ผมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งติดเข็มกลัดอันใหญ่ มันกลมและมีสีธงชาติยูเครน บนแถบสีฟ้าและเหลืองมีคำว่า “จงทำให้มากขึ้น” พิมพ์อยู่ มันก็ผ่านมาเป็นอาทิตย์แล้วผมก็ยังพยายามที่จะเข้าใจความหมายของมัน ว่าต้องการเสนอถึงอะไร ว่าพวกเราสามารถทำอะไรได้มากขึ้น ทำโดยใครและทำอย่างไร? 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมพบเจอวลี “จงทำมากขึ้น” ที่ถูกขายเป็นหน้าตาของความเห็นอกเห็นใจ

สมมติว่าเธอคนนั้นกำลัง “ทำมากขึ้น” อยู่จริง ๆ ไม่งั้นคงไม่ได้มีเข็มกลัดหรอก ถามว่าเธอกำลังทำอะไรนั้นคำตอบสุดจะไม่ชัดเจน เอาเข้าจริงแล้วผมเองกำลังทำอะไรอยู่? ตอนนี้ผมอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เป็นผู้จ่ายภาษี ผมกำลังสะสมทุนเพื่อกองกำลังเครื่องจักรสงครามสัญชาติอังกฤษที่ท้ายสุดจะกลายเป็นเครื่องจักรสงครามสัญชาติยูเครน อย่างที่เคยเป็นกับซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอล ตัวผมค่อนข้างเป็นพลเมืองที่ว่านอนสอนง่าย ผมไม่คิดจะโยนระเบิดใส่บ้านนายก ผมคงไม่ตัดสายส่งไฟฟ้าหรือไปขัดขวางการขนส่งทางน้ำที่ไหน แต่เอาจริง ๆ ผมก็พูดได้ว่าตัวเองได้ทำสิ่งที่เลวร้ายไว้มาก คือครั้งหนึ่งที่ทุกอะณูในร่างกายผมสั่งการให้ตัวเองกระทำการกามิกาเซ่ ณ แบงก์ชาติสหราชอาณาจักร แต่แล้วผมกลับตอบปฏิเสธ… ด้วยความยินดีครับ กรุงเคียฟ* 

(*อนึ่ง สหราชอาณาจักรทำการสนับสนุนยูเครนด้วยทุนยุทโธปกร หากผู้เขียนได้บอมบ์แบงก์ชาติอังกฤษไปแล้วจริง ๆ ยูเครนอาจตกอยู่ในสถานการณ์ไร้อาวุธปกป้องตัวเอง)

ถึงเราจะสมมติว่าผู้หญิงผู้มีเข็มกลัดคนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะสื่อคำว่า “ทำ” ในทิศทางแบบนั้นก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้เอง แถว ๆ ย่านอาศัยของผมก็พบเห็นธงยูเครนเต็มลานหน้าบ้านโดยพร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมาย แขวนอยู่บนหน้าต่างบ้าง หน้าประตูบ้านบ้าง ส่วนสติ๊กเกอร์หลายดวงบนเสาโคมไฟก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป มันมาพร้อมกับคิวอาร์โค้ดให้คุณสแกนและพาคุณไปสู่หน้าเว็บสนับสนุนเงินทุนแก่กองทัพยูเครน คือผมก็ได้จ่ายไปแล้วนะผ่านภาษียังไงล่ะ แน่นอนว่ารัสเซียกำลังบุกยูเครน แต่ตอนนี้มันเหมือนยูเครนกำลังบุกอังกฤษเสียอย่างนั้น แต่กลุ่มคนผู้บริจาคคือคนที่กำลังทำมากกว่าใช่รึปล่าว ผมตอบไม่ได้เลย หรือเอาเข้าจริงแล้ว “พวกเราทุกคนสามารถทำได้ มากกว่านี้” คือประโยคที่ถูก

