กล่าวนำ ice_rockster
กล่าวนำ
บทความนี้เป็นบทความขนาดสั้นที่ตีพิมพ์ใน PROJECT MUSE วารสาร Theory & Event, Volume 14, Issue 4, 2011 Supplement เป็นบทความที่ปรากฏ quote หรือคำพูดที่เป็นที่นิยมของสลาวอย ชิเชก (Slavoj Žižek) นักปรัชญาชาวสโลเวเนีย ซึ่งมีทัศนคติต่อต้านระบอบทุนนิยม เจ้าของวาทะอันโด่งดังอย่าง “คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์ คุณเกลียดทุนนิยม”, “มันง่ายกว่าที่จินตนาการถึงจุดจบของโลก กว่าจุดจบของทุนนิยม” หรือ “เจอกันในนรก หรือในคอมมิวนิสม์” บทความนี้จึงไม่ได้เขียนในลักษณะของบทความวิชาการ ที่ต้องมีการอ้างอิงหรือใช้หลักทฤษฎีอะไร หากแต่เขียนเพื่อจะชี้ให้ผู้คนเห็นว่า สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน – ที่เราใช้ชีวิตกันอย่างเป็นปกติสุข มันไร้เหตุผล และบิดเบี้ยวออกห่างจากความเป็น “มนุษย์” อย่างไร
แน่นอนว่าชิเชกไม่ได้พยายามนิยามว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์ จริงแท้ แน่นอน เป็นหรือควรจะเป็นอย่างไรในบทความนี้ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า “เห้ย ผมว่าสิ่งที่คุณทำ ๆ กันอยู่นั้นมันดูไม่ปกตินะ” หากคุณคิดว่า “เออจริงนะ มันไม่ปกติ” คุณจะคิดต่อ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลของมัน แต่ถ้าคุณเห็นว่า “เหรอ? มันก็ปกติดีนะ” คุณก็คงใช้ชีวิตต่อไป ไม่เดือดร้อน ชิเชกก็คงยินดีและอวยพรให้กับคุณด้วย
สิ่งที่ชิเชกกำลังจะบอก คงจะเป็นการตั้งคำถามกับ “การเมือง” ที่มันเกิดขึ้นและดำเนินการอยู่ในในโลกปัจจุบัน การเมืองคืออะไร? คือการออกไปเลือกตั้งผู้นำหรือ? หรือการมีส่วนร่วมในการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคิดว่าไม่เป็นธรรม? การรับเงินที่ซื้อเสียงของผู้สมัคร ส.ส. เพื่อต่อรองผลประโยชน์ที่จะได้จากนักการเมือง? หรือการเมืองคือการมีชีวิตที่ดีอยู่ในรัฐตามที่อริสโตเติล (Aristotle) บอก? หรือการเมืองคือการรบราฆ่าฟันเพื่อชิงอำนาจ? หรือการเมืองคือการมานั่งจับเข่าคุยตกลงกัน หามติส่วนกลางว่าจะเอายังไงกับชีวิตในพื้นที่ส่วนกลาง? หรือท้ายที่สุดแล้ว การเมืองคือการเปิดโอกาสให้คนที่สังคมได้มีโอกาสถกเถียง โดยไม่จำเป็นต้องมีฉันทามติ เห็นพ้องต้องกัน การเมืองจึงเป็นความสัมพันธ์ของการต่อรองอำนาจของกันและกัน?
