มายาคติของงาน

มายาคติของงาน

เขียน CrimethInc.
แปล Wannabe Idlers
บรรณาธิการ กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม

จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีใครทำงาน โรงงาน(นรก)ก็คงว่างเปล่า และสายพานการผลิตก็คงหยุดชะงัก อย่างน้อยก็ในกลุ่มที่ไม่มีใครเต็มใจอยากผลิต การขายของทางไกลก็คงสิ้นสุดลง พวกคนน่ารังเกียจที่เอาแต่ครอบงำควบคุมผู้อื่นเพราะมีเงินและตำแหน่งใหญ่โตก็คงต้องฝึกทักษะการเข้าสังคมให้มากขึ้น ไม่มีรถติดและเหตุการณ์น้ำมันรั่วอีกต่อไป ธนบัตรและใบสมัครงานจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในกองไฟเมื่อผู้คนหันไปแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือแบ่งปันกันแทน ใบหญ้าและดอกไม้จะเติบโตขึ้นจากรอยแยกบนทางเท้า และกลายเป็นต้นไม้ที่ออกดอกผลในที่สุด

แล้วเราจะอดตายกันหมด แต่เราก็คงจะไม่ต้องหากินจากงานเอกสารต่างๆ และการประเมินประสิทธิภาพการทำงานอีกต่อไปแล้วใช่ไหม สิ่งที่เราผลิตหรือทำเพื่อเงินแทบทุกอย่างนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเอาชีวิตรอดของพวกเราเลย มิหนำซ้ำ มันไม่ได้ให้ความหมายใดๆ แก่ชีวิตอีกด้วย

บทความนี้คัดออกมาจาก Work หนังสือ 376 หน้าซึ่งเป็นบทวิเคราะห์ระบบทุนนิยมร่วมสมัย ยังมีในรูปแบบแผ่นพับอีกด้วย

นั่นขึ้นอยู่กับคุณให้ความหมายของ “งาน” ว่าอะไร นึกดูว่ามีคนจำนวนเท่าไหร่ที่สนุกกับการทำสวน ตกปลา งานไม้ ทำอาหาร และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพียงเพราะว่าพวกเขาชอบทำสิ่งเหล่านั้น จะเกิดอะไรขึ้นหากกิจกรรมเหล่านั้นสามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ทั้งหมด

เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่ผู้คนอ้างว่าในอีกไม่ช้าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะปลดปล่อยมนุษยชาติออกจากความจำเป็นที่จะต้องทำงาน ทุกวันนี้เรามีสมรรถภาพล้นเหลือจนบรรพบุรุษของเราไม่อาจจินตนาการถึงได้ แต่คำกล่าวนั้นยังไม่เป็นจริง ในสหรัฐฯ เราทำงานต่อวันยาวนานกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ คนจนทำงานเพื่อเอาชีวิตรอด คนรวยทำงานเพื่อแข่งขัน คนที่ตกงานก็ต้องหางานทำอย่างเข้าตาจน ยากเหลือเกินที่พวกเราจะมีสิทธิ์ได้ใช้เวลาว่างที่ความก้าวหน้าเหล่านี้ควรมอบให้กับเรา แม้จะพูดกันปาวๆ ว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย และมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงินนั้นคือสิ่งจำเป็น แต่บรรษัททั้งหลายยังคงมีรายงานออกมาว่าพวกเขามีกำไรเพิ่มขึ้น คนที่มั่งคั่งที่สุดก็มั่งคั่งยิ่งขึ้นไปกว่าที่เคยเป็น และสินค้าจำนวนมหาศาลถูกผลิตขึ้นมาเพียงเพื่อจะถูกทิ้งในท้ายที่สุด ความมั่งคั่งมีเหลือเฟือ แต่มันไม่ได้ถูกใช้เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติ

ระบบแบบไหนกันที่ผลิตความอุดมสมบูรณ์ออกมา แต่ในขณะเดียวกันก็กีดกันไม่ให้เราใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น พวกที่ปกป้องตลาดเสรีแย้งว่ามันไม่มีตัวเลือกอื่นแล้ว ก็ถ้าเราจัดระเบียบสังคมกันอย่างนี้ ทางเลือกอื่นก็คงไม่มีจริงๆ นั่นแหละ

ถึงอย่างนั้น มันก็มีกาลหนึ่ง ก่อนที่จะมีการตอกบัตรเข้างานหรือมื้อกลางวันของพวกมีอำนาจ ทุกๆ อย่างล้วนสำเร็จลุล่วงได้โดยปราศจากงาน โลกธรรมชาติที่ตอบสนองความต้องการของเรานั้นยังไม่ถูกปรับเปลี่ยนหรือถูกทำให้เป็นของส่วนตัว ความรู้และทักษะยังไม่ใช่สิ่งที่ถูกจำกัดอยู่แค่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาต เป็นตัวประกันของพวกสถาบันหน้าเงิน เวลายังไม่ถูกแบ่งออกเป็นเวลางานเพื่อผลิตและเวลาว่างเพื่อบริโภค ที่เรารู้สิ่งเหล่านี้ก็เพราะว่าแท้จริงแล้วงานเพิ่งถูกสร้างขึ้นมาไม่กี่พันปีนี่เอง แต่มนุษย์เราดำรงอยู่มาหลายแสนปีแล้ว เราถูกบอกว่าชีวิตในตอนนั้น “โดดเดี่ยว ยากไร้ น่ารังเกียจ โหดเหี้ยม และแสนสั้น” แต่เรื่องเล่านี้มาจากคนที่อยากทำลายวิถีชีวิตดังกล่าว ไม่ใช่คนที่ใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ

นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เราเคยเป็น หรือเราจะทำแบบนั้นได้ เพียงแต่ว่าสิ่งต่างๆ ในตอนนี้ไม่ควรเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่ หากบรรพบุรุษในอดีตอันไกลโพ้นสามารถมองเห็นเราในปัจจุบันได้ พวกเขาอาจจะตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์บางอย่างของเรา และก็คงหวาดกลัวบางอย่างด้วยเช่นกัน แต่ที่แน่ๆ พวกเขาคงช็อกกับวิธีที่พวกเราใช้งานมัน เราสร้างโลกนี้ด้วยแรงงานของพวกเรา และหากไม่มีบางอุปสรรคบาง เราจะสร้างมันได้ดีกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องละทิ้งทุกสิ่งที่เคยเรียนรู้มา มันแค่หมายความว่า ให้ละทิ้งสิ่งที่เราเรียนรู้ว่า มันไม่ได้ผล

ใครสักคนคงปฏิเสธได้ยากว่างานนั้นผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมา มันเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของดาวโลกไปอย่างสิ้นเชิงในเวลาเพียงไม่กี่พันปี

แต่จริงๆ แล้วมันผลิตอะไรกันแน่ ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งพันล้านคู่ แล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือที่เดี๋ยวก็ล้าสมัยในเวลาไม่กี่ปี กองขยะที่ทอดยาวหลายไมล์ และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (chlorofluorocarbons) ตันแล้วตันเล่า โรงงานที่จะขึ้นสนิมอย่างรวดเร็วหากมีแรงงานราคาถูกกว่าอยู่ที่ไหนสักที่ ถังขยะที่เต็มไปด้วยอาหารล้นสต็อก ในขณะที่คนนับพันล้านกำลังขาดสารอาหาร การรักษาทางการแพทย์ซึ่งคนรวยเท่านั้นที่ซื้อได้ นวนิยายและปรัชญาและขบวนการศิลปะที่เราไม่มีเวลาพอสำหรับเสพมัน ในสังคมที่ความปรารถนาอยู่ต่ำกว่าการสร้างกำไรและความจำเป็นต้องมีสิทธิในทรัพย์สิน

แล้วทรัพยากรสำหรับผลิตผลเหล่านี้มาจากไหนกันล่ะ เกิดอะไรขึ้นกับระบบนิเวศและชุมชนที่ถูกปล้นชิงและขูดรีด หากงานคือผลิตภาพที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา มันก็เป็นสิ่งที่ชอบทำลาย (destructive) มากกว่าเสียอีก

งานไม่ได้ผลิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากอากาศที่ว่างเปล่า มันไม่ใช่การร่ายมนต์คาถา ตรงกันข้าม มันนำเอาวัตถุดิบมาจากพื้นผิวและบรรยากาศของโลกซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวมที่ถูกแบ่งปันกันระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบเหล่านั้นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตรรกะของตลาดกระตุ้น สำหรับผู้ที่มองเห็นว่าโลกนี้เป็นเพียงบัญชีงบดุล สิ่งเหล่านั้นก็คงเป็นการพัฒนา แต่สำหรับเราที่เหลือไม่ควรเชื่อคำพูดของพวกเขา

นายทุนและนักสังคมนิยมมักไม่ค่อยตระหนักว่างานสร้างมูลค่า แรงงานจึงต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่แตกต่างออกไป นั่นคือการทำงานใช้มูลค่า (working uses up value) นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมป่าไม้และน้ำแข็งขั้วโลกจึงถูกใช้ไปพร้อมๆ กับที่เรากำลังใช้ชีวิต ความรวดร้าวของร่างกายเราเมื่อกลับจากการทำงานนั้นตีขนานไปกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในสเกลระดับโลก

แล้วเราควรผลิตอะไรหากไม่ใช่สิ่งเหล่านี้ อืม ถ้าเป็นความสุขล่ะ เราสามารถจินตนาการถึงสังคมที่เป้าหมายหลักของกิจกรรมเราคือการใช้ชีวิต คือการสำรวจความลึกลับของมัน แทนที่จะเป็นการสะสมความมั่งคั่งหรือเอาชนะกันได้ไหม แน่นอนว่าเรายังคงสร้างสิ่งที่เป็นวัตถุได้ในสังคมแบบนั้น แต่ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันทำกำไร เราสามารถวาดภาพงานเทศกาล งานเฉลิมฉลอง ปรัชญา นิยายรัก การแสวงหาความคิดสร้างสรรค์ การเลี้ยงเด็ก มิตรภาพ การผจญภัย ให้เป็นศูนย์กลางของชีวิต แทนที่จะเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำแค่ในเวลาว่างจากงานได้ไหม

ทุกวันนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความคิดเกี่ยวกับความสุขของเราถูกสร้างเพื่อกระตุ้นการผลิต ผลิตภัณฑ์ขนาดยิบย่อยจำนวนมากกำลังเบียดขับเราออกจากโลก

งานไม่ได้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาบนโลกก่อนหน้านี้ที่มีแต่ความยากจน ในทางตรงข้าม งานเป็นสิ่งที่สร้างความยากจนขึ้นมาด้วยเช่นกัน ตราบใดที่มันทำให้ใครสักคนร่ำรวยบนหลังของคนอื่น

ความยากจนไม่ใช่สภาวะที่เป็นกลาง (objective) แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ถูกผลิตขึ้นจากการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม มันไม่มีหรอกความยากจนในสังคมที่ผู้คนแบ่งปันทุกๆ อย่างให้แก่กัน มันอาจมีความขาดแคลน แต่ไม่มีใครต้องเสื่อมเสียเกียรติจากการไม่มีอะไรเลย ในขณะที่คนอื่นมีมากมายเสียจนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร เมื่อสะสมกำไรและระดับความมั่งคั่งขั้นต่ำซึ่งจำเป็นต่อการใช้อิทธิพลในสังคมสูงขึ้น ความยากจนก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นรูปแบบหนึ่งของการเนรเทศ รูปแบบที่โหดร้ายที่สุด คุณดำรงอยู่ในสังคมแต่ก็โดนกีดกันออกมา ไม่สามารถมีส่วนร่วมหรือหนีไปที่ไหนได้

งานไม่ได้แค่เพียงสร้างความยากจนควบคู่ไปกับความมั่งคั่ง มันยังรวมศูนย์ความมั่งคั่งเอาไว้ในมือของคนไม่กี่คน ขณะที่กระจายความยากจนออกไปให้ไกลและกว้างขวาง ถ้ามีบิลล์ เกตส์ เกิดขึ้นมาหนึ่งคน จะมีคนหนึ่งล้านคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เส้นความยากจน ถ้ามีเชลล์เกิดขึ้นสักแห่ง ก็ต้องมีไนจีเรียด้วย ยิ่งเราทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ กำไรที่ถูกสะสมจากแรงงานของเราจะมากขึ้นเท่านั้น และเราจะยากจนยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับพวกที่ขูดรีดเรา

ดังนั้นนอกเหนือจากการสร้างความมั่งคั่ง งานยังทำให้ผู้คนยากจนอีกด้วย สิ่งนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากเราพิจารณาว่ามีปัจจัยอื่นใดบ้างที่งานทำให้เรายากจน (poor) เรายากจนการกำหนดชีวิตตัวเอง เรายากจนเวลาว่าง เรายากจนสุขภาพที่ดี เรายากจนแง่มุมของชีวิตที่อยู่นอกเหนืออาชีพการงานและบัญชีธนาคาร เรายากจนทางจิตวิญญาณ

คำว่า “ค่าครองชีพ” ทำให้เราเข้าใจผิด จริงๆ ค่าครองชีพแทบไม่เกิดขึ้นเลย! “ค่าทำงาน” น่าจะตรงกว่า และไม่ใช่ถูกๆ ด้วย

ทุกคนรู้ว่าคนทำความสะอาดบ้านและคนล้างจานจ่ายอะไรไปบ้างในการเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจของเรา ความเลวร้ายทั้งปวงของความยากจน ทั้งยาเสพติด ครอบครัวแตกแยก สุขภาพย่ำแย่ นั่นคือสิ่งปกติ ผู้คนที่รอดชีวิตจากสิ่งเหล่านี้และยังสามารถไปทำงานได้ตรงเวลาคือปาฏิหาริย์ ลองคิดดูสิว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง หากพวกเขาเป็นอิสระที่จะนำพลังนั้นไปใช้กับอย่างอื่นที่ไม่ได้เป็นการสร้างกำไรให้กับนายจ้าง!

