการกดดันให้เกิดการตีพิมพ์รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังกล่าว ตำรวจจับเธอเข้าคุก เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีการแปลและตีพิมพ์ข้อเขียนจากสมุดบันทึกในคุกของเธอในชื่อ เรื่องเล่าของนักโทษ เป็นภาษาอังกฤษ Baloch เป็นหนึ่งในผู้หญิงหลายคนที่ได้รับการฝึกฝนทางอุดมการณ์และได้รับแรงบันดาลใจจาก Palijo กับพรรค Awami Tehreek ผู้หญิงเหล่านี้ ส่วนมากมาจากชนบทของ Sindh และจะได้กลายเป็นผู้ก่อตั้ง ST ในต้นทศวรรษ 1980 ต่อไป
ขบวนการ Sindhiyani ต่อต้านกฎอัยการศึก
ปี 1979 นายกรัฐมนตรี Zulfikar Ali Bhutto ถูกจับแขวนคอโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎอัยการศึกของนายพล Zia-ulHaq และปีเดียวกันนั้นเอง นายพล Zia ยังบังคับใช้กฎหมาย Hudood ซึ่งบรรจุข้อห้ามต่างๆ ของศาสนาอิสลามที่เรียกกันว่าชะรีอะฮ์ลงไปในประมวลกฎหมายอาญาด้วย หนึ่งในแง่มุมที่มีปัญหามากที่สุดในกฎหมายของนายพล Zia คือการทำให้เพศสัมพันธ์นอกการสมรสผิดกฎหมาย กฎหมายนี้เป็นอันตรายต่อผู้หญิงอย่างมาก เพราะมันทำให้พวกเธอสูญสิ้นความคุ้มกันทางกฎหมายจากการข่มขืนกระทำชำเราและการคุกคามทางเพศ ภายใต้ระบบกฎหมายใหม่นี้ ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศต้องมีพยานอย่างน้อยสี่ปากในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ว่าการคุกคามนั้นเกิดขึ้นจริง หากไม่มีพยานรู้เห็นแล้วไซร้ พวกเธอเองก็จะถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสและได้รับโทษจำคุก หรือกระทั่งถูกปาหินใส่จนถึงแก่ชีวิตแทน
ระบอบ Zia ยังคงดำเนินนโยบายแปลงทุกอย่างให้เป็นอิสลามอย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะการต่อต้านผู้หญิง) ศาลพิเศษชะรีอะฮ์แห่งสหพันธ์ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อการตัดสินข้อกล่าวหาในกฎหมายชะรีอะฮ์โดยเฉพาะ ในปี 1984 คำสั่ง Qanun-e-SHahadat ถูกประกาศใช้ ซึ่งมีผลลดพยานของผู้หญิงในชั้นศาลลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย นายพล Zia ยังมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้หญิงปรากฎตัวในโทรทัศน์โดยไม่มีผ้าคลุมศีรษะด้วย
‘[Palijo] คิดว่า Sindh อยู่ในตำแหน่งอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์ ที่ที่ประชาชนต้องต่อสู้กับทั้งอำนาจรัฐในแนวทางอาณานิคมใหม่ของปากีสถาน และพวกชนชั้นนำศักดินาคอรัปชั่นทั้งหลาย’
ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในเมืองก่อตั้งลานประชุมการเมืองสตรี (Women’s Action Forum) ขึ้นเพื่อต่อต้านแนวนโยบายเหยียดและกดทับผู้หญิงของนายพล Zia ขบวนการนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับขบวนการ ST อันเป็นขบวนการที่แตกต่าง เพราะมีรากฐานมาจากมวลชนผู้หญิงในชนบท หนึ่งปีให้หลังจากการก่อตั้ง ST เมื่อ 1982 ขบวนการต่อต้าน Zia เพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย (MRD) ได้เริ่มต้นขึ้น แม้ว่าจะกระจายไปทั่วปากีสถาน ขบวนการนี้ก็ได้รับความนิยมสูงสุดใน Sindh พรรคประชาชนปากีสถานของ Zulfikar Ali Bhutto ซึ่งนำโดย Benazir Bhutto ร่วมกับพรรค Awami Tehreek และพรรคที่มีแนวทางประชาธิปไตยไม่อิงศาสนาได้รวมตัวกันขับเคลื่อนประชาชนทั่วทั้งจังหวัด Sindh องค์กรอย่าง ST มีส่วนร่วมในขบวนการนี้อย่างแข็งขัน ประชาชนจากชุมชนและหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัด Sindh ออกมาประท้วงต่อต้านเผด็จการ ประชาชนใน Sindh เผชิญหน้ากับยานยนตร์ของกองทัพด้วยมือเปล่าไร้เกราะกำบังใดๆ ผู้ชุมนุมหลายคนถูกทุบตี ทรมาณ และจับขังคุก สมาชิกหลายคนของพรรค Awami Tehreek ทุกข์ทรมาณอยู่ในคุก ครอบครัวรอคอยวันคืนที่พวกเขาจะได้กลับบ้าน
นักกิจกรรมของ Sindhiyani Tehreek เดินขบวนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย (MRD) และพันธมิตรทางการเมืองฝ่ายซ้ายได้ก่อตัวขึ้นในช่วงหลังทศวรรษ 1980 เพื่อต่อต้านเผด็จการทหารของนายพล Zia-ul-Haq ภาพ: Sarmad Palijo จาก Twitter
ขบวนการ ST ยังคงถูกจัดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการขับเคลื่อนผู้หญิงที่เกียวข้องกับผู้ถูกคุมขัง (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) เป็นพิเศษ สหายหญิงอย่าง Shahnaz Rahu, ลูกสาวของผู้นำชาวนาแห่งพรรค Awami Tehreek อย่าง Fazil Rahu, และลูกสาวของ Falijo ทั้งสองคนอย่าง Ghulam Fatima กับ hoor un Nisa เริ่มเดินเคาะประตูบ้านของสหายผู้ถูกคุมขังและชักชวนครอบครัวของเขาเข้าร่วมการต่อสู้ ผู้หญิงที่ได้รับการฝึกฝนทางอุดมการณ์ของ ST ประสบผลสำเร็จในโครงการนี้แทบจะทันที ผู้หญิงหลายคนในพื้นที่ชนบทของ Sindh เข้าร่วม MRD ผ่านช่องทางของ ST
สมาชิกผู้ก่อตั้ง ST อย่าง Hoor Palijo ได้รับมอบหมายในพันธกิจการจัดตั้งผู้หญิงเพื่อการแสดงออกทางการเมือง เธอทำกระทั่งตระเตรียมสหายให้พร้อมรับมือการถูกจับกุมที่มักเกิดขึ้นจากการประท้วง Hoor ใช้ประโยชน์จากชั้นเรียนในการเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ เธอเป็นอาจารย์วิทยาลัยในเขต Thatta หลังจากสอนหนังสือในชั้นเรียนเสร็จ เธอพานักศึกษาหญิงของเธอและคนอื่นๆ ไปฝึกที่ Hyderabed เพื่อเข้าร่วมการประท้วงในเมือง เพื่อการเตรียมพร้อมหากโดนจับกุม ผู้หญิงทั้งหลายจึงต้องพกกระทั่งถุงยังชีพสำหรับอยู่ในคุกไปด้วย อายุอานามของผู้ประท้วงหญิงนั้นหลากหลาย มีตั้งแต่เด็กสาวจนถึงแก่ชรา หลายคน อาทิ Kulsoom Palijo, Shabnam Palijo, และ Marvi เป็นเพียงแค่นักเรียนชั้นป.6 เท่านั้น
