by Peam Pooyongyut | Aug 19, 2021 | Articles บทความ , Translation , TUMS , ความคิดเห็น Opinion , ไทย
ผู้เขียน Luna Oi
ผู้แปล Napakorn Phoothamma (TUMS)
กล่าวนำโดยผู้แปล
ลูน่าเป็น Youtuber ชาวเวียดนามที่มีชื่อเสียงในเรื่องสังคมนิยมแบบเวียดนาม โดยเนื้อหาบนช่องของเธอมักจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การทำอาหาร และการพูดคุยเรื่องสังคมนิยม ซึ่งในบทความนี้เธอจะเล่าถึงความเป็นสังคมนิยมในเวียดนามตามแบบฉบับของเธอ พร้อมกับพาทุกท่านเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเวียดนามไปพร้อมกัน เนื่องด้วยบทความชิ้นนี้ถูกเขียนโดยลูน่า ซึ่งดัดแปลงมาจากวีดีโอในช่องของเธอในชื่อเดียวกัน ทุกอย่างที่เธอเสนอมาอาจไม่ใช่ข้อมูลในเชิงวิชาการแต่เป็นสิ่งที่เธออยากถ่ายทอดให้ทุกท่านได้รับรู้
เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยมหรือไม่ (Is Vietnam Socialist?)
VIDEO
ก็เพราะว่าฉันเป็นคนเวียดนาม ผู้คนเลยมักจะถามคำถามฉันว่ารัฐบาลในประเทศของฉันเป็นอย่างไร ซึ่งการที่พวกเขาถามฉันแบบนั้นมันก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ ฉันเองรู้ดีว่าชาวต่างชาติหลาย ๆ คนก็คงไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตในเวียดนามนั้นเป็นอย่างไร ประเทศที่มีการปฏิวัติโดยคอมมิวนิสต์แถมยังมีสัญลักษณ์ค้อนเคียวอยู่ทุกหนทุกแห่ง และสื่อนานาชาติก็มักสื่อไปในทางที่ไม่ดีแทบจะทุกครั้ง มันก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ถ้าคนจะสงสัยและถามถึงความเป็นมาเป็นไปของรัฐบาลประเทศฉัน
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งฝ่ายซ้ายจากต่างประเทศมักจะพูดกันทำนองว่า “เออ…นี่พวกคุณยังจะคอยใช้คำว่าสังคมนิยมอยู่หรือนี่” ซึ่งฉันก็ไม่แน่ใจนักว่าพวกเขาจะสื่ออะไรกันแน่? แต่ฉันบอกได้เลยว่า เวียดนามคือสังคมนิยมเว้ย!
ฝ่ายซ้ายจากที่อื่นๆ มักจะพร่ำสอนฉันเกี่ยวกับประเทศของฉัน นี่ไม่ได้จะบอกว่าความคิดฉันถูกต้องเพราะฉันเป็นคนเวียดนาม แต่จะบอกว่าฉันรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายที่พวกเขาไม่รู้เพราะฉันพูดเวียดนามได้จ้าาา!
แต่ก็น่าเสียดายที่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศเวียดนามมักจะไม่ค่อยถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเองฉันจึงต้องพยายามตอบคำถามเหล่านี้ที่ผู้คนมักจะถามเข้ามายังช่องของฉัน
เวียดนามเป็นสังคมนิยมอยู่ไหม?
คำตอบคือเป็นสิ!
ฉันเองก็รู้ดี คุณก็คงจะสงสัยกับความเป็นสังคมนิยมของเวียดนามสินะ ฝ่ายซ้ายมักจะพูดถึงเวียดนามว่า ไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมจริงๆ แต่เรียกเวียดนามว่าเป็น “รัฐทุนนิยม (state capitalist)” ซึ่งไม่ได้ต่างอะไรไปจากประเทศทุนนิยมอื่น พวกที่เป็นฝ่ายขวาก็มักจะบอกว่าที่เวียดนามมีดีได้เป็นเพราะทุนนิยม แต่สิ่งที่เลวร้ายสำหรับเวียดนามก็คือคอมมิวนิสต์ ซึ่งฉันก็ต้องรับมือกับความเห็นแบบนี้แทบทุกวันเลย
แล้วสังคมนิยมคืออะไรกัน
เรื่องนี้มันค่อนข้างซับซ้อน ต่างคนต่างอุดมการณ์ก็นิยามสังคมนิยมแตกต่างกันไป แม้แต่นักสังคมนิยมที่เรารู้จักดีอย่าง มาร์กซ์ เลนิน และโฮจิมินห์ ต่างมีคำเรียกสังคมนิยมในแต่และยุคของพวกเขา ที่ต่างก็มีความหมายแตกต่างกันไป เรามาดูกันที่ความคิดของ ‘มาร์กซ์’ เป็นคนแรก แนวคิดสังคมนิยมในแบบของมาร์กซ์ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน และผู้คนต่างถกเถียงกันถึงความหมายของสังคมนิยมที่เขาให้คำนิยามเป็นเวลากว่าร้อยปี ซึ่งความคิดพื้นฐานของมาร์กซ์เชื่อว่า หากสังคมนิยมล่มสลายลงเราไม่สามารถไปสู่สังคมไร้รัฐ ไร้ชนชั้น แบบคอมมิวนิสต์ได้โดยทันที
มาร์กซ์เชื่อว่ามันควรจะมีช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อที่ชนชั้นแรงงานจะนำสังคมที่มีรัฐไปสู่สังคมไร้รัฐ ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐแบบเดิมที่เพียงแต่เปลี่ยนผู้นำเป็นชนชั้นแรงงาน โดยมันควรจะเป็นรัฐที่มีรัฐบาลแบบใหม่ กฎกติกาแบบใหม่ และหลักการใหม่ ซึ่งบางครั้งมาร์กซ์ได้พูดถึง “เผด็จการชนชั้นกรรมชีพ” โดยแนวคิดนี้เองถูกเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก สิ่งนี้เองทำให้พวกโปรทุนนิยมมักจะพูดถึงสังคมนิยมว่าเป็นเผด็จการ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่มาร์กซ์หมายถึงคือ แทนที่เราจะมีชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยที่คอยเป็นเผด็จการอยู่เหนือคนหมู่มากที่เป็นชนชั้นแรงงาน เราควรจะให้ชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เป็นผู้ควบคุมสังคมจนกว่าระบบบชนชั้นจะสลายไปในที่สุด ระบบสังคมที่จะนำไปสู่สังคมไร้รัฐนี่เองคือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกมันว่าสังคมนิยม เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่นี่ก็คือสิ่งที่ฉันพยายามย่อยให้เข้าใจง่ายที่สุด เพราะถึงมันจะฟังดูซับซ้อนแต่นี่ก็คือพื้นฐานของแนวคิดมาร์กซิสต์
คราวนี้เรามาพูดถึงเลนินกันบ้าง โดยงานเขียนของเลนินก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาแนวคิดในเวียดนามเช่นกัน เลนินเองก็บอกเช่นเดียวกับมาร์กซ์ว่าสังคมนิยมคือรูปแบบรัฐที่เปลี่ยนผ่านมาจากรัฐแบบทุนนิยม ซึ่งเขาเคยเขียนไว้ด้วยว่าระบบสังคมนิยมจะชนะทุนนิยมอย่างแน่นอนเพราะว่าสังคมนิยมได้สร้างความเป็นประชาธิปไตยที่มากกว่าประชาธิปไตยลวงหลอกตามแบบชนชั้นนายทุนเป็นล้านๆ เท่า
เลนินยังได้เขียนอีกว่าเขาอยากให้สหภาพโซเวียตเป็นรัฐสังคมนิยมเพื่อที่จะได้เอาชนะระบบทุนนิยม ถึงตอนนี้เอง คุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ว่าสหภาพโซเวียตได้ทำตามเป้าหมายนั้นสำเร็จแล้วหรือไม่ ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นที่เราจะพูดถึงกัน แต่นี่เรากำลังพูดถึงเวียดนาม และเมื่อเราพูดถึงสังคมนิยมเวียดนามเราจะขาดสหายโฮจิมินห์ไปไม่ได้!
โฮจิมินห์ได้ศึกษางานเขียนของมาร์กซ์ เลนิน และนักสังคมนิยมคนอื่นๆ อย่างกว้างขว้าง และนำแนวคิดเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นแนวคิดสังคมนิยมในแบบเวียดนาม ด้วยเหตุนี้เองการทำความเข้าใจนิยามแนวคิดสังคมนิยมเฉพาะแบบเวียดนาม ตามแนวคิดของโฮจิมินห์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ท่านได้กล่าวถึงสังคมนิยมไว้ว่า “กระผมจะอธิบายความหมายของมันเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ สังคมนิยมคือสังคมที่ยกระดับผู้คนทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหล่าชนชั้นแรงงาน”
ท่านยังได้กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนสังคมแบบเวียดนามให้ไปสู่สังคมนิยมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และปัจจัยที่สำคัญคือการเปลี่ยนชนชั้นแรงงานให้เป็นนักสังคมนิยม (socialist people) ที่มีทั้ง อุดมการณ์ คุณค่า และวิถีชีวิตในแบบสังคมนิยม แนวคิดนี้เองคือหนึ่งในแนวคิดสำคัญบนเส้นทางการปฏิวัติเวียดนามของโฮจิมิน
ยุคหลังสงครามกับอเมริกา
ก็เหมือนที่คุณรู้กันดี เวียดนามชนะอเมริกาในปี 1975 และหลังจากที่อเมริกาถอนกำลังจากเวียดนาม อเมริกาก็ได้ห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆ ค้าขายกับเวียดนาม ทำให้เวียดนามถึงกับฉิบหายในเวลานั้น
ช่วงสงครามเวียดนาม อเมริกาและประเทศพันธมิตรร่วมรบ “ได้ระดมทิ้งระเบิดใส่พวกเราจนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบยุคหิน” และในช่วงที่พวกเราได้อิสรภาพ อเมริกายังบังคับให้นานาประเทศหันหลังใส่เรา สหภาพโซเวียตคือประเทศเดียวในโลกที่พยามช่วยเราในตอนนั้น ด้วยการส่งอาหาร ปุ๋ย และการสนับสนุนอื่นๆ อีกมากมาย โซเวียตยังช่วยฝึกวิศวกรของเราด้วย เนื่องจากระบบการศึกษาของเวียดนามในช่วงนั้นเองได้ถูกทำลายจนไม่เหลือซาก เราแทบจะไม่เหลือโรงเรียนเลย ซึ่งพ่อของฉันเป็นหนึ่งในสองร้อยชาวเวียดนามผู้โชคดีที่ได้เป็นวิศวกร และได้โอกาสไปฝึกหัดในสหภาพโซเวียตระหว่างปี 1975 ถึง 1978
ฉันเคยสัมภาษณ์พ่อของฉัน เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาบนช่องฉันด้วย
อย่างไรก็ตาม ฉันรู้ดีว่าหลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียต ฉันเองก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตด้วยเช่นกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหาภาพโซเวียตก็เป็นประเทศมหาอำนาจเดียวที่ช่วยเราในขณะนั้นจนถึงช่วงยุค 1980 สิบปีหลังจากที่เราได้เอกราช เราจึงเริ่มสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบ
พวกเราพยายามให้รัฐคอยกำกับกลุ่มธุรกิจทั้งหมด หลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ณ ช่วงเวลานั้นแม่ของฉันมีอายุ 20 ปี เธอได้เล่าถึงวิถีชีวิตในช่วงนั้นไว้ว่า ผู้คนในหมู่บ้านของเธอทำงานร่วมกันและแบ่งปันทรัพยากรกันโดยไม่ได้รับค่าจ้าง แต่สิ่งที่เธอจะได้ก็คือแสตมป์ในทุกๆ เดือน ซึ่งเธอนำแสตมป์นี้เองไปใช้แลกอาหาร เสื้อผ้า ปุ๋ย และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในร้านสะดวกซื้อ
เธอได้พูดไว้ว่าทุกๆ คนต่างก็ยากจน แต่มันก็เป็นช่วงชีวิตที่ไม่มีความเครียดหรือความกังวล แถมยังสนุกอีกด้วย ในความเห็นของฉันแล้วระบบสังคมดังกล่าวคงสำเร็จได้ถ้าหากว่าเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่เพียงพอ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และถ้าผู้คนได้เข้าถึงการศึกษาในระดับสูง และสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ หากนานาประเทศยอมค้าขายกับเราเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ก็น่าเศร้าว่าเวียดนามในตอนนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ฉันบอก
จริงๆ แล้วสิ่งที่ประเทศเวียดนามได้เผชิญมาในช่วงทศวรรษ1970 และ 1980 นี่เอง เป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศเวียดนามตัดสินใจสร้างสังคมคอมมิวนิสต์แบบสมบูรณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งในโลกที่มีการพึ่งพากันอย่างเป็นองค์รวมก็เหมือนว่าจะเป็นสิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องด้วยเราแทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนเหลือง (agent orange สารเคมีที่ทางสหรัฐใช้ในช่วงสงครามเวียดนาม) กระจายตัวไปทั่วเวียดนามใต้ ซึ่งมันได้ทำลายอาหาร น้ำ และป่าไม้ รวมทั้งพืชผลของเราด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าที่ฉันพูดหมายถึงอะไร ฉันจะอธิบายให้ฟัง สหรัฐอเมริกาได้พ่นสารพิษจำนวนถึง 80 ล้านตันเข้าไปในประเทศเวียดนาม โดย 60% ของสารพิษคือฝนเหลือง ในจำนวนนี้ยังรวมถึงไดอ๊อกซิน (Dioxin) หนึ่งในสารพิษที่มีความอันตรายที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยรู้จัก โดยคุณสามารถฆ่าคนจำนวน 8 ล้านคนได้ โดยใช้ไดอ๊อกซินแค่ 85 กรัมเท่านั้น
