เผด็จการโควิด และการผูกขาดอำนาจทางการตลาด

เผด็จการโควิด และการผูกขาดอำนาจทางการตลาด

ผู้เขียน ice_rockster
บรรณาธิการ Sarutanon Prabute

เราได้อยู่กับโรคระบาดโควิด-19 นี้มาเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปีแล้ว แน่นอนว่ามาตรการที่รัฐต่าง ๆ นำมาใช้ในการควบคุมหรือป้องกันการระบาดของโรคนี้ก็ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะการติดต่อของโรคนั้น สามารถติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่ง ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากการปฏิสัมพันธ์กัน สัมผัสกัน ใกล้ชิดกันของมนุษย์ ดังนั้น รัฐที่ต้องการควบคุมการระบาด จึงต้องห้ามไม่ให้ผู้คนส่งผ่านสารคัดหลั่งสู่กันให้ได้มากที่สุด อันเป็นเหตุให้ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์ (lockdown) หรือการปิดบ้านปิดเมืองนั่นเอง ซึ่งสาเหตุของการระบาดของโรคนี้ จึงนำมาสู่สภาวะพิเศษ หรือสภาวะฉุกเฉิน เป็นที่มาของการประกาศใช้ “สภาวะยกเว้น” ซึ่งเป็นการนำอำนาจเผด็จการมาใช้โดยชอบธรรม ภายใต้ข้ออ้างของการระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นที่มาของ “เผด็จการโควิด”

หากจะพูดถึงสภาวะยกเว้นแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นการใช้คอนเซ็ปของจอร์โจ อากัมเบน (Giorgio Agamben) นักปรัชญาชาวอิตาลี ในเรื่องของ state of exception ซึ่งก็คือเป็นการงดเว้นการใช้กฎหมายบางอย่าง เพื่อใช้กฎหมายอีกอย่าง กล่าวคือ สภาวะยกเว้นคือพื้นที่ไร้กฎหมายที่การบังคับใช้กฎหมายนั้นปราศจากกฎหมายในสภาวะที่จำเป็น รัฐสมัยใหม่จึงต้องใช้วิธีการที่สร้างสภาวะยกเว้นในแบบที่มีความชอบธรรม โดยฝ่ายรัฐจะออกกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกฤษฎีกา หรือพระราชกำหนด (Agamben 2008, 38) มาเพื่อเชื่อมโยงบรรทัดฐานในสังคม (norm) กับความเป็นจริง ณ ขณะนั้น เพื่อให้เข้ากับสภาวะที่มีความจำเป็นนั้น ๆ และนำไปสู่การสถาปนาสภาวะยกเว้นที่จำเป็นในรัฐอย่างมีความชอบธรรมในที่สุด (Agamben 2008, 40) เพราะฉะนั้น โควิดจึงเป็น “สภาวะที่มีความจำเป็นนั้น ๆ” ทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการประกาศใช้สภาวะฉุกเฉินในที่สุด แน่นอนว่ากฎหมายอย่าง พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกาก็แล้วแต่ เป็นกฎหมายที่ไม่ต้องผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนอะไรทั้งสิ้น หากแต่เป็นการใช้อำนาจตราได้โดยรัฐบาลเองแต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น จะกล่าวว่า รัฐสามารถสร้างเงื่อนไขของ “สภาวะที่มีความจำเป็นนั้น ๆ” หนึ่ง ๆ ขึ้นมา และสามารถรับลูกเองด้วยการออกกฎหมายอย่าง “พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกา” มาใช้เป็นเครื่องมือในการรวบอำนาจเพื่อประกาศสภาวะยกเว้น ก็สามารถทำได้ อำนาจรัฐในแง่นี้จึงมีความเป็นเผด็จการในตัวมันเอง

เราจึงสามารถกล่าวได้แบบนี้โดยไม่ต้องอ้างวลีอมตะของ คาร์ล ชมิทท์ (Carl Schmitt) ที่ว่า รัฏฐาธิปัตย์ คือผู้ที่ตัดสินใจเรื่องสภาวะยกเว้น“ หรือ “Sovereign is he who decides on the exception” (Schmitt 2010) เพียงเพราะรัฐสมัยใหม่ไม่ได้ต้องการความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในความหมายของพระเจ้าที่ประทานอำนาจมาให้กับรัฐ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐสมัยใหม่มันไม่ได้อยู่ที่พระเจ้าหรือศาสนาใด ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่มันอยู่ที่ทุน หรืออำนาจในการใช้จ่ายต่างหาก ดังนั้น หากจะกล่าวว่า Capital is he who decides on exception ในปี ค..2021 ก็คงจะไม่แปลกนัก เพราะตัวรัฐเอง ก็ยังยืนอยู่ได้ด้วยขาของทุน จนกระทั่งมีประโยคอมตะที่อมตะไม่แพ้กันในประเทศไทยคือ “จะทำอะไรก็ได้ แต่อย่าให้ไปกระทบชนชั้นกลาง” เพราะการกระทบหรือไปเหยียบเท้าชนชั้นกลาง ก็เท่ากับทำให้ “คนส่วนใหญ่” ในสังคมสมัยใหม่เดือดร้อน จึงทำให้รัฐเป็นศัตรูกับคนส่วนใหญ่ที่ว่าในที่สุด

ชนชั้นกลางนั้น ครอบคลุมตั้งแต่ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน นายทุนน้อย พ่อค้า แม่ค้า ลูกของพ่อค้า ที่ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปในสังคม กล่าวคือ คนที่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองในระบบสักเท่าใด (เว้นเสียแต่ว่าจะ strike นั่นก็คงจะเป็นอีกเรื่อง) คนเหล่านี้พึ่งพาเศรษฐกิจแบบวันต่อวัน เศรษฐกิจที่จะต้องดำเนินต่อไปแบบไม่สะดุด ต้องดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ เพราะหากว่าวันไหนหยุด นั่นหมายถึงเศรษฐกิจจะหยุดนิ่ง และทำให้กลไกของเศรษฐกิจแบบนี้นั้นหยุดทำงาน ทำให้ไม่เกิดรายได้ และไม่เกิดกำไร เป็นเหตุให้คนชั้นกลางเหล่านี้ตกงานนั่นเอง ลองจินตนาการถึงปั๊มน้ำมันทั้งประเทศไม่เปิดทำการ การไฟฟ้าไม่จ่ายไฟฟ้า การประปาไม่จ่ายน้ำ กระทั่งถึงร้านค้าไม่ขายของ ร้านอาหารไม่ขายอาหาร สิ่งที่ลองจินตนาการดูก็เกือบจะใกล้เคียงกับมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐที่ผ่านมา ในช่วงเดือน เมษายน ถึง มิถุนายน ที่ผ่านมา เพียงแต่ไฟฟ้า ประปา และปั๊มน้ำมันยังเปิดบริการอยู่ แต่ร้านค้าขายชำปิด ร้านอาหารปิด โรงแรม ปิด สนามบินถูกสั่งให้ปิด ไม่ให้มีการบิน อาบอบนวด ก็ยังต้องปิด ทำให้นายทุนต้องลดค่าจ้าง เพราะรายได้ขาด บางแห่งถึงขั้นต้องลดพนักงาน หรือปิดกิจการไปเลย

ดังนั้น มาตรการล็อคดาวน์ของรัฐนั้น พูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นการเหยียบเท้าชนชั้นกลางเข้าเต็ม ๆ เพราะนอกจากจะออกมาตรการบังคับโดยใช้อำนาจเผด็จการแล้ว ยังไม่มีมาตรการชดเชยอย่างสมเหตุสมผล ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนถึงขั้นต้องมาตามเอาเงินชดเชยที่กระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่ไร้ความรับผิดชอบของภาครัฐ ในการที่จะยึดติดกับตัวเลขในการติดเชื้อเป็นศูนย์ แต่ไม่สนใจถึงความเป็นอยู่ของประชาชน จนมีคนพยายามฆ่าตัวตาย แต่รัฐก็ยังบอกว่าอย่าเสพข่าวจากโซเชียลมีเดียมากเกินไป1