ไม่ว่าจะกี่ความหมาย กี่นิยาม ก็คงจะไม่สามารถนิยามคำว่าการเมืองได้อย่างลงตัว เพราะถามว่าจะมีนิยามใดที่ถูกหรือผิด ก็คงจะไม่มี เพราะการเมืองไม่ใช่ศาสตร์แห่งประจักษ์นิยม ความพยายามที่จะผลักใสการเมืองเข้าสู่ปริมนฑลของประจักษ์นิยมนั้นมีมาได้สักระยะ ด้วยความต้องการที่จะหาคำตอบและการแก้ไขปัญหา นำสิ่งที่เรา “ไม่ต้องการ” ออกไปจากสังคม จึงต้องพิสูจน์ให้เห็น ให้ชัด ให้ประจักษ์ ว่าทำไมสิ่งสิ่งนั้น ถึงไม่จำเป็น และไม่ต้องการ โดยสิ่งเหล่านี้ถูกให้ความชอบทำโดยวินัยวิชา ที่ถูกเรียกว่า “วิชารัฐศาสตร์”
เมื่อวิชารัฐศาสตร์พยายามสอนเราว่าอะไรคือการเมือง อะไรคือสิ่งที่เราไม่ต้องการ แต่ไม่ได้สอนว่าอะไรคือสิ่งที่เรา “ต้องการ” หากการเมืองคือการต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ วิชารัฐศาสตร์ ก็เป็นสิ่งที่หลีกหนีออกจากการเมืองมาเรื่อย ๆ เพราะ วิชารัฐศาสตร์สอนให้รู้ถึงระบบและเหตุผลของรัฐ ไม่ได้สอนให้ต่อรองกับรัฐ
ดังนั้น แน่นอนว่าการเมืองในแบบที่เป็นอยู่นี้ ในทัศนะของชิเชก มันไม่ใช่การเมืองที่แท้จริง หรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจนั้น มันไม่ใช่ “ทั้งหมด” ของการเมือง ชิเชกจึงต้องการพุ่งเป้าไปให้เราเห็นถึงความผิดปกติภายใต้ระบบทุนนิยม ที่ทำให้เราสูญเสียศักยภาพและคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์บางอย่างไป
แน่นอนว่าทุนนิยมเสนอแนวทางที่ดี มีอนาคตที่สดใส อย่างความฝันแบบอเมริกัน ที่การทำงานหนักแค่ไหน ก็จะให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น แต่แน่นอนว่าชิเชกเห็นว่า สิ่งเหล่านั้นคือภาพลวงตา เพราะ มันยิ่งปกปิด “ทางเลือกอื่น ๆ” ที่เป็นไปได้นอกจากที่ทุนนิยมให้กับเรา เช่นเรามองว่า ทุนนิยมมันเท่ากับเศรษฐกิจไปแล้ว เวลาเราพูดว่าเศรษฐกิจไม่ดี มันจึงหมายถึงทุนนิยมทำงานได้ไม่ดีในช่วงเวลานั้น แต่เราไม่เคยฉุกคิดมาก่อนว่า เศรษฐกิจแบบอื่นก็มีนะ เพราะทุนนิยมมันให้เราทำงานให้มัน จนเราลืมไปแล้วว่า คุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือการคิด ไม่ใช่การทำตาม หรือการทำอะไรซ้ำ ๆ แบบหุ่นยนต์ – หรือแม้กระทั่งสัตว์ แม้ว่าสัตว์บางชนิดจะมีความคิดได้ก็ตาม
ทุนนิยมจึงเปลี่ยนเราเป็นสัตว์ เป็นสัตว์ที่ต้องการตอบสนองความต้องการที่ตนมีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีความต้องการ (desire) อื่นใดที่เป็นผลผลิตจากความคิด ความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่น ๆ ดังนั้น สิ่งที่ประเทศอย่างจีนที่มีพรรครัฐบาลที่ชื่อว่าคอมมิวนิสต์ (Communist Party) ทำการแบนภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอนาคต หรือการย้อนกลับไปสู่อดีตในโลกคู่ขนาน