ในเวลาเดียวกันสหรัฐก็ ‘ระดมทิ้งระเบิดใส่พวกเราจนต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบยุคหิน’ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเมืองต่างๆ ซึ่งรวมถึงบ้านเกิดของฉันด้วยที่ต้องมีการรื้อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ ซึ่งบ้านเกิดของฉันที่ทัญฮว้า (Thanh Hóa) สิ่งปลูกสร้างแทบจะทั้งหมดมีความใหม่มากเมื่อเทียบกับที่อื่นในเวียดนาม
ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่าบ้านเกิดของฉันถูกระเบิดของสหรัฐ จึงเป็นสาเหตุที่การสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่ยากลำบากภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลของเราเองก็ยอมรับด้วยเช่นกันว่าในขณะนั้นพวกเขาอ่อนประสบการณ์ และรีบเกินไปในการสร้างสังคมที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เพ้อฝันเมื่อดูจากปัจจัยทางวัตถุของประเทศเรา
ยังไม่พอหลังจากสงครามกับสหรัฐจบลง เราก็ทำสงครามกับเขมรแดง ซึ่งเขมรแดงมีผู้นำที่โหดเหี้ยมชื่อ พลพต เขาสังหารชาวกัมพูชาและเวียดนามตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 1975 ถึง 1978 พลพตได้รุกราน ทรมาน และเข่นฆ่าชาวเวียดนามไปกว่าพันคนโดยไม่มีเหตุผล
ผู้นำเวียดนามต่างพยายามอย่างมากในการประนีประนอมโดยสันติ แต่กัมพูชาก็ปฏิเสธที่จะฟังในปี 1979 พลพตส่งทหารกว่า 190,000 คน บุกเข้ามายังเวียดนามใต้ ซึ่งเราไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องสู้กลับ ซึ่ง 6 ปีให้หลัง เขมรแดงก็ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ไทย และจีน
ในยุคแห่งความโหดร้ายของเขมรแดง ซึ่งคร่าชีวิตคนนับล้านทั้งชาวเขมรและเวียดนาม เวียดนามจากที่พึ่งน่วมมาจากสงครามกับอเมริกา ยังต้องส่งทหารกว่าพันคนเพื่อต่อสู้กับกองกำลังของพลพต
ในช่วงนั้นเองถือได้ว่าเป็นยุคมืดเลยก็ว่าได้และเวียดนามยังถูกปฏิบัติอย่างไร้เยื่อใย ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่เหล่าประเทศมหาอำนาจได้รวมตัวกันเพื่อที่จะเล่นงานเวียดนาม แต่กลับกลายเป็นว่าจริงๆ แล้วเวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวที่ช่วยกอบกู้กัมพูชาในช่วงนั้น
เป็นอะไรที่ตลกดีเหมือนกันที่ทั่วโลกต่างพากันลงโทษและปฏิบัติกับเวียดนามแย่ๆ เพราะว่าหลายประเทศอยากที่จะให้เขมรแดงชนะและให้เวียดนามแพ้ เพื่อที่จะไม่ให้สังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์แบบนั้นเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเวียดนามเป็นฝ่ายชนะ ส่วนเขมรก็พ่ายแพ้ไปและผู้นำเขมรหลายคนยังขึ้นศาลโลกอีกด้วย
หากเล่าย่อๆ ในช่วงทศวรรษ 1980 ประเทศต่างๆ อย่า จีน ประเทศฝั่งตะวันตก และประเทศต่างๆ ในเอเชียใช้เหตุผลดังกล่าวในการโจมตีประเทศเวียดนาม พร้อมปิดกันการค้าไม่ให้ต่างประเทศค้าขายกับประเทศเวียดนาม ซึ่งถ้านั่นยังฟังดูไม่โหดร้ายพอ ฉันอยากจะเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เราชนะพลพตในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อมาในต้นทศวรรษ 1990 โซเวียตก็ดันล่มสลายไปเสียอย่างนั้น
กลับกลายเป็นว่าสหายหนึ่งเดียวของเรากลับไม่สามารถช่วยเราได้ ขนาดโซเวียตยังเอาตัวเองไม่รอดเลย
เพื่อที่จะให้เรารอดพ้นภยันตรายจากอเมริกา เราจึงจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศของเรา ซึ่งนำมาสู่การปฏิรูปโด๋ยเม้ย (Đổi Mới) ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ถึงแม้ว่าเราจะเอาชนะประเทศทุนนิยมได้ในสงคราม แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังต่อสู้กับเราผ่านสงครามการเงิน และเนื่องจากเราไม่มีพันธมิตร มันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเอาชนะได้ แน่นอนสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลก ยังตงสนับสนุนการต่อต้านสังคมนิยมแบบเวียดนามด้วย
สถาบันทางการเงินอย่างธนาคารโลกซึ่งเป็นสถาบันจักรวรรดินิยมที่พยายามยัดเยียดความเป็นทุนนิยมใส่เหล่าประเทศที่ประกาศเอกราชจากเจ้าอาณานิคม แน่นอนพวกเขาให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่มันก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่ว่าพวกเราต้องมีการผ่อนผันกฎระเบียบในตลาดและปล่อยให้นายทุนเข้ามายังประเทศกำลังพัฒนานั้น ๆ
เพื่อที่จะให้ประเทศอยู่รอด เราจึงเปลี่ยนระบบจากเศรษฐกิจเดิมที่พึ่งพาการเกษตรแบบครอบครัว เป็นการเปิดการค้าข้าวเสรีภายในประเทศ ลดงบประมาณในการบริหารประเทศที่ไม่จำเป็นลง เช่น ลดค่าใช้จ่ายในทางราชการ ทำลายข้อจำกัดในทางการค้า ที่สำคัญเลยคือการให้โควตาการค้าต่างประเทศแก่เอกชน ทำให้เอกชนสามารถทำการค้าขายกับต่างประเทศได้โดยตรง
ซึ่งมันคือการที่ธนาคารโลกบีบให้รัฐบาลเวียดนามมอบอำนาจแก่บริษัทนายทุน โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ หรือจะให้พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาพยายามเพิ่มอำนาจแก่ประเทศที่ร่ำรวยเพื่อครอบงำเวียดนามในแบบจักรวรรดินิยม ถ้าหากเวียดนามปฏิเสธแล้วล่ะก็ เวียดนามจะไม่ได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจใดๆ เลย ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องทำทุกอย่างตามที่ธนาคารโลกบอก นั่นเพราะว่าพวกเราจนตรอกไม่มีทางเลือก
พวกเขาบอกเราว่าเราต้องปรับปรุงโครงสร้างนโยบายสาธารณะ มันฟังดูดีไปเลยใช่ไหมล่ะ แน่นอนว่าทุกประเทศต้องมีการลงทุนกับนโยบายสาธารณะ แต่! ก็มาพร้อมข้อแม้ด้วย อยย่างเช่น
“แต่ในขณะเดียวกันนี้ ข้อกฎหมายอันเป็นการให้นักลงทุนต้องเสียประโยชน์ในกิจการใด ที่นักลงทุนหรือนักลงทุนต่างชาติได้ทำภายในประเทศ ข้อกฎหมายนั้นเป็นอันต้องยกเลิกไป”
เห็นแล้วใช่ไหมล่ะว่าทุนนิยมไม่ได้ให้อะไรฟรี ทุกอย่างจำเป็นต้องจ่าย นักลงทุนต่างชาติและพวกจักรวรรดินิยมมักจะได้ผลประโยชน์ที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่นั้น IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังมีการเสนอให้เวียดนามลดงบประมาณในส่วนการจัดการความเป็นอยู่ของประชาชน
ทั้งการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ลดเงินที่ใช้อุดหนุนเยียวยา ลดค่าแรง ลดบำนาญราชการ และลดการใช้จ่ายสาธารณะ
คนจำนวนมากทั่วโลกล้มตายก็เพราะกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดนี้และจากพวกกองทุนหน้าเลือด ในปี 2007 เราได้เป็นสมาชิกของ WTO หรือองค์กรการค้าโลก ฟังดูเป็นก้าวสำคัญใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราต้องทำในฐานะสมาชิกก็คือ เราต้องลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่มีความจำเป็น อย่างเช่น เครื่องจักร จักรยานยนต์ เหล้า เนื้อ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ บางครั้งถึงกับลดภาษีลงเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์
ใน 5 นาทีแรกที่คุณได้อ่านบทความนี้ คุณคงจะรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องดีนี่ เพราะว่าการนำเข้าก็คงจะถูกลงเช่นกันและผู้บริโภคก็คงจะมีตัวเลือกมากขึ้น กลไกแบบตลาดเสรีเจ๋งไปเลยใช่ไหมล่ะ
จริงๆ ไม่เลย ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ฉันจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ การลดภาษีนำเข้าของรถอาจจะทำให้ราคารถถูกลงและคนสามารถซื้อรถได้มากขึ้น แต่จริงๆ แล้วโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเราไม่ได้ก้าวหน้าพอที่จะรองรับรถที่มีจำนวนมากขนาดนั้น การออกแบบถนนในเมืองฮานอยและเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ก็ออกแบบมาเพื่อรถไม่กี่คันเท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักล้าน การที่รัฐบาลของเรากำหนดภาษีรถที่สูง จะทำให้การนำเข้ารถเหมาะสมกับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเพื่อความสะดวกในการจัดการ
การมีรถจำนวนมากในขณะที่เรายังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เข้มแข็งพอ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ในเวียดนามโดยเฉพาะฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ แต่เดิมเวียดนามมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีอยู่แล้ว เรายังเป็นประเทศที่ขับรถจักรยานยนต์กันเป็นส่วนใหญ่ และถนนในประเทศเราก็ออกแบบมาเพื่อจักรยานยนต์เป็นการเฉพาะ
ถนนในเวียดนามมันไม่ได้กว้างพอให้รถเป็นพันคันมาเบียดกันในท้องถนน คงจะดีถ้ามีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่นั่นก็ใช้เวลาและเงินทุน ซึ่งการเก็บภาษีรถในจำนวนมหาศาลของรัฐบาลเวียดนามก็เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน แต่เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดการหรือพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้
ภาษีนำเข้าที่ถูกลงทำให้ผู้คนนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดการขาดดุลทางการค้า ซึ่งนั่นหมายความว่าเศรษฐกิจของเราต้องพึ่งพาประเทศอื่นเป็นหลัก
นี่คือองค์ประกอบสำคัญของจักรวรรดินิยม นั่นคือการบังคับให้เราส่งออกสินค้าไปทั่วโลกในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งในขณะเดียวกันก็บีบบังคับให้เราต้องพึ่งพาประเทศร่ำรวยอย่างประเทศทุนนิยม
ประเทศทุนนิยมเรียกสิ่งนี้ว่า “การแข่งขัน ” แต่พวกเขาก็ลืมไปที่จะบอกว่าการแข่งขันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 พวกเขารู้ว่าเราไม่สามารถมีสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ได้ภายใต้สถานการณ์แบบนี้
โครงสร้างพื้นฐานของเรายังไม่ได้รับการเยียวยานับแต่ภัยสงคราม ซึ่งไล่มาตั้งแต่สงครามกับฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และการรุกรานจากจีนในปี 1979 ทั้งยังต้องอยู่ในสภาวะที่แร้นแค้นสุดๆ และเรายังอยู่โดยตัวคนเดียว เราไม่มีทรัพยากรในการสร้างสังคมที่เราต้องการขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากอยู่ในสังคมทุนนิยม
การปฏิรูปโด๋ยเม้ยจึงเป็นหนทางเดียวที่เราเลือกได้ในการต่อต้านทุนนิยม เราต้องเปลี่ยนสังคมไปสู่สังคมที่มีหลักการแบบสังคมนิยมโดยการปฏิรูปแบบทุนนิยม เราจะต้องอยู่อย่างทุนนิยมเสียบ้างเพื่อให้อยู่รอดและเพื่อให้ทั่วทั้งโลกยอมทำการค้ากับเรา
