แนะนำรัฐสวัสดิการ

แนะนำรัฐสวัสดิการ

ผู้แปล สหายสวนสาธารณะ



เราทุกคนอาจเห็นตรงกันว่า รัฐสวัสดิการยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มีคนไม่น้อยเช่นกันที่แย้งว่า สวัสดิการถูกใช้เป็นสินบนเพื่อเหนี่ยวรั้งแรงงานมิให้ก่อการปฏิวัติที่ใหญ่กว่านั้น หรือกล่าวอย่างง่ายก็คือ สวัสดิการไม่ใช่แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์

ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบทุนนิยม ชนชั้นกระฎุมพีจะขูดรีดชนชั้นแรงงานโดยการใช้แรงงานของพวกเขาเพื่อผลิต (ความมั่งคั่ง) ส่วนเกิน ชนชั้นนายทุนหวังจะขูดรีดความมั่งคั่งจากแรงงานของชนชั้นแรงงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งนำไปสู่สภาพการทำงานที่ทารุณมากขึ้นและค่าแรงที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม นายทุนยังจำเป็นต้องดูแลแรงงานอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะไม่ทำให้แรงงานนั้นตายไปก่อน และทำให้แรงงานมีทักษะและมีศักยภาพในการเลี้ยงดูแรงงานรุ่นถัดไป นับตั้งแต่ทุนนิยมสมัยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐได้เข้ามารับหน้าที่ในการดูแลที่ว่านี้ โดยรัฐจะเป็นผู้มอบสวัสดิการสังคมให้แก่คนงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน เงินเกษียณอายุ สิทธิในการลาป่วย ฯลฯ

สวัสดิการในยุโรป

การประสานกันระหว่างรัฐ (state) กับทุน (capital) ในลักษณะที่ว่านี้เริ่มนำมาใช้ในยุโรปตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เดิมทีประชาชนเป็นผู้ที่ต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวผ่านทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การประท้วงหยุดงาน และแนวทางแบบพรรคแรงงานในสภา (Parliamentray Labour Parties: PLP) แรงงานชาวยุโรปชอบอกชอบใจแนวคิดคอมมิวนิสม์อยู่เป็นเวลาหลายทศวรรษ และตั้งแต่การผงาดขึ้นมาของสหภาพโซเวียต คอมมิวนิสม์ก็ถูกนำเสนอว่าเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้จริงนอกเหนือไปจากทุนนิยม ด้วยเหตุนี้ แรงงานและพรรคสังคมนิยมในยุโรปตะวันตกจึงต้องเลือกว่าจะสนับสนุนรัฐสวัสดิการหรือจะปฏิวัติอย่างเต็มรูปแบบ การถกเถียงในเรื่องดังกล่าวจึงวางอยู่ในบริบทของการเลือกระหว่างการปฏิรูป (Reform) (ผ่านรัฐสภา/สวัสดิการ) กับการปฏิวัติ (Revolution)

กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว ผู้ที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการจะมีอยู่สองกลุ่ม

  1. กลุ่มนายทุน : คนกลุ่มนี้เชื่อว่า การมอบสวัสดิการให้แก่คนงานจะทำให้ทุนนิยมสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นขึ้น ทั้งยังเชื่อว่า เมื่อชนชั้นกรรมาชีพนั้นสุขกายสบายใจแล้ว ทุนนิยมจะรุ่งโรจน์ นี่เป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมในหมู่นักสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats) อาทิ ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย
  2. กลุ่มนักปฏิรูปสังคมนิยม : คนกลุ่มนี้เชื่อว่า เราสามารถปฏิรูปทุนนิยมให้กลายเป็นสังคมนิยมได้ อีกทั้งยังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผ่านการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยรัฐสภา ด้วยการลงคะแนนเสียงให้พรรคสังคมนิยม และให้พวกเขานำรัฐสวัสดิการมายกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งโมเดลนี้จะเป็นที่นิยมในหมู่พรรคแรงงาน

 

ทั้งสองกลุ่มนี้ แม้จะมีปลายทางที่แตกต่างกันมาก แต่ที่ผ่านมาก็ร่วมมือร่วมใจกันต้านเหล่านักปฏิวัติสังคมนิยม นักปฏิวัติสังคมนิยมเชื่อว่า การปรองดองกับประชาธิปไตยแบบทุนนิยมนั้นสูญเปล่า เพราะรัฐทุนนิยมมีโครงสร้างส่วนบน (Superstructures) ที่มิอาจปฏิรูปได้เลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น ระบบทุนนิยมจะต้องถูกล้มล้าง และถูกแทนที่ด้วยระบบที่แรงงานเป็นเจ้าของ หรือให้แรงงานเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตนั่นเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด กลุ่มนักปฏิวัติสังคมนิยมเชื่อว่า สวัสดิการสังคมภายใต้ระบบทุนนิยม คือการจ่ายสินบนให้คนงานยอมรับกฎเกณฑ์สูงสุดของระบอบทุนนิยม

ในศตวรรษที่ 21 เราได้เห็นการใช้แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปซึ่งเป็นทวีปที่ทุนนิยมเติบโตที่สุด อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนีตะวันตก เราจะเห็นพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยมผลัดกันขึ้นมีอำนาจ พรรคแรงงานอยู่ในอำนาจได้ไม่กี่ปี หลังจากนั้นก็จะถูกพรรคอนุรักษนิยมเข้ามาแทนที่และยกเลิกนโยบายการปฏิรูปก้าวหน้าทั้งหมด เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองสังคมนิยมที่มีความสุดโต่งกว่าใครขึ้นมา ก็จะถูกพรรคสังคมประชาธิปไตยที่ใหญ่กว่าฮุบเข้าไปรวม ตัวอย่างเช่น พรรคแรงงานในสหราชอาณาจักร พรรคลาฟร็องซ์แองซูมิสในฝรั่งเศส (La France Insoumise) และพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี (Social Democratic Party of Germany, SPD) ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจบลงใหม่ ๆ ยุโรปตะวันตกนั้นเต็มไปด้วยพรรคสังคมนิยมที่กำลังเบ่งบาน ซึ่งปัจจุบันนี้แทบไม่มี ขณะเดียวกัน กว่า 70 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองในแถบสแกนดิเนเวียที่ออกตัวว่าเป็นสังคมนิยม ก็ไม่สามารถพัฒนารัฐของตนจากทุนนิยมไปสู่สังคมนิยมได้ พวกเขายังคงสืบสานโมเดลแบบทุนนิยมตามเดิม นี่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สังคมนิยมไม่เคยเป็นเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขาเลยด้วยซ้ำ

การปฏิรูปที่ล้มเหลวมักจะเป็นดังนี้

พรรคสังคมนิยมสนับสนุนสังคมนิยมประชาธิปไตย

ผู้นำพรรคสังคมนิยมไปปรองดองกับ “พรรคกลาง-ซ้าย” เพื่อเป็นพันธมิตรกัน

พรรคสังคมนิยมถูกฮุบเข้าไปใน “พรรคกลาง-ซ้าย”

พรรคสังคมนิยมหน้าใหม่ก่อตั้งขึ้นและเข้าสู่วงจรนี้

นโยบายหลักของสวัสดิการสังคมอันเป็นรากฐานของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นเครื่องมือท้าทายทุนนิยมที่ด้อยประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้น ตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายและเสรีนิยมใหม่ได้ผงาดขึ้นมา “พรรคห้วก้าวหน้า” หรือ “พรรคกลาง-ซ้าย” ในยุโรปก็ได้ละทิ้งสวัสดิการสังคมยิ่งกว่าเก่า จนกล่าวได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวัสดิการนั้นไม่ต่างอะไรกับสินบนที่มอบให้แก่แรงงานเพื่อไม่ให้พวกเขาก่อการปฏิวัติสังคมนิยม

สวัสดิการในซีกโลกใต้ (Global South)

ขณะที่ระบบสวัสดิการในยุโรปนั้นค่อนข้างมั่นคง ทว่าในซีกโลกใต้นั้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในยุโรปเอง แม้แต่ในประเทศที่มีรัฐบาลขวาจัด ก็มีสวัสดิการสังคมบางอย่างอยู่เสมอ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี ขณะที่ในซีกโลกใต้นั้น เมื่อเทียบกับยุโรป สวัสดิการสังคมยังคงมีอยู่อย่างจำกัดกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ ลักษณะของสวัสดิการในซีกโลกใต้จึงแตกต่างจากซีกโลกเหนือ (Global North) อย่างสิ้นเชิง

เพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องข้างต้น เราจำเป็นต้องเข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมร่วมสมัยและเศรษฐศาสตร์การเมือง ไปจนถึงพัฒนาการของรัฐชาติในซีกโลกใต้เสียก่อน

การสร้างรัฐชาติของประเทศในซีกโลกใต้ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของการล่าอาณานิคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่แล้ว รวมถึงประเทศที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมโดยตรงอย่างประเทศไทยด้วย รัฐในซีกโลกใต้ทั้งหมดต้องปฏิบัติตามนิยามของคำว่า “รัฐ” ซึ่งสอดรับเข้ากับครรลองของบรรดาอดีตประเทศมหาอำนาจผู้ล่าอาณานิคม ลักษณะของรัฐโดยสังเขปก็คือ มีรัฐบาลรวมศูนย์ มีขอบเขตพรมแดนของรัฐที่ตายตัว และมีนิยามสถานภาพพลเมืองที่ชัดเจน อาจกล่าวได้ว่า รัฐเอกราชใหม่หลังยุคอาณานิคมนั้นได้ลอกเลียนโครงสร้างรัฐมาจากกลุ่มรัฐในซีกโลกเหนือ ซึ่งรวมถึงการนำรัฐสวัสดิการสังคมมาใช้ด้วยเช่นกัน ถึงตรงนี้เราคงพอจะเห็นแล้วว่ารูปแบบสวัสดิการของซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ต่างกันอย่างไรบ้าง

ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สวัสดิการในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือนั้นมีประชาชนเป็นคนต่อสู้เพื่อให้ได้มา ผ่านทั้งการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การประท้วงหยุดงาน และการเคลื่อนไหวในสภาของเหล่าพรรคแรงงาน (PLP) ทั้งหลาย ขณะที่ในประเทศกลุ่มซีกโลกใต้นั้นเป็นรัฐบาลหลังอาณานิคมที่นำระบบสวัสดิการมาใช้ในรูปแบบอุปถัมภ์ ซึ่งหลายครั้งก็เป็นตามความต้องการของผู้บงการหน้าใหม่จากซีกโลกเหนือหลังยุคอาณานิคม สังเกตได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับไทยในช่วงสงครามเย็น โดยสรุปได้ว่า สวัสดิการในบางประเทศอย่างประเทศไทยนั้น เป็นการบังคับใช้แบบบนลงล่างเพื่อต่อต้านการผงาดขึ้นมาของคอมมิวนิสม์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลและเป็นภัยในซีกโลกใต้มากกว่าซีกโลกเหนือ เมื่อพิจารณาข้างต้นแล้ว กลุ่มประเทศในซีกโลกใต้จึงยังขาดกลไกในการตรวจสอบว่า รัฐได้นำนโยบายสวัสดิการไปใช้อย่างเคร่งครัดหรือไม่ เพราะไม่มีแม้กระทั่งพรรคแรงงานและสหภาพแรงงานที่ทำงานเป็นชิ้นเป็นอันเลย

สวัสดิการในศตวรรษที่ 21

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ระดับสากลส่วนมาก กรรมาชีพในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ทุกวันนี้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการปลดแอกตนเอง คำถามคือ แล้วเราควรจะเลือกเส้นทางไหน จะปฏิรูปใช้สวัสดิการแบบยุโรปหรือปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคนไปเลย? หากเรานับความล้มเหลวของสังคมนิยมเชิงปฏิรูปในยุโรปเป็นตัวอย่าง คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี เรายังต้องสร้างความสมดุลระหว่างการบรรเทาทุกข์ของเหล่าแรงงานกับความต้องการปลดแอกอย่างจริงจัง

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางนโยบายสวัสดิการขนาดใหญ่ อาทิ สวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income, UBI) ก็คือตัวโครงสร้างเศรษฐกิจของซีกโลกใต้เองที่ถูกจำกัดโดยจักวรรดินิยมร่วมสมัย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออกวัตถุดิบเป็นหลัก โดยมีจักรวรรดินิยมร่วมสมัยคอยตรึงโครงสร้างนี้ไว้เสมอ ความมั่งคั่งในห่วงโซ่การส่งออกระดับโลกไหลไปสู่ซีกโลกเหนือ หมายความว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่าจะส่งออกวัตถุดิบในปริมาณมากกว่าที่พวกเขาบริโภคเอง และด้วยความที่ว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักของโลก ทำให้ประเทศที่ยากจนกว่าติดหล่มความสัมพันธ์เช่นนี้ พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งออกสินค้าใดก็ตามที่ทำกำไรได้สูงสุดเพื่อจะได้เงินสกุลดอลลาร์มา แล้วนำเงินไปซื้อของนำเข้าที่จำเป็นอย่างน้ำมันและยารักษาโรค ด้วยเหตุนี้ ความมั่งคั่งทั้งโลกจึงกองอยู่กับกลุ่มประเทศที่รวยที่สุด ซึ่งหมายความว่า กลุ่มประเทศร่ำรวยสามารถใช้นโยบายสวัสดิการได้มีประสิทธิภาพกว่า เช่น เงินเกษียณอายุที่กำหนดเกณฑ์อายุให้ต่ำลงได้ การรักษาพยาบาลฟรี การชดเชยเงินเมื่อลาป่วย ฯลฯ โดยเป็นเรื่องยากมากหากจะนำนโยบายดังกล่าวมาใช้กับประเทศอย่างประเทศไทยหรือเม็กซิโก เนื่องด้วยโครงสร้างห่วงโซ่การส่งออกที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเหล่านี้ไม่สามารถหยุดทำงานได้เหมือนอย่างในกลุ่มประเทศโลกเหนือ

กลับกันโดยสิ้นเชิง ประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันอย่างนอร์เวย์และคูเวตนั้นสามารถจ่ายเงินทำโครงการสวัสดิการสังคมได้อย่างเต็มที่ เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ได้พึ่งพาการขูดรีดกรรมาชีพในชาติของตนจนสุดอัตรา กล่าวอย่างง่ายก็คือ ที่แรงงานชาวนอร์เวย์สามารถมีรัฐสวัสดิการแบบสมบูรณ์และมีชีวิตสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ได้ก็เนื่องมาจากการขูดรีดแรงงานในซีกโลกใต้ทั้งสิ้น ภายใต้ระบบทุนนิยมโลก การที่คุณสามารถมีชีวิตที่สุขสบายได้ก็เพราะมีใครบางคนที่ทำงานให้คุณอยู่ ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นหรือระดับโลกก็ตาม รัฐในซีกโลกใต้คงต้องมาเป็นนายเป็นบ่าวกันเองหากจะนำโครงการสวัสดิการสังคมมาใช้ตามอย่างนอร์เวย์และคูเวต สำหรับประเทศที่ปรารถนาจะนำสวัสดิการสังคมมาใช้ เช่น ประเทศไทย คงจำเป็นจะต้องหาวิธีปรับใช้นโยบายโดยไม่ขูดรีดแรงงานจากพม่าหรือกัมพูชาต่ออีกทอดหนึ่ง

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐซีกโลกใต้ที่ดูแลเอาใจใส่แรงงานนั้นมีความใกล้เคียงกับรัฐสวัสดิการแบบยุโรปมากที่สุดเท่าที่เราเคยพบเห็นมา จึงเป็นรัฐที่ใช้ระบอบสังคมนิยมแทบทั้งสิ้น เช่น เวียดนาม คิวบา และเวเนซูเอลา ทว่าก็ตามเคย ไม่ว่ารัฐเหล่านี้จะมีนโยบายทะเยอทะยานเพียงใด รัฐสังคมนิยมเหล่านี้ก็ต้องรอมชอมกับสัจธรรมแห่งทุนนิยมโลกอยู่วันยังค่ำ ด้วยเพราะห่วงโซ่การส่งออกระดับโลกทำให้พวกเขาต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศอย่างยารักษาโรคและเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่งจะกีดขวางนโยบายอุดมคติใด ๆ ของพวกเขาเอง แม้ว่ารัฐเหล่านี้จะต้องแลกระบอบสังคมนิยมมาด้วยการเข้าฟาดฟันกับจักรวรรดินิยมตะวันตกก็ตาม เห็นได้จากกรณีการปฏิวัติคิวบาและเวียดนาม

โดยสรุปแล้ว การปลดแอกแรงงานหมายความว่า แรงงานต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต นี่คือคอมมิวนิสม์ และหากเราไตร่ตรองให้ดีก็จะพบว่า สวัสดิการไม่ใช่คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมแม้แต่นิดเดียว สังคมนิยมคือการที่แรงงานนั้นมีอำนาจได้ด้วยตนเอง และพวกเขาสามารถเคลมความเป็นเจ้าของมูลค่าที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงซึ่งถูกขูดรีดกลับสู่ตัวเองได้อีกครั้ง ขณะที่สวัสดิการนั้นคือการที่รัฐมอบคุณภาพการชีวิตขั้นต้นให้แก่แรงงาน การมองชนชั้นแรงงานในทางการเมืองโดยมีฐานคิดที่แตกต่างกันเช่นนี้ เป็นรอยร้าวในหมู่ฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่แรกเริ่ม ขณะที่บางคนมองว่า กระบวนการต่อสู้เพื่อสวัสดิการ คือบันไดขั้นสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ (ค่าแรง ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ) ให้ดีขึ้นต่อไปและอาจจะเป็นการพัฒนาไปสู่สังคมนิยมได้ แต่ก็ยังมีคนที่เห็นถึงอันตรายของสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้มอบให้ ว่าจริงๆ แล้วเป็นเพียงการทำให้กรรมาชีพเงียบงันและสงบลงเท่านั้น

ทำความเข้าใจเหตุกราดยิงในโรงเรียน

ทำความเข้าใจเหตุกราดยิงในโรงเรียน

ต้นฉบับ : สหายS!nk

แม้ว่าเหตุกราดยิงสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 แต่ทว่ากลับเหมือนถูกลืมเลือนไปจากหน้าสื่อโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว เหตุด้วยปริมาณข่าวสารจำนวนมาก ถึงอย่างนั้นผมก็ยังคิดว่าเหตุการณ์กราดยิงนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความแปลกประหลาด สะเทือนขวัญและยังคงมีประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึงอยู่อีกมาก 

เหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียน หรือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศใดก็ล้วนแต่มีความแปลกประหลาด เพราะมันไม่ใช่การฆาตกรรมทั่วไปที่มีแรงขับมาจากความอาฆาตพยาบาทส่วนตัว หากแต่เป็นการระเบิดของความรุนแรงออกไปยังผู้บริสุทธิ์ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เคยมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ก่อเหตุเลยด้วยซ้ำและแน่นอนว่าสาเหตุของเหตุการณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เกิดจากการที่ผู้ก่อเหตุ “เมายา” ขาดสติ และประสาทหลอน เพราะเราก็เห็นชัดเจนว่า ไม่มีคนเมายาคนไหนจะมีเจตจำนง การวางแผน และความแม่นยำในการเล็งปืนได้ขนาดนั้น มันชัดเจนว่าผู้ก่อเหตุกระทำการไปขณะที่กำลังมีสติครบถ้วน มิหนำซ้ำยังมีการไตร่ตรองเอาไว้ก่อนอีกด้วย นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถใช้เพียงกรอบแบบ “ประสาทวิทยา” หรือ “จิตวิทยาส่วนบุคคล” ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างเพียงพอ เราจำเป็นต้องใช้กรอบแบบ “สังคมวิทยา” หรือเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมมาประกอบด้วย

น่าแปลกใจว่าถ้าหากเรามาดูตามสถิติแล้ว ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเหตุกราดยิงในโรงเรียนเป็นอันดับ 1 ของโลก ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยไฟสงคราม หากแต่เป็นประเทศอภิมหา “พัฒนาแล้ว” อย่างสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1966 ถึง 2012 เหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น 31% จากทั่วโลก ล้วนเกิดขึ้นในสหรัฐฯ (1) และที่น่าสนใจก็คือ อัตราความถี่ของเหตุกราดยิงเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัวไปกับการเติบโตของแนวคิดแบบ “เสรีนิยมใหม่” เหตุกราดยิงเกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งในทศวรรษ1970 และอีก 6 ครั้งในทศวรรษ 1980 ซึ่งพอมาทศวรรษ 1990 จำนวนเหตุกราดยิงเพิ่มเป็น 25 ครั้งและเพิ่มขึ้นไปอีกเกือบเท่าหนึ่งในทศวรรษ 2000 ทว่าหลังปี 2013 เป็นต้นมา เราได้เห็นเหตุกราดยิงมากกว่า 300 ครั้ง เฉลี่ยตกสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว (2)

แล้วค่านิยมเสรีนิยมใหม่เกี่ยวข้องกับการกราดยิงยังไง? เราจะเห็นได้ว่าหนึ่งในข้อถกเถียงยอดนิยมของผู้ฝักใฝ่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีและเสรีนิยมใหม่ ที่มักใช้เป็นประจำในการโต้แย้งแนวคิดฝ่ายซ้ายก็คือ “ความไม่เท่าเทียมและการแข่งขัน เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด” หรือเราอาจเรียกแนวคิดนี้ว่า แนวคิดแบบดาร์วินทางสังคม ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยในวลี “อ่อนแอก็แพ้ไป” หลักฐานที่ยืนยันแนวคิดนี้ได้เป็นอย่างดี คือ การตัดสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ออกไปการลดกำแพงภาษี หรือแม้กระทั่งการที่รัฐเข้าไป “อุ้ม” บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใกล้จะล่มในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของลัทธิไลฟ์โค้ช และหนังสือ How to 

แนวคิดดาร์วินทางสังคมเชื่อว่าคนที่แข็งแกร่งล่าคนที่อ่อนแอกว่าได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะว่ามันคือ “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ตามมุมมองนี้ สังคมก็เป็นแค่ “การทดลองแบบดาร์วินระดับใหญ่” เท่านั้น ตามที่ Corey Robin ตั้งข้อสังเกตไว้ มันคือโลกของ “ปัจเจกผู้แข็งแกร่งและผู้ชนะผู้โดดเดี่ยว ซึ่งได้แก่ตัวแทนทางการเงินและมือปืน” แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เป็นผู้ชนะได้ ผู้ชายจำนวนไม่น้อย (โดยมากเป็นคนขาว) ที่ก่อเหตุกราดยิงเกิดหรือเติบโตมาในยุคเสรีนิยมใหม่และคนพวกนี้ก็กระหายที่จะเป็นผู้ชนะด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับคนที่เชื่อมั่นในเสรีนิยมใหม่ทั่วไป คนเหล่านี้ชิงชังความเท่าเทียมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่เชื่อในความแข็งแกร่งและการคัดเลือกโดยธรรมชาติ โลกของคนพวกนี้มีแต่ปัจเจก แต่พวกนี้รู้ดีว่าตัวเองจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต พวกคนที่หดหู่ซึมเศร้าเหล่านี้จึงหาทางออกง่ายๆ ที่จะทำให้ตนสามารถลิ้มรสการอยู่เหนือคนอื่นสักครั้ง แม้จะแค่ช่วงสั้นๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นในรูปแบบของการกราดยิงนั่นเอง คนพวกนี้กลายเป็นผู้ชนะในช่วงขณะที่ได้ฆ่าคนอื่น หลังจากนั้นก็จะปลิดชีพตัวเอง Berardi เรียกมันว่าเป็น “ความมุ่งมั่นที่จะชนะแบบเสรีนิยมใหม่ด้วยรูปแบบของการฆ่าตัวตาย” (3)

ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ปริมาณเหตุกราดยิง “ในโรงเรียน” จึงเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นเงาตามตัวของแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกได้ว่าเป็น “ประเทศแม่แห่งเสรีนิยมใหม่” ผู้ที่ทำการผลิตและส่งออกอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่ รวมถึงนำมาปฏิบัติใช้อย่างขยันขันแข็ง

มีอยู่หลายครั้งที่ผมได้นั่งคุยปรับทุกข์กับมิตรสหายฝั่งประชาธิปไตยด้วยกัน แล้วมิตรสหายเหล่านั้นก็ปรารภขึ้นมาว่า “กูล่ะสิ้นหวังในชีวิตจริงๆ.. (เล่าถึงปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเรื่องส่วนตัว)..รู้สึกอยากตาย แต่ไหนๆ ถ้าจะตายทั้งทีก็อยากมัดระเบิดติดกับตัวแล้วไป ‘ระเบิดพลีชีพ’ ใส่รัฐสภาแม่งเลย อย่างน้อยการตายกูก็เป็นประโยชน์กับสังคม” แม้ว่าจะเป็นการพูดในเชิงตลกร้ายและผู้พูดก็ยังไม่มีใครไปกระทำการดังกล่าวจริงจัง แต่ผมมองว่าในโมเมนต์ของการพูดแบบทีเล่นทีจริงและการพูดแบบไม่ได้ตั้งใจนี่แหละ หลายครั้งได้เผยให้เห็นถึงข้อความในจิตใต้สำนึกได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือไปจากประเด็นว่า “ในปัจจุบันจะยังมีคนยอมตายเพื่ออุดมการณ์อยู่มั้ย?” เราก็สามารถมองคำถามนี้ในมุมกลับได้ว่า “แล้วคนที่คิดจะทิ้งชีวิตไปอยู่แล้ว จะมีสิ่งใดเหลืออยู่ในจิตใจ นอกจากอุดมการณ์ที่ทำงานอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก” มนุษย์เราดิ้นรนทำสิ่งต่างๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน การสร้างครอบครัว การวางแผนชีวิต การต่อสู้ทางการเมือง ฯลฯ ไปก็เพื่อพิทักษ์รักษา “ชีวิต” ของตัวเองให้ยังอยู่รอดต่อไปได้เรื่อยๆ แต่เมื่อคนๆ หนึ่งตัดสินใจจะทิ้งชีวิตตัวเอง หรืออยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า “ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” โมเมนต์ดังกล่าวอาจเผยความจริง ความเชื่อ แรงขับ และความปรารถนาของคนๆ นั้นได้มากกว่าสิ่งที่เขาทำเพื่อจะยังชีวิตให้รอดก็เป็นได้ 

ประเด็นนี้พาเราไปสู่คำถามต่อไปว่า “ในกรณีของประเทศไทยที่เหตุกราดยิงส่วนใหญ่กระทำโดยทหาร ตำรวจ (ที่ยศต่ำ) ก็เป็นได้สูงว่าเพราะคนๆ นั้นถูกกดทับด้วยระบบราชการ รวมไปถึงการถูกหลอกใช้ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจสีเทา (เช่น การค้ายา) ทำไมคนเหล่านี้ไม่เอาความแค้นไปลงกับผู้บังคับบัญชาตัวเองที่เป็นตัวการของความแค้นนี้ หากแต่เอามาลงกับเด็กๆ ในโรงเรียน หรือประชาชนทั่วไป (เช่น เหตุกราดยิงในโคราช) ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยกันล่ะ?” 