หรือการย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตนั้น จึงเป็นการกระทำที่ได้รับผลผลิตมาจากทุนนิยมทั้งสิ้น เพราะเพียงแค่การคิดถึง “ความเป็นไปได้” ของการย้อนอดีต หรือความจริง “อีกแบบ” (alternate reality) นั้น ก็เท่ากับเป็นการคิดวิเคราะห์ (critical) ซึ่งแน่นอนว่ามีแนวโน้มจะเป็นการลดลอนความสำคัญของทุนนิยมได้ ด้วยตรรกะของทุนนิยม ที่ต้องการรักษาให้คนทำงานในระบบให้มากที่สุด จึงต้อง “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” แต่แน่นอนว่าในประเทศที่มีความเป็นเสรีนิยม – ที่แม้จะเห็นดีเห็นงามกับทุนนิยมอยู่ แต่ก็ปฏิเสธการคิดสร้างสรรค์ของ “เสรีชน” ไปไม่ได้
ทุนนิยมเสรี กับทุนนิยมผูกขาด จึงมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย ประเทศที่เป็นเสรีนิยม จึงต้องปรับตัวกับพวก “เสรีชน” ที่มักจะคิดว่า “ไม่มีอะไรที่แท้จริง ทุกอย่างสามารถทำได้ (nothing is true, everything is permitted)” กระนั้นก็ดี ความคิดที่ว่าไม่มีอะไรแท้จริง ก็มักจะนำไปสู่ความสะเปะสะปะจับจุดไม่ได้ จนไม่รู้ว่า แท้จริงแล้วเราต้องการอะไร อย่างมากที่สุด ก็เพียงรู้ว่านิเสธ (negation) ของสิ่งที่ต้องการมีรูปร่างเป็นอย่างไร นั่นก็คือสิ่งที่ชิเชกเสนอในย่อหน้าแรกของบทความ ว่าเรารู้ว่าสิ่งที่เราไม่ต้องการคืออะไรเต็มไปหมด แต่เราหาสิ่งที่เรา “ต้องการ” จริง ๆ ไม่ได้ ดังนั้น การจะหาสิ่งที่ต้องการที่แท้จริง จึงต้องอาศัยความจริงจังในระดับหนึ่ง ความจริงจังที่ต้องกลับมาพิจารณาการต่อสู้ ความจริงจังที่ต้องทราบว่าเราสู้อยู่กับอะไร ความจริงจังของการเมือง
แน่นอนว่าปัญหาจากทุนนิยมเอง ได้กลายมาเป็นปัญหาของเสรีนิยม เพราะแน่นอนว่า “เชื้อไม่ทิ้งแถว” เสรีนิยมที่ดูจะดี แต่ก็ต้องเผชิญกับความสะเปะสะปะไม่เป็นปึกแผ่น จึงปราศจากพลังในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่าง อะไรก็ตามที่เราต้องการอย่างแท้จริง การเมืองที่แท้จริงจึงต้องสลัดคราบความเป็นเสรีนิยมออกไป เพื่อที่จะสลัดความวอกแวก สลัดความไม่เฉไฉ และที่สำคัญที่สุดสลัดความเสแสร้งออกจากความเป็นการเมือง
ในที่สุดเมื่อเสรีนิยมดำเนินไปได้ในระดับหนึ่ง มันจึงเกิดแบบแผนขึ้น แบบแผนที่ว่าไม่ใช่รูปแบบ หรือวิธีคิดอื่นใด หากแต่เป็นเสมือน “ลักษณะในอุดมคติ” ที่คาดหวังให้คนอื่น ต้องปฏิบัติตามในแบบที่ “เสรีชน” คนอื่น ๆ เขาทำกัน มันจึงเกิด “ลักษณะที่ถูกต้อง” ขึ้นในที่สุด เช่น เสรีภาพที่ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ สิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ ประชาธิปไตยที่ถูกต้องต้องเป็นแบบนี้ “การเมืองที่ถูกต้อง” ต้องเป็นแบบนี้ จึงเป็นที่มาของ “ความถูกต้องทางการเมือง” (Political Correctness: PC) หรือไม่?