ความมั่นคงในแบบสังคมนิยม
เวียดนามยังไม่ยอมแพ้กับเป้าหมายในการนำประเทศไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง แต่เท่าที่อ่านมาคุณคงเข้าใจแล้วว่าการปฏิรูปโด๋ยเม้ยนั้นสำคัญอย่างไร ไม่ใช่เพราะว่าเรายอมก้มหัวต่อทุนนิยม แต่ถ้าหากเราไม่ทำในสิ่งที่ประเทศทุนนิยมบังคับ เวียดนามก็คงถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าทำไมหลายคนจึงเห็นเวียดนามเป็นภาพผสมของสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และทุนนิยม
เลนินได้เคยมองเห็นถึงสถานการณ์แบบนี้ไว้แล้ว และได้กล่าวถึงมันในหนังสือของเขาว่าการที่เราจะไปสู่เป้าหมายหรือสังคมคอมมิวนิสต์ เราต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าสังคมนิยม การปฏิรูปโด๋ยเม้ยจึงอยู่บนฐานของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของเลนินหรือที่เรียกว่า NEP
แล้วก็ด้วยเหตุผลนี้เอง เราต้องปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามาเพื่อให้เราอยู่รอด อ้างจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ มาร์กซ์เรียกช่วงเวลานี้ว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน นี่จึงเป็นเหตุผลที่เวียดนามมีชื่อทางการว่า ‘สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม’ ซึ่งมันไม่ได้มาแค่ชื่อ
เราพยายามอย่างหนักเพื่อให้สังคมมีความเป็นสังคมนิยม รัฐบาลของเราเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าได้ต่อสู้เพื่อสังคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์หลักของชาติเวียดนามยังคงยึดถือตามแบบมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และแนวคิดของโฮจิมินห์ แต่ที่ว่ามานั้นจริงๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร
รัฐบาลเวียดนามมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางของสังคม 8 ประการ ที่พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าหนทางนี้จะนำพาไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ คือ
ต้องมีเศรษฐกิจที่ทันสมัยและผู้คนที่มีการศึกษา รักษาทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องสิ่งแวดล้อม
พัฒนาระบบตลาดในปริทัศน์แบบเศรษฐกิจสังคมนิยม
สร้างวัฒนธรรมของชาวเวียดนามที่ดีงาม ช่วยเหลือเกื้อกูล และเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม
สร้างความเชื่อมั่นในสาธารณะ ประเทศชาติ และความสงบเรียบร้อยของสังคม
สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างสงบสุข เป็นประชาธิปไตย และสมานฉันท์
สร้างประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมด้วยความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ
สร้างรัฐบาลสังคมนิยมที่เป็นธรรมตามกฎหมายที่เหมาะสมกับประชาชนตามหลักมาร์กซิสต์
สร้างพรรคคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์และแข็งแรง
เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่ก็น่าเสียดาย เพราะเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต้องใช้เวลาอย่างมากในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น เป้าหมายของพวกเราคือบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้ได้ภายในปี 2050 และหลังจากนั้น เราก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมแบบรัฐไร้ชนชั้นและเป็นสังคมคอมมิวนิสต์
นี่คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อสังคมนิยม และนี่คือนโยบายสังคมนิยมที่ใช้ได้ในเวียดนาม เรามีการจัดการราคาของอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นได้อย่างมีเสถียรภาพ
เรามีการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่จับต้องได้ เรามีสหกรณ์กว่า 25,000 แห่งทั่วเวียดนาม ทั้งสหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การขนส่ง และสหกรณ์ในบริษัทเล็กๆ
ไร่นาในเวียดนามกว่า 50% ถือครองเป็นแบบสหกรณ์ ด้วยจำนวนสมาชิกสหกรณ์ชาวนากว่าหกล้านคน ในส่วนของรัฐบาล รัฐถือครองความเป็นเจ้าของบริษัทประมาณ 700 แห่ง ซึ่งอยู่ในภาคการผลิตที่สำคัญเช่น อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า ประปา แก๊สหุงต้ม โยธา และอื่นๆ ที่สำคัญ นี่คือเหตุผลที่ทำไมสาธารณูปโภคอข่างเช่น อินเตอร์เน็ต ประปา ไฟฟ้า แก๊สหุงต้ม จึงมีราคาถูกในเวียดนาม
มีสิทธิประโยชน์มากมายหากคุณเข้าร่วมสหกรณ์ และรัฐบาลก็สนับสนุนการตั้งสหกรณ์ด้วย ประชาชนก็รวมกลุ่มเพื่อตั้งสหกรณ์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการสร้างบริษัทขนส่งด้วยตัวเอง มันก็จะมีความยุ่งยากในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจและเอกสารประกอบอื่นๆ มากมายตามมา ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
แต่ถ้าหากคุณเข้าร่วมสหกรณ์การขนส่ง คุณจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รัฐบาลจะเข้ามาช่วยจัดการงานด้านเอกสารต่างๆ ช่วยคุณในการบริหารการเงิน ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีการที่รัฐบาลเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมสหกรณ์ ด้วยการทำให้งานเอกสารนั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับสมาชิกสหกรณ์
อีกตัวอย่างหนึ่ง แม่ของฉันเธอเป็นชาวนาและเธอยังเข้าร่วมสหกรณ์ในหมู่บ้านของเธอด้วย ดังนั้นเองทุกครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นกับผลผลิตของเธอ เธอจะได้รับคำแนะนำและข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการในการจัดการกับโรคเหล่านี้ และถ้าเธอไม่มีเงินพอที่จะซื้อปุ๋ยหรือเมล็ดพันธุ์เพื่อที่จะปลูกข้าว เธอก็สามารถไปยังสหกรณ์และขอเงินช่วยเหลือ และการเข้าร่วมสหกรณ์ยังทำให้เธอได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายการรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวที่ช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและชาวนาในเวียดนาม
ก่อนหน้านี้ในวีดีโอ “เวียดนามเป็นสังคมนิยมหรือไม่” ของฉัน ฉันได้กล่าวถึงสิ่งที่โฮจิมินห์เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างสังคมแบบสังคมนิยม มันคือการสร้างประชาชนที่มีความเป็นสังคมนิยมเพื่อสรรสร้างสังคม จนกระทั่งทุกวันนี้เวียดนามยังคงพยายามอย่างหนักในการพัฒนาคุณค่าแบบสังคมนิยมในสังคม ทุกโรงเรียนในเวียดนามมีการสอนแนวคิดมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และแนวคิดของโฮจิมินห์ ทั้งในโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม หรือแม้กระทั่งในคณะบริหารธุรกิจ ทุกที่จะต้องมีการสอดแทรกแนวคิดทฤษฎีและปรัชญาแบบสังคมนิยมเอาไว้
ฉันศึกษาแนวคิดสังคมนิยมตั้งแต่ฉันอายุ 6 ขวบจนกระทั่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย การปูพื้นฐานแนวคิดสังคมนิยมเริ่มด้วยการสร้างเรื่องราวที่เล่าความหมายของสังคมนิยมให้เด็กๆ เข้าใจและพัฒนาต่อไปเป็นการศึกษาเรื่องอุดมการณ์แนวคิดมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และโฮจิมินห์ ในมหาวิทยาลัยวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่สำคัญซึ่งจำเป็นต่อการศึกษาหากนักเรียนนักศึกษาต้องการจบการศึกษา
สิ่งนี้เองทำให้คนเวียดนามทุกคนถูกฝึกให้คิดในแบบมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และโฮจิมินห์ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมในสภาของเวียดนามถึงมีการยกเอาแนวคิดมาร์กซิสต์ เลนินนิสต์ และโฮจิมินห์ รวมทั้งโซเวียตขึ้นมาในทุกๆ การประชุม
ก็ใช่ เรามีผู้นำหัวทุนนิยมในเวียดนามอยู่บ้างในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้นำของเรามักจะเป็นหัวมาร์กซิสต์และเลนินนิสต์ สำหรับชาวเวียดนามแล้ว คุณค่าแบบสังคมนิยมถือว่าเป็นส่วนสำคัญในตัวเรามาตลอดระยะเวลากว่า 4,000 ปีในประวัติศาสตร์ของเวียดนาม
ฉันพูดได้เลยว่าชาวเวียดนามมีความเป็นสังคมนิยมโดยธรรมชาติ เรามีรากของความเป็นสังคมนิยมในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เราเป็นสังคมนิยมมาก่อนที่คำว่าสังคมนิยมจะถูกนิยามขึ้นเสียอีก ชาวเวียดนามมีความเป็นส่วนรวม (collectivist) เรามีวัฒนธรรมของการช่วยเหลือกันและกัน เห็นใจซึ่งกันและกัน และให้ประโยชน์ของกลุ่มมาก่อนใครคนใดคนหนึ่ง
เราชาวเวียดนามถูกสอนว่าความเห็นแก่ตัวและความเป็นปัจเจกคือสิ่งที่แย่ และเราต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น โฮจิมินห์ ถึงขั้นมีคำพูดถึงเรื่องนี้ว่า
“ชาติ ประชาชน ปัจเจกชน อาจจะมีวันวานที่ดี แต่ในวันนี้ พวกเขาอาจจะไม่ถูกรักและเทิดทูน ถ้าหัวใจพวกเขาไม่บริสุทธิ์อีกต่อไป หรือถ้าพวกเขาตกอยู่ภายใต้ความเป็นปัจเจกนิยม”
ฉันเห็นด้วยกับโฮจิมินห์
แน่นอนฉันคิดว่าทุกคนควรจะมีเสรีภาพ และเราควรจะเลือกสิ่งต่างๆ ได้อย่างเสรี แสดงความเป็นตัวของตัวเองและใช้ชีวิตอยู่ตามแบบที่เราต้องการ ตราบเท่าที่เราไม่ได้ไประรานผู้อื่น แนวคิดว่าปัจเจกนิยมไม่ควรเป็นแนวคิดหลักในการจัดการสังคมมันเป็นสิ่งที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่เห็นพ้องตรงกัน
และนี่ก็เป็นคำพูดของโฮจิมินห์อีกอัน
“ความเป็นปัจเจกสนใจเพียงผลประโยชน์ส่วนตนไม่ว่าผลประโยชน์นั้นจะกระทบต่อสังคมแค่ไหนก็ตาม”
“ก็เหมือนกับคำว่าฉันรวยดังนั้นฉันไม่ต้องไปแคร์คนจน”
“ความเป็นปัจเจกทำให้คนขี้เกียจ มีการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น มีความเย่อหยิ่ง อิจฉาริษยา และการคอรัปชั่น”
“มันคือศัตรูตัวร้ายต่อการปฏิวัติในแบบสังคมนิยม”
ปัจเจกนิยมไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ มันถูกสร้างขึ้นมาในสังคมที่คนส่วนน้อยเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นกลุ่มที่กุมอำนาจทั้งหมดในสังคม ในสังคมที่ผู้คนทำให้คนอื่นเป็นทาส และในสังคมที่ผู้คนสนใจแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ต่อผู้อื่น
กิจกรรมถามตอบ Q&A กับสหายนักปฏิวัติจากต่างแดนกับ “ลูน่า” โดย TUMS
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Tumarxisms/photos/a.127128865638519/371790461172357/
by Peam Pooyongyut | Aug 17, 2021 | Articles บทความ , Common School , Translation , ไทย
ผู้เขียน Elle Armageddon
ผู้แปล sirisiri
บรรณาธิการ Editorial Team
หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Crimethinc.