Hoor และสหายของเธอตระเตรียมสหายหญิงเพื่อการประท้วง ณ Hyderabed เป็นประจำจนเป็นกิจวัตรไปแล้ว มีสหายหญิงหลายคนเข้าร่วมกันต่อสู้ใน Hyderabad จากแถบชนบทที่หลากหลาย อาทิ Larkana, Sukkur, Badin, Sanghar, Khairpur, และ Dadu สหายในคุกทั้งหลายซึ่งถูกเรียกว่าชาว Sindhiyani นั้นไม่ได้อยู่ในภาวะเศร้าซึมหรือร้องห่มร้องไห้แต่อย่างใด พวกเขายังรักษาเชื้อไฟแห่งการปฏิวัติในจิตวิญญาณไว้ได้ พวกเขาร้องเพลงปฏิวัติ จัดตั้งกลุ่มศึกษา และป่าวประกาศสโลแกนต่อต้านนายพล ZIa ขบวนการ ST เปรียบดั่งสายฟ้าฟาดใส่สังคมศักดินา เพราะสังคมแบบนั้นมองผู้หญิงว่าต้อยต่ำกว่าชาย พวกเขามองว่าผู้หญิงต้องสยบยอมและสุภาพเรียบร้อย ขบวนการนี้ให้กำเนิดหญิงสาวนักปฏิวัติผู้มีความกล้าหาญในการมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่น ความกล้าหาญชาญชัยและไม่เกรงกลัวที่ต้องเสี่ยงภัยของพวกเธอสามารถดูได้จากเหตุการณ์ที่เล่าโดย Hoor ดังนี้:
เรากลับสู่ Jungshahi จาก Hyderabed โดยรถไฟแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว จนวันหนึ่งเราพบการเคลื่อนไหวของกองทัพอันน่าสงสัย ณ สถานีรถไฟ ฉันมีความคิดว่าพวกนั้นจะเข้ามาจับกุมเรา เราไม่ได้กลัวเลย ไม่เลยสักนิด แต่หากว่าเราโดนจับในตู้รถไฟอันมืดมิดโดยไม่มีพยานรู้เห็น และไม่มีใครต่อต้านขัดขืนหรือปลุกระดมในพื้นที่ มันก็จะขัดต่อนโยบายของพรรค เราจึงเดินไปทั่วขบวนรถไฟ และพวกเขาก็ตามเรามา จนเมื่อเราอยู่ในตู้โดยสารเดียวกัน และอยู่ ณ พื้นที่ระหว่าง Jungshahi กับ Hyderabad เราคิดว่าหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เราจะลงจากขบวนรถ แล้วหาที่อยู่ไปพลางๆ ก่อน ระหว่างทางมีสถานี ‘Latif Chang’ เราอยู่ในภาวะที่ตัดสินใจไม่ได้เนื่องจากมีทหารอยู่ในตู้โดยสารเดียวกัน จนสุดท้ายก็คิดว่าต้องเป็นสถานีนี้แหละที่เราจะลง พวกเรากว่า 17-18 ชีวิตกระโดดออกจากตัวรถไฟ แล้ววิ่งแยกย้ายจากกันไป เราไปถึงหมู่บ้านพร้อมกับการบาดเจ็บตามแขนขา ชาวบ้านพยายามช่วยพวกเราอย่างสุดกำลังความสามารถ ด้วยความเมตตาปราณี แต่ความขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ทำให้ความกรุณาช่วยเหลือของพวกเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก มีจักรยานคันเดียวเท่านั้นในหมู่บ้าน ที่จะนำพาผู้บาดเจ็บเข้าสู่ถนนหลักได้เพียงครั้งละหนึ่งคน และพระเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ว่าเราควรทำอย่างไร
Sindhiyani Tehreek มีส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนหญิงสาวชาว Sindh ในขบวนการ MRD ภาพ: Twitter
Benazir Bhutto ลี้ภัยออกนอกประเทศในปี 1984 ส่วน Palijo และพันธมิตรของเขาอย่าง Fazil ถูกจับ จังหวะก้าวเดินของขบวนการจึงเชื่องช้าลง อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 1986 ขบวนการก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้ว่า Benazir Bhutto ซึ่งกลับมาในปี 1986 ประกาศว่าเธอไม่เชื่อในการเมืองของการแก้แค้น และต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างสันติก็ตาม แต่ความหัวเสียพารานอยด์ของระบอบทหารก็ยังไม่จบสิ้น หลายคนยังคงถูกจับ ชาว Sindhiyani หลายคนออกมาสู้ที่แนวหน้าอีกครั้ง พวกเขาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนอย่างปลอดภัย อันรวมไปถึงผู้นำของพวกเขาที่ถูกกุมขังในคุก Kot Lakhpat ของ Lahore ด้วย อำนาจของนายพล Zia อ่อนกำลังลงเรื่อยๆ แต่ก่อนที่เขาจะได้ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ก็ดันเสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในเดือนสิงหาคมปี 1988 ไปเสียก่อน
‘[Sindhiyani Tehreek] ให้กำเนิดหญิงสาวนักปฏิวัติผู้มีความกล้าหาญในการมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่น’
ขบวนการต่อต้านเขื่อน
ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้ารัฐปากีสถานตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาแสดงให้เห็นในหลากหลายประเด็น ปัญหาเรื่องภาษายังคงดำรงอยู่จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ และประเด็นด้านความอิสระของจังหวะยังคงอยู่ในกำมือของทั้งเผด็จการและรัฐบาลพลเรือนที่นิยมแนวทางรวมศูนย์ (เช่นรัฐบาลอิหม่ามของ Khan ในปัจจุบัน) เช่นเดียวกันนั้นเอง ปัญหาว่าด้วยเรื่องเขื่อนหรือการจัดสรรน้ำยังคงสร้างความร้าวฉานโกรธเคืองให้กับชาว Sindh หลายคน
ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญา Indus Water กับอินเดียเมื่อปี 1960 ปากีสถานก็ขายแม่น้ำกว่าหกแห่งให้กับอินเดียและมีแผนจะสร้างเขื่อนและขุดคลองด้วยเงินที่ได้มานั้น เกิดปัญหากระแสน้ำอ่อนแรงลงในแม่น้ำที่เหลืออยู่ของปากีสถาน เนื่องจากน้ำถูกดึงไปใช้ในแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่อาทิ เขื่อน Tarbela ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยอินเดีย และเขื่อน Mangla Dam ซึ่งถูกสร้างขึ้นในแม่น้ำ Jhelum เป็นต้น จังหวัด Sindh ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการลดลงของแหล่งน้ำเพียงหนึ่งเดียวโดยโครงการอย่างคลองเชื่อมต่อ Chashma-Jehlum คลองนี้แรกเริ่มเดิมที่มีไว้เพื่อป้องกันอุทกภัย แต่การณ์กลายเป็นว่ามันกักเก็บน้ำอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งช่วงเวลาทั่วไป จนนำมาซึ่งความขาดแคลนน้ำอย่างถาวรของจังหวัด Sindh