แน่นอนว่าในตอนจบของบทความชิเชกได้กล่าวถึงเรื่องตลกที่ไม่ตลก เพราะโลกทั้งใบมันกลายเป็นความจริงไปแล้ว ความจริงที่ถูกครอบงำด้วยความถูกต้องทางการเมือง การเมืองจึงไม่ใช่การเมืองอีกต่อไป เพราะขาดความเป็นการเมือง ตราบใดที่การเมืองถูกแช่แข็ง เท่ากับว่าไม่มีการต่อรอง จะเป็นการเมืองได้อย่างไร ความเป็นเสรีนิยมแบบ “คุณลักษณะ” จึงเป็นการลดทอนความเป็นการเมือง และลดทอนความเป็นเสรีนิยมเองในเวลาเดีวกัน สิ่งที่ชิเชกเสนอจึงไม่ได้เป็นการตั้งคำถามกับเสรีภาพที่เราคิดว่าเรามีอยู่ แต่ถามกลับว่า เราสามารถมองเห็นความไม่มีเสรีภาพของตัวเราหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราสามารถมองทะลุเสรีภาพที่เราถูกหยิบยื่นให้โดยเสรีนิยมหรือไม่ และแน่นอนว่าเราสามารถมองทะลุการตกหลุมรักชีวิตนี้ที่เรามี งานรื่นเริงสังสรรค์ ความสุขที่ทุนนิยมมอบให้เราได้หรือไม่ คุณตื่นหรือยัง?
บทกล่าวนำนี้ จะถูกเขียนด้วยหมึกสีอะไร ก็แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะเปลี่ยน font color เอาเองข้างบนก็แล้วกัน
การเมืองที่แท้จริง (Actual Politics)
ผู้เขียน Slavoy Žižek
ผู้แปล ice_rockster
บรรณาธิการ Pathompong Kwangtong
อย่าตกหลุมรักตัวเอง ด้วยช่วงเวลาที่ดีที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ งานสังสรรค์รื่นเริงนั้นมันสนุกทำให้เรามีความสุขได้อย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่จะพิสูจน์คุณค่าของมันคือสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในวัดถัดไป หรือมันทำให้ชีวิตในวัน “ปกติ” ของเรานั้นเปลี่ยนไปอย่างไร จงตกหลุมรักกับงานที่หนักและใช้ความอดทน – เรายังอยู่ทีจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบ สิ่งที่เราจะสื่อสารง่าย ๆ ก็คือ: ข้อห้ามเหล่านั้นได้ถูกทำลายลงแล้ว เราไม่ได้ถูกปล่อยให้อยู่ในโลกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรามีสิทธิ์และมีหน้าที่ ที่แม้แต่จะพิจารณาแม้กระทั่งทางเลือกอื่น ๆ หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล และอีกไม่นาน เราจะได้พบกับคำถามที่ยากจริง ๆ – คำถามที่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราไม่ต้องการอะไร แต่เป็นคำถามที่เกี่ยวกับว่าเรา “ต้องการ” อะไร องค์กรทางสังคมอะไร ที่จะสามารถมาแทนที่ระบบทุนนิยมที่มีอยู่? ผู้นำประเภทไหนที่เราจำเป็นต้องมี? ซึ่งทางเลือกที่ศตวรรษที่ 20 หยิบยื่นให้เรานั้นใช้การไม่ได้
ดังนั้น ไม่ต้องไปโทษผู้คนและทัศนคติของพวกเขา: ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การโกงกินหรือความโลภ หากแต่ปัญหามันอยู่ที่ระบบที่ผลักดันให้คนทุจริต ทางออกจึงไม่ใช่ “Main Street, ไม่ใช่ Wall Street”[1] แต่คือการเปลี่ยนแปลงระบบที่ Main Street ไม่สามารถเดินได้หากปราศจาก Wall Street จงระวังไม่ใช่แค่ศัตรู แต่ยังคงต้องระวังเพื่อนจอมปลอมที่แสร้งทำเป็นสนับสนุนเรา