บทแปลได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School
คำนำบรรณาธิการ
เทคโนโลยีการสื่อสารนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจก็ไม่ได้นิ่งเฉยที่จะปล่อยให้ผู้ชุมนุมประท้วงทำตามอำเภอใจ หน่วยข่าวกรองของประเทศต่างๆ ล้วนมีเทคโนโลยีที่จะสกัดกั้น ดักจับ หรือล้วงข้อมูลสำคัญของผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดเวลา การใช้เทคโนโลยีจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ทันปฏิบัติการเหล่านี้ และโต้กลับหรือต่อต้านด้วยวิธีที่ทำให้พวกเขาทำงานได้ยากขึ้น การเข้ารหัสแบบสองทาง (End-toend encryption) คือหนึ่งในระบบความปลอดภัยด้านการสื่อสารที่ทำให้รัฐบาลปวดหัวมานักต่อนัก (โดยเฉพาะพวกชอบเสือกชีวิตชาวบ้านอย่างหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ) บทความนี้จะพาเราไปรู้จักว่า E2EE มีประโยชน์อย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง และเราควรใช้มันในการสื่อสารเพื่อการเคลื่อไหวทางการเมืองหรือไม่
End-to-End Encryption (E2EE) 101
จริงหรือไม่ที่การเปิดเผยของ Vault 7 (โครงการล้วงข้อมูลระดับชาติที่พัฒนาโดย CIA) หมายความถึงความล้มเหลวของการเข้ารหัสแบบ E2EE
หลังจากปี 2013 Edward Snowden ได้เปิดเปิดโปงให้โลกรับรู้ถึงหน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทำการสอดส่องและจดบันทึก ข้อความแชต การสนทนาผ่านโทรศัพท์ และอีเมล ไม่กี่ปีต่อมาเหตุการณ์ดังกล่าวได้กระตุ้นให้เกิดการหันมาใช้ระบบการเข้ารหัสข้อความโดยผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นเครือข่ายการสื่อสารอีเล็กทรอนิกส์ (เช่น Facebook, Line) คุณคงเคยได้ยินชื่อ end-to-end encryption หรือ “E2EE” มาบ้าง ซึ่งก็มีความหมายตรงตัว การเข้ารหัสระหว่างจุดสิ้นสุด กับ จุดสิ้นสุด (end point หรือ จุดสิ้นสุด หมายถึง จุดสิ้นสุดของวงจรฮาร์ดแวร์ ในที่นี้มักจะหมายถึง มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องของผู้ส่งสาร ไปสู่เครื่องของผู้รับสาร) แท้จริงแล้วกระบวนการนี้มันช่วยประกันความปลอดภัยแง่ความเป็นส่วนตัวของคุณจากรัฐได้แค่ไหน
ตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ กรมศุลกากรอเมริกา (US customs and border protection หรือ CBP) ได้เดินหน้านโยบายที่ถือเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้เดินทางอย่างจริงจัง นั่นก็คือนโยบายที่ทั้งคนนอก และประชาชนของอเมริกาเองจะต้องปลดล็อกเครื่องมือสื่อสารของตน ทั้งมือถือ และโน้ตบุ๊กเพื่อรับการตรวจสอบโดยศุลกากร พวกเขาจะเรียกร้องการปลดล็อกเท่าที่ต้องการ หรืออาจถึงขั้นขอให้แสดงรหัสผ่านส่วนตัวเพื่อตรวจสอบ หากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกปฎิเสธการเดินทางเข้าประเทศโดยสิ้นเชิง
Basic E2EE (source: geeksforgeeks.org)
วันที่ 7 มีนาคม 2017 ที่ผ่านมา Wikileak ได้เผยแพร่ขุมทรัพย์ลับของ CIA ทั้งเอกสารและบันทึกแนวทางการล้วงข้อมูล จุดอ่อน-จุดแข็ง ของวิธีการต่างๆ ที่ CIA ใช้งบประมาณลับผลักดันขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง เมื่อการเปิดโปงครั้งนี้แพร่ออกไป ไม่ใช่แค่เพียง CIA อีกต่อไปที่จะรู้จุดอ่อน-จุดแข็ง ของแต่ละแนวทางการล้วงข้อมูลซึ่งถูกเข้ารหัสผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Signal, WhatsApp ส่วนใหญ่แล้ว CIA มุ่งเป้าไปที่การเข้าถึงข้อมูลโดยตรงผ่านอุปกรณ์แอนดรอยด์ส่วนบุคคล
อย่างไรก็ดีการเปิดโปงครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า กระบวนเข้ารหัสการสื่อสารด้วยระบบ E2EE ทำให้การดักฟัง หรือการสอดส่องนั้นทำได้ยากขึ้นจริงๆ ดังนั้นการใช้ E2EE จึงยังมีความสำคัญอยู่
มีรายงานจำนวนมากกล่าวว่า โครงการ Vault 7 สามารถเจาะระบบเข้ารหัสของแอปพลิเคชั่น Signal ได้สำเร็จ ซึ่งแท้จริงแล้วก็เจาะได้แค่ขั้นตอนอุปกรณ์ของผู้รับสาร (อาจหมายความว่าไม่ได้เจาะระบบเข้ารหัสสำเร็จ แต่เป็นการเข้าถึงข้อมูลจากการปลดล็อกของผู้ใช้เอง) ในจุดนี้เราไม่มีเหตุให้เชื่อได้ว่า การเข้ารหัสนั้นไร้ประสิทธิผล
ข้อจำกัด ของการสอดส่องข้อมูลโดยตรง
ก่อนอื่นข้อความที่เราได้อ่านกันในช่องแชตนั้นเป็นข้อความทั่วไป นั่นหมายความว่าข้อความได้ถูกถอดรหัสแล้ว ด้วยการเข้ารหัสแบบ end-to-end จุดที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดตลอดการเดินทางของข้อมูลคือ คุณและอุปกรณ์สื่อสารของคุณ หรือในทางกลับกันก็คือ คู่สนทนาของคุณและอุปกรณ์สื่อสารของเขา หมายความว่าใครก็ตามที่สามารถ ปลดล็อก/เข้าถึง อุปกรณ์สื่อสารของคุณหรือของคู่สนทนาของคุณ ย่อมสามารถอ่านข้อความเหล่านั้นได้โดยตรง ตำรวจนอกเครื่องแบบอาจแอบอ่านข้อความของคุณจากการแอบมองหน้าจอของผู้รับสารที่ไม่ทันระวังตัว หรืออาจยึดไปและเจาะเข้ารหัสผ่านเฉพาะของตัวเครื่องเพื่อเปิดดู ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้คุณก็ควรจะรอบคอบเป็นพิเศษหากคิดจะส่งข้อความอะไรที่ไม่อยากให้คนเหล่านั้นรับรู้ด้วย
ข้อจำกัดของการสอดแนมระดับบุคคล
หากคุณไม่สามารถแน่ใจได้ว่าผู้รับสารจะปลอดภัยจากการสอดแนม คุณควรคาดเดาไว้เลยว่าข้อความใดๆ ที่ถูกส่งถึงผู้รับ พวกที่ต้องการล้วงข้อมูลก็จะเห็นมันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการสอดแนมอย่างเฉพาะเจาะจงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ วิธีการหลักๆ จะเป็นการใช้มัลแวร์ที่ส่งเข้ายังอุปกรณ์สื่อสารของเป้าหมายเพื่อส่งกลับข้อความใดๆ ที่เข้า/ออก ผ่านเครื่องมือนั้น วิธีนี้สามารถฝ่าการป้องกันของ E2EE เข้ามาได้ ดังนั้น เมื่อเราไม่สามารถทราบได้ว่าในบุคคลที่เราติดต่อมีใครตกเป็นเป้าของการโจมตีประเภทนี้หรือไม่ เราจึงควร “หลีกเลี่ยงการสื่อสาร” หรือ “ส่งข้อความที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก”ผ่านระบบดิจิทัล แม้ว่าการคุกคามประเภทนี้จะหาได้ค่อนข้างยาก แต่คุณก็ไม่ควรเสี่ยง!
ข้อจำกัดของ Metadata
อย่างที่สาม E2EE ไม่ได้ปกป้อง metadata (รายละเอียดของข้อมูล เช่น เวลาที่ส่ง ขนาด ตำแหน่งที่ส่งและรับข้อความ) ของคุณ แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับกระบวนการของการส่งข้อมูลของอุปกรณ์สื่อสาร สิ่งที่ถูกบันทึกจะยังคงแสดงเวลาและขนาดของสาร ทั้งผู้รับและของผู้ส่ง นั่นอาจรวมถึงตำแหน่งที่อยู่ของคู่สนทนาในเวลาต่างๆ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะจับใครเข้าคุกได้ง่ายๆ แต่มันสามารถบอกความสอดคล้องที่เกิดขึ้นระหว่างการสื่อสารของคู่สื่อสาร เช่นเบาะแสการปรากฏตัวในที่เกิดเหตุ และรูปแบบจังหวะความถี่ของการสื่อสารที่เกิดขึ้น เมื่อนำมาพิจารณาเข้าด้วยกันก็สามารถนำไปสู่การติดตามผ่านเครือข่ายกล้องวงจรปิดได้อย่างง่ายดาย
แล้วไงต่อล่ะ ?
หากว่า E2EE ไม่ได้ช่วยป้องกันการล้วงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์แบบ แถมยังปล่อยรายละเอียดของการสื่อสารอย่าง metadata ได้ แล้วทำไมเราจึงยังต้องการมันอีกเล่า!
อย่างหนึ่งที่การเข้ารหัสการันตีให้เราได้ก็คือ หากผู้มีอำนาจเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารของผู้รับหรือผู้ส่งได้ นั่นแปลว่าเขาสามารถขอตัวอย่างข้อความที่ถูกเข้ารหัสจากผู้ให้บริการอย่างเช่น Facebook ได้ อีกทั้งมันยังต้องการเครื่องมือและเวลามากทีเดียวที่จะถอดรหัสให้กลายเป็นข้อความต้นทางที่เราส่งไป ซึ่งในประเทศอเมริกา โจทก์มีสิทธิ์ที่เรียกว่า Speedy trial ซึ่งทำให้หลักฐานดังกล่าวไม่สามารถถูกถอดรหัสได้ทันเวลา
การสอดส่องระดับมวลชน
E2EE ทำให้การดักจับข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐและหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต่างๆ นั้นมีความยุ่งยากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ระหว่างทาง เช่น ต่อให้มีการขอข้อมูลจากผู้ให้บริการโดยตรง แต่ก็ยังต้องใช้ทรัพยากรที่มากเกินควรอยู่ดีเพื่อปลดการเข้ารหัสเหล่านั้นออก ทำให้วิธีการนี้มักจะไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุนไป เพราะขาดความแม่นยำของข้อมูลที่ต้องการอยู่ดี
Stingray Cellphone Spying (source: sandiegouniontribune.com)
Stingrays
“Defending Our Nation. Securing the Future/
ปกป้องชาติ รับประกันอนาคต”
คำขวัญของหน่วยงาน NSA
National Security Agency หรือ NSA คือ หน่วยข่าวกรองทางทหารระดับนานาชาติซึ่งดำเนินการภายใต้จุดมุ่งหมายทางข้อมูลข่าวสารของสหรัฐ เพื่อรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกในเชิงรุก เป็นหน่วยงานภายใต้การนำของ Director of National Intelligence หรือ DNI อีกต่อหนึ่ง (ผู้แปล)
NSA มักจะใช้กระบวนการสอดส่องข่าวสารผ่านระบบ IMSI หรือ Stingrays ซึ่งแฝงตัวอยู่ในระบบสื่อสาร โดยเฉพาะอุปกรณ์โทรศัพท์ เพื่อดึงข้อมูลโดยตรงจากเครือข่ายมือถือ ซึ่งก็สามารถเข้าถึงข้อมูลในเครื่องของคุณได้ แต่ด้วยระบบ E2EE สิ่งที่องค์กรเหล่านี้สามารถช่วงชิงไปได้ก็ยังเป็นเพียงข้อความที่ถูกเข้ารหัสและจำต้องใช้เวลาอย่างสิ้นเปลืองเพื่อที่จะแก้รหัสออกให้เป็นข้อความต้นฉบับ
การเข้ารหัสทั้งระบบ
ทุกวันนี้กูเกิลมีมาตรการให้อุปกรณ์มือถือแอนดรอยด์ต้องเข้ารหัสขั้นพื้นฐาน ซึ่งเราพบเจอได้ในระบบมือถือของเราที่เรียกว่า Full-disk encryption โดยรวมแล้วหมายความว่ากระบวนการเก็บข้อมูลในอุปกรณ์มือถือเหล่านั้นจะถูกเข้ารหัสก่อนถูกเก็บเข้าหน่วยความจำถาวร และจะต้องถอดรหัสเมื่อถูกเรียกใช้ ซึ่งจะช่วยปกป้องข้อมูลจากมัลแวร์ที่ทำหน้าที่เจาะข้อมูล สิ่งที่มัลแวร์เหล่านี้จะนำออกไปได้ก็มีแค่เพียงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม E2EE ไม่ใช่โล่มนตราที่จะปกป้องคุณจากการคุกคามด้านข้อมูลและความเป็นส่วนตัวจากรัฐในระดับปัจเจกได้อย่างสมบูรณ์ แต่ข้อมูลจาก Vault 7 ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่ามันสร้างความยุ่งยากแก่องค์กรต่างๆ ของรัฐได้อย่างมากทีเดียว ซึ่งอย่างน้อยมันก็ช่วยลดหนทางในการจู่โจมของพวกเขา ไปจนถึงเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการโจมตีในหลายๆ ประเภทที่จะกลับกลายเป็นความเปล่าประโยชน์ของพวกเขาเองในที่สุด
by Peam Pooyongyut | Aug 9, 2021 | Articles บทความ , Common School , Translation , การประท้วง Protest , ไทย
ผู้เขียน Andy Paine
ผู้แปล กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
บรรณาธิการ Editorial Team
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกที่ Jacobin
บทแปลชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School
อะบอริจินเผ่าวันกัน (Aboriginal Wangan) และจากาลิงกู (Jagalingou) ยืนหยัดต่อต้านเหมืองถ่านหินในออสเตรเลีย
บริษัทอดานี (Adani) เดินหน้าผลักดันโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความขัดแย้งและมีขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย การที่อะบอริจินเผ่าวันกันและจากาลิงกูต่อต้านโครงการนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเด็ดเดี่ยวและสร้างสรรค์ ที่เราจำเป็นที่จะต้องมีเพื่อความยุติธรรมของชนพื้นเมืองและสภาพภูมิอากาศ
ชาววันกันและจากาลิงกูเป็นอะบอริจิน (ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย) จากตอนกลางของรัฐควีนส์แลนด์ พื้นที่ของพวกเขาเป็นส่วนที่แห้งแล้งและมีฝุ่นเต็มไปหมด ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมือง แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าแหล่งน้ำพุ Doongmabulla นั้นป้อนน้ำให้ไหลไปสู่แม่น้ำ Carmichael และ Belyando ที่อยู่ในพื้นที่
Adrian Burragubba (sorce: wanganjagalingou.com.au)
แหล่งน้ำพุนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพวกเขา “ที่นี่เป็นแหล่งน้ำแห่งเดียวในประเทศ ของเรา เป็นแหล่งน้ำนิรันดร์ที่มีชีวิตและให้ชีวิต” เอเดรียน เบอร์รากับบา (Adrian Burragubba) นักเคลื่อนไหวสิทธิที่ดินอะบอริจินชาววันกัน กล่าว “ฉะนั้นแล้วมันจำเป็นที่จะต้องมีการปกป้องสถานที่แห่งนี้ เพราะว่ามันคือฝัน คืออดีต ปัจจุบัน อนาคตของพวกเรา”
บริษัท-อดานีต้องการสร้างเหมืองถ่านหินคาร์ไมเคิลในดินแดนของวันกันและจากาลิงกู นี่คือโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดและมีข้อพิพาทมากที่สุดอีกโครงการหนึ่งของโลก ประเมินกันว่าจะสามารถส่งออกถ่านหิน 2.7 พันล้านตันได้ภายในระยะเวลา 67 ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 4.7 พันล้านตัน
ในปี 2019 บริษัทอดานีฟ้องให้เบอร์รากับบาต้องเผชิญกับสถานะล้มละลาย ส่งผลให้โครงการต่อต้านเหมืองถ่านหินของเขาต้องกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้สู้เพียงลำพัง คนอื่นๆ ทั้งลูกของเขา พร้อมทั้งโคเอดี้ แม็กอะวอย (Coedie McAvoy) ก็ร่วมต่อต้านเหมืองถ่านหินนรกนี่ด้วยเช่นกัน แม็กอะวอยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Jacobin ว่า อดานีปฏิบัติต่อชาววันกันและจากาลิงกูอย่างไรในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และพวกเขาได้ทำการตอบโต้กลับไปอย่างไรบ้าง
ปกป้องผืนดิน
หากมีการเปิดเหมืองแห่งใหม่ของอดานีซึ่งเชื่อมกับลุ่มแม่น้ำกาลิลี ก็จะเกิดเหมืองใหม่ๆ ตามมาอีกในอนาคต เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นก็ทำให้เกิดแนวโน้มที่แนวปะการัง Great Barrier Reef จะฟอกขาว สถานีถ่านหินแห่งสุดท้ายของ Abbot Point ที่อดานีจะส่งออกถ่านหินไปนั้นตั้งอยู่ห่างจากแนวปะการังนี้แค่ชายฝั่งกั้นเท่านั้น หน่วยงาน IPCC เตือนว่า หากเราต้องการที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ต้องอยู่ใต้ดินต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ นักสิ่งแวดล้อมจึงต่อต้านเหมืองมาเป็นเวลาหลายปี
ผลกระทบจากเหมืองส่งผลโดยตรงกับผืนดินของชาววันกันและจากาลิงกู พวกเขาเห็นหลุมเปิดขนาดมหึมาว่าเป็น “ของเสื่อม” (desecration) ต่อผืนดิน เหมืองนี้ใช้น้ำปริมาณมหาศาลกว่า 12500 ล้านลิตรต่อปี ยังไม่นับว่ามันดูดอะไรออกมาจากหลุมอีก ระบบน้ำที่เปราะบางในพื้นที่และแหล่งน้ำพุ Doongmabulla จึงได้รับผลกระทบโดยตรง
แม็กอะวอยเล่าว่าชาววันกันและจากาลิงกูปฎิเสธการรุกคืบครั้งแรกๆ ของอดานี
อดานีได้เข้ามาทาบทามพวกเราครั้งแรกเมื่อปี 2012 เพื่อลงนามในข้อตกลงการใช้ประโยชน์ดินแดนชนพื้นเมือง (Indigenous Land Use Agreement (ILUA) พวกเราปฏิเสธข้อเสนอ พวกเขาจึงต้องกลับไปร่างแผนการนั้นมาใหม่ จนกระทั่งปี 2014 อดานีกลับมาและจัดแจงการประชุมเพื่อประสงค์ให้ข้อตกลงนั้นผ่าน แต่แน่นอนว่า พวกเราก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นกลับไปอีกครั้งอยู่ดี
ถึงอย่างนั้นอดานีก็ไม่ยอมลดละ แม็กอะวอยกล่าวว่า “หลังปี 2014 อดานีก็ใช้กลยุทธ์รุกคืบ คือการจ่ายเงินให้คนบางคนในกลุ่มของพวกเรา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อหวังให้ผลการโหวตข้อเสนอเป็นที่น่าพึงพอใจสำหรับพวกเขา แน่นอนว่าทำให้กลุ่มก้อนของเราแตกแยกและเกิดการพิพาทภายใน”
ผลโหวตการประชุมเดือนเมษายน 2016 ให้เหมืองชนะขาดลอยด้วยเสียง 294 ต่อ 1 เสียง แต่ว่าความชอบธรรมของการประชุมครั้งนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันไม่จบสิ้น สภาครอบครัววันกันและจากาลิงกูได้ต่อสู้ในศาลกว่าสามครั้งและพ่ายแพ้ไปในที่สุด
เมื่อทางเลือกในการต่อสู้บนชั้นศาลหมดหนทาง สภาครอบครัววันกันและจากาลิงกูยังคงโต้แย้งผลที่ออกมา เขาบอกว่าคนที่ออกเสียงโหวตในที่ประชุมไม่ใช่ชาววันกันและชาวจากาลิงกูด้วยซ้ำ พวกเขาถูกจ้างมาให้เต็มที่นั่งและโหวตสนับสนุนข้อเสนอของอดานี
หลายคนในที่ประชุมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นในที่ประชุมบ้าง เขาเห็นว่าผู้จัดประชุมได้เงินตามจำนวนคนที่พวกเขาไปหามาให้ออกเสียง แม็กอะวอยอธิบายว่าผู้จัดประชุมได้รับเงินตามจำนวนคนที่เขาหามาเข้าร่วมได้ และคนเหล่านั้นก็ได้รับคำสั่งว่าจะต้องโหวตอย่างไร การตัดสินใจในที่ประชุมไม่ได้เป็นไปตามฉันทานุมัติจากการรับรู้และบอกแจ้งล่วงหน้า
แม้ว่าครอบครัวของเขาจะเป็นครอบครัวที่ผู้คนมากหน้าหลายตารู้จัก อีกทั้งยังมีส่วนร่วมมากที่สุดในหมู่ชาววันกันและจากาลิงกู แต่พวกเขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น แม็กอะวอยพูดไว้ว่า “ผมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ครอบครัวของผมจึงบอยคอตการประชุม และแน่นอนว่าพวกเราได้ฟาดฟันกับการประชุมลวงโลกนั่นนับแต่นั้นมา”
กรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง
สมาชิกชาววันกันและจากาลิงกูต้องเผชิญความทุกข์ยากจากการต่อสู้ผ่านสื่อและในศาลกับบริษัทอดานีเป็นเวลาหลายปี พ่อของแม็กอะวอยก็คือผู้ต่อต้านเหมืองคนหนึ่งที่คนรู้จักกันดี เขาเล่าว่า
นับเป็นเวลาหกปีแล้วที่ครอบครัวเราร้อนรุ่มใจอย่างมากกับเรื่องนี้ พ่อโดนมุ่งเป้าจากหน้าสื่อหลายครั้ง ในสามปีที่เขาต่อสู้กับอดานี เขาได้เสียพี่น้องถึงสองคนพร้อมๆ กับการเสียลูกชายไปอีกหนึ่งคน สิ่งเหล่านี้ทำเอาพวกเราเสียหลักและสาหัสเอาการ นั่นคือสิ่งที่ทำให้พ่อต้องถอยกลับไปตั้งหลักและฟื้นฟูตัวเองอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ที่เรายังมีกำลังใจสู้ต่อ เพราะพวกเราเข้มแข็ง และยังเชื่อมั่นในความยุติธรรมกับความถูกต้อง
ในขณะเดียวกัน ความแตกแยกภายในพื้นที่ของวันกันและจากาลิงกูเองก็เห็นได้ทั่วไปภายใต้กฎหมายข้อพิพาทของชนพื้นเมือง กฎหมายนี้ให้สิทธิอันจำกัดต่อชนพื้นเมืองในเรื่องที่ดิน พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้ภาระหนักหน่วงของการพิสูจน์หลักฐานและกระบวนการกฎหมายที่มักไม่เสร็จสิ้นเสียที แม้ผู้ยื่นเรื่องซึ่งเป็นเจ้าของเดิมจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม แม็กอะวอยบอกว่า
ระบบกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมืองก็ทำในสิ่งที่มันควรทำ มันถูกออกแบบมาเพื่อแบ่งแยกและเอาชนะ (divide and conquer) เพื่อดึงผู้คนออกจากการต่อต้านเหมือง แบ่งแยกพวกเขา และเชิดชูเจ้าของเดิมที่ยอมจำนน มันถูกออกแบบมาเพื่อบริษัทเหมือง ไม่ใช่ชาวอะบอริจิน แม้ในยามที่คุณมีกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง คุณก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี สิทธิ์ที่คุณมีก็ได้แค่ตั้งแคมป์และออกล่าในพื้นที่ของคุณโดยได้รับอนุญาตจากพวกชนบทนิยม (patoralist)
การต่อสู้เรื่องเหมืองคาร์ไมเคิลของอดานีเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินอันเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในออสเตรเลียเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้วที่ชาววันกันและจากาลิงกูได้รับกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง ปัญหานี้ก็ยังไม่ถูกแก้ไข การที่อดานีเสนอให้สร้างเหมืองก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้เช่นกัน
source: koorihistory.com
รัฐบาลพยายามเข้าแทรกแซงประเด็นนี้หลายครั้ง เดือนพฤษภาคม ปี 2017 อธิบดีกรมอัยการ จอร์จ แบรนดีส์ (George Brandis) ภายใต้การสนับสนุนของพรรคแรงงาน ทำการปรับแก้ พรบ. กรรมสิทธิ์ชนพื้นเมือง (Native Title Act) หลังศาลสหพันธรัฐยกเลิกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียตะวันตกและเจ้าของเดิม ในฐานที่ตัวแทนทุกคนของกลุ่มหรือเผ่าชนพื้นเมืองที่เกี่ยวข้องไม่ได้ลงนาม
เหล่าแนวร่วมมองว่าการตัดสินใจครั้งนั้นเบิกทางให้ชาววันกันและจากาลิงกูสามารถฟ้องร้องต่อต้านข้อตกลง ILUA ของอดานี เนื่องจากแบรนดีส์ช่วยบุกเบิกการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บริษัทเหมืองและบริษัทอื่นๆ สามารถสร้างข้อตกลง ILUA ได้ง่ายขึ้นด้วยเสียงโหวตส่วนใหญ่ ซึ่งกีดกันผู้แทนชนพื้นเมืองที่ไม่เห็นด้วยออกไป อีกทั้งแบรนดีส์ยังสนับสนุนให้ผู้พิพากษาเลื่อนการพิจารณาคดีของชาววันกันและจากาลิงกูที่มีต่ออดานีออกไป จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนข้อกฎหมายได้
หลังจากนั้น รัฐบาลควีนส์แลนด์ได้เพิกถอนสถานะชนพื้นเมืองของวันกันและจากาลิงกูเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019 ในพื้นที่ที่ให้อดานีเช่า ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ระบบกรรมสิทธิ์ชนพื้นเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อน
“ยืนหยัดบนผืนดินของเรา”
ปี 2019 ชาววันกันและจากาลิงกูพ่ายแพ้การร้องอุทธรณ์ครั้งที่สามต่อศาลสหพันธรัฐ อดานีจึงเริ่มกระบวนการขอให้เบอร์รากับบาล้มละลาย แต่แม็กอะวอยก็ยืนกรานว่าผลกระทบทางข้อกฎหมายไม่มีทางทำให้ครอบครัวเขาเปลี่ยนทิศทางการต่อต้านอดานี:
ชาววันกันและจากาลิงกูไม่ได้ต่อต้านผ่านการขึ้นศาลเท่านั้น ศาลเป็นระบบตะวันตกที่ไม่เคยคำนึงถึงวัฒนธรรมและกฎของพวกเรา… ศาลเต็มไปด้วยกลโกงเพราะนักการเมืองสามารถเบี่ยงเบนคำตัดสินของผู้พิพากษาอย่างไรก็ได้