ชาว Sindh ประท้วงการตัดกำลังน้ำในแม่น้ำ Indus อย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจของพวกเขาพึ่งพาการเกษตรเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อเสนอเพื่อการสร้างเขื่อน Kalabagh อันเป็นโปรเจคที่จะสร้างขึ้นในแม่น้ำ Indus ณ เขต Mianwali ของ Punjab โดนต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากชาวบ้านในจังหวัด Sindh อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อต้านเขื่อนไม่ได้รับการเหลียวแลอยู่หลายปี พวกชนชั้นนำอ้างว่าเขื่อนจำเป็นในการดึงเอาไฟฟ้าพลังงานน้ำมาใช้เพื่อการพัฒนาในวงกว้าง อันเป็นวาทะกรรมที่สื่อระดับชาตินำไปโหมกระพือต่อ
วาทะกรรมสนับสนุนเขื่อน Kalabagh กลายเป็นกระแสหลักในช่วงท้ายทศวรรษ 1980 Palijo เริ่มทำการขับเคลื่อนผู้คนเข้าต่อต้านและชาว Sindhiyani ก็เข้าร่วมขบวนการเช่นเดียวกัน ชาว Sindhiyani เข้าร่วมเดินท้าวทางไกลภายใต้แดดแผดเผาแห่งฤดูร้อน พวกเขาเดินเท้าพร้อมๆ กับลูกหลานที่เกาะอยู่บริเวณเอว เปลวไฟแห่งการปฏิวัติดวงเดิมลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ขบวนการนี้เติบโตจนกระทั่ง Benazir Bhutto (อดีตนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น) ก็เข้าร่วมด้วย ในท้ายทศวรรษที่ 1990 เธอเข้าร่วมหนึ่งในการประท้วงที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งใน Ghotki ชื่อว่า Obauro ในวาระอื่นๆ Benazir Bhutto ยังออกมาต้อนรับการเดินท้าวทางไกลใน Karachi ที่เริ่มเดินมาจาก Sukkur อีกด้วย ภรรยาคนหลังของ Palijo และผู้นำ ST อย่าง Zahida Shaikh ได้บันทึกไว้ว่า ‘Benazir Bhutto ถาม Palijo เมื่อเห็นกลุ่มผู้หญิงขนาดใหญ่เรียงแถวกันออกมาต่อต้านเขื่อน Kalabagh ในท้องถนนของ Karachi ว่า ‘มีแค่ผู้หญิงที่เดินขบวนหรอกหรือ?’ ซึ่ง Palijo ได้ตอบว่า ‘ขบวนการนี้นำโดยผู้หญิงน่ะ ตลอดทางไปสนามบิน คุณจะเห็นชาว Sindhi หลายร้อยหลายพันเรียงเถียวหลังพี่สาวและน้องสาวของพวกเธอ’
วาทะกรรมว่าด้วยเขื่อน Kalabagh แผ่ซ่านไปทั่วภายใต้ระบอบนายพล Mausharraf ในเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 1999 ไม่นานหลังจากขับไล่ Nawaz Sharif นายพล Musharraf ประกาศโครงการ ‘มหาคลอง Thal’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างคลองในทะเลทราย Thal โดยการผันน้ำจากแม่น้ำ Indus ชาว Sindh จึงตอบโต้ด้วยขบวนการต่อต้านเขื่อนอีกครั้ง ขบวนการนี้มีการเดินเท้าทางไกลและประท้วงมากมาย ชาว Sindiyani พร้อมโดนจับกุมอีกครั้ง คลื่นปฏิวัติถาโถมโหมกระหน่ำเต็มอัตรา ขณะที่ฤดูร้อนแผดเผาทุกสิ่งอย่าง พวกเขาท่องบทประพันธ์ของกวีมีชื่อแห่งจังหวัดอย่าง Shaikh Ayaz ที่มีเนื้่อความว่า:
Hurka halo, dheema halo,
pand paray ho, ker karay ho,
waat await, deel daray ho,
poe b piryeen jo, pand bhalo ho,
pandh bhalo miya, hurka halo
ก้าวเท้า ช้า, เร็ว
ก้าวย่างที่แสนยาวไกล, ผู้ใดเล่าจะกล้าก้าว?
ถนนแสนหน่ายเหนื่อย, ทุกข์ระทมอาจกัดกลืนกิน
กระนั้น, ก้าวย่างเพื่อคนรักนั้นคุ้มค่า,
ก้าวย่างนั้นคุ้มเสี่ยง, ก้าวไปให้ฉับไว!
‘Zahida Shaikh เขียนบันทึกจากความทรงจำไว้ว่า ST คือองค์กรสำหรับหญิงสาวชาวชนบทผู้ยากจน พวกเธอไม่ได้แหล่งทุนจากองค์กรสตรีนิยมอื่น รายรับที่พวกเธอได้ ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ระหว่างยุค Musharraf’ ระหว่างที่ ST เข้าร่วมในการประชุมของชาวนาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2004 พวกเธอได้รับแจ้งว่าจะมีการประชุมต่อต้าน Kalabagh อีก ชาว Sindhiyani ต้องการเข้าร่วม แต่ส่วนมากพวกเธอหมดสิ้นทุนทรัพย์ไปกับการเดินทางไกลเข้าร่วมประชุชาวนาไปแล้ว คนที่พอมีเหลือก็เข้าร่วม แต่หลายคนไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้หญิงในกลุ่มหลังส่วนใหญ่มีพื้นหลังเป็นชาวนาและชนชั้นกลางระดับล่าง Zahida ยังบันทึกไว้ด้วยว่า ครั้งหนึ่ง ST เคยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสตรีนานาชาติในอินเดียด้วย สมาชิกหลายคนกังวลปัญหาเรื่องพาสปอร์ต เพราะหลายต่อหลายคนไม่มีมัน สุดท้ายแล้ว มีผู้หญิงเพียงหกถึงเจ็ดคนเท้านั้นใน ST ที่มีพาสปอร์ตสำหรับเดินทางท่องเที่ยว แม้ว่า ST จะเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติเช่นนี้ รากฐานของพวกเธอก็ยังมาจากหญิงสาวชาวชนบทในจังหวัด Sindh นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการดำรงอยู่ของพวกเธอทำให้กลุ่มผู้อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐปากีสถานหวาดกลัว
‘Zahida Shaikh เขียนบันทึกจากความทรงจำไว้ว่า ST คือองค์กรสำหรับหญิงสาวชาวชนบทผู้ยากจน พวกเธอไม่ได้แหล่งทุนจากองค์กรสตรีนิยมอื่น รายรับที่พวกเธอได้ ส่วนใหญ่เป็นการบริจาคขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ระหว่างยุค Musharraf’
และเพราะการต่อต้านขัดขืนขององค์กรอย่าง ST จึงทำให้นายพล Musharraf ต้องพับแผนการก่อสร้างเขื่อน Kalabagh ไปในที่สุด
นักกิจกรรมจาก Sindhiyani Tehreek ประท้วงโครงการก่อสร้างเขื่อน Kalabagh ข้อความที่เขียนบนป้ายคือ ‘เขื่อน Kalabagh เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้’ พรรค Awami Tehreek และองค์กร Sindhiyani Tehreek ได้หยุดยั้งไม่ให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ภาพ: Dawn
องค์กรของผู้หญิงหรือองค์กรสตรีนิยม?