จะเห็นได้ว่า “ความแค้นบริสุทธิ์” ไม่ได้เป็นคำตอบของคำถามนี้ หากแต่เป็น “ความแค้นที่เจือด้วยอุดมการณ์” ต่างหาก เปรียบเทียบได้กับการที่ฝ่ายประชาธิปไตยถ้าหากคิดว่าจะต้องตายแล้ว ก็อาจเลือกไป “ระเบิดพลีชีพ” ใส่พวกผู้นำเผด็จการ หรือรัฐสภา แต่ที่แน่ๆ คงไม่ออกไปกราดยิงในโรงเรียนเป็นแน่ ในขณะที่บุคคลซึ่งถูกปลูกฝังมาโดยอุดมการณ์แบบฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็นขวาแบบเสรีนิยมใหม่ “อ่อนแอก็แพ้ไป มีแต่ผู้แข็งแกร่งที่สุดที่จะอยู่รอด” หรือ ขวาแบบศักดินาไทยๆ ที่มีค่านิยมว่าคนที่อยู่ในชนชั้น หรือตำแหน่งที่สูงกว่าย่อมมีความชอบธรรมในการรังแกคนที่อ่อนแอกว่า อยู่ในแรงค์ต่ำกว่า และมีชนชั้นต่ำกว่า 

แม้ว่าจะมี “แรงขับ” ทางอารมณ์อันมาจากความรู้สึกถูกกดทับ สิ้นหวัง และโกรธเกรี้ยวเหมือนกันหากแต่ถ้ามี “ตัวกรองทางอุดมการณ์” ต่างกัน การแสดงผลของแรงขับนั้นก็ย่อมต่างกันไปด้วย 

ซึ่งในระดับของความรู้สึก ฝ่ายประชาธิปไตยรู้สึกว่าต้นเหตุของความทุกข์ทรมานในชีวิต เกิดขึ้นมาจากผู้นำฝ่ายเผด็จการและระบบเศรษฐกิจสังคม ส่วนฝ่ายขวาจะมองว่าที่ตัวเองเผชิญกับความทุกข์ทรมานนี้ มาจากการที่ตัวเอง “มีแรงค์ทางสังคมที่ไม่สูงพอ” พวกเขาต้องการจะรู้สึกถึงการเป็น “ผู้ชนะ” อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งก่อนที่ตัวเองจะตาย 

แต่เขาจะเป็น “ผู้ชนะ” ได้หรือ? ถ้าหากส่วนสำคัญของที่มาแห่งอำนาจของพวกเขา มาจากสถาบันราชการที่หยิบยื่นยศ (แม้จะเล็กน้อย) และตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมให้พวกเขา นอกจากนี้การเข้าไป “กราดยิง” ในสถานีตำรวจ หรือค่ายทหาร ก็ย่อมมีโอกาสสูงที่เขาจะถูกระงับยับยั้งเหตุด้วยความที่สถานที่นั้นๆ เต็มไปด้วยผู้คนที่มีศักยภาพในการใช้ความรุนแรง การกราดยิงในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และที่ชุมชนของพลเรือนทั่วไป จึงเป็นสนามที่เหมาะสมให้คนเหล่านี้ได้สำแดงอำนาจและความเป็นผู้ชนะครั้งสุดท้าย 

ในการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ กรอบนึงที่เราจะละเลยไม่ได้ก็คือ กรอบความคิดเรื่องเพศ เพราะส่วนใหญ่ หรืออาจจะเกือบทั้งหมดของเหตุกราดยิงเหล่านี้ล้วนมีผู้ชายเป็นผู้กระทำการ หรือต่อให้ไม่ใช่เหตุกราดยิง แต่เป็นเหตุฆาตกรรมหมู่ครอบครัวตัวเอง ก็มักจะเป็นฝ่ายผู้ชายเป็นผู้ก่อการ ทั้งนี้ไม่ได้จะสื่อไปในแนวเหยียดเพศว่าเหล่าชายแท้เป็นตัวการของความรุนแรงทั้งปวงในสังคม หากแต่จะเป็นการมองเพศชายผู้กระทำการในฐานะที่เป็น Object (ผู้ถูกกระทำ) จากระเบียบวิถีแห่งทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่ ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเรื่องนี้ไปขยายความต่อในบทความ ชื่อ “Incel ชายแห่งชายชอบ” ที่จะเป็นบทความต่อไป 

โดยสรุปแล้ว แม้ว่าเราอาจไม่ได้คำตอบที่สมบูรณ์แบบในการอธิบายเหตุกราดยิงในโรงเรียน แต่ผมเชื่อว่าถ้าหากปรากฏการณ์ทางสังคมบางอย่างเกิดขึ้นในลักษณะที่พ้นไปจากความเป็นปัจเจก หมายความว่า มีการก่อเหตุในลักษณะเดียวกันซ้ำๆ โดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้รู้จักกันหรือวางแผนร่วมกันมาก่อน เราไม่อาจจะใช้เพียงกรอบแบบประสาทวิทยา (การสรุปว่าผู้ก่อเหตุกระทำการไปเพราะเสพยา หรือมีความผิดปกติทางสารสื่อประสาท) หรือจิตวิทยาส่วนบุคคล (ผู้ก่อเหตุมีปมในวัยเด็ก) หากแต่ต้องใช้กรอบทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เข้ามาใช้วิเคราะห์ด้วย เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่หายไปของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยยกระดับการถกเถียงในประเด็น “เหตุกราดยิงในโรงเรียน” ไปสู่ขั้นที่เราเห็น “ปัญหาที่ซ่อนอยู่ในปัญหา” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อวางแผนระงับยับยั้ง หรือเริ่มแก้ปัญหาจากรากฐานในโอกาสต่อไป 

อ้างอิง:

(1) https://www.bbc.com/thai/articles/clm8lx797gyo

(2) หน้า162 หนังสือ “เมื่อโลกซึมเศร้า” ของ สรวิศ ชัยนาม

(3) หน้า 161 หนังสือ “เมื่อโลกซึมเศร้า” ของ สรวิศ ชัยนาม

มิน ลัต แยะก่าว : ผู้บุกเบิกลัทธิคอมมิวนิสต์อิสรนิยมในพม่า

มิน ลัต แยะก่าว : ผู้บุกเบิกลัทธิคอมมิวนิสต์อิสรนิยมในพม่า

ผู้เขียน Hein Htet Kyaw

ผู้แปล สหายคำผาน

มิน ลัต แยะก่าวหรือที่รู้จักในนาม “Min Latt Ye Khaung” นักภาษาศาสตร์ชาวพม่า เป็นหนึ่งในนักศึกษาชาวพม่าสามคนแรกที่ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงปราก (Prague) ในช่วงทศวรรษที่ 1950 เขาเป็นนักเคลื่อนไหวที่ทรงอิทธิพลและเป็นผู้นำนักศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1947-48

ในปี ค.ศ. 1947 มีการขอให้ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าเข้าร่วมการประชุมสหภาพนักศึกษานานาชาติ (ISU) ประจำปี ค.ศ. 1947 ณ กรุงปราก ประเทศเชคโกสโลวาเกีย มิน ลัต แยะก่าว หนุ่มเยาวชนผู้มากความสามารถ รู้สึกตื่นเต้นดีใจที่จะได้เข้าร่วมการประชุม ทว่าเขาไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรค แต่กลับเป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญอีกคนที่ได้รับเลือกจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าให้เป็นตัวแทนของพรรคในการประชุม หลังจากนั้นมิน ลัต แยะก่าว ก็ได้แยกตัวออกมาและเข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นในฐานะตัวแทนอิสระของพม่า เขาอาศัยอยู่ในเชคโกสโลวาเกียต่อไปเพื่อทำงานด้านวิชาการหลังจากการประชุมเนื่องจากสงครามกลางเมืองในพม่าได้ปะทุขึ้นแล้ว ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนภาษา เขาก็สามารถสำเร็จการศึกษาได้ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก 

วิทยานิพนธ์ของเขามีใจความสำคัญอยู่ที่การต้องมีขบวนการภาษาท้องถิ่นพม่า ซึ่งเข้าใจกันว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติวรรณกรรมและการเคลื่อนไหวภาษาท้องถิ่นของจีนที่นำโดยเฉิน ตู๋ซิ่ว (Chen Duxiu) และหู ซื่อ (Hu Shi) ในวันก่อนขบวนการ 4 พฤษภาคม (the May Fourth Movement) เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวท้องถิ่นของจีน วิทยานิพนธ์เรื่อง “การทำให้พม่ามีความเป็นสมัยใหม่” (Modernization of Burma)ของเขาก่อให้เกิดความขัดแย้งมากมายระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายหัวก้าวหน้า มิน ลัต เริ่มสอนภาษาพม่าที่โรงเรียนภาษาปราก (Prague Language School) ในปี ค.ศ. 1955 นอกจากนั้น เขาก็เริ่มทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันบูรพาทิศวิทยาศาสตร์แห่งเช็คโกสโลวาเกีย (Oriental Institute of the Czechoslovak Academy of Science) ในกรุงปราก และยังเป็นอาจารย์ประจำคณะปรัชญาของมหาวิทยาลัยชาร์ลส์อีกด้วย (Charles University’s Faculty of Philosophy)

มิน ลัต แยะก่าว ตัดสินใจเดินทางไปยังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าสาขาประเทศจีนในปี ค.ศ. 1963 โดยในเวลานั้นเอง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าถือได้ว่าเป็นเพียงพรรคตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โจว เอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้อนรับเขาเป็นการส่วนตัวที่สนามบิน เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า เขาสนับสนุนขบวนการภาษาท้องถิ่นพม่าและมีผลงานทางวิชาการ (MoeMaKa Vietnamese News & Media, 2017)

การเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ

เมื่อนายพลเนวิน (General Ne Win) ผู้นำของพรรคโครงการสังคมนิยมแห่งพม่าและเผด็จการทหารของพม่า เดินทางมาเยือนเชโกสโลวาเกียในปี ค.ศ. 1966 มิน ลัตได้ส่งจดหมายไปหาเขา และขอให้นายพลเนวินเผยความจริงเกี่ยวกับพม่าให้โลกได้รับรู้ในจดหมาย (The Irrawaddy Magazine, 2019)