แล้วนายจ้างของพวกเขาที่โชคดีพอจนได้อยู่ในชั้นสูงกว่าของพีระมิดล่ะ? คุณคงคิดว่าการได้รับเงินเดือนที่สูงกว่านั้นหมายความว่าคุณจะมีเงินมากขึ้น ซึ่งทำให้มีอิสระมากขึ้นตามไปด้วย แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น งานทุกงานมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่นคนล้างจานต้องจ่ายเงินเพื่อขึ้นรถเมล์มาทำงานทุกวัน ทนายต้องพร้อมบินไปทุกที่เมื่อมีงานเข้ามา ไหนจะคนที่ต้องรักษาสภาพการเป็นสมาชิกของคันทรีคลับเพื่อให้เป็นที่ประชุมงาน หรือคนที่เป็นเจ้าของแมนชั่นเล็กๆ ที่เอาไว้เลี้ยงมื้อเย็นคนที่จะมาเป็นลูกค้าของพวกเขา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงยากเย็นนักที่แรงงานชนชั้นกลางจะเก็บเงินได้มากพอที่จะหลุดออกไปจากแข่งขันเหมือนกับหนูติดจั่นนี้ การนำหน้าคนอื่นทางเศรษฐกิจนั้นก็คือการวิ่งอยู่กับที่ ในกรณีที่ดีที่สุดคุณอาจจะได้จั่นที่สวยงามขึ้นมาหน่อย แต่คุณจะต้องวิ่งให้เร็วขึ้นเพื่อให้อยู่กับจั่นอันนั้นได้

และค่าใช้จ่ายทางการเงินเพียงอย่างเดียวเหล่านี้มีราคาถูกที่สุดแล้ว ในแบบสำรวจอันหนึ่ง คนทุกสาขาอาชีพถูกถามว่าจำนวนเงินเท่าไหร่ที่พวกเขาต้องการเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากเป็น ทั้งคนยากไร้ไปจนถึงคนที่ร่ำรวยล้วนตอบจำนวนเงินที่มากกว่ารายได้ที่พวกเขาได้รับในตอนนี้ประมาณสองเท่า ดังนั้นไม่ใช่แค่ว่าเงินคือสิ่งหายาก แต่มันเหมือนยาเสพติด ที่เติมเต็มเราได้น้อยลงเรื่อยๆ และยิ่งขึ้นไปยังลำดับชั้นที่สูงขึ้นเท่าไหร่ คุณก็ต้องต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ผู้บริหารผู้มั่งคั่งต้องละทิ้งกิเลสตัณหาและมโนธรรมของตน ต้องโน้มน้าวตัวเองว่าเขาสมควรได้รับมากกว่าเหล่าคนโชคร้ายที่ใช้แรงงานหาเลี้ยงชีพ เขาต้องระงับทุกแรงกระตุ้นในการตั้งคำถาม การแบ่งปัน และการจินตนาการว่าหากเขามีประสบการณ์เหล่านั้นบ้างมันจะเป็นอย่างไร เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น ไม่ช้าก็เร็วผู้ท้าชิงที่แสนโหดเหี้ยมจะเข้ามาแทนที่เขา ทั้งคนงานคอปกน้ำเงินและคอปกขาว1ตามความหมายโดยทั่วไป คนงานคอปกขาวหมายถึงมนุษย์เงินเดือน และคอปกน้ำเงินหมายถึงกลุ่มลูกจ้างหรือกรรมกร (บก.)ต้องยอมสละชีวิตเพื่อรักษางานที่ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ มันเป็นปัญหาการทำลายล้างทั้งทางกายและใจ

เหล่านั้นคือราคาที่เราแต่ละคนจ่าย แต่ยังมีราคาระดับโลกที่ต้องจ่ายในการทำงานอีกด้วย นอกเหนือจากความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อม เรายังพบเจอความป่วยไข้ การบาดเจ็บ และความตายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทุกปีเราฆ่าคนเป็นพันเพื่อขายแฮมเบอร์เกอร์และสมาชิกคลับสุขภาพให้กับผู้ที่ยังรอดชีวิต กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่าจำนวนผู้ที่บาดเจ็บอย่างรุนแรงจากการทำงานในปี 2001 นั้นมีจำนวนมากกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 9/11 ถึงสองเท่า และนี่ยังไม่ได้นับรวมถึงคนที่ป่วยไข้จากการทำงาน นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่มีราคาแพงที่สุดมากกว่าอย่างอื่นก็คือเราไม่มีทางเรียนรู้ว่าจะกำหนดชีวิตตัวเองได้อย่างไร ไม่มีโอกาสที่จะตอบคำถามหรือถามคำถามว่าเราอยากทำอะไรกับเวลาของเราบนโลกใบนี้ ไม่สามารถรู้ได้ว่าเราต้องสละไปมากเท่าไหร่ จากการใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่ผู้คนต่างยุ่งกับธุระปะปังมากเกินไป ยากจนเกินไป และบอบช้ำเกินไปที่จะได้ทำในสิ่งเหล่านั้นนั้น

ทำไมงานมีราคาที่ต้องจ่ายมากมายขนาดนั้นกันล่ะ ทุกคนรู้คำตอบอยู่แล้ว เพราะมันไม่มีวิธีอื่นที่จะได้มาซึ่งทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของพวกเรา หรือที่จะได้มีส่วนร่วมกับสังคมของเรา รูปแบบทางสังคมในช่วงแรกๆ ที่วิถีชีวิตแบบอื่นยังคงเป็นไปได้ก็ถูกทำลายลงไปแล้วโดยพวกคอนควิซทาดอร์ (ผู้รุกรานทวีปอเมริกา) พวกค้าทาส และบรรษัททั้งหลายที่ล้วนแต่เข้าไปรุกรานทุกธรรมเนียม ทุกชนเผ่าและทุกระบบนิเวศ ตรงกันข้ามกับโฆษณาชวนเชื่อของระบบทุนนิยม เพราะหากพวกเขามีตัวเลือกอื่น เสรีชนย่อมไม่เบียดเสียดเดินเข้าโรงงานเพื่อให้ได้เงินครองชีพเพียงเล็กน้อย ไม่แม้แต่เพื่อให้ได้รองเท้าแบรนด์เนมและซอฟต์แวร์มา ในการทำงาน การช็อปปิ้ง และการจ่ายบิล เราทุกคนล้วนแต่ช่วยเสริมให้สภาวะที่กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นดำรงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ทุนนิยมดำรงอยู่เพราะว่าเราลงทุนทุกสิ่งทุกอย่างไปกับมัน พลังงานและความเฉลียวฉลาดทั้งหมดของเราถูกใช้ในตลาด ทรัพยากรทั้งหมดของเราถูกเติมเข้าไปในห้างสรรพสินค้าและตลาดหุ้น และความสนใจทั้งหมดของเราล้วนมุ่งไปที่สื่อ พูดให้ตรงกว่านั้นก็คือทุนนิยมดำรงอยู่ได้เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราคือมัน แต่เราจะทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ หรือไม่ ถ้าเรารู้สึกว่ามีทางเลือกอื่น

แทนที่งานจะช่วยให้มนุษย์ได้รับความสุข ในทางตรงข้าม มันกลับส่งเสริมการปฏิเสธตนเองที่เลวร้ายที่สุด

การเชื่อฟังครู เจ้านาย และอุปสงค์ของตลาด โดยที่ยังไม่ต้องไปเอ่ยถึงกฎหมาย ความคาดหวังของพ่อแม่ คำสอนทางศาสนา และบรรทัดฐานทางสังคม เราถูกตั้งเงื่อนไขตั้งแต่วัยเด็กให้ระงับความปรารถนาของเรา การทำตามคำสั่งกลายเป็นปฏิกิริยาที่ไร้สำนึก ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราสนใจหรือไม่ก็ตาม การคล้อยตามผู้เชี่ยวชาญกลายมาเป็นธรรมชาติของเรา

การขายเวลาของเราแทนที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อแค่จะได้ทำ ทำให้เราต้องประเมินชีวิตของตนจากเกณฑ์ที่ว่า เราจะได้อะไรกลับมาจากการแลกเปลี่ยนเวลาที่เสียไป ไม่ใช่การคิดว่าเราจะใช้เวลานั้นทำอะไรได้บ้าง การเป็นแรงงานทาสอิสระที่เร่ขายชีวิตของเราไปวันๆ ทำให้เราคิดว่าตัวเองมีราคา จำนวนราคานั้นกลายมาเป็นมาตรวัดมูลค่าของเรา ในแง่นี้ เรากลายเป็นสินค้า เหมือนๆ กับยาสีฟันและกระดาษชำระ สิ่งที่เคยเป็นมนุษย์ก็กลายมาเป็นลูกจ้าง เช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหมูก็กลายมาเป็นพอร์กช็อป (once was a pig is now a pork chop) ชีวิตของเราอันตรธานหายไป ถูกใช้จ่ายเหมือนเงินที่เราใช้แลกเปลี่ยนกันอยู่ทุกวัน

พวกเราส่วนใหญ่เคยชินกับการยอมสละสิ่งที่มีค่าสำหรับเรา จนการเสียสละกลายเป็นวิธีเดียวที่จะแสดงให้เห็นว่าเราใส่ใจกับบางสิ่งบางอย่าง เราเสียสละตัวเองเพื่อความคิด เป้าหมาย ความรักซึ่งกันและกัน แม้ว่าในโมงยามที่สิ่งเหล่านี้ควรจะช่วยให้เราพบความสุข

ตัวอย่างเช่น ครอบครัว ที่ผู้คนมักจะแสดงความรักด้วยการแข่งขันว่าใครเสียสละเพื่อคนอื่นมากที่สุด ความพึงพอใจไม่เพียงแต่มาถึงอย่างล่าช้า แต่มันถูกส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่น ความเพลิดเพลินกับความสุขทั้งหมดที่ควรได้รับ ซึ่งถูกสะสมไว้ในช่วงหลายปีของการทำงานที่ไร้คุณค่านั้นถูกถ่ายโอนไปให้เด็กๆ แต่เมื่อเด็กเหล่านี้โตเต็มวัย ถูกมองว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ พวกเขาก็ต้องเริ่มทำงานหนักเจียนตายอยู่ดี

แต่สิ่งเหล่านี้ควรมีคนที่ต้องรับผิดชอบ

แน่นอนว่าทุกวันนี้มนุษย์ทำงานหนัก การเข้าถึงทรัพยากรและประสิทธิภาพของตลาดทำให้เกิดการผลิตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อน อันที่จริง ตลาดได้ผูกขาดการเข้าถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของเราเอง จนทำให้คนจำนวนมากไม่เพียงแต่ทำงานเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น แต่ยังทำเพราะพวกเขา ต้องหาอะไรทำ อีกด้วย แต่สิ่งเหล่านั้นมันปลูกฝังความคิดริเริ่มแบบไหนกัน?

ลองกลับไปที่เรื่องโลกร้อนที่เป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งของดาวเคราะห์ดวงนี้ หลังจากปฏิเสธมาหลายทศวรรษ นักการเมืองและนักธุรกิจก็ยอมรับในที่สุดว่าต้องทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียบ้าง แล้วพวกเขากำลังทำอะไรล่ะ ก็ใช้เงินแก้ปัญหาน่ะสิ! ทั้งเครดิตคาร์บอน; พลังงานถ่านหิน “สะอาด”; บริษัทลงทุน “รักษาสิ่งแวดล้อม” มีใครเชื่อบ้างว่าวิธีเหล่านี้ได้ผลที่สุดที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก? มันช่างตลกร้ายที่หายนะจากลัทธิบริโภคนิยมภายใต้ทุนนิยมสามารถถูกใช้เพื่อเร่งให้บริโภคมากขึ้นไปอีก แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ประเภทไหนที่งานปลูกฝังขึ้นมา คนแบบไหนที่เมื่อเผชิญหน้ากับภารกิจป้องกันจุดจบของสิ่งมีชีวิตบนโลก กลับตอบกลับมาว่า “ได้เลย แล้วฉันได้ประโยชน์อะไรล่ะ”

หากทุกอย่างในสังคมเราถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่จะทำกำไรเพื่อประสบความสำเร็จ มันก็คงไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นอย่างอื่น เราลองมาพิจารณาถึงความสร้างสรรค์หรือความคิดริเริ่ม มันคือการริเริ่มค่านิยมใหม่ๆ หรือพฤติกรรมใหม่ๆ นี่เป็นสิ่งที่พวกนักธุรกิจไม่สามารถคิดได้ เช่นเดียวกับพนักงานที่เฉื่อยชาของพวกเขา จะเกิดอะไรขึ้นหากการทำงาน ที่เป็นการเอาพลังสร้างสรรค์ของคุณไปปล่อยเช่าแก่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการหรือลูกค้า คือสิ่งที่กัดกร่อนความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดริเริ่มเสียเอง

หลักฐานสำหรับเรื่องนี้นั้นพบเห็นได้แม้อยู่นอกสถานที่ทำงาน มีคนจำนวนเท่าไหร่ที่ไม่เคยขาดงานแม้แต่วันเดียว แต่ไม่สามารถไปซ้อมวงดนตรีได้ตรงเวลา? เราไม่สามารถอ่านหนังสือให้ทันอีเวนท์บุ๊กคลับ แต่เราเขียนรายงานในชั้นเรียนส่งตรงเวลาตลอด สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ในชีวิตกลายเป็นสิ่งที่อยู่ลำดับท้ายสุดที่เราจะได้ทำ ความสามารถที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญากลายเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และเกี่ยวพันกับการได้รับรางวัลหรือบทลงโทษจากภายนอก

ลองจินตนาการถึงโลกถึงโลกที่ทุกกิจกรรมของมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่พวกเขาอยากทำจริงๆ เพราะพวกเขาใส่ใจลงทุนลงแรงเพื่อมัน สำหรับเจ้านายที่มีปัญหาในการจูงใจพนักงานที่ไม่แยแสต่อสิ่งใด แนวคิดในการทำงานกับแต่ละคนที่ใส่ใจพอๆ กันในโครงการเดียวกันนั้นฟังดูเป็นเรื่องอุดมคติ แต่นี่ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราจะทำอะไรไม่ได้หากไม่มีหัวหน้างานหรือเงินเดือน มันแค่แสดงให้เห็นว่างานกำลังทำให้ความสร้างสรรค์ของเราเหือดแห้งไปได้อย่างไร

