ทำไมการดีเบตออนไลน์จึงไม่ใช่คำตอบของการจัดตั้ง ? 2022

ทำไมการดีเบตออนไลน์จึงไม่ใช่คำตอบของการจัดตั้ง ? 2022

“Tell me who your enemy is, and I will tell you who you are.”

การอุบัติขึ้นของเทคโนโลยี Social media ,สภาวะแปลกแยก,ทุนนิยมความรับรู้ (Cognitive capitalism) , การวางผังเมืองอันไร้ความรับผิดชอบ และ การปรากฏตัวของโรค Covid-19 เป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนั้น “ใช้ชีวิต” อยู่ในโลกออนไลน์มากเสียยิ่งกว่าโลกออฟไลน์ (ผมไม่อยากใช้คำว่า “โลกเสมือน/โลกจริง” เพราะมันจริงกันคนละแบบ) เรื่องนี้เป็นความจริงที่พวกเราก็รับรู้ได้จากตัวเอง และ ผู้คนรอบข้าง

ตามแนวคิดแบบวัตถุนิยมแล้ว เราปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” (หรือ โลกทางวัตถุ) เป็นสิ่งกำหนด “โครงสร้างส่วนบน” อันประกอบไปด้วย ไลฟ์สไตล์,แนวคิด,วัฒนธรรม,ค่านิยม,ศิลปะ รวมไปถึงวิธีการ “จัดตั้ง” อีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำคัญของฝ่ายซ้ายในปัจจุบันที่จะต้องวิเคราะห์สภาพทางวัตถุของพวกเราเพื่อนำไปเป็นฐานคิดให้กับวิธีการจัดตั้งองค์กร อันจะนำไปสู่การปฏิวัติในท้ายที่สุด เราไม่สามารถที่จะลอก “พระคัมภีร์ How to จัดตั้ง” จากสหายรุ่นก่อนๆ แล้วเอามาปฏิบัติในบริบทของยุคสมัยเรา แล้วคาดหวังว่าจะได้ผลสำเร็จ เราต้องเรียนรู้อดีต แต่ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นสะพานไปสู่อนาคต

ซึ่งในเรื่องของการจัดตั้ง เลนิน เคยกล่าวไว้ใจความว่า คือ การ “รวบรวมเอาความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคม ให้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน (การปฏิวัติ)” ขยายความก็ คือ เราในฐานะที่เป็นฝ่ายซ้าย เรามีหน้าที่ชี้ให้ผู้คนเห็นว่า “ปัญหา” ที่พวกเขากำลังเจอในชีวิตนั้น มันมีรากมาจากเรื่องของเศรษฐกิจการเมือง,เรื่องเชิงระบบ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างถึงราก (Radical) และ ในเมื่อไม่ใช่แค่เราคนเดียว ที่เป็นผู้ทนทุกข์กับระบบและโครงสร้างที่ขูดรีด เอาเปรียบพวกเรา เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกัน และ เพราะระบบดังกล่าวมันไม่ได้คงอยู่ได้เพราะ “ความผิดพลาด”( เช่น ความโง่ของผู้นำ)  หากแต่มันเป็นความจงใจของฝั่ง “ผู้กดขี่” ที่ออกแบบระบบมาสลับซับซ้อน เราจึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ และ ยุทธิวิธี ในการต่อสู้ ไม่ใช่ต่างคนต่างสู้ในแบบของตัวเอง

ในห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ความขัดแย้งทางการเมืองไทยเราได้ปะทุออกมาบนท้องถนน รวมไปถึงกระแสที่ถาโถมในโลกออนไลน์ ที่คนหนุ่มสาวหันมาสนใจพูดคุยประเด็นการเมืองมากขึ้น แต่.. ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน ที่ใดมีพลังการกระทำ (Action) ที่นั่นย่อมมีพลังของปฏิกิริยา (Reaction) สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การกลับมาของแนวคิดแบบล้าหลัง ในรูปแบบของ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ไม่ว่าจะเป็น การเหยียดเพศ,การเหยียดกรรมาชีพ,การดูถูกคนต่างจังหวัด,การเชิดชูบูชาศักดินา (แต่รอบนี้เป็นศักดินาในเครื่องแบบนักธุรกิจ), การเชิดชูระบบทุนนิยม, การบูชาชนชั้นนำ (แต่เปลี่ยนเป็นชนชั้นนำจากประเทศจักรวรรดินิยม), พวกอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจ, การบูชาความโอ้อวดและเห็นแก่ตัว ฯลฯ

แน่นอนว่าเมื่อพวกเราได้เห็นการกลับมาของซากเดนเหล่านี้ ปฏิกิริยาโต้ตอบแรกที่เราจะพึงมี (ในโลกออนไลน์) คือ การเข้าไปเถียงเข้าไปด่าอย่างถึงที่สุด ด้วยความไม่พอใจ รวมไปถึงเป็นการระบายแค้นที่สะสมในใจจากการถูกระบบดังกล่าวกดทับและขูดรีด

ทั้งนี้เพราะว่าพวกเรา คือ มนุษย์ ที่มีเลือดเนื้อ,จิตใจ และ ความรู้สึก พวกเราไม่ใช่สมองในโหลแก้วที่มีไว้บรรจุตรรกะหลักการเพียงเท่านั้น และ ถ้าหากพวกเราไร้ซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกแล้ว บรรดาตรรกะ หลักการ ความถูกต้อง ต่าง ๆ ย่อมไม่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอะไร หากแต่จะเป็นเพียงการ “ท่องจำ” ทุนทางสังคม เพื่อนำไปใช้โม้ในวงเหล้า หรือ เพื่อนำไปเหยียดหยามคนที่รู้น้อยกว่าตัวเอง ..

เราไม่อาจต่อสู้เพื่อความเป็นมนุษย์ได้ ถ้าหากเราเองยังละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง

ความโกรธ และ ความแค้น เป็นพลังงานของศักยภาพแบบหนึ่ง ซึ่งมันสามารถถูกวางแนวให้พุ่งไปทำลายล้าง หรือ สร้างสรรค์ได้ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนที่ต้องทุกข์ทรมานกับโรคทางสุขภาพจิต ในขณะที่มีอีกหลายคนเช่นกัน ที่ร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และ หยัดยืนในเส้นทางของการต่อสู้ได้อย่างมั่นคง

โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบัน ที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกยัดเข้าในสมองของมนุษย์เราในทุกๆวัน สภาพจิตใจของฝ่ายประชาธิปไตยที่ยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะวางแนวทางไหลของพลังงาน หรือ เคยรู้แต่หลงลืมไป จึงเหมือน คนที่ถูกกรอกอาหารเข้าปากทุกวัน แต่ถูกมัดติดกับเก้าอี้ ไม่ให้ได้วิ่งออกไปทำกิจกรรมเพื่อเผาผลาญ และ แปรเปลี่ยนพลังงานนั้นได้

การวางแนวทางไหลของพลังงาน คือ หนึ่งในยุทธิวิธี ในการต่อสู้ของพวกเรา เราจะทำยังไงให้พลังงานที่เราได้รับมานั้น 1.ไม่สะสมจนเป็นพิษแก่เรา 2. สามารถไหลไปสร้างสรรค์สิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นได้

ข้อสำคัญประการหนึ่ง ของการวางยุทธวิธีดังกล่าว คือ การระบายอารมณ์ย่อมไม่เท่ากับ “การสร้างสรรค์” และ “การปฏิวัติ”เสมอไป เช่น ถ้าหากเราถูกใครสักคนบูลลี่ และ เราโกรธเขามาก เลยกลับบ้านมาต่อยกำแพง จริงอยู่ที่เราได้ระบายอารมณ์นั้นออกไป แต่ผลที่ได้ คือ เขาคนนั้นก็อาจบูลลี่เราต่อไป และ เราก็เจ็บมือ

ทีนี้เมื่อเรามาพิจารณาในเรื่องของการดีเบตทกับพวก “เหล้าเก่าในขวดใหม่” (หรือ แม้แต่พวก “เหล้าเก่าในขวดเก่า” อย่างสลิ่ม)ที่กำลังระบาดเป็นแรงปฏิกิริยาในโลกออนไลน์  เราคาดหวังอะไรจากการดีเบตทกับคนเหล่านี้ ? ถ้าหากพวกเราลองเดาดู ก็อาจจะเป็น

1.ได้ระบายอารมณ์โกรธแค้น

2.ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนเห็นต่าง และ อัพสกิลการดีเบตท

3.ได้ทำการ “จัดตั้ง” ให้คนเหล่านั้นหันมาเป็นฝ่ายซ้าย

ผมเองจะไม่ตัดสินว่าการกระทำแบบไหนเป็นสิ่งดี หรือ เลว เพียงแค่อยากให้ผู้อ่านตัดสินใจกระทำบางอย่าง ผ่านการพิจารณามาก่อนแล้ว

ซึ่งถ้าเป็นไปเพื่อข้อ

  1. ได้ระบายอารมณ์แค้น

ผมว่าก็ไม่เสียหาย แต่แค่เราต้องตระหนักไว้ว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ “ศัตรู” ที่แท้จริงของพวกเรา หากแต่เป็นเพียงสามัญชนที่กำลังเข้าใจผิด การได้ชัยชนะเหนือคนเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้รัฐ และ ทุน สั่นคลอนเท่าใดนัก เหมือนกับการแก้ปัญหาปลวกกินบ้าน ด้วยการไล่ตีปลวกทีละตัวมากกว่า

  1. ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคนเห็นต่าง และ ฝึกสกิลดีเบตท

ถ้าเราตระหนักเช่นนั้น เราก็ควร “เลือก” คนที่จะดีเบทกับเราสักหน่อยว่า เขาคนนั้นมีการใช้ตรรกะที่สมเหตุสมผลหรือไม่   (แม้ว่าเขาจะคิดไม่เหมือนเรา) และ เขาอยากมาแลกเปลี่ยนความรู้กับเราจริง ๆ หรือ เขาแค่เป็นเกรียนอินเทอร์เน็ตคนนึง ที่อยากปั่นประสาทคนเอามันส์เฉยๆ

Ps.ถ้าหากสหายได้เจอกับคนเห็นต่างที่รู้จักใช้ตรรกะ เหตุผล แล้วได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันเยอะ ๆ ก็ถือว่าเป็นโชคดีมาก ๆ เพราะเราเองก็ไม่ควรจำกัดวงคุยแค่กับคนที่เห็นด้วยกับเรา แต่ส่วนใหญ่ผมต้องพูดตรงๆว่าคนแบบนี้ หายาก

  1. ได้ทำการ “จัดตั้ง” ให้คนเหล่านั้นหันมาเป็นฝ่ายซ้าย

ลองถามตัวเองดูว่า ที่เรามาเป็นฝ่ายซ้ายเพราะเราดีเบตทแพ้ รึเปล่า ? และ ที่ผ่านมามีคนแพ้ดีเบตทของเรากี่คนที่ตอนนี้กลายเป็นฝ่ายซ้าย ?  ถ้าคำตอบ คือ ไม่ .. เราก็ไม่ควรคาดหวังผลลัพธ์ดังกล่าว จากวิธีการแบบนี้

และ ที่สำคัญ การ “จัดตั้ง” ให้ใครสักคนเป็น “สหาย” เราต้องสร้างความเป็นเพื่อนกับคนที่เป็นสหายเหล่านั้นด้วย ไม่ใช่แค่การนัดกันมาทำงานเป็นโปรเจคๆ แล้วต่างคนต่างแยกย้าย ถ้าเช่นนั้น อุดมการณ์และความตั้งใจก็จะค่อย ๆ เลือนไปตามกาลเวลา และ สายธารแห่งข้อมูลมหาศาลที่ผ่านตามนุษย์เราในทุกเมื่อเชื่อวัน..