ฝ่ายซ้ายที่หาตัวจับยาก : สมาพันธรัฐประชาธิปไตยก่อนโรจาวา

วลี “สมาพันธรัฐประชาธิปไตย” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดยอับดุลละฮ์ เออจาลัน (Abdullah Ocalan) หัวหน้าพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party) แนวคิดสมาพันธรัฐประชาธิปไตยได้รับความนิยมในหมู่นักสังคมนิยมแนวอิสรนิยมและคอมมิวนิสต์แนวอิสรนิยม เนื่องจากเป็นระบบการบริหารจัดการตนเองแบบมีประชาธิปไตยที่มีลักษณะของสมาพันธ์ ตามหลักการของการปกครองตนเอง ประชาธิปไตยทางตรง นิเวศวิทยาการเมือง สตรีนิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การป้องกันตนเอง การปกครองตนเอง และองค์ประกอบของเศรษฐกิจแบบสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม มิน ลัต แยะก่าว ได้นำเสนอแนวคิดที่คล้ายๆ กันในบทความชิ้นหนึ่งของเขาในช่วงทศวรรษ 1970 ทว่าเขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับแนวคิดสตรีนิยมและสิ่งแวดล้อมเท่าใดนัก เขาเสนอว่า รัฐชาติพันธุ์ที่มุ่งหาการปกครองตนเองควรจัดตั้งรัฐเล็กๆ หลายรัฐของตนเองขึ้นมา ว่ากันตาม มิน ลัต แยะก่าว คนส่วนใหญ่ที่ได้อ่านบทความนี้ อ้างว่า มิน ลัต แยะก่าว เรียกร้องให้กองทัพพม่าและพรรคโครงการสังคมนิยมพม่าซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่หรือก็คือกลุ่มชาติพันธุ์พม่า (Bamar) ล้มเลิกความหวังลมๆ แล้งๆ ของสหภาพปลอมที่ซึ่งอำนาจส่วนกลางที่เป็นระบบราชการกำลังปกครองอยู่ ตามบทความที่เขียนเกี่ยวกับเขา มิน ลัต แยะก่าว เรียกร้องให้มีการยุบสหภาพพม่าทั้งหมด

รัฐชาติพันธุ์ทั้งหมดจะแยกตัวออกจากสหภาพพม่าและก่อตั้งสาธารณรัฐอธิปไตยของตนเองภายใต้สมาพันธ์ดังที่มิน ลัต แยะก่าวเสนอ ต่อมาเขาแนะนำให้ก่อตั้งสมาพันธ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถเข้าร่วมได้ตามความยินยอม ด้วยความที่แม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy) และธานรวิน (Thanlwin) ซึ่งเป็นแม่น้ำสองสายที่ทั้งกว้างและยาว ถูกนำมาใช้เพื่ออิงถึงภูมิศาสตร์ของพม่าทั้งหมด เขาจึงตั้งชื่อแนวคิดนี้ว่า “อิระ-ลวิน” (Irra-Lwin)

ตะขิ่น โซ (Thakin Soe) ผู้นำทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงแห่งพม่า (Red Flag Communist Party of Burma) กลุ่มขุดรากถอนโคนที่มีความเฉียบแหลมมากกว่า ได้แยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า ผู้นำของกลุ่มนี้เองก็มีความคิดที่คล้ายคลึงกัน (Win, 2010) พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงแห่งพม่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของหลายๆ รัฐชาติพันธุ์ และสนับสนุนอย่างชัดเจนให้แต่ละรัฐมีอำนาจในการกำหนดเส้นทางของตนเองได้ในช่วงสงครามกลางเมืองของพม่า อย่างไรก็ดี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่ายืนกรานว่า ไม่ควรมีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มอีกเพราะเดิมก็มีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ธงแดงแห่งพม่าก็สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ใหม่หลายๆ พรรคในรัฐชาติพันธุ์และประชาชนชาติพันธุ์ต่างๆ ทว่า ตะขิ่น โซ ก็ไม่สามารถวิเคราะห์รายละเอียดได้แม่นยำเท่ากับมิน ลัต แยะก่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะตะขิ่น โซ เป็นปัญญาชนชาวบ้าน (organic intellectual) และนักปฏิวัติ ในขณะที่ มิน ลัต แยะก่าว เป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการฝึกฝนมา

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า

เห็นได้ชัดว่า แนวคิดอิสรนิยมใหม่ไม่ได้รับการต้อนรับจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้อิทธิพลของแนวคิดสตาลินนิสม์และรับเอาแนวคิดเหมาอิสม์เข้ามาในเวลาต่อมา ทั้งสองแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากแนวคิดเผด็จการอำนาจนิยม แนวคิดเผด็จการอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ แนวคิดทุนนิยมโดยรัฐ ชนชั้นรัฐการใหม่ (the bureaucratic new class) แนวคิดประชาธิปไตยรวมศูนย์ แนวคิดบูชาตัวบุคคล และแนวคิดชาตินิยม

ด้วยการเชื่อมโยงขบวนการปลดปล่อยชาติกับอุดมการณ์กระฎุมพี พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่ารับเอาการเล่าเรื่องแบบสตาลินนิสม์มาใช้เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องชาติ ตรงข้ามกับสหพันธรัฐที่มีอำนาจในการกำหนดตนเองได้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์แทน สำหรับประเด็นเรื่องชาตินั้น มิน ลัต แยะก่าวมีจุดยืนคล้ายๆ กับเลนิน อย่างไรก็ตาม จุดยืนชาตินิยมของมิน ลัต แยะก่าว นั้นเทียบเคียงได้กับแนวคิดที่เชื่อในการแบ่งเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย (tinyism) ของขบวนการอนาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 ตามบทความหนึ่งในวารสาร Ayaytawpon เล่มที่ 1 ฉบับที่ 4 ของเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2010 ซึ่งเป็นวารสารทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ เขียนโดยสหายบาวิน Ba Win เขาระบุว่า มิน ลัต แยะก่าว อยากที่จะเป็นเลนินของพม่า ในบทความชิ้นดังกล่าว มิน ลัต แยะก่าว อ้างว่า เขาแตกต่างจากสมาชิก CPB คนอื่นๆ เนื่องจากเขาไม่ได้ถูกปลูกฝังจากมอสโกหรือปักกิ่ง นอกจากนี้ เขายังกล่าวอย่างภาคภูมิใจอีกว่า เขากำลังพัฒนาแนวคิดเลนินนิสม์และสามารถสร้างอุดมการณ์ของเขาเองโดยอิงจากประสบการณ์จากยุโรปตะวันออกที่ไม่เหมือนใคร

มิน ลัต แยะก่าว เป็นผู้อพยพในประเทศจีนตอนเขาพัฒนาแนวคิดอิรลวิน เขาสนับสนุนแนวคิดสมาพันธรัฐประชาธิปไตยของอิรลวินอย่างจริงจังในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เขาตัดสินใจที่จะปกป้องประชาธิปไตยภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะในชีวิตของเขานั้น เขาต่อต้านชนชั้นข้าราชการที่ล้าหลังและมีความเป็นเผด็จการมาโดยตลอด เขาตีพิมพ์จุลสารและบทความ วิจารณ์หลิน เปียว สมาชิกผู้ทรงอิทธิพลของ “แก๊งสี่คน ผู้เป็นชนชั้นข้าราชการใหม่” มิน ลัต แยะก่าว ขยายบทบาทการวิจารณ์ของเขาต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า (CPB) ที่เขาเป็นสมาชิก ให้รวมไปถึงการวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อโจมตีชนชั้นข้าราชการใหม่อย่างต่อเนื่อง บะ เตงน์ ติน  (Ba Thein Tin) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าเองก็ถูกวิจารณ์ในบทความที่มิน ลัต แยะก่าวเขียนขึ้นและเผยแพร่ นอกจากนี้ เขายังพิมพ์หนังสือเล่มเล็ก วิจารณ์นโยบายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่า

ในที่สุด จุดยืนของเขาทำให้ CPB ต้องเรียกตัวเขาไปที่ตั้งพรรคที่พม่า มิน ลัต แยะก่าว เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของพรรคหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่นั่น เขาได้เสนอแนวคิดอิรลวินอย่างเป็นทางการต่อบะ เตงน์ ติน  ผู้เป็นประธานพรรค ทว่าบะ เตงน์ ติน  กลับปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มิน ลัต แยะก่าว ได้เสนอให้แนวคิดดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบะ เตงน์ ติน เองและขออนุญาตโปรโมตแนวคิดนี้ผ่านช่องทางเผยแพร่แนวคิดของพรรค