สมมติว่างานของคุณไม่เคยทำให้คุณบาดเจ็บหรือป่วยไข้เลย สมมติต่อไปอีกว่าเศรษฐกิจจะไม่ล่มและทำให้คุณตกงานพร้อมกับพรากเงินออมไปจากคุณ และจะไม่มีเหล่าคนที่ได้รับผลกระทบจากความเลวร้ายทั้งปวงเข้ามาทำร้ายหรือปล้นชิงคุณ คุณก็ยังไม่สามารถแน่ใจอยู่ดีว่าตัวเองจะไม่ตกต่ำในสักวันหนึ่ง ทุกวันนี้ไม่มีใครทำงานให้กับนายจ้างคนเดิมไปทั้งชีวิต คุณทำงานที่นี่สักสองสามปีจนกว่าจะโดนไล่ออกเพื่อจ้างคนที่มีอายุน้อยและค่าแรงถูกกว่าคุณ หรือไม่ก็เอาท์ซอร์สงานไปยังประเทศอื่นๆ คุณทำงานหนักแทบตายเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นพนักงานที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่สุดท้ายก็ถูกปล่อยให้แห้งเหี่ยวตายไปในที่สุด

คุณต้องพึ่งพานายจ้างของคุณให้มีการตัดสินใจที่ดี เพื่อให้เขาจ่ายเงินเดือนให้ เขาคงไม่สามารถผลาญเงินไปเฉยๆ ไม่งั้นก็คงไม่มีมาจ่ายคุณ แต่คุณไม่มีทางรู้เลยว่าสักวันหนึ่ง การตัดสินใจที่ดีนั้นมันจะกลับมาทำร้ายคุณหรือเปล่า คนที่คุณพึ่งพาอยู่ไม่ได้มีอย่างทุกวันนี้เพียงเพราะว่าพวกเขาเห็นอกเห็นใจ ถ้าคุณเป็นนายจ้างตัวเองก็น่าจะรู้ดีว่าตลาดนั้นเป็นสิ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นกัน

แล้วอะไรล่ะที่มอบความมั่นคงที่แท้จริง บางทีอาจจะเป็นการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ทุกคนคอยดูแลซึ่งกันและกัน ชุมชนที่มีรากฐานอยู่ที่การช่วยเหลือกันและกันมากกว่าแรงจูงใจเรื่องเงิน แล้วอะไรล่ะที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อการสร้างชุมชนแบบนั้นขึ้นมา ก็งานยังไงล่ะ

ใครกันที่สร้างความอยุติธรรมในประวัติศาสตร์ไว้มากที่สุด? คำตอบคือลูกจ้าง นี่ไม่ได้จะบอกนะว่าพวกเขาควรรับผิดชอบมัน—อย่างที่พวกเขาคงจะเป็นคนบอกคุณเป็นคนแรกนั่นแหละ!

การได้รับค่าแรงนั้นช่วยปลดเปลื้องความรับผิดชอบต่อการกระทำของคุณหรือไม่ การทำงานดูเหมือนจะส่งเสริมให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเช่นนั้น คำแก้ต่างในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ค (Nuremburg) “ผมแค่ทำตามคำสั่ง” กลายเป็นเหมือนเพลงประจำชาติและคำแก้ตัวของลูกจ้างนับล้าน ความเต็มใจที่จะทิ้งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเมื่อก้าวเท้ามาทำงานเพื่อเป็นทหารรับจ้าง ยังคงเป็นรากฐานของปัญหาที่คอยกวนใจเผ่าพันธุ์ของเรา

มนุษย์ทำสิ่งเลวร้ายโดยไม่ต้องมีคำสั่ง แต่ก็ไม่ได้มีมากมายขนาดนั้น คุณสามารถพูดคุยกับใครสักคนหากเขาทำมันไปเพื่อตัวเอง พวกเขารับรู้ว่าต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง แต่ลูกจ้างกลับต่างออกไป พวกเขาสามารถทำในสิ่งที่โง่เขลาและทำลายล้างโดยปฏิเสธที่จะพูดถึงผลกระทบที่ตามมา

ปัญหาที่แท้จริงคือ ไม่ได้เป็นที่ลูกจ้างปฏิเสธที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา แต่เป็นที่ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้การแสดงความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่มีราคาที่ต้องจ่ายแพงเกินไป

ลูกจ้างทิ้งขยะปนเปื้นสารพิษลงในแม่น้ำและมหาสมุทร
ลูกจ้างเชือดวัวและจับลิงมาทำการทดลอง
ลูกจ้างเอาอาหารจำนวนมากไปทิ้ง
ลูกจ้างกำลังทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศ
พวกเขาจับตาดูคุณทุกย่างก้าวจากกล้องวงจรปิด
พวกเขาขับไล่คุณออกไปหากค้างค่าเช่า
พวกเขาจับคุณขังคุกหากไม่จ่ายภาษี
พวกเขาทำให้คุณขายหน้าเพียงเพราะว่าคุณไม่ทำการบ้านหรือมาทำงานสาย
พวกเขาป้อนข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของคุณลงในรายงานเครดิตและเอกสารของ FBI
พวกเขาให้ใบสั่งขับรถเร็วเกินกำหนดแก่คุณ และลากรถของคุณไป
พวกเขาคอยสอดส่องข้อสอบเข้า สถานกักกันเยาวชน และฉีดยาประหารชีวิต
ทหารที่ต้อนผู้คนเข้าไปในห้องรมแก๊ซล้วนแต่เป็นลูกจ้าง
เช่นเดียวกับทหารที่เข้าไปยึดครองอิรักและอัฟกานิสถาน
เช่นเดียวกับมือระเบิดพลีชีพ พวกเขาเป็นลูกจ้างของพระเจ้า ที่หวังว่าจะได้รับค่าตอบแทนในสวรรค์

ขอพูดแถลงให้ชัดเจนขึ้นอีกหน่อย ว่าการวิพากษ์งานไม่ได้หมายความว่ามันเป็นการปฏิเสธการลงแรง ความพยายาม ความมุ่งมั่น หรือการทำตามคำมั่นสัญญา ไม่ได้หมายความว่าเรียกร้องให้ทุกอย่างต้องสนุกหรือง่าย การต่อสู้กับพลังที่บังคับให้เราทำงานนั้นเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ความขี้เกียจไม่ใช่อีกทางเลือกหนึ่งของงาน แม้ว่ามันจะเป็นผลพลอยได้ของงานก็ตาม

ข้อสรุปนั้นเรียบง่าย เราทุกคนสมควรที่จะได้ทำตามความสามารถของเราที่เราเห็นว่ามันเหมาะสมกับเรามากที่สุด ได้กำหนดโชคชะตาของตัวเราเอง การถูกบังคับให้ต้องขายสิ่งเหล่านี้ออกไปเพื่อมีชีวิตรอดนั้นไม่ต่างจากโศกนาฏกรรมและการถูกเหยียดหยาม เราไม่ควรมีชีวิตอยู่แบบนี้

“มันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ไม่มีวิธีอื่นแล้วจริงๆ”: สัมภาษณ์แอดมิน ‘ทะลุแก๊ซ’

“มันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ไม่มีวิธีอื่นแล้วจริงๆ”: สัมภาษณ์แอดมิน ‘ทะลุแก๊ซ’

เผยแพร่ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษที่ DinDeng


 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวิดีโอที่ฉายให้เห็นถึงผู้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณย่านดินแดง กรุงเทพฯ ออกมาอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับบล็อกของเรา) ดินแดงเป็นพื้นที่ในเมืองหลวงที่มีความเป็นอยู่อันยากลำบากและขาดแคลนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงการระบาดของโควิดครั้งล่าสุด โดยที่ไม่ได้มีการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจังจากรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนได้ออกมาตามท้องถนนและต่อสู้กับตำรวจ อาวุธของพวกเขานั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเองเท่าที่จะพอทำกันได้ เช่นประทัด ระเบิดทำมือ หนังสติ๊ก และโมโลทอฟค็อกเทล ตำรวจโต้ตอบพวกเขาเหมือนอย่างเคย คือการใช้แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำความแรงสูง และกระสุนยาง มีการใช้กระสุนจริงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสลายชุมนุมเสื้อแดง การต่อสู้ครั้งนี้แตกต่างจากการชุมนุมประท้วงของขบวนการประชาธิปไตยในครั้งก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด พวกเขามีความรุนแรงที่มากกว่าและจัดการชุมนุมถี่ขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงแรกของการประท้วงนั้ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดตั้งขบวนการ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ดาวดิน และเยาวชนปลดแอกนั้นหายไปจากพื้นที่ตรงนี้อย่างเห็นได้ชัด แต่ว่ากลับมีกลุ่มใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดตั้งการประท้วงที่ดินแดงในครั้งนี้ พวกเขาใช้ชื่อว่า ทะลุแก๊ซ ซึ่งในเพจเฟซบุ๊กของทะลุแก๊ซนั้นมีการแสดงออกทางอุดมการณ์ในลักษณะของอนาธิปัตย์และนักต่อต้านทุนนิยมอย่างชัดเจน ซึ่งพวกเขากล่าวว่านี้คือการพูดส่งเสียงแทนเหล่าผู้คนชนชั้นกรรมาชีพในกรุงเทพฯ ที่ถูกละเลยจากสังคม ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับแอดมินเพจทะลุแก๊ซ (สงวนชื่อ) เกี่ยวกับความเป็นมาและแนวทางในอนาคต

แนะนำตัวหน่อยครับ

ผมเป็นผู้ดูแลด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กให้กับกลุ่มทะลุแก๊ซ เป็นฝ่ายจัดตั้ง โฆษก และผู้ประสานงานให้กับทางกลุ่มด้วยครับ มีทีมจัดตั้งการประท้วงที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างเยอะครับ ดังนั้นถ้าพวกเขาอยากจะสื่อสารกับสาธารณะ ก็จะติดต่อมาให้ผมช่วยตรงนี้

เล่าความเป็นมาของทะลุแก๊ซหน่อย

มันเริ่มจากการที่ผู้ชุมนุมในกรุงเทพบางคนที่เขาเป็นชนชั้นแรงงาน รู้สึกว่าตัวเองถูกกีดกันออกจากการชุมนุมกระแสหลักที่มักจะโปรโมทสันติวิธี เพราะสำหรับเราแล้ว แค่นั้นมันไม่พอหรอกครับ คือเราไม่สามารถอดทนรอที่จะไม่ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เราต้องทำอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป ก็เลยตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาชื่อว่าทะลุแก๊ซ

ใครอยู่เบื้องหลังทะลุแก๊ซ

ตอนแรกเราฟอร์มทีมปฏิบัติการในพื้นที่ โดยการพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาและวิธีการจัดตั้ง ตอนนั้นผมก็เริ่มสื่อสารกับสาธารณะแล้ว คือเพจนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับทะลุแก๊ซ สื่อสารให้คนในวงกว้างได้รับรู้ เรายังไปคุยกับคนในพื้นที่ด้วย เพราะเราอยากให้พวกเขาสนับสนุนและเชื่อใจเรา เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำเนี่ย  มันทำไปเพื่ออะไร เป็นเรื่องสำคัญนะครับที่เราจะต้องรู้ว่าคนในพื้นที่เขารู้สึกยังไงกับการประท้วง เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์และความรู้สึกร่วมกัน ดังนั้นทีมปฏิบัติการก็จะรายงานเรื่องเหล่านี้มาให้ผม แล้วผมก็สื่อสารมันออกมา แต่จริงๆ แล้วคนในพื้นที่เขาก็เคยสู้กับรัฐบาลมาก่อนนะ หลายคนเป็นอดีตเสื้อแดง (หรือยังคงเป็นอยู่) เป็นชนชั้นแรงงาน พวกเขาก็เลยมีความเชื่อมโยงกับทะลุแก๊ซ

พูดให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือ ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว บางคนไม่รู้จักเสื้อแดงเลยด้วยซ้ำ พวกเขายังเด็กมาก บางคนแค่อยากออกมาสู้กับตำรวจเพื่อความสนุกหรือสะใจ แต่อย่าลืมว่าในการชุมนุมก็มีคนที่อายุมากขึ้นมาอีกหน่อย คนที่เด็กกว่าก็เรียนรู้จากคนที่แก่กว่านี่แหละ

ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซจุดพลุใส่ตำรวจ (ภาพจาก ข่าวสด)

คนในพื้นที่มีปฏิกิริยายังไงต่อการชุมนุม

บอกตรงๆ พวกเขาไม่ได้ชอบหรอกนะที่มีการชุมนุมในพื้นที่ แต่พวกเขารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้แล้วก็เคารพการตัดสินใจของผู้ชุมนุม พวกเขาไม่ได้โทษพวกเรา พวกเขาเข้าใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร

ชีวิตในย่านดินแดงมันมีลักษณะยังไง

ดินแดงคือย่านสลัมครับ พวกเราคือคนที่ถูกกดขี่ ตำรวจทำตัวเหมือนมาเฟียที่เราต้องจำยอมต่ออำนาจนั้น พวกเขาพรากทุกอย่างของเราไป มีอิทธิพลเหนือประชาชน และเราก็ต้องเชื่อฟังตำรวจ พวกตำรวคือตัวปัญหาหลักในพื้นที่ ใครๆ ก็เกลียดตำรวจกันทั้งนั้น ไม่ต่างอะไรจากการอาศัยอยู่ในรัฐตำรวจมาเฟียเลย

เพจของคุณสื่อสารอุดมการณ์อนาธิปไตยอย่างชัดเจน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