แต่ก็พยายามอย่างหนักให้การประท้วงเรียกร้องของเรานั้นบรรเทาความเข้มข้นลง เหมือนกับการที่เราดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน ดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กินไอศกรีมที่ไม่มีไขมัน คนเหล่านั้นจะพยายามเปลี่ยนให้การประท้วงเรียกร้องของพวกเราเป็นการประท้วงคุณธรรมที่ไม่มีพิษมีภัยกับใคร แต่ก็เถอะ เหตุผลที่เรามาอยู่จุดนี้ก็เพราะว่า เราเบื่อหน่ายเต็มทีกับโลกที่หากเรารีไซเคิลกระป๋องโค้กเพื่อที่จะได้เศษเงินเป็นเงินบริจาคเป็นสาธารณกุศล หรือเมื่อซื้อคาปูชิโน่ที่สตาร์บัค 1% ของราคากาแฟจะถูกนำไปสมทบแก้ปัญหาในประเทศโลกที่สามต่าง ๆ นั้นจะทำให้เรารู้สึกดีว่าเรากำลังทำความดีอยู่ ในยุคที่หลังจากเรา outsource (จ้างคนภายนอก) มาทำงานทุก ๆ อย่าง หลังจากที่บริษัทรับจัดงานแต่งงานยัง outsource แม้กระทั่งการคบหาดูใจของพวกเรา เราจึงเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเรานั้นก็ถูกทำให้มีลักษณะเป็น outsource มานานแล้วเช่นกัน – นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้มันกลับมาเป็นของเรา
พวกนั้นจะบอกว่าเรานั้นไม่เป็นอเมริกันเอาซะเลย แต่เมื่อพวกอนุรักษนิยมเคร่งศาสนาบอกคุณว่า อเมริกาเป็นประเทศคริสเตียน จงจำไว้นะ คริสเตียนนั้นคือ: Holy Spirit (พระวิญญาณบริสุทธิ์) เป็นชุมชนที่มีความเท่าเทียมและอิสรภาพของผู้คนที่ผูกพันกันด้วยความรัก เราที่มาอยู่ตรงนี้จึงเป็น Holy Spirit ขณะที่บน Wall Street มีแต่พวกคนนอกศาสนาที่นับถือบูชาเทวรูปจอมปลอม (false idols)
พวกนั้นจะบอกว่าเรารุนแรง ว่าภาษาที่เราใช้นั้นรุนแรง: occupation (การยึดครอง) อะไรพวกนั้น ใช่ เรารุนแรง แต่รุนแรงในแง่ที่มหาตมะ คานธี นั้นรุนแรง เรารุนแรงก็เพราะเราต้องการหยุดยั้งสิ่งที่มันเป็นอยู่ – แต่สิ่งที่รุนแรงโดยสัญลักษณ์นี้ เทียบกับความรุนแรงที่ทำให้ระบบทุนนิยมโลกดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่นได้หรือ?
พวกเราถูกเรียกว่าไอ้ขี้แพ้ – แต่ไอ้พวกขี้แพ้ตัวจริงอยู่บน Wall Street และไอ้พวกนั้นไม่ใช่หรือ ที่เอาตัวรอดด้วยเงินเป็นพัน ๆ ล้านของพวกคุณ? คุณอาจถูกเรียกว่าพวกสังคมนิยม – แต่ในสหรัฐฯ มันมีสิ่งที่เรียกว่าสังคมนิยมสำหรับคนรวยแล้ว พวกเขาบอกว่าคุณไม่เคารพทรัพย์สินส่วนบุคคล – แต่ด้วยการคาดการณ์ของ Wall Street มันนำไปสู่ความผิดพลาดในปี 2008 ที่มันทำให้ทรัพย์สินส่วนบุคคลที่หามาได้อย่างยากลำบากหายไปในพริบตา นั่นมันมากกว่าสิ่งที่พวกเราจะสามารถจะทำลายได้ในชั่วข้ามคืนไม่ใช่หรือ – ลองคิดถึงบ้านนับพันหลังที่รอการขายออกสิ
เราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ หากคอมมิวนิสม์หมายถึงระบบที่สมควรล่มสลายไปแล้วในปี 1990 – และควรจำไว้ด้วยว่า คอมมิวนิสต์ที่ยังเรืองอำนาจอยู่ทุกวันนี้ก็คือประเทศที่เป็นทุนนิยมที่โหดร้ายอย่างจีน ความสำเร็จของการดำเนินการแบบคอมมิวนิสต์แบบจีนคือลางร้ายที่บ่งบอกว่า การแต่งงานของทุนนิยมและประชาธิปไตยนั้นมาถึงจุดที่จะต้องอย่าร้างแล้ว ในแง่เดียวที่เราจะเป็นคอมมิวนิสต์คือการที่เราให้ความสำคัญกับคนทั่วไป – คนธรรมดาสามัญ – ที่ถูกคุกคามจากระบบทุนนิยม
