ณัฐวุฒิ รังศรีรัมย์

“มีที่เรียนหรือยังหนู… ลูกป้าสอบติดคณะแพทย์เชียวนะ!”

“หนูเรียนจบหรือยัง… ลูกป้าจบแล้วนะ ได้เกียรตินิยมเลยนะ” 

“เรียนจบแล้ว ได้งานทำหรือยัง… ลูกป้าได้งานทำแล้วนะ”

“หนูทำงานอะไร… ลูกป้าได้เป็นถึงผู้จัดการบริษัทเชียวแหละ”

“ทำงานได้เงินเดือนเท่าไร… พอใช้เหรอ”

“จะมีบ้าน มีรถ มีครอบครัว ตอนไหน…”

ฯลฯ

อีกมากมายสารพัดคำถามที่ถาโถมลงมาเหมือนฝนห่าใหญ่ ใจหนึ่งก็นึกว่ากำลังถูกสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะไปก่อคดีอาชญากรรมร้ายแรงอย่างไรอย่างนั้น

*

คนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในห่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ช่วงเวลาก่อนจะเรียนจบ ช่วงเวลาที่มีหน้าที่การงานทำแล้ว หรือช่วงเวลาที่คนในสังคมต่างพากันขนานนามว่าช่วงของการ “สร้างเนื้อสร้างตัว” ต่างก็รู้จักกันดี ต่างก็ไม่พอใจ และต่างก็ไม่อยากพบพาน บุคคลที่ถามคำถามเหล่านั้น

คนรุ่นใหม่ต่างก็เรียกบุคคลผู้ที่ถามคำถามข้างต้นว่า “ป้าข้างบ้าน”

เท่าที่ผมสังเกตจากประสบการณ์ทั้งในทางตรงคือได้พบเจอกับตัวเองจริง ๆ และประสบการณ์ในทางอ้อมผ่านเรื่องเล่าของบรรดาเพื่อนพี่น้องมิตรสหายทั้งหลาย เมื่อต้องเผชิญกับปรากฎการณ์ “ป้าข้างบ้าน” สิ่งที่พวกเขารับมือมีหลายระดับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวคน ๆ นั้นด้วย กล่าวคือ 

บางคนก็อาจจะแค่ “ยิ้มสู้” แต่ในใจก็คิดว่า “ยุ่งอะไรกับกูวะ” 

บางคนก็อาจจะโต้ตอบแบบ “ผู้ดี” เรียกว่า “เชือดนิ่ม ๆ” 

บางคนก็นำไปแก้แค้นลับหลัง ผ่านการเขียนข้อความระบายในโลกโซเชียลมีเดียด้วยคำว่า “เสือก” 

ตลอดไปจนถึงบางคนที่มีความกล้าหาญ คือกล้าที่จะแตกหักขั้นรุนแรงเด็ดขาดอย่างการโต้ตอบแบบดุเดือด ทำนอง “ร้ายมาร้ายกลับไม่โกง” 

ทั้งนี้หากจะว่ากันแบบไม่ได้คิดอะไรมาก “คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็เหมือนกับคำถามทั่วไปที่ “ผู้ใหญ่” ถาม “เด็ก” ด้วย “ความเอ็นดู” ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “มนุษยสัมพันธ์” (human relationships) หรือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ในแง่นี้ “คำถามของป้าข้างบ้าน” ก็คงจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการที่ “มนุษย์” เข้ามาอยู่รวมกันเป็นสังคม 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาหรือเรื่องเลวร้ายอะไร ในทางกลับกันอาจจะเป็น “เสน่ห์” ของมนุษย์ด้วยซ้ำไป กล่าวคือ เป็นลักษณะเด่น “ด้านหนึ่ง” ของมนุษย์ที่มีความ “เอ็นดู” มีความ “ห่วงใย” ซึ่งกันและกัน

กระนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงถ้าพิจารณาจากรูปประโยคคำถามข้างต้น มันก็ชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้วว่าไม่ใช่ “ความเอ็นดู” หากแต่เป็น “การกระทบกระเทียบเหน็บแนมกระแนะกระแหน” ดี ๆ นี่เอง หรือจะว่ากันแบบแรง ๆ ก็คือ “ความเสือก” ของ “ป้าข้างบ้าน” นั่นเอง