อย่างไรก็ตามประธานพรรคยังคงแข็งข้อปฏิเสธต่อไปและกลับเปิดฉากด่ามิน ลัต แยะก่าว อย่างเสียๆ หายๆ การอภิปรายระหว่างคอมมิวนิสต์ผู้เห็นต่างกับประธานฟาสซิสต์แดงกลายเป็นการประชันฝีปาก โดยทั้งสองฝ่ายต่างวิจารณ์กันอย่างเสียๆ หายๆ มิน ลัต แยะก่าว เปรียบเทียบประธานบะ เตงน์ ติน เป็น หลิว เส้าฉี (Liu Shaoqi), คาร์ล เคาท์สกี้ (Karl Kautsky), นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ซึ่งเป็นกลุ่มลัทธิแก้ (revisionism) มิน ลัต แยะก่าว จึงถูกสั่งให้ย้ายไปยังที่ๆ ไม่มีสมาชิกพรรคคนใดพูดภาษาจีน พม่า คะฉิ่น ฉานหรืออังกฤษ เนื่องจากมิน ลัต แยะก่าว ไม่สามารถพูดภาษากลุ่มชาติพันธุ์และภาษาถิ่นของภูมิภาคนั้นได้ เขาจึงกลายเป็นผู้เผยแผ่คำสอนที่ไร้ซึ่งอาวุธ เขาพยายามหนีออกจากพื้นที่ที่ CPB กักขังเขาไว้โดยไม่ยินยอม เขากลายมาเป็นเพื่อนกับเชลยศึกสงคราม 7 คนที่เคยทำงานในกองทัพพม่าและพยายามหลบหนีในปี ค.ศ. 1976-1977  โชคไม่ดีที่มีรายงานว่า เชลยศึกที่พยายามหลบหนีจำเป็นต้องสังหารทหาร CPB 3 นายและลูกสาวนายตำรวจ 1 คน ระหว่างการหลบหนี ด้วยเหตุนี้ผู้นำของ CPB ในท้องถิ่นจึงตัดสินใจจับพวกเขาอย่างถึงที่สุด ด้วยความที่มิน ลัต แยะก่าว เป็นนักเคลื่อนไหวและปัญญาชนที่มีสภาพร่างกายย่ำแย่ เมื่อเทียบกับคนอื่นแล้ว เขาจึงมีความเสี่ยงเมื่อพยายามหลบหนีมากกว่า สุดท้ายแล้ว CPB ก็สามารถจับตายผู้หลบหนีได้ทุกคนยกเว้นเขา ต่อมา CPB ท้องถิ่นสามารถจับเป็นเขาได้ ทว่าเขากลับถูกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่เขาสังกัดยิงเสียชีวิตเสียเอง เนื่องด้วยเหตุการณ์เลวร้ายที่เขาเข้าไปพัวพัน ตามคำบอกเล่าของม่าวน์ ม่าวน์ โซ (Mg Mg Soe) อดีตคอมมิวนิสต์พรรค CPB มิน ลัต แยะก่าวจะถูกแค่ตัดสินจำคุกเพราะมีความเข้าใจทางการเมืองแตกต่างจากหัวหน้าพรรค ถ้าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความพยายามหลบหนีที่คร่าชีวิตของทหาร CPB ไป 3 นาย รวมไปถึงชีวิตลูกสาวของเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจ

ม่าวน์ ม่าวน์ โซ พยายามหาข้อแก้ตัวให้กับการฆาตกรรมโดยลากยาวเรื่องหลบหนี เพื่อที่จะปกป้อง CPB ทว่าการหาข้อแก้ตัวเช่นนี้ก็เผยให้เห็นความจริงที่ว่า CPB ยังคงตัดสินจำคุกผู้เห็นต่างทางการเมืองแม้กระทั่งหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม 

ตรงนี้น่าสังเกตว่า CPB สังหารผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เป็นสมาชิกพรรคไปหลายคนเพียงเพราะเห็นต่างจากผู้นำคนก่อนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ผู้รอดชีวิตบอกว่า ผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งหมดถูกฆาตกรรมโดยการทรมานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิตลงในที่สุด 

อย่างไรก็ดี ตัน โซ น่ายน์  (Than Soe Naing) ซึ่งเป็นผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ถูกขับออกจาก CPB เมื่อ CPB ตัดสินใจยุบพรรคในปี ค.ศ. 1989-1990 นั้นบอกว่า มิน ลัต แยะก่าวถูกสังหารโดยที่สำนักงานใหญ่ของพรรคไม่รู้

โชคไม่ดีนักที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่าจงใจทำลายหนังสือที่เขาเขียนบรรยายแนวคิดเหล่านี้ เขาเขียนเรียงความหลายชิ้นที่วิพากษ์วิจารณ์แก๊งสี่คนกับ CPB และบทความเหล่านั้นก็ถูกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งพม่ากลบทิ้งเช่นกัน อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สองสามคนอ้างว่าได้อ่านบทความบางส่วนและเลือกที่จะเผยแพร่สิ่งที่พวกเขาเข้าใจจากบทความของมิน ลัต แยะก่าว จึงเป็นเรื่องยากมากที่คนรุ่นต่อไปจะอ้างอิงงานเขียนต้นฉบับของเขา แล้วสะท้อนออกมาได้อย่างถูกต้อง

กล่าวโดยสรุปคือ มิน ลัต แยะก่าว เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดคอมมิวนิสต์อิสรนิยมในพม่า ที่ซึ่งฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเหมาอิสม์หรือไม่ก็สังคมประชาธิปไตย ด้วยการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์และระบบราชการตามแบบมาร์กซิสม์-เลนินนิสม์และเหมาอิสม์ ตลอดจนรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมของเขา

————-

ขอบคุณสหาย JFL ผู้ช่วยถอดเสียงภาษาจีน และสหายนิรนามสำหรับภาษาพม่า – บ.ก.

 

คำประกาศก่อตั้งโครงการฝ่ายซ้ายแห่งจิตวิญญาณ ตอนที่ 2

คำประกาศก่อตั้งโครงการฝ่ายซ้ายแห่งจิตวิญญาณ ตอนที่ 2

โลกเสรีนิยมใหม่ได้ออกสิ่งประดิษฐ์อันเป็นกลไกต่างๆ มากมายเพื่อมาขูดรีดพลังแรงกายแรงใจและควบคุมชีวิตของผู้คน ทำกำไรมหาศาลให้แก่ระบบทุนนิยมด้วยการเปลี่ยนทุกคนให้เป็นแรงงาน หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนให้ทุกคนเป็นแรงงานคือทุนนิยมของการสื่อสาร หมายถึง เทคโนโลยีโครงข่ายที่ขั้นกลางระหว่างผู้คน ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันในต่างเวลาและสถานที่ ทั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป และซอฟท์แวร์ เช่น แอปพลิเคชัน อินเทอร์เน็ต หลายคนอาจมองว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวทั้งสร้างเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสร้างชุมชนในสังคมที่ผู้คนแยกขาดกัน แต่พวกเราได้เห็นว่า

  • ผู้คนต่างเสพติดการรับข้อมูลข่าวสารและส่วนมากก็จะรับข้อมูลข่าวสารเกินไป เช่น รับข้อมูลข่าวสารมากเกินกว่าปริมาณข้อมูลที่สมองและความจำของคนจะรับไหว นำไปสู่อาการ FOMO (fear of missing out) หรือสมาธิสั้น (ADHD) 
  • การเสพติดการใ้ช้โซเชียลมีเดียหรือสมาร์ทโฟน จากความรู้สึกเหงาหรือว่างเปล่าจากการใช้ชีวิตที่ไม่รู้สึกว่าตนมีความหมาย โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้คนสามารถหลบหนีออกจากชีวิตที่ว่างเปล่าไปสู่ความว่างเปล่ารูปแบบใหม่ อย่างการนั่งไถหน้าฟีดเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย
  • แม้ว่าเราจะได้รู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยน คนมากมายจากการใช้โซเชียลมีเดีย แต่เรากลับมีโอกาสสนิทแล้วไว้ใจคนเหล่านั้นน้อยกว่า ในทางจิตวิทยาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การที่คนหนึ่งจะกลายมาเป็นคนที่สนิทกับเราได้ ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องลงแรงในความสัมพันธ์เพื่อใช้เวลาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ จนรู้จักกันและกัน รับรู้ถึงคุณค่าทางความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันกับอีกฝ่าย แต่ในทุนนิยมของการสื่อสาร เวลาของแต่ละคนแยกออกจากกัน และไหลบ่าตามข้อมูลข่าวสาร จึงยากมากที่ผู้คนจะหยุดเวลาของตัวเองเพื่อใช้ร่วมกับคนอื่น ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจึงอ่อนแอลง ความปัจเจกชนนิยมจึงเข้ามาแทนที่
  • บนโลกโซเชียล พวกเราดูเหมือนจะมีอิสระในการนำเสนอในสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนทำ หรือเป็นเพื่อนที่ทำให้เราได้แสดงความเป็นตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเรานำเสนอก็ยังถูกสอดส่อง ตีมูลค่า และควบคุมการมองเห็นโดยผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้ทิศทางการนำเสนอของเราเป็นไปตามแนวทางที่มีมูลค่ามากกว่าแนวทางที่ตนต้องการ มากไปกว่านี้ทุนนิยมการสื่อสารยังกระตุ้นให้คนนำเสนอหรือเปิดเผยตนเอง จนทำให้ขอบเขตระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะน้อยลง สิ่งที่เราเปิดเผยกลายเป็นวัตถุที่ถูกตัดสินจากคนอื่นๆ ซึ่งกระทบกับตัวตนของผู้เปิดเผยด้วย

 

หลายคนมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นมากับทุนนิยมเป็นวิวาทะที่มาจากผู้ปกครองหรือคนรุ่นก่อนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยม ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ และพยายามปิดกั้นพวกเขาออกจากเครื่องมือที่พวกเขาจะมีตัวตน และสร้างสังคมที่เป็นอิสระจากการสอดส่องจ้องมองของผู้ใหญ่ ข้อเสนอนี้คงจะเก่าเกินไป เพราะในปัจจุบัน ผู้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารไม่ได้อยู่แค่เด็กหรือวัยรุ่น แต่คือคนทุกยุคทุกสมัย เพราะขนาดผู้สูงอายุยังใช้สมาร์ทโฟนในการส่งข่าวสารให้แก่ญาติพี่น้อง หรือดูคลิปวีดิโอขนาดสั้นเพื่อความบันเทิงได้ พวกเราต้องการสื่อและเสนอว่าทุนนิยมของการสื่อสารได้ทำให้คนทุกเพศทุกวัยตัดขาดและเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นแรงงานให้กับเครื่องมือสื่อสารนี้