ST มักได้รับการกล่าวหาว่าเป็นองค์กรของผู้หญิง แต่ไม่ใช่องค์กรสตรีนิยมที่แท้จริง พวกที่วิพากษ์วิจารณ์ยังอ้างว่า องค์กรนี้เพียงแค่ทำตามคำสั่งของพรรคใหญ่อย่าง Awami Tehreek เท่านั้น โดยไม่ได้มีอิสระใดๆ เลย ความขัดแย้งดังกล่าวนี้ทำให้เรานึกถึงวิวาทะเก่าแก่ว่าด้วยการที่กลุ่มสตรีผู้มีความคิดถึงราก ควรจัดตั้งองค์กรของตนแยกออกไป หรือควรอยู่ภายใต้ปีกของพรรคฝ่ายซ้ายที่มีอยู่แล้วกันแน่ แล้วองค์กรเหล่านี้ควรชูประเด็นด้านผู้หญิงอย่างเดียว หรือประเด็นต่างๆ ในสังคมภาพกว้างไปด้วย? ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนหรือแค่คนที่มีอุดมการณ์บางอย่างเข้าเป็นสมาชิก? ลานประชุมการเมืองสตรีก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกันในช่วงปีแรกๆ ของการก่อตั้ง สุดท้ายแล้ว พวกเธอก็ตัดสินใจก่อตั้งองค์กรของผู้หญิงที่เป็นอิสระ และมีจุดมุ่งหมายในการชูประเด็นด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง (แม้ในปัจจุบันจะขยายเข้าสู่ประเด็นชุมชนกลุ่มคนข้ามเพศแล้ว) สมาชิกภาพของกลุ่มก็จำกัดอยู่เพียงแค่ผู้หญิงที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย (ก่อนที่จะรวมเอามิตรสหายข้ามเพศเข้ามา)
หากเราวิเคราะห์ ST ภายใต้กรอบปัญหานี้ เราก็จะได้คำตอบชัดเจนว่า องค์กร์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากเลนิน ในการให้ สัมภาษณ์ กับ Clara Zetkin เรื่อง ‘ประเด็นปัญหาเรื่องผู้หญิง’ เลนินตอบปัญหานี้โดยใช้วิภาษวิธี เขาไม่เชื่อว่าผู้หญิงควรก่อตั้งองค์กรแยกออกไปเป็นอิสระต่างหาก เพราะนี่เป็นการแบ่งแยกขบวนการปฏิวัติ (และลดความเข้มแข็งของขบวนการลง) ภายใต้เส้นแบ่งของเพศ แต่เขาก็ไม่เชื่อว่าพรรคควรควบคุมองค์กรภายใต้ปีกของผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ เพราะนี่เป็นการลดอำนาจของผู้หญิงลงอย่างมหาศาล แทนที่จะทำเช่นนั้น เลนินเชื่อว่า พรรคควรให้มีองค์กรปีกของผู้หญิง ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสตรี และนำมันเข้ามาเสนอในพรรคใหญ่อีกที เขามีมุมมองว่า ผู้หญิงคือคนส่วนที่ใหญ่มากของประชากรทั้งหมด การผัดผ่อนประเด็นปัญหาของพวกเธอให้รอจนกระทั่งการปฏิวัติสำเร็จลุล่วงนั้นเป็นการเข้าแผนลวงของศัตรู มากไปกว่านั้น เมื่อพวกเธอมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เลนินก็ยังต้องการให้พวกเธอเข้าใจว่าพรรคปฏิวัติรับรู้การกดขี่ขูดรีดของพวกเธอด้วยเช่นกัน เขาเรียกร้องให้มีแนวหน้าสตรีภายในพรรค ซึ่งเป็นคนที่จะนำผู้หญิงเข้าสู่การต่อสู้คัดง้างด้านเพศภาวะและการกดขี่ทางชนชั้น
ภาพถ่ายเมื่อไม่นา่นมานี้แสดงให้เห็นการประท้วงจาก Sindhiyani Tehreek ซึ่งมีผู้ถือป้ายข้อความที่เขียนว่า ‘การยึดครอง Sindh ภายใต้นามของการพัฒนานั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้’ ภาพ: Sarmad Palijo จาก Twitter
โดยเนื้อแท้แล้ว ST ก่อตั้งขึ้นด้วยวิถีเลนินนิสต์ องค์กรนี้ไม่ได้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากพรรค Awami Tehreek แต่เป็นองค์กรปีกหนึ่งของพรรคต่างหาก อย่างไรก็ดี องค์กรนี้มีกลไกการทำงานเป็นอิสระ มีธรรมนูญที่แยกต่างหาก และมีพื้นที่ปฏิบัติการที่เป็นเอกเทศ พรรค Awami Tehreek เอง แท้จริงแล้วก้มีแนวหน้าหลากหลาย อาที Sujag Baar Tehreek (ขบวนการเยาวชนตื่นรู้), Sindhi Shagird Tehreek (ขบวนการนักเรียนแห่ง Sindhi), และองค์กรนักเรียนหญิงแห่ง Sindhi องค์กรแนวหน้าทั้งหมด จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในการประชุมขององค์กรอื่นๆ เพื่อดูว่ากิจกรรมของพวกเขาเป็นไปตามแนวทางการปฏิวัติของพรรคหรือไม่ ผู้สังเกตการณ์ทำได้เพียงแค่ให้คำแนะนำเท่านั้น การตัดสินใจในท้ายที่สุดย่อมเกิดขึ้นภายในองค์กรแนวหน้านั้นๆ เอง เราอาจเรียกได้ว่ามันคือ ‘ภาวะกึ่งอิสระ’ (relative autonomy) คณะกรรมการกลางแห่งพรรค Awami Tehreek ไม่มีอำนาจในการระงับสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดใน ST และ ST ก็ไม่ถูกผูกมัดให้ต้องเห็นด้วยกับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นจากที่ประชุมใหญ่พรรค Awami Tehreek. อย่างไรก็ตาม ST และองค์กรแนวหน้าทั้งหลาย ไม่สามารถระงับการยึดโยงทางอุดมการณ์กับพรรค Awami Tehreek และต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์โครงการใหญ่ๆ ของพรรคเสมอ
‘โดยเนื้อแท้แล้ว ST ก่อตั้งขึ้นด้วยวิถีเลนินนิสต์’
ถึงอย่างนั้น มันก็ยังเป็นความจริงที่ ST ควรมีการขยับขยายโครงการไปสู่ประเด็นปัญหาจำเพาะของผู้หญิง เช่น การฆ่าเพื่อเกียรติยศ ความรุนแรงภายในครอบครัว การสาดน้ำกรด การแต่งงานวัยเด็ก และการบังคับผู้หญิงชนกลุ่มน้อยให้เข้ารีต ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 พวกเธอตีพิมพ์อุบัติการณ์การฆ่าเพื่อเกียรติยศและรณรงค์ต่อต้านการกระทำนั้น อย่างไรก็ดี พวกเธอควรทำได้มากกว่านี้ เราจำเป็นต้องพูดตามตรงว่า เหตุผลส่วนหนึ่งของการละเลยสิ่งเหล่านี้ก็คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพรรค Awami Tehreek แม้ว่าสหายในกลุ่ม ST จะเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการกลางของ Tehreek ก็ตาม แต่ไม่มีใครเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญของพรรค ประเด็นเช่นเรื่องเขื่อนและภาวะขาดแคลนน้ำได้รับการยกขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนภายใต้การนำของผู้ชาย ดังนั้นชาว Sindhiyani จึงไม่สามารถทุ่มเทพลังของพวกเธอไปที่ประเด็นการสนับสนุนให้ผู้หญิงมีอำนาจเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็นั่นแหละ เราต้องย้ำว่าอะไรคือความต้องการภายใต้ข้อเรียกร้องการจัดสรรทรัพยากรเช่นน้ำอย่างเป็นธรรม หากไม่ใช่ความต้องการที่จะทำให้ผู้หญิงมีอำนาจเพิ่มขึ้น? จากข้อเรียกร้องนี้ หญิงสาวชาวชนบทจาก Sindh จะได้ประโยชน์มากมายจากการต่อสู้ อันรวมไปถึงผู้ชายด้วยเช่นกัน
‘อะไรคือความต้องการภายใต้ข้อเรียกร้องการจัดสรรทรัพยากรเช่นน้ำอย่างเป็นธรรม หากไม่ใช่ความต้องการที่จะทำให้ผู้หญิงมีอำนาจเพิ่มขึ้น?’
Sindhiyani เพื่อชาวนา?