**

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” ไม่น่าจะจบลงเพียงแค่ “ความเสือกของป้าข้างบ้าน” เพราะถ้ามันจบเพียงเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้ก็คงจะไม่เป็น “วาระระดับโลก” คือนอกจากจะพบเจอกันทั่วโลกแล้ว (ดังที่พบว่าในต่างประเทศเรียก “ป้าข้างบ้าน” ว่า “Karen” และ “Ken”) มันยังดำรงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสขึ้น ๆ ลง ๆ ชั่วครั้งชั่วขณะ 

ที่ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่จบลงเพียงแค่ “ความเสือกของป้าข้างบ้าน” นั้น เป็นเพราะ “นัย” ของคำถาม ซึ่งหมายถึง “แก่น” “ประเด็น” หรือ “เป้าประสงค์” ที่แท้จริงของคำถามได้เข้าไปทำงานในระดับ “จิตสำนึก” ของคนที่ถูก “ป้าข้างบ้าน” ถามด้วย

กล่าวคือ แม้ว่าเราจะถูกตั้งคำถามจาก “ป้าข้างบ้าน” มานานหลายวัน หลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี แล้วก็ตาม และเราก็ปากเก่งว่าเราไม่สนใจ “ความกระแนะกระแหน” นั้น กระทั้งในบางครั้งเราอาจจะลืมเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้วด้วยซ้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ในบางเวลาและบ่อยครั้ง “นัย” ของคำถามกลับผุดลุกขึ้นมาทิ่มแทงความรู้สึกของเราให้ “กดดัน” ตัวเองเช่นว่า

“ให้รีบเร่งหาที่เรียนซะ”

“เราต้องได้เข้าเรียนในคณะที่ดี ๆ และต้องเป็นคณะที่จบออกมาแล้วไม่อดตายหรือทำเงินได้”

“เมื่อเรียนจบแล้วก็ให้รีบหางานทำซะ”

“เราต้องได้งานที่มีอัตราเงินเดือนสูง ๆ จะได้มีบ้าน มีรถ มีครอบครัวที่อบอุ่นเร็ว ๆ”

ฯลฯ

นอกจากจะกดดันตนเองเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้แล้ว เมื่อไม่สำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้เราก็จะรู้สึกผิดและ “กล่าวโทษ” หรือ “ประณาม” ตัวเองว่า 

“ทำไมเราถึงทำไม่ได้วะ”

“ทำไมเราไม่เก่งเหมือนคนอื่นเขานะ” 

“ทำไมเราถึงไม่พยายามให้มากกว่านี้วะ”

ฯลฯ

ทั้งหมดที่ว่ามาไม่ว่าจะเป็นการ “กดดัน” ตัวเองหรือการ “กล่าวโทษ” ตัวเอง ต่างก็มีสารตั้งต้นมาจาก “ความอยากจะประสบความสำเร็จ” ทั้งสิ้น ฉะนั้น “คำถามของป้าข้างบ้าน” จึงเป็นคำถามที่มี “นัย” คือการคอย “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” กับตัวผู้ถูกถามว่า “มึงจะประสบความสำเร็จตอนไหน”

กล่าวในแง่นี้ “นัย” ของ “คำถามของป้าข้างบ้าน” จึงมีลักษณะความหมายที่กว้างขวางลึกซึ้งมากกว่าจะปรากฏให้เห็นในแบบทื่อ ๆ เฉพาะในรูปประโยคคำถามของ “ป้าข้างบ้าน” เท่านั้น กล่าวคือ “นัย” ดังกล่าวแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการ “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ให้เราดำเนินรอยตาม “ตรรกะของยุคสมัย” ที่มันได้เข้าไปครองอำนาจนำเหนือความคิดจิตใจของทุกคนที่ดำรงชีวิตอยู่ใน “ยุคสมัย” (epoch) นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง 

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่า “ป้าข้างบ้าน” จะตั้งคำถามกับเราหรือไม่ก็ตาม แต่ “นัย” ของ “คำถามของป้าข้างบ้าน” หรือ “ตรรกะของยุคสมัย” ก็จะปรากฏผุดลุกขึ้นมาลอยเท้งเต้งอยู่ภายในจิตสำนึกของเรา เพื่อให้เรา “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” ตัวเองอยู่ดี 