สมาชิกสภาครอบครัวหลายคนออกเดินทางรอบโลกในปี 2015 เพื่อพบปะกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่และพยายามเปลี่ยนใจพวกเขาไม่ให้สนับสนุนโครงการที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ การกดดันครั้งนี้ผนวกกับการประเมินความผันผวนทางเศรษฐกิจของเหมืองทำให้อดานีไม่สามารถค้ำจุนเหมืองคาร์ไมเคิลไว้ได้
อย่างไรก็ดี อดานีก็ยังเดินหน้าทำเหมืองต่อด้วยทุนตัวเอง ลดขนาดโครงการลง ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในเมื่อยังมีใบอนุญาตทำเหมืองและการก่อสร้างกำลังดำเนินการอยู่
เดือนกันยายนปี 2019 แม็กอะวอยตั้งแคมป์ในที่ที่อดานีเช่าไว้เพื่อเตรียมตัวเต้นระบำ corroboree อดานีถือครองที่ดินในฐานะที่ดินเช่าเพื่อการปศุสัตว์ ซึ่งในกฎหมายออสเตรเลียหมายความว่าต้องแบ่งปันพื้นที่นี้ให้กับผู้ทำมาหากินและผู้ถือสถานะชนพื้นเมืองคนอื่นๆ
source: stopadani.com
การตั้งแคมป์สองครั้งแรกของแม็กอะวอยนั้นเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ และโดดเดี่ยว แต่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เขาก็กลับมาพร้อมกลุ่มเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งเป็นชาววันกันและจากาลิงกู รวมถึงชาวอะบอริจินคนอื่นและผู้สนับสนุน เพื่อขวางทางคนงานของอดานีตรงถนนแคบๆ ที่เป็นทางเดินปศุสัตว์ และจุดไฟพิธีกรรมขึ้น กว่าสี่วันที่พวกเขาอยู่ที่นั่นตรงทางเดินของวัวควาย เพื่อปิดทางไปทำงานของคนงานอดานี การปิดถนนนี้ไม่ง่าย แม็กอะวอยเล่าว่า
มันก็มีวิธีปิดถนนหลายวิธีแต่ผมตั้งใจสุมไฟเพื่อเป็นสัญสักษณ์ของจิตวิญญาณ ความแข็งแกร่ง และอำนาจ ไฟที่ลุกโชติช่วงและมีความหมายก็ทำให้ตำรวจทำงานยากขึ้น
“ยืนหยัดในผืนดินของเรา” คือชื่อที่ชาววันกันและจากาลินกูใช้เพื่อการรณรงค์ระลอกใหม่ของพวกเขา สะท้อนทั้งการต่อสู้ขัดขืนของการตั้งแคมป์และสายใยกับผืนดินใต้เท้าของพวกเขา นี่เองคือจุดที่วัฒนธรรมและการประท้วงหลอมรวมเข้าด้วยกัน มันคือสายใยที่มีต่อผืนดินของพวกเขาซึ่งเชื่อมโยงกับสถานที่ที่พวกเขาปกป้อง
ระหว่างการปิดถนน ตำรวจพยายามจะเจรจาในบทสนทนาข้างกองไฟ แต่กลุ่มวันกันและจากาลิงกูก็บอกว่าพวกเขาจะอยู่จนกว่าอดานีจะออกไป เช้าวันที่ห้าหลังตั้งแคมป์ ตำรวจควีนส์แลนด์กว่าสี่สิบนายก็เข้าล้อมเพื่อขับไล่ กวาดพวกเขาออกจากไฟศักดิ์สิทธิ์และเปิดถนนอีกครั้ง
การต่อต้านอันเด็ดเดี่ยว
แม็กอะวอยและกลุ่มอะบอริจินอื่นๆ ใช้เวลาหกเดือนที่ผ่านมาตั้งแคมป์ในพื้นที่ที่อดานีเช่าไว้ โดยมีจุดประสงค์สองอย่าง หนึ่งคือเพื่อขัดขวางการทำงานของอดานีและสองเพื่อทำตามวัฒนธรรมที่พวกเขาพยายามปกป้อง “เราคิดว่ายิ่งอยู่ที่นี่นานเท่าไร เราก็ยิ่งเชื่อมต่อกับที่นี่มากขึ้นเท่านั้น ทั้งสัตว์ นก และต้นไม้” เขาบอก “มันเป็นแรงขับให้ผมสู้กับบริษัทเหมืองนี้ต่อไป”
การต่อสู้ครั้งนี้สำหรับชาววันกันและจากาลิงกูกินระยะเวลาที่ยาวนานและยากลำบาก พวกเขาร่วมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับขบวนการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของนักสิ่งแวดล้อม ถึงกระนั้นก็ยังมีชัยชนะเล็กๆ ที่สำคัญเกิดขึ้น สถาบันการเงินที่ตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยด้วยได้ปฏิเสธการทำงานร่วมกับอดานี เช่นเดียวกับบริษัทอื่นอีกร้อยแห่ง อดานีต้องเลื่อนการดำเนินการเหมืองและลดขนาดลง ในปัจจุบันโครงการนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวที่บริษัทได้เคยเสนอมา
สำหรับอดานี เหมืองคาร์ไมเคิลไม่ใช่แค่เรื่องถ่านหินเท่านั้น บริษัทนี้เคยก่อตั้งและมีฐานอยู่ที่อินเดียอีกทั้งยังสนใจเรื่องการขนส่ง โครงการคาร์ไมเคิลแสดงถึงการเติบโตในต่างประเทศและการดำเนินการครบวงจรตั้งแต่เหมืองจนถึงท่าเรือ ซึ่งบริษัทหวังผลกำไรมหาศาลจากตรงนั้น
ผู้สนับสนุนสำคัญของอดานีในออสเตรเลียคือพรรคควีนส์แลนด์ พวกนี้มีแรงจูงใจอย่างแน่วแน่ที่จะสนับสนุนเหมือง แม้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะน้อย แต่สำหรับพวกเขาแล้วนี่เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพวก “สายธรรมชาติ” พลังงานเขียว และภาคบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งยังเป็นชัยชนะของพวก “ชนชาติแรก” (First Nations) ด้วย
Anti-Adani protest by cycling (source: SBS)
แต่การต่อสู้ของชาววันกันและจากาลิงกูยังคงดำเนินต่อไป เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม็กอะวอยตั้งใจพาคนทั่วออสเตรเลียมายังผืนดินของเขา เขาช่วยวางแผน “ทัวร์คาร์ไมเคิล” ทริปปั่นจักรยานจากทางหลวงเกรกอรีไปยังเหมืองของอดานี “เป้าหมายก็คือสร้างอีเวนต์ปั่นจักรยานขนาดใหญ่และให้เจ้าของที่ดินเดิมนำทัวร์เชิงวัฒนธรรม ใครก็ตามที่ไม่ชอบเหมืองทำลายล้างของอดานีก็เข้าร่วมได้”
นอกจากนี้แม็กอะวอยก็มองโลกในแง่ดี และมีความมุ่งมั่น “ผมมองว่าเราแข็งแกร่งและสามารถหยัดยืนได้นานกว่าอดานี” การต่อสู้ของเขา ของชาววันกันและจากาลิงกูได้ย้ำเตือนให้เราเห็นว่าต้องไปไกลแค่ไหนเพื่อความยุติธรรมต่อชนพื้นเมืองและสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงสายใยอันลึกซึ้งระหว่างปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และอธิปไตยของอะบอริจิน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็สู้กับอุตสาหกรรมเหมืองในฐานะที่มันเป็นศัตรูหลักเช่นกัน
ภาวะเสื่อมถอยของสภาพภูมิอากาศเริ่มเป็นจริงชัดเจนขึ้นทุกที การรณรงค์ต่อต้านอย่างที่เกิดขึ้นกับอดานีจึงสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เพื่อหยุดโครงการทำลายล้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเพื่อฟื้นคืนธรรมเนียม ความรู้ วิถีปฏิบัติของชนพื้นเมืองที่สำคัญต่อการอยู่รอดของทุกชีวิต นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม นักรณรงค์อธิปไตยชนพื้นเมือง ผู้สนับสนุน ชาววันกันและจากาลิงกูคือสัญลักษณ์ของความเด็ดเดี่ยวสร้างสรรค์ที่เราต้องการเพื่อชัยชนะ
by Peam Pooyongyut | Jul 15, 2021 | Articles บทความ , Common School , การประท้วง Protest , ไทย
ผู้เขียน Brian Hioe
ผู้แปล Peam Pooyongyut
บรรณาธิการ Editorial Team
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ New Bloom Mag
บทแปลนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School
“การต่อสู้เพื่อตั้งสหภาพของพวกเขานั้นสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวที่กำลังเติบโตของพนักงานส่งอาหารทั่วโลก”
เบื้องหลังความสะดวกสบายของผู้บริโภคและ “ดิจิทัลโซลูชัน” ของแอพพลิเคชันสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่นั้นซุกซ่อนไว้ซึ่งคนงานนับหมื่นที่ต้องทำงานอย่างหนักและได้ค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน ขบวนการแรงงานในไต้หวันที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ กำลังผลักดันให้เกิดสหภาพแรงงานระดับชาติ
บันทึกจากบรรณาธิการ Progressive International: ความไม่มั่นคง การบริหารงานด้วยวิทยาศาสตร์แบบดิจิทัล (digital Taylorism) การขูดรีดที่อยู่ในคราบของนวัตกรรมเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้เป็นคำนิยามความเฟื่องฟูของบริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ที่กำลังเป็นปรากฏการณ์ไปทั่วโลก บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์เกี่ยวกับการต่อสู้ของพนักงานส่งอาหารทั่วโลก
source: Progressive International
ในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา พนักงานส่งอาหารจากแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Uber Eats, Foodpanda, GOGOX และ LaLaMove ได้ออกมารวมตัวประท้วงที่หน้ากระทรวงแรงงานไต้หวัน เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสหภาพคนทำงานส่งอาหารขึ้นมาในระดับชาติ รายงานกล่าวว่าตอนนี้กลุ่มสหภาพมีสมาชิกมากกว่าหนึ่งร้อยคน และต้องการให้จัดตั้งสหภาพอย่างเป็นทางการขึ้นภายในสามเดือน
ประมาณการกันว่าพนักงานส่งอาหารในไต้หวันตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 80,000 คน เหล่าคนงานออกมาประท้วงเพื่อตอบโต้การคำนวณค่าตอบแทนแบบใหม่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Uber Eats และ Foodpanda ประกาศออกมา ซึ่งจะทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้จากเดิมไป 10 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปีก่อนพวกเขาได้ค่ารอบต่อครั้งอยู่ที่ราวๆ 65 -75 ไต้หวันดอลลาร์ (ประมาณ 75-85 บาท) แตปีนี้กลับตกลงมาเหลือ 43 -50 ไต้หวันดอลลาร์ (ประมาณ 50-57 บาท) แม้จะเป็นงานลักษณะเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาต้องทำงานหนักขึ้นแต่ได้ค่าแรงที่ต่ำลง หนึ่งในผู้นำการชุมนุมบอกว่าเขาเคยได้ค่าแรง 9,600 ไต้หวันดอลลาร์ (11,000 บาท) จากการส่ง 110 ออเดอร์ในหนึ่งสัปดาห์ แต่พอมีการคำนวณค่าแรงใหม่ เขากลับทำเงินได้เพียง 9,000 ไต้หวันดอลลาร์ (10,300 บาท) จากการส่ง 164 ออเดอร์
เหล่าพนักงานต่างวิจารณ์กันว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างรุนแรง แถมในความเป็นจริงนั้น บริษัทก็ประกาศออกมาโดยที่ไม่เคยปรึกษาพนักงานเลย พวกเขาจึงมองว่าสูตรการคำนวณค่าแรงแบบใหม่นั้นถูกตัดสินใจผ่าน “กล่องดำ” ซึ่งไม่มีใครรู้ได้
นอกจากนั้นเหล่าพนักงานส่งอาหารยังวิจารณ์อีกว่าบริษัทพยายามรณรงค์ให้พนักงานขับขี่อย่างปลอดภัย แต่เวลาที่พนักงานคนใดคนหนึ่งไม่สามารส่งอาหารได้ตามกำหนดเวลา ก็จะมีการโยนงานนั้นให้พนักงานคนอื่นทันที ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงกระตุ้นให้พวกเขาต้องเร่งความเร็วในการส่งให้มากขึ้น ผู้จัดการชุมนุมคนหนึ่งบอกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของพนักงานในเขตภาคกลางของไต้หวันเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ครั้งต่อเดือน เป็น 4 ครั้งต่อเดือน หลังจากที่บังคับใช้การคำนวณค่าแรงแบบใหม่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งหมด 17 ครั้ง แต่เพียงแค่ 22 วันหลังจากปรับการคำนวณค่าแรง ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง พนักงานจึงเรียกร้องให้มีการเพิ่มสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุเป็น 100,000 ไต้หวันดอลลาร์ (ประมาณ 115,000 บาท)