Jami Chandio นักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและผู้ใกล้ชิด Palijo เชื่อว่า ST ได้รับความเข้มแข็งจากการการที่มี Awami Tehreek เป็นฐานที่มั่น ความแตกแยกและการบริหารจัดการภายในที่ผิดพลาดของพรรคทำให้ Awami Tehreek ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เมื่อ Palijo เสียชีวิตในปี 2018 พรรคก็สูญเสียทิศทางการนำไป แกนนำหลายคนในพรรคแยกย้ายแตกออกเป็นกลุ่มย่อยและพรรคการเมืองต่างๆ ขณะเดียวกัน ST ก็ค้นหาทิศทางการต่อสู้ภายใต้การถดถอยของพรรค Awami Tehreek
ผู้หญิงหลายคนเป็นแกนนำในพิธีกรรมรำลึกงานศพของ Rasool Bux Palijo แม้ว่าจะขัดกับวิถีปฏิบัติของมุสลิมในปากีสถานโดยทั่วไปก็ตาม พวกเธอนำร่างของเขาไปยังสถานที่ฝังศพ ภาพ: News Pakistan
เมื่อราวสองสามปีก่อนหน้า เกิด ‘การเดินขบวน Aurat’ (การเดินขบวนของผู้หญิง) ในปากีสถานขึ้น ในขณะที่การเดินขบวนของครั้งนี้มีผลกระทบต่อสังคมแน่ๆ… ชนชั้นกลางในเมืองกลับเป็นส่วนประกอบหลักของขบวนการ ไม่ค่อยมีผู้หญิงกรรมกร ชาวนา และชาวชนบทอยู่ในนั้น ในสถานการณ์เช่นว่านี้ องค์กรอย่าง ST สามารถนำชาวนาเข้าร่วมเป็นฐานสนับสนุนขบวนการสตรีนิยมปากีสถานที่กำลังเติบโตขึ้นได้ โดยการเชื่อมโยงขบวนการนี้เข้ากับการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ-การเมืองเรื่องการจัดสรรทรัพยากรไปด้วยกันอย่างเปิดเผย
‘ในขณะที่การเดินขบวนของ [Aura] ครั้งนี้มีผลกระทบต่อสังคมแน่ๆ… ชนชั้นกลางในเมืองกลับเป็นส่วนประกอบหลักของขบวนการ ไม่ค่อยมีผู้หญิงกรรมกร ชาวนา และชาวชนบทอยู่ในนั้น’
ปัญหาที่สหายชาว ST อุทิศชีวิตของพวกเธออย่างต่อเนื่องในเรื่องที่หลอกหลอนบ้านเกิดของพวกเธอ ณ จังหวัด Sindh ก็ยังคงมีอยู่ แหล่งเก็บน้ำยังคงถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในแม่น้ำ Indus การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม และอะไรก็ตามที่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นความอิสระของ Sindh ก็ถูกบดขยี้เสียสิ้น โดยเฉพาะเรื่องที่พวกเธออาจเสีย Karachi อันเป็นเมืองหลวงไปให้กับรัฐบาลกลาง การฆ่าเพื่อเกียรติยศ ความรุนแรงภายในครอบครัว การบังคับแต่งงาน และการบังคับเข้ารีดนั้นโหดร้ายป่าเถื่อน เราต้องการขบวนการอย่างเช่น ST ในการตระเตรียมนักปฏิวัติสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ ในทุกวันนี้ไม่ต่างจากเมื่อครั้งอดีต
บทความนี้แปลโดยได้รับอนุญาตจาก ‘The Sindhiyani Tehreek: Revolutionary Feminism in Sindh?’, Jamhoor <https://www.jamhoor.org/read/2020/11/25/the-sindhiyani-tehreek-revolutionary-feminism-in-sindh > [accessed 23 January 2021].
by Pathompong Kwangtong | Feb 2, 2021 | Articles บทความ , Featured ไทย , ทฤษฎี Theory , ไทย
ผู้เขียน ice_rockster
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
PC คืออะไร ทำไมเราต้อง PC เพราะมันเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดีในสังคมอย่างนั้นหรือ ? PC หรือ Political Correctness หรือที่อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” นั้น เป็นคุณค่าหนึ่งของอุดมการณ์ทางการเมืองหัวก้าวหน้า ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นพวกเสรีนิยมหรือไม่ ? ซึ่งคำคำนี้นั้น ถูกใช้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่อาจจะต่างบริบทกัน เช่น politically correct หรืออาจแปลเป็นไทยได้ว่า ถูกต้องอย่างการเมือง อาจะฟังดูแปลก ๆ แต่ความหมายของมันก็คือ เป็นความถูกต้องที่อาจจะผิดในบริบทอื่น ๆ เช่น ในบริบทของประเพณี หรือจารีต แต่ถูกต้องในบริบทของการเมือง แม้ว่าในพจนานุกรม American Heritage Dictionary จะให้คำนิยามว่า “ Conforming to a particular sociopolitical ideology or point of view, especially to a liberal point of view concerned with promoting tolerance and avoiding offense in matters of race, class, gender, and sexual orientation” หรือคือ “ [ ความถูกต้อง ] ที่เป็นไปตามอุดมการณ์หรือทัศนคติเฉพาะหนึ่ง ๆ ทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะทัศนคติแบบเสรีนิยม ที่มีความกังวลเรื่องความอดทนอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการโจมตีกันในเรื่องของเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ หรือรสนิยมทางเพศ” แต่แน่นอนว่า “ความอดทนอดกลั้น” นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครอดทนได้แค่ไหน เพราะแต่ละคนก็มีความอดทนได้ไม่เท่ากัน อีกทั้ง “ความถูกต้อง” นั้น ยังเป็นความถูกต้องบนฐานของอุดมการณ์หนึ่ง ในบริบทสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ดังนั้นการ PC จึงเป็นเรื่องของคุณค่าที่สังคมกำหนด มากกว่าจะเป็นเรื่องสากลที่การเมืองควรจะเป็นหรือไม่ ?
แน่นอนว่าในสังคมการเมืองหนึ่ง ๆ ย่อมมีบริบทและบรรทัดฐานทางการเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งการจะบอกว่าอะไรถูกหรือผิด ก็ต้องต้องตามมาด้วยคำถามที่ว่า ผิดเพราะอะไร ถูกต้องเพราะอะไร หรือถ้ายิ่งไปกว่านั้น ก็ต้องถามว่าผิดบนฐานของอะไร ด้วยบรรทัดฐานอะไร ซึ่งหากเราเป็นมนุษย์ที่เคยมีประสบการณ์อยู่ในสังคมมากกว่าหนึ่งสังคม และสังคมเหล่านั้น มีบริบท คุณค่า และบรรทัดฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะเข้าใจได้ไม่ยากว่ามันไม่มีสิ่งใดที่ถูกหรือผิดโดยจริงแท้หรอก หรือถ้าจะกล่าวในเชิงปรัชญา ก็ต้องบอกว่า มันไม่มีสิ่งใดที่เป็น “ความจริงสูงสุด” หรือ “ Absolute Truth” หรือ “ Ultimate Reality” ก็แล้วแต่จะศรัทธา แต่ก็คงยังจะมีคำถามที่ตามมาคือ การที่บอกว่า “ไม่มีมีสิ่งใดที่เป็นความจริงสูงสุด” นั้น ข้อความนี้เอง ก็พยายามจะสถาปนาความจริงสูงสุดขึ้นมาอีกหรือไม่ ! ซึ่งนั่นก็ทำให้เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้ามากขึ้นไปอีก แต่อย่างไรก็ดี มันก็เป็นตัวอย่างได้ว่า แม้แต่คำถามของรากฐานทางปรัชญา อย่างไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน ก็ยังเป็นหลักฐานที่บ่งบอกได้ว่า การสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วเคลมว่านั่นคือความจริงหรือสิ่งที่ถูกต้องนั้น เป็นไปไม่ได้