บอกตรงๆ ว่าสารเหล่านี้มาจากผมทั้งหมด ผมอ่านเกี่ยวกับอนาธิปไตยมาเยอะ แล้วก็ชอบแนวคิดเรื่อง Mutual Aid ของ Peter Kropotkin แต่แนวคิดเหล่านี้ก็เชื่อมโยงกับขบวนการและคนที่อยู่ในนั้นด้วย

แนวคิดทางการเมืองของคนในพื้นที่ดินแดงเป็นยังไง

หลายคนไม่สนหรอกครับว่าใครเป็นนายก ตราบใดที่ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เพราะฉะนั้นการเมืองของคนที่นั้นจึงไม่ตายตัว เปลี่ยนไปมาเหมือนสายน้ำ แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าหลายคนเคยเป็นเสื้อแดงมาก่อน คนที่อายุเยอะหน่อยก็ยังสนับสนุนทักษิณเพราะว่าในสมัยนั้นชีวิตของพวกเขาดีขึ้นจริงๆ แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้มีเวลามาสนใจการเมืองหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมือง เพราะต้องทำงานตลอดเวลา ดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะเอาชีวิตรอด แต่แน่นอนครับว่าพวกเขาเกลียดประยุทธ์และพวกตำรวจ

คุณเชื่อมต่อกับชุมชนชนชั้นแรงงานในวงกว้างกว่านี้ได้อย่างไร

เป็นเรื่องที่ยากครับ ก็เหมือนที่บอกว่าพวกเขาไม่มีเวลามาอ่านหนังสือหาความรู้หรือทฤษฎีทางการเมือง เราก็พยายามที่จะสื่อสารแบบกระชับและเข้าใจง่ายสำหรับพวกเขา ให้มันแตกต่างจากสื่อกระแสหลักอื่นๆ มันยังคงเป็นเรื่องยากนะแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย

ตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ (ภาพจาก ข่าวสด)

ทำไมถึงรู้สึกว่ากลุ่มชุมนุมประท้วงอื่นๆ ถึงไม่สามารถเป็นตัวแทนให้กับคนในดินแดงได้

ต้องยอมรับก่อนครับว่ากลุ่มชุมนุมส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนและชนชั้นกลาง แต่เราไม่ใช่แบบนั้น มันมีช่องว่างระหว่างกันอยู่ พวกเขามีแนวคิดว่าการจะสู้หรือปะทะกับตำรวจก็คือต้องรอให้ตำรวจเริ่มก่อน แล้วค่อยโต้ตอบกลับไป สำหรับเรา เราโดนตำรวจทำร้ายมาตลอดชีวิตครับ ตำรวจเริ่มก่อนทั้งนั้น ทำอย่างกับพวกเราเป็นเศษคน ดังนั้นจึงชอบธรรมแล้วที่เราจะเอาคืน โครงสร้างของรัฐนี้รวมทั้งระบบตำรวจมันอันตรายต่อชีวิตของประชาชนอยู่แล้ว แล้วทำไมเรายังต้องรอให้พวกตำรวจทำร้ายเราอีกล่ะ ในเมื่อเราโดนทำร้ายมาทั้งชีวิตและไม่มีใครที่จะมาสนใจหรือรับฟังพวกเราด้วย สำหรับเรานี่คือทางเดียวที่จะแสดงออกถึงความไม่พอใจ แสดงออกถึงตัวตนของคนที่อยู่ในซอกหลืบ ในเมื่อเราถูกกีดกันออกจากสังคมโดยสิ้นเชิง คนอื่นก็ควรจะรับจะรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของพวกเรา นี่คือการต่อสู้ทางชนชั้นครับ ไม่มีวิธีอื่นแล้วจริงๆ

ผมอยากบอกว่า เรายินดีต้อนรับทุกคนที่อยากจะมาเข้าร่วมกับทะลุแก๊ซ เราเปิดกว้างเต็มที่ แต่กลุ่มอื่นๆ ก็ยังคงลังเลที่จะมาร่วม คือไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นศัตรูกับเรานะครับ แต่พวกเขาก็จะพูดประมาณว่า “รอดูไปก่อน” ผมพอจะเข้าใจว่าทำไม มันก็เป็นเรื่องของชนชั้นนั่นแหละ ถ้าให้พูดตามตรงก็คือ ชนชั้นกลางจำนวนมากก็แค่ไม่เข้าใจพวกเรา ไม่สามารถรู้สึกแบบเดียวกับพวกเราได้ พวกเขาก็แค่ไม่รู้จริงๆ

มีแผนอะไรต่อจากนี้ไหม

ระยะสั้นคือทำให้ขบวนการเติบโตและแสดงออกมากขึ้นครับ อยากจะสร้างพื้นที่ของฝ่ายซ้ายในการชุมนุม อย่างเช่นเราจะเปลี่ยนจากการชูสามนิ้วเป็นการชูกำปั้นข้างซ้ายแทน นอกจากนั้น เราอยากจะพูดคุย พบปะ จัดตั้งให้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อที่จะเอาไปกำเนินการต่อ แต่ตอนนี้ขบวนการเรายังใหม่มากๆ และต้องการการสนับสนุนอีกเยอะครับ

โปรดอยู่ร่วมกันอย่างห่วงใย: การสร้างความเอาใจใส่และความยั่งยืนในกลุ่มแอคทิวิสท์

โปรดอยู่ร่วมกันอย่างห่วงใย: การสร้างความเอาใจใส่และความยั่งยืนในกลุ่มแอคทิวิสท์

ผู้เขียน Rushdia Mehreen และ David Gray-Donald 
ผู้แปล Taweesak Tabwong
บรรณาธิการ Editorial Team
Artwork ดัดแปลงจากต้นฉบับ

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Briarpatch
บทแปลได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School


โปรดอยู่ร่วมกันอย่างห่วงใย
กลุ่มนักกิจกรรมจะสร้างความเชื่อใจ ความเอาใจใส่ และความยั่งยืนได้อย่างไรในโลกแห่งทุนนิยมและการกดขี่นี้

“ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าและโดดเดี่ยว ฉันไม่รู้สึกว่าเหล่าสหายของฉันมีความสัมพันธ์ทางจิตใจที่ดีกับฉัน หรือในหมู่สหายด้วยกัน การต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มกลายเป็นการทำงานประจำ พวกเราแทบจะไม่สนใจปัญหาในชีวิตที่แต่ละคนเจอ เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ฉันไม่เห็นคุณค่าและความหมายในการขับเคลื่อนสังคมของฉัน ฉันรู้สึกว่างเปล่าทั้งทางอารมณ์และทางกายภาพ ฉันไม่มีความต้องการที่จะพาตัวเองไปเข้าร่วมกิจกรรมอีกต่อไป เพราะแทนที่ฉันจะรู้สึกมีพลังในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ฉันกลับอ่อนล้าและหมดแรง”

นี่คือสิ่งที่ เลย์คุ (Laykü) อดีตผู้จัดตั้งการเคลื่อนไหวเพื่อความสามัคคีทางสังคมและกลุ่มความเป็นธรรมเพื่อผู้อพยพในมอนทรีอัล แคนาดา เล่าถึงความรู้สึกช่วงแรกของการหมดไฟในการเป็นนักเคลื่อนไหว

ทำไมนักเคลื่อนไหวถึงหมดไฟ และเราทำอะไรได้บ้างเพื่อจะแก้ปัญหานี้ ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ควิเบก ในปี 2012 ได้มีการก่อตั้งกลุ่ม Politics & Care โดย รุชเดีย (Rushdia) ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักเคลื่อนไหวและผู้จัดการชุมชนร่วมกันก่อตั้งเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการหมดไฟ โดยกิจกรรมของกลุ่มนั้นประกอบไปด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน และการส่งเสริมให้มีเวิร์กช็อปเพื่อทำให้การดูแลเอาใจใส่กันและกันหลอมเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับงานด้านการเมือง

บทความชิ้นนี้เป็นการเผยให้เห็นถึงพลวัตที่พบได้บ่อยในการจัดการองค์กรของนักเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่อาการหมดไฟที่จะสานต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงสำรวจวิธีที่คอลเลกทีฟแคร์ (collective care) หรือการดูแลเอาใจใส่ร่วมกัน สามารถถูกนำไปผสานเข้ากับนโยบายการจัดการและการปฏิบัติ โดยเน้นไปที่กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจนิยม ซึ่งเป็นกลุ่มสามัญชนที่ปราศจากลำดับชั้นทางอำนาจในองค์กร

การดูแลเอาใจใส่ร่วมกันนั้น หมายถึงความรับรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของสมาชิกคนอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ในลักษณะที่มีการรับผิดชอบร่วมกันของกลุ่ม มากกว่าที่จะเป็นการแยกกันทำงานคนเดียวของปัจเจก ซึ่งหมายความว่ากลุ่มทำการตกลงร่วมกันเพื่อระบุให้เห็นถึงการเอาเปรียบที่โยงใยต่อกัน และหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อความเป็นอยู่ที่ดีภายในกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ต่อสู้กับการกดขี่ในสังคมวงกว้าง คอลเลกทีฟแคร์ยังเน้นย้ำถึงสำนึกในการรับผิดชอบที่มีร่วมกันในกลุ่มต่างๆ ของนักกิจกรรม พร้อมกับเป้าหมายที่นำไปสู่การเสริมพลังร่วมกัน (collective empowerment) โดยความคิดดังกล่าวนี้มีต้นแบบมาจากองค์กรเควียร์และสตรีนิยมผิวสี อย่างเช่น กลุ่มสตรีนิยม Combahee River Collective และกลุ่มเคลื่อนไหวของผู้พิการ ซึ่งสำนึกในการดูแลกันจะถูกห่อหุ้มไว้ในถ้อยคำที่ว่า “พวกเราอาจเป็นอันตรายต่อกันได้ ฉะนั้น โปรดอยู่ร่วมกันอย่างห่วงใย”

จากข้อถกเถียงก่อนหน้าเกี่ยวกับพลวัตที่มีปัญหา และข้อวิจารณ์ต่อความคิดเรื่องการดูแลตัวเอง (self-care) ของเสรีนิยมใหม่ จากบทความอันโด่งดังของ Upping The Anti ที่ชื่อ “ใครแคร์? การเมืองของการแคร์ในการจัดการองค์กรราดิคัล” ในบทความนี้จะเป็นการต่อยอดข้อถกเถียงซึ่งเกี่ยวกับการหาทางออกด้วยคอลเลกทีฟแคร์หรือการดูแลกันแบบส่วนรวม

อำนาจและการควบคุม

พวกเราต่างรู้จักหรือเคยได้ยินเกี่ยวกับกลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า “ปราศจากลำดับชั้น” แต่กระนั้นแล้ว กลับมีปัญหาเรื่องลำดับชั้นที่ถูกซุกไว้ใต้พรมโดยไม่แม้แต่จะพูดถึงมัน เมื่อนักกิจกรรมบางคนทำงานโดยไม่ได้หลับได้นอนอยู่หลายวัน หรืออุทิศเวลาของพวกเขาในการจัดการองค์กร มันได้สร้างความกดดันให้สมาชิกคนอื่นในเรื่องการเปรียบเทียบมาตรฐานของพวกเขาในการสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ ให้ได้เหมือนกับคนที่ทำงานหนัก กลุ่มคนที่รับผิดชอบในระดับที่สุดโต่งมักจะได้รับรู้ความเป็นไปของกลุ่มมากกว่าคนอื่น ได้สร้างทุนทางสังคมมากกว่า และมีอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดข้อตกลงได้มากกว่า ลำดับชั้นล่องหนที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นยากที่จะนิยาม และยากที่จะแยกส่วนออกมาให้เข้าใจได้

บางรูปแบบของอภิสิทธิ์นั้นเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ชนชั้น ความสามารถ เพศสภาพ และเพศวิถี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่รองรับลำดับชั้นอำนาจ ที่อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและมีอำนาจในการกำหนดข้อตกลงภายในองค์กร

“ผู้คนที่มักได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ผู้อพยพที่ไม่สามารถเข้ามาร่วมประชุมได้ทุกครั้ง เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องดูแลครอบครัวของพวกเขา และมีความลำบากในการเข้ามาประชุม” เอนิ (Ani) นักจัดการองค์กรรากหญ้าเพื่อความยุติธรรมของผู้อพยพ กล่าวไว้ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงภายในกลุ่ม

พื้นที่ในการจัดการองค์กรมักขาดข้อผูกมัดที่แท้จริงต่อกระบวนการกำหนดข้อตกลงร่วมกันแบบประชาธิปไตย การแลกเปลี่ยนความเห็นและการอภิปรายถูกทำให้หมดความสำคัญไปภายใต้การทำงานที่เร่งรีบ สมาชิกที่มีอำนาจจะเป็นผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจต่างๆ และสมาชิกที่เหลือก็ถูกทิ้งให้จมอยู่กับความท้อแท้และถูกลดทอนอำนาจ

อำนาจและความรับผิดชอบที่สะสมเป็นทุนทางสังคม สามารถกลายเป็นวงจรอุบาทว์ได้ คนที่สะสมสิ่งเหล่านี้ไว้มากเกินไปมักจะส่งผลให้พวกเขามีความอดทนต่ำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตอันเกิดจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมาหลายครั้งจากการทำงาน พวกเขามักจะไม่ค่อยแสดงความอดทนต่อผู้คนที่กำลังเรียนรู้งาน หรือไม่ให้อภัยต่อความผิดพลาด นี่เป็นเหตุให้สมาชิกที่เข้ามาใหม่รู้สึกแปลกแยก และปล่อยให้คนที่อยู่มาก่อนรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกนอกจากรับผิดชอบงานหนักขึ้น และทำการควบคุมการตัดสินใจของกลุ่มมากขึ้น รูปแบบที่กล่าวมานี้ยังนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้เช่นเดียวกับการถูกลดทอนอำนาจ แม้ว่าจะเป็นการหมดไฟที่มาจากการโหมงานหนักก็ตาม

นักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะผู้อาวุโสหรือคนที่ทำงานมานานควรจะเป็นผู้ไตร่ตรองว่า พวกเขามีส่วนร่วมในกลุ่มใดบ้าง และพวกเขามีอำนาจภายในแต่ละกลุ่มมากแค่ไหน ดังคติพจน์ของนักเคลื่อนไหวที่ว่า “คนอื่นจะก้าวไปข้างหน้าได้ เมื่อคุณถอยหลังกลับมาคิดทบทวน” ในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้เรียกร้องให้นักเคลื่อนไหวที่มีประสบการณ์มากได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับองค์กร เพื่อที่จะให้สมาชิกหน้าใหม่ปรับตัวและทำงานกับองค์กรต่อไปได้ ซึ่งสามารถทำผ่านการให้คำปรึกษาและให้ความสำคัญกับกลุ่มคนชายขอบ

เหนือสิ่งอื่นใด การปรับแนวทางของเราให้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยการใส่ใจผู้คนและความต้องการของพวกเขาอย่างมีสติ ก็อาจทำให้การจัดระบบเป็นประสบการณ์ที่มีความเอาใจใส่และยั่งยืน

ความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบ

เลย์คุ ชี้ให้เห็นถึงพลวัตทางอำนาจที่ไม่เพียงแต่จะกัดกร่อนสวัสดิภาพส่วนตัวของเขาและส่วนรวม ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องจองสถานที่สำหรับการอภิปราย หรือต้องออกแบบโปสเตอร์สำหรับการชุมนุม และสมาชิกในกลุ่มอาสาที่จะทำ ภายในกลุ่มจะมีความรู้สึกของการกระตุ้นให้ก้าวไปข้างหน้า องค์กรจะสามารถดำเนินการต่อได้จากความรู้สึกนี้

แต่ถ้าหากผู้ที่อาสาทำงานนั้นขาดการติดต่อไปหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ก็อาจทำให้สมาชิกในกลุ่มหมดพลังใจและท้อแท้ เพราะการหยุดชะงักดังกล่าวได้ขัดขวางแผนการและเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพวกเขา

สมาชิกที่มีอำนาจจะเป็นผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจต่างๆ และสมาชิกที่เหลือถูกทิ้งให้ผิดหวังและถูกลดทอนอำนาจ

ยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อใจจะถูกทำลายลง เลย์คุ อธิบายว่า “ต่อให้กิจกรรมจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ในท้ายที่สุดมันจะไม่สร้างอิมแพ็กหรือความสำเร็จใดๆ และสมาชิกในกลุ่มจะไม่รู้สึกถึงการลุล่วงในเป้าหมายได้เลย” เลย์คุ ยังกล่าวจากประสบการณ์อีกว่า “[หลังจากนั้น] ผู้คนจะไม่อยากมีความรับผิดชอบ และพวกเราจะไม่มีพื้นที่อย่างแท้จริงสำหรับการเรียนรู้ที่มาจากการทบทวนความผิดพลาดอย่างเป็นส่วนรวม”

เลย์คุ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด ผู้คนจะแจ้งให้ผู้ร่วมงานทราบว่า หากพวกเขาไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ พวกเขาต้องมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือซึ่งกระทบต่อการทำงาน เช่น ปัญหาสุขภาพ เหตุฉุกเฉินในครอบครัว หรือเรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญ นอกจากความน่าเชื่อถือแล้ว ความรับผิดชอบก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าความรับผิดชอบจะเป็นคำที่รุ่มรวยและซับซ้อน แต่ในที่นี้มันหมายถึงการยอมรับและรับผิดชอบต่อผลสะท้อนกลับ ซึ่งมาจากการกระทำของคนคนหนึ่งที่อาจมีผลต่อสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม “คำขอโทษอย่างจริงใจมักจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี”

ในปี 2001 สิ่งพิมพ์จาก ChangeWork ที่ชื่อ White Supremacy Culture เขียนโดย เคนเนธ แจ็กสัน โจนส์ (Kenneth Jackson Jones) และ เทม่า โอคุน (Tema Okun) เสนอให้ทำข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรก่อนเริ่มงาน ซึ่งอาจรวมถึงการวางแผนขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดเดดไลน์ และการกำหนดความคาดหวังในการติดตามผล การสร้างนิสัยในการซักถามหลังจากสิ้นสุดกิจกรรมต่างๆ เช่น การประเมินว่าอะไรได้ผล อะไรไม่ได้ผล และวิธีปรับปรุงแก้ไข สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดซ้ำๆ หรืออย่างน้อยก็ฟื้นฟูความไว้วางใจที่สูญเสียไปได้

ทุนนิยมแบบประเมินคุณค่าตนเอง

“ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้ง วิกฤตทางการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ ความรู้สึกของการเร่งรีบกำลังเพิ่มสูงขึ้น” ปาสคาล บรูเนต (Pascale Brunet) ผู้จัดงานองค์กรนักจัดตั้งชุมชน และผู้ร่วมก่อตั้ง Politics & Care กล่าว “ผสมผสานกับแรงกดดันของระบบทุนนิยมให้ทำการผลิตมากขึ้น ให้มีผลิตภาพ (productivity) และประสิทธิภาพมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรามักจะถูกบอกว่าเรายังดีไม่พออยู่บ่อยครั้ง”

เลย์คุ ให้ภาพคร่าวๆ จากภายในกลุ่มว่า “กลุ่มของฉันไม่กล้าสารภาพด้วยซ้ำว่าพวกเราถูกแทรกซึมโดยค่านิยมและแนวปฏิบัติของวิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่และทุนนิยม งานในกลุ่มนั้น ทั้งเน้นประสิทธิภาพ ความสำเร็จส่วนบุคคล การแบ่งงานตามเพศ และอื่นๆ”

แรงกดดันที่จะเป็นคนโปรดักทีฟ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมมากเกินไปในการเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การกักตุนอำนาจที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้

พลวัตนี้เรียกร้องให้มีจริยธรรมของการแคร์ (ethics of care) โดยกลุ่มสตรีนิยมและกลุ่มต่อต้านทุนนิยม ซึ่งมุ่งเน้นและยอมรับความพยายามและผลกระทบมากกว่าประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์ ส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกันผ่านการแบ่งปันและหมุนเวียนภาระหน้าที่ รวมไปถึงการรับรองและสนับสนุนสมาชิกโดยไม่คำนึงถึงระดับความสำคัญของผลงาน

ภาษาและการเข้าถึง

“ไม่ใช่ทุกคนที่มีศัพท์แสงและภาษาที่ถูกต้องเหมาะสมทางการเมือง ซึ่งภาษาที่ว่านี้มักจะกีดกันผู้คนออกไป” Ani โอดครวญ “ตอนนี้ โครงสร้างไม่เอื้อต่อคนที่ถูกมองข้ามจากปัญหานี้ พวกเขาไม่สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างมีความหมาย”

ภาษาทางวิชาการไม่อาจเป็นกระบอกเสียงให้กับชุมชนชนชั้นแรงงานจำนวนมากได้ โดยปกติแล้วภาษาจะใช้เพื่อแสดงสิทธิพิเศษของผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงและส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น การเรียกร้องให้ทุกคนใช้ภาษา แนวคิด และศัพท์แสงที่ถูกต้องทางการเมืองอันใหม่ล่าสุดที่กล่าวซ้ำไปมานั้น อาจทำให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งเป็นผู้ที่มีพื้นฐานปัญหามาจากประสบการณ์ส่วนตัวนั้นยิ่งแปลกแยกและหนีห่างออกไป

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่การบอกว่าเราควรแก้ต่างให้ผู้ที่ใช้ภาษาโบราณซ้ำซาก อย่างจงใจ แล้วก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือเป็นเท็จต่อผู้อื่น ตัวอย่างเช่น สมาชิกในกลุ่มต้องเคารพคำสรรพนามของสมาชิกคนอื่นๆ หรือวิธีการอธิบายเพศสภาพและเพศวีถีของพวกเขา

ในบทความสตรีนิยมในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับวิธีการทำให้ความยุติธรรมทางสังคมเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชนน้อยลงและทุกคนเข้าถึงได้มากขึ้น ไค เชิง โธม (Kai Cheng Thom) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความจำเป็นในการสร้างพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการเข้าถึงทั้งในทางกายภาพและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มเติมจากการเข้าถึงด้านภาษา “เราต้องแน่ใจว่าคนที่มีบุตรหลาน ผู้คนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการและมีรายได้จำกัด รวมถึงใครก็ตามที่อาจเข้าถึงเงินและเวลาได้ไม่มาก ก็สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนได้”

แรงงานทางอารมณ์

เป็นเรื่องที่รับรู้กันทั่วไปว่า พื้นที่ทางองค์กรของพวกเราอยู่ภายในและเคียงคู่ไปกับระบบการกดขี่ที่มีการทับซ้อนของเชื้อชาติ เพศสภาพ ชนชั้น เพศวิถี และความทุพพลภาพ เราเห็นความเหนื่อยหน่ายในหมู่นักจัดตั้งที่เป็นสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงผิวสี เพราะการเหยียดเพศและการเหยียดเชื้อชาติมีอยู่ในพื้นที่ขององค์กรการเคลื่อนไหวนี้ ในลักษณะที่สะท้อนถึงระบบที่กว้างขึ้นของการกดขี่ทางเพศและทางเชื้อชาติ แรงงานทางอารมณ์เป็นภาระอย่างท่วมท้น โดยกลุ่มคนที่นิยามตนเองเป็นผู้หญิงและเป็นผู้หญิงผิวสี ขณะเดียวกันนั้นมันก็ถูกลดคุณค่าและจัดให้เป็นเรื่องไม่สลักสำคัญ

“ในแวดวงนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ มีความเข้าใจเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การกดขี่ และอภิสิทธิ์” บรูเนต อธิบาย “[แม้ว่าเราอาจ] ประณามระบบต่างๆ ของการกดขี่ที่จัดระเบียบโครงสร้างชีวิตของเรา แต่บางครั้งมันก็ซับซ้อนกว่าอย่างมากที่เราจะตระหนักว่าเมื่อระบบเดียวกันเหล่านี้ ได้หลุดรอดเข้าไปในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดของพวกเรา”

เพื่อแยกส่วนการกดขี่เหล่านี้ในวงกว้างมากขึ้น เราต้องระวังว่าความรับผิดชอบต่อการดูแล และการสื่อสารในการทำงานภายในกลุ่มไม่ได้ตกอยู่กับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะกับผู้หญิงผิวสี ซึ่งรับหน้าที่เพิ่มเติมจากที่ต่อสู้ในการเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญอยู่แล้วในหลายกลุ่ม ผู้หญิงมักจะสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่ม จนบางครั้งอาจส่งผลเสียต่อความผาสุกส่วนตัว ในขณะที่ผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ชายผิวขาวเลือกออกจากกลุ่มเมื่อเจอสถานการณ์ยากลำบาก

“ความสัมพันธ์ของเราส่วนใหญ่เกี่ยวกับงานในองค์กรที่เราไม่รู้จักคนที่เราร่วมงานด้วย เราไม่มีเวลาและพื้นที่สำหรับความสัมพันธ์แบบองค์รวม เราไม่รู้ว่าคนอื่นต้องผ่านอะไรอีกบ้าง สถานการณ์แบบนี้ไม่อนุญาตให้เราสร้างความสามัคคีระหว่างกัน” เอนิ สะท้อนด้วยความกังวล

เธอแนะนำว่า “เราต้องคิดว่าผู้คนรอบตัวเราเป็นอย่างไร เราต้องหลุดออกจากความเป็นมืออาชีพ [ที่] สิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบงาน ซึ่งต้องการเพียงแค่ให้เรามาพบกัน เรามีงานที่ต้องทำแล้ว ต่อจากนั้น มันเหมือนกับว่าเราไม่ได้รู้จักกันจริง ๆ”

สืบเนื่องจากการดูแลกันแบบส่วนรวม

เราพบว่าประเด็นทั่วไประหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ไม่ดี คือการขาดการสื่อสารแบบเปิดระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และบ่อยครั้งที่ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการให้ผู้คนมานั่งพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้

การเริ่มต้นการประชุมตามปกติด้วยการเช็กอิน โดยที่สมาชิกแต่ละคนจะแบ่งปันว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ และมีความต้องการเฉพาะเจาะจงในระหว่างการประชุมหรือไม่ อาจเป็นวิธีที่ดีในการดูแลกันต่อหน้าและช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม นอกเหนือจากการประชุมแล้ว การสนทนาที่จริงใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริงสามารถเริ่มต้นด้วยความเรียบง่ายแต่จริงใจว่า “คุณสบายดีไหม” การหาพันธมิตรในกลุ่มยังสามารถช่วยสร้างวัฒนธรรมการดูแลกันได้เช่นกัน

แม้ว่าการเช็กอินนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้ แต่มันอาจเป็นประโยชน์ในการสร้างพื้นที่อย่างมีโครงสร้างจำเพาะขึ้นมาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกและความต้องการการดูแลและเยียวยาจากผู้คน จากการทำงานในองค์กร Politics & Care มามากกว่าห้าปี เราพบว่าการเชิญผู้ดำเนินงานจากภายนอกมาเข้าร่วม (เช่น คนจาก Politics & Care) จะช่วยให้มีการอภิปรายเชิงลึกที่สามารถนำไปสู่การเยียวยาได้ ในบางครั้งเราได้พูดคุยกับสมาชิกเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับการสนทนาที่ยากลำบากกับกลุ่ม บางครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าที่กลุ่มจะจัดการประชุมการดูแลแบบส่วนรวมที่สมาชิกรู้สึกว่าถูกรับฟังขึ้นมาได้ ในกรณีอื่นๆ เราเคยเห็นกลุ่มต่างๆ ที่สมาชิกผลักดันให้มีการประชุมการดูแลสมาชิกแบบส่วนรวมเพื่อจัดการกับพลวัตของกลุ่มที่มีปัญหา แต่พลวัตเหล่านี้ เช่น การด้อยค่างานเกี่ยวกับการดูแลซึ่งกันและกัน หรือแนวคิดในการทำงานแบบทุนนิยมทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ละเลยข้อกังวลและปฏิเสธที่จะหาเวลาสำหรับจัดการประชุม

ปี 2017 Politics & Care ได้เผยแพร่ชุดคำแนะนำสำหรับกลุ่มที่ต้องการสะท้อนวัฒนธรรมการดูแล (หรือวัฒนธรรมที่ขาดสิ่งนี้) ใน “Caring about thriving” ซึ่งนำเสนอในแหล่งข้อมูลชุมชนนักศึกษาอย่าง Convergence Journal คำถามต่างๆ และกลยุทธ์ข้างต้นที่กล่าวมา สามารถสร้างความแตกต่างในความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหว และต่อความยั่งยืนระยะยาวของขบวนการของเรา ความท้าทายที่เราเผชิญในโลกนี้ยิ่งใหญ่มาก และการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้เรียกร้องให้เราต้องดูแลซึ่งกันและกัน

ไรเดอร์ทุกแห่งหนจงรวมตัวกัน: บทสัมภาษณ์สหายจากสหภาพไรเดอร์

ไรเดอร์ทุกแห่งหนจงรวมตัวกัน: บทสัมภาษณ์สหายจากสหภาพไรเดอร์

สัมภาษณ์โดย Afta

“แรงงานทุกคนในทุกประเทศ จงลุกขึ้น!”