เช่นเดียวกัน จุดยืนของพวกเราไม่ใช่การตีตราหรือโยนความผิดให้แก่เทคโนโลยีการสื่อสาร และผู้ใช้งาน พวกเรามองว่าการแยกขาดการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารออกจากบริบททางสังคมอื่นๆ จะทำให้พวกเราพิจารณาปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนได้คับแคบ พวกเราขอยกข้อค้นพบของดานาห์ บอลด์ นักมนุษยาวิทยาดิจิตัล เธอเสนอว่าสาเหตุที่กลุ่มวัยรุ่นหันมาใช้โซเชียลมีเดียกันมากขึ้นเป็นเพราะพวกเขามีโอกาสที่จะได้เจอกันหรือใช้เวลาร่วมกันในโลกกายภาพน้อยลง เพราะพวกเขามีการบ้านและภาระที่เยอะขึ้น มีผู้ปกครองที่เข้มงวดขึ้น และการรวมตัวในพื้นที่สาธารณะของวัยรุ่นถูกมองว่าเป็นการซ่องสุม  ดังนั้นแล้ว การที่ผู้คนถูกดึงมาสู่ทุนนิยมของการสื่อสารก็เพราะพวกเขาถูกตัดขาดออกจากกันในระบบทุนนิยมโดยรวมด้วย

ชีวิตแรงงานในระบบทุนนิยมของการสื่อสารก็เป็นตัวกำหนดทิศทางของการต่อสู้ในโลกแพลตฟอร์ม การที่ผู้คนถูกทำให้โดดเดี่ยว (Atomize) ก็เปลี่ยนให้การสื่อสารมีความเป็นปัจเจกชนนิยมมากขึ้น วิวาทะอย่างการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้ที่ตนเอง เช่น การแสดงออกในโลกออนไลน์ การติดตามข่าวสารทุกเรื่องเพื่อให้เป็นคนตื่นรู้ การถกเถียงกับผู้อื่นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดหรือการเข้าร่วมกองทัพดราม่าเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม พวกเราเชื่อว่า ในทุกการต่อสู้สิ่งจำเป็นไม่แพ้สิ่งอื่นคือความเป็นสหาย แต่หลายครั้งในการต่อสู้ออนไลน์ที่ทุกคนแยกขาดจากกัน — การต่อสู้ผ่านการโพสต์แสดงความคิดเห็น หลายครั้งก็ไม่ได้นำไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ แต่เป็นการต่อสู้ที่ต่างคนต่างเอาชนะ หรือดราม่าในโซเชียลมีเดีย ที่แม้จะดูเหมือนเป็นการแสดงพลังร่วมกันที่ยิ่งใหญ่ แต่กลับเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรม ทั้งนี้เพราะในการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมหรือการต่อสู้ทางการเมือง ไม่สามารถเกิดขึ้นได้แบบปัจเจก แต่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างความเป็นเพื่อนหรือความเป็นขบวนการ เพราะหากในการต่อสู้เราเห็นเพียงแต่ตัวเราเอง การต่อสู้จะเป็นเพียงแค่การแสดงออก แต่เราไม่รู้ว่าเรากำลังทำสิ่งนี้เพื่อใคร แต่ถ้าเราเห็นคนอื่นและผู้ร่วมสู้ด้วย เราจะรู้ว่าเรากำลังสู้เพื่อใครและใครกำลังสู้เพื่อเรา

ดังนั้น พอดแคสต์ของเรา Spiritual Leftism จึงมีหน้าที่ในการดึงผัสสะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเติมเต็มชีวิตของเรา เช่น การสัมผัสการอยู่ร่วมกันของผู้อื่น สัมผัสของมิตรภาพ สัมผัสของอารมณ์ที่อ่อนไหวหรือความเปราะบางในตัวเองและผู้อื่น หรือสัมผัสถึงธรรมชาติ แต่เสรีนิยมใหม่ได้พรากผัสสะนี้ของเราไป ด้วยการทำงานที่หนักและเหนื่อยล้า การแทนที่รับรู้ผัสสะต่างๆ ด้วยโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนเห็นสิ่งเหล่านี้ได้แค่ครึ่งทาง สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการกลับมาเติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์อีกครั้ง แต่ยังเป็นสิ่งที่เราต้องใช้มันในการต่อสู้กับระบบเสรีนิยมใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนและสิ่งต่างๆ หลังทุนนิยมให้ดียิ่งขึ้น <3

 

 

มนุษย์ล่องหน

มนุษย์ล่องหน

คุณบริโภคแรงงานที่มองไม่เห็นในขณะเดียวกันแรงงานที่คุณขายออกไป ก็มิอาจมองเห็นได้เช่นกัน พวกเราล้วนแปลกแยกจากสิ่งที่เราผลิตและสิ่งที่เราบริโภค จะเป็นไปได้บ้างไหม ที่เราจะมองทะลุม่านหมอกแห่งความยุ่งเหยิงไปเจอ ”แรงงาน” ที่ถูกซ่อนไว้ได้สักที

ความเป็น”ทางผ่าน” (Liminality)

พื้้นที่ๆมีความเป็นลิมินอล(Liminal) หรือ ลิมินอลสเปซนิยามได้ว่าเป็น “พื้นที่ว่างทางกายภาพระหว่างจุดหมายหนึ่งไปยังจุดหมายต่อไป” ตัวอย่างของพื้นที่เหล่านี้ได้แก่ โถงทางเดิน,สนามบินและถนน สถาปัตยกรรมแนวบรรษัทสมัยใหม่ (Modern corporate architecture) มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความลิมินอลสูงเพราะมันดูเรียบ,ขาดบุคลิก,มันไม่ใช่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง มันเป็นแค่ “ทางผ่าน” เท่านั้น มันขาดจิตวิญญาน ข้อวิจารณ์เหล่านี้มักถูกใช้กับ “ศิลปะแนวบรรษัทเมมฟิส” (corporate Memphis art style) มันคือเหล่าการออกแบบคาแรคเตอร์ผู้คนแบนๆ เรียบๆ จืดๆ ที่ปรากฏเกลื่อนกลาดในการตลาดของบรรษัทต่างๆ ผมจะขอย้ำอีกครั้งว่ามันไร้ซึ่งจิตวิญญาณ 

ที่กล่าวมาเป็นการวิจารณ์ในมุมมองแบบสุนทรียศาสตร์ถึงความเรียบเฉยจืดชืด ขาดปฏิสัมพันธ์ และดูห่างเหิน แต่เราก็สามารถนำแนวคิดนี้มาใช้มองผู้คนจริงๆ ในชีวิตประจำวันที่เราต่างประสบพบเจอ ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความจริงอันน่าเจ็บปวด ความจริงที่ว่าผู้คนนับพันล้านคนที่ลงมือสร้างและช่วยกันพยุงโลกของเราไว้ พวกเขาล้วนแต่เป็น “มนุษย์ทางผ่าน” เป็นแรงงานที่มิอาจมองเห็นผู้ผลักกลจักรแห่งทุนให้หมุนต่อไป พวกเขา คือ 

เหล่าผู้คนที่ขนผักไปวางบนเชลฟ์ในห้างสรรพสินค้าตลอดค่ำคืน 

พนังงานโกดังที่ขนย้ายสินค้าตั้งแต่พลบค่ำยันย่ำรุ่ง

พนักงานท่าเรือและเหล่ากะลาสีที่เดินเรือบรรทุกสรรพสินค้าแสนมีค่าที่พวกเราสั่งซื้อมา

เหล่าคนงานในฟาร์มที่ต้องขมักเขม้นเค้นงานบนผืนแผ่นดินแสนไกลจากบ้านของพวกเขา

ผู้คนเหล่านี้เอง..

คือ “แรงงานทางผ่าน” เป็น “มนุษย์ทางผ่าน” ที่ค้ำยันเสาหลักแห่ง “สังคมทุนนิยมอันศิวิไลซ์” ให้หยัดยืนต่อไป มิาจมองเห็นได้ผ่านสายตาเมินเฉยของเหล่าผู้บริโภค 

แน่นอนว่าส่วนใหญ่ของแรงงานที่กล่าวมานี้ เป็นผลมาจากการขูดรีดของผู้คนในซีกโลกเหนือ ที่กระทำต่อผู้คนในซีกโลกใต้ ปฏิสัมพันธ์เดียวหากจะพึงมี ระหว่างแรงงานที่กำลังเก็บฟาง กับ คนที่กำลังกินสเต็กเนื้อจานโปรด คือ ตอนนักท่องเที่ยวจากประเทศเจ้าอาณานิคม ไปเที่ยวประเทศอดีตใต้อาณานิคมไกลปืนเที่ยง เขาอาจเผลอเหลือบมองแรงงานผู้น่าสงสารเหล่านั้นขณะกำลังแบ็คแพ็คกิ้ง หรือไม่ก็เขากำลังอ่านผลิกหน้าหนังสือ National geographic เขาอาจเปิดไปเจอศพของกะลาสีเรือโดนคลื่นซัดขึ้นมาเกยบนชายหาด

แต่ในซึกโลกใต้เราอาจเรียกได้ว่าแรงงานทางผ่านนั้นอยู่ในสภาวะ “กึ่งล่องหน” สำหรับชนชั้นบน ถือว่ามีปฏิสัมพันธ์บางอย่างระหว่างชนชั้นอยู่เหมือนกัน แม้ว่าจะถูกคั่นและคัดกรองผ่านรูปแบบของทุน เหล่าผู้ดีกรุงเทพขณะนั่งอยู่ในรถติดแอร์คันงาม ก็อาจมองเห็นสลัมในกรุงเทพแบบผ่านๆ ในชีวิตแต่ละวัน ทว่ามองเห็นจากระยะไกล

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม

ใครกันที่ฆ่าไก่ให้ผมกิน

ใครกันเป็นคนถักทอเสื้อตัวนี้

ข้าวเป็นยังไงบ้าง ?