แม้ว่าจะมีการใช้คำว่า PC ในหลากหลายรูปแบบในอดีต แต่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่คุณค่าของระบบการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยนั้น ได้ครอบงำเป็นคุณค่าหลักของสังคมการเมืองโดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ PC หรือ ถูกต้องทางการเมือง จึงเป็นในลักษณะดังที่พจนานุกรม American Heritage Dictionary กล่าว คือ การไม่เข้าไปโจมตีหรือล่วงละเมิดอีกฝ่ายในเรื่องของเชื้อชาติ ชนชั้น เพศ หรือรสนิยมทางเพศ แน่นอนว่าทัศนะแบบนี้เป็นทัศนะของเสรีนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย ที่มีหลักการคือ “เรามีเสรีภาพ ตราบเท่าที่เราไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น” หลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในความคิดของบิดาแห่งเสรีนิยมอย่างอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) และจอห์น ล็อค (John Locke) แต่คำถามก็เกิดขึ้นมาในเวลาต่อมา เพราะโลกมันไม่ได้ง่ายดาย สวยงามและโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างนั้น เมื่อเราไม่รู้ว่าเมื่อใดเราจึงจะไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ? และการละเมิดนั้น ใครเป็นผู้ตัดสิน ? ผู้ละเมิดเองหรือผู้ถูกละเมิด มันจึงอาจย้อนกลับไปที่โจทย์เก่าเมื่อสักครู่ของเราคือ ใช้บรรทัดฐานอะไรมากำหนดว่าคือละเมิด เช่น ประเด็นง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันอย่างการยกเท้าขึ้นบนโต๊ะของคนอเมริกัน หากอยู่ในสังคมอเมริกันก็คงไม่ละเมิด แต่หากอยู่ในสังคมไทยก็คงใช่ หรือการทานอาหาร ในสังคมไทย หากจะอมมีดเข้าไปในปากก็คงจะไม่แปลกอะไร แต่ในสังคมอเมริกาก็คงจะเป็นการเสียมารยาท หรือในกรณีปัจจุบันเช่นการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ หากไม่ใส่ จะเป็นการละเมิดผู้อื่นหรือไม่ เพราะจะกล่าวได้ว่าเป็นการจงใจแพร่เชื้อไวรัสก็ได้ หรืออีกมุมหนึ่ง ก็คือเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการไม่ใส่หน้ากากของมนุษย์ได้เช่นกัน ยิ่งการบังคับใส่หน้ากากหากเป็นนโยบายของรัฐด้วยแล้ว ดีไม่ดี การใส่หน้ากากอาจจะเป็น PC ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
ปัญหาของการหาว่า การละเมิดนั้นใครควรเป็นผู้ตัดสิน ยังไม่จบ เพราะ ต่อให้หาข้อสรุปได้แล้วว่า ใครเป็นผู้ตัดสินว่าละเมิดได้แล้ว แล้วอย่างไรต่อ ? จะจัดการกับการละเมิดนั้นอย่างไร ? จะถึงขั้นจับติดคุกเลยหรือไม่ หรือจะจัดการกับผู้ละเมิดนั้นด้วยหลักการตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น ด่ามา ด่ากลับ ตบมา ตบกลับ สิ่งที่เสรีนิยมทำ ก็คงไม่เป็นอย่างนั้นแน่ เพราะ หลักการขั้นพื้นฐานของเสรีนิยมก็คือ “เรามีเสรีภาพ ตราบเท่าที่เราไม่ไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น” ถ้าเป็นอย่างนั้น จะทำตามสิ่งที่พระเจ้าสอนคือ “เมื่อเขาตบแก้มซ้าย ก็จงยื่นแก้มขวาให้เขาตบ” ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมันก็ยังไม่ถูกต้องและไม่จำเป็นที่จะต้องโดนละเมิดด้วยการตบถึงสองครั้ง หรือจะให้เลิกแล้วต่อกันไปแบบพุทธศาสนาอย่างนั้นหรือ ? ก็ดูจะไม่ยุติธรรมสักเท่าใด สิ่งที่ทำได้ ก็คงจะเป็นการอดทนอดกลั้น (tolerance) อดทนอดกลั้นที่จะรอความยุติธรรม ความยุติธรรมจึงเป็นที่พึ่งเดียวของเสรีนิยม เหมือนกับที่จอห์น รอลส์ (John Rawls) กล่าวถึงกรอบคิด justice as fairness ซึ่งให้สิทธิขั้นพื้นฐานกับพลเมืองในเรื่องของเสรีภาพและความยุติธรรม นำไปสู่ความเข้าใจในกรอบคิดเรื่องอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) ซึ่งก็เป็นกรอบคิดที่แสดงว่าผลประโยชน์สุทธิ กล่าวคือ เป็นการทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ที่พอใจ หรือ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ทำให้เกิดการตกลงที่พอใจกันได้ทุกฝ่าย มีฉันทามติต่อกัน ไม่เกิดความขัดแย้งที่ต้องทำให้เกิดการไม่ยอมรับกัน ความยุติธรรมของเสรีนิยม จึงเป็นความยุติธรรมที่ต้องใช้ความอดทนอดกลั้นรอจนกว่าจะเกิดอรรถประโยชน์ต่อกัน เช่น รอให้ตำรวจมาจับคนที่ลงมือก่อน หรือไปแจ้งความ ตลอดจนรอศาลตัดสินคดี และท้ายสุดแล้ว เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากฝ่ายที่คิดว่าถูกละเมิดนั้นยังไม่พอใจต่อคำตัดสิน หรือคิดว่าตนยังไม่ได้รับความยุติธรรมเพียงพอ ก็คงทำได้เพียง “ทำใจ” หรือ “อดทนอดกลั้น” ให้มากกว่าเดิมเท่านั้นเอง
ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้ว การ PC จึงเป็นการเรียกร้องให้สังคมมีความอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่ตนสถาปนาขึ้นให้เป็นความถูกต้อง เพราะอย่างไรก็ตาม ความอดทนอดกลั้นนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีความสิ้นสุด มีความจำกัด ดังนั้นถึงที่สุดแล้ว มันก็จะเกิดสภาวะที่ทุกฝ่ายยอมรับกันเป็นฉันทามติ เป็นดั่งจุดสมมูลที่บวกลบคูณหารแล้วทุกคนพอใจ เป็นจุดที่กำหนดถึงความจำกัดว่าแต่ละคนจะมีเสรีภาพได้มากน้อยเท่าใด จุดจุดนี้จึงเป็นการสถาปนาสภาวะที่ถูกต้องทางการเมืองร่วม หรืออาจเรียกว่า collective political correctness condition ที่จำกัดเสรีภาพของคนในสังคมนั้น ๆ โดยฉันทามติของสังคมนั้นเอง อันเนื่องมาจากอรรถประโยชน์ของสังคม ด้วยเหตุนี้ ความอดทนอดกลั้นเอง จึงมีขีดจำกัดอยู่แค่นี้ หากมีการกระทำใดการกระทำหนึ่ง ที่เป็นการใช้เสรีภาพเลยขึ้นไปจากขีดจำกัดนี้ ก็จะไม่มีความอดทนอดกลั้นอีกต่อไป
เช่น การขึ้นศาล และศาลตัดสินแล้วก็เป็นอันสิ้นสุด ก็คือสิ้นสุดของการอดทนอดกลั้น เพราะศาลได้ทำหน้าที่ของการตัดสินข้อพิพาทตาม “สภาวะที่ถูกต้องทางการเมืองร่วม” แล้ว อย่างกรณีที่ศาลตัดสินปรับธุรกิจกาแฟ Starbucks Coffee เนื่องจากวาดรูปของคนเชื้อสายเอเชียบนแก้วกาแฟและเขาคิดว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ ก็คือสิ้นสุดในกระบวนการ หากผู้เสียหายคิดว่ารับไม่ได้ ก็เป็นปัญหาของผู้เสียหาย หากบริษัท Starbucks รับไม่ได้ ก็เป็นปัญหาของบริษัท ไม่ได้เป็นปัญหาของสังคมหรือระบบ หรือแม้แต่อุดมการณ์เสรีนิยมแต่อย่างใด ในแง่นี้อุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่อาจถูกกล่าวได้ว่าเป็น extreme centrism ( ไม่ซ้าย ไม่ขวา แต่มีความสุดโต่งอย่างเฉพาะตัว เช่นการ PC การแบน การ woke จนเป็นที่มาของ cancel culture เป็นต้น ) จึงลอยตัวอยู่เหนือปัญหาต่าง ๆ ในสังคม เพราะหากเกิดปัญหา หรือ ข้อพิพาทในแต่ละกรณีขึ้น ก็จะเป็นปัญหาของปัจเจกเอง หรือไม่ก็เป็นปัญหาเฉพาะของแต่ละกรณีไป ไม่เคยเป็นปัญหาของเสรีนิยม แต่เป็นเพราะ “เสรีชน” เอง ที่ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของความถูกต้องทางการเมืองของสังคมนั้น ๆ