 
หนึ่งในประโยคอมตะของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ในคำแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ ที่ใช้ในการสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นของแรงงานผู้ที่ถูกกดขี่โดยชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeoisie)  ถูกกระตุ้นให้แสดงออกผ่านการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อนำมาซึ่งอิสระภาพที่ปราศจากการขดขี่  นอกจากนี้ในความคิดของมาร์กซ์นั้น  การต่อสู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากชนชั้นปฏิวัติ (Revolutionary class) ที่เป็นตัวแสดง และเครื่องมือขับเคลื่อนทางสังคงให้ไปสู่สังคมที่ใฝ่ฝัน สังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากการขูดของชนชั้นนายทุน

อย่างที่เราทราบกันว่า ในคำแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่  ค.ศ. 1847 เป็นเวลาเกือบ 200 ปี มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับที่มาร์กซ์เองคาดไม่ถึง  การเปลี่ยนโฉมหน้าของเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือทางการผลิต (mean of production) มีวิวัฒนาการอย่างล้ำลึก  และจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้ความสัมพันธ์การผลิตระหว่างผู้คุมปัจจัยการผลิตและแรงงานการผลิตนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

ในโลกเสรีนิยมใหม่ที่ได้คืบคลานครอบงำความคิดคนในเกือบทุกมุมโลก  โลกแห่งเสรีนิยมที่ยึดโยงอยู่กับปัจเจกได้เติบโตขึ้นในฐานะรากฐานของระบบประชาธิปไตย  1 คน 1 เสียง เป็นความคิดที่เติบโตมาขึ้นมากับระบบประชาธิปไตยในยุคเสรีนิยมใหม่  แต่ทำไมระบบที่เชื่อว่าคนมีความเท่ากัน 1 คน 1 เสียง กลับไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมกันภายในสังคมได้ หนำซ้ำ ตัวเลขความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำกลับมีความชัดเจนขึ้น  เมื่อผู้ร่ำรวย 1 เปอเซ็นต์ สามารถสะสมทุนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ที่แรงงานไม่แม้กระทั่งสามารถหางานที่มั่นคงให้กับชีวิตได้

เมื่อความอยุติธรรมเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและสังคม การต่อสู้ก็ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้  การต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ซึ่งถูกกดทับด้วยระบบเศรษฐกิจ และจากการโดนขูดรีดจากชนชั้นนายทุน ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้  วันนี้พวกเขากลับมาอีกครั้งในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม  ค้อน-เคียว ที่ถูกฝังในลึกลงไปในหลุมศพ ถูกพัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ ผ่านทางเทคโนโลยีที่ถูกเปลี่ยนแปลงไป และในครั้งนี้พวกเขามาพร้อมกับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็ปเล็ต ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือเหล่านี้  และตอนนี้พวกเขาพร้อมแล้ว ที่จะเปิดเผยข้อมูลของการโดนกดขี่และแนวความคิดของการต่อสู้ในระบบ Gig economy ที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงต้องใช้บริการพวกเขา ยินดีต้อนรับ สหภาพไรเดอร์ (Freedom Rider Union) 

แนะนำตัวได้เลยครับ

สวัสดีครับ ผมเรย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพไรเดอร์ ตอนนี้ดูแลทางฝ่ายเลขา และแน่นอนว่าเป็นไรเดอร์ด้วยครับ  ตอนนี้ผมอายุ 31 ปี ก็ถือว่าผ่านโลกมาพอสมควร จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย และพยายามที่จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านเอกดนตรี และ sound engineer แต่ด้วยประสบปัญหาทางการเงิน ครอบครัวไม่ร่ำรวย ทำให้ต้องหยุดการศึกษาลง  และผมมีความชอบในเรื่องเครื่องยนต์เป็นพิเศษ สามารถซ่อมแซมและแก้ไขรถยนต์ยุโรปได้ ผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวของผมเอง  ซึ่งมันก็ไม่ง่ายเลยครับ  

เริ่มขึ้นเป็นสหภาพได้อย่างไร

ผมตกงาน ในช่วงรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2557 ผมเคยเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเองในขณะนั้น  และจากพิษของรัฐประหาร ร้านจึงถูกปิดลงด้วยพิษทางเศรษฐกิจ  ผมเริ่มต้นหันมาเป็น ไรเดอร์กับ Lalamove ซึ่งในขณะนั้นทางบริษัท Food delivery ต่างๆ ต้องการไรเดอร์จำนวนมาก ในขณะที่เซ็นต์สัญญาไม่ได้มีการระบุในสัญญาว่าต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่มีอยู่วันหนึ่งทางบริษัทเรียกเก็บเงินเป็นจำนวน 200 บาท ทางผมจึงไม่ยอม ซึ่งไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ไรเดอร์เป็นร้อยเป็นพันคนก็ไม่ยอมด้วยเช่นกัน  ในตอนนั้นผมจึงคิดหาวิธีว่าต้องทำอย่างไรดี  จึงมีคนแนะนำให้ไปปรึกษากับทางสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) และได้รับการตอบกลับที่รวดเร็วมาก JELI ให้คำแนะนำในการตั้งสหภาพเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง  เราจึงได้เริ่มต้นในวันนั้น มีชื่อเรียกครั้งแรกว่า สหภาพลาล่า ซึ่งในช่วงแรกของการจัดตั้ง เราได้ตั้งเพจ Facebook ซึ่งมีเพียงแค่ไรเดอร์ของ Lalamove เท่านั้นที่เข้าร่วม  แต่เมื่อสถานการณ์ของไรเดอร์ที่ถูกบีบคั้นด้วยกฎของบริษัทต่างๆ ที่คล้ายกัน จึงไม่ใช่เพียงแค่ไรเดอร์ของ Lalamove เท่านั้นที่ประสบปัญหา แต่เป็นพวกพ้องจากบริษัทอื่นๆ ที่มีปัญหาแนวเดียวกัน  เราจึงมีพรรคพวกหรือสหายที่เพิ่มขึ้น  จนภายหลังเราได้เปลี่ยนเป็น Freedom Rider Union ที่ไม่ได้เจาะจงเพียงเฉพาะกลุ่มเราเท่านั้น  และผลของการต่อสู้ในการจ่ายเงินในครั้งนั้น ทำให้เราสามารถจ่ายเงินให้กับบริษัทเป็นจำนวน 100 บาท จำนวน 2 งวด

สหภาพต้องการอะไรจากบริษัท Food delivery

ทุกครั้งพวกเขาพยายามอ้างว่า “เราเป็นพาร์ทเนอร์กับทางบริษัท เราไม่ใช่นายจ้าง-ลูกจ้าง” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย พวกเขาเพียงแค่ต้องการผลักไสการจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม และการจ่ายสวัสดิการให้กับแรงงานออกไปให้พ้นตัว  พวกเขาไม่ต้องการให้เราเป็นลูกจ้างเพื่อเพิ่มภาระในการแบ่งกำไร  ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือสัญญาในการทำงานที่เป็นธรรม เหมือนกับแรงงานปกขาว เราต้องการสวัสดิการ รวมถึงประกันอุบัติเหตุที่เราต้องเจอเกือบทุกวันในชีวิตการทำงาน เราไม่เคยได้รับอะไรแบบนั้นเลย  จนกระทั่งตอนนี้ พวกเขาก็แค่หาแรงงานใหม่เมื่อแรงงานเก่าไม่สามารถทำงานต่อไปได้ และแน่นอนถ้าเป็นเช่นนี้ การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น

ภาพจากเพจ สหภาพไรเดอร์ – Freedom Rider Union

สหภาพเติบโตขึ้นได้อย่างไร และเติบโตไปถึงไหนแล้ว

เราไม่สามารถจำกัดหรือบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเติบโตขึ้นได้อย่างไร เพราะมันมีหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นกับพวกเรา  คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงการโดนกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ  และเริ่มตาสว่างจากคำหวานที่ทางบริษัทได้บอกเราอยู่เสมอๆ  ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมจึงเข้าร่วมจากความรู้สึกของพวกเขาเอง เราไม่มีการบังคับ ถ้าในความคิดของผมแล้ว ก็เพราะความอยุติธรรมที่ทำให้พวกเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  ตอนนี้เรามีการสร้างแพลตฟอร์มใน Facebook เพื่อเปิดลงทะเบียนอย่างเป็นทางการให้กับไรเดอร์ ซึ่งตอนนี้เรามีสหายในสหภาพไรเดอร์จำนวน 300 คนแล้ว และไรเดอร์ที่ลงทะเบียนก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ มีต่างจังหวัดบ้าง ถ้าใครสนใจสมัครสมาชิก เรียนเชิญที่หน้าเพจได้เลยครับ

เมื่อไม่นานมานี้มี สหภาพเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง อะไรเป็นชนวนในการจุดประกาย

เราต้องการให้ทุกคนทราบว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน  ถ้าคุณไม่สนใจการเมือง คุณจะถูกผู้ที่สนใจนำคุณไปใช้ประโยชน์  ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณออกจากบ้าน เราเห็นท้องถนน ทางเท้าที่เต็มไปด้วยหลุมเปรียบเสมือนอยู่บนดวงจันทร์ นั้นคือเรื่องการเมืองด้วยเช่นกัน  และถ้าเราปฏิเสธที่สนใจ นั่นคือคุณปฏิเสธสิทธิของตัวเองและปล่อยให้คนอื่นเคลมสิทธิของคุณไป

เราจึงต้องการให้ไรเดอร์ตระหนักในสิทธิของเราเอง ไม่ใช่เพียงแค่ทำงานก้มหัวให้นายทุน  แต่เรามีสิทธิในการเรียกร้องตามหลักของรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่เราไม่ก้าวก่ายสิทธิของผู้อื่น เราสามารถทำได้ เพราะเราไม่ใช่ทาสที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ 

มาร่วมงานกับ Free youth และการต่อสู้ที่เชื่อมโยงกับระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร

ครั้งหนึ่ง เราได้ประท้วงที่ตึก T-one ซึ่งเป็นตึกที่ทาง Line-man เช่าทำออฟฟิศ ทาง Free youth ได้ส่งหน่วยข่าวมาติดตามการเคลื่อนไหวของเรา และยังเผยแพร่การเคลื่อนไหวให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งเราซาบซึ้งเป็นอย่างมาก และเนื่องจากที่ผมได้ติดตาม Free youth มานานแล้ว พร้อมกับการกระทำเช่นนี้ของพวกเขา มันสร้างความประทับใจให้กับสหภาพ เพราะเรารู้สึกว่ายังมีใครคนหนึ่งที่เห็นใจพวกเราอยู่

วันหนึ่งมีสายจาก Free youth ติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ผม  แน่นอนว่าผมตัดสินใจรับปากทันที  แต่ยังไม่ได้นัดวันในการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ   จนกระทั่งหลังจากนั้นแอดมินคนหนึ่งของ เพจ พูด ติดต่อผมเข้ามา และเชิญชวนให้ผมขึ้นพูดปราศรัยในวันที่ Free youth จัดการชุมนุมขึ้น  จากการที่เราปรึกษากับทางสหภาพไรเดอร์ก็สรุปได้ว่า ทางสหภาพต้องการให้ผมพูดในตัวแทนคนทั่วไปมากกว่าในนามของสหภาพ  แต่ผลตอบรับที่ได้กลับดีเกินขาด พี่น้องประชาชนและสหายหลายคนเห็นด้วยกับคำปราศรัย ผมจึงเปิดเผยตัวว่าเราอยู่ในสหภาพไรเดอร์และได้รับผลตอบรับที่ดีมากๆ

การจัดตั้งสหภาพ ใช้หลักการคล้ายๆ กับหลักการในระบอบประชาธิปไตย เราเคารพในเสียงส่วนมาก และเราไม่ทิ้งเสียงส่วนน้อยไว้ข้างหลัง เรารับฟังปัญหาไรเดอร์ทุกคนและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา  ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรามีลักษณะที่คล้ายกับประชาธิปไตย เช่น เรามีการโหวต veto จากสมาชิกและผู้เข้าร่วมประชุม มันคือหนังเรื่องเดียวกัน

ภาพจาก สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI)

ในเพจของสหภาพไรเดอร์เริ่มมีการวิพากษณ์ทุนนิยมที่ค่อนข้างรุนแรง คุณสามารถบอกได้ไหมว่าคุณต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

เราวิพากษ์ระบอบทุนนิยมรูปแบบ “ทุนนิยมสามานย์” ที่กดขี่แรงงาน ทุนนิยมที่ก้าวหน้าแต่กลับใช้ช่องว่างของกฎหมาย (ในบางประเทศ) ฉกฉวยผลประโยชน์นี้ จนกลายเป็นความทุกข์ของพี่น้องแรงงาน เราไม่ได้ปฏิเสธสังคมแบบทุนนิยม ถ้าจะเปรียบเทียบ   