นี่ไม่ใช่เทรนด์แรกที่ปรากฎอยู่ทั่วท้องถนน ล่าสุดก่อนหน้านี้ก็คือ black lives matter ที่เต็มหน้าต่าง เก่ากว่านั้นก็ applaude the doctors และ Stop Brexit บนผืนธง สติ๊กเกอร์ และหลากหลายการแสดงออกด้วยบทละครเรื่องเดิม ๆ ค่อยยังชั่วหน่อยที่ปัญหาเหล่านี้ได้ถูกแก้ไขล่วงแล้ว เห็นได้จากธงของแต่ละมูฟเมนต์เก่าก่อนที่หายไป และสติ๊กเกอร์ที่หลุดลอกออกตามกาลเวลา… อย่างนั้นสินะ

มันน้อยครั้งมากที่พวกแคมเปญเหล่านี้จะเดินหน้าได้อย่างโดดเดี่ยว บ่อยครั้งเหลือคณาที่พวกมันถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบของการเคลื่อนไหวแบบบริโภคนิยม อย่างเช่นการระดมคว่ำบาตรแบรนด์บริษัทต่าง ๆ กระทั่งสำนักนิวยอร์กไทส์มก็เพิ่งเผยแพร่บทความที่รวบรวมนามแบรนด์ต่าง ๆ ที่ยังทำการผลิตในรัสเซียให้คุณได้ตัดสินใจเลิกสนับสนุนได้อย่างสะดวก การเคลื่อนไหวแบบเดียวกันเคยเกิดขึ้นในไทย อย่างเช่นที่ผู้ประท้วงได้พากันปิดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อปีก่อน แต่แย่หน่อยว่าในประวัติศาตสร์การต่อสู้ตลอดมาเราไม่พบว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้จะมีอิทธิพลกับการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองสักเท่าไหร่ ในที่สุดแล้วการคว่ำบาตรบริษัทต่าง ๆ เพื่อหวังจะดึงสติด้านศีลธรรมจากพวกนั้นก็เป็นได้เพียงแค่ตัวแปรใหม่ในสมการทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น มันมีกฎที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้แต่ถูกปฏิบัติตาม ๆ กันของตลาดก็คือ การตั้งคำถามว่าจะสร้างยอดขายเพิ่มได้อย่างไรบ้างทั้งจากการ “ยืนหยัดเพื่อยูเครน” หรือแปะธงสีรุ้งบนสินค้าใน pride month เป็นต้น

ยุทธศาสตร์นี้ถูกพิสูจน์มาหลายหนว่าไม่ได้ระแคะระคายพวกธุรกิจคู่กรณีของประชาชน ราวกับเราเป็นลูกกระสุนที่สาดใส่เสื้อเกราะซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตลอดหลายปี ความฉลาดเป็นกรดทำให้พวกนั้นเรียนรู้และสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่จะอยู่รอดและสร้างรายได้มากขึ้นจากกลุ่มผู้ประท้วงที่ยังต้องบริโภคนี่แหละ ลองดูพวกคีย์เวิร์ดอย่าง “แฟชั่นรักษ์โลก” หรือ “กาแฟจากการค้าที่เป็นธรรม” เพียงคุณเดินเข้าสตาร์บัคคุณก็รู้สึกมีหัวใจของนักเคลื่อนไหวมากกว่าคนอื่น การนโยบายการตลาดเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อขายเท่านั้นแหละ โดยนำภาพลักษณ์การเอาเปรียบของทุนที่เรารู้จักมาปัดฝุ่นทาสีใหม่ให้แลดูว่ามีจุดยืนเดียวกับเรา กลายมาเป็นจุดขายที่ได้ผลอย่างถล่มทลาย

ในความเป็นจริง พวกเรารู้อยู่แล้วว่าการกระทำบนผืนธงและสติ๊กเกอร์ มันไม่มีความหมายอะไร มันเป็นได้มากกว่าการแสดงออกทางศีลธรรมผ่านสัญลักษณ์ของปัจเจกชนอยู่แค่หน่อยนึง แล้วไม่มีการลงมืออย่างเป็นรูปธรรมใด ๆ อีก แม้แต่การบริจากทุนทรัพย์ในเหตุการณ์ Black Lives Matter ก็ไม่ได้สร้างแรงกระทบไปไกลเกินกว่านี้หลังจากการประท้วงสลายและผู้คนกลับบ้านกลับช่อง