หากอดทนอดกลั้นต่อไปไม่ได้ ก็อาจจะต้องทำเรื่องที่แหกกฎของความถูกต้อง เช่น การใช้ hate speech การด่าทอ ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงที่เลยเถิดไปถึงการทำร้ายร่างกายหรือความรุนแรง ดังนั้นเมื่อความอดทนอดกลั้นไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดจึงใช้ไม่ได้ ไม่มีความ valid จริง ๆ ในสังคม ความอดกลั้นของเสรีนิยมจึงไม่ใช่ความอดกลั้นจริง ๆ หากแต่เป็นเพียงการรอผู้มีอาญาสิทธิ์ในสังคมจะตัดสินออกมาให้ตรงกับความต้องการของตนหรือไม่เท่านั้น เสรีนิยมจึงมีความอดกลั้นที่ไม่มีความอดกลั้นอยู่จริง ๆ
แน่นอนว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการ PC เท่านั้น แล้วการเป็นตำรวจคอยตรวจตราความถูกต้องทางการเมืองจึงเป็นหน้าที่ใคร ? ใครคือผู้กำหนด discourse ของความถูกต้องทางการเมืองในบริบทสังคมหนึ่ง ๆ ? คำถามนี้จึงไม่ได้เป็นคำถามที่ตอบได้ง่าย ๆ เพราะ เมื่อสังคมที่มีความเป็นปึกแผ่น มีสำนึกร่วมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การเป็นชาติ หรือการมีความเป็นสากลในกลุ่มของตัวเอง เป็นต้น การที่มีใครคนใดคนหนึ่ง ทำตัวแปลกแยก มีลักษณะแปลกแยก หรือทำผิดแผกไปจากความถูกต้องทางการเมืองเข้ามาในสังคม ก็จะถูกคนในสังคมตรวจสอบ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ตำแหน่งแห่งที่ไหนในสังคมนั้น ผู้ตรวจนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการแต่งตั้งให้พิทักษ์ความถูกต้องจากรัฐหรือสถาบันทางการเมืองใด ๆ คนที่แปลกแยกจึงถูกต่อต้านจากคนส่วนใหญ่ในกลุ่มที่มีสำนึกร่วมนั้น ๆ และค่อย ๆ ถูกสกัดออกจากกลุ่มนั้นออกมา เช่น ในกรณีของสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ปรากฎการณ์ทัวร์ลง social bullying การขุดโพสเก่า ตั้งแต่กรณีพิมรี่พาย ไปจนถึง วัฒนธรรมทวิตเตอร์ (Twitter popular culture) เป็นต้น
เรื่องของความเป็นสากล (universality) จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณาเรื่อง PC หรือความถูกต้องทางการเมือง เพราะความเป็นสากลนั้นคือการรวม (include) คนหรือปัจเจกที่เป็นหน่วยย่อยทางสังคมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แต่การรวมนั้น มีจุดประสงค์อย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะ การรวมกลุ่มนั้นจะสำเร็จหรือไม่นั้นสำคัญตั้งแต่จุดประสงค์และเหตุผลของการรวมกลุ่ม ดังนั้น “ความผิด” ของความถูกต้องทางการเมืองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง (inclusive) ของกลุ่ม การพูดข้อความ (statement) หนึ่ง ๆ ขึ้นมา ซึ่งข้อความเดียวกันนี้ อาจเป็นสิ่งที่ผิดหากผู้พูดนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มสังคมนั้น ๆ แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ผิด หรือถูกต้องทางการเมืองแล้ว หากผู้พูดเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมนั้น ซึ่ง Slavoj Žižek นักปรัชญาชาวสโลเวเนี่ยน ก็ได้เคยยกตัวอย่างในเรื่องของการพูดเพื่อตลก เช่น teasing หรือ joke ว่าเราจะสามารถล้อเล่นด้วยสิ่งที่ดูจะไม่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิด หรือผู้ฟังจะโกรธ เพราะหากว่าผู้พูดอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจริงจังอะไรกับกฎเกณฑ์ หรือความใกล้ชิด หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกต่อไป สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือแม้ว่าเราอยู่ในสภาวะของโรคติดต่ออย่างโควิด -19 เราออกไปข้างนอกไปเจอพนักงานส่งของ บุรุษไปรษณีย์ คนขายอาหาร เรากลับต้องรีบใส่หน้ากากเพราะกลัวว่าเขาจะมีโรคมาติดเรา แต่เมื่อเราเจอเพื่อน เจอคนรัก เจอคนในครอบครัว ไม่ว่าเขาจะเดินทางไปไหนมาทั่ว มีความเสี่ยงจะติดโรคมากแค่ไหน เราก็ถอดหน้ากากนั่งทานข้าวด้วยกันอย่างใกล้ชิดราวกับว่าโรคระบาดนั้นมันมีข้อยกเว้นการติดต่อระหว่างคนกลุ่มเดียวกันในสังคม ดังนั้น PC จึงไม่ใช่แค่เรื่องของวัฒนธรรม และโควิด -19 ในแง่นี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของสาธารณสุข หากแต่เป็นเรื่องการเมืองโดยเนื้อแท้
ดังนั้น เมื่อมองย้อนกลับมาในความเป็นเสรีนิยมอันเป็นบ่อเกิดของการ PC โดยเสรีนิยมนั้น ได้สถาปนาความเท่าเทียมกันของทุกคุณค่าทางสังคม (value) ที่เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism) ความเท่าเทียมกันหรือการนำเอาทุกคุณค่า หรือทุกวัฒนธรรมมาวางไว้อยู่บนระนาบเดียวกันก็เป็นไปเพื่อความเท่าเทียมและให้เกียรติทุก ๆ คุณค่า แต่ทว่า ปัญหาของเสรีนิยมเองก็กลับมาที่ความอดทนอดกลั้น ที่มีปัญหาเอง เพราะหากวัฒนธรรมหรือคุณค่าแต่ละอย่างนั้นมีความเท่าเทียมกันจริง ๆ จะต้องอดกลั้นไปทำไม ในเมื่อเรายอมรับมันได้อยู่แล้ว ดังนั้นธรรมชาติของความอดกลั้นคือการยอมรับแล้วว่าเราไม่ได้ชอบวัฒนธรรมหรือคุณค่าอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากคุณค่าของเราเอง การ PC หรือตรวจสอบความถูกต้องทางการเมืองนั้น จึงเกิดขึ้นมาจากความเหลืออด (intolerable) ที่ไม่สามารถทนต่อความแตกต่างได้อีกต่อไปแล้ว การ PC จึงเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมรับความแตกต่างขั้นสุดท้าย ( ก่อนจะเลยเถิด ?) ของเสรีนิยม และเหล่าเสรีชน
by Pathompong Kwangtong | Jan 30, 2021 | Articles บทความ , Translation , weekly newsletter , การประท้วง Protest , ไทย
ผู้เขียน Moiz Abdul Majid
ผู้แปล Pathompong Kwangtong
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute
ขบวนการกองโจรชาวนา Mukti Bahini ใช้ความรู้อันลึกซึ้งเกี่ยวกับทางน้ำของบังคลาเทศในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
ภาพประกอบที่ 1: เหล่านักสู้ Mukti Bahini ใช้เส้นทางน้ำในการเดินทางระหว่างสงครามปี 1971 ที่มาของภาพ: Prothomalo