ตอนนี้กลุ่มสหภาพคนงานส่งอาหารในระดับท้องถิ่นกระจายอยู่ตามเมืองและเทศบาลต่างๆ ทั่วไต้หวัน แต่ยังไม่มีสหภาพในระดับชาติ ซึ่งถ้าทำได้มันก็จะนำมาซึ่งพลังต่อรองของคนงานกับบริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหาร เช่น Uber Eats และ Foodpanda ในระดับชาติ ดังที่เดือนตุลาคม 2019 พนักงานส่งอาหารถึง 3 คนเสียชีวิตจากการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้บริษัทส่งเสริมความปลอดภัยของพนักงานให้มากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันก็มีความคาดหวังว่ารัฐบาลและกลุ่มอุตสาหกรรมจะออกมาโต้ตอบกับนโยบายใหม่นี้ แพลตฟอร์มส่งอาหารอย่างเช่น Uber Eats และ Foodpanda นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “gig economy” ซึ่งมักจะอ้างว่ามีการจ้างงานที่เป็นอิสระและยืดหยุ่นในด้านของชั่วโมงการทำงานและการจัดสรรเวลาทำงาน แต่รูปแบบการจ้างงานแบบนี้มองว่าพนักงานนั้นอยู่ในสัญญาจ้างชั่วคราว ไม่ใช่สัญญาจ้างแบบเป็นทางการ ดังนั้นบริษัทจึงมีสิทธิ์ปฏิเสธผลประโยชน์ที่พนักงานควรจะได้รับ
source: Rest of World
การที่ Uber เข้ามาทำธุรกิจในไต้หวันในฐานะแพลตฟอร์มแชร์การเดินทางนั้นถูกท้าทายในทางกฎหมาย เนื่องจาก Uber จดทะเบียนเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แทนที่จะเป็นบริษัทแท็กซี่เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกควบคุม และสุดท้ายก็โดนปรับจากการปฏิเสธที่จะหยุดดำเนินธุรกิจ นั่นจึงนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นการส่งอาหาร เพื่อให้พนักงานเก่าสามารถทำงานต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย จนในที่สุดก็สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทรถแท็กซี่ได้
ยิ่งกว่านั้นเมื่อ Uber ถูกต่อต้านจากแท็กซี่ท้องถิ่น พวกเขาจึงบอกว่านี่เป็นปัญหาของรัฐบาลไต้หวันที่ไม่ปรับตัวตามกระแสโลก ซึ่งเห็นได้จากความล้มเหลวในการสนับสนุน Uber ดังนั้น Uber จึงวาดภาพให้สหภาพคนขับแท็กซี่ของไต้หวันว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่ไม่เปิดใจรับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยพยายามควบคุม Uber ให้อยู่ในระบบการจ้างงานแบบเดิมๆ เป็นไปได้ว่าทั้ง Uber Eats และ Foodpanda จะใช้กลยุทธ์เดียวกันนี้เพื่อต่อต้านสหภาพแรงงานระดับชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในอีกทางหนึ่งเราจะเห็นว่า การพยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานของพนักงานส่งอาหารในทุกประเทศ ตั้งแต่สหรัฐฯ จนถึงจีนนั้นเป็นตัวอย่างว่าพนักงานเหล่านี้พยายามรวมตัวกันเพื่อโต้กลับความพยายามของบริษัทที่จะขูดรีดแรงงานจากพวกเขามากขึ้น ในขณะที่ความปลอดภัยในการทำงานกลับต่ำลง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไต้หวันก็มักจะอ่อนไหวกับข้อถกเถียงที่ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเป็นลักษณะเฉพาะทางธุรกิจ ดูเหมือนว่าทั้ง Uber Eats และ Foodpanda ก็จะใช้ข้อเสนอนี้ในการโต้ตอบกับข้อเรียกร้องของพนักงานเช่นกัน
by Peam Pooyongyut | Jul 1, 2021 | Articles บทความ , Translation , TUMS , การประท้วง Protest , ไทย
ผู้เขียน Charlotte England, Clare Hymer, Rivkah Brown, Camille Mijola และ Sophie K Rosa
ผู้แปล GoodDay
บรรณาธิการ Editorial Team
Note: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Progressive International
บทแปลได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School
cover image source
กองกำลังตำรวจทั่วโลกมีกลวิธีในการจัดการควบคุมการประท้วงที่พวกเขาใช้ร่วมกัน และผู้ประท้วงก็ควรมีกลวิธีในการป้องกันตัวเองเช่นเดียวกัน บทความชิ้นนี้พาสำรวจขบวนการเคลื่อนไหวประท้วงอันแตกต่างหลากหลายและวิธีการที่พวกเขาใช้ในการรับมือความรุนแรงของตำรวจ พร้อมเคล็ดลับแบบต่าง ๆ ที่ผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงนิยมใช้กัน
กรีซ
‘อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนและเกาะกลุ่มใกล้ ๆ กันเอาไว้ สวมหน้ากาก วาดลวดลายกราฟฟิตี้ทิ้งเอาไว้ และอย่าได้ยอมแพ้’
กรีซอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ระดับชาติแบบปิดๆ เปิดๆ มาโดยตลอด ซึ่งล็อกดาวน์รอบปัจจุบันก็ปาเข้าไปเกือบจะ 5 เดือนแล้ว เสรีภาพพลเมือง รวมไปถึงเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ถูกจำกัดควบคุมอย่างมากผ่านการใช้มาตรการสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน ผู้คนสามารถออกจากบ้านได้ในช่วงเวลาที่จำกัดและด้วยเหตุผลอันสมควรเท่านั้น และต้องเป็นภายหลังจากส่งข้อความ SMS เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าสังเกตได้รับทราบแล้วเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับมอบหมายให้ใช้มาตรการเหล่านี้ซึ่งนำไปสู่การใช้อำนาจในทางมิชอบบ่อยครั้ง
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ยกอำนาจนิติบัญญัติที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนให้กับสถาบันของตำรวจ และรัฐบาลยังถือว่าเสรีภาพในการประท้วงถือเป็นอาชญากรรม โดยที่สิ่งดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด การโต้ตอบของตำรวจต่อการประท้วงแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเรียกร้องให้มีการจัดหา PPE (อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล-Personal Protective Equipment) จำนวนที่มากกว่านี้ ไปจนถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านฟาสซิสต์/ส่งเสริมประชาธิปไตย ตลอดจนการประท้วงของนักศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการตอบโต้ที่ไร้ความอดกลั้นเป็นอย่างยิ่งและมิหน้ำซ้ำยังเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อผู้ประท้วงอยู่บ่อยครั้ง
ความรุนแรงและความโหดร้ายทารุณของตำรวจมีที่มาจากต้นกำเนิดแรกเริ่มของกองกำลังตำรวจในกรีซ นับแต่เกิดการจราจลในเดือนธันวาคมปี 2008 อันมีชนวนต้นเหตุมาจากการฆาตกรรมนักเรียนชายวัย 15 ปี นามว่า Alexandros Grigoropoulos ซึ่งเกิดจากน้ำมือตำรวจ กองกำลังตำรวจก็จัดหายุทโธปกรณ์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นกองกำลังทางการทหารอย่างเต็มรูปแบบ และความรุนแรงที่กระทำโดยตำรวจส่วนมากยังคงอยู่เหนือการตรวจสอบโดยกฎหมายอีกด้วย
source: dailysabah.com
การประท้วงในที่สาธารณะยังเป็นรูปแบบการต่อต้านหลักในกรีซ และการประท้วงก็ได้ทิ้งลวดลายกราฟฟิตี้ไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อจารึกเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของผู้อพยพ ความรุนแรงที่กระทำโดยตำรวจ สภาวะภูมิอากาศผิดปกติ (ภาวะโลกร้อน) สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและสิทธิของนักโทษ อันเป็นปัญหาที่สื่อกระแสหลักเมินเฉยมาโดยตลอด
บรรดานักเคลื่อนไหว รวมไปถึงผู้อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงและผู้ที่สัญจรไปมาที่มากขึ้นเรื่อยๆ ได้บันทึกเหตุการณ์ความโหดร้ายของตำรวจ โดยใช้โทรศัพท์มือถือในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อที่สนับสนุนประชาธิปไตย ชุดเหตุการณ์ความรุนแรงอันต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาถูกเผยแพร่สู่พื้นที่สาธารณะผ่านพลเมืองที่แชร์ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกาลถัดมาถูกสื่อระดับชาตินำไปเผยแพร่ต่อ และบ่อยครั้ง คลิปวิดีโอบนโซเชียลมีเดียก็มีประโยชน์อย่างมากในศาลเมื่อผู้ถูกจับกุมถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าพวกเขาใช้ความรุนแรงต่อตำรวจ
กลวิธีหลักในการรับมือความรุนแรงที่มาจากตำรวจในระหว่างการประท้วง ยังคงเป็นรูปแบบของการเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และถอยกลับในลักษณะที่เป็นขั้นเป็นตอน ในบางกรณี ผู้ประท้วงใช้ความพยายามที่จะดันตำรวจกลับไป เพื่อที่จะได้ซื้อเวลาให้ผู้ประท้วงสามารถถอยร่นกลับได้ เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหนึ่งได้รับทราบว่าหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มตัวเองถูกตำรวจควบคุมกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายและถูกทำร้ายร่างกายต่อเนื่องนานหลายวัน พวกเขาจึงตัดสินใจร่วมกันเพื่อยื่นฟ้องตำรวจ
ความรุนแรงที่กระทำโดยตำรวจเป็นหนึ่งในความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ เครื่องมือสะกดรอยถูกติดตั้งไว้ในยานพาหนะของนักกิจกรรมและสถาบันที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิ นักกิจกรรมถูกหมายตัวจากการตีพิมพ์ชื่อและป้ายทะเบียนของพวกเขา หนึ่งในกลยุทธ์ของการต่อต้านคือความไม่หวาดหวั่น แต่เป็นการทำให้กิจกรรมการเคลื่อนไหวเหล่านี้กลายมาเป็นที่รู้จักและมีส่วนร่วมในเรื่องสังคมการเมืองอย่างต่อเนื่อง
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้คนได้เข้าร่วมเครือข่ายการสื่อสารที่เชื่อถือได้อย่างเช่น Signal และผู้คนมีความระแวดระวังมากขึ้นในเรื่องของความมั่นคงและความปลอดภัยส่วนบุคคล เมื่อลงถนนประท้วง คนส่วนใหญ่ก็มีผ้าพันคอไว้ใช้ปกปิดใบหน้าและป้องกันตัวเองจากแก๊ซน้ำตา พวกเขาใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (stomach antacids) เช่น Maalox หรือ Riopan เพื่อลดฤทธิ์การเผาไหม้ของแก๊สน้ำตา
นักกิจกรรมในกรีซไม่รู้จักคำว่าแพ้แม้ในเวลาที่หวั่นเกรง กระดูกที่แตกยังคืนสภาพได้เร็วกว่าจิตสำนึกที่แหลกสลาย นี่ไม่ใช่การพูดเกินจริงแต่อย่างใด ชายหนุ่มวัย 27 ปี Vassilis Maggos เสียชีวิตจากการโดนตำรวจซ้อมในกรีซเมื่อปีที่ผ่านมา กระนั้นเอง การร่วมกันระดมคนออกมาเพื่อทวงคืนความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการประจันหน้ากับความโหดร้ายรุนแรงของตำรวจ และเป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการเยียวยารักษาความตกต่ำที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบ เมื่อใดที่ความหวาดเกรงต่อตำรวจมีชัยเหนือเสรีภาพในการแสดงออกและการเจรจาทางสังคม นั่นหมายความว่าสิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือการพูดถึงชัยชนะของอำนาจนิยม
เมียนมาร์
‘ใช้ VPN จัดตั้งบน Signal ใช้โคคา-โคล่าล้างแก๊ซน้ำตาออก และถ่ายบันทึกทุกสิ่งอย่าง’
ในพม่า พวกเราประท้วงกันทั่วประเทศนับตั้งแต่การยึดอำนาจโดยกองทัพในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประชาชนกว่าหลักแสนคนก้าวลงสู่ท้องถนนทุกวันเพื่อต่อต้านขัดขืนตำรวจและทหารที่ปฏิบัติต่อผู้คนราวกับพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย โดยใช้วิธีการจับกุมโดยพลการและความรุนแรง ประชาชนกว่า 800 คนถูกฆ่า คนส่วนใหญ่ถูกยิงระหว่างการประท้วง