พวกเขาจะบอกว่าพวกคุณกำลังฝันอยู่ แต่พวกช่างฝันที่แท้จริงคือคนที่คิดว่าสิ่งต่าง ๆ จะดำเนินไปอย่างไม่สิ้นสุดตามทางของมัน แค่เปลี่ยนเสื้อผ้าหน้าผมสักหน่อยแค่นั้น เราจึงไม่ใช่พวกช่างฝัน; เราคือผู้ที่ตื่นขึ้นมาจากความฝันที่กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นฝันร้าย เราไม่ได้ทำลายอะไรลงไป; เราแค่เป็นเพียงพยานที่กำลังมองเห็นระบบมันทำลายตัวเองลงอย่างช้า ๆ พวกเราคงจำฉากคลาสสิกในการ์ตูน: แมวมาถึงหน้าผา แต่มันเดินต่อไปโดยไม่สนใจความจริงที่ว่าไม่มีพื้นใต้เท้าของมัน มันเริ่มตกลงมาก็ต่อเมื่อมองลงไปและสังเกตเห็นหุบเหวเบื้องล่าง สิ่งที่เรากำลังทำมีเพียงการเตือนผู้ที่มีอำนาจให้มองลงไปที่เหวนั้นต่างหาก
ตามที่กล่าวมานั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้จริงหรือ? ในวันนี้ความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้ได้ถูกแจกจ่ายในทางที่แปลกประหลาด ในพื้นที่ของอิสรภาพส่วนบุคคล และเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นไปไม่ได้นั้นกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากขึ้นเรื่อย ๆ [เขาจึงบอกเราว่า] “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” เราจึงมีความเพลิดเพลินกับเซ็กซ์ได้ในหลายรูปแบบที่แปลกประหลาด เช่น ในเพลงทั้งหลาย ในหนัง ในละคร ที่สามารถดาวน์โหลดได้ หรือในการท่องอวกาศที่ทุกคนสามารถไปได้ (ด้วยเงิน); เรายังสามารถปรับปรุงความสามารถทางกายภาพและทางจิตโดยผ่านการแทรกแซงในจีโนม (genome) ไปจนถึงความฝันทางเทคโนโลยีที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า ในการบรรลุความเป็นอมตะโดยการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของเราให้เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ อีกแง่หนึ่ง ในพื้นที่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม เราถูกถล่มอยู่ตลอดเวลาด้วยคำว่า “คุณไม่สามารถ” … มีส่วนร่วมการการกระทำที่มีสำนึกร่วมทางการเมือง (ที่จะลงเอยด้วยเผด็จการเบ็ดเสร็จที่น่าหวาดกลัว) หรือยึดติดกับรัฐสวัสดิการเก่า (ทำให้คุณไม่สามารถแข่งขันได้และนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ) หรือปลีกตัวเองออกจากกลไกตลาดโลก อะไรเทือกนี้ และเมื่อมีการกำหนดมาตรการความเข้มงวดเราจะได้รับคำสั่งซ้ำ ๆ ว่านี่เป็นเพียงสิ่งที่ต้องทำ บางทีมันอาจถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนพิกัดของสิ่งที่เป็นไปได้และสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้ บางทีเราไม่สามารถเป็นอมตะได้ แต่เราสามารถมีความเป็นปึกแผ่นเดียวกันมากขึ้น และมีสวัสดิการสุขภาพที่ดีขึ้นได้หรือไม่?