ดังนั้น “ป้าข้างบ้าน” จึงไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ เพียงแค่หญิงที่มีอายุรุ่นราวคราวแม่ ที่คอยออกมา “เสือก” ในเรื่องส่วนตัวของเรา แต่ “ทุกคน” ต่างก็เป็น “ป้าข้างบ้าน” กันได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นใคร อาศัยอยู่ที่ไหน เพศอะไร อายุเท่าใด ซึ่งนั่นรวมถึงตัวของเราเองด้วย

อีกนัยหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่ชอบ “คำถามของป้าข้างบ้าน” มากเพียงใด หรือในชีวิตนี้เราอาจจะไม่เคยประสบพบเจอ “ป้าข้างบ้าน (ในความหมายแคบ)” เลยก็ตาม แต่เมื่อเราดำรงชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ “ตรรกะของยุคสมัย” ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกปริมณฑลของสังคมรวมถึงภายในจิตสำนึกของตัวเราเองด้วย เราจึงไม่สามารถจะหลีกหนีไปจาก “คำถามของป้าข้างบ้าน” ได้เลย

กล่าวให้ถึงที่สุด การที่ใครต่อใครต่างก็เป็น “ป้าข้างบ้าน” ได้นั้น เป็นเพราะ “กระมลสันดาน” ในความหมายถึงอุดมการณ์ ทัศนะ ความคิด หรือโลกทัศน์ ของเรา ถูก “ตรรกะแห่งยุคสมัย” เข้ามากลืนกินเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง 

***

“ความสำเร็จ” ที่ “ป้าข้างบ้าน” คอย “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” “กดดัน” “เร่งรัด” เรานั้น ในยุคสมัยนี้มันมี “ตัวชี้วัด” ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งผู้คนทั่วไปต่างก็รับรู้และยอมรับว่าเป็น “ตัวชี้วัด” ที่สำคัญ เช่น การมีรถมีบ้านเป็นของตนเอง การมีครอบครัวที่สมบูรณ์ (แบบครอบครัวเดี่ยว) การมีอาชีพการงานที่มั่นคง หรือความสามารถพึ่งพาตนเองทางการเงินได้ เป็นต้น

“ตัวชี้วัด” เหล่านี้จะยิ่งดูดีมีราคามากขึ้น เมื่อมันอยู่ภายใต้คำกล่าวที่ว่า “จะต้องมีก่อนอายุ 30 ปี” ซึ่งเป็นตรรกะของแนวความคิด “การประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย” หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “อายุน้อยร้อยล้าน”

“การประสบความสำเร็จ” ดังกล่าว จะเป็นเครื่องสะท้อนแสดงถึงว่า “เราได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ คุ้มค่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นคนแล้ว” เพราะ “ความสำเร็จ” บนตรรกะดังกล่าวมีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวเท่านั้นที่จะก่อเกิดขึ้นได้จริง นั่นคือ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน”

กล่าวคือ ภายใต้ตรรกะทางวัฒนธรรมของทุนนิยม “การไม่ทำงาน” คือข้อจำกัดที่ขัดขวางการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ของความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น ยิ่งเรา “ทำงาน” มากเท่าไหร่ เราก็จะมี “ความสมบูรณ์” หรือ “ความสำเร็จ” ในชีวิตความเป็นมนุษย์มากเท่านั้น ในแง่ดังกล่าว “การไม่ทำงาน” จึงถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรม เช่น เราจะรู้สึกผิดทันทีเมื่อเราไม่ทำงาน เราจะกล่าวโทษตัวเองทันทีเมื่อทำงานไม่ดีหรือยังหาที่ทำงานไม่ได้ เราจะรู้สึกละอายแก่ใจทันทีเมื่อเรา “นอน” หรือทำกิจกรรมอื่นที่ทุนนิยมมองว่าไม่ใช่ “งาน” มากจนเกินไป เป็นต้น 