พวกเราจึงต้องจัดตั้งอย่างรวดเร็ว อย่างยืดหยุ่นและอย่างสร้างสรรค์ พร้อมๆ กับที่เจ้าหน้าที่เสาะหาทุกวิถีทางในการกดปราบขบวนการจัดตั้ง รวมไปถึงการบล็อกข้อมูลโทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง
ขั้นแรก พวกเราใช้กลุ่มบนเฟซบุ๊กในการประสานงานการประท้วง แต่ก็เป็นเรื่องง่ายที่ตำรวจจะสามารถแทรกแซงเข้ามาและระบุตัวผู้ก่อการได้ (หลายคนถูกลักพาตัวและกักขัง บ้างถูกทรมานและฆ่าตาย) ดังนั้น ตอนนี้เราจึงใช้ VPNs ในการปกปิดตำแหน่งของพวกเราและสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่มีความปลอดภัยอย่างเช่น Signal และ Telegram แทน ฉันโพสต์สื่อสารในแชแนลกลุ่ม ซึ่งการจะอยู่ในกลุ่มเหล่านี้ได้ ต้องให้เพื่อนรับรองเราก่อนแล้วจึงเพิ่มเราเข้าไปในกลุ่ม จำนวนคนในกลุ่มเหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่นักเคลื่อนไหวบางคนก็ระวังความปลอดภัยมากกว่านั้นและเลือกที่จะส่งข้อมูลผ่านการพูดปากต่อปากเท่านั้น นั่นคือส่งข้อมูลต่อกันเป็นทอดจากคนที่วางใจได้ไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยไม่อาจทราบถึงแหล่งอ้างอิงของคนก่อนๆ หน้าได้เลย วิธีการนี้หากคนใดคนหนึ่งถูกจับก็จะไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนอื่นๆ ได้
source: aljazeera.com
ทุกๆ วัน นักเคลื่อนไหววัยหนุ่มสาวคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ในการรักษากระแสของการต่อสู้เอาไว้ วันนี้คนพากันสวมใส่กางเกงสีแดงทั่วทุกพื้นที่เพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ในวันอีสเตอร์ซันเดย์ (Easter Sunday) พวกเขาพ่นสีสโลแกนการประท้วงลงบนไข่ เมื่อเดือนที่แล้ว ในวันสตรีสากล คนก็พากันเอากระโปรงหรือผ้าถุงของผู้หญิงไปตากไว้บนเสากับราวตากผ้า เพราะผู้ชายรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารงมงายเกินที่จะเดินลอดตำแหน่งดังกล่าว เพราะกลัวว่าจะการทำแบบนั้นจะทำให้ตัวเองสูญเสียอำนาจ
บนท้องถนน ผู้ประท้วงที่อยู่แนวหน้าจะได้รับโล่ที่ทำขึ้นเฉพาะหน้าในการป้องกันตัวจากกระสุนยางและหน้ากากกันแก๊สเพื่อป้องกันตัวจากแก๊สน้ำตา ในส่วนของแนวหลังก็จะมีทีมที่รับผิดชอบในการถอนพิษของแก๊สน้ำตาโดยใช้น้ำและผ้าชุบน้ำเปียก หากแก๊สน้ำตาเข้าตา พวกเราก็ค้นพบว่า โคคา-โคล่า สามารถนำมาใช้ล้างแก๊สน้ำตาออกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ในบางครั้ง เราจุดพลุดอกไม้ไฟเพื่อข่มขวัญตำรวจและรบกวนตำรวจด้วยการโห่ร้องเสียงดัง และจุดไฟเผายางจนไหม้เป็นควันโขมงเพื่อพรางตัวผู้ประท้วง พวกเราปิดถนนโดยใช้เครื่องกีดขวาง สิ่งเหล่านี้ใช้การได้ดีในระดับหนึ่ง แต่บางในครั้งสิ่งเดียวที่พวกเราจะสามารถทำได้ก็คือวิ่ง เพราะเวลาตำรวจและทหารใช้กระสุนจริงและพวกเราไม่สามารถทำอะไรได้เลยในการป้องกันตัวจากอาวุธปืนของพวกเจ้าหน้าที่
บรรดานายพลไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเลย พวกเขาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อของรัฐ แต่ชัดเจนว่ามันเป็นคำโกหกที่น่าขัน ช่างน่าตลกที่จะต้องมาดูสิ่งเหล่านี้เพราะทุกคนรู้ดีว่าความจริงเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกัน พวกเขาปิดกั้นสื่ออิสระและปราบปรามนักข่าว เพราะเหตุนี้ พวกเราจึงต้องพึ่งพาอาศัยนักข่าวพลเมือง ผู้ซึ่งใช้โทรศัพท์มือถือในการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น คนเหล่านี้จำนวนมากตอนนี้ถูกกักขังไปแล้วเช่นกัน แต่สามัญชนคนธรรมดาจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมก็พร้อมที่จะก้าวออกมาเสมอ แหล่งข่าวแต่ละแห่งก็เริ่มที่จะอิงข้อมูลจากคลิปวีดีโอและรูปภาพที่พวกเขาแชร์ลงสื่อโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น
ไนจีเรีย
‘ใช้โซเชียลมีเดียเปิดโปงความรุนแรงของตำรวจ และระดมทุนเพื่อสนับสนุนผู้ร่วมประท้วง’
ความรุนแรงที่กระทำโดยตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในไนจีเรียมาเนิ่นนานแล้วตราบเท่าที่ฉันจำความได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดฉากยิงจากตำรวจ หรือการที่ตำรวจกระทำอันตรายต่อพลเมืองที่ด่านตรวจ
ภายหลังจากที่มีการเปิดโปงเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการคุกคามข่มขวัญที่กระทำโดยหน่วยตำรวจที่มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีของประเทศที่ถูกเรียกว่า กองกำลังพิเศษเพื่อต่อต้านการปล้นสะดม (Special Anti-Robbery Squad) หรือ ‘SARS’ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนส่วนมากของประเทศ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประท้วงต่อต้าน SARS และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จึงปะทุขึ้นและแผ่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
การประท้วงที่ประกอบด้วยการใช้แฮชแท็ก #EndSARS จึงกลายมาเป็นฉากของการใช้ความรุนแรงโดยรัฐในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ในวันที่ 20 ตุลาคม กลุ่มผู้ประท้วงวัยหนุ่มสาวที่นั่งอยู่ที่ประตูเก็บค่าผ่านทาง “Lekki” ถูกสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม ณ ห้วงขณะที่ยานพาหนะของกองทัพได้ปิดทางออกทั้งสองทางของสถานที่ดังกล่าวและเริ่มระดมยิง ในวันถัดมาประชาชนมากกว่า 100 คนถูกสังหารในลากอส (Lagos) และในหลายๆ รัฐทั่วประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ดาหน้าออกมาปฏิเสธการฆาตกรรมหมู่ดังกล่าว ความโหดร้ายรุนแรงเหล่านี้นำไปสู่การประท้วงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับชาติ พร้อมๆ กับที่บ้านและโกดังของนักการเมืองคนสำคัญหลายคนที่กักตุนอุปกรณ์และเครื่องมือรักษาโรคโควิด (COVID-19) เอาไว้ก็ถูกโหมกระหน่ำโจมตีและปล้นชิงโดยบรรดาผู้ประท้วงที่โกรธเกรี้ยว
ource: : techuncode.com
อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงในไนจีเรียมีสองสิ่งที่สำคัญอยู่กับตัวพวกเขา หนึ่งคือโซเชียลมีเดีย ผู้คนหนุ่มสาวหลักพันใช้สมาร์ทโฟนบันทึกรูปภาพและคลิปวีดีโอการใช้ความรุนแรงและอัปโหลดลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มากไปกว่านั้น คลิปวีดีโอยังเผยให้เห็นความลวงหลอกของรัฐบาลจนถึงขั้นที่ว่าความน่าเชื่อถือของนักการเมืองในไนจีเรียถูกทำลายไปจนหมดสิ้น
เราควรเน้นย้ำถึงบทบาทของผู้หญิงในการรักษาไว้ซึ่งกระแสของขบวนการประท้วงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวร่วมสตรีนิยม (The Feminist Coalition) ซึ่งมีฐานยึดโยงกันในระดับนานาชาติ แนวร่วมนี้ระดมทุนได้มากกว่าหลักแสนดอลลาร์ในการสนับสนุนมวลชน รวมไปถึงเรื่องอาหารและค่าใช้จ่ายทางกฎหมายสำหรับช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับกุมและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
ตำรวจในไนจีเรียมีความโหดเหี้ยมและเสื่อมทรามมากยิ่งกว่าที่ใดในโลก อย่างไรก็ตาม ที่แห่งนี้มีบทเรียนสำคัญที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในการรักษาไว้ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวได้
โคลัมเบีย
‘ใช้ยุทธวิธีอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชุมนุม การระดมพล การนัดหยุดงาน การเผชิญหน้า การกีดขวาง การปิดทางมอร์เตอร์เวย์’
เมื่อไม่นานมานี้ โคลัมเบียได้ประสบพบพานกับการที่ชีวิตสาธารณะซึ่งเข้าสู่สภาวะพร้อมรบสงครามและมีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างรัฐในการปิดปากผู้เห็นต่าง ศัตรูของนโยบายเหล่านี้คือคนหนุ่มสาวและใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบระเบียบดังกล่าวของรัฐ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว กองร้อยเคลื่อนที่เพื่อการปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อย หรือ ‘the ESMAD’ (Mobile Anti-Disturbances Squadron) จึงถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกองกำลังพร้อมรบของรัฐ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการฆาตกรรมหลายกรณีและเรื่องความประพฤติอันมิชอบ กองกำลังดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความไม่พอใจของสาธารณชน
source: aljazeera.com
ในส่วนของยุทธศาสตร์การต่อต้านความรุนแรงของตำรวจ พวกเรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลป์ของการเคลื่อนไหวแบบหมู่คณะ’ นั่นคือ การชุมนุม การระดมพล การนัดหยุดงานประท้วง และ การเผชิญหน้ากับตำรวจ (tropeles) การกีดขวางทางจราจร และการปิดถนน
สิ่งที่เราเห็น ณ ตอนนี้ คือการไหลมาบรรจบกันของการประท้วงอันหลากหลายที่มีมาก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงโดยพลเมืองในปี ค.ศ. 1977 หรือการต่อสู้ภายในมหาวิทยาลัยของรัฐ ประสบการณ์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ปรับใช้ในการป้องกันและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับขบวนการเคลื่อนไหว
กลุ่มที่ชื่อว่า ‘โล่น้ำเงิน’ [ los escudos azules (the blue shields) ] ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องขบวนการเคลื่อนไหวจากการจู่โจมของตำรวจ
คนเหล่านี้คือคนหนุ่มสาวที่สวมเสื้อคลุมศีรษะในการป้องกันตัวเอง พวกเขาต้องเผชิญกับความบาดเจ็บที่ดวงตา [อันเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตา] ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ผู้ประท้วงจำนวนมากขึ้นหันมาสวมใส่ชุดป้องกัน อีกหนึ่งแง่มุมสำคัญในยุทธศาสตร์ของขบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการต่อต้านของชาวนาและชนพื้นเมืองในโคลัมเบีย คือการมีทีมที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน ช่องทางการสื่อสาร และสุขภาพร่างกาย
เมื่อประชาชนไม่ได้กลัวการเผชิญหน้ากับตำรวจมากเท่ากับแต่ก่อน ความรุนแรงก็ยิ่งลุกลามบานปลาย บ่อยครั้งผู้ประท้วงปาหินในการประท้วง หลังจากนั้น ESMAD ก็จะเข้าสู่สถานที่เกิดเหตุและเปิดฉากยิงกระสุนที่ประกอบไปด้วยลูกปราย (pellets) และแก้ว (glass) ใส่ผู้คนจนล้มตายไปหลายชีวิต และในบางครั้งผู้ประท้วงก็ปาระเบิดโมโลตอฟ (Molotov bombs) แน่นอนว่ามันเสี่ยงอย่างมาก แต่คุณต้องประเมินความเสี่ยงประกอบกับสิ่งที่คุณกำลังเผชิญหน้าเช่นกัน ในหลายครั้งหลายคราผู้ประท้วงก็จำเป็นต้องมีกลวิธีในการป้องกันตัวเองหากว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงอย่างไม่ยั้งมือ