ในนวนิยายของ Salman Rushdie เรื่อง Midnight’s Children ตัวเอกอย่าง Saleem Sinai ถูกสั่งให้ไปประจำการตามชนบทของบังคลาเทศร่วมกับทหารปากีสถานในสงครามเพื่ออิสรภาพเมื่อปี 1971 หน้าที่ของพวกเขาคือจัดการกับกลุ่มกบฎบังคลาเทศ แต่เหล่าทหารกลับพบว่าตัวเองหลงทางทันทีที่เข้าไปในสมรภูมิ ระหว่างการเดินทางตามเส้นทางน้ำภายใต้มรสุมอันโหดร้าย ธรรมชาติจู่โจมพวกเขา กระทั่งทำให้เหล่าทหารสติแตก
บทบรรยายที่ฉายภาพประสบการณ์ของทหารปากีสถานระหว่างสงครามออกมาได้อย่างชัดเจนผ่านปลายปากกาของ Rushdie นั้น สะท้อนความเป็นจริงของระบบนิเวศน์อันโหดร้ายที่พวกเขาต้องสู้รบในสงครามกองโจรเพื่ออิสรภาพของบังคลาเทศได้เป็นอย่างดี
นักสู้เพื่ออิสรภาพที่ต่อสู้กับกองทัพอันเกรียงไกรของปากีสถานเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม Mukti Bahini พวกเขาประกอบไปด้วยคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นชนชั้นนำในเมือง ส่วนใหญ่มาจากสมาชิกสันนิบาต Awami คนกลุ่มนี้คือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงใน Mukti Bahini
กลุ่มที่สองเป็นชาวนาชนบทซึ่งส่วนมากได้รับการฝึกโดยชนชั้นนำในเมืองให้เป็นกองกำลังติดอาวุธแนวหน้าของ Bahini พวกเขาดำรงชีพและทำงานท่ามกลางเครือข่ายสายธารลำน้ำที่ซับซ้อนของบังคลาเทศมาตลอดชั่วชีวิต ทำให้ชาวนาเหล่านี้รู้จักมักคุ้นกับสายน้ำเป็นอย่างดี พวกเขายังรู้จักป่าวงกตและหนองบึงที่ล้อมรอบเส้นทางน้ำและทางตันของมันเป็นอย่างอีกดีด้วย การรบแบบกองโจรของเหล่าชาวนาโดยใช้ความรู้ด้านนิเวศวิทยาอันลึกซึ้งเหล่านี้ในการซุ่มโจมตีกองทัพของปากีสถานในยุทธภูมิต่างๆ ส่งผลให้การต่อสู้เพื่ออิสรภาพสำเร็จได้ในท้ายที่สุด
ขบวนการ Mukti Bahini เปลี่ยนระบบนิเวศน์เหล่านี้ให้เป็นพื้นที่เพื่อการปลดแอก และเป็นเขาวงกตวกวนงุนงงสำหรับกองทัพปากีสถานไปพร้อมๆ กันในระหว่างการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพวกเขา
ภาพประกอบที่ 2: เหล่านักสู้ Mukti Bahini เดินทัพท่ามกลางมหาอุทกภัยจากมรสุมในปี 1971 ที่มาของภาพ: Londoni.co
เส้นทางน้ำ
พื้นที่กว่าสองในสามของบังคลาเทศอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Ganges อันเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามเหลี่ยมปากแม่น้ำนี้ประกอบไปด้วยหนองบึงและป่ารวมถึงเครือข่ายลำธารและสายน้ำที่ซับซ้อนกว้างใหญ่ไพศาล อันที่จริงบังคลาเทศมีเส้นทางน้ำมากกว่าถนนเสียอีก นั่นหมายความว่าประชากรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเครือข่ายลำธารเพื่อสัญจรในชีวิตประจำวัน ผู้คนใช้ทางน้ำเพื่อกลับบ้าน ไปโรงเรียน และไปทำงาน
ภาพประกอบที่ 3: แผนที่แสดงขอบเขตความกว้างใหญ่ไพศาลของสามเหลี่ยมแม่น้ำ Ganges สีแดงที่เห็นอยู่คือเส้นทางน้ำ ทางน้ำเหล่านี้ทำให้เกิดระบบซับซ้อนยากยิ่งที่คนนอกจะสัญจรได้ ดังที่ภาพประกอบได้แสดงให้เห็น
ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องได้แสดงให้เราเห็นว่าการสัญจรของคนชนบทภายใต้ภูมิประเทศแบบนี้ต้องพึ่งพิงเส้นทางน้ำขนาดไหน ภาพยนตร์เรื่อง Jago Hua Savera (1959) ของ A. J. Kardar เป็นตัวอย่างที่ดีว่าทางน้ำเป็นหนทางเดียวที่ผู้คนใช้สัญจรไปตลาด หลายครั้งครั้งเส้นทางน้ำเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงผู้คนในชนบทเข้ากับเมือง การเป็นเจ้าของเรือจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเดินทางและดำรงชีพของผู้คน ดังที่ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็น
นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังทำให้เราเห็นถึงความซับซ้อนในการสัญจรไปในระบบลำธารเหล่านี้อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่อง Matir Moina (2002) ของ Tareque Masud เป็นอีกตัวอย่างที่ดี เราได้เห็นว่านักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเปลี่ยนเรือจากคลองระดับปฐมภูมิไปสู่คลองระดับทุติยภูมิอย่างไร เพื่อไปให้ถึงที่หมายของพวกเขา
เมื่อสงครามปะทุขึ้นในปี 1971 กองทัพปากีสถานเริ่มการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบังคลาเทศ เส้นทางน้ำและป่าโดยรอบเหล่านี้นี่แหละที่กลายเป็นพื้นที่หลบซ่อนและพักพิงสำหรับชาวนาที่หนีความรุนแรงจากกองทัพปากีสถาน
แต่ในขณะเดียวกัน ชาวนาก็ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ในการต่อสู้โต้กลับด้วย
ขบวนการกองโจร
ความซับซ้อนของเส้นทางน้ำมีประโยชน์ในการต่อต้านขัดขืนอย่างมาก ชาวนาในขบวนการ Mukti Bahini นำเอาความรู้เรื่องเส้นทางน้ำอันซับซ้อนเหล่านี้มาใช้เป็นความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับทหารชาวปากีสถาน ความรู้อันลึกซึ้งเหล่านี้นี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญในชัยชนะของสงครามปี 1971
ขบวนการกองโจรใช้ความได้เปรียบทางยุทธภูมิทุกอย่างที่มี พวกเขาใช้เส้นทางน้ำและป่าโดยรอบเพื่อหลบเลี่ยงกองทัพปากีสถาน และจู่โจมสร้างความหวาดกลัวจากแหล่งกบดานอย่างฉับพลัน
ฉากต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่อง Guerrilla (2011) ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เราเห็นการซุ่มซ่อนของเหล่านักสู้ในป่าเพื่ออำพรางตัวแล้วเข้าจู่โจมฐานที่มั่นฝ่ายปากีสถานอย่างมีประสิทธิภาพ และบางครั้งยังสามารถขโมยอาวุธออกมาได้ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังได้เห็นว่าขบวนการ Mukti Bahini ใช้เส้นทางน้ำในการเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์และทำลายสะพานเพื่อสกัดกั้นการเข้ามาของกองทัพปากีสถานได้อย่างไร ขบวนการกองโจรเหล่านี้ยังมีกองกำลังนักประดาน้ำหรือนักว่ายน้ำติดอาวุธผู้ใช้เส้นทางน้ำเข้าจู่โจมข้าศึกอีกด้วย
เรื่องเล่ากระแสหลักเกี่ยวกับสงครามปี 1971 แทบไม่ให้ความสนใจบทบาทของนิเวศวิทยาและความรู้เหล่านี้ของชาวนาในการสร้างชาติบังคลาเทศเลย ชาวนาใช้ยุทธภูมินิเวศวิทยา (ecological landscape) ที่พวกเขารู้และรักเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้เพื่อการปลดแอก ความรู้กระแสรองของชาวนาสามัญนี่แหละที่ช่วยปลดปล่อยบังคลาเทศ มากว่าความรู้ของชนชั้นนำหรือพวกกระฎุมพีเสียอีก
บทความนี้แปลโดยได้รับอนุญาตจาก ‘Ecologies of Emancipation: The Mukti Bahini, Rivers and the Unravelling of Pakistan’, Jamhoor <https://www.jamhoor.org/read/2020/5/2/ecologies-of-emancipation-the-mukti-bahini-rivers-and-the-unravelling-of-pakistan >.