ประเด็นของการล็อคดาวน์จึงไม่ได้อยู่ที่การต้องการควบคุมโควิด แต่เป็นการต้องการควบคุมการกระทำของประชาชน แบบที่ไม่ต้องการรับผิดชอบต่อคำสั่งที่รัฐออกไป นี่ยังไม่นับมาตรการเคอร์ฟิว ที่ไม่มีเหตุผลอันใดมารองรับ เพราะเชื้อจะไม่ระบาดหลังเวลาเคอร์ฟิวอย่างนั้นหรือ? หรือเชื้อจะระบาดในช่วงหลังเคอร์ฟิว มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จึงออกมาเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิประชาชน ให้เห็นว่ารัฐมีอำนาจที่จะทำได้ และนี่คือการเปิดเผยถึงความเป็นเผด็จการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ในรัฐทุกรัฐ ไม่เฉพาะไทย ไม่ว่าจะเป็นมลรัฐที่ปกครองโดยผู้ว่าการรัฐจากพรรคเดโมแครตทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส หรืออิตาลีประเทศของอากัมเบนเองก็ตาม

ขณะเดียวกันซุปเปอร์มาร์เก็ตติดแอร์ทั้งหลาย ที่มีเจ้าของเป็นนายทุนใหญ่ไม่กี่เข้าในประเทศนี้ กลับสามารถเปิดได้เป็นปกติ ห้างสรรพสินค้า เปิดได้ก่อนที่ร้านค้า หรือสถานบริการอื่น ๆ เช่น ฟิตเนส สนามกีฬา หรือแม้แต่โรงเรียน สถานศึกษา เปิดได้ทีหลังห้างร้านของนายทุนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงพอกัน แต่เพราะเหตุใด ห้างร้านของนายทุนใหญ่ที่ผูกขาดเศรษฐกิจเหล่านั้น จึงได้มีสิทธิพิเศษได้มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยอื่น ๆ หรือแม้แต่การศึกษา ที่เป็นกลไกหลักในการให้ความรู้ประชาชน หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นกลไกหลักในการล้างสมองประชาชนของรัฐ แต่รัฐก็ยังให้ความสำคัญกับทุนใหญ่เหล่านั้นมากกว่าอยู่ดี จึงเป็นที่น่าสงสัยอย่างมากว่า เผด็จการโควิดนี้ มีวาระซ่อนเร้นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการล็อคดาวน์หรือไม่?

แน่นอนว่าด้วยเหตุผลแห่งรัฐ (reason of state) ที่มีรัฐเป็นผู้ให้เหตุผลเอง ในลักษณะที่ “เหตุผลของกู ถูกเสมอ กูเป็นคนกำหนดเหตุผลของกูเอง” ดังนั้น เหตุผลของรัฐจึงชอบธรรมเสมอ เพราะรัฐเป็นผู้รับรองความชอบธรรมนั้นเอง รัฐจึงสามารถที่จะกำหนดได้ว่า จะอนุญาตให้กิจการใดเปิด หรือปิดได้ในช่วงเวลาของสภาวะยกเว้นนี้ แต่หากเรามองจากสายตาที่เป็นเหตุผลของประชาชน จะเห็นได้ชัดถึงการเลือกปฏิบัติ ที่ขยายวงกว้างของความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก เช่น ในขณะที่มีการล็อคดาวน์รอบแรก ร้านค้าอื่น ๆ ถูกสั่งให้ปิด แต่กลับมีร้านค้า “กลุ่มห้าตระกูล” กลับเปิดได้ แถมยังได้ประโยชน์จากการที่ร้านรายย่อยอื่น ๆ ปิด2 หรือ ประกาศกรุงเทพมหานครฯ ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2021 ที่ให้ปิด 25 สถานที่3 แต่ปรากฏว่าห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหลาย โรงภาพยนตร์ ไม่ต้องปิด แต่ให้ปิดสถาบันเทิง สถานการศึกษา โรงยิม สนามชนโคชนไก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก! เพราะอ้างว่า จะเป็นพื้นที่เสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งสถานที่ที่จะให้ปิด ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ของผู้ประกอบการรายย่อย กล่าวคือ เป็นการกึ่งล็อคดาวน์ ที่กึ่งของนายทุนใหญ่นั้นไม่ต้องปิด แต่กึ่งของผู้ประกอบการรายย่อย จะต้องปิด เมื่อเกิดอาการกึ่งปิดกึ่งเปิด แน่นอนว่าคนที่ออกจากบ้านไป ก็จะต้องไปหาสถานที่พักผ่อนตามธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ชอบเข้าสังคมไปพบปะกันนอกบ้าน แม้ว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ไทยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอเมริกันก็ตาม แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำได้ คนที่ออกนอกบ้าน ก็จะเหลือที่ให้ไปน้อยลง สถานที่ของผู้ประกอบการรายย่อยก็จะไม่ได้มีรายได้ เพราะถูกปิด คนก็จะเหลือตัวเลือกของสถานที่ที่จะไปไม่มาก สรุปว่า จากที่เงินจะกระจายลงไปสู่รายย่อย กลับกลายไปกระจุกรวมอยู่ที่ทุนใหญ่เช่นเดิม การกำหนดมาตรการแบบนี้ จึงเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทางของตลาดด้วย ซึ่งก็มีข้อสังเกตว่า อำนาจรัฐที่เผด็จการโควิดใช้เอื้อให้กับทุนกลุ่มห้าตระกูลนั้น มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรกับรัฐบาลหรือไม่4 อำนาจรัฐของเผด็จการโควิด จึงเป็นอำนาจเหนือตลาด ซึ่งคำว่า “อำนาจเหนือตลาด” นี้ เป็นคำที่ถูกใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว ในการควบรวมซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังของทุนใหญ่รายหนึ่ง5 โดยเป็นการหลีกเลี่ยงคำว่า “ผูกขาด”

คำว่า “อำนาจเหนือตลาด” นั้น จึงกินความหมายที่รุนแรง และมีอำนาจมากกว่าคำว่า “ผูกขาดทางการตลาด” เพราะ การผูกขาดทางการตลาดนั้น หมายความว่า ผู้ประกอบการรายนั้นยังเป็นผู้เล่นในตลาดอยู่ แต่การมี “อำนาจเหนือตลาด” หมายถึงการอยู่เหนือผู้เล่นคนอื่น ๆ ในตลาดแล้ว กล่าวคือ การเป็นองค์อธิปัตย์ของผู้ประกอบการรายอื่น ๆ นั่นเอง การประกาศกึ่งล็อคดาวน์ของเผด็จการโควิดรอบนี้ จึงเป็นการใช้สภาวะยกเว้นภายใต้ข้ออ้างของโรคระบาด เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางของตลาด เอื้อให้ทุนใหญ่บางรายมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น ชนชั้นสูงในฐานะนายทุนที่มีอำนาจในการกำหนดข้อยกเว้น จึงขูดเลือดชนชั้นกลางที่ทำงานในภาคบริการ และทำงานให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการใช้อำนาจในลัทธิเผด็จการโควิด ปฏิบัติการครั้งนี้ จึงเป็นการยกระดับการขูดรีดจากแรงงาน ชนชั้นกลางที่เป็นมนุษย์เงินเดือนยังไม่พอ ยกระดับมาขูดรีดนายทุนน้อย ผู้ประกอบการรายย่อยด้วย มันจึงเป็นการปฏิบัติการที่ต้องยืมมือโรคระบาด เพื่อปลดล็อคสภาวะยกเว้นด้วยการล็อคดาวน์บ้านเมือง เพื่อก้าวสู่สภาวะที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างแท้จริง เผด็จการโควิด จึงไม่ได้เป็นเผด็จการทั่วไปที่ห้ามแสดงออก ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ยังเป็นการห้ามค้าขาย ห้ามแข่งขันทางการตลาดของนายทุนน้อยอีกด้วย

ลำพังการติดเชื้อเพียงหลักร้อยต่อวัน ไม่กี่สิบคนในแต่ละจังหวัด ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสั่งการล็อคดาวน์แบบนี้ ในสหรัฐฯ ผู้คนติดเชื้อนับหมื่นนับแสน จึงจะมีมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งการล็อคดาวน์นั้น ก็อาจจะมีมาตรการที่ล้นเกิน เช่น ให้ใส่หน้ากากเวลาเคี้ยวอาหาร6 ในแคลิฟอร์เนีย หรือห้ามนั่งในบาร์หากไม่สั่งอาหารคือดื่มแอลกอฮอลได้ แต่หากอาหารหมด ต้องลุกออก ในอังกฤษ7 แต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้นั่งในร้านอาหารเลยแบบในไทย หรือหลายรัฐก็ไม่ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์ก็ควบคุมโควิดได้ เพราะไม่ต้องการใช้โควิดเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจเผด็จการ เช่น นิวซีแลนด์ใช้วิทยาศาสตร์เช้าช่วย8 หรือสวีเดนที่พยายามไม่ริดรอดสิทธิของประชาชน9 อีกทั้งเขาเหล่านั้นก็ไม่มีอาการลักปิดลักเปิด กึ่งล็อคดาวน์แบบไทยด้วย นั่นก็เพราะเหตุผลแห่งรัฐของพวกเขานั้น อยู่บนฐานของการควบคุมโรค ซึ่งแม้จะมีความเป็นเผด็จการโควิด แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาณของวาระซ่อนเร้น ต่างกับเหตุผลของรัฐแบบไทย ๆ ซึ่งไม่มีความสมเหตุสมผลเลย กล่าวคือ “ไม่เนียนเลย”