ฉะนั้นเองสหาย ความจริงคือเราไม่สามารถลงมือทำได้มากขึ้นแบบนั้นหรอก แต่เราทำอะไรได้บ้าง? คำตอบสั้น ๆ คือ “ไม่มี” ตัวเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกแยกจากกัน ต่างโดดเดี่ยวในเหวลึก ต่างกำลังกรีดร้อง “แด่ความรุ่งโรจน์ของยูเครน!” (Slava Ukraini!) ก้องประเดี๋ยวถูกกลืนกินมิดลงหลุมดำ

แน่นอนว่ามีทางเลือกนอกเหนือจากความมืดมิด แต่ยังไงคุณก็ไม่สามารถช่วยยูเครนและชาวยูเครนผู้รักในประชาธิปไตยจากสงครามนี้ได้

สิ่งที่เราต้องการคือการพิจารณาถึงพลังของ ‘การเป็นผู้กระทำการ’ (Agency) ว่าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับใด ถ้าเมื่อเราพูดถึงการเป็นผู้กระทำการมันหมายถึงความสามารถของตัวเองที่จะทำบางอย่าง

คิดถึงสิ่งที่คุณกระทำการได้ เช่นอำนาจในเงื้อมมือที่คุณมีอยู่แล้วในชีวิต สิ่งที่คุณมีปัญญาเปลี่ยนแปลง บางทีคุณอาจมอบอาหารแก่คนไร้บ้านหรือรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้คนมากมาย… คุณสามารถปรึกษาเพื่อนบ้านเรื่องการปลูกต้นไม้ในละแวก… หรือคุณอาจจับมือกับเพื่อนร่วมงานเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่สมเหตุสมผล… ลองเริ่มจากสิ่งเล็กๆ

น่าขันว่าเรามักจะมองว่าความท้าทายเหล่านั้นช่างน่าสะพรึง ความท้าทายอย่างเช่นการทำอาหารให้กับคนแปลกหน้า หรือสร้างสวนร่มรื่นให้กับชุมชนช่างดูยากลำบากเกินความสามารถ ในขณะที่ต่อต้านรัสเซียบุกยูเครนดูเป็นเรื่องที่ใครก็สามารถทำได้ ง่ายๆ โดยการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ของ ASUS ยังไงล่ะ ให้ผมพูดตรง ๆ เลยนะ… การเลี่ยงไม่ทำอะไร “ไม่เท่ากับ” การเคลื่อนไหวเพื่อสังคมสักนิดเดียว…

น่าเศร้าว่าแม้แต่การลงถนนยังได้ผลน้อยลงจากเราคาดหวังไปมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา คุณสามารถนำพาผู้คนนับล้านออกมาแสดงต่อกลุ่มที่กุมทุน มาแสดงให้เห็นว่าผู้คนโกรธแค้นเพียงใดกับความอยุติธรรมในสังคมนี้ แล้วแยกย้ายกลับบ้าน แล้วยังไงต่อไป? แน่อยู่ว่ามันทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นแต่ คุณเพียงปัดเป่าไอพิษให้หายไปได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ในที่สุดมันก็จะคละคลุ้งเช่นเดิม

ความจริงแล้วเราแต่ละคนมีอำนาจอยู่ในมือเพียงกระจ้อยร่อย ไม่มีอภิสิทธิ์อำนาจบันดาลความเปลี่ยนแปลงแม้แต่สภาพความเป็นอยู่ ณ ตรงหน้า เราต้องเรียนรู้และค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ โดยอำนาจเท่านี้ที่มีอยู่ เป็นหนทางเดียวที่มันจะมีพลังมากขึ้น สร้างความเป็นผู้กระทำแต่ไม่ใช่อย่างโดดเดี่ยว คุณยังมีเพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน สหายร่วมอุดมการณ์ ไปอย่างทีละลำดับขั้นคุณจึงสามารถผนึกกำลังของคุณและของพวกเราเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และ “ลงมือทำ” ให้มากขึ้นได้