by Anonymous | Nov 6, 2021 | Articles บทความ, ความคิดเห็น Opinion, ไทย
เรื่องและภาพ กลุ่มบุคคล
บรรณาธิการ Pathompong Kwangtong
“มช. เปิดอลังการวันนี้ อาคารศูนย์อาหารครบวงจร ขนร้านดังมาเพียบ รวมของอร่อยมาไว้ที่นี่ จุคนได้นับพัน” อาคารสุดวิจิตรแสนโมเดิร์นทันสมัยถูกจัดสร้างขึ้นในมหาวิทยาลัย ภายในอาคารโอ่อ่ายิ่งกว่าอาคารเรียนเก่าเก็บจำนวนมากถูกบรรจุให้เต็มไปด้วยร้านอาหารนับสิบ ๆ ร้าน ตั้งแต่ร้านน้ำไปจนถึงร้านอาหารห่วงโซ่รายใหญ่ (chain food restaurant) ชื่อดัง ไม่ไกลจากศูนย์อาหารมากนัก ณ อาคารเก่าเก็บแห่งหนึ่ง ป้ายโปสเตอร์ประกาศปิดปรับปรุงห้องสมุดถูกปะไว้ว่า ห้องสมุดที่เป็นห้องเก็บหนังสือ โกดังหนังสือ และห้องอ่านหนังสือจะต้องถูกโละออกไป สิ่งที่จะเข้ามาทดแทนคือ ห้องสมุดที่เป็น “แหล่งเรียนรู้เชิงประสบการณ์” และ ”พื้นที่ทำงานร่วมกัน” (co-working space)
ความพยายามในการเปลี่ยนให้ทุก ๆ ส่วนของมหาวิทยาลัยสามารถหารายได้เข้ากระเป๋าเป็นปรากฏการณ์ร่วมของมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศ ริมทางเดินเต็มไปด้วยเครื่องขายของอัตโนมัติ รถจักรยานสำหรับเช่า ท้ายรถขนส่งของมหาวิทยาลัยถูกประดับไปด้วยป้ายโฆษณา บนโต๊ะกินข้าวถูกปูหรือปิดด้วยโลโก้สินค้า พื้นที่ส่วนหนึ่งของหอสมุดกลายเป็นร้านกาแฟของทุนใหญ่ระดับชาติ แนวโน้มดังกล่าวแสดงว่า “แหล่งเรียนรู้เชิงประสบการณ์” และ ”พื้นที่ทำงานร่วมกัน” ที่สมสมัยกว่าห้องอ่านหนังสือทึมทึบก็คงจะกลายเป็นพื้นที่ทำกำไรให้กับสิ่งที่เรียกตัวเองว่ามหาวิทยาลัยเป็นแน่แท้
ประเด็นปัญหาว่าด้วยพื้นที่ร่วม ก็คือการที่มันไม่มีความเป็นส่วนรวม หากแต่คำว่าร่วมในนั้นมันเป็นแค่การรวมเอาลูกค้าแต่ละคนมานั่งรวมกันบนพื้นที่ส่วนตัวของทุน กลับกัน คำว่าห้องสมุดที่ไม่มีคำว่า “ร่วม” หรือ “รวม” อยู่ในนั้น กลับเป็นพื้นที่หายใจ พื้นที่ค้นคว้า พื้นที่พักตา และเป็นพื้นที่ดับกระหายที่ผู้บริหารไม่อยากเหลียวแล เพราะพื้นที่แห่งนี้ไม่สามารถทำกำไรระยะสั้นให้กับกลุ่มทุนได้ มันฟรี มันไม่สามารถบังคับความคิดได้อย่างสมบูรณ์ พวกเขาจึงต้องพยายามเพิ่มการสอดส่อง เพิ่มข้อจำกัด เพิ่มการกีดกัน ลดการเข้าถึง ลดการจัดเก็บ และหาทางทำลายแหล่งความรู้นอกคอกทุกวิถีทาง สิ่งเหล่านี้มาในรูปเครื่องจักรอันทันสมัยคอยตรวจบัตรตรงทางเข้า การออกแบบที่โดดเด่นซึ่งลดพื้นที่จัดเก็บหนังสือ และการ “แจก” หนังสืออย่างน่าตื่นตาเพื่ออำพรางการทำลายหนังสือของส่วนรวม เหล่านี้คือการทุบทำลายความเป็นส่วนรวมในนามของ “พื้นที่ร่วมกัน” เป็นพื้นที่สำหรับ “ฉัน” – นายทุน อำมาตย์ และลูกค้าผู้มีเงินตรามาประเคน – เท่านั้นที่จะได้เข้าใช้ ได้มีอภิสิทธิ์กว่าใคร ๆ นี่คงไม่ใช่พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในความคิดของใครหลาย ๆ คน
มหาวิทยาลัยกลายร่างเป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดที่มีหลายภาคในตัวเดียว มหาวิทยาลัยเป็นนายจ้างที่จ้างแรงงานจำนวนมาก (ด้วยเงินจากทั้งมหาวิทยาลัยและรัฐ) ให้เข้ามาทำงาน ไม่ว่าจะศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ หรือคนตัดหญ้าข้างถนน – ที่มักถูกจ้างอย่างเปราะบางมาอีกทอด – ล้วนแต่เป็น คนงานรับจ้าง ทั้งสิ้น คนงานทั้งหมดถูกรวมเข้ามาเพื่อสร้างสินค้าที่สัญญาว่าจะให้บริการด้านการศึกษาที่ดีเลิศเพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญหน้ากับสังคมทุนนิยมอันผันผวน มหาวิทยาลัยพยายามเปลี่ยนทุกอณูของมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นช่องทางการหากำไร ไม่เว้นแม้แต่ตัวนักศึกษา นักศึกษาไม่ใช่แค่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า แต่ตัวนักศึกษากลายเป็นสินค้าที่เอาไว้ล่อให้บรรดานายทุนและนายทุนตัวจ้อยเข้ามาร่วมลงทุนหรือเข้ามาเช่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยประพฤติตัวเยี่ยงอำมาตย์ตัวจ้อยปล่อยเช่าที่ดินเพื่อเก็บกินค่าเช่า หารายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่เรียกเก็บจากทั้งคนงานของตัวเองและนักศึกษา รวมทั้งใช้อำนาจกำหนดชีวิตความเป็นไปของคนในมหาวิทยาลัยราวกับตัวเองเป็นเจ้าเหนือหัวกำหนดชี้เป็นชี้ตายกระทั่งเวลาที่นักศึกษาจะเดินเข้าหรือออกจากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งมีชีวิตประหลาดที่ทำตัวเป็นทุกอย่างในโลก ยกเว้นอยู่อย่างเดียวคือ สถาบันการศึกษาที่มุ่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ดี
ข้ออ้างหลักที่ปรากฏบ่อยครั้งเมื่อมหาวิทยาลัยต้องการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างคือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและความจำเป็นของการพัฒนา ข้ออ้างทั้งสองเป็นข้ออ้างแบบครอบจักรวาลที่ยกมาทีไรก็ถูกต้องเสียทุกที ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องมาจากอำนาจการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยกระจุกตัวอยู่ในมือคณะผู้บริหาร ตั้งแต่สภามหาวิทยาลัย ไล่ลงมาจนถึงภาควิชา ซึ่งเกือบทั้งหมดมีอาชีพในนามคืออาจารย์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจึงเป็นเหมือนองค์กรลับที่จัดลำดับอำนาจการตัดสินใจลดหลั่นกันไปตามช่วงชั้น แต่การจัดลำดับขั้นนี้ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์อื่นใดนอกจากกีดกันคนส่วนมากออกจากอำนาจการตัดสินความเป็นไปของมหาวิทยาลัย ข้อมูลถูกเปลี่ยนให้เป็นอำนาจ ตัวเลขงบประมาณ รายรับ รายจ่าย เงินคงเหลือ ฯลฯ ล้วนเก็บซ่อนอยู่เพียงภายในแวดวงผู้บริหาร ผู้ไม่รู้โปรดหุบปาก การพัฒนาจำเป็นต้องเกิดเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดหากระบวนการเรียนรู้ที่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าโง่ไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงดีอย่างไรก็อย่าอ้าปากเลย ฉันเป็นผู้บริหารที่เปิดกว้างรับฟังและสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้คนจำนวนมากก็เห็นด้วย อย่าเอาเสียงส่วนน้อยมาทัดทานเลย ฯลฯ ข้ออ้างเหล่านี้ไม่เคยมีความหมายเลยเมื่ออำนาจการตัดสินใจว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือสิ่งไหนสมควร ซึ่งอันที่จริงต้องมาจากการตัดสินใจร่วมกันของคนทั้งประชาคม กลับไปอยู่ในกำมือของอำมาตย์ที่แฝงตัวในคราบ ‘อาจารย์’
โครงสร้างอำนาจที่เป็นลำดับขั้นนี่เองที่เป็นเสาหลักสำคัญซึ่งคอยค้ำจุนให้พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตประหลาดที่มีหลายภาคยังสามารถดำรงอยู่ได้ มันดำรงอยู่ด้วยความขัดแย้ง ดำรงอยู่ด้วยหน้ากากของการอนุรักษ์พร้อม ๆ ไปกับหน้ากากของการพัฒนา มันสวมหน้ากากของศักดินา พร้อม ๆ กับหน้ากากของทุน มันสวมหน้ากากของคำว่ามีวิสัยทัศน์ พร้อม ๆ กับกระดิ่งห้อยจมูกที่ถูกจูงโดยกลุ่มทุน ความขัดแย้งของมันเป็นความขัดแย้งลวงหลอก ปิดบังความขัดแย้งที่เป็นจริง ระหว่างความเป็นส่วนรวมของคนหมู่มาก กับความเป็นส่วนตัวของกลุ่มคนเพียงหยิบมือ ที่ถือหางกันไปมา และคิดว่าระบบห่วงโซ่บรรณาการนี้จะไม่มีวันจบสิ้น
กระนั้น ประชาคมสีม่วงก็ไม่เคยยินยอมโดยง่าย เหตุการณ์การเข้ายึดหอศิลป์เพื่อจัดแสดงงานอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน มหาวิทยาลัยที่กำลังถูกบ่อนทำลายลงโดยอำมาตย์จำนวนน้อยนี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการต่อสู้แย่งชิงตั้งแต่ก่อนมันถือกำเนิดเกิดขึ้นมาบนพื้นดินล้านนาเสียด้วยซ้ำ มหาวิทยาลัยที่ประชาคมล้านนาเรียกร้องให้เกิดขึ้นเพื่อรับใช้และเป็นพื้นที่ของส่วนรวมยังคงมีจิตวิญญาณของการขัดขืนและสร้างสรรค์ปกคลุมอยู่เสมอมา พลังที่วนเวียนไม่หายไปไหนเหล่านี้อาจสว่างเจิดจ้าเสียจนตาที่พร่ามัวของผู้บริหารแว่นเตอะคงมองไม่เห็นเสียกระมัง เราจะหวังอะไรกับกลุ่มชนชั้นนำอำมาตย์ที่มองไม่เห็นแม้กระทั่งหมอกควันที่บ่อนทำลายสุขภาพปอดของประชาคม เราจะหวังให้เขาเห็นควันไฟที่กำลังลุกโชนท่วมทุ่งที่พวกเขากำลังเสวยภัตตาหารสีเขียวแสนอร่อยอยู่งั้นฤๅ?
เมื่อผู้บริหารกำลังหยิบยื่นพื้นที่แห่งทุนในนามพื้นที่ “ทำงานร่วมกัน” ให้กับเราชาวประชาคม โดยทุบทำลายพื้นที่ส่วนรวมที่เหลือน้อยอยู่แล้วนั้น พวกเขาไม่ได้นึกเฉลียวใจเลยว่า บุตรหลานทั้งหลายของเขาเหล่านั้นอาจนำพามันไปสุดทางก็ได้ หากท่าน “เคลียร์” พื้นที่ว่างให้พวกเขาใช้ ก็โปรดระวังว่าพวกเขาจะใช้มันเป็นฐานทำการเพื่อ “ทำงานร่วมกัน” โค่นล้มท่านออกจากบัลลังก์ ดังที่กำลังดำเนินการอยู่ในหมู่วิจิตรสิ้นนี้ก็เป็นได้
ขอท่านโปรดระวัง และรีบถอยก่อนที่ท่านจะเจอป้ายประกาศว่า “มช. เปิดอลังการวันนี้ อาคารศูนย์ทำการครบวงจร ขนมวลชนมาเพียบ รวมความคิดก้าวหน้าไว้เพียบ จุคนได้นับพัน” เพื่อเปลี่ยนห้องผู้บริหาร คณบดี และพื้นที่ส่วนตัวของอำมาตย์ ให้กลายเป็นห้องสมุดน้อยใหญ่เข้าแทนที่ และไม่ให้มีพื้นที่ของท่านในมหาวิทยาลัยของประชาคมอีกเลย.
by Anonymous | Nov 4, 2021 | Articles บทความ, Translation, ทฤษฎี Theory, เศรษฐศาสตร์ Economics, ไทย
ผู้เขียน เดวิด ฮาร์วีย์
ผู้แปล ธีรภัทร อรุณรัตน์ (Teerapat Arunrat)
บทความต้นฉบับ https://jacobinmag.com/2020/04/david-harvey-coronavirus-pandemic-capital-economy/
บรรณาธิการโดย Editorial Team
เดวิด ฮาร์วีย์: จินตนาการถึงสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม
ผมเขียนบทความนี้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโคโรนาไวรัสในนครนิวยอร์ก เป็นช่วงเวลายากลำบากว่าเราควรตอบสนองต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร โดยปกติแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ต่อต้านทุนนิยมอย่างเราคงจะอยู่บนท้องถนนเพื่อแสดงพลังและกระตุ้นเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
กลับกัน ผมกำลังอยู่ในช่วงของการโดดเดี่ยวตนเองที่น่ารำคาญใจในช่วงเวลาที่เรียกหาการกระทำร่วม (collective forms of action) ดังที่คาร์ล มาร์กซ์ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเราไม่อาจเขียนประวัติศาสตร์ได้ในสถานการณ์ที่พวกเราเลือก ดังนั้นเราต้องร่วมกันหาทางที่ดีที่สุดเพื่อปรับใช้กับโอกาสที่พวกเรามีอยู่ในมือ
สถานการณ์ของตัวผมนั้นเรียกได้ว่าเดือดร้อนน้อยกว่าคนอื่น ผมยังทำงานต่อได้จากที่บ้าน ผมยังไม่สูญเสียหน้าที่การงาน และยังได้รับเงินเดือน ที่ต้องทำคือพยายามไม่ให้ติดไวรัสเท่านั้น
ด้วยอายุและเพศสภาพทำให้ผมตกอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นการไม่ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงจำเป็น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ผมมีเวลามากมายที่จะคิดทบทวนและเขียนงาน นอกเหนือจากเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอโปรแกรม Zoom น่ะนะ นอกจากการย้ำคิดเกี่ยวกับสถานการณ์เฉพาะในนิวยอร์ก ผมคิดว่าตัวเองน่าจะเสนอการคิดทบทวนบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นไปได้อื่นของสังคมและตั้งคำถามว่า ผู้ที่ต่อต้านทุนนิยมควรคิดอ่านสถานการณ์เช่นนี้กันอย่างไร

source: Verso
หน่อเนื้อของสังคมใหม่
ผมจะขอเริ่มด้วยการยกความเห็นของมาร์กซ์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในขบวนการปฏิวัติที่ล้มเหลวของคอมมูนปารีสในปี 1871 มาร์กซ์เขียนไว้ ดังนี้ [ในถ้อยแถลงของมาร์กซ์ต่อสภาสามัญ (General Council) ของสมาคมกรรมกรสากล (International Working Men’s Association)] ซึ่งถูกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจุลสาร (pamphlet) ภายหลังจากความพ่ายแพ้ของคอมมูนปารีสในปี 1871 – ผู้แปล]
ชนชั้นแรงงานไม่ได้คาดหวังปาฏิหาริย์จากคอมมูน แต่เป็นสังคมอุดมคติที่ชาวบ้านจะได้ทดลองสร้างระเบียบใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง พวกเขารู้ว่าหากจะทำให้การปลดปล่อยเกิดขึ้นจริง โดยไปในทางเดียวกับรูปแบบที่เหนือกว่าที่สภาพสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ตามอัตภาพที่เป็นจริง พวกเขาต้องผ่านการต่อสู้อันยาวนาน ผ่านชุดกระบวนการสำคัญซึ่งเปลี่ยนแปลงทั้งสถานการณ์และตัวมนุษย์เอง พวกเขาไม่มีอุดมคติที่จะตระหนักถึงนอกเหนือจากปลดปล่อยหน่อเนื้อของสังคมใหม่ให้เป็นอิสระจากสภาวะที่สังคมกระฎุมพีเดิมกำลังพังทลายนั้นให้กำเนิดออกมา
ผมจะขอตั้งข้อสังเกตต่อข้อความนี้สักหน่อย อย่างแรก แน่นอนว่าอย่างไรก็ตามมาร์กซ์มีจุดยืนค้านต่อแนวคิดว่าด้วยโลกอุดมคติสังคมนิยม (socialist utopia) ซึ่งแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1840-60 ในฝรั่งเศส นี่เป็นหลักคิดสำคัญของนักคิดอย่าง ชาร์ลส์ ฟูเรียร์ (Charles Fourier) อองรี เดอ แซงซิมอง (Henri de Saint-Simon) เอเตียง คาเบต์ (Étienne Cabet) หลุยส์ ออกุสต์ บลังกี (Louis Auguste Blangui) ปิแอร์ โจเซฟ ปรูดอง (Pierre-Joseph Proudhon) และ คนอื่นๆ
มาร์กซ์เห็นว่าพวกนักสังคมนิยมอุดมคติคือพวกเพ้อฝัน และไม่ใช่ชาวบ้านที่จะลงมือเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ของแรงงาน (conditions of labor) จริงๆ ในห้วงเวลาและพื้นที่ทางกายภาพปัจจุบัน เพื่อจะเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ ณ ที่แห่งนี้และช่วงเวลานี้ คุณจำเป็นต้องจับภาพลักษณะที่แท้จริงของสังคมทุนนิยมในปัจจุบันให้ได้
แต่มาร์กซ์ก็แสดงความเห็นอย่างชัดเจนว่าความพยายามปฏิวัติต้องเน้นน้ำหนักไปที่การปลดแอกตัวตน (self-emancipation) ของผู้ใช้แรงงาน ส่วนที่ว่า “ตัวตน (self)” ในสมการนี้นี่แหละที่เป็นหัวใจสำคัญ ความพยายามอะไรก็ตามที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนั้นต้องการการเปลี่ยนแปลงของตัวตน ดังนั้นผู้ใช้แรงงานจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนของพวกเขาเองด้วยเช่นกัน จุดนี้เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของมาร์กซ์ในช่วงเวลาที่คอมมูนปารีสเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์ได้ชี้ให้เห็นอีกเช่นกันว่าตัวทุนเองนั้นก่อให้เกิดความเป็นไปได้มากมายต่อการพลิกผันเปลี่ยนแปลง และเมื่อผ่านความพยายามต่อสู้อย่างยาวนาน มันจึงเป็นไปได้ที่จะ “ปลดปล่อย” คุณสมบัติที่จำเป็นต่อสังคมใหม่ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะได้ปลดเปลื้องจากการใช้แรงงานที่แปลกแยก (alienated labor) หน้าที่ของการปฏิวัติคือการปลดปล่อยหน่อเนื้อสำหรับสังคมใหม่นี้ ซึ่งมีอยู่ในครรภ์ของระเบียบสังคมกระฏุมพีคร่ำครึที่กำลังจะพังทลาย
ปลดปล่อยศักยภาพให้เป็นอิสระ
เอาล่ะ มาตกลงกันก่อน สมมติว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่สังคมกระฎุมพีคร่ำครึกำลังล่มสลาย แน่นอนทีเดียวว่ามันก่อกำเนิดสิ่งน่าเกลียดน่ากลัวมากมาย — อย่างการเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดกลัวต่างชาติ— ซึ่งผมก็ไม่ได้อยากเห็นมันถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระ แต่มาร์กซ์ไม่ได้ชี้ว่าจะต้อง “ปลดปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างภายในระเบียบสังคมคร่ำครึและน่าขยะแขยงที่กำลังพังครืนลงมา” สิ่งที่เขากล่าวคือพวกเราจำเป็นต้องเลือกสรรแง่มุมที่ช่วยหนุนการปลดปล่อยแรงงานและชนชั้นแรงงานในสังคมกระฎุมพีที่กำลังพังครืน
คำถามที่ตามมาคือ แล้วความเป็นไปได้เหล่านั้นคืออะไรและมาจากที่ไหน? มาร์กซ์ไม่ได้ขยายความประเด็นนี้ในจุลสารเกี่ยวกับคอมมูนปารีส แต่งานด้านทฤษฎีชิ้นก่อนหน้าส่วนมากของเขาได้อุทิศให้กับการชี้ให้เห็นว่าอะไรกันแน่คือความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับชนชั้นแรงงาน หนึ่งในพื้นที่ที่มาร์กซ์ชี้ให้เห็นอย่างละเอียดละอออยู่ในหนังสืออันยิ่งใหญ่ ซับซ้อน และเป็นข้อเขียนไม่สมบูรณ์ชื่อว่า Grundrisse (กรุนด์ริสเซ) ซึ่งมาร์กซ์เขียนในช่วงวิกฤตของชีวิตปี 1857-58
บางข้อความในงานชิ้นนี้ฉายความกระจ่างให้เราเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่มาร์กซ์คิดในการแสดงจุดยืนปกป้องการเกิดขึ้นของคอมมูนปารีส แนวความคิดเรื่องการ “ปลอดปล่อยให้เป็นอิสระ” เกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสังคมทุนนิยมของชนชั้นกระฎุมพีในช่วงเวลานั้น นี่เป็นสิ่งที่มาร์กซ์ลำบากตรากตรำอย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจ
ในหนังสือ Grundrisse มาร์กซ์พิจารณาในรายละเอียดของประเด็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพลวัตด้านเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับทุนนิยม สิ่งที่มาร์กซ์เผยให้เห็นคือในสังคมทุนนิยมนั้น เนื้อแท้ของมันจะให้น้ำหนักอย่างมากกับการพัฒนาสิ่งใหม่ (innovation) และเน้นน้ำหนักอย่างมากที่การสร้างความเป็นไปได้ใหม่ด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ เพราะเหตุนี้ ถ้าผมเป็นนายทุนคนหนึ่ง และถ้าผมกำลังแข่งขันกับนายทุนคนอื่นอยู่ ผมจะได้รับกำไรส่วนเกินถ้าเทคโนโลยีที่ผมถือครองเหนือกว่าของคู่แข่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ นายทุนทุกคนจึงมีแรงจูงใจจะขวนขวายหาเทคโนโลยีที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าของบริษัทอื่นที่กำลังแข่งขันกันอยู่
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ พลวัตด้านเทคโนโลยีจึงผูกติดกับหัวใจของสังคมทุนนิยม มาร์กซ์ตระหนักถึงส่วนนี้ตั้งแต่ในงานเขียน Communist Manifesto [แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ เขียนในปี 1848] เป็นต้นมา นี่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่อธิบายลักษณะสำคัญของพลวัตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของทุนนิยม
ทุนนิยมจะไม่มีทางพึงพอใจกับเทคโนโลยีที่มีอยู่เลย มันจะตะบี้ตะบันพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะว่ามันจะตบรางวัลให้กับนายทุน บริษัท หรือสังคมที่ถือครองเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าอยู่เสมอ รัฐ ชาติ หรือกลุ่มอำนาจใดก็ตามที่ถือครองเทคโนโลยีที่ฉลาดล้ำและไม่หยุดนิ่งจะเป็นผู้รุดหน้าเหนือคนอื่น ดังนั้นพลวัตทางเทคโนโลยีได้ถูกวางรากในโครงสร้างระดับโลกของทุนนิยม และมันเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม

นวัตกรรมทางเทคโนโลยี
มาร์กซ์ชี้ให้เห็นแง่มุมต่อประเด็นนี้อย่างกระจ่างแจ้งและน่าสนใจ หากเราจินตนาการถึงกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยี เรามักจะนึกถึงใครสักคนที่ประดิษฐ์ประดอยนั่นนี่และมุ่งพัฒนากลไกส่วนประกอบของสิ่งที่กำลังรังสรรค์ขึ้นอยู่ หมายความว่าพลวัตทางเทคโนโลยีจะเฉพาะเจาะจงกับโรงงาน ระบบการผลิต หรือสถานการณ์นั้นๆ
แต่สิ่งที่เป็นคือ แท้จริงแล้วเทคโนโลยีต่างส่งผลสืบเนื่องถึงกันจากปริมณฑลการผลิตหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งที่ถือครองได้ทั่วไป (generic) เช่น เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีพร้อมสำหรับใครก็ตามที่ต้องการใช้จะด้วยจุดประสงค์อะไรก็ตาม เทคโนโลยีจักรกลมีพร้อมสำหรับผู้คนและโรงงานทุกประเภท
มาร์กซ์สังเกตเห็นจุดนี้ในช่วงทศวรรษ 1820, 1830 และ 1840 ในเกาะอังกฤษ การรังสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ได้กลายเป็นภาคธุรกิจอิสระและไม่อยู่ภายใต้ธุรกิจอื่น หมายความว่า การพัฒนาเทคโนโลยีจะไม่ขึ้นอยู่กับใครสักคนที่ผลิตสิ่งทอหรือสินค้าคล้ายคลึงกันซึ่งใส่ใจการสรรหาเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานที่จ้างทำงานอยู่ ในทางกลับกันผู้ประกอบการจะนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำไปใช้งานได้ในทุกหัวระแหง
ตัวอย่างแรกเริ่มที่ดีที่สุดของประเด็นนี้ในช่วงชีวิตของมาร์กซ์คือเครื่องจักรไอน้ำ มีการใช้งานที่หลากหลายมากตั้งแต่ท่อบำบัดน้ำเสียจากเหมืองถ่านหินจนถึงการพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำและเพื่อก่อสร้างทางรถไฟ ในขณะเดียวกันก็ถูกประยุกต์ใช้กับเครื่องทอผ้าในโรงงานสิ่งทอ ดังนั้น ถ้าคุณอยากจะทำความเข้าใจกลไกธุรกิจของนวัตกรรม ภาควิศวกรรมและอุตสาหกรรมเครื่องมือจักรกลเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเลยล่ะ
ภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ — ดังตัวอย่างที่ปรากฎขึ้นรายรอบเมืองเบอร์มิงแฮม [ในประเทศอังกฤษ] ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องจักรกล — จึงแปรเปลี่ยนไปในแนวทางที่ทำการผลิตไม่เพียงแต่เทคโนโลยีประกอบการผลิตใหม่ๆ แต่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งในช่วงชีวิตของมาร์กซ์ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีได้กลายเป็นภาคธุรกิจที่เป็นอิสระในตัวมันเองเรียบร้อยแล้ว
วิ่งวนอยู่ที่จุดเดิม
ในหนังสือ Grundrisse มาร์กซ์เสาะสำรวจในรายละเอียดของคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนธุรกิจ เมื่อนวัตกรรมสร้างพื้นที่ตลาดหน้าใหม่มากกว่าทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางเทคโนโลยีในตลาดเดิมที่มีอยู่เฉพาะ การพัฒนาเทคโนโลยีจึงกลายเป็นคุณสมบัติที่เป็นตัวกำหนดพลวัตของสังคมทุนนิยม
ผลกระทบสืบเนื่องนั้นมีกว้างขวาง ผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือเทคโนโลยีไม่มีวันจะหยุดอยู่ที่เดิม จะไม่มีทางหยุดนิ่งกับที่และจะตกรุ่นไปอย่างรวดเร็ว การวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ จะปวดเศียรเวียนเกล้าและใช้ค่าใช้จ่ายมากทีเดียว การตกรุ่นอย่างทวีความรวดเร็วกลายเป็นหายนะของบริษัทในปัจจุบัน
กระนั้นก็ตาม ทุกภาคส่วนการผลิตของสังคม — ทั้งด้านอิเล็กทรอนิกส์ เภสัชกรรม ชีววิศวกรรม และอื่นๆ — ได้จำยอมต่อการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตัวนวัตกรรมเอง ใครก็ตามที่พัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่สอดรับกับภาพจินตนาการได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ แทปเล็ต หรือมีคุณสมบัติใช้งานได้หลากหลายเช่นชิปคอมพิวเตอร์ จะกลายเป็นคนกุมชัย ดังนั้นแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีในตัวมันเองได้กลายมาเป็นภาคธุรกิจนั้นจึงพัฒนามาเป็นประเด็นศูนย์กลางของสิ่งที่มาร์กซ์ต้องการทำความเข้าใจว่าสังคมทุนนิยมเป็นอย่างไร
นี่เป็นจุดที่ทำให้ระบบทุนนิยมแตกต่างจากระบบการผลิตอื่นทั้งหมด ความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรมมีให้เห็นทั่วไปในประวัติศาสตร์มนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็เห็นได้ในจีนยุคโบราณ แม้ว่าจะอยู่ในระบบเจ้าขุนมูลนาย แต่สิ่งที่เป็นความเฉพาะในรูปแบบการผลิตแบบทุนนิยมคือข้อเท็จจริงเรียบง่ายที่ว่าเทคโนโลยีกลายมาเป็นธุรกิจ ผลผลิตที่ถือครองได้ทั่วไปถูกจำหน่ายให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคในลักษณะเดียวกัน
ความเฉพาะเจาะจงนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่กำหนดว่าสังคมทุนนิยมจะรุดหน้าต่อไปอย่างไร
สิ่งเติมต่อของเครื่องจักร
มาร์กซ์ชี้ให้เห็นต่อไปถึงจุดสำคัญที่แยกขาดการพัฒนาของระบบทุนนิยมออกจากรูปแบบการผลิตอื่น การจะทำให้เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนธุรกิจได้นั้น คุณต้องหาหนทางปลุกปั้นรูปแบบชุดความรู้สักวิถีทางหนึ่งให้ได้ จุดนี้นำมาซึ่งการปรับใช้ชุดความคิดแบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กลายเป็นวิถีทางทำความเข้าใจโลกที่แยกขาดจากสิ่งอื่น
การสรรค์สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ปรากฎในพื้นที่สาธารณะจึงผูกติดกับการเพิ่มขึ้นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะสาขาวิชาทางความรู้และวิชาการศึกษา มาร์กซ์มองเห็นกระบวนการที่การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการสรรค์สร้างความรู้รูปแบบใหม่ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน
จุดนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงอีกแง่มุมหนึ่งของธาตุแท้ของระบบการผลิตแบบทุนนิยม พลวัตทางเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับพลวัตในการผลิตความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้เชิงเทคนิคใหม่ๆ รวมทั้งผลิตสร้างความคิดความเข้าใจโลกแบบใหม่ที่แทบจะหน้าตาไม่เหมือนเดิม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคล้องรับกับการผลิตและการปลุกปั้นความรู้และความเข้าใจที่ต่างไปจากเดิม จนในที่สุด สถาบันการศึกษาใหม่ยกแผงอย่าง MIT (Massachusetts Institute of Technology – สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) และ Cal Tech (California Institute of Technology – สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย) จึงต้องถูกตั้งขึ้นเพื่อรองรับกระแสการพัฒนาเช่นนี้
มาร์กซ์ตั้งประเด็นต่อไปว่า การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ส่งผลอะไรต่อกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยม และจะส่งผลอย่างไรต่อสภาวะการใช้แรงงาน (และตัวแรงงานเอง) ที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตเช่นนี้? ในยุคก่อนทุนนิยม สักประมาณศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 16 โดยทั่วไปแล้วจะเป็นคนที่ควบคุมปัจจัยการผลิตคือชนชั้นแรงงาน — เครื่องมือที่จำเป็นต่อการผลิต — และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ ผู้ใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญกลายเป็นผู้ถือครองหนึ่งเดียวของความรู้และความเข้าใจรูปแบบเฉพาะ ดังที่มาร์กซ์ได้สังเกตว่ามันคือศิลปะรูปแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากเราขยับเข้าใกล้ระบบการผลิตในโรงงาน หรือเข้าใกล้โลกร่วมสมัยมากขึ้นเท่าไร การผลิตเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นรูปแบบหลักอีกต่อไปแล้ว ทักษะของผู้ใช้แรงงานตามขนบเดิมไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีอำนาจเหนือไปแล้ว เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และความรู้แบบใหม่ได้ถูกผสานเข้ากับเครื่องจักร และนั่นทำให้ศิลปะได้มลายหายไป
และมาร์กซ์ ในส่วนหนึ่งของข้อเขียนในหนังสือ Grundrisse อันน่าตื่นตาตื่นใจ — อยู่ในหน้า 650 ถึง 710 ของเล่มที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Penguin เผื่อคุณสนใจตามอ่าน — ได้กล่าวถึงหนทางที่เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆและองค์ความรู้ผนวกรวมเข้าไปในเครื่องจักร ความรู้เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหัวของผู้ใช้แรงงานอีกต่อไปแล้ว และผู้ใช้แรงงานก็ถูกผลักไสไปอีกด้านให้เป็นสิ่งเติมต่อของเครื่องจักร เป็นแค่คนคุมการทำงานของเครื่องจักรเท่านั้น สติปัญญาและความรู้ทั้งปวงที่เคยอยู่ในอุ้งมือของผู้ใช้แรงงาน และสถานะที่เคยรักษาไว้ในฐานะผู้กุมอำนาจทางการผลิตบางอย่างที่มีความสัมพันธ์กับตัวทุนเอง ทั้งหมดนี้ได้มลายหายไป
นายทุนซึ่งเคยต้องการทักษะทั้งหลายของผู้ใช้แรงงานนับจากนี้ได้หลุดจากพันธนาการนั้นไปแล้ว และทักษะเหล่านั้นได้มาผนวกรวมเข้ากับเครื่องจักร องค์ความรู้ที่ผลิตสร้างผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลั่งไหลเข้าสู่ตัวเครื่องจักร และเครื่องจักรได้กลายเป็น “จิตวิญญาณ” ของพลวัตทุนนิยม นั่นคือสถานการณ์ที่มาร์กซ์กำลังขยายความให้เห็นภาพ

source: leftvoice.org
การปลดปล่อยสภาวะการใช้แรงงาน
พลวัตของสังคมทุนนิยมได้พัฒนามาสู่สภาวะที่พึ่งพาการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างไร้สิ้นสุดซึ่งขับเคลื่อนโดนการปลุกปั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีความสำคัญ มาร์กซ์มองประเด็นนี้อย่างเด็ดขาดในช่วงชีวิตของเขา เขาเขียนวิเคราะห์เรื่องราวพวกนี้ตั้งแต่ปี 1858 แล้ว! แต่กลับมาช่วงเวลาปัจจุบัน แน่นอนที่สุดว่าเรากำลังอยู่ในสภาวการณ์ที่ประเด็นปัญหาเรื่องนี้ได้ทวีความรุนแรงและมีความสำคัญ
ปมปัญหาเรื่อง AI (articifical intelligence – ปัญญาประดิษฐ์) คือเวอร์ชันยุคปัจจุบันของสิ่งที่มาร์กซ์กำลังกล่าวถึง พวกเราจำเป็นต้องเข้าใจถึงความลึกตื้นหนาบางว่า AI ได้ถูกพัฒนาผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร รวมถึงจะถูกประยุกต์ใช้ (หรือมีแนวโน้มจะถูกประยุกต์ใช้) ในภาคการผลิตอย่างไร ผลลัพธ์ที่เห็นชัดแจ้งที่สุดคือการแทนที่ผู้ใช้แรงงาน และความจริงแล้วมากไปกว่านั้นคือการถอดเขี้ยวเล็บและบั่นทอนมูลค่าในกำลังการผลิตของผู้ใช้แรงงานที่เป็นการครองความสามารถของในการประยุกต์ใช้จินตนาการ ทักษะ และความเชี่ยวชาญเฉพาะในกระบวนการผลิต
สิ่งนี้ทำให้มาร์กซ์ได้ให้ความเห็นในหนังสือ Grundrisse ไว้ดังนี้ ผมจะขอยกมาโดยตรงเลยเพราะคิดว่ามันน่าตื่นตาตื่นใจมากๆ
การเปลี่ยนผ่านของกระบวนการผลิตจากขั้นตอนการใช้แรงงานธรรมดากลายเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้แรงขับทางธรรมชาติ (forces of nature) อยู่ภายใต้อาณัติและบีบบังคับให้ขับเคลื่อนภายใต้ความต้องการของมนุษย์นั้น การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ปรากฎให้เห็นถึงต้นทุนคงที่ [fixed capital – ในความหมายของเครื่องจักรในกระบวนการผลิต – ผู้แปล] ซึ่งตรงข้ามกับแรงงานที่มีชีวิต ดังนั้นอำนาจทั้งหมดของแรงงานจึงสับเปลี่ยนมาเป็นอำนาจของทุน
องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ได้สั่งสมอยู่ในเครื่องจักรที่อยู่ใต้บงการของนายทุนอีกทบหนึ่ง อำนาจในการผลิตของแรงงานถูกโอนถ่ายไปอยู่ในต้นทุนคงที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกตัวแรงงาน ผู้ใช้แรงงานเป็นเพียงแค่ส่วนที่ถูกทดแทนได้ ดังนั้นต้นทุนคงที่จึงกลายมาเป็นตัวที่บ่งชี้ถึงองค์ความรู้และปัญญาร่วมของสังคมเมื่อกล่าวถึงด้านการผลิตและการบริโภค
ขยับไปอีกก้าวหนึ่ง มาร์กซ์ชี้ไปที่ประเด็นสำคัญว่าอะไรคือสิ่งที่ระเบียบสังคมกระฎุมพีที่ใกล้สูญสลายจะให้กำเนิดออกมา ที่จะเป็นส่วนเติมเต็มเพื่อประโยชน์ของแรงงาน สิ่งนั้นก็คือสถานการณ์ที่ตัวทุนเอง — “ที่แม้จะดูไม่หวังผลว่าจะเป็นเช่นนี้ —ได้ลดภาระของการใช้แรงงานมนุษย์ให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด และนี่จะส่งผลดีอย่างยิ่งยวดต่อแรงงานที่ได้รับการปลดปล่อย และเป็นเงื่อนไขของการปลดปล่อย” ในมุมของมาร์กซ์ การเฟื่องฟูของเครื่องจักรอัตโนมัติหรือเทคโนโลยี AI ได้สร้างเงื่อนไขและความเป็นไปได้สำหรับการปลดปล่อยแรงงาน
การพัฒนาตัวตนอย่างเสรี
ในส่วนหนึ่งของข้อเขียนของมาร์กซ์ที่ผมอ้างถึงในจุลสารว่าด้วยคอมมูนปารีสนั้น ประเด็นว่าด้วยการปลดปล่อยตัวเองของสภาวะการใช้แรงงานและผู้ใช้แรงงานเป็นจุดสำคัญ สภาวการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องโอบรับเอาไว้ แต่อะไรกันล่ะที่ทำให้สภาวการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ต่อการปลดแอก
คำตอบนั้นเรียบง่าย องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหลายเหล่านี้กำลังเพิ่มผลิตภาพรวมของสังคม (social productivity) ของแรงงาน ผู้ใช้แรงงานหนึ่งคนที่ดูแลเครื่องจักรเหล่านั้นจะทำการผลิตสินค้าจำนวนมากได้ในเวลาการผลิตที่แสนสั้น กลับไปที่มาร์กซ์อีกครั้งในหนังสือ Grundrisse ที่ว่า
หากมาถึงจุดที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้พัฒนามาถึง การก่อร่างสร้างตัวของความมั่งคั่งที่แท้จริงมาถึงจุดที่พึ่งพาทั้งเวลาการทำงานของแรงงาน (labor time) และจำนวนแรงงานที่จ้างงานในปริมาณน้อยลงเมื่อเทียบกับความสามารถของหน่วยการผลิต (power of the agencies) ที่ขับเคลื่อนในช่วงกระบวนการผลิต ซึ่ง “ประสิทธิผลอันทรงพลัง” ในตัวมันเองนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับสัดส่วนของแรงงานที่กระทำโดยตรงในกระบวนการผลิต แต่ [ประสิทธิผล] จะขึ้นอยู่กับสถานะทั่วไปขององค์ความรู้และการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการประยุกต์ใช้องค์ความรู้นี้เข้ากับการผลิต … ความมั่งคั่งที่แท้จริงฉายภาพตัวมันเองออกมา —และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็เผยให้เห็นถึง— ความแตกต่างอันน่าหวาดกลัวระหว่างเวลาการทำงานของแรงงานที่ใช้ไป กับผลผลิตที่ได้ออกมา
แต่ต่อมา — และมาร์กซ์ก็ได้อ้างถึงนักสังคมนิยมสายริคาร์เดียน [David Ricardo (1772 – 1823) นักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิคชาวอังกฤษที่มาร์กซ์ได้ศึกษาแนวคิดและวิพากษ์ไว้ในงานอย่าง Capital และ Grundrisse – ผู้แปล] ที่ปรากฎในช่วงเวลานั้น — เขากล่าวเพิ่มเติมดังนี้ “ชาติที่มั่งคั่งแท้จริง คือชาติที่มีชั่วโมงการทำงาน 6 ชั่วโมง ไม่ใช่ 12 ชั่วโมงต่อวัน ความมั่งคั่งไม่ใช่การมีอำนาจควบคุมเวลาทำงานส่วนเกิน… แต่คือเวลาว่างนอกเหนือจากเวลาที่ต้องใช้ในขั้นการผลิตโดยตรง สำหรับทุกปัจเจกชนและสังคมโดยรวม”
จุดนี้แหละที่ชี้ให้เห็นว่าทุนนิยมจะสร้างความเป็นไปได้สำหรับ “การพัฒนาตัวตนอย่างเสรีของปัจเจกชน” รวมไปถึงผู้ใช้แรงงาน และนอกจากนั้น ดังที่ผมได้เคยพูดถึงไปแล้ว และจะขอกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งว่ามาร์กซ์ได้เน้นย้ำตลอดๆว่าการพัฒนาตัวตนอย่างเสรีของปัจเจกนี่แหละที่เป็นจุดหมายปลายทางที่การกระทำร่วม (collective action) กำลังผลักดันให้เกิดขึ้น ความคิดที่แพร่หลายไปทั่วว่ามาร์กซ์พูดถึงแต่การกระทำร่วมและการกดทับความสำคัญของปัจเจกนั้นไม่ถูกต้อง
กลับกันต่างหาก มาร์กซ์เห็นสมควรกับการส่งเสริมการกระทำร่วมเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพสำหรับปัจเจกบุคคล เราจะกลับมาที่แนวคิดนี้อีกครู่หนึ่ง แต่ประเด็นเรื่องศักยภาพเพื่อการพัฒนาตัวตนอย่างเสรีของปัจเจกชนคือเป้าหมายสำคัญของสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่
การใช้แรงงานที่จำเป็นและไม่จำเป็น
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับ “การลดทอนการใช้แรงงานจำเป็นโดยรวม” นั่นก็คือปริมาณการใช้แรงงานที่จำเป็นต่อการผลิตซ้ำการใช้ชีวิตประจำวันในสังคม ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของการใช้แรงงานจึงแปลว่า ความจำเป็นพื้นฐานของสังคมจะได้รับการตอบสนองโดยง่ายดาย เงื่อนไขเช่นนี้จะอนุญาตให้มีเวลาว่างเหลือเฟือสำหรับการพัฒนาทางศิลปะและองค์ความรู้ที่มีศักยภาพเพียงพอจะเกื้อหนุนให้ปลดปล่อยปัจเจกชนเป็นอิสระ
แม้ช่วงแรกๆ จะเอื้อให้เกิดขึ้นในหมู่อภิสิทธิ์ชนไม่กี่คน แต่ท้ายที่สุดแล้วจะสร้างเวลาว่างเสรีให้กับทุกคน นั่นก็คือการปลดปล่อยปัจเจกชนให้เป็นอิสระที่จะทำสิ่งที่ปรารถนาเป็นจุดสำคัญ เพราะคุณตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานโดยใช้งานเทคโนโลยีที่ฉลาดล้ำได้แล้ว
แต่ปัญหาดังที่มาร์กซ์ชี้ให้เห็นก็คือ ตัวทุนนั่นเองคือ “ความย้อนแย้งอันไม่หยุดนิ่ง” ทุนจะกดให้เวลาการทำงานเหลือน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันอีกด้านก็ฉายภาพเวลาการทำงานว่าเป็นตัวชี้วัดและแหล่งที่มาเพียงหนึ่งเดียวของความมั่งคั่ง” ดังนั้นทุนจึงบั่นทอนเวลาทำงานในรูปแบบที่จำเป็น — นั่นคือสิ่งที่จำเป็นจริงๆ [ต่อการใช้ชีวิตของแรงงานและสังคมโดยรวม – ผู้แปล] — เพื่อไปเพิ่มในส่วนที่ล้นเกิน
ถึงจุดนี้ รูปแบบที่ล้นเกินคือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่ามูลค่าเพิ่ม (surplus value) คำถามก็คือใครจะเป็นคนที่กุมส่วนเกินนั้นไป ประเด็นปัญหาที่มาร์กซ์ชี้ให้เห็นคือไม่ใช่ว่ามูลค่าส่วนเกินไม่มีอยู่ แต่ไม่ได้มีอยู่สำหรับแรงงาน ขณะที่แนวโน้มก็คือ “ด้านหนึ่งมีเพื่อสร้างเวลาว่าง” ส่วนอีกด้านหนึ่งคือการ “เปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นแรงงานส่วนเกิน [surplus labor – แรงงานส่วนเกินที่เกินมาจากการใช้แรงงานจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิต – ผู้แปล]” เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน
มันไม่ถูกนำไปใช้สำหรับการปลดปล่อยผู้ใช้แรงงานตามที่ควรจะเป็น แต่ถูกใช้ไปกับการเสริมเติมแต่งอาภรณ์ของพวกกระฎุมพี และถูกใช้เพื่อสั่งสมความมั่งคั่งผ่านวิธีการดั้งเดิมภายในชนชั้นกระฎุมพีเอง
นี่คือความขัดแย้งที่เป็นหัวใจ “ความมั่งคั่งที่แท้จริงของชาติ” มาร์กซ์กล่าว “เราจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ได้อย่างไร นั่นก็คือ” เขากล่าวต่อไปว่า “คุณจะเข้าใจมันในรูปแบบของปริมาณเงินมหาศาลและอะไรทำนองนี้ทั้งหมดที่ใครสักคนมีอำนาจบงการ” แต่สำหรับมาร์กซ์ ดังที่เราได้รับรู้กันไปแล้วว่า “ชาติที่มั่งคั่งอย่างแท้จริงคือชาติที่ช่วงเวลาการทำงานในหนึ่งวันคือ 6 ชั่วโมง ไม่ใช่ 12 ชั่วโมง ความมั่งคั่งไม่ได้วัดกันที่อำนาจบงการเหนือแรงงานส่วนเกิน แต่เป็นเวลาว่างนอกเหนือจากเวลาที่จำเป็นที่ใช้ในการผลิตโดยตรงสำหรับทุกปัจเจกชนในสังคมโดยรวม”
หมายความว่า ความมั่งคั่งของสังคมใดก็ตามชี้วัดด้วยปริมาณเวลาว่างที่พวกเรามี เพื่อจะทำอะไรก็ได้ที่เราปรารถนาโดยไร้ซึ่งโซ่ตรวนที่มาจากความจำเป็นพื้นฐานในชีวิตของเรามีเพียงพอแล้ว และนี่คือข้อโต้แย้งหลักของมาร์กซ์ คุณต้องมีขบวนการเคลื่อนไหวร่วมเพื่อยืนยันให้มั่นใจว่าสังคมหน้าตาเช่นนั้นจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้ แต่อะไรที่มาขวางทางพวกเรา แน่นอน นั่นคือข้อเท็จจริงว่าด้วยความสัมพันธ์ของชนชั้นที่กุมอำนาจ และการใช้อำนาจของพวกชนชั้นนายทุน
ภายใต้การล็อกดาวน์
กลับมาในห้วงปัจจุบัน มีเสียงสะท้อนที่น่าฉงนของเรื่องราวเหล่านี้จากสถานการณ์ล็อกดาวน์ในปัจจุบัน และการล่มสลายของเศรษฐกิจที่เป็นผลตามมาของโคโรนาไวรัส พวกเราหลายคนอยู่ในสถานการณ์ที่แต่ละคนล้วนมีเวลาว่างมากมาย พวกเราส่วนใหญ่ติดตรึงอยู่ในบ้าน
เราไม่อาจเดินทางไปทำงาน เราไม่อาจทำสิ่งที่เราทำโดยปกติได้ แล้วเราจะรับมืออย่างไรกับเวลาว่างที่เรามี? ถ้าพวกเรามีลูกเล็ก แน่นอนเราน่าจะมีอะไรทำอยู่แล้วล่ะ แต่พวกเรากำลังอยู่ในจุดที่เรามีเวลาว่างมากอย่างมีนัยยะสำคัญ
ประเด็นที่สองก็คือ แน่ทีเดียว เรากำลังเผชิญกับสภาพการว่างงานจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าในสหรัฐอเมริกาตัวเลขอย่าง 26 ล้านคนคือคนที่สูญเสียหน้าที่การงาน โดยปกติแล้วอาจจะพูดได้ว่านี่คือหายนะไปแล้ว และแน่นอน นี่คือหายนะจริงแท้ทีเดียว เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณตกงาน คุณได้สูญเสียความสามารถผลิตซ้ำการใช้แรงงานของตัวเองโดยการไปจับจ่ายของในห้างร้าน นั่นเพราะว่าคุณไม่มีเงินเหลืออีกต่อไป
ผู้คนมากมายได้สูญเสียประกันสุขภาพ และผู้คนอีกมากกำลังเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงเงินช่วยเหลือจากการว่างงาน สิทธิในที่อยู่อาศัยกำลังจะถูกช่วงชิงไปเพราะทั้งค่าเช่าและค่าผ่อนบ้านกำลังจะครบกำหนดจ่าย ประชากรส่วนใหญ่ของสหรัฐ — ซี่งน่าจะอยู่ที่ราว 50 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั้งหมด — ถือเงินอยู่ไม่ถึง 400 เหรียญ [ประมาณ 13,000 บาท] อยู่ในธนาคารเพื่อพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุเล็กน้อย ไม่ต้องพูดถึงเลยถ้าต้องเจอกับวิกฤตขนานใหญ่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้

source: BBC
ชนชั้นแรงงานใหม่
ผู้คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะลงถนนประท้วงในเร็ววันอย่างแน่นอน ด้วยความอดอยากที่จ้องเขม็งพวกเขาและลูกเล็กอยู่ แต่เราลองมามองสถานการณ์ให้ลึกลงไปกว่านี้ด้วยกัน
กำลังแรงงานที่ถูกคาดคั้นให้เป็นคนดูแลจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นหรือต้องเอื้ออำนวยความสะดวกเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตประจำวันได้นั้นมีลักษณะไม่เท่าเทียมทางเพศสูง แบ่งแยกสีผิว และแบ่งแยกเชื้อชาติ นี่คือ “ชนชั้นแรงงานใหม่” ที่เป็นด่านหน้าของทุนนิยมยุคปัจจุบัน กลุ่มคนเหล่านี้ต้องแบกรับภาระอยู่สองอย่างไว้พร้อมกัน นั่นคือพวกเขาคือผู้ใช้แรงงานที่มีความเสี่ยงติดไวรัสขณะทำงาน และมีความเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการชดเชยทางการเงินเพราะสถานการณ์บีบบังคับทางเศรษฐกิจที่ถูกผลักดันโดยการระบาดของไวรัส
ชนชั้นแรงงานยุคปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา — ประกอบด้วยคนส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายอเมริกัน-แอฟริกัน ลาตินอเมริกา และผู้หญิงที่รับค่าแรงรายวัน — พวกเขากำลังเผชิญกับตัวเลือกอันน่าขยะแขยง นั่นคือระหว่างต้องทนทรมานกับการติดเชื้อระหว่างที่ดูแลผู้คนและค้ำยันภาคส่วนที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต (อย่างเช่นร้านสะดวกซื้อ) ให้เปิดต่อไปได้ หรือตัวเลือกอย่างการว่างงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชยอะไรเลย (อย่างประกันสุขภาพที่เพียงพอ)
กำลังแรงงานเหล่านี้ถูกกล่อมเกลาให้ประพฤติตัวเป็นตัวตนตามขนบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal subject) ที่ดี ซึ่งหมายถึงการหันมาโทษตัวเองหรือพระผู้เป็นเจ้าถ้ามีอะไรที่ผิดเพี้ยนในชีวิต แต่ไม่กล้าแม้แต่จะบอกว่าตัวทุนนิยมเองนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุของปัญหา แต่กระนั้นก็ตาม ตัวตนตามขนบเสรีนิยมใหม่ที่ดีน่าจะสังเกตได้ว่ามีอะไรผิดเพี้ยนไปมากเมื่อมองไปที่การตอบสนองต่อสถานการณ์แพร่ระบาดแล้วมาเทียบกับภาระหนักหนาอันไร้ความสมเหตุสมผลที่พวกเขาต้องรับเพื่อแลกกับการค้ำจุนระเบียบทางสังคมให้เดินต่อไป
จินตนาการใหม่
การขับเคลื่อนสังคมโดยส่วนรวมเพื่อรับมือกับโควิด-19 จำเป็นต่อการนำพาพวกเราออกจากวิกฤตนี้ เราต้องการการกระทำร่วมเพื่อควบคุมการระบาด — ทั้งเรื่องการล็อกดาวน์ พฤติกรรมการเว้นระยะห่าง และอื่นๆ การขับเคลื่อนสังคมโดยส่วนรวมเช่นนี้แหละที่จำเป็นต่อการปลดปล่อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ปัจเจกชนจะดำรงชีวิตในวิถีทางที่ต้องการได้สักวัน นั่นเพราะว่าเราไม่อาจใช้ชีวิตอย่างที่เราปรารถนาได้ในตอนนี้
สถานการณ์เช่นนี้กลับกลายเป็นการเปรียบเปรยที่ดีเพื่อทำความเข้าใจว่าตัวทุนนั้นเป็นอย่างไร นั่นหมายความว่า [สังคมทุนนิยม] คือการสร้างสังคมที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่อาจมีอิสระทำสิ่งที่ปรารถนา เพราะพวกเราถูกเหนี่ยวรั้งให้ทำการผลิตความมั่งคั่งเพื่อชนชั้นนายทุน
สิ่งที่มาร์กซ์อาจจะกล่าวในสถานการณ์เช่นนี้คือจะเป็นอย่างไรหากคนที่ตกงานจำนวน 26 ล้านคนหาทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อมีเงินจำนวนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซื้อสินค้าที่จำเป็นเพื่อเอาชีวิตรอด และเช่าที่อยู่เพื่อซุกหัวนอน แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมพวกเขาถึงไม่ควานหาการปลดปล่อยขนานใหญ่จากการทำงานที่แปลกแยกกับตัวเอง
หากจะพูดอีกทาง เราต้องการออกจากวิกฤตนี้ด้วยการพูดว่าคนจำนวน 26 ล้านคนรอกลับไปทำงาน ซึ่งเป็นงานแสนเลวร้ายดังที่พวกเขาได้ทำมาก่อนเช่นนั้นหรือ นี่คือผลลัพธ์ที่พวกเราต้องการเช่นนั้นหรือ หรือว่าพวกเราต้องการตั้งคำถามว่ามีทางใดบ้างที่จะจัดสรรการผลิตสินค้าและบริการพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนมีอันจะกิน เพื่อให้ทุกคนมีบ้านใต้ชายคาที่ดีเพื่ออยู่อาศัย และพวกเราจะผลักดันให้หยุดการไล่คนออกจากบ้านเช่า และทุกคนจะได้มีชีวิตโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่ากันถ้วนหน้า นี่คือห้วงเวลาที่เราต้องคิดกันอย่างตระหนี่ถี่ถ้วนถึงการสร้างสังคมใหม่ไม่ใช่หรือ
ถ้าเราหนักแน่นและฉลาดหลักแหลมเพียงพอจะรับมือกับไวรัสตัวนี้ได้ แล้วทำไมจะรับมือกับทุนในเวลาเดียวกันไม่ได้ล่ะ แทนที่จะบอกว่าพวกเราต้องการกลับไปทำงานและทวงคืนหน้าที่การงานเดิมและฟื้นคืนทุกอย่างที่เคยเป็นเหมือนก่อนวิกฤตจะเริ่มขึ้น เช่นนั้นเราอาจจะต้องถามว่าทำไมถึงออกจากวิกฤตนี้โดยสร้างระเบียบสังคมที่เปลี่ยนผันไปจากเดิมทั้งหมดไม่ได้กันล่ะ
ทำไมพวกเราถึงไม่หยิบฉวยหน่อเนื้อของสังคมกระฎุมพีเดิมที่กำลังพังทลายให้กำเนิดออกมา — ทั้งศาสตร์และองค์ความรู้อันน่าตื่นตาตื่นใจรวมทั้งเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิต — และปลดปล่อยพวกมันให้เป็นอิสระ ใช้งาน AI รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและรูปแบบการจัดการทั้งหลายเพื่อให้เราสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างอย่างถึงรากจากสิ่งที่เคยปรากฎมาก่อนได้
ทางเลือกใหม่ที่ปลายอุโมงค์
แม้กระนั้นก็ตามในห้วงเวลาวิกฤตฉุกเฉินเช่นนี้ พวกเราได้ทดลองรูปแบบของสังคมใหม่ในทุกด้านกันอยู่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่การอุดหนุนอาหารฟรีให้กับย่านชุมชนและกลุ่มคนยากจน ไปจนถึงการรักษาพยาบาลฟรี หรือแม้กระทั่งรูปแบบใหม่ของการเข้าถึงทรัพยากรผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ อีกมาก ที่จริงแล้วนั้นรูปร่างหน้าตาของสังคมแบบสังคมนิยมรูปแบบใหม่กำลังเผยให้เห็นออกมาซึ่งหน้าแล้ว — นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมฝ่ายขวาและชนชั้นนายทุนกำลังกระเหี้ยนกระหืออยากนำพาสังคมให้กลับไปเป็นแบบเดิม
นี่คือห้วงเวลาแห่งโอกาสที่จะคิดคำนึงว่าหน้าตาของทางเลือกอื่นจะเป็นอย่างไร นี่คือห้วงเวลาที่ความเป็นไปได้ของสังคมใหม่กำลังมีเลือดมาหล่อเลี้ยง แทนที่จะตอบสนองอย่างฉับพลันทันด่วนและกล่าวว่า “พวกเราต้องรีบสร้างงานสำหรับ 26 ล้านคนให้กลับมาโดยเร็วที่สุด” พวกเราควรจะมุ่งเป้าที่การขยายผลบางสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ไปในวงกว้างมากขึ้น เช่นการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นร่วมกัน
สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในบริบทของประกันสุขภาพพื้นฐาน แต่เริ่มจะมีแนวโน้มเกิดขึ้นโดยทำให้การเข้าถึงวัตถุดิบประกอบอาหารหรือแม้กระทั่งอาหารปรุงสำเร็จเป็นไปอย่างถ้วนหน้า นครนิวยอร์กในตอนนี้ ระบบหลังร้านของร้านอาหารหลายแห่งยังเปิดอยู่ และเป็นผลจากการบริจาคของผู้คน พวกเขากำลังแจกจ่ายมื้ออาหารฟรีให้กับประชากรจำนวนมากที่ตกงานและกำลังมืดแปดด้าน
แทนที่จะกล่าวว่า “เอาล่ะ ที่กำลังทำอยู่นี่มันก็แค่ในช่วงวิกฤตฉุกเฉินเท่านั้น” ทำไมเราถึงไม่กล่าวว่านี่แหละคือห้วงเวลาที่เราต้องเริ่มผลักดันให้ร้านอาหารเหล่านี้เห็นว่าภารกิจของพวกคุณคือการทำให้ประชากรอิ่มท้อง เพื่อให้ทุกคนมีมื้ออาหารที่ดีอย่างน้อยหนึ่งหรือสองมื้อต่อวัน
จินตนาการแบบสังคมนิยม
และเราก็มีหน่อเนื้อของสังคมเช่นนั้นอยู่ในมือแล้ว ดังที่เห็นได้จากโรงเรียนจำนวนมากสนับสนุนมื้ออาหารโรงเรียน (school meal) สำหรับนักเรียน [ซึ่งการปิดโรงเรียนช่วงโควิดทำให้เด็กจากครอบครัวยากจนไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ – ผู้แปล] เป็นต้น ก็ขอให้ทำเช่นนี้ต่อไปเถิด หรือ อย่างน้อยก็เรียนรู้บทเรียนว่าหลายสิ่งอย่างจะเกิดขึ้นได้ขอเพียงแค่เราเอาใจใส่มัน นี่ไม่ใช่หรือคือห้วงเวลาที่เราจะใช้จินตนาการแบบสังคมนิยมเพื่อสร้างสังคมใหม่ขึ้นมา
นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เอาล่ะ ลองดูร้านอาหารมากมายบนย่านอัปเปอร์เวสต์ไซด์ (Upper West Side – พื้นที่ในเขตแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก) ที่ถูกปิดและแช่แข็งงอยู่อย่างเงียบงัน ให้ผู้คนกลับมาสิ พวกเขาจะได้เริ่มทำอาหารและจ่ายแจกให้ประชากรบนท้องถนน ในบ้านเรือนและผู้สูงอายุได้ เราต้องการปฏิบัติการร่วมเช่นนั้นเพื่อให้พวกเราทุกคนมีชีวิตอย่างเสรี
ถ้าคนตกงาน 26 ล้านคนจะต้องกลับไปทำงาน แต่ชั่วโมงการทำงานจะเหลือแค่ 6 ชั่วโมง ไม่ใช่ 12 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้พวกเราชื่นชมกับความรับรู้ที่ต่างออกไปว่าการอาศัยในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกนั้นเป็นอย่างไร นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่จริงๆ ก็ได้ (ปล่อยให้คำว่า “อีกครั้ง” เน่าเปื่อยในถังขยะของสายธารประวัติศาสตร์ไปเถอะ)
นี่คือจุดที่มาร์กซ์ได้เน้นย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า ว่ารากฐานที่แท้จริงของปัจเจกชน เสรีภาพ และการปลดปล่อย ดังที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันกับสิ่งที่ยกย่องเชิดชูกันนักหนาในอุดมการณ์ของพวกกระฎุมพี นั่นคือสถานการณ์ที่ความจำเป็นพื้นฐานของพวกเราได้รับการดูแลผ่านการกระทำร่วม เพื่อให้พวกเราได้ทำงานเพียงแค่ 6 ชั่วโมงต่อวัน และจะได้ใช้เวลาที่เหลือดังที่ใจปรารถนา
โดยสรุปแล้ว นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นห้วงเวลาอันน่าสนใจยิ่งที่เราจะครุ่นคิดอย่างจริงจังถึงการขับเคลื่อนและความเป็นไปได้ที่จะสร้างสังคมใหม่ สังคมแบบสังคมนิยม แต่ก่อนที่เราจะเดินไปถึงเส้นทางของการปลดปล่อยนั้น พวกเราจำเป็นต้องปลดปล่อยตัวเราเองเป็นอันดับแรก ให้เห็นว่าจินตนาการใหม่นั้นเป็นไปได้พร้อมไปกับการสรรค์สร้างความเป็นจริงรูปแบบใหม่ขึ้นมา
หมายเหตุ: ผู้แปลขอขอบคุณความช่วยเหลือและคำแนะนำจากอติกานต์ สิทธิชาติ และวศินี
by Anonymous | Oct 17, 2021 | Articles บทความ, การประท้วง Protest, ความคิดเห็น Opinion, ไทย
เรื่อง & ภาพ สินละปะ
กลางเดือนตุลาคมอันมืดมิดที่หวนกลับมาอีกครั้ง นักศึกษาและศิลปินผู้ทำการผลิตงานสร้างสรรค์ได้ทำลายโซ่ตรวนของอำมาตย์ศักดินาหน้าประตูหอศิลป์มช.ลงเสียสิ้น ผู้ก่อการกว่าร้อยชีวิตบุกเข้ายึดอาคารที่อ้างว่าเป็นของมช. แต่น่าเสียดาย มันไม่เคยเป็นของประชาคมชาวมช.เลยสักเสี้ยววินาที มันเป็นเพียงสถานที่ว่างเปล่าที่เอาไว้ปล่อยเช่า มันดูดเอากำลังแรงงานของนักศึกษาที่ออกมาในรูปของงานศิลป์ซึ่งจำต้องจัดแสดงเพื่อผ่านเกณฑ์การประเมินก็เท่านั้น แต่บัดนี้มันกำลังเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ เปลี่ยนเป็นของส่วนรวม ของประชาคมชาวมช. ผ่านปฏิบัติการยึดเพื่อจัดแจงการแสดงงานอย่างเป็นประชาธิปไตย!
นานมากแล้ว ที่กลุ่มบุคคลส่วนน้อยผู้กุมอำนาจเถื่อนอยู่ในมือภายใต้หัวโขนของอำมาตย์รูปแบบใหม่ อำมาตย์เหล่านี้ถือตนว่าบงการภายใต้กฎแห่งการแข่งขันในตลาดที่มีประสิทธิภาพล้นเปี่ยม แต่ขณะเดียวกันกลับติดหน่วงพ่วงระบบเอกสารไม่ต่างจากสมัยระบบอำมาตย์ราชการล้าหลังอยู่เช่นเคย กล่าวคือ การบริหารจัดการพื้นที่ของหอศิลป์มช. และมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปอยู่ในรูปแบบการผสมกันอย่างน่าอดสู ระหว่างระบบรัฐราชการเทอะทะ และปีศาจที่มองไม่เห็นอย่างตลาดเสรี กลายเป็นระบบตัวเงิน-ตัวทอง เอาข้อเสียของทั้งสองอย่างมายำเข้าไว้ด้วยกัน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ชมงาน ต่างก็ต้องปฏิบัติตนอยู่ในกรอบพิธีการตามจารีตอันนอบน้อมสยบยอมราวกับว่าเราอยู่ในระบอบเก่าเสียอย่างนั้น อีกทั้งความโหดร้ายป่าเถื่อนไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมของผีห่าซาตานที่มีชื่อว่าตลาดเสรีก็ขูดรีดเลือดเนื้อกำลังทรัพย์จากนักศึกษาและผู้ปกครองอย่างมูมมาม ไม่มีอะไรฟรี และไม่มีเสรีภาพ ณ พื้นที่ในกำมือของอำมาตย์ทาสนายทุน!
มหาวิทยาลัยคือปีศาจของแฟรงเกนสไตน์ตนหนึ่ง มันประกอบขึ้นมาจากส่วนเสี้ยวอันพิลึกพิลั่นของระบบต่าง ๆ เพื่อจัดสร้างโลกที่เต็มไปด้วยลำดับชั้นสูงต่ำ การทำงานของมันจึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งราวกับใบหน้าของเทพเจนัสที่มีสองด้านและหันออกจากกันเสมอ ประพฤติตนราวกับเป็นผู้อุ้มชูคบไฟแห่งปัญญา แต่หากไม่มีเงินตรา ลูกช้างเอ๋ย เจ้าจงออกไปจากที่แห่งนี้เสีย ประพฤติตนราวกับผู้เจริญด้วยปัญญา แต่หากไม่เดินตามข้า ลูกช้างเอ๋ย เจ้าก็จงออกไป ความลักลั่นย้อนแย้งเหล่านี้มิใช่ความงงงวย หน้าไหว้หลังหลอก ความหน้าหนาของเหล่าอำมาตย์ชนชั้นปกครอง หรือเป็นซากเดนตกค้างของระบอบใด ๆ ทั้งสิ้น หากแต่เป็นผลจากความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะสถาปนาอำนาจขึ้นเพื่อข่มขี่มนุษย์ทุกคนให้สยบตามระบบ อำนาจทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมืองใด ๆ ต่างก็ถูกนำมาใช้เพื่อการนี้โดยไม่ต้องสนใจถึงความสอดคล้องกันทางตรรกะ เพราะตรรกะมิใช่เป้าหมายของมหาวิทยาลัย
เหตุเช่นว่านี้ นักศึกษาและประชาคมชาวมช. รู้แจ้งเห็นจริงกันมาโดยตลอด แต่ด้วยการณ์ที่พลังรวมหมู่ทางสังคมยังไม่ปะทุขึ้น รูปการของการกดขี่ข่มเหงคนด้วยกันเช่นนี้จึงดำเนินไปราวกับว่าไม่มีวันจบสิ้น นักศึกษาและผู้ปกครองชนชั้นกรรมาชีพหลายคนต้องทำงานพิเศษ กู้หนี้ยืมสินเพียงเพื่อจัดแสดงงานในหอศิลป์ที่(อ้างว่า)เป็นของมช.นี้มายาวนาน มันคือปฏิบัติการข่มเหงทางชนชั้นอย่างชัดเจน!
แต่บัดนี้พลังความเคียดแค้นที่สั่งสมกันมา เดือดพล่านปะทุขึ้นมาอีกครั้งภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ชุลมุนกันอยู่ ณ ขณะนี้ ในขณะที่เยาวรุ่นกรรมาชีพเมืองกรุงได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานในรูปแบบใหม่ เยาวรุ่นและผู้สูงวัย 5,000 ปีก็เติมไฟลามทุ่งทางทิศเหนือขึ้นมาอีกครั้ง สหายแห่งล้านนาร่วมกันทำให้คบเพลิงแห่งคชสารแผ่ซ่านลงผืนดิน ช้างจะไม่ได้ชูไอติมรสกะทิอีกต่อไป แต่เป็นรสชาติเพลิงไฟประชาธิปไตยของประชาคมฯ
เมื่อปฏิบัติการเบื้องต้นสำเร็จผลเป็นการชัดเจน ตั้งแต่ก้าวแรกที่สหายกองหน้าแห่งประชาคมฯ ก้าวเข้าไปเหยียบถิ่นฐานที่อำนาจเถื่อนกอดกุมมันไว้นั้น ฝ่ายปฏิกิริยาก็ตัดสินใจ ตัดน้ำ ตัดไฟ อย่างฉับพลันทันด่วน แม้เป็นเวลานอกราชการก็ตาม เรื่องเหล่านี้สามัญชนคนอย่างเราๆ รู้เห็นเช่นชาติกันมานาน หากเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งอาณาประชาราษฎร์แล้วไซร้ พวกอำมาตย์ก็ชักช้าคอยท่า คอยปฏิบัติตามระเบียบในเวลาราชการอย่างมิขาดตกบกพร่อง หากแต่พอเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางชนชั้นของตัวเองนั้น กลับรวดเร็วเสียยิ่งกว่าจับปากกาเซ็นชื่อเสียอีก
ทั้งนี้ ที่ขบวนการประชาธิปไตยประชาคมฯ ยังคงอยู่รอดสืบสานต่อไปได้ ก็ด้วยแรงใจ แรงกาย แรงคิดที่ร่วมด้วยช่วยกันอย่างเป็นหมู่คณะของชาวประชาคมฯ ทั้งหมดทั้งปวง ที่เบ่งบานขยายออก เพิ่มแนวร่วมมากมาย น้ำไฟ ที่โดนตัดด้วยอำนาจเถื่อน ก็มิอาจขัดขวางน้ำไฟจากชาวประชาที่หลังไหลเข้ามาทั้งตามตัวอักษรและตามอารมณ์ความรู้สึกทางใจที่เข้าช่วย
ปรากฏการณ์เหล่านี้สร้างอะไรใหม่หรือ? ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นอาชญากรรมงั้นฤา? หรือจริงๆ แล้วมันคือการปฏิวัติของประชาคมฯ?
คำตอบของคำถามดังกล่าวมิอาจตอบได้ผ่านทางข้อเขียนหรือการถกเถียงทางความคิดที่หลุดลอยจากปฏิบัติการจริงที่กำลังเกิดขึ้น แต่จะตอบได้ผ่านปฏิบัติการที่ดำเนินเปลี่ยนแปลงทั้งรูปลักษณ์ของสังคมและตัวตนรวมหมู่ของผู้คนที่ลงมือกระทำการอยู่ ณ พื้นที่ส่วนรวมที่กำลังเกิดขึ้น ปฏิบัติการประชาธิปไตยของประชาคมฯ กำลังตั้งท้าทายรูปแบบการจัดแสดงงานศิลปะภายใต้เงื้อมมือของคนส่วนน้อยที่ถือดีว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ประชาธิปไตยของประชาคมจะไปในทิศทางใดต่อก็คงต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงผ่านการเดินทัพทางไกลของปฏิบัติการ ณ พื้นที่ซึ่งประชาคมกำลังปลดปล่อยให้มันเบ่งบานด้วยอำนาจของปวงประชา สิ่งนั้นอาจมาในรูปของสมัชชาประชาธิปไตยเพื่อการจัดแสดงงานศิลปะของประชาคมมช. หรือด้วยชื่ออื่น รูปอื่นก็เป็นได้ สิ่งนี้(ยัง)ไม่เกิดขึ้น
แต่ที่เกิดขึ้นแล้ว คือการตั้งคำถามต่อการจัดแสดงศิลปะในรูปแบบเดิมๆ ที่ผู้จัดแสดงและผู้ชม เป็นเพียงผู้เช่า หรือลูกค้าเท่านั้น ทำอย่างไรผู้จัดแสดงและผู้ชม จะได้ร่วมตัดสินใจอย่างเป็นประชาธิปไตยกับการจัดแสดงศิลปะได้บ้าง? คำถามเชิงศิลปะเหล่านี้สามารถสร้างสภาวะของความเลยเถิดที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อเส้นแบ่งต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ เส้นแบ่งของความเหมาะสม เส้นแบ่งของความเป็นเจ้าของ เส้นแบ่งของอำนาจ ไม่ว่าคำถามนี้จะได้รับคำตอบในทางปฏิบัติหรือไม่ ไม่มีใครสามารถรู้อนาคตได้ แต่คำถามนี้จะไม่หายไป กระบวนการลากขีดเส้นครั้งใหม่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และตราบใดที่เรายังสู้ต่อ คำตอบก็ย่อมใกล้เข้ามาแน่นอน และเมื่อนั้นเอง สิ่งที่คงรูปอย่างหนักแน่นราวกับไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงก็ย่อมจะมลายหายไปในอากาศ
เดือนตุลาคมอันมืดมิดจะกลายเป็นเดือนที่ดวงตะวันได้เคลื่อนขึ้นมาประกาศศักดาแห่งพลังประชาธิปไตยของประชาชนหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ที่เรารู้กันดีก็มีแค่ว่า การเติมแรง เติมใจ เติมไฟให้คบเพลิงนี้สว่างไสวโชติช่วงจนกลายเป็นดวงอาทิตย์ก็เท่านั้นแหละ ที่จะทำให้ปฏิบัติการนี้เป็นหน่ออ่อนประชาธิปไตยประชาชนได้!
ขอคารวะแด่ประชาคมชาวมช.ทุกคน.

บทความและภาพประกอบนี้ใช้สัญญาอนุญาตครีเอฟทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 4.0 นานาชาติ
by Anonymous | Aug 21, 2021 | Articles บทความ, Common School, Translation, การประท้วง Protest, สตรีนิยม Feminism, ไทย
ผู้เขียน Dilar Dirik นักกิจกรรมในขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงชาวเคิร์ด
ผู้แปล/เรียบเรียง sirisiri
บรรณาธิการ Editorial Team
หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Roar Magazine
บทแปลได้รับการสนับสนุนจากกองทุนก้าวหน้า โดย Common School
บทนำ [ผู้แปล]
ช่วงแรกนั้นแนวทางสตรีนิยมเคลื่อนไหวโดยมี “เพศหญิง” เป็นตัวแทนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ความเสมอภาคภายใต้พื้นที่ความเป็น หญิง/ชาย ทว่าในกระแสความคิดดังกล่าวได้ถูกพัฒนาและเผยให้เห็นเรือนร่างอื่นๆ ที่ถูกกดข่มไว้เพราะความผิดแผกจากกัน ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้น บ้างพยายามปลดปล่อยตัวตนออกจากกรงในรูปแบบความเพิกเฉยที่มีต่อการดำรงอยู่ของพวกเขาเอง ทั้งก้าวพ้นไปไกลจากชื่อเรียกอันเป็นเส้นแบ่งทางเพศกำเนิดของผู้ร่วมขบวนการแต่แรกเริ่ม
Feminism ไม่สามารถหมายความถึง “ผู้หญิง” หรือการต่อสู้ของเพศหญิงเท่านั้นอีกต่อไป ขบวนการดังกล่าวเปิดพื้นที่ความเข้าใจที่อยู่เบื้องหลังกลไกอำนาจแบบปิตาธิปไตยซึ่งซ่อนอยู่ เช่น เงาคล้ายร่างมนุษย์เป็นตัวแทนของความจริงที่ขาดพลวัตลักลั่นแต่กลับมีเส้นแบ่งชัดเจนเหมือนกับสภาวะคู่ตรงข้ามอย่าง หญิง-ชาย ขาว-ดำ ดี-ชั่ว ถูก-ผิด เป็นตัวแทนของความเสร่อ ความอยุติธรรม ความน่าสมเพช และที่สำคัญที่สุดคือการเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์อย่างสากล
‘บุตรของกษัตริย์บรรดาลลาภยศแก่มารดาของตน’ ‘ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ใช้แม่บ้านหรือพ่อบ้านที่ดีเป็นสวัสดิการชั้นเลิศแก่ลูกจ้าง โดยไม่ต้องออกตัวสนับสนุนแต่อย่างไร’ ‘ผู้หญิงไม่เก่งเลข’ ‘เมื่อมีความคิดที่ถูกต้องบริบูรณ์แล้วเท่านั้นจึงควรแก่การปฎิวัติ’ ‘ฉันจะไม่ทำอย่างนั้นเพราะฉันดีกว่าเขา’ ‘ว่ากันตามกฎหมาย’ ‘เราไม่ยุ่งเรื่องการเมือง’
หลักการหรือคำอธิบายต่างๆ จากโลกที่ชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนามของทุนนิยมในปัจจุบันดำเนินไปทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความรับรู้ของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ในร่างกายของผู้ชาย แต่มันยังแทรกตัวอย่างเงียบเชียบทว่าทรงพลังคล้ายกับรากของต้นไม้ที่ชอนไชเข้าหาแหล่งแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์อยู่ในผืนโลก ในที่นี้เป็นโลกทัศน์เปรียบแหล่งอาหารสำคัญของต้นไม้ รากนั้นรับรู้ได้เองว่าจะต้องไปที่ไหนเหมือนธรรมชาติอันลี้ลับล้วนมีวิธีของมัน เป็นกฎธรรมชาติที่อนุญาตให้อะไรมีค่าได้ และอะไรไม่มีค่า
เราต่างสลับไปมาระหว่างความเป็นนักเรียน เป็นข้าราชการ เป็นลูก เป็นเพื่อน เป็นฟรีแลนซ์ ชาวต่างชาติ ชาวไทย ชาวพุทธ ชาวคริสต์ อิสลาม หรือชาวโลก หรือเป็นหลายอย่างพร้อมๆ กัน แท้จริงแล้วเรา “ควร” ดำรงอยู่ในสภาวะใด มนุษย์รับรู้จริงๆ หรือ ว่าคนที่อยู่ต่างอำเภอเป็น “พวกเดียวกัน” ผ่านภาพร่างโครงข่ายที่ทอดไกลออกไปในความทรงจำที่อ้างอิงกับรูปถ่ายทางภูมิศาสตร์บอกเล่าอาณาเขตของรัฐที่ไกลออกไปเกินเอื้อมถึงได้นำพาความคิดของมนุษย์เข้าไปสำรวจอะไรได้มากกว่าศีลธรรมของคนดีหรือไม่ ความเป็นเราของเรานั้นมีความหมายต่อเราทุกคนที่ล้วนแตกต่างกันอย่างไรและมากน้อยเพียงใด คำถามอาจไม่ใช่ว่าเราควรมองไกลแค่ไหน แต่เรามองเห็นอะไรแล้วบ้าง
การเมืองเรื่องเพศที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันยิ่งทำให้นึกถึงคำอธิบายของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งเผยให้เห็นความเป็นเพศที่เกี่ยวข้องกับปูมประวัติศาสตร์ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของรัฐชาติ หรือก่อนความเป็นไทยในปัจจุบันทีขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นผ่านคติผีและพุทธ (ซึ่งเกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับโลกตะวันตกในคริสต์ศาสนา) และแน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อทางศาสนา แต่ยังสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ซึ่งท่านได้รวบรวมไว้เป็นจำนวนมาก และสามารถใช้เริ่มต้นเพื่อเข้าไปสำรวจสมรภูมิทางเพศว่าแท้จริงแล้วความเป็นหญิง/ชาย ตามขนบประเพณีที่ขาดๆ เกินๆ ในปัจจุบันนั้นกดทับความเสมอภาคของเราไว้อย่างแยบยลเพียงใด
ปล. บทความแปล/เรียบเรียง ชิ้นนี้ มีการใช้สำนวนและคำของผู้แปลผสมปนเปเข้าไปเพื่อให้ผู้อ่านชาวไทยสามารถอ่านได้เข้าใจยิ่งขึ้น ผู้แปลไม่ได้แปลตรงตามต้นฉบับทั้งหมด หากมีข้อผิดพลาดอันใดก็ขออภัยมาในที่นี้ และยินดีรับคำติชมทุกประการ
สากลนิยมของเหล่าสตรีเพื่อการต่อต้านปิตาธิปไตยระดับโลก
การต่อสู้กับระบอบปิตาธิปไตยไม่ว่าจะโดยมืออาชีพ หรือมือสมัครเล่น ประสบการณ์เหล่านั้นล้วนทับถมนำไปสู่เครือข่ายที่แยบยลราวสายใยของโชคชะตาซึ่งเชื่อมต่อความรับรู้ของผู้คนจากเบื้องหลัง ภาพฝันที่เป็นเพียงฉากหน้าของสังคมที่แสนสมบูรณ์พูนสุขได้เผยให้เห็นว่าระหว่าง “อำนาจที่กดขี่” และ “วิถีปฎิวัติ” นั้นมีเพียงเส้นแบ่งแสนพร่าเลือนขวางกั้น ความสัมพันธ์อันอุดมไปด้วยความซับซ้อนที่มากกว่าแนวทางของคู่ตรงข้ามทั้งยังซ่อนตัวอยู่ภายใต้สามัญสำนึกของเรา
รัฐที่มองไม่เห็นสตรีเพศ
ราวกับธรรมชาติได้สรรสร้างขึ้น สังคมถูกจัดแบ่งเป็นลำดับชั้นทางอำนาจที่แน่นอนและเข้มงวด ธรรมชาติได้เชิดชูเป้าหมายของของเพศชายเป็นอุดมการณ์เพียงหนึ่งเดียว ทั้งทางเศรษฐกิจ และอำนาจนำทางการเมือง พร้อมกับที่ผลักไส “ผู้หญิง” ออกไปจากพื้นที่ต่อรองนั้นอย่างกระตือรือร้น ธรรมชาติดังกล่าวได้บิดเบือนสิ่งที่ควรจะเป็นความเสมอภาคของสตรีให้กลับกลายเป็น ข้อห้าม ศีลธรรม คอยกล่อมเกลาว่าผู้หญิงนั้นเป็นสมบัติของเพศชาย และพวกเขาไม่เคยเล่าถึงการต่อต้านของเหล่าสตรีที่ถูกกดขี่ ทั้งจลาจลที่ไม่มีอะไรจะเสียของพวกเธอ
วิธีการเช่นเดียวกับที่ใช้กดข่มความเป็นหญิงมีความคล้ายคลึงกับความรุนแรงที่ชาวอาณานิคมต้องประสบเมื่อเจ้าอาณานิคมเข้าแทรกแซง ไม่เพียงแค่ตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนผ่านการทำให้ผู้ชายกลายเป็นผู้ถือสิทธิ์เด็ดขาดในเรือนของตน แต่ยังสร้างความเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความรุนแรงเทียมระหว่างพวกเขา โดยการปิดกั้นอำนาจต่อรองโดยเสมอภาคที่มีแต่เดิม ทำให้เพื่อนบ้านไม่สามารถสื่อสารหรือแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ในพื้นที่ซึ่งเคยต้องพึ่งพิงกันผ่านกลไกที่ถูกจัดแจงไว้แล้วแต่เดิม และนี่คือการแบ่งแยกเพื่อปกครอง (divide and rule) คือภาพย่อส่วนของโครงสร้างอาณานิคมขนาดใหญ่
ห้วงเวลานับศตวรรษท่ามกลางลัทธิชายเป็นใหญ่หล่อเลี้ยงและพัฒนาอุดมการณ์ของตัวเองไปด้วยความหมกมุ่นในครอบครัวเดี่ยวที่ตัดขาดออกจากชุมชน ประกอบเข้ากับการสนับสนุนให้ความรุนแรงนั้นกลายเป็นวิถีต่อรองโดยธรรมชาติของมนุษย์ ดังที่ ซิลเวีย เฟดริซี (Silvia Fedrici) และ มาเรีย มีส์ (Maria Mies) วิพากษ์ไว้เกี่ยวกับลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยมว่า สิ่งนี้คือแกนกลางของระบอบปิตาธิปไตย ยิ่งมันแผ่ขยายอำนาจไปได้กว้างไกลเพียงใด ความเสมอภาคอันเป็นบ่อเกิดแห่งความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ก็ยิ่งถูกทำลายในทุกๆ มิติ ปรากฏเป็นระบบสามัญสำนึกที่ลักลั่นประดักประเดิดเหมือนกับการสนทนาของคู่หญิงชายที่ผู้ชายถูกบังคับให้มี์สิทธิ์ในการพูดอยู่ฝ่ายเดียว
ในปัจจุบันนักเคลื่อนไหวและนักวิจัยในแนวเฟมินิสต์ได้ถกเถียงกันถึงความเชื่อมโยงระหว่างการกดขี่ทางเพศ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิดที่ละเอียดอ่อนโดยที่ตัวเราเองแทบไม่รู้ตัว การเฟื่องขึ้นของลัทธิชาตินิยมนั้นมีรากฐานจากการผลิตแบบปิตาธิปไตย เช่น การมีสิทธิธรรม การตกทอดแบบมรดกผ่านเครือญาติ แนวทางชาตินิยมทำให้ผู้หญิงสยบยอมเพื่อใช้พวกเธอเป็นดั่งตัวประกันของรัฐกระบวนการดังกล่าวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในขณะที่โลกหมุนไปตามแนวทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นด้วยค่านิยม ฟักชิส และขวาจัดดัดจริตมักให้ความสนใจบนเรือนร่างทางอำนาจของผู้หญิง “จงปกป้องพวกเธอจากความงี่เง่าของพวกเธอเอง” ยังคงเป็นข้ออ้างของฝ่ายขวาที่ใช้เป็นอาวุธทางจิตวิทยา ทางวัฒนธรรม และทางร่างกาย ที่พวกเขาใช้กับสตรีเพศเสมอมา ซึ่งผลลัพธ์คือความสำเร็จที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นนักประนีประนอมนิยมทุน (นักถอยคนละก้าวนิยมทุน)
กระแสแห่งจักรวรรดินิยม ตามมาด้วยทุนนิยมสงครามในปัจจุบันยังคงจ้องทำลายล้างสายใยที่ร่องแร่งซึ่งแฝงตัวอยู่ในความเป็นหญิงจากมุมมองของปิตาธิปไตย มันยังคงอธิบายได้ยากว่าใครเป็นเจ้าของ หญิง หรือชาย แต่การเผยตัวของมันมักมีความสัมพันธ์ของผู้คนเกี่ยวข้องด้วยเสมอ หรือมันอาจเป็นเสรีภาพที่มาพร้อมความเสมอภาคแม้จะขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง พวกเขาไม่ได้รังเกียจผู้หญิงหรือการที่ผู้คนเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าตัวตนบางอย่างที่สะท้อนอยู่ในความเป็นหญิงนั้นยังคงตามหลอกหลอนความเป็นจักรววรดินิยม ความเป็นทุนนิยมที่ถูกครอบงำโดยอะไรบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังความเป็นชายที่อธิบายไม่ได้ว่าใครเป็นเจ้าของ

source: voiceofmargin.com, artist: latuff
สตรีนิยม อาณานิคม และสังคมนิยม ปิตาธิปไตย
ปัญหาติดหล่มสองประการของสตรีนิยมฝ่ายซ้าย
อาจจะเป็นปัญหาสำคัญทั้งของพวกหัวก้าวหน้า ขบวนการสตรีนิยม สังคมนิยมทั้งหลายที่แตกแขนงภายใต้แนวคิดปีกซ้าย เมื่อผู้หญิงเข้าร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทั้งเล็กและใหญ่ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของพวกเธอมักถูกลดทอนความสำคัญอยู่บ่อยครั้ง และยิ่งเด่นชัดเมื่อผู้นำการเคลื่อนไหว (ที่เป็นผู้ชาย) เป็นผู้จัดลำดับความสำคัญเหล่านั้นเสียเอง อย่างไรก็ตามมันไม่ได้เกิดกับทุกๆ การเคลื่อนไหวจากแนวทางสังคมนิยมหรือทุนนิยม ทางเลือกนี้เป็นตัวอย่างของความยากในการขัดขืนต่อการกดขี่ข่มเหงทางความคิด ที่ทำให้ปัจเจกกลายเป็นศัตรูของตนเองและไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง
พวกอำนาจนิยมมักจะหลงใหลในแนวทางมนุษย์นิยมอย่างสุดโต่ง และหมกมุ่นกับมายาคติที่เชื่อมโยงแนวคิดแบบปิตาธิปไตยในระดับสามัญสำนึก ดังที่นักประวัติศาสตร์สตรีนิยมได้ชี้ให้เห็นว่ามายาคติระหว่าง “ชนชั้น” เป็นอะไรที่ต่างออกไปจาก “เพศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อแม้ทางกายภาพของเพศหญิง แรงงานของเธอถูกตีค่าให้ต่ำเข้าไว้ไม่ว่าจะโดยเหตุผลที่ว่า ร่างกายที่ไม่แข็งแรง ความเป็นแรงงานขาดคุณภาพ เพศแห่งความฟุ่มเฟือย หรืออะไรก็ตามเพื่อลดอำนาจต่อรอง ทำให้พวกเธอดูไร้ค่าภายใต้การรับรู้ผ่านโครงสร้างระดับชั้นอำนาจแบบทุนนิยม
ระบบความรุนแรงที่มีทั้งการเหยียดและความรุนแรงอื่นๆ ต่อเพศหญิงนั้นไม่แม้แต่จะปรากฏอยู่ในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบันมันได้ขยายตัวไปสู่มิติของความรักแบบหญิง-ชาย ครอบคลุมไปจนถึงความรักแบบครอบครัวและแผ่ไปสู่มิติของการดูแล ทำให้ผู้มีอำนาจนำในบ้านต้องสมาทานความเกลียดกลัวบาปกำเนิดที่ยึดโยงกับเรือนร่างของผู้หญิง เพราะการผลิตซ้ำอย่างยาวนานในระบอบปิตาธิปไตยควบคุมอำนาจทางวัฒนธรรมให้เบียดเบียนความเป็นหญิงโดยตรง เกิดเป็นความพิการเทียมที่ถูกฝังลึกลงไป เราจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกระบวนการทางสังคมที่ทำให้ผู้หญิงตกไปสู่พื้นที่ชายขอบผ่านกระบวนการแบบสถาบันเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอย่างเสมอภาค ผ่านวิธีการที่มีลักษณะเป็นส่วนรวม (collectives)
การเคลื่อนไหวของดิลาร์ (Dilar) ในขบวนการปลดปล่อยเคอร์ดิสถาน (Kurdish freedom movement) เป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ามันจำเป็นที่จะต้องรื้อทิ้งคติแบบปิตาธิปไตยซึ่งเป็นดั่งคุกชีวที่ตีกรอบความคิดให้ผู้คนไม่อาจสร้างสายใยเพื่อร่วมกันไปสู่การสร้างคติชนใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องและหลากหลายได้ ที่แตกต่างออกไปจากแผนที่แบบรัฐชาติ แทนที่จะตัดขาดทุกคนออกจากกันและผลักไสให้แต่ละคนต่างหมกมุ่นอยู่กับปัญหาหรือเรื่องส่วนตัว ไม่ก็ให้ทุกคนทำตามๆ กันไปทั้งหมดแบบเครื่องจักรที่ทวีคูณแต่ไร้การประยุกต์วางแผน ดังนั้นแล้วเสรีภาพที่มาควบคู่กับความเสมอภาคนั้นจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดเปลื้องพันธนาการจากอำนาจกดขี่ซึ่งมักง่ายทั้งหลายเหล่านี้

Alina (source: original article)
ในทางกลับกันปัญหาใหญ่ที่กำลังขยายตัวของลัทธิแม่ประนอม (นักนิยมสันติวิธีแบบทุน หรือลัทธิคลั่งการประนีประนอม) จากฝั่งเสรีนิยมทุนปัจเจกสุดโต่ง ที่ อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) เรียกว่า การเมืองของมืออาชีพ (NGO-ization) ส่งเสริมแนวคิด “คนดี” เพื่อผลักดันปัญหาโครงสร้างไปเป็นปัญหาศีลธรรมส่วนตัวของปัจเจก
ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่นานาประเทศได้ถูกลัทธิเสรีประชาธิปไตยจากตะวันตกเข้ามาเคลมความสำเร็จและปรากฏเป็นองค์กรอิสระเพื่อสิทธิของผู้หญิงผุดขึ้นมากมาย (NGOs) ในถิ่นที่ตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่าผู้สนับสนุนองค์กรดังกล่าวนั้นเอง มันมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลใช่หรือไม่ องค์กรเหล่านี้ได้กระตือรือร้นที่จะบรรเทาปัญหาโดยการใช้ใจสงบสยบความเคลื่อนไหว คล้ายกับการชักว่าวทางศีลธรรมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในปมปัญหาที่ควรจะถึงจุดแตกหัก
สังคมปัจจุบันคาดหวังที่จะเห็นผู้หญิงสร้างความภูมิใจในตนเองในแนวทางเดียวกับจักรววรดินิยม เสรีนิยมใหม่ “สู่” ความเท่าเทียมในตัวเอง หรือสาวๆ นิสัยเฟรนด์ลี่มีความเป็นมิตรช่างเจรจา ช่างประนีประนอม จุดประสงค์พิสดารของการเคลื่อนไหวเหล่านี้แสดงให้เห็นความสับสนงุนงงกับประเด็นที่ถูกฉกฉวยเบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่นเพื่อส่งเสริมกำแพงของอัตลักษณ์ไปสู่ความเป็นวงกตเพื่อกีดกันผู้คนออกจากความเข้าใจเรื่องเสรีภาพที่ควบคู่ไปกับความเสมอภาค หรือประเด็นแองเจลิน่า โจลี่ ที่กลายไปเป็นแค่การฝันถึงชีวิตที่แยกขาดโดยสมบูรณ์ทางอัตลักษณ์
การฉกฉวยที่แสนพิศดารต่อประเด็นการต่อสู้ของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศนั้นแสดงออกมาผ่านบทความของการ์เดี้ยนเมื่อไม่นานมานี้ มันถูกเขียนโดยดาราฮอลลีวู้ดและทูตของสหประชาชาติอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ กับเลขาธิการนาโต้ (NATO) เยนส์ สโตลเธนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) บทความชิ้นนี้พยายามจะแสดงให้สาธารณชนเห็นว่านาโต้จะทำตามพันธกิจ “ตอบรับและคว้าโอกาสที่จะเป็นนักปกป้องสิทธิสตรีแนวหน้า”
เหล่าผู้นิยมปีกขวา อนุรักษ์นิยม และกลุ่มสตรีนิยมปิตาธิปไตย หรือพวกซ้ายอำนาจนิยมในโลกตะวันตกมักชูประเด็นการเมืองอัตลักษณ์ พวกเขาชอบความเปราะบางของความบริสุทธิ์ผุดผ่องในความเป็นสิ่งซึ่งไม่ลื่นไหล และไม่มีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ
คำว่า “การเมืองอัตลักษณ์” ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 1970 โดยกลุ่ม Combahee River Collective ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวสตรีเลสเบี้ยนผิวสีราดิคัล เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพที่ควบคู่ไปกับความเสมอภาคเพื่อการปลดแอกตนเองและสังคมจากการกดขี่ พวกเขาใช้คำนี้เพื่อสื่อถึงการที่ตนเองโดนกดขี่ ไม่ใช่เพื่อการยกตัวเองเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวโดยแยกอัตลักษณ์ออกจากปัญหาที่กว้างกว่านั้น เช่น ชนชั้นและสังคม คำๆ นี้ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวที่มีฐานมาจากประสบการณ์การถูกกดขี่ เพื่อต่อสู้กับความเลวร้ายที่พวกเขาเคยเผชิญมาในหลายๆ ระดับ ทั้งชนชั้น ผิวสี เชื้อชาติ ความเป็นเลสเบี้ยน ผู้หญิง และอื่นๆ
ทว่าปัญหาที่ปรากฏในทุกวันนี้ไม่ควรเป็นปัญหาเรื่องการเมืองของอัตลักษณ์ แต่พวกเสรีนิยมมักจะบ่ายเบี่ยงและเกลียดกลัวแนวทางราดิคัล (Radical) ที่มักจะสวนทางกับทิศทางที่รากของทุนนิยมชอนไชไป เหล่าผู้นำสตรีผิวขาวที่พบได้ทั่วไปภายใต้รัฐทุนนิยมเสรีนิยม ไม่น่าแปลกใจที่พวกเธอมักเป็นผู้หญิงที่เกี่ยวดองกับชนชั้นสูง อีกทั้งยังนิยมการเหยียดเพศและเชื้อชาติ ด้วยเหตุนี้พวกเธอจึงได้เป็นตัวแทนของสตรีนิยมในสื่อของพวกลิเบอรัล แทนที่จะเป็นอาสาสมัครหญิงที่เสี่ยงตายต่อสู้กับความรุนแรงจากการเอารัดเอาเปรียบ ตำรวจ ทหาร หรือการกดขี่ครอบงำของรัฐดังกล่าว ที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต
การเมืองอัตลักษณ์ของนักเสรีนิยมปัจเจกชน เปรียบเสมือนคุกวงกตที่ตัดขาดผู้คนออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ปิดหูปิดตาและทำเหมือนว่าทุกอย่างกำลังไปได้ดี การเมืองไม่เกี่ยวกับเพศ การเมืองไม่เกี่ยวกับปัญหาปากท้อง การเมืองไม่เกี่ยวกับปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ปัญหาของใครก็เป็นปัญหาของมันไม่มีโครงสร้าง ไม่มีอะไรเลยให้แก้ไข
ความเป็นสากล คือ ประชาธิปไตยทางตรง
ความล้มเหลวของขบวนการต่อสู้ในปัจจุบันคือการที่ไม่สามารถก้าวพ้นจินตกรรมที่ยึดโยงตัวเองเข้ากับคติชนรวมกลุ่มที่นอกเหนือไปจากความเป็นสายอาชีพ รัฐ ชาติ และอื่นๆ ไปได้จริงๆ เสียที ปัญหาที่ลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตย (แบบตัวแทน/มืออาชีพ) ได้โยนมาใส่พวกเราก็คือพวกเขาไม่ได้มองเห็นผู้คนหรือทุกคนอย่างที่เขากล่าวอ้าง และก็ไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจอะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ภายใต้ร่มเงาของปิตาธิปไตยเช่นนี้ กลไกของมันก็ยังคงดำเนินไปเช่นเดิมแล้วมันก็จะผลักใครสักคนให้ตกลงเหว ในขณะที่ยืนนั้นกลับแคบลงเรื่อยๆ ในโลกแห่งอุตสาหกรรมที่บดย่อยทรัพยากรเพื่อไปเป็นกำไรระยะสั้นอย่างบ้าคลั่งนี้
กว่าร้อยปีที่ผ่านมา The Month of March (1908) ได้ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มแรงงานสังคมนิยมสตรีให้เป็นวันแห่ง “สตรีสากล” เพื่อเชิดชูการต่อสู้อย่างเข้มแข็งของพวกเธอ ต่อมาเดือนมีนาคมก็กลายเป็นสัญลักษณ์วันสตรีสากลของขบวนการปฎิวัติในโรจาวา เพื่อรำลึกถึงสองสหายหญิงแอนนา แคมป์เบล (Anna Campbell/Hêlîn Qerecox) นักปฎิวัติต่อต้านฟักชิสจากอังกฤษ และ อาลินา ซานเชส (Alina Sanchez/Lêgêrîn Ciya) นักเสรีนิยมสากลนิยมผู้ซึ่งเป็นบุคคลากรทางการแพทย์จากอาร์เจนตินา ได้สละชีวิตของพวกเธอในการปะทะกับทหารรับจ้างกับพวกปิตาธิปไตยฟักชิสและพวกทหารเช่าที่มาจากค่าจ้างในระบบทุนนิยมของพวกมัน

Anna (source: original article)
สามปีก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคมปี 2015 เดียวกันนี้ ผู้เสียสละหญิงคนแรกในขบวนการโรจาวา คือ อิวานา ฮอฟฟ์มันน์ (Ivana Hoffmann) สหายเยอรมันผิวสี เสียชีวิตในการปะทะกับกลุ่มฟักชิสผู้นิยมการฆ่าและการข่มขืน ISIS ร่วมกับสหายอีกนับพันทั้งชาวเคิร์ด อาหรับ เติร์ก คริสเตียนซิริแอก อาเมเนียน และอื่นๆ สตรีทั้ง 3 เปรียบเสมือนผู้อุทิศการต่อสู้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสากลที่ได้เผชิญกับความรุนแรงที่แท้จริงของแนวทางระบอบปิตาธิปไตย ขณะที่เขียนบทความนี้ร่างของแอนนายังคงซ่อนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังในเมือง Afrin ของโรจาวา ซึ่งเป็นพื้นที่ในจักรวรรดิปิตาธิปไตยของรัฐเติร์ก
สตรีเหล่านี้กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ท่ามกลางการต่อสู้ในทุกทิศทุกทางที่กลืนกินเข้ามาจากรากฐานในระดับโลกทัศน์หรือกระบวนการคิดของพวกฟักชิส การต่อต้านสิ่งเหล่านี้ต้องตระหนักถึงรากของความรุนแรงที่ปรากฏให้เห็นจนชินตานี้ มันจึงไม่ใช่การประนีประนอมที่จะเป็นทางออกและพวกเธอได้แสดงส่วนหนึ่งให้เราเห็นแล้วผ่านการต่อสู้ของพวกเขาและเธอในโรจาวา
เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา สหายชาวเคิร์ด อาหรับ คริสเตียนซีรีแอก และสตรีเติร์ก ได้ร่วมกันประกาศชัยเหนือเมืองรัขขะ (Raqqa) และบันทึกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ร่วมด้วยกลุ่มสตรีจากเผ่ายาซิดี้ (Ezidi) ที่เข้าร่วมอย่างเสมอภาคในการบุกถล่มเอาคืนพวก ISIS ทำการล้างบาง และปลดปล่อยผู้หญิงที่ถูกจับไปกว่าพันคน
ขบวนการปฏิวัติของสตรี ในการต่อต้านพวกเสรีนิยมที่ช่วงชิงเอาความหมายของพวกเธอไป ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่ครอบคลุมหมายรวมถึงระบบการรับรู้ของผู้คนในระดับปัจเจก โลกทัศน์ของฟักชิสและพวกคลั่งชาติเป็นสิ่งที่การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมต่อสู้มาอย่างยาวนานและอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแนวทางที่นำไปสู่ความเป็นสากล ความเป็นเสรีภาพที่มีการจัดการและมีความเท่าเทียมกันในทุกมิติคืออาวุธหลักที่จะใช้ต่อต้านกับอำนาจดังกล่าวได้โดยตรง เพราะไม่ใช่แค่มิติทางความคิดที่มันจะจู่โจมเข้ามา แต่ยังมีความรุนแรงไปจนถึงการผลาญชีวิตของศัตรู หรือเลวร้ายกว่านั้นคือการจับเป็นทาสเพื่อจะคงอำนาจของตัวเองไว้ให้นานที่สุดอย่างเดือดดาล
ดังนั้นแนวทางความเป็นสากล (Internationalism) จึงเป็นหนทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ต้องมาจากการร่วมกันจัดตั้งจัดการโดยผู้คนในชุมชนเอง ไม่ใช่พึ่งการช่วยเหลือปลอมๆ จากรัฐ กลุ่ม หรือผู้อยู่เหนือที่ไม่ได้ร่วมเข้ากับผู้คนอย่างเสมอภาคเพื่อต่อต้านฟักชิสและรากที่หยั่งลึกของแนวคิดปิตาธิปไตย