เผด็จการโควิดในแบบไทย ๆ จึงเป็นการเปิดทางให้เกิดอำนาจเหนือตลาดเสียมากกว่าการควบคุมโรค เพราะจากการระบาดที่เป็น cluster ครั้งที่ผ่าน ๆ มา ก็มีสาเหตุมาจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐแทบทั้งสิ้น เช่น กรณีสนามมวย กรณีแขกวีไอพี ที่เข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้เกิดการระบาด ซึ่งรัฐการ์ดตกเอง การไม่ตรวจเชิงรุก หรือล่าสุดกรณีของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการวางนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากตั้งเป้าไว้ว่าต้องปิดประเทศ ให้ตัวเลขการระบาดเป็นศูนย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานก็ต้องการงานทำ เขาก็จะอดตายเหมือนกับชนชั้นกลางในไทยเหมือนกัน เมื่อเขาเข้ามาถูกต้องไม่ได้ จึงต้องเข้ามาแบบถูกกฎหมาย โดยจะต้องแลกกับส่วยก็ต้องแลก การวางนโยบายโดยไม่ได้ดูสภาพความเป็นจริงแบบนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ปัญหาการแบ่งแยก การเหยียดแรงงานต่างชาติ ทั้ง ๆ ที่แรงงานต่างชาติพวกนี้เป็นฐานที่เศรษฐกิจไทยเหยียบย่ำเสมอมา ธุรกิจต่าง ๆ ถูกสั่งให้ปิดโดยไม่มีการเยียวยา คนงานที่ถูกให้ออกก็ไม่ได้รับการชดเชย มาตรการอย่าง เราเที่ยวด้วยกันก็ผิดจุด เพราะปัญหาคือคนไม่มีเงินจะเที่ยว ไม่ใช่ไปเที่ยวแล้วต้องการลดราคา เราเที่ยวด้วยกันจึงเป็นมาตรการที่เอื้อให้คนมีเงินเดือนประจำ เช่น ข้าราชการ ที่ไม่ได้รับผลกระทบแบบชนชั้นกลางทั่วไป ซึ่งรัฐราชการก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้คนในระบบรัฐราชการไม่เข้าใจความเป็นไปเมื่อชนชั้นกลางเดือดร้อนจากมาตรการล็อคดาวน์ เมื่อรู้ตัวอีกทีผู้ที่เป็นข้าราชการ ก็อาจเป็นเครื่องมือให้กับเผด็จการโควิดเองเสียแล้ว

ดังนั้น โควิดจึงเป็นการเปิดผ้าคลุม (uncover) ที่ปิดบังสภาพสังคมที่เหลื่อมล้ำของไทย ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าการมีที่มาจากชนชั้นที่แตกต่างกัน จะถูกปฏิบัติจากรัฐต่างกันอย่างไร แม้ว่ารัฐจะมีสภาวะยกเว้นที่สามารถจะใช้อำนาจกับทุกคนได้ แต่หากเรามีทุนทางสังคมของรัฐมากพอ รัฐก็ยังสามารถที่จะยกเว้นสภาวะยกเว้นนั้นได้เช่นเดียวกัน เหตุผลแห่งรัฐ จึงยังคงเป็นคำตอบที่ใช้ได้เสมอกับรัฐเผด็จการทั่วไป โดยเฉพาะเผด็จการโควิด

 


Agamben, Giorgio. 2008. State of Exception. University of Chicago Press.

Schmitt, Carl. 2010. Political Theology: Four Chapters on the Concept of Sovereignty. University of Chicago Press.

1 https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/117229

2 https://asiatimes.com/2020/05/thailands-five-families-poised-to-profit-on-the-plague/

3 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915158

4 https://asiatimes.com/2019/12/thailands-five-families-prop-and-imperil-prayut/

5 https://www.isranews.org/article/isranews-article/94330-OTCC-CP-Tesco-Lotus-news.html

6 https://www.sfgate.com/food/article/Newsom-s-office-says-to-keep-masks-on-eating-15635093.php

7 https://www.standard.co.uk/reveller/bars/tier-2-rules-no-drinking-without-food-b80565.html

9 https://www.deccanherald.com/opinion/panorama/no-lockdowns-but-sweden-seems-to-have-controlled-the-covid-19-pandemic-895509.html

ย้อนคิดสภาวะ “การเมืองที่แท้จริง” ของสลาวอย ชิเชก กับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ย้อนคิดสภาวะ “การเมืองที่แท้จริง” ของสลาวอย ชิเชก กับสถานการณ์ในปัจจุบัน

กล่าวนำ ice_rockster

กล่าวนำ

บทความนี้เป็นบทความขนาดสั้นที่ตีพิมพ์ใน PROJECT MUSE วารสาร Theory & Event, Volume 14, Issue 4, 2011 Supplement เป็นบทความที่ปรากฏ quote หรือคำพูดที่เป็นที่นิยมของสลาวอย ชิเชก (Slavoj Žižek) นักปรัชญาชาวสโลเวเนีย ซึ่งมีทัศนคติต่อต้านระบอบทุนนิยม เจ้าของวาทะอันโด่งดังอย่าง “คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์ คุณเกลียดทุนนิยม”, “มันง่ายกว่าที่จินตนาการถึงจุดจบของโลก กว่าจุดจบของทุนนิยม” หรือ “เจอกันในนรก หรือในคอมมิวนิสม์” บทความนี้จึงไม่ได้เขียนในลักษณะของบทความวิชาการ ที่ต้องมีการอ้างอิงหรือใช้หลักทฤษฎีอะไร หากแต่เขียนเพื่อจะชี้ให้ผู้คนเห็นว่า สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน – ที่เราใช้ชีวิตกันอย่างเป็นปกติสุข มันไร้เหตุผล และบิดเบี้ยวออกห่างจากความเป็น “มนุษย์” อย่างไร

แน่นอนว่าชิเชกไม่ได้พยายามนิยามว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์ จริงแท้ แน่นอน เป็นหรือควรจะเป็นอย่างไรในบทความนี้ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า “เห้ย ผมว่าสิ่งที่คุณทำ ๆ กันอยู่นั้นมันดูไม่ปกตินะ” หากคุณคิดว่า “เออจริงนะ มันไม่ปกติ” คุณจะคิดต่อ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมัน แต่ถ้าคุณเห็นว่า “เหรอ? มันก็ปกติดีนะ” คุณก็คงใช้ชีวิตต่อไป ไม่เดือดร้อน ชิเชกก็คงยินดีและอวยพรให้กับคุณด้วย

สิ่งที่ชิเชกกำลังจะบอก คงจะเป็นการตั้งคำถามกับ “การเมือง” ที่มันเกิดขึ้นและดำเนินการอยู่ในในโลกปัจจุบัน การเมืองคืออะไร? คือการออกไปเลือกตั้งผู้นำหรือ? หรือการมีส่วนร่วมในการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคิดว่าไม่เป็นธรรม? การรับเงินที่ซื้อเสียงของผู้สมัคร ส.ส. เพื่อต่อรองผลประโยชน์ที่จะได้จากนักการเมือง? หรือการเมืองคือการมีชีวิตที่ดีอยู่ในรัฐตามที่อริสโตเติล (Aristotle) บอก? หรือการเมืองคือการรบราฆ่าฟันเพื่อชิงอำนาจ? หรือการเมืองคือการมานั่งจับเข่าคุยตกลงกัน หามติส่วนกลางว่าจะเอายังไงกับชีวิตในพื้นที่ส่วนกลาง? หรือท้ายที่สุดแล้ว การเมืองคือการเปิดโอกาสให้คนที่สังคมได้มีโอกาสถกเถียง โดยไม่จำเป็นต้องมีฉันทามติ เห็นพ้องต้องกัน การเมืองจึงเป็นความสัมพันธ์ของการต่อรองอำนาจของกันและกัน?