“ทุนนิยมก็เหมือนแรงงานที่ตายแล้วเป็นผีดิบ ทุนจะอยู่ได้ก็ต้องดูดเลือดแรงงานที่มีชิวิต” 

สหภาพไรเดอร์ไม่ได้ปฏิเสธระบอบทุนนิยม แต่อยากใช้ชีวิตร่วมกับสังคมแบบทุนนิยมให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายมากที่สุดเราอยู่ในสังคมที่ทุกคนอยู่ในโลกของปัจเจกชน ที่ไม่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น  “เอ็นดูเขา เอ็นเราเจ็บ” ทำไมเราไม่ช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เราช่วยได้ล่ะ ทำไมเราต้องหลีกเหลี่ยงการช่วยเหลือผู้อื่นล่ะ นี่คือคอนเซ็ปทางความคิดของทุนนิยมที่พยายามปลูกฝังให้เราสนใจแต่เรื่องของตัวเอง จนเพิกเฉยปัญหาทางสังคม ซึ่งผมต้องการเปลี่ยนแปลงความคิดแบบนั้น  เราต้องการช่วยเหลือสังคมในส่วนเล็กๆ การทำสหภาพไรเดอร์จึงเป็นการช่วยเหลือพี่น้อง ตราบเท่าที่เราทำได้ 

ทุกวันนี้พวกคุณสู้อยู่กับอะไร

ถ้าเปรียบคอมพิวเตอร์เป็นมนุษย์ Mindset ก็คือ ซอฟต์แวร์ เรากำลังต่อสู้กับ “ซอฟต์แวร์” ที่ฝั่งทุนนิยมพยามจะปลูกฝัง Mindset ที่ส่งเสริมให้แรงงานเป็นทาส ทำงานหนักบนค่าแรงที่แสนถูก ทำงานหนักแต่กลับไม่มีสวัสดิการในชีวิต เพราะการจะทำให้แรงงานทำงานหนักโดยไม่ปริปาก ก็ต้องปลูกฝั่ง Mindset ทาส ด้อยค่าแรงงาน ส่งเสริมไม่ให้แรงงานมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมไม่ให้แรงงานตั้งคำถามถึงค่าแรงที่ได้ลงแรงไป เราสู้กับสิ่งพวกนี้ครับ ถ้าวันนี้คุณเห็นภาพว่าเรากำลังต่อสู้กับแพลตฟอร์ม คุณกำลังเห็นภาพลวงตาครับ 

ภาพจาก Voice

คุณคิดว่าแรงงานใน gig economy เช่น งานฟรีแลนซ์ที่ไม่มีรูปแบบประจำจะสามารถนำแนวคิดของสหภาพไปใช้ได้หรือไม่ และสุดท้ายในอนาคตอันใกล้ พวกคุณหวังอะไร

แนวคิดสหภาพไม่มีลิขสิทธิ์ครับ No copyright ผมไม่ว่าเลยถ้าใครที่จะนำแนวทางของพวกเราไปใช้ มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม พวกเราส่งเสริมด้วยซ้ำ  การกระจายอำนาจเพื่อเป็นการต่อรองผลประโยชน์ในการต่อสู้กับนายทุน  ตอนนี้มีทาง JELI ซึ่งผมพูดไปข้างต้น ที่เป็นองค์กรที่ช่วยสนับสนุนแรงงาน gig economy  ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อ JELI ได้เลยครับ

ผมอยากสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม การปลูกฝัง mindset ใหม่ที่สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สละทิ้งกับคำว่า การทำงาน คือ “บุญคุณ” โลกไม่ได้หมุนแบบนั้นแล้วครับ นายทุนต้องการเราทำงาน  เราขายแรงงานให้พวกเขา เพื่อแลกกับเงินและสวัสดิการที่เราควรได้รับ  การปลูกฝังเรื่องระบบอุปถัมถ์เป็นระบบที่เสริมสร้างการกดขี่ขึ้นในสังคมครับ และสุดท้ายผมขอฝากไว้ว่า “ไม่มีสวัสดิการแรงงานไหนเกิดจากการร้องขอ มันล้วนแล้วเกิดจากการต่อสู้ครับ” 


ถึงแม้ว่า จำนวนที่แท้จริงของตามตัวเลขของการลงทะเบียนจะมีเพียงแค่ 300 คน แต่จากบทสัมภาษณ์ทำให้เราทราบว่า  สหภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหากปราศจากการกดขี่  ดังนั้น การเกิดขึ้นของสหภาพก็เกิดขึ้นจากการกระทำของนายทุนที่เลือกกดขี่พนักงานของพวกเขาเอง  และการกดขี่นี้จะยิ่งสร้างเป็นพลังและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป  “Working Men of All Countries, Unite!”

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐอยู่ข้างนายทุน เราจึงเห็นกลไกของรัฐและการกระทำต่างๆ ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ต่อนายทุน โดยเพิกเฉยและมองไม่เห็นมูลค่าของแรงงานในรูปแบบของความเป็นมนุษย์ เมื่อทุกคนมองว่าแรงงานเป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิต โดยมองข้ามจิตวิญญาณที่อยู่ภายในตัวของพวกเขา มองคนเป็นเพียงเครื่องจักรที่เอาไว้ใช้งาน และโละทิ้งไปเมื่อเครื่องจักรได้พังลง  แรงงานจึงได้คืนชีพเพื่อทวงถามคุณค่าของความเป็นคนอีกครั้งต่อ นายทุนและรัฐที่มีนายทุนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

 

 

 

ประวัติศาสตร์ขบวนการอนาธิปไตยเกาหลี

ประวัติศาสตร์ขบวนการอนาธิปไตยเกาหลี

ผู้เขียน Alan MacSimoin นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไอริช (เสียชีวิต 2018)
ผู้แปล Madalyn Berneri
บรรณาธิการ Editorial Team

หมายเหตุ ดูต้นฉบับได้ที่ The Anarchist Library
บทแปลนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School


ประวัติศาสตร์ขบวนการอนาธิปไตยเกาหลี

ในประวัติศาสตร์ 2,000 ปี ของเกาหลี มีการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหวจำนวนมาก ตั้งแต่การต่อสู้เพื่อสิทธิชาวนา จนถึงการต่อสู้เพื่อประกาศเอกราช ในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นการกรุยทางให้เกิดหน่ออ่อนของแนวคิดอนาธิปไตยสมัยใหม่ในเกาหลี เช่นเดียวกับขบวนการ Diggers1Diggers เป็นขบวนการเคลื่อนไหวในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ของประเทศอังกฤษ พวกเขาเน้นย้ำวิถีชีวิตแบบเกษตรกรที่มีโครงสร้างสังคมแบบเท่าเทียม และเน้นความเป็นชุมชนอิสระ ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดอนาธิปไตยสมัยใหม่ ในการปฏิวัติอังกฤษ (the English revolution)

ปี 1894 ญี่ปุ่นเข้ารุกรานเกาหลีอย่างเหี้ยมโหด ภายใต้ข้ออ้างที่ว่า เป็นการอารักขาเกาหลีจากการคุกคามของจีนแผ่นดินใหญ่ กระนั้นการดิ้นรนต่อสู้ปลดแอกตนเองจากญี่ปุ่นเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นเอกราชของเกาหลีนั้น ก็ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจหลักของปฏิบัติการทางการเมืองแบบราดิคัล

การเคลื่อนไหวของอนาธิปไตยสมัยใหม่ในเกาหลีเริ่มก่อตัวขึ้นท่ามกลางคนเกาหลีที่ลี้ภัยในประเทศจีนหลังจากการต่อสู้เพื่อเอกราชในปี 1919 อีกทั้งยังมีนักศึกษาและแรงงานที่เคยเดินทางไปญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการต่อสู้ที่เรียกว่า ขบวนการ 1 มีนาคม  (1st March  Movement) โดยการต่อสู้ของแรงงานและนักศึกษาร่วมกับเหล่าอนาธิปไตยในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก กว่าสองล้านคนที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว มีการประท้วงมากกว่า 1,500 จุด กว่า 7,500 คนที่ถูกคร่าชีวิต อีก 16,000 คนที่บาดเจ็บ บ้านเรือนมากกว่า 700 หลังและโบสถ์กว่า 47 แห่งก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน

ในช่วงระยะเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สหพันธ์อนาธิปไตยแห่งเกาหลี (Korean Anarchist Federation – KAF) ได้ถูกนิยามและแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน

ช่วงแรกครอบคลุมตั้งแต่ครึ่งแรกของทศวรรษ 1920 และ KAF ได้อธิบายไว้ว่าการขับเคลื่อนในช่วงนี้เป็นระยะตั้งไข่ของขบวนการ

ช่วงต้นศตวรรษ 20 ชนชั้นปกครองญี่ปุ่นเริ่มแผ่ขยายความเป็นจักรวรรดิไปทั่วทั้งแถบเอเชีย พวกเขามุ่งตรงเข้าปราบปรามภายในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม ขบวนการอนาธิปไตยในญี่ปุ่นคือพวกแรกที่ออกมาต่อกรกับคำโฆษณาของเหล่าจักรวรรดินิยม กระทั่งในปี 1910 โกโตะกุ ซูซุย (Kotoku Shusui) นักอนาธิปัตย์แนวหน้าชาวญี่ปุ่นถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยมด้วยข้อหากบฏ ต่อมามีการชุมนุมต่อต้านสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russia-Japan war) และการยึดครองเกาหลี ที่นำโดยสำนักข่าว Commoners Newspaper จากนั้นเหตุการณ์ปฏิวัติรัสเซียในปี 1905 และ 1917 การจลาจลข้าวในญี่ปุ่น (the Rice Riot)2การจลาจลครั้งนี้มีสาเหตุมาจากราคาข้าวที่ผันผวนและความยากลำบากของชาวนาในญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาออกมาก่อจลาจลและทำร้ายพ่อค้าคนกลางรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐจนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก  ปี 1918 และการจลาจลในเกาหลี เมื่อปี 1919 ก็เกิดขึ้นตามลำดับ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นรู้สึกกังวลใจอย่างมาก

ภาพถ่ายสุดท้ายของพัคและฟุมิโกะ

ตามมาด้วยการปราบปรามอย่างนองเลือดในการเคลื่อนไหว 1 มีนาคม อีกทั้งยังเกิดการต่อสู้ทางชนชั้นในญี่ปุ่นเอง ผู้นำของญี่ปุ่นต่างก็ออกมาตำหนิพวกอนาธิปไตยและคนเกาหลีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 1923 แรงงานเกาหลีในญี่ปุ่นกว่า 6,000 คนถูกตามล่าพร้อมกับถูกฆ่าด้วยกระบองและหอกไม้ไผ่ นอกจากนี้กลุ่มอนาธิปไตยญี่ปุ่นและเกาหลีก็ถูกจับกุม พัค ยอล (Park Yeol) และภรรยาของเขา กาเนะโกะ ฟุมิโกะ (Kaneko Fumiko)  ทั้งสองคือนักอนาธิปไตยเกาหลีซึ่งเป็นทหารผ่านศึกจากการต่อสู้เพื่อเอกราช ทั้งนี้ยังเป็นผู้จัดตั้ง Black Workers Society ในกรุงโตเกียว ถัดมาพวกเขาได้ถูกลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต นักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ก็ถูกจับเข้าคุกเช่นกัน กาเนะโกะนั้นเสียชีวิตในคุก ส่วนพัคยังไม่ถูกปล่อยตัวจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ชาวเกาหลีหลายคนถูกจำคุกและกลายเป็นที่รู้จักในนาม “คดีกบฏ” (“the High Treason case” ) ต่อมาพวกเขาผันตัวมาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวในขบวนการอนาธิปไตยในประเทศของตน

สหพันธ์อนาธิปไตยเกาหลีในจีน (The Korean Anarchist Federation in China – KAFC) ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปี 1924 และกล่าว “แถลงการณ์การปฏิวัติเกาหลี” (“Korean Revolution Manifesto”) ซึ่งเป็นการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอย่างแข็งกร้าว ดังนี้

“เราขอประกาศว่าการเมืองแบบลอบกัด (burglar politics) ของญี่ปุ่นเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงอยู่ของประเทศเกาหลี และเรามีสิทธิ์อันชอบธรรมแล้วที่จะโค่นล้มจักรพรรดินิยมญี่ปุ่นด้วยวิธีการปฏิวัติเสียที”

สิ่งเหล่านี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องทำมากกว่าการสับเปลี่ยนผู้ปกครอง ทว่าต้องชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการปฏิวัติทางการเมืองกับการปฏิวัติทางสังคม จนถึงตอนนี้ ไม่มีข้อกังขาใดๆ เกี่ยวกับบทบาทของนักอนาธิปัตย์อีกแล้ว พวกเขาเน้นย้ำบทบาทของตนเองที่มีต่อสถานการณ์การปฏิวัติ ด้วยประการนี้แล้ว สหพันธ์จึงเริ่มทำสิ่งพิมพ์ออกมาเผยแพร่แก่สาธารณชน นั่นก็คือ เหล่าใบปลิว Recapture และ Justice Bulletin

โดยปี 1928 การแพร่กระจายของการเมืองแบบอิสระนิยมนั้นเป็นใจให้อนาธิปไตยเกาหลีจัดตั้งสหพันธ์อนาธิปไตยตะวันออก (Eastern Anarchist Federation) รวมกับสหายทั้งจากจีน เวียดนาม ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งการประกาศศักดาในระยะแรกคือ การตีพิมพ์แถลงการณ์ Dong-Bang (ตะวันออก) “แถลงการณ์” ดังกล่าวนี้ ได้รับการรับรองโดยสหพันธ์ตะวันออกในฐานะที่มันเป็นระเบียบวาระอย่างเป็นทางการของเหล่านักอนาธิปัตย์