ในกลางเดือนเมษายนปี 2011 สื่อรายงานว่า รัฐบาลจีนได้สั่งระงับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามเวลาและประวัติศาสตร์คู่ขนานทั้งบนโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เรื่องราวเหล่านั้นเพิ่มความเหลาะแหละให้กับประวัติศาสตร์ที่จริงจัง – แม้แต่ฉากการหลบหนีออกไปสู่ความจริงคู่ขนานก็ยังเป็นสิ่งที่ถือว่าอันตราย เราที่อยู่ในโลกเสรีนิยมตะวันตกไม่จำเป็นต้องมีการระงับห้ามปรามแบบนั้น เพราะ อุดมการณ์ใช้พลังทางวัตถุมากพอที่จะป้องกันเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์คู่ขนาน ที่ไม่ได้คำนึงถึงความจริงจัง มันจึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราที่จะจินตนาการถึงจุดจบของโลก – เช่นในภาพยนตร์วันสิ้นโลก (apocalyptic) ทั้งหลาย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจินตนาการถึงจุดจบของระบบทุนนิยม
ในเรื่องตลกเก่าแก่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันที่ดับไปแล้วกล่าวไว้ว่า คนงานชาวเยอรมันได้ทำงานในไซบีเรีย จึงกังวลว่าจดหมายที่ส่งออกไปทั้งหมดจะถูกอ่านและเซ็นเซอร์ก่อนจะถึงมือคนอ่าน เขาจึงบอกเพื่อนว่า “เรามาสร้างรหัสลับกัน ถ้าจดหมายที่ได้รับจากฉันเขียนด้วยหมึกสีน้ำเงินธรรมดา นั่นแปลว่ามันคือความจริง แต่หากเขียนด้วยหมึกสีแดง นั่นคือความเท็จ” หลังจากนั้นหนึ่งเดือน เพื่อนของเขาก็ได้รับจดหมายที่เขียนด้วยหมึกสีน้ำเงิน “ทุกอย่างที่นี่ยอดเยี่ยมมากเลย: ร้านค้าขายของเยอะแยะเต็มไปหมด มีอาหารมากมายเหลือเฟือ อพาร์ทเมนท์ใหญ่กว้างขวางและให้ความร้อนอย่างเหมาะสม [ยุโรปเป็นเมืองหนาว ต้องการความร้อน หากเปรียบเทียบกับประเทศไทยก็คงแอร์เย็นฉ่ำ – ผู้แปล] โรงภาพยนตร์ฉายภาพยนตร์จากตะวันตก มีสาวสวยมากมายพร้อมให้คบหา – สิ่งเดียวที่ไม่มีคือหมึกสีแดง” และนี่ไม่ใช่สถานการณ์จนถึงปัจจุบันหรอกหรือ? เรามีอิสรภาพเท่าที่คนคนหนึ่งจะต้องการ – สิ่งเดียวที่หายไปคือ “หมึกสีแดง” เรา “รู้สึกอิสระ” เพราะเรานั้นขาด (lack) ภาษาที่จะร้อยเรียงความหมายให้กับความไม่อิสระ การขาดของหมึกสีแดงในที่นี้ก็คือ ในทุกวันนี้ คำศัพท์หลักทั้งหมดที่เราใช้เพื่อกำหนดความขัดแย้งในปัจจุบัน เช่น “สงครามกับความหวาดกลัว”, ” ประชาธิปไตยและเสรีภาพ”, ” สิทธิมนุษยชน” ฯลฯ – ล้วนแล้วแต่เป็นคำที่ใช้ไม่ได้ (false terms) ซึ่งทำให้เรางุนงงสับสนกับความรับรู้ของเรา ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แทนที่จะปล่อยให้เราคิด พวกคุณเอง คุณนั่นแหละที่มอบหมึกแดงให้กับพวกเราทุกคน
บทส่งท้าย
นี่แหละคือการเมืองที่แท้จริงไม่ใช่หรือ?