ไม่ว่าจะกี่ความหมาย กี่นิยาม ก็คงจะไม่สามารถนิยามคำว่าการเมืองได้อย่างลงตัว เพราะถามว่าจะมีนิยามใดที่ถูกหรือผิด ก็คงจะไม่มี เพราะการเมืองไม่ใช่ศาสตร์แห่งประจักษ์นิยม ความพยายามที่จะผลักใสการเมืองเข้าสู่ปริมนฑลของประจักษ์นิยมนั้นมีมาได้สักระยะ ด้วยความต้องการที่จะหาคำตอบและการแก้ไขปัญหา นำสิ่งที่เรา “ไม่ต้องการ” ออกไปจากสังคม จึงต้องพิสูจน์ให้เห็น ให้ชัด ให้ประจักษ์ ว่าทำไมสิ่งสิ่งนั้น ถึงไม่จำเป็น และไม่ต้องการ โดยสิ่งเหล่านี้ถูกให้ความชอบทำโดยวินัยวิชา ที่ถูกเรียกว่า “วิชารัฐศาสตร์”

เมื่อวิชารัฐศาสตร์พยายามสอนเราว่าอะไรคือการเมือง อะไรคือสิ่งที่เราไม่ต้องการ แต่ไม่ได้สอนว่าอะไรคือสิ่งที่เรา “ต้องการ” หากการเมืองคือการต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ วิชารัฐศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่หลีกหนีออกจากการเมืองมาเรื่อย ๆ เพราะ วิชารัฐศาสตร์สอนให้รู้ถึงระบบและเหตุผลของรัฐ ไม่ได้สอนให้ต่อรองกับรัฐ

ดังนั้น แน่นอนว่าการเมืองในแบบที่เป็นอยู่นี้ ในทัศนะของชิเชก มันไม่ใช่การเมืองที่แท้จริง หรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนั้น มันไม่ใช่ “ทั้งหมด” ของการเมือง ชิเชกจึงต้องการพุ่งเป้าไปให้เราเห็นถึงความผิดปกติภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ทำให้เราสูญเสียศักยภาพและคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์บางอย่างไป

แน่นอนว่าทุนนิยมเสนอแนวทางที่ดี มีอนาคตที่สดใส อย่างความฝันแบบอเมริกัน ที่การทำงานหนักแค่ไหน ก็จะให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น แต่แน่นอนว่าชิเชกเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นคือภาพลวงตา เพราะ มันยิ่งปกปิด “ทางเลือกอื่น ๆ” ที่เป็นไปได้นอกจากที่ทุนนิยมให้กับเรา เช่นเรามองว่า ทุนนิยมมันเท่ากับเศรษฐกิจไปแล้ว เวลาเราพูดว่าเศรษฐกิจไม่ดี มันจึงหมายถึงทุนนิยมทำงานได้ไม่ดีในช่วงเวลานั้น แต่เราไม่เคยฉุกคิดมาก่อนว่า เศรษฐกิจแบบอื่นก็มีนะ เพราะทุนนิยมมันให้เราทำงานให้มัน จนเราลืมไปแล้วว่า คุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือการคิด ไม่ใช่การทำตาม หรือการทำอะไรซ้ำ ๆ แบบหุ่นยนต์ – หรือแม้กระทั่งสัตว์ แม้ว่าสัตว์บางชนิดจะมีความคิดได้ก็ตาม

ทุนนิยมจึงเปลี่ยนเราเป็นสัตว์ เป็นสัตว์ที่ต้องการตอบสนองความต้องการที่ตนมีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีความต้องการ (desire) อื่นใดที่เป็นผลผลิตจากความคิด ความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่น ๆ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศอย่างจีนที่มีพรรครัฐบาลที่ชื่อว่าคอมมิวนิสต์ (Communist Party) ทำการแบนภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอนาคต หรือการย้อนกลับไปสู่อดีตในโลกคู่ขนาน หรือการย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตนั้น จึงเป็นการกระทำที่ได้รับผลผลิตมาจากทุนนิยมทั้งสิ้น เพราะเพียงแค่การคิดถึง “ความเป็นไปได้” ของการย้อนอดีต หรือความจริง “อีกแบบ” (alternate reality) นั้น ก็เท่ากับเป็นการคิดวิเคราะห์ (critical) ซึ่งแน่นอนว่ามีแนวโน้มจะเป็นการลดลอนความสำคัญของทุนนิยมได้ ด้วยตรรกะของทุนนิยม ที่ต้องการรักษาให้คนทำงานในระบบให้มากที่สุด จึงต้อง “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” แต่แน่นอนว่าในประเทศที่มีความเป็นเสรีนิยม – ที่แม้จะเห็นดีเห็นงามกับทุนนิยมอยู่ แต่ก็ปฏิเสธการคิดสร้างสรรค์ของ “เสรีชน” ไปไม่ได้

ทุนนิยมเสรี กับทุนนิยมผูกขาด จึงมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ประเทศที่เป็นเสรีนิยม จึงต้องปรับตัวกับพวก “เสรีชน” ที่มักจะคิดว่า “ไม่มีอะไรที่แท้จริง ทุกอย่างสามารถทำได้ (nothing is true, everything is permitted)” กระนั้นก็ดี ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแท้จริง ก็มักจะนำไปสู่ความสะเปะสะปะจับจุดไม่ได้ จนไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วเราต้องการอะไร อย่างมากที่สุด ก็เพียงรู้ว่านิเสธ (negation) ของสิ่งที่ต้องการมีรูปร่างเป็นอย่างไร นั่นก็คือสิ่งที่ชิเชกเสนอในย่อหน้าแรกของบทความ ว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราไม่ต้องการคืออะไรเต็มไปหมด แต่เราหาสิ่งที่เรา “ต้องการ” จริง ๆ ไม่ได้ ดังนั้น การจะหาสิ่งที่ต้องการที่แท้จริง จึงต้องอาศัยความจริงจังในระดับหนึ่ง ความจริงจังที่ต้องกลับมาพิจารณาการต่อสู้ ความจริงจังที่ต้องทราบว่าเราสู้อยู่กับอะไร ความจริงจังของการเมือง

แน่นอนว่าปัญหาจากทุนนิยมเอง ได้กลายมาเป็นปัญหาของเสรีนิยม เพราะแน่นอนว่า “เชื้อไม่ทิ้งแถว” เสรีนิยมที่ดูจะดี แต่ก็ต้องเผชิญกับความสะเปะสะปะไม่เป็นปึกแผ่น จึงปราศจากพลังในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่าง อะไรก็ตามที่เราต้องการอย่างแท้จริง การเมืองที่แท้จริงจึงต้องสลัดคราบความเป็นเสรีนิยมออกไป เพื่อที่จะสลัดความวอกแวก สลัดความไม่เฉไฉ และที่สำคัญที่สุดสลัดความเสแสร้งออกจากความเป็นการเมือง

ในที่สุดเมื่อเสรีนิยมดำเนินไปได้ในระดับหนึ่ง มันจึงเกิดแบบแผนขึ้น แบบแผนที่ว่าไม่ใช่รูปแบบ หรือวิธีคิดอื่นใด หากแต่เป็นเสมือน “ลักษณะในอุดมคติ” ที่คาดหวังให้คนอื่น ต้องปฏิบัติตามในแบบที่ “เสรีชน” คนอื่น ๆ เขาทำกัน มันจึงเกิด “ลักษณะที่ถูกต้อง” ขึ้นในที่สุด เช่น เสรีภาพที่ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ สิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ ประชาธิปไตยที่ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ “การเมืองที่ถูกต้อง” ต้องเป็นแบบนี้ จึงเป็นที่มาของ “ความถูกต้องทางการเมือง” (Political Correctness: PC) หรือไม่?