คุณกินไก่ของคุณหมดมั้ย ?

เสื้อผ้าใส่สบายรึเปล่า ?

แล้วพวกเขาเหล่านั้นชื่ออะไร ? พวกเขาเป็นยังไงบ้างวันนี้ ? พวกเขาสบายดีไหม ? พวกเขากำลังมีความรักรึเปล่า ? 

แล้วแม่กับยายของพวกเขาล่ะ ? เหล่าแรงงานการผลิตซ้ำ (1) ผู้ถูกซ่อนไว้ในใต้ถุนบ้าน ผู้ช่วยสร้างเหล่ามนุษย์ทางผ่านที่ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณยิ่งนัก พวกเขา (เหล่าแรงงานการผลิตซ้ำ) เองก็มีส่วนร่วมในการผลิตไก่ในแกงที่ผมกิน,ข้าวในจาน,เสื้อที่ผมสวมใส่ ผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าผู้เป็นแรงงานล่องหน ถูกขูดรีดเอากำไร ถูกซ่อนไว้ในใต้ถุนบ้าน ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่บ้าน,ในโรงงาน หรือ ในคลังสินค้า 

ผมถูกสร้างขึ้นบนหลังของแรงงานเหล่านี้ เช่นเดียวกับคุณผู้อ่าน คุณเองก็เป็นมนุษย์ล่องหนเหมือนกัน 

(1) แรงงานแห่งผลิตซ้ำ (Reproductive labour) คือ แรงงานที่ทำงานในหน้าที่ๆ จำเป็นต่อระบบทุนนิยมแต่ไม่ถูกนับเป็นการผลิต เช่น การดูแลเด็ก,คนชรา,กวาดบ้านถูบ้าน,ทำอาหาร ฯลฯ (ผู้แปล)

เหล่าบรรพบุรุษล่องหน

เหล่าแรงงานล่องในตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีส่วนร่วมต่อทุกแง่มุมของวัตถุ และ ภูมิปัญญา ของสรรพสิ่งในชีวิตเรา ไม่ว่าแรงงานนั้นจะได้รับค่าจ้างหรือไม่ ถนนในเมืองลอนดอนถูกปูโดยแรงงานล่องหนจากประเทศใต้อาณานิคม คูคลองและทางน้ำในประเทศไทยถูกขุดก่อโดยแรงงานไพร่ไร้ค่าจ้าง หม้อหุงข้าวที่ผมใช้ทำอาหารเที่ยง ถูกประดิษฐ์และพัฒนามากว่าศตวรรษโดยวิศวกรไฟฟ้าล่องหน ใครกันที่เดินแบกกระสอบข้าวผ่านถนนที่ถูกปูคูที่ถูกขุด ใครกันสอนพวกเขาใช้ช้อน สอนพวกเขาเดิน สอนพวกเขาพูด สอนให้อ่านเขียน สอนให้เข้าสังคมเป็น ?

โศกนาฏกรรมที่แท้จริง คงเป็นการที่แรงงานล่องหนส่วนใหญ่ ล้วนแต่ตรากตรำทำงานเพื่อผลิตซ้ำและพัฒนาระบบและเงื่อนไขที่จะกลับมาขูดรีดพวกเขาเองให้มากกว่าเดิม 

กว่า 117 พันล้านชีวิตตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราจะหยั่งถึงบุญคุณทั้งหมดที่เขาให้เราได้หรือ ?

เช่นนั้นแล้ว ทำไมเราจะยังกล้าอ้างว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นของๆเรา

“นี่คือเสื้อยืดของฉัน นี่คือโทรศัพท์ของฉัน นี่คือบ้านของฉัน” 

ช่างไร้เหตุผล,คับแคบ และ หยามเหยีดเป็นอย่างยิ่ง

พวกเราล้วน คือ ความว่างเปล่าหากปราศจากแรงงานล่องหนของคนอื่น 

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม

ใครกันที่ฆ่าไก่ให้ผมกิน 

ใครกันเป็นคนถักทอเสื้อตัวนี้ 

แล้วพวกเขาเหล่านั้นชื่ออะไร ? พวกเขาเป็นยังไงบ้างวันนี้ ? พวกเขาสบายดีไหม ? พวกเขากำลังมีความรักรึเปล่า ? 

ใช่อยู่ ที่คำถามนี้มันฟังดูบ้า แต่ศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายได้ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาปฏิสัมพันธ์บางอย่างต่อมนุษย์ล่องหน พูดให้ชัดก็คือ “ระหว่างมนุษย์ล่องหนด้วยกัน” พัฒนาการตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกัน ตระหนักถึงการที่พวกเราถูกกดขี่ และ พวกเราถูกบังคับให้กดขี่กันเองอย่างไร 

คุณเคยไปที่คลังเก็บอาหารตามร้านสรรพสินค้าไหม ? มันเป็นประสบการณ์น่าขนลุก เป็นตัวอย่างของ “สภาวะทางผ่าน” ที่ชัดเจน ลังไม้สูงเท่าภูเขาทะมึนถูกหุ้มด้วยพลาสติกสองชั้น มีกระดาษ A4 แผ่นเล็กๆ ติดเพื่อรายละเอียดสินค้าไว้ ช่างดูห่างไกลจากอาหารบนชั้นวางในห้างที่ดูอุดมสมบูรณ์ เหล่าอาหารล่องหนพวกนี้กำลังรอการปรากฏตัว เช่นเดียวกับเหล่ามนุษย์ล่องหนที่มีสถานะคล้ายกับผีวิญญานรอผู้พบเห็น 

คุณเคยพูดคุยกับคนขับ Grab บ้างไหม ?

หรือพนักงานที่นำสินค้าจาก Shopee มาส่งให้คุณ ?

หรือคุณป้าที่ทำก๋วยเตี๋ยวตรงจุดแวะพักระหว่างนั่งรถบัสทางไกล ? 

ไม่นานมานี้พวกเราได้ร่วมประชุมวงฝ่ายซ้าย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพ หลังคุยกันไปได้สักพักบทสนทนาก็นำมาสู่อารมณ์น่ากำหมัดของคำถามที่ว่า “เราจะคุยกับพวกเขายังไง ?” บอกจากใจจริงเลยว่าพวกเราค่อนข้างตกใจ “อะไรกันวะ ? พวกคุณไม่เคยคุยกับพวกเขาเรอะ ?” พวกเราคิดในใจ แต่ยังมีเรื่องที่น่าตกใจกว่านั้น นั่นคือสำนึกอันพิลึกพิสดารว่า พวกเราจะต้องคุยกับพวกเขา มันเป็นบทบาทของเราที่จะไปช่วยให้พวกกรรมาชีพตาสว่างถึงที่มาของความทุกข์ทรมานในชีวิตของพวกเขา พวกเราไม่สามารถแค่ไปถามพวกเขาว่า “วันนี้เป็นไงบ้าง?” หรือ “ทำงานที่นี่มานานแค่ไหนแล้ว?” หรือ “คุณชอบการทำงานที่นี่ไหม?”   ไม่.. พวกเราจะต้อง สอนพวกเขาเกี่ยวกับมาร์กซิสต์

การปฏิสัมพันธ์เป็นกระบวนการที่มีการ “ให้และรับ”

มันเริ่มต้นด้วยพื้นฐานง่ายๆ : “คุณเป็นยังไงบ้าง ?”

แม้ว่าคุณอาจไม่ได้เจอคนๆ นี้อีกเลยก็ตาม

ใครกันที่ปลูกข้าวของผม 

ใครกันที่ฆ่าไก่ให้ผมกิน 

ใครกันเป็นคนถักทอเสื้อตัวนี้

แล้วพวกเขาเหล่านั้นชื่ออะไร ? พวกเขาเป็นยังไงบ้างวันนี้ ? พวกเขาสบายดีไหม ? พวกเขากำลังมีความรักรึเปล่า ? 

พวกเราอาจไม่ได้คำตอบของคำถามนี้ทั้งหมด แต่พวกเราสามารถเริ่มต้นได้ นี่คือโครงการสลายความล่องหน เพื่อจะโอบอุ้มผู้คนเหล่านั้น เพื่อโอบอุ้มพวกเราเอง ขึ้นมาจากความล่องหน ขึ้นไปสู่การปรากฏตัว การถูกมองเห็นได้ สิ่งสำคัญ คือ โครงการนี้ก็เหมือนโครงการร่วมมือกันทั้งหมด มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเราทุกคนร่วมมือกัน 

อย่าหลงลืมแม้เพียงวูบเดียว ว่าคุณเองก็เป็นมนุษย์ทางผ่าน เป็นมนุษย์ล่องหน ทุ่มเทแรงงานของตนลงไปในความว่างเปล่า เป็นเพียงผู้โดยสารคนนึงในเบาะหลังแท็กซี่ เป็นแค่ลูกค้าคนหนึ่ง ในร้านอาหารที่แออัด เป็นแรงงานล่องหนขายแรงงานของตน คุณเองคือความว่างเปล่า วิธีเดียวที่คุณจะมีตัวตนในสายตาของคนอื่น วิธีที่จะออกจากสภาวะทางผ่านนั้น คือ เราต้องออกจากมันให้ได้ด้วยกัน