ผู้เขียน Rawipon Leemingsawat

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2563 มีการจัดงาน “ปัญหาและความท้าทายของจริยธรรมในการวิจัยสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์” ขึ้นที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้อภิปรายหลักสองคน คือ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ และ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี หากกล่าวโดยสรุป งานครั้งนี้มีเป้าประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การเกิดขึ้น หลักการ และกระบวนการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมที่เข้ามาทำหน้าที่กำกับควบคุมกระบวนการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน

ข้อวิจารณ์หลักจากผู้อภิปรายทั้งสองคือ จริยธรรมที่เกิดขึ้นในกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ใช่จริยธรรมแบบที่วิชามานุษยวิทยาให้ความสำคัญ (เนื่องจากผู้อภิปรายทั้งสองเป็นอาจารย์ในสาขามานุษยวิทยาจึงอภิปรายจากมุมของวิชามานุษยวิทยาเป็นหลัก) และที่มากไปกว่านั้น บางแง่มุมของจริยธรรมในแบบแรกก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนสาระสำคัญของจริยธรรมในแบบหลังด้วย

ผู้อภิปรายทั้งสองเห็นตรงกันว่า วิชามานุษยวิทยาให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อ คือ 1) วิชามานุษยวิทยาถือกำเนิดขึ้นด้วยรากฐานทางปรัชญาที่ต้องการทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ และ 2) งานวิจัยในสาขาวิชามานุษยวิทยาล้วนเป็นงานวิจัยที่ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับมนุษย์เป็นหลัก ด้วยเหตุทั้งสองประการนี้ ทำให้มานุษยวิทยาเป็นวิชาที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะเขาควาย (dilemma) ทางจริยธรรม ที่เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์อยู่ตลอดเวลาทั้งในการทำวิจัยและการเรียน บรรดานักวิจัยและนักศึกษาต่างต้องเผชิญกับเรื่องเล่าหรือเหตุการณ์จริง ที่ท้าทายให้พวกเขาต้องขบคิดถึงทางเลือกอันยากลำบากซึ่งเกี่ยวข้องกับบรรดาผู้คนที่พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น งานของ Elenore Smith Bowen ที่เขียนถึงสภาวะการตัดสินใจอันยากลำบากในคราวที่เธอต้องตัดสินใจว่าจะเข้าไปช่วยเพื่อนของเธอซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นที่กำลังป่วยหรือไม่ หากทำเช่นนั้นก็อาจช่วยชีวิตเพื่อนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเข้าไปแทรกแซงชีวิตของคนในพื้นที่แห่งนั้น และเป็นการทำลายความเป็นภาวะวิสัย (objective) ในงานศึกษา เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าว วิชามานุษยวิทยาจึงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับจริยธรรมอย่างแยกกันไม่ออก (โดยเฉพาะประเด็น ผลกระทบและตำแหน่งแห่งที่ของวิชารวมทั้งงานวิจัยที่มีต่อสังคมและบรรดาผู้คนที่เกี่ยวข้อง) หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ ประเด็นเรื่องจริยธรรมการวิจัยในคนเป็นสิ่งที่วิชามานุษยวิทยาให้ความสนใจ และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของวิชา เป็นจริยธรรมที่เกิดขึ้นในรูปแบบที่เป็นกระบวนการ เกิดขึ้นในกระบวนการถกเถียงและเรียนรู้

ประเด็นสำคัญต่อมาคือ การกระทำของคณะกรรมการจริยธรรมเป็นการบั่นทอนและทำลายเนื้อหาสาระของจริยธรรม คณะกรรมการจริยธรรมกำลังทำให้จริยธรรมแบบกระบวนการซูบผอมลงจนเหลือเพียงจริยธรรมบนกระดาษ จริยธรรมกำลังกลายเป็นรายการตรวจสอบว่าคุณทำสิ่งที่คณะกรรมการให้ทำแล้วหรือยัง จริยธรรมดังกล่าวไม่ได้สนใจเนื้อหาสาระของการวิจัยมากไปกว่าสนใจว่า คุณทำตามกฎ ระเบียบ เงื่อนไขที่คณะกรรมการเห็นว่าคุณต้องกระทำหรือยัง จริยธรรมกำลังกลายเป็นแบบฟอร์มแทนที่จะเป็นกระบวนการ หรือหากกล่าวในภาษาของ อ.ยศ นี่คือ “จริยธรรม proposal” หรือในกรณีของ อ.ปิ่นแก้ว นี่คือ “จริยธรรมเช็คลิสต์” จริยธรรมแบบที่สนใจแต่กระดาษและแบบฟอร์มเหล่านี้ได้สร้างความลำบากให้กับการวิจัยในมานุษยวิทยาอย่างมาก เนื่องจากสร้างภาระงานเอกสารที่บางครั้งเป็นไปไม่ได้ เช่น การทำเอกสารขออนุญาตผู้ให้สัมภาษณ์ในทุกๆ กรณี ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยหากคุณทำงานวิจัยในประเด็นเสี่ยง หรืองานวิจัยที่ทำกับคนซึ่งมีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา เนื่องจากการเปิดเผยชื่อในเอกสารเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของคนเหล่านั้น และหากจะกล่าวอย่างถึงที่สุด จริยธรรมแบบนี้เป็นจริยธรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อสถาปนาอำนาจ ก่อร่างสร้างบัลลังก์ให้กับเหล่าคณะกรรมการขึ้นไปนั่งตัดสินว่าความชี้ถูกผิด

หากกล่าวอย่างรวบรัด ผู้อภิปรายทั้งสองกำลังชี้ว่า พวกเขามิได้ต่อต้านการตรวจสอบหรือปฏิเสธความสำคัญของจริยธรรม เนื่องจากจริยธรรมในการวิจัยเป็นสิ่งที่ต้องมี แต่จริยธรรมมิอาจเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการที่สนใจแต่รูปแบบและเป็นอำนาจนิยมได้ และถึงที่สุดแล้ว ภายใต้กระบวนการตรวจสอบของจริยธรรมแบบอำนาจนิยม ความงอกเงยของความรู้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือกล่าวอีกแบบได้ว่า เสรีภาพทางวิชาการกำลังถูกคุกคาม ภยันตรายกำลังโหมพัดอยู่เหนือพวกเรา

ผู้เขียนคิดว่าข้อวิจารณ์ของผู้อภิปรายทั้งสองมีประเด็นและมีประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากเสนอว่า ปัญหาที่บรรดาผู้คนในสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์กำลังเผชิญ ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการกำลังถูกคุกคามเพียงเท่านั้น หากแต่โดยสาระแล้วมันเป็นปัญหาของสภาพการทำงานซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตของบรรดาผู้คนที่เกี่ยวข้องในการทำวิจัย และโดยเฉพาะบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นปัญหาสภาพการทำงานเฉกเช่นเดียวกับที่แรงงานโดยทั่วๆ ไปต้องเผชิญ ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่การทำงานวิจัยถูกผูกเข้ากับเงื่อนไขการจ้างงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และการทำวิจัยสัมพันธ์กับการขอตำแหน่งทางวิชาการที่ส่งผลต่อรายได้หรือความมั่นคงของรายได้ การถูกตัดสินผ่านคณะกรรมการจริยธรรมว่างานวิจัยนั้นๆ สามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ล้วนมีความหมายมากกว่าเสรีภาพทางวิชาการ การตัดสินดังกล่าวคือหนึ่งในชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เข้ามาควบคุมชีวิตของอาจารย์ในฐานะแรงงานประเภทหนึ่งในโลกของทุนนิยมวิชาการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ปรากฎการณ์คณะกรรมการจริยธรรมคือหนึ่งในหน่ออ่อนของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่กำลังเข้าควบคุมสภาพการทำงานของแรงงานความรู้ที่ทำงานในมหาวิทยาลัยหรือที่เรามักเรียกกันว่าอาจารย์นั่นเอง

ที่ผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่า หน่ออ่อน เป็นเพราะกระบวนการลงหลักปักฐานของสิ่งนี้ยังไม่สมบูรณ์ ตัวมันยังไม่อาจเข้าครอบครองและสถาปนาอำนาจที่เบ็ดเสร็จได้ ในสถานการณ์ตอนนี้ ระบบการตรวจสอบของคณะกรรมการยังคงมีช่องโหว่ มีทางหลบเลี่ยงหลีกหนีอยู่ แต่หากปล่อยปละละเลยหรือมัวแต่ดูแคลนว่ามันยังอ่อนด้อย ขาดอำนาจจริงจัง หรือเรา (ในฐานะปัจเจกบุคคล) ยังพอจะมีทางเลี่ยงอยู่ วันหนึ่งข้างหน้าพวกเราก็อาจต้องเผชิญหน้ากับระบบการตรวจสอบเดียวกันนี้แต่ในรูปโฉมที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าเดิม เข้มข้นกว่าเดิม กว้างขวางมากกว่าเดิม ดังที่เคยเกิดกับระบบ มคอ. (กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ Thai Qualifications Framework for Higher Education) หรือการสถาปนาอำนาจของระบบ TCI (ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย หรือ Thai-Journal Citation Index Centre)

ผู้เขียนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่บรรดาแรงงานความรู้ในมหาวิทยาลัยจะต้องหันมาขบคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นปัญหาของสภาพการทำงาน ได้เวลาโยนผ้าคลุมอันสวยสง่าว่ามิใช่แรงงานทิ้งไปได้แล้ว เสรีภาพที่สำคัญของแรงงานความรู้เหล่านี้มิใช่มีแค่เสรีภาพในทางวิชาการเพียงเท่านั้น เพราะเสรีภาพทางวิชาการจะกลายเป็นสิ่งไร้สาระหากปราศจากเสรีภาพในการใช้ชีวิต จะมีเสรีภาพทางวิชาการแลความงอกเงยทางปัญญาได้อย่างไร หากชีวิตของแรงงานทั้งหลายยังจมปลักอยู่กับสภาพการทำงานที่ไม่ได้เอื้อให้ชีวิตงอกเงย จะมีเสรีภาพได้อย่างไร หากต้องทนอยู่กับอำนาจที่คอยแต่เงื้อดาบในมือเพื่อฟาดฟันดอกใบของต้นไม้แห่งชีวิต ปัญญาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยถกเถียง หากปรารถนาในความงอกเงยของปัญญาจริง หากหลงใหลในเสรีภาพทางปัญญาจริง พวกคุณก็ควรต่อสู้เพื่อให้ชีวิตของตัวเองและผู้อื่นดีพอที่จะสามารถมาถกเถียงกับพวกคุณได้ ความงอกเงยทางปัญญาจะไม่เกิดขึ้นหากขาดความงอกเงยของชีวิต

ผู้เขียนมิใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องยุทธวิธีการต่อสู้ แรงงานอาจรวมตัวกันสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ถกเถียง เปรียบเทียบสภาพการทำงานในแต่ละที่ แรงงานอาจเขียนบทความ ข้อความปลุกระดม แถลงการณ์ จดหมาย อาจรวมตัวกันร้องเรียนตามช่องทางที่เป็นทางการ เช่น ที่ประชุม ผู้บริหาร คณะกรรมการ สภา หรือแม้แต่หาช่องทางตามกฎหมายเพื่อต่อสู้เรียกร้อง ยุทธวิธีทั้งหมดที่กล่าวมาจะใช้ได้ผลหรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่อาจทำนายได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างมั่นใจก็คือ หากแรงงานทั้งหลายไม่รวมตัวกันและเรียกร้อง ไม่รวมตัวแล้วบอกว่ากฎเกณฑ์ สัญญา ข้อบังคับต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สามารถถูกทำลายและสร้างขึ้นมาใหม่ได้ บรรดาแรงงานก็จะต้องเผชิญหน้ากับอำนาจในระดับที่เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด

ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอทำให้ข้อเขียนนี้กลายเป็นคำประกาศอย่างสมบูรณ์ ด้วยการร้องเรียกให้พวกคุณ แรงงานทั้งหลาย โปรดเสาะแสวงหารูโหว่ของระบบที่สร้างความเป็นไปได้ต่อการเปลี่ยนแปลง พวกคุณจำเป็นต้องต่อต้านมันตอนนี้และในขณะที่อาศัยอยู่ภายในนั้น นี่มิใช่โลกที่เหลือพื้นที่อันสะอาดบริสุทธิ์ให้คุณออกไปยืนแล้วค่อยหันคมหอกดาบกลับเข้ามาเปลี่ยนแปลง ความคิดที่จะต่อต้านจากภายนอกก็ไม่ต่างกับการออกไปยืนในอวกาศและต่อต้าน แต่น่าเสียดายพวกคุณเป็นมนุษย์ ดังนั้นโปรดแสวงหาต่อไป เรียกร้องต่อไป ร้องตะโกนเรียกหาชีวิต และหากวันหนึ่งมาถึง วันที่ระบบเริ่มรับข้อเสนอที่พวกเราเรียกร้องต่อไปไม่ไหวก็จงเรียกร้องต่อไป นั่นเพราะชีวิตของพวกเราย่อมสำคัญกว่าระบบที่ดำรงอยู่ เราเรียกร้องด้วยความหวังว่ามันจะสิ้นสูญ อย่าได้อาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งเลวร้ายที่สูบกินชีวิตของพวกเราเลย