แน่นอนว่าในตอนจบของบทความชิเชกได้กล่าวถึงเรื่องตลกที่ไม่ตลก เพราะโลกทั้งใบมันกลายเป็นความจริงไปแล้ว ความจริงที่ถูกครอบงำด้วยความถูกต้องทางการเมือง การเมืองจึงไม่ใช่การเมืองอีกต่อไป เพราะขาดความเป็นการเมือง ตราบใดที่การเมืองถูกแช่แข็ง เท่ากับว่าไม่มีการต่อรอง จะเป็นการเมืองได้อย่างไร ความเป็นเสรีนิยมแบบ “คุณลักษณะ” จึงเป็นการลดทอนความเป็นการเมือง และลดทอนความเป็นเสรีนิยมเองในเวลาเดีวกัน สิ่งที่ชิเชกเสนอจึงไม่ได้เป็นการตั้งคำถามกับเสรีภาพที่เราคิดว่าเรามีอยู่ แต่ถามกลับว่า เราสามารถมองเห็นความไม่มีเสรีภาพของตัวเราหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราสามารถมองทะลุเสรีภาพที่เราถูกหยิบยื่นให้โดยเสรีนิยมหรือไม่ และแน่นอนว่าเราสามารถมองทะลุการตกหลุมรักชีวิตนี้ที่เรามี งานรื่นเริงสังสรรค์ ความสุขที่ทุนนิยมมอบให้เราได้หรือไม่ คุณตื่นหรือยัง?

บทกล่าวนำนี้ จะถูกเขียนด้วยหมึกสีอะไร ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะเปลี่ยน font color เอาเองข้างบนก็แล้วกัน

การเมืองที่แท้จริง (Actual Politics)

ผู้เขียน Slavoy Žižek
ผู้แปล ice_rockster
บรรณาธิการ Pathompong Kwangtong

อย่าตกหลุมรักตัวเอง ด้วยช่วงเวลาที่ดีที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ งานสังสรรค์รื่นเริงนั้นมันสนุกทำให้เรามีความสุขได้อย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่จะพิสูจน์คุณค่าของมันคือสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในวัดถัดไป หรือมันทำให้ชีวิตในวัน “ปกติ” ของเรานั้นเปลี่ยนไปอย่างไร จงตกหลุมรักกับงานที่หนักและใช้ความอดทน – เรายังอยู่ทีจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบ สิ่งที่เราจะสื่อสารง่าย ๆ ก็คือ: ข้อห้ามเหล่านั้นได้ถูกทำลายลงแล้ว เราไม่ได้ถูกปล่อยให้อยู่ในโลกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรามีสิทธิ์และมีหน้าที่ ที่แม้แต่จะพิจารณาแม้กระทั่งทางเลือกอื่น ๆ หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล และอีกไม่นาน เราจะได้พบกับคำถามที่ยากจริง ๆ – คำถามที่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราไม่ต้องการอะไร แต่เป็นคำถามที่เกี่ยวกับว่าเรา “ต้องการ” อะไร องค์กรทางสังคมอะไร ที่จะสามารถมาแทนที่ระบบทุนนิยมที่มีอยู่? ผู้นำประเภทไหนที่เราจำเป็นต้องมี? ซึ่งทางเลือกที่ศตวรรษที่ 20 หยิบยื่นให้เรานั้นใช้การไม่ได้

ดังนั้น ไม่ต้องไปโทษผู้คนและทัศนคติของพวกเขา: ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การโกงกินหรือความโลภ หากแต่ปัญหามันอยู่ที่ระบบที่ผลักดันให้คนทุจริต ทางออกจึงไม่ใช่ “Main Street, ไม่ใช่ Wall Street”[1] แต่คือการเปลี่ยนแปลงระบบที่ Main Street ไม่สามารถเดินได้หากปราศจาก Wall Street จงระวังไม่ใช่แค่ศัตรู แต่ยังคงต้องระวังเพื่อนจอมปลอมที่แสร้งทำเป็นสนับสนุนเรา แต่ก็พยายามอย่างหนักให้การประท้วงเรียกร้องของเรานั้นบรรเทาความเข้มข้นลง เหมือนกับการที่เราดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน ดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กินไอศกรีมที่ไม่มีไขมัน คนเหล่านั้นจะพยายามเปลี่ยนให้การประท้วงเรียกร้องของพวกเราเป็นการประท้วงคุณธรรมที่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร แต่ก็เถอะ เหตุผลที่เรามาอยู่จุดนี้ก็เพราะว่า เราเบื่อหน่ายเต็มทีกับโลกที่หากเรารีไซเคิลกระป๋องโค้กเพื่อที่จะได้เศษเงินเป็นเงินบริจาคเป็นสาธารณกุศล หรือเมื่อซื้อคาปูชิโน่ที่สตาร์บัค 1% ของราคากาแฟจะถูกนำไปสมทบแก้ปัญหาในประเทศโลกที่สามต่าง ๆ นั้นจะทำให้เรารู้สึกดีว่าเรากำลังทำความดีอยู่ ในยุคที่หลังจากเรา outsource (จ้างคนภายนอก) มาทำงานทุก ๆ อย่าง หลังจากที่บริษัทรับจัดงานแต่งงานยัง outsource แม้กระทั่งการคบหาดูใจของพวกเรา เราจึงเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเรานั้นก็ถูกทำให้มีลักษณะเป็น outsource มานานแล้วเช่นกัน – นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้มันกลับมาเป็นของเรา

พวกนั้นจะบอกว่าเรานั้นไม่เป็นอเมริกันเอาซะเลย แต่เมื่อพวกอนุรักษนิยมเคร่งศาสนาบอกคุณว่า อเมริกาเป็นประเทศคริสเตียน จงจำไว้นะ คริสเตียนนั้นคือ: Holy Spirit (พระวิญญาณบริสุทธิ์) เป็นชุมชนที่มีความเท่าเทียมและอิสรภาพของผู้คนที่ผูกพันกันด้วยความรัก เราที่มาอยู่ตรงนี้จึงเป็น Holy Spirit ขณะที่บน Wall Street มีแต่พวกคนนอกศาสนาที่นับถือบูชาเทวรูปจอมปลอม (false idols)

พวกนั้นจะบอกว่าเรารุนแรง ว่าภาษาที่เราใช้นั้นรุนแรง: occupation (การยึดครอง) อะไรพวกนั้น ใช่ เรารุนแรง แต่รุนแรงในแง่ที่มหาตมะ คานธี นั้นรุนแรง เรารุนแรงก็เพราะเราต้องการหยุดยั้งสิ่งที่มันเป็นอยู่ – แต่สิ่งที่รุนแรงโดยสัญลักษณ์นี้ เทียบกับความรุนแรงที่ทำให้ระบบทุนนิยมโลกดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่นได้หรือ?

พวกเราถูกเรียกว่าไอ้ขี้แพ้ – แต่ไอ้พวกขี้แพ้ตัวจริงอยู่บน Wall Street และไอ้พวกนั้นไม่ใช่หรือ ที่เอาตัวรอดด้วยเงินเป็นพัน ๆ ล้านของพวกคุณ? คุณอาจถูกเรียกว่าพวกสังคมนิยม – แต่ในสหรัฐฯ มันมีสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยมสำหรับคนรวยแล้ว พวกเขาบอกว่าคุณไม่เคารพทรัพย์สินส่วนบุคคล – แต่ด้วยการคาดการณ์ของ Wall Street มันนำไปสู่ความผิดพลาดในปี 2008 ที่มันทำให้ทรัพย์สินส่วนบุคคลที่หามาได้อย่างยากลำบากหายไปในพริบตา นั่นมันมากกว่าสิ่งที่พวกเราจะสามารถจะทำลายได้ในชั่วข้ามคืนไม่ใช่หรือ – ลองคิดถึงบ้านนับพันหลังที่รอการขายออกสิ

เราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หากคอมมิวนิสม์หมายถึงระบบที่สมควรล่มสลายไปแล้วในปี 1990 – และควรจำไว้ด้วยว่า คอมมิวนิสต์ที่ยังเรืองอำนาจอยู่ทุกวันนี้ก็คือประเทศที่เป็นทุนนิยมที่โหดร้ายอย่างจีน ความสำเร็จของการดำเนินการแบบคอมมิวนิสต์แบบจีนคือลางร้ายที่บ่งบอกว่า การแต่งงานของทุนนิยมและประชาธิปไตยนั้นมาถึงจุดที่จะต้องอย่าร้างแล้ว ในแง่เดียวที่เราจะเป็นคอมมิวนิสต์คือการที่เราให้ความสำคัญกับคนทั่วไป – คนธรรมดาสามัญ – ที่ถูกคุกคามจากระบบทุนนิยม