บทกล่าวตาม
โดยบรรณาธิการ Pathompong Kwangtong
ในห้วงยามแผ่นฟ้าเปิดออก หยดน้ำตาแห่งความผิดหวังของการต่อสู้แปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติยินดีแก่ชัยชนะที่ใกล้เข้ามา เราราษฎรทั้งหลาย ฉุดกระชากลากประวัติศาสตร์มาถึงช่วงเวลาสำคัญ เวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของสังคมสยาม สังคมที่มิยอมแม้กระทั่งมองเลือดสีแดงบนท้องถนนและลานวัด กลายเป็นสังคมที่ไม่ยอมอ่อนให้กับชนชั้นเลือดสีน้ำเงินอีกต่อไป
ไม่ว่าพวกคุณ ชนชั้นปรสิตทั้งหลาย จะใช้ของเหลวสีน้ำเงินอัดกระแทกพวกเราอีกสักกี่ครั้ง ก็มิอาจปิดตาที่เบิกจ้าจากแสงและเสียงในห้วงเวลานี้ได้
ไม่ว่าพวกคุณ ชนชั้นปรสิตทั้งหลาย จะจับแกนนำหรือนักสู้ของพวกเราไปเท่าใด สามนิ้วของเราก็ยังคงชูขึ้นอย่างไม่ลดละ
ไม่ว่าพวกคุณ ชนชั้นปรสิตทั้งหลาย จะหลบหน้าหลบตาพวกเราสักเพียงใด หูของพวกคุณก็มิอาจหลบหนีเสียงที่ยืนยันว่าเราอยู่ที่นี่ “I Here Too!” ได้
จากสิบเหลือสาม จากสามอาจเหลือหนึ่ง
จากหนึ่ง อาจต่อยอดแตกหน่อ กลายเป็นสังคมใหม่ที่พวกคุณมิอาจคาดคิดขึ้นมาก็ได้
พวกเรา – ผู้กระหายในการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่ตื่นขึ้นมาจากความฝันที่หลอกลวง – รู้แล้วว่าพวกเราไม่ต้องการอะไร และพวกเรารู้แล้วว่าฟ้ากำลังเปิด เปิดด้วยมือของพวกเราเอง แต่ภารกิจต่อไปอยู่ในมือของพวกเรา เหล่าสามัญชนทั้งหลาย เรานี่แหละจะเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม และกดดันให้ทุกองคาพยพของรัฐสยามเดินตามเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจึงสมควรคิด คิดต่อไป ละทิ้งความหลอกลวงที่ว่าเรากำลังอยู่ในฝันร้ายที่ไม่มีอนาคตอื่นใดอีก ให้เราได้ตื่นขึ้นมาคิด จินตนาการถึงโลกใบใหม่ โลกที่เราและเพื่อนของเรา จะได้อยู่อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเราเองคือสามัญชน คนธรรมดาที่กล้าหยัดยืนว่า เราทุกคนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งมีชิวิตใต้ละอองฝุ่นหรือพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป
[1] Main Street vs Wall Street เป็นคำเปรียบเปรยของระบบเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา โดย Main Street หรือ ถนนสายหลัก หมายถึงนักลงทุนในท้องถิ่น หรือคนประกอบธุรกิจทั่วไปตัวเล็กตัวน้อย และ Wall Street หมายถึง ผู้ลงทุนรายใหญ่ ผู้ลงทุนที่มีมูลค่าสูง หรือธุรกิจระดับโลก โดยชื่อ Wall Street มาจากชื่อถนนสายหนึ่งในนครนิวยอร์ค ซึ่งเป็นถนนสายที่เต็มไปด้วยสถาบันการเงินระดับโลก ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่ามักมีความขัดแย้งระหว่าง Main Street และ Wall Street แต่โดยระบบแน่นอนว่าสองสิ่งนี้ อยู่ได้ด้วยลักษณะที่พึ่งพากัน โปรดดู https://corporatefinanceinstitute.com/resources/knowledge/finance/main-street-vs-wall-street/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กันยายน 2563)