ดังนั้น “คำถามของป้าข้างบ้าน” จึงสะท้อนถึงการเรียกร้องให้ผู้ถูกตั้งคำถามดำเนินชีวิตไปตามแนวแถวหรือตรรกะของระบบทุนนิยมอย่างเคร่งคัด ไม่ให้หย่อนยาน ได้เป็นอย่างดี เพราะระบบทุนนิยมต้องการให้เราทำงานให้มากที่สุด ยิ่งช่วงชีวิตของเราได้เริ่มต้นทำงานเร็วเท่าไหร่ ทุนนิยมก็จะยิ่งสรรเสริญว่าเราเป็นคนที่ “สมบูรณ์แบบ” มากเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ยิ่งเราทำงานมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะ “ประสบความสำเร็จ” เร็วและมากเท่านั้น 

กล่าวให้แคบลง ในระบบทุนนิยมจะไม่ยอมให้เราใช้ชีวิตแบบ “สโลว์ไลฟ์” เด็ดขาด หรือสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ทุนนิยมเรียกว่า “แรงงานรุ่นใหม่” ทุนนิยมจะไม่ยอมให้เรามี “ปีเว้นว่าง” (Gap Year) เช่น เมื่อเราจบการศึกษาแล้ว ในกรณีมัธยมศึกษา เราก็ต้องรีบสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือหลังจบมหาวิทยาลัยเราก็ต้องรีบเร่งหางานทำ เราจะหยุดพักทำกิจกรรมอื่นที่ทุนนิยมเห็นว่าไม่ใช่ “งาน” ไม่ได้ ถ้าหากเราหยุดพักเมื่อใด “ป้าข้างบ้าน” ก็จะเริ่มตั้งคำถามกับเราทันที

****

ประเด็นที่บทความนี้ต้องการจะเสนอก็คือ ปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” อย่างที่พวกเราเข้าใจกันทุกวันนี้ แท้จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ของ “ยุคสมัยแห่งระบบทุนนิยม” และ “ตรรกะของยุคสมัย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “นัย” ของ “คำถามของป้าข้างบ้าน” เรียกร้องให้ดำเนินชีวิตไปตามครรลองของมัน ที่ผมกล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ก็คือ “ตรรกะของยุคสมัยแห่งระบบทุนนิยม” นั่นเอง

เอาเข้าจริง “ป้าข้างบ้าน” ก็เป็นเพียงแค่ร่างทรงให้ “ปีศาจ” ที่มีนามว่า “ระบบทุนนิยม” เข้าแฝงร่างเพื่อมาคอย “กดดัน” “เร่งรัด” “ทวงถาม” “ย้ำเตือน” กับผู้ถูกถามว่า “ให้รีบประสบความสำเร็จได้แล้ว” หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ให้รีบทำงานได้แล้ว” เท่านั้น 

“คำถามของป้าข้างบ้าน” จึงเป็นหนึ่งในหลากหลายกระบวนการของระบบทุนนิยมที่เรียกว่า “กระบวนการทำให้เป็นกรรมาชีพ” (proletarianization)

ดังนั้น ปรากฏการณ์ “ป้าข้างบ้าน” จึงไม่ได้มีสาเหตุเริ่มต้นมาจากตัวของ “มนุษย์” แต่เป็นปัญหาที่เริ่มมาจาก “ยุคสมัย” หรืออีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ “นิสัย” ของ “ป้าข้างบ้าน” หากทว่าเป็น “สันดาน” ของ “ระบบทุนนิยม” 

ถ้าจะว่ากันแรง ๆ แล้ว ในความเป็นจริง “ป้าข้างบ้าน” ไม่ได้เป็นคนที่มี “ความเสือก” มากไปกว่ามนุษย์คนอื่น ๆ ในสังคม แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ “เสือก” กับตัวเราคือ “ระบบทุนนิยม” ต่างหาก

หนทางที่จะทำให้เราไม่ต้องพบเจอปรากฏการณ์ “คำถามของป้าข้างบ้าน” อีกต่อไป จึงมีเพียงหนทางเดียวเท่านั้น นั่นคือ การทำลาย “ระบบทุนนิยม” ให้สิ้นซาก และหากจะกลั่นกรอง “บทเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้” ให้สั้นกระชับแบบย่นย่อที่สุดก็คงจะกล่าวได้ว่า 

“ที่เราเห็นว่าเป็น “คำถามของป้าข้างบ้าน” นั้น แท้จริงแล้วเป็น “คำถามของระบบทุนนิยม” ต่างหาก”