พวกเขาจะบอกว่าพวกคุณกำลังฝันอยู่ แต่พวกช่างฝันที่แท้จริงคือคนที่คิดว่าสิ่งต่าง ๆ จะดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุดตามทางของมัน แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมสักหน่อยแค่นั้น เราจึงไม่ใช่พวกช่างฝัน; เราคือผู้ที่ตื่นขึ้นมาจากความฝันที่กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นฝันร้าย เราไม่ได้ทำลายอะไรลงไป; เราแค่เป็นเพียงพยานที่กำลังมองเห็นระบบมันทำลายตัวเองลงอย่างช้า ๆ พวกเราคงจำฉากคลาสสิกในการ์ตูน: แมวมาถึงหน้าผา แต่มันเดินต่อไปโดยไม่สนใจความจริงที่ว่าไม่มีพื้นใต้เท้าของมัน มันเริ่มตกลงมาก็ต่อเมื่อมองลงไปและสังเกตเห็นหุบเหวเบื้องล่าง สิ่งที่เรากำลังทำมีเพียงการเตือนผู้ที่มีอำนาจให้มองลงไปที่เหวนั้นต่างหาก

ตามที่กล่าวมานั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้จริงหรือ? ในวันนี้ความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ได้ถูกแจกจ่ายในทางที่แปลกประหลาด ในพื้นที่ของอิสรภาพส่วนบุคคล และเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นไปไม่ได้นั้นกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ [เขาจึงบอกเราว่า] “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” เราจึงมีความเพลิดเพลินกับเซ็กซ์ได้ในหลายรูปแบบที่แปลกประหลาด เช่น ในเพลงทั้งหลาย ในหนัง ในละคร ที่สามารถดาวน์โหลดได้ หรือในการท่องอวกาศที่ทุกคนสามารถไปได้ (ด้วยเงิน); เรายังสามารถปรับปรุงความสามารถทางกายภาพและทางจิตโดยผ่านการแทรกแซงในจีโนม (genome) ไปจนถึงความฝันทางเทคโนโลยีที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า ในการบรรลุความเป็นอมตะโดยการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของเราให้เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ อีกแง่หนึ่ง ในพื้นที่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เราถูกถล่มอยู่ตลอดเวลาด้วยคำว่า “คุณไม่สามารถ” … มีส่วนร่วมการการกระทำที่มีสำนึกร่วมทางการเมือง (ที่จะลงเอยด้วยเผด็จการเบ็ดเสร็จที่น่าหวาดกลัว) หรือยึดติดกับรัฐสวัสดิการเก่า (ทำให้คุณไม่สามารถแข่งขันได้และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ) หรือปลีกตัวเองออกจากกลไกตลาดโลก อะไรเทือกนี้ และเมื่อมีการกำหนดมาตรการความเข้มงวดเราจะได้รับคำสั่งซ้ำ ๆ ว่านี่เป็นเพียงสิ่งที่ต้องทำ บางทีมันอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนพิกัดของสิ่งที่เป็นไปได้และสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้ บางทีเราไม่สามารถเป็นอมตะได้ แต่เราสามารถมีความเป็นปึกแผ่นเดียวกันมากขึ้น และมีสวัสดิการสุขภาพที่ดีขึ้นได้หรือไม่?

ในกลางเดือนเมษายนปี 2011 สื่อรายงานว่า รัฐบาลจีนได้สั่งระงับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามเวลาและประวัติศาสตร์คู่ขนานทั้งบนโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เรื่องราวเหล่านั้นเพิ่มความเหลาะแหละให้กับประวัติศาสตร์ที่จริงจัง – แม้แต่ฉากการหลบหนีออกไปสู่ความจริงคู่ขนานก็ยังเป็นสิ่งที่ถือว่าอันตราย เราที่อยู่ในโลกเสรีนิยมตะวันตกไม่จำเป็นต้องมีการระงับห้ามปรามแบบนั้น เพราะ อุดมการณ์ใช้พลังทางวัตถุมากพอที่จะป้องกันเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์คู่ขนาน ที่ไม่ได้คำนึงถึงความจริงจัง มันจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราที่จะจินตนาการถึงจุดจบของโลก – เช่นในภาพยนตร์วันสิ้นโลก (apocalyptic) ทั้งหลาย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจินตนาการถึงจุดจบของระบบทุนนิยม

ในเรื่องตลกเก่าแก่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันที่ดับไปแล้วกล่าวไว้ว่า คนงานชาวเยอรมันได้ทำงานในไซบีเรีย จึงกังวลว่าจดหมายที่ส่งออกไปทั้งหมดจะถูกอ่านและเซ็นเซอร์ก่อนจะถึงมือคนอ่าน เขาจึงบอกเพื่อนว่า “เรามาสร้างรหัสลับกัน ถ้าจดหมายที่ได้รับจากฉันเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินธรรมดา นั่นแปลว่ามันคือความจริง แต่หากเขียนด้วยหมึกสีแดง นั่นคือความเท็จ” หลังจากนั้นหนึ่งเดือน เพื่อนของเขาก็ได้รับจดหมายที่เขียนด้วยหมึกสีน้ำเงิน “ทุกอย่างที่นี่ยอดเยี่ยมมากเลย: ร้านค้าขายของเยอะแยะเต็มไปหมด มีอาหารมากมายเหลือเฟือ อพาร์ทเมนท์ใหญ่กว้างขวางและให้ความร้อนอย่างเหมาะสม [ยุโรปเป็นเมืองหนาว ต้องการความร้อน หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็คงแอร์เย็นฉ่ำ – ผู้แปล] โรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์จากตะวันตก มีสาวสวยมากมายพร้อมให้คบหา – สิ่งเดียวที่ไม่มีคือหมึกสีแดง” และนี่ไม่ใช่สถานการณ์จนถึงปัจจุบันหรอกหรือ? เรามีอิสรภาพเท่าที่คนคนหนึ่งจะต้องการ – สิ่งเดียวที่หายไปคือ “หมึกสีแดง” เรา “รู้สึกอิสระ” เพราะเรานั้นขาด (lack) ภาษาที่จะร้อยเรียงความหมายให้กับความไม่อิสระ การขาดของหมึกสีแดงในที่นี้ก็คือ ในทุกวันนี้ คำศัพท์หลักทั้งหมดที่เราใช้เพื่อกำหนดความขัดแย้งในปัจจุบัน เช่น “สงครามกับความหวาดกลัว”, ” ประชาธิปไตยและเสรีภาพ”, ” สิทธิมนุษยชน” ฯลฯ  – ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่ใช้ไม่ได้ (false terms) ซึ่งทำให้เรางุนงงสับสนกับความรับรู้ของเรา ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แทนที่จะปล่อยให้เราคิด พวกคุณเอง คุณนั่นแหละที่มอบหมึกแดงให้กับพวกเราทุกคน

บทส่งท้าย

นี่แหละคือการเมืองที่แท้จริงไม่ใช่หรือ?

บทกล่าวตาม

โดยบรรณาธิการ Pathompong Kwangtong

ในห้วงยามแผ่นฟ้าเปิดออก หยดน้ำตาแห่งความผิดหวังของการต่อสู้แปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติยินดีแก่ชัยชนะที่ใกล้เข้ามา เราราษฎรทั้งหลาย ฉุดกระชากลากประวัติศาสตร์มาถึงช่วงเวลาสำคัญ เวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของสังคมสยาม สังคมที่มิยอมแม้กระทั่งมองเลือดสีแดงบนท้องถนนและลานวัด กลายเป็นสังคมที่ไม่ยอมอ่อนให้กับชนชั้นเลือดสีน้ำเงินอีกต่อไป

ไม่ว่าพวกคุณ ชนชั้นปรสิตทั้งหลาย จะใช้ของเหลวสีน้ำเงินอัดกระแทกพวกเราอีกสักกี่ครั้ง ก็มิอาจปิดตาที่เบิกจ้าจากแสงและเสียงในห้วงเวลานี้ได้

ไม่ว่าพวกคุณ ชนชั้นปรสิตทั้งหลาย จะจับแกนนำหรือนักสู้ของพวกเราไปเท่าใด สามนิ้วของเราก็ยังคงชูขึ้นอย่างไม่ลดละ

ไม่ว่าพวกคุณ ชนชั้นปรสิตทั้งหลาย จะหลบหน้าหลบตาพวกเราสักเพียงใด หูของพวกคุณก็มิอาจหลบหนีเสียงที่ยืนยันว่าเราอยู่ที่นี่ “I Here Too!” ได้

จากสิบเหลือสาม จากสามอาจเหลือหนึ่ง

จากหนึ่ง อาจต่อยอดแตกหน่อ กลายเป็นสังคมใหม่ที่พวกคุณมิอาจคาดคิดขึ้นมาก็ได้

พวกเรา – ผู้กระหายในการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ตื่นขึ้นมาจากความฝันที่หลอกลวง – รู้แล้วว่าพวกเราไม่ต้องการอะไร และพวกเรารู้แล้วว่าฟ้ากำลังเปิด เปิดด้วยมือของพวกเราเอง แต่ภารกิจต่อไปอยู่ในมือของพวกเรา เหล่าสามัญชนทั้งหลาย เรานี่แหละจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม และกดดันให้ทุกองคาพยพของรัฐสยามเดินตามเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจึงสมควรคิด คิดต่อไป ละทิ้งความหลอกลวงที่ว่าเรากำลังอยู่ในฝันร้ายที่ไม่มีอนาคตอื่นใดอีก ให้เราได้ตื่นขึ้นมาคิด จินตนาการถึงโลกใบใหม่ โลกที่เราและเพื่อนของเรา จะได้อยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเราเองคือสามัญชน คนธรรมดาที่กล้าหยัดยืนว่า เราทุกคนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งมีชิวิตใต้ละอองฝุ่นหรือพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป

 


[1] Main Street vs Wall Street เป็นคำเปรียบเปรยของระบบเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา โดย Main Street หรือ ถนนสายหลัก หมายถึงนักลงทุนในท้องถิ่น หรือคนประกอบธุรกิจทั่วไปตัวเล็กตัวน้อย และ Wall Street หมายถึง ผู้ลงทุนรายใหญ่ ผู้ลงทุนที่มีมูลค่าสูง หรือธุรกิจระดับโลก โดยชื่อ Wall Street มาจากชื่อถนนสายหนึ่งในนครนิวยอร์ค ซึ่งเป็นถนนสายที่เต็มไปด้วยสถาบันการเงินระดับโลก ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่ามักมีความขัดแย้งระหว่าง Main Street และ Wall Street แต่โดยระบบแน่นอนว่าสองสิ่งนี้ อยู่ได้ด้วยลักษณะที่พึ่งพากัน โปรดดู https://corporatefinanceinstitute.com/resources/knowledge/finance/main-street-vs-wall-street/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กันยายน 2563)

ชูสามนิ้วไม่ผิดกฎหมาย แต่ครูทำร้ายนักเรียนมีความชอบธรรม: โรงเรียนไทยกับความผิดที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์

ชูสามนิ้วไม่ผิดกฎหมาย แต่ครูทำร้ายนักเรียนมีความชอบธรรม: โรงเรียนไทยกับความผิดที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์

[ขอบคุณภาพปกจาก ไทยรัฐ]

ผู้เขียน ice_rockster
บรรณาธิการ Peam Pooyongyut

นักเรียนไทยนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องมีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น นักเรียนหญิงต้องไว้ผมสั้น ส่วนนักเรียนชายต้องไว้ผมเกรียน เป็นมาตรฐานที่กำหนดบรรทัดฐานของการกระทำหรือพฤติกรรมหนึ่งๆ ของนักเรียน กล่าวคือ แม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์ที่บ่งบอกว่าการกระทำใดถูกหรือผิด แต่หากนักเรียนทำผิด ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ของความเป็นนักเรียนไทย พวกเขาก็ผิดทันที และครูจะสามารถลงโทษได้อย่างมีความชอบธรรม โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ใดมารองรับเช่นกัน

ล่าสุดการพร้อมใจกันชูสามนิ้ว นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง เรียงชิดติดกันขึ้นบนฟ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์บางอย่างให้รู้ว่าเหล่านักเรียนนั้นไม่ยอมจำนนกับอำนาจกดขี่ใดๆ ไม่ว่าลักษณะการชูสามนิ้วจะมีความหมายที่เหมือนหรือต่างกับภาพยนตร์ The Hunger Game จตุรภาคหรือไม่ เพราะความหมายที่นักเรียนเหล่านั้นต้องการสื่อคือ ไม่ยอมรับอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงระดับประเทศ

สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่ความเป็นเผด็จการในการเมืองใหญ่ระดับประเทศ ที่ทำให้เกิดการชุมนุมหลายต่อหลายครั้งอย่างที่ผ่านมา หากแต่ยังมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมเผด็จการในโรงเรียนของนักเรียนในประเทศไทย คือการที่ครูของพวกเขาเกิดอาการต่อต้านการชูสามนิ้วของนักเรียน ทั้งที่การกระทำเหล่านั้นไม่ได้ผิดกฎเกณฑ์ใดๆ รวมไปถึงกฎหมายบ้านเมือง

ครูของพวกเขารู้สึกไม่พอใจอย่างมากเมื่อได้เห็นภาพนักเรียนเหล่านั้นเปล่งเสียงร้องเพลงชาติไทยด้วยความภาคภูมิใจและฮึกเหิม มันอาจเป็นการร้องเพลงชาติไทยที่แสดงถึงพลังของเนื้อร้องและทำนองของเพลงชาติไทยออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยมที่สุดในชีวิตของพวกเขาเลยก็ได้

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” “เป็นประชารัฐ” “ไผท ของไทยทุกส่วน” เนื้อเพลงที่ทุกคนต่างร้องได้ ได้ยินเพลงนี้วันละสองครั้งไม่ว่าจะในทีวีหรือหน้าเสาธง หรือแม้แต่การสอบร้องเพลงชาติไทยในวิชาดนตรี-นาฏศิลป์ของโรงเรียนเอง ต่างคนก็ไม่ได้สนใจเนื้อร้องนัก เพราะการได้ยินสิ่งเดิมทุกวันย่อมทำให้ชินชา แต่การร้องเพลงนี้พร้อมกับการชูสามนิ้วเพื่อบ่งบอกเป็นสัญญะว่าเราจะไม่ก้มหัวยอมให้กับอำนาจอีกแล้ว ประกอบกับเนื้อเพลง “เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่” มันคือท่อนที่แสดงให้เห็นว่า เราจะไม่ยอมให้ใครมาข่มเหง เราจะไม่ยอมให้อำนาจของใครมากดขี่

“สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี” คือจะยอมสละทุกสิ่งเพื่อ ‘ชาติ’ ซึ่งหมายถึง ‘ประชาชน’ หมายถึง ‘เราทุกคน’ เรา ที่ยืนอยู่หน้าเสาธง เรา ที่ถูกกดขี่ด้วยอำนาจนิยม เรา ที่ถูกข่มเหงด้วยระบบเผด็จการและความอยุติธรรม

อารมณ์ของเหล่านักเรียนที่ชูสามนิ้ว จึงเป็นอารมณ์แห่งความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ที่รัฐพยายามจะสร้าง พยายามที่จะฝังหัวนักเรียนว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ต้องไว้ผมสั้น ต้องใส่ถุงเท้าดึงสูง ต้องใส่เสื้อเข้าในกางเกง ต้องนั่งฟังครูโดยไม่โต้เถียง ต้องยอมกับเรื่องไม่มีเหตุผลเพียงเพราะผู้ใหญ่สั่งให้ทำ ต้องนั่งคุกเข่ากับพื้นร้อนๆ กลางแดดเพราะคุยเสียงดัง ต้องโดนทำร้ายร่างกายด้วยไม้เรียวเพราะทำผิด หรือแม้แต่จะต้องโดนลงโทษทางวินัยอย่างการทำทัณฑ์บนหรือไล่ออก

เมื่อปรากฏการณ์การชูสามนิ้วเกิดขึ้นต่อหน้าครูผู้ควบคุมอำนาจนั้น จึงไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลหรือกฎระเบียบใดๆ เพื่อมารองรับว่านักเรียนทำผิดเลย สิ่งเดียวที่เป็นสาเหตุให้ครูกล้าเข้าไปโจมตีนักเรียนได้ก็คือ ‘นักเรียนไม่ปฏิบัติตัวตามลักษณะในอุดมคติ’ ดังนั้น ครูจึงมีความชอบธรรมทุกอย่างในการทำโทษ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ข้ออ้างต่างๆ ที่ครูใช้ไม่ว่าจะเป็น อยากให้นักเรียนได้ดี อยากให้นักเรียนมีระเบียบวินัย อยากให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ อยากให้เติบโตไปเป็นคนมีคุณธรรม ล้วนแล้วแต่เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และมักจะถูกสวนกลับด้วยคำตอบที่ว่า

“ผม/หนู/ดิฉัน ชูสามนิ้วแล้วจะเป็นคนไม่ดี/ไม่มีระเบียบวินัยได้อย่างไร?”