อย่าปล่อยให้อัลกอริทึมหลอกว่าเราเป็นแค่ “สมองในโหลแก้ว” ได้สำเร็จ

ผมว่าเป็นเรื่องตลกร้ายอันเป็นผลมาจาก สภาวะแปลกแยก (Alienation) อย่างมาก ถ้าหากเราพบว่าในวันๆ นึง เรามีปฏิสัมพันธ์ด้านการคุย (?)การเมืองกับ “เกรียนอินเทอร์เน็ต” มากเสียยิ่งกว่าการคุยกับฝ่ายซ้ายด้วยกัน จริงๆ แล้วเราแค่เหงาเพราะไม่มีคนคุยเรื่อง “การเมือง” ด้วยกันกับเราในชีวิตประจำวันรึเปล่า ? จนเราต้องมาเสียเวลากับคนเหล่านี้เพื่อคลายเหงา ..

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว “ การดีเบตทบนอินเทอร์เน็ต จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับการจัดตั้ง” มันเป็นคำตอบของความเหงา มันเป็นคำตอบของการระบายอารมณ์ มันเป็นคำตอบของการตอบสนองแบบเฉียบพลันต่อคนเห็นต่าง หากแต่มันไม่ได้ทำให้ทั้ง “เขา” หรือ “เรา” ซ้ายขึ้น ไม่ได้ทำให้สหายของพวกเรามีความรู้ ความเข้าใจ หรือ แรงบันดาลใจมากขึ้น มันไม่ได้ทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้น ..ต่อให้วันพรุ่งนี้ คนในกลุ่มสภาโรดิเซีย หรือ แมนมินิสต์ กลายเป็นซ้ายขึ้นมาพร้อมกัน คนเหล่านั้นก็เป็นแค่เกรียนออนไลน์ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้องใต้ดินของผู้ปกครอง (living in parents basement) ที่แม้แต่การนัดกินเหล้ากับเพื่อนในชีวิตจริงให้ได้เกิน 3 คน ยังเป็นเรื่องยาก นับประสาอะไรกับการมาเป็นฝ่ายซ้าย ที่ require ภาคปฏิบัติ .. มันคุ้มค่าแค่ไหนที่เราจะเสียเวลากับคน “คุณภาพ” เหล่านี้

แทนที่จะเอาเวลาไปทำกลุ่มศึกษา, คุยแลกเปลี่ยนความรู้กับสหาย, อ่านหนังสือ หรือ ฟังพอดแคสต์, เขียนบทความ หรือ บทกวี

ซึ่งถ้าหากสหายลองคิดดูดี ๆ เผลอ ๆ การเอาเวลาไปดูหนังตลกไร้สาระ ยังมีประโยชน์กว่าเพราะเรายังได้ “ความบันเทิง” ในขณะที่การมาคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจังกับคนเหล่านี้ สาระก็ไม่มี บันเทิงก็ไม่ได้

ผมในฐานะคนที่เคยเอาจริงเอาจังกับการดีเบตท ไม่ว่าจะเกรียนลิเบอรัล,เกรียนคอนเซอร์เวทีฟ,ศาสนิกชนงมงาย,มนุษย์ลุงป้าชาวสลิ่ม,คลาสิคลิเบอรัล,นีโอลิเบอรัล ฯลฯ แล้วต่อมาก็ได้ตาสว่างว่ามันเป็นการกระทำที่ ไม่ได้ผิดศีลธรรมอะไร แต่ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ จึงอยากมาบอกสหายวัยรุ่น ที่มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อยนึง ว่าให้ค่อยๆ ช่วยกันเตือนเพื่อน ๆ ว่าให้คิดทบทวนในวิถีเหล่านี้ดู

เวลาของสหายทุกคนมีจำกัด อย่างน้อยถ้าไม่ได้ใช้ไปเพื่อการปฏิวัติ ก็เสียมันให้กับการพักผ่อน & พัฒนาตัวเอง

ดีกว่าเสียให้กับคนที่ไม่คู่ควร

ด้วยความเคารพและปรารถนาดีจาก

“Comrade Sinkin” 22/4/2022

 

 

The Empty Empathy: เธอจะเห็นใจผู้อื่นอย่างไร ถ้าไม่มีคำว่าเรา

The Empty Empathy: เธอจะเห็นใจผู้อื่นอย่างไร ถ้าไม่มีคำว่าเรา

ผู้เขียน – วริษา สุขกำเนิด

บทความนี้จำเป็นต้องใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเพื่อป้องกันการคาดเคลื่อนและคลุมเคลือของความหมาย

ตั้งแต่เริ่มท่องโลกในโลกโซเชียลมีเดีย Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นคำที่ผู้เขียนเห็นจนชินตา ไม่ว่าจะมีความรุนแรงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และอื่นๆ Empathy ก็เป็นสิ่งที่ถูกยกขึ้นมาในข้อถกเถียงเสมอ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเล่าว่า Empathy มีบทบาทอย่างไรในโลกโซเชียลมีเดีย ผ่านการทบทวนความคิดของ Byung Chul Han ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเสรีนิยมใหม่  และทุนนิยมการสื่อสาร (Cognitive capitalism)

 ก่อนที่จะกล่าวถึง Empathy ผู้เขียนขอเล่าถึงบทบาทของความรู้สึกทั่วไปในโลกการผลิตสัญญะในโลกทุนนิยมการสื่อสารเสียก่อน ในหนังสือเรื่อง Psychopolitics (2017) Han ได้เสนอในบท Emotional Capitalism ไว้ว่า อารมณ์ (Emotion) กลายเป็นตรรกะใหม่ของทุนนิยมการสื่อสารไปเสียแล้ว การที่อารมณ์กลายมาเป็นปัจจัยในการผลิต (Mode of Production) เป็นเพราะคุณสมบัติอันโดดเด่นของมันที่เข้ากับทุนนิยมการสื่อสารได้ดี และแยกขาดมันออกจากสภาวะทางจิตใจประเภทอื่นๆ กล่าวคือ

(1) อารมณ์ (Emotion) แตกต่างจากความรู้สึก (Feeling) และ บรรยากาศ (Mood) ความรู้สึกและบรรยากาศมาพร้อมกับการยึดโยงกับสถานที่ เช่นสิ่งรอบตัว ผู้คน เหตุการณ์ ยึดโยงกับเวลา เช่นเรื่องราวที่รับรู้ การตกผลึก ทั้งสองสภาวะยังเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมา และสภาวะที่มีความมั่นคงอยู่พอตัว ในขณะที่อารมณ์กลับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องซึมซับกับพื้นที่และเวลา มันมาพร้อมกับเรียกร้องให้แสดงออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการในภายในจิตใจบางประการ 

(2) อารมณ์มีลักษณะที่แตกต่างกับความเป็นเหตุเป็นผล (Rationality) ในขณะที่ความเป็นเหตุเป็นผลมาพร้อมกับความมั่นคงในหลักการ (และจิตใจ) และการใช้เวลาในการครุ่นคิดและฝึกฝน อารมณ์กลับเป็นสิ่งที่หุนหันพลันแล่น ทันทีทันใด และเป็นอิสระจากแบบแผนหรือหลักการมากกว่า 

ดังนั้น คุณสมบัติของอารมณ์ที่กล่าวมาจึงเข้ากันได้ดีกับทุนนิยมความรับรู้ที่ทำให้พื้นที่และเวลาสั้นลง (Time) อารมณ์จึงกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการสะสมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริโภค ในการโฆษณาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรืออวัตถุ อารมณ์ คือ สิ่งที่ทำให้การประชาสัมพันธ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กับการโฆษณาดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์หลักจากการที่ผู้บริโภค “มีอารมณ์” ต่อคอนเท้นท์มากมายคือนายทุนเจ้าของแพล็ตฟอร์มการสื่อสาร เพราะการที่ผู้บริโภคมีอารมณ์และโต้ตอบกับคอนเทนท์จะทำให้พวกเขาได้กำไรมหาศาล ทั้งนี้ ผู้คนที่ใช้งานแพล็ตฟอร์มกลับต้องถูกกระตุ้นอารมณ์ด้วยข้อมูลที่ไหลบ่ามาอย่างไม่รู้จบ จนพวกเขามีแน้วโน้มที่จะเหนื่อยล้า วิตกกังวล หรือสมาธิสั้นมากขึ้นเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านี้ ในหนังสือเรื่อง The Disappearance Of Rituals (2020) Han ยังเสนอว่าโลกทุนนิยมการสื่อสารกำลังค่อย ๆ กัดกร่อนความเป็นชุมชนให้เหลือแต่เพียงปัจเจก เปลี่ยนจากชุมชนที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของกันและกันโดยไม่ต้องสื่อสารกันมาก (Community without Communication) ไปเป็นระบบที่เต็มไปด้วยการสื่อสารแต่ไร้ซึ่งความเป็นสังคม (Communication without Community) เขาขยายความว่า ในชุมชนแบบแรก (Community without Communication) ผู้คนในชุมชนจะเชื่อมโยงกันผ่านสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนรอบข้าง สิ่งของ สภาพแวดล้อม หรือความเชื่อบางอย่างผ่านพิธีกรรม พิธีกรรมจึงมาพร้อมกับความรู้สึก ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คนในชุมชนรับรู้ร่วมกัน และรับรู้ถึงกันและกัน เช่นในงานสังสรรค์ ผู้คนก็จะสนุกไปด้วยกัน หรืองานโศกเศร้า ผู้คนก็จะโศกเศร้าไปด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ระบบเสรีนิยมใหม่และทุนนิยมการสื่อสารกลับพรากความเป็นชุมชนไปจากเราและแลกมาด้วยความโดดเดี่ยว ดังนั้นมันจึงพรากพิธีกรรม และการรับรู้ความรู้สึกร่วมกับคนอื่น และแทนที่การรับรู้ถึงตัวเอง และรับรู้อารมณ์ที่เกิดจากการกระตุ้นของข้อมูลแทน

ความย้อนแย้งประการหนึ่งของเสรีนิยมใหม่คือ ในขณะที่มันเรียกร้องให้พวกเรากลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัวและหลงตัวเอง จากการถีบหัวไล่ส่งคนที่อยู่ข้างๆ มันกลับเรียกร้องร้องให้เรามี Empathy เมื่อตอบสนองกับข้อมูลที่สะเทือนอารมณ์ในโลกออนไลน์ เราสามารถแสดง Empathy ผ่านการ “ทำอะไรซักอย่างอย่างรวดเร็ว” เช่นการกดถูกใจ แสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่เพื่อแสดงจุดยืน ในมุมมองของ Han แล้ว Empathy คืออารมณ์ที่เข้ากันได้ดีกับสังคมที่โดดเดี่ยว เนื่องด้วยเราไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกร่วมกับคนรอบข้างได้ ทำให้เราพยายาม (อย่างยิ่ง) ในการทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นในข้อมูล ในขณะเดียวกัน Empathy ก็กลายเป็นเครื่องมือในการสะสมทุนของทุนนิยมการสื่อสาร ในแง่ที่ว่ามันสามารถเหนี่ยวนำอารมณ์และชี้นำคนได้ และทำได้ดีกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผลเสียอีก มุมมองดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า นอกจากเราจะถูกขูดรีดแรงงานจนเกิดความรู้สึกด้านลบแล้ว มันยังขูดรีดเราผ่านความรู้สึกเชิงบวกอีกด้วย

ในมุมมองของผู้เขียน เราจำเป็นที่จะต้องก้าวผ่าน Empathy แบบปัจเจก ไปสู่ Empathy ที่ถอนรากถอนโคน โดยผู้เขียนจะขอยกมาสองข้อเสนอที่ต้องเกิดขึ้นร่วมกัน (1) การสร้างขบวนการหรือกลุ่มที่แยกขาดจากตรรกะแบบทุนนิยมการสื่อสาร หรือการสื่อสารที่มากเกิดไปจนไม่เห็นและรับรู้ถึงสังคมรอบข้าง เพื่อให้ปัญหาที่ต้องเห็นอกเห็นใจ กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจภายในกลุ่มกลุ่มนั้น (2) การมองเหตุการณ์สะเทือนใจไม่ใช่ในฐานะเหตุการณ์ที่รุนแรงโดยตัวมันเอง แต่เกิดจากความรุนแรงเชิงเศรษฐกิจหรือสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ข้างใน รวมไปถึงการครุ่นคิดถึงที่มาของปัญหาและยุทธฺศาสตร์การต่อสู้ที่มากกว่าการแสดงออกซึ่งการแก้ปัญหาแบบทันทีทันใด แต่กลับไม่แก้ปัญหาจากต้นตอ (ตกผลึกแนวคิดจาก คู่มืออ่าน Violence สรวิศ ชัยนาม 2558) สองวิธีนี้จะทำให้ความเห็นใจผู้อื่นสามารถนำไปสู่การต่อสู้ได้

สหายตกีฟ เขียน

อ้างอิง

Han, Byung Chul., 2020. The Disappearance of Rituals. Cambridge: Polity Press.