ช่วงเวลาระยะที่สองของ KAF ครอบคลุมตั้งแต่ปี 1925 ถึง 1930 ซึ่งถูกดำเนินการโดยองค์กรจัดตั้งของขบวนการเป็นหลัก  พวกเขามีอาวุธหลักคือ ทฤษฎีการปฏิวัติอนาธิปไตยที่กำหนดไว้ใน “แถลงการณ์” และประสบการณ์จริงจากการขับเคลื่อนในขบวนการ 1 มีนาคม พร้อมทั้งองค์กรแรงงานในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีกลุ่ม “คดีกบฏ” (the High Treason case) ที่ได้รวมตัวกันในกรุงโซล แทกู เปียงยาง และพื้นที่อื่นๆ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 1929 สหพันธ์อนาธิปไตยคอมมิวนิสต์เกาหลีมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก และได้ก่อตั้งขึ้นเป็นองค์กรระดับชาติในที่สุด ในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งปฏิบัติการอยู่ใต้ดินโดยเบ็ดเสร็จ ดังนั้นจึงไม่ควรคิดว่าขบวนการเหล่านี้เป็นเพียงกลุ่มย่อยๆ และไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอื่น

สหพันธ์อนาธิปไตยแห่งเกาหลี ปี 1928

เพื่อที่จะเข้าใจว่าขบวนการเติบโตขึ้นไปในแนวทางไหนนั้น ฉันก็เลยต้องการสอดส่องว่าสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1920 มีความก้าวหน้าไปในลักษณะใดบ้าง หนังสือพิมพ์รายวัน Dong-a Ilbo รายงานไว้ในเดือนตุลาคม ปี 1925 ว่าสมาชิกสันนิบาตธงดำ (League of Black Flag) สิบคนที่อยู่ในจังหวัดคิโฮ (Kiho) ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี ส่วนปีถัดมา หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ก็ได้รายงานอีกว่า แรงงานวัยเยาว์ 5 คนถูกจำคุกเนื่องจากออกแถลงการณ์ที่มีลักษณะและเนื้อหาคล้ายคลึงกันมากกับ “แถลงการณ์การปฏิวัติเกาหลี” (Korean Revolution Manifesto) ในปี 1929  Dong-a Ilbo เล่าถึงสมาคมลับของกลุ่มอนาธิปไตยที่จัดตั้งโดย อีอึนซอง (Lee Eun-Song) ซึ่งมีสมาชิกถึงหนึ่งร้อยคนในเมืองอินชอน (Icheon) จังหวัดกวังวอน (Kwangwon) ส่วนปีเดียวกันนั้นก็ได้ทราบว่า สมาชิกทั้งหมดของ Chunju Artists Movement Society ล้วนแต่เป็นพวกอนาธิปไตย แต่นั่นเป็นเพียงชื่อที่ใช้เพื่ออำพรางกลุ่มองค์กรเหล่านี้ให้รอดพ้นจากการตามรอยของตำรวจญี่ปุ่น  แน่นอนว่าฝ่ายผู้มีอำนาจตอบโต้สิ่งเหล่าด้วยโทษประหารชีวิต เพื่อจัดระเบียบสังคมเสียใหม่โดยมีเป้าหมายคือ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของชาติ” (โดยปราศจากพวกอนาธิปไตย-ผู้แปล)

ในแทกู สมาคมความจริงและภราดรภาพ (League of Truth and Fraternity) ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1925 โดยชาวเกาหลีพลัดถิ่นที่กลับมาจากญี่ปุ่น สมาคมการปฏิวัติก็ถือกำเนิดขึ้นขณะนั้นเช่นกัน ทั้งคู่ได้ติดต่อกับสมาคมเยาวชนทมิฬแห่งโตเกียว (Tokyo Black Youth Society) อย่างสม่ำเสมอ ฉันยังเจอกลุ่มอนาธิปไตยใน อานูอี มีซาน ซางวอน และกลุ่ม Mutual Aid บนเกาะเชจู กลุ่มหลังสุดนี้ใช้ความห่างไกลจากรัฐบาลกลางในการจัดตั้งความร่วมมือของเกษตรกรและช่างฝีมือ รวมไปถึงกลุ่มชาวนา ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าสุดท้ายแล้วนักจัดตั้งเหล่านี้ก็โดนตามจับเข้าคุกอยู่ดี

ในจังหวัดควันซอและควันบูล ฉันพบว่ามีอย่างน้อยอีกแปดกลุ่มที่ถูกกล่าวถึง เกือบทุกกลุ่มทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการผลิตแผ่นพับและใบปลิวเพื่อเผยแพร่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อต้านการยึดครองของพวกจักรวรรดิ

ในตอนนี้ พวกเรารู้ว่ามีกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่เกือบทุกพื้นที่ของเกาหลี ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มดังกล่าวข้างต้นก็ยังมีองค์กรในแมนจูเรียและในหมู่ผู้ถูกเนรเทศในประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ขับเคลื่อนขบวนการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ระยะต่อไปของ KAF คือช่วงการต่อสู้ซึ่งดำเนินไปจนถึงปี 1945

ในบรรดาชาวเกาหลีสองล้านคนในแมนจูเรีย กลุ่ม KAF ในแมนจูเรียสามารถลงหลักปักฐานได้ทันทีหลังจากการก่อตั้งในปี 1929  คิม จอง-จิน ผู้ดูแลโครงการหลักของสหพันธ์ฯ ได้จัดทำแผนเพื่อนำไปใช้ร่วมกับเหล่ากองโจรที่ต่อต้านญี่ปุ่น และครอบคลุมไปถึงกลุ่มอาสาสมัครสำหรับเกษตรกรอย่างมีส่วนร่วม เช่น การศึกษาฟรีสำหรับเยาวชนจนถึงอายุ 18 ปี พร้อมกับสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีการฝึกอาวุธให้กับผู้ที่บรรลุนิติภาวะทั้งหมด ในท้ายที่สุดแผนการในแนวทางอนาธิปไตยเหล่านี้ ก็ได้รับการพิจารณาและมีความเห็นพ้องต้องกันงว่า “เป็นไปตามหลักการสหพันธ์ที่มีอิสระตามเจตจำนงเสรีของมนุษย์”

ส่วนปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังก็คือ วิธีจัดการกับพวกสตาลินที่อยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งกำลังปฏิบัติการใส่ร้ายป้ายสีเหล่าผู้นิยมอนาธิปไตยและคนอื่นๆ ว่าเป็น “เผด็จการ” เหล่านักอนาธิปัตย์รุ่นเยาว์อย่างกลุ่ม Yu-Rim ก็ต้องการต่อสู้กับอุดมการณ์ของสตาลินด้วยอุดมการณ์แบบอนาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาอยากจะแสดงให้เหล่าสตาลินนิสต์เห็นว่าอุดมการณ์ของพวกเขานั้นมันเหนือชั้นกว่าพวกสตาลินิสต์เป็นไหนๆ ส่วนกลุ่มกองโจรรุ่นเก๋าที่นำโดย  Kim Jwa-Jin (บางครั้งเรียกว่าโคเรียน แม็กโน [Korean Makhno] ) ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน กลับคิดว่ามันน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการการกล่าวถึงและสนับสนุนกลุ่มอนาธิปไตย อันที่จริงพวกเขาสามารถเพิกเฉยต่อพวกสตาลินได้จนกว่าจะได้รับเอกราชของชาติ ซึ่งเมื่อนั้นการเมืองที่แท้จริงจะปรากฏขึ้นมาอยู่ในแนวหน้า จะเอาอะไรกับความคิดพรรค์นี้ที่มันไม่ต่างจากทฤษฎีขั้นตอน (stage theory) ซึ่งหยิบฉวยมาจากข้อเสนอของพรรค Sinn Fein ในไอร์แลนด์กันเล่า!

เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1929 กลุ่มอนาธิปไตยได้จัดตั้งคณะบริหารในชินมิน (หนึ่งในสามจังหวัดของแมนจูเรีย) ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่ผู้นิยมอนาธิปไตยว่าองค์กรลักษณะนี้มีความเป็นรัฐบาลหรือไม่  พวกเขาใช้ชื่อว่า สมาคมประชาชนเกาหลีในแมนจูเรีย (Korean People’s Association in Manchuria) โดยประกาศเป้าหมายว่านี่เป็น “ระบบความร่วมมือที่ปกครองตนเองโดยอิสระของชาวเกาหลี ซึ่งรวบรวมพลังอย่างเต็มที่เพื่อกอบกู้ชาติของเราด้วยการต่อสู้กับญี่ปุ่น” องค์กรนี้มีโครงสร้างแบบสหพันธ์ โดยการตัดสินใจทางการเมืองจะเริ่มต้นจากการประชุมระดับหมู่บ้านไปจนถึงการประชุมระดับอำเภอ และระดับพื้นที่ ซึ่งสมาคมกลางก็จะประกอบไปด้วยผู้แทนจากหลายๆ อำเภอและหลายๆ พื้นที่รวมกัน

สมาคมกลางได้จัดตั้งฝ่ายบริหารเพื่อจัดการกับการเกษตร การศึกษา การโฆษณาชวนเชื่อ การเงิน การทหาร สภาพสังคม เยาวชน และกิจการทั่วไป แต่ว่าพนักงานของแต่ละหน่วยงานจะได้รับค่าจ้างไม่เกินไปกว่าค่าเฉลี่ย

เราคาดหวังว่าองค์กรจะค่อยๆ เริ่มต้นในระดับหมู่บ้านแล้วรวมกันให้ใหญ่ขึ้นเป็นสหพันธ์ อย่างไรก็ตาม EAPM เชื่อว่าสถานการณ์สงครามทำให้ไม่สามารถใช้หลักการดังที่ว่าได้ทันที แต่ในระหว่างนี้พวกเขาได้แต่งตั้งผู้ดำเนินงานในลักษณะจากบนลงล่าง จากนั้นจึงส่งทีมองค์กรและทีมเผยแพร่ออกไปจัดตั้งสนับสนุนการรวมตัวของคนในชุมชน พร้อมกับสร้างคณะกรรมาธิการของหมู่บ้านไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น หมู่บ้านแห่งหนึ่ง โรงสีข้าวที่สามารถสีข้าวได้มากกว่า 1 ล้านบุชเชลถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สหกรณ์ในท้องถิ่นเลิกพึ่งพาพ่อค้า ดูเหมือนว่าทีมงานเหล่านี้จะได้รับการตอบรับและการต้อนรับที่ดีจากทุกที่ที่พวกเขาย่างกรายไป

ฝ่ายบริหารท้องถิ่นของผู้ร่วมต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองชิมินได้ยุบพรรคโดยสมัครใจและให้การสนับสนุน KAPM ซึ่งเมื่อกลุ่มอนาธิปไตยได้รับการสนับสนุนและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากขึ้น พวกสตาลินและกลุ่มที่สนับสนุนญี่ปุ่นในแมนจูเรียขณะนั้นจึงรู้สึกว่าฐานอำนาจของพวกเขาถูกสั่นคลอน

เมื่อวันที่ 20 มกราคม นักอนาธิปัตย์ นายพลคิม จวาจิน (Kim Jwa-Jin)  ถูกลอบสังหารขณะทำงานซ่อมแซมโรงสีข้าวที่ฉันเพิ่งพูดถึง ฆาตกรหนีรอดไปได้ แต่ลูกน้องของเขาถูกจับพร้อมกับประหารชีวิต

ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่กรุงปักกิ่งของ KAFC ได้มีการตัดสินใจถ่ายโอนทรัพยากรทั้งหมดจากเกาหลีไปยังแมนจูเรีย สมาชิก KAFC ส่วนใหญ่ย้ายไปยังเขตอนาธิปไตยทางตอนเหนือของแมนจูเรีย สถานการณ์ตรงนี้ควรสังเกตว่าสหายสตรีมีความกระตือรือร้นในฐานะผู้ปั่นหัวพวกอำนาจนิยมและมีส่วนในการปฏิบัตการลักลอบขนย้ายอาวุธ

อนุสาวรีย์ของจวาจิน ที่จังหวัดกอมรี เกาหลีใต้

ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1930  เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้โจมตีเป็นระลอกจากทางใต้ และพวกสตาลินนิสต์ที่โจมตีจากทางเหนือโดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และเมื่อช่วงต้นปี 1931 พวกสตาลินได้ส่งทีมลอบสังหารพร้อมกับทีมลักพาตัวไปยังเขตอนาธิปไตยเพื่อสังหารผู้นำการเคลื่อนไหว พวกเขาเชื่อว่าหากกำจัด KAFM ออกไป KAPM ก็จะเหี่ยวเฉาและตายลงในที่สุด ในฤดูร้อนปี 1931 ผู้นำอนาธิปไตยจำนวนมากเสียชีวิต และสงครามระหว่างทั้งสองฝ่ายได้ทำลายล้างอาณาบริเวณนี้จนหมดสิ้น ดังนั้นพวกอนาธิปไตยจึงตัดสินใจกระทำปฏิบัติการแบบใต้ดิน ซึ่งนั่นคือการแสดงเป็นนัยว่า นักอนาธิปัตย์ในชิมินได้ล่มสลายลงไปเรียบร้อยแล้ว

แต่ยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่จะต้องพูดถึงปฏิบัติการของเหล่าอนาธิปไตยในจีนและญี่ปุ่น รวมถึงเกาหลีในช่วงหลายปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทัศนคติของเหล่าอนาธิปไตยที่มีต่อการแบ่งแยกประเทศ พร้อมกับการคำนึงถึงตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในปัจจุบันนั้น อาจต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามปีในการอภิปรายทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำให้ชัดเจนมากกว่านั้นคือ อนาธิปไตยในเอเชียมีประวัติศาสตร์อันแท้จริง เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ที่ความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ในระหว่างนี้ เราสามารถดึงพลังจากประสบการณ์อันเป็นภูมิปัญญาในอดีตที่ว่า อนาธิปไตยเคยเป็นกำลังสำคัญในภูมิภาคนี้ และบัดนี้มันสามารถเป็นเช่นนั้นได้อีกครั้ง!