สิ่งที่ได้รับการตอบกลับมาก็คือ “เธอมันก้าวร้าว” ซึ่งไม่ได้มีความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ กับคำถามของคนคนเดียวกันก่อนหน้าเลยทั้งสิ้น

เป็นเพราะเหตุใด? เพราะเรายังใช้เหตุผลกันไม่มากพอหรือ? หรือเรายังด้อยวุฒิภาวะเกินกว่าจะเข้าใจผู้ใหญ่? หรือผู้ใหญ่มีความรู้และคุณธรรมมากกว่าเรา? ทั้งหมดนี้ เราไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยเหตุผล เพราะคนที่คุยอยู่กับเราไม่ได้ใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง แต่เขาใช้การเปรียบเทียบกับ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ และใช้อำนาจผ่านความชอบธรรมของ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ นี้เพื่อลงโทษนักเรียนที่มี ‘คุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์’

หากจะกล่าวถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ก็คงจะเป็นส่วนหนึ่งในลักษณะในอุดมคติที่เป็นนามธรรม แต่มีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครแตะต้องได้ และมีความอันตรายอย่างมาก สิ่งนี้ได้สร้างบรรทัดฐานที่ชี้ถูกชี้ผิดให้กับการกระทำ บุคลิกภาพ การวางตัว ไปจนถึงอุปนิสัยของนักเรียน

คุณลักษณะอันพึงประสงค์นี้ ได้สถาปนาการควบคุมนักเรียนขึ้นมา ตั้งแต่การแสดงออกซึ่งเป็นการกระทำภายนอกร่างกาย ไปจนถึงอุปนิสัยภายในร่างกาย เช่น การทักทายเคารพผู้ใหญ่ จะต้องไหว้ ต้องก้มหัวเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ จะต้องหยุดให้ผู้ใหญ่เดินก่อน ตลอดจนการแต่งกาย ต้องรีดเสื้อ ชายเสื้อต้องอยู่ในกางเกง ถุงเท้าต้องดึงขึ้น รองเท้าต้องหุ้มส้น ส่วนด้านนิสัยใจคอก็ต้องเป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะเสนาะหู ไม่พูดคำหยาบ เป็นต้น โรงเรียนจึงเป็นที่บ่มเพาะและผลิตคนที่มี ‘ลักษณะในอุดมคติ’ และพยายามควบคุมให้เป็นเช่นนั้นต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะสิ่งที่แย่กว่าคือมันกลายเป็นสังคมอุดมอำนาจ ที่ให้ความชอบธรรมแก่ครูในการลงทัณฑ์โดยวิธีใดก็ได้โดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ เช่น การตัดผมนักเรียนทั้งชายและหญิงเมื่อพบว่าทรงผมของพวกเขาผิดระเบียบ อันที่จริงกฎระเบียบว่าด้วยทรงผมก็เปลี่ยนมานานแล้ว แต่บังเอิญว่าตัวกฎระเบียบเองก็ไม่ถูกต้องตาม ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ครูจึงสามารถลงโทษนักเรียนได้ตามที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสม ไม่มีใครเอาผิดครูที่ตัดผมนักเรียนได้ แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม

‘คุณลักษณะอันพึงประสงค์’ และ ‘ลักษณะในอุดมคติ’ นี้ จึงสถาปนา ‘ความผิดที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์’ ขึ้น มันเป็นความผิดที่ไม่ต้องอิงอยู่กับกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรใด ไม่ต้องอิงกับเหตุผลใด ไม่ต้องอิงกับบริบททางประวัติศาสตร์ใด เพราะประวัติศาสตร์เองก็อาจจะย้อนกลับมาเป็นคำตอบที่เปิดโปงความไม่สมเหตุสมผลที่ไม่ต่อเนื่องของลักษณะในอุดมคติ

slap

รองผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งตบหัวนักเรียนที่ประท้วงที่ต้องจ่ายเงินค่าข้อความโทรศัพท์โดยไม่สมัครใจ (ที่มา sanook.com)

เรายังคงไม่ลืมเหตุการณ์ที่รองผู้อำนวยการคนหนึ่ง ออกมาตบหัวนักเรียนชายที่เป็นแกนนำประท้วงเรื่องค่าส่งข้อความโทรศัพท์หรือ SMS ของโรงเรียน เนื่องจากนักเรียนไม่สมัครใจแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว เราคงสงสัยว่าอะไรทำให้รองผู้อำนวยการท่านนั้นกล้าทำร้ายร่างกายนักเรียน เป็นเพราะนักเรียนคนนั้น ‘ก้าวร้าว’ หรือไม่?

นักเรียนคนนั้น ‘พูดเสียงดังใส่ครู’ หรือไม่?
นักเรียนคนนั้น ‘ทำผิดกฎระเบียบ’ หรือไม่?
หรือนักเรียนคนนั้นไม่ทำตัวให้อยู่ภายใต้ ‘ลักษณะในอุดมคติ?’

อนึ่ง ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนสุภาพและนอบน้อบกับครูมาโดยตลอด มีความคิดและทัศนคติที่ดีต่อครูมาโดยตลอด และรักครูทุกคนที่เคยทำหน้าที่สอนผู้เขียนมา ผู้เขียนยังชอบแต่งตัวเรียบร้อย ใส่ชายเสื้อในกางเกง และดึงถุงเท้าขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยที่จะมีการใช้อำนาจบังคับให้คนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎเกณฑ์เหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม และต้องถูกบังคับให้ คิด ว่ามันเป็นสิ่งถูกต้อง ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้ใครต้องมาทำตาม ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ของใคร โดยเฉพาะของโรงเรียนหรือครู สถานที่และอาชีพที่ผู้เขียนรักและชื่นชมมากที่สุด แม้จะไม่เท่ากับบ้าน เพราะโรงเรียนเป็นที่ที่ควรจะเปิดกว้างให้นักเรียนได้แสดงออก ค้นหาตัวเอง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีของชีวิต ไม่ใช่สถานที่ที่พร้อมจะมาเพื่อถูกตำหนิ หรือถูกสอดส่องมองหาข้อบกพร่องในตัวนักเรียนอยู่ตลอดเวลา

โรงเรียนไม่ใช่ทัณฑสถาน นักเรียนไม่ใช่นักโทษ นักเรียนเป็นประชาชน และประชาชนมีเสรีภาพ

ผู้เขียนได้เห็นตัวแทนของกลุ่ม นักเรียนเลว ไปออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เขาได้กล่าวถึงการที่ต้องอยู่ภายใต้ระบบของโรงเรียน และต้องทำตาม ‘ลักษณะในอุดมคติ’ ตั้งแต่การแต่งกายไปจนถึงทรงผม เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับลักษณะในอุดมคติ ถามหาถึงเหตุผลที่ครูขัดขวางและคุกคามนักเรียนที่ชูสามนิ้วในวันก่อนหน้าที่จะออกรายการ แต่ไฉนในวันถัดมา โรงเรียนจึงไม่อนุญาตให้เคารพธงชาติ ไม่ต้องร้องเพลงชาติ เพียงเพราะว่าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ชูสามนิ้วขึ้น แล้วเขาก็ถามว่า สรุปแล้วเหตุผลคืออะไร หรือระบบอำนาจมันยอมสละการเคารพธงชาติเพียงเพราะไม่ต้องการให้เกิดการแสดงพลังในการชูสามนิ้วหรือ?

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่มันเป็นเรื่องของคุณค่า และการให้คุณค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ การชูสามนิ้ว หรือจะชูนิ้วเดียว หรือจะเป็นเพียงแค่การยกกำปั้น หรือพรุ่งนี้นักเรียนอาจจะเปลี่ยนเป็นการไหว้ หรือการก้มกราบพร้อมกันในระหว่างการร้องเพลงชาติ การสวดมนต์ หรือระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อลักษณะในอุดมคติ และกลายเป็นคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์ไปโดยปริยาย

ไม่มีเหตุผล
ไม่มีความคิด
ไม่มีความรู้

มีแต่ความรุนแรงในคราบของอำนาจนิยมเผด็จการ

การสถาปนาความผิดที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์นี้ จึงสร้างความชอบธรรมให้กับความเป็นเผด็จการ เพราะเมื่ออยู่เหนือกฎเกณฑ์แล้ว กฎระเบียบและกฎหมาย ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

“เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย”
III.