Han, Byung Chul., 2017. Psycho-Politics Neoliberalism and Technologies of Power. New York: Verso.

สรวิศ ชัยนาม, 2558. Slavoj Zizek ความรุนแรงและการเมืองเพื่อการปลดปล่อย. กรุงเทพฯ: ศยามปัญญา.

รัฐอสังหาฯ: นายทุนจะเฟื่องฟูลอย คนรายได้น้อยจะถอยจม

รัฐอสังหาฯ: นายทุนจะเฟื่องฟูลอย คนรายได้น้อยจะถอยจม

ผู้แปล – วริษา สุขกำเนิด

ทุนนิยมและการวางผังเมืองของรัฐเป็นสองอำนาจที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อน อุดมการณ์แบบทุนนิยมมักยืนกรานว่าระบบตลาดนั้นเป็นกลไกที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการเลือกของผู้บริโภคก็เป็นผู้ที่ขับเคลื่อนความต้องการของสาธารณะที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพที่สุดเช่นกัน ดังนั้นแล้ว แนวทางการบริหารจัดการให้เป็นไปตามกลไกตลาด (Deregulation) จึงกลายเป็นคำโฆษณาที่สวยหรูของนักธุรกิจไปแล้วนับศตวรรษ และการจำกัดอำนาจการควบคุมของรัฐบาลก็กลายเป็นจุดหมายสำคัญของนักการเมืองอนุรักษ์นิยมไปเสียในทุกระดับ Grover Norquist นักเคลื่อนไหวฝ่ายขวาจาก American for Tax Reform ยังเคยกล่าวไว้ว่า เขาอยากจะลดขนาดของอำนาจรัฐบาล “ให้เล็กจนผมสามารถหยิบเข้าน้ำแล้วกดมันให้จมในอ่างได้”
 
ทว่า ถึงแม้ว่านายทุนจะกล่าวเช่นนั้น พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขากล่าวไว้เสียแต่น้อย นายทุนและนักการเมืองกลับกลายเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เรียกร้องให้รัฐขยายอำนาจเมื่อกล่าวถึงการเพิ่มขนาดของเรือนจำ และการเพิ่มแสนยานุภาพของกองทัพ ซึ่งการขยายอำนาจของรัฐในรูปแบบดังกล่าวก็สร้างภาระทางงบประมาณที่ล้นฟ้าทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติเสียด้วย นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังชื่นชอบการบริหารจัดการที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่จะคอยขัดแข้งขัดขาไม่ให้ธุรกิจขนาดเล็กแข่งขันกับพวกเขาได้ ผ่านทั้งการจ้างกองทัพของทนายถางทางให้ดำเนินสะดวก ในขณะที่เส้นทางของคู่แข่งของเขากลับเต็มไปด้วยหลุมบ่อ การขยายอำนาจของรัฐบาลในขนาดมหึมานี้ยังสร้างเหลื่อมล้ำ และป้องปราบการก่อจราจลในนามของกฎหมาย
 
และในด้านของนโยบายการวางผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน วาทะว่าด้วยการลดอำนาจรัฐก็ย้อนแย้งจากสิ่งที่ชนชั้นนำดำเนินการจริงไม่ต่างกัน เหล่านายทุนมีความต้องการพึ่งพาอำนาจรัฐที่เข้มข้นและเฉพาะเจาะจงในการดำเนินโครงการใดๆ และหากปราศจากรัฐแล้ว พวกเขาก็อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิในระยะยาว หรือแม้ระยะสั้นเองก็ตาม พวกเขาต้องการให้รัฐวางเงินลงทุนขนาดใหญ่ให้กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้พวกเราสร้างกำไรได้ รวมทั้งยังต้องการให้รัฐสร้างหลักประกันในการอุดหนุนงานผลิตซ้ำทางสังคมของผู้คน เพื่อจะประกันว่าพวกเขาจะยังมีแรงงานที่ยังมีลมหายใจให้ได้ขูดรีดเป็นเป้าหมายสำคัญ หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่มาจากการวางแผน ลงทุน และประสานงานโดยรัฐแล้วไซร้ พวกเขาก็แทบจะไม่ฐานอะไรจะค้ำยันเลย
 
ความขัดแย้งบนผังเมืองแบบทุนนิยม –
 
อย่างไรก็ดี หากเรามองให้ลึกลงอีกสักนิด เราก็จะพบถึงจุดแตกหักที่สำคัญเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเติบโตของเขตเมือง ในหนังสือเรื่อง Planning the Capitalist City ที่เขียนในปี 1986 ผู้เขียน Richard Foglesong ได้เขียนวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระบบทุนนิยมกับการวางผังเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ช่วงอาณานิคมไปจนถึงช่วง 1920s หนังสือเล่มดังกล่าววางข้อเสนออยู่บนสองข้อขัดแย้งหลัก ซึ่งผู้เขียนเสนว่ามันคือ “ความขัดแย้งของลักษณะกรรมสิทธิ์” และ “และความขัดแย้งระหว่างระบบทุนนิยมและระบบประชาธิปไตย”
 
ความขัดแย้งของลักษณะกรรมสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อนายทุนต้องการแทรกแซงการวางผังเมืองของภาครัฐในแบบใดแบบหนึ่งเพื่อที่จะให้สนับสนุนแนวทางการหากำไรของพวกเขา แต่กลับปฏิเสธประโยชน์ใช้สอยของการวางผังเมืองอีกรูปแบบในฐานะของความโง่เขลาแบบสังคมนิยมรูปแบบหนึ่ง และนอกเหนือจากแนวคิดดังกล่าว สิ่งที่นายทุนในเมืองต้องการกลับเป็นคนละสิ่งกลับสิ่งที่นักวางผังเมืองต้องการ ความต้องการของพวกเขาทำลายสายพานการผลิตของสังคมอุตสาหกรรม ในขณะที่นายทุนอุตสหากรรมอาจขุ่นเคืองกับกฎหมายการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการขูดรีดทรัพยากรบนผืนดิน แหล่งน้ำ และอากาศ โดยปราศจากผลพวงทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็สามารถออกหน้าสนับสนุนการแทรกแซงการวางผังเมืองที่จะนำไปสู่การขึ้นราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยในระดับต่ำ เพราะเขาตีมูลค่าที่ดินในฐานะของต้นทุนในการผลิต และราคาที่อยู่อาศัยในฐานะว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แรงงานของพวกเขาลงถนนแและเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน นายทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มองหมอกและควันเป็นปัจจัยฉุดรั้งราคาตึกราบ้านช่องให้ต่ำลง ก็ต้อนรับขับสู้ให้มีมาตราการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี เขากลับไม่ยินดีหากรัฐจะออกมาตราการควบคุมค่าเช่าพักอาศัย หรือที่อยู่อาศัยสาธารณะคุณภาพสูง เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจกระทบกระเทือนแผนภูมิธุรกิจพันล้านของพวกเขาได้ ดังนั้น นักวางผังเมืองจึงจัดการกับปมปัญหาที่ทับซ้อน ด้วยการหาจุดกึ่งกลางระหว่างความต้องการในการแข่งขันของนักลงทุนหลากหลายประเภทธุรกิจ โดยหลีกเลี่ยงการวางผังเมืองที่ไม่ให้นายทุนอีกกลุ่มโวยวาย
 
บนความพยายามที่ยากปานจะสอดด้ายเข้าเข็มนี้ นักวางผังเมืองก้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างนายทุนและประชาธิปไตย (Capitalist Democracy Contradiction) เช่นกัน นายทุนตัวจริง หรือผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (ไม่ใช่ผู้ที่คิดแบบนายทุนเพียงอย่างเดียว) หากนับจากจำนวนประชากรแล้ว พวกเขาจะถือเป็นคนส่วนน้อย ตามอุดมคติของการปกครองแบบสาธารณรัฐและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว นักวางผังเมืองควรนำชนชั้นแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางผังเมือง ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็อาจจะเจอกับวิกฤตการณ์ทางนิติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ได้รับความไว้ใจให้ออกแบบผังเมืองโดยเอื้อประโยชน์แก่นายทุนผู้เป็นเจ้าของระบบนี้เอง เพื่อที่จะการจัดการกับปมปัญหาดังกล่าว เมืองที่ออกมาจึงหาวิธีดำเนินการด้วยระบบประเมินการใช้ที่ดิน (Land Use Review System) ที่ประชาชนมีสิทธิในการลงความคิดเห็นเกี่ยวกับผังเมืองที่ส่วนกลางออกแบบ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการออกแบบผังเมือง และคณะกรรมาธิการการวางผังเมืองสาธารณะ (Public City Planning Commissions) ที่ที่นั่งต่างๆก็เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และชนชั้นนำทางธุรกิจ
 
ตามรูปแบบการทำงานข้างต้นแล้ว หน้าที่หลักของนักวางผังเมืองคือการหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง 2 เอาไว้ ซึ่งแม้ว่าความขัดแย้งทั้งสองจะไม่สามารถแก้ไขได้ขาด แต่มันก็ยังสามารถจัดการได้ระดับหนึ่ง มันคือปมปัญหาที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสียเหลือเกิน นักวางผังเมืองที่ต้องออกแบบการใช้ที่ดิน กลับถูกกีดกันจากหน้าที่ของเขาที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อประโยชน์ของนายทุน และแม้ว่ากระบวนการการวางผังเมืองควรจะเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้และมีส่วนร่วมแค่ไหน พวกเขากลับต้องประกันให้ได้ว่าอำนาจล้นฟ้ายังคงอยู่ในกำมือของนายทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่วันยังค่ำ ซึ่งนั่นเป็นงานที่น่าหดหู่สิ้นดี
 
การเรืองอำนาจของรัฐอสังหาฯ –
 
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในขณะที่ผมกำลังสอนเกี่ยวกับหนังสือของ Foglesong ในห้องสัมมนาภูมิศาสตร์ ได้มีนักศึกษาคนหนึ่งยกมือถามว่า “ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญของหนังสือคือการแข่งขันระหว่างทุนอุตสาหกรรมและทุนอสังหาริมทรัพย์นะครับ แล้วที่นี้ข้อเสนอนี้จะเอาไปประยุกต์กับโลกปัจจุบันที่ทุนอุตสาหกรรมกับทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันแล้วหล่ะครับ” นั่นแหละ คือประเด็นสำคัญ
 
โลกของเรากลายเป็นโลกอุตสหากรรมมากกว่าเมื่อก่อนเสียอีก ดังเช่นในสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม และการผลิตก็เป็นสัดส่วนหลักของเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 การผลิตแบบอุตสหากรรมในสหรัฐก็มีการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ครั้งแรก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานหลายโรงได้ย้ายฐานการผลิตจากโรงงานเก่าที่เมืองตอนเหนือไปยังโรงงานใหม่ในเมืองตอนใต้ ชานเมือง และเขตชนบท หลังจากนั้น ในช่วง 1970s จนถึง 1990s การผลิตเริ่มมีความรวดเร็วและดำเนินการทางไกลได้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือโรงงานต่างๆก็เริ่มย้ายออกนอกประเทศ
 
ในช่วง 1990s และ 2000s รูปแบบใหม่ของการขยายตัวของอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้น พร้อมกับกิจการโลจิสติกส์ที่เติบโตสอดคล้องกับการไหลเวียนอันสลับซับซ้อนของสินค้าเข้าและออกจากตัวเมือง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่นี้มักจะเกิดขึ้นนอกเขตมหานคร (เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินราคาถูก และความสะดวกสบายในการขนถ่ายสินค้า) และหากอุตสาหกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ในตัวเมือง มันก็มักจะมาพร้อมกับการที่หน่วยงานสาธารณะหรือราชการเป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่นั้นด้วย
 
ในขณะเดียวกัน “การไหลบ่าของทุน” ก็ไหลไปสู่พื้นที่เขตเมืองและตึกรามบ้านช่องมากขึ้น ในเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ ทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 217 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งทำให้อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดของสินทรัพย์ในโลก ในขณะนี้ สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี แต่อัตราค่าเช่าแรกเข้ายังเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาแม้อัตราค่าจ้างยังคงเท่าเดิม ในบางเมือง ราคาค่าบ้านพุ่งขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 ในเวลาเพียง 5 ปี วิกฤตการณ์ที่อยู่อาศัยมากมายหลายแขนงนี้จะกระจายไปยังตัวเมืองทั่วสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้
 
ท่ามกลางความหนาแน่นของอสังหาริมทรัพย์และการการกระจายตัวของอุตสาหกกรมการผลิต ความสัมพันธ์ระหว่างทุนในเขตเมืองและการวางผังเมืองได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเมื่อผู้ผลิตไม่ได้สร้างฐานอำนาจในการลดค่าที่ดินและค่าบ้านในเขตเมืองให้ต่ำลงอีกต่อไปแล้ว การจัดการ “ความขัดแย้งของลักษณะกรรมสิทธิ์” ก็เป็นเพียงแค่คำกล่าวอ้างของนายทุนอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการวางผังเมือง ผู้ที่เรียกร้องให้เกิดนโยบายที่จะผลักราคาที่ดินและสินทรัพย์ให้สูงขึ้นกว่าเดิม แม้เมื่อมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเดินทาง สวนสาธารณะ ฯลฯ ทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ยังต้องการแซกแทรกเพื่อการลงทุนด้วย
 
ในยุคเรืองอำนาจของรัฐอสังหาฯ นักวางผังเมืองเจรจาต่อรองบน “ความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมและประชาธิปไตย” กลับเป็นผู้หาที่ทางให้แก่ทุนอสังหาริมทรัพย์ในสถาบันของการวางผังเมืองเสียเอง ตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการการวางผังเมืองนั้นเกือบจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มีประสบการณ์ในด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การประชาสัมพันธ์ การขาย กฎหมาย หรือแม้แต่วิศวะกรรม หรือแม้แต่เสียงที่แตกออกจากกรรมาธิการคนอื่นๆ อย่าง Michaelle de la Uz นักพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งแน่นอนเป็นตัวอย่างที่แตกต่างจากคนอื่นๆ แต่เขาก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการวางผังเมืองอยู่ดี
 
นี่คือรัฐอสังหาฯ รัฐบาลเข้าหาความต้องการและข้อเรียกร้องของสายธารของทุนกลุ่มนี้ และพยายามเข้ากับทุนกลุ่มนี้เพื่อประกันว่าการดำเนินการของรัฐบาลจะนำไปสู่กำไรที่สูงขึ้นของ นักพัฒนา นายทุนผู้ให้เช่า นายลงทุน และ นักฟลิบบ้าน เช่นเดียวกับรัฐประเภทอื่นๆ (รัฐสวัสดิการ รัฐทัณฑสถาน รัฐสงคราม) รัฐอสังหาฯ ไม่ได้เป็นรัฐที่เบ็ดเสร็จเลยเสียทีเดียว แต่ผลกระทบของมันนั้นเข้มข้นในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นระดับที่การตัดสินใจการใช้ที่ดินเกิดขึ้น
 
และไม่ว่านักวางผังเมืองจะเผชิญกับปัญหาอะไรก็ตาม ทางออกที่พวกเขาเสนอก็มักจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้หรูหรารวมอยู่ในหลักการสำคัญด้วย แม้ว่าปัญหาเหล่านั้นคือการขาดแคลนบ้านที่อยู่อาศัยราคาถูกก็ตาม นอกจากนี้ นักวางผังเมืองมักถูกมอบหมายให้รักษาราคาอสังหาริมทรัพย์เสมอ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะสินทรัพย์ในบางที่นั้นราคาถูก และนักลงทุนต้องการให้ราคาของมันสูงขึ้น และเพราะสินทรัพย์ในบางที่มีราคาสูงอยู่แล้ว แต่หากมันเกิดราคาต่ำลงมันอาจจะฉุดรั้งราคาของทั้งระบบได้ ความพยายามในการปิดกั้นการลงทุน และการพัฒนาที่อาศัยสาธารณะไม่ค้ากำไร ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ไม่มีใครเลือกในระบอบการวางผังเมืองที่วางอยู่บนความคิดว่าผลประโยชน์ของสาธารณะจะได้มาผ่านการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
 
ดังนั้น ในระบบดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงของที่ดินย่านเดิมไปสู่ย่านชนชั้นกลางราคาสูง (Gentrification) จึงไม่ใช่ข้อผิดพลาดของการวางผังเมือง แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของย่านเมืองถูกขับดันด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคม แต่มันเป็นผลผลิตของรัฐ ผ่านกระบวนที่มีการสอดใส้เพื่อให้เกิดการลงทุนใหม่เรื่อย ๆ และยังทำให้คนอีกกลุ่มต้องย้ายออกไป อย่างไรก็ดี นักวางผังเมืองไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือของทุนหรือลูกมือของรัฐเพียงด้านเดียว เพราะก็ยังมีนักวางผังเมืองอีกจำนวนมากที่เข้ามารับตำแหน่งนี้เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงเมืองให้ดีขึ้นเช่นกัน นักวางผังเมืองหลายคนมีพื้นเพความคิดที่ถอนรากถอนโคน และยังมองการวางผังเมืองในฐานะวิธีการในการควบคุมการไหลเวียนของทุนที่นำไปสู่ปัญหาต่างๆนานา แต่ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐอสังหาฯ นี้ การสร้างพื้นที่เพื่อประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากการทำกำไรนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากทีเดียว
 
ทว่า การวางผังเมืองแบบอื่น ๆ ก็ยังเป็นไปได้ และมันไม่ใช่สิ่งที่นักวางผังเมืองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับปัญหาดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว หากเราต้องการให้นักวางผังเมืองออกแบบเมืองที่ให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากกว่านายทุนอสังหาริมทรัพย์ เราต้องร่วมแรงกันสร้างความกดดันทางการเมืองต่อนายของพวกเขา ซึ่งหนึ่งในนั้นแน่นอนว่าเป็นรัฐบาลที่จ้างพวกเขา และยังรวมไปถึงอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วย
 
อย่างไรก็ดี หากพวกเรามองเข้าไปในปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง จะพบว่าทุนอสังหาริมทรัพย์ก็เผยด้านที่เปราะบางไว้อยู่เช่นกัน ขบวนการการต่อสู้เพื่อป้องกันการแปรสภาพย่านเก่าให้เป็นย่านชนชั้นกลางราคาสูงสามารถจะต่อกรกับพลังของทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่จะทำให้รู้ว่ากำไรนั้นเป็นของใคร พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย จากเดิมผู้รับกรรมผู้เช่าที่ ไปสู่เจ้าของที่ผู้ให้เช่า นักพัฒนาที่ดิน และนักลงทุนแทน ภารกิจนี้ไม่ใช่ภารกิจที่ง่าย แต่มันคือสิ่งที่เราต้องเผชิญหากจะต่อสู้กับรัฐอสังหาฯ
อเล็กซานดรา คอลอนไท (ตอนที่ 1) :การต่อสู้เพื่อเฟมินิสต์กรรมาชีพและผู้หญิงในพรรค

อเล็กซานดรา คอลอนไท (ตอนที่ 1) :การต่อสู้เพื่อเฟมินิสต์กรรมาชีพและผู้หญิงในพรรค

เรื่อง Jodi Dean
แปล กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
บรรณาธิการ นิรนาม
ต้นฉบับ [Liberation School] Alexandra Kollontai (pt. 1): The struggle for proletarian feminism and for women in the party


อเล็กซานดรา คอลอนไท นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์ชาวรัสเซียมีชีวิตอยู่ในปี 1872 ถึง 1952 เธอเป็นนักพูด นักเขียน และนักกิจกรรมตัวยงในกระบวนการเคลื่อนไหวแรงงานหญิงสังคมนิยมในรัสเซียและยุโรปตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 คอลอนไทเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีด้วยตำแหน่งในกระทรวงสวัสดิการแรงงานในรัฐบาลแรกของบอลเชวิคหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม เธอตั้ง “แผนกสตรี” (Zhenotdel) ของรัฐบาลใหม่และเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่มีตำแหน่งทางการทูต แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่าความรับผิดชอบเหล่านี้คืองานและงานเขียนเพื่อการปฏิวัติของเธอที่ไม่ได้สนใจแค่ความเท่าเทียมทางเพศและสังคมนิยม แต่ยังสนใจบทบาททั่วไปของความรักและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการต่อสู้ การสำรวจเรื่องนี้อาจช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และทำให้กลยุทธ์การเมืองของเราทุกวันนี้แหลมคมขึ้นได้

คอลอนไทเป็นมาร์กซิสต์ที่มุ่งมั่นจัดตั้งแรงงานหญิง เธอเถียงว่าการกดขี่ผู้หญิงนั้นฝังรากอยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ คือ “การผลิตและการผลิตซ้ำของชีวิตในขณะนี้” ตามคำของเฟรดริก เองเกล[1] เงื่อนไขเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการที่การผลิตชีวิตคนและการผลิตซ้ำปัจจัยในการดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ และอื่นๆ ถูกกักเก็บและจัดสรร ที่ทางของผู้หญิงในทางเศรษฐกิจ อันรวมถึงการแบ่งงานในบ้านตามเพศ เป็นตัวกำหนดที่ทางของผู้หญิงในสังคม ผลคือการปลดแอกผู้หญิงขึ้นอยู่กับการถอนรากถอนโคนทุนนิยม สังคมชนชั้นและการเอาเปรียบ และการจัดสรรการผลิตและชีวิตใหม่ของคอมมิวนิสต์

ถึงแม้ว่านี่จะเป็นทฤษฎีเมื่อร้อยปีมาแล้ว แต่การเน้นย้ำสภาพวัตถุ สภาพเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของการผลิตและการผลิตซ้ำยังเป็นจุดสำคัญในการต่อสู้ของแรงงานหญิง บ่อยครั้งที่เฟมินิสต์ร่วมสมัยบางคนละเลยมิติทางเศรษฐกิจ แล้วมุ่งเป้าไปท่ีทัศนคติ ภาษา ภาพ และความรู้สึกส่วนตัวโดยไม่ได้สำรวจภูมิหลังทางเศรษฐกิจของพวกเธอเอง เราให้ความสนใจปัจเจก ความรู้สึก ความสะดวกสบาย ความชอบและความปรารถนามากเกินไปราวกับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ผลกระทบจากสังคมโดยรวม ในทางตรงกันข้าม คอลอนไทสอนเราว่ามิติที่ใกล้ชิดลึกซึ้งที่สุดกับชีวิตของเราคือส่วนรวมต่างหาก

สามแกนหลักในงานและชีวิตของคอลอนไทแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกับการจัดตั้งร่วมสมัย การต่อสู้ ประวัติศาสตร์ และความรัก เธอสำรวจมิติการต่อสู้ในบทความชิ้นนี้ คอลอนไทสนใจที่ทางของผู้หญิงในเศรษฐกิจ ความสนใจนี้ทำให้เกิดมุมมองอันทรงพลังและซับซ้อนต่อการปลดแอกแรงงานหญิง ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของเธอก่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง(ต่อ)การเปลี่ยนแปลงในครอบครัว ส่วนที่สองเป็นเรื่องความโหยหาคอมมิวนิสต์(ม์)ของเธอ– (ซึ่งรวมไปถึง)งานรูปธรรมในการสร้างเผด็จการกรรมาชีพ (ที่)ทำให้เธอมองว่าความสัมพันธ์ลึกซึ้งไม่สามารถแยกออกจากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การจัดตั้งความรักเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งการผลิต ส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่และการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับงานที่เติมเต็มและเน้นการทำงานร่วมกัน

การต่อสู้เพื่อเฟมินิสต์กรรมาชีพ

คอลอนไทเรียกร้องอย่างบ้าคลั่งให้แรงงานหญิง อัตชีวประวัติของเธอเขียนว่าเธอใส่ “ทั้งหัวใจและจิตวิญญาณ” ในการต่อสู้เพื่อ “กำจัดความเป็นทาสของแรงงานหญิง”[2] นี่หมายถึงการโน้มน้าวให้แรงงานหญิงเข้าร่วมสังคมนิยมและต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมเพื่อปลดแอกผู้หญิง คอลอนไทร่วมต่อในสู้ศึกสองด้าน ทั้งต่อต้านเฟมินิสต์กระฎุมพีและต่อสู้ให้พรรคสังคมนิยมสนใจแรงงานหญิงไปด้วยในเวลาเดียวกัน

คอลอนไทไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ เธอมองว่าคำว่า “เฟมินิสต์” เป็นการเมืองของชนชั้นกระฎุมพีและของผู้หญิงบางชนชั้นเท่านั้น การเคลื่อนไหวเฟมินิสต์เป็นการเมืองของผู้หญิงชั้นกระฎุมพีที่ดูจะท้าทายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไม่สำเร็จ พวกเธอยอมรับโครงสร้างนั้นและต้องการเลื่อนขั้นขึ้นไปในโครงสร้างเดิม คอลอนไทเขียนว่า

เฟมินิสต์มองหาความเท่าเทียมในกรอบชนชั้นทางสังคมที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของสังคมเลยสักทาง ต่อสู้เพื่ออภิสิทธิ์ เพื่อตัวเองโดยไม่ได้ท้าทายอภิสิทธิ์และสิทธิพิเศษที่มีอยู่[3]

แทนที่ผู้หญิงจะรวมตัวกันโดยมีเพศเป็นฐาน ชนชั้นกลับแบ่งผู้หญิงออกจากกัน การต่อสู้ระหว่างชนชั้นแบ่งแยกผู้หญิงแบบเดียวกับที่แบ่งแยกผู้ชาย ความเป็นเอกภาพเรื่องเพศ “ไม่เกิดขึ้นและไม่สามารถจะเกิดขึ้น” แม้ว่าเฟมินิสต์กระฎุมพีจะพูดถึงผู้หญิงทุกคนหรือผู้หญิงเช่นนั้น แต่กลับตั้งคำถามการปลดแอกผู้หญิงจากที่ทางเฉพาะของชนชั้นพวกตน ด้วยความปรารถนาบางอย่างต่อเรื่องการศึกษา ทรัพย์สิน สิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง และการเข้าถึงอาชีพ

คอลอนไทสาธยายว่าเฟมินิสต์ก่อตัวเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลางศตวรรษที่ 19 ท่ามกลางบริบทการพัฒนาของทุนนิยม เมื่อทุนนิยมกลายเป็นรูปแบบการผลิตหลัก ที่ทางของชนชั้นกลาง กระฎุมพีตัวเล็กตัวน้อย เริ่มไม่เสถียรและเสี่ยงมากขึ้น ในขณะที่หญิงชนชั้นแรงงานถูกดูดกลืนเข้าไปในโรงงานแล้ว (เหตุผลหลักคือพวกเธอได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย) ผู้หญิงกระฎุมพีเริ่มต้องการรายได้และงานที่มีความหมาย พวกเธอร้องเรียกสิทธิในการเข้ามหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพหลากหลายกว่าเดิม การที่หญิงกระฎุมพีต่อสู้กับผู้ชายที่ปฏิเสธไม่ให้พวกเธอเข้าถึงอะไรบางอย่างคือสิ่งที่ถูกเรียกว่า “ขบวนการเฟมินิสต์” ที่ต้องการสิทธิพิเศษแบบเดียวกันกับผู้ชายในชนชั้นของพวกเธอ เฟมินิสต์เหล่านี้ปฏิบัติต่อผู้ชายในฐานะศัตรูและพยายามใส่ผู้หญิงทุกคนเข้าไปในการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียม โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคมชนชั้น

โดยพื้นฐานแล้ว หญิงชนชั้นกรรมาชีพสนใจในเรื่องที่แตกต่างจากนั้น เป็นความสนใจที่พ้องกันกับผู้ชายชนชั้นกรรมาชีพ “พวกเธอเห็นผู้ชายเป็นสหาย” ในฐานะคนที่ถูกกดขี่ใต้สภาพทางสังคมเดียวกัน คนที่ถูกล่ามโซ่ตรวนภายใต้การเอาเปรียบและการครอบงำของทุนนิยม[4] คอลอนไทเข้าถึงใจหญิงชนชั้นแรงงานที่ถูกโยนเข้าไปในกำลังแรงงานของทุนนิยมมากกว่า 60 ล้านคนในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาก่อนที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะแผ่ขยาย “ก่อนอื่นเลย แรงงานหญิงก็คือสมาชิกหนึ่งในชนชั้นแรงงาน” เธอกล่าว[5] ขบวนการเฟมินิสต์ไม่ได้ทำอะไรให้เธอ เธอไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นพันธมิตรกับเฟมินิสต์กระฎุมพี คอลอนไทอธิบายจุดนี้อย่างเห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของแรงงานหญิงในรัสเซียของเธอ แรงงานหญิงมีข้อเรียกร้องที่เกิดจากเงื่อนไขอันเฉพาะเจาะจง พวกเธอต้องการวันทำงานน้อยลง ค่าแรงมากขึ้น ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในโรงงาน และให้มีตำรวจตรวจตราน้อยลง[6] เฟมินิสต์กระฎุมพีไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย

คอลอนไทยังเห็นข้อกังวลของแรงงานในบ้าน ตลอดปีแรกของการปฏิวัติรัสเซีย (ปี 1905) คนซักรีด คนทำกับข้าว และคนใช้ประท้วงและปฏิบัติการตามท้องถนน เรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติต่อพวกเธออย่างสุภาพ ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน มีค่าแรงขั้นต่ำ และมีพื้นที่อยู่อาศัยแยกกัน เฟมินิสต์กระฎุมพีจัดตั้งพันธมิตรเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิงและพยายามติดต่อแรงงานในบ้านและเรียกหารือกัน คนใช้จำนวนมากมาร่วมแต่ก็ถอดใจไปด้วยคำว่า “พันธมิตรร่วมระหว่างนายจ้างหญิงและลูกจ้างในบ้าน”[7] (ความสนใจของคอลอนไทในงานบ้านก็เป็นไปในทางเดียวกันกับงานของคอมมิวนิสต์หญิงผิวสี เช่น คลอเดีย โจนส์, ลูอิส ทอมป์สัน แพทเทอร์สัน, เอสเทอร์ คูเปอร์ แจ็คสัน และอลิส ชิลดริส ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 พวกเธอเน้นความสำคัญของการจัดตั้งแรงงานในบ้านเหมือนกัน)

แรงงานหญิงมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติปี 1905 คอลอนไทอธิบายเหตุการณ์อาทิตย์ทมิฬ (Bloody Sunday) ว่า “เหยื่อส่วนใหญ่ของวันนั้นคือแรงงานหญิง เด็กสาว ภรรยาที่ทำงาน”[8] ผู้หญิงส่งต่อสโลแกนของการนัดหยุดงานทุกโรงงานและเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เดินออกไป คอลอนไทเน้นความกล้าหาญและการตัดสินชีวิตตัวเองของหญิงกรรมาชีพตลอดการปฏิวัติปี 1905

ช่วงเดือนตุลาคม ผู้หญิงเหน็ดเหนื่อยจากงานและความเป็นอยู่อันทารุณหิวโหย พวกเธอออกจากโรงงาน และเพื่ออุดมการณ์ร่วมกัน ก็ได้ทิ้งขนมปังก้อนสุดท้ายไม่เหลือไว้ให้ลูกของพวกเธออย่างกล้าหาญ แรงงานหญิงซื้อใจสหายชายของพวกเธอด้วยถ้อยคำกินใจง่ายๆ และเสนอว่าพวกเขาก็ควรออกจากงานเหมือนกัน พวกเธอยึดถือจิตวิญญาณเหล่านั้นยามประท้วง สุมไฟให้กับคนที่ลังเล แรงงานหญิงต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหนื่อย ประท้วงอย่างกล้าหาญ เสียสละตัวเองเพื่ออุดมการณ์ร่วม ยิ่งพวกเธอเคลื่อนไหวมากเท่าไร กระบวนการความคิดตื่นรู้ก็ยิ่งรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แรงงานหญิงมองดูโลกรอบตัวพวกเธอ มองเห็นความอยุติธรรมที่ก่อร่างจากระบบทุนนิยม เธอรับรู้ความขมขื่น ความทุกย์ยากและความโศกเศร้าอย่างเจ็บปวดและรุนแรงมากขึ้น[9]

เฟมินิสต์นักวิจารณ์บางคนหาว่าคอลอนไทไม่ได้วิจารณ์ความเป็นชาย (masculinity) และโน้มรับมุมมองแรงงานอย่างผู้ชาย[10] ซึ่งนับว่าไม่ถูกต้อง เพราะมันนำเรื่องเพศมาบดบังเรื่องชนชั้น ลดความแข็งแกร่งและความกล้าหาญของแรงงานหญิง นี่เป็นคำวิจารณ์ที่ใช้มุมมองสองขั้วเรื่องเพศ (binary gender) ระบายสีทับอำนาจและการตัดสินชีวิตตัวเองของสหายกรรมาชีพในการต่อสู้ทางการเมืองฝั่งเดียวกัน คอลอนไทสรรเสริญการต่อสู้ที่นำมาซึ่งความกล้าหาญ ความอดทน การอุทิศตน และการปลุกสำนึกทางการเมืองในกรรมาชีพทุกเพศ

ส่วนหญิงชาวไร่ในชนบทก็เป็นส่วนปฏิวัติปี 1905 อย่างลึกซึ้ง ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “การต่อต้านจากกระโปรงซับใน” (petticoat rebellions)

ด้วยความโกรธและความกล้าหาญอันน่าทึ่งสำหรับผู้หญิง หญิงชาวไร่โจมตีศูนย์บัญชาการทหารและตำรวจที่กองกำลังตั้งอยู่ มุ่งหน้าหาสหายของพวกเธอและพาพวกเขากลับบ้าน หญิงชาวไร่ติดอาวุธคราด เสียม และไม้กวาดไล่กองกำลังออกไปจากหมู่บ้าน การประท้วงนี้ปกป้องผลประโยชน์ของชาวไร่และ ‘ผู้หญิง’ อย่างใกล้ชิดโดยไม่มีเหตุที่จะแบ่งแยกเรื่องนี้และจัดว่า ‘การต่อต้านจากกระโปรงซับใน’ เป็นส่วนหนึ่งของ “การเคลื่อนไหวเฟมินิสต์[11]

หากจะอธิบายการกระทำที่โกรธเกรี้ยวของหญิงชาวไร่ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้หญิงเป็นอันดับแรกก็คงเป็นการเบี่ยงเบนบริบททางชนชั้น ถึงแม้ว่าพวกเธอปฏิบัติการนี้ออกมาด้วยบริบทนี้ ทั้งนี้ การที่หญิงชาวไร่ต่อสู้บนเวทีการเมืองนำพวกเธอไปสู่ข้อเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางการเมือง อันเป็นผลจากสำนึกการต่อสู้เพื่อ “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของชาวไร่ทั้งหมด” ในที่นี้คือการยึดที่ดินและจบสภาพพันธะเกษตร

หากสรุปด้านแรกของการต่อสู้ของคอลอนไทในนามแรงงานหญิง เธอกล่าวว่าเป้าหมายของเฟมินิสต์กระฎุมพีคือความเท่าเทียมทางการเมืองภายในสังคมแบบชนชั้น ไม่ใช่การรื้อสังคมแบบนั้น หญิงชนชั้นแรงงานเข้าใจดีว่าตราบใดที่พวกเธอยังถูกบังคับให้ขายแรงงาน ตราบใดที่พวกเธอยัง “สวมแอกของทุนนิยม” พวกเธอก็จะไม่เป็นอิสระ การตัดสินใจของพวกเธอทั้งหมด ไม่ว่าจะแต่งงานหรือไม่ กับใคร จะมีลูกหรือไม่ จะดูแลอย่างไร ถูกจำกัดด้วยตลาด เช่นนี้ คอลอนไทจึงไม่ใช่เฟมินิสต์ เธอปฏิเสธความคิดที่ว่ามันมี “คำถามสากลของผู้หญิง” เพราะนั่นเป็น “การหลอกลวงตัวเองเพื่อความสบายใจแบบเฟมินิสต์” การปลดแอกผู้หญิงต้องการสังคมนิยม จุดจบของสังคมชนชั้น และการเอาเปรียบจากทุนนิยม

การต่อสู้เพื่อผู้หญิงและพรรค

แล้วอะไรคือด้านที่สองของการต่อสู้ของเธอล่ะ การต่อสู้เพื่อการรวมประเด็นของแรงงานเข้าไปในงานและพื้นที่สังคมนิยมของพรรคหรือ? ในอัตชีวประวัติของเธอ คอลอนไทกล่าวว่าการโน้มน้าวสมาชิกพรรคให้แก้ไขปัญหาที่แรงงานหญิงเผชิญเป็นเรื่องยาก แม้แต่หลังจากเห็นความกล้าหาญของแรงงานหญิงในการปฏิวัติปี 1905 แล้ว นักสังคมนิยมหลายคนก็ยังยึดโยงประเด็นของแรงงานหญิงกับเฟมินิสต์กระฎุมพี จุดนี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้น ด้วยทั้งสองฝั่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งรัสเซีย (บอลเชวิคและเมนเชวิค) นำประเด็นของผู้หญิงมาปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตาม คอลอนไทและผู้หญิงคนอื่นในพรรคยังต้องต่อสู้เพื่อให้พรรคสนใจในประเด็นผู้หญิงอยู่ดี ตามสายนักนิยมเลนินแบบคลาสสิคแล้ว พวกเธอก็ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Rabotnitsa (“เวิร์คกิ้งวูแมน”)

ด้วยความที่เธอมองหาการขยายการมีส่วนร่วมระหว่างพรรคกับแรงงานหญิง คอลอนไทจึงยังคงเขียน บรรยาย และจัดตั้ง เธอเข้าร่วมการประท้วงของคนงานซักรีดหญิง เพื่อเรียกร้อง “ชุมชน” (municipalization) ของการซักรีด (การประท้วงคงอยู่หกสัปดาห์และไม่ประสบผลสำเร็จ) เธอกดดันสหภาพการค้าให้จ่ายค่าแรงที่เท่าเทียมต่อผู้หญิง เพื่อปกป้องความเป็นแม่ ตัวคอลอนไทเองก็มีส่วนพัฒนาจุดยืนของพรรคเพื่อหญิงชนชั้นกรรมาชีพอย่างแท้จริงผ่านการรับมือสถานการณ์น่าสิ้นหวังของประเทศในยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมากด้วยข้าวของราคาแพงและสินค้าจำเป็นขาดตลาด สังคมเผชิญวิกฤตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในด้านการผลิตซ้ำทางสังคมจนพรรคไม่สามารถเพิกเฉยได้ หลังจากการปฏิวัติเดือนตุลาคมและตำแหน่งของเธอในกระทรวงสวัสดิการแรงงาน คอลอนไทได้ริเริ่มหลายอย่างเพื่อพัฒนาสภาพการผลิตซ้ำทางสังคม ทั้งมาตรการเกี่ยวกับทหารผ่านศึกพิการ การให้การศึกษาแก่หญิงสาว การปรับโครงสร้างศูนย์เด็กกำพร้าใหม่ให้เป็นโรงเลี้ยงเด็ก การเน้นระบบสาธารณสุขฟรี และอื่นๆ คอลอนไทภูมิใจงานสร้างรากฐานทางกฎหมายในสำนักงานกลางสวัสดิการแม่และเด็ก ( Central Office for Maternity and Infant Welfare) ที่สุด รวมถึงการวางแผนสถานดูแลก่อนคลอด (“pre-natal care palace”) การเลี้ยงเด็กสมัยใหม่ หรือการทำให้การดูแลแม่และเด็กเป็นเรื่องของประเทศ

คอลอนไทได้ร่างวิสัยทัศน์หญิงตั้งครรภ์ว่าเป็นที่ต้อนรับเข้าไปใน “บ้านหลังพิเศษที่มีสวนและดอกไม้”

บ้านจะถูกออกแบบอย่างดีจนคนที่เพิ่งคลอดลูกทุกคนจะสามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย มีความสุขและสุขภาพดี หมอในสังคม-ครอบครัวนี้จะคำนึงถึงการลดความเจ็บปวดจากการคลอดลูกด้วย ไม่ใช่แค่การรักษาสุขภาพของแม่และเด็กเท่านั้น วิทยาศาสตร์คือการสร้างความก้าวหน้าในวงการและช่วยเหลือหมอที่นี่ เมื่อเด็กแข็งแรงมากพอ แม่จะกลับไปสู่ชีวิตปกติและทำงานที่เธอทำอยู่ต่อเพื่อประโยชน์ของสังคม-ครอบครัวขนาดใหญ่ เธอไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องลูกของเธอ สังคมอยู่ตรงนั้นเพื่อช่วยเหลือเธอ เด็กจะเติบโตในสถานอนุบาล อาณาจักรของเด็กๆ ที่บริบาลและโรงเรียนภายใต้การดูแลของพยาบาลที่มีประสบการณ์ ภาระของความเป็นแม่ไม่ใช่เรื่องต้องแบกอีกต่อไป เหลือเพียงด้านที่น่าสนุกเท่านั้นที่คงอยู่ …[12]

งานของคอลอนไทในรัฐบาลใหม่ของโซเวียต ทั้งในกระทรวงสวัสดิการแรงงานและในแผนกสตรีในภายหลัง เกี่ยวข้องกับการทำให้ความเป็นแม่เป็นเรื่องของสังคม การดูแลเด็กทารกและเด็ก และแรงงานผลิตซ้ำ งานเขียนของเธอจินตนาการความสัมพันธ์รักของนักสังคมนิยมใหม่ ศีลธรรมใหม่ของสหายที่เสรีและเท่าเทียม แต่สงครามกลางเมือง วิกฤตทางเศรษฐกิจ และการต่อสู้ของขั้วการเมืองในพรรคทำให้เธอไม่ได้เห็นงานของเธอสำเร็จอย่างเต็มรูปแบบ

 


เพิ่มเติม: (ผู้แปล) คำว่า “ชุมชน” (municipalization) การซักรีด เป็นความพยายามหนึ่งของคอลอนไทที่จะ “แยกครัวออกจากการแต่งงาน” ทั้งจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล โรงเลี้ยงเด็ก โรงอาหาร และโรงซักผ้าสาธารณะ และอื่นๆ เพื่อทำให้เรื่องส่วนตัวกลายเป็นเรื่องของสังคมและชุมชน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.marxists.org/thai/archive/kollontai/women-family/index.htm)


[1] Frederick Engels, The Origin of the Family, Private Property and the State (Penguin Classics, 2010), 35.

[2] Alexandra Kollontai, The Autobiography of a Sexually Emancipated Woman, https://www.marxists.org/archive/kollonta/1926/autobiography.htm.

[3] Alexandra Kollontai, The Social Basis of the Woman Question, https://www.marxists.org/archive/kollonta/1909/social-basis.htm.

[4] เพิ่งอ้าง.

[5] เพิ่งอ้าง.

[6] Alexandra Kollontai, “History of the movement of women workers in Russia,” https://www.marxists.org/archive/kollonta/1919/history.htm.

[7] เพิ่งอ้าง.

[8] เพิ่งอ้าง.

[9] เพิ่งอ้าง.

[10] Alexandra Kollontai, Red Love, https://www.marxists.org/archive/kollonta/red-love/index.htm.

[11] Alexandra Kollontai, “History of the movement of women workers in Russia.”

[12] Alexandra Kollontai, “Working Woman and Mother,” https://www.marxists.org/archive/kollonta/1916/working-mother.htm

สรุปความและเรียบเรียง Meet & Greet สหาย Jodi Dean

สรุปความและเรียบเรียง Meet & Greet สหาย Jodi Dean

สรุปความและเรียบเรียง Meet & Greet สหาย Jodi Dean

 

เกริ่น

การสรุปความและเรียบเรียงครั้งนี้ พยายามปรับเนื้อหาและการนำเสนอให้เข้าใจง่ายที่สุด เนื่องจากในการเข้าร่วมกิจกรรมจริงๆ มีพลวัตรในการถามตอบและแปลความไปมาระหว่างภาษาค่อนข้างมาก (รวมเวลาถึงสองชั่วโมงกว่า) การยกสิ่งที่พูดคุยกันมาตรงๆ จึงเป็นไปได้ยาก และไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ

ผมจึงใช้การสรุปความและเรียบเรียงในลักษณะแบ่งเป็นประเด็นโดยที่นำเสนอเป็นคำถามบ้างและไม่ใช่คำถามบ้าง แล้วแต่ว่ากรณีไหนจะเหมาะสมและสร้างความเข้าใจให้กับผู้อ่านได้มากกว่าครับ

การก่อรูปความคิดถึงรากของสหาย Jodi Dean

ปัจจัยที่สำคัญซึ่งทับซ้อนกันอยู่สองประการคือ

แง่มุมทางช่วงเวลา: เธอเกิดในช่วงเวลาสงครามเย็นในทศวรรษที่ 1960-1980 และคอมมิวนิสต์เป็นขบวนการหลักที่ต่อต้านความเป็นทุนนิยมและสหรัฐอเมริกา มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอคิดว่ามันไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน เช่น สงครามเวียดนาม แถมเธอยังสนใจถึงขนาดได้ศึกษาเรื่องราวของโซเวียตและภาษารัสเซีย แถมไปโซเวียตอยู่หลายครับ

แง่มุมทางชุมชนและสถานที่: เธอเกิดในครอบครัวคริสต์ศาสนา คำสอนหนึ่งที่สำคัญซี่งมาจากพระคัมภีร์เล่มกิจการของอัครทูต 4:35 ที่ว่า ‘และนำเงินค่าของที่ขายได้นั้นมาวางไว้ที่เท้าของบรรดาอัครทูต พวกอัครทูตจึงแจกจ่ายให้ทุกคนตามความจำเป็น’ แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับมีโบสถ์เหยียดสีผิวมากมาย เธอจึงเห็นถึงความไม่ตรงไปตรงมาระหว่างคำสอนและภาคปฏิบัติ และยกขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นในอเมริกาเป็นตัวอย่างถึงการซื่อตรงต่อหลักคำสอนและพยายามต่อสู้เพื่อสิ่งนั้น

อย่างไรก็ดี ความคิดของเธอเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามช่วงชีวิตเหมือนผู้คนทั่วไป แต่สิ่งที่เป็นแก่นหลักคือการต่อต้านสิ่งที่ไม่เป็นธรรมสี่ประการหลักๆ คือ ความเหลื่อมล้ำ, ทุนนิยม, จักรวรรดินิยม, การเหยียดสีผิว

เรื่องการงาน เธอเล่าว่าชีวิตเธอสนใจเรื่องโซเวียตมากจนกระทั่งเข้าเรียนโซเวียตศึกษาและประวัติศาสตร์โซเวียตในสมัยปริญญาตรี แต่สุดท้ายเปลี่ยนสายมาเป็นทฤษฎีการเมืองในช่วงหลังปริญาตรี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความบังเอิญที่ดี เพราะโซเวียตล่มสลายในช่วงที่เธอกำลังเรียนพอดี และวงการวิชาการโซเวียตศึกษาในอเมริกาก็ล้มครืนลงเช่นกัน และด้วยเหตุที่เธอเปลี่ยนไปเรียนสายทฤษฎีการเมือง เธอจึงได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าลัทธิมาร์กซ์ของโลกตะวันตก เพราะการศึกษาของสหรัฐอเมริกา สอนแค่ว่าคอมมิวนิสต์คือโซเวียต และตรงกันข้ามกับทุนนิยม มันมีแค่เรื่องอาวุธและสงคราม นักคิดที่เธอเจอมีหลายคนแต่คนที่สำคัญคือ Žižek เพราะเขาทำให้เธอได้รู้จักกับจิตวิเคราะห์ อันเป็นทฤษฎีที่ทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการศึกษาทำความเข้าใจลัทธิมาร์ซ-เลนินแบบใหม่ๆ และน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของรูปแบบองค์กร เช่น ความคิดเรื่อง ‘พรรค’

ความคิดที่สำคัญในแง่มุมที่เธอพยายามทำความเข้าใจโลกทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องอินเตอร์เน็ตและการคิดเรื่องประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ทำให้เธอเสนอพัฒนาความคิดเรื่อง ‘ทุนนิยมการสื่อสาร’ ขึ้นมาเพื่อต่อต้าน/ตั้งคำถามกับสื่อแบบใหม่ที่ผุดขึ้นมาในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาประชาธิปไตยโดยไม่เปลี่ยนรูปแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ หนังสือสามเล่มที่เธอคิดว่าเป็นงานเขียนสำคัญคือ The Communist Horizon, Crowds and Party, และ Comrade

 

 

เป็นไปได้ไหมที่เราจะนำการต่อสู้ออนไลน์ลงมาให้เกิดขึ้นจริงบนท้องถนน?

เป็นไปได้แน่ ๆ เพราะตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเมืองขวาจัดของ Trump ที่เริ่มต้นจาก Twitter แล้วเข้าสู่สื่อกระแสหลัก จนกลายเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ได้ ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วเราฝ่ายซ้ายปฏิวัติล่ะ จะทำได้ไหม อย่างไร ในบริบทไหนเสียมากกว่า

ปัญหาของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียหรืออะไรก็ตาม เป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายขวามีทุนหนุนหลัง ทำให้บงการสื่อเหล่านี้ได้ คำถามของฝ่ายซ้ายคือจะท้าทายโครงสร้างเหล่านี้ผ่านขบวนการทางการเมืองอย่างไร?

ประเด็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย                                และการต่อสู้กับรัฐให้ประสบผลสำเร็จ

เราไม่สามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ขึ้นมาได้ ไม่ว่าอย่างไรเสียมันก็ต้องมีประเด็นที่เห็นแย้งกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้แน่ ๆ คือเรื่องของ ‘สัญลักษณ์’ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ สี หรืออื่นๆ ที่ก้าวข้ามความเฉพาะ สิ่งนี้ไม่ใช่อะไรที่เล็กน้อยเลย เพราะสัญลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะสร้างขบวนการในการเคลื่อนไหวรอบๆ สิ่งนี้ได้

สิ่งที่ในขบวนการต่อมีเพื่อสู้กับรัฐที่โหดเหี้ยม อันตราย อยู่บนความเป็นความตาย เราจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้นักฉวยโอกาสเข้ามาในองค์กร เราจำเป็นต้องสร้างขบวนการที่เราจะ ‘เชื่อใจ’ กันได้จริงๆ อย่างเพียงพอ เราต้องขีดเส้นให้ชัดว่าเราต่อต้านอะไร เรากำลังสู้อยู่กับอะไร?

ตัวอย่างของขบวนการ Occupy Wall Street ในอเมริกา มีการรวมกันอย่างหลวมๆ ของฝ่าย ‘ก้าวหน้า’ สามกลุ่มคร่าวๆ คือ กลุ่มเสรีนิยม ที่ต้องการเอาเรื่องเงินออกจากการเมือง กลุ่มสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ที่ต้องการยกเครื่องเปลี่ยนแปลงระบบใหม่หมด และกลุ่มอนาคิสต์ที่สนใจรูปแบบแนวราบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และรูปแบบของการเข้ายึดสิ่งต่างๆ

ประเด็นที่สำคัญมากแต่อาจลืมกันไปก็คือ ขบวนการจะไม่สามารถนำชัยชนะมาได้เลย หากฝ่ายซ้ายทำเพียงแค่พูดคุยกันในวงของนักกิจกรรมด้วยกันเองเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการพูดคุยสื่อสารและขยายวงกว้างเข้าถึงผู้คน หรือพูดง่ายๆ คือสร้างขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้พวกฟาสซิสต์ (ฝ่ายขวาจัด) ทำได้ดีกว่าเรามาก

ประเด็นความแตกแยกเป็นกลุ่มย่อยที่แยกหรือกระทั่งขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของขบวนการ

ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ทั่วโลก และมีสองประเด็นที่ต้องคำนึง ประเด็นแรกคือเราต้องเข้าใจความหลากหลายในตัวชนชั้นแรงงาน และคุณูปการต่างๆ ที่หลายๆ ขบวนการสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนผิวสี ฯลฯ ตัวอย่างที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา คือกลุ่มลัทธิทร็อตส์กี้หลายกลุ่ม ต่อต้านการเมืองอัตลักษณ์อย่างสุดขั้วจนผลิกกลับมาเป็นการมองว่าผู้ใช้แรงงานคือชายผิวขาวในโรงงานเท่านั้นไปเสียอย่างนั้น เป็นต้น

ประเด็นถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประสบการณ์ส่วนตัวของเราไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดหนึ่งเดียวในขบวนการปฏิวัติ สิ่งที่จำเป็นสำหรับเราในฐานะคนที่ร่วมสู้ในขบวนการคือ ต้องคิดว่าเราจะทำอะไรให้กับขบวนการได้บ้าง และสิ่งสำคัญที่พึงตระหนักคือ ไม่มีการเมืองที่เกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติผ่านอัตลักษณ์ การเมืองเป็นสิ่งที่ต้อง ‘สร้างขึ้นมา’ เสมอ เหมือนใน ‘แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์’ ที่เรียกร้องให้ ‘ชนชั้นแรงงานทั้งหลายจงรวมกันเข้า’ กล่าวคือ การก่อรูปจิตสำนึกทางชนชั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านการต่อสู้ คำว่าการเมืองอัตลักษณ์จึงไม่มีความเป็นการเมืองในตัวเอง และการจะปลดปล่อยจากการกดขี่ทุกรูปแบบได้นั้น เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้ในฐานะชนชั้นอันเป็นหนึ่งเดียว

ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยกับลัทธิมาร์กซ์

ความคิดแบบลัทธิมาร์กซ์เสนอว่า ประชาธิปไตยเป็นไปได้ก็แต่ในสภาวะที่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจริงๆ เท่านั้น แต่ประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ก้าวหน้าเสียเลย มันก้าวหน้าในฐานะที่สร้างการเรียนรู้และตระหนักรู้ให้กับผู้คนและสร้างสถาบันต่างๆ ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ อย่างน้อยมันก็ก้าวหน้ากว่ายุคสมัยศักดินา เพียงแค่ว่าประชาธิปไตยในความคิดของลัทธิมาร์กซ์นั้นหมายความว่าคนเราจะสามารถควบคุมเงื่อนไขและสภาวะของชีวิต รูปแบบการอยู่ร่วมกัน และรูปแบบการผลิตได้จริงๆ

สหรัฐอเมริกาจะเกิดการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ขึ้นได้ไหม

เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตอบว่า ‘ได้’ ด้วยเหตุผล 2 ประการที่สำคัญ

ประการแรก ฝ่ายขวาในปัจจุบันผลักทุกอย่างที่พวกเขาไม่ชอบให้กลายเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ไปเสียหมด แล้วพวกเขาเองก็คิดว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดขึ้นจริงๆ พวกเขามองว่าขบวนการคอมมิวนิสต์เข้มแข็งมาก ในแง่นี้ก็กล่าวได้ว่า พวกเขาเชื่อว่าคอมมิวนิสต์เป็นไปได้ แถมมันยังมีผลต่อเยาวรุ่นทั้งหลาย ที่กลายเป็นว่าสิ่งดีๆ ต่างๆ ถูกเรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ปัญหาค่าแรงต่างๆ กลายเป็นเรื่องคอมมิวนิสต์ไปเสียหมด เยาวรุ่นทั้งหลายจึงมีแนวโน้มมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องของสิ่งดีๆ ต่างๆ และชอบคอมมิวนิสต์มากขึ้น

หลายอย่างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น เช่น ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ ประเด็นสิ่งแวดล้อม และปัญหาจักรวรรดินิยม จำเป็นต้องถูกแก้ไข และคอมมิวนิสต์ก็เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เนื่องจากมันมีรากมาจากทุนนิยม

ตัวอย่างที่ขับเน้นสองประเด็นข้างต้นได้ชัดเจนคือ มีคนอเมริกันอายุราว 30 ในอเมริกาคนนึง มีหนี้ท่วมหัว บอกว่าถ้าเขาเกษียณโดยที่ไม่มีสวัสดิการ เขาคงจมกองหนี้ตาย และไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น คอมมิวนิสต์จึงแทบเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ หากเขาต้องการจะมีชีวิตอยู่ เพราะมันคือคำที่บอกว่าเราจะต่อต้านล้มล้างทุนนิยมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่มันก่อขึ้น

ความคิดคอมมิวนิสต์ยังจะฮิตได้อีกไหม

ได้แน่นอน เพราะมันเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเดียวที่ต่อต้านและตรงข้ามกับทุนนิยม เป็นตัวเลือกเดียวที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างที่พัวพันกับทุนนิยมได้ โดยเฉพาะสงคราม ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือก็คือ มันเป็นตัวเลือกที่หมายความถึงการปลดปล่อยอย่างเท่าเทียม เป็นตัวเลือกที่หมายถึงการที่คนส่วนใหญ่จะได้รับการปลดปล่อย เข้าแทนที่การกดขี่โดยคนส่วนน้อย ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ยาก สงครามงี่เง่า และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ฯลฯ

ปัญหาความขาดแคลนแรงงานในสหรัฐอเมริกา จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของขบวนการแรงงานได้ไหม

อันที่จริงมันเริ่มขึ้นแล้วด้วยซ้ำ โดยเฉพาะ #striketober มันแหลมคมและเจาะจงเป็นประเด็นๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ มันเกิดขึ้นทั้งในระดับโรงงานและขยายตัวออกเป็นระดับประเทศพร้อมๆ กัน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า มันจะคงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน และทุนนิยมจะหยุดมันอย่างไรเสียมากกว่า และเพราะเช่นนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปร่วมในขบวนการนี้ แสดงออกมาว่าทุนนิยมควรสำนึกได้แล้วว่า การกดค่าจ้างให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดินจนไม่สามารถกินอยู่ใช้ชีวิตได้มานานเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับได้อีกต่อไป หลายคนปฏิเสธงานโดยตรง พวกเขาบอกว่าพอแล้ว ไม่เอาอีกแล้วกับค่าจ้างห่วยๆ เช่นนี้

ประเด็นการสนับสนุน Bernie Sanders

Jodi Dean สนับสนุนขบวนการ Bernie Sanders ตั้งแต่ยุคแรกๆ ในฐานะที่ขบวนการนี้เป็นการผลักดันความคิดสังคมนิยมให้เข้าสู่การเมืองกระแสหลัก ทำให้สังคมนิยมไม่ใช่แค่เรื่องแฟนซีอีกต่อไป ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดมานานราว ๆ 30 – 40 ปี เข้าแล้ว แต่ในขบวนการระรอกสอง เธอเริ่มมีความกระตือรือร้นในการสนับสนุนน้อยลง เพราะดูยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมมากกว่าครั้งแรก แต่กระนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้ก็คือ ประเด็น Bernie Sanders เป็นเรื่องของ ‘ขบวนการ’ ไม่ใช่ในฐานะ ‘ตัวบุคคล’ เราต้องไม่ลืมว่ามันคือขบวนการฝ่ายซ้ายขนาดใหญ่ในการเมืองกระแสหลักของอเมริกา และเขาเป็นคนที่จุดขบวนการรอบๆ ตัวเขาติดขึ้น และสิ่งนี้เป็นอะไรนี่น่าตื่นตาตื่นใจ

ประเด็นเรื่องการหวนคืนสู่ความคิดและปฏิบัติการเรื่อง ‘พรรค’

ความสำคัญสามประการใหญ่ๆ ของพรรค

– ประการแรกพรรค หรือองค์กรทางการเมือง ทำให้ขบวนการมีความ ‘คงทนยาวนาน’ และ ‘ยกระดับขยายขอบเขต’ ได้ กล่าวคือ หากเราไม่มีพรรค หรือองค์กรการเมือง ขบวนการต่อสู้ก็อาจเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ ชั่วครั้งชั่วคราว คนมา คนไป กลายเป็นเทศกาล ไม่สามารถต่อยอดยืดยาวได้ แถมการขยายขอบเขตของการต่อสู้ก็เป็นไปได้ยาก ทำให้การต่อสู้มีแนวโน้มจำกัดอยู่ในขอบเขตขนาดเล็ก ต่างจากการมีพรรคซึ่งจะทำให้การต่อสู้เป็นไปในลักษณะที่ยาวนานต่อเนื่องได้ แถมยังยกระดับขยายขอบเขตจากชุมชน ระดับประเทศ และไปถึงระดับโลกได้อีกด้วย

– ประการที่สองซึ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การต่อสู้ที่ยาวนานและมีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมี ‘ยุทธศาสตร์’ ซึ่งสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีองค์กรที่จะสร้างกลุ่มปฏิบัติการเพื่อคิดค้นยุทธศาสตร์และนำไปปรับใช้ ปรับปรุง อีกทั้งความคิดว่าด้วยโลกใบใหม่ หรือไอเดียใหม่ๆ ในระดับใหญ่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นผ่านการพูดคุยด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ได้

– ประการที่สาม เราจำต้องรู้ว่าใครเป็นใครในขบวนการ ด้วยเหตุนี้ ‘ผู้นำ’ จึงเกิดขึ้นผ่านการต่อสู้ในขบวนการ ผู้นำคือคนที่ทำให้เรารู้ว่าเราสู้อยู่กับใครบ้าง เราไม่ได้โดดเดี่ยวท่ามกลางคนแปลกหน้าทั้งหลาย และสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยากถ้าไม่มีพรรค

เพราะการต่อสู้กับรัฐทุนนิยมและสร้างสรรค์การผลิตรูปแบบใหม่ จำเป็นต้องสั่งสมต่อยอดประสบการณ์ยาวนาน ต้องยึดพื้นที่และยืดขยายการต่อสู้ ต้องมีองค์กรที่ ‘อยู่ตรงนั้นเสมอ’ ไม่ว่าผู้คนจะลงถนนไปหรือไม่ ต้องมีการฝึกนักกิจกรรม เขียนข่าว เขียนบทความ เชื่อมต่อผู้คน เพิ่มความเชี่ยวชาญในประเด็นต่างๆ และขยายขอบเขตทักษะของขบวนการ เป็นต้น สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นแค่การที่มีคน 20 คนมานั่งคุยกัน และตัวอย่างปัญหาของขบวนการ Occupy Wall Street โดยเฉพาะการใช้พื้นที่การตัดสินใจออนไลน์ก็คือ เราไม่รู้ว่าใครกำลังตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจนั้นไม่อาจส่งผลยาวนานได้ หลายคนอ้างว่าเขาไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นๆ ฉะนั้นแล้ว ‘สมาชิกกลุ่มเป็นใครบ้าง’ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ประเด็นก็คือรูปแบบการต่อสู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจครั้งนั้น อาจเป็นข้อเสียเข้าเสียเองในท้ายที่สุด

สุดท้าย ประเด็นเรื่องกองกำลังของรัฐที่เข้ามาบดขยี้การต่อสู้อย่าง ‘ตำรวจ’ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่อาจปล่อยให้ขบวนการถูกบดขยี้ได้ สิ่งนี้เป็นโจทย์ของการเมืองเบื้องต้น ดังนั้นยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อสร้างความแข่งแกร่งให้กับขบวนการไม่ให้รัฐมาบดขยี้ได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่แค่หวังว่าตำรวจจะไม่มาบดขยี้เรา (เพราะมันทำแน่นอน)

การสร้างความเป็นสหายในสภาพการณ์ที่ต้องถูก Lock Down

เป็นประเด็นที่ยากมาก แต่การเมืองของความเป็นสหายจะไปด้วยกันกับสามสิ่งที่สำคัญ กล่าวคือ การสร้างกลุ่มศึกษาร่วมกัน การมองโลกในแง่ดีแบบซ้าย และการเข้าหาผู้คน กลุ่มศึกษาเป็นสิ่งที่ทำได้ในรูปแบบออนไลน์ แล้วมันยังเสริมสร้างการมองโลกในแง่ดีแบบซ้ายได้ด้วย แต่สิ่งที่ยากมากๆ คือการเข้าหาผู้คนในช่วงเวลาเช่นนี้ เธอเล่าว่ากลุ่มการเมืองของเธอมีความพยายามสร้างความสนิทชิดเชื้อให้เกิดขึ้นในสภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการพบปะสังสรรค์ออนไลน์ การนำแมวมาโชว์กันอย่างจริงๆ จังๆ หรือการตั้งวงพูดคุยเรื่อยเปื่อย และแน่นอนว่าต้องจัดกลุ่มศึกษาขึ้นมาด้วย แต่กระนั้นการเชื่อมต่อบนชีวิตจริงก็จำเป็น และเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด หนทางหนึ่งที่เธอคิดว่าน่าสนใจคือขบวนการแบบที่ชาวอนาคิสต์ทำอยู่ เช่นกลุ่มช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันซึ่งเป็นทางแก้ปัญหาที่ดีมาก เพราะมันคือการสร้างหนทางการเชื่อมต่อกับผู้คนในแบบใหม่ๆ

ประเด็นเรื่องอินเตอร์เน็ต

คำถามที่เราต้องเลิกถามคือการถามว่ามันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เพราะมันคือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นจริงในปัจจุบันของเรา ลองคิดถึงถนน ดินสอ หรืออื่นๆ เราอาจบอกว่าถนนมันทำให้เรารวมตัวง่ายขึ้น แต่กองทัพก็เข้ามาบดขยี้เราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่มันดีหรือไม่ดีในตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่อง แต่สิ่งจำเป็นคือการวิเคราะห์และดูว่ามันทำงานอย่างไร และเราจะฉวยใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อขบวนการ โดยไม่หลงติดหล่มไปกับกลวิธีที่มันใช้บงการเราได้อย่างไรเสียมากกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เราคงไม่ได้ถือว่าการวัดยอดไลก์ในเฟสบุ๊คจะเป็นประเด็นสำคัญที่วัดชัยชนะของเรา แต่เราจะใช้มันเพื่อกระจายข่าวและการเพิ่มยอดไลก์ก็เป็นเพียงหนทาง ไม่ใช่เป้าหมาย อินเตอร์เน็ตเป็นที่สำหรับแมว สำหรับการแสดงความโกรธเกรี้ยวออกมา

ประเด็นเรื่องวัคซีนกับการเชื่อใจรัฐ

เราอาจต้องคิดถึงสี่งที่เรียกว่า ‘การวิพากษ์เหลื่อมซ้อน’ ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงการที่ในขณะเดียวกัน เราคงไม่เชื่อใจรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลมักตัดสินใจผิดพลาดและตุกติกกับเราตลอดเวลา แต่เราก็ต้องพึงระลึกว่า ประโยชน์ของวัคซีนเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แล้วเราควรพิจารณาให้การศึกษาข้อเท็จจริงตรงนั้นว่า วัคซีนมีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ และเราสามารถฉีดวัคซีนพร้อมๆ กับไม่เชื่อใจรัฐบาลได้ในเวลาเดียวกัน

.

เราจะสร้างความเป็นสหายระหว่างกันในงานเปราะบาง หรืองานที่ถูกมองว่าเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ได้อย่างไร

ประเด็นนี้มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง เพราะงานเปราะบางสร้างภาพลวงของการเป็นนายทุนน้อยหรือผู้ประกอบการขึ้นมา เช่น ไรเดอร์ส่งของทั้งหลายอาจมีรถใช้เอง ทำให้รู้สึกว่าเป็นผู้ประกอบการ เป็นนายทุนน้อยในทางเทคนิค ฯลฯ แต่กระนั้นเราก็ต้องพึงระลึกว่าพวกเขาไม่มีทางเลื่อนขั้นกลายเป็นชนชั้นนายทุนใหญ่ได้ นายทุนน้อยไม่ใช่ศัตรูสำหรับเรา แถมอันที่จริง มันคือรูปแบบการขูดรีดใหม่เสียด้วยซ้ำ เราจำเป็นต้องคิดว่าศัตรูที่สำคัญของเราคือชนชั้นนายทุนใหญ่ นายทุนการเงิน และเราต้องรวมตัวกันเป็นสหภาพ สร้างการเมืองเพื่อต่อต้านพวกนั้น มากกว่าที่จะมาแบ่งแยกกันเอง อีกทั้งการสร้างสหภาพแรงงานที่เปราะบาง ก็ยังช่วยดันไม่ให้ค่าแรงของแรงงานมั่นคงไม่ตกต่ำไปกว่านี้อีกด้วย

ปมปัญหาความขัดแย้งของสหรัฐอเมริกากับจีนมีผลกับขบวนการแรงงานหรือไม่

มีแน่นอน เพราะฝ่ายซ้ายในอเมริกาบางส่วนยอมรับความเป็นจักรวรรดินิยมอเมริกาได้ และนี่ทำให้เกิดปัญหา เพราะการที่สหรัฐอเมริกาแผ่ขยายอิทธิพลเข้าปะทะจีนทำให้เกิดกลุ่มปฏิกิริยาในฝ่ายซ้าย อันทำให้ขบวนการถดถอยได้

ว่าด้วยปมปัญหาและทางออกของการเมืองไทย

ประเด็นนี้เธอไม่สามารถตอบได้ เพราะคนในท้องถิ่นย่อมเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุด แต่เธอเสนอไอเดียของเลนินว่า การที่ระบบจะเปลี่ยนแปลงได้นั้น ย่อมมาจากปัจจัยหลักสองประการ คือ ชนชั้นล่างไม่อยากอยู่ในสังคมแบบนี้อีกต่อไป และในขณะเดียวกัน ชนชั้นปกครองก็ไม่อาจปกครองในสภาพนี้ต่อไปได